นั่งฟังไม่ต้องพนมมือก็ได้ นานเดี๋ยวเมื่อย พยายามรู้สึกตัว เวลานั่งรอหลวงพ่อฟัง รอฟังเทศน์ นั่งรู้สึกตัวไป ทำกรรมฐานของเราไป จะหายใจ จะดูท้องพองยุบจะอะไรก็ได้ แต่ก็คอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ การปฏิบัติธรรมถ้าเราทำสมถะ สมถะไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ได้ สิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ อารมณ์เป็นของที่คู่กับจิต เมื่อไรมีจิตเมื่อนั้นมีอารมณ์ เมื่อไรมีอารมณ์เมื่อนั้นก็ต้องมีจิต ของคู่กัน
ทีนี้จิตปกติก็จะจับอารมณ์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจับอารมณ์โน้นจับอารมณ์นี้ วิ่งพล่านๆ ไป บางทีก็ไปดูรูป รูปก็เป็นอารมณ์อันหนึ่ง บางทีก็ได้ยินเสียง เสียงก็เป็นอารมณ์อันหนึ่ง คือเป็นสิ่งที่ถูกรู้ จิตเป็นคนไปรู้เข้า บางทีก็หลงไปในความคิด ความคิดก็เป็นของถูกรู้ คิดไปอดีต คิดไปอนาคต นี่ก็เป็นอารมณ์ทั้งหมด กระทั่งนิพพาน
นิพพานก็เป็นอารมณ์อันหนึ่ง นิพพานไม่ใช่จิต จิตที่หมดความปรุงแต่งจะเห็นนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสภาวะที่ไม่ปรุงแต่ง ง่ายๆ อย่างนี้ ทีนี้ถ้าเราจะทำสมถะ ใช้อารมณ์อะไรก็ได้ ใช้เรื่องราวที่เราคิดขึ้นมาก็ได้ อย่างเราคิดพิจารณาร่างกายเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะอะไรพวกนี้ เวลาจิตเรามีราคะรุนแรง สู้ไม่ไหว รู้ว่ามีราคะ ราคะก็ยังแรงอยู่ สู้ไม่ได้ก็ต้องทำสมถะ
เวลาจิตเรามีกามราคะรุนแรง
พิจารณาปฏิกูลอสุภะ จิตก็จะสงบได้
อย่างถ้าจิตมีราคะรุนแรงราคะส่วนใหญ่มันก็หลงรักในรูป ก็พิจารณารูปลงไปเลย จะดูรูปภายในคือรูปของตัวเองก็ได้ ให้เห็นความเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ หรือจะดูรูปข้างนอกก็ได้ อย่างพิจารณาซากศพอะไรอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้หาพิจารณายาก ศพมันไม่เน่า ฉีดยามันไม่เน่า ใส่โลงเย็น แต่ถ้าเคยเห็นศพใส่โลงเย็น จะรู้ จริงๆ ก็ชำรุดให้ดู ราขึ้น ส่วนมากก็มีราขึ้น น่าเกลียด ไม่สวยไม่งาม เวลาจิตมีราคะ แล้วเราไปเห็นซากศพ จิตใจมันก็สลดลงมา ราคะมันดับ
ฉะนั้นซากศพนี่พระพุทธเจ้าท่านยกย่องว่าเป็นดอกไม้ของพระอริยะ ปุถุชนเห็นซากศพแล้วสยดสยอง พระอริยะเห็นซากศพแล้วสลดสังเวช ปลง วาง ในขณะที่ปุถุชนไปเห็นซากศพแล้วกลัว ไม่ได้ปลงไม่ได้วาง แต่กลัว แต่พอไปเห็นซากศพเข้า ราคะที่กำลังมีจะดับ อยู่ไม่ได้ จิตก็สงบ นี่คือการทำสมถกรรมฐาน ใช้อารมณ์อะไรก็ได้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอารมณ์ที่เป็นคู่ปรับกันกับจิตใจในขณะนั้น อย่างจิตใจมีราคะก็พิจารณาปฏิกูล พิจารณาอสุภะ เป็นสิ่งตรงข้ามกัน เพราะปฏิกูลอสุภะ นั้นไม่สวยไม่งาม ถ้ามีราคะคือมันติดใจในความสวยความงาม
อย่างพิจารณาปฏิกูลอสุภะ บางทีพระพุทธเจ้าท่านก็เคยสอน มีผู้หญิงคนหนึ่ง ระดับนางงามประจำเมือง สวยมาก ใครอยากให้ผู้หญิงคนนี้ไปคุยด้วย เป็นเพื่อนคุยด้วย ให้เขาร้องเพลงให้ฟังให้เขาเต้นรำให้ดู ต้องจ่ายค่าจ้างคืนละแสน พอผู้หญิงคนนี้ตาย พระเจ้าแผ่นดินมาบอกพระพุทธเจ้า ว่าผู้หญิงคนนี้ตายแล้ว ท่านบอกอย่าเพิ่งเอาไปเผา ของอินเดียพอตายแล้วเขาก็เอาไปเผาทันทีเลย แต่ท่านบอกอย่าเพิ่งเอาไปเผา เดี๋ยวเย็นๆ เรียกให้คนมาประชุมกัน ในงานศพผู้หญิงคนนี้
