มาวัด มาเรียนกรรมฐานให้รู้เรื่องแล้วเอาไปลงมือทำ ฟังเฉยๆ ไม่ได้อะไร ฟังมาก เรียนมาก บางทีกิเลสรุนแรงยิ่งกว่าเก่าอีก แล้วธรรมะเราไปอ่านๆ ลึกๆ ลงไป บางทีมันแอบตีความ ตีความไปตามกิเลสอีก หลวงปู่มั่นท่านถึงบอกว่า ธรรมะ พอเข้าไปอยู่ในจิตปุถุชนก็กลายเป็นของปลอม เป็นสัทธรรมปฏิรูป ฉะนั้นทางเดียวที่เราจะเข้าใจธรรมะได้คือลงมือปฏิบัติ
ไม่เคยรักษาศีล ก็รักษาศีลเสีย ตั้งใจรักษาไป รักษาศีล 5 ก็พอแล้ว เอาไว้ได้สกิทาคามีก่อน แล้วจะภาวนาขึ้นพระอนาคามี ก็ไปถือศีล 8 เอา อันนั้นเหมาะ พวกเรา เบื้องต้นเอาศีล 5 ให้รอด ทุกวันทำในรูปแบบ ต้องทำสม่ำเสมอ ทำแล้วก็หยุดๆ เอาดีไม่ได้ สู้กิเลสไม่ไหว จุดสำคัญคือการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ทำในรูปแบบก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่เราถนัด เคล็ดลับอยู่ที่ทำแล้วคอยรู้ทันจิต
จิตมันเป็นของที่ทิ้งไม่ได้ ทิ้งจิตเราไม่มีทางได้ธรรมะ หลวงปู่มั่นท่านบอก “ได้จิตก็ได้ธรรม เห็นจิตก็เห็นธรรม” ไม่ได้จิต ไม่ได้ธรรมะอะไร เวลาทำในรูปแบบ ก็ทำสมถะก็ได้ ทำวิปัสสนาก็ได้ แล้วแต่ความพร้อมของเรา อย่างทุกวันเราแบ่งเวลาไว้ภาวนา อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป วันไหน จิตฟุ้งซ่าน เราก็อยู่กับเครื่องอยู่ของเรา ให้อารมณ์กรรมฐานนั้นเป็นพระเอก เวลาเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานเราแล้วจิตมันหนี
อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตมันหนีไปคิดเรื่องอื่น มีสติรู้ทันจิตเท่านั้น รู้ทันแล้วสมาธิมันจะเกิดขึ้น เราก็กลับมาอยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเราต่อไป ตรงนี้บางคนเขาทำผิด เช่น หายใจเข้าพุท หายใจออกโธอยู่ จิตหนีไปคิด รีบดึงจิต จะไปดึงจิตกลับมาอยู่ที่ลมหายใจใหม่ อย่าไปดึงจิต ให้รู้มัน มีสติรู้มัน เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิด รู้ทัน สมาธิมันจะเกิดแล้ว
พอจิตใจเราปกติ สบาย เราก็รู้อารมณ์กรรมฐานของเราต่อไป เดี๋ยวหลงอีกก็ค่อยรู้เอาใหม่ ไม่ใช่ว่าพอรู้ว่าหลงก็รีบดึง กลัวจิตจะหายไป รีบดึงเอาจิตคืนมา พอหนีอีกก็ดึงอีกๆ ในที่สุดก็ดึงเก่ง จิตแน่นทื่อๆ ซื่อบื้ออยู่อย่างนั้น อันนั้นได้มิจฉาสมาธิไปแล้ว
ฉะนั้นเวลาเราทำในรูปแบบ วันไหนจิตใจเราฟุ้งซ่านมาก ไม่ต้องไปคิดถึงการเจริญปัญญา ทำกรรมฐานไป แล้วก็มีสติรู้ทันเวลาจิตมันหลง หลงไปคิด รู้ทัน หลงไปเพ่ง รู้ทัน เราหายใจเข้าพุท ออกโธอย่างนี้ มันหลงไปคิด ก็ลืมการหายใจ ลืมพุทโธ หลงไปเพ่ง คือถลำลงไปจ้องจมอยู่กับลมหายใจ จิตจมลงไปในลมหายใจ อันนั้นมันไม่ถูกทั้งคู่ ให้รู้ทันเอา จิตหลงไปคิดก็รู้ จิตหลงไปเพ่งก็รู้ การเพ่งนั้นก็หลงนั่นล่ะ แต่หลงแบบดูดีหน่อย หลงไปเพ่ง ที่จริงก็คือหลง
เวลาทำในรูปแบบ แล้วใจเรายังฟุ้งอยู่ อย่าไปหักหาญ อย่าไปสั่งให้จิตสงบ อย่าทำกรรมฐานโดยหวังว่าจะสงบ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ขออย่างเดียว ทำกรรมฐานไปเรื่อยๆ แล้วรู้ทันจิตตัวเองไป แล้วมันสงบเอง สงบอย่างง่ายดายเลย จิตเหมือนเด็ก ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ บอกอย่าฟุ้งซ่าน ก็ยิ่งฟุ้งซ่านมากกว่าเก่าอีก อย่างเด็ก เราบอกอย่าซน เดี๋ยวมันก็ซนอีก เอาไม้ไปตีมัน ยิ่งตี ยิ่งดื้อ ยิ่งตี ยิ่งซน
ต้องฝึกให้จิตตั้งมั่นขึ้นมาเสียก่อน เราถึงจะแยกขันธ์ได้
จิตนี้ก็เหมือนกัน ไปเคี่ยวเข็ญมันมากมันยิ่งดื้อ ปฏิบัติต่อมันแบบฉลาดหน่อย รู้ทันมัน จิตหลงไป รู้ทัน จิตหลงไปคิด รู้ทัน จิตหลงไปเพ่ง รู้ทัน รู้เฉยๆ รู้แล้วไม่ต้องทำอะไรต่อ รู้แล้วจบลงที่รู้ สมาธิมันจะเกิดเองล่ะ จะไม่ใช่เรื่องยากเลย เรื่องของสมาธิ จิตใจมันจะสงบ มันจะตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ไม่เคลิ้ม ไม่เครียด
บางวันจิตของเราดีอยู่แล้ว เราทำในรูปแบบ เราก็เจริญปัญญา เจริญปัญญา เรามีจิตที่ตั้งมั่น สติระลึกรู้กายๆ เราก็ดูไป กายกับจิตนั้นคนละอันกัน สติระลึกรู้เวทนา เราก็เห็นเวทนากับจิตคนละอันกัน สติระลึกรู้สังขาร กุศล อกุศลทั้งหลาย โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย ก็เห็นลงไป มันคนละอันกับจิต ตรงที่เราเห็นว่ากายกับจิตเป็นคนละอัน เวทนากับจิตเป็นคนละอัน สังขารกับจิตเป็นคนละอัน เราจะเห็นมันมีตัวร่วมสำคัญ คือจิตนั่นเอง
เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกให้จิตเราตั้งมั่นขึ้นมาเสียก่อน เราถึงจะแยกขันธ์ได้ ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น เวลาเราดูกาย จิตเราก็ไหลไปรวมเข้ากับกาย เวลาดูเวทนา จิตก็ไหลไปรวมเข้ากับเวทนา เวลาดูสังขาร เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง จิตก็ไหลไปรวมกับสังขาร อันนั้น เพราะว่าจิตไม่มีกำลัง ไม่ตั้งมั่น ไม่มีสมาธิ ฉะนั้นการฝึกให้จิตตั้งมั่นเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญ ตัวนี้ล่ะที่จะทำให้เราภาวนาสำเร็จหรือไม่สำเร็จ
ตอนที่หลวงพ่อภาวนากับหลวงปู่ดูลย์ ใช้เวลา 7 เดือนก็เข้าใจจิตตัวเองแล้ว จิตมันไม่ใช่ตัวใช่ตนอะไร เห็นเกิดดับไปเรื่อยๆ เข้าใจ หลวงปู่บอกว่าช่วยตัวเองได้แล้ว หลวงพ่อก็ออกไปดูที่โน่นที่นี่ ดูเขาปฏิบัติกัน เราหาความรู้เพิ่มเติม ไปบางที่เห็นคนนั่งสมาธิ เดินจงกรมเป็นร้อยๆ นั่ง เห็นแล้ว นี่มันไม่ใช่การปฏิบัติ บางพวกก็นั่งฟุ้งซ่าน คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ บางคนฟุ้งซ่าน อย่างขยับมือ ยังฟุ้งเรื่องมือเลย ท่านี้แล้วจะไปท่าไหน นี่ก็ฟุ้งซ่าน อีกพวกหนึ่งก็นั่งเพ่งเอา เพ่งกาย ดูลมหายใจก็เพ่งลม ดูท้อง เพ่งท้อง เดินจงกรม เพ่งเท้า จิตถลำลงไปเพ่ง เราดู โอ้ มันผิดอยู่ 2 อันนี้ล่ะ ไม่หลงลืมอารมณ์กรรมฐาน ก็ถลำลงไปเพ่งจ้องอารมณ์กรรมฐาน แล้วอย่างนี้มันจะภาวนาเป็นเมื่อไร ภาวนาไม่เป็นหรอกอย่างนี้
อย่างหลวงพ่อฝึกจิตก่อน ไม่รีบร้อนหรอก ฝึกจิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้วก็ดูธาตุดูขันธ์มันไป เห็นมันเกิดดับ ค่อยดูเรื่อยๆ มันก็เดินปัญญาไปได้ ถ้าเราไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง จิตเราไม่ตั้งมั่น เจริญปัญญาไม่ได้จริง ฉะนั้นที่หลวงพ่อเคี่ยวเข็ญพวกเรามาก เรื่องสมาธิ เพราะหลวงพ่อบอกแล้วว่า จุดอ่อนของฆราวาส มันคือสมาธิไม่พอ อันนี้พูดสุภาพ ที่จริงคือไม่มีสมาธิเลย ถ้ามีก็เป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ
มิจฉาสมาธิคือจิตมันไหลจมลงไปเพ่งไปจ้อง จมแช่อยู่ในอารมณ์กรรมฐานอันใดอันหนึ่ง นั่นล่ะมันเป็นมิจฉา ไม่มีสติกำกับ แต่ถ้าเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเราไหลไปคิด เรารู้ทัน นี่เรียกว่าเรามีสติ จิตเราจมลงไปในอารมณ์กรรมฐาน เรารู้ทัน อันนั้นเรียกว่าเรามีสติ สมาธิ ตัวนั้นล่ะจะเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิต้องประกอบด้วยสติเสมอ ขาดสติเมื่อไร ไม่ใช่สัมมาสมาธิ จับหลักตัวนี้ให้แม่นๆ ฉะนั้นถ้านั่งสมาธิแล้วก็เคลิ้ม ลืมเนื้อลืมตัว อันนั้นมิจฉาสมาธิ นั่งแล้วก็เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นโน่นเห็นนี่ ลืมกายลืมใจของตัวเอง ไม่มีสติ อันนั้นก็เป็นมิจฉาสมาธิ
ปัญหาใหญ่ของผู้ปฏิบัติ คือขาดสมาธิที่ถูกต้อง ขาดสัมมาสมาธินั่นล่ะ ฉะนั้นทุกวันเราต้องแบ่งเวลาไว้เลย วันละหลายรอบก็ได้ ถ้ามีเวลามาก ตื่นเช้าให้เร็วขึ้นนิดหนึ่งแล้วก็ทำในรูปแบบ กลางวันกินข้าวแล้วก็ทำในรูปแบบ ตกเย็นตกค่ำไม่เที่ยวเถลไถล กลับบ้าน อาบน้ำอาบท่า พักผ่อน พอหายเหนื่อยก็ลงมือปฏิบัติ ทำในรูปแบบ
วันไหนจิตไม่มีกำลัง จิตฟุ้งซ่าน คอยหลงไป เคลิ้มไปบ้าง คิดไปบ้าง เราก็อยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเรา จิตหนีไปคิดแล้วรู้ จิตถลำไปเพ่งแล้วรู้ จิตจะมีกำลังขึ้นมา จะตั้งมั่นขึ้นมา วันไหน ตอนไหนที่จิตมันมีกำลังตั้งมั่น อย่าตั้งโง่ๆ อยู่เฉยๆ ก็ต้องเดินต่อไป เดินปัญญา การเดินปัญญานั้น ขั้นที่หนึ่งเลย คือการแยกขันธ์ แยกรูปแยกนาม ตรงนี้ยังไม่ถึงวิปัสสนา เป็นขั้นที่หนึ่งเลยของการเจริญปัญญา การแยกรูปนาม
แยกรูปนามก็คือ อย่างร่างกายเราเป็นตัวรูป นามคืออะไร จิตของเราคือตัวนาม ฉะนั้นเวลาเราทำสมาธิที่ถูกต้องแล้ว จิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา พอเราได้จิตมาแล้ว เราได้เครื่องมือที่จะปฏิบัติต่อ พอเรามีจิตที่ตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย มันจะเห็นว่ากายกับจิตเป็นคนละอันกัน นี่เราแยกขันธ์ได้แล้ว การแยกขันธ์ไม่ใช่การถอดจิตออกจากร่าง เอาจิตไปไว้บนหลังคา มองย้อนลงมาเห็นร่างกายนอนอยู่อะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ อันนั้นไม่ใช่การแยกขันธ์ อันนั้นเป็นการถอดจิต แล้วบางทีถอดแล้ว หนีไปเที่ยวที่อื่นอะไร
การจงใจใช้กำลังของสมาธิเพื่อไปแยกขันธ์ ไม่ใช่ทาง
พอเรามีจิตตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย มันจะเห็นว่ากายกับจิตคนละอันกัน เรามีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว พอสติระลึกรู้เวทนา ความสุขทุกข์ เราจะเห็นว่าเวทนากับจิตเป็นคนละอันกัน ถ้าเป็นเวทนาทางกาย มันก็จะเห็นร่างกายก็อันหนึ่ง เป็นคนละอันกับจิต ความสุขความทุกข์ในร่างกายก็เป็นอีกอันหนึ่ง ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่จิต นี่มันแยกขันธ์ ค่อยๆ แยกๆ ไม่ต้องพยายามมากหรอก ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น ทำอย่างไรก็ไม่แยก นั่งคิดให้แยก หรือพยายามใช้กำลังจิตดึงให้แยก ไม่ได้กินหรอก เดี๋ยวก็รวมกันใหม่ เหนื่อย
หลวงพ่อก็เคยลองสารพัดวิธี บางทีเห็นจิตมันไปรวมเข้ากับร่างกาย ใช้กำลังสมาธิดึงมันออกมา แยกมันออกมา มันก็ทรงอยู่ได้ ได้พักหนึ่ง พอมันเหนื่อย มันก็ไหลเข้าไปเกาะกันอีก การแยกขันธ์ ไม่ได้แยกด้วยกำลังของจิต แต่จิตต้องมีกำลัง คือจิตต้องตั้งมั่น เราแยกด้วยอะไร ใช้สติระลึกรู้ลงไป ระลึกรู้ลงในกาย จิตเราแค่ตั้งมั่น เป็นคนเห็นอยู่ มันจะรู้สึกว่าร่างกายกับจิตมันคนละอันกัน
อย่างพวกเราตอนนี้นั่งอยู่ รู้สึกไหม ร่างกายมันนั่ง เราไม่ต้องไปหาว่าจิตอยู่ตรงไหน แค่รู้ว่าร่างกายมันนั่ง เห็นไหม ร่างกายกับความรับรู้มันคนละอันกัน อย่างนี้เรียกว่าเราแยกออก ไม่ใช่ถอดจิตออกจากร่าง อยู่ด้วยกันนี่ล่ะ แต่แยกด้วยสติ แยกด้วยปัญญา จุดสำคัญก็คือพอเรามีสมาธิ มีจิตตั้งมั่น สติระลึกรู้ลงในกาย ปัญญาจะเกิด
ปัญญาเกิดจากสัมมาสติและสัมมาสมาธิ ตัวเด่นเลยคือตัวสัมมาสมาธิ ในตำราเขาจะสอน สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา สัมมาสมาธิจะมีได้ก็ต้องมีสัมมาสติ สัมมาสติ เมื่อเจริญให้มาก ก็จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ สัมมาสมาธิ เมื่อเจริญให้มากก็จะทำให้สัมมาญาณะ คือปัญญาบริบูรณ์
ฉะนั้นการที่เราจะเกิดปัญญาแยกรูปแยกนามได้ จิตต้องมีกำลังของสมาธิ แล้วพอสติระลึกรู้กาย จะเห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน ถ้าจิตเรามีกำลังตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิอยู่ สติระลึกรู้เวทนา ก็เห็นเวทนากับจิตก็คนละอันกัน แต่จิตตั้งมั่นมีกำลังอยู่ สติระลึกรู้กุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง เป็นต้น ก็จะเห็นกุศล อกุศล โลภ โกรธ หลง เป็นต้นนั้นกับจิต คนละอันกัน นี่เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้ ไม่ได้แยกด้วยใช้กำลังของจิตเข้าไปแยก แต่ถ้าจิตเรามีสติที่ถูกต้อง มีสมาธิที่ถูกต้อง การแยกขันธ์เป็นเรื่องเบสิกมากเลย มันแยกเองเลย ไม่ต้องทำอะไรหรอก
อย่างพวกเรานั่งฟังหลวงพ่อจิตมีสมาธิขึ้นมา ลองระลึกถึงร่างกายดูสิ ลองดูร่างกายตอนนี้ สติระลึกลงในร่างกาย เห็นไหม ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดูอยู่ ร่างกายกับจิตมันคนละอันกัน จิตมันเป็นคนรู้คนดู ร่างกายมันเป็นของถูกรู้ถูกดู อย่างนี้เรียกว่าเราแยกขันธ์ได้ ไม่ได้ใช้กำลัง ใช้กำลังแยกมันก็ทำได้ แต่มันอยู่ได้ไม่นาน เดี๋ยวมันหมดแรง ก็เข้าไปรวมกันอีก
ตอนหลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ท่านบอกให้ดูจิต ก็พยายามดูๆ เห็นจิตมันเข้าไปรวมอยู่กับอารมณ์ อยู่กลางหน้าอก จิตมันเข้าไปเกาะ ก็หาทางแยก ตรงนั้นไม่ได้รู้ตำรับตำราอะไรหรอก แต่รู้สึกว่า เอ๊ะ เราจะดูจิต แต่นี่จิตปนเปื้อน จิตปนอยู่กับอะไรก็ไม่รู้ เป็นตัวเร่าร้อน ดิ้นรน ทุรนทุรายอยู่กลางหน้าอก จิตมันไหลจมลงไป ก็พยายามแยกมัน บางทีก็ใช้กำหนดสมาธิขึ้นมา พอจิตมีสมาธิขึ้นมา ตัวนี้มันสลายไป จิตก็ตั้งขึ้นมา เดี๋ยวพอถอยออกจากสมาธิก็เข้าไปจับอีก
บางวัน เอ๊ะ ทำอย่างไรจะแยกออกมา ดึงจิตออกมาก็ไม่สำเร็จ เดี๋ยวก็รวมอีก ระเบิดมันเลย กำหนดจิตเพ่งลงไปกลางหน้าอก ระเบิดเปรี้ยงเลย สลายไป จิตก็โผล่ขึ้นมา เป็นอิสระขึ้นมา ประเดี๋ยวเดียวมันก็ปรุงอันนี้ขึ้นมาใหม่ ปรุงสังขารกลางหน้าอกขึ้นมาใหม่ จิตก็เข้าไปจับอีก
บางวัน เห็นมันจับอยู่ เพ่งมัน ไม่ยอมระเบิด อุบายกรรมฐานอะไรที่เคยใช้ พอใช้ซ้ำหลายครั้ง ไม่สำเร็จ มันจะใช้ไม่ได้แล้ว ฉะนั้นเวลาใช้อุบายกรรมฐาน ใช้ซ้ำๆ ไม่สำเร็จหรอก หลวงพ่อกำหนดจิตเหมือนใบมีดโกน เฉือนส่วนที่ปรุงแต่งทิ้งไปทีละส่วนๆๆ สุดท้าย อันสุดท้าย เหวี่ยงทิ้งไป จิตก็หลุดออกมาอีก อยู่ได้ชั่วคราวก็เข้าไปจับอีก หลวงพ่อถึงรู้ว่า ถ้าเราจงใจใช้กำลังของสมาธิเพื่อไปแยกขันธ์ละก็ ไม่สำเร็จหรอก ไม่ใช่ทาง
