เมื่อวานมีภิกษุณีจีนหลายสิบคนเข้ามา จริงๆ มา 2 – 3 วันแล้ว เรียนกับคนโน้นคนนี้ เวลาที่เขามาเรียนก็ไม่กี่วัน เมื่อวานหลวงพ่อเลยสอนภาพรวมทั้งหมด ในคำสอนของพระพุทธเจ้า คือถ้าเราเข้าใจภาพรวมอันนี้แล้ว รายละเอียดในการปฏิบัติ หรือเราไปฟังครูบาอาจารย์องค์ไหนก็ตาม เราเข้าใจหลักตัวนี้แล้ว เราก็ฟังรู้เรื่อง คือถ้ามองภาพรวมไม่ออก ก็เรียนธรรมะเป็นจุดๆ ไปเรียนตรงนี้สอนอานาปานสติ ตรงนี้สอนพองยุบ ตรงนี้สอนทำจังหวะ แต่ละที่สอนแตกต่างกัน ทำให้เรางง
แต่ถ้าเราเข้าใจใจความทั้งหมดในภาพรวมของพุทธศาสนาแล้ว เราก็รู้ทิศทางของการปฏิบัติ รู้ว่าอะไรเป็นหลักของการปฏิบัติ ที่คลาดเคลื่อนไม่ได้ รู้ว่าอะไรเป็น Tactic เป็นกลยุทธ์ ตรงนี้แต่ละคนแตกต่างกัน ไม่มีใครเหมือนใครหรอก ทางใครทางมัน แต่อยู่ในหลักการอันเดียวกัน ฉะนั้นไม่มีใครปฏิบัติเหมือนใคร การปฏิบัตินั้นทางใครทางคนนั้น ธรรมะที่ครอบคลุมคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า คือเรื่องของอริยสัจ ถ้าเราเข้าใจเรื่องอริยสัจละก็ โอกาสที่เราจะเข้าใจธรรมะก็ง่ายขึ้น ไม่ต้องเปะปะ สะเปะสะปะ ทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ คิดว่าทำอย่างนี้จะดี ทำอย่างนี้จะดี ทำอะไรมันก็ไม่ค่อยจะดีสักอย่าง เพราะว่ามันทำเอา มันปรุงแต่งเอา
หลวงพ่อเทศน์เมื่อวาน ก็มีคนฟังไม่ถึงร้อย พวกพระที่นั่งตักอาหารก็อยากฟังด้วย แต่ก็ฟังไม่ได้ยิน ไม่มีลำโพงหันไปหา หลวงพ่อเลยให้เขาเปิดเทปให้ดู เปิดคลิปให้ดู ก็ประมาณ 20 นาที ช่วงเวลาที่พระตักอาหาร ดูก่อนแล้วเดี๋ยวหลวงพ่อเทศน์ให้ฟังทีหลัง ตอนนี้เปิดให้ดูก่อน จะได้ไม่ต้องเทศน์ซ้ำ แต่เร็วนิดหนึ่ง พูดเร็วมากเลย เพราะว่าเนื้อหามันเยอะ แต่ก็พูดในเวลาประมาณ 20 นาที เอ้า เชิญฟัง จะนั่งสมาธิฟังก็ได้
ช่วงนี้มีคนจีนเข้ามาเยอะ มีเวลาเรียนจำกัด อยู่คนหนึ่งไม่กี่วัน ฉะนั้นถ้าเราจะเรียนไปทีละเรื่อง เรียนได้ไม่หมด วันนี้หลวงพ่อจะสรุปให้ฟัง คำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ถ้าฟังเรื่องนี้เข้าใจ จะเข้าใจธรรมะทั้งหมด ธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งหมด รวมลงในธรรมะเรื่องอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 นี้เริ่มจากการบอกเรา เรื่องความทุกข์ เราปฏิบัติธรรมไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่น แต่เพื่อความพ้นทุกข์ ตั้งเป้าให้ถูก ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะไปอยู่ในโลกของพระพุทธเจ้าอะไรต่ออะไร สุขาวดีแดนสวรรค์ อะไรอย่างนี้ ไม่ใช่
เราปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง เราพ้นทุกข์ตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย ไม่ต้องรอให้ตายแล้วพ้นทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ก็มีเรื่องทุกข์ทางกายกับทุกข์ทางใจ ทุกข์ทางร่างกาย เมื่อเราเกิดมาแล้ว มันหนีไม่พ้นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทุกข์ทางจิตใจ อันนี้ธรรมะช่วยเราได้ทันที พระพุทธเจ้าท่านชี้ให้ดูว่า สิ่งที่เป็นทุกข์ทางใจ เช่น เราต้องเจอคนที่เราไม่ชอบ เรามีความทุกข์ เราต้องพลัดพรากจากคนที่เรารัก มีความทุกข์ เราอยากได้สิ่งโน้นสิ่งนี้ แล้วเราไม่ได้ เราก็มีความทุกข์ เราไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย แต่เราต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เราก็ทุกข์ เวลามีเรื่องเสียอกเสียใจ ในชีวิตเรา เราผ่านความทุกข์มามากมาย ทางจิตใจเรานี้ หรือทางร่างกายเรา อันนี้แก้ไขไม่ได้ เกิดมามีร่างกายแล้ว หนีความทุกข์ไม่พ้นหรอก ร่างกายนี้
เพราะฉะนั้นจุดหมายแรก เราจะมุ่งมาแก้ที่ความทุกข์ทางใจก่อน เพราะความทุกข์ทางกายยังแก้ไม่ได้ อันนี้ก็คล้ายๆ การแก้ปัญหาทางโลก ปัญหาบางเรื่องยังแก้ไม่ได้ แขวนเอาไว้ก่อน มาแก้เรื่องที่แก้ได้ก่อน ถ้าเราแก้ทุกข์ทางใจได้ ต่อไปเราเหลือแต่ทุกข์ทางร่างกาย ในขณะที่คนทั่วไป พอร่างกายมีความทุกข์ จิตใจมันก็ทุกข์ด้วย มันเรียกทุกข์ 2 ชั้น ซ้อนกัน นี้พระพุทธเจ้าท่านชี้ต่อไป ความทุกข์นี้มีทุกข์กายทุกข์ใจ ทุกข์ทางจิตใจเราเกิดจากอะไร มันเกิดจากความอยาก เรียกว่าตัณหา ความอยาก เวลาเรามีความอยากอะไรเกิดขึ้น จิตใจเราจะดิ้นรน ทุรนทุราย แล้วมีความทุกข์
