ฝึกจิตให้มีกำลังตั้งมั่น

เป็นนักปฏิบัติ จิตใจต้องตั้งมั่น จิตต้องตั้งมั่น ต้องมีเรี่ยวมีแรง อยู่ที่การฝึกของเรา เราทำกรรมฐานสม่ำเสมอ จิตมันจะมีกำลัง ทำบ้างหยุดบ้าง ไม่ได้เรื่อง จิตใจป้อแป้ๆ ฉะนั้นทุกวันเราต้องทำในรูปแบบ หมดเวลาที่ทำในรูปแบบแล้วก็เจริญสติในชีวิตประจำวันให้ได้ ทำในรูปแบบเก่ง แต่ว่าเจริญสติในชีวิตประจำวันไม่ได้ พลังของจิตมันไม่เต็มหรอก กลางวันมันรั่วหมด ฉะนั้นเราต้องพยายามรู้สึกตัวไว้ รู้สึกตัว ถึงเวลาทำในรูปแบบก็ทำด้วยความรู้สึกตัว หมดเวลาทำในรูปแบบแล้ว อยู่ในชีวิตธรรมดา ก็มีความรู้สึกตัว

ส่วนใหญ่ของฆราวาส กระทั่งพระก็เหมือนกัน ถึงเวลาก็ไปไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หมดเวลาแล้ว ก็ปล่อยจิตใจล่องลอยไป ฟุ้งซ่าน คิดโน่นคิดนี่ มันเลยรู้สึกทำไมไม่เจริญเสียที ถ้าเราทำตัวเหมือนโอ่งน้ำรั่ว เหมือนโอ่งร้าวโอ่งแตก เติมน้ำลงไปเดี๋ยวก็รั่วไปหมดอีก คืออย่าให้มันมีรูรั่ว ขาดสติเมื่อไรก็รั่วเมื่อนั้น

 

ขณิกสมาธิ

ฉะนั้นพยายามรู้สึกตัวไว้ ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าใจเราล่องลอยไปเรื่อยๆ ฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ จิตก็สูญเสียพลังงาน ถ้าจิตใจเรารู้เนื้อรู้ตัวอยู่ มีสติระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจของเราไปเรื่อย มีจิตตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ จิตมันจะค่อยมีกำลังมากขึ้นๆ มาถึงจุดหนึ่งมันจะเริ่มก้าวกระโดดไป ทำไมใช้คำว่า ก้าวกระโดด จากการทำสมถะ มันจะก้าวกระโดดไปสู่การเจริญปัญญาได้ ถ้าจิตไม่มีแรง อย่าไปรีบเจริญปัญญาเลย ขืนเจริญปัญญาโดยจิตมีสมาธิไม่พอ วิปัสสนูปกิเลสมันจะเกิด

อย่างบางคนไปภาวนา จิตใจยังฟุ้งอยู่ก็มาส่งการบ้านว่าได้มรรคผลชั้นนั้นชั้นนี้ บางคนมาแต่ที่ไกล อุตส่าห์ขี่มอเตอร์ไซค์มาจากภาคเหนือ ไกลมาก มาส่งการบ้าน ภาวนาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ หลวงพ่อก็บอกว่ารู้สึกตัวไว้ ถ้ายังไม่รู้สึกตัวเลย มันเจริญปัญญาไม่ได้จริงหรอก เป็นวิปัสสนูปกิเลส รายนี้ก็ฟังๆ ไป กลับไปก็ไปบอกต่อว่า หลวงพ่อรับรองแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว ฉะนั้นเราต้องพยายามรู้สึกตัวไว้ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ ยกเว้นเวลาทำงานที่ต้องใช้ความคิด นอกนั้นรู้สึกตัว วิธีฝึกที่จะให้รู้สึกตัวก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตมันหนีไปคิด เรารู้ทัน ตรงที่มันหนีไปคิดแล้วเรารู้ทัน นั่นล่ะจิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา สมาธิมันจะเกิดขึ้น ก็จะรู้สึกตัวขึ้นชั่วขณะ มันเป็นขณิกสมาธิ

อย่าดูถูกขณิกสมาธิ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว บรรดาพระอรหันต์ส่วนใหญ่ท่านมาด้วยขณิกสมาธิเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าทรงฌานมาก่อน แต่พอท่านได้ธรรมะ มันจะได้ฌานอัตโนมัติ ตั้งแต่ฌาน 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8 บางองค์ได้สมาบัติที่เก้า นิโรธสมาบัติ แต่ก่อนที่ท่านจะบรรลุ ก็เหมือนอย่างพวกเรานี่ล่ะเป็นส่วนใหญ่

พระพุทธเจ้าท่านเคยเทศน์ไว้ว่า ในบรรดาพระอรหันต์ 500 องค์ มี 60 องค์ได้วิชชา 3 อีก 60 องค์ได้อภิญญา 6 อีก 60 องค์เป็นอุภโตภาควิมุตติ อุภโตภาควิมุตคือพวกที่ได้อรูปฌาน เรียกว่าดับได้โดยส่วนทั้งสอง ภาษาฟังยาก คือท่านดับรูปด้วยอรูปฌาน ก็ดับนามด้วยวิปัสสนาญาณ อย่างนี้เรียกพวกอุภโตภาควิมุต ก็อีก 60 องค์ 60 60 60 ก็ 180 อีก 320 นั้นคือพระอรหันต์ธรรมดา พวกที่ไม่ได้เล่นฌานมาก่อน ท่านเป็นพระอรหันต์กันทั้งๆ ที่ไม่ได้เล่นสมาธิมาก ฉะนั้นพวกเราอย่าดูถูกขณิกสมาธิ

ขณิกสมาธิเป็นสมาธิชั่วขณะ เราต้องฝึกซ้อม ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตไหลไปคิดแล้วรู้ทัน คือจิตมันเคลื่อนแล้วรู้ๆ มันเคลื่อนไปคิดบ้าง อย่างเวลาเรานั่งภาวนา เราไม่ได้มีภาระอะไรมาก ส่วนใหญ่มันก็เคลื่อนไปคิด แต่ถ้าเราอยู่ในชีวิตประจำวัน มันเคลื่อนได้ 6 ช่องเลย เคลื่อนไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉะนั้นก่อนที่มันจะเคลื่อน 6 ช่อง ซ้อมตรงที่มันเคลื่อนทางใจให้ได้เสียก่อน ตัวนี้สำคัญที่สุดเลย

