รู้อะไรไม่สู้รู้จักจิตตนเอง

ไม่เจอกัน 2 ปีกว่าๆ พวกเรายังภาวนาอยู่ก็ดีนักหนาแล้ว ที่จริงเวลา 2 ปีไม่ใช่น้อย ถ้าเราจับหลักของการภาวนาได้แม่นๆ ลงมือทำสม่ำเสมอ 2 ปีนี้เยอะมาก ในตำราบอกว่าบางคน 7 ปี บางคน 3 ปี 2 ปี 1 ปี บางคนไม่ถึงปีก็ได้ธรรมะ สมัยพุทธกาลเขาได้ธรรมะถึงขั้นพระอรหันต์ พระอนาคามี บางคนย่านกุรุเกษตร ทุ่งกุรุที่พระพุทธเจ้าแสดงสติปัฏฐาน บารมีเขาสูง 7 ปีก็อาจจะได้พระอรหันต์หรือพระอนาคามี พวกเราพวกปลายแถวบุญบารมีไม่มาก มีเหมือนกัน ไม่มีบุญเลยคงไม่มาเป็นชาวพุทธหรอก 7 ปีได้พระโสดาบันก็ดีนักหนาแล้ว ให้ทำให้ถูก ทำให้พอสม่ำเสมอไป มันต้องมีผล ทำเหตุสมควรแก่ผล ผลมันก็เกิด

เหตุที่เราต้องสร้างคือเหตุฝ่ายดี แล้วก็เหตุบางอย่างเราต้องละคือเหตุฝ่ายชั่ว สิ่งที่เรียกว่าเหตุมี 6 อัน โลภะ โทสะ โมหะ อันนี้เป็นเหตุฝ่ายชั่ว เราก็ต้องลดต้องละลงไป ทำให้มันน้อยลงๆ เหตุฝ่ายดีคืออโลภะ ไม่โลภ อโทสะ ไม่โกรธ อโมหะ ไม่หลง มีสภาวะอย่างนี้ก็ต้องฝึก เหตุฝ่ายดีต้องพัฒนาขึ้นมา เหตุฝ่ายชั่วต้องลดต้องละ การลดละฝ่ายชั่วมาเจริญฝ่ายดี คือการปฏิบัติที่เรียกว่าสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ ถ้าเรามีความเพียรชอบสมบูรณ์ สติเราจะสมบูรณ์ ถ้าสติเราสมบูรณ์สัมมาสมาธิเราจะสมบูรณ์ พอสัมมาสมาธิสมบูรณ์ มรรค ผล นิพพาน มรรคผลจะเกิดขึ้น นิพพานจะแจ่มแจ้ง นิพพานไม่เกิดขึ้น นิพพานเป็นสภาวะที่เที่ยง ไม่มีเกิด ไม่มีดับ

 

ทำความรู้จักกับจิตตนเองไว้

ฉะนั้นเราพยายามสังเกตที่ใจเรา อ่านจิตใจตัวเองให้ออก เหตุฝ่ายชั่วมันเกิดที่จิต ไม่ได้ไปเกิดที่อื่น เหตุฝ่ายดีมันก็เกิดที่จิต ไม่ได้เกิดที่อื่น แต่พอจิตมันถูกเหตุฝ่ายชั่วปรุงแต่ง มันก็คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เลี้ยงชีวิตชั่ว ถ้ามันถูกเหตุฝ่ายดีปรุงแต่ง มันก็คิดดี พูดดี ทำดี เลี้ยงชีวิตถูกต้องเป็นธรรม องค์มรรคทั้งหลายก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา ฉะนั้นเวลาเราภาวนา อะไรๆ ก็สู้การอ่านจิตอ่านใจตนเองไปไม่ได้ หลวงพ่อพูดไม่ได้พูดเอาเอง ครูบาอาจารย์นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา ท่านก็สอนมาตลอด “จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นหัวหน้า จิตเป็นประธาน” หรือครูบาอาจารย์ท่านก็สอน อย่างหลวงปู่มั่นท่านก็บอก “ได้จิตก็ได้ธรรม ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรม” ทุกองค์พูดเหมือนๆ กัน

ตั้งแต่พุทธกาลมา จนถึงครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อไปเรียนด้วย ท่านมุ่งเข้ามาที่จิตทุกองค์ อย่างถ้าคนไหนอินทรีย์อ่อนมากๆ ท่านก็ให้ทำสมถะก่อน ทำสมถะแล้วท่านก็สอนให้ไปดูกาย พิจารณากายในอาการ 32 ก็อยู่ในสติปัฏฐานเหมือนกัน ค่อยดูไปสติก็จะค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น สมาธิก็จะค่อยๆ ดีขึ้น มีสติมีสมาธิดีแล้วก็จะเจริญปัญญาได้ เห็นความจริงของรูป ของนาม ของกาย ของใจ ความจริงคือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ฉะนั้นเราพยายามสังเกตจิตใจของเรา ทำความรู้จักกับจิตตนเองไว้ เราอยากรู้อะไรต่ออะไรมากมาย แต่รู้อะไรมากมายก็สู้การรู้จักตัวเองไม่ได้ แสวงหาอะไรก็สู้แสวงหาลงมาในตัวเองไม่ได้

ตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ มีพวกเจ้าชาย 30 องค์ เรียกพวกภัททวัคคีย์ 30 องค์ ไปจ้างผู้หญิงมาปรนเปรอ เสร็จแล้วตัวเองก็เมาเหล้าหลับ พวกผู้หญิงขโมยสมบัติไป ก็เหมือนเดี๋ยวนี้ไปเจอใครข้างถนนก็ไปหิ้วเขา นึกว่าวันนี้โชคดีแล้ว หิ้วพาไปบ้านหรือพาไปเข้าโรงแรม ตื่นขึ้นมาเหลือแต่ตัวทรัพย์สินเงินทองหายหมด เจ้าชายนั่นก็แบบเดียวกัน ก็โมโหก็ไล่ตามผู้หญิงพวกนั้น เที่ยวเสาะแสวงว่าพวกนี้ไปซ่อนอยู่ที่ไหน จะเล่นงานแล้วในฐานะหลอกลวงเจ้าชาย ขโมยของเจ้าชายมา นี้บุญบารมีของพวกท่านมีอยู่ ท่านไปเจอพระพุทธเจ้าเข้าตอนนั้นตรัสรู้ไม่นานหรอก เพิ่งตรัสรู้ใหม่ๆ เพิ่งสอนพวกพระรุ่นแรกๆ ไปไม่กี่องค์ เยอะสุดก็กลุ่มพระยสะ

พวกภัททวัคคีย์นี้ก็เข้าไปหาพระพุทธเจ้า จะไปถามว่าเห็นพวกผู้หญิงนี้ไหม เขาเที่ยวตามหา พระพุทธเจ้าท่านก็ถามกลับว่า “จะตามหาผู้หญิง หรือจะตามหาตนเองดี” พวกนี้บารมีเขาเยอะ พอได้ยินว่าให้ตามหาตนเอง เขาหยุดเลย หายคลุ้มคลั่งเรื่องจะตามผู้หญิง ลงนั่งฟังธรรม พระพุทธเจ้าก็สอนธรรมะให้ ช่วงแรกๆ ท่านสอนพวกนี้ก็จะสอนธรรมะง่ายๆ เรียก อนุปุพพิกถา ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม แล้วก็อริยสัจ ท่านเหล่านี้ฟังได้พระโสดาบัน รู้แล้วว่าจะต้องเรียนรู้ตัวเอง ต้องหาตัวเองให้พบ

สิ่งที่เรารักที่สุดก็คือตัวเราเอง แต่เราละเลยตัวเราเองมากที่สุด ฉะนั้นผู้มีสติมีปัญญา มีบุญบารมีสะสมมา ก็จะรู้จักการแสวงหาตัวเอง เวลาเราจะแสวงหาตัวเอง สิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นตัวเรามันคืออะไรบ้าง ก็คือรูปนามกายใจของเรานี่เอง ที่เราจะรู้สึกว่าคือตัวเราๆ อย่างร่างกายนี้เราก็รู้สึกว่านี่ร่างกายเรา นี่คือตัวเรา แต่พอมาหัดเจริญสติ เจริญสมาธิถูกต้อง ปัญญามันเกิด มันเห็นได้ง่ายๆ เลยว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา อันนี้คนที่ยังไม่ได้โสดาบันก็สามารถเห็นได้

พระพุทธเจ้าท่านบอก “ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ ไม่เคยฟังธรรมะ สามารถเห็นได้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา” เพราะว่ามันมองเห็นง่าย ตัวเองเคยหนุ่มเคยสาว เดี๋ยวมันก็แก่ไปแล้ว ไม่หนุ่มไม่สาวแล้ว เคยแข็งแรงบางทีมันก็เจ็บไข้ คนที่เรารู้จักก็ล้มหายตายจากเป็นลำดับๆ ไป พวกเราแต่ละคนเรามีเพื่อน เรามีญาติ มีพ่อมีแม่ที่ตายไปตั้งเท่าไรแล้ว ไปงานศพกันอยู่เรื่อยๆ ตอนยังเด็กๆ อยู่เรียนจบใหม่ๆ ส่วนใหญ่ก็งานแต่ง พอโตขึ้นมาหน่อยงานขึ้นบ้านใหม่ อายุเยอะขึ้นส่วนใหญ่ก็เรื่องงานศพ เวลาชุมนุมศิษย์เก่าเจอหน้าเพื่อน ก็จะถามกันว่าปีนี้ใครตายไปบ้าง คนทั่วๆ ไปมันก็เห็นได้ว่า ชีวิตร่างกายเราไม่ยั่งยืนไม่แน่นอน ฉะนั้นท่านถึงบอกว่า “ปุถุชนสามารถเห็นได้ว่าร่างกายไม่ใช่เรา” แต่จะมาเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา ต้องเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เพราะคนอื่นเขาจะไม่เรียนเข้ามาที่จิตตัวเองหรอก เราพยายามโอปนยิโก น้อมเข้ามาเรียนรู้ กายนั้นมันเรื่องง่าย ถ้าใจเราฟุ้งซ่านมากๆ ดูกายไป ให้มันได้สมาธิขึ้นมาพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังเข้าไป เรียกว่าทำกายคตาสติ สิ่งที่เราจะได้ก็คือสมาธิ จิตจะได้มีกำลัง

 

 

ในขั้นเจริญปัญญาจะดูกายก็ได้ ดูเวทนาก็ได้ ดูกุศลอกุศลก็ได้ ดูจิตมันทำงานก็ได้ แล้วแต่ขีดความสามารถของเราที่จะดูได้ ดูอะไรได้ชัดก็ดูอันนั้น ฉะนั้นบางคนทำสมาธิ แล้วก็มาเจริญปัญญาด้วยการดูกาย บางคนสมาธิเขาดีเข้าฌานได้ เขาก็ดูเวทนาได้ เวทนานี้หมายถึงเวทนาทางกาย ถ้าจิตไม่ทรงฌานไปดูเวทนาทางกายก็จะเจริญปัญญายาก จิตมันฟุ้งซ่าน สติมันจะแตกเสียก่อน หรือถ้าสมาธิเราไม่มาก เราดูจิตของเราไปเลย จิตมันสุข จิตมันทุกข์ จิตมันดี จิตมันชั่ว คอยรู้เท่าทันมันไปเรื่อยๆ เรียนรู้จิตใจตัวเองให้มาก แล้วต่อไปเราจะค่อยๆ สังเกตจิตใจเราที่เราเวลารับรู้อารมณ์ แล้วก็เกิดการทำงาน ปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่วอะไรขึ้นมา เพราะมันมีสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง ส่วนใหญ่มันเป็นกิเลสเป็นเหตุ ที่ผลักดันให้จิตปรุงแต่ง

