ความสุดโต่ง 2 ฝั่ง

เมื่อก่อนตอนหลวงพ่อสอนธรรมะใหม่ๆ ตั้งแต่ปี 2527 หลวงพ่อพุธท่านสั่งให้เผยแพร่ ตอนนั้นจะพูดอยู่เรื่อยๆ เลยว่าการปฏิบัติมันง่าย ครูบาอาจารย์ได้ยิน ท่านก็บอก หลวงปู่ทุย ลูกศิษย์ท่านเอาหนังสือหลวงพ่อไปให้ท่านดู ท่านบอกท่านเห็นด้วยที่หลวงพ่อสอน เห็นด้วยทุกเรื่อง ไม่เห็นด้วยอยู่เรื่องเดียว คือหลวงพ่อชอบบอกว่ามันง่าย ท่านบอกมันยาก พอสอนมาหลายๆ ปีก็ยอมจำนน ท่านพูดถูก มันยากๆ มันง่ายสำหรับบางคน มันยากสำหรับคนจำนวนมาก คือถ้าพื้นฐานสมาธิของเราดี สมาธิของเราถูก การปฏิบัติมันจะไม่ยากเลย แต่กว่าสมาธิจะถูก ฝึกกันหนัก ขนาดเป็นพระอยู่ที่นี่ ฝึกหลายปีกว่าจิตจะมีสมาธิที่ถูก

วิธีทำให้จิตมีสมาธิที่ถูกต้อง ไม่มี ไม่มีใครทำได้เพราะจิตเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เราสั่งให้มันมีสมาธิที่ถูกต้องหรือสัมมาสมาธิ สั่งไม่ได้ ให้เราเรียนรู้สิ่งที่ผิด สิ่งที่มันไม่ใช่สัมมาสมาธิ สิ่งที่ผิด เมื่อไรเรารู้จักว่าทำแบบอย่างนี้ผิด มันก็ไม่ผิด เมื่อไรไม่ผิด เมื่อนั้นมันก็ถูกเอง ที่ถูกจงใจทำขึ้นมาเมื่อไรก็ผิดทันทีเลย ทำไม่ได้หรอก

สิ่งที่ผิดที่เราต้องเรียนรู้ให้ดี มันมีแค่ 2 อย่างเท่านั้น อันหนึ่งจิตมันหลงไปเผลอไป จิตมันหลงไปเผลอไป ใครๆ ก็เป็น หมา แมว นก งู อะไรก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกันหมด คือจิตมันหลง มันหลงไปทางไหน มันหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเพลินไปเสพอารมณ์ มันเพลินไปดูรูป เพลินไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย เพลิดเพลินไปคิดไปนึกปรุงแต่งทางใจ จิตมันหลงออกไป เพลินในอารมณ์

 

หลงแล้วรู้ๆ ไป ไม่ต้องห้ามหลง

ถ้าจิตมันหลงไปอยู่ที่อารมณ์ มันก็ไม่สามารถตั้งมั่นได้ เพราะมันแส่ส่ายออกไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หลวงปู่ดูลย์ท่านใช้คำว่า จิตส่งออกข้างนอก ตรงนี้ฟังแล้วก็เข้าใจยากนิดหนึ่ง บางคนก็คิดว่าถ้าส่งออกนอกก็ต้องไปดูข้างนอก ที่จริงอย่างเรารู้ลมหายใจ ลมหายใจเข้า หายใจออก อยู่ในกายเรานี่ หรือเราดูท้องพองท้องยุบอะไรนี่ หรือเราขยับไม้ขยับมือ ถ้าจิตมันไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ ก็เรียกว่าจิตออกนอก จิตไหลไปอยู่ที่ท้อง ก็เรียกจิตออกนอก จิตไหลไปอยู่ที่มือที่เท้า ก็เรียกว่าจิตออกนอก คือจิตไม่ตั้งมั่น มันไหลออกไป มันแส่ส่ายออกไป หิวอารมณ์แล้วก็ส่ายออกไป เสพอารมณ์ต่างๆ

ไม่มีใครห้ามจิตว่าอย่าส่งออกนอกได้ เพราะว่าจิตเป็นอนัตตา เห็นไหมวนไปวนมา ก็มาคำว่าจิตเป็นอนัตตา สั่งให้จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทรงสัมมาสมาธิขึ้นมา ก็สั่งไม่ได้เพราะจิตเป็นอนัตตา สั่งว่าอย่าออกนอก ก็สั่งไม่ได้ เพราะจิตเป็นอนัตตา แล้วทำอย่างไร สั่งไม่ได้ก็แค่รู้อย่างที่มันเป็น ตรงนี้ล่ะที่มันจะพลิกกลับข้างไปเป็นการเพ่ง รู้อย่างที่มันเป็น จิตหลงไปคิด อันนี้เกิดบ่อยที่สุด หลงไปทางใจ คือหลงไปคิด ให้รู้ทัน จิตหลงไปคิดแล้วรู้ๆ

ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ก็จะมาเน้นตรงที่จิตคิด หลวงปู่ดูลย์สอนบอก “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็อาศัยคิด” คิดเท่าไรก็ไม่รู้ มันไม่รู้อะไร ไม่รู้ตัว แต่ไปรู้อะไร ไปรู้เรื่องที่คิดบ้าง บางทีคิดไป ไม่รู้ว่าคิดอะไรก็มี บอกคิดเท่าไรก็ไม่รู้ ไม่รู้ตัว ท่านก็สอนต่อบอกว่า เวลาหลงไปคิด เราห้ามมันไม่ได้หรอก จิตมีธรรมชาติคิดนึกปรุงแต่ง บางทีได้ยินท่านสอน “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้” ก็พยายามจะไปหยุดคิด พยายามทำให้จิตหยุดคิด อันนั้นก็ไม่ใช่การปฏิบัติที่ถูกต้อง

