คอยวัดใจตัวเองไว้

วันมาฆบูชา จริงก็เป็นวันที่พระพุทธเจ้า กำหนดยุทธศาสตร์ของการเผยแผ่ธรรมะ หลักการเผยแผ่ธรรมะ จะเผยแผ่อะไร ผู้เผยแผ่จะต้องประพฤติอย่างไร มีธรรมะอะไรสำหรับคนที่จะทำงานเผยแผ่ พวกเราที่ช่วยกันทำงานเผยแผ่ ก็ลองไปศึกษาดู หาอ่านไม่ยากแล้ว โอวาทปาติโมกข์ เยอะแยะ สมัยโบราณคนอ่านหนังสือไม่ออก ก็เลยต้องให้พระอ่านให้ฟัง วันไปฟังเทศน์ตามวัด พระก็จะเอาคัมภีร์มาอ่านให้ฟัง คนเดี๋ยวนี้อ่านหนังสือเก่งอยู่แล้ว ลองไปอ่านเอาเอง รู้เรื่องดีกว่าอีก

คนโบราณเขามองอะไรก็มองเชิงปาฏิหาริย์ อย่างวันนี้มาฆบูชาว่าพระอรหันต์ 1,250 รูปมาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมายว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ ก็อัศจรรย์ ก็ยุคนั้นไม่มีมือถือ โทร.ไปตามกันไม่ได้ แต่จะว่าไปอีกที พระอรหันต์ 250 องค์เป็นกลุ่มพระสารีบุตร ก็อยู่กับพระพุทธเจ้าอยู่แล้วตอนนั้น ชฎิล 1,000 องค์ท่านอยู่ทางคยา ก็อยู่ด้วยกันทั้ง 1,000 องค์นั่นล่ะ เวลามาก็มาด้วยกัน หัวหน้าจะมาก็มาล่ะ มาด้วยกัน

หลวงพ่อไม่ได้มองเรื่องปาฏิหาริย์อะไรหรอก มองว่าท่านรู้จักอะไรควร อะไรไม่ควร วันเพ็ญเดือน 3 แต่เดิมแขกเขาถือเป็นวันสำคัญ ท่านเหล่านี้พอถึงวันเพ็ญเดือน 3 ท่านไม่ได้นับถือเทวดาที่ไหน ท่านนับถือพระพุทธเจ้า ก็พากันมาคารวะ เมื่อพระกลุ่มใหญ่มา พระพุทธเจ้าท่านก็ต้องเทศน์ให้ฟัง อันนี้เป็นเรื่องปกติเลย สมัยครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่น วันสำคัญๆ พระเข้าไปหาท่านมาก ท่านก็จะเทศน์ มันเป็นเรื่องปกติ มองให้ปาฏิหาริย์ก็ได้ มองให้มันเป็นธรรมดาก็ได้

 

ศึกษาเข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเอง

อยากให้พวกเรามองอะไรที่มันเป็นธรรมดาให้มากขึ้น ชาวพุทธทุกวันนี้ มันงมงายหนักขึ้นๆ เข้าไปตามวัดวาอารามต่างๆ จำนวนมากเลย ไปสร้างเทวรูปสร้างอะไร ไว้ให้คนกราบไหว้กันเยอะแยะไปหมด วัตถุประสงค์ก็จะได้เงินทำบุญ เข้าไปตามวัดแล้วไม่ได้สติไม่ได้ปัญญาออกมา ก็เรียกว่ายังไม่คุ้ม ที่เราเป็นชาวพุทธ เพราะฉะนั้นมาที่นี่ หลวงพ่อเลยไม่ได้ปั้นอะไรไว้ให้ไหว้ ให้พวกเราเอาธรรมะแท้ๆ ไหว้พระแท้ๆ ค้นพบพระแท้ๆ ในตัวเอง พระไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก ก็คือคุณงามความดีในตัวเรานี่เอง อยู่ในใจเรานี่ล่ะ จะดีหรือจะชั่วก็อยู่ที่ใจของเรานี่เอง

