เมื่อวานหลวงพ่อสอนเรื่องสติปัฏฐานสี่ กายมันหยาบที่สุด เป็นของหยาบ รองลงมาก็เวทนา รองลงมาก็จิต ที่ละเอียดที่สุดคือธรรม ธัมมานุปัสสนาเราจะเห็นการทำงาน เห็นไตรลักษณ์อะไร ทำอย่างไรให้กุศลเกิด ทำอย่างไรอกุศลเกิด แล้วสิ่งทั้งหลาย ที่เกิดล้วนแต่มีเหตุมีปัจจัย เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ไม่ได้เกิดลอยๆ อันนั้นดูยาก เอาไว้ทีหลัง เมื่อวานหลวงพ่อบอกว่าเราดูอันไหนได้เราดูอันนั้น เหมือนที่ ครูบาอาจารย์ท่านสอน ดูจิตได้ก็ดูจิต อันนี้พวกสติ สมาธิ ปัญญามากพอ ดูจิตไม่ได้ให้ดูกายท่านว่าอย่างนี้ ถ้าฟังตรงนี้ บางคนก็งง หลวงพ่อเคยพูดว่า กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนานี่เหมาะกับสมถยานิก แล้วทำไมบอกว่าสติ สมาธิไม่ดีมาดูกายก่อน ที่เราดูกาย หรือดูเวทนา หรือดูจิตก็ตาม ในเบื้องต้นนั้นทำไปเพื่อให้เกิดสติ ให้เกิดสมาธิ
พอมีสติ มีสมาธิแล้วการเจริญปัญญาด้วยอะไร อันนี้ดูจริตนิสัยเรา ถ้าเราเป็นพวกโลภมาก อยากมาก พวกตัณหาจริต สติปัฏฐานที่เหมาะ กับพวกตัณหาจริตก็คือดูกายหรือเวทนา ถ้าพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น เรียกว่า พวกทิฏฐิจริต สิ่งที่เหมาะสมก็คือ จิตตานุปัสสนาและธัมมานุปัสสนา
การจะเจริญปัญญาด้วยการดูกายหรือเวทนา กำลังของสมาธิต้องแน่น ต้องมีมากพอ ถ้าเข้าฌานได้ก่อนก็เอา เข้าฌานยังไม่ได้ เจริญปัญญาด้วยการ ดูกายอะไรอย่างนี้ยังยาก ยิ่งดูเวทนายิ่งยากหนักเข้าไปอีก ท่านถึงสอนบอก เวทนายากกว่ากาย กายยังดูง่าย ฉะนั้นขั้นต้นเราอาจจะทำกรรมฐานดูกาย หรือเวทนา หรือดูจิตก็ได้ เพื่อให้เกิดสมาธิขึ้นมา ดูอันไหนได้เอาอันนั้น พอเราได้สมาธิแล้ว ในขั้นเจริญปัญญา จริตนิสัยเราเป็นแบบไหนสังเกตเอา สมมติจริตนิสัยเราเป็นตัณหาจริต สังเกตอีกสมาธิเราพอไหม ที่จะดูกายหรือเวทนา ถ้าไม่พอก็เพิ่มไปก่อน
อย่างหลวงพ่อเริ่มต้นทำสมถะ หลวงพ่อใช้กาย เพราะหลวงพ่อทำ อานาปานสติจนกระทั่งจิตมันทรงตัวขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เมื่อจิตมันทรงตัวขึ้นมาได้แล้ว หลวงพ่อก็ลองพิจารณากาย ได้อ่านหนังสือ ได้ยินอะไรอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ชอบพูดเรื่องพุทโธพิจารณากาย พอไปดูกายแล้วมันรู้สึกจืดชืด มันเหมือนเราเป็นปลาตัวโต เรามาอยู่ใน อ่างเล็กๆ แคบๆ อะไรอย่างนี้ อึดอัด มันไม่สนุกเลย จืด พอจิตเราทำ สมาธิมาพอสมควร ดูลงไปที่ผม ผมก็สลายไปเห็นหนังศีรษะ ดูหนังศีรษะ ก็สลายเห็นหัวกะโหลก เห็นหัวกะโหลกหัวก็ขาดไป ดูตัวลงมา เนื้อหนังหายไปหมด ดูลงไปอีกเหลือแต่กระดูก กระดูกระเบิดออกไป กลายเป็นกรวดเล็กๆ กระจายไป ดูลงไปอีกมันสลายเป็นแสงสว่างหายไปหมด ฉะนั้นรู้สึกจืดชืดมาก ดูแล้วมันก็มาเข้าร่องนี้ ใจมันรู้สึกไม่อิ่ม ไม่เต็ม ไม่พอ เพราะเราเป็นพวกทิฏฐิจริต
หลวงพ่อเป็นทิฏฐิจริต เจ้าความคิดเจ้าความเห็นไม่ใช่น้อยหรอก แต่ไม่ได้ยึดความคิดความเห็นมากนักหรอก เพราะเห็นแล้วว่า ยึดเมื่อไหร่ ก็ทุกข์เมื่อนั่น แต่ว่าจิตลึกๆ มันเจ้าความคิดเจ้าความเห็นอยู่ มาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนให้ดูจิต ก็เลยตื่นเต้น ตื่นเต้นสนใจ มีฉันทะที่จะดู เพราะว่ามัน เป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้จัก ก่อนเจอหลวงปู่ดูลย์ จิตมันเข้าใจธรรมะขึ้นมาข้อหนึ่งว่าถ้าจิตไม่ทุกข์ ใครก็จะทุกข์ จะทุกข์ หรือไม่ทุกข์มันอยู่ที่จิตนี่เอง ทีนี้พอหลวงปู่ดูลย์สอนลงมาที่จิต มันคล้ายๆ ตื่นตัว ขยันดู เห็นจิตมันวิจิตรพิสดาร มันชื่อจิต เพราะมันวิจิตรพิสดาร มันหลากหลายเหลือเกิน เปลี่ยนแปลงมากมาย พลิกแพลงรวดเร็วตลอดเวลา เรียนรู้ไปเรื่อยยิ่งสนุก