คนทั่วๆ ไปเขามองตรงนี้ไม่ออก เขามองได้แค่ว่า ถ้ามีความอยากเกิดขึ้น แล้วเราตอบสนองความอยากได้ เราไม่ทุกข์ ถ้าตอบสนองความอยากไม่ได้ถึงจะทุกข์ คนก็มุ่งไปที่การตอบสนองความอยาก อยากรวย อยากเก่ง อยากมีหน้าที่ ชื่อเสียง อยากมีเมียสวย แฟนหล่อ อยากมีลูกดี ก็พยายามตอบสนอง แต่ตอบสนองเท่าไร มันก็ไม่มีที่สิ้นสุด เวลาความอยากเรื่องนี้จบลงไป อีกเรื่องหนึ่งก็มาแล้ว เพราะฉะนั้นใจเราต้องเหน็ดเหนื่อย ต้องดิ้นรน ตอบสนองความอยากไม่รู้จักจบจักสิ้น พระพุทธเจ้าท่านสอนวีธีขจัดความอยาก ขจัดตัณหาที่เด็ดขาด การตอบสนองความอยากนั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ถาวร เดี๋ยวอยากเรื่องนี้ เดี๋ยวก็อยากเรื่องโน้นต่อ
ท่านสอนให้เราดูความอยากทั้งหมด มันมีอยากอะไรบ้าง จริงๆ มันก็คืออยากให้ร่างกาย อยากให้จิตใจของเรามีความสุข อยากให้ร่างกาย อยากให้จิตใจเราไม่ทุกข์ รวมแล้วแตกแขนงความอยาก ออกไปอีกมากมายก่ายกองนับไม่ถ้วน อย่างเราอยากเห็นรูป อยากได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสในอารมณ์ที่ดี เพื่อจะมีความสุข พอได้กระทบอารมณ์ที่ไม่ดี เราก็อยากพ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ไม่ดี การสัมผัสนั้นมีทั้งวันทั้งคืน กระทบอารมณ์ กระทบอารมณ์ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง พอกระทบอารมณ์ที่ดี เราก็อยากให้อารมณ์อันนั้นอยู่ตลอดไป มีความอยากเกิดขึ้นแล้ว พอกระทบอารมณ์ที่ไม่ดี เราก็อยากให้อารมณ์นั้นดับไป อย่างเราเจอคนไม่ถูกใจ อยากให้มันตายๆ ไป
ความอยากมันเกิดขึ้นทีไร เราไปสังเกตเลย ทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์ทางจิตใจของเราจะเกิดขึ้น ไม่ต้องรอว่าสมอยากหรือไม่สมอยาก แค่อยากก็ทุกข์แล้ว พอเวลาความอยากเกิด ใจเราจะดิ้นรน เราก็จะสูญเสียความสงบสุขทางจิตใจไป ทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้น นี้ทำอย่างไร เราเรียนเรื่องทุกข์มาแล้ว เรียนเรื่องทุกข์ ว่าทุกข์มีทุกข์กายทุกข์ใจ เป้าหมายสูงสุดของเราคือพ้นทุกข์ ความทุกข์เกิดจากความอยาก ทำอย่างไรเราจะดับความอยากได้ การจะดับความอยาก คือดับตัวตัณหาได้ ก็คือการเจริญมรรค ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เราจะเจริญมรรค พอเจริญมรรคได้สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ความดับทุกข์ก็เกิดขึ้น สภาวะที่พ้นทุกข์สิ้นเชิง ก็เรียกนิโรธหรือนิพพาน นิพพานเป็นสภาวะที่ดับทุกข์สิ้นเชิง
ฉะนั้นจะดับทุกข์สิ้นเชิงได้ ต้องดับตัณหาได้ จะดับตัณหาได้ก็ต้องเจริญมรรค เจริญมรรค มรรคมีองค์ 8 เริ่มตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ เราก็รู้หลักที่หลวงพ่อพูดนี่ล่ะ คือตัวสัมมาทิฏฐิ เราว่า เราต้องมีทุกข์ เราต้องรู้ทันมัน อย่าไปรักมัน อย่าไปเกลียดมัน ถ้าเรารักมัน เราก็อยากได้ อยากมี อยากเป็น ถ้าเราเกลียดมัน เราก็อยากผลักไสมัน มีโทสะ เรารู้หลักอันนี้ว่า ทุกข์ไม่ใช่มีไว้ให้ละ แต่ทุกข์มีไว้ให้รู้ สิ่งที่เราจะต้องละ คือละตัณหา ละความอยากของเรา ถ้าเราหมดความอยาก ในจิตใจไม่มีตัณหา ถึงร่างกายจะแก่ จะเจ็บ จะตาย จิตก็ไม่หวั่นไหว ถึงเราจะประสบกับสิ่งที่ไม่รัก เราจะพลัดพรากจากสิ่งที่รัก จิตเราก็ไม่หวั่นไหว จิตเราเข้าถึงความสงบสุขที่แท้จริง นั่นคือพระนิพพาน
วิธีที่จะปฏิบัติ ท่านบอกทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธคือนิพพานทำให้แจ้ง มรรคทำให้เจริญ หน้าที่ของเราต่ออริยสัจ 4 ข้อ วิธีปฏิบัติ ให้เราสังเกตเข้าไปเลย ความปรุงแต่งมันเกิดขึ้น เริ่มจากความปรุงแต่งทางจิตใจ ใจเราชอบคิด สังเกตดูอะไรอยู่เบื้องหลังความคิดของเรา กุศลหรืออกุศลที่อยู่เบื้องหลังความคิด คอยรู้ทันไว้ เวลาเราคิดอะไร เราสังเกตดู เราคิดเรื่องนี้เพราะอะไร ส่วนใหญ่ก็สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา ก็คือกิเลสทั้งหลายนั่นล่ะ อย่างเราคิดให้คนนี้ตายเร็วๆ อะไรอยู่เบื้องหลังความคิดอันนี้ ก็คือความโกรธ เราไม่ชอบเขา อยากให้เขาตายเร็วๆ
เราคิดอยากจะไปจีบผู้หญิงคนนี้ อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด ความชอบ ความรัก หรือราคะ มันอยู่เบื้องหลังความคิด เพราะฉะนั้นตัวที่อยู่เบื้องหลังความคิดเรา มันก็ส่วนใหญ่ มันก็คือตัวกิเลสนั่นล่ะ ราคะ โทสะ โมหะ โมหะคือความไม่รู้ผิดชอบชั่วดี อย่างเราเห็นคนไม่สบาย เราสงสาร เราก็ไปฆ่าเขาทิ้ง จะได้ไม่ทรมาน เราไม่มีสิทธิ์ฆ่าใคร เราไม่มีสิทธิ์ฆ่าใคร อันนี้เป็นการเบียดเบียนคนอื่น ด้วยความหลงผิดของเรา เป็นโมหะ สังเกตจิตใจของเราไปเรื่อยๆ ถ้าเรารู้ทันจิตใจของเราแล้ว อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด การกระทำ สิ่งนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล รู้ไว้
