วิปัสสนาไม่ดัดแปลงจิต

รู้สึกตัว รู้สึกตัวไปสบายๆ อย่าไปดัดแปลงจิตใจ ส่วนใหญ่เราจะคิดว่า การปฏิบัติเราจะต้องทำอะไร การปฏิบัติมันมี 2 ส่วน ส่วนที่ต้องทำกับส่วนที่ไม่ต้องทำ ส่วนที่ต้องทำนั้นก็คือสมถกรรมฐาน ต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง หาเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ไว้ บางคนมีเครื่องอยู่หลายอย่าง ก็เหมือนคนมีบ้านหลายหลัง มันเป็นภาระ ไม่ได้ค่อยสบายจริง ถ้ามีบ้านหลังเดียวสบายกว่า ไม่เป็นภาระมาก ให้จิตมีเครื่องอยู่ไว้ นี่เราต้องทำ แล้วเราคอยดัดแปลงแก้ไขจิต ไม่อย่างนั้นจิตมันหลงออกไป เราก็น้อมจิตอยู่กับเครื่องอยู่เรา แล้วจิตหลง เราก็จะรู้ว่าตอนนี้จิตมันหลงไปแล้ว ถ้าเราไม่มีเครื่องอยู่ จิตมันก็เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ แล้วเราไม่รู้ว่ามันเคลื่อนที่ แต่ถ้ามีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ พอจิตมันเคลื่อนไป เรารู้

 

เวลาจะทำสมถกรรมฐาน เราจะแก้ไขจิต

เวลาจะทำสมถกรรมฐาน เราจะแก้ไขจิต จิตมันไม่ตั้งมั่น จิตมันฟุ้งซ่าน จิตมันไม่สงบ เราจะแก้ไขให้มันตั้งมั่น ให้มันไม่ฟุ้งซ่าน ให้มันสงบ ให้จิตอยู่กับที่นิ่งๆ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ จิตก็จะมีกำลัง เป็นเรื่องที่เราต้องทำ บางทีเราก็ต้องแก้ไข อย่างจิตเรามีราคะ เราจะทำสมถะ เราก็แก้ไขด้วยการพิจารณาปฏิกูลอสุภะ มีราคะเพราะว่ามันรู้สึกว่า อารมณ์อันนี้ดี สวยงาม อย่างเห็นสาวๆ สวยๆ สวย จิตเราก็ฟุ้งซ่าน เราจะต้องแก้ไขให้จิตสงบ ถ้าจะใช้สมถะเราก็ใช้ธรรมะที่ตรงข้าม มันมีราคะขึ้นมา เพราะมันไปเห็นว่าอารมณ์นี้ดี ก็ต้องดูให้ออกว่าอารมณ์นั้นมันไม่ดี พยายามมองกลับข้าง เรียกมองต่างมุม

เห็นผู้หญิงสวย ราคะเกิด ก็พิจารณามันสวยตรงไหน สวยที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ผู้หญิงไม่มีผมก็ดูแปลกๆ ไม่มีขน อย่างไม่มีขนคิ้ว ขนตา ดูแปลกๆ เล็บหลุดไปหมด ไม่มีเล็บก็น่าเกลียด ไม่มีฟันยิ่งไปกันใหญ่เลย น่าเกลียดมากขึ้นไปอีก ถ้าไม่มีหนัง คราวนี้ดูน่าสยดสยอง ฉะนั้นอย่างคนสวยคนงาม มันสวยอยู่แค่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเท่านั้น เพราะฉะนั้นเวลาคนจะมาบวช ส่วนมากมันก็คนหนุ่มๆ มาบวช สมัยก่อนอายุ 20 ปีต้องบวช เดี๋ยวนี้คนแก่ๆ ไม่มีใครเลี้ยง ก็อยากมาบวชบ้าง

สมัยก่อนคนหนุ่มๆ มาบวช อายุ 20 ปีก็ต้องบวชแล้ว อุปัชฌาย์ก็ต้องสอน เพราะว่าอยู่ในวัยที่ราคะแรง อุปัชฌาย์ก็จะสอนกรรมฐาน 5 ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าอุปัชฌาย์ไม่สอน อุปัชฌาย์อาบัติ เป็นอุปัชฌาย์ที่ไม่ดี ส่วนมากท่านก็สอนทุกองค์ ฉะนั้นพระองค์ไหนบวชมา แล้วบอกไม่เคยได้ยินเรื่องผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แสดงว่าปลอมมา ไม่ใช่พระตัวจริง ทำไมต้องเน้นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เพราะยังหนุ่มๆ ราคะมันแรง ก็ให้หัดมองต่างมุม ถ้ามองคน แล้วก็แยกผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ออกมาได้ จะรู้เลยคนมันไม่ได้สวยไม่ได้งาม

หนัง โดยเฉพาะตัวหนังนี้ มันเหมือนถุงใบหนึ่ง เป็นถุงหนังบรรจุของโสโครกเอาไว้มากมายภายใน แล้วถุงหนังใบนี้ ไม่ใช่ถุงหนังที่มิดชิดเรียบร้อย ถุงหนังใบนี้มีรูรั่วใหญ่ๆ อยู่ 9 รู ไปนับเอาเอง รูรั่วเล็กๆ นับไม่ถ้วน อย่างตามผิวหนังเรานี้ เป็นรูๆ เยอะแยะเลย เหงื่อก็ซึมออกมาได้ ท่านบอกว่าร่างกายเหมือนถุงหนังใบหนึ่ง บรรจุของโสโครกไว้ แล้วก็มีรูรั่วใหญ่ๆ 9 รู มีรูรั่วเล็กๆ นับจำนวนไม่ถ้วน มีของโสโครกไหลชุ่มออกมาเป็นนิจ มีของโสโครกไหลชุ่มออกมาเป็นนิจ แทนที่จะมองว่าผู้หญิงนี้สวย ก็มองเข้าไป โอ๊ย สวยที่หนัง แล้วหนังมันสวยจริงไหม หนังมันก็ไม่ได้เรียบร้อย มันก็มีรูรั่ว มีของสกปรกไหลออกมา พอพิจารณาอย่างนี้ได้ ราคะก็สงบลงไป อันนี้คือสมถกรรมฐาน