ฉะนั้นศึกษาเข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเอง เราก็จะเห็นใจเราถูกกิเลสห่อหุ้มไว้มากมาย แล้วกิเลสมันก็บงการจิตใจเรา ให้คิดอย่างนั้นคิดอย่างนี้ ไปตามอำนาจของมัน พอมันบงการความคิดได้ มันก็ล้นออกมาทางคำพูด ล้นออกมาทางการกระทำ เรามาหัดภาวนาเรียนรู้เข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเอง กิเลสอะไรเกิดแล้วเรารู้ กิเลสอะไรเกิดเรารู้ ใจก็ค่อยๆ พ้นจากอำนาจของกิเลสไป ใจเราก็เข้าถึงความเป็นพระ คือเข้าถึงคุณงามความดี ความประเสริฐ พระแท้อยู่ตรงนี้ พระแท้ไม่ได้อยู่ที่พระพุทธรูป ไม่ได้อยู่ที่รูปเคารพอะไร

ชีวิตเราจะชั่วหรือจะดี ก็อยู่ที่การกระทำของเราเอง ไม่ใช่อยู่ที่การเที่ยวไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายโดยเฉพาะเทวรูปทั้งหลายนั้น เราถ้าจะไหว้ก็ไหว้คุณงามความดีของท่าน ท่านเหล่านั้นมีธรรมะ อย่างเราไหว้พระพรหม เราก็รู้ธรรมะของพระพรหมคือพรหมวิหาร พรหมวิหารเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องใช้ โดยเฉพาะคนซึ่งเป็นใหญ่เป็นโต เป็นผู้นำ เป็นผู้ปกครอง ขาดพรหมวิหาร คนที่อยู่ข้างล่างก็ไม่มีความสุข

ฉะนั้นเราก็เอาพรหมวิหารมาใช้ อย่างสมมติเราไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่เราเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว เราเป็นหัวหน้าหมาหัวหน้าแมว เดี๋ยวนี้เขายกฐานะแมว เรากลายเป็นทาสแมวไปเสียอีก อย่างเราเลี้ยงสัตว์ เราก็มีพรหมวิหาร บางคนเลี้ยงแล้วหมาตาย ร้องห่มร้องไห้เสียอกเสียใจ ไม่มีอุเบกขา เห็นไหมธรรมะไม่ได้อยู่ที่เทวดา เราไหว้พระพรหม เราก็เรียนรู้ธรรมะของพระพรหม คือพรหมวิหาร เครื่องอยู่ของพรหม หรือเรื่องของเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

เราจะไหว้เทวดา ก็อย่ามัวแต่ไหว้องค์นั้นองค์นี้เพื่อขอพร ขอรวย ขอสอบได้ ขอไม่ต้องเกณฑ์ทหาร จับได้แต่ใบดำ แล้วเที่ยวไปขออะไรสะเปะสะปะ ถ้าจะไหว้เทวรูป ให้นึกถึงความดีของเทวดา เขามีหิริ มีโอตัปปะ มีความละอายใจที่จะทำชั่ว มีความเกรงกลัวผลของการทำชั่ว เราไหว้พระพรหม เราก็น้อมเอาธรรมะของพระพรหมเข้ามาที่ตัวเรา ไหว้เทวดาก็น้อมเอาธรรมะของเทวดาเข้ามาที่ตัวเรา

แล้วที่สำคัญเราจะต้องภาวนา ตามหลักสูตรของพระพุทธเจ้า ศีลต้องรักษา จิตต้องฝึก หลวงพ่อไม่ได้บอกว่าให้ทำสมาธิ หลวงพ่อบอกว่าต้องเรียนเรื่องจิตตัวเอง ศีลต้องรักษา เรามี สีลสิกขา เราก็เรียนรู้จิตตัวเอง เราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง เมื่อจิตมีสมาธิที่ถูกต้อง คือมีความตั้งมั่นแล้วก็มีกำลัง โดยที่เราไม่ได้เจตนาบังคับ เราก็ต้องโน้มน้อมจิตอันนั้นไป เพื่อให้เกิดญาณทัสสนะ

