สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5

มีสติ มีสติเอาไว้ ขาดสติตัวเดียวก็คือไม่ได้ปฏิบัติ ทำสมถะก็ต้องมีสติ ทำวิปัสสนาก็ต้องมีสติ ดำรงชีวิตอยู่กับโลกก็ต้องมีสติ แต่สติแตกต่างกัน สติอย่างโลกๆ อันนี้พวกเราก็ต้องพยายามมี พยายามฝึก ทำอะไรก็ไม่เผอเรอลืมเนื้อลืมตัว เดินไปเหยียบเท้าคนอื่นเขา เขาก็จะทะเลาะเอา เดินไม่ระวัง เดินตกท่อ บอกขาดสติ ขับรถไม่ดีไปชนคน เขาบอกขาดสติ อันนั้นสติโลกๆ ฉะนั้นอยู่กับโลกก็ต้องมีสติ

ทำสมถะก็ต้องมีสติ สมถะนั้นจริงๆ มันไม่ยาก ถ้าเรารู้หลัก หลายคนชอบบ่นว่า นั่งสมาธิตั้งนานแล้วมันไม่สงบ ไม่รู้หลักของการปฏิบัติ ถ้ารู้หลักแล้วมันไม่ยากเลย สมาธิมันมี 2 ตระกูล 2 กลุ่มใหญ่ๆ สมาธิที่เป็นมิจฉาสมาธิ กับที่เป็นสัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ สงบแต่ไม่มีสติ สงบโง่ๆ ไปอย่างนั้น สัมมาสมาธิประกอบด้วยสติ ตั้งมั่น มันเปลี่ยนจากสงบเฉยๆ พอมีสติเข้าไป มันเกิดเป็นความตั้งมั่นขึ้นมา

ส่วนการทำวิปัสสนาก็อาศัยสติ พอเรามีจิตตั้งมั่น ทรงสมาธิที่ถูกต้อง มีกำลังมากพอ พอสติระลึกรู้ลงที่กาย มันเห็นว่ากายกับจิตนั้นคนละอันกัน ขันธ์มันจะแยกทันทีเลย สติระลึกรู้เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ จิตตั้งมั่น อันนี้ขันธ์มันก็แยก แยกเวทนาออกไปจากจิต จิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้สังขาร เช่น โลภ โกรธ หลง มันก็เห็นโลภ โกรธ หลง แยกออกไปจากจิต ไม่ใช่จิต ร่างกายก็ไม่ใช่จิต เวทนาก็ไม่ใช่จิต สังขารก็ไม่ใช่จิต จิตเป็นตัวรับรู้

 

ภาวนามยปัญญา
เริ่มจากการแยกรูปนาม แยกธาตุ แยกขันธ์

ตรงที่เราสามารถแยกได้ แยกขันธ์ออกมาได้ เป็นการเจริญปัญญาขั้นต้น ในภาคปฏิบัติ ปัญญาจากการอ่าน การฟัง การคิดไตร่ตรอง อันนั้นเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง อ่านธรรมะ ฟังธรรมะ เดี๋ยวนี้ก็มีดูธรรมะ ดูยูทูป อันนี้เรียกว่าสุตตมยปัญญา ดูแล้วก็พิจารณาคิด ค้นคว้า ไตร่ตรอง หาเหตุหาผล เป็นจินตามยปัญญา ตรงนี้ยังไม่มีการแยกขันธ์ ตรงที่เจริญปัญญาในภาคปฏิบัติจริงๆ ภาวนามยปัญญา มีจิตตั้งมั่น มีสติระลึกรู้รูปธรรม ระลึกรู้นามธรรม แล้วจะเห็นรูปธรรมกับจิตคนละอันกัน

เวทนาเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งกับจิต ก็เป็นคนละอันกัน สังขารเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง สังขารเช่นความปรุงดี ปรุงชั่ว เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ อันนี้กับจิตคนละอันกัน ตรงที่มันแยกออกมาเป็นคนละอันกับจิต ตรงนี้เรียกเราแยกรูปแยกนามได้ แยกรูปออกไป รูปมันหายใจ รูปมันยืน เดิน นั่ง นอน จิตเป็นคนรู้ อย่างนี้เรียกแยกรูปแยกนามได้ หรือรูปนั้นแยกละเอียดออกไปอีก ก็เป็นธาตุ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม บรรจุอยู่ในสเปซ ในช่องว่าง อันนั้นแยกยาก

แยกดิน น้ำ ไฟ ลม มันแยกได้ 2 แบบ แยกดิน น้ำ ไฟ ลม แยกตามนัยแห่งพระสูตรอันหนึ่ง นัยแห่งอภิธรรมอีกอันหนึ่ง รูปแยกยากอยู่ แต่นามแยกไม่ยาก อย่างโกรธ ใครๆ ก็รู้จักโกรธ ไม่ต้องแยกอะไรต่อแล้ว โกรธ รัก เกลียด มันเป็นนามธรรม สุข ทุกข์ ไม่ต้องไปแยกอะไรมากมาย แต่ตัวรูป ถ้าเรียนรูปจริงจัง แยกรูปลงไปอีก อย่างถ้าเราเรียนอย่างหยาบๆ เราเห็นรูปนี้นั่งอยู่ รูปนี้ยืน เดิน นั่ง นอน รูปนี้หายใจออก รูปนี้หายใจเข้า รูปนี้เคลื่อนไหว รูปนี้หยุดนิ่ง เรียนอย่างนี้เรียนแบบพระสูตร เรียนได้ บรรลุพระอรหันต์ได้

ถ้าเรียนอย่างอภิธรรมก็บอกว่าทำไม่ได้ รูปยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่รูปแท้ มันเป็นวิญญัติรูป รูปแท้ๆ มี 18 ชนิด มีใครแยกได้ มันแยกไม่ได้ มันแยกอยู่ในหนังสือ ให้แยกคร่าวๆ ก็แยกพอได้ ทำสมาธิขึ้นมาแล้วก็แยกดิน น้ำ ไฟ ลม ถ้าแยกเชิงอภิธรรม ไม่มีใครทำได้หรอก ถ้าแยกเชิงพระสูตร ไม่ยากเกินไป เพราะพระสูตรเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ให้เราเอามาปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติตามแนวพระสูตร บรรลุพระอรหันต์เยอะแยะไป คนปฏิบัติตามแนวอภิธรรม ไม่เห็นมีเลย ไม่เคยเจอเลย มีแต่ท่องๆ เอาไว้