ฉะนั้นถ้าเราอ่านจิตอ่านใจของตนเองให้ดี แล้วจะเห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความคิด คำพูด และการกระทำของเรา ตัวนี้สำคัญถ้าเราทำตรงนี้ได้ เราจะเห็นเลยว่าอกุศลเกิดบ่อย สำหรับพวกเราอกุศลเกิดบ่อย บางคนบอกว่าปีหนึ่งแล้วยังไม่โกรธเลย ไม่เห็นจะเป็นอกุศล อกุศลไม่ได้มีแค่โกรธ บอกก็ไม่เคยโลภอะไรของใคร อกุศลก็ไม่ได้มีแค่โลภ อกุศลตัวหัวโจกเลย ตัวที่ยากที่สุดคือตัวหลง เดี๋ยวก็หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสที่กาย หลงไปคิดนึกทางใจ โดยเฉพาะการหลงคิดทางใจเกิดทั้งวัน นับครั้งไม่ถ้วนเลย ลองนับดูก็ได้ มีเครื่องนับหลงทีหนึ่งลองกดปุ่มที่หนึ่ง หรือจะนับลูกประคำก็ได้มันมี 108 ลูก พอจิตหลงไปทีก็ขยับไป 1 ลูก ดูสิ 108 ลูกมันจะหมดในเวลาเท่าไร บางคนหมดในเวลา 5 นาที มันหลงอุตลุดเลย

เพราะฉะนั้นให้คอยสังเกตจิตตนเอง จิตมีราคะให้รู้ จิตมีโทสะเกิดขึ้นให้รู้ จิตหลงไปให้รู้ จิตหลงมันก็มีหลายแบบ เช่น มันฟุ้งซ่าน ลืมเนื้อลืมตัว จิตมันหลงไป งง สงสัยอะไรพวกนี้ หรือว่าไม่รู้ว่าตอนนี้สภาวะมันเป็นอย่างไร เซื่องซึม ไม่รู้เหนือรู้ใต้ นี่พวกหลง พวกโกรธก็มีหลายแบบ อย่างโกรธจริงๆ โมโหโทโส อิจฉา อิจฉานี้อยู่ในตระกูลโทสะ ตระหนี่ หวงแหน อยู่ในตระกูลโทสะ วิธีดูง่ายๆ เลยว่าจิตเป็นโทสะหรือเปล่า ก็คือถ้าจิตมีโทสะ จิตจะไม่มีความสุข แต่ถ้าจิตมีโมหะ จิตเราจะเฉยๆ จิตมีราคะจะเฉยๆ หรือมีความสุขก็ได้ แต่ถ้าจิตใจเราไม่แช่มชื่น รู้ได้เลยว่าต้องมีโทสะซ่อนอยู่

 

พอเห็นความเป็นจริงมากเข้าๆ ปัญญาเบื้องต้นก็จะเกิด

หัดสังเกตจิตใจตนเองทุกวันๆ สังเกตบ่อยๆ แล้วเราก็จะค่อยๆ เห็น ทีแรกหลงยาว นานๆ จะรู้ตัวทีหนึ่ง พอหัดดูบ่อยๆ พอหลงปุ๊บรู้ปั๊บเลย พอฝึกไปเรื่อยๆ หลงปุ๊บรู้ปั๊บนี้ดีมากๆ ต่อไปปัญญามันก็จะเกิดได้ เพราะว่าพอหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ ตัวสมาธิคือตัวที่จิตตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ มันเกิดถี่ขึ้นๆ มันมีกำลังมากขึ้น ปัญญามันก็จะเกิด มันจะเห็นเลยว่าจิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง จิตรู้ก็ควบคุมไม่ได้ จิตหลงก็ห้ามไม่ได้ ปัญญามันเกิด เราเห็นความจริงของจิต จิตนี้มันไม่เที่ยง จิตนี้มันเป็นอนัตตา ควบคุมไม่ได้ พอเห็นความเป็นจริงมากเข้าๆ ปัญญาเบื้องต้นมันก็จะเกิด มันจะรู้เลยว่าจิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตนี้ไม่ใช่ตัวเราแล้ว ล้างความเห็นผิดว่าจิตเป็นตนได้ อันนี้เราจะได้ธรรมะขั้นแรกได้เป็นพระโสดาบัน

พระโสดาบันสามารถเห็นได้ว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ขันธ์ 5 มันก็รวมวิญญาณหรือรวมจิตเข้าไปด้วยนั่นเอง จิตที่ทำงานออกไปรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือจิตที่ทำงานทางใจก็อยู่ในวิญญาณขันธ์ ถือว่าเป็นกลุ่มของวิญญาณ ขันธ์แปลว่ากลุ่ม แปลว่าพวก แปลว่ากอง เป็นกลุ่ม ฉะนั้นวิญญาณก็มีกลุ่มของมัน วิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็คือจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง ถ้าเราสามารถเห็นได้ขันธ์ 5 ทั้งหมดไม่ใช่เรา ไม่มีเรานอกเหนือจากขันธ์ 5 ตรงนั้นล่ะเราได้ธรรมะเบื้องต้นแล้ว เป็นพระโสดาบัน เมื่อกี้บอกแล้วว่าการเห็นว่ากายไม่ใช่เราเป็นของง่าย ถ้าใจเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูจริงๆ มันจะเห็นทันทีเลยร่างกายไม่ใช่เรา