ญาณ แปลว่าปัญญา เพื่อให้เกิดปัญญา แต่ไม่ใช่ปัญญาจากการคิด แต่เป็นปัญญาที่เกิดจากทัสสนะคือการเห็น เห็นกายอย่างที่กายเป็น เห็นจิตใจอย่างที่จิตใจเป็น เราจะต้องยกระดับตัวเอง ถ้ายังไม่มีปัญญาที่จะยกระดับใจตัวเองขึ้นสู่ธรรมได้ ก็ไปไหว้เทวดา ไหว้พระพรหมอะไร ก็น้อมเอาธรรมะของท่านเข้ามา ใจเราก็สูงขึ้น สะอาดขึ้น ถ้าไปไหว้แล้วขอโน่นขอนี่ โอ้ มันยิ่งห่างไกลธรรมะออกไปทุกที กลายเป็นลูกศิษย์ชูชก ขี้ขอ ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร ทุกวันนี้ยังมีการไหว้ชูชก เป็นแฟชั่นอยู่ช่วงหนึ่ง เดี๋ยวนี้ก็เลิกแล้ว

ยุคนี้ก็ไปไหว้พญานาคกับท้าวเวสสุวรรณ พญานาคยังไม่ใช่สุคติ ท้าวเวสสุวรรณเป็นสุคติก็จริง อยู่ในจาตุมหาราชิกา อยู่ในเทวดาชั้นแรกเลยที่อยู่ใกล้มนุษย์ บางยุคก็ไหว้พระอินทร์ ไหว้ไปหมด บางทีไหว้กระทั่งสิ่งซึ่งเรามโนขึ้นเอง อย่างคนไปไหว้แม่นาคพระโขนง ไปไหว้แม่นวล เมียพันท้ายนรสิงห์ พวกนี้เกิดจากนิยายทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นของจริงเลย เราก็ไหว้กันใหญ่ หรือไหว้ไอ้ไข่ สารพัดเลย เอาทุกอย่าง ไม่เอาอย่างเดียวคือการพึ่งตัวเอง เข้าไปตามวัดก็จะเห็นแต่ของพวกนี้เต็มไปหมดเลย ก็ขายดอกไม้ธูปเทียน ขายเครื่องเซ่นสรวง เข้าไปแล้วมันไม่ได้เกิดสติเกิดปัญญา

เรามีโอกาสดี เข้าวัด เข้ามาให้มันได้สติได้ปัญญาจริงๆ ไม่ใช่ได้ความงมงายกลับไป แต่จะว่าเขาก็ไม่ถูก อินทรีย์เขาอ่อนก็ได้แค่นั้น เขาไปไหว้เทวดา ไหว้ผี แล้วเขามีความสุข มีกำลังต่อสู้ชีวิต มองในแง่นี้ก็น่าเห็นใจ เมื่อก่อนคนกลุ้มใจก็ไปเล่าให้พระฟัง พระก็ช่วยแนะนำ แนะเข้าทางธรรมะได้ท่านก็แนะ แนะไม่ได้ท่านก็รดน้ำมนต์ให้ ก็สบายใจ ยุคนี้เข้าวัดก็ไม่แน่ว่าจะสบายใจ อาจจะลำบากใจ ถูกรีดถูกไถหนักเหลือเกิน สร้างโน่นสร้างนี่กันเยอะแยะเลย หาที่เน้นสร้างธรรมะในใจ หายากเหลือเกิน ถ้าเรามีสติมีปัญญามากพอ เข้าวัดต้องให้มันได้ธรรมะจริงๆ หลวงปู่ฝั้นท่านดีมากเลย พระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อน เคยถามท่านว่า ท่านอยู่วัดไหน ท่านบอกท่านอยู่วัดใจ

คอยวัดใจตัวเองไว้ ก็จะได้ธรรมะ ใจของเราชั่ว มีบาปอกุศล ให้เรารู้ ใจของเราเป็นบุญเป็นกุศล ให้เรารู้ คอยวัดใจตัวเองไปเรื่อยๆ พอกิเลสเกิดขึ้นในใจ เรารู้ทัน กิเลสมันจะดับเอง ไม่ต้องไปดับมัน อย่างจิตเราฟุ้งซ่าน เมื่อเช้าก็มีพวกทิดมาส่งการบ้านหลวงพ่อ 5 คน มีปัญหาจิตไม่สงบ จะทำอย่างไรดีจิตไม่สงบ พระพุทธเจ้าก็สอน จิตฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน ท่านสอนอยู่แล้วล่ะ ส่วนเราคิดว่าจะทำอย่างไร จะทำอย่างไร ต้องไปคิดอะไร พระพุทธเจ้าสอนอย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น จิตฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน ตามรู้ตามดูไป จิตสงบรู้ว่าสงบ จิตสุขรู้ว่าสุข จิตทุกข์รู้ว่าทุกข์ จิตโลภรู้ว่าโลภ จิตโกรธรู้ว่าโกรธ