มีฉันทะพอใจที่จะเรียน วิริยะมันก็เกิด ขยันดู ไม่มีใครมาสั่งให้ดูแล้ว หลวงปู่สอนให้ดูจิตก็ดูเลย มันมีฉันทะที่จะทำก็เกิดวิริยะ ดูไปเรื่อย จิตใจจดจ่ออยู่กับการดู ไม่วอกแวกไปที่อื่น นั่นคือสมาธิ คือจิตตะ กำลังของสมาธิก็เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ จิตมันก็ค้นคว้าพิจารณา ใคร่ครวญอยู่ที่จิต อันนั้นคือตัววิมังสา นี่องค์ธรรมฝ่ายที่ดี อย่างเรื่องอิทธิบาทอะไรอย่างนี้ มันก็เกิด เพราะมันถูกจริต เราเป็นพวกทิฏฐิจริต ดูจิตแล้วมันถูกจริต ให้ดูกายแล้ว รู้สึกจืดไม่เห็นมีอะไรเลย จืดๆ มีอยู่แค่นี้เอง ดูกายๆ ก็เห็นลงเป็น ธาตุเป็นอะไร แต่ใจมันไม่ยอมปล่อยยอมวาง มันยังรู้สึกว่า มีอะไรหลายอย่างที่เรายังไม่รู้
มีคราวหนึ่งเข้าไปวัดป่าสาลวัน เข้าข้างหลังวัด วัดนี้หมาเยอะ หมานี้ขี้ไว้เกลื่อนเลย เดินต้องระมัดระวังมาก มิฉะนั้นจะเหยียบขี้หมา หลวงพ่อจะเข้าไปหาหลวงพ่อพุธ (ฐานิโย) ไปเจอขี้หมากองหนึ่ง สดๆ เลย มีหนอนด้วย เปียกๆ สดๆ แมลงวันก็มา หนอนก็ยุบยับๆ อยู่อะไรอย่างนี้ มันคงถ่ายออกมาจากท้องหมานั่นล่ะ เห็นแล้วขยะแขยงสุดเลย ขยะแขยงแล้ว แทนที่เราจะเดินหนีไป หรือจิตมันจะหนีไป ไม่สนใจที่จะดู เปล่า จิตมัน โดดใส่เลย จิตมันพุ่งลงไปในกองขี้หมานั้น แล้วมันไปแยก สีก็ส่วนสี กลิ่นก็ส่วนกลิ่น รูปก็ส่วนรูป รูปน้ำระเหยไป มันเห็นอย่างนั้นเลย มันแห้งลงไปต่อหน้าต่อตาเรา จริงๆ มันไม่แห้งหรอก แต่มันเห็นด้วยใจ แยกน้ำออกไปก็เหลือแต่ดิน เป็นฝุ่นเหมือนพื้นธรรมดานี่เอง ใจก็เป็นกลาง นี่ดูกายก็ดู ไม่ใช่ไม่ดูแต่มันไม่สะใจ มันไม่ถึงใจ ใจลึกๆ มันมีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า มีอะไรหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ต้องเรียนอีก แล้วสิ่งที่จะต้องมาเรียน มันอยู่ที่จิตเรานี้เอง มันวิจิตรพิสดารเหลือเกิน
ฉะนั้นเบื้องต้น หลวงพ่อทำสมาธิ จนได้ตัวรู้มาด้วยกายานุปัสสนา ด้วยกาย ใช้อานาปานสติ พอได้ตัวรู้แล้ว ในขั้นเดินปัญญา มาเดินปัญญา อย่างจริงจังด้วยการดูจิตเอา จิตเดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงอะไรอย่างนี้ เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ทางใครทางมัน บางท่านพอท่านทำสมาธิ จิตตั้งมั่นแล้วท่านก็ดูลงในกายต่อ เจริญปัญญาด้วยการดูกาย ครูบาอาจารย์จำนวนมาก ท่านจะดูกาย ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงได้ธรรมะขั้นที่ 3 ท่านบอกว่ากายเป็นสมรภูมิของโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี จิตเป็นสมรภูมิของคนที่จะขึ้นอรหัตตมรรค อันนี้เป็น ประสบการณ์ของท่าน แต่ในตำราไม่ได้ว่าอย่างนั้น
กรรมฐานอะไรสัปปายะกับเรา เราก็เอาอันนั้น