จิตมีหน้าที่คิดนึกปรุงแต่ง ไม่ต้องไปทำให้มันหยุดคิด เพราะหลวงปู่บอกประโยคที่สาม ประโยคที่หนึ่ง “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้” ประโยคที่สาม “แต่ก็อาศัยคิด” ปล่อยให้จิตมันคิดไปแล้วมีสติรู้ว่าจิตหลงคิด ทันทีที่จิตหลงไปคิด แล้วเรามีสติรู้ว่าจิตหลงคิด จิตหลงคิดจะดับ จิตที่หลงคิดเป็นจิตที่มีอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ซ่านไปในอารมณ์ ทันทีที่สติเกิด จิตฟุ้งซ่านก็ดับ จิตก็กลายเป็นจิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านดับไป เกิดจิตดวงใหม่ที่ไม่ฟุ้งซ่านขึ้นมาแทนที่ เพราะเรามีสติอยู่

จิตที่มันเกิดขึ้นมาตัวนี้ล่ะ เป็นจิตที่ทรงสัมมาสมาธิ ครูบาอาจารย์วัดป่าจะเรียกว่าจิตผู้รู้ ฉะนั้นจิตผู้รู้ อยู่ๆ เราไปสั่งให้เกิดไม่ได้ ให้เราคอยรู้ทัน มีสติรู้ทัน ตอนที่จิตมันหลง จิตหลงส่วนใหญ่คือหลงคิด พอจิตหลงไปคิด มีสติรู้ทัน จิตที่หลงคิดดับ ก็เกิดจิตที่ไม่หลง จิตตั้งมั่นอยู่ จิตจะเข้าสู่ทางสายกลางด้วยวิธีนี้

นอกจากจิตหลงคิดแล้ว จิตหลงไปทางไหนอีก หลงไปดูรูป หลงไปทางตา ถ้าเรากำลังไปดูอะไรเพลินๆ จิตใจเราไปจดจ่อกับการดูรูปอะไรบางอย่างอยู่ แล้วเราเกิดมีสติรู้ทันว่าตอนนี้จิตมันหลงไปดูรูป จิตที่หลงไปดูรูปก็ดับ จิตที่ทรงสัมมาสมาธิคือจิตตั้งมั่น ก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเพราะมันไม่หลง มันมีสติ หรือเวลาเราฟังเสียง อย่างเราฟังเพลงอะไรเพลินๆ ไป จิตเราไปเพลินอยู่กับการฟังเพลง เกิดมีสติรู้ว่ากำลังหลงไปฟังอยู่ จิตที่หลงฟังจะดับ ก็จะเกิดจิตที่ตั้งมั่นมีสัมมาสมาธิเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

ฉะนั้นการที่เราคอยรู้ว่าจิตหลงเป็นวิธีปฏิบัติที่ง่ายๆ หลงแล้วรู้ๆ จะหลงไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หลงทางไหนก็ไม่เป็นไร ถ้าหลงแล้วรู้ว่าหลงไป จิตไหลออกไป จิตที่หลงมันจะดับ มันจะเกิดจิตที่ทรงสัมมาสมาธิโดยอัตโนมัติ แล้วมันอยู่ชั่วขณะเท่านั้น ประเดี๋ยวมันก็ไหลอีก ไหลอีกรู้อีกๆ จิตมันจะค่อยๆ มีกำลัง หลงแล้วรู้ๆ ไป ไม่ต้องห้ามหลง ถ้าห้ามหลง เหนื่อย แล้วห้ามไม่ได้จริง แต่ถ้าหลงแล้วรู้ๆ ไปเรื่อย สะสมไป จิตจะมีกำลังตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตมันมีกำลังโดยที่ทรงตัวอยู่โดยที่เราไม่ต้องรักษา จิตตัวนั้นพร้อมที่จะเจริญปัญญาได้แล้ว พร้อมที่จะเอาไปใช้เรียนรู้ความจริงของกายของใจ ของรูปของนาม

วิธีปฏิบัติ ให้พวกเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้เท่าทันจิตตนเอง อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรือเราดูท้องพองดูท้องยุบอย่างนี้ ไม่ได้ดูให้จิตมันจมลงไปในลมหายใจหรือที่ท้อง แต่คอยรู้ทันจิต จิตมันไหลไปคิด รู้ทัน จิตมันไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ รู้ทัน จิตมันไหลลงไปอยู่ที่ท้อง รู้ทัน ไปเดินจงกรม จิตไหลไปลงที่เท้าก็รู้ทัน หรือบางทีก็เพ่งร่างกายทั้งตัวเลย ก็รู้ทัน คอยรู้ทันจิตไป เดินจงกรมไป จิตหนีไปคิด รู้ทัน

เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตของตนเอง อย่าไปบังคับจิต จิตอยากคิดก็ให้มันคิดไป จิตจะเกิดกิเลสก็ให้มันเกิดไป แต่ให้มีสติรู้ อย่างพอมันหลงไปคิดเรื่องนี้แล้วเราไม่มีสติรู้ตอนที่มันหลงคิด อาจจะเกิดราคะ เกิดโทสะขึ้นมา ถ้าตอนหลงคิดเรารู้ปุ๊บ จิตไม่หลง ราคะโทสะเกิดไม่ได้ ราคะโทสะไม่เกิดเดี่ยวๆ จะต้องเกิดร่วมกับความหลงเสมอ