ตามรู้ตามดูมันไปเรื่อยๆ ต่อไปสติปัญญามันจะเกิด มันจะเห็นว่าจิตทุกชนิดไม่เที่ยง จิตทุกชนิดไม่ใช่ตัวตนอะไร บังคับไม่ได้ หัดภาวนาให้ถึงจิตถึงใจ คอยวัดใจตัวเองไป แล้วถึงจะเข้าถึงวัดจริงๆ ไม่ใช่เข้าวัดที่ทำด้วยก้อนอิฐ ก้อนปูน หรือก่อสร้างด้วยไม้ อันนั้นวัดภายนอก ดีไหม ก็ดี จำเป็น แล้วไม่มีวัด พระก็ไม่มีที่อยู่ พระไม่มีที่จะอยู่ พระที่ดีๆ ก็จะไม่มีโอกาสภาวนา ก็ต้องไปอยู่บ้าน คลุกคลีอยู่กับครอบครัว หาความสงบประณีตจริงๆ ยาก ในขั้นต้นๆ ยังทำได้ โสดาบัน สกทาคามี แต่ขั้นอนาคามีต้องออกจากกามให้ได้ อยู่บ้านมันก็อยู่กับกามนั่นล่ะ ถึงเวลาก็อยากกินโน่นอยากกินนี่ นี่ก็กามแล้ว ฉะนั้นเพศฆราวาสมันไม่ค่อยเหมาะ กับการภาวนาในขั้นละเอียด

 

เข้าวัดให้ได้สติได้ปัญญาจริงๆ
คอยวัดใจตัวเองไว้

ฉะนั้นการมีวัด มีพระ ก็เป็นประโยชน์ในการสืบทอดพระศาสนา แต่ว่าถ้ามีพระมีวัด แล้วก็ไม่ได้ภาวนากัน มันก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจะได้ แต่คนอื่นเขาอย่างไร เราว่าเขาไม่ได้หรอก อินทรีย์มันแก่อ่อนต่างกัน เรามีโอกาสแล้ว เราคอยวัดใจตัวเองให้ดี ทีแรกอาจจะวัดไม่เป็น เราก็สังเกตเอา แต่ละวันใจเราไม่เคยเหมือนกัน บางวันจิตใจเราก็ปลอดโปร่ง บางวันจิตใจเราก็เคร่งเครียด แต่ละวันใจเราไม่เคยเหมือนกัน ถ้าสังเกตตรงนี้ได้ เราก็ดูให้ละเอียดขึ้น ในวันเดียวกัน เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ดึก ใจเราก็ไม่เหมือนกัน อย่างถ้าวันทำงาน ตื่นเช้ามาอาจจะรู้สึกขี้เกียจ ถ้าเป็นวันหยุด ตื่นขึ้นมาตามความเคยชิน เอ๊ะ วันนี้วันหยุด เกิดความรู้สึกขี้เกียจ เหมือนกัน อันนั้นขี้เกียจไปทำงาน อันนี้ขี้เกียจลุก ยัง ติดอกติดใจ เอร็ดอร่อยอยู่กับการนอนกลิ้งไปกลิ้งมา ก็อ่านใจตัวเองได้

ไม่ใช่ว่าความรู้สึกที่ไม่ดีเกิดขึ้น ก็หาทางทำลายล้าง ไม่จำเป็นต้องไปทำลายมัน ความรู้สึกจะดีหรือจะชั่ว มันก็แสดงไตรลักษณ์เท่าๆ กัน มันอยู่ที่เรามองเห็นหรือเปล่า อย่างถ้าความรู้สึกที่ดีๆ เกิด อย่างใจเราอยากทำบุญใส่บาตร แล้วเราไม่รู้ว่าจิตใจของเรากำลังเป็นกุศล อันนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ ไม่ใช่หลวงพ่อพูดเอง พระพุทธเจ้าท่านบอก “ถ้าจิตเป็นกุศลไม่รู้ว่าเป็นกุศล ใช้ไม่ได้” ถ้าจิตเราเป็นอกุศล โอ๊ย วันนี้ขี้เกียจเหลือเกิน รู้ทันว่าจิตมันขี้เกียจ จิตเป็นอกุศล รู้ว่าเป็นอกุศล ใช้ได้ ฉะนั้นจะใช้ได้ ใช้ไม่ได้ อยู่ที่รู้หรือไม่รู้