ในตำราสอนว่าสติปัฏฐานเหมือนประตูเมือง 4 ทิศ เข้าประตูไหนก็ได้ เข้าให้ได้ก็แล้วกัน จะเข้าได้ก็ต้องรู้วิธี รู้ตัวเอง รู้จักตัวเอง มีเครื่องมือพอ ก็เข้าได้ ทำกรรมฐานที่ไม่ตรงจริต ไม่ถูกจริต ทำแล้วจืด ใจจะรู้สึกจืด ไม่ใช่กรรมฐานนั้นไม่ดี แต่เราไม่เหมาะกับกรรมฐานอันนั้น ฉะนั้น กรรมฐานทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าสอนนี่ดีทั้งหมด เราเหมาะกับอันไหน เราก็สังเกตเอา อันไหนสมควรแก่เรา อย่างเรารู้แล้วว่าการปฏิบัติธรรม สมถะและวิปัสสนาเป็นสิ่งที่ควรทำด้วยปัญญาอันยิ่ง พอเรารู้แล้ว เราก็มาดูว่า เราเหมาะกับกรรมฐานอะไร ตรงที่เรารู้ว่าอันไหนมีประโยชน์ สมถะและ วิปัสสนามีประโยชน์ เป็นสัมปชัญญะตัวที่หนึ่งชื่อ สาตถก ส่วนตัวที่รู้ว่า กรรมฐานอะไรเหมาะกับเรา อันนี้เรียกว่า สัปปายสัมปชัญญะ
ถัดจากนั้นจิตก็เคล้าเคลีย วนเวียน ศึกษาอยู่ตรงนั้นเรียกว่า โคจร (โคจะระ) ไม่โคจรออกไปนอกวงจร โคจรวนเวียนอยู่รอบๆ กรรมฐาน ของเรานั้นล่ะ เหมือนดาวพระเคราะห์ โคจรวนๆ อยู่รอบพระอาทิตย์ ไม่หนีไปที่อื่น ถ้าหนีไปก็เป็นดาวพเนจร ร่อนเร่ไปเรื่อยๆ อันนั้นเรียกว่า โคจรสัมปชัญญะ การที่เราเคล้าเคลีย คอยศึกษา คอยเรียน คอยสังเกตอยู่ ในกรรมฐานที่เหมาะกับเรานั้น ไม่หลง ไม่เผลอ ไม่ละเลย ไม่หลงลืม อันนั้นเรียกว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ สัมปชัญญะ 4 ตัว เป็นปัญญาเบื้องต้น ที่เราจะใช้ทำกรรมฐาน
จริตนิสัยเราควรแก่กรรมฐานอะไร เราก็ทำอันนั้น สมมุติเราเป็น พวกตัณหาจริตแล้วอินทรีย์เราก็ยังไม่แก่กล้า กรรมฐานที่ดีที่สุดก็คือกาย เป็นคู่ปรับกับตัณหา เพราะพวกตัณหาจริตนี้มันจะรักสุข รักสบาย รักสวย รักงาม ในขณะที่กายนี้ จะแสดงความจริงว่าไม่สวย ไม่งาม ไม่สุข ไม่สบาย ฉะนั้นถ้าเรามีสติรู้ลงในที่กาย มันจะย้อนศรกิเลสของเราเอง อย่างเราเป็น พวกรักสุข รักสบาย รักสวยรักงาม ดูในกายมันจะเห็นกายนี้ไม่สุข ไม่สบาย ไม่สวย ไม่งาม เฝ้ารู้เฝ้าดู มันเหมาะกัน คล้ายๆ ได้ยาถูกโรค ทีนี้พอเราจะต้อง มาดูกายเพื่อเจริญปัญญา เราก็ต้องสังเกตอีก สมาธิเราพอไหม กายานุปัสสนา เหมาะกับสมถยานิก สมาธิเรายังไม่พอ เราก็ทำสมาธิให้มัน หนักแน่นจริงจังขึ้นมา จะอยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ ก็อยู่กับกายเลยก็ได้ อย่างดูร่างกาย ดูไปเลย
จิตมันอยากคิดอะไร ก็ให้มันคิดไป
จะคิดดี คิดร้าย คิดชั่วอะไรก็คิดไป
มีเงื่อนไขอันเดียว ลงไตรลักษณ์ให้ได้
เคล็ดลับอยู่ตรงนี้
เมื่อวานก็มีพระองค์หนึ่งในวัดมาถามหลวงพ่อว่า “จิตมันชอบคิด กำหนด หัวข้อให้มันคิด มันก็ไม่ยอม มันจะหนีไปคิดเรื่องที่มันอยากคิด ผมจะทำ อย่างไรดีครับ จะต้องฝืนไหม” หลวงพ่อบอก “ไม่ต้อง มันอยากคิดอะไร ก็ให้มันคิดไปเถอะ จะคิดดี คิดร้าย คิดชั่วอะไรก็คิดไปเถอะ มีเงื่อนไขอันเดียว ลงไตรลักษณ์ให้ได้” เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้
ฉะนั้นอย่างเราจะคิดพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังอะไรอย่างนี้ จิตมันไม่ชอบ มันไม่อยาก ตอนนี้มันสนใจเรื่องอื่นอยู่ สมมติว่าสนใจเรื่องสาว จะคิดถึงสาวตลอดเวลา อยากแต่งงาน อยากมีเมีย อยากมีโน่นมีนี่ คิดพิจารณา มันลงไป คิด มันอยากคิดอะไรให้มันคิดไป อย่างไปจีบสาว สาวก็โอเค ได้แต่งงานกันแล้ว อย่างโน้นอย่างนี้ แต่ลงไตรลักษณ์ให้ได้ ถ้าลงไตรลักษณ์ไม่ได้ ตายคาที่ลูกเดียวเลย