ถ้าเราทำกรรมฐานแล้วก็คอยรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป จิตก็ตั้งมั่น เคลื่อนอีก รู้ทันอีกก็ตั้งมั่นอีก ฝึกอย่างนี้ มันเคลื่อนไปในโลกของความคิด บางทีก็เคลื่อนไปที่กาย เวลาทำในรูปแบบ จิตมันมักจะเคลื่อนไป 2 ที่ คือเคลื่อนไปที่กายกับเคลื่อนไปที่จิต จิตเคลื่อนไปคิด แต่เวลาเราฝึกซ้อมอย่างนี้ให้มาก จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ พอเรามาอยู่ในชีวิตประจำวัน เราจะสามารถเจริญสติในชีวิตประจำวันได้

 

ถ้าจิตเคลื่อนแล้วรู้จนชำนาญ
เราจะสามารถเจริญสติในชีวิตประจำวันได้

การเจริญสติในชีวิตประจำวัน จิตสามารถเคลื่อนไปได้ 6 ช่อง ไม่เหมือนตอนที่เราฝึกในรูปแบบ คล้ายๆ ซ้อมรบ ไม่เหมือนจริงเท่าไรหรอก แต่ว่าซ้อมจุดที่สำคัญไว้ จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ เคลื่อนไปที่กายก็รู้ เคลื่อนไปในความคิดก็รู้ แล้วพอออกมาอยู่ในโลกของความเป็นจริง บางทีก็เคลื่อนไปในความคิด บางทีเคลื่อนมาที่กาย บางทีเคลื่อนไปทางตา ไปดูรูป เคลื่อนไปฟังเสียง เคลื่อนไปดมกลิ่น เคลื่อนไปลิ้มรส เคลื่อนไปรู้สัมผัสที่กาย เคลื่อนไปคิดนึกที่ใจ ไปได้ 6 ช่อง

ฉะนั้นอยู่ๆ พวกเราเอะอะก็บอกจะหัดเจริญสติในชีวิตประจำวัน มันทำไม่ไหว ช่องทางที่จิตหนีไปมันเยอะเหลือเกิน ก็ซ้อมเสียก่อน ซ้อมอยู่ในอารมณ์กรรมฐานของเราล่ะ แล้วจิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ ส่วนใหญ่ก็เคลื่อนไปคิด ถ้าตรงนี้เราชำนาญแล้วต่อไปอยู่ในชีวิตจริง จิตเคลื่อนไปที่ไหนมันรู้หมด ทีนี้บางคนมองไม่ออกว่าจิตมันเคลื่อนไปทางไหน ดูไม่ออกๆ ทำอย่างไร พามันเคลื่อน อันนี้เป็นอุบาย ต้องแยกให้ออกระหว่างหลักการปฏิบัติกับอุบายของการปฏิบัติ หลักการของปฏิบัติเราต้องแม่น ส่วนอุบายเป็นศิลปะเฉพาะตัว แต่ละคนอาจจะมีอุบายแตกต่างกัน

วิธีอันหนึ่งที่หลวงพ่อเคยแนะนำพวกเราหลายคนก็คือพามันเคลื่อน แต่ว่าเคลื่อนอยู่ในกาย กำหนดจิตลงไปให้จิตมันไปอยู่ที่ผมอย่างนี้ ไปอยู่ที่หัวแล้วเรารู้สึกแล้วจิตเรามาจดจ่ออยู่ที่นี่แล้ว concentrate เข้ามาที่ผมแล้ว ที่หัว พอเรารู้ทันว่าจิตเรามาจดจ่ออยู่นี่แล้ว เราก็ย้ายที่มาอยู่ที่หูอะไรอย่างนี้ ย้ายที่ หรือกระโดดลงไปอยู่ที่เท้าอะไรก็ได้ ย้ายที่ ให้จิตตั้งอยู่ในกายนี่ล่ะ แต่ย้ายที่เป็นระยะๆ ไม่ใช่ย้ายตลอดเวลา ย้ายตลอดเวลาฟุ้งซ่าน ดูไม่ทัน

อย่างสมมติเรากำหนดจิตไว้ที่หู พอจิตมันรู้สึกหู มันไม่สนใจที่อื่นแล้ว เรารู้แล้ว จิตมันไปจดจ้องอยู่ที่หู เราก็ย้ายที่ ย้ายมาหูนี้ก็ได้ ย้ายมาอยู่จมูกก็ได้ อยู่หน้าอก อยู่มือ อยู่เท้า อยู่ท้องได้หมด พามันเคลื่อนเรื่อยๆ ไป เคลื่อนไปอยู่ตรงไหน เราก็รู้ว่าจิตมันไปอยู่ที่นั่น หัดเคลื่อน อันนี้สำหรับพวกที่ชอบดูกาย ถ้าชอบดูจิตก็พุทโธไปก็ได้ พุทโธๆ จิตไปคิดแล้วรู้ พุทโธจิตไปคิดแล้วรู้ ถ้าดูตรงนี้ไม่ออก พามันเคลื่อนอยู่ในกาย ดูกายไปก่อน พอดูกาย จิตมีกำลังขึ้นมา มันก็จะเห็นจิตได้

ครูบาอาจารย์ท่านเคยสอนหลวงพ่อ หลวงปู่สุวัจน์ ท่านเล่าให้ฟัง ท่านไปเรียนกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็สอนท่านว่า “ดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ ทำสมถะ” ว่าอย่างนี้ แล้วท่านก็บอกว่าทำสมถะเพื่อให้จิตมันมีแรง มีกำลัง แล้วดูกายเพื่อให้เห็นจิต ดูจิตเพื่อให้เห็นธรรมะ ธรรมะมันแสดงอยู่ที่จิตเราเป็นส่วนใหญ่ อย่างธรรมะที่กายคือตัวรูปอย่างนี้ แล้วเรารู้อยู่ที่จิตแล้วมันได้อะไร รูปมันก็เป็นธรรมะ เรียกรูปธรรม รูปธรรมนี้เคลื่อนไหวได้เพราะจิตสั่ง ฉะนั้นถ้าเรารู้ทันจิต ขยับเขยื้อนอะไรเรารู้เลย จิตมันสั่งให้ขยับเขยื้อนไป

ค่อยๆ ฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเคลื่อนไปแล้วรู้ อันนี้สำหรับคนที่ดูออก ถ้าจิตมันไปไหนก็ไม่รู้ ทำอย่างไร พามันเคลื่อนอยู่ในกาย อันนี้เป็นอุบาย ไม่ใช่หลัก หลักของการปฏิบัติก็คือถ้าจิตมันเคลื่อนให้รู้ หลักของการปฏิบัติจริงๆ มีแต่คำว่า รู้ หรือคำว่า เห็น ไม่มีคำว่า ทำ แต่การที่เราเคลื่อนจิตไปตรงโน้นเคลื่อนจิตไปตรงนี้ อันนี้เราทำ ถ้าเราจงใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา อันนั้นล่ะ ไม่ใช่วิปัสสนาแล้ว เป็นสมาธิ เป็นสมถะ