เราตามรู้ตามเห็น แล้วเราจะเกิดญาณทัสสนะ ทีแรกก็มีแต่ทัสสนะคือการเห็น เห็นกายเห็นใจมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป ต่อไปมันก็เกิดญาณทัสสนะคือเกิดปัญญา ต่อเนื่องมาจากความรู้ความเห็น ความเห็นถูก เราเห็นกายแสดงไตรลักษณ์เรื่อยๆ เห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ไปเรื่อย ต่อไปปัญญามันเกิด โอ้ กายนี้จิตนี้ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ อันนี้มีญาณทัสสนะแล้ว ฉะนั้นญาณทัสสนะเป็นเรื่องของปัญญา ที่เกิดจากการเห็นตามความเป็นจริง แล้วไม่ใช่เห็นสิ่งอื่น ให้เห็นกายเห็นใจตัวเองไว้

แต่ถ้าชำนาญจริงๆ เห็นข้างนอกกับเห็นข้างใน ใช้ได้เหมือนกัน แต่ครูบาอาจารย์ไม่ได้แนะนำให้ดูข้างนอก เพราะมันเสี่ยงสูง อย่างถ้าอินทรีย์เราอ่อน เราไปเห็นสาวสวยๆ ใจเราก็เกิดราคะ เราก็มองตามเขาไป เดินตามเขาไป อยากขอเบอร์เขา ขอไลน์ ขอเฟซบุ๊ก ขออินสตาแกรมอะไรเขา ฟุ้งซ่านแหลกราญไป อันนี้เราใช้ไม่ได้ เราไม่รู้เท่าทันตัวเอง แต่ถ้า อย่างเราเห็นสาวสวย ใจเราชอบขึ้นมา เรารู้ว่าชอบ อันนี้ใช้ได้ อย่างนี้ใช้ได้ ฉะนั้นการปฏิบัติไม่จำเป็นต้องอยู่ในบ้าน อยู่ในถ้ำอะไรหรอก การปฏิบัติอยู่ที่ไหนก็ได้ ขอให้มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไว้เท่านั้นล่ะ

คอยวัดใจตัวเองเรื่อยๆ ไป เราจะเห็น ถ้ามีปรอท มีเทอร์โมมิเตอร์อันหนึ่ง วัดอุณหภูมิข้างนอก มันเปลี่ยนทั้งวัน เราก็มีเทอร์โมมิเตอร์ในใจเรา วัด เราจะเห็นใจเราเปลี่ยนทั้งวัน ตอนเช้าความรู้สึกอย่างนี้ ตอนสาย ตอนบ่าย ตอนเย็น ตอนค่ำ ตอนดึก ใจก็เปลี่ยนแปลงไป อย่างบางคนดึกๆ แล้วไม่อยากนอน อยากทำโน่นทำนี่ เล่นโน่นเล่นนี่ แล้วตอนเช้าแล้วไม่อยากตื่น ต้องมีวินัยหน่อย ถ้าทำแบบนั้นภาวนาลำบาก ต้องมีวินัยในตัวเอง ถึงเวลาตื่นแล้วตื่น ถึงเวลาพักควรพักก็พัก แล้วก็คอยอ่านจิตอ่านใจของเราไป เบื้องต้นอาจจะเห็นแต่ละวันไม่เหมือนกัน อย่างกลางเราก็เห็นในวันเดียวกัน เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ดึก ไม่เหมือนกัน

