สติปัฏฐาน 4 ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

สติสำคัญที่สุด ขาดสติ ขาดศีล ขาดสมาธิ ขาดปัญญา ฝึกสติให้ดี วิธีฝึกให้เกิดสติก็คือการทำสติปัฏฐาน มีสติระลึกรู้กาย เรียกกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม หมายถึงเรียนรู้กาย อย่างกายในกายอย่างนี้ ไม่ใช่กายเนื้อ กับกายทิพย์ บางคนบอกกายภายในก็คือเป็นกายทิพย์อะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ มันเป็นศัพท์เทคนิค กายในกายคือการมองกายในบางมุม บางด้าน เข้าใจแล้วก็จะเข้าใจกายทั้งหมด รวมทั้งเข้าใจจิตที่เป็นคนไปรู้กายด้วย ตัวอย่างกายในกายที่พระพุทธเจ้า ท่านสอน กายที่หายใจออก กายที่หายใจเข้า นี่เราฝึกหายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ถึงจุดที่ปัญญามันเกิด มันจะรู้ว่ากาย ที่หายใจออก ไม่ใช่ตัวเรา กายที่หายใจเข้าไม่ใช่ตัวเรา ถ้ากายที่หายใจออกไม่ใช่ตัวเรา กายที่หายใจเข้าไม่ใช่ตัวเราแล้ว กายทั้งหมดจะไม่ใช่ตัวเรา เพราะทั้งวันกายมันก็มีแต่กาย ที่หายใจออก หายใจเข้า

บางคนไม่ชอบดูกายหายใจ มันละเอียดเกินไป ไปดูให้หยาบขึ้น ก็กายยืน กายเดิน กายนั่ง กายนอน มีสติรู้กายยืน กายเดิน กายนั่ง กายนอน จิตเป็นคนรู้คนดูอยู่ ให้เห็นว่ากายที่ยืนไม่ใช่เรา กายที่เดิน ที่นั่ง ที่นอน ไม่ใช่เรา กายทั้งหมดจะไม่ใช่เรา เพราะทั้งวันกายมันก็มีแต่เรื่องยืน เดิน นั่ง นอน มันเป็นการเรียน จริงๆ ก็คือเรียนกายทั้งหมดนั่นล่ะ แต่เลือกเรียนในมุมบางอย่าง อย่างกายหายใจออก หายใจเข้าไม่ใช่เรา กายทั้งหมดก็ไม่