 

สมถกรรมฐานไม่ได้มีแต่เรื่องอานาปานสติ

เราอย่านึกว่าสมถกรรมฐานมีแต่เรื่องอานาปานสติ หายใจเข้าพุทออกโธอะไรอย่างนั้น สมถกรรมฐานมีเยอะแยะไป พิจารณาร่างกาย ก็ได้สมถกรรมฐาน ค่อยๆ ดูลงไป ร่างกายเรา ดูของตัวเอง ร่างกายเรามันสวย มันงามจริงไหม มันน่ารัก มันน่าหวงแหนจริงไหม ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกต เราจะเห็นร่างกายเรา เต็มไปด้วยของสกปรก ของที่ไม่ดีทั้งหลาย คนไทยเรียกว่าขี้ทั้งหมดเลย อะไรที่ไม่ดีเรียกขี้หมดเลย มีขี้ที่เป็นรูปธรรม ขี้ที่เป็นนามธรรมก็มี อย่างขี้เกียจ อย่างขี้โมโห เป็นของไม่ดี เป็นขี้แบบนามธรรม ขี้ที่เป็นรูปธรรม ตั้งแต่หัวถึงเท้า มีตั้งแต่ขี้หัวถึงขี้ตีน ขี้เล็บ ถ้าเรา จิตเรามีราคะรุนแรง พิจารณาตรงนี้ลงไป ราคะก็สงบ

เห็นไหม มีสิ่งที่ต้องทำ คือธรรมะที่ตรงข้าม หรือจิตเราฟุ้งซ่านเก่ง เราก็น้อมจิตมาอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง นี่ก็คือธรรมะตรงข้าม เวลาจิตมันฟุ้งซ่าน เดี๋ยวมันก็จับอารมณ์โน้น เดี๋ยวมันก็จับอารมณ์นี้ไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แทนที่จะปล่อยไปอย่างนั้น เราก็น้อมจิตมา ให้มันอยู่อารมณ์เดียว แล้วแต่ความถนัด อย่างหลวงพ่อถนัดหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำมาแต่เด็ก มันก็เลยถนัด หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตสนใจอยู่ที่การหายใจ มีความสุขอยู่กับการหายใจ จิตก็ไม่ร่อนเร่ไปเที่ยว แสวงหาอารมณ์อย่างอื่น จิตก็สงบ จิตสงบก็คือจิตมันอยู่ในอารมณ์อันเดียว

ถ้ามันเปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆ ก็เรียกว่ามันฟุ้งซ่าน จิตมันฟุ้งซ่าน มันก็จะไม่มีพลัง ไม่มีขีดความสามารถที่จะเจริญปัญญา เราก็ต้องมาพัฒนาจิตให้มันมีเรี่ยวมีแรง ให้มันตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัว ทำกรรมฐาน ดูตัวเองไม่ต้องดูคนอื่น จิตเราฟุ้งซ่าน หลวงพ่อก็ใช้อยู่กับลม จริงอยู่กับอารมณ์อะไรก็ได้สักอันหนึ่ง แล้วจิตหนีไปจากอารมณ์นั้น รู้ทัน จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตมันตั้งมั่น ไม่วอกแวกไปเรื่อยๆ สะสม มันจะสะสมกำลัง จิตยิ่งนิ่งยิ่งมีพลัง ร่างกายยิ่งเคลื่อนไหวก็ยิ่งแข็งแรง จิตยิ่งสงบก็ยิ่งแข็งแรง ยิ่งมีกำลัง ไม่เหมือนกัน อยากให้ร่างกายแข็งแรง ก็ต้องเอ็กเซอร์ไซส์ อยากให้จิตสงบ ก็ต้องน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง จิตก็ไม่วอกแวก

ตัวที่รบกวนจิตมากที่สุด ก็ตัวโมหะ ตัวฟุ้งซ่าน ตัวร้ายที่สุดเลย มันฟุ้งบ่อย เดี๋ยวหลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย หลงไปคิดนึกทางใจ ฉะนั้นถ้าเราเล่นตัวหลงได้ ตัวอื่นมันก็ไม่มีอิทธิพลอะไร ก็ตัวราคะ ตัวโทสะ มันเกิดได้ก็เพราะหลง ฉะนั้นถ้าเราตัดต้นตอมัน อย่างเราแก้เรื่องจิตหลงได้ ราคะ โทสะ มันก็ไม่มีหรอก ไม่ต้องแก้ เพราะฉะนั้นอย่างหลวงพ่อ ไม่ได้ไปเริ่มต้นที่ปฏิกูลอสุภะ หลวงพ่อเริ่มต้นตัดตรงเข้ามาทำอานาปานสติ แล้วรู้ทันจิตที่หลง ถ้าจิตไม่หลง ราคะก็เกิดไม่ได้ จิตไม่หลง ราคะเกิดไม่ได้ โทสะก็เกิดไม่ได้ มันเป็นสาย สายธารของกิเลส เราตัดต้นตอมันคือตัวหลง บางคนทำไม่ได้ ก็มาแก้ที่ตัวโลภ ตัวโลภะ ตัวราคะ มันโลภอะไรมาก