พอเราภาวนาได้ละเอียด สติเราว่องไวขึ้น เราก็จะเห็น แต่ละขณะจิตใจเราก็ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ต้องเป็นชั่วโมง เป็น 3 ชั่วโมง จิตใจถึงจะเปลี่ยน เราจะเห็นจิตใจเราเปลี่ยนแปลงทุกคราว ที่มีการกระทบอารมณ์ ตาเห็นรูป จิตก็เปลี่ยน หูได้ยินเสียง จิตก็เปลี่ยน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด จิตก็เปลี่ยน อย่างนี้เรียกว่าเราภาวนาเก่งแล้ว เราอ่านจิตตัวเองเก่ง อ่านได้ว่องไว ไวถึงขนาดเป็นขณะๆ ไป เราไม่ต้องขณะอย่างพวกเรียนอภิธรรม พวกเรียนอภิธรรม (ดีดนิ้ว) 1 ที จิตเกิดดับแสนโกฏิขณะ มโนน่าดูเลย เดี๋ยวนี้เขาวัดได้แล้ว เขาวัดได้แล้วว่า จิตที่ขึ้นมารับอารมณ์ได้ ใช้เวลาเท่าไร หลวงพ่อจำไม่ได้ ไม่ถึงวินาที แต่ไม่ใช่นี่แสนโกฏิขณะ อันนั้นวัดแบบแขก ชอบตัวเลขเยอะๆ

“ขณะ” ที่หลวงพ่อพูดถึง ไม่ใช่ขณะ ขณะจิตขนาดนั้น แต่มันเป็น “ขณะ” ที่ตามองเห็น จิตใจเราเปลี่ยนแปลง ขณะที่หูได้ยินเสียง จิตใจเราเปลี่ยนแปลง ขณะที่มีผัสสะ กระทบเข้ามาแล้วเราเห็นความเปลี่ยนแปลง อย่างนี้อภิธรรมเขาเรียก “วิถีจิต” ตาเห็นรูปแล้วก็ มีการรับรู้อารมณ์ทางตา ส่งสัญญาณเข้ามาที่ใจ มีการแปลความหมาย มีการให้ค่า มีการตัดสินใจ ว่าอันนี้ถูกใจ ไม่ถูกใจ จะเกิดสุขหรือเกิดทุกข์ จะเกิดกุศลหรืออกุศล เป็น process ของมัน ไม่ต้องรู้ละเอียดขนาดนั้นหรอก น้อยคนที่จะเห็นได้ ถ้าสติไม่เร็ว ไม่เห็น เราไม่ต้องละเอียดขนาดนั้น เอาแค่ว่าขณะที่ตาเรามองเห็น เห็นไหม ความรู้สึกเราเปลี่ยน รู้แค่นี้ก็พอ

ตอนที่หูเราได้ยิน สมมติเราได้ยินเสียง อยู่ๆ ได้ยินเสียงคนเรียกชื่อพ่อเรา เราโกรธ พอเราหันไปมองหน้า เฮ้ย เพื่อนรักของเรา เราก็เรียกชื่อพ่อมันเหมือนกัน ชื่อมันชื่ออะไรเรายังจำไม่ได้ จำได้แต่ชื่อพ่อมัน มันก็เรียกชื่อพ่อเรามาตลอด พอหันไปเห็น เฮ้ย นี่เพื่อนกัน จากโกรธเปลี่ยนเป็นดีใจแล้ว ขณะที่หูได้ยินเสียงมันมาเรียกชื่อพ่อ เกิดโทสะ จิตเปลี่ยนแล้ว ทีแรกไม่มีโทสะ พอตามองเห็น หันไปเห็นเข้า จิตเปลี่ยนอีกแล้ว ดีใจเจอเพื่อน เพราะฉะนั้นจิตเราจะเปลี่ยนเป็นขณะๆ ไป ขณะที่ตาเห็นรูป จิตก็เปลี่ยน ขณะที่หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด จิตเราเปลี่ยนแปลง ให้คอยรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่คอยควบคุมการกระทบ