แยกรูปแนวพระสูตร ก็ดูไป รูปในส่วนที่เป็นดิน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นส่วนของดิน ส่วนของน้ำ เช่น น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำเสลด น้ำลาย น้ำปัสสาวะ น้ำเหงื่อ อะไรพวกนี้ นี้ส่วนของธาตุน้ำ ธาตุลมก็ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมอยู่ในท้อง บางทีลมก็วิ่งอยู่ในท้องเราดังครืดคราด ก็เป็นธาตุลม ธาตุไฟก็เป็นความอบอุ่นในตัวของเรา ทำงานหลายอย่าง บางทีเวลาย่อยอาหารก็ใช้ธาตุไฟย่อย มันจะรู้สึกอบอุ่นในท้อง อันนี้แยกแบบพระสูตร ก็ไม่ยากอะไร มนุษย์ธรรมดาทำได้

ถ้าแยกรูปแนวอภิธรรม ใครจะทำได้ รูปผู้หญิง รูปผู้ชาย รูปผู้หญิงผู้ชายไม่ได้ดูที่ร่างกายข้างนอก ต้องรู้ด้วยจิต คือรู้ลงไปที่ตัวโครโมโซมอะไรต่ออะไรนั้น ถึงจะแยก ซึ่งไม่มีใครทำได้ ต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ไปแยก หรือในผมหนึ่งเส้น มีทั้งธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่ด้วยกัน ใครจะแยกได้ในผมหนึ่งเส้น ตรงไหนดิน น้ำ ไฟ ลม มันแยกตามทฤษฎี ฉะนั้นเวลาเราแยกรูปแยกนาม ถ้าแยกรูป หลวงพ่อแนะนำเลยแยกเชิงพระสูตร มนุษย์ธรรมดาทำได้

แล้วไปดูให้ดีในสติปัฏฐาน 4 สอนแนวพระสูตร รูปหายใจออก รูปหายใจเข้า รูปยืน เดิน นั่ง นอน อภิธรรมบอกเอามาทำอะไรไม่ได้ เป็นวิญญัติรูป รูปเคลื่อนไหวอะไรพวกนี้ แต่ว่าคนที่เดินสติปัฏฐาน บรรลุพระอรหันต์มาตั้งเยอะตั้งแยะแล้ว ก็แนวพระสูตรนั่นล่ะ การแยกรูปของเราแยกให้ง่ายๆ เลย พอจิตเราตั้งมั่นแล้วรู้สึกลงไป อย่างเวลาเราฟังหลวงพ่อเทศน์ สมาธิพวกเราจะเกิดอัตโนมัติ จิตมันจะมีสมาธิขึ้นมา ตอนที่ฟังหลวงพ่อเทศน์ เรารู้สึกลงไปในร่างกาย รู้สึกลงไป ตัวที่นั่งอยู่ มันตัวนี้ถูกรู้ถูกดู ลองรู้สึกดู ใช่ไหม ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดู ไม่ต้องไปหาว่าจิตอยู่ที่ไหนหรอก แค่รู้สึกว่าร่างกายมันเป็นอีกส่วนหนึ่ง เป็นของถูกรู้ แค่นี้ก็เรียกว่าเราแยกรูปนามได้แล้ว

หรือเรามีความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย เรามีจิตตั้งมั่นอยู่ เราก็จะเห็นร่างกายก็ส่วนหนึ่ง สุขทุกข์ก็ส่วนหนึ่ง จิตที่เป็นคนรับรู้ก็ส่วนหนึ่ง นี่ก็เรียกแยกรูปแยกนามได้ หรือเวลากิเลสเราเกิด โลภ โกรธ หลง เกิด สติระลึกรู้ ตอนนี้โลภ โกรธ หลง เกิด จิตตั้งมั่น มันก็จะเห็นโลภ โกรธ หลง เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิต ไม่ใช่จิต มันแยกออกจากจิต เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิต อย่างนี้เรียกว่าเราเริ่มเจริญปัญญาในภาคปฏิบัติแล้ว เริ่มทำภาวนามยปัญญาแล้ว

ภาวนามยปัญญา เริ่มจากการแยกรูปนาม แยกธาตุ แยกขันธ์ จะแยกได้ระดับไหนก็แล้วแต่เรา ถ้ามีสมาธิสูงก็แยกได้เยอะ สมาธิไม่มากก็แยกได้พอประมาณ พอเอาตัวรอด อย่างถ้าสมาธิเราดีๆ สติเราว่องไว แค่ตัวโกรธ มันแยกออกไปได้อีกตั้งเยอะตั้งแยะ ดีกรีของมันไม่เท่ากัน โกรธแต่ละตัวก็แตกต่างกัน ขัดใจเล็กๆ กับโกรธจนบ้าคลั่ง ดีกรีมันต่างกัน มันตระกูลเดียวกัน หรือความตระหนี่ มันอยู่ในตระกูลโทสะ เวลาเราเกิดความตระหนี่หวงแหน ใจเราไม่มีความสุข มันเป็นตระกูลโทสะ อิจฉา ตระกูลโทสะ เวลาเราอิจฉาคนอื่น ใจเราไม่มีความสุข

 