ถ้าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดเป็นกุศล คำพูด การกระทำของเรา มันก็จะเป็นกุศล ถ้าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดเป็นอกุศล โลภ โกรธ หลง คำพูดของเรา มันก็ไม่ดี การกระทำของเราก็ไม่ดี การดำรงชีวิตของเราก็ไม่ดี เพราะฉะนั้นตัวนี้ตัวสำคัญมาก การที่เราอ่านใจตัวเองให้ออก ใจเราเป็นกุศลก็รู้ ใจเราโลภ ใจเราโกรธ ใจเราหลง คอยรู้ไว้ ถ้าเรารู้ตัวนี้ได้ ต่อไปคำพูดของเรามันก็จะดี เป็นสัมมาวาจา อย่างเราไปด่าคนอื่น ไปโกหกหลอกลวงเขา ก็เพราะความโกรธ ความโลภ ความหลงนั่นล่ะ
ถ้าเราไม่ถูกความโกรธ ความโลภ ความหลงอะไรนี้มาครอบงำใจ เวลาเราพูดกับคนอื่น เราก็พูดด้วยความเมตตากรุณา เราไม่คิดทำร้ายใคร ไม่คิดหลอกลวงใคร การดำรงชีวิตของเรา มันก็จะดำรงชีวิตแบบมีศีล เราไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่ทำร้ายสัตว์อื่น เราไม่ลัก ไม่ขโมยใคร เราไปขโมยเขาได้ ก็เพราะว่ากิเลสนั้นล่ะ มันครอบงำความคิดเรา เราไปทำร้ายคนอื่น ก็เพราะกิเลสครอบงำความคิดของเรา เราไปผิดลูกผิดเมียคนอื่น ก็เพราะกิเลสครอบงำความคิดของเรา ถ้าเรารู้ทันจิตใจ กิเลสครอบงำไม่ได้ คำพูดของเราก็ดี การกระทำของเราก็ดี นี้เป็นเรื่องขององค์มรรค
การรู้ทฤษฎีว่าเราต้องรู้ทุกข์ ละสมุทัย ทำนิโรธให้แจ้ง เจริญมรรคให้ได้ นี่เป็นสัมมาทิฏฐิ การที่เราคอยรู้สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดของเรา เรียกว่าสัมมาสังกัปปะ เป็นตัวที่ 2 พอมีการรู้เท่าทันความคิดของตัวเองแล้ว คำพูดก็จะดี เรียกสัมมาวาจา ข้อที่ 3 ความคิดเราดี การกระทำของเราก็ดี เป็นสัมมากัมมันตะ เพราะเราคิดดี พูดดี ทำดี การเลี้ยงชีวิต การดำรงชีวิตของเรา ทำมาหากินของเรา ก็จะซื่อสัตย์สุจริต ไม่ไปฉ้อโกงใคร ไม่ไปลักไปขโมยใคร หากินอย่างซื่อสัตย์สุจริต ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนตัวเอง นี่คือสัมมาอาชีวะ
การที่เราคอยหมั่นสังเกตจิตใจตัวเอง มีกิเลสอะไรเกิดขึ้น เรารู้ทัน กิเลสนั้นจะดับทันที อย่างเราโกรธ เรารู้ โลภเรารู้ หลงเรารู้ ความโลภ โกรธ หลง มันก็จะดับทันทีที่สติเราเกิด เรารู้ทัน สติเป็นตัวรู้ทัน การที่เราคอยรู้ทันจิตใจของตัวเอง มันจะทำให้กิเลสที่มีอยู่ดับไป ในขณะที่เรามีสติอยู่นั้น กิเลสใหม่จะเกิดไม่ได้ ในขณะที่เราคอยรู้เท่าทันจิตตัวเอง มีสติเกิดขึ้นนั้น กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว สตินี้เกิดกับกุศลเท่านั้น แล้วถ้าสติเกิดบ่อยๆ กุศลของเราก็พัฒนาแก่กล้าขึ้นเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา
เพราะฉะนั้นการที่เราคอยอ่านจิตใจตัวเองไป มันจะได้องค์มรรคตัวที่ 5 สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ ความเพียรชอบไม่ได้แปลว่า นั่งสมาธินานๆ ไม่ได้แปลว่าเดินจงกรมนานๆ ความเพียรชอบคือ เพียรละอกุศลที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญ เราจะทำ 4 อย่างนี้ได้ ด้วยการมีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป จิตใจเป็นกุศลแล้วรู้ จิตใจเป็นอกุศลก็รู้ ถ้ารู้ว่าจิตใจเป็นอกุศล อกุศลดับ อกุศลใหม่จะเกิดไม่ได้ในขณะนั้น กุศลได้เกิดขึ้นแล้วคือความมีสติ สติก็จะเกิดถี่ขึ้นๆๆ กุศลก็เจริญขึ้น นี่คือสัมมาวายามะ ไม่ใช่นั่งสมาธินาน ไม่ใช่เดินจงกรมนาน อันนั้นเป็นแค่รูปแบบของการปฏิบัติเท่านั้นเอง จุดสำคัญอยู่ที่จิตของเรานี้
แล้วการที่เราคอยมีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง สัมมาสติก็จะเกิดขึ้น สติจะเกิดเร็วขึ้นๆๆ ทีแรกต้องโกรธนานๆ ถึงจะรู้ ต่อมาขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว ทีแรกต้องโลภเยอะๆ ถึงจะรู้ ต่อไปอยากนิดเดียวก็เห็นแล้ว เรารู้อย่างนี้เรื่อยๆ เรียกว่าเรามีสัมมาสติ มีสติคอยรู้เท่าทันพฤติกรรมของใจตัวเอง ตัวนี้ตัวสำคัญ แล้วทุกครั้งที่สัมมาสติเกิด สัมมาสมาธิจะเกิดร่วมด้วยเสมอ อย่างเรารู้ทัน อย่างเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งพุทโธๆ ไป พอจิตเราขาดสติหนีไปคิดเรื่องอื่น สติรู้ทันว่าจิตหลงไปคิดแล้ว จิตที่หลงไปคิดจะดับ จิตที่รู้จะเกิด จิตที่รู้นั่นล่ะคือจิตที่มีสัมมาสมาธิ ฉะนั้นเมื่อไรเรามีสติรู้เท่าทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น สัมมาสมาธิจะเกิดอัตโนมัติ
