เร็วไป 5 นาที ภาวนาไป ภาวนาอย่าเพ่ง แค่รู้สึก รู้สึกร่างกายนั่งอยู่ รู้สึกร่างกายหายใจออก หายใจเข้า เอาแค่รู้สึก ไม่เพ่ง ฝึกไว้ให้เคยชิน มีเวลา 5 นาที 10 นาที อย่าทิ้งเปล่าๆ เจริญสติไป อย่างน้อยก็เห็นร่างกายหายใจเข้า หายใจออก ยืน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง หรือจิตมีกำลังมากขึ้น เห็นจิตใจมันทำงาน มันปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว เก็บเล็กเก็บน้อย ชั่วโมงหนึ่งเราเก็บได้ 5 นาที วันหนึ่ง 12 ชั่วโมง ที่ตื่นกลางวัน 12 ชั่วโมง เราจะได้ภาวนาเพิ่มขึ้น 1 ชั่วโมงแล้ว ใจสงบพอสมควรแล้ว ก็ฟังธรรมได้
เมื่อเช้ามีหมอคนหนึ่ง มาถามหลวงพ่อเรื่องภาวนา หลวงพ่อก็ให้รู้ทัน รู้ทันใจมันยังออกข้างนอก รู้ว่าใจออกข้างนอก ไม่ต้องแก้ ทีแรกมันออกข้างนอกแรง ไปข้างหน้า พุ่งอย่างแรง หลวงพ่อให้นึกถอยหลังมา นึกมาถึงกระดูกต้นคอ บอกอันนี้เป็นอุบายของการปฏิบัติ ไม่ใช่หลัก เมื่อก่อนหลวงพ่อคืน หลวงพ่อหรุ่น ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อคืนลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อหรุ่นลูกศิษย์หลวงพ่อคืน ท่านชอบสอนให้ญาติโยม ให้พระ แก้อาการ ถ้าจิตพุ่งไปข้างหน้าก็กำหนดย้อนหลัง มันก็ได้เหมือนกัน เป็นเรื่องของสมถะ ไม่ใช่วิปัสสนา
วิปัสสนา รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น สมถะมีการแก้อาการได้ จิตพุ่งไปข้างหน้า กำหนดมาข้างหลัง จิตมีราคะก็พิจารณาอสุภะ จิตมีโทสะก็เจริญเมตตา เป็นการแก้อาการ ด้วยสภาวะตรงกันข้าม อย่างราคะกับอสุภะมันเป็นศัตรูกัน ถ้าจิตมีราคะก็พิจารณาอสุภะ จิตมันก็กลับมา กลับข้าง มีค่าลบ มีค่าบวก สุดท้ายให้สมดุล เป็นเลข 0 ไม่บวกไม่ลบ จิตมีโทสะติดลบ ก็เจริญเมตตา เติมเครื่องหมายบวกลงไป สุดท้ายก็เป็นกลาง เป็นศูนย์ หรือจิตพุ่งไปข้างหน้า กำหนดย้อนมาข้างหลัง
ฉะนั้นเรื่องของสมถกรรมฐาน มันมีการแก้อาการ มีการใช้อารมณ์ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกัน แต่ไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนาสักว่ารู้ว่าเห็นไป โยมคนเมื่อเช้าเขาดูกระดูกต้นคอลงไป จิตมันก็เริ่มเข้ามาหาตัวเองมากขึ้นๆ เหลือออกไปข้างหน้านิดหน่อย หลวงพ่อก็บอกให้ดูเลยเห็นไหม รู้ไหม จิตมันไปข้างหน้านิดหนึ่ง เขาเห็น ทันทีที่เห็นว่าจิตมันไปข้างหน้า จิตมันก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
หลวงพ่อใช้คำหลายคำ เวลาพูดกับคนหลากหลาย บางทีก็บอกจิตตั้งมั่น จิตถึงฐาน จิตตื่น มีหลายภาษา ความหมายอันเดียวกัน เป็นจิตที่รู้เนื้อรู้ตัว พอจิตตั้งมั่น จิตตื่น จิตรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว หลวงพ่อก็ถามต่อไปว่า “เห็นไหมโลกข้างนอกมันว่าง ทุกอย่างมันว่าง” พอจิตมันตั้งมั่นได้เต็มที่ แล้วรู้ตัวเต็มที่ถูกต้อง สำหรับหมอคนนี้ หลวงพ่อก็ชี้ให้ดูความว่าง โลกนี้ว่าง ร่างกายก็ว่าง อะไรๆ ก็ว่าง ไม่มีอะไร