รักษาจิตใจของเราให้ดี

พูดถึงอิจฉาๆ อยากเตือนพวกเรานิดหนึ่ง ตอนนี้ก็ดรามากันเยอะ เรื่องชาตินิยม ไอ้นั่นของกู ไอ้นี่ของกู แต่ละประเทศ ไอ้นั่นของกู ไอ้นี่ประเทศของกู วัฒนธรรมกู ขนมกู ปราสาทกู มันกูทั้งนั้น เถียงกันไป เถียงกันมา พวกไม่รู้จักประวัติศาสตร์ ไม่รู้จักวัฒนธรรม คนแต่ก่อนไม่มีชาติ ไม่มีประเทศ มีแต่เผ่า เผ่าพันธุ์ก็เคลื่อนที่ได้ด้วย ไม่ได้อยู่กับที่ เคลื่อนไปเคลื่อนมา วัฒนธรรมก็แลกเปลี่ยน เคลื่อนย้ายตลอดเวลา ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น แล้วเวลามีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง คนไหนปรับตัวเก่ง คนนั้นเอาตัวรอด คนไหนปรับตัวไม่ได้ ก็ติดอยู่กับอดีต อดีตที่รุ่งเรือง ปรับตัวไม่ได้ ไม่มีอะไรเหลือ

คนสยาม คนสยามไม่ใช่คนไทย คนสยามในแผ่นดินนี้ แต่เดิมก็เป็นคนมอญ คนขอม มาเกิดภาษาไทย ไทยเป็นชื่อของภาษา เป็นภาษาที่ใช้ติดต่อตั้งแต่จีนตอนใต้ลงมา มาถึงทางตะวันออกของอินเดีย ในอินโดจีนก็ใช้ภาษาไทยกัน ในลาว เป็นเรื่องของภาษา แต่คนที่อยู่ในแผ่นดินนี้ สารพัดจะอยู่เลย ในเมืองไทยแต่เดิมก็มอญนั่นล่ะ แล้วก็คนขอม ขอมนี้อยู่ตั้งแต่ลพบุรี ไปพิมาย ไปโคราช ไปถึงยันศรีสะเกษ ส่วนหนึ่งก็ลงไปพื้นราบฝั่งเขมร

อย่างสุริยวรมันที่ 2 ไปจากพิมาย ไปสร้างปราสาทหิน นครวัดอะไรอย่างนี้ ถามว่าคนพวกนี้ เขาบอกว่าเขาเป็นคนไทยไหม เขาไม่ได้เป็นคนไทย สยามนั้นมันก็เลยเป็นคนสยามเชื้อสายขอม คนสยามเชื้อสายมอญ คนสยามเชื้อสายลาว อย่างลาว อาจจะรู้สึกว่าภาคอีสานเป็นของลาว ไม่ใช่ ในอีสานก็มีชนเผ่าตั้งเยอะแยะ ภูไทก็มี ส่วยก็มี กูยก็มี เยอะแยะ คนไทยก็มี คนโคราชนั่นล่ะคือคนไทย แต่ละพวก แต่ละกลุ่ม เรื่องแบ่งแยกประเทศ เรื่องอะไร มันเรื่องฝรั่งมันมาทำ เราอย่าไปหลงงมงายมาก คนไทยเราเก่ง ใครเข้ามาเราก็อยู่ด้วยกันได้หมด พวกอิหร่านเข้ามาเยอะแยะ สมัยก่อน มารับราชการเป็นพระยา เป็นอะไรก็มี พวกตระกูลบุนนาคก็พวกแขกนั่นล่ะ เข้ามาก็กลมกลืน

ศาสนาพุทธเองก็ไม่ได้เกิดในเมืองไทย เราบอกศาสนาพุทธของไทย ทีจริงแล้วมนุษย์ก็เคลื่อนไหวตลอด เขาตรวจ DNA คนอีสานเป็นคนลาวหรือเปล่า มีการตรวจ DNA เลย พบว่าคนอีสานเป็นลูกผสม มีเชื้อลาวก็มี เชื้อมอญก็มี แล้วเชื้อชนเผ่าต่างๆ ก็มี เพราะฉะนั้นภาคอีสาน คนอีสานไม่ใช่คนลาว สารพัดเลย พอเข้าใจโลก ทุกอย่างมันเคลื่อน เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง มนุษย์ก็เคลื่อนที่ วัฒนธรรมก็เคลื่อนที่ เมืองสยาม เมืองไทยนี้มันเก่ง ตรงที่มันเป็น พหุวัฒนธรรม วัฒนธรรมอะไรเข้ามา เรารวมได้หมดเลย อยู่ด้วยกันได้ ไม่ทะเลาะกัน นี่คือความเก่ง ความปรับตัวเก่ง

พวกที่ Rigid กูแน่ๆ ก็เป็นเมืองขึ้นเขาหมด มันไม่แน่จริง เพราะฉะนั้นถ้าใครเขาบอกว่านี่ของกูๆ เราก็อย่าไปโกรธ ก็แค่ให้ข้อมูลไปเท่านั้น ว่าข้อมูลจริงๆ เป็นอย่างไร แต่อย่าโกรธ รักษาใจของเราให้ดี สังเกตให้ดีตอนนี้มันเริ่มขยายวง อินเดียก็เริ่มบอกว่า นครวัดของอินเดีย อินเดียสร้าง ไปกันใหญ่ จีนก็เริ่มออกมาเล่น ทูตจีนในเขมร ทูตอังกฤษในเขมร เราต้องตั้งหลักตั้งสติให้ดี อาเซียนเป็นปึกแผ่น เป็นปึกแผ่นมาก เราก็เริ่มเจริญมาก ขวางหูขวางตา บางพวกเขาไม่ชอบ

สิ่งเหล่านี้เราต้องรักษาจิตใจของเราให้ดี รู้เท่าทันไปว่า ทำความเข้าใจ รักษาใจของเราไว้ มีความเมตตา กรุณา อย่างคนก่อเรื่องเขียนโน่นเขียนนี่ในเฟซบุ๊ก ในอะไร ไม่กี่คน ไม่กี่คนก็จะทำให้คนระหว่างชาติทะเลาะกัน อย่าว่าแต่ประเทศอื่นเลย คนไทยก็มี นักการเมืองเราก็มี อยู่ๆ ก็เรียกว่าประเทศไต้หวัน คือจะหาเรื่องก่อกวนกับจีน คนก่อกวนนี้มันมีทุกประเทศ ไม่ใช่มีแต่เขมร กับลาว กับประเทศโน้นประเทศนี้ คนไทยก็เป็น ฉะนั้นเราไม่ต้องไปโกรธ ไปเกลียดใคร อันนี้ฝากไว้ให้คิด

 