เพราะฉะนั้นเวลาจิตมีราคะ จิตไม่ได้มีราคะอย่างเดียว ต้องมีโมหะด้วย เวลาจิตมีโทสะก็ไม่ได้เป็นโทสะอย่างเดียว แต่ต้องมีโมหะด้วย ถ้าจิตมันไม่มีโมหะ มันรู้เนื้อรู้ตัว ไม่หลง ราคะ โทสะมันก็เกิดไม่ได้ สังเกตไหมราคะ โทสะมันเกิด เราต้องหลงก่อน โดยเฉพาะหลงไปคิด ถ้าหลงไปคิด มีกามวิตก ราคะมันก็เกิดรุนแรงขึ้นมา ถ้ามันหลงไปคิด เกิดพยาบาทวิตก โทสะก็แรงขึ้นมา ฉะนั้นถ้าไม่หลงเสียอย่างเดียว กิเลสหยาบๆ ไม่มี

 

ดูจิตเป็นอนิจจัง อนัตตา

แต่เราฝึกไม่ใช่ฝึกไม่ให้หลง บอกแล้ว จิตมีธรรมชาติส่งออกนอก เพราะฉะนั้นหลงแล้วรู้ๆ ไป จิตจะมีกำลังมากขึ้นๆ เมื่อจิตมีกำลังมากแล้ว ต่อไปแทนที่มันจะเห็นแค่ว่า จิตไหลไปทางโน้นไหลไปทางนี้ มันจะเกิดปัญญาขึ้นมา มีวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้น มันก็จะเห็นจิตใจของเราตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ทีแรกเราเห็นจิตหลงไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เราก็แค่รู้ว่ามันหลงไป

ต่อมาพอฝึกมากเข้าๆ สติปัญญาเราแก่กล้าขึ้น เราก็จะเห็นจิตจะหลงไปทางไหนเราเลือกไม่ได้ จิตเป็นอนัตตา มันทำงานได้เอง มันจะหลงไปดูรูป หรือมันจะหลงไปฟังเสียง หรือมันจะหลงไปคิด เราไม่ได้สั่ง มันทำงานของมันได้เอง มันเป็นอนัตตา แล้วการที่หลงแล้วรู้ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา หลงมันดับ รู้มันเกิด เห็นบ่อยๆ ก็จะรู้เอง จิตหลงก็ไม่เที่ยง จิตรู้เองก็ไม่เที่ยง อันนี้เราเห็นอนิจจัง เฝ้ารู้เฝ้าดูทำกรรมฐานไป เฝ้ารู้เฝ้าดูจิตใจตัวเองไปบ่อยๆ สิ่งที่เราจะเห็นได้ง่ายก็คือจิตเป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา

เมื่อก่อนหลวงพ่อเคยสงสัย หลวงพ่อเคยบวชที่วัดชลประทานฯ สมัยยังเรียนหนังสืออยู่ มีบททำวัตรเช้า ในบททำวัตรเช้า มันมีอยู่ท่อนหนึ่งบอกว่า รูปังอนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนาอนิจจา เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ไม่เที่ยง สัญญาอนิจจา ความจำได้หมายรู้ไม่เที่ยง สังขาราอนิจจา ความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่ว ไม่เที่ยง วิญญาณังอนิจจัง วิญญาณคือจิต ไม่เที่ยง จากอนิจจา อนิจจัง ประโยคถัดไป รูปังอนัตตา เอ๊ะ ทำไมอนิจจังแล้วขึ้น อนัตตาเลย ทำไมไม่บอก รูปังทุกขัง เวทนาทุกขัง ไม่มี เล่นข้ามจากวิญญาณังอนิจจัง ขึ้นรูปังอนัตตาเลย ทำไมทิ้ง ทุกขัง มีแต่อนิจจังกับอนัตตา

ขันธ์ 5 เรื่องของขันธ์ 5 ถ้าดูให้ดี ในขันธ์ 5 มีรูปธรรมอยู่ 1 มีนามธรรมอยู่ 4 เพราะฉะนั้นขันธ์ 5 เป็นกรรมฐานที่เหมาะกับพวกที่ชอบดูนามธรรม อย่างพวกเราดูจิต เราดูนามธรรม ฉะนั้นเราจะเห็นนามธรรมมากมาย รูปธรรมมีแค่ 1 เท่านั้นเอง แต่อย่างคนที่ชอบดูรูปธรรม พระพุทธเจ้าท่านจะสอนอายตนะ 6 ก็ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่เป็นรูปธรรม มีใจอันเดียวเป็นนามธรรม ทีนี้พวกเราเป็นพวกคิดมากเหมาะกับการดูจิต การดูจิตดูใจ ท่านสอนเรื่องขันธ์ 5 ในขันธ์ 5 ส่วนใหญ่เป็นนามธรรม มันเลยเหมาะกับการดูจิต พวกดูจิตดูนามธรรม

แล้วเวลาเราดูจิตดูใจเรา สิ่งที่เห็นได้ชัดดูได้ง่ายก็คืออนิจจัง อนัตตา ฉะนั้นที่ท่านสอนออกมาจากการปฏิบัติจริงๆ ออกมาจากการปฏิบัติ เพราะเวลาลงมือปฏิบัติ ถ้าเราดูนามธรรม เราจะเห็นอนิจจังกับอนัตตาง่าย ทุกขังเห็นยาก อย่างดูจิตให้เห็นว่าจิตเป็นตัวทุกข์ ถูกบีบคั้นให้แตกสลายอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าไม่ทรงสมาธิเข้มแข็งจริงๆ จะไม่เห็น เราก็ดูจิตเป็นอนิจจัง อนัตตาของเราไปนี่ล่ะ แล้วถึงเวลาจิตรวมลงไปแล้วก็ตัด ได้โสดาบัน ได้สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์อะไรอย่างนี้