พอคนมาพร้อมกันมากแล้ว พระพุทธเจ้าท่านก็ขึ้นไปถาม คล้ายๆ ขึ้นเวทีถาม ศพวางไว้ข้างหน้า บอกผู้หญิงคนนี้เคยมีค่าตัวคืนละแสน ต่อไปนี้เอาเงินมาให้พระเจ้าแผ่นดินหนึ่งแสน แล้วเอาผู้หญิงคนนี้ไปเลย เอาไหม ไม่มีใครเอา บอกได้ตลอดไปเลย ไม่ต้องคืนละแสนแล้ว ไม่มีใครเอา ท่านบอกเอาหมื่นเดียว ก็ไม่มีคนเอา สุดท้ายหนึ่งเหรียญ หนึ่งกหาปณะ ก็ไม่มีคนเอา สิ่งที่คนเคยแย่งกันแทบเป็นแทบตาย ต้องมหาเศรษฐีเท่านั้น ถึงจะมีโอกาสเรียกผู้หญิงคนนี้ไปร้องรำทำเพลงให้ฟัง ไปเป็นเพื่อนคุย เล่นหมากรุกก็เก่ง สุดท้ายไม่มีใครเอา
คนจำนวนมากพอได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านถามตอบ จิตมันสลดสังเวช ความสวยความงามมันมีอยู่แค่มีลมหายใจอยู่เท่านั้น พอหมดลมหายใจก็ไม่มีใครต้องการแล้ว อย่างคนที่เรารัก จะพ่อแม่ลูกเมียอะไรก็ตาม ตอนเป็นๆ อยู่เรารัก พอตายปุ๊บ หาทางขจัดแล้วเอาไปทิ้งที่ไหน เอาไปไว้วัดไหน ไม่อยากเห็น ไม่อยากดู ไม่อยากเก็บเอาไว้อีกต่อไปแล้ว ความรักของชาวโลกก็จะเป็นอย่างนั้น ทีนี้อย่างถ้าเรา จิตเรามีราคะมากๆ เราก็พิจารณา ต่อไปเราก็ตาย ถ้าตายแล้วร่างกายเราจะเป็นอย่างไร คิดพิจารณาลงไปเรื่อยๆ
เมื่อก่อนมีครูบาอาจารย์องค์หนึ่งคือหลวงพ่อพุธ หลวงพ่อก็ลูกศิษย์ท่าน ท่านเป็นวัณโรค คนโบราณเป็นวัณโรคตายแน่นอน ไม่มีทางรักษา ท่านก็นอน นอนดูร่างกายมันจะตายแล้ว ดูไปๆ จิตรวม คล้ายๆ จิตมันลอยออกมาจากร่างกาย ย้อนมาดูร่างกาย ก็เห็นร่างกายนอนอยู่ แล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยนสภาพไป จิตก็คิดพิจารณาว่า ถ้าตาย 1 วันจะเป็นอย่างไร ตาย 2 วันจะเป็นอย่างไร แล้วจิตมันก็แสดงรูปนิมิตอันนั้นให้เห็น ตาย 1 วันเป็นอย่างนี้ 2 วันเป็นอย่างนี้ จนกระทั่งเป็นโครงกระดูก ดูไปเรื่อยๆ กระทั่งโครงกระดูกก็แตกสลาย ในที่สุดร่างกายของท่านไม่มีเหลือ เหลือแต่จิตดวงเดียว พอกลับมามีร่างกาย จิตมันทรงสมาธิ ระดับสูง ถึงอรูปฌานร่างกายไม่มีแล้ว กำลังของสมาธิมันฟอกธาตุขันธ์ หายป่วย ไม่ได้เจตนาให้หายป่วยหรอก ภาวนาไปจิตมันมีกำลังมาก ก็หายไม่ป่วย มีหลายองค์ก็เป็นอย่างนั้น พิจารณาลงไปเรื่อยๆ แต่บางองค์พิจารณาร่างกาย แล้วก็เบื่อหน่ายก็ทิ้งไปเลย
อย่างท่านพ่อลี ท่านไม่สบายเป็นโรคกระเพาะ ไม่สบาย ท่านก็คิดว่า พระอนาคามีตายแล้วจะไปเกิดที่ไหน ท่านก็ถอดจิตไปดูไปอยู่ในพรหมโลก อนาคามีไปอยู่เป็นพระพรหม พอย้อนกลับมาเห็นร่างกายของตัวเองนอนอยู่ มันดูไม่ได้ มีแต่เชื้อโรค เป็นรังของโรค ไม่ใช่เชื้อโรค ป่วยอยู่ เป็นที่ตั้งของโรคภัยไข้เจ็บ จำนวนมาก จิตใจท่านเบื่อหนาย จิตท่านทิ้งร่างกายนั้นเลย ไม่มาอยู่ในกาย ตายไปเลย
การที่พิจารณาปฏิกูล พิจารณาอสุภะ มันเป็นคู่ปรับกับกามราคะ เพราะฉะนั้นเวลาจิตเรามีกามราคะรุนแรง ลองพิจารณาปฏิกูลอสุภะดู จิตก็จะสงบได้ หลวงพ่อตั้งแต่เป็นโยม งานอื่นไม่ไป ไปแต่งานศพ ถ้าคนรู้จักตาย ก็ไปงานศพ ไปพิจารณาจิตมันพิจารณาเองล่ะ ไปนั่งฟังพระสวด คนส่วนใหญ่ไปนั่งคุยกัน เราไม่ได้คุย พระสวดก็สวดไป เราก็ทำสมาธิของเราไปพิจารณาไปเรื่อยๆ จิตใจมันก็มีความสุขมีความสงบ ข่มราคะได้
การสมถกรรมฐาน ใช้สิ่งที่ตรงข้าม
บางคราวก็มีนิมิตแปลกๆ มีคนรู้จักคนหนึ่ง ทำงานอยู่ด้วยกัน ตอนเรียนอยู่จุฬาฯ สนิทกัน อยู่ชมรมวรรณศิลป์ด้วยกัน แกตายเป็นมะเร็งตับ ไปเรียนเมืองนอก แล้วก็เอาเชื้อไวรัสบีเข้ามา ตอนนั้นหมอไม่รู้จักว่ามันคือโรคอะไร ในที่สุดเป็นมะเร็ง เลือดออกทางปากทางจมูก ออกทางทวาร หมอก็พยายามให้เลือดเข้าไปเรื่อยๆ พ่อแม่รวย ให้เลือดเพิ่มไปเรื่อยๆ เลือดก็ไหลออกเรื่อยๆ ในที่สุดก็ตาย