วิปัสสนากรรมฐาน
คอยดูไตรลักษณ์ของกายของใจ

เข้าธรรมะของเราต่อ หัดแยกธาตุแยกขันธ์ได้ มันก็เป็นปัญญาขั้นต้น ยังไม่ถึงขั้นวิปัสสนา พอเราแยกธาตุแยกขันธ์ได้แล้ว เราจะเห็นแต่ละธาตุ แต่ละขันธ์ มันแสดงไตรลักษณ์ได้ รูปที่หายใจออกก็แสดงไตรลักษณ์ รูปที่หายใจเข้าก็แสดงไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงตลอด ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า แสดงทุกขังให้ดู หายใจเข้าไปเรื่อยๆ ก็ทนไม่ได้ ถูกบีบคั้นให้ต้องหายใจออก อย่างนี้เรียกว่าทุกขัง มันบีบคั้น แล้วมันก็เป็นอนัตตา เราสั่งไม่ได้ว่า ร่างกายนี้จงหายใจเข้าอย่างเดียว สั่งไม่ได้ จงหายใจออกอย่างเดียว จงอย่าหายใจ สั่งไม่ได้

อย่างคนบอกกลั้นใจตาย ไม่มีจริง คนที่กลั้นใจตาย พอกลั้นใจไป แล้วพอมันสลบ มันก็หายใจต่อ มันหายใจอัตโนมัติ เราค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ลงไป เราเห็นร่างกายนี้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ส่วนของร่างกายที่ดู มุมของร่างกายที่ดูง่าย มุมของไตรลักษณ์ ก็คือตัวทุกขัง กับตัวอนัตตา ตัวทุกข์ขัง เห็นไหม ร่างกายเราถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา นั่งนานๆ ก็ถูกบีบคั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถ นอนนานๆ ก็ถูกบีบคั้นให้เปลี่ยนอิริยาบถ เดินนาน ยืนนาน ก็ถูกบีบคั้นให้ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ทำไมต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะมันทุกข์ นั่งนานก็ทุกข์ เดินนานก็ทุกข์ ยืนนานก็ทุกข์ นอนนานก็ทุกข์ ก็เลยต้องเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อหนีทุกข์

เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่เคยเห็น เพราะอะไร พอมันทุกข์ปุ๊บ เราก็ขยับไปทันทีเลย เราหนีทันที เราไม่ทันจะสังเกตว่ามันทุกข์ ถึงต้องขยับหนี ฉะนั้นเวลาถ้าเรามีสติอยู่กับร่างกาย ถ้าเราใช้ร่างกายเป็นวิหารธรรม เราจะเห็นความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย ถัดจากนั้นจะมีการทำงานทางใจ เกิดอยากขยับ อยากเปลี่ยนอิริยาบถ อันนี้เป็นการทำงานทางใจ เพราะว่ามีการส่งสัญญาณจากร่างกายแล้ว ร่างกายนี้นิ่งเกินไปแล้ว มีความทุกข์แล้ว ก็เกิดความอยากเคลื่อนไหว พอมีความอยากเคลื่อนไหว จิตมันก็สั่งให้ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายก็ขยับเพื่อหนีความทุกข์

ถ้าเรามีสติอยู่ในกาย เราจะเห็นเลย ร่างกายไม่ใช่ของดีอะไรหรอก ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเราทำวิปัสสนา คือเราเห็นตัวทุกข์ หรือเราเห็นว่าร่างกายนี้เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มองได้หลายแบบ เช่น ร่างกายเราแต่ก่อนเป็นเด็ก เราสั่งให้เป็นเด็กตลอดไม่ได้ เป็นวัยรุ่นขึ้นมา เป็นวัยรุ่นสั่งให้เป็นวัยรุ่นตลอดก็ไม่ได้ เป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นหนุ่มสาวตลอดก็ไม่ได้ มันแก่ แก่แล้วสั่งว่าอย่าตาย ก็ทำไม่ได้

ในร่างกายนี้ มีแต่ของที่สั่งอะไรมันไม่ได้จริง สั่งว่าอย่าหิว ไม่ได้ สั่งว่าอย่ากระหายน้ำก็ไม่ได้ สั่งว่าอย่าปวดอึ อย่าปวดฉี่ก็ไม่ได้ สั่งว่าอย่ากระดุกกระดิก เสร็จแล้วมันทนไม่ไหว มันก็ต้องกระดุกกระดิก มันไม่มีอะไรที่เราบังคับได้เลย มันจะแก่เราก็ห้ามไม่ได้ มันจะเจ็บเราก็ห้ามไม่ได้ มันจะตายเราก็ห้ามมันไม่ได้ มันสอนอนัตตาเรา หรือดูอย่างอื่นก็ได้ อนัตตา เราเห็นว่าร่างกายนี้เป็นแค่วัตถุธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออกตลอดเวลา เช่น เราหายใจเข้า แล้วเราก็หายใจออก นี่ธาตุมันเคลื่อนไหว เรากินอาหารแล้วเราก็ขับถ่าย นี่ธาตุมันเคลื่อนไหว

ร่างกายนี้ไม่ได้เป็นอะไร ร่างกายเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ ธาตุทั้งหลายเราก็ยืมโลกมาใช้ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อาหารที่เรากินเข้าไปนั้น เราเสกขึ้นมาเองหรือเปล่า เราก็ไม่ได้เสกมาเอง มันก็เป็นวัตถุธาตุของโลก เราก็เอามากินเข้าไป แล้วก็ขับถ่ายออกไปคืนโลก ส่วนหนึ่งก็มาเลี้ยงร่างกายอยู่ ร่างกายนี้วันหนึ่งก็แตกสลายไป ก็ไปเป็นอาหารของสัตว์อื่น ของพืช ของอะไรไป นี่เป็นสมบัติของโลก

เราภาวนา เราก็เห็น ร่างกายนอกจากไม่เที่ยง ร่างกายเป็นทุกข์ ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ร่างกายเป็นอนัตตา ควบคุมไม่ได้ สั่งไม่ได้ เป็นแค่วัตถุธาตุ ที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าดูอย่างนี้ใจมันก็ค่อยหายมัวเมา ที่เราวุ่นวาย เพราะเราเมา เมาด้วยความหลงผิด ด้วยโมหะ โมหะตัวนี้เรียกว่าอวิชชา หลงผิดว่ากายนี้ใจนี้ คือตัวเราของเรา คือของดี ของวิเศษ ที่เราบังคับได้ ควบคุมได้