 

แค่รู้สึก

วิปัสสนาไม่มีการแก้อารมณ์ อารมณ์ที่เป็นรูปธรรมเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น อารมณ์ที่เป็นนามธรรมเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น แต่สมถะแก้อารมณ์ได้ เช่น จิตเราฟุ้งซ่าน มีอารมณ์ฟุ้งซ่านเกิดขึ้น เราก็แก้ความฟุ้งซ่านด้วยการทำความสงบเข้ามา เปลี่ยนอารมณ์เสีย จากฟุ้งซ่านมาเป็นอารมณ์ที่สงบ หรือจิตมันมีราคะขึ้นมา แทนที่จะปล่อยให้มันคิดเรื่องสาวงาม ก็มาคิดเรื่องปฏิกูลอสุภะเสีย นี่เป็นการแก้อาการของจิต

ถ้าเมื่อไรมีการแก้อาการของจิตแล้วมีผลเป็นความสงบ อันนั้นคือสมถกรรมฐานทั้งหมดล่ะ แต่ถ้าวิปัสสนา ไม่มีการแก้อาการ ถ้าจะมาถามหลวงพ่อว่า จิตหนูฟุ้งซ่านจะทำอย่างไร บอก นี่ในหัวยังเต็มไปด้วยการแก้ ฟุ้งซ่านก็พยายามแก้ อันนั้นไม่ใช่วิปัสสนา ถ้าวิปัสสนา จิตฟุ้งซ่านรู้ ว่าฟุ้งซ่าน จิตโลภ รู้ว่าโลภ จิตโกรธ รู้ว่าโกรธ อันนั้นถึงจะเป็นวิปัสสนา รูปหายใจออก รู้ว่ารูปหายใจออก รูปหายใจเข้า รู้ว่ารูปหายใจเข้า รูปยืน เดิน นั่ง นอน รู้ว่ารูปมันยืน เดิน นั่ง นอน มันไม่ใช่เรายืน เดิน นั่ง นอน

อย่างเวลานั่งอยู่ ถ้าเห็นว่าเรานั่งอยู่ อันนี้เจือด้วยสมมติบัญญัติลงไป ยังมีการหมายรู้ผิดว่าเป็นเราอยู่ ยังหมายรู้ผิดอยู่ สัญญายังผิดอยู่ จิตมันก็ผิด ความเห็นมันก็จะผิดไปด้วย ก็จะเห็นว่าตัวเรามีจริงๆ แต่ถ้าจิตมันตั้งมั่นขึ้นมามันจะเห็นว่าตัวที่นั่งอยู่ มันเป็นรูปที่นั่งอยู่ ไม่ใช่เรานั่งอยู่ ตัวที่กำลังอ้าปากพูดอยู่ รูปมันขยับ ไม่ใช่เราขยับ ไม่ใช่เราพูด ตัวที่หายใจอยู่ รูปมันหายใจ ไม่ใช่เราหายใจ มันจะรู้สึกอย่างนั้น รู้สึกมันไม่มีเราหรอก มีแต่รูปที่เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง อย่างนี้ถึงจะขึ้นเดินปัญญา เป็นวิปัสสนาได้

แต่ถ้ายังเห็นว่าเป็นเรา เราหายใจ เรายืน เราเดิน เรานั่ง เรานอน ยังเป็นการหมายรู้ผิดอยู่ หมายรู้ผิดมันก็คิดผิด แล้วมันก็เชื่อผิด เรียกว่ามีสัญญาวิปลาส มีจิตตวิปลาส แล้วก็มีทิฏฐิวิปลาส หมายรู้ผิด หมายรู้ว่านี่คือตัวเรา เวลาคิดทีไร มันก็เป็นเราอย่างโน้นเราอย่างนี้ทุกที แล้วก็เลยเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่านี่คือตัวเรา

ฉะนั้นเราต้องค่อยๆ ฝึก เรารู้สึกตัวขั้นต้น รู้สึกตัวไว้ ทำอะไรก็รู้สึกตัวไว้ ต้องซ้อม ทำกรรมฐานไป ถ้าจิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตถลำไปเพ่ง รู้ทัน เดี๋ยวจิตมันจะรู้สึกตัวขึ้นมา ทำตรงนี้ไม่ได้ ก็พามันเคลื่อนอยู่ในร่างกาย กำหนดจิตไปไว้ที่ผม ที่ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไล่ขึ้นไล่ลง แล้วต่อไปจิตมันไปอยู่ตรงไหนในกาย เราก็รู้ทัน พอเรารู้ทันอย่างนี้ได้ ต่อไปจิตมันเคลื่อนไปที่ไหนก็เห็นหมด

ตอนซ้อม อย่าเคลื่อนออกไปนอกกาย ให้เคลื่อนอยู่ในร่างกายเท่านั้น ห้ามเคลื่อนออกไปนอกกาย ถ้าเคลื่อนออกนอกกายเดี๋ยวเตลิด แล้วกลับบ้านไม่ได้ จิตหนีไป เพราะฉะนั้นเวลาเคลื่อนอย่าให้เกินกายออกไป เคลื่อนอยู่ในร่างกาย ผมถึงเท้า ไล่ขึ้นไล่ลงไป ไม่ต้องเร็ว ค่อยๆ เคลื่อนๆๆ ในที่สุดจิตขยับก็จะเห็น พอเห็นปุ๊บ สมาธิจะเกิด จะตั้งมั่นอัตโนมัติขึ้นมา พอตั้งมั่นแล้วก็เดินปัญญา

ถ้าจะเดินปัญญาด้วยการเห็นกาย เราเห็นรูปมันนั่งอยู่ มันจะรู้สึก ไม่ใช่เรานั่ง มันจะรู้สึกจริงๆ ไม่ใช่คิดด้วยว่านี่ไม่ใช่เรา ค่อยๆ สังเกตไป หรือเห็นจิตใจมันทำงานจะรู้เลยว่าจิตมันทำงาน ไม่ใช่เราทำงาน กายมันทำงาน ไม่ใช่เราทำงาน ค่อยรู้ๆๆ เรื่อยๆ มันจะล้างความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนได้ อย่างเวลาเดิน บางที่เขาก็สอน เดินจงกรมก็นึกไป รูปมันเดิน นามมันรู้ รูปมันเดิน นามมันรู้ กลายเป็นท่องไป กลายเป็นบริกรรมไป มันไปไม่ได้ มันไม่ได้รู้สึกเอา แต่มันไปบริกรรมเอา เรื่องของบริกรรม ตัวนี้ยังเป็นสมถะอยู่ มันต้องรู้สึกเอา