อันนี้ไปทดลองดูด้วยตัวเอง ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง พอจิตหลงไปคิดแล้วรู้ หลงไปคิดแล้วรู้ จิตใจของเราจะค่อยๆ ตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัว อยู่กับเนื้อกับตัวขึ้นมา นี่ 8 ประการ คือองค์มรรคที่เราจะต้องเจริญ แล้วพอจิตใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว ที่หลวงพ่อพูดทุกวันว่า ความรู้สึกตัวสำคัญมาก มันคือภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวได้ พอจิตใจเราอยู่กับเนื้อกับตัวได้ เราก็จะเริ่มเห็นร่างกาย เห็นจิตใจตามที่มันเป็น ร่างกายนี้ไม่มีอะไรอย่างอื่น ร่างกายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตใจนี้ไม่มีอะไรอย่างอื่น จิตใจนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย มันจะเห็นด้วยการเจริญวิปัสสนา มันจะเห็นมาถึงตรงนี้ ตรงนี้เรียกว่ารู้ทุกข์แล้ว ในอริยสัจ 4 เรารู้ทุกข์แล้ว
ร่างกายจิตใจนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่ของดีของวิเศษ พอรู้อย่างนี้ปุ๊บ สมุทัยคือตัณหาจะถูกละอัตโนมัติ รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยถูกละอัตโนมัติ คือเราจะไม่ได้เกิดความโง่ขึ้นมา ว่าอยากมีความสุข อยากให้ไม่ทุกข์ อยากให้ร่างกายมีแต่ความสุขนี้โง่นะ เพราะร่างกายนี้อย่างไรก็ทุกข์ อยากให้จิตใจมีแต่ความสุข อันนี้ก็โง่ จิตใจที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ มันสุขบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง อันนี้เบื้องต้นที่เห็น ต่อไปละเอียดขึ้น มันจะเห็นสุขจริงๆ ไม่มีหรอก มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ถ้าเห็นถึงตรงนี้ เรียกว่าเรารู้แจ้งในกองทุกข์แล้ว ไม่ใช่สุขกับทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อยเท่านั้น ทั้งกายทั้งใจ
พอจิตใจมันรู้แจ้งแทงตลอดอย่างนี้ ความอยากจะไม่เกิดขึ้น มันรู้แล้วว่าร่างกายคือตัวทุกข์ มันก็ไม่โง่ที่จะอยากให้ร่างกายมีแต่ความสุข มันไม่โง่ที่จะให้ร่างกายไม่มีความทุกข์ อย่างไรมันก็ทุกข์ แล้วมันเห็นความจริงของจิตใจ ว่าจิตใจคือตัวทุกข์ มันก็จะหมดความโง่ หมดความอยาก ที่จะให้จิตใจของเรามีแต่ความสุข อยากจะให้ใจเราไม่ทุกข์ เพราะว่าใจของเรามันคือตัวทุกข์ นี่เรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ต้องใช้วิปัสสนา ดูความจริงของกายของใจมากๆ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ที่หลวงพ่อใช้ประโยคบอก “ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” อันนั้นล่ะเราถึงจะรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ความอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ จะไม่เกิด ความอยากให้กายให้ใจมีแต่ความสุขจะไม่เกิด เมื่อความอยากไม่เกิดขึ้น จิตใจเราจะเข้าถึงความสงบสันติ นิพพานคือภาวะที่สิ้นความอยาก สิ้นความอยากเมื่อไร จิตเราจะเข้าถึงความสงบสันติเมื่อนั้น นี่ล่ะคือขอบเขตธรรมะทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าสอน คือเรื่องของอริยสัจ 4 สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ คือกายกับใจของเรานี้
หน้าที่ของเราต่อทุกข์คือรู้อย่างที่เป็น ดูกายนี้มันทุกข์จริงหรือไม่จริง จิตใจมันทุกข์จริงหรือไม่จริง ตามรู้ตามดูมันเข้าไป สุดท้ายมันก็เห็นความจริง กายนี้ทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย จิตนี้ทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ถ้าเห็นถึงตรงนี้ ความอยากก็จะหมดไป พอสิ้นตัณหา จิตใจก็หมดความดิ้นรนทุรนทุราย ไปสังเกตง่ายๆ ทุกครั้งที่เราเกิดความอยาก ใจเราจะดิ้น แล้วใจเราไม่มีความสุข อย่างเราอยากจีบผู้หญิงสักคน ใจมันก็ดิ้น ว่าลุ้นจะได้ไม่ได้อะไรอย่างนี้ ใจไม่มีความสุข อยากถูกหวย อยากถูกลอตเตอรี่ อยากมีโชคลาภ ใจมันดิ้นทุกครั้งที่มีความอยากเกิดขึ้น ไปสังเกตตัวนี้เลย อันนี้คือการอ่านจิตใจตัวเอง