หลวงพ่อไปงานศพแก นั่งสมาธิไป นิมิตเกิดขึ้นจริงหรือเปล่าไม่รู้ จิตมันหลอนก็ได้นิมิตเชื่ออะไรมันไม่ได้หรอก เห็นแกดีใจวิ่งเข้ามาหา เราก็ตกใจ เพราะหลวงพ่อเป็นคนกลัวผี พอเขากระโดดเข้ามาหาเราก็ยันเลย ถีบโครมเข้าให้เลยเพราะเราตกใจ เขาก็งอนตุ๊บป่องตุ๊บป่อง ไปที่โลงศพพยายามจะนอนให้กายทิพย์ที่จิตมันสร้างขึ้นมา จริงๆ มันตายแล้ว เกิดใหม่แล้ว เกิดด้วยความห่วงหาอาทรรักลูกรักเมียรักทุกสิ่งทุกอย่าง
ถ้าโดยภูมิจิตอย่างนี้ก็คือเป็นเปรต ตายแล้วยังยอมรับไม่ได้ พยายามนอนลงไปทับศพของตัวเอง พยายามทาบ มีความคิดว่าทาบไปอย่างนี้ เดี๋ยวพ่อแม่คงหาหมอเก่งๆ มารักษาให้ จิตไม่มีปัญญา เห็นร่างกายตายแล้ว แทนที่จะ เกิดสลดสังเวช กลับรักใคร่หวงแหน จิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน จิตที่ฝึกดี เห็นร่างกายตายมันสลดสังเวช รู้สึกโอ้ เกิดทีไรตายทุกที ฉะนั้นทางที่ดีอย่าเกิดดีกว่า ใจมันจะไปทางนั้น แต่คนทั่วไปรู้สึกสูญเสีย ไม่อยากสูญเสีย ทุกข์ร้อน
ฉะนั้นความตายไม่น่ากลัวสำหรับนักปฏิบัติ ถ้าเราเชื่อมั่นในคุณธรรมความดีของเรา เราไม่กลัว แต่ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในความดีของตัวเอง จะกลัว ฉะนั้นตอนนี้ก็รีบสร้างคุณงามความดีไว้ แล้วเวลาจิตมีกิเลส ใช้ธรรมะตรงข้ามเป็นเครื่องต่อสู้ มีราคะก็พิจารณาปฏิกูลอสุภะไป หรือถ้าจิตเรามีโทสะรุนแรงอาฆาตพยาบาทใครสักคนหนึ่ง ตัวที่จะช่วยแก้ไขได้ในการทำสมถะ โกรธใครเกลียดใคร ให้เจริญเมตตา ถ้าเจริญเมตตาได้ ความโกรธความเกลียดก็หายไป
เมื่อก่อนหลวงพ่อเคยไม่ชอบคนหนึ่ง ทำงานด้วยกันวุ่นวายจู้จี้จุกจิก ทำงานอะไรก็ไม่เคยสำเร็จสักที เราเบื่อรำคาญ นั่นคือตระกูลโทสะ นึกถึงก็หงุดหงิดใจ เพราะธรรมดาหลวงพ่อเป็นพวกโทสจริต วันหนึ่งนั่งสมาธิอยู่นึกถึงเขาโทสะก็เกิดขึ้นมาอีก นั่งสมาธิอยู่ เสร็จแล้วจิตมันฉลาดขึ้นมา พิจารณาลงไป ทำไมเขาเป็นอย่างนี้ ทำไมเขาเป็นคนซึ่งไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย จะทำงานสักชิ้นหนึ่ง แก้แล้วแก้อีกอยู่อย่างนั้น จนงานไม่เสร็จไม่ทันกำหนด เสีย ความพยายามทั้งหลายสูญเปล่าไปเลย
พิจารณาลงไปก็นึกได้ เขาเกิดมาในยุคสงครามโลก บ้านอยู่ในสวนฝั่งธนบุรีนี่ล่ะ เวลาได้ยินเสียงหวอเครื่องบินจะมาทิ้งระเบิด นอนในบ้านไม่ได้ พ่อแม่ก็อุ้มหนีลงไปอยู่ในคูน้ำ ในสวนจะเป็นร่องสวน ไม่ได้มีหลุมหลบภัย ลงไปหลบอยู่ในน้ำแช่โคลนแช่น้ำอยู่ ยุงก็กัด เขาทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯ ฝั่งธนฯ พื้นข้างล่างเป็นน้ำเยอะสะเทือน แผ่นดินไหวยวบๆๆ ก็กลัว เพราะฉะนั้นชีวิตนี้เติบโตมากับความไม่มั่นคง เติบโตมากับความหวาดระแวงความกลัว เพราะฉะนั้นเวลาโตขึ้นมาทำงานก็เต็มไปด้วยความกลัว กลัวงานจะไม่ดี กลัวคนจะตำหนิอะไรต่ออะไร
โอ้ ที่เขาเป็นอย่างนี้ เพราะเขากลัว พอจิตมันปิ๊งตรงนี้ก็หายโกรธเลย ไม่โกรธแล้ว สงสารแทน อย่างนี้เรียกว่าเราเจริญเมตตา เจริญเมตตาไม่ใช่แค่เมตตาคุณณัง อะระหังเมตตา อันนั้นตื้นไป ถ้าเรามองคนอื่นจากมุมของเขาเอง เราเข้าใจเขา ความเมตตามันจะเกิด ทำไมเขาต้องเป็นคนอย่างนี้ ก็เพราะว่าเขาขาดอะไรบางอย่าง เขาพยายามกลบเกลื่อน พยายามดิ้นรน เขาถึงกลายเป็นคนแบบนี้ อย่างตอนนี้คนไทยก็ไปโกรธคนเพื่อนบ้านชาติหนึ่ง เราโกรธมากเลย เอะอะ ก็อันนี้ของกู อันนี้ของกู ทั้งที่กูไม่มีอะไรสักอย่าง