คือถ้าเมื่อไรเราทำอะไรที่เกินจากคำว่า รู้ หรือคำว่า เห็น อันนี้ในความหมายเดียวกัน รู้กับเห็น ในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่า เห็น คำว่า วิปัสสนา ปัสสนะคือการเห็น วิ แปลว่า แจ้ง วิปัสสนาคือการเห็นตามความเป็นจริง คือเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ บางคนไม่ถนัดคำว่าเห็น พอคิดถึงคำว่าเห็น ก็ชอบเอาตาไปเห็น เห็นรูปมันเคลื่อนไหว ก็คอยนั่งมอง มองๆๆ จิตเคลื่อนออกไปแล้ว

ครูบาอาจารย์บางทีท่านเลยใช้คำว่า รู้เอา รู้สึกเอาๆ ไม่ได้ไปเพ่งมัน ไม่ได้เคลื่อนตามมัน แค่รู้สึก ฉะนั้นจริงๆ แล้ว ถ้าภาษาในตำราจริงจะเป็นคำว่า เห็น เห็นกายมันนั่งอยู่ เห็นกายมันนั่ง เห็นกายมันหายใจ เห็นความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย เห็นความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ เกิดขึ้นในจิตใจ เห็นกุศล เห็นอกุศลเกิดขึ้นในจิตใจ เห็นจิตเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

 

คอยรู้ทันการกระทำทั้งหลาย

ค่อยๆ ฝึก ใหม่ๆ ก็รู้สึกยากล่ะ แต่ถ้าเราผ่านด่านที่หนึ่งสำเร็จ คือเราสามารถมีจิตตั้งมั่นได้ มีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ได้ อันนั้นเป็นจุดที่ยากที่สุดเลยในการปฏิบัติ เพราะในโลกมันมีแต่คนหลง มันไม่มีคนรู้สึกตัว เกิดมาก็เพราะความหลง โตขึ้นมาก็โตมากับความหลง แก่ไปก็แก่ไปกับความหลง แล้วก็ตายไปกับความหลงอีก เพราะฉะนั้นในโลกมันเต็มไปด้วยความหลง พระพุทธเจ้าถึงพยายามมาปลุกพวกเราให้ตื่นขึ้นมา ให้รู้เนื้อรู้ตัว ให้ตื่นขึ้นมาทั้งกายทั้งใจ ไม่ใช่ตื่นแต่ร่างกาย ใจฝันอยู่ตลอดเวลา ใจไม่ตื่น

เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกที่จะให้จิตมันมีกำลัง ตั้งมั่น มันมีความรู้สึก มันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา แต่หลวงพ่อไม่ค่อยชอบใช้คำว่า เด่นดวง มันจะไปสร้างนิมิตเป็นดวงขึ้นมาอีก นี่ภาษามนุษย์มีจุดอ่อน ภาษาดีอย่างไรก็ตามเถอะ พอใช้ไปแล้วมันตีความไปตามกิเลสได้ บอกให้จิตตั้งมั่นก็เอาจิตมาตั้งไว้อะไรอย่างนี้ มันเพี้ยนได้ตลอด

อย่างเวลาฟังหลวงพ่อเทศน์แล้วก็เอาไปทำ ก็คิดว่าทำถูก พอภาวนาไปอีกช่วงหนึ่ง จะพบว่าที่ทำอยู่ ไม่ถูกหรอก มันเป็นการทำอย่างหนึ่งขึ้นมา แล้วเรารู้ทันว่านี่คือการกระทำบางอย่าง เราก็ไปทำอย่างอื่นต่อ แล้วนานๆ ไป เราก็นึกว่าตรงนี้ทำอย่างนี้ถูก พอนานไปก็พบว่าตรงนี้ก็ไม่ถูกอีกแล้ว ต้องทำอย่างนี้ถึงจะถูก กว่าจะเลิกทำก็ใช้เวลาสะสม เรียนรู้จากการกระทำที่ผิดไปเรื่อยๆ

การกระทำทั้งหลายก็คือความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งมี 3 แบบ เราคอยรู้ทันไว้ แล้วเราจะได้ไม่หลงนาน ไม่ไปติดในความปรุงแต่งนาน ความปรุงแต่งอันหนึ่งก็ปรุงดี ปรุงดี ปรุงมีศีลมีธรรม ตั้งใจรักษาศีลอะไรอย่างนี้ เป็นความปรุงแต่งไหม ตั้งใจรักษาศีลเป็นความปรุงแต่งที่ดี ตั้งใจฝึกจิตให้สงบ นี่ก็เป็นความปรุงแต่งที่ดี ตั้งใจจะเจริญปัญญาก็เป็นความปรุงแต่งที่ดี

ความปรุงแต่งที่ไม่ดีเรียกว่าอปุญญาภิสังขาร ปรุงไปตามกิเลสนั่นล่ะ ปรุงดี มันจะปรุงไปตามความรักตัวเอง ปรุงไปตามความรักตัวเอง เราอยากดีใช่ไหม เพราะตัวเราจะได้ดี จิตใจเราจะได้ดี จิตใจเราจะได้พ้นทุกข์ จิตใจเราจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ปรุงดีมันปรุงเพราะมันมีตัวตน ส่วนปรุงชั่วนั้นตัวตนมันแรง ยิ่งแรงยิ่งกว่าปรุงดีอีก แต่ว่ามันปรุงไปตามกิเลส มีปรุงอีกชนิดหนึ่งที่นักปฏิบัติมาตายตรงนี้จำนวนมากเลย ปรุงว่าง ปรุงสงบ ปรุงว่าง

ครั้งหนึ่งหลวงปู่ดูลย์ยังอยู่ หลวงพ่อไปนั่งอยู่กับท่าน อยู่กับหลวงปู่ดูลย์ไม่ต้องพูดมากหรอก ภาวนาของเราไป เดี๋ยวท่านเห็นว่าสมควรสอนอะไร ท่านก็สอนของท่านเองนาน นานๆ พูดทีหนึ่ง แต่ทุกคำพูดของท่านมันสะเทือนถึงใจเราจริงๆ นั่งอยู่กับท่านวันหนึ่ง ท่านบอกว่า “เราพิจารณาแล้ว นักปฏิบัติที่มีชื่อเสียง” เป็นครูบาอาจารย์อะไรอย่างนี้ “ส่วนใหญ่เป็นแค่ผีใหญ่” ส่วนใหญ่เป็นผีใหญ่ ท่านว่าอย่างนี้ หลวงพ่อก็ “ครับ” ไม่ถามอะไรต่อ ซักมากท่านไม่พูดแล้ว เราก็มาถามพวกพระที่อุปัฏฐากท่าน ผีใหญ่คืออะไร บอกคือพรหม อ๋อ เลยเข้าใจ ว่าหลวงปู่ท่านบอกว่านักปฏิบัติส่วนใหญ่ที่ว่าปฏิบัติดี ส่วนใหญ่ไปจบลงที่เป็นพรหม เพราะว่ารักจิตตัวเอง ยังรักในตัวจิตอยู่ พยายามฝึกจิตให้ดี ฝึกจิตให้สงบ ฝึกจิตให้ว่าง