การที่เรา ตาจะเห็นรูป หูจะได้ยินเสียง หรือใจกระทบธัมมารมณ์ มันเป็นวิบาก เราสั่งไม่ได้หรอก เราจะเห็นรูปที่ดี หรือรูปที่ไม่ดี เสียงที่ดี หรือเสียงที่ไม่ดี จะคิดอะไรต่ออะไร เราสั่งไม่ได้ พอกระทบอารมณ์แล้ว จิตใจเราทำงานขึ้นมา อันนี้เป็นปัจจุบัน ส่วนการกระทบ จะกระทบอารมณ์ที่ดี กระทบอารมณ์ที่ไม่ดี เป็นกรรมเก่า เป็นวิบากส่งผลมา ไม่สำคัญ กระทบอารมณ์อะไรก็ได้ แต่พอกระทบแล้ว จิตใจเราเปลี่ยนแปลง อันนี้ให้เรามีสติรู้ นี่คือการทำกรรมใหม่ที่ดีในปัจจุบัน ตัวนี้สำคัญที่สุด ปัจจุบันสำคัญที่สุด เคยได้ยินไหม ปัจจุบันสำคัญที่สุด เราก็ฟังแบบปรัชญา อดีตก็ล่วงไปแล้ว อนาคตยังมาไม่ถึง ปัจจุบันสำคัญที่สุด แต่ปัจจุบันอยู่ตรงไหน มองไม่เห็น ไม่ใช่ปัจจุบันคือปีนี้คือปัจจุบัน ปีกลายคืออดีต ปี 2568 คืออนาคต ไม่ได้ไกลขนาดนั้น

 

คีย์เวิร์ดคืออ่านจิตตนเอง

วัดที่ใจของเรานี้ ตาเห็นรูป ใจเราเปลี่ยนแปลง เราเห็นขณะที่มันเปลี่ยนแปลงไป นี่ล่ะปัจจุบันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่เมื่อวานจิตเป็นอย่างนี้ วันนี้จิตเป็นอย่างนี้ อันนี้คิดเอา ไม่ได้เห็นเอา ไม่ใช่ทัสสนะ ไม่เกิดญาณทัสสนะ แต่เกิดการคิด คิดเอา เมื่อวานกับวันนี้ไม่เหมือนกัน แสดงว่าไม่เที่ยง อันนี้ยังไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนาต้องใช้ทัสสนะ ใช้การเห็นเอา เห็นรูปเห็นนามอย่างที่เขาเป็น เขาเป็นอะไร เขาเป็นไตรลักษณ์ ตาเห็นรูป ใจเรามีความสุข ใจเราเกิดราคะ เรารู้ทัน อย่างนี้เรียกว่าเรารู้ปัจจุบันแล้ว หูได้ยินเสียง ใจเรามีความทุกข์ ใจเราเกิดโทสะ เรารู้ทัน มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจก็รู้ มีโทสะในใจเกิดขึ้นก็รู้ นี่เรียกเรารู้ปัจจุบันแล้ว

คอยวัดใจตัวเองไปเรื่อยๆ ใจเรามีแต่ความเปลี่ยนแปลง ไม่มีความคงที่ แล้วไม่ต้องไปฝึกให้ใจคงที่ ใจจริงๆ มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็ไม่ว่ามัน ให้มันเคลื่อนไหวไป ขอแค่มีสติตามรู้ตามเห็น แล้วต่อไปปัญญามันเกิด จะรู้เลย จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว เกิดแล้วดับ ทีแรกก็เห็นแต่ละอย่างเกิดแล้วดับ แต่ละอย่างเกิดแล้วดับ ตอนที่จะได้มรรคได้ผล มีปัญญารวบยอด จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ ไม่ใช่จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง เกิดแล้วดับ เหมือนที่ตอนที่ฝึกหรอก มันรู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดมันดับทั้งสิ้น

ค่อยๆ ฝึก วัดใจตัวเองให้ออก แล้วเราจะได้ของดีของวิเศษ ของดีของวิเศษไปขอใครไม่ได้ ต้องทำเอาเอง ธรรมะที่เที่ยวขอๆ คน ไม่ได้เรื่อง ต้องทำเอาเอง หลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ คีย์เวิร์ดที่ท่านสอนให้ครั้งแรกก็คือ “อ่านจิตตนเอง” ตัวนี้คือตัวคีย์เวิร์ด แต่มี intro นิดหน่อย ท่านบอกว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” อันนี้เป็นการปลุกเร้า ให้กำลังใจ “อ่านหนังสือมามากแล้ว” นี่เป็นการเท้าความ “ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” นี่คือคำสอนที่ให้ปฏิบัติจริงๆ

