เมื่อวานวิสาขบูชา พวกเรามาเวียนเทียนก็หลายร้อยคนเมื่อวาน กลับบ้านแล้วไปภาวนาต่อบ้างไหม ใครไปปฏิบัติต่อบ้าง ยกมือให้ดูหน่อย ค่อยยังชั่วหน่อย นึกว่าเวียนเทียนเสร็จแล้วก็เลิกไปชอปปิ้งอย่างนี้ จะภาวนามันก็ต้องรู้จักปลีกตัวออกจากโลกบ้างเป็นครั้งคราว หัดปลีกตัวบ้าง
หลวงพ่อเมื่อก่อนนี้ช่วงยังทำงานอยู่ วันมาฆบูชา ช่วงวิสาขบูชา ช่วงอาสาฬหบูชา เข้าพรรษา แล้วก็ช่วงวันเฉลิมฯ เดือนธันวาคม สมัยก่อน รัชกาลที่ 9 ปีหนึ่งจะมี 4 ช่วง มีวันหยุดเยอะ ก็จะดักลาหน้าลาหลัง รวมๆ แล้วก็ได้หลายวันอยู่ ก็ปลีกตัวออกจากความเคยชินไปอยู่กับครูบาอาจารย์ ไปภาวนา ในวัดแต่ละวัดก็วุ่นวาย มันก็มีเจ้าพ่อเจ้าแม่อะไร เราก็ไม่สนใจ เราไปภาวนา ใครจะอย่างไรก็เรื่องของเธอ ก็มีเวลาปลีกตัวเองออกจากโลกที่วุ่นวายเป็นช่วงๆ มาบวชบางทีก็ต้องปลีกวิเวกเหมือนกัน
กายวิเวก
ใช้คำว่าวิเวกเฉยๆ พวกเราแปลไม่ออก แต่คำว่าปลีกวิเวกยังพอเข้าใจไหม หรือไม่เข้าใจ ภาษาเข้าใจยากขึ้นทุกทีแล้ว เราปลีกตัวออกจากความซ้ำซากเคยชินที่เราต้องคลุกคลีวุ่นวายอยู่กับคนจำนวนมาก การที่เราหลบออกไปจากหมู่คณะ จากผู้คนเยอะแยะอะไร เรียกว่ากายวิเวก วิเวกเป็นหมวดธรรมว่าด้วยความสงัด หรือการปลีกตัวออก 3 อย่าง มีกายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก กายวิเวก มันจะทำให้จิตใจเราก็จะมีกำลังขึ้นด้วย เรายุ่งกับคนอื่นทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี มันก็จะเหน็ดเหนื่อย
คน มันแปลว่าวุ่นวาย แต่ละคนนั้นก็มีความวุ่นวายไปคนละอย่าง 2 อย่าง ยุ่งกับคน 10 คนก็มีความวุ่นวาย 10 อย่าง หรือหลายสิบอย่าง ยุ่งกับร้อยคนยิ่งไปกันใหญ่ ถึงเวลาเราก็ให้เวลาอยู่กับตัวเองบ้างถ้ามีโอกาส ก็เรียกว่าการปลีกวิเวก ถ้าพูดตามตำราจริงๆ ก็เรียกกายวิเวก แยกเอาร่างกาย แยกเอาตัวเราออกไปจากการคลุกคลี ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ
แต่ตรงนี้ก็ต้องดูให้ดี บางทีการแยกตัวออกไปอยู่คนเดียว มันก็ยังหนีความคลุกคลีไม่พ้น ยิ่งยุคนี้ อินเทอร์เน็ตเข้าถึงเรา คนอื่นเข้าถึงตัวเราได้ตลอดเวลา ไม่สามารถปลีกวิเวกได้ ถึงไปอยู่ในป่า ไปอยู่ในวัด เดี๋ยวก็มีข้อมูลมาแล้ว ตั้งแต่โบราณก็มี sms มีอะไรมา เดี๋ยวนี้ก็มีไลน์ มีเขาเรียกอะไรต่ออะไร ไอจี เยอะแยะไปหมด อันนั้นเราไม่ได้ปลีกวิเวกจริง มันปลีกแต่ตัว แต่ว่ามันเป็นแต่เปลือก ในความเป็นจริงก็ยังคลุกคลีกับคนอื่นไม่เลิก ถ้าอย่างนั้นจิตจะไม่ได้พักหรอก ร่างกายก็ไม่ได้พัก เพราะฉะนั้นเรารู้จักปลีกวิเวกจริงๆ อย่างช่วงที่เราไปภาวนา ก็ปิดมือถือมันไปเลย ใจเด็ดๆ หน่อย ไม่ต้องห่วงหน้าห่วงหลัง
บางคนคิดว่าปลีกวิเวกแปลว่าไม่ยุ่งกับใครเลย ก็ไม่ได้แปลขนาดนั้น อย่างบางทีจะชวนกันภาวนาอย่างนี้ เป็นหมู่เป็นคณะ ไปภาวนาด้วยกันจริงจัง อันนั้นก็ถือว่าออกไปปลีกวิเวก ปลีกวิเวก เราหลีกออกจากหมู่คณะที่มันวุ่นวาย เต็มไปด้วยกิเลส แต่ถ้าเป็นหมู่คณะที่ชวนกันสร้างบุญสร้างกุศลอะไรอย่างนี้ ไม่ต้องไปปลีกหรอก ดี ไม่ใช่ว่าไม่ดี