พระไตรปิฎกก็สอนไว้ พระพุทธเจ้าท่านสอน ตัวกามก็คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วท่านก็ยกให้ดู รูปที่มีอิทธิพลมากที่สุดสำหรับบุรุษ ก็คือรูปของสตรี รูปที่มีอิทธิพลต่อสตรีมากที่สุด ก็คือรูปของบุรุษ ตอนนั้นเพศที่ 3 คงมีไม่มาก ท่านก็เลยเอาแค่ 2 เพศ เสียงอะไรที่ดึงดูดใจผู้ชายได้มาก ก็เสียงของผู้หญิง เสียงอะไรที่ดึงดูดใจผู้หญิงได้มาก ก็คือเสียงของผู้ชาย ฉะนั้นผู้ชายก็ภูมิใจได้ เรามีเสียงที่มีเสน่ห์ เสียงแหบๆ ห้าวๆ อะไรนี้ ก็ดึงดูด กลิ่นก็เหมือนกัน กลิ่นของสตรีก็ดึงดูดบุรุษ กลิ่นบุรุษดึงดูดสตรี สัมผัสของบุรุษก็ดึงดูดใจสตรี สัมผัสสตรี มันเป็นสัมผัสที่ดึงดูดบุรุษ มันดึงดูด เพราะมันไปชอบ มันไปรัก

เราไม่ได้รักแค่บุรุษ สตรี เราก็ขยายความโลภของเราออกไปที่อื่นด้วย อย่างโลภในทรัพย์สินเงินทอง ในรสชาติของอาหาร ร้านนั้นดี ร้านนี้ดี ร้านนั้นอร่อย ร้านนี้ไม่อร่อย เวลาจะไปกินอาหารต้องดูรีวิวเดี๋ยวนี้ ไม่ฉลาดหรอก ไปดูรีวิวว่าร้านนี้อร่อย ร้านนี้ไม่อร่อย เพราะอร่อยไม่มี ไม่ใช่ปรมัตถ์ ไม่มีสภาวะจริง อยู่ที่คนชอบ อยู่ที่คนชอบแล้ว โดยธรรมชาติอาหารรสชาติที่เราชอบ คือรสชาติที่เรากินตั้งแต่เล็กๆ ก็เลยบอกว่ารสมือแม่ เมื่อก่อนแม่เป็นคนทำอาหาร รสมือแม่ไม่มีใครเทียบ เพราะเราคุ้นเคย ถามว่าอร่อยหรือเปล่า คนอื่นกินอาจจะไม่อร่อย อร่อย ไม่อร่อย เชื่อถือไม่ได้ มันแล้วแต่ชอบ มันไม่มีสภาวะรองรับ

เราก็สังเกตตัวเองไป มันติดใจอะไร อย่างผู้ชายติดใจในผู้หญิง จะอยากให้จิตสงบ ไม่ฟุ้งไปถึงเขา ก็พิจารณาผู้หญิงที่เราชอบ เพราะอะไร เพราะรูปมันสวย แล้วมันสวยจริงไหม มันสวยเพราะผม ขน เล็บ ฟัน หนังหรอก ผมมันเที่ยงไหม ไม่เที่ยงหรอก เดี๋ยวมันก็หงอก เดี๋ยวมันก็หลุด ขนก็ไม่เที่ยง เล็บก็ไม่เที่ยง อย่างเล็บ ไม่ตัดไม่แต่ง มันก็ดูน่ากลัว เหมือนเล็บผีปอบยาวๆ สกปรก ที่มันดูดี เพราะว่าเขาแต่ง เขาแต่ง แต่งตั้งแต่หัวยันเท้า แต่ง ถ้าเรามองให้ทะลุลงไปอีก ผมที่ว่าสวย มันสวยจริงไหม มันสะอาดไหม

ครูบาอาจารย์ท่านเคยสอน หลวงพ่อเคยได้ยิน แต่ท่านไม่ได้สอนหลวงพ่อหรอก แต่ท่านไม่ได้ดูถูกผู้หญิง ต้องเข้าใจ อันนี้ท่านสอนพวกพระ ท่านบอก “โอ๊ย มันก็เหมือนขนหมาล่ะ ไม่อาบน้ำ ไม่สระผม ก็เหม็น มันไม่ได้สวย ไม่ได้งาม ไม่ได้ดีวิเศษอะไรนักหนาหรอก ผิวหนังว่าสวยงามอะไร อย่างตื่นนอนมาไม่ได้ล้างหน้า มันดูไม่ได้ หน้ามันแผลบเลย ไม่สวยไม่งามจริงหรอก” อันนี้ท่านสอนพระ ไม่ได้ไปดูถูกผู้หญิง เพราะผู้ชายเองก็เหมือนกัน สกปรกยิ่งกว่าผู้หญิงอีก นี้ท่านดูเพื่อให้หัดมอง สำหรับพวกมีราคะ ก็จะแก้ราคะได้ หรืออย่างเราบ้าสมบัติ อยากได้โน่น อยากได้นี่ อยากได้ชื่อเสียง อยากได้อำนาจ ก็หัดมองให้กว้างๆ หน่อย มีใครมีชื่อเสียงยั่งยืนสักเท่าไหร่ สักกี่คน ที่มีชื่อเสียงมาเป็นพันๆ ปี ก็มีพระพุทธเจ้า พระสาวกนั่นล่ะ นอกนั้นเราก็ลืมหมดแล้ว