ฉะนั้นที่หลวงพ่อเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ก็คือคำว่า “อ่านจิตตนเอง” นั่นล่ะ เราก็มานั่งอ่านทุกวัน อ่านอย่างไร อ่านอย่างที่เล่าให้ฟังนี่ล่ะ อ่านทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ อ่านไปเรื่อยๆ มีเวลาเมื่อไรก็อ่านไป ใช้เวลาไม่นานมันก็เกิดปัญญา เห็นจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ จิตอะไรๆ มันก็เกิดแล้วก็ดับหมด ไม่มีสิ่งที่เป็นตัวเป็นตนอะไรหรอก ค่อยฝึก ทำอย่างนี้แล้วจะได้ประโยชน์ สมกับที่เราเป็นชาวพุทธที่แท้จริง วันนี้ทำไมเทศน์เร็ว เทศน์สั้นๆ แต่ว่าเอาไปทำให้ได้ หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อสั้นกว่านี้อีก สอนประโยคเดียว “อ่านจิตตนเอง” นี่สอนวิธีอ่านจิตตนเองละเอียดละออแล้ว ไปอ่านเอา ทำได้ก็ได้แก่น ทำไม่ได้ก็ไม่ได้แก่น ไม่ได้แก่นสารสาระ ใจเราก็เวียนว่ายไปอีกนานแสนนาน ทุกข์แล้วทุกข์อีก ตายแล้วตายอีกไป

มันไม่ใช่ทุกคนจะบรรลุมรรคผลในชีวิตนี้หรือเดี๋ยวนี้ มันขึ้นอยู่กับอินทรีย์ของเรา บารมีของเรา สะสมมาแค่ไหน คนไหนเขาสะสมมาเยอะ เขาก็ทำได้เร็ว คนไหนสะสมมาน้อย ก็ต้องเก็บแต้มให้นานๆ หน่อย ใช้เวลา ยุติธรรมนะ ธรรมะก็อยู่ในเรื่องกฎแห่งกรรม ยุติธรรมเสมอ

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ หลวงพ่อรู้แล้วทำไมวันนี้เทศน์เร็ว เพราะรอบเย็นมีอีกรอบหนึ่ง เลยเก็บแรงเอาไว้ มันอัตโนมัติเลย เหลือเวลานิดหนึ่ง ขอยลโฉมพวกที่นั่งในศาลาก่อน รู้สึกไหมพอหลวงพ่อบอกว่า จะมองพวกเราในศาลา จิตเราเปลี่ยน รู้สึกไหม เห็นหรือยังว่าหูได้ยินเสียง แปลความหมายได้ จิตก็เปลี่ยน

ถ้ากำลังใจลอย หลวงพ่อพูดอะไร หู มีหูก็เหมือนไม่มี ใจหนีไปที่อื่น จิตไม่เปลี่ยน คอยวัดจิตวัดใจตัวเอง จิตเราเปลี่ยนตลอดเวลา เปลี่ยนไปทุกขณะที่กระทบอารมณ์ หลวงพ่ออยากจะใช้คำว่า “ขณะที่กระทบ” มากกว่า ไม่ใช่ “ขณะจิต” ไม่มีใครวัดได้หรอกอันนั้น มันเป็นทางทฤษฎี ในทางปฏิบัติไม่มีใครนับได้ เห็นไหมตอนนี้จิตก็เปลี่ยนอีกแล้ว ดูออกไหม มันนิ่งลงกว่าเมื่อกี้

ตอนหลวงพ่อบอกว่าจะดูนั้น ตอนนี้พอเห็นหลวงพ่อพูดอะไรไปเรื่อยๆ คงไม่ดูเราแล้ว ใจก็เปลี่ยน หัดดูอย่างนี้ ดูมันทั้งวันเลย ถ้ามันเอาดีไม่ได้ ก็ถือว่าต้องทำต่อ ไม่อยากพูด ก็อินทรีย์เรายังไม่แข็งแรงพอ บารมียังไม่แข็งแรงพอก็สะสมไป วันหนึ่งมันก็แข็งแรง คนที่เขาทำได้เร็ว เพราะเขาสะสมของเขามาแล้ว

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 กุมภาพันธ์ 2567 (ช่วงเช้า)