บอกดูไปเรื่อยๆ แล้วพอบอกให้ดู พอเห็นจิต โลกมันว่าง คราวนี้อยากเห็นอีก พอความอยากเห็นเกิด ความว่างก็หาย พอความอยากเกิด ตัณหาเกิด ความปรุงแต่งของจิตก็เกิดขึ้น จิตไม่สักว่ารู้ ไม่สักว่าเห็นแล้ว จงใจรู้ จงใจเห็น ความว่างก็ไม่ปรากฏขึ้น จิตก็สร้างภพสร้างชาติ สร้างทุกข์ขึ้นมา บอกภาวนานะ ไม่ต้องพยายามทำให้ถูกหรอก ตรงที่อยากทำให้ถูก มันตัณหา มีตัณหาทีไร ก็มีความปรุงแต่ง คือภพทันที มีภพทีไร ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทุกที ให้รู้ทันตัณหาที่มีอยู่ รู้ทันตัณหาแล้ว ความปรุงแต่งก็ไม่มี จิตมันก็ว่างขึ้นมา
สักแต่รู้ สักแต่เห็น เป็นเรื่องสำคัญ
เมื่อ 2 – 3 วันนี้ก็มีพระองค์หนึ่ง เมื่อวันพุธภาวนาดี หลวงพ่อชม ภาวนาดี จิตตื่น หลวงพ่อก็รู้ บอกแล้วเดี๋ยวก็เสื่อม บอกเขาว่าเดี๋ยวก็เสื่อม พอเสื่อมหลายวันแล้ว พยายามดิ้นรนใหญ่ จะให้จิตมันกลับมาตั้งมั่นขึ้นมา หลวงพ่อก็ปล่อยให้ดิ้นอยู่ 2 – 3 วัน เข้าไปถาม “เห็นไหมมันเสื่อมแล้ว” พระนั้นก็บอกว่า “ใช่ เห็นแล้ว จะทำอย่างไรมันจะดี” หลวงพ่อก็บอก “ทำไม่ได้หรอก ให้รู้ทันต้นเหตุ คือตัณหา” อยากปฏิบัติ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี
พอความอยากเกิดขึ้น ความดิ้นรนปรุงแต่งของจิตก็เกิดขึ้น จิตมันสร้างภพสร้างชาติ สร้างทุกข์ขึ้นมาแล้ว อย่างไรก็ต้องทุกข์ เพราะเราทำเหตุของทุกข์ไปแล้ว คือมีตัณหา ถ้าเรารู้ทันตัณหามันเป็นต้นตอ ความปรุงแต่งก็ไม่มี อย่างแค่เราอยากให้จิตตั้งมั่น มันก็อยากไปเรียบร้อยแล้ว ก็เกิดการดิ้นรนปรุงแต่ง พยายามทำให้จิตตั้งมั่น สิ่งที่ได้ไม่ใช่ความตั้งมั่น แต่สิ่งที่ได้คือทุกข์ เพราะตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตัณหาไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดความตั้งมั่น
ตรงที่จิตเราตั้งมั่นขึ้นมาเห็นสภาวะทั้งหลาย สักแต่รู้ สักแต่เห็น มันเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญ เรามักจะได้ยินนักปฏิบัติพูดบ่อยๆ ชอบมาเล่าว่า เดี๋ยวนี้สักว่ารู้ว่าเห็น สักว่ารู้ว่าเห็นยังไม่ได้ ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็น มันก็เป็นกูเห็นทุกทีล่ะ คำว่า “สักว่าๆ” ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เป็นคำสูง ลองไปอ่านพระสูตรชื่อพาหิยสูตรดู เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าสอนพาหิยะ ตรงพระพุทธเจ้าสอนพาหิยะ พาหิยะไม่ใช่พระ ยังไม่ได้บวช เพราะฉะนั้นเลยเรียกว่าเป็นพาหิยะ
พระพุทธเจ้าสอนง่ายๆ แต่ง่ายสำหรับท่านพาหิยะ มันยากสำหรับเรา ท่านบอก “ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล” นี่ภาษาโบราณ ถ้าพูดสมัยใหม่บอก “นี่แน่ะพาหิยะ ถ้าเมื่อไรเธอเห็น เมื่อไรเห็นสักว่าเห็น เมื่อฟังก็สักว่าฟัง เมื่อทราบก็สักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งก็สักว่ารู้แจ้ง ถ้าเมื่อไรเป็นแบบนี้ ตอนนั้นตัวท่านไม่มี จะไม่มีตัวตน” “เมื่อเห็นก็สักว่าเห็น เมื่อฟังสักว่าฟัง เมื่อทราบก็สักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งก็สักว่ารู้แจ้ง” อันนี้ฟังก็ยังยุ่งนิดหนึ่ง ถ้าพูดให้ง่ายขึ้นก็คือ เมื่อไรที่จิตเราออกไปกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วมันสักว่ากระทบจริงๆ