ถ้าเราเจริญเมตตาไม่ใช่นั่งแผ่เมตตากรวดน้ำให้เขา อันนั้นตื้นไปไม่หายหรอก ถ้าเราพิจารณาได้ทำไมเขาเป็นอย่างนี้ เพราะเขาขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง ขาดขีดความสามารถที่จะพัฒนาตัวเอง น่าสงสาร ทันทีที่ความสงสารเกิดโทสะดับทันทีเลย ความเมตตาเกิดขึ้นโทสะอยู่ไม่ได้หรอก เราลองดู สมมุติเราโกรธใครสักคนหนึ่ง ลองดูว่าถ้าเราเป็นอย่างเขา เราจะทำอย่างไร ถ้าเราพิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรมจริงๆ บางทีเราก็จะพบว่า บางคนที่เราเกลียดเพราะเขาทำอย่างนี้ อย่างนี้ ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขา ในเงื่อนไขเดียวกับเขา เราก็ทำแบบเขา พอเห็นตรงนี้ปุ๊บหายโกรธทันทีเลย มันเกิดความเห็นอกเห็นใจขึ้นแทน เป็นความเมตตาความกรุณาเกิดขึ้นแทนที่เลย จิตใจเราก็สงบ สิ่งที่ได้มาก็คือความสงบสุขของจิตใจ
เรื่องของการทำสมถกรรมฐาน ไม่ได้มีตื้นๆ แค่ว่าหายใจเข้าพุธหายใจออกโธอะไรเท่านั้นหรอก ถ้ารู้จักมอง ที่เล่าให้ฟัง เรื่องพิจารณาปฏิกูลอสุภะ ไม่ใช่นึกๆ เอาเอง อาจจะไปงานศพไปดูของจริงก็ได้ ไปดูโกดังเก็บศพ หรือมีโทสะ โกรธใครก็ลองพิจารณาดูทำไมเขาต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าเข้าใจเสียอย่างเดียวเราจะไม่โกรธเราจะไม่เกลียดใครหรอก ขอให้เข้าใจเท่านั้น ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขา ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับเขา เราก็ทำแบบเขา พอคิดอย่างนี้ได้ หายโกรธ
ฉะนั้นการทำสมถกรรมฐาน อะไรก็ได้เยอะแยะไปหมดเลย ใช้สิ่งที่ตรงข้าม มีราคะก็พิจารณาสิ่งที่ไม่สวยไม่งาม มีโทสะก็ทำจิตใจให้เกิดความเมตตาขึ้นมา อย่างถ้ามันหลงไม่รู้ผิดชอบชั่วดี วิธีทำสมถะไม่ใช่ไปท่องหลงๆๆๆ เวลามันหลงไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ก็ต้องพิจารณา ให้มองอะไรด้วยเหตุด้วยผล ถ้าเราทำอะไรอย่างงมงาย เราก็ต้องดูว่าสิ่งที่เราทำนี่ มันทำด้วยความเชื่องมงาย หรือทำไปอย่างมีเหตุมีผล
อย่างเราจะทำอะไรสักอย่าง ต้องตั้งพิธีบวงสรวงต้องอย่างโน้น ต้องอย่างนี้ หวังว่าเทวดาจะมาช่วยเรา เราก็พิจารณาลงไป พระพุทธเจ้าให้ช่วยตัวเอง ตนเป็นที่พึ่งของตน ให้มองเทวดาในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์กัน ไม่ใช่นาถ ไม่ใช่ที่พึ่งที่อาศัย ไม่ใช่สรณะ เป็นเพื่อนกัน เพื่อนกันเวลาเพื่อนลำบากช่วยได้ก็ช่วย แต่ไม่ใช่เรียกให้เพื่อนช่วยตลอดเวลา อย่างถ้าเรามีเพื่อนสักคนหนึ่ง เอะอะอะไรก็เรียกให้เราช่วยทุกเรื่อง เราก็ไม่เอาหรอกเพื่อนอย่างนี้ เป็นภาระเกินไป
อย่าว่าแต่เพื่อนเลย ญาติก็เหมือนกัน ถ้าใครไปมีญาติแบบไม่ช่วยตัวเองสักเรื่องหนึ่ง เอะอะก็ให้เราช่วยทุกเรื่องเลย อย่างนี้เราก็เบื่อ เราก็ไม่เอาเหมือนกัน เราก็ต้องดู พยายามช่วยตัวเอง ต้องมีเหตุมีผลทำอะไรมีเหตุมีผล อย่างถ้าเราเป็นคนงมงาย เราก็หัดใช้เหตุผลให้มากขึ้น มันก็ลดความงมงายได้ จิตก็ไม่ฟุ้งซ่านไปตามความงมงาย ก็ได้สมถะ ใช้การคิดพิจารณาไปด้วยเหตุด้วยผล แก้ความงมงาย ก็ทำได้
ถ้าจิตใจมันเซื่องซึมก็กระตุ้นมัน จิตใจมันเศร้าเป็นโรคซึมเศร้า ทุกวันนี้เป็นเยอะ คนเป็นโรคซึมเศร้า ผู้คนมีเยอะในโลกนี้ สมัยหลวงพ่อเกิดมีคนไทยอยู่ราวๆ 18 – 19 ล้านเอง แต่เราไม่เหงาเลย เรามีเพื่อนเต็มไปหมดเลย บ้านนี้ก็เพื่อน บ้านนี้ก็เพื่อน มีเพื่อนเต็มไปหมดเลย อยู่ที่บ้านก็มีเพื่อนบ้าน ไปอยู่โรงเรียนก็มีเพื่อนที่อยู่ในโรงเรียน ทำงานก็มีเพื่อนในที่ทำงาน ในยุคนี้ ผู้คนมากมายมีตั้ง 70 ล้าน ในเมืองไทย เรากลับว้าเหว่กลับเหงา ไม่มีใครคุยด้วย นั่งคุยกับมือถือวันๆ หนึ่ง ตัวจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ไปเจอชื่อเขาก็คุยๆ กับเขา แหม มีความสุขเพลิดเพลิน ตัวจริงหรือตัวปลอมก็ไม่รู้ ไปดูรูปที่เอามาโชว์ไปยืมรูปดาราสวยๆ มาใส่ ตัวจริงอาจจะเป็นยักษ์ขมูขีน่าเกลียด
