กายมีแต่ทุกข์ จิตมีแต่ภาระ

เมื่อกี้หลวงพ่อคุยกับพระองค์หนึ่ง ไม่ใช่พระในนี้ พระแถวนี้ บอกตอนนี้ภาวนา รู้สึกการภาวนามันง่ายๆ ได้ยินหลวงพ่อบอกมานานแล้ว มันง่าย แต่ที่ผ่านมารู้สึกมันยาก เบื้องต้นมันก็ยากก่อนล่ะ พอใจมันเข้าใจหลักแล้วก็ง่าย อย่างเราฟังครูบาอาจารย์สอน การปฏิบัติทำอย่างนี้ๆ มันเป็นความเข้าใจด้วยความคิดเอา เวลาลงมือทำจริงๆ มันชุลมุนวุ่นวายไปหมด ในใจมันจะคอยคิดว่าปฏิบัติอย่างไรถึงจะถูก จะทำอย่างไรดีถึงจะเจริญกว่านี้ ใจมันจะดิ้นอย่างนี้เหมือนกันหมด ธรรมดา จนวันหนึ่งค่อยๆ คลำไป ทำอย่างนี้ก็ผิดๆ ถึงจุดหนึ่งมันหยุดแล้ว หยุดความดิ้นรนก็ตื่นขึ้นมา รู้ ตื่น เบิกบาน

คราวนี้ก็มาถึงจุดที่ว่าไม่ต้องทำอะไร แค่เห็น เห็นอะไร เห็นธาตุเห็นขันธ์มันทำงาน เราไม่ได้ทำอะไร เห็นรูปมันทำงาน มันเคลื่อนไหว มันหายใจ มันเปลี่ยนอิริยาบถ จิตใจมันเป็นแค่คนรู้คนเห็น ไม่ได้ทำอะไร จะเห็นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายมันทำงานขึ้นมา จิตมันเป็นแค่คนรู้คนเห็น จิตไม่ได้ทำอะไร เห็นแต่ขันธ์มันทำงาน รูปมันทำงาน นามธรรมมันทำงาน จิตทำหน้าที่รู้เท่านั้นเอง เพราะโดยธรรมชาติของจิต จิตมันมีลักษณะก็คือรู้ เป็นตัวรับรู้

คราวนี้จิตของเรามันไม่สามารถเป็นตัวรับรู้ได้ มันปนเปื้อนด้วยความปรุงแต่งนานาชนิด ปรุงชั่วแย่ที่สุด ปรุงดีก็ดีขึ้นไปอีกหน่อย ปรุงความว่างๆ ก็ดูคล้ายๆ นิพพาน ว่างๆ แค่คล้ายๆ ไม่ใช่ของจริง ความปรุงแต่งมันถูกอวิชชาสร้างมันขึ้นมา ถ้าจิตมันไม่รู้แจ้งเห็นจริงในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จิตก็ยังไม่พ้นความปรุงแต่ง ปรุงโน้นปรุงนี้ไปเรื่อย ห้ามไม่ได้หรอก พอจิตมันปรุง วิญญาณมันก็หยั่งลง หยั่งลงในนามธรรม นามธรรมก็ปรากฏ หยั่งลงในรูปธรรม รูปธรรมก็ปรากฏ มีรูปมีนาม ก็มีจิต ก็สามารถกระทบอารมณ์ข้างนอกได้แล้ว ก่อนหน้านั้นมันกระทบอารมณ์อยู่ภายใน อวิชชามันอยู่ภายใน สังขาร ความปรุงอยู่ชั้นใน วิญญาณเกิดขึ้น แล้วหยั่งลงในรูปในนาม เกิดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา

พอมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คราวนี้ก็พร้อมจะมีผัสสะ ผัสสะคือการกระทบอารมณ์ ผัสสะมี 2 ชั้น ชั้นแรกมันเป็นการกระทบเฉยๆ กระทบตา มองเห็นรูป มีจิตไปรับรู้รูป มีองค์ประกอบ คือมีตา มีรูป มีจิตที่รับรู้รูป มีธรรม 3 ประการนี้ทำงานร่วมกัน ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าผัสสะขึ้นมา อย่างเรามีตา ก็มีรูป แต่จิตไม่เกิดขึ้นมารับรู้ทางตา ก็ไม่เห็นรูป มีตา อย่างคนนอนหลับ บางคนนอนแล้วลืมตาโพลง รูปมันก็มีอยู่ แสงสว่างอะไรก็มีอยู่ สีมันมีอยู่ แต่จิตมันไม่ขึ้นไปรับรู้รูปทางตา ก็ไม่มีผัสสะ มีตาไปอย่างนั้นล่ะ มีรูปไปอย่างนั้นล่ะ แต่ไม่มีจิตก็ไม่มีผัสสะ มีจิตแต่ไม่มีตา ก็ไปเห็นรูปไม่ได้ มีจิต มีตา แต่ไม่มีรูปปรากฏให้ดู มันก็เห็นไม่ได้ ฉะนั้นผัสสะเกิดจากองค์ธรรม 3 ตัวนี้ทำงานด้วยกัน คืออายตนะภายใน อายตนะภายนอก แล้วก็วิญญาณคือจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

พอมีผัสสะแล้ว สิ่งที่ตามมาคือเวทนา เบื้องต้นผัสสะ บอกเมื่อกี้ว่าผัสสะมันมี 2 ระดับ อันแรกตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบ กระทบเฉยๆ จิตยังไม่ได้ปรุงอะไร จิตรับรู้เฉยๆ อันนี้เป็นผัสสะ แล้วมันมีผัสสะครั้งที่สอง มันกระทบเข้าที่ใจ มีการตีความ มีการให้ค่า อย่างขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรสอะไรอย่างนี้ เป็นการกระทบเฉยๆ เวทนาที่เกิดขึ้นจะเป็นอุเบกขาเฉยๆ ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ขณะที่ตามองเห็น เสร็จแล้วมันมีการส่งสัญญาณเข้ามาที่ใจ มีการแปลความหมาย นี่คือรูปอย่างนี้ๆ คือมีการให้ค่าขึ้นมา คราวนี้จิตมันจะเริ่มทำงาน มันกระทบเข้าที่จิต อย่างตาเห็นรูป เวทนาที่เกิดทางตาก็เป็นอุเบกขา แต่พอมันแปลความหมายของรูปที่เห็นแล้ว มันเกิดเวทนาทางใจขึ้นมาอีก มันกระทบอีกรอบหนึ่ง จิตมันทำงานขึ้นมา

 