คำว่า “สักว่ากระทบ” ก็คือกระทบแล้วไม่ปรุงต่อ ไม่มีตัณหาที่จะผลักดันให้จิตปรุงแต่งอะไรต่อ เรียกว่า “สักว่ากระทบ” ตรงนั้นตัวตนจะไม่มี เพราะว่าไม่ได้ปรุงแต่ง ท่านก็เลยบอก “ดูก่อนพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งสักเป็นว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มี ในกาลใดที่ท่านไม่มี ในปัจจุบันนี้ท่านก็ไม่มีในอดีต ไม่มีในอนาคต ไม่มีทั้งระหว่างอดีตและอนาคต” บอก “นี่ล่ะคือที่สุดแห่งทุกข์” ท่านพาหิยะฟังเท่านี้บรรลุพระอรหันต์ ท่านเลยเป็นเอตทัคคะ ในทางที่บรรลุเร็วที่สุดเลย ฟังธรรมแล้วก็บรรลุเลย
แต่ก่อนที่ท่านจะมาตรงนี้ได้ ท่านภาวนาสู้ตายมาในชาติก่อนๆ ในชาติก่อนๆ ท่านภาวนาไม่สำเร็จ แล้วท่านสละชีวิตเลย พอชาตินี้บารมีเต็ม พระพุทธเจ้าสะกิดนิดเดียว สักว่าๆ เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ ก็สักว่ากระทบอย่าไปปรุงต่อ มันก็จะว่าง ถ้าปรุงต่อ มีตัณหาแล้วเข้าไปปรุง ก็ไม่ว่าง ก็วุ่น มีตัณหา พอปรุงแต่งก็เป็นความวุ่น ไม่ใช่ความว่าง กระทั่งแต่งความว่างก็วุ่นวาย ต้องไม่แต่งอะไร ไม่มีตัณหาผลักดัน
พอพาหิยะฟังที่พระพุทธเจ้าเทศน์จบ ท่านบรรลุพระอรหันต์ ตอนนี้ต้องเรียกท่านว่าพระแล้ว เป็นพระโดยไม่ต้องบวช เป็นโดยคุณธรรม ท่านก็ขอบวชเป็นภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้า บวชเหมือนอย่างพวกหลวงพ่ออย่างนี้ แต่พวกเราไม่ใช่พาหิยะ พวกเราบวชมาด้วยพร้อมๆ กับกิเลสเยอะแยะ แล้วมาต่อสู้เอา พระพุทธเจ้าบอกว่า ท่านยังไม่มีบาตร ไม่มีจีวรเลย คือท่าน ตอนนั้นท่านเป็นนักบวช บวชเอาเอง
ท่านเป็นชีเปลือย ไม่มีบาตร ไม่มีจีวร ก็ยังบวชไม่ได้ ให้ไปหาบาตร ไปหาจีวรก่อน ช่วงที่ท่านออกไปหาผ้าที่จะมาทำจีวร ท่านไปถูกวัวขวิดตาย พวกพระก็มาเล่าถวายพระพุทธเจ้าว่า พาหิยะโดนวัวขวิดตายไปแล้ว ท่านก็พาพระไปเก็บศพมาเผา พวกพระก็ถามพระพุทธเจ้าว่า พาหิยะควรจะเรียกท่านพาหิยะว่า เป็นนักบวชหรือเป็นสมณะ หรือเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าบอกท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว เรียกท่านว่าพระได้ เราก็เลยเรียกท่านว่าพระพาหิยะ
ฉะนั้นธรรมะจริงๆ ถ้าตัดตรงเข้าถึงแก่นจริงๆ แล้วเราเดินจิตเข้าถึงแก่นจริงๆ ได้ ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกลต่อความพ้นทุกข์เลย ถ้าเห็นเราสักว่าเห็น ถ้าฟังสักว่าฟัง ถ้าทราบสักว่าทราบ ถ้ารู้แจ้งสักว่ารู้แจ้ง พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ ก็สักว่ารู้ สักว่ากระทบไป กระทบแล้วก็สักว่ารู้ว่าเห็นไป จิตที่จะสักว่ารู้ว่าเห็นได้ ต้องตั้งมั่น ตรงนี้ไม่ใช่อยู่ๆ ก็นึกเอา ว่าสักว่ารู้ว่าเห็น
หลวงพ่อได้ยินผู้ปฏิบัติชอบคุยว่า สักว่ารู้สักว่าเห็น เราเห็นหน้าแวบหนึ่ง เราก็รู้แล้วมันไม่เคยสักว่ารู้ว่าเห็นเลย มีแต่นึกว่าสักว่ารู้ว่าเห็น จิตยังไม่ได้พ้นความปรุงแต่งขึ้นมาเลย ที่ไม่พ้นความปรุงแต่ง เพราะยังไม่สิ้นตัณหา ไม่พ้นจากอำนาจของตัณหา การพ้นอำนาจตัณหา มี 2 ระดับ อันหนึ่งพ้นชั่วครั้งชั่วคราว ด้วยกำลังของสติ อันหนึ่งพ้นอย่างถาวร ด้วยกำลังของปัญญา