ค่อยๆ ฝึก จนกระทั่งในที่สุดจิตก็อยู่กับความว่าง บางทีก็อยู่กับรูป รูปธรรม บางทีก็ไปอยู่กับนามธรรม แล้วก็สงบนิ่ง มีความสุขความสบาย กิเลสหยาบๆ ไม่เกิดขึ้น แล้วคิดว่าดี คิดว่านี่คือที่สุดแห่งทุกข์แล้ว แล้วหลวงปู่ท่านก็สอนหลวงพ่อต่อบอกว่า “จำไว้นะ พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” หลวงพ่อก็ “ครับ ผมจะจำไว้” ท่านถามว่าแล้วเข้าใจไหม บอก “ไม่เข้าใจครับ แต่ผมจะจำไว้” ท่านบอก “เออ จำไว้นะ” สำคัญ จำเอาไว้

 

อย่ารีบทำลายผู้รู้ – รู้สึกตัวให้ได้ก่อน

พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต คือตราบใดที่เรายังถนอม หวงแหนผู้รู้อยู่ เราไม่เอาโลกข้างนอกแล้ว เรียกว่าไม่เอาในกามาวจร จิตมันจะไปเอารูปาวจร เข้ารูปฌาน อรูปฌาน ไปติดอยู่ในความสุขนั้น คือเป็นจิตของพรหม หลวงปู่บอกว่าต้องทำลายลงไปอีกทีหนึ่ง ท่านใช้คำว่า ทำลายผู้รู้ ท่านพูดมันตรงกับสภาวะที่เกิดจริงๆ ภาษาที่ท่านใช้ มันทำลายผู้รู้ลงไป แต่พวกเราอย่าเพิ่งทำลาย พวกเราต้องมีผู้รู้ก่อน ถ้าพวกเราไม่มีผู้รู้ เราจะมีแต่ผู้หลง

ฉะนั้นเราต้องฝึกให้มันรู้สึกตัวๆ ให้มันมีผู้รู้ขึ้นมาก่อน ฉะนั้นอย่ารีบทำลาย ถ้ารีบทำลายผู้รู้ วิปลาสเลย จะบ้าเลย แต่ก่อนหลวงพ่ออยู่สวนโพธิ์ก็มีพระองค์หนึ่งมาหา เอ๋อมาเลย ประเภทน้ำลายยืดมาเลย ไม่ยึดถืออะไรแล้ว เมื่อก่อนที่นี่ก็มีมาองค์หนึ่ง หลังๆ หายไป ปล่อยวางหมดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่าง ปล่อยเร็วเกินไป ปล่อยเร็วไป

ฉะนั้นเราต้องรู้สึกตัวให้ได้ก่อน แล้วก็เดินปัญญาไป พอเดินปัญญาไป เห็นกายเป็นไตรลักษณ์ เห็นจิตเป็นไตรลักษณ์ไป ช่วงหนึ่งหมดแรง กลับมาทำความสงบ พอสงบพอสมควรแล้ว อย่าอยู่นาน เสียเวลา ย้อนเข้าไปดูความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจ จะดูอะไรก่อนก็ได้ จะดูจิตก่อนก็ได้ แล้วมันก็เห็นกายมันเป็นไตรลักษณ์ มันเห็นเองล่ะ หรือดูจิตไม่ออก ก็ดูกายไปก่อน แล้ววันหนึ่ง มันก็จะเห็นเข้าไปถึงจิตว่าเป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน ค่อยฝึกอย่างนี่เรื่อย จิตผู้รู้มันจะทรงตัวเด่นดวงอยู่อย่างนั้น

พอมันได้มันก็เห็นความจริงเป็นลำดับไป ความจริงเบื้องต้น เรียกปัญญาขั้นต้น จะเห็นว่าตัวเราไม่มี ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ 5 ไม่มีเราในขันธ์ 5 ไม่มีเรานอกเหนือจากขันธ์ 5 ไม่มีเราที่ไหนเลย นี่คือปัญญาขั้นต้น เราก็ภาวนาต่อไป ก็เข้าไปสู่ปัญญาขั้นกลาง มันเห็นว่ารูปทั้งหลายนี้ คือตัวทุกข์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย คือตัวทุกข์ เมื่อตาเป็นตัวทุกข์ รูปที่ตาไปเห็นเข้า มันก็เป็นตัวทุกข์ด้วย เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลายก็เป็นทุกข์ไปด้วย

พอจิตมันเห็นความจริงว่ารูปมันก็เป็นทุกข์ ตาก็เป็นทุกข์ รูปก็เป็นทุกข์ ความรับรู้ทางตาก็เป็นทุกข์ ถ้าเห็นอย่างนี้ กามและปฏิฆะมันเกิดไม่ได้ แล้วถ้าเราได้ยินเสียงอย่างนี้ เราก็เห็นประสาทหูก็เป็นทุกข์ เสียงก็เป็นทุกข์ จิตที่รับรู้เสียงก็เป็นทุกข์ รู้อย่างนี้เรื่อยๆ แต่ไม่ใช่คิด ค่อยๆ รู้สึกไป พอมันรู้แจ้งตัวนี้ จิตมันจะวางกาย เพราะมันเห็นความจริงแล้วกายนี้คือตัวทุกข์ สิ่งที่เรียกว่ากาย ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กายคือตัวทุกข์ มันจะวางกาย

แล้วการภาวนาต่อไปนั้นจะเข้ามาที่จิตแล้ว ก็จะเห็นจิตผู้รู้นี่ล่ะ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้เพ่ง แต่มันจะไม่เป็นผู้ไปหลง ดูหนังดูละครอะไรเพลินๆ อย่างนั้นไม่เป็นหรอก แต่ว่ามันจะหลงอยู่ในโลกภายใน ตรงนี้ล่ะที่หลวงปู่ดูลย์บอกว่า มีผู้รู้ พบผู้รู้ตัวนี้ ค่อยทำลาย เบื้องต้นอย่าเพิ่งทำลาย ต้องผ่านขั้นที่สามไปก่อน ถึงจะทำลายได้