แต่สำหรับคนทรงฌาน คนทรงฌานภาวนาจนวางกาย จิตรวมเข้ามาที่จิตแล้ว มาเดินปัญญาอยู่ที่จิต พวกทรงฌานจิตมันมีแต่ความสุข จะไปดูว่ามันเป็นตัวทุกข์ดูยาก แล้วจิตที่ทรงฌานจะดูว่าเป็นอนิจจังก็ดูยาก จะดูว่าเป็นอนัตตาก็ดูยาก เพราะมันเหมือนบังคับได้ นึกอยากให้สงบเมื่อไรก็ทำได้ทันทีเลย มันเหมือนบังคับได้ ฉะนั้นเวลาพวกที่ทรงฌานจริงๆ แล้วดูจิต มักจะหลุดพ้นไปด้วยการเห็นทุกข์ เห็นจิตเป็นทุกข์ จะแตกต่างกับคนที่ไม่ได้เดินทางฌาน เดินมาด้วยศรัทธา วิริยะ ด้วยปัญญา พวกนี้จะเห็นอนิจจัง อนัตตา พวกเราส่วนใหญ่ก็ต้องไปดูอนิจจัง อนัตตานั่นล่ะ

เห็นไหมจิตผู้รู้สั่งให้เกิดไม่ได้ อันนี้คืออนัตตา สั่งไม่ได้ เห็นไหม จิตผู้รู้เกิดแล้วเรารักษาไว้ก็ไม่ได้ นี่คืออนัตตา แต่ถ้าทรงฌาน จะสามารถรักษาจิตผู้รู้เอาไว้ได้นานๆ ทีหนึ่งหลายๆ วันเลย เป็นผู้รู้อยู่อย่างนั้น ถ้าเราไม่ได้ทรงฌาน ดูง่ายว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นอนัตตา พวกฤๅษีชีไพรเข้าสมาธิเก่ง ได้ฌานสมาบัติกัน พวกนี้ก็เลยเกิดความเห็นผิดว่าจิตเป็นอัตตา ทำไมว่าจิตเป็นอัตตา เพราะควบคุมได้ อยากสงบเมื่อไรกำหนดจิตปุ๊บ สงบทันทีเลย อยากสงบอยู่นานเท่าไรก็กำหนดเอาไว้แล้วก็อยู่นานเท่านั้น เลยเกิดความหลงผิดขึ้นมา ฉะนั้นเวลาพวกฤๅษีชีไพรนั่งสมาธิ บางทีแทนที่จะเกิดปัญญา เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เลยกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิก็มี

 

ความสุดโต่ง2 ฝั่ง

เพราะฉะนั้นการฝึกสมาธิก็ต้องระมัดระวัง ต้องมีสติกำกับตลอดสายเลย มิฉะนั้นหลง หลงอะไร ไม่ได้หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ได้หลงคิด แต่หลงไปอยู่ในโลกภายใน เป็นหลงทางใจเหมือนกัน รูปโลก อรูปโลก หลงอยู่ในรูปฌาน อรูปฌาน ก็เป็นโลกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราจะต้องระมัดระวังเวลาที่เราดูจิตดูใจ ถ้าดูไปแล้วก็สบาย แล้วก็เพลิน แล้วก็นิ่ง แล้วก็ว่าง แล้วก็ทรงตัวอยู่อย่างนั้นนานๆ ต้องรู้ว่าผิดแล้ว จิตเป็นอนิจจัง ทำไมเราเห็นว่ามันเที่ยง จิตเป็นอนัตตา ทำไมเราบังคับได้ แสดงว่าผิดแน่นอน มันผิดจากพระไตรปิฎก แสดงว่าเราทำผิด

ตัวนี้จับหลักให้แม่น ถ้าเราภาวนาแล้วเรารู้เราเห็นอะไรที่ขัดแย้งกับพระไตรปิฎก แสดงว่าเราต้องทำอะไรผิดแน่นอน เพราะพระไตรปิฎกรวบรวมมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวก ไม่ใช่อรหันต์ก็มี บางคนเป็นฆราวาสๆ แต่ได้อนาคามี แสดงธรรมไว้ก็มี ฉะนั้นฆราวาสเป็นพระอริยะได้ไหม เป็นได้ ฆราวาสสอนธรรมะได้ไหม สอนได้ถ้ารู้จริง แต่ถ้ารู้ไม่จริง ไปสอนเขาผิด บาปกรรมแสนสาหัสเลย ต้องใช้หนี้ ภาวนานานกว่าจะเข้าทางสายกลางได้ เพราะพาคนอื่นเขาหลงผิด

ปฏิบัติธรรมในรูปแบบสักอย่าง มีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ไว้ แล้วคอยรู้เท่าทันจิตตนเอง จิตหลงไปจากเครื่องอยู่ ให้รู้ทัน มันจะหลงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็ตามเถอะ เราอยู่กับเครื่องอยู่ไว้ แล้วจิตหลงไปจากเครื่องอยู่ ให้รู้ทัน ถ้ารู้ทันแล้ว จิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทรงสัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นแล้วเดินปัญญาได้ พอมีกำลังพอ มันจะเดินปัญญา อย่างถ้ากำลังเรายังน้อย เราเห็นร่างกายมันนั่ง ถ้ากำลังมันมาก เราเห็นว่าตัวที่นั่งอยู่มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่รู้แค่ว่ามีร่างกายอยู่ ถ้ารู้ว่ามีร่างกายอยู่ยังไม่ได้ขึ้นวิปัสสนา ก็ต้องเห็นอีกมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ถ้าเห็นไตรลักษณ์แล้วถึงจะเป็นวิปัสสนา

เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำกรรมฐานสักอันหนึ่งอะไรก็ได้ ไม่มีกรรมฐานอะไรดีกว่ากรรมฐานอะไร แต่ว่าต้องทำให้เป็น ทำกรรมฐานแล้วก็คอยรู้ทันจิตตนเองที่มันหลงไป ส่วนใหญ่หลงคิด แล้วมันมีการหลงอีกชนิดหนึ่ง อย่างเราทำกรรมฐานอยู่ จิตเราหลงถลำลงไปเพ่งไปจ้องอารมณ์กรรมฐาน นี่คือการที่ปฏิบัติแล้วผิดอีก อีกช่องหนึ่ง ช่องทางที่ปฏิบัติแล้วผิดมี 2 อัน อันหนึ่งทำกรรมฐานอยู่แล้วจิตหลงไปจากอารมณ์กรรมฐานไปที่อื่น อีกอย่างหนึ่งทำกรรมฐานอยู่แล้วจิตถลำลงไปเพ่งจ้อง นิ่งอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน อันนั้นกลายเป็นสมถกรรมฐาน จิตถลำลงไปนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว

เดินปัญญาได้ไหมถ้าลงไปนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว ถ้านิ่งอยู่ เดินปัญญาไม่ได้ แต่ถ้าลงไปนิ่งรวมถึงจุดหนึ่ง จิตขยับตัวถอยขึ้นนิดหนึ่ง แล้วเห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงภายใน อันนั้นสามารถเดินปัญญาในฌานได้ แต่ส่วนใหญ่ถ้าเข้าสมาธิลึกลงไป ก็ไปสบายเพลินอยู่อย่างนั้น ขี้เกียจ เป็นสมาธิขี้เกียจ ขี้เกียจอะไร ขี้เกียจเจริญปัญญา ถึงเวลาก็หิวความสงบ รีบไปนั่งสมาธิแล้วก็เข้าไปอยู่ในความสงบเฉยๆ อยู่อย่างนั้น เสียเวลามาก

ฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติ ขอแนะนำว่าให้ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งอะไรก็ได้ที่เราถนัด แล้วถ้าจิตมันหลงลืมอารมณ์กรรมฐานนั้น วิ่งไปหาอารมณ์อย่างอื่น ให้รู้ทัน ถ้าจิตถลำลงไปเพ่งจ้องกรรมฐานอันนั้นให้รู้ทัน สรุปก็คือให้รู้ทันจิตตนเองนั่นเอง ทำกรรมฐานไป จิตเราหนีไปคิด รู้ทัน จิตหนีไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย รู้ทัน จิตไหลลงไป ถลำลงไป ไปเพ่งไปจ้องอารมณ์กรรมฐาน ให้รู้ทัน

อย่างหลวงพ่อเจอเยอะเลย พวกดูท้องพองยุบ หรือดูลมหายใจ จิตมันไหลไปอยู่ที่ท้อง จิตมันไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ อันนี้จิตออกนอกแล้ว จิตไม่ตั้งมั่นแล้ว แต่จิตเข้าไปตั้งแช่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แต่ความสงบ ไม่เกิดปัญญาอะไรจริง สิ่งที่ผิดก็มี 2 อันเท่านั้น ก่อนที่จะเข้าสู่ทางสายกลาง อันหนึ่งหลงไปเที่ยวแสวงหาอารมณ์ต่างๆ เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค อารมณ์ต่างๆ ล้วนแต่เรื่องกามคุณอารมณ์ทั้งนั้น อีกอันหนึ่งเป็นอัตตกิลมถานุโยค เพ่งจ้องเอาไว้ ทำตัวเองให้เนิ่นช้าให้ลำบาก ทางสายกลางก็คือต้องไม่สุดโต่งไป 2 ฝั่งนี้

อย่างการที่เรานั่งสมาธิไป หายใจไป พุทโธไปอะไรอย่างนี้ แล้วจิตก็หนีไปคิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ หรือบางทีก็แวบไป ได้ยินเสียงอะไร สนใจ ลืมกรรมฐานเราแล้ว นี่จิตมันเที่ยวแสวงหาอารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เรียกว่ากามคุณอารมณ์ หรือมันไหลไปคิดในเรื่องของกามทั้งหลาย ก็เรียกว่ากามธรรม เป็นการหลงในกามทางใจ กามคุณอารมณ์ยังไม่น่ากลัวเท่ากามธรรม ถ้าเป็นพระจะรู้เลย น่ากลัวจริงๆ

กามคุณอารมณ์ อย่างพระอยากเสพกามอย่างนี้ อยากกินของอร่อยอย่างนี้ ไม่มี ไม่มีจะให้กิน ไม่มีจะให้เสพ แต่ใจมันเสพ ใจมันหิว มันก็นึกถึงเคยเสพกามอย่างนี้ๆ ใจมันย้อนไป อันนี้เรียกเป็นกามธรรม เป็นธรรมารมณ์ในเรื่องของกาม ตัวนี้ร้ายมากเลย หลวงพ่อถึงบอกพระในนี้ หลวงพ่อเคยสอนเรื่อยๆ อย่าไปกลัวกิเลส อย่าไปกลัวกาม แค่อย่าไปคิดมันเท่านั้นล่ะ อย่าไปมีกามวิตก กามราคะยังไม่น่ากลัวเลย ถ้าไม่มีกามวิตก แต่ถ้าเราไปตรึกเรื่องกาม จิตมันไหลไปเสพกามทางใจ เป็นกามธรรม กิเลสก็แรงขึ้นมา

ทำกรรมฐาน แล้วคอยรู้เท่าทันจิตตนเอง จิตหลงไปหาอารมณ์ภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอะไรนี่ หรือหลงไปหากามธรรม เรื่องราวที่เราคิดขึ้นมา ให้รู้ทัน หรือจิตเราถลำไปเพ่งไปจ้องอารมณ์กรรมฐาน ให้รู้ทัน คนที่ไม่เคยปฏิบัติ จิตมันจะหลงแสวงหาอารมณ์โน้นอารมณ์นี้ไปเรื่อยๆ พอมันเหนื่อย มันคล้ายๆ เด็กวิ่งซน พอเหนื่อยก็หัวซุกหัวซุนไม่รู้ หลับไม่รู้เรื่องอะไรอย่างนี้