จะวางได้ต้องเห็นทุกข์เห็นโทษ

ค่อยรู้ค่อยดู ก็จะเห็นพอมีผัสสะก็เกิดเวทนา มีการแปลความหมายออกมา เกิดเป็นกุศล อกุศลปรุงแต่งดิ้นรนขึ้นมา ตัวนั้นเป็นตัวภพแล้ว ก็มีชาติ การที่จิตมันเข้าไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา มันไปตะครุบเอามา ถ้ามันไม่ไปหยิบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา ทุกข์ทางใจยังไม่มี ที่เรามีความทุกข์ทางใจเพราะมีชาติ คือการที่จิตมันไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหยิบฉวยจิตขึ้นมา การหยิบฉวยรูป เสียง กลิ่น รสอะไรอย่างนี้ ของข้างนอกวางง่าย การหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กายก็วางไม่ยาก แต่จะวางการหยิบฉวยจิต การหยิบฉวยใจยากที่สุดเลย

ทำไมมันถึงจะสามารถวางอารมณ์ภายนอก อายตนะภายนอกได้ ก็ต้องเห็นทุกข์เห็นโทษของอายตนะภายนอก ทำอย่างไรมันจะวางอายตนะภายในได้ ก็ต้องเห็นทุกข์เห็นโทษของอายตนะภายใน ทำอย่างไรมันจะวางจิตได้ ก็ต้องเห็นทุกข์เห็นโทษของจิต 3 ประการนี้มันยากง่ายต่างกัน วางของข้างนอกง่ายกว่า อย่างเราจะวางตาเรา วางยากกว่า มันหวง เห็นรูป ไม่ดูก็ได้ ไปดูอันอื่นแทน วางง่าย แต่ถ้าตาจะบอด เราไม่เศร้าโศกเสียใจ ไม่ใช่ง่าย ต้องระดับพระอนาคามี มันถึงจะวางกายได้ วางตา หู จมูก ลิ้น กาย

ส่วนการวางจิตนั้นยากที่สุด ต้องระดับอรหัตมรรคเกิดขึ้น มันถึงจะวางตัวจิตลงได้ แต่บอกแล้วที่มันวางอายตนะข้างนอกได้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลายได้ เพราะมันเห็นทุกข์เห็นโทษของสิ่งเหล่านั้น ที่มันวางตา หู จมูก ลิ้น กายได้ เพราะมันเห็นทุกข์ เห็นโทษของกาย ที่มันวางจิต วางวิญญาณ วางใจ จิต วิญญาณ ใจ อันเดียวกัน เวลาทำงานแต่ละอย่างแตกต่าง ก็เรียกชื่อต่างๆ กันไป จะวางจิตได้ก็ต้องเห็นทุกข์เห็นโทษของจิต

ทุกข์โทษของข้างนอกดูไม่ยาก อย่างเราเห็นโลกข้างนอกใช่ไหม ทรัพย์สินเงินทองอะไรนี่ มันของไม่ยั่งยืน แปรปรวน สมบัติของโลก สมบัติผลัดกันชมอะไรอย่างนี้ ใจมันยอมวางไม่ยากเท่าไร จะวางกายของเราเองยากขึ้นมาอีก วางจิตยากที่สุด แตกหักกันลงก็ลงที่วางจิตได้นั่นล่ะ วางแล้วก็ต้องไม่หยิบฉวยขึ้นมาอีก พระอริยเจ้าวางภาระลงแล้ว แล้วก็ไม่หยิบฉวยภาระขึ้นมาอีก สิ่งที่เป็นภาระก็คือตัวขันธ์นั่นเอง ตัวที่วางยากที่สุด เป็นภาระที่สุดคือจิตนั่นเอง

ทุกวันนี้เราก็อยากให้จิตใจเรามีความสุข อยากให้ใจเราไม่ทุกข์ ที่ไปดูหนัง ไปฟังเพลง ไปจีบสาว ไปหาสมบัติมามากมายเลย หวังจะสบายใจ คิดว่าได้สมบัติมากมายมาแล้วจะสบายใจ พอมีปัญญาเกิดขึ้นมันก็รู้ มีสมบัติอะไรมา มันก็มีภาระติดเข้ามาด้วย มีบ้านก็มีภาระ ต้องดูแลบ้าน มีรถก็มีภาระต้องดูแลรถ มีลูกก็มีภาระต้องดูแลลูก มีเมีย มีสามีก็ต้องมีภาระขึ้นมา ของภายนอกทั้งหลายแหล่ที่มนุษย์ทั้งหลายแสวงหา อยากได้มา เราเจริญสติ เจริญปัญญา เราจะรู้เลยทุกสิ่งที่ได้มา มันพ่วงภาระเข้ามาด้วย มันไม่ได้มาฟรีๆ มันเจือความทุกข์มาด้วย สุขของโลกมันเป็นสุขที่เจือทุกข์ พอมันมีปัญญาอย่างนี้ มันก็จะคลายความหิวโหยในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรทั้งหลายแหล่ข้างนอก มายินดีพอใจในความสุขความสงบอยู่ภายใน เพราะฉะนั้นเราเห็นทุกข์เห็นโทษ อย่างมีบ้านก็ทุกข์เพราะบ้าน มีรถก็ทุกข์เพราะรถ มีอะไรก็ทุกข์เพราะอันนั้น ก็วางของข้างนอกได้

 

ภาระในกายเรามีตั้งแต่หัวถึงเท้า

พอมาถึงร่างกาย เราจะพบ พิจารณาลงไป มีจิตตั้งมั่นแล้วลองดูลงในกาย มีกายแล้วมีภาระไหม ภาระในกายเรามีตั้งแต่หัวถึงเท้า มีผม ต้องดูแลไหม ถ้าไม่ดูแลก็เหม็นสาบอย่างกับขนหมา เป็นหมาขี้เรื้อนด้วย เหม็น มีผมที่สวยงาม ต้องไปสระไปเซ็ต ไปทำทรงนั้นทรงนี้ มีภาระมากมาย คนก็ผลิตอุปกรณ์วัสดุอะไรนี่ สินค้าอะไรที่เกี่ยวกับผมมีตั้งเยอะแยะ ยกตัวอย่างมีอะไรบ้างเกี่ยวกับผม ไม่เฉพาะแชมพู ครีมนวดอะไรหรอก มีอะไร สีต่างๆ เอาไว้โกรก ต้องมีหวี มีไดร์เป่าผม นี่อยู่บนหัวเราเยอะแยะเลย มีเจลใส่อีก ภาระเยอะ ทำมาตั้งแต่เด็ก เป็นหนุ่มเป็นสาวก็แต่งผมมาเรื่อยๆ ไม่รู้สึกหรอกว่าเป็นภาระ แต่ถ้าสติปัญญาเราแหลมคม แค่ผมก็ภาระเยอะแยะแล้ว