คนนอกศาสนาพุทธเขาก็ยังเห็นได้เลย ทั้งๆ ที่จิตไม่ได้ตั้งมั่นหรอก ก็ยังพอเห็นได้ เพราะว่ามันมีประจักษ์พยานให้เห็นมากมาย คนนั้นก็แก่ คนนี้ก็เจ็บ คนนี้ก็ตาย มีให้ดูทุกวัน ฉะนั้นใจมันก็ยอมรับได้ว่าร่างกายไม่ใช่เรา แต่ความสุขความทุกข์ไม่ใช่เราก็เริ่มดูยากขึ้นนิดหนึ่ง เพราะสิ่งที่เราดิ้นรนแสวงหาก็คือตัวความสุขนั่นล่ะ ทุกวันนี้ที่ทำมาหากินเหน็ดเหนื่อย หวังว่าจะได้เงินได้ทองมา มีเงินมีทองแล้วจะได้มีความสุข อยู่คนเดียวเหงาๆ หาสามีหาภรรยามาคิดว่าจะมีความสุข สิ่งที่อยากได้ก็คือความสุขนั่นล่ะ พอมีสามีมีภรรยาแล้วอยากมีลูกอีกแล้ว จะมีลูกมันก็ต้องมีบ้าน ขยับขยายไปเรื่อย พอมีลูกแล้วห่วงลูกอีกแล้ว ขึ้นรถเมล์ไม่ได้แล้วสงสารลูก ต้องซื้อรถยนต์อีกแล้ว ความต้องการก็ขยายๆๆ ไปเรื่อยๆ

ถ้าเราตั้งสติดูลงไปเลยที่เราอยากได้ความสุข เราอยากได้ความสุขแล้วคิดว่า มีอันโน้นจะสุข มีอันนี้จะสุข ดูจริงๆ เลยมันสุขไหม ความสุขในโลกนั้นเป็นความสุขที่เจือกับทุกข์อยู่เสมอ ไม่ใช่ความสุขบริสุทธิ์อะไรหรอก มีครอบครัวก็ทุกข์เพราะครอบครัว ห่วงหน้าห่วงหลัง มีทรัพย์สมบัติก็ทุกข์เพราะทรัพย์สมบัติ จะไปไหนก็ห่วง ไปฝากธนาคารก็กลัวธนาคารล้ม จะไปฝังดินกลัวเสียหาย เดี๋ยวตัวอะไรมาแทะหรือคนอื่นมาขุด มีอะไรก็เจือที่เราคิดว่ามันจะให้ความสุขเรา มันเป็นความสุขที่เจือทุกข์มาตลอด ในโลกนี้มันไม่มีความสุขที่บริสุทธิ์หรอก ถ้าเราภาวนาเราเห็นความสุขเกิดขึ้นแล้วก็ดับ แสวงหามาอย่างยากลำบาก อยู่ได้แวบเดียวก็ดับแล้ว แป๊บเดียวจริงๆ อย่างบางคนที่หลวงพ่อเคยได้ยิน แต่งงาน อยากแต่งงานลงทุนไปเป็นล้านเลย จัดงานจัดกันเป็นล้านเลย เช่าโรงแรมหรูหรา อยู่กัน 3 เดือนเลิกกันแล้ว ไม่มีความสุข

ฉะนั้นความสุขของโลกๆ ที่เราเที่ยวแสวงหาไป ถ้าเรามีสติมีปัญญาเรียนรู้จิตใจตัวเอง เราจะรู้ว่าความสุขของโลกๆ หาสาระแก่นสารไม่ได้ มันไม่ยั่งยืน ความสุขที่ไม่ยั่งยืนจะไปดิ้นรนหามันให้เหน็ดเหนื่อยทำไม เราค่อยรู้ จิตใจเรามีความสุขเรารู้ จิตใจเรามีความทุกข์เรารู้ เรียนไปเรื่อยๆ เวลามีความทุกข์เราไม่ชอบมัน เราดูให้ดีเถอะความทุกข์ในใจเรา มันก็อยู่ชั่วคราว อย่างบางคนอกหัก มีสามีมีภรรยาอยู่ โดยเฉพาะพวกผู้ชายมีภรรยาอยู่ ภรรยาไปรักคนอื่น โอ๊ย เจ็บปวด เจ็บปวดมาก เป็นพระนั่งร้องไห้ก็มีไม่ใช่ไม่มี มันทุกข์ ต่อมาสติปัญญามันทันขึ้นมา มันเห็นทุกข์นี้มันก็ไม่ยั่งยืน มันทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะมันรัก แล้วความรักมันไม่ยั่งยืน มันก็เลยทุกข์ขึ้นมา ความอยากไม่ได้รับการตอบสนอง มันก็เลยทุกข์ขึ้นมา ทุกข์เพราะว่าจิตเราสร้างขึ้นมาเอง

เรียนรู้จิตใจตนเองไป จะรู้เลยสุขก็อย่างนั้นๆ ล่ะไม่ยั่งยืน ทุกข์ก็อย่างนั้นล่ะไม่ยั่งยืนหรอก มันจะมามันก็มา มันจะไปเราก็ไล่มันก็ไม่ไป ถึงเวลามันก็ไปเอง อย่างนี้เราจะเริ่มมีปัญญา เราจะเห็นว่าสุขหรือทุกข์ก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ เหตุของความสุขก็คือ การกระทบอารมณ์ที่พอใจ เหตุของทุกข์ทางใจเราก็คือการกระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจ แล้วก็การกระทบอารมณ์เราเลือกไม่ได้ ว่าจะกระทบสิ่งที่พอใจหรือไม่พอใจ มันกระทบอะไรเราเลือกไม่ได้ กรรมมันจัดสรร เวลาอกุศลจะให้ผลมันก็กระทบแต่เรื่องไม่ดี ไม่ถูกอกถูกใจ จิตก็จมอยู่ในความทุกข์