ฉะนั้นกรรมฐานที่หลวงพ่อสอน หลวงพ่อไม่ได้สอนว่า นั่งสมาธิแบบไหน เดินจงกรมแบบไหน ที่หลวงพ่อมุ่งสอนมานี้ ให้พวกเรารู้เท่าทันจิตใจตนเอง ถ้าจิตใจเราถูกกิเลสครอบงำ จิตใจก็จะเกิดการดิ้นรน จิตใจเกิดความดิ้นรน จิตใจก็เกิดความทุกข์ จิตใจไม่ถูกกิเลสครอบงำ จิตใจก็ไม่มีความดิ้นรน จิตใจเข้าถึงความสงบสันติ นั่นล่ะคือพระนิพพาน นิพพานคือภาวะที่สิ้นตัณหา สิ้นความปรุงแต่ง จิตใจเข้าถึงความสงบสุขที่แท้จริง จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน มีความสุข จะแก่ จะเจ็บ จะตาย ก็ยังมีความสุขอยู่
หลวงพ่อไปโรงพยาบาลเมื่อปี 2559 เป็นมะเร็ง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง อยู่โรงพยาบาลตั้งหลายเดือน ปี 2559 แทบจะไม่ได้อยู่วัดเท่าไรเลย อยู่แต่โรงพยาบาล พวกหมอ พวกพยาบาลชอบมาถาม “หลวงพ่ออยู่โรงพยาบาลนานๆ เบื่อไหม” หลวงพ่อไม่เบื่อ หลวงพ่อไม่เบื่อ เพราะเบื่อมันเป็นโทสะ จิตใจเราสงบสุข อยู่ที่ไหนเราก็มีความสุข อยู่ในสถานการณ์อะไร เราก็มีความสงบสุข ร่างกายจะเจ็บ จะป่วย จะตาย มันก็ยังสงบสุขอยู่ได้ เพราะฉะนั้นเราพยายามฝึกเข้า มีสติคอยรู้เท่าทันจิตใจของเราเองได้ดีที่สุด ถ้ารู้ใจไม่ได้ก็รู้ร่างกายไปก่อน หลวงพ่อถึงสรุปบอก “ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง”
วิธีที่ง่ายๆ คือหัดอ่านใจตัวเองไป หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อประโยคเดียว หลวงพ่อไปบอกท่านว่า “หลวงปู่ผมอยากปฏิบัติ” หลวงปู่สอนง่ายๆ “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” อ่านจิตตนเอง จิตเป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ แล้วต่อไปองค์มรรคที่เหลือ จะสมบูรณ์ขึ้นอัตโนมัติ นี่คือใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ถ้าเราปฏิบัติได้ สิ่งที่เราจะได้คือเราพ้นทุกข์ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอตายแล้วพ้นทุกข์หรอก พ้นเดี๋ยวนี้เลย
วัดสวนสันติธรรม
8 กันยายน 2566
เชิญกลับบ้านดีไหมเทศน์จบแล้ว หลวงพ่อภาวนาที่เข้าใจธรรมะอะไรต่ออะไรขึ้นมานี้ มันเริ่มมาจากคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ประโยคเดียวเอง มี Intro นิดหนึ่ง บอกว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” เนื้อหาสาระที่ท่านสอนหลวงพ่อ “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” การที่เราคอยอ่านจิตใจตัวเอง คอยรู้ตัวจิตอยู่นี้ รู้พฤติกรรมของจิต รู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับจิต ตอนนั้นท่านสอน สั่งให้ดู สอนให้ดู ก็ดู ไม่ได้รู้ หรอกว่านั่นคือการรู้ทุกข์ ยังไม่เคยเห็นว่าจิตเป็นตัวทุกข์ เห็นว่าจิตนี้เป็นของดีของวิเศษ เวลาเราทำสมาธิจิตสงบ จิตสบาย โอ๊ย มันมีความสุข
เพราะฉะนั้นท่านบอกให้ดูจิตๆ ยังไม่รู้หรอกว่านั่น ท่านสอนให้รู้ทุกข์ แล้วการที่คอยมาหมั่นดูจิตใจตัวเอง ก็จะเห็นว่าจิตมันชอบคิด หลวงปู่บอกว่า จิตมันมีหน้าที่คิดนึกปรุงแต่ง เราไม่ต้องไปทำให้มันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง แต่ให้เรามีสติ จิตมันคิดนึกขึ้นมา ปรุงแต่งขึ้นมา ให้รู้ทัน มันโกรธขึ้นมา รู้ทัน มันโลภขึ้นมา รู้ทัน มันหลงขึ้นมา รู้ทัน ตรงที่เราคอยรู้เท่าทันจิตใจ อ่านใจตัวเองออก ใจตอนนี้โลภ ใจตอนนี้โกรธ ใจตอนนี้หลง ใจตอนนี้ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
อ่านเรื่อยๆ ไป ตัวกิเลสมันจะครอบงำความคิดเราไม่ได้ ความคิดของเรา มันจะเป็นไปด้วยอำนาจของกุศล ไม่ใช่ด้วยอำนาจของอกุศล นั่นก็คือตัวสัมมาสังกัปปะ จากคำประโยคเดียวว่า “ให้อ่านจิตตนเอง” การอ่านจิตตนเอง ตัวจิตนั่นล่ะเป็นตัวทุกข์ ตอนแรกยังไม่เข้าใจ ท่านสอนอย่างนั้นก็เรียกว่าฟังในเชิงปริยัติ แล้วก็ลงมือปฏิบัติด้วยการอ่านจิตตนเอง พออ่านจิตตนเองไปเรื่อยๆ สัมมาสังกัปปะมันก็เกิด คือเวลาคิด มันคิดไปด้วยกุศล ไม่ได้คิดด้วยโลภ โกรธ หลง คิดไปด้วยความเมตตา กรุณา คิดไปด้วยความมีเหตุผล รู้เหตุรู้ผล อย่างคิดให้เทวดาช่วย ให้ผีช่วย มันคิดแบบมีโมหะ ไม่มีเหตุมีผลอะไร ไม่รู้เรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม
ถ้าเราภาวนา เราจะอ่านจิตตนเองไป เราพบว่าเข้าใจเรื่องกรรมด้วย เข้าใจเรื่องกรรมได้ อย่างเวลาเราโกรธใครสักคน พอผ่านความโกรธไปแล้ว จิตเรายังเศร้าหมองไปอีกช่วงหนึ่ง เราต้องรับวิบาก เวลาจิตเรามีราคะรุนแรง เราเสพกาม พอเสพกามไปแล้ว จิตจะไม่มีเรี่ยวมีแรงไปช่วงหนึ่ง เราเห็นการกระทำที่เกิดขึ้น มีกิเลส มีการกระทำ แล้วก็มีผลของการกระทำ นี้เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมด้วย เวลาเราทำดี เราก็เห็นมีผลดีเกิดขึ้น จิตใจเราได้รับความสุขความสงบ เวลาไปทำบุญแล้วจิตใจเราเป็นบุญจริงๆ มีความสุข บุญเป็นชื่อของความสุข