อย่างเมื่อก่อนเดือนหนึ่งต้องตัดผม ผู้ชายไม่ได้ตัดผมแบบผู้หญิง ต้องเซ็ตเรื่อยๆ มิฉะนั้นเดี๋ยวไม่สวย อย่างหลวงพ่อแต่ก่อนตัดผมเดือนละครั้ง หูย เบื่อที่สุดเลย พยายามบอกมันตัดให้สั้นๆ หน่อย ผมยาวๆ รุงรังน่ารำคาญ นี่แค่ผมก็ภาระเยอะแยะแล้ว ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ดูสิ ภาระทั้งนั้น ของที่พวกเราให้ความสำคัญมากคือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ของอื่นๆ ยังเป็นรอง

เพราะฉะนั้นกรรมฐานที่สำคัญคือเรื่องผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เวลาจะบวชพระ อุปัชฌาย์จะต้องสอนเรื่องผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันเป็นสิ่งที่สร้างภาระมากที่สุดเลย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เพราะมันเป็นสิ่งที่เอาไว้โชว์คนอื่นให้ดูดี ขี้ฟันเขรอะเลย เป็นสาว เป็นนางงามจักรวาล แต่ขี้ฟันหนาอย่างนี้ ไหวไหม ไม่ไหว ดูไม่ไหวเลย ทุกวันนี้ก็มีเรื่องของฟัน ก็มีภาระเยอะแยะ ฟันจะต้องสีอย่างนั้นอย่างนี้ บางคนติดเพชรติดพลอย ถ้าไม่ทำอะไรมากก็ต้องไปขูดหินปูน ต้องไปอุดฟันอะไรอย่างนี้ ฟันไม่สวยต้องไปจัดฟัน ภาระเยอะแยะเลยเกี่ยวกับฟัน ต้องแปรงฟัน ถ้าไม่แปรงฟันก็ไม่ไหว สินค้าที่เกี่ยวกับฟันก็มีเยอะแยะไปหมดเลย

เราเอาผม ขน เล็บ ฟัน หนังไว้หลอกตัวเองให้เห็นว่าเราสวย แล้วเอาไว้หลอกคนอื่นให้เห็นว่าเราสวยเราหล่อ ที่จริงมันของหลอก ร่างกายเรา ถ้าเราถอนเอาผมออกไป หัวเหน่งๆ น่าเกลียด ลองนึกถึงภาพตัวเอง กำหนดจิตดึงผมออกไปให้หมดเลย เอามือกระชากๆ ออกไป ไม่ต้องกระชากจริง เดี๋ยวหัวล้านแล้วจะมาว่าหลวงพ่อ เราทำด้วยจิต เรากำหนดลงไป ส่วนกำหนดแล้วผมมันจะร่วงหมดหัวเลย ก็แล้วแต่เวรแต่กรรม อันนั้นช่วยไม่ได้ คิดดูสิ คนเรามันสวยอยู่ที่ไหน มันสวยอยู่ที่แค่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเท่านั้นเอง ข้างในเต็มไปด้วยของสกปรก มันของไม่ดีไม่สะอาด

พอเราเห็นอย่างนี้มากๆ ใจมันเริ่มเอียน เริ่มเบื่อหน่ายในร่างกาย มีร่างกาย มันก็มีภาระ มีผมก็มีภาระ มีขนก็มีภาระ อย่างต้องโกนหนวดโกนเครา โกนขนรักแร้ โกนขนหน้าแข้ง เดี๋ยวนี้ก็มีการผลิตสินค้าใช่ไหม มีบริการ บริการถอนขนอะไรอย่างนี้ ใช้เลเซอร์อะไรอย่างนี้ อุปกรณ์หรือสิ่งอะไรที่จะปรนเปรอผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็เต็มไปหมดเลย ทำไมเราต้องไปดูแลมันให้ดี ก็เพื่อให้ตัวเองดูดี ให้คนอื่นเขาเห็นว่าเราดี ลองไปดู อย่างผิวหนังสวยจริงไหม ผิวหนังมีรูพรุนๆ อยู่ทั้งตัวเลย ผิวหนังมีของโสโครกไหลออกมาตลอดเวลา สวยแค่ไหน ไม่อาบน้ำสัก 2 – 3 วัน ก็ไม่มีใครเขาเข้าใกล้แล้ว เหงื่อไคลสกปรกโสโครก เป็นขี้กลากขี้เกลื้อนอะไรขึ้นมา ไม่ได้สวยไม่ได้งาม

ถ้าเราดูลงไป เราก็จะเห็นร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก มีร่างกายก็มีภาระอันมากมายเกิดขึ้น ใจมันก็จะค่อยๆ คลายความรัก ความหวงแหนในร่างกายออกไป สุดท้ายมันก็รู้สึกร่างกาย มันแค่ของอาศัย แล้ววันหนึ่งก็แตกสลายไป ระหว่างที่ยังไม่แตกสลายก็เป็นภาระวุ่นวายไม่เลิก พอเห็นอย่างนี้มันจะค่อยคลายความยึดถือในร่างกายออกไป

 

“ละด้วยกำลังฌาน เป็นของกลับกลอก
แต่ละด้วยการเจริญวิปัสสนา เห็นกายอย่างที่กายเป็นไปด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง
ถึงจุดหนึ่งมันรู้ความจริง กายไม่ใช่ของดีของวิเศษ จิตมันจะวาง”

 

เราก็ภาวนาไปเรื่อยๆ พอจิตมันวางกายได้แล้ว มันจะรู้เลย กายก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง แต่ตรงที่เห็นกายอันหนึ่ง จิตอันหนึ่ง บางทีก็วางไม่ได้ อย่างเราเข้าสมาธิ เข้าไปถึงอรูปฌาน ร่างกายหายหมดเลย โลกธาตุก็ไม่มี เหลือแต่จิต เหลือจิตสว่างไสวอยู่ พอกลับมามีร่างกายปุ๊บ มันจะรู้เลยร่างกายกับจิตคนละอันกัน ร่างกายนี้เป็นภาระมากมาย ใจจะค่อยๆ เบื่อหน่ายในร่างกาย แต่มันเบื่อหน่ายไม่ใช่ด้วยปัญญาธรรมดาหรอก มันเบื่อหน่ายด้วยกำลังฌาน ถ้ากำลังของฌานมันตกไป กามราคะมันก็เกิดขึ้นมาอีก มันยังดับไม่ได้จริงด้วยการเข้าฌาน แต่มันจะวางกายได้ด้วยปัญญา มีจิตตั้งมั่น สติระลึกรู้ลงในกาย เห็นมันเป็นของไม่สวยไม่งาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไป ระลึกไปทีละส่วนๆ ก็ได้