อันนี้ไม่ใช่หลวงพ่ออุตริสอนอะไรพิลึกอย่างนี้ ครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ของหลวงพ่อองค์แรกเลยคือ ท่านพ่อลี (ธมฺมธโร) ท่านเคยเป็น ท่านเคยทำ ตอนนั้นท่านมาอยู่วัดสระปทุม แล้วท่านก็ใจมันคิดอยากสึก พอใจมันอยากสึก ท่านก็ขึ้นไปนั่งสมาธิบนเจดีย์ แล้วก็พิจารณาไป มันอยากสึก สึกแล้ว มันจะไปทำอะไร ตั้งคำถาม สึกแล้วก็จะไปสมัครงานกับเถ้าแก่คนหนึ่ง ซึ่งเพื่อนทำงานอยู่กับเขาแล้ว จะให้เพื่อนฝากเข้าไปทำงาน คิดต่ออีก อยู่กับเถ้าแก่แล้วจะต้องทำอะไรอีก ก็ต้องขยันทำงานให้หนักเลย ทำงานให้มากเลย ให้เถ้าแก่ชอบเลย พอเถ้าแก่ชอบนี่ เงินเดือนก็เพิ่มขึ้น อะไรอย่างนี้ ก็จีบลูกสาวเถ้าแก่ ในที่สุดก็ได้แต่งงาน แต่งงานแล้ว ก็มีลูกอะไรอย่างนี้ ท่านก็พิจารณาไปเรื่อย แหม ใจมันอิ่ม มันมีความสุข ได้คิดเรื่องอย่างนี้ มีความสุขเพลินไป
เสร็จแล้วสติปัญญาของท่าน บุญบารมีของท่านมันมี สะสมมานาน ท่านลงท้ายพิจารณาลงไป เมียไม่สบาย ลูกไม่สบาย งานการเสียหาย แล้วต้องเอาเวลามาดูแลลูกเมีย ฐานะก็ย่ำแย่ลงอะไรนี่ สุดท้ายรู้สึก จะตายหมดอะไรอย่างนี้ คนนั้นก็ตายคนนี้ก็ตาย อันนี้ตรงนี้ไม่แม่นละ จำไม่ได้ อ่านมาสัก 50 ปีแล้ว จำไม่ได้แล้ว ลงท้ายท่านก็นั่งพิจารณานี่เราย่ำแย่แล้ว ครอบครัวก็พังไปแล้ว ทรัพย์สินเงินทองเราก็หมดแล้ว เราควรจะทำอะไรดี จิตมันก็บอก “ไปบวชสิ” พอจิตบอกว่าไปบวชสิ ท่านโล่งเลย ท่านบอก ใจท่านโล่งเลย ก็ตอนนี้บวชอยู่แล้ว เรื่องอะไรจะต้องวิ่งไปหาความทุกข์อีก นี่อุบาย จิตก็สงบเข้ามา จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมาเลย ฉะนั้นอย่างคิดพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่ลง ถ้าใจมันอยากคิดเรื่องนี้จริงๆ พามันคิด แต่คิดแล้วต้องลงไตรลักษณ์ให้ได้ ถ้าลงไตรลักษณ์ ไม่ได้แล้วแย่เลย ล้มละลายแล้วทางกรรมฐาน
เพราะฉะนั้นอุบายในการ ปฏิบัตินี่หลากหลาย นับจำนวนไม่ถ้วน เรียกกุศโลบาย อุบายที่ฉลาดในการฝึกกรรมฐาน อุบายนั้นทางใครทางมัน แต่หลักของ การปฏิบัติมีทางเดียวที่พระพุทธเจ้าสอนคือ อริยมรรคมีองค์ 8 ไม่มีทางที่สอง
แต่ในอริยมรรคแต่ละตัวๆ มันก็มีวิธีที่จะพัฒนาขึ้นมา อย่างสัมมาสติ ทำอย่างไรเราจะเกิดสติ บางคนเกิดสติเพราะเจริญกายานุปัสสนา บางคนเกิดสติเพราะเจริญเวทนานุปัสสนา บางคนเกิดสติเพราะ เจริญจิตตานุปัสสนา บางคนก็ขึ้นธัมมานุปัสสนา พอสติถูกต้อง สมาธิที่ ถูกต้องก็เกิด ถ้าได้สัมมาสติเมื่อไหร่ ก็ได้สัมมาสมาธิควบกันมาอย่างนั้น แล้วทำให้มาก เจริญให้มาก ต่อไปก็สัมมาญาณะ ความรู้ถูก ความเข้าใจถูกก็เกิดขึ้น มีความรู้ถูก มีความเข้าใจถูกเกิดขึ้นก็เกิดสัมมาวิมุตติ เกิดมรรคเกิดผล
เส้นทางของพระอริยะทั้งหลาย ท่านก็เดินอย่างนี้ เส้นทางมีทางเดียวคือมรรคมีองค์ 8 แต่การปฏิบัติเฉพาะตัวนี่ ดูตัวเอง กรรมฐานอะไรสัปปายะกับเรา เราก็เอาอันนั้น ไม่ต้องดูคนอื่น ดูตัวเอง สังเกตเอา กรรมฐานไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรนักหรอก ใช้ความสังเกตเอา หลวงพ่อมาเน้นที่ความสังเกตเอา เพราะยุคนี้เราเชื่อไม่ได้ ว่าใครคือกัลยาณมิตร เราไม่มีพระพุทธเจ้ามาชี้แจงให้ดูให้ฟัง มารับรองว่า ท่านนี้ได้มรรคได้ผลจริง อันนี้เข้าใจผิดไม่ได้จริง อันนี้หลอกลวง ระหว่างได้จริง เข้าใจผิดว่าได้จริง หลอกลวงว่าได้จริง ไม่เหมือนกัน หลอกลวงว่าได้จริงถ้าเป็นพระก็ปาราชิก เข้าใจผิดนี่ไม่เป็นไร แล้วก็ถ้า แก้ไขถูกต้องได้ ก็ไม่ได้อาบัติอะไร เราไม่รู้ว่าใครคือกัลยาณมิตร