เมื่อก่อนตอนหลวงพ่อภาวนาใหม่ๆ หลวงพ่อก็มีบัดดี้ มีคู่หูคู่ปฏิบัติ เป็นกัลยาณมิตร ออกไปหาครูบาอาจารย์ด้วยกันอะไรอย่างนี้ ไปฟังธรรมะด้วยกัน แล้วก็ภาวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอะไร อันนี้ก็ยังเป็นการปลีกวิเวกอยู่ เพราะว่าเราคลุกคลีกันด้วยกุศล ไม่ใช่ด้วยอกุศล
การที่เราจะปลีกตัวออกจากโลก เราปลีกจากความวุ่นวาย ปลีกตัวออกจากอกุศลทั้งหลาย อย่างอยู่ๆ จะหนีไปอยู่คนเดียวในป่าอะไรอย่างนี้แล้วบอกปลีกวิเวก อาจจะไม่ได้ปลีกก็ได้ เพราะฉะนั้นการปลีกวิเวกมันจะช่วยให้เรากระปรี้กระเปร่า มีเรี่ยวมีแรงภาวนา วุ่นวายทั้งปีทั้งชาติ แรงตก ยุ่งกับคนมากก็ยิ่งแรงตกมาก พยายามคบคนซึ่งเราคบด้วยแล้วเกิดกุศล อันนั้นไม่ห้าม ไม่ใช่เป็นข้อห้ามว่าไม่ควรทำ
ที่หลวงพ่อปฏิบัติมา หลวงพ่อก็มีกายวิเวกประมาณ 3 เดือนครั้ง ปีหนึ่งมี 4 รอบ เอาเวลานั้นมาอยู่กับตัวเอง ภาวนาของเราไป วางความวุ่นวาย วางภาระทั้งหลายไว้ชั่วคราว เดี๋ยวค่อยกลับมาสู้กับงาน สู้กับภาระทั้งหลายต่อไป จิตใจมันจะเข้มแข็ง มีเรี่ยวมีแรง สดชื่น
จิตตวิเวก จิตไม่หลงวุ่นวายไปกับกิเลสทั้งหลาย
วิเวกอีกตัวหนึ่งชื่อจิตตวิเวก อันนี้พวกเราเริ่มมีปัญหาแล้ว กายวิเวกยังพอทำง่าย ไม่ยากนักหรอกถ้าตั้งใจจะทำ จิตตวิเวกคือปลีกตัวออกจากอกุศลจิตทั้งหลาย ทำอย่างไรจิตมันจะสามารถหลีกออกชั่วคราวจากอกุศลทั้งหลายได้ ก็ต้องทำสมาธิ ทำฌานสมาบัตินั่นล่ะ ในขณะที่จิตมันทรงฌานอยู่ อันนั้นเรียกว่ามีจิตตวิเวก เพราะจิตเราไม่หลงวุ่นวายไปกับกิเลสทั้งหลาย นิวรณ์ทั้งหลายมันถูกข่มระงับลงไปชั่วคราว จิตใจก็สงบ จิตใจก็มีความสุข
พวกเราก็หัด มีประโยชน์การทำสมาธิ หัดใหม่ๆ อาจจะยาก แต่ฝึกไปเรื่อยๆ มันก็ไม่พ้นวิสัย ไม่เกินความสามารถที่มนุษย์ธรรมดาๆ จะทำได้ ขั้นแรกก็มีกายวิเวก อย่ายุ่งกับคนอื่นถ้าไม่จำเป็น ต่อมาเราก็มาฝึกจิตฝึกใจของเรา ทุกวันทำกรรมฐาน ทำในรูปแบบอะไรของเราไป แล้วเวลาจิตมันมีกิเลส มีนิวรณ์อะไรเกิดขึ้น เรามีสติรู้ทันลงไป นิวรณ์มันจะดับ กิเลสมันสู้สติไม่ได้ เพราะฉะนั้นกิเลสเกิด หรือนิวรณ์เกิด นิวรณ์ก็เป็นกิเลสระดับกลางๆ มันเกิดขึ้นมาเรามีสติรู้ทัน นิวรณ์มันดับ สมาธิมันก็เกิด
หรือถ้าทำเต็มรูปแบบ ก็ทำกรรมฐานอันที่สามารถทำให้เข้าถึงฌานได้ อย่างการคิดพิจารณาคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คิดถึงคุณของเทวดา คิดถึงทาน คิดถึงศีลที่ทำมาแล้วด้วยดี อันนี้มันยังไม่ถึงฌาน มันได้ความสงบระดับอุปจารสมาธิ สมาธิกรรมฐานที่ทำให้ถึงฌานได้ เช่น อานาปานสติ หรือการเจริญกายคตาสติ ทำให้ถึงฌานที่สี่ได้ หรือการเจริญเมตตา ทำใจให้มีความสงบ มีความเมตตา แผ่ออกไปไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ ก็จะเข้าถึงฌานที่สูงขึ้นไปได้ ถึงอรูปฌานได้