การที่เรามาคอยดูไตรลักษณ์ของกายของใจ ก็จะเรียกว่าทำวิปัสสนากรรมฐาน จะช่วยล้างความเห็นผิด มันจะเห็นความจริง กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา กายนี้เป็นของโลก เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตนี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันเกิดขึ้นมา แล้วตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป ไม่ใช่ไม่มีเจ้าของ มีแต่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไป บางทีก็รับรู้อารมณ์โน้นอารมณ์นี้ ความสำคัญมั่นหมายผิดๆ ความเห็นผิด ความคิดผิด มันคิดว่าจิตคือตัวเรา จิตคือของเรา เห็นว่าร่างกายเป็นตัวเรา ร่างกายเป็นของเรา อันนี้เป็นความหลงผิดของเราทั้งนั้น

 

วิธีแก้ความหลงผิด

วิธีแก้ความหลงผิด ก็ง่ายๆ ก็ดูให้ถูก ดูความจริงไป พอเห็นตามความเป็นจริง ก็จะเบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น เห็นความจริงของกาย ก็อย่างที่ว่า กายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั่นล่ะคือความจริงของกาย ความจริงของจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราเหมือนกัน พอเห็นอย่างนี้ ใจที่เคยยึดถือเหนียวแน่น ว่ากายนี้เป็นเรา ใจนี้เป็นเรา จะค่อยๆ คลายออก มันไม่เห็นผิด มันเห็นถูกขึ้นมา

พาจิตให้มันเรียนรู้ความจริง ให้มันเห็นถูกซ้ำแล้วซ้ำอีก พอมันเห็นถูก มันก็จะเริ่มรู้ความจริงว่า มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา พอไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย มันไม่ใช่แค่ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นของน่าเบื่อด้วย ก็ร่างกายที่ไม่เที่ยง ร่างกายที่เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันน่ารัก หรือมันน่าเบื่อ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ก็เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว มันควรหรือที่จะเห็นว่า มันเป็นตัวเราของเรา

ประโยคนี้ไม่ใช่หลวงพ่อพูดเอง พระพุทธเจ้าถามปัญจวัคคีย์ “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์” บอก “เป็นทุกข์พระเจ้าข้า” “สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นควรเห็นว่าเป็นตัวเราหรือไม่เป็น” “ไม่เป็นตัวเรา เป็นอนัตตา” “ควรยึดถือไหม” “ไม่ควรยึดถือ” ท่านเห็นอย่างนี้ว่าไม่มีตัวเรา ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ความรับรู้ทั้งหลาย ไม่ใช่ตัวเรา ความรู้สึกก็คือตัวเวทนา รู้สึกสุขทุกข์ ตัวนึก จำได้หมายรู้ ตัวสัญญา ตัวคิด ตัวปรุง ตัวแต่ง อันนี้คือตัวสังขาร ตัวความรับรู้ คือตัววิญญาณ คือตัวจิต

สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดทั้งมวล ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา พอเห็นได้ ต่อไปเวลาร่างกายมันแก่ ไม่ใช่เราแก่ ขันธ์มันแก่ พอร่างกายมันเจ็บ ไม่ใช่เราเจ็บ ขันธ์มันเจ็บ ร่างกายมันตาย ไม่ใช่เราตาย ขันธ์มันตาย จิตใจเป็นสุข ไม่ใช่เราสุข ขันธ์มันสุข จิตใจทุกข์ ก็ขันธ์มันทุกข์ จิตใจดี จิตใจชั่ว ก็คือขันธ์มันดี ขันธ์มันชั่ว ออกไปรับรู้อารมณ์ต่างๆ ขันธ์มันก็รับรู้

เราค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ลงมา แยกรูป แยกนามไป แล้วเห็นแต่ละรูป แต่ละนาม ที่เราแยกออกมา ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ก็จะเห็นมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเห็นว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ก็ได้โสดาบัน แล้วฝึกต่อไป สติ สมาธิ เข็มแข็งขึ้น สติว่องไว กิเลสก็ทำงานไม่ค่อยได้ กิเลสมันก็เบาบาง กิเลสเคยรุนแรงก็ไม่แรง ที่ไม่แรงเพราะว่าสติ สมาธิ ปัญญา มันมากขึ้น โดยเฉพาะตัวสติ ตัวสมาธิ มันเพิ่มขึ้น มันก็ไม่หลงยาวๆ พอไม่หลงยาว กิเลสเกิดปุ๊บ สติระลึกรู้เร็วเลย เพราะจิตมันตั้งมั่น เป็นคนรู้คนดู กิเลสมันก็อ่อน

เพราะฉะนั้นพระโสดาบัน ท่านบอกว่าศีลสมบูรณ์ สมาธิเล็กน้อย ปัญญาเล็กน้อย ปัญญาเล็กน้อยก็คือ เห็นว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเราของเรา นี่ปัญญาเล็กน้อย ของพวกเรานี้เรียกว่าปัญญาอ่อน เรายังเห็นว่าขันธ์ 5 เป็นตัวเราของเรา ถ้าทำอย่างที่หลวงพ่อบอก แยกธาตุแยกขันธ์ แล้วดูไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ ต่อไปปัญญาของเราก็เกิดขึ้น เห็นความจริงกายนี้ไม่ใช่เรา ใจนี้ไม่ใช่เรา เป็นพระโสดาบัน ศีลสมบูรณ์ สมาธิมีเล็กน้อย วอกแวกๆ พระโสดาบันไม่ได้ต่างกับคนทั่วไปเท่าไรหรอก แค่ไม่ทำผิดศีลชั่วหยาบเท่านั้นเอง ใจหลงทั้งวัน