พอชำนิชำนาญแล้ว ดูทีเดียวทั้งตัวเลยก็ได้ จะเห็นมันไม่ใช่ของดีของวิเศษ ไม่สวยไม่งาม เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้ถึงจุดหนึ่งจิตมันก็จะสลัดกายทิ้งเลย คราวนี้วางด้วยปัญญาอย่างแท้จริงแล้ว ไม่เหมือนวางด้วยฌาน มันเข้าฌานไป เข้าถึงอรูป วางกาย ไม่มีกาย พอกลับมามีกาย ทีแรกก็จะเห็นกายไม่ใช่ของดีอะไรหรอก เป็นภาระเป็นทุกข์ อยู่ไปๆ ก็เริ่มหลง เริ่มรักขึ้นมาอีกแล้ว กลับกลอก ยังกลับกลอกได้ ละด้วยกำลังฌาน เป็นของกลับกลอก แต่ละด้วยการเจริญวิปัสสนา เห็นกายอย่างที่กายเป็นไปด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง ถึงจุดหนึ่งมันรู้ความจริง กายไม่ใช่ของดีของวิเศษ จิตมันจะวาง

อย่างบางคนภาวนา ดูกายมันทำงานไปเรื่อยๆ ยืน เดิน นั่ง นอน หายใจออก หายใจเข้า รู้สึกไปเรื่อยๆ เวลามันเหน็ดเหนื่อย มันทำงานหนัก มีภาระเยอะ ทำงานหนัก ใช้ร่างกายเยอะ เหนื่อย ลงไปนอนอย่างนี้ นอนๆ อยู่ก็เห็น โอ้ ร่างกายนี้มันมีแต่ทุกข์ มันเป็นของบังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริงเลย ดูไปๆ จิตรวมปึ๊บ มันสลัดกายทิ้งเลย อย่างนั้นก็มี วางของมันเองแล้ว คราวนี้มันไม่หยิบอีกแล้ว ถ้ามันวางด้วยโลกุตตรปัญญาอย่างนั้น มันเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ไม่ได้เห็นอย่างอื่นหรอก เห็นจนมันพอ มันจะสลัดทิ้ง

 

จิตนี้คือตัวทุกข์ล้วนๆ

คราวนี้การภาวนามันก็เหลือแต่จิตนั่นล่ะ เพราะโลกข้างนอกมันก็ไม่ยึดถือแล้ว กายนี้มันก็ไม่ยึดถือแล้ว เพราะมันเป็นของไม่ดี ก็เหลือแต่จิต ตรงที่จะเห็นจิตเป็นภาระเป็นทุกข์เป็นโทษ ดูยาก ต้องค่อยๆ ภาวนาไป ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ สังเกตไป เราจะรู้เลยจิตทำงานหนักกว่ากาย แต่เดิมเราคิดว่าจิตไม่ต้องทำอะไร จะทำอะไร กายเป็นคนทำทั้งนั้นเลย แต่พอภาวนาไปๆ หูย จิตนี่ภาระเยอะจริงๆ กายเหนื่อย กายยังไปนอนหลับได้ จิตเหนื่อยก็ยังฟุ้งได้อีก ไม่เคยได้พักเลย จิตของคนที่ไม่ได้ฝึกเป็นจิตที่เหนื่อยที่สุดเลย เพราะมันไม่เคยพักเลย มันดิ้นรน มันปรุงแต่ง หาความสงบ หาความสุขอะไรไม่ได้จริงเลย หรืออย่างมากก็ไปแต่งความสุขความสงบขึ้นมาด้วยกำลังของฌาน ซึ่งก็เป็นภาระอีกล่ะ จะทำฌานก็เป็นภาระ แล้วอยู่ได้ชั่วคราว ฌานก็เสื่อมอีกแล้ว ที่ทำไว้ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา สูญไปหมดอีกแล้ว

จะให้เห็นว่าจิตเป็นภาระ จิตเป็นทุกข์ ต้องเฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อยๆ รู้จิตนี้เป็นตัวภาระหนักเลย จิตไม่เคยหยุดคิด คิดทั้งวันเลย เดี๋ยวจิตก็ไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ จิตทำงานหมุนติ้วๆๆ อยู่รอบตัวเลยตลอดเวลา ร่างกายมันก็อยู่ตรงนี้ล่ะ แต่จิตเดี๋ยวก็ไปอดีต เดี๋ยวก็ไปอนาคตได้ กายยังอยู่ตรงนี้ จิตไปอเมริกาก็ได้ มันทำงานหนักตลอดเวลาเลย มันไม่เคยได้พักจริง จะพักด้วยการเข้าฌาน มันก็คือการทำงานอีกแบบหนึ่ง ก็คือความปรุงแต่งอีกแบบหนึ่ง มันก็ทุกข์ของมันอีก ต้องค่อยรู้ค่อยดูไป จิตนี้ไม่ใช่ของดีเลย จิตนี้คือตัวทุกข์ล้วนๆ เลย

พอมันล้างความเห็นผิด แต่เดิมมันเห็นว่าจิตนี้เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ตอนไหนจิตได้กระทบอารมณ์ดีๆ ก็มีความสุข กระทบอารมณ์ไม่ดีก็มีความทุกข์ ภาวนาเข้าจริงๆ ค่อยเห็นเลย จิตนี้มีแต่ภาระ จิตนี้มีแต่ความทุกข์ อย่างแสวงหาความสุข อยากได้ความสุข เหนื่อยแทบตายเลย ได้ความสุขมา ความสุขอยู่แวบเดียว ความสุขหายไปอีกแล้ว เกิดแล้วดับอย่างรวดเร็วเลย จะต้องดิ้นหาความสุขไปถึงเมื่อไร มีแต่ภาระ ที่ดิ้นรนอยากให้จิตมีความสุข อยากให้จิตไม่ทุกข์ ต้องดิ้นรนเป็นภาระมากมาย เป็นทุกข์มากมาย กระทั่งมานั่งทำกรรมฐานก็เป็นภาระ แทนที่เราจะสามารถรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตตั้งมั่น เป็นกลาง เราก็พยายามเข้าไปแทรกแซง ก็เป็นภาระขึ้นมาอีก ทำกรรมฐานก็มีภาระ