พ่อของปู่เราชื่ออะไร รู้หรือเปล่า ส่วนใหญ่ไม่รู้ ปู่ชื่ออะไรบางทีไม่รู้เลย รู้แต่ว่าชื่อปู่ ชื่อจริงว่าอะไร ไม่รู้หรอก จริงๆ ที่ว่ามีชื่อเสียง มันของชั่วคราว หัดมอง แล้วรู้สึกชื่อเสียงมันก็อย่างนั้นๆ ทรัพย์สินเงินทองมีมาเยอะๆ เอาไปทำอะไร เอาไปบริโภคใช้สอย มันก็ใช้ได้ส่วนหนึ่ง มีเงินซื้อข้าว กินได้วันละเกวียน มีเงินเยอะ ก็กินข้าวได้ทีละจาน 2 จานเท่านั้นเอง ทำไมมันโง่อย่างนี้หนอ มันเหนื่อยมากเกินไป เพื่อจะสะสมอะไรไว้มากมาย แล้ววันหนึ่งก็ต้องตกเป็นของคนอื่น หรือตกเป็นของส่วนกลางของโลกไป

 

กรรมฐานที่จะสู้กิเลสที่รุนแรงได้ คือมรณสติ

หัดรู้หัดดู หรือถ้าใจมันยังไม่ยอมจริงๆ ราคะก็แรง โทสะก็แรง อะไรๆ แรงหมดเลย กิเลสแรงมากเลย ไม่รู้จะสู้ด้วยอะไรแล้ว สุดยอดกรรมฐานที่จะสู้กิเลสที่รุนแรงได้ คือมรณสติ อย่างเราบ้าผู้หญิง ชอบคนนี้แล้วยังชอบคนนี้อีก เพราะมันลืมตัวลืมตาย บางคนแก่มากอายุ 60 – 70 ปี ก็ยังอยากมีอีหนูอีก เพราะมันลืมว่าตัวเองแก่ขนาดไหน พิจารณาลงมา ของที่เรามี ที่เรารัก ที่เราหวงแหนทุกสิ่งทุกอย่าง พอเราตายแล้ว มันก็ไม่มีความหมายอะไร สมมติว่าชาตินี้เราเกิดเป็นมหาเศรษฐี พอตายไปเราไปเกิดอีก เราอาจจะไม่ใช่มหาเศรษฐีแล้ว คราวนี้มองดูสมบัติของมหาเศรษฐี ที่ตอนนี้อยู่กับลูกหลาน กลายเป็นสมบัติคนอื่นแล้ว

หลวงปู่เทสก์ท่านบอกว่า “ถ้าทำสมถะด้วยกรรมฐานอะไรแล้วจิตไม่ลง เล่นมรณสติเลย” เพราะอะไรๆ มันก็อย่างมาก มันก็แค่ตายเท่านั้นล่ะ พอตายแล้วทุกอย่างมันก็หมดความหมาย อย่างเราเกลียดใครสักคน พอตายจากกันมันก็ลืมแล้ว ไม่มีความหมายอะไร ไม่รู้จะโกรธจะเกลียดไปทำไม อย่างเราเกลียดใครสักคน จิตมีโทสะ นึกถึงทีไรจิตมีโทสะ จิตตัวเองล่ะไม่มีความสุข ฉะนั้นโทสะเกิดทีไร จิตจะไม่มีความสุข นี้เป็นกฎของธรรมะ ถ้าเรารู้อีกหน่อยก็ตายแล้ว ทะเลาะกันแทบเป็นแทบตาย แย่งชิงกันแทบเป็นแทบตาย

ไปดูพงศาวดาร ประวัติศาสตร์อยุธยาอะไรอย่างนี้ แย่งชิงราชสมบัติกัน พี่น้องฆ่ากัน พ่อฆ่าลูกอะไรต่ออะไร ฆ่ากันไป ฆ่ากันมา มาถึงวันนี้คนที่แย่งๆ กัน มันก็ไม่อยู่สักคนเดียว มันดูไร้สาระไหม เหน็ดเหนื่อยมากมาย ต่อสู้มากมาย สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเหลือเหมือนๆ กัน ถ้าพิจารณามรณสติไป ใจมันก็จะ โอ้ ก็แค่นั้นล่ะ มันจะรู้สึกเลย โลกนี้มันก็แค่นั้นล่ะ พอรู้สึกได้อย่างนี้ ใจมันก็ค่อยสงบลง ไม่ดิ้นไปด้วยความอยากได้ คือโลภะ ไม่ดิ้นไปด้วยความเกลียดชัง คือโทสะ มันก็แค่นั้น ไม่เห็นมีอะไรเลย

ฉะนั้นมรณสติเป็นไม้ตาย เป็นกระบวนท่าสุดยอด เอาไว้สู้กิเลสที่ตัวอื่นสู้ไม่ไหว กรรมฐานอื่นสู้ไม่ได้ อันนี้เป็น Tactic เป็นกลยุทธ์ที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ ถ้าจิตมันยังไม่ยอมอีก ท่านก็ฝึกตัวเอง อย่างหลวงปู่มั่น ท่านเป็นปรมาจารย์ได้ ไม่ใช่เพราะภาวนาเก่งอย่างเดียว ภาวนาเก่งก็เก่งเฉพาะตัว แต่ที่ท่านเป็นปรมาจารย์นั้น เพราะท่านสอนเก่ง ลูกศิษย์ลูกหาท่านได้ดีเยอะ องค์ไหนกลัวผี ท่านก็ให้ไปภาวนาในป่าช้า มันกลัวมากนัก ดัดนิสัย องค์ไหนกลัวตาย ให้ไปอยู่ในถ้ำที่มีเสือ ให้ไปภาวนา ใจที่ลำพองกูเก่ง กูแน่ กูหนึ่ง พอไปเจอครูเสือ ครูช้าง ครูผีเข้า ใจมันหดตัวเข้ามาเลยไม่กล้าซ่า เพราะรู้สึกว่าไม่รู้จะตายนาทีไหน