พอท่านสอนหลวงพ่ออย่างนี้ หลวงพ่อบอกหลวงพ่อจะจำไว้ ท่านบอก เออ จำไว้ ที่ท่านสอน มันสอนล่วงหน้านานเลย เพราะอีก 36 วันท่านจะมรณภาพแล้ว หลวงปู่ดูลย์ท่านเป็นพระที่มีชื่อเสียงมากในวงกรรมฐานในแง่รู้อนาคต ท่านเก่ง รู้อนาคต ท่านก็คงรู้ล่ะว่าท่านจะมรณภาพ ท่านมรณภาพวันเกิดของท่าน คนมาจัดงานวันเกิดท่าน มากันเยอะแยะในวัด แล้ววันนั้นรดน้ำศพท่าน

พอหลวงพ่อได้ยินหลวงปู่บอกแล้ว วันรุ่งขึ้นลงมาที่โคราช เข้าไปกราบหลวงพ่อพุธ หลวงพ่อพุธท่านก็ถาม “ไง นักปฏิบัติ รอบนี้หลวงปู่สอนอะไร” บอกหลวงปู่บอกว่า “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” หลวงพ่อพุธท่านก็บอกว่า ตรงนี้จุดนี้ เป็นจุดสุดยอดของกรรมฐาน คือเป็นจุดแตกหักของกรรมฐานเลย ขั้นสุดท้าย

ท่านบอกเมื่อ 7 วันก่อน ท่านก็ขึ้นไปกราบหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ก็บอกท่านว่า “เจ้าคุณ การปฏิบัติมันจะยากอะไร พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” ท่านบอกอย่างนี้ แล้วท่านก็ขยายความให้หลวงพ่อฟัง ท่านกลัวหลวงพ่อจะไประเบิดตัวผู้รู้ตอนนั้น ท่านบอกว่าการทำลายผู้รู้ ก็คือการเห็นตัวจิตผู้รู้มันเป็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่ทำลายด้วยวิธีอื่น ไม่ใช่ไปเพ่งให้มันระเบิดไป นั่นบ้าไปเลย

แล้วท่านก็บอกว่า “คุณกับอาตมามาทำกติกากัน” ทำข้อตกลงกัน “ใครทำลายได้ก่อนให้มาบอกกัน” หลวงพ่อก็รู้ว่าท่านพูดมันเป็นคำพูดที่สุภาพ คือหลวงพ่อเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อพุธอาวุโสน้อยกว่าหลวงปู่ดูลย์ อยู่ๆ จะมาบอกว่าจะสอนหลวงพ่อ ท่านไม่ทำ ท่านเลยใช้บอกว่า ถ้าใครรู้ก่อนแล้วมาบอกกัน เราก็รู้ เพราะอย่างไรท่านต้องได้ก่อนเราล่ะ จนหลวงพ่อ ช่วงหลังไม่เจอท่าน ท่านเป็นมะเร็ง เป็นอะไร ท่านก็ไปหลบ หนีโยมไปซ่อน จนเกือบเวลาที่หลวงพ่อจะมาบวชแล้ว ใกล้จะมาบวชแล้ว ท่านมาเทศน์ที่ทีโอที เลยเข้าไปกราบท่านบอก “หลวงพ่อครับ ผมยังทำลายผู้รู้ไม่ได้เลย”

ท่านบอก “จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่” ฟองไข่หมายถึง เหมือนไข่ไก่ เหมือนไข่เป็ดอะไรอย่างนี้ “จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่ มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง” เราก็เข้าใจแล้ว ว่าไม่มีใครทำลายผู้รู้ได้ แต่เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์แล้ว มันถึงจะทำลายผู้รู้โดยตัวของมันเอง อริยมรรค อรหัตตมรรคจะเป็นตัวทำลายผู้รู้ ก็มี 2 คนคือหลวงพ่อ หลวงพ่อพุธก่อนหลวงพ่อ 7 วัน ที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอน สอนอยู่ 2 คน

 

ต้องเห็นไตรลักษณ์

ฉะนั้นพวกเราภาวนา รู้เนื้อรู้ตัวไว้ นั่นล่ะเราจะมีตัวผู้รู้ มิฉะนั้นเราก็จะมีแต่ตัวผู้หลง พอเรามีตัวผู้รู้แล้ว ค่อยๆ ดูไป ร่างกายมันถูกรู้ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ร่างกายหายใจเข้าเที่ยงหรือไม่เที่ยง หายใจเข้าเที่ยงไหม ลองหายใจเข้าไปเรื่อยๆ สิ เดี๋ยวก็ตายเองล่ะ หายใจเข้าก็ไม่เที่ยงก็ต้องหายใจออก หายใจออกก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ต้องหายใจเข้า รูปนั่งนี้เที่ยงไหม รูปนั่งก็ไม่เที่ยง นั่งแล้วก็เมื่อยใช่ไหม ขยับไปขยับมา รูปนี่ก็เคลื่อนไหวอยู่เรื่อยๆ

ทำไมมันต้องขยับ เพราะมันปวดมันเมื่อย จิตมันก็สั่งให้ขยับไป จริงๆ ร่างกายมันขยับเพราะจิตมันสั่ง เพียงแต่บางทีมันเป็นจิตใต้สำนึก มันมาจากไขสันหลังเรา เป็นการเคลื่อนไหวอัตโนมัติ ที่จริงก็คือจิตมันสั่งให้เคลื่อนไหว หนีความทุกข์ไป ที่ร่างกายเราเคลื่อนไหว เพื่ออะไร เพื่อหนีความทุกข์กับเพื่อแสวงหาความสุข ที่จิตของเราเคลื่อนไหวก็เพื่อหนีความทุกข์ เพื่อแสวงหาความสุขเหมือนกัน

อย่างร่างกายเรา ที่เราเอาร่างกายไปทำงาน เคลื่อนไหวไป จะนั่งนานๆ มันเมื่อย เราก็ต้องลุกขึ้นเดิน เปลี่ยนอิริยาบถ นอนอยู่ เมื่อยก็ต้องพลิกซ้ายพลิกขวา มันหนีความทุกข์ไปเรื่อยๆ แล้วความทุกข์แป๊บเดียว มันตามมาทันอีก ก็ต้องขยับหนีไปอีก หรือเราใช้ร่างกายไปแสวงหาความสุข เอาร่างกายไปเสพกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางร่างกาย ก็หวังว่าจะมีความสุข