 

“จิตทำงานหนักตลอดเวลาเลย มันไม่เคยได้พักจริง
จะพักด้วยการเข้าฌาน มันก็คือการทำงานอีกแบบหนึ่ง
ก็คือความปรุงแต่งอีกแบบหนึ่ง มันก็ทุกข์ของมันอีก”

 

บางคนก็สร้างภาระอะไรขึ้นมามากมาย เช่น ก่อนจะเจริญสติต้องสวดคาถาอันนี้ก่อน ต้องจุดธูปเท่านี้ ต้องจุดเทียนเท่านี้ ต้องอาราธนาอันโน้น อาราธนาอันนี้ โอย ภาระเยอะเหลือเกิน อันนั้นของรุงรัง เอาไว้หลอกเด็ก ถ้าไม่ใช่เด็ก ถูกหลอก จะปฏิบัติก็ดูมันเข้าไปตรงๆ เลย ไม่เห็นจะมีอะไรเลย ของง่ายๆ ไปทำเสียซับซ้อนเอง

เราเฝ้ารู้ อย่างเราภาวนา วางกายไว้ เฝ้ารู้จิตใจของเราไป จิตนี้เดี๋ยวก็สุข จิตนี้เดี๋ยวก็ทุกข์ จิตนี้เดี๋ยวก็ดี จิตนี้เดี๋ยวก็ชั่ว เดี๋ยวโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง เดี๋ยวฟุ้งซ่าน เดี๋ยวหดหู่ เฝ้ารู้ลงไปเรื่อยๆ มันจะเห็นเลยจิตนี้ไม่ใช่ของดี อารมณ์สุขที่เราแสวงหาก็ไม่ยั่งยืน อารมณ์ทุกข์ที่เราเกลียดชัง เราก็ห้ามมันไม่ได้ มันจะมา ใจเราจะทุกข์ก็ห้ามมันไม่ได้ กุศล พยายามฝึก มีกุศลขึ้นมา กุศลก็อยู่ชั่วคราว อกุศลพยายามห้ามมัน มันก็เกิดบ่อยๆ เฝ้ารู้เฝ้าดูก็จะรู้ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับจิตเป็นภาระทั้งสิ้น เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นของควบคุมบังคับไม่ได้

ถ้าเราดูจิตดูใจเราก็จะเห็น ความรู้สึกทุกชนิดที่เกิดขึ้นกับจิต จะสุขหรือทุกข์ จะดีหรือชั่ว ก็เป็นภาระกับจิตทั้งสิ้น เป็นภาระในการแสวงหาอารมณ์ที่ดี เป็นภาระในการผลักไสอารมณ์ที่ไม่ดี เป็นภาระในการรักษาอารมณ์ที่ดีอะไรอย่างนี้ มันมีภาระเกิดขึ้นทั้งหมดเลย ถ้าจิตมันไปหลงในความรู้สึกทั้งหลาย สุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลาย ก็เป็นภาระของจิต เห็นแล้วก็วางได้ หูย มีแต่ภาระ ทีนี้จิตมันไม่ใช่แค่รู้อารมณ์ ไม่ใช่แค่เสพอารมณ์ ก่อนจะเสพอารมณ์ มันออกไปรับอารมณ์ก่อน คือมันมีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ออกไปรับอารมณ์ก่อน แล้วมันถึงมาเสพอารมณ์ เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว

ฉะนั้นเวลาเราดูจิต มันดูได้ 2 ระดับ ระดับง่ายๆ เลย เราดูไป จิตสุข จิตทุกข์ เราก็รู้ จิตดี จิตชั่ว เราก็รู้เอา จะเห็นมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ใช่ของดีของวิเศษ ความสุขก็เป็นภาระ ความทุกข์ก็เป็นภาระ เฉยๆ ก็เป็นภาระ ดีก็เป็นภาระ ชั่วก็เป็นภาระ เฝ้ารู้เฝ้าดู ใจมันก็ฉลาดขึ้น ค่อยๆ คลายความยึดถือในความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย แล้วมันจะบีบตัวรวบเข้ามา เข้ามาที่ตัวผู้รู้จริงๆ เลยคราวนี้ เราจะพบว่าตัวผู้รู้เองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เดี๋ยวก็มีพฤติกรรมต่างๆ เกิดขึ้นนอกเหนือจากการรู้ เดี๋ยวก็ไปดูรูป เดี๋ยวก็ไปฟังเสียง เดี๋ยวก็ไปดมกลิ่น เดี๋ยวไปลิ้มรส เดี๋ยวไปรู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวไปคิดนึกทางใจ สารพัดจะทำงาน เราเห็นการทำงานของมัน

ฉะนั้นการดูจิตๆ ที่พูดว่าดูจิตๆ ดูได้ 2 อย่าง อย่างง่ายก็คือดูความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นกับจิต สุข ทุกข์ ดี ชั่วเกิดแล้วรู้ไป อีกอันหนึ่งรู้พฤติกรรมของจิต จิตมีพฤติกรรมวิ่งไปดูรูป รู้ทัน ไปฟังเสียง รู้ทัน ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ หรือมันเป็นผู้รู้ขึ้นมา เป็นผู้รู้ขึ้นมา ไม่ใช่ผู้ร่อนเร่โคจรไปทางอายตนะทั้ง 6 แต่ว่าเป็นผู้รู้ขึ้นมา ก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง เราจะเห็นจิตที่มันทำงานต่างๆ นานา หมุนไปเรื่อยๆ เกิดดับ หมุนเวียน เปลี่ยนแปลง ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้

 

 

จิตมันทำงานได้ 14 แบบ จิตทำงานได้ 14 แบบ เราไม่ต้องเรียนทั้งหมด เราเรียนเท่าที่เราเห็นของเราเองนี่ล่ะ อย่างง่ายๆ เดี๋ยวมันก็รู้ตัวขึ้นมา เดี๋ยวมันก็หลงไปคิด หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย รู้อยู่อย่างนี้ แค่นี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องรู้ถึงทั้งหมด 14 อย่างหรอก ค่อยภาวนาแล้วมันเห็นเองล่ะ ไม่ใช่ของยากหรอก ที่เขาไปเรียนอภิธรรม ท่องกันแทบเป็นแทบตาย เราไม่ต้องเรียนอย่างนั้นหรอก เราดูของจริงไป เราเห็นอย่างที่เขาท่องนั่นล่ะ เพียงแต่เราไม่รู้จักชื่อเท่านั้นเอง แต่ว่าสภาวะทั้งหลาย มันจะเห็นด้วยตัวเราเอง