“การอ่านจิตตนเองครอบคลุมองค์มรรคทั้ง 8 ได้
การอ่านจิตตนเองนั้น คือการเรียนรู้ทุกข์นั่นเอง
รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไรก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคอัตโนมัติ”
ฉะนั้นการที่เราคอยอ่านจิตอ่านใจตัวเอง ไม่ใช่แค่สัมมาสังกัปปะเกิดขึ้น เรายังพอเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมไปด้วย พออ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อย รู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดแล้ว เวลาเราจะพูด เราพูดเพราะอะไร เพราะเราคิด เราคิดแล้วเราก็พูด เรารู้ทันสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิดสักอย่างเดียว คำพูดของเรามันก็จะไม่เจือด้วยอำนาจของกิเลส พอความคิดเราถูก คำพูดเราถูก การกระทำเราก็ถูก เราไม่ได้ทำผิดศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 ข้อ 4 ไม่ได้ทำผิดเลย เพราะเราทำผิดศีลได้ เพราะว่ากิเลสมันครอบงำจิต ถ้าเราคอยอ่านจิตตัวเอง กิเลสครอบงำไม่ได้ การกระทำทั้งหลายคือศีลทั้งหลาย มันก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
เราไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น เราไม่ลักขโมยของใคร เราไม่ประพฤติผิดในกาม เราไม่มุสาวาท มุสาวาทนี้กว้าง ฆราวาสทำยาก พระยังทำยากเลย มุสาวาทไม่ใช่แปลว่าโกหกอย่างเดียวหรอก เป็นคำพูดที่ไม่ดี พูดโกหก พูดส่อเสียด พูดส่อเสียดมีโทษร้ายแรง พูดกับคนนี้อย่างนี้ พูดกับคนนี้อย่างนี้ ให้เขาตีกัน พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดเพ้อเจ้อนี้ กลายเป็นธรรมชาติธรรมดาของคนยุคนี้ นั่งเขียนไลน์ เขียนเฟซบุ๊ก รีวิว เขียนโน่นเขียนนี่ไป เพ้อเจ้อ ไม่มีความจำเป็นต้องเขียนก็ไปเขียน มันก็คือพูดมากนั่นล่ะ พูดโดยไม่จำเป็นต้องพูด เรียกว่าพูดเพ้อเจ้อ พูดตามความจำเป็น เรียกว่าไม่เพ้อเจ้อ เป็นเรื่องจำเป็น
เพราะฉะนั้นถ้าเรามีสติ อ่านจิตตนเองเรื่อยๆ สัมมาสังกัปปะก็ดี สัมมาวาจาก็ดี สัมมากัมมันตะก็ดี แล้วเราก็รู้เหตุรู้ผล เรารู้เรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม พอเข้าใจ อาชีพการงานของเราตอนนี้บริสุทธิ์หรือเปล่า ทำแล้วเบียดเบียนตัวเองไหม หรือเบียดเบียนคนอื่น หรือเบียดเบียนสัตว์อื่น ถ้าเรารู้แล้วว่ามันผิดชอบชั่วดีเป็นอย่างไร ก็ค่อยๆ แก้ ค่อยๆ แก้ไขไป อย่างอาชีพบางอาชีพไม่ดี อย่างอาชีพทวงเงินกู้นอกระบบ ไปทำร้ายเขา ไปอะไรเขา นี่บาปอย่างแรงเลย เบียดเบียนคนอื่นอย่างร้ายแรง พอเรารู้ว่าอาชีพอย่างนี้ไม่ดี ก็หาทางแก้ไขเสีย ไปขี่รถส่งอาหารเสียยังดีกว่า บริสุทธิ์หมดจดกว่า
ก็ค่อยๆ ดู เรารู้อะไรควร อะไรไม่ควร สัมมาอาชีวะมันก็จะดีขึ้น พวกเราในนี้เมื่อก่อนก็มี ทางบ้านทำบ่อเลี้ยงปลา บ่อเลี้ยงกุ้ง ช่วยพ่อช่วยแม่ทำ ทีแรกต้องช่วยพ่อช่วยแม่ทำ เป็นอาชีพของพ่อของแม่ ก็วางใจ ยังจำเป็นต้องทำ ก็วางใจให้ถูก เราทำนี้ เราทำช่วยพ่อช่วยแม่ เราไม่ได้คิดจะฆ่าสัตว์ คิดจะเลี้ยงสัตว์เอาไว้ให้เขาฆ่า วางใจให้ดี บาปมันก็จะลดน้อยลงหน่อย พอมีโอกาสทำมาหากินด้วยตัวเอง เราก็ไม่ทำ พวกเรานี้ก็มี เดี๋ยวนี้ก็ไม่ทำอาชีพนี้ไม่บริสุทธิ์ เป็นมิจฉาอาชีวะ มันเกิดจากการที่เราอ่านจิตตนเองนั่นล่ะ
แล้วการที่เราอ่านจิตตนเองบ่อยๆ สัมมาวายามะก็เกิด การอ่านจิตตัวเองเรื่อยๆ นั่นล่ะคือความเพียรชอบ เพราะว่าเวลาสิ่งที่พระพุทธเจ้า เรียกว่าสัมมาวายามะ ไม่ใช่นั่งสมาธินานๆ เดินจงกรมนานๆ ตัวสำคัญก็คือเรารู้ทันจิตตัวเองไหม ถ้าเรามีสติรู้ทันจิตตัวเอง อ่านจิตตนเองออก อกุศลที่มีอยู่ก็ดับ อกุศลใหม่ก็ไม่เกิด กุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิด กุศลที่เกิดแล้วก็เจริญขึ้น นั่นล่ะเรียกว่าความเพียรชอบ คือเพียรละอกุศล เพียรเจริญกุศล ฉะนั้นเรามุ่งเป้ามาที่ตัวนี้
อ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ อกุศลมันจะอ่อนกำลังลง อย่างทีแรกเราขี้โมโหมาก พร้อมจะต่อยตี พร้อมจะด่า พร้อมจะตบ พอเราอ่านใจตัวเองบ่อยๆ พอโกรธขึ้นมา เราก็รู้แล้ว เราก็ไม่ด่าเขา ไม่ตีเขา แล้วต่อไปเราก็มีความฉลาดมากขึ้น โกรธทีไรคนแรกที่ทุกข์คือตัวเราเอง กรรมให้ผลทันทีที่โกรธ ไม่ต้องรอว่าไปตีเขาหรอก แค่มโนกรรมเกิดก็มีผลแล้ว มโนกรรมคือจิตมันวิ่งแล่นไป ตามอำนาจของกิเลส โทสะเกิดแล้ว โทสะครอบงำจิตได้ อันนั้นมีมโนกรรมแล้ว เริ่มคิดไม่ดี เริ่มอะไรไม่ดี ใจก็เริ่มมีความทุกข์แล้ว