ตรงนี้เป็นกรรมฐานที่ย้ำเตือนให้เรารู้ว่า เราไม่รู้จะตายตอนไหน พริบตาเดียวก็อาจจะโดนเสือคาบไปแล้ว เวลาเสือกัด กัดคอทีเดียว มันกัดเก่ง มันกัดคอ เพราะฉะนั้นอุบายวิธีที่จะกำราบจิตใจ ก็คือพวกสมถกรรมฐาน มีวิธีการมากมายนับไม่ถ้วน กรรมฐาน 40 เป็นแค่ตัวอย่าง ลูกเล่น Tactic ที่ครูบาอาจารย์ท่านให้แต่ละคน บางทีไม่เหมือนกัน มันเฉพาะตัว เรียกว่าเรามีธรรมะที่เป็นคู่ปรับกับกิเลส จิตเราก็สงบ เพราะฉะนั้นเรื่องของสมถกรรมฐาน มีการกระทำมากมาย มีอุบายวิธีมากมาย จนกระทั่งจิตเราหมดพยศ หมดลำพอง ว่าง่ายสอนง่าย อยู่กับเนื้อกับตัว มีเรี่ยวมีแรง

 

โน้มน้อมจิตเพื่อญาณทัสสนะ

งานต่อไปก็คือการโน้มน้อมจิตไป เพื่อญาณทัสสนะ เพื่อให้เห็นถูก เพื่อให้เห็นความจริง ญาณทัสสนะ “ทัสสนะ” คือการเห็น “ญาณ” เป็นชื่อของปัญญา ปฏิบัติไป โน้มน้อมจิตไปเพื่อให้เกิดปัญญา จากการที่เราเห็นความจริง พอจิตเราตั้งมั่นแล้ว เราก็น้อมจิตไปรู้สึกกาย รู้สึกใจ ไม่ต้องทำอะไรมากกว่านั้นหรอก ทีแรกก็ต้องน้อมไป ต่อไปไม่ต้องน้อม เพราะว่าธรรมชาติของสติ มันต้องรู้ ตะครุบอารมณ์โน้นอารมณ์นี้ตลอดเวลาอยู่แล้ว บางทีก็ตะครุบอารมณ์บัญญัติ คิดถึงเรื่องราวที่เป็นบุญเป็นกุศล ก็มีสติ เป็นสติโลกๆ

ถ้าทำสติปัฏฐานก็เป็นสติรู้กายรู้ใจ แต่สติจะเกิดขึ้นรู้กาย หรือสติจะเกิดขึ้นรู้ใจ เราเลือกไม่ได้ ฉะนั้นตรงถึงจุดนั้น เราไม่ได้ทำอะไรแล้ว จิตเราตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ สติระลึกรู้กาย เราก็จะเห็นไตรลักษณ์ของกาย สติระลึกรู้จิตใจ ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของจิตใจ จุดนี้ไม่ต้องทำอะไร แต่ก่อนจะถึงจุดนี้ พอจิตเราตั้งมั่นแล้ว เราต้องหัดโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เช่น อาจจะเริ่มจากดูกายก็ได้ มีสติอยู่กับกาย แต่ไม่ได้ดูกายเพื่อให้จิตสงบ ถ้าสมถกรรมฐาน ดูกายก็เพื่อให้จิตสงบ เช่น รู้ลมหายใจ ดูท้องพองยุบ เดินจงกรม เพื่อให้จิตสงบ อันนั้นเป็นสมถะ

แต่ในขั้นวิปัสสนา จิตเราสงบ หรือจิตเราตั้งมั่นเด่นดวง มีกำลังแล้ว แล้วมันไม่ยอมเดินปัญญา เราก็ต้องโน้มน้อมใจไป อันนี้มีการกระทำ โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เช่น น้อมลงมาในร่างกาย ดูสิร่างกายนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง ร่างกายนี้สุขหรือทุกข์ ร่างกายนี้บังคับได้ หรือบังคับไม่ได้ สอนมันไป พามันดูไป ถ้าหากมันไม่ยอมดู ก็พามันดู ดูแล้วมันก็ไปดูแบบเพ่งๆ อยู่ แบบเพ่งกสิณ มันเคยทำกรรมฐาน ดูกายก็เพ่งกายอีก อันนี้ที่ครูบาอาจารย์สอน บอกให้พิจารณากาย ให้พิจารณาไป ร่างกายนี้มันเป็นของไม่เที่ยง มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา

ดูอย่างไรร่างกายไม่ใช่ของเรา ผมเป็นตัวเราไหม ลองดูสิ ผมมันบอกไหม ว่ามันเป็นตัวเรา มันจะยาว มันจะสั้น มันสั้นๆ อยู่แล้วมันงอกออกมา ห้ามมันได้ไหม ห้ามไม่ได้ ผมเคยดกแล้วมันจะบางลง ห้ามได้ไหม ห้ามไม่ได้ มันเคยดำ แล้วมันจะขาว ห้ามได้ไหม ห้ามไม่ได้ ดูลงไปอย่างนี้เลย สอนมัน พามันดูไป อันนี้เป็นจุดตั้งต้น เป็นแค่กระตุ้น ที่จะให้จิตมันทำวิปัสสนา ยังไม่ใช่ตัววิปัสสนา เป็นการกระตุ้นจิตให้เดินปัญญา หรือว่าจิตที่มันติดสมาธินิ่งๆ อยู่ ก็ต้องกระตุ้นให้มันเดินปัญญา โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ

หรือหลวงพ่อ อย่างหลวงพ่อนี้ หลวงปู่ท่านสอนให้ดูจิต หลวงพ่อก็หัดดู ทีแรกก็ดูไม่รู้เรื่อง มันเยอะแยะไปหมด เราก็เลือกดูตัวที่เรามีเยอะ หลวงพ่อเป็นพวกโทสะเยอะ หลวงพ่อก็ดูอยู่ 2 อย่างนั้นล่ะ จิตขณะนี้มีโทสะ จิตขณะนี้ไม่มีโทสะ นี่จงใจดู จงใจดูอยู่ที่โทสะ แล้วต่อไปพอมันชำนาญขึ้น ราคะเกิดมันก็เห็นเอง โมหะเกิดมันก็เห็นเอง สุขเกิด ทุกข์เกิด มันก็เห็นเอง เราเคยรู้สึกกาย รู้สึกกายไป ทีแรกเราจงใจรู้สึก ต่อมาสติมันดีขึ้น ไม่ได้จงใจจะรู้สึก มันก็รู้สึกเอง แล้วคราวนี้ อย่างเริ่มต้นรู้สึกจุดใดจุดหนึ่งของกาย แล้วต่อไปไม่ว่าส่วนไหนของกาย ก็รู้หมดเลย

เหมือนเริ่มต้นดูจิต ดูสภาวะทางจิตใจอันใดอันหนึ่ง เช่น โทสะ แล้วต่อไปมันก็รู้หมดเลย ทางจิตหลวงพ่อก็ทดลองมาแล้ว ตั้งแต่หลวงปู่ยังอยู่ ก็ดู จิตมีโทสะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้ ต่อไปมันก็ละเอียดขึ้นๆ จิตมีราคะก็รู้ ไม่มีราคะก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตรู้สึกตัวก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตสงบก็รู้ จิตหดหู่ท้อแท้ก็รู้ จิตห้าวหาญก็รู้ รู้ไป มันรู้ได้ละเอียดๆ ได้เยอะแยะเลย ร่างกาย หลวงพ่อก็เคยลองดู เคยไปหาหลวงพ่อเทียน ไปดูท่านสอน ตอนนั้นภาวนาเป็นแล้ว แต่ว่าอยากดูว่า แต่ละสำนักที่มีชื่อเสียง ครูบาอาจารย์ท่านสอนอะไรกัน ไปเห็นหลวงพ่อเทียนสอนขยับมือ หลวงพ่อก็มาลองขยับ ตอนนั้นที่เข้าไป ท่านนั่งอยู่ในศาลาไม้แคบๆ โยมนั่งเป็นแถวเลย ท่านก็พูดไป ขยับไป

หลวงพ่อก็ไม่ได้เข้าไปนั่งกับเขาหรอก เราจะไปแอบดู จะไปดู ดู โอ้ ท่านใช้ได้ ท่านขยับไปพูดไป ท่านไม่ได้ขาดสติ ดี แสดงว่าวิธีนี้ใช้ได้ หลวงพ่อก็ปลีกตัวออกมา นั่งใต้ต้นไม้ อยู่ในวัดสนามในนั่นล่ะ ก็นั่งขยับ ขยับตามที่เห็นท่านทำ ขยับๆ ไป ได้เวลาพอเหมาะก็กลับบ้าน ก็ขยับเล่นไปเรื่อยๆ เรียกว่าขยับเล่น ไม่ได้จริงจังหรอก ขยับๆ 14 จังหวะเยอะไป เบื่อ ขยับแล้วรำคาญ ก็เป็นพวกโทสะ มีตั้ง 14 จังหวะน่ารำคาญก็ Apply เหลือแค่นี้ เหลือแค่นี้แบก็รู้สึก กำก็รู้สึก กำไปกำมาเมื่อย เหลือแค่นี้ นั่งขยับอย่างนี้ ขยับๆ รู้สึก ฝึกให้จิตมันรู้สึกร่างกาย

วันหนึ่งเห็นเพื่อนเดินอยู่คนละฝั่งถนน เพื่อนคนนี้เป็นเพื่อนซี้ เรียกเพื่อนซี้ สมัยโบราณเขาเรียกอย่างนั้น เพื่อนสนิทกันตั้งแต่เด็กๆ แล้วแยกย้ายกันไปเรียนคนละมหาวิทยาลัย ไม่เจอนานแล้ว พอเห็นแล้วดีใจจะข้ามถนนไปคุยกับเขา หันซ้ายยังหลง หันขวายังหลง หลง พอก้าวขาจะเดินเท่านั้น สติเกิดพรึบเลย เกิดรู้สึกตัวเลย ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึกโดยไม่เจตนาแล้วคราวนี้ ทุกวันนี้ขยับอะไรนี้ รู้สึกหมด ขยับซ้าย ขยับขวา รู้สึก ไม่ได้เจตนา อันนี้สติมันทำงานเองแล้ว

 

เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ต่อไปความรู้ความเข้าใจก็กว้างขวางออกไป