ฉะนั้นเรามีสติ เรายังไม่มีถึงขั้นปัญญารู้แจ้งแทงตลอดว่าโลกนี้ว่าง ถ้าเรามีปัญญารู้แจ้งแทงตลอดว่าโลกนี้ว่าง ตัณหามันก็จะไม่เกิด แต่นี้เราแค่มีสติเป็นคราวๆ แล้วจิตตั้งมั่นขึ้นมา แล้วเราเห็นโลกว่าง มันก็ว่างบ้างไม่ว่างบ้าง เป็นคราวๆ ไป ทำอย่างไรจิตจะหลุดพ้น เห็นโลกว่างตลอดกาล ไม่มีใครทำได้หรอก เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเรา แก่รอบเต็มที่แล้ว จิตมันเป็นไปเอง
อย่างหมอผู้หญิงฟังธรรมมานาน ตั้งใจปฏิบัติผิดๆ ถูกๆ มานาน จิตมีกำลังมากขึ้น พอปรับให้มีสมาธิ ให้จิตตั้งมั่นถึงฐานได้ สะกิดนิดเดียว ก็เห็นเลยโลกว่าง ก็เห็นทันที ถามว่ารู้สึกไหม ตอนนี้เราตื่นขึ้นอย่างแท้จริง ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราตื่นแต่ร่างกาย จิตของเราหลับ จิตของเราฝันตลอดเวลา จิตมันหลงอยู่ในโลกของความคิด ก็คือจิตมันฝันไป มันหลงอยู่ในความปรุงแต่ง มันก็เลยไม่ใช่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ก่อนที่เราจะเห็นโลกไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วปล่อยวางได้
ถ้าเราพัฒนาจิตของเรา โดยบทเรียนชื่อจิตตสิกขา พัฒนาจิตขึ้นมาทรงสมาธิที่ถูกต้อง มีทั้งความตั้งมั่น มีทั้งความสงบ สมาธิที่ถูกต้อง ส่วนที่ตั้งมั่นเรียกลักขณูปนิชฌาน สมาธิชนิดสงบเรียกอารัมมณูปนิชฌาน การที่เราเห็นว่าจิตเราเคลื่อนไปข้างหน้า มีสติรู้เท่าทันจิตตนเองอยู่ นี่เรารู้อารมณ์อันเดียว จิตก็จะสงบมีเรี่ยวมีแรง แล้วขณะเดียวกัน ตรงที่เรารู้ว่าจิตมันออกข้างนอก จิตมันไหลไปข้างนอก จิตมันก็จะไม่ไหลไป จะตั้งมั่นขึ้นมา
เพราะฉะนั้นตรงที่เรารู้ทัน ว่าจิตเราเคลื่อนไป เราจะได้จิตที่ตั้งมั่น แล้วในจิตที่ตั้งมั่นนั้น มีความสงบควบอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นจิตที่ตั้งมั่น ไม่ได้สักว่าตั้งมั่นแค่นั้น มันสงบอยู่ในตัวเองด้วย นี้ถ้าจิตมันตั้งมั่น มันสงบอยู่เฉยๆ แค่นี้ยังไม่พอ ยังไม่ได้เจริญปัญญา ที่หลวงพ่อสะกิดผู้หญิงคนนั้น บอกว่า “เห็นไหมโลกมันว่าง” หลวงพ่อกระตุ้นไม่ให้จิตตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวอยู่เฉยๆ ให้หัดมองความเป็นไตรลักษณ์ มองไตรลักษณ์ มองอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้ทั้งนั้น
ถ้าคนมีปัญญามาก มองอนัตตาไปเลย เห็นโลกว่าง พอโลกว่าง กายก็ว่าง ถ้ากายว่าง จิตก็ว่าง ความเป็นตัวตนอะไรไม่มี เราก็จะพบความจริงว่า จริงๆ ตัวเราไม่มีหรอก โลกก็ว่าง ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขา ก็เห็นไปเป็นระยะๆ เดี๋ยวก็ว่าง เดี๋ยวก็วุ่น เดี๋ยวมีตัวเรา เดี๋ยวไม่มีตัวเรา สลับกันไป จนปัญญามันแก่กล้าพอ มันถึงยอมรับได้ว่าโลกนี้ว่าง ถ้าเราเห็นโลกนี้ว่าง ตัวเราไม่มีในปัจจุบัน ตัวเราก็ไม่มีในอดีต ไม่มีในอนาคต ไม่มีในตอนไหนเลย ก็หมดความยึดถือตัวตนสิ้นเชิง