ถ้าพูดแบบกางตำราพูด ก็บอกว่าพระพุทธเจ้ามอบหมาย ให้ธรรมวินัยเป็นศาสดา แล้วก็หันไปหาธรรมวินัย ไปเรียน ไปศึกษา เรียนแล้วศึกษาแล้วทำอย่างไรต่อ เรียนแล้วศึกษาแล้วเอาไปสอบ อันนี้ยัง ไม่ใช่เรียนธรรมะ เรียนพระไตรปิฎก เรียนอะไรอย่างนี้ แล้วก็มาดูว่า สิ่งที่เราทำอยู่นี่มันสอดคล้องกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไหม ตรงนี้ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ การพิจารณาอย่างแยบคาย อย่างแยบคาย ไม่ใช่พิจารณาตามใจกิเลส แต่อย่างแยบคาย คือพิจารณาแล้วมันสอดคล้อง มันลงกันได้กับคำสอนของพระพุทธเจ้ามีจารึกเอาไว้ หรือคำสอน ของพระอรหันต์สาวกรุ่นเก่าๆ สมัยพุทธกาลที่จารึกลงในพระไตรปิฎกมีเยอะ อย่างพวกเถรคาถาเถรีคาถาอะไรนี่อยู่ในพระไตรปิฎก ฉะนั้นในพระไตรปิฎก ไม่ใช่มีแต่พุทธวจนหรอก
พุทธวจนจริงๆ จบไปตั้งแต่ท่านเทศน์จบ ที่เหลือนั้นคือสิ่งที่ พระสาวกทั้งหลายทรงจำไว้แล้วท่านก็ปฏิบัติ พอรู้ถูกเข้าใจถูก ถึงวันสังคายนา ท่านก็มาสรุปด้วยกัน พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ อะไรอย่างนี้ หรือบางองค์ท่านก็เล่าว่า ท่านปฏิบัติมาอย่างนี้ มีผลอย่างนี้ จิตท่านบรรลุมรรคผลแล้ว จิตท่านแสดงอาการอย่างนี้ขึ้นมาอะไรอย่างนี้ ท่านก็เล่าๆ กันไว้ เพราะฉะนั้นก็อยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าไม่เชื่อท่านที่เป็น พระอรหันต์แน่นอน มาเชื่อใครยุคนี้มันเชื่อไม่ได้ กระทั่งมาเชื่อหลวงพ่อก็โง่ รู้ได้อย่างไรว่าหลวงพ่อสอนถูก ก็ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง
เราต้องพึ่งโยนิโสมนสิการให้มาก
หลวงพ่อสอนอย่างนี้ลองไปทำดูสิ ทำแล้วเห็นไหม ขันธ์ 5 เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือทำแล้วเห็นว่าขันธ์ 5 มันเที่ยง มันเป็นสุข มันเป็นอัตตา พิสูจน์ด้วยตัวเอง มีคนมาหาหลวงพ่อเยอะเหมือนกัน มาบอกว่า ฟังที่หลวงพ่อสอน แล้วตอนนี้สามารถเป็นพยานในคำสอนของหลวงพ่อได้ หลวงพ่อบอก “คุณเป็นพยานได้ ก็เป็นพยานได้เฉพาะตัวหรอก วิญญูชนมัน รู้ได้เฉพาะตัว คนอื่นเขาก็ต้องไปรู้ด้วยตัวของเขาเอง ถ้าขืนเขามาเชื่อหลวงพ่อ หรือเขาเชื่อคุณ เขาก็โง่อีกล่ะ ก็ต้องดูจากของจริง” ภาวนาแล้ว ลดละกิเลสได้ไหม ถ้าภาวนาแล้วลดละกิเลสไม่ได้ก็ไม่ใช่หรอก ไม่ถูกแน่นอน
ตรงที่เราคิดพิจารณาผลการปฏิบัติ ตัวนี้เรียกว่าเรามีโยนิโสมนสิการ เมื่อเราหากัลยาณมิตรลำบาก เราก็พึ่งโยนิโสมนสิการให้มาก หลวงปู่ดูลย์ ท่านเคยทดสอบหลวงพ่อ ท่านสอนเรื่องโลกเรื่องจักรวาลอะไรอย่างนี้ จักรวาลเกิดอย่างนั้นอย่างนี้อะไรอย่างนี้ จนกระทั่งสัตว์ทั้งหลาย มันเกิดขึ้นมาจากรูปนามของสิ่งไม่มีชีวิต เกิดรูปนามของสิ่งมีชีวิต ที่ไม่มีจิตวิญญาณ จากรูปนามของสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีจิตวิญญาณ เกิดเป็นรูปนามของสิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณอะไรอย่างนี้ ท่านสอนๆๆ ยาว เสร็จแล้วท่านก็ถามหลวงพ่อ เชื่อไหม เราก็ “ผมยังไม่เห็นครับ เพราะฉะนั้นใจยังไม่เชื่อ” ท่านชมว่าฉลาด ถ้า “เชื่อครับ” โง่ ท่านคงไม่ชม ว่าฉลาด ท่านคงชมว่าโง่ ฉะนั้นเราต้องเห็น บอก “แต่ผมจะจำแล้วผมจะไปภาวนา” จะไปดู แล้ววันหนึ่งก็คงเข้าใจ สิ่งที่หลวงปู่สอน กรรมฐานที่ท่านสอนบางอย่างใช้เวลาตั้ง 20 ปีถึงจะเข้าใจ บางข้อ ฉะนั้นอย่างฟังๆ เรานึกว่าเข้าใจจริงๆ ยังไม่เข้าใจ ต้องไปภาวนา ถ้าไม่ภาวนาไม่มีทางเข้าใจธรรมะ
มีครั้งหนึ่งหลวงพ่อยังเป็นโยม ยังเป็นหนุ่มๆ อยู่เลยลงไป กราบท่านพุทธทาส ท่านองค์ใหญ่ เดี๋ยวนี้เราคงใหญ่กว่าท่านละกระมัง ท่านนั่งองค์เดียวนี่เต็มเก้าอี้หินเลย มีเก้าอี้หินอยู่หน้ากุฏิ พนักพิงก็เป็นหิน พอท่านขึ้นนั่ง ไก่มันก็มาเกาะ ไก่ตัวนี้มันรู้งาน ชอบมาฟังท่านสอน มาเกาะ หลวงพ่อก็เข้าไปนั่งกับพื้นนวดขาท่าน ถามท่าน “ท่านอาจารย์ครับ ถ้าผมอ่านหนังสือของท่านอาจารย์ทั้งหมด ผมจะได้โสดาบันไหม” ท่านตอบฉะฉาน “ไม่ได้หรอก ต้องปฏิบัติเอา” นี่ครูบาอาจารย์ แต่งหนังสือตั้งเยอะ ท่านบอกเลย อ่านให้หมดก็ไม่ได้หรอก ต้องปฏิบัติเอา
พอเราปฏิบัติ เราก็จะรู้เลยว่าคำสอนที่ครูบาอาจารย์สอนมานั้นดีไม่ดี สอนถูกไม่ถูกอะไรนี่รู้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นกรรมฐานฝึกทางใครทางมัน ฝึกแล้วก็ตรวจสอบตัวเอง ไม่ใช่ทางใครทางมัน กูเดินจนหลงโลกไปแล้ว ไม่รู้ว่าทำผิด อันนั้นเหลวไหล จะหวังเจอกัลยาณมิตรแล้วมาบอกอะไรนี่แย่เลย
ยุคนี้กัลยาณมิตรอย่าเชื่อนัก มีหลายคนภาวนา หลวงพ่อเห็นว่าเขาก็ดี ไปเจอกัลยาณมิตร กัลยาณมิตรบอก ผิดแล้ว ต้องเพ่ง เพ่งแรงๆ เลย ถึงจะใช้ได้อะไรอย่างนี้ เพ่งเสียดำไปหมดเลย เครียดไปหมดเลย หรือบางคนก็สอน มืดมัวอย่างไรก็ไม่เป็นไร มืดก็มืด นั่งมันมืดๆ อย่างนั้นล่ะ จิตมีโมหะก็ไม่เป็นไร ฝึกทีไรก็นั่งทีไรก็มืดทุกที บอกไม่เป็นไร นั่งไปเถอะ อย่างนี้มันคงไม่ใช่กัลยาณมิตรแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนว่า ถ้าฝึกถูก จิตมันสว่างไสวขึ้นมา ไม่มืดตึดตื๋ออย่างนั้นหรอก อันนั้นมันจิตมีโมหะ ฉะนั้นกัลยาณมิตรเชื่อไม่ได้ ต้องสังเกตตัวเองว่าภาวนาแล้วสติดีขึ้นไหม จิตใจเป็นผู้รู้ผู้ดู ตั้งมั่นขึ้นมาบ้างหรือเปล่า เวลาฟุ้งซ่านทำกรรมฐาน แล้วจิตได้พักผ่อนสงบลงมาบ้างไหม เห็นไตรลักษณ์ของรูปของนามไหม
ก่อนจะเห็นไตรลักษณ์ของรูปของนาม มันต้องแยกธาตุแยกขันธ์ได้ก่อน แยกเห็นกายส่วนหนึ่ง ใจอยู่ส่วนหนึ่ง เห็นเวทนาอยู่ส่วนหนึ่ง กายและใจอยู่อีกส่วนหนึ่ง เห็นสังขารอยู่ส่วนหนึ่ง กาย เวทนา จิต อยู่อีกส่วนหนึ่ง ค่อยๆ แยก ค่อยๆ ดูไป พอแยกขันธ์ได้แล้ว มันถึงจะ เดินวิปัสสนาได้ มันจะเห็นแต่ละขันธ์ แต่ละส่วน แต่ละตัวนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ จะเห็นอย่างนั้น อันนั้นถึงจะเรียกว่าขึ้นวิปัสสนา
ภาวนาๆ ไป บางทีทำวิปัสสนาอยู่ดีๆ จิตมันสว่างออกไปข้างนอก ใจเราไปนอนอยู่ในความสว่างข้างนอก ไปอยู่ข้างนอก อยู่อย่างนั้นได้เป็นปีเลย มีแต่ความสุข กิเลสอะไรไม่เห็นหรอก มีความสุขสบาย หลวงพ่อเคยเป็นตัวนี้ มันเป็นวิปัสสนูปกิเลสปกิเลสตัวหนึ่ง ขนาดหลวงปู่ว่าภาวนาเป็นแล้ว ช่วยตัวเองได้แล้ว ภาวนาต่อมาจิตยังติดวิปัสสนูปกิเลสได้เลย พอจิตมันติด วิปัสสนูปกิเลส มันสว่างว่าง ตัวนั้นเรียกว่า โอภาส เป็นวิปัสสนูปกิเลส ตัวที่หนึ่งเลย โอภาส พวกดูจิตๆ นี่ล่ะ จะไปติดโอภาส ตัวอื่นยังไม่เท่าไหร่ พวกดูจิตจะติดตัวเด่นๆ ตัวโอภาสตัวหนึ่ง แล้วอีกตัวหนึ่งทำสติ แบบเข้มข้นพวกนี้ แล้วก็พวกปัญญาเยอะ เยอะเกินสมาธิ นี่พวกวิปัสสนูปกิเลส ที่พวกดูจิตๆ เจอกันเยอะ หลวงพ่อก็เจอ