เพราะฉะนั้นที่ร่างกายมันเคลื่อนไหว จิตมันใช้ร่างกายเคลื่อนไหว ก็เพื่อหนีความทุกข์ ก็เพื่อแสวงหาความสุข ตัวจิตเองก็เหมือนกัน ที่มันเคลื่อนไหวก็เพื่อหนีความทุกข์ เพื่อหาความสุข อย่างเราอยู่กับอารมณ์อะไรซ้ำซากนานๆ แล้วมันเบื่อ เช่น เราแต่งงาน ใหม่ๆ ไม่เบื่อใช่ไหม พอแต่งไปนานๆ แล้วเบื่อ ไม่อยากมองหน้าแล้วอะไรอย่างนี้ จิตมันเบื่อแล้วทำอย่างไร ก็หนีไปคิดเรื่องอื่น คิดถึงสาวคนอื่น หรือมันสั่งร่างกายไปเที่ยวหาสาวอื่นอะไรอย่างนี้ นี่จิตมันเบื่อ มันอยู่กับอารมณ์อะไรนานๆ ซ้ำซาก

กามคุณอารมณ์ที่ว่าวิเศษๆ ถ้าเสพนานๆ แล้วเบื่อทั้งหมดล่ะ ไม่มีหรอกที่ติด ที่ติดเพราะมันเปลี่ยน มันดูหนัง เบื่อแล้วมันก็ไปฟังเพลง ฟังเพลงเบื่อแล้ว ไปหาข้าวกิน มันเปลี่ยนไปอย่างนี้ มันเลยไม่เห็นว่าจิตของเราวิ่งไปพล่านๆ ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิ่งหนีความเบื่อ วิ่งหนีความทุกข์ แล้วก็แสวงหาความสุข อยากมาวัด มาฟังเทศน์อะไร จิตจะได้มีความสุข สบายใจ มานั่งฟังประเดี๋ยวเดียว เบื่อแล้ว เมื่อไรหลวงพ่อจะเลิกเทศน์สักที จะได้ไปที่อื่น

จิตเรามันจะดิ้นรนหนีความทุกข์ ดิ้นรนหาความสุขไปเรื่อยๆ ที่เราอยากได้อยากดีอะไรนี่ ก็เพื่อว่าได้อันนี้มาแล้วจะได้ไม่ทุกข์ ได้อันนี้มาแล้วจะได้มีความสุข เที่ยวหาอารมณ์ไปเรื่อยๆ ทำไมต้องเข้าฌานสมาบัติ เพราะว่ามันมีความสุข เพื่อจะให้จิตมีความสุข ลึกๆ ลงไปก็คือมันรัก มันหวงแหน มันเห็นว่ากายนี้คือตัวเรา เราก็อยากให้กายมีความสุข อยากให้กายไม่ทุกข์ มันเห็นจิตคือตัวเรา มันหวงแหน มันยึดถือเอาไว้ มันก็ดิ้นรนจะให้จิตไม่ทุกข์ จะให้จิตมีแต่ความสุข

กระทั่งพระอนาคามียังดิ้นรนที่จะให้จิตมีความสุข ยังดิ้นรนให้จิตพ้นทุกข์เลย อย่างพระอนาคามีจิตยังฟุ้งซ่านได้ แต่ไม่ได้ฟุ้งในกาม อย่างพวกเรา เวลาฟุ้งจะฟุ้งในกาม เช่น คิดก็คิดถึงสาว คิดถึงหนุ่มอะไรอย่างนี้ ฟุ้งไปในกาม แต่พระอนาคามีไม่ได้คิดฟุ้งในกาม ท่านฟุ้งในธรรมะ ทำอย่างไรหนอจะพ้นเสียทีๆ แล้วใจมันก็จะดิ้นๆๆ ไม่พอใจในสิ่งที่มีที่เป็นตอนนี้ ซึ่งมันไม่ใช่พระอรหันต์ มันไม่พอใจ มันก็ดิ้น

ถ้าได้เป็นพระอรหันต์ มันคงจะมีความสุข ตัวนี้ล่ะมันหลอกเราให้ดิ้นไปเรื่อยๆ ให้ปรุงไปเรื่อยๆ แล้วพอปรุงได้ที่ ไปอยู่ในรูปฌาน อรูปฌาน ปรุงได้ที่แล้วก็คิดว่านี่ล่ะ ที่ฝากเป็นฝากตายตรงนี้ล่ะ พ้นทุกข์กันตรงนี้ล่ะ ตรงนี้ระมัดระวัง แต่พวกเรายังไม่ต้องกลัว ยังไม่ถึงเวลาของเราหรอก อันนี้หลวงพ่อพูดสำหรับพระปฏิบัติที่ท่านปฏิบัติเก่งๆ มีอยู่หลายองค์ แต่ว่าท่านยังติดตัวผู้รู้นี้อยู่

วิธีทำลายมันคือเห็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็น อย่างความฟุ้งซ่าน อุทธัจจะตัวนี้ มันฟุ้งในธรรมะ มานะ เทียบเขาเทียบเรา มันจะไม่รู้สึก คนนี้ด้อยกว่าเรา เราเหนือกว่าเขาอะไรอย่างนี้ ไม่ค่อยรู้สึกหรอก มันจะรู้สึกว่า ทำไมครูบาอาจารย์ท่านดีอย่างนี้ ทำอย่างไรเราจะดีอย่างท่านบ้าง ไม่ได้คิดเทียบรุ่น แต่อยากดีอย่างท่านบ้าง เทียบ จะรู้สึกอย่างนั้น

ค่อยๆฝึกไปเป็นลำดับๆ ไป พอรู้ตัวได้ก็ค่อยดูความจริงของกายของใจ ปัญญาขั้นต้นเกิดก็จะเห็นกายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา ปัญญาขั้นกลางเกิด ก็จะเห็นตัวกายนี้คือตัวทุกข์ล้วนๆ เลย ขั้นสุดท้าย มันจะเห็นตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะคือตัวทุกข์ แล้วทุกข์แสนสาหัส ยิ่งกว่าความทุกข์ทั้งหลายในโลกอีก

 

ธรรมที่ไม่กำเริบกลับ

ให้ตั้งอกตั้งใจต่อสู้เอา เส้นทางของพระพุทธเจ้าสมบูรณ์ด้วยเหตุผล ไม่มีอะไรที่งมงายสักนิดเลย ตั้งอกตั้งใจเรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจเรื่อยๆ ไป รู้อย่างที่มันเป็น พอรู้แล้วปัญญามันก็จะค่อยสะสมไป สุดท้ายมันก็พ้นทุกข์ด้วยปัญญา บุคคลถึงความบริสุทธิ์ด้วยปัญญา