ธรรมะตรงนี้มี 2 ชั้น ซ้อนกันอยู่ เบื้องต้นจะเห็นว่าตัวเราไม่มี เบื้องปลายก็หมดความยึดถือ เบื้องต้นหมดความเห็นผิดว่ามีตัวเรา เบื้องปลายหมดความยึดถือในตัวเรา ถ้าหมดความยึดถือได้ ก็พ้นทุกข์ได้ พ้นทุกข์สิ้นเชิง ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ถ้าเห็นในเบื้องต้นว่าตัวเราไม่มี มีความเห็นถูกต้อง ก็เรียกว่าพระโสดาบัน เป็นผู้เที่ยง เที่ยงแท้แน่นอน วันหนึ่งข้างหน้าจะต้องถึงที่สุดแห่งทุกข์แน่
เพราะฉะนั้นการที่เราคอยรู้ตัวขึ้นมา แล้วเห็นโลก สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือรูปนาม รวมทั้งกายใจของเราเองด้วย มันเป็นไตรลักษณ์ ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องเห็นว่าง บางคนเห็นไม่เที่ยง บางคนเห็นว่าทุกสภาวะนั้น ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ร่างกายก็ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ให้แตกสลาย จิตใจ นามธรรม ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย นี่เรียกว่าเห็นทุกข์ เห็นทุกขตา หรือเห็นว่าง เห็นสุญญตา คือเห็นอนัตตา
ถ้าหากบรรลุธรรม บรรลุพระอรหันต์โดยการเห็นอนัตตา ท่านถึงเรียกว่าสุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นเพราะเห็นว่าง ถ้าหลุดพ้นเพราะเห็นอนิจจัง ทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทุกอย่างเกิดแล้วดับ เรียกอนิมิตตวิโมกข์ ไม่มีเครื่องหมายอะไรเหลืออยู่ ทุกอย่างเกิดแล้วดับ ถ้าหลุดพ้นเพราะเห็นทุกขตา ความถูกบีบคั้น เรียกอัปปณิหิตวิโมกข์ ถูกบีบคั้นทุกสิ่งทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเห็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา ก็คือเห็นความจริงแท้ของโลก คือของรูปนามกายใจ จิตมันก็ปล่อยวางความถือมั่นในรูปนามในกายใจได้ ที่สุดแห่งทุกข์ก็อยู่ตรงที่ไม่ถือมั่นนั่นล่ะ เพราะฉะนั้นหัวใจคำสอนของพระพุทธศาสนา ก็คือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นเพราะเห็นอนิจจังก็ได้ เห็นโลกคือรูปนามกายใจถูกบีบคั้นก็ได้ เห็นโลกคือรูปนามกายใจว่างเป็นอนัตตาก็ได้ แล้วใจก็วาง ที่สุดแห่งทุกข์ก็อยู่ตรงที่ไม่ถือมั่น
แต่ก่อนที่เราจะสามารถเห็นโลก เห็นรูปนาม เห็นกายใจ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาได้ เราได้ผ่านบทเรียนหลายบทมาแล้ว เราได้สอบผ่านบทเรียนชื่อสีลสิกขา ผ่านบทเรียนชื่อจิตตสิกขา ผ่านบทเรียนชื่อปัญญาสิกขามาแล้ว เราก็จะสามารถเห็นโลก คือเห็นรูปนามกายใจนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็ปล่อยวางได้
เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา หรืออริยมรรคมีองค์ 8 ประการนั่นเอง สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ความเห็นถูก ความคิดถูก นี้เป็นส่วนของปัญญา ถ้าเราไม่มีปัญญา เราก็เห็นผิด คิดผิด ในส่วนของสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นส่วนของศีล เป็นเรื่องพัฒนาวาจา แล้วก็พฤติกรรมทางร่างกาย ให้เกื้อกูลต่อความตรัสรู้ ต่อการพ้นทุกข์ ในส่วนของสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อันนี้เป็นส่วนของสมาธิ เป็นส่วนของการฝึกสมาธิ