เราไม่มีเพื่อน คนยุคนี้ขาดแคลนเพื่อน ขาดญาติ ขาดเพื่อน น่าสงสาร ชีวิตนี่ไม่ได้มีความอบอุ่นเลย สังคมไทยเราเป็นสังคมที่อบอุ่น ที่ผ่านมาเรามีเพื่อนเรามีญาติมีพี่น้อง ลำบากก็ช่วยกัน มีความสุขก็มีความสุขด้วยกัน เวลาทุกข์ก็ช่วยเหลือกัน เราอยู่กันมาแบบนี้ พอสังคมมาเปลี่ยนทุกคนรวยขึ้น กูไม่ต้องง้อคนอื่นแล้ว กูอยู่ได้ด้วยตัวของกูเอง กลายเป็นว่าผู้คนในแผ่นดินนี้เยอะขึ้น แต่คนที่เรารู้จักจริงๆ น้อยลงๆ ชีวิตไม่มีความอบอุ่น
ถ้าเราหัดมอง เอ ชีวิตเราที่ว่ามีความสุข มีความสุขจริงไหม แต่เดิมจะไปไหนมาไหนก็เดินเอา โหนรถเมล์ไป เดี๋ยวนี้นั่งรถยนต์ นั่งรถไฟ นั่งเครื่องบิน ดูมีความสุข ดูสิชีวิตมีความสุขจริงหรือเปล่า วัตถุเหล่านี้ให้ความสุขเราได้จริงหรือเปล่า เราจะพบว่าชีวิตของเรายุคนี้เงียบเหงาว้าเหว่มากขึ้น มันถึงเป็นโรคซึมเศร้าเยอะขึ้น ถ้าเราเข้าใจตัวนี้เราพยายามกลับออกมาอยู่กับโลกให้มากขึ้น ภาวนาอย่าหนีโลก ภาวนาให้รู้โลก อยู่กับโลก อยู่กับโลกให้ได้
ถ้าภาวนาแล้วหนีโลกมุดเข้าถ้ำไปอยู่คนเดียว ไม่อยากยุ่งกับใครเลย ภาวนายาก มันหนีโลก มันไม่ได้เข้าใจโลก ถ้าเข้าใจโลกเราก็จะอยู่กับมันได้ แต่เราไม่ทุกข์ เราเห็นผู้คนทั้งหลาย เขาเงียบเหงาเขาว้าเหว่ ใจมันสงสารขึ้นมาแทน เราอยู่กับโลก ใจมีแต่ความเมตตาสงสาร ใจเราสงบสุขอยู่ได้ นี่เรื่องของสมถกรรมฐาน มีเยอะแยะ วิธีการ วันนี้พูดให้ฟังเป็นตัวอย่าง
สมถกรรมฐานในตำราบอกไว้ว่าใช้อารมณ์อะไรก็ได้
อารมณ์บัญญัติ อารมณ์รูปธรรม นามธรรม ก็ใช้ได้
ส่วนถ้าเป็นเรื่องวิปัสสนาไม่มีอะไรมาก มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง สิ่งที่เราต้องรู้ ก็คือรู้กายรู้ใจ ถ้าพูดแบบปริยัติก็รู้รูปรู้นาม พูดให้คนไม่รู้เรื่อง พูดให้รู้รูปรู้นาม อย่างเมื่อก่อนหลวงพ่อยังไม่ได้บวช หลวงพ่อภาวนา ครูบาอาจารย์ก็ชม ภาวนาดี ภาวนาเก่ง ให้ไปช่วยสอน ใครเขาควรเรียนก็ให้สอนเขา ตอนนั้นเขียนกระทู้อยู่ในพันทิป คนก็ไปคุยธรรมะกัน จิตเป็นกุศลอิ่มเอิบเบิกบาน วันเลวคืนเลว มีคนเข้ามาป่วน ที่พูดกันนี่ไม่ได้ ใช้ไม่ได้ ต้องรู้รูปรู้นาม ต้องเห็นวิถีของจิต ดูจิตอะไรไม่พูดถึงวิถีจิต พูดๆๆ ด่าๆๆ แล้วก็หายไป เราก็งง มันอะไรของมัน เข้ามาถึงมันก็มาด่าๆๆ แล้วมันก็ไป ถ้าเห็นว่าใครไม่ถูก ก็บอกสิว่าไม่ถูกอย่างไร แล้วที่ถูกเป็นอย่างไร อย่างนั้นถึงจะเรียกเมตตา ถ้าเข้ามาถึงก็ด่าๆๆ แล้วก็หนีไปไม่ใช่เมตตา อย่างนั้นเอามัน กูเก่ง กูเก่ง ไม่เห็น
หลวงพ่อก็เลยตั้งใจ วันหนึ่งเราจะเรียนอภิธรรม แต่ขอภาวนาให้มันสะใจเสียก่อน ให้มันแล้วใจเสียก่อน เราเดินไปในเส้นทางของการปฏิบัติ เราไม่ได้เดินในเส้นของปริยัติ เราจะภาวนาให้มันแล้วใจก่อน ตอนก่อนจะบวช หลวงพ่อก็ไปที่บ้านตาด ไปขอหนังสือธรรมะของหลวงตา เป็นธรรมะภาคปฏิบัติ กว่าจะได้มาลำบากมากเลย พระที่เฝ้าศาลาด่าอยู่นั่นล่ะ ด่าอยู่นานมากเลย ว่าเอาไปทำไมเป็นฆราวาส หนังสืออย่างนี้เป็นหนังสือสำหรับพระเท่านั้น ฆราวาสอ่านไม่รู้เรื่องหรอก หลวงพ่อก็พนมมือเฉยๆ อยากด่าก็ด่าไป แกด่าไปเรื่อย จนพระอีกองค์หนึ่งสงสารไปหยิบมาให้ หลวงพ่อก็เอามาจะไปบวชบอกท่านว่าเราจะไปบวช เราอยู่ไกลครูบาอาจารย์ ท่านบอกอ่านไม่รู้เรื่องหรอก ไม่รู้เรื่องผมจะพยายามอ่าน