ถ้าเราฝึกเราก็เห็นสุขมันก็ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว จิตก็เป็นกลาง ไม่รักไม่เกลียดมัน แล้วก็เห็นเลยว่าความสุขความทุกข์มันไม่ใช่ตัวเราหรอก เราบังคับอะไรมันไม่ได้ เราสังเกตจิตสังเกตใจไป เรารู้จิตเราอยู่ เราจะเห็นร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายไม่ใช่เรา จิตใจเรารู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้เวทนา มันก็จะเห็นเวทนาไม่ใช่เรา จิตใจเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ จิตเป็นกุศลหรืออกุศล โลภ โกรธ หลงอะไรเกิดขึ้นมา เรารู้ทันไป พอรู้ทันไปมันก็จะเห็น จิตโลภก็ไม่เที่ยง จิตโกรธก็ไม่เที่ยง จิตหลงก็ไม่เที่ยง จิตรู้ก็ไม่เที่ยง จิตที่เป็นกุศลก็ไม่เที่ยง จิตที่เป็นอกุศลก็ไม่เที่ยง ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก 7 วัน 7 เดือน 7 ปี ดูมันเข้าไป ถึงจุดหนึ่งมันคงไม่โง่ถึงขนาดดูอะไรไม่ออกหรอก

 

ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ศีล สมาธิ ปัญญาจะค่อยแก่กล้าขึ้น

ดูซ้ำๆ เข้าไปเรื่อยๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตไป จิตนี้เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย โลภ โกรธ หลง หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ดูซ้ำๆๆ ไปถึงจุดหนึ่งมันพอ จิตมันปิ๊งขึ้นมาเลยว่าจิตนี้มันไม่ใช่เราหรอก จิตสุขจิตทุกข์มันก็ไม่ใช่เรา มันก็แค่ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์มันเกิดขึ้นแล้วจิตไปรู้เข้า จิตดีหรือจิตชั่วมันก็ไม่ใช่เรา มันก็แค่ความรู้สึกดีความรู้สึกชั่วที่เกิดขึ้น แล้วจิตไปรับรู้ ส่วนตัวจิตนั้นมันก็ไม่ใช่เรา ถ้าจิตไม่เข้าไปสำคัญมั่นหมาย สัญญาไม่ไปหมายผิดๆ ไม่ไปคิดผิดๆ ว่าจิตนี้คือเรา ถ้าเราหมายรู้ถูกมันก็คิดถูก ถ้าคิดถูกมันก็เห็นถูก มันเป็น Step ของมันเลย หมายรู้ให้ถูกก่อน ให้จิตมันเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู ฝึกมันไป พอจิตมันเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว เราก็จะเริ่มหมายรู้ถูก เราเริ่มเห็นผู้รู้มันก็ไม่เที่ยง ผู้คิดมันก็ไม่เที่ยง ผู้โลภ ผู้โกรธ ผู้หลง มันก็ไม่เที่ยง ผู้สุข ผู้ทุกข์มันก็ไม่เที่ยง เห็นซ้ำๆๆ หรือบางทีก็เห็นผู้รู้เองเราก็สั่งมันไม่ได้ ผู้หลงเราก็สั่งมันไม่ได้ ห้ามมันไม่ได้ เห็นไปเรื่อยๆ ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ 7 วัน 7 เดือน 7 ปี ทำไปเถอะ ถึงจุดหนึ่งจิตมันปิ๊งขึ้นมาเลย จิตนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก เป็นแค่ธาตุรู้อันหนึ่งเท่านั้น เป็นธรรมชาติรู้อันหนึ่งเท่านั้นเอง มีหน้าที่รู้เท่านั้น ห้ามมันไม่ได้ ควบคุมมันไม่ได้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์

ถามว่าจิตมีนิยามอย่างไร นิยามของจิตก็คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ คำว่า “อารมณ์” หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ จิตคือผู้ไปรู้อารมณ์ ผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้เลยต้องเป็นสิ่งที่เกิดร่วมกัน เข้าคู่กันตลอดเวลา มีผู้รู้ก็มีสิ่งที่ถูกรู้ มีสิ่งที่ถูกรู้ก็ต้องมีผู้รู้คือมีจิต แต่จิตที่พัฒนาขึ้นอย่างที่หลวงพ่อว่าจิตผู้รู้นั้น มันเป็นจิตที่มีคุณภาพสูง จิตที่ตั้งมั่น ไม่ใช่ธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์เฉยๆ อย่างจิตที่เป็นธรรมชาติรับรู้อารมณ์ หมา แมว มันก็มี สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก เปรต อสุรกายอะไรมันก็มีเหมือนกันหมด ฉะนั้นบางทีทางพวกเซน เขาเลยบอกว่าตัวรู้นี้กระทั่งสัตว์นรกมันก็มี สัตว์เดรัจฉานมันก็มี อันนั้นคือจิตรู้ ไม่ใช่จิตผู้รู้ เป็นจิตเฉยๆ เพราะจิตนั้นธรรมชาติของจิตก็คือ เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ก็คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือเรื่องราวทางใจก็ธรรมารมณ์ มีจิตก็มีอารมณ์ มีอารมณ์ก็มีจิต

เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป อารมณ์ก็ไม่เที่ยง อารมณ์เช่นความสุขความทุกข์ก็ไม่เที่ยง กุศลอกุศลก็ไม่เที่ยง ร่างกายเรานี้ก็ไม่เที่ยง ตัวกุศลอกุศล สุขทุกข์ ตัวร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ธรรมชาติที่ไปรู้สิ่งเหล่านี้ คือตัวจิตเองมันก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เราต้องฝึกหมายรู้ให้ถูก เรามีทฤษฎีชี้นำ มีสัมมาทิฏฐิในภาคปริยัติ เรียกว่ามีทฤษฎีชี้นำ หัดดูกายในมุมของไตรลักษณ์ หัดดูจิตใจในมุมของไตรลักษณ์ไป อย่างจิตเราเดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว คอยสังเกตไป เออ มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันทนอยู่ในสภาวะอันใดอันหนึ่งไม่ได้ มันบังคับไม่ได้

พอเราหมายรู้ถูกต่อไปมันก็มีความคิดถูก มีความเห็นถูกเกิดขึ้น ตรงที่มีความเห็นถูกเกิดขึ้นมันล้างความเห็นผิด ตรงที่มันล้างความเห็นผิดได้ เราก็จะเห็นความจริง กระทั่งจิตเองก็ไม่ใช่เรา ร่างกายที่จิตไปรู้เข้าก็ไม่ใช่ตัวเรา ความสุขความทุกข์ที่จิตไปรู้เข้าก็ไม่ใช่ตัวเรา กุศลอกุศลที่จิตไปรู้เข้าก็ไม่ใช่ตัวเรา จิตที่เป็นผู้ไปรู้อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นของที่เกิดแล้วก็ดับ บังคับไม่ได้ทั้งหมดทั้งสิ้น เฝ้าดูอย่างนี้ สุดท้ายมันก็ล้างความเห็นผิดได้ว่าตัวเราไม่มีหรอก ถ้าเห็นว่าตัวเราไม่มีก็ได้เป็นพระโสดาบัน ถ้าเห็นว่ากระทั่งจิตมันก็ไม่ใช่ตัวเรา

 

 

หลังจากนั้นเราก็ภาวนาอย่างเดิมนั่นล่ะ ดูกายอย่างที่กายเป็น ดูใจอย่างที่ใจเป็น เป็นอะไร มันเป็นไตรลักษณ์ ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ค่อยแก่กล้าขึ้น โดยเฉพาะตัวปัญญามันจะแก่กล้ามากขึ้นๆ อย่างพระโสดาบันมีศีลบริบูรณ์ มีสมาธิเล็กน้อย มีปัญญาเล็กน้อย ปัญญาเล็กน้อยก็คือเห็นว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ไม่มีเราในขันธ์ 5 ไม่มีเรานอกเหนือจากขันธ์ 5 อันนี้เป็นปัญญาเล็กน้อย ที่เราฝึกเพื่อให้ได้ปัญญาเล็กน้อย ได้พระโสดาบัน

พอเราภาวนาต่อไปศีลเราก็สมบูรณ์ เพราะมันสมบูรณ์มาตั้งแต่ขั้นแรกเป็นพระโสดาบันแล้ว สมาธิดีขึ้น สมาธิปานกลาง สมาธิปานกลางเป็นอย่างไร หลงไม่ยาว จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้นๆ เวลาหลงๆ แวบเดียวก็รู้สึก แวบเดียวก็รู้สึกแล้ว ไม่ใช่หลงเป็นวันๆ หลงเป็นชั่วโมง หลงเป็นนาที ไม่ใช่ พอเราภาวนาเราได้ธรรมะขั้นที่สอง จิตใจเราตั้งมั่นมากขึ้นๆ จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น ไม่หลงยาว แล้วปัญญาก็ยังเล็กน้อย ก็ยังเห็นอยู่อย่างเดิมว่าตัวเราไม่มี เราก็ภาวนาต่อไป ดูกายดูใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ทำซ้ำแล้วซ้ำอีกไปนั่นล่ะ ถึงจุดที่มันพอก็เกิดอริยมรรคครั้งที่สาม เรียกอนาคามิมรรค ครั้งที่สามเกิดขึ้น

พออนาคามิมรรคเกิดขึ้นแล้ว ท่านบอกว่าศีลบริบูรณ์ อันนี้บริบูรณ์มาแต่โสดาบัน สมาธิบริบูรณ์ สกทาคามีสมาธิดีขึ้น แต่มาสมบูรณ์เต็มที่ในขั้นพระอนาคามี สมาธิที่บริบูรณ์มันมีลักษณะอย่างไร คือจิตมันจะไม่ไหลไปหากาม สิ่งที่เรียกว่ากามคุณอารมณ์ ก็คือตัวรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลายนั่นล่ะ จิตมันจะไม่ไหลเข้าไป ไม่ไปหลงอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยความมัวเมา เมามันในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่สัมผัสกาย มันจะมีความรู้สึกว่าจิตมันห่างโลกออกไปแล้ว เพราะโลกที่เรารู้จัก มันเป็นโลกที่เรียกว่าโลกของกาม กามาวจรภูมิ เป็นโลกของกาม พระอนาคามี จิตพ้นจากกาม พ้นจากโลกที่พวกเรารู้จักนี้ ท่านก็ไปอยู่ในรูป รูปโลก อรูปโลก แต่เวลาจะสงเคราะห์สัตว์โลก ท่านก็ออกมาสัมผัสพวกเราได้ ไม่ใช่หลุดเข้าไปในอรูป แล้วก็ไม่รู้เรื่องอะไรในโลกนี้แล้ว ไม่ใช่