ฉะนั้นเบื้องต้นที่นั่งขยับ เป็นการ Train เป็นการฝึกซ้อม เป็นการสอนให้จิตมันหัดรู้จักสภาวะ คือให้มันมีสตินั่นล่ะ หัดให้มันมีสติ พอดูกายขยับ ดูกายขยับไปเรื่อยๆ ต่อไปพอร่างกายขยับปุ๊บ สติเกิดเองเลย ตอนฝึกขยับมือ สติเกิดจากกายครั้งแรกตอนขยับเท้า ไม่ได้อยู่ที่เดียวกันหรอก แล้วตั้งแต่นั้นขยับอะไรก็รู้หมด จะนอนอยู่ จะพลิกซ้าย พลิกขวาก็รู้ทั้งนั้น จิตใจเราก็เหมือนกัน ทีแรกจากจุดเล็กๆ รู้บางอย่าง อย่างหลวงพ่อก็รู้โทสะ เพราะโทสะเกิดบ่อย เห็นโทสะกับไม่มีโทสะ จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ

ต่อไปก็เห็นละเอียดขึ้น จิตหงุดหงิดรู้ว่าหงุดหงิด จิตไม่หงุดหงิดก็รู้ว่าไม่หงุดหงิด ก่อนที่โทสะจะเกิด มันเกิดโทสะเล็กๆ ก่อน แล้วโทสะเล็กๆ ค่อยพัฒนาขึ้นเป็นโทสะตัวใหญ่ ด้วยอาหารที่สำคัญคือพยาบาทวิตก เป็นอาหารที่ป้อนๆๆ เลี้ยงให้โทสะตัวโต ถ้ากามวิตกก็เป็นอาหารที่ป้อนๆ ไปให้ราคะตัวใหญ่ขึ้น ให้กามราคะโตขึ้น มันค่อยรู้ค่อยเห็น เริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆ นั่นล่ะ แล้วต่อไปพอสติมันเกิด สติเคยรู้สึกกายที่เคลื่อนไหว พอกายเคลื่อนไหว สติเกิดเอง

สติเคยรู้ทันความรู้สึกของจิตที่เปลี่ยนแปลง ต่อไปพอความรู้สึกเกิด สติเกิดเอง มันจะเกิดสติอัตโนมัติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าลืม ต้องฝึกในรูปแบบ ให้จิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว ไม่ตั้งอยู่เฉยๆ โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ บางคนจิตเคยเจริญปัญญามาแต่ชาติปางก่อน พอจิตตั้งมั่นปุ๊บ สติระลึกรู้ความเปลี่ยนแปลงของกายของใจได้อัตโนมัติเลย ไม่ต้องช่วยๆ มันทำงานเอง แต่ถ้ายังไม่เคยฝึก ก็ต้องช่วยมันหน่อย ช่วยมันพิจารณา อย่างพิจารณากายสอนไปแล้ว พิจารณาจิต ดูสิ เออ จิตที่มีโทสะ มันเกิดเอง เราไม่ได้เชิญให้เกิด มันเกิดได้เอง แล้วพอรู้ทันมันก็ดับเอง เราสั่งให้ดับก็ไม่ได้

หลวงพ่อเริ่มต้นเดินปัญญาอย่างนี้ ไปดูความเป็นอนัตตา อนัตตาของสภาวะทางนามธรรม ต่อไปก็เห็นสุข ทุกข์ ดี ชั่ว ทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตาทั้งสิ้น ไม่ใช่เราสั่ง แต่ละตัวมีเหตุทั้งนั้น อย่างราคะนั้นมันมีเหตุ ก็คือจิตมันไปกระทบอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ แล้วไม่มีสติ มันก็เกิดราคะขึ้น แล้วมันจะรุนแรงมากขึ้นๆ ถ้าเรามีกามวิตก อย่างหลวงพ่อยังสอนพระในวัดเลย ยังหนุ่มๆ ราคะมันแรง ทรมาน บอก โอ๊ย อย่าไปกลัวมัน แค่อย่าไปคิดตามที่มันสอนให้คิดเท่านั้น พอไม่คิดตาม ราคะก็เหี่ยวแห้ง ไม่ได้กินอาหาร เหมือนหมาหิวก็หมดแรงไป ไม่มีฤทธิ์มีเดชอะไร

ฉะนั้นสภาวะทั้งหลาย ล้วนแต่มีเหตุทั้งสิ้น แต่ละตัวๆ เราไม่ต้องรู้เยอะหรอก เบื้องต้นรู้ตัวคู่เดียวก็พอ แล้วต่อไปมันรู้ทั้งหมด นามธรรมมีจำนวนมาก รูปธรรมมี 28 ชนิด ไม่ต้องเรียนหมดหรอก รู้เท่าที่เรารู้ได้ นามธรรมมีมหาศาลเลย เยอะแยะ จิตมี 1 เจตสิกมี 52 เจตสิก 52 เข้าไปประกอบจิต ทำให้เกิดจิตที่วิจิตรพิศดารเป็นร้อยก็ได้ เป็นร้อย เราก็ไม่ต้องตกใจ จิตบางอย่างเราไม่มี อย่างพวกเราไม่มีฌานจิต เราไม่ได้เข้าฌาน ก็ตัดทิ้งไปเยอะเลย เจตสิกในส่วนของฌานสมาบัติ เราไม่มี ก็ตัดทิ้งไป ก็ดูเท่าที่มี เจตสิกที่เรามี ก็เป็นเจตสิกที่อยู่ในกามาวจรนี้ล่ะ ก็หัดรู้หัดดูไป ต่อไปมันก็รู้ได้ทั่วถึง เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ต่อไปความรู้ความเข้าใจก็กว้างขวางออกไป