พอมันสว่างว่างสบายแล้ว นานๆ ไปหลวงพ่อก็เริ่มสังเกต พระพุทธเจ้าว่าจิตไม่เที่ยง ทำไมจิตดวงนี้เที่ยง พระพุทธเจ้าว่าจิตเป็นทุกข์ ทำไมตัวนี้เป็นสุข พระพุทธเจ้าว่าจิตนี้บังคับไม่ได้ ทำไมเราบังคับได้ สิ่งที่เราทำอยู่ ผลของมันนี่ตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าสอนทั้งหมดเลย ผิดตรงไหน เห็นไหมไม่คิดว่าพระพุทธเจ้าสอนผิด หรือพระไตรปิฎกจดผิด แต่คิดทันทีเลยว่าเราผิดตรงไหน ดูไม่ออก ดูอย่างไรก็ดูไม่ออก ดีไปเจอ พ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงตามหาบัว (ญาณสมฺปนฺโน) ไปถามท่าน “นี่ผมภาวนา พ่อแม่ครูบาอาจารย์ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิต แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่พัฒนาเลย มันผิดตรงไหนครับ” ท่านบอกว่า “ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว ตรงนี้สำคัญนะ ต้องเชื่อเรานะ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” ท่านว่าอย่างนี้
พอหลวงพ่อมาบริกรรม นั่งอยู่ข้างหลังท่าน ห่างกัน 2-3 เมตรเอง ก็นั่งบริกรรมไปเรื่อย พุทโธๆ จิตมันไม่ชอบ จิตมันอึดอัด มันแน่นไปหมดเลย พอแน่น หลวงพ่อก็นี่ก็ไม่เหมาะกับเราแล้ว ทำไมท่านให้บริกรรม แสดงว่า สมาธิเราไม่พอ ฉะนั้นหลวงพ่อก็หายใจเข้าพุทออกโธ ทำอานาปานสติ ที่เราถนัด หายใจอยู่ 28 ครั้งเอง ใจ จิตรวมลงไป พอรวมลงไป ถอนออกมานี่ แทบเขกหัวตัวเองเลย จิตมันอยู่ข้างนอก อยู่อย่างนั้นไปตั้งเป็นปีเลย เสียเวลา อยู่ตรงนั้นไม่เคยเห็นทุกข์ เห็นแต่นิจจัง สุขัง อัตตา
อาศัยความสังเกต อาศัยโยนิโสมนสิการ ภาวนาแล้วรู้ว่าผิด แต่ว่ายังไม่รู้ว่าผิดอย่างไร พอดีมีครูบาอาจารย์ท่านสะกิดให้ เราก็รู้ โอ้ สมาธิไม่พอ ตอนนั้นรู้แจ้งเลยว่า วิปัสสนูปกิเลสเกิดจากสมาธิไม่พอ ถ้าจิตมี สมาธิพอละก็วิปัสสนูปกิเลสดับทันที อันนี้ตอนหลังไปเจอพระสูตร คุณแม่ เป็นคนไปเจอชื่อ ยุคนัทธสูตร พระอานนท์เป็นคนแสดงสูตรนี้ไว้ ท่านบอกว่า ธัมมุทธัจจะ 10 ประการเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติ จะปฏิบัติด้วยการใช้สมาธินำปัญญา ปัญญานำสมาธิ หรือสมาธิและปัญญาควบกันก็ตาม สุดท้ายก็มาเจอ ธัมมุทธัจจะ เมื่อเจอธัมมุทธัจจะแล้ว เพิ่มพลังของสมาธิขึ้น ก็จะพ้น จากธัมมุทธัจจะได้ ตัวธัมมุทธัจจะนั้นจริงๆ มันก็คือตัว วิปัสสนูปกิเลสนั่นเอง มันหลอกเรา
ค่อยๆ ภาวนา ดูกรรมฐานอะไรมันเหมาะกับเรา แต่ในขั้นต้นๆ อินทรีย์เรายังไม่แก่กล้าเลย สติเรายังไม่ดี สมาธิเราก็ไม่ดี เราจะไปดู ธรรมะที่ละเอียดเราดูไม่ได้ เราก็ดูของที่หยาบขึ้น ดูจิตไม่ได้เราก็ดูเวทนา ดูเวทนายังไม่ได้ เราดูกาย ดูกายไป เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกาย หายใจเข้า เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอนอะไรอย่างนี้ เห็นร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด ดูเรื่อยๆ เลย จิตมันจะได้สมาธิขึ้นมา ไม่ใช่ปัญญา จิตจะได้สมาธิขึ้นมา พอจิตมีสมาธิ เราก็เดินปัญญา จริตนิสัยเราเหมาะกับอะไร จิตมันจะพลิกไปจัดการอันนั้นเอง ไม่ต้องห่วง