แต่ในขณะที่แตกหักกัน ไม่ได้มีปัญญาอย่างเดียว มีสมาธิด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราไปดูในพระสูตร เวลาท่านใดบรรลุพระอรหันต์ ท่านจะบอกว่า บรรลุด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ อันไม่กำเริบกลับ บรรลุด้วยส่วนทั้งสอง ทั้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ บรรลุด้วยเจโตวิมุตติเป็นอย่างไร คือจิตในขณะนั้นทรงฌาน ตรงที่ขึ้นไปเข้าฌาน มันเข้าอัตโนมัติ ถึงเราทำขณิกสมาธิ ดูเป็นขณะๆ ตอนที่จะแตกหัก มันเข้าฌานทุกคนล่ะ เรียกว่ามันบรรลุด้วยเจโตวิมุตติ แต่ตัวที่แตกหักจริงๆ คือตัวปัญญาวิมุตติ แต่ปัญญาจะสมบูรณ์ไม่ได้ ถ้าไม่มีกำลังสมาธิหนุนหลังอยู่ เพราะสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา

การที่เราฝึกรู้สึกๆๆ เราเพิ่มพลังของสติและสมาธิ พอสติและสมาธิเราดี ก็เจริญปัญญาดูความจริงของกายของใจเข้าไปซ้ำแล้วซ้ำอีก รู้สึกไป พอมันรู้แจ้งเห็นจริงมันก็วาง มันวางของมันเอง แล้วท่านมีคำว่า ไม่กำเริบกลับ ในยุคของเรา เราไม่มีพระพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ไม่สามารถมาบอกเราได้แล้วว่าคนนี้บรรลุพระอรหันต์ คนนี้บรรลุชั้นนั้นชั้นนี้ อันนี้เป็นเอกสิทธิ์ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เอกสิทธิ์ของสาวก ท่านไม่ได้มอบสิทธิอันนี้ให้พยากรณ์กันเอง แต่ว่าให้สังเกตตัวเองเอาว่ากิเลสอะไรเราละแล้ว กิเลสอะไรเรายังไม่ละ สังเกตตัวเองเอา

ค่อยๆ ดู ค่อยๆ ดูไป แล้วก็จะรู้เลยว่า ธรรมะที่ท่านพูดตรงเป๊ะเลย แล้วเวลาสมมติว่าเราภาวนา แล้วจิตมันรวมลงไป เราเห็นสิ่งบางสิ่งเกิดแล้วดับๆ 2-3 ขณะ จิตวาง ทวนกระแสเข้ามาที่ตัวผู้รู้ แล้วก็นิ่ง สว่าง ว่างอยู่ตรงนั้นเราก็คิดว่าบรรลุแล้ว จิตไม่ยึดถือจิตแล้ว เพราะจิตมันวางจิตไปแล้ว มี จิตมันวางไปแล้ว ครูบาอาจารย์รุ่นหลัง ท่านเคยบอกหลวงพ่อไว้ หลวงพ่อกิมท่านบอกว่า ถ้าเจอคนแบบนี้ บอกให้เขาไปดูตัวเองสัก 3 เดือน ดูสิว่ากำเริบกลับไหม

อย่างบางทีภาวนาๆ มาแล้ว จิตรวมปุ๊บไปแล้วบอกว่า ละกามได้แล้ว บอกอย่าเพิ่งดีใจ ถ้าใครเขาบอกว่าเขาละกามได้แล้ว เป็นอนาคามีแล้ว บอกอย่าเพิ่งยินดีกับเขา อย่าเพิ่งยินร้ายกับเขา บอกเขาว่า ดูไปเรื่อยๆ สัก 3 เดือน 3 เดือน กำลังสมาธิที่ทรงอยู่ มันเสื่อม เดี๋ยวมีกาม เดี๋ยวไม่มีกาม เดี๋ยวก็รู้เองล่ะ ตัวนี้ที่มันยังเสื่อมได้ เรียกว่ามันยังกำเริบกลับได้ เป็นกุปปธัมโม เป็นธรรมที่กำเริบกลับได้อีก แต่ถ้ามันแตกหักด้วยอริยมรรค จะไม่กำเริบกลับ เป็นอกุปปธัมโม

หลวงพ่อก็เคยเป็น ตอนนั้นยังเป็นโยมอยู่ ภาวนามาได้ เรียนจากหลวงปู่ดูลย์มาได้สัก 3 ปี แล้วหลวงปู่ไม่อยู่แล้ว วันหนึ่งจิตรวมสว่างโพลง เหมือนมันแหวกออก แต่มันก็แปลกๆ มีดวงสว่างขึ้นมา ก็ไม่แน่ใจ พระอนาคามีหรือเปล่า ใจก็คิดอย่างนั้น คิดโง่ๆ ไปอย่างนั้น ก็ใช้วิธีทดสอบตัวเอง เพราะตอนนั้นกามและปฏิฆะหายไปหมดเลย หลวงพ่อทดสอบตัวเองด้วยการไปยืมหนังสือโป๊ของเพื่อนมาอ่าน เมื่อก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ไหม เขาดูหนังสือโป๊กัน คนนี้เขามีเป็นตู้เลย ไปยืม เขาดีใจว่า เออ ตาเถรนี่ตบะแตกแล้ว

เราเอามาดูไม่ใช่เพื่อสนองอะไรของเรา แต่ดูใจจะกระเทือนไหม ดูวันแรก ใจยังเฉยๆ เห็นแล้วสลดสังเวช ดูวันที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ชักจะไม่สลดสังเวชแล้ว วันที่เจ็ด ดูแล้วราคะเกิดเลย ดีใจๆ เรา โห เห็นกิเลสแล้ว นี่กำเริบกลับได้ วิมุตติที่กำเริบกลับได้ ส่วนใหญ่ก็คือพวกที่ไปติดสมาธินั่นล่ะ สมาธิเสื่อมเมื่อไรก็กำเริบกลับเมื่อนั้นล่ะ

เอาเรื่องนี้ไปเล่าถวายหลวงปู่เทสก์ ท่านหัวเราะฮึๆ หลวงปู่เทสก์ท่านจะหัวเราะสุภาพ ไม่อ้าปาก ท่านขำ ท่านบอกฉลาด รู้จักดูตัวเองได้ ฉะนั้นพวกเราค่อยๆ สังเกตถ้าเกิดอะไรขึ้น เราอย่าเพิ่งดีใจค่อยๆ ดู ค่อยๆ ดูไปว่ามันกำเริบได้อีกไหม บางคนไม่กำเริบ เพราะอะไร เพราะว่าทรงฌานไว้ทุกวันเลย ไม่ได้กระทบอารมณ์ที่จะยั่วให้มันกำเริบได้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
11 ธันวาคม 2565