ถ้าเราทำเป็นก็ควรทำ ถ้าเราทำฌานไม่เป็น เราภาวนาไปเรื่อย มีสมาธิระดับขณิกสมาธิ นานๆ จิตจะได้อุปจารสมาธิทีหนึ่ง สงบลงไป แต่ไม่ถึงฌาน แล้วก็เจริญวิปัสสนาไป ถึงบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ ทำได้ไหม เป็นพระอรหันต์โดยที่ไม่ได้ฝึกเข้าฌานมาก่อน เป็นได้ จะเป็นพระอรหันต์ชนิดหนึ่ง เรียกว่าสุกขวิปัสสก เป็นพระอรหันต์ชนิดแห้งแล้ง
การภาวนามาด้วยความแห้งแล้ง คล้ายๆ เดินทางไกลจากสังสารวัฏ จะออกจากสังสารวัฏ บางคนไปอย่างสบาย เดินทางไกล นั่งรถยนต์ไป นั่งเรือบินไป ถึงเวลาจะพักก็มีโรงแรมมีที่พัก มีที่กินที่อาบน้ำ สดชื่นแล้ว อีกวันหนึ่งก็เดินทางต่อ อันนี้พวกเดินทางสบาย แต่พวกเราเป็นประเภทยากจน จะเดินทางไกล ค่ารถก็ไม่มีก็ต้องเดินเอาอะไรอย่างนี้ โรงแรมจะพักก็ไม่มี ก็นอนอยู่ข้างถนน ข้างใต้ต้นไม้ นอนตามศาลา ที่จอดรถเมล์อะไรอย่างนี้ มันไปถึงปลายทางได้ไหม มันไปได้ แต่มันไม่มีความสุขระหว่างไป มันลำบากแห้งแล้ง
การปฏิบัติก็เหมือนกัน บางคนปฏิบัติแล้วไม่แห้งแล้ง คือพวกที่เขาทรงฌาน ถึงเวลาเขาก็ทำความสงบมา จิตมีความสุข มีวิเวก มีจิตตวิเวก สงบ สงัด สบาย พอจิตมีกำลังแช่มชื่น เราก็เดินปัญญาต่อ อันนี้เขาไปสบาย แต่ถ้าเราเข้าฌานไม่เป็น หัดทำขณิกสมาธิ เผลอแล้วรู้ๆ ไป แล้วเจริญวิปัสสนาไป ก็บรรลุมรรคผลได้ แต่แห้งแล้ง เป็นพระอรหันต์ก็เรียกสุกขวิปัสสก มีแต่ของจริง ไม่มีของเล่น
ของจริงก็คือได้โลกุตตรธรรม ของเล่นไม่ได้ อย่างวิชชา 3 ระลึกชาติได้ รู้ว่าใครตายแล้วไปเกิดที่ไหนอะไรอย่างนี้ ไม่มี อภิญญา 6 แสดงฤทธิ์ได้ มีหูทิพย์ มีตาทิพย์ มีเจโตปริยญาณอะไรอย่างนี้ เขามีของเล่น มีเครื่องอยู่ ถึงเวลาเขาก็ทำฌานแล้วก็เกิดอภิญญาขึ้นมา หรือบางท่านเกิดความแตกฉานมากมาย อันนั้นเขามีเครื่องอยู่ ก็คือการเจริญปัญญา เจริญปัญญาแต่ไม่ใช่ฟุ้งซ่าน
เราหวังยาก เรื่องของฌานสมาบัติ ฉะนั้นเราเอาเท่าที่เราทำได้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ ขอให้รู้ทันจิตตัวเองก็แล้วกัน ทำกรรมฐานไป จิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตสงบ รู้ว่าจิตสงบ อันนี้กิเลสก็จะระงับลงไป ก็ได้จิตตวิเวกเหมือนกัน แต่ได้เล็กๆ น้อยๆ การที่เรามีสติรู้ทันสภาวธรรมที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่ ก็จะทำให้เกิดกายวิเวกได้ เกิดจิตตวิเวกได้
อย่างเราอยู่ในศูนย์การค้า มองข้างนอก ไม่ใช่กายวิเวกแน่ วุ่นวายเหลือเกิน เสียงดัง คนเยอะ ถ้าเราดู เห็นร่างกายเราเคลื่อนไหว เห็นจิตใจเราทำงาน เรามีสติอยู่ รู้สภาวธรรมที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่ อันนั้นล่ะเรากำลังเกิดกายวิเวก เกิดจิตตวิเวกในท่ามกลางความวุ่นวาย
เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนาชำนิชำนาญจริง อยู่ตรงไหนเราก็วิเวกได้ แต่ว่าทางกายมันอาจจะเหน็ดเหนื่อย มันก็ต้องกระทบกระทั่ง ต้องเดินหลีกคนนั้นหลบคนนี้ มิฉะนั้นเดี๋ยวเขาชนเอา ก็ยังมีภาระทางร่างกายอยู่ แต่ถ้าเรามีสติ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหว รู้สึก ถึงเราอยู่กับคนหมู่มาก เราก็วิเวก กายเราก็วิเวก จิตเราก็วิเวก คือจิตไม่มีอกุศลเข้ามาครอบงำ
เพราะฉะนั้นพยายามมีสติรู้เท่าทันจิตตัวเองไว้ จะได้ทั้งกายวิเวก ได้ทั้งจิตตวิเวก แบบอนุโลมเอา อ่อนๆ หน่อย ถ้าแบบเข้มข้นจริงๆ ก็ต้องทำให้เต็มเหนี่ยว อย่างปลีกตัวออกจากหมู่คณะที่วุ่นวายไปภาวนาของเราตามลำพัง ได้กายวิเวก เข้าฌานสมาบัติไป ก็ได้จิตตวิเวก ที่จริงจิตตวิเวก ไม่ใช่แค่จิตที่ทรงฌาน มันคือจิตซึ่งไม่มีอกุศล เพราะฉะนั้นมรรคจิต ผลจิต เวลาที่อริยมรรค อริยผลเกิด จิตในขณะนั้นก็เป็นจิตตวิเวก
ค่อยๆ ฝึกเอา ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรหรอก ทำเต็มภูมิเต็มรูปแบบไม่ได้อย่างเขา หลีกเร้นตลอดเวลาไม่ได้ เราต้องทำมาหากิน อยู่กับคนอื่นอย่างนี้ ทำอย่างไรเราจะปลีกวิเวกท่ามกลางความวุ่นวายได้ หรือทำอย่างไรเราจะมีจิตตวิเวกทั้งๆ ที่ยังต้องวุ่นวายอยู่กับโลก ก็ให้อาศัยสตินั่นล่ะรู้สภาวธรรม รูปธรรมนามธรรม ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึกไป ตรงนั้นได้ทั้งกายวิเวกได้ทั้งจิตตวิเวกโดยอนุโลมเอา พอใช้ได้
อุปธิวิเวก
อีกวิเวกหนึ่งเรียกอุปธิวิเวก คือมันสงัด มันปลีกออกจากความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง อย่างขันธ์ 5 เป็นความปรุงแต่ง กิเลสทั้งหลายเป็นความปรุงแต่ง สิ่งเหล่านี้มันมีสภาวะอันหนึ่ง ถ้าเราเข้าถึงแล้ว เราก็จะพ้นจากความปรุงแต่ง คือพ้นจากขันธ์ พ้นจากกิเลสอะไรอย่างนี้ พ้นจากอาสวะทั้งหลาย ฉะนั้นตัวอุปธิวิเวก จิตปลีกตัวพ้นจากความปรุงแต่ง จิตก็ถึงพระนิพพาน
ฉะนั้นอุปธิวิเวก จะมีได้ก็คือจิตสัมผัสอยู่กับพระนิพพาน ขณะที่จิตสัมผัสพระนิพพาน จิตวางขันธ์ วางรูป วางนาม วางธาตุ วางอายตนะ วางความปรุงแต่ง อภิสังขารทั้งหลาย ความปรุงของจิตทั้งหลาย มันวางหมด เข้าถึงธรรมที่ไม่ปรุงแต่ง การเข้าถึงธรรมที่ไม่ปรุงแต่ง หรือเข้าไปถึงพระนิพพาน ไปสัมผัสพระนิพพาน อันนั้นล่ะคืออุปธิวิเวก
ฉะนั้นการปลีกวิเวกมันเลยมี 3 ระดับ กายวิเวก อย่างหยาบๆ ก็คือปลีกตัวจากหมู่คณะที่วุ่นวาย อันนี้ต้องทำให้ได้ ถ้าเราปลีกตัวออกจากหมู่คณะที่วุ่นวายไม่ได้ เราก็มีสติรักษาจิต อยู่กับหมู่คณะที่วุ่นวายแต่เราไม่วุ่นวาย อันนั้นเรียกว่าเป็นกายวิเวกเหมือนกัน แล้วก็เป็นจิตตวิเวกในตัวเอง ส่วนจิตตวิเวก ถ้าทำเต็มภูมิก็คือเข้าฌานๆ หรือเกิดมรรคจิตเกิดผลจิตอะไรอย่างนี้
แล้วเวลามรรคจิตผลจิตดับไปแล้ว เราก็ทำสมาบัติอีกชนิดหนึ่งได้ เรียกผลสมาบัติ ผลสมาบัติใช้พระนิพพานเป็นอารมณ์ อันนั้นก็เป็นส่วนของจิตตวิเวก อันนี้ละเอียดลึกซึ้งเกินไป ปุถุชนไม่สามารถทำผลสมาบัติได้ ผลสมาบัติคือผล ผลสมาบัติ คือต้องได้อริยมรรคได้อริยผลแล้ว ถึงจะทำผลสมาบัติได้