การฝึกสมาธิก็เริ่มจากสัมมาวายามะ เราไม่ได้ฝึกเอาดี เอาเด่น เอาโชค เอาลาภ เอาสวรรค์ เอาอะไรต่ออะไร ไม่ได้ฝึกเพื่อสิ่งนั้นเลย ไม่ได้ฝึกเพื่อจะเอานิพพานด้วย เราฝึกที่จะรู้เท่าทันจิตใจของตัวเอง เรารู้ทันใจตัวเอง อกุศลอะไรที่กำลังมีอยู่ก็จะดับ อกุศลใหม่ก็ไม่เกิด ขณะที่เรามีสติ รู้เท่าทันจิตใจตนเองอยู่นั้น กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะสตินั้นเป็นตัวกุศล แล้วก็พอเรารู้บ่อยๆ กุศลของเราก็จะเจริญงอกงาม เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ที่แก่รอบขึ้นเรื่อยๆ
การที่เราคอยเฝ้ารู้จิตใจของเรา เป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ มันก็คือการพัฒนาสัมมาสติขึ้นมา สิ่งที่เรียกว่าสัมมาสติก็คือ การเจริญสติปัฏฐาน อย่างเรามีสัมมาวายามะ เราจะทำชั่ว กิเลสมันเกิดขึ้น เราจะทำชั่วทางวาจา เราก็รู้ทัน จะทำชั่วทางร่างกาย เราก็รู้ทัน เราจะมีความชั่วทางใจ เราก็รู้ทัน อกุศลมันก็จะดับ ถ้าเรารู้ทันมัน ในขณะที่อกุศลดับ กุศลก็เกิดขึ้นพร้อมกันนั้นเลย
ฉะนั้นการที่เราคอยรู้เท่าทันจิตใจตนเองบ่อยๆ นอกจากสัมมาวายามะจะบริบูรณ์แล้ว สัมมาสติก็จะบริบูรณ์ขึ้นมาด้วย พระพุทธเจ้าถึงสอนว่า สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ คือเราจะรู้กายจะรู้ใจ ตามรู้กายรู้ใจได้ถี่ยิบขึ้นมาเลย เพราะถ้าเราไม่คอยรู้กายรู้ใจตัวเองให้ดี กิเลสมันจะเกิด กุศลจะดับ กิเลสมันจะเกิด ไม่มีสัมมาวายามะแล้ว
ฉะนั้นถ้าเราพัฒนาสัมมาวายามะ คอยรู้คอยดูใจของเราไว้ สติของเราก็จะดีขึ้น แล้วสัมมาสติ เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก ก็จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยมีใครสอนกัน เอะอะก็สอนบอกให้นั่งสมาธิ ให้นั่งสมาธิ ไม่รู้หรอกว่าสมาธิที่ดีเกิดจากสติ เอะอะก็บอกให้ไปนั่งสมาธิ ก็นั่งผิด 2 อย่าง นั่งแล้วก็ฟุ้งซ่าน เผลอไป เห็นโน่นเห็นนี่ ไม่ได้มีสติ หรือนั่งแล้วก็เคร่งเครียด กดข่มบังคับตัวเอง ก็ไม่ได้มีสติ
ฉะนั้นสมาธิที่ดี มันมาจากกำลังของสติ สติเป็นตัวรู้ทัน รู้ทันอะไร รู้ทันรูปนาม กายใจของเรานี้ หรือสติปัฏฐานก็อยู่ในรูปนามทั้งหมดนั่นล่ะ อย่างร่างกายเราเคลื่อนไหว เรารู้ จิตเราก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ร่างกายเคลื่อนไหว มีสติรู้ทัน มีสัมมาสติแล้ว สัมมาสติคือสติรู้กายรู้ใจ ร่างกายเคลื่อนไหว เรารู้ทันปุ๊บ สัมมาสมาธิก็เกิดขึ้น จิตก็จะตั้งมั่นรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา เพราะฉะนั้นตรงที่จิตตั้งมั่น ทำขึ้นมาไม่ได้ จะเป็นของปลอม แต่เกิดขึ้นได้อัตโนมัติ เพราะกำลังของสติที่รู้กายรู้ใจ