เราภาวนาต่อไปอีก ถึงจุดหนึ่งอริยมรรคครั้งที่สี่เกิดนั่นล่ะ ศีลถึงสมบูรณ์ สมาธิถึงสมบูรณ์ ปัญญาสมบูรณ์ ปัญญาสมบูรณ์คือรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ 4 ทีแรกเรารู้แค่ว่าตัวเราไม่มี นั่นปัญญาขั้นต้น ปัญญาขั้นกลางอย่างของพระอนาคามี จะรู้เลยว่าโลกไม่มีสาระ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่ใช่มีสาระ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มีสาระ อันนี้เป็นปัญญาขั้นกลาง ขั้นสุดท้ายนอกจากเห็นว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็รูป เวทนา สัญญา สังขาร อะไรพวกนี้ถึงตัววิญญาณด้วย ตัวจิตด้วย ไม่มีสาระ ถึงตรงนี้มันจะรู้ความจริงว่าสิ่งที่มีอยู่คือทุกข์ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป จิตมันรู้แจ้งเห็นจริงอันนี้ รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง อยู่ในอริยสัจนั่นเอง

ทันทีที่รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็เป็นอันถูกละเด็ดขาดในขณะที่รู้ทุกข์นั่นล่ะ พอรู้ทุกข์แจ่มแจ้งคือรู้ว่าขันธ์ 5 มันทุกข์ ความอยากให้ขันธ์ 5 เป็นสุขก็ไม่เกิด ความอยากให้ขันธ์ 5 ไม่ทุกข์ก็ไม่เกิด ตัณหาไม่เกิด พอตัณหาไม่เกิด ความดิ้นรนของจิตก็ไม่เกิด ถ้าเรามีตัณหาจิตมันก็ดิ้นรนไป มันก็สร้างภพน้อยภพใหญ่อะไรก็วุ่นวายไปไม่รู้จักจบจักสิ้น พอเราแทงตลอดลงในอริยสัจ เขาเรียกว่าได้วิชชาก็ล้างอวิชชาไป รู้ความจริงแล้วขันธ์ 5 นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป นี้คือปัญญาขั้นสุดยอดแล้ว ถ้าเห็นตรงนี้ได้จิตมันจะหมดความยึดถือ ทำไมถึงหมดความยึดถือ เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว

 

 

รู้ด้วยตนเองไม่ต้องให้ใครเขามาออกใบรับรองให้หรอก จิตเรายังติดโลกอยู่ไหม ถ้ายังติดโลกอยู่ยังไม่ใช่พระอนาคามี ถ้าจิตเรายังเห็นว่าจิตใจนี้คือตัวเราของเรา อันนั้นยังไม่ได้โสดาบันเลย มันวัดตัวเองได้ ถ้าเห็นว่าจิตไม่ได้ไปเกาะไปเกี่ยวอะไร มันเด่นดวง พรากออกจากขันธ์ ขันธ์ส่วนขันธ์ จิตส่วนจิต ขันธ์นั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ต้องดับไปในวันหนึ่ง ต้องเสื่อม เป็นธรรมชาติต้องเสื่อมไปสิ้นไป แต่จิตที่พ้นขันธ์ไปแล้ว มันไม่ได้เสื่อมตาม มันก็ว่าง สว่าง บริสุทธิ์อยู่อย่างนั้น ไม่ดิ้นรน ไม่ปรุงแต่ง ไม่แสวงหา แสวงหาก็เพราะตัณหามันผลักดัน

หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนวลีไว้เซตหนึ่ง บอก “ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง” “ว่าง” มันจะรู้สึก ดูลงในกาย กายนี้ว่าง ไม่ใช่ไม่มีกาย กายมีอยู่แต่ว่าง มันว่างในความรู้สึก ว่างจากความเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขา ขยายความรับรู้ออกไปอีก โลกข้างนอกก็ว่าง ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขาหรอก ที่จิตเองไม่ต้องทวนเข้ามาดู ถ้าจงใจทวนเข้ามาดูยังมีงานทำ แต่มันแจ้งขึ้นมาเอง จิตก็ว่าง ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขา ถ้าทวนเข้ามาดู ไปสำคัญหมายอยู่พอเหมือนๆ นิพพาน ไม่ใช่หรอก ยังไม่ใช่ ยังหมายรู้อยู่

ฝึกเรื่อยๆ แล้วก็จะแจ้งขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นลำดับไป เคยทุกข์มากก็จะทุกข์น้อย เคยทุกข์หนักก็จะทุกข์เบาๆ เคยทุกข์นานๆ ก็ทุกข์ประเดี๋ยวประด๋าว มันจะเห็นด้วยตัวเอง วัดได้ด้วยตัวเอง ถ้าเราภาวนาแล้วยังทุกข์เหมือนเดิม จมอยู่ในความทุกข์ทั้งปีทั้งชาติ แสดงว่ายังทำไม่ถูก หรือทำถูกก็ยังทำไม่พอมี 2 ตัวเท่านั้น ทำให้ถูกกับทำให้พอ ฉะนั้นพยายามฝึกตัวเองทุกวันๆ ศีล 5 ต้องรักษา ถ้าไม่รักษาศีลสมาธิมันจะไม่มี มันจะเสื่อม ที่มีอยู่ก็เสื่อม ที่ไม่มีมันก็ไม่มี ไม่เกิด มีสมาธิคือมีภาวะที่จิตใจตั้งมั่น อย่างที่หลวงพ่อสอนอยู่แทบทุกวัน ว่ามันฝึกได้ 2 อัน อันหนึ่งผ่านมาทางฌานที่ถูกต้อง อันที่สองก็คือให้เรารู้ทันสภาวะ สภาวะของรูปธรรมนามธรรมที่กำลังมีกำลังเป็น