ผลสมาบัติเวลาเกิดขึ้น ใช้นิพพานเป็นอารมณ์ จิตประกอบด้วยฌานขั้นใดขั้นหนึ่ง ตั้งแต่ปฐมฌาน ฌานที่หนึ่งยันฌานที่แปด อันใดอันหนึ่งก็ได้ ถ้าเลยจากนั้นไปก็เป็นสมาบัติที่เก้า เป็นนิโรธสมาบัติ นิโรธสมาบัติกับผลสมาบัติไม่เหมือนกัน ผลสมาบัติ จิตทรงตัวอยู่กับพระนิพพาน ส่วนนิโรธสมาบัตินั้น จิตสัมผัสพระนิพพานแต่ว่ามันเหมือนไม่มีจิตๆ จิตตัวนี้เราต้องภาวนาไปถึงจุดหนึ่งเราจะรู้
หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอก “จิตไม่ใช่จิต แต่ก็ไม่ใช่ไม่ใช่จิต” มันก็คือตัวจิตที่มันพ้นขันธ์ไปแล้ว จิตไม่ใช่จิต แต่ก็ไม่ใช่ไม่ใช่จิต เพราะมันยังเป็นธาตุรู้อยู่ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์เขาเรียกว่าจิต แต่อันนี้มันพิสดารลึกซึ้งลงไป มันวางขันธ์ลงไป แล้วมันไปรู้อารมณ์พระนิพพาน ไม่มีขันธ์ ตรงนั้นที่ท่านบอกว่ามีจิต จิตก็เหมือนไม่ใช่จิต แต่ก็ไม่ใช่ไม่ใช่จิต สิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านบอก ท่านบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเพื่อสื่อความหมายกับเรา ศัพท์ของท่านอาจจะไม่ตรงกับปริยัติก็ได้ แต่เนื้อหาสาระไม่เพี้ยนไม่ผิด
เรียนแต่ปริยัติไม่มีทางเข้าใจธรรมะที่ประณีตลึกซึ้งได้จริงหรอก เพราะไม่ได้เห็นสภาวะ แค่สติตัวจริงเป็นอย่างไร ยังไม่ค่อยมีคนเห็นเลย สมาธิจริงๆ เป็นอย่างไรก็ไม่ค่อยมี หลวงพ่อเคยบอกพระอาจารย์อ๊า ในโลกมันแทบไม่มีคนเคยรู้สึกตัวเลย มันมีแต่คนหลง ถ้าคนได้ยิน แล้วเขาไม่เคยปฏิบัติมาเข้าใจตรงนี้ เขาจะบอกพูดอะไร ใครๆ เขาก็รู้สึกตัวเป็น มิฉะนั้นก็ขับรถตกถนนไปแล้ว ไม่ใช่ๆ
ธรรมะจริงๆ เข้าใจไม่ได้ด้วยการฟัง ด้วยการอ่าน ด้วยการคิดเอา หัดรู้สภาวะไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งเข้าใจ พอเข้าใจแล้วเรามาย้อนอ่านตำรับตำรา มันเข้าใจ ตำราเขาก็เขียนถูก แต่คนเรียนตำรามักจะตีความตำราผิด หลวงปู่มั่นท่านถึงบอกว่า “ธรรมะ เมื่อเข้าไปอยู่ในจิตของปุถุชน มันก็กลายเป็นสัทธรรมปฏิรูป” เป็นธรรมะปลอมไปหมด จะเรียนเก่งแค่ไหน ได้ปริญญาอะไร มันก็เป็นธรรมะปลอม มันล้างกิเลสไม่ได้
กายวิเวก จิตตวิเวกอย่างง่าย
ทำกรรมฐานไว้อย่างหนึ่ง แล้วมีสติรู้ทันจิตตนเองไว้
เพราะฉะนั้นเราหัดภาวนาของเรา มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางเรื่อยๆ ไป ช่วงไหนหมดแรง หรือทำท่าจะหมดแรง หรือเกรงว่าจะหมดแรง เราก็ทำสมาธิชนิดสงบ จะได้ถึงฌานหรือไม่ได้ถึงฌานก็ช่างมันเถอะ ขอให้ได้ลงมือปฏิบัติ เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไปเรื่อยๆ จะสงบหรือไม่สงบ จะถึงฌานหรือไม่ถึงฌาน ก็ช่างมัน ขอให้ได้ทำไปก่อน