อย่างบางคนหายใจออก หายใจเข้า แล้วรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ อันนี้จิตก็จะตั้งมั่น หายใจออก หายใจเข้า จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน จิตก็จะตั้งมั่น หายใจออก หายใจเข้า รู้ว่าจิตถลำลงไปเพ่งจ้องลมหายใจ รู้ทันอีก จิตก็จะถอนตัวจากการเพ่งจ้อง แล้วก็ตั้งมั่นขึ้นมา ตรงที่หลงไป รู้ปั๊บ จิตตั้งมั่นทันที ตรงที่เพ่งอยู่ รู้แล้ว มันยังไม่เลิกเพ่ง เพราะตรงที่เพ่งเป็นความปรุงดี สติเกิดก็ยังปรุงดีได้ แต่ตรงที่หลงเป็นความปรุงชั่ว สติเกิดนี้ดับทันที
ฉะนั้นตรงที่เพ่ง ทำอย่างไรจะหายเพ่ง ต้องไปตัดที่ต้นตอของมัน ตัวโลภของเรา ตัวอยาก อยากปฏิบัติ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี รู้ตรงนั้นเข้าไป พอหมดความอยาก การเพ่งก็ดับไป นี่อาศัยสติแล้วจิตเราจะตั้งมั่น คือเกิดสัมมาสมาธิขึ้นมา พอเกิดสัมมาสมาธิ เราก็พร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว มองโลก โลกนี้เริ่มจากกายจากใจของเรา กายกับใจของเราก็คือโลก รูปนามทั้งหลายคือโลก สัตว์ทั้งหลายคือโลก แล้วก็มองความเป็นไตรลักษณ์ของมัน
ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น อย่ารีบเดินปัญญา
อย่างเมื่อเช้าที่หลวงพ่อถามหมอผู้หญิงนั้นดู พอจิตตั้งมั่นแล้วหลวงพ่อให้ดูอนัตตา เห็นโลกว่าง เห็นเอง ไม่ได้เจตนาจะเห็น แค่ถูกสะกิดนิดเดียวก็เห็นแล้ว เพราะจิตตั้งมั่น เพราะฉะนั้นตรงที่จิตตั้งมั่นถึงจะทำให้เราเจริญปัญญาได้ จิตที่ตั้งมั่นคือจิตที่ทรงสัมมาสมาธินั่นเอง เราถึงจะเจริญปัญญาได้จริง เกือบร้อยละร้อย นี่พูดแบบสุภาพนะ เกือบร้อยละร้อยของนักปฏิบัติ ที่บอกเจริญปัญญา ไม่ได้เจริญปัญญา เพราะยังไม่ได้พัฒนาจิตให้ตั้งมั่น ไม่มีอธิจิตตสิกขา ไม่ได้เกิดสมาธิที่ถูกต้อง เอาจิตซึ่งไม่มีคุณภาพไปเจริญปัญญา มันก็ได้แค่คิดๆ เอา หรือมโน น้อมเชื่อเอา จะใช้ไม่ได้จริง สู้กิเลสไม่ได้
นี่คือเส้นทางเดิน ที่พูดให้ฟังก็ครอบคลุม ธรรมะจำนวนมากไว้แล้ว ไปฟังซ้ำ ไปดูรีรันหลายๆ รอบก็ได้ ไม่ต้องรอบเดียวหรอก แล้วก็สังเกตตัวเองไป ถ้าจิตเราขณะนี้อ่านออกไหม จิตตั้งมั่นหรือเปล่า หรือจิตไหลไป หลงไป ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าจิตเราหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นก็ไม่สักว่าเห็น ฟังก็ไม่สักว่าฟัง ทราบก็ไม่สักว่าทราบ รู้แจ้งก็ไม่สักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้นตัวเรามี กลับข้างกับที่พระพุทธเจ้าสอนท่านพาหิยะ
เพราะฉะนั้นคำว่า “สักว่าๆ” ไม่ใช่เรื่องพูดเล่นๆ พูดพล่อยๆ คนโน้นก็สักว่า คนนี้ก็สักว่า สักว่าไม่เป็น มันจะสักว่าได้ จิตต้องถอนตัวออกจากปรากฏการณ์ได้ ตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันถอนตัวออกจากโลก ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา แล้วก็เห็นโลกทั้งหลาย เริ่มจากกายใจของเราเป็นต้นไป ไปจนถึงโลกข้างนอก ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้นถ้าจิตไม่ตั้งมั่น อย่ารีบเดินปัญญาเลย ไม่ได้ของจริงหรอก เพราะฉะนั้นงานที่ยากมากๆ เลย คือการฝึกให้จิตตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่นแล้วการเดินปัญญาใช้เวลาไม่มาก แต่ถ้าจิตไม่มีคุณภาพ ทำกันหลายภพหลายชาติ กว่าจิตจะมีความตั้งมั่นขึ้นมาได้ ยากไปไหม ฟังแล้วก็อาจจะยาก แต่ไม่เหลือวิสัย ที่คนธรรมดาอย่างพวกเราจะทำได้ เพราะธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนเรา เป็นธรรมะกลางๆ ระดับกลางๆ ไม่หยาบไป ไม่ละเอียดไป พอดีกับมนุษย์