ได้หนังสือนั้นมาเสร็จแล้วก็ไปที่อภิธรรมโชติกะ วัดมหาธาตุ ไปบอกเขาเลยว่า มีตำราอภิธรรมกี่เล่มขอซื้อทั้งหมดเลยเท่าที่มี เขาก็ขนๆๆ มาให้เป็นตั้งเลย เราก็เอามาเอาไปไว้ที่วัด เก็บไว้ กะว่าภาวนาแล้วเราจะดู ค่อยมาเรียน ขอภาวนาก่อน ถ้าอ่านก่อนเดี๋ยวเรากลายเป็นคนฟุ้งซ่านแบบที่เขามาด่าเราในพันทิป เราจะภาวนาก่อน พอภาวนาไปช่วงหนึ่งแล้ว สบายอกสบายใจดีแล้ว ลองไปเปิดดู ไม่เห็นจะมีอะไรเลย มันก็คือสิ่งที่เรารู้เราเห็นจากการปฏิบัตินั่นล่ะส่วนใหญ่ แต่เพียงแต่เราเรียกชื่อไม่เป็น เรียกชื่อต่างกันก็จะฆ่ากันตายแล้ว เรียกชื่อต่างกันก็ทนไม่ได้แล้ว เพราะว่าอะไร เพราะมองสภาวะไม่ออก ถ้ามองสภาวะออกถึงจะเรียกชื่ออะไรก็ตาม จะใช้ศัพท์บัญญัติที่แตกต่างกันก็ฟังกันรู้เรื่อง
อย่างนักปฏิบัติ ถ้าภูมิจิตภูมิธรรมระดับเดียวกัน ไปหากัน อย่างเราไปหาครูบาอาจารย์องค์นี้ ท่านพูดสอนเราด้วยภาษาอย่างนี้เรารู้เรื่อง เราไปหาอีกท่านหนึ่งท่านพูดด้วยอีกภาษาหนึ่งเราก็รู้เรื่อง เพราะเรารู้ว่าจริงๆ สภาวะเป็นอย่างไร แต่ภาษามันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วไม่ต้องไปตกใจ ตำรับตำราอะไร บางส่วนมันก็ถูกมีประโยชน์ แต่บางส่วนก็ไม่มีสาระเลย เพี้ยนๆ อย่างในตำรามีเรื่องโลก โลกแบน มีตำราโลกแบน ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน
พระรุ่นหลัง นักปราชญ์รุ่นหลังช่วยกันแต่งๆ ขึ้นมา อะไรที่พระพุทธเจ้าไม่ตอบก็จะพยายามเสริมๆๆ เข้าไป ส่วนนี้มันเป็นธรรมะเนื้องอก พอผ่านวันเวลาผ่านการพิสูจน์ ไม่ทนต่อการพิสูจน์ มันไม่ทนต่อการพิสูจน์เพราะว่าไม่ใช่ มันผิดแล้วล่ะ อย่างบอกว่า “หทยรูป” หทยรูปนี่ โดยนิยามคือที่เกิดของนามธรรมจำนวนมาก ถามว่ามันอยู่ที่ไหน ตอนนี้ตอบไม่ถูกแล้วฝ่ายปริยัติ “หทย” แปลว่าหัวใจ เพราะฉะนั้นหทยรูปต้องอยู่ในหัวใจ เป็นน้ำเลี้ยงหัวใจสีนั้นสีนี้ ถ้าคนมีน้ำเลี้ยงหัวใจสีอย่างนี้นิสัยจะเป็นอย่างนี้ ก็ยุคนี้มันเปลี่ยนหัวใจได้แล้วล่ะ ไม่เห็นนิสัยมันเปลี่ยนเลย วิทยาการมันพิสูจน์ว่า คำสอนเฝือไปนี่ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้าหรอก เป็นของตำรารุ่นหลังเขียนๆ กันขึ้นมา เพื่อพยายามจะตอบโจทย์ซึ่งไม่เข้าใจ
แต่ถ้าเป็นสายปฏิบัติ ถ้าพูดถึงหทยรูป ท่านไม่รู้จักหรอก แต่ท่านรู้ว่านามธรรมมันผุดขึ้นที่ไหน นามธรรมมันผุดขึ้นที่ไหน ผุดขึ้นในกลางอก ผุดขึ้น สุขทุกข์ ดีชั่วก็ผุดจากนี้ขึ้นมา โลภ โกรธ หลง ก็ผุดขึ้นจากนี้ กุศล อกุศลก็ขึ้นมาจากนี้ล่ะ หทยตัวนี้ไม่ได้แปลว่าหัวใจ หทยตัวนี้แปลว่ากลาง เคยได้ยินคำว่าใจกลางไหม รู้สึกมันขึ้นมาจากกลางๆ ขึ้นมา ฝ่ายปริยัติ ฝ่ายปฏิบัติ นั่งเถียงกัน ไม่มีข้อยุติ แต่ถ้าเราภาวนาเราเข้าใจ แล้วเราก็เข้าใจด้วยทำไมเขาต้องพูดอย่างนั้น เพราะเขาไม่เห็นสภาวะ เขาก็ต้องพูดไป หาอะไรตอบโจทย์ไปเรื่อยๆ
พอเราเข้าใจอย่างนี้เราไม่โกรธแล้ว ทีแรกอ่านก็โกรธ ว่าอ๋อ เขาอย่างนี้เขาไม่เห็นของจริง เขาก็ว่าไปอย่างนี้ล่ะ ก็น่าสงสารอุตส่าห์เล่าเรียนแต่ไม่เห็นสภาวะ บอกว่าต้องเห็นสภาวะ แต่ไม่เห็น ก็น่าเห็นใจ เราจะไม่โกรธไม่เกลียดใครหรอก ก็ค่อยๆ ศึกษาไป ทำไมเขาเป็นอย่างนี้ ทำไมเขาเป็นอย่างนี้ จะแก้ปัญหา จิตใจของเราก็จะสงบสุขได้