พระโสดาบันก็ยังหลงเก่ง หลง กิเลสก็ยังแรง โลภก็ยังแรง โกรธก็ยังแรง หลงก็ยังแรง หายหลงไปส่วนเดียวนั้น คือรู้ว่าไม่มีตัวเรา แล้วก็ละอายใจที่จะทำผิดศีล คือสติมันก็เร็วขึ้นหน่อยหนึ่ง ภาวนาเรื่อยๆ ได้สกทาคามี สกทาคามี ศีลสมบูรณ์ อันนี้สมบูรณ์มาตั้งแต่โสดาบันแล้ว สมาธิได้ปานกลาง ปัญญายังเล็กน้อย ยังเห็นแค่ว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา เห็นอย่างนี้ แต่สมาธิปานกลาง ก็คือไม่ค่อยหลงแล้ว จิตไม่ค่อยไหลไปลืมเนื้อลืมตัวไป จิตตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น พอกิเลสเกิด สติระลึกรู้ปั๊บ มันขาดปั๊บเลย เพราะฉะนั้นกิเลสมันจะอ่อนกำลังลง เพราะสมาธิมันดีขึ้น สติมันว่องไวขึ้น

ถัดจากนั้น จากปัญญาเล็กน้อยของโสดาบัน สกทาคามี เราก็ทำวิปัสสนาต่อไป แล้วปัญญาเราจะเพิ่มขึ้น มันจะเห็นความจริงอีกระดับหนึ่ง แต่เดิมเราเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา พอเราเจริญสติ สมาธิ ปัญญา ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกไป มันจะรู้ความจริงลึกเข้าไปอีก ตัวร่างกาย ตัวรูป นอกจากไม่ใช่ตัวเราของเราแล้ว มันเป็นตัวทุกข์ นี่ปัญญาที่เขยิบตัวขึ้น

ปัญญาขั้นต้นแค่เห็นว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ปัญญาขั้นกลางของพระอนาคามี มันเขยิบขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง มันเห็นว่าร่างกายที่ไม่ใช่ตัวเรานั้น แท้จริงมันคือตัวทุกข์ ร่างกายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่ทุกข์กับสุข โสดาบัน สกทาคามี เห็นว่าร่างกายนี้มีทุกข์กับสุข พอถึงอนาคามี รู้เลย ร่างกายมีทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ก็หมดความยึดถือในร่างกาย ไปยึดมันทำไม มันก้อนทุกข์ มันเหมือนเราเห็นถ่านไฟแดงๆ นั้น ใครจะไปหยิบมาดูเล่น ไม่มีใครหยิบมา หยิบมาก็โง่แล้ว

สติปัญญามันแก่กล้า มันรู้สึกเลยร่างกายนี้ เหมือนถ่านไฟแดงๆ ร้อนๆ เปรียบเทียบอย่างนี้ คนยุคนี้จะไม่รู้จักแล้ว ถ่านไฟมันเป็นอย่างไร จะเปรียบกับอะไรดี เหมือนเหล็กเผาไฟร้อนๆ แดงๆ ร้อนๆ ใครจะไปจับเล่น ไม่มีใครจับเล่น ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน จิตมันจะไม่เข้าไปยึดถือหรอก เพราะมันเป็นของร้อน มันเป็นของทุกข์ ไม่ใช่ของดี ของวิเศษ อันนี้จิตก็หมดความยึดถือในกาย ก็หมดความยึดถือในตา หู จมูก ลิ้น กาย พอไม่ยึดถือตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เลยไม่ยึดถือในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สิ่งที่กระทบกาย

เมื่อไม่ยึดถือในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความรักใคร่พอใจคือกามราคะก็ไม่เกิด ความไม่พอใจคือปฏิฆะก็ไม่เกิด ฉะนั้นพระอนาคามี ละกามและปฏิฆะได้ ละกามราคะ คือความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางร่างกาย พอหมดความยึดถือกายสักตัวเดียว มันก็หมดความยึดถือตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็หมดความยึดถือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ พอไม่ยึดถือ มันก็ไม่มีความรักใคร่ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ รักใคร่พอใจนี้ก็คือกามราคะ

ไม่มีความเกลียดชังในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะความเกลียดชังนั้นคือปฏิฆะ จะเกลียดมันทำไม แค่นี้มันก็แย่อยู่แล้ว ไม่ต้องไปเกลียดมัน อันนี้พระอนาคามี ก็เลยมีศีลสมบูรณ์ มีสมาธิสมบูรณ์ มีปัญญาปานกลาง สมาธิสมบูรณ์นั้นก็คือ จิตตั้งมั่นแล้ว จิตไม่ไหลไปหลงอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้ว ไม่หลงในกามภพแล้ว จิตก็พ้นจากกามภพ ตายไปก็ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิด ไม่เกิดมาเป็นคน เป็นเทวดาอีกต่อไปแล้ว ตายไปอย่างมากก็ไปเป็นพรหม ก็ต้องไปเป็นพรหม เพราะว่าจิตมันไม่ติดในกามแล้ว

 

หัวหน้าโจรซ่อนอยู่ที่ตัวจิตผู้รู้

ขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติ พอเราเจริญวิปัสสนาไปเรื่อยๆ การปฏิบัตินี้มันแจ่มแจ้งในกายแล้ว มันจะเห็นเลย เจ้านายของกายก็คือจิต จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ตัวบ่าวนี้เราจัดการเรียบร้อยไปแล้ว คล้ายๆ บริวารของมัน เราฆ่าตายหมดแล้ว คราวนี้ก็มาถึงตัวหัวหน้าโจร หัวหน้าโจรไม่ได้ซ่อนอยู่ที่อื่น ซ่อนอยู่ในจิตผู้รู้ ไม่ใช่ซ่อนอยู่ในจิตธรรมดา ในจิตผู้รู้ก็ยังมีหัวหน้าโจรตัวนี้อยู่ ส่วนจิตธรรมดานั้นมีอยู่แน่นอนแล้ว