ถ้าเห็นด้วยตัวเอง มันแจ่มแจ้ง ประทับอยู่ในจิตใจ ไม่ลืม ไม่เหมือนการท่องตำรา ท่องตำราความจำมันอยู่ที่สมอง ไม่ได้อยู่ที่จิต สมองเสื่อมเมื่อไรก็ลืมหมด หรือไม่สนใจ สักพักเดียวก็ลืมหมด แต่ถ้าสภาวะใด ปรากฏการณ์ใดมันกระทบเข้าที่จิต มันประทับลงที่จิตแล้ว มันจำข้ามภพข้ามชาติได้ เวลาเราตายไป อย่างเราเคยฝึกจนจิตเป็นผู้รู้ แล้วเดี๋ยวก็เป็นผู้หลง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ ฝึกได้อย่างนี้ ชาติต่อไปเกิดมาใหม่ ไม่รู้จักธรรมะอะไรสักข้อเดียวเลย อาจจะมีอะไรที่ทำให้เราตกใจขึ้นมา เช่น ไฟไหม้ใกล้ๆ บ้าน หรือเขายิงปืนใหญ่ตูมขึ้นมาใกล้ๆ เรา ไม่ทันระวัง ตกใจ พอตกใจปุ๊บ แทนที่จะเตลิดเปิดเปิง ตัวรู้มันจะผุดขึ้นมาเองเลย ตัวรู้มันผุดขึ้นมาเอง เพราะชาติก่อนๆ มันเคยสะสมมาแล้ว มันไม่ได้อยู่ที่สมอง แต่มันอยู่ที่จิต นี่เป็นวิบากฝ่ายดีที่จิตมันสะสมไว้

หรือบางคนก็สะสมวิบากฝ่ายชั่วเยอะ เห็นไหม อย่างทำไมเราโกรธง่ายๆ นั่นก็โกรธ นี่ก็โกรธ ทั้งๆ ที่ชาตินี้มีแต่คนเอาใจ ก็ยังหงุดหงิดไปทุกสิ่งทุกอย่าง หงุดหงิดกระทั่งหมากับแมว อากาศร้อน อากาศเย็นอะไร หงุดหงิดหมดเลย ก็เพราะมันสะสมสันดานเอาไว้ ข้ามภพข้ามชาติมา ขี้โมโห มันสะสมลงที่จิต จิตก็เหมือนคลังเก็บข้อมูลอันมหาศาลเลย แต่ต้องเป็นข้อมูลที่แรง มันก็ประทับลงที่จิต ถ้าข้อมูลปกติ ก็เข้าสมองไป เดี๋ยวก็เสื่อม

ฉะนั้นอย่างถ้าเราภาวนา ถ้าเราเคยได้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้แล้ว ไม่ยากที่ผู้รู้จะเกิด แต่ถ้ายังไม่เคยมี ก็ยากเหมือนกันล่ะที่จะได้ผู้รู้ขึ้นมา ต้องฝึก ของฟรีไม่มี คนที่เขาได้ง่าย เพราะเขาเคยฝึกมาแล้ว คนซึ่งไม่เคยฝึก มันก็ยากหน่อย ฉะนั้นท่านเลยจำแนกผู้ปฏิบัติไว้ 4 จำพวก พวกหนึ่งปฏิบัติยาก บรรลุช้า พวกหนึ่งปฏิบัติยากแต่บรรลุเร็ว พวกหนึ่งปฏิบัติง่ายๆ บรรลุเร็วด้วย บางคนปฏิบัติง่ายๆ แต่บรรลุช้า ปฏิบัติยากหรือง่ายขึ้นกับดีกรีของกิเลส

 

บรรลุเร็วหรือช้า ปฏิบัติยากหรือง่าย

ถ้าเราสะสมกิเลสมาแรง สะสมไว้เยอะ เวลาภาวนา ลำบาก นั่งภาวนา เดี๋ยวก็โมโหขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวก็หงุดหงิดขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็เบลอ เคลิ้มไปอีกแล้ว เพราะเราสะสมวิบากไม่ดีมา ก็จะทำให้ภาวนายาก แต่ถ้าเราสะสมวิบากที่ดีมา อย่างที่ว่าเคยได้ผู้รู้แล้ว มันก็ได้ง่าย เคยได้ฌานมาแต่ชาติก่อนๆ ชาตินี้มาฝึกนิดเดียว มันก็กลับมาแล้ว เพราะฉะนั้นบางคนปฏิบัติง่าย บางคนปฏิบัติยาก ขึ้นอยู่กับกุศลอกุศลที่เราสะสมมา

แต่บางคนบรรลุเร็ว บางคนบรรลุช้า อันนี้ขึ้นอยู่กับตัวบารมี อินทรีย์ของเรา อินทรีย์แก่กล้าก็บรรลุเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปัญญินทรีย์แก่กล้า ถ้าปัญญาแก่กล้าจะไปได้เร็ว อย่างพวกพระอนาคามีที่ได้ฌาน 4 แล้วก็มีอินทรีย์แก่กล้าตัวใดตัวหนึ่งใน 5 ตัว ก็ไปเกิดในสุทธาวาส เราได้ยินว่าพระอนาคามีไปสุทธาวาส ไม่ใช่ทุกองค์ไปสุทธาวาส พระอนาคามีส่วนใหญ่ไปไม่ถึงสุทธาวาสหรอก ไปเป็นพรหมชั้นต้นๆ นี่ล่ะ เป็นพรหมปาริสัชชา ปุโรหิตา มหาพรหมาอะไรนี่ เป็นลำดับๆ ที่จะขึ้นถึงสุทธาวาส ต้องได้ฌาน 4 แต่ถ้าไม่ได้ ก็ไม่ถึง แล้วต้องมีอินทรีย์ที่แก่กล้า เช่น ศรัทธาแก่กล้า วิริยะแก่กล้า สติแก่กล้า สมาธิแก่กล้า ปัญญาแก่กล้า เพราะฉะนั้นสุทธาวาสเลยมี 5 ชั้น พวกศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา 5 อย่าง