แยกขันธ์ออกจากกันได้ เพราะเห็นว่ามันเป็นคนละอันกัน
ฉะนั้นเราฝึกจิตของเราให้ดี ให้จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน วิธีฝึกก็คือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิตไว้ จิตจะตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอัตโนมัติ พอจิตมันตั้งมั่นแล้ว อย่าตั้งซื่อบื้ออยู่ ปล่อยให้จิตมันทำงานได้ อย่างพอร่างกายเราเคลื่อนไหว ไม่ใช่เพ่งอยู่ที่จิต ร่างกายเคลื่อนไหว จิตก็ทื่อๆ อยู่อย่างนี้ อย่างนี้ใช้ไม่ได้เลย เหลวไหลสุดเลย เราใช้จิตที่เป็นธรรมดา อย่าไปบังคับจิตให้มันนิ่ง อย่าไปเกร็งจิตเอาไว้เฉยๆ จิตมันรู้ มันตื่น มันเบิกบาน แต่เราไม่ได้บังคับมัน เห็นไหม เราไม่บังคับ มันตั้งมั่นโดยอัตโนมัติ ในตำราเขาจะเรียกว่าอสังขาริกัง ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงบังคับเพื่อให้มันมีสมาธิขึ้นมา
แต่ทำเหตุของมันคือคอยรู้ทันจิตตัวเอง ทำกรรมฐานไปแล้วรู้ทันจิตตัวเองไป จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเอง พอจิตตั้งมั่น อย่าไปบังคับให้มันนิ่ง จิตมันมีธรรมชาติรู้อารมณ์ จิตมีธรรมชาติรู้อารมณ์ ถ้าไม่รู้อารมณ์ก็ไม่เรียกว่าตัวจิต ถามว่าจิตคืออะไร จิตก็คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ นั่นล่ะคือลักษณะของจิตล่ะ ฉะนั้นเราอย่าไปทำจิตให้ไม่รู้อารมณ์ อันนั้นทำไม่ได้ ผิดธรรมชาติ เราอย่าไปฝืนของจริง อย่าไปฝืนธรรมชาติ จิตมีหน้าที่รู้อารมณ์ ไม่ห้าม
อารมณ์ทางตาเกิดขึ้น สติรู้ทันว่าจิตไหลไปทางตา อย่างนี้ก็ได้ เราจะเห็นอารมณ์ทางตา รูปทั้งหลายกับจิตเป็นคนละอัน เสียงทั้งหลายกับจิตก็คนละอัน กลิ่นทั้งหลายกับจิตก็คนละอัน รสทั้งหลายกับจิตก็คนละอัน ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความตึง ความไหวที่เกิดขึ้นกับร่างกายกับจิตก็คนละอันกัน ร่างกายกับจิตก็คนละอันกัน ความสุข ความทุกข์กับจิตก็คนละอันกัน กุศล อกุศลทั้งหลายกับจิตก็คนละอันกัน ความจำได้หมายรู้ทั้งหลายกับจิตก็คนละอันกัน
ตัวจิตเอง ต่อไปเราก็จะเห็น จิตเองก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา จิตดวงนี้กับจิตดวงนี้ก็คนละอันกัน จิตดวงเก่าจบไปแล้ว เกิดจิตดวงใหม่ไปรู้ว่าเมื่อกี้จิตดวงเก่าโกรธ จิตโกรธเกิดขึ้น ขณะนั้นจะมีสติไม่ได้ แต่พอจิตเราตั้งมั่นปุ๊บ สติเกิด มันจะรู้ทันเลย ความโกรธมันเกิดขึ้นมา แล้วมันดับต่อหน้าต่อตา มันเกิดจิตอีกดวงที่ไม่โกรธ เป็นจิตที่รู้
ฉะนั้นจิตโกรธเกิดขึ้น จิตตั้งมั่นมีสติรู้ว่ามีจิตโกรธเกิดขึ้น ในขณะที่มีสตินั่นล่ะ จิตโกรธเป็นอดีตไปแล้ว จิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเป็นจิตปัจจุบันแล้ว เราก็เห็นจิตดวงโน้นกับจิตดวงนี้ก็คนละดวงกัน จิตที่ไปดูรูปกับจิตที่รู้สึกตัวก็คนละดวงกัน จิตที่ไปฟังเสียงกับจิตที่รู้สึกตัวก็คนละดวงกัน อย่างนี้เรียกว่าเราแยกขันธ์
แยกขันธ์ตั้งแต่แยกกายกับจิตออกจากกันได้ เพราะเห็นว่ามันเป็นคนละอันกัน แยกสุขทุกข์กับจิตออกจากกันได้ แล้วเห็นว่ามันเป็นคนละอันกัน แยกกุศลอกุศลออกจากจิตได้ เพราะเราเห็นว่าเป็นคนละอันกัน เราแยกจิตออกจากจิตได้ เพราะเห็นว่าจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป จิตดวงใหม่เกิดขึ้น มันเป็นคนละดวงกัน ตัวนี้ดูยาก ถ้าดูตัวนี้ได้แสดงว่าสันตติขาดแล้ว เราจะขึ้นวิปัสสนาแล้ว แต่ไม่ต้องตกใจเรื่องวิปัสสนา เดี๋ยวได้ยินหลวงพ่อพูดต้องเห็นจิตดวงนี้ดับไป ดวงนี้เกิด มีช่องว่างเล็กๆ มาคั่นถึงจะขึ้นวิปัสสนา ไม่ยากขนาดนั้นหรอก อันนั้นสำหรับพวกดูจิตชำนิชำนาญเขาเล่นกัน เราไม่ต้องเล่นอย่างนั้นหรอก ยากเกินไป เอาของที่เราดูได้
ดูลงไปร่างกายกับจิตคนละอัน ร่างกายมันถูกรู้ ลองยกมือสิ ทุกคนลองยกมือแล้วลองขยับมือ รู้สึกไหม มือมันเคลื่อนไหว มันเป็นของที่ถูกรู้ มันเป็นของที่ถูกรู้ มือบอกไหมว่ามือคือตัวเรา มือบอกไหมว่ามือคือเรา ไม่มีหรอก จิตมันโง่ไปคิดเอาเองว่ามือเป็นเรา แต่เราดูสิ มือที่เคลื่อนไหวอยู่ มันเป็นของถูกรู้ มันไม่ใช่จิตหรอก จิตเป็นคนไปรู้มันเข้า มันไม่ยากนักหรอก เรื่องแยกขันธ์