หัวหน้าโจรตัวนี้คือตัวอวิชชา ซ่อนอยู่ที่ตัวจิตผู้รู้นี่ล่ะ ที่จริงซ่อนอยู่กับจิตทุกดวง มันซ่อนอยู่ แต่ว่าเราไม่เห็นหรอก เราจะเริ่มมาเห็น เริ่มมารู้จักมันได้ ถ้าสมาธิเราสมบูรณ์ จิตเราตั้งมั่นทรงตัวอยู่ที่จิตแล้ว เราก็ดูความเป็นไตรลักษณ์ภายในจิตของเราต่อไป เราจะเห็นเลย ภายในจิตนี้มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวก็มีความสุขแทรกเข้ามา เดี๋ยวก็มีความทุกข์แทรกเข้ามา เดี๋ยวก็มีปีติ มีความสุขอะไรต่างๆ แทรกเข้ามา เดี๋ยวก็มีกุศลแทรกเข้ามา เดี๋ยวก็มีอกุศลแทรกเข้ามา นี้อกุศลของขั้นนี้ อกุศลของพระอนาคามี ไม่เหมือนอกุศลของพวกเรา บางทีชื่อซ้ำกันแต่อกุศลไม่เหมือนกัน

อย่างพระอนาคามี ยังมีอุทธัจจะ อุทธัจจสังโยชน์ เครื่องผูกมัดเราไว้ คือความฟุ้งซ่าน มันไม่ใช่อุทธัจจะ อย่างที่พวกเราเป็น ของพวกเรามันอุทธัจจะในกาม มันติดอกติดใจในกาม มันฟุ้งซ่านไปในกาม เดี๋ยวก็วิ่งไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เดี๋ยวก็คิดไปเรื่องกาม แต่อุทธัจจะของพระอนาคามี เป็นอุทธัจจะในธรรม อุทธัจจะในธรรมะ ทำอย่างไรจะพ้นทุกข์เสียที ทำอย่างไรจะบรรลุพระอรหันต์เสียที ทำอย่างไรจะละกิเลสได้ เหมือนที่เคยเห็นครูบาอาจารย์ท่านสะอาดหมดจด ทำอย่างไรเราจะสะอาดหมดจดอย่างท่าน อันนี้เป็นกิเลสชื่อ “มานะ” ทำอย่างไรเราจะดีอย่างท่าน

“มานะ” อย่างของพวกเรา มักจะกูเก่ง กูเก่ง กูเหนือคนอื่นอย่างนั้นอย่างนี้ ไอ้นี่ของกู ไอ้นั่นของกู กูทั้งนั้นเลย มีแต่กูเต็มไปหมดเลย มีกู มีมึงขึ้นมา ส่วน “มานะ” ของพระอนาคามี มักจะเห็น โอ้ เมื่อไรจะได้ดีอย่างท่าน เทียบเขาเทียบเรา แต่ไม่ได้เทียบด้วยความลำพอง เทียบว่าเมื่อไรจะดีอย่างครูบาอาจารย์ เมื่อไรจะดีอย่างพระพุทธเจ้า สะอาดหมดจดอย่างนั้นบ้าง ชื่อของกิเลส ชื่อเดียวกัน แต่คุณภาพไม่เท่ากัน อุทธัจจะ ของพระอนาคามี คือฟุ้งในธรรมะ ปฏิบัติอย่างไรจะดี ปฏิบัติอย่างไรจะพ้นอะไรอย่างนี้ ของเราฟุ้งซ่านในกาม วุ่นวายอยู่กับกาม ทะเลาะกันด้วยเรื่องกาม

“มานะ” ของพระอนาคามี เมื่อไรท่านจะสะอาดหมดจด เราจะสะอาดหมดจดเหมือนพระพุทธเจ้า เหมือนครูบาอาจารย์ จะเป็นแบบนั้น จะไม่ใช่กูเหนือกว่ามึง อันนั้นกิเลสหยาบ แล้วก็กามราคะไม่มี มีรูปราคะ อรูปราคะ ทำไมรูปราคะ อรูปราคะ มันเด่น เพราะสมาธิมันเต็มแล้ว สมาธิมันเต็ม จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ทั้งวันทั้งคืน พอจิตมันตั้งมั่นเด่นดวง มันสงบ มันสบาย มันสงบ มันก็ยินดีพอใจในความสงบ ความสบายของฌานสมาบัติ ตัวนั้นคือรูปราคะ อรูปราคะ ยินดีพอใจในรูปฌาน ยินดีพอใจในอรูปฌาน ก็เป็นรูปราคะ อรูปราคะ

เพราะฉะนั้นอย่างเวลาภาวนา จิตใจเรามีความสุข มีความสงบ แล้วเราติดอยู่ตรงนั้น อันนั้นไม่มีวันพ้นเลย หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอก “นักปฏิบัติส่วนใหญ่ เกือบทั้งหมดนั่นล่ะ” ระดับดังๆ มีชื่อเสียง เป็นครูบาอาจารย์ “ส่วนใหญ่เป็นผีใหญ่” คือตายแล้วไปเป็นพรหม ยังปล่อยวางจิตไม่ได้ ยังยึดถือจิตอยู่ เพราะฉะนั้นจะรักษาจิตเหมือนจงอางหวงไข่ ถนอมรักษามากเลย กลัวจิตจะเศร้าหมอง กลัวจิตจะฟุ้งซ่าน หวงแหนจิตอยู่ ยังติดอกติดใจในรสชาติของรูปฌาน อรูปฌาน นั่นล่ะคือรูปราคะ อรูปราคะ ที่จะต้องรู้ทัน แล้วก็จะละไป

ตัวสุดท้าย กิเลสตัวสุดท้าย คือตัวอวิชชา คือความรู้แจ้งแทงตลอด เราเรียนรู้กายแล้ว เราเห็นแล้วกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในขั้นของพระอนาคามี หมดความยึดถือกายแล้ว ในขั้นของจิตก็จะเห็น จิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ก็จะปล่อยวางจิต บางท่านเห็นจิตไม่เที่ยง ก็หลุดพ้นด้วยอนิมิตตวิโมกข์ เรียกอนิมิตตวิโมกข์ ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีเครื่องสังเกต เพราะอะไร ทุกอย่างเกิดแล้วดับหมด