แล้วถ้าเราได้เคล็ดลับ เราทำสมาธิ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรือทำกรรมฐานอย่างอื่นก็ได้ เหมือนกันหมดล่ะ เคล็ดลับมันอยู่ที่เรารู้ทันจิตตัวเอง หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิดรู้ทัน จิตไปเพ่งลมหายใจ รู้ทันอะไรอย่างนี้ ถ้าเราได้เคล็ดลับคือรู้ทันจิตตัวเอง ไม่ว่าทำกรรมฐานอะไร ในขณะนั้นกายวิเวกเกิดแล้ว เพราะเราอยู่คนเดียว
กรรมฐานเป็นงานเฉพาะตัว ถึงเรานั่งอยู่กับคนร้อยคน แต่เราก็ดู ทำกรรมฐานของเรา รู้เท่าทันจิตใจของเรา ในขณะนั้นมีกายวิเวกท่ามกลางความวุ่นวายของโลก เราไม่ได้วุ่นวายด้วยแล้ว แล้วในขณะนั้นจิตเราจดจ่ออยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ไม่หลงลืมอารมณ์กรรมฐาน ไม่ถลำลงไปเพ่งจนเคร่งเครียดอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน จิตมีความสุข มีความสงบ มีความสบายอยู่กับการทำกรรมฐาน อันนั้นก็ถือว่าเราได้จิตตวิเวกเหมือนกัน
ฉะนั้นจิตตวิเวก อย่างง่ายๆ เลย กายวิเวก จิตตวิเวกอย่างง่ายเลย ก็คือทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่งแล้วมีสติรู้จิตตัวเองไว้ ใช้กรรมฐานที่เนื่องด้วยกายก็ได้ กรรมฐานที่เป็นนามธรรมก็ได้ แต่จุดสำคัญคือคอยรู้ทันจิตตนเองไว้ แล้วสิ่งที่ได้มาคือกายวิเวก จิตตวิเวก เราอยู่ท่ามกลางคนเป็นร้อยเป็นพัน เราก็ยังมีกายวิเวก เพราะเราไม่ได้ไปคลุกคลีกับใคร ไม่ได้ไปวุ่นวายอยู่กับใคร เห็นคนทั้งโลก คนจำนวนมากวุ่นวายอยู่ แต่เรามีกายวิเวก เราอยู่ในกลุ่มเขา แต่เราไม่ได้คลุกคลีกับเขา ไม่ได้วุ่นวายอยู่กับเขา ในขณะนั้นจิตของเราก็วิเวก คือไม่มีอกุศล ไม่มีอกุศลจิตเกิดขึ้น นั่นก็มีจิตตวิเวกเหมือนกัน
อันนี้เป็นวิธีทำกายวิเวก จิตตวิเวกอย่างง่าย คือทำกรรมฐานไว้อย่างหนึ่งแล้วมีสติรู้ทันจิตตนเองไว้ กรรมฐานนั้นจะเป็นรูปธรรมนามธรรมอะไรก็ได้ ขอให้รู้ทันจิตตนเองไว้ เคล็ดลับมันอยู่ตรงที่รู้ทันจิตตนเองนั่นล่ะ
ก่อนที่หลวงพ่อจะรู้เคล็ดลับตัวนี้ หลวงพ่อทำสมาธิตั้งนาน ทำเป็นสิบปีเลยกว่าจะจับเคล็ดได้ แต่เดิมก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำไป โอ๊ย นานกว่าจะสงบ ต่อไปเรามีเคล็ดลับ พอเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตเราไหลไปคิด รู้ทัน จิตถลำไปเพ่งลม รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันจิตนั่นล่ะ สมาธิเกิดทันที ฉะนั้นเราสามารถทำจิตให้เกิดสมาธิได้ในเวลาชั่วขณะเดียว ขณะจิตเดียวนั่นล่ะ ตรงที่เรารู้สภาวะได้ถูกต้องนั่นล่ะ
ค่อยๆ ไปฝึกเอา เอากายวิเวก จิตตวิเวกให้ได้ก่อน ถ้ากายวิเวกแบบตำราก็คือปลีกตัวออกไปจากหมู่คณะ แต่ถ้าปลีกตัวไม่ได้ ใช้เคล็ดลับที่หลวงพ่อบอก อ่านจิตตนเองไว้ เหมือนพวกเราเคยถามหลวงพ่อว่าหลวงพ่ออยู่กับคนหมู่มาก หลวงพ่อรู้สึกอย่างไร ผู้คนเยอะแยะ อย่างพวกเราเต็มห้อง หรือไปเทศน์บางที่คนเป็นพันๆ หลวงพ่อรู้สึกอย่างไร หลวงพ่อรู้สึกเหมือนหลวงพ่ออยู่กับต้นไม้ เหมือนอยู่ในดงในทุ่ง ทุ่งดอกไม้ เพราะหลวงพ่อไม่ได้คลุกคลีกับพวกเรา อันนั้นล่ะคือกายวิเวก จิตก็วิเวก