 

เราไม่ได้ปฏิบัติเพราะอยาก
เราปฏิบัติเพราะเป็นสิ่งที่สมควรทำ

ส่วนนักปฏิบัติร้อยละร้อยตอนที่ลงมือปฏิบัติ เพ่งทุกราย ไม่ต้องตกใจ เพ่งทุกราย ทำไมถึงเพ่ง ที่เพ่งเพราะว่าความอยาก อยากอะไร อยากปฏิบัติ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี อยากปฏิบัติ มันจะเกิดการเพ่ง แค่อยากปฏิบัติก็ผิดแล้ว ให้รู้ทันเวลาจิตมันอยากปฏิบัติ ให้รู้ทัน ความอยากดับไปแล้วค่อยปฏิบัติ ไม่ใช่พอความอยากดับ เราก็เลิก ไม่ต้องปฏิบัติ ไม่ใช่ เราไม่ได้ทำเพราะความอยาก แต่เราทำเพราะสมควรจะทำ สมควรปฏิบัติ

มีคราวหนึ่ง หลวงพ่อยังไม่ได้บวช หลวงปู่ดูลย์สิ้นไปแล้ว หลวงพ่อไปอยู่วัดสาขาของหลวงปู่ดูลย์ วันหนึ่งก็เห็นต้นไม้ในวัด มีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่ง ต้นกระท้อน ก็มีแคร่อยู่อันหนึ่ง ในใจก็นึก วันนี้เราจะภาวนาอยู่ที่นี่ นั่งบ้างเดินบ้าง อยู่ที่ต้นไม้นี่ แค่คิด ครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง น่าจะชื่อหลวงพ่อหรุ่น น่าจะหลวงพ่อหรุ่นตะโกนมาเลย พระสุรินทร์ไม่มีมารยาทอะไรกับใคร ไม่สนใจตรงนั้น สนใจธรรมะจริงๆ เราอยู่ห่างท่าน พอเราคิดว่าเราจะภาวนาอยู่ตรงนี้วันนี้ ท่านตะโกนมาเลย “ปราโมทย์ อยากปฏิบัติก็ผิดแล้ว” โห ตอนนั้นใจมันสะเทือนเลย โอ อยากปฏิบัติก็ผิดหรือ

คราวนี้พอมันอยากปฏิบัติรู้ทัน พอรู้ทันความอยากดับ ก็เริ่มไม่ต้องปฏิบัติ ดูไปดูมา นี่ถูกกิเลสหลอกอีกแล้ว ต่อมาพอรู้ทันกิเลส ความอยากปฏิบัติเกิด รู้ทัน ความอยากปฏิบัติดับ เราก็ปฏิบัติไปเลยโดยไม่ได้ปฏิบัติเพราะอยาก อย่างเบอร์ 2 รู้สึกไหม หมดความอยากปฏิบัติ มันก็ขี้เกียจได้ อย่านึกว่าไม่รู้ หลวงพ่อก็เคยเป็นแต่เราฉลาด เราก็รู้ทันกิเลส

เราไม่ได้ปฏิบัติเพราะอยาก เราปฏิบัติเพราะเป็นสิ่งที่สมควรทำ เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนเราให้ปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติ อยากหรือไม่อยากก็ปฏิบัติ ต้องสู้อย่างนั้น เวลาที่จิตเราหลงไป ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจอะไร หลงไปหาอารมณ์โน้นอารมณ์นี้ แล้วเรามีสติรู้ทันจิตว่าจิตกำลังหลงอยู่ จิตที่หลงจะดับ จิตที่ตั้งมั่น ทรงสัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่เวลาเราเพ่งแล้วเรารู้ทันว่าเพ่ง มีสติรู้ทันตัวเองว่ากำลังเพ่งอยู่ ไม่หาย มันไม่เลิกเพ่งหรอก เพราะว่าการเพ่ง มันเป็นความปรุงดี ความหลง ฟุ้งไปในอารมณ์ต่างๆ เป็นความปรุงชั่ว

พอเรามีสติรู้ว่ากำลังปรุงชั่ว หลงไปทางตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจอยู่ ความหลงมันดับ จิตก็ตื่นขึ้นมา แต่การเพ่ง รู้ว่าเพ่งก็ไม่หาย ต้องดูลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง มันเพ่งเพราะอะไร เพราะมันอยาก อยากอะไร อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี มีความอยากอยู่เบื้องหลังการเพ่ง การเพ่งเป็นการพยายามทำความดี ไม่ใช่เรื่องเลว แต่ว่ากิเลสมันอยู่ข้างหลัง ต้องเห็นตัวนี้ อย่างถ้าเราเห็นว่าเราอยากให้จิตสงบ พอนั่งสมาธิปุ๊บ อยากให้จิตสงบเลย ก็เพ่งเอาๆ ไปรู้ว่าเพ่ง ก็ไม่หายเพ่งแต่รู้ว่า เฮ้ย นี่มันอยากให้จิตสงบนี่หว่า

พอรู้ตัวนี้ ความอยากดับ การเพ่งก็ดับ ความแน่นที่เกิดขึ้น อึดอัดที่เกิดขึ้นก็ดับ เรียงเป็นตับเลย มันอยู่ในกฎของคำว่าไตรวัฏฏ์ ไตร วัฏฏะ คือวัฏฏะ 3 กิเลส กรรม วิบาก มีกิเลส เป็นเหตุให้เกิดการกระทำกรรม คือการทำงานของใจ มีกรรมก็เป็นเหตุให้เกิดวิบาก ทำเหตุ กรรมเป็นเหตุ วิบากก็เป็นผล มีความทุกข์เป็นผลแน่นๆ เพราะฉะนั้นเวลามันแน่น มันเป็นตัววิบาก ตัววิบาก แก้ไม่ได้ ตัววิบาก แก้ไม่ได้ ต้องแก้ที่ตัวต้นเหตุ คือที่กิเลส