ถ้ารู้สภาวะถูกต้องก็จะได้ตัวรู้ขึ้นมา เช่น จิตเราหลงไป จิตเราไปคิด จิตคิดเกิดทั้งวัน ถ้าจิตคิดเรารู้ จิตคิดเรารู้ ทุกครั้งที่รู้เราจะมีสมาธิที่ถูกต้องเกิดขึ้นชั่วขณะ ขณะเดียวแล้วเดี๋ยวหลงอีกรู้อีก หลงอีกรู้อีก ตัวรู้มันจะถี่ๆๆๆ ขึ้นมา สุดท้ายมันจะมีความรู้สึกเหมือนเรารู้ตัวอยู่ได้ทั้งวันเลย เพราะในความเป็นจริงมันไม่ได้ต่อเนื่องทั้งวัน แต่มันเกิดดับๆๆ แต่เกิดดับถี่ยิบ มันเหมือนเส้นดินสอ หลวงพ่อเคยเอาแว่นขยายไปส่อง เราลากดินสอเราเห็นมีเส้นๆ หนึ่ง เอากล้องไปส่องดูเราจะเห็นมันไม่ใช่เส้นที่ต่อเนื่องกันจริง มันเป็นจุดๆๆๆ เกิดภาพว่ามันต่อเนื่องกัน สมาธิมันก็เกิดเป็นจุดๆ นั่นล่ะ แต่พอมันเกิดถี่ๆ มันจะรู้สึกว่าต่อเนื่อง พอจิตใจมันมีสมาธิแล้ว มันก็อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่วอกแวกไปหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาโผฏฐัพพะอะไรข้างนอก จิตใจมันก็อยู่กับตัวเองไป มันก็สามารถเรียนรู้ตัวเองได้ ที่เราต้องมีสมาธิเพื่อให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว เพื่อเราจะได้เรียนรู้ตัวเองได้ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็นได้ นั่นเรียกว่าทำวิปัสสนา ฉะนั้นทำวิปัสสนาได้เต็มที่ มันก็จะเข้าสู่โลกุตตรธรรม มันเป็นกระบวนการที่จิตมันจะพัฒนาของมันไปเอง พวกเราพยายามฝึกอย่างนี้ไว้ทุกวันๆ

 

 

เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ เดี๋ยวประชาสัมพันธ์นิดหนึ่ง พวกเราตอนนี้เริ่มเข้ามาในวัดแล้ว ขอให้เรารับผิดชอบตัวเอง ต้องรับผิดชอบต่อตัวเอง รับผิดชอบต่อสังคม ยังมีที่จองๆ เข้ามา แล้วเขาพบว่าลูกเขาติดโควิดมาจากโรงเรียน เขาก็แจ้งมาทางมูลนิธิฯ ว่าเขาขอสละสิทธิ์รอบนี้ที่เขาจองได้ เพราะในบ้านเขามีคนติดโควิดแล้ว เขาไม่แน่ใจว่าเขาติดหรือยัง เดี๋ยวจะเอามาแพร่ในหมู่พวกเรามานั่งกันอยู่เยอะๆ อย่างนี้ถือว่าดี มีความรับผิดชอบ ประเภทไม่รับผิดชอบไม่ไหวหรอก มันเห็นแก่ตัว คนที่รับผิดชอบไม่ได้เห็นแก่ตัว เห็นแก่ส่วนรวม คนเห็นแก่ตัวมันภาวนาไม่ได้หรอก ไม่ต้องคิดถึงการภาวนา เพราะภาวนามันจะลดละตัวตน กระทั่งเห็นแก่ตัวธรรมดายังละไม่ได้เลย จะไปลดละความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน จะไปละความยึดถือในตัวในตนอะไร มันทำไม่ได้หรอก

เพราะฉะนั้นพวกเราต้องพยายามฝึกตัวเองให้มันไม่เห็นแก่ตัวไว้ รับผิดชอบต่อส่วนรวม อย่างวันนี้หลวงพ่อก็บอกพวกเรา ใครจะมากินข้าวเอาข้าวมากินเองได้ก็ดีแล้ว ไม่ต้องไปตักรวมกับคนอื่น ถ้าไม่มีข้าวมา ไม่สะดวกจะไปหาข้าวหุงข้าวแต่เช้ามืด เอากล่องมาสักใบหนึ่ง เอาช้อนของเรามา มากินข้าวที่วัดไม่ว่ากัน แต่อย่าแซงคิวกัน แล้วก็กินในกล่องของเราแล้วก็แพคกลับบ้าน ถ้ามีถุงใส่กล่องมาสักใบหนึ่งด้วยก็ยิ่งดีใหญ่ ขยะที่เราผลิตเอากลับบ้านไป มันอาจจะเป็นขยะติดเชื้อก็ได้ ถ้าเรามีเชื้อเราไม่รู้ เรามาทิ้งไว้ตรงนี้เดี๋ยวคนอื่นเขาติดเชื้อไปด้วย ที่เรียกร้องอย่างนี้ไม่ใช่ผลประโยชน์ของวัดของหลวงพ่อ แต่ผลประโยชน์ของส่วนรวม เราจะได้แข็งแรงปลอดภัยกันทั่วๆ กัน

วันนี้บางคนเตรียมไม่ทันก็จะมาวัดครั้งต่อไป จะอยู่ข้างในหรืออยู่ข้างนอกก็ตาม ถ้าจะกินข้าวก็เอากล่องเอาช้อนมา เอากลับไปล้างที่บ้าน ไม่ต้องมาเบียดกัน เอาถุงขยะมาใบหนึ่ง ไม่ต้องถุงขยะอะไรหรอกก็ถุงที่ใส่กล่องเอาของเรามานั่นล่ะ ขยะที่เราผลิตขึ้นมา เศษอาหารเราก็รวบรวมกลับบ้านเราไป ก็จะเป็นการช่วยกัน ช่วยกันรักษาความปลอดภัยของส่วนรวม ช่วยกัน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
2 กรกฎาคม 2565