มหาสติ มหาปัญญา
เราค่อยๆ ดู เราปฏิบัติธรรม ไม่ได้มุ่งเอาอะไรวิเศษวิโสอะไรหรอก ไม่มุ่งกระทั่งความหลุดพ้น มุ่งเรียนรู้จิตใจตัวเอง ลดละอกุศลไป เจริญกุศลไป แล้วการที่เราคอยอ่านจิตอ่านใจตัวเองบ่อยๆ สัมมาสติมันก็เกิด เราคอยดูจิต มันเป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ สัมมาสติ พระพุทธเจ้าอธิบายสัมมาสติ ด้วยสติปัฏฐาน 4 สติปัฏฐาน 4 ก็มีเรื่องดูกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ตรงที่เราดูเข้ามานี้ ถ้าเราดูจิตดูใจ อ่านจิตตนเองมา เราก็กระโดดเข้ามาที่จิตตานุปัสสนา เราก็จะเห็น มีสติรู้เท่าทันจิตตนเองเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นการที่เราอ่านจิตตนเอง ไม่ใช่แค่จะได้สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ไม่ได้แค่สัมมาวายามะ แต่สติของเราจะเข้มแข็งมากขึ้นๆ ทีแรกต้องโกรธแรงๆ ถึงจะรู้ ต่อไปขัดใจเล็กๆ ก็เห็นแล้ว สติเราพัฒนาแล้ว ทีแรกต้องมีราคะรุนแรงถึงจะรู้ ต่อไปใจโลภนิดเดียว แค่อยากเห็นรูป ก็เห็นแล้ว อย่างเรานั่งอยู่ ได้ยินเสียงอะไรแว่วๆ เราอยากฟัง อยากหันหน้าไปดู เราก็รู้ทัน เรารู้ได้ละเอียดขึ้นๆ สติเราเร็วขึ้นๆ นั่นล่ะเป็นสัมมาสติ สามารถระลึกได้โดยที่ไม่ได้เจตนาระลึก
ถ้าจงใจระลึกมันเจือด้วยโลภเจตนา สติตัวจริงไม่เกิดหรอก สติไม่เกิดร่วมกับอกุศล เพราะฉะนั้นเราจงใจให้มีสติ ตั้งใจให้มีสติ สติจะไม่เกิด สติเกิดจากเราคอยดูสภาวะไปเรื่อยๆ จิตจำสภาวะได้แล้วสติเกิดเอง อย่างเราไปเห็นโกรธบ่อยๆ ต่อไปพอโกรธปุ๊บ สติเกิดเองเลย รู้ทันว่าตอนนี้โกรธแล้ว รู้ทันว่าโลภแล้ว รู้ทันว่าหลงแล้ว รู้ทันว่าอยากขยับตัวแล้ว รู้ทันว่าอยากโน้นอยากนี้แล้ว คอยรู้ทัน นี้สติ ทุกครั้งที่สติเกิด สัมมาสติเกิด สัมมาสมาธิจะเกิดร่วมด้วยเสมอ
อย่างครูบาอาจารย์ชอบสอน ให้หลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ แต่ละองค์ก็มีเทคนิคแตกต่างกัน อย่างหลวงปู่ดูลย์ หรือครูบาอาจารย์วัดป่าชอบให้พุทโธ พุทโธๆ จิตหลงไปคิดเรื่องอื่นลืมพุทโธ รู้ทัน ทันทีที่รู้ว่าจิตหลง จิตหลงจะดับ จิตรู้จะเกิดขึ้น จิตรู้นั่นล่ะ ก็คือจิตที่ทรงสัมมาสมาธิ เป็นภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว โดยที่ไม่ได้เจตนา สติก็ต้องเกิดโดยไม่เจตนา เพราะสติเกิดจากการจำสภาวะได้ เห็นสภาวะบ่อยๆ แล้วสติเกิดโดยไม่เจตนา แล้วพอเรามีสติถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้อง คือสัมมาสมาธิก็เกิดโดยไม่ได้เจตนา ไม่ได้จงใจให้เกิด ถ้าต้องน้อมให้เกิด โน้มใจ น้อมใจไปให้เกิด ยังไม่ใช่ของจริงหรอก ยังอ่อนอยู่ เป็นสมาธิที่ยังอ่อนๆ อยู่ ถ้ามันอัตโนมัติถึงจะใช้ได้
หลวงตามหาบัวชอบใช้คำว่า “มหาสติ” “มหาปัญญา” มหาสติคือสติอัตโนมัติ ปัญญาก็ปัญญาอัตโนมัติ ปัญญาอัตโนมัติเกิดจากอะไร มีสติอัตโนมัติ อะไรเกิดขึ้นในกาย รู้สึก อะไรเกิดขึ้นในจิต รู้สึก โดยที่ไม่ได้เจตนาจะรู้สึก แล้วจิตมันจะตั้งมั่น โดยไม่ได้เจตนาจะตั้งมั่น ทันทีที่มันรู้ว่าจิตไหลไป จิตที่ไหลไปก็ดับ จิตที่รู้ก็เกิด อย่างหลวงพ่อเทียนสอนขยับมือ ไม่ได้ให้ขยับมือเพื่อให้ขยับมือ ไม่ใช่ ขยับมือเพื่อให้มีสติ ขยับมือแล้วจิตหนีไปก็รู้ จิตไปเพ่งใส่มือก็รู้ ก็คือรู้ทันจิตตัวเองนั่นเอง อ่านจิตตัวเองนั่นเอง ทันทีที่รู้ว่าจิตมันไหลไป จะไหลไปคิด หรือไหลไปเพ่งก็ตาม แค่มีสติรู้ทัน จิตที่ไหลจะดับเอง เพราะจิตที่ไหลมันเป็นอกุศลจิต มันเป็นจิตที่มีอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ทันทีที่ความฟุ้งซ่านดับ สมาธิมันก็เกิดอัตโนมัติ ฉะนั้นสัมมาสมาธิจะเกิดทันทีเลย
การที่เราฝึกหลงแล้วรู้ๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้ว หลงแล้วรู้ๆ สติก็จะเร็วขึ้น สมาธิก็จะมีกำลังมากขึ้นๆ ถึงจุดหนึ่งเราจะมีความรู้สึก เหมือนเรารู้เนื้อรู้ตัวอยู่โดยไม่ได้เจตนา จิตมันมีแรง จิตมันมีกำลัง จิตมันตื่น ถึงตรงนั้นล่ะ เราก็ไม่ได้ตื่นแล้วก็อยู่แค่นั้น เราโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ คือไปเจริญปัญญา ถ้าจิตเราตื่นขึ้นมาแล้วก็นิ่งเฉยอยู่ เราก็ต้องกระตุ้นให้มันเดินปัญญา ด้วยการคิดพิจารณาร่างกายไป ให้มันเป็นไตรลักษณ์ หรือเราจะดูจิตเอา แล้วจิตมันไปเฉยๆ อยู่ เราก็กระตุ้นให้เห็นว่า จิตก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