ทันทีที่เรารู้ว่าเราปฏิบัติอยู่ด้วยความอยาก รู้ทันความอยาก ความอยากดับ การปฏิบัติด้วยอำนาจของความอยากก็ดับ แล้วเราก็รับผลวิบากไปอีกหน่อยหนึ่ง อึดอัดไปอีกช่วงหนึ่ง ก็ไปทำกรรมไว้ ก็ต้องรับผลของกรรมไปหน่อยหนึ่ง ถ้าเพ่งแรงก็ต้องรับผลแรง เพราะฉะนั้นเวลาจิตหลง เรารู้ทัน มันหายหลงทันที จิตรู้จะเกิดทันที เวลาเพ่งอยู่ รู้ว่าเพ่ง ยังไม่หายเพ่ง ต้องรู้เบื้องหลังของการเพ่ง อ๋อ มันเพ่งเพราะมีกิเลส เพราะอยากดี

พอความอยากปฏิบัติดับ การปฏิบัติไปตามอำนาจความอยาก คือการเพ่งก็ดับ พอการเพ่งดับ ผลของการเพ่งคือความทุกข์ ความอึดอัดขัดข้องก็สลายตัวไป ตัววิบากมันไม่จำเป็นต้องดับทันที มันก็มีส่วนที่เหลือตามมา อย่างร่างกายเราเป็นวิบาก ตัวรูปธรรมเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม กรรมเก่าส่งผลให้เราเกิดมาหน้าตาเป็นอย่างนี้ เราภาวนาดี สมมุติว่าหน้าตาเราน่าเกลียดเลย กรรมเก่าส่งผลมา หน้าตาเราไม่สวยเลย เรามาภาวนาได้ธรรมะอะไรอย่างนี้ หน้าตาเราก็ยังไม่สวยอยู่อย่างนั้นล่ะ แต่ถ้าคนมีหูมีตาก็จะดูออก คนภาวนากับคนไม่ภาวนาหน้าตาไม่เหมือนกัน อันนี้วิญญูชนจะรู้ด้วยตัวเอง หน้าตาจะเปลี่ยนไป ไปส่องกระจกแล้วรู้เลยว่าไม่เหมือนเดิม ถึงไม่ส่องก็รู้

สิ่งที่ผิดมี 2 อันในการปฏิบัติที่จะได้จิตตั้งมั่น อันหนึ่งลืมอารมณ์กรรมฐาน อันหนึ่งไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน 2 อัน ถ้าลืมอารมณ์กรรมฐานแล้วเรารู้ปุ๊บ จิตจะทรงสัมมาสมาธิทันทีเลย แต่ถ้าเพ่งอารมณ์กรรมฐานอยู่ มันยังเพ่งต่อได้อีก รู้ว่าเพ่ง เราก็ยังเพ่งได้อีก ให้รู้ทันเบื้องหลังของการเพ่ง คือความโลภ โลภะตัวเดียวนี้ล่ะ ตัวอยากดี ถ้ารู้ตัวนี้ การเพ่งก็จะดับ ผลที่เราเคยเพ่งเอาไว้ อึดอัด จะค่อยๆ สลายตัวไป ตัววิบากบางทีมันก็เหลือหาง เหลือติ่งค้างมาหน่อยหนึ่งก่อนที่จะดับ อย่างร่างกายเรา อีกช่วงหนึ่งหมดกำลังของกรรมที่ทำให้เราได้กายนี้มา ร่างกายนี้ก็ดับแตกสลาย นี่เป็นวิบาก วิบากไม่ต้องแก้ แก้ไม่ได้

 

ทำกรรมฐานที่เราถนัดเพื่อจะรู้ทันจิตตนเอง

ยากไปไหม ฟังแล้วยาว จับประเด็นอาจจะยาก เอาง่ายๆ ทุกคนไปทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ที่ถนัด ประโยคนี้จำได้ยัง ทุกคนต้องไปทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งอะไรก็ได้ที่เราถนัด แต่ไม่ได้ทำเพื่อให้จิตสงบ อันนั้นตื้นไป เป็นแบบฤๅษีชีไพรเขาทำมาแล้ว ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อให้จิตสงบ ไม่ใช่เพื่อให้หายฟุ้งซ่าน แต่เพื่อจะรู้ทันจิตตนเอง อย่างพุทโธๆ เรารู้ทันจิตตัวเอง จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตถลำไปเพ่งก็รู้ รู้อย่างนี้ ดูท้องพองยุบอยู่ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นก็รู้ จิตถลำไปเพ่งท้องก็รู้ ใช้หลักเดียวกัน

ขยับมือ อย่างสายหลวงพ่อเทียนขยับมือ ขยับ ถ้าหลงไปคิดเรื่องอื่น ก็ใช้ไม่ได้ ให้รู้ว่าหลงไป ถ้าไปเพ่งมือ มี เพ่งมือ จิตไปอยู่ที่มือเลย เพ่งอยู่ที่มือ ก็ให้รู้ว่าหลงเพ่ง ไปเพ่งอยู่ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตนเองไว้ แล้วเราจะได้สัมมาสมาธิ บทเรียนนี้ถึงชื่อว่าจิตตสิกขา บทเรียนที่ทำให้เราได้สัมมาสมาธิ ได้สมาธิที่ถูกต้อง ชื่อว่าอธิจิตตสิกขา มีอธิด้วย ย่อๆ เรียกจิตตสิกขา เรียนเรื่องจิตเราเองนี่ล่ะ เรียนอย่างยิ่งเลย เรียนเอาจริงเอาจัง