บางท่านบรรลุพระอรหันต์ ด้วยการเห็นทุกข์ ทุกขตา เรียกว่าอัปปณิหิตวิโมกข์ เห็นจิตเองก็ถูกบีบคั้น เวลาที่เห็นจิตถูกบีบคั้น ไม่ใช่จิตต้องกระทบอารมณ์ใดๆ เลย ตัวจิตเองนั่นล่ะทุกข์อยู่โดยตัวของมันเอง มันถูกบีบคั้นอยู่ในตัวของมันเอง ที่ว่าทุกข์ๆ ในโลก มาเทียบกับทุกข์ของจิต เทียบกันไม่ติดเลย ตัวจิตผู้รู้ที่ว่าเป็นตัวดีตัววิเศษนั้น เอาเข้าขั้นสุดท้าย มันจะแสดงธรรมะให้ดู มันจะทุกข์ ทุกข์เหมือนภูเขาลูกใหญ่ๆ ลงมาบด ไม่ใช่มาทับ มาบด บดขยี้ลงไปที่จิตนั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก โอ๊ย มันทุกข์จนไม่มีอะไรจะทุกข์เสมอ จนกระทั่งยอมปล่อยวางจิต ไม่อย่างนั้นไม่ยอม

พวกที่ต้องเห็นทุกข์ของจิตอย่างรุนแรงนี้ ส่วนใหญ่เป็นพวกทรงฌานสมาบัติ พวกนี้จิตมีความสุขมาก เวลาที่อินทรีย์แก่กล้า บารมีแก่กล้าพอแล้ว ต้องเห็นจิตมันเป็นทุกข์ ถึงจะยอมวาง พวกนี้หลุดพ้นด้วย อัปปณิหิตวิโมกข์ พวกนี้ส่วนใหญ่ก็คือพวกทรงฌาน อีกพวกหนึ่งท่านบรรลุด้วยสุญญตวิโมกข์ เห็นจิตเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เอาไว้ทำไม ขว้างทิ้งเลย โยนทิ้งเลย ตรงนี้ก็เรียกว่าท่านมีศีลบริบูรณ์ สมาธิบริบูรณ์ ปัญญาบริบูรณ์ ปัญญาบริบูรณ์ก็ปล่อยแล้ว

ถ้ายังสงวนรักษาจิต ยังถนอมรักษาจิตอยู่ งานยังไม่จบหรอก แล้วเรา มันเกินภูมิของเราจะรู้ เพียงแต่ว่าสำรวมระวังไว้นิดหนึ่ง เวลาเขาโฆษณาว่าใครบรรลุพระอรหันต์ เฉยๆ อย่าแตกตื่น ใช้หลักที่พระพุทธเจ้าบอก ไม่อนุโมทนา แล้วก็ไม่ปฏิเสธ เพราะเรายังไม่รู้ วางใจเป็นกลางก่อน ถ้าเชื่อเลยก็โง่ ถ้าไม่เชื่อเลยก็ดื้อด้านไป อาจจะไปเจอของจริง เดี๋ยวจะซวย จะลำบาก ฉะนั้นเฉยๆ เป็นกลาง แขวนไว้ก่อน เราไม่รู้

 

 

หลักของการปฏิบัติ ค่อยๆ ฝึกมาตั้งแต่เริ่มต้น รักษาศีลไว้ แล้วก็ฝึกสมาธิให้ดี สมาธิมี 2 กลุ่ม มิจฉาสมาธิ ไม่มีสติ สัมมาสมาธิ มีสติ สัมมาสมาธิ พอฝึกไปแล้วจิตจะไม่แค่สงบ แต่จะตั้งมั่นด้วย พอมีจิตที่ตั้งมั่นมากพอแล้วก็เดินปัญญา เดินปัญญาขั้นแรกก็คือการแยกขันธ์ เห็นร่างกายมันนั่งอยู่ จิตเป็นคนรู้ เห็นสุขทุกข์เกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้ เห็นดีชั่วเกิดขึ้น จิตเป็นคนรู้ หัดแยกไป พอแยกขันธ์ชำนาญแล้ว ต่อไปมันจะเห็นแต่ละขันธ์นั้น ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงวันหนึ่งก็แจ่มแจ้ง ขันธ์ทั้งหมดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น นี่คือภูมิธรรมของพระโสดาบัน และพระสกทาคามี

ขันธ์ทั้งหลายในส่วนของรูปนี้เป็นตัวทุกข์ เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ มีแต่จิตเท่านั้น ยังเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ นี่เป็นภูมิธรรมของพระอนาคามี แล้วขั้นสุดท้าย ขันธ์ทั้งหมดนั่นล่ะคือตัวทุกข์ พอภาวนามาถึงจุดนี้ มันจะตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือขันธ์ 5 นั่นล่ะคือตัวทุกข์ ฉะนั้นค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ฝึกไปจนกระทั่งวางขันธ์ได้ วางขันธ์ได้แล้วจิตไปเข้านิพพานตรงไหน เห็นไหมว่ายังรักษาจิตอยู่ ยังหวงแหนจิตอยู่ ยังอยากให้จิตเข้านิพพานอยู่

เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านมาจบตรงที่เห็นขันธ์ 5 มันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป มันจบตรงนั้นแล้ว ไม่ต้องไปหาต่อแล้วว่าขันธ์ 5 หมดแล้ว จิตมันจะไปอย่างไรต่อ อันนั้นคือความคิดของคนซึ่งยังหวงจิตอยู่ ถ้าหมดความยึดถือจิต มันจะไม่มามีคำพูด ไม่มีความสงสัยอีกต่อไปแล้วว่า จิตมันจะไปไหนต่อ จิตมันก็เป็นธรรมนั่นล่ะ จิตมันก็เป็นธรรม

เอาไปปฏิบัติ ปฏิบัติไปตามลำดับของเรา อย่าเพิ่งทำลายผู้รู้ สร้างผู้รู้ให้ได้ก่อน อย่าเพิ่งทำลายเรือกลางทะเล ผู้รู้เหมือนเรือ เราจะใช้ข้ามฝั่ง เอาไว้ขึ้นบกก่อน ค่อยกระโดดข้ามผู้รู้ไป

 

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วันสวนสันติธรรม
4 มีนาคม 2566