มนุษย์คือคนที่มีจิตใจสูง ถ้ามนุสสติรัจฉาน ตัวเป็นคนแต่ใจเป็นเดรัจฉาน มนุษย์เปรต เรียกมนุสสเปโต ตัวเป็นคน แต่ใจเป็นเปรต มนุสสนิรโย ตัวเป็นคน ใจเป็นสัตว์นรก ชั่วร้ายอะไรอย่างนี้ นี่ที่ไม่เรียกว่ามนุษย์จริง ไม่ใช่จิตใจชนิดที่จะสามารถพัฒนาได้ เพราะจิตอยู่ในอบายภูมิ อาศัยกรรมเก่าที่ดี หลุดผลัวะมาเป็นคน แต่จิตยังเวียนอยู่ในอบายอยู่ คนพวกนี้ภาวนาไม่ได้หรอก นี้ของเราต้องเป็นมนุษย์ มนุษย์นะ เป็นมนุษย์ มนุษย์
ร่างกายเราเป็นมนุษย์อยู่แล้ว ใจเราก็ต้องเป็นมนุษย์ด้วย ใจมนุษย์ต้องมีศีลมีธรรม อย่างน้อยมีศีล 5 ไว้ ตั้งใจรักษาไว้ เวลาทุกข์ร้อนขึ้นมา นึกถึงศีลที่เรารักษามาด้วยดี ใจก็มีความสุข มีความสงบ พ้นจากนรกขึ้นมาได้ คอยนึกถึงสิ่งที่ดีที่งาม นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อะไรอย่างนี้ ใจเราก็สูงขึ้น พอใจเราสูงขึ้นมาเป็นมนุษย์สมบูรณ์ เราก็ได้ทรัพยากรที่จะปฏิบัติธรรมแล้ว คือมีกายที่พร้อม มีใจที่พร้อม มีกายพร้อม มีใจพร้อม ร่างกายเรายังไม่ได้พิกลพิการเป็นมนุษย์ผัก
ถ้าเป็นมนุษย์ผักภาวนาไม่ได้ รู้จักใช่ไหม มนุษย์ผัก นอนไม่รู้เรื่องอะไร มันภาวนาไม่ได้ อันนั้นร่างกายไม่สมบูรณ์แล้ว ไม่ใช่มนุษย์ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ถ้าจิตใจของเราไม่มีศีล 5 ไม่มีอะไรอย่างนี้ ใจเราก็ไม่ได้เป็นมนุษย์ ฉะนั้นเราเป็นมนุษย์พร้อมทั้งกายทั้งใจ แล้วก็มีต้นทุนที่จะปฏิบัติธรรม ตั้งใจรักษาศีล 5 ตั้งใจพัฒนาจิตใจของเราให้ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา วิธีการสอนไปมากแล้ว ทำอย่างไรจะเกิดศีล ทำอย่างไรจะเกิดสมาธิ ทำอย่างไรจะเจริญปัญญา หลวงพ่อสอนเอาไว้เยอะแล้ว ลองไปฟัง ดูยูทูปเก่าๆ มีเยอะแยะเลย
พอใจเราตั้งมั่นเด่นดวง เราเดินปัญญาแล้ว ออกไปรู้ไปเห็น สติไประลึกรู้อะไร ก็เห็นอันนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงจุดหนึ่งจิตมันรอบรู้ขึ้นมา รู้แจ้งขึ้นมา เบื้องต้นรู้ว่าตัวเราไม่มี เบื้องปลายเห็นทุกข์อย่างแจ่มแจ้งแล้วปล่อยวาง เห็นทุกข์ ไม่ใช่เห็นทุกข์ทรมาน เห็นทุกข์ก็คือ เห็นความไม่เที่ยง เห็นความถูกบีบคั้น เห็นความว่าง ไม่มีตัวตน บางคนสอนให้มองโลกว่างๆ เอะอะก็ว่างๆ อะไรก็สุญญตาๆ จิตไม่มีคุณภาพที่จะสุญญตา ต้องพัฒนาจิตให้มีคุณภาพก่อน ไม่อย่างนั้นก็ได้แต่คิดถึงสุญญตา การคิดถึงสุญญตา ไม่ใช่สุญญตา นั่นคือความปรุงแต่งอีกชนิดหนึ่ง ฟุ้งซ่าน
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ อาจจะยากไปนิดหนึ่ง แต่ทำใจให้สบาย แล้วไปฟังซ้ำ ไปดูซ้ำๆ แล้วสังเกตของจริงเอา บอกแล้วธรรมะไม่ยากเกินไป แต่ก็ไม่ง่าย ที่คนจิตใจชั่วหยาบจะรู้ได้ ไม่ได้ยากเกินไป สำหรับคนที่เป็นมนุษย์ทั้งกายทั้งใจ
วัดสวนสันติธรรม
25 พฤษภาคม 2567