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง จิตหลงไปคิด รู้ทัน จิตถลำไปเพ่ง รู้ทัน ฝึกบ่อยๆ จิตจะมีกำลังตั้งมั่นขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วจิตมีกำลัง คราวนี้ไม่ได้เจตนามันรู้สึกตัวได้เอง รู้สึกตัวอยู่ได้เองทั้งวันเลย หลวงพ่อทำตั้งแต่เป็นโยม ทำได้ตั้งแต่ 10 ขวบ แต่อันนั้นเกิดจากการทำสมาธิแล้วได้ตัวจิตผู้รู้มา จิตผู้รู้มันทรงตัวอยู่ แล้วตอนเด็กๆ เราไม่เข้าใจ เราก็คิดว่าคนอื่นก็เป็นอย่างนี้ มาโตแล้วภาวนาถึงเห็น เอ้ย ไม่ใช่ ในโลกมีแต่คนหลง ในโลกไม่มีคนรู้สึกตัวหรอก ต้องฝึกกันนานเลยกว่าจะรู้สึกตัวขึ้นมาได้ กว่าจิตจะตื่นขึ้นมาได้

พอตื่นแล้วสะสมไปเรื่อย จิตจะมีกำลัง ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา คำว่าเด่นดวง ก็ไม่อยากพูดเหมือนกัน เดี๋ยวก็คิดว่าจิตเป็นดวงๆ วุ่นวายขึ้นมาอีก พอจิตเราตั้งมั่นแล้ว คราวนี้เราถึงจะเจริญปัญญาได้ จิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้กาย สัญญาจะหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย ปัญญาจะเกิดรู้ความจริงของกาย จิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้เวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญาก็เข้าไปหมายรู้เวทนาว่าเป็นไตรลักษณ์

ปัญญาคือความรู้ถูกเข้าใจถูกว่าเวทนาไม่ใช่ตัวเราของเราก็จะเกิดขึ้น จิตตั้งมั่นอยู่ สติไประลึกรู้สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วทั้งหลายแหล่ จะเห็นสังขารตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกัน มันจะไปหมายรู้สังขารว่าเป็นไตรลักษณ์ แล้วปัญญามันก็เกิด รู้ความจริง รู้จริงเห็นจริง รู้ถูกเห็นถูกว่าสังขารเป็นไตรลักษณ์ ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตตั้งมั่นอยู่แล้วก็เห็นสติระลึกรู้จิต เดี๋ยวก็เป็นจิตตั้งมั่น เดี๋ยวก็เป็นจิตไหลไปทางโน้น เดี๋ยวก็ตั้งมั่น เดี๋ยวก็ไหลไปอีกทาง เดี๋ยวก็ตั้งมั่น เดี๋ยวถลำไปเพ่ง เห็นซ้ำๆๆ ไป มันเกิดหมายรู้ว่าจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ปัญญามันเกิด มันเกิดความรู้ถูกเข้าใจถูกว่าจิตเองก็เป็นไตรลักษณ์

พอจิตเองเป็นไตรลักษณ์ คราวนี้เรียกว่าเราจับเข้ามาที่แกนกลางของสิ่งที่เรียกว่าชีวิตของเรา ชีวิตของเรา ร่างกายยังเป็นแค่เปลือก อย่างเวลาเราไม่สบาย บางคนไม่สบาย ตัดแขนตัดขาไป ก็ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีจิตวิญญาณอยู่ จิตวิญญาณมันเลยเป็นแกนกลางของชีวิต เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าคือตัวเราเหนียวแน่นที่สุดเลย ถ้าเราภาวนามาจนเราเห็นว่าจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่ใช่ตัวเราของเรา ขันธ์ทั้ง 5 มันจะไม่มีตัวเราของเรา โลกทั้งโลกก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา นี่คือภูมิจิตภูมิธรรมของพระโสดาบัน

ไม่ยากหรอก อ้าว บอกไม่ยากอีกแล้ว มันยากเหมือนกัน เอา ยากเหมือนกัน ถ้าไม่รู้หลัก ทำไม่ได้ ถ้ารู้หลักแล้วขี้เกียจก็ทำไม่ได้ ถ้าทำแล้วทำผิดหลักก็ทำไม่ได้อีก ฉะนั้นฟังหลักให้แม่นๆ ขั้นแรกเลยทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง จิตหลงไปคิดลืมกรรมฐาน รู้ทัน จิตไปถลำไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน เล่นตัวนี้ให้หนักไว้ ให้มากๆ ไว้ ทำทั้งวันได้ยิ่งดี จิตจะได้มีกำลังทรงตัวตั้งมั่นขึ้นมา แล้วต่อไปสติระลึกรู้รูปก็เห็นรูปไม่ใช่เรา ระลึกรู้นาม มันก็จะเห็นนามไม่ใช่เรา สติระลึกรู้เข้ามาที่จิต ก็จะเห็นจิตไม่ใช่เรา อย่าจงใจย้อนมาดูจิต มันจะกลายเป็นการเพ่งจิต เป็นวิญญาณัญจายตนะ เป็นอรูปฌาน

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ยากไปเปล่า ไม่เห็นจะยากอะไรเลย ไปทำกรรมฐานอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทัน จิตหลงจากอารมณ์กรรมฐาน รู้ จิตไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานก็รู้ ไปทำแค่นี้ล่ะ ให้การบ้านแล้ว แต่ศีล 5 ต้องถือยืนพื้นไว้ก่อน

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
22 ธันวาคม 2567