นั่งอยู่อย่างนี้ ก็เห็นร่างกายมันนั่ง จิตเป็นคนรู้ เดินอยู่ก็เห็นร่างกายมันเดิน จิตเป็นคนรู้ ยืนอยู่ก็เห็นร่างกายมันยืนอยู่ จิตเป็นคนรู้ นอนอยู่ก็เห็นร่างกายมันนอน จิตเป็นคนรู้ นอนตะแคงซ้าย นอนตะแคงขวา พลิกไปพลิกมา จิตก็เป็นคนรู้ ยืนอยู่ จิตก็เป็นคนรู้ ทุกๆ อิริยาบถ หายใจออก ร่างกายหายใจออก จิตเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจเข้า จิตเป็นคนรู้
ฟังให้ดี หลวงพ่อใช้คำว่า ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า เวลารู้ รู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ได้ไปเพ่งอยู่ที่ลม ถ้าเพ่งอยู่ที่ลม มันจะไปทางกสิณ จะเป็นกสิณลม รู้สึกตัวนี้มันหายใจอยู่ รู้สึกตัวนี้ยืน เดิน นั่ง นอนอยู่ ตัวนี้มันถูกรู้อยู่ ทางอภิธรรมเขาก็ชอบพูดกันว่า รูปมันเคลื่อนไหว นามเป็นคนรู้ อันนั้นพูดให้ฟังยากยิ่งขึ้น ที่จริงก็คือร่างกายนี้มันเคลื่อนไหวแล้วมันถูกรู้อยู่
หัด ค่อยๆ ดูไป เราจะเห็นกายก็อันหนึ่ง เวทนาก็อันหนึ่ง สังขารก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง แยกๆๆ ออกไป ส่วนสัญญาเว้นไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยเจริญธัมมานุปัสสนา มันจะดูสัญญาได้ ขั้นต้นดูสัญญาลำบาก ดีไม่ดีเพี้ยนเลย บางคนพยายามจะดูสัญญาไม่เที่ยง หลวงพ่อเคยเจอ มีคนหนึ่งเขาเห็น สมัยนั้นหลวงพ่อบวชใหม่ๆ เขาบอกเขาเห็นนาฬิกา เขาเรียกว่าขวดน้ำ เห็นขวดน้ำ เรียกว่ากระติกน้ำ เห็นหมา เรียกว่าแมว บอกนี่ทำลายสัญญา นี่โง่แล้วล่ะ สุดท้ายบ้า คือพูดกับใครเขาไม่รู้เรื่องแล้ว
สัญญาที่ถูกต้อง
สัญญาแบบความจำ อันนั้นจำถ้อยคำได้ จำความหมายได้ เอาไว้สื่อสารกัน ส่วนสัญญาที่เราใช้ในการทำวิปัสสนา เราดูไตรลักษณ์ หมายรู้ไตรลักษณ์ หรือหมายรู้ร่างกายนี้เป็นปฏิกูลอสุภะ เรียกว่าสัญญา อันนี้เรียกว่าการหมายรู้ ส่วนสัญญาที่จำได้ อันนี้เรียกว่าแมสก์ อันนี้เรียกว่าไมโครโฟน อันนี้ไม่ต้องไปลบล้างมัน ลบล้างแล้วบ้า พูดกับใครก็ไม่รู้เรื่อง เอามือเกาหัวอยู่ นี่เอาเท้าเกาหัวอยู่ ใครเขาจะคุยด้วย เขาก็หนีหมดสิ
แยกให้ออก ตัวนั้นมันไม่ใช่เรื่องกิเลส มันเป็นบัญญัติ บัญญัติความหมายอะไรอย่างนี้ เราจำบัญญัติได้ ก็เป็นสัญญาอย่างหนึ่งในการจำบัญญัติได้ แต่ถ้าจำเข้าไปถึงลักษณะได้ เป็นสัญญาที่ชั้นเลิศที่สุด จำได้ถึงความเป็นไตรลักษณ์ สุดยอดเลยอันนั้น เวลาที่จะทำวิปัสสนาต้องมีสัญญา แต่เป็นสัญญาชั้นเลิศ คือหมายรู้ เห็นร่างกาย ไม่ใช่รู้ว่านี่ร่างกาย เห็นมือ ไม่ใช่รู้ว่ามือ เห็นแขน ไม่ใช่รู้ว่าแขน อันนั้นรู้บัญญัติ รู้สิ่งที่สมมติเรียก
คนจีนไม่เรียกตัวนี้ว่ามือ ฝรั่งก็ไม่เรียกอันนี้ว่ามือ คนไทยเรียก อินเดียมันก็เรียกอีกอย่างหนึ่ง ถ้ามือของพระเจ้าแผ่นดินเรียกพระหัตถ์ ศัพท์ที่เรียก เราก็จำ ความจำอันนี้มันจำสัญญา สัญญาตัวนี้มันจำบัญญัติ ก็ต้องบัญญัติให้เหมือนชาวบ้านเขา จะได้พูดกันรู้เรื่อง อันนั้นไม่เกี่ยว ไม่ทำให้เกิดกิเลสอะไรหรอก แต่ว่าสัญญาที่ไม่ดีๆ คือการหมายรู้ที่ผิด สัญญาที่ดีคือการหมายรู้ที่ถูก สัญญาที่จำสมมติบัญญัติได้เป็นเรื่องปกติ ไม่ดีไม่ชั่วอะไรหรอก
สัญญาที่ไม่ดีเป็นอย่างไร อย่างร่างกายเรา ที่จริงแล้วข้างในนี้สกปรกโสโครกมาก เราหมายรู้ว่านี่สวยเหลือเกิน ส่องกระจกดูหน้าตัวเอง สวยเหลือเกิน อันนี้มันหมายรู้ผิด ที่จริงมันสกปรก หมายรู้ผิดอีกอันหนึ่งจะหมายรู้ว่าเที่ยง อย่างในนี้มีตัวเราอยู่คนหนึ่ง ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราเมื่อตอนเด็กก็คนเดิม ตัวเราเดี๋ยวนี้กับตัวเราปีหน้า ชาติหน้าก็คนเดิม อันนี้หมายรู้ผิด ไม่เห็นอนิจจัง หมายรู้ว่าเที่ยง หมายรู้ว่าสุข ไม่รู้หรอกว่าทุกอย่างจะต้องแตกสลายไป มีอะไรอย่างหนึ่ง มีร่างกาย มีทรัพย์สมบัติอะไรก็คิดว่าต้องอยู่กับเรานิรันดร ไม่มีวันแตกสลาย ไม่เก่าไม่เสื่อมอะไรอย่างนี้ อันนี้หมายรู้ผิด
หมายรู้ผิดอีกอันหนึ่งก็หมายรู้ของที่ไม่ใช่ตัวเราว่าเป็นตัวเรา ร่างกายนี้เรายืมโลกมาใช้ เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุของโลก วันหนึ่งเราก็ต้องคืนโลก เราก็ไปหมายรู้ผิดว่านี่คือตัวเราๆ อย่างนี้เรียกว่าสัญญาวิปลาส หมายรู้ผิด คนในโลกนี้อยู่ด้วยสัญญาวิปลาส มันถึงไม่เกิดปัญญา ไม่เกิดวิปัสสนาปัญญา