เห็นไหมว่าเรื่องของสมถะไม่ใช่มีแค่เรื่องเข้าฌาน ไม่ได้แคบแค่นั้นหรอก สมถกรรมฐานในตำราเขาบอกไว้ว่าใช้อารมณ์อะไรก็ได้ อารมณ์บัญญัติ คือเรื่องราวที่คิดก็ได้ อย่างคิดเรื่องปฏิกูลเรื่องอสุภะ คิดพิจารณาร่างกาย คิดอะไรนี้ เป็นเรื่องคิดทั้งนั้น หรือคิดพิจารณาชีวิต พิจารณาซากศพ เป็นเรื่องคิดเอา ไม่มีสภาวธรรมรองรับ เรียกว่าอารมณ์บัญญัติ ก็ใช้ทำสมถะได้ อารมณ์รูปธรรมก็ใช้ทำสมถะได้ อย่างหายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก ลมหายใจเป็นรูป เดินจงกรม เห็นร่างกายมันเดินแล้วคอยรู้สึกไว้ จิตไม่วอกแวกไปที่อื่น นี่ก็เป็นสมถะ เห็นท้องพองเห็นท้องยุบจิตไม่หนีไปที่อื่น อันนี้ก็เป็นสมถะ ใช้รูปก็ได้ ใช้นามก็ได้ ทำสมถะ
อย่างเมื่อวานหลวงพ่อสอนผู้หญิงคนหนึ่ง เขาทำอย่างอื่นไม่ได้เลย เขาดูจิตได้อย่างเดียว บอกว่าเวลาดูจิตเดินปัญญารวด ไม่ได้ จะดูไตรลักษณ์ จิตเกิดดับตลอดเวลา ทำไม่ได้หรอก ต้องรู้จักพัก วิธีพักจิตโดยใช้นามธรรม ใช้นามธรรมเช่น ใช้ช่องว่าง อย่างเราทำใจให้ปกติ ใช้ใจที่ปกติแล้วรู้สึกลงไป เราจะเห็นความว่างความสว่างอยู่ข้างใน แล้วเราเอาจิตเราไปพักอยู่กับแสงสว่างนั้น นั่นก็สมถะ ไปอยู่ในช่องว่าง เรียก อากาสานัญจายตนะ
อีกอันหนึ่ง เราจะมีจิตเป็นคนรู้คนดู แทนที่เราจะดูเข้าไปที่ช่องว่างซึ่งเป็นอารมณ์ที่ถูกรู้ เราทวนกระแสเข้ามาดูจิตผู้รู้ เราจะเห็นว่าจิตที่เป็นผู้รู้นั้นดับกลายเป็นของถูกรู้ เกิดจิตผู้รู้ใหม่ซ้อนขึ้นมา แล้วซ้อนๆ ไม่มีที่สิ้นสุด อันนี้ก็เป็นสมถกรรมฐานชื่อวิญญาณัญจายตนะ แต่อันนี้หลวงพ่อไม่แนะนำอย่างยิ่งเลย เพราะว่าติดง่ายมากเลย แล้วแก้ยากมาก ต่อไปถ้าขืนไปเล่นตัวนี้ ต่อไปพอคิดถึงการปฏิบัติ จิตจะจับเอาที่ตัวผู้รู้แล้วนิ่งอยู่อย่างนั้นเลย แก้กันเป็นปีเลย เพราะฉะนั้นอย่าเล่นอันนั้น เอาแค่ว่ารู้สึกถึงความสว่าง
ความว่างไว้พักผ่อนชั่วครั้งชั่วคราว พอให้จิตมีกำลัง
แล้วถอยจิตออกมาให้มันตั้งมั่นขึ้นมาใหม่ แล้วดูความเกิดดับ
ลองหลับตาลองทำใจปกติสบายๆ Relax แต่ไม่ทำใจเคลิ้มๆ ลองหายใจไปด้วยก็ได้ ทำใจสบาย แล้วนึกถึงความว่างๆ ที่อยู่ข้างหน้าเรา น้อมจิตไปอยู่ในความว่างๆ นี่เป็นที่พักของคนที่ดูจิตเอา ดูจิตเอา ทำวิปัสสนาก็เห็นจิตเกิดดับ จะทำสมถะก็ไปอยู่กับความว่างๆ ฉะนั้นอย่างที่หลวงพ่อพูดเรื่อยๆ หลายคนสอน วิธีดูจิตคือทำจิตให้ว่าง บอกไม่ใช่ อันนั้นมันสมถกรรมฐาน ทำจิตให้ว่างไม่ได้ แต่เอาความว่างนั้นไว้พักผ่อนชั่วครั้งชั่วคราว พอให้จิตมีกำลังแล้วถอยออกมา อย่าถลำลงไปนอนแช่อยู่ในความว่าง ถอยจิตออกมาให้มันตั้งมั่นขึ้นมาใหม่ แล้วดูความเกิดดับ เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดีเดี๋ยวชั่ว เดี๋ยวไปอดีตเดี๋ยวไปอนาคต คอยรู้ทันมันไป เดี๋ยวไปทางตาทางหู จิตไปทางไหนก็รู้ทันมันไป
เวลาดูจิตจริงๆ เราดู 2 อัน อันหนึ่งดูความรู้สึกที่เกิดร่วมกับจิต จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดีก็รู้ จิตชั่วก็รู้ อีกอันหนึ่งดูการทำงานของจิต จิตไปดูรูปทางตาก็รู้ ไปฟังเสียงทางหูก็รู้ ไปคิดทางใจก็รู้ ฉะนั้นดูได้ 2 อัน ดูความรู้สึก จิตมีความรู้สึกอย่างไรก็รู้ อีกอันดูพฤติกรรมของจิต จิตไปทำอะไรก็รู้ ไปดูรูปก็รู้ ไปฟังเสียงก็รู้ อันนี้ก็ค่อยๆ เรียนไป ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องเริ่มแบบนี้ ดูจิตไม่ได้ดูกายไป ดูกายเคยดูแบบสมถะก็พัฒนาขึ้นมา พอจิตเราสงบ เราก็อย่าสงบโง่ๆ อยู่ สงบเสร็จแล้วก็ค่อยดูลงไป ร่างกายเป็นของถูกรู้นี่ พอร่างกายนี่เป็นของถูกรู้ จิตก็เป็นผู้รู้ขึ้นมาเอง เพราะว่าสิ่งที่ถูกรู้กับผู้รู้มันต้องอยู่คู่กันเสมอ