อย่างหลวงพ่อก็พยายามดู ตอนหัดใหม่ๆ จิตมันสว่างไสวนิ่งอยู่อย่างนี้ ก็ดูไป เออ จิตเมื่อกี้ไม่นิ่ง จิตตอนนี้นิ่ง จิตเมื่อกี้มืด จิตตอนนี้สว่าง จิตมันไม่เที่ยง ดูไปเรื่อยๆ อ้าว ตอนนี้มันเริ่มมัวๆ แล้ว ทีแรกสว่างตอนนี้มัวๆ แล้ว นี่มันไม่เที่ยง สอนๆ มันไปหน่อยทีแรก พิจารณากาย พิจารณาจิต ใช้ตอนที่จิตไปติดสมาธินิ่งๆ พอจิตมันเริ่มเดินปัญญาได้ พอสติระลึกรู้กาย มันก็เห็นไตรลักษณ์ของกาย ถึงตรงนี้ไม่ต้องไปคิดแล้ว ดูของจริง หรือจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้จิต ก็เห็นไตรลักษณ์ของจิต ตรงนี้ไม่ต้องไปคิดแล้ว ดูไตรลักษณ์ของจิตไป
ตรงที่ยังคิดพิจารณา น้อมนำให้จิตเจริญปัญญา อันนั้นยังไม่ขึ้นวิปัสสนา แต่ตรงที่มันเห็นอัตโนมัติแล้ว เห็นกายก็เห็นไตรลักษณ์ เห็นจิตก็เห็นไตรลักษณ์โดยไม่เจตนา ตรงนี้ล่ะที่เรียกมหาปัญญา ที่หลวงตาท่านเรียกมหาสติ มหาปัญญา ซักฟอกลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายจิตก็พ้นความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งตัวร้าย ตัวร้าย ตัวนี้ตัวสร้างโลก ตัวนี้คือเครื่องมือของมาร ที่จะดักเราไว้ในโลก ความปรุงแต่งของจิตนี้ล่ะ เพราะฉะนั้นเราภาวนาเรื่อยๆ รู้ทันความปรุงแต่งใดๆ เกิดขึ้นในจิตในใจ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ไม่ว่าดีหรือชั่ว ดูมันไปเรื่อย ทุกสิ่งทุกอย่างตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งสิ้น
ปรุงดี ปรุงชั่ว ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ สุดท้ายจิตมันก็รู้แจ้งเห็นจริง จิตก็ปล่อยวางจิตได้ พอจิตปล่อยวางจิต จิตชนิดร่อนเร่แสวงหาอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ดับสนิท ดับสนิทก็เข้าถึงธาตุ ธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ เข้าถึงใจที่บริสุทธิ์ บางองค์ท่านเรียกวิญญาณธาตุ อย่างสมเด็จญาณฯ ท่านเรียกวิญญาณธาตุ หลวงตามหาบัวท่านเรียกธรรมธาตุ หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกจิตหนึ่ง ท่านพุทธทาสท่านเรียกตามท่านเว่ยหล่างว่าจิตเดิมแท้ มันมีสภาวะอันนี้อยู่ คือจิตที่บริสุทธิ์พ้นจากความปรุงแต่งนั่นล่ะ มันจะเข้ามาตรงนี้อัตโนมัติ ไม่ต้องเที่ยวแสวงหา
ค่อยๆ ฝึก หลวงพ่อเริ่มที่เข้าใจสิ่งต่างๆ ขึ้นมานี้ เริ่มมาจากประโยคเดียว “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” เห็นไหม การอ่านจิตตนเองครอบคลุมองค์มรรคทั้ง 8 ได้ การอ่านจิตตนเองนั้น คือการเรียนรู้ทุกข์นั่นเอง รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไรก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรคอัตโนมัติ ไปฝึกเอา ไปทำเอา ไม่มีใครช่วยใครได้หรอก หลวงพ่อได้ยินว่าวันนี้มีคอร์ส ในคอร์สนี้บางคนก็อายุมาก บางคนก็อายุไม่มาก ไม่เรียกว่าอายุน้อย เรียกว่าอายุไม่มาก บางคนอายุมาก บางคนไม่เคยเรียนในสิ่งที่หลวงพ่อสอน ก็พยายามหาความรู้ด้วยการคิด ด้วยการถาม ด้วยการพูด หาความรู้ด้วยการคิดเอาๆ ก็คิดตามกิเลส ถามมันก็ถามตามกิเลส มันไม่สามารถรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะได้
ธรรมะ ไม่มีใครเข้าใจได้ด้วยการอ่าน ด้วยการฟัง ด้วยการคิด ด้วยการถามทั้งสิ้น แต่เข้าใจได้ด้วยการเห็นด้วยตนเอง ถ้ายังไม่เห็นสภาวะด้วยตนเอง ก็ยังไม่เข้าใจการปฏิบัติหรอก เพราะฉะนั้นแทนที่จะนั่งคิดว่า ธรรมะเป็นอย่างไร อย่างโน้นถูก อย่างนี้ผิดอะไรนี้ อ่านจิตตนเองไป จิตกำลังฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตกำลังสงสัย รู้ว่าสงสัย อย่างนี้ถึงจะได้ประโยชน์ เรียนธรรมะไม่ใช่เรียนแบบฟังเล็กเชอร์ เรียนเพื่อให้รู้วิธีที่อ่านจิตใจตนเอง อ่านจิตยังไม่ออก ดูกายตนเอง จะดูอย่างไร ดูท้องพอง ดูท้องยุบ มันเป็นสมถะ ดูหายใจเข้า หายใจออกเป็นสมถะ
ถ้าดูแล้วเห็นว่า ท้องที่พองไม่ใช่เรา ท้องที่ยุบไม่ใช่เรา เห็น ไม่ใช่คิด ร่างกายที่หายใจออก ไม่ใช่เรา ร่างกายที่หายใจเข้า ไม่ใช่เรา ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรา จิตที่สุขไม่ใช่เรา จิตที่ทุกข์ไม่ใช่เรา จิตที่ดีไม่ใช่เรา จิตที่ชั่วไม่ใช่เรา อย่างนี้เราจะได้แก่นสารสาระ คือเห็นไตรลักษณ์ถึงจะใช้ได้ ต้องเห็นไม่ใช่คิดเอา
วัดสวนสันติธรรม
9 กันยายน 2566