พวกที่มีปัญญาแก่กล้า พอเกิดในสุทธาวาสปุ๊บ สะดุ้งใจขึ้นมา เอ้า นึกว่าจบแล้วตอนเป็นคนอยู่ นึกว่าภาวนาจบแล้ว พอขึ้นไป เฮ้ย นี่มันยังเกิดอีก มันพลาดตรงไหน ย้อนดูนิดเดียวเข้าใจแล้ว ฉะนั้นพวกที่เขาปัญญาแก่กล้า เขาจะหลุดไปอย่างรวดเร็วเลย ถ้าพวกศรัทธาแก่กล้าดูกันนาน ทำไมมาอยู่ตรงนี้ได้ ดูกันนาน จนใกล้ๆ จะตายแล้วถึงจะยอมวาง จะปฏิบัติได้เร็วหรือได้ช้า ก็อยู่ที่ว่าอินทรีย์เราแก่กล้าไหม ถ้าไม่แก่กล้าก็ช้าหน่อย ถ้าอินทรีย์เราแก่กล้าก็เร็วหน่อย โดยเฉพาะถ้าปัญญินทรีย์แก่กล้า ปัญญาแก่กล้าจะไปได้เร็ว

อย่างพระพุทธเจ้าใช่ไหม มี 3 จำพวก พระพุทธเจ้าของเรา ท่านเป็นปัญญาธิกะ ท่านใช้เวลาบำเพ็ญบารมีไม่นาน อย่างเทียบกับพระเมตไตรย เป็นวิริยาธิกะ พระเมตไตรยใช้เวลามหาศาล พระพุทธเจ้าเราใช้เวลาหนึ่งในสี่ของพระเมตไตรย เร็วกว่าเพราะว่าปัญญินทรีย์ ท่านเดินด้วยปัญญา ฉะนั้นทุกอย่างนี้สรุปก็คือมันอยู่ในกฎแห่งกรรมทั้งสิ้น ถ้ากิเลสเราแรง เวลามาภาวนามันก็ลำบาก ถ้ากิเลสเราเบาบาง เวลามาภาวนาก็ง่าย ถ้ากุศลเราแรง หรืออินทรีย์เราแก่กล้า มันก็ได้ผลเร็ว ถ้ากุศลไม่แรง กุศลอ่อน อินทรีย์ก็ไม่แก่กล้าอะไรพวกนี้ ก็ได้ผลช้า ยุติธรรมๆ ทั้งหมด ของฟรีไม่มี บอกแล้ว

ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไปเป็นลำดับๆ ไป ค่อยสังเกตเอา เบื้องต้นก็ดูไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารู้ที่เราเห็นมีแต่ความเสื่อมไป หมดไป สิ้นไปทุกอย่าง อย่างหลวงพ่อเกิดกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ที่หลวงพ่อรู้จักหมดไปสิ้นไปแล้ว กรุงเทพฯ ทุกวันนี้เป็นสิ่งที่หลวงพ่อไม่รู้จักแล้ว หรือกรุงเทพฯ สมัยที่หลวงพ่อเป็นเด็กอยู่ มันก็เป็นกรุงเทพฯ ในยุคโน้น คนสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่รู้จักหรอก กรุงเทพฯ ในยุครัชกาลที่ 9 อะไรอย่างนี้ มาถึงยุคนี้กรุงเทพฯ เป็นอย่างไร หลวงพ่อไม่เข้าใจ ไม่รู้จักมันแล้ว

โลกข้างนอกมีแต่เรื่องไม่แน่นอน มีแต่ความแปรปรวน มีแต่ของไม่มีสาระแก่นสาร ใจมันก็วางๆ ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ของไม่ยั่งยืน มาดูลงในกาย กายก็มีแต่ภาระ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกอะไร มีแต่ภาระ ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร ใจมันก็วาง มาถึงจิต ก็เห็นจิตก็มีแต่ภาระ ต้องแบกรับความทุกข์ ต้องดิ้นรนหาความสุขอะไรต่ออะไร เยอะแยะ วุ่นวาย เป็นภาระ แล้วภาวนาถึงจุดหนึ่ง จะเห็น แค่จิตรับรู้อารมณ์ก็เป็นภาระเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าอารมณ์ดีหรืออารมณ์ร้าย แค่จิตรับรู้อารมณ์ ความทุกข์ก็เกิดแล้ว เพราะฉะนั้นตัวจิตมันคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ฉะนั้นตัวจิตมันคือตัวทุกข์โดยตัวของมันเองอยู่แล้ว ถ้าเราภาวนา เราจะรู้เลย จิตทำงานขึ้นมาทีไร ก็ภาระเกิดขึ้นทุกทีเลย จิตรู้อะไรขึ้นมาก็มีแต่ภาระของจิตทั้งสิ้นเลย ถ้าเห็นตรงนี้ มันจะรู้เลยจิตนี้ไม่ใช่ของวิเศษแล้ว จิตนี้คือตัวทุกข์

ค่อยฝึก แล้วจะค่อยเห็นเป็นลำดับๆ ไป เบื้องต้นก็ยาก แต่ฝึกไปไม่เลิกวันหนึ่งมันก็ง่าย เหมือนเราหัดขี่จักรยาน หัดทีแรกมันก็ยาก พอหัดเป็นแล้วมันก็ง่าย หรือหัดว่ายน้ำใช่ไหม หัดว่ายน้ำทีแรกมันก็สำลักอยู่นั่นล่ะ จมแล้วจมอีก พอว่ายเป็นแล้ว นอนเฉยๆ อยู่ในน้ำไม่เห็นจะจมเลย ไม่ว่าอะไรก็เหมือนกัน อะไรที่ยังไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ไม่เคยสัมผัส ยากทั้งนั้นล่ะ อะไรที่เคยรู้เคยเห็น เคยสัมผัส เคยผ่านมาแล้ว ไม่ยากหรอก การภาวนาเบื้องต้นก็รู้สึกยาก อดทนไว้ ฝึกไปเรื่อยๆ ค่อยๆ สังเกตเอา อันไหนถูกอันไหนผิด ตรงที่เราเข้าไปแทรกแซงสภาวะทั้งหลาย อันนั้นล่ะไม่ถูกล่ะ ตรงที่เรารู้สภาวะทั้งหลายอย่างที่มันเป็น ตรงนั้นล่ะถูก ค่อยๆ เรียนไป แล้ววันหนึ่งเห็นความจริง มันก็จะวางๆๆ ไป

 