จิตกับอารมณ์ต้องอยู่คู่กันเสมอ อยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นว่าร่างกายถูกรู้เราไม่ต้องห่วง เรามีจิตผู้รู้แน่นอน ไม่ต้องไปหามัน อยู่ๆ ไปเที่ยวหาจิตผู้รู้ หาไม่เจอหรอก มันจะกลายเป็นผู้คิดทันที เพราะผู้รู้ไม่มีให้หา เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปหามัน อย่างพวกเรานั่งอยู่อย่างนี้ แทนที่จะนั่งคิดอะไรบ้าๆ บอๆ ไป คิดไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ นั่งแล้วลองรู้สึกสิ เห็นไหมตัวอะไรมันนั่งอยู่ ตัวอะไรมันมาตั้งอยู่บนเก้าอี้นี้ ตัวอะไรมันมีลมเข้ามีลมออก ดูลงไปเรื่อยๆ ตัวอะไรมีความทุกข์แทรกเข้ามา นั่งนานๆ ก็ปวดก็เมื่อย ความทุกข์มันแทรกเข้ามา หัดดูอย่างนี้เรื่อยๆ ก็จะเดินปัญญาได้
ต่อไปก็จะเห็นร่างกายที่นั่งอยู่ไม่ใช่เรา สุขทุกข์ที่เกิดขึ้นในกายไม่ใช่เรา สุขทุกข์เฉยๆ ที่เกิดขึ้นในจิตไม่ใช่เรา ตัวจิตเองก็ไม่ใช่เรา ตัวดีตัวชั่วที่เกิดขึ้นกับจิตก็ไม่ใช่เรา จะเห็นว่ามันไม่มีเรา พอไม่มีเราก็ไม่มีที่ตั้งของความทุกข์ อย่างถ้าร่างกายเป็นเรา ร่างกายเป็นเรา พอร่างกายแก่ก็คือเราแก่ ร่างกายเจ็บคือเราเจ็บ ร่างกายตายคือเราตาย หรือจิตใจเดี๋ยวก็สมหวังเดี๋ยวก็ผิดหวัง ใจแกว่งขึ้นแกว่งลงตลอดเวลาตามความอยาก อยากทีไรก็ทุกข์ทุกที อยากดีก็ทุกข์แบบคนดี อยากชั่วก็ทุกข์อย่างคนชั่ว แต่อยากดีแล้วทำดีก็มีผลที่ดี แต่ไม่นิพพานหรอก อยากชั่วทำเหตุชั่ว ลงมือกระทำไป ก็มีผลเป็นความทุกข์ ก็ยุติธรรมแล้ว ทำมาอย่างไรก็รับผลอย่างนั้น ค่อยๆ เรียนไป ธรรมมะไม่ยาก
ฉะนั้นเราก็ฝึก ควรจะหัดดูสภาวะไป ขั้นแรกเลยให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ ถ้าจิตใจถูกราคะรบกวนมากสู้ไม่ไหว เราก็พิจารณาปฏิกูลอสุภะ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ จิตใจเต็มไปด้วยโทสะขึ้นมารู้ เนื้อรู้ตัวไม่ได้แล้ว ก็เจริญเมตตาไป จิตก็สงบ จิตใจมันโง่งมงาย ทำอะไรก็พยายามคิดถึงเหตุถึงผลให้มากๆ จิตใจก็จะตั้งมั่นสงบขึ้นมาได้ หรือจิตใจมันชอบไหลไป เราก็หายใจไป จิตไหลแล้วรู้ จิตไหลแล้วรู้ จิตก็ตั้งมั่น สงบได้ด้วย ตั้งมั่นได้ด้วย
พอเรามีจิตที่สงบแล้วก็ตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว ก็เดินปัญญา เราก็เห็นเลยร่างกายนี้กับจิตคนละอันกัน สุขทุกข์กับจิตก็คนละอันกัน ดีชั่วกับจิตก็คนละอันกัน จิตก็ไม่ได้มีดวงเดียว เดี๋ยวจิตสุขเกิดจิตสุขก็ดับ จิตทุกข์เกิดจิตทุกข์ก็ดับ จิตดีเกิดจิตดีก็ดับ จิตโลภโกรธหลงเกิดจิตโลภโกรธหลงก็ดับ หัดดูอย่างนี้ไป นี่คือการเจริญปัญญาแล้ว
เจริญปัญญาไปช่วงหนึ่งจิตเหนื่อย ก็กลับทำสมถะ กลับไปทำสมถะที่เราถนัด ถนัดอะไรก็เอาอันนั้นล่ะ ทางใครทางมัน แต่ถ้าเราฝึกจนชำนาญ ทำสมถะนี่ไม่ใช่เรื่องยากเลย ใช้อะไรก็ได้ กำหนดจิตให้ว่างเลยก็ได้ เพ่งลมหายใจก็ได้ เพ่งท้องก็ได้ พิจารณาอสุภะก็ได้ พิจารณาเหตุผลของคนอื่นแล้วเกิดความเมตตาขึ้นมาก็ได้ จิตใจก็สงบ มีเรี่ยวมีแรงขึ้นมา พอมีแรงจิตสงบจิตตั้งมั่นก็เดินปัญญาต่อ
ตัวอะไรที่มันนั่งอยู่บนเก้าอี้นี้ ตัวนี้มันเคยบอกไหมว่ามันคือเรา ลองสังเกตดูสิไอ้ตัวที่นั่งบนเก้าอี้ มันเคยบอกไหมว่ามันคือตัวเรา มันไม่เคยพูดเลย จิตเราคิดเอาเองว่าไอ้นี่คือตัวเรา ร่างกายนี้มันไม่เคยพูดเลยว่ามันคือตัวเรา ค่อยๆ ดู ค่อยๆ แยกๆ ไป ความสุขความทุกข์น่ะมันบอกไหมว่ามันคือตัวเรา ไม่เคยบอกเลย เราโมเมเอาเอง ตัวที่หลอกก็คือเราหลอกตัวเอง ไม่มีใครเขาหลอกเราหรอก จิตหลอกตัวเอง
วันสวนสันติธรรม
26 มีนาคม 2566