การทำวิปัสสนานั้นต้องอาศัยสัญญา แต่เป็นสัญญาที่ถูกต้อง เพื่อจะลบล้างสัญญาวิปลาส พอมีความเห็นผิด ก็มีสัญญาวิปลาส หมายรู้ผิด มันก็คิดผิด กลายเป็นเราหมดเลย ก็เลยเกิดความเชื่อผิด ความเห็นผิด เกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ตามลำดับ สัญญาที่ถูกคือเห็นของไม่สวยไม่งามว่ามันไม่สวยไม่งาม เห็นของไม่เที่ยงว่ามันไม่เที่ยง เห็นของเป็นทุกข์ว่ามันเป็นทุกข์ เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นอนัตตาว่ามันเป็นอนัตตา
เวลาเราทำวิปัสสนาอย่าทิ้งสัญญา แต่ต้องเป็นสัญญาเรื่องไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ส่วนปฏิกูลอสุภะนั้นเป็นสัญญาที่เอาไว้ใช้ทำสมถะได้ แต่ถ้าจะทำวิปัสสนา ใช้สัญญาคือการหมายรู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างทีแรกเราแยกกายกับจิตออกจากกันได้ แล้วร่างกายขยับ เราก็รู้สึกตลอดเลย แต่มันรู้สึกว่าร่างกายของเราขยับอยู่ อันนี้สัญญายังวิปลาสอยู่ เวลาเรานั่งอยู่อย่างนี้ ถ้าเรารู้สึกลงไป อันนี้มันก้อนวัตถุ วัตถุก้อนนี้มันมาตั้งอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวมันก็ต้องย้ายที่ไปอยู่ที่อื่น มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขาหรอก แต่ไม่ใช่การคิด
ภาษามนุษย์ยากมากเลย ไม่ใช่คิดว่าตัวนี้ไม่ใช่เรา แต่มันเป็นการหมายรู้ มันเป็นมุมมองของจิต เวลาจิตมองลงมาที่ตัวนี้ ถ้าคนทั่วไปก็คือมือของเราขยับ ถ้าประณีตขึ้นมาก็เห็นรูปมันเคลื่อนไหวๆ ถ้าเห็นลึกลงไปอีก รูปนี้ไม่เที่ยง รูปนี้เป็นทุกข์ รูปนี้ไม่ใช่ตัวเรา อย่างนี้ถ้าเราเห็นรูปธรรม นามธรรม แล้วเราเห็นไตรลักษณ์ เราหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ได้ นั่นล่ะคือการทำวิปัสสนา
บางทีเราเคยได้ยินบางคนเขาพูดกันว่า สัญญาเป็นตัวขวางปัญญา สัญญาทำให้ไม่เกิดปัญญา อันนั้นเข้าใจสัญญาไม่ครบ สัญญาวิปลาสไม่ทำให้เกิดปัญญาหรอก แต่ทำให้เกิดความหลงผิด แต่สัญญาที่ถูก เห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ถึงจะทำให้เกิดปัญญาในขั้นวิปัสสนาปัญญา เพราะฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติ เราไม่ได้ทิ้งสัญญา แต่เราพัฒนาให้จิตหัดมองไตรลักษณ์ให้ชำนิชำนาญมากขึ้นๆ
ต้องหมายรู้ถูก ไม่ใช่คิดถูก
รู้สึกลงในกาย ไม่ใช่แค่รู้สึกว่าร่างกายมีอยู่ แต่รู้สึกว่าร่างกายนี้มันไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวก็ยืน เดี๋ยวก็เดิน เดี๋ยวก็นั่ง เดี๋ยวก็นอน อ๋อ มันไม่เที่ยงจริงๆ ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวหิว เดี๋ยวกระหาย เดี๋ยวปวดอึ เดี๋ยวปวดฉี่ เดี๋ยวอย่างโน้นอย่างนี้ ปวดเมื่อย เดี๋ยวเจ็บป่วย มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา หายใจเข้าไปเรื่อยๆ ก็ทุกข์ หายใจออกไปเรื่อยๆ ก็ทุกข์ กินแล้วไม่ถ่ายก็ทุกข์ ไม่มีจะกินก็ทุกข์ โอ้ ร่างกายนี้มันเป็นที่ตั้งของความทุกข์อันมากมาย ถ้าเราเห็น ถ้าเรารู้สึก นั่นล่ะถึงจะเป็นวิปัสสนา ถ้าคิดว่าร่างกายไม่ดี อย่างโน้นอย่างนี้ อันนี้คิด ไม่ใช่วิปัสสนา มันต้องหมายรู้ถูก ไม่ใช่คิดถูก คิดก็คือตัววิตก คิดเอา
ส่วนการหมายรู้ จิตมันฉลาด มันมองในมุมนี้ มันมองรูปธรรมในมุมของไตรลักษณ์ มองนามธรรมในมุมของไตรลักษณ์ เราจะทำวิปัสสนาไม่ได้ถ้าไม่มีสัญญา และในความเป็นจริง จิตทุกดวงต้องมีสัญญา สัญญาเกิดร่วมกับจิตทุกดวง จะไปบอกรังเกียจสัญญา ดับสัญญา อันนั้นจะกลายเป็นพรหมลูกฟักทันทีเลย พรหมลูกฟักทำไมไม่มีสัญญา เพราะจิตมันดับ มันไม่มีจิต มันก็เลยไม่มีสัญญา ตราบใดที่มีจิต ต้องมีอะไรบ้าง ต้องมีเวทนา ต้องมีสัญญา ต้องมีแน่นอน มีหลายตัว มีเอกัคคตา อันนั้นเยอะเกินไป ไม่ต้องพูดถึง
พระสารีบุตรท่านเคยพูด บอกในเนวสัญญานาสัญญายตนะ ในฌานที่แปดซึ่งเป็นอรูปฌานสุดท้าย อรูปฌานที่สี่ เรียกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ ตรงนี้ท่านบอกว่า ยังสามารถทำวิปัสสนาได้ เพราะอะไรสัญญายังไม่หมดไป ยังเหลืออยู่นิดหนึ่ง แต่คนที่จะทำวิปัสสนาในเนวสัญญานาสัญญายตนะได้ มีเงื่อนไขอยู่ 2 – 3 ข้อ หนึ่ง ชำนาญในฌานจริงๆเลย มีวสีในฌานถึงขั้นเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะได้คล่องแคล่วได้ ทรงอยู่ได้คล่องแคล่ว เจริญปัญญาในเนวสัญญานาสัญญายตนะได้คล่องแคล่ว ถอนออกมาได้คล่องแคล่ว นี่เรียกว่ามีวสี