เพราะเรามีสติคุ้มครองรักษาจิตอยู่ อกุศลจิตก็ไม่เกิด ตรงที่อกุศลจิตไม่เกิด นั่นล่ะจิตตวิเวก ตรงที่จิตเราไม่ไปคลุกคลีกับคนอื่นกับสิ่งอื่น เราจะได้กายวิเวก บางครั้งกายวิเวกด้วยการรู้ทันจิตใจ ถ้าจิตไม่เข้าไปคลุก แต่ร่างกายเราต้องทำงานเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กับผู้คนมากมาย
อย่างการที่ครูบาอาจารย์ต้องมานั่งเทศน์ให้พวกเราฟัง มาตอบปัญหาธรรมะให้พวกเราฟัง ครูบาอาจารย์จิตไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับพวกเราก็จริง แต่ว่าได้ใช้ธาตุใช้ขันธ์ ใช้ร่างกายทำงาน ต้องมานั่งคุยกับเรา ต้องคิดว่าจะใช้คำพูดอย่างไรถึงจะเข้าใจ หรือเขาไม่เข้าใจจะแก้ไขอย่างไร อันนี้ต้องใช้ขันธ์ไปทำงาน พอใช้ขันธ์ทำงานนานๆ ขันธ์มันก็เหนื่อย ขันธ์มันก็หมดแรง ฉะนั้นก็ต้องปลีกวิเวกเต็มสูตร คือหลีกเร้นออกไปจากหมู่คณะ จากความเคยชิน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร
พระพุทธเจ้าท่านก็ปลีกวิเวก มีกายวิเวกเป็นช่วงๆ บางครั้งวุ่นวายมาก เหนื่อยมาก ท่านอายุเยอะขึ้นแล้ว ท่านเคยปลีกวิเวกทีหนึ่งตั้ง 3 เดือน ท่านสั่งพระอานนท์ไว้ว่าไม่ให้พาใครมาพบท่าน มีแต่พระอานนท์เช้าๆ ก็เอาอาหารมาให้ท่านมื้อหนึ่ง ฉันมื้อเดียวนั่นล่ะ แล้วท่านก็อยู่ของท่านลำพัง อยู่ตามต้นไม้ อยู่ตามกระท่อมตามอะไร ก็อยู่ไป พอพักเต็มที่แล้ว ธาตุขันธ์ก็แข็งแรงขึ้น ก็กลับออกมา มีกำลังสอนได้เข้มแข็ง อันนี้เป็นเรื่องของขันธ์ ขณะจิตถึงอุปธิวิเวกไปแล้ว ยุ่งกับคนมากๆ สอนกรรมฐานก็ใช้ขันธ์สอน ก็ต้องหลีกเร้น ต้องพักเป็นช่วงๆ ไป
ผู้มีปัญญาก็มีวิธีถอดถอนตัวเองออกจากโลก
สรุปๆ พูดเยอะๆ เดี๋ยวจับประเด็นไม่ได้ เราจะภาวนาให้ตลอดรอดฝั่ง ต้องรู้จักปลีกตัวออกจากหมู่คณะที่วุ่นวายบ้าง มีโอกาสปลีกตัวออกจากหมู่คณะที่วุ่นวายได้ก็ปลีกตัวเสีย แต่ถ้าไม่มีโอกาสปลีกตัว ก็ดูแลรักษาจิตของตนเองไว้ อย่างตั้งแต่หลวงพ่อเป็นโยม บางทีแม่บ้านให้ไปซื้อของตามห้าง ศูนย์การค้า คนเยอะแยะ เปิดเพลงเสียงดัง มีวัยรุ่นมีอะไร ซึ่งจิตใจมันเหลือรับประทาน จิตใจมันเต็มไปด้วยกิเลสกระแทกกระทั้นอะไร หลวงพ่อก็อยู่กับกายวิเวก จิตตวิเวก ก็เหมือนอยู่กลางทุ่ง อยู่กลางที่โล่งแจ้ง ไม่มีอะไร
พยายามฝึก แล้วเราอยู่มีความสุขในปัจจุบันได้ แล้วถ้าฝึกไปเรื่อยๆ จิตละอกุศลไป เจริญกุศลไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเจริญปัญญา เห็นความจริงของรูปนามกายใจไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งมันก็วางขันธ์ หมดความยึดถือในกาย หมดความยึดถือในจิตใจ มันก็เข้าถึงอุปธิวิเวก เข้าถึงพระนิพพาน นิพพานคือสภาวะที่มันพ้นความปรุงแต่ง อุปธิวิเวกก็คือการที่เราปลีกพ้นออกมาจากสังขารธรรม สังขตธรรมทั้งหลาย