ไม่เกิน 7 ชาติ

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ยากเกินไปหรือเปล่า ยากก็ต้องฟัง จะฟังแต่ง่ายๆ อย่างเดียวก็ไม่ได้หรอก เพราะหลวงพ่อก็เทศน์ให้พวกเราฟังเอาไว้ จำเอาไว้ก่อนเท่านั้นล่ะ วันหนึ่งข้างหน้าก็ต้องเอาไปใช้ เหมือนหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อเข้าไปกราบท่าน 24 กันยายน ปี 2526 ครั้งสุดท้ายที่พบท่าน ท่านก็สอนอะไรให้มากมายมหาศาล เกินชั้นเกินภูมิ แต่ท่านก็สอนไว้ให้ ถึงวันหนึ่งเราก็ได้ใช้ เราไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้ฟัง ก็คลำเอา ไม่ใช่ง่าย คลำเส้นทางเอา เพราะเราเป็นสาวกภูมิ เราไม่ใช่พระปัจเจก ไม่ใช่พระพุทธเจ้า จะรู้ได้ด้วยตัวเอง ฉะนั้นฟังไว้ก่อน เดี๋ยววันหนึ่งพอเราภาวนาถึงจุดตรงนี้ จุดที่เคยฟังไม่รู้เรื่อง มันจะรู้เลยว่าใช่แล้ว

อย่างเมื่อเช้ามีพระมาเล่าว่า ฟังหลวงพ่อมาตั้งนานเพิ่งรู้ที่หลวงพ่อสอนมันเป็นอย่างไร พวกเราอย่านึกว่าเข้าใจ เราเข้าสมอง ยังไม่เข้าใจหรอก ถ้าเข้าใจจะล้างกิเลสได้ ถ้ายังไม่ล้างกิเลสแสดงยังไม่ได้เข้าใจ แต่ฟังไว้ก่อน แล้วก็ลงมือรักษาศีล ปฏิบัติในรูปแบบทุกวัน นั่งสมาธิ เดินจงกรมอะไร จิตจะได้มีแรง เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน เมื่อวานสอนแล้ว ไปรีรันฟังเอาว่าเป็นอย่างไร เจริญสติในชีวิตประจำวัน ถ้าทำได้อย่างนี้ มรรคผลนิพพานอยู่ไม่ไกลหรอก ถ้าอินทรีย์แก่กล้าพอก็ได้ชาตินี้ ถ้ายังอ่อนอยู่ก็ได้ชาติต่อไป หรืออีก 2 – 3 ชาติ หรืออีก 7 ชาติอะไรอย่างนี้ ก็ฝึกเอา

หลวงพ่อเคยถามครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านเป็นพระที่มีฤทธิ์เยอะ รู้อะไรต่ออะไรเยอะมากเลย ถามว่าถ้าเริ่มปฏิบัติ คนที่เริ่มปฏิบัติแล้วปฏิบัติถูก ฟังครูบาอาจารย์แล้วเจริญสติไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ทำถูกแล้วใช้เวลานานไหมกว่าจะบรรลุมรรคผล ท่านบอก “โอ๊ย ไม่นานหรอก ปราโมทย์ ไม่เกิน 7 ชาติหรอก” เราฟัง หา!! ตั้ง 7 ชาติเชียวหรือ ท่านบอกว่า “เกิดมากี่แสนชาติแล้วล่ะ เหลืออีก 7 ชาติ มันจะยาวอะไรหนักหนา ให้ลงมือเถอะ” ลงมือเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจของตัวเอง รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น ทำไปไม่เกิน 7 ชาติหรอก ถ้าเราทำดีทำถูก บางทีใน 7 ปีเท่านั้น บางคนเขาได้ใน 7 เดือน บางคนเขาได้ใน 7 วัน บางคนเขาได้ในวันนั้นเลย แล้วแต่ความแก่อ่อนของอินทรีย์เรา

แต่หลวงพ่อบอกให้อย่างหนึ่ง คนที่ได้ฟังธรรมไม่ใช่คนที่เริ่มนับหนึ่งหรอก คนที่เพิ่งเริ่มสะสม อยากจะปฏิบัติ อยากจะฟังธรรมอะไรนี่หลงทางไปเสียก่อนเยอะแยะเลย มากมาย ฉะนั้นถ้าเราเดินมาได้ตรงทางแล้ว นี่ไม่ใช่ชาติแรกหรอกที่เราปฏิบัติ ไม่ใช่ชาติแรก ถ้าคนไม่เคยฝึก ไม่เคยทำ บุญบารมีไม่พอ มันก็ไปเรียนอะไรที่เพี้ยนๆ ไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนหลวงพ่ออยู่เมืองกาญจน์ มีโยมผู้ชายคนหนึ่งแกมาเล่า บอกผมมีเวรมีกรรมอะไรก็ไม่รู้ เข้าไปเรียนจากอาจารย์ไหน อาจารย์นั้นปาราชิกหมดเลย หลวงพ่อบอก เออ ไปที่อื่นไป ไม่ต้องมาเรียนที่เราหรอก ฟังแล้วเธอนี่ตัวอัปมงคลจริงๆ ที่แท้ไม่ใช่อะไรหรอก อันนั้นมุก ที่แท้เธอบารมีน้อย บารมีน้อยก็ไปเจอของหลอกๆ ไม่ใช่เจอของจริง

ถ้าเราบารมีเราแก่กล้าพอแล้ว มีบุญมากพออะไรนี่ ก็เข้าเจอเป้าหมายที่ชัดเจนไปเลย อย่างหลวงพ่อตั้งแต่เด็ก หลวงพ่อเจอครูบาอาจารย์คือท่านพ่อลี ท่านสอนอานาปานสติให้ แล้วตอน 10 ขวบ ตัวรู้เกิดขึ้นแล้ว ไปเรียนกับท่านตอน 7 ขวบ เราก็ทำสมาธิไปเรื่อยๆ ก็มีตัวรู้ แล้วว่าวันหนึ่ง ไฟไหม้ข้างบ้านตัวรู้มันดีดขึ้นมา ครูบาอาจารย์องค์แรกที่เข้าไปหา ท่านพ่อลี ท่านก็เป็นครูบาอาจารย์ที่ดี เสร็จแล้วเข้าไปหาหลวงปู่ดูลย์ ไปเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ ขั้นเจริญปัญญา ท่านก็เป็นครูบาอาจารย์ที่ดี

ทำไมไปหาครูบาอาจารย์ได้แต่ครูบาอาจารย์ดีๆ ไม่มีคำว่าบังเอิญหรอก เราก็ต้องทำของเรามา เราถึงได้ครูบาอาจารย์อย่างนี้มา บางทีครูบาอาจารย์กับเราก็มีอะไรสัมพันธ์กันมา ในชาติก่อนๆ เราไม่รู้เอง ส่วนใหญ่ก็เคยรู้จักกันมา คุ้นเคยกันมา เกื้อกูลกันมาอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นการที่เรามาพบกันก็ถือว่าเราต้องเคยมีบุญร่วมกันมา มาเรียนแล้ว ลงมือทำไป สังเกตตัวเองไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
26 มิถุนายน 2565