ข้อหนึ่ง มีวสี มีความชำนิชำนาญในฌานสมาบัติ ข้อสองชำนาญในการดูจิต เห็นไหมดูจิตไม่ธรรมดา ไปเจริญวิปัสสนาด้วยการดูกายในอรูปฌาน ทำไม่ได้ มันไม่มีรูป แต่มันมีจิต แล้วในรูปฌานมีจิตไหม มี มีจิต ยกเว้นพรหมลูกฟักเท่านั้น มีแต่รูป ไม่มีจิต เพราะฉะนั้นตราบใดที่มีจิต มีสัญญา เพียงแต่สัญญาถูกหรือสัญญาผิด สัญญาผิดก็คือ นี่กู นี่เรา นี่กู นี่ของเรา นี่ของกู นี่สัญญาผิด สัญญาถูกก็คือนี่ก็ไม่เที่ยง นั่นก็ไม่เที่ยง นี่ก็เป็นทุกข์ นั่นก็เป็นทุกข์ นี่ไม่ใช่เรา นั่นก็ไม่ใช่เรา อย่างนี้สัญญาถูก
หลวงพ่อพูดให้พวกเราฟังตรงนี้ได้ แต่มันมีตัวหนึ่งที่หลวงพ่อพูดแล้วมันไม่มีภาษาจะสื่อได้เลย การหมายรู้ ไม่ใช่การคิด ไม่รู้จะพูดอย่างไรเลย ไม่รู้จะพูดอย่างไร ไม่ใช่คิดว่าร่างกายไม่เที่ยง ถ้าคิดว่าร่างกายไม่เที่ยง เป็นสมถะ แต่ถ้ามันรู้สึกเลยว่าร่างกายนี้มันไม่เที่ยง มันรู้สึกเอาๆ ตัวนั้นมันเป็นสัญญา ตัวนั้นมันถึงจะทำวิปัสสนาได้
ฉะนั้นสิ่งที่พวกเราจะต้องฝึก อันแรกเลยถือศีล 5 อันที่สองฝึกทำในรูปแบบไว้ วันไหนจิตฟุ้งซ่าน เราก็อยู่กับอารมณ์กรรมฐานเราแล้วคอยรู้ทันจิต เวลามันหลงไปคิด หลงไปเพ่ง แล้วจิตจะมีสมาธิขึ้นมา พอจิตมันมีสมาธิตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว เจริญปัญญา วิธีเจริญปัญญา คือจิตตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย เห็นกายกับจิตนี้แยกออกจากกัน ระลึกรู้เวทนา เห็นเวทนากับจิตแยกออกจากกัน ระลึกรู้สังขาร เห็นสังขารกับจิตแยกออกจากกัน หัดแยกๆๆ ไปเรื่อย
ถัดจากนั้นก็เขยิบขึ้นไปหมายรู้ให้ถูก แทนที่จะรู้ว่าร่างกายมันนั่งอยู่ ก็รู้วัตถุไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา มือนี้บอกไหมว่าเป็นเรา มือไม่เคยบอกเลยว่าเป็นเรา เรารู้สึก มันรู้สึก มันรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรา มันรู้สึกว่าไม่เที่ยง รู้สึกว่ามันเป็นทุกข์ มันรู้สึก มันไม่ใช่คิด ถ้าคิดมันเป็นวิตก รู้สึกที่ถูกต้อง รู้สึกในมุมของไตรลักษณ์ เรียกเราหมายรู้ถูก ไม่รู้จะบัญญัติภาษาให้มันตรงมากกว่านี้ได้อย่างไรแล้ว จนมุมแล้ว
ฉะนั้นพวกเราทีแรกก็เห็นกายกับจิตคนละอันก่อน ดูไปเรื่อยๆ แล้วค่อยๆ ดูไป ร่างกายไม่เห็นมันบอกว่าเป็นเราเลย ร่างกายมันก็ส่วนหนึ่งของโลก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไปหัดดูอย่างนี้ไป แล้วต่อไปมันก็หมายรู้ชำนิชำนาญได้ ความสุข ความทุกข์เกิดขึ้น ดูสิ สั่งมันได้ไหม ไม่ใช่คิด เห็นเลย ความสุข เราก็สั่งมันไม่ได้ สั่งให้เกิดก็ไม่ได้ สั่งให้อยู่ก็ไม่ได้ ความทุกข์ ห้ามไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วให้ไล่ มันก็ไม่ไป เห็นมันเข้าไป เห็นความจริงเข้าไป จนกระทั่งมันหัดมองในมุมของไตรลักษณ์ได้ จิตมันรู้จักมองในมุมของไตรลักษณ์ นั่นล่ะที่สัญญามันหมายรู้ถูก
ไม่ต้องตกใจ ทำไมเราหมายรู้ จะหมายรู้อย่างไรอะไรอย่างนี้ ขั้นแรก ฝึกจิตให้ตั้งมั่นเสียก่อน ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นอย่างไรก็หมายรู้ผิด จิตมันไหลเข้าไปรวมกับกาย แล้วจะไปหมายรู้ถูกได้อย่างไรว่าไม่ใช่เรา มันจมอยู่ด้วยกันอย่างนั้น ก็หมายรู้ผิดไปด้วยกันนั่นล่ะ ฉะนั้นทำไปตามลำดับ แล้วพอเราทำในรูปแบบชำนาญ เราเห็นกายกับจิตแยกกัน เห็นกายแสดงไตรลักษณ์ได้ เห็นนามธรรมทั้งหลาย เช่น สุข ทุกข์ ดี ชั่ว แสดงไตรลักษณ์ได้ เห็นจิตแสดงไตรลักษณ์ได้ เกิดดับได้ อันนี้เราทำวิปัสสนาแล้ว
ถัดจากนั้นออกจากห้องกรรมฐานของเรามาเลย มาอยู่ในชีวิตจริงนี่ล่ะ ตาเห็นรูป มันจะเห็นเลยรูปกับจิตก็คนละอันกัน หูได้ยินเสียง เสียงกับจิตก็คนละอันกัน นี่อยู่ในชีวิตจริงแล้ว จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัสก็เห็นเลย ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งสัมผัสอะไรอย่างนี้กับจิต คนละอันกัน แล้วก็เห็นอีก สุข ทุกข์ ดี ชั่วที่เกิดขึ้นในจิตใจกับจิตก็คนละอันกันอีก อยู่ในชีวิตธรรมดา อย่างตามองเห็นสาวสวย จิตเกิดราคะ เห็นเลย เมื่อกี้ไม่มีราคะ ตอนนี้มีราคะแล้ว ไม่ได้สั่งให้มันเกิด มันเกิดได้เอง เมื่อกี้ไม่มี ตอนนี้มี นี่ก็ไม่เที่ยง ความไม่มีก็ไม่เที่ยง กลายเป็นมีขึ้นมา พอมันมีราคะขึ้นมา สติรู้มันดับปั๊บลงไป เมื่อกี้มีราคะ ตอนนี้ไม่มี นี่แสดงความไม่เที่ยงให้เราดูแล้ว มันจะเห็น
ปัญญาตัวจริงเกิด จิตจะวาง
ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ทำไป งาน 3 งาน ถือศีล 5 ทำในรูปแบบ อาจจะทำสมถะหรือฝึกเจริญปัญญาก็ได้ แล้วแต่ภูมิจิตของเราในขณะนั้น ในวันนั้น ในเวลานั้น อันที่สามก็คือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน เจริญสติในชีวิตประจำวันก็คือตากระทบรูป จิตเราเปลี่ยน เรารู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตเราเปลี่ยนแปลง เรารู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด จิตมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น รู้ทัน มันเปลี่ยนอย่างไร เดี๋ยวมันก็สุข เดี๋ยวมันก็ทุกข์ เดี๋ยวมันก็ดี เดี๋ยวมันก็ร้าย ดูอย่างนี้ไป ในสุดท้ายเราก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งภายใน ทั้งภายนอก ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วดับทั้งสิ้น นั่นล่ะปัญญาตัวจริงเกิด มันจะปล่อยวาง
เมื่อเช้าหลวงพ่อตรวจดูทีมไลฟ์คนหนึ่ง บอกรู้ตัวไหม เดี๋ยวนี้จิตเราเติบโตขึ้นมา จิตเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาแล้ว จิตเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้ขึ้นกับอายุ บางคนอายุตั้ง 90 จิตยังเป็นเด็กทารกเลย ขี้อ้อน โวยวายอะไรอย่างนี้ ไม่ได้อย่างใจแล้วก็อาละวาด จิตเป็นผู้ใหญ่ก็คือจิตมันยอมรับความจริงของโลก จิตมันยอมรับความจริงของชีวิตได้มากขึ้น
หัดเจริญสติดูกายดูใจนี้ล่ะ แล้วพอมันไปเห็นโลกข้างนอก เห็นเลยโลกข้างนอกนี้ หาสาระแก่นสารไม่ได้เลย โลกข้างนอกเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยอะไรไม่ได้เลย จิตมันเห็นอย่างนี้ มันคลายออกจากโลกข้างนอก เพราะมันเรียนรู้โลกภายใน ดูกายดูใจของตัวเอง มันเห็นไตรลักษณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก พอมันไปดูโลกข้างนอก มันก็จืดไปหมดเลย โลกข้างนอกไม่น่าสนุกสนานตื่นเต้นอย่างเดิมแล้ว มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของทนอยู่ไม่ได้ มีแต่ของที่ไม่เป็นไปตามอำนาจบังคับ ไม่เป็นอย่างที่อยากอะไรอย่างนี้ ใจมันคลายออกจากโลก
ใจมันเป็นผู้ใหญ่คือมันรู้จักโลกมากขึ้น รู้จักชีวิตมากขึ้น ฉะนั้นเราภาวนา เราจะเติบโตทางจิตวิญญาณของเรา จิตวิญญาณเราจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา ผู้ใหญ่ก็คือเข้าใจโลก เข้าใจชีวิตมากขึ้น โลกก็จะกระทบเราได้น้อยลง ร่างกายจิตใจก็จะกระทบเข้ามาถึงจิตใจของเราได้น้อยลงๆ ร่างกายไม่สบาย ร่างกายไม่สวยไม่งามอะไรอย่างนี้ จิตใจไม่หวั่นไหว โลกมันจะกระทบเราน้อยลงๆ โลกภายนอกอยู่รอบตัวเรา โลกภายในคือรูปนามกายใจของเรานี้ มันกระทบกระเทือนเข้ามาถึงจิตใจของเรานี้น้อยลง จิตมันก็โดดเด่น เป็นกลาง สงบ เห็นโลกเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ แต่จิตสงบ เด่นดวงอยู่อย่างนั้น มีความสุขอยู่อย่างนั้น
อันนี้ระดับหนึ่ง สูงกว่านั้นยังมีอีก แต่ว่าเอาตรงนี้แค่นี้ก่อนก็แล้วกัน สูงกว่านั้นจะเห็นโลกเป็นแค่ปรากฏการณ์ที่เป็นความว่างเปล่า แล้วก็ไม่แสวงหาจิตต่อไปแล้ว จะไม่มีคำถามเลยว่า พระอรหันต์นิพพานแล้วจิตจะไปอยู่ที่ไหน เพราะท่านวางมันทิ้งไปตั้งแต่บรรลุพระอรหันต์แล้ว ท่านจะไปเอาอะไรหลังจากธาตุขันธ์นี้แตกแล้ว จิตจะไปอยู่ที่ไหน ไม่มีความรู้สึกอย่างนั้นหรอก ถ้ายังรู้สึกอย่างนั้น ยังจะไปเป็นพรหมอยู่ อยากให้จิตทรงความเป็นอมตะอยู่
ฉะนั้นเรียนธรรมะ เรียนให้ดีๆ ค่อยเรียนไป แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเก่งจริงๆ ท่านก็สอนไว้ อย่างหลวงปู่หล้า ภูจ้อก้อ ท่านสอนเลย “ผู้รู้ไม่ใช่นิพพาน ฟากผู้รู้ไป” คือข้ามพ้นไป “จนไม่มีที่กำหนดหมาย ถ้าหมายอยู่ก็พอเหมือนๆ ” ถ้าหมายอยู่จิตเราจะไปนิพพาน พอเหมือนๆ ไม่ใช่ หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” อันนี้ขั้นสุดท้าย พวกเราต้องมีผู้รู้ก่อน อย่ารีบทำลายผู้รู้ บ้าเลย เรียนธรรมะ เรียนไปตามลำดับ เป็นขั้นเป็นตอนไป อย่าใจร้อนข้ามขั้น ข้ามขั้นแล้วเสีย
บางคนทำไมก้าวข้ามได้เร็ว เขาทำมานานแล้ว เขาอบรม อินทรีย์เขาแก่กล้าหลายภพหลายชาติแล้ว เขาฟังธรรมนิดเดียว เขาก้าวกระโดดเลย ของเรายังเตาะแตะอยู่ ถ้าไม่เตาะแตะ ไม่มาหลงมาเรียนอยู่กับหลวงพ่อปราโมทย์นี่หรอก คงจบตั้งแต่สมัยพุทธกาลไปแล้วล่ะ เพราะฉะนั้นเรียนไปตามลำดับ อย่าใจร้อน
ถือศีล 5 ขั้นที่หนึ่ง ทำในรูปแบบ ต้องทำ ถ้าไม่ทำจิตไม่มีแรงหรอก จิตไม่ตั้งมั่นหรอก จิตตั้งมั่นแล้วเดินปัญญา เดินปัญญาขั้นต้นยังไม่ขึ้นวิปัสสนา ก็คือแยกรูปนามได้ จะทำวิปัสสนาได้ ก็เห็นรูปแต่ละรูปเป็นไตรลักษณ์ แสดงไตรลักษณ์ นามแสดงไตรลักษณ์ อันนั้นขึ้นวิปัสสนา แล้วสุดท้ายจิตจะวาง
วันสวนสันติธรรม
5 มีนาคม 2566