อย่างให้หลวงพ่อไปดูกาย จิตมันจืด มันไม่ดู ไม่อยากดู มันจะดูจิต บางท่านให้ไปดูจิต ท่านรู้สึกไม่เอา วุ่นวาย ยุ่งเหยิง ไม่ชอบอะไรที่ยุ่งๆ ซับซ้อนไม่ชอบ ชอบอะไรที่เรียบๆ ง่ายๆ สบายๆ อะไรอย่างนี้ แล้วแต่จริตนิสัย ท่านเหล่านั้นท่านก็เอาสมาธิที่มีแล้ว จิตที่มีสมาธิแล้วเอามาดูกาย เดินปัญญา ด้วยการดูกาย ถ้าพลังของท่านอินทรีย์ของท่านแก่กล้าขึ้น มันเขยิบจาก กายขึ้นไปเวทนา เพราะเวทนามันก็อยู่ในกาย พอจิตมันทรงสมาธิมากขึ้นๆ มันก็เห็น สติก็แหลมคมขึ้น มันก็เห็นว่ากายกับเวทนานั้นคนละอันกัน มันก็จะดูอย่างนี้ แล้วสุดท้ายมันก็จะถอนตัณหาและทิฏฐิได้
การเจริญสติปัฏฐาน 4 นั้นพระพุทธเจ้าลงท้ายด้วยประโยคเดียวกัน คือ ถอนตัณหาทิฏฐิเสียได้ เพราะฉะนั้นดูกายล้วนๆ ไปเลยก็ถอนตัณหาทิฏฐิ คือเป็นพระอรหันต์ได้ ดูเวทนาก็ถอนตัณหาทิฏฐิได้ ก็เป็นพระอรหันต์ได้ ดูจิตหรือเจริญธัมมานุปัสสนา ก็ถอนตัณหาและทิฏฐิได้ ก็เป็นพระอรหันต์ได้ ฉะนั้น 4 ทิศ 4 ทางนี่ไม่ใช่ตำรารุ่นหลังมาเขียนมั่ว แต่ว่าอยู่ในสติปัฏฐานสูตร ในมหาสติปัฏฐานสูตรเอง วรรคสุดท้ายไปอ่านดูของแต่ละหมวดๆ ลงท้าย ท่านจะลงท้ายด้วยว่า ถอนตัณหาทิฏฐิได้ ก่อนจะถอนตัณหาทิฏฐิได้ ตอนที่เจริญภาวนา ต้องถอนความยินดียินร้ายได้ก่อน จิตต้องเป็นกลาง พอจิตเป็นกลางแล้วดูกายทำงาน ดูใจทำงาน ดูไป สุดท้ายมันก็ถอน ตัณหาและทิฏฐิได้ ถอนความอยาก แล้วก็ความยึดถือใน ความคิดความเห็นของเรานี้ล่ะ
เวลาเราทำงานรวมหมู่อยู่กับหมู่เพื่อน สังเกตให้ดีเถอะ ปัญหาใหญ่ก็คือ ตัณหาและทิฏฐิ ยิ่งฆราวาส ฆราวาสทะเลาะกันเพราะตัณหาและทิฏฐิ ส่วนพระตัณหาจะน้อยหน่อย เพราะขยันภาวนา ตัวที่เป็นหัวโจกจริงๆ คือตัวทิฏฐิ เป็นพระแล้วเซลฟ์จัด เชื่อมั่นความคิดความเห็นตัวเอง อะไรอย่างนี้เป็นปกติๆ พระพุทธเจ้าถึงสอน ฆราวาสทะเลาะกัน เพราะตัณหาและทิฏฐิ สมณพราหมณ์ทะเลาะกันเพราะตัวทิฏฐิ ลองดูสิจริงไหมที่ท่านสอน ไม่ต้องเชื่อ ทะเลาะกันแทบเป็นแทบตาย ก่อม็อบอะไรนี่ จ้างกันมาทำอะไรอย่างนี้ เรื่องตัณหาไหม บางพวกทำเพื่อ ผลประโยชน์ก็เป็นตัณหา บางพวกทำด้วยอุดมการณ์ก็เป็นตัวทิฏฐิก็ตีกันตาย สิ่งที่ท่านสอนไม่มีวันผิดหรอก
เราค่อยๆ ภาวนา ของเราไปเรื่อยๆ รู้จักกรรมฐานที่เหมาะกับตัวเองไป อุบายนั้นเยอะ แต่หลักมีอันเดียวกัน หลักของสมถะอย่างนี้ ก็คือน้อมจิตไปอยู่ ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง อย่างใจ มันชอบคิดถึงสาวอย่างนี้ ห้ามไม่ฟังเลย คิดมันไปเลย มันจะอยู่ในอารมณ์ ที่มีความสุข แหม คิดถึงสาวแล้วใจมันมีความสุขขึ้นมา แต่ลงไตรลักษณ์ให้ได้เท่านั้นก็ปลอดภัย ลงไตรลักษณ์ไม่ได้ อันตรายสำหรับพระ ฆราวาสยังไม่เท่าไหร่หรอก
ค่อยๆ ดู ค่อยๆ ฝึกทุกวันๆ ต่อไปเรารู้ด้วยตัวเอง เห็นด้วยตัวเองแล้ว เรายืนยันได้ว่าพระพุทธเจ้าสอนถูก คำสอนของท่านไม่มีผิดเลย เข้าใจขึ้นมา มันเข้าถึงใจเลยเรียกว่า เข้าใจ เราก็เป็นพยานว่า พระพุทธเจ้าสอน ถูกอะไรอย่างนี้ ค่อยๆ ฝึก
วัดสวนสันติธรรม
4 เมษายน 2564