เหมือนความชั่ว เริ่มต้นก็จากจุดเล็กๆ ไม่ดูแล ไม่ระมัดระวัง มันก็ขยายตัวออกไป เหมือนไฟไหม้ เริ่มต้นจากจุดนิดเดียว แล้วก็ขยายตัวเผาบ้านเผาเมืองได้ ฉะนั้นสิ่งทั้งหลายเวลาเกิด มันเกิดจากจุดเล็กๆ เท่านั้น กิเลสก็เกิดจากกิเลสตัวเล็กก่อน ถ้าสติเราเร็ว กิเลสตัวเล็กดับ กิเลสตัวใหญ่ก็ไม่มี ถ้าสติเราไม่เกิดตอนนี้ กิเลสก็ตัวโตขึ้น เรามีสติตอนกิเลสตัวโต กิเลสตัวโตก็ดับ แต่ตอนนั้นมักจะบอบช้ำไปแล้ว คิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดีไปแล้ว ก็ต้องรับผลของกรรม อย่างเราพูดไม่ดี รับผลของกรรม คนเขาเกลียด คนเขาไม่ชอบ เราทำไม่ดี สังคมเขาก็ประณาม เราก็ไม่สบาย

ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ลึกๆ แล้วทุกคนอยากได้รับการยอมรับจากสังคม นี่เป็นธรรมชาติเลย ไม่ต้องตกใจ เป็นทุกคน เราไม่ได้เกิดมาคนเดียวแล้วก็อยู่คนเดียว มนุษย์นั้นเป็นสัตว์รวมกลุ่ม เพราะฉะนั้นมันก็ต้องการให้กลุ่มนี้ยอมรับ ยอมรับแล้วมันจะได้อะไรขึ้นมา ได้การย้ำเตือนถึงความมีตัวตนของเรา ถ้าเรา สมมติในชุมชนของเรา เราเกลียดคนนี้กันมาก ทุกคนเกลียดเหมือนกัน ไม่ต้องไปด่า ไม่ต้องไปตีเขา ทำเหมือนคนๆ นี้เป็นสุญญากาศ เวลาคนนี้มา ทุกคนทำเหมือนคนนี้เป็นสุญญากาศ เท่านี้ก็อยู่ไม่ไหวแล้ว เพราะไม่ได้รับการย้ำเตือนถึงความมีตัวตน ถูกทำให้ไม่มีตัวตน โอ๊ย เป็นการลงโทษทางสังคมที่รุนแรง รุนแรงกว่าถูกด่าอีก

ถูกด่ายังมีตัวกูใช่ไหม แล้วก็พร้อมจะด่าตอบได้ นี่ทุกคนเขาเฉย เขาเหมือนไม่เห็น นี่เป็น Social Sanctions ถูกสังคมลงโทษ เพราะฉะนั้นจริงๆ แต่ละคน มันอยากมีตัวตน มันอยากมีก็อยากมี ไม่ต้องหลอกตัวเอง แล้วเราค่อยภาวนาไป แล้ววันหนึ่งรู้ ไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้นกระทั่งตัวตนนี้ยังไม่มี คนอื่นเขาจะมองตัวนี้อย่างไร ก็เรื่องของเขา ตัวนี้ไม่ได้เดือดร้อนเลย คนเขาชมเรา เราเดือดร้อนหรือเปล่า ร่างกายนี้ไม่เดือดร้อน แต่จิตที่โดดออกไปรับ รับอารมณ์ เดือดร้อน คนเขาด่า จิตโดดออกไปรับอารมณ์ก็เดือดร้อน ไม่ว่าอารมณ์อะไร โดดตะครุบทีไรก็เดือดร้อนทุกที ทั้งอารมณ์ดี ทั้งอารมณ์ร้าย เรียนรู้ตัวเอง ต่อไปปัญญามันเกิด ยึดทีไรก็ทุกข์ทีนั้นล่ะ มีความอยาก มีความยึด ก็มีความทุกข์ หมดอยาก หมดยึด ก็หมดทุกข์ แล้วใจก็ค่อยๆ ฉลาดขึ้นๆ

เพราะฉะนั้นเราค่อยๆ ฝึก ฝึกตัวเอง ในขั้นวิปัสสนาไม่ต้องแก้ไขอะไร รู้ทุกอย่าง อย่างที่มันมี อย่างที่มันเป็น ยกเว้นตอนเริ่มต้น ถ้ามันไม่ยอมเดินปัญญา ต้องช่วยมันแก้ แก้ไขที่จิตติดนิ่ง ติดเฉย ก็พิจารณา พิจารณากาย พิจารณาจิตอะไรไป สมถะต้องทำ ต้องแก้ไข ส่วนมากอารมณ์กรรมฐานที่ใช้ทำสมถะ ก็จะเป็นอารมณ์ตรงข้าม เป็นปฏิปักษ์กับกิเลสหลักของเรา อย่างเราพวกโทสะเยอะ เจริญเมตตาไป ให้ใจร่มๆ ใจเย็นๆ ใจก็สงบ มีราคะพิจารณาปฏิกูลอสุภะไป ก็เห็นราคะไม่มี วัตถุกามไม่มีสาระแก่นสาร ราคะก็สงบ ใจก็ร่มเย็น

ใจมันฟุ้ง เที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่มีความสุขไปเรื่อย เรามาทำอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข จิตมีความสุขอยู่ในอารมณ์เดียว จิตก็ไม่หิวอารมณ์อื่น จิตก็สงบอยู่ นี่หลักของสมถะ มันมีการแก้ไขอารมณ์ของตัวเอง จิตใจของตัวเอง แต่ในขั้นวิปัสสนาจริงๆ ไม่ต้องทำอะไร รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็นไป แต่ถ้าไม่รู้ อันนั้นต้องทำ ช่วยมันคิดพิจารณา แต่ถ้ามันดูได้เอง ไม่ต้องทำอะไรแล้ว

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
26 สิงหาคม 2566