อย่างเรื่องของขันธ์ เป็นสังขาร เป็นสังขตธรรม เรื่องกิเลส เรื่องของกามเรื่องอะไร เป็นสังขตธรรมทั้งนั้น หรือเจตนาที่จะวุ่นวายกับโลก อันนี้ก็เป็นสังขตธรรม ตัวเจตนาที่จะยุ่งอยู่กับโลก อย่างบางคนภาวนาดี ได้โสดาบัน ได้สกิทาคามีอะไรอย่างนี้ แต่ยังอยากเกิดอีก ไม่อยากนิพพาน อันนี้ก็เรียกว่ายังหลงอยู่กับสังขาร ก็ยังไม่เข้าถึงอุปธิวิเวก
วันใดที่เราภาวนา เราสามารถสงบอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายได้ มีความสงัดๆ สงบ ปลีกตัวออกจากความวุ่นวายทั้งๆ ที่อยู่ท่ามกลางความวุ่นวายนั่นล่ะ แล้วชีวิตเราจะมีความสุข มันเรื่องอะไร เกิดมาแล้วต้องคลุกคลี มั่วสุม จมอยู่กับความทุกข์ตลอดเวลา ผู้มีปัญญาก็มีวิธีถอดถอนตัวเองออกจากโลก จากความวุ่นวาย ก็ปฏิบัติไป มีสติรู้เท่าทัน กายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตเคลื่อนไหว รู้สึก ทำไปเถอะ ต่อไปก็จะได้กายวิเวก ได้จิตตวิเวก ได้อุปธิวิเวก เป็นลำดับๆ ไป
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ทำไมเทศน์เรื่องนี้ก็ไม่รู้ ประหลาดจัง ใครคิดจะปลีกวิเวกบ้าง ปลีกวิเวกแต่ไม่ปิดมือถือ ไม่วิเวกหรอก เดี๋ยวก็วิวาท ให้ธาตุให้ขันธ์มันได้พักบ้าง ด้วยการปลีกวิเวก แต่ไม่ใช่หนีโลก ปลีกวิเวกกับการหนีโลกมันคนละเรื่องกัน หนีโลกนั้นมันมีโทสะ ปลีกวิเวกมันเป็นกุศล คนละเรื่องกัน
วันเสาร์อาทิตย์หน้าหลวงพ่อไม่ได้อยู่วัด ไม่ได้เทศน์ ไปสุรินทร์ ไปงานศพอุปัชฌาย์ ทางวัดบูรพารามเขานิมนต์มาเดือนกว่าแล้วถึงจะว่างไป ต่อไปก็คงไม่ต้องไปสุรินทร์อีก ถ้าเผาศพท่านแล้วก็ว่าจะไม่ต้องไปแล้ว เพราะหมดครูบาอาจารย์ที่ต้องไป ที่จริงที่สุรินทร์มีครูบาอาจารย์เหลืออยู่องค์หนึ่งก็คือหลวงปู่สุพร แต่ท่านก็อายุเยอะแล้ว ท่านเริ่มจำไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องของสมอง ไม่ใช่จิต จิตท่านดี แต่สมองท่านจำไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นธรรมดา
สมัยที่หลวงปู่ดูลย์ยังอยู่ ที่สุรินทร์มีผู้ภาวนาเป็นจำนวนมาก ทั้งพระทั้งโยม ฆราวาสภาวนาเก่งๆ เยอะ บางคนฉลาดแหลมคมในธรรมะมากเลย แล้วก็หมดไปสิ้นไปๆ ไม่เหลือนักปฏิบัติที่สืบทอดอยู่ อย่างนิมนต์หลวงพ่อไปเทศน์ ก็กลายเป็นเทศน์ตามธรรมเนียมไป คนที่สุรินทร์ไม่ได้ฟังในเชิงปฏิบัติ เหลือคนที่ปฏิบัติน้อยเต็มที
เวลาหลวงพ่อไปเทศน์ คนเยอะ ลูกศิษย์หลวงพ่อ(นั่น)ล่ะ ที่อยู่ทางภาคอีสาน มาจากตั้งแต่อุบลฯ ทางมหาสารคาม ขอนแก่นอะไรพวกนี้ ไปฟังเทศน์ ต่อไปก็คงไม่ได้ไปบ่อยเหมือนที่ผ่านมา รอบนี้เทศน์ 6 โมงเย็นถึงทุ่มหนึ่ง ยังดีว่าไม่ดึก แต่ก่อนหน้านั้นดึก ให้เทศน์กลางคืน เหลือแต่คนแก่ๆ ไปถือศีลอะไรอย่างนี้ ก็เทศน์ตามธรรมเนียม ยิ่งนานวันนักปฏิบัติจริงๆ ยิ่งร่อยหรอ ฉะนั้นพวกเราต้องรีบภาวนาเอาไว้
วัดสวนสันติธรรม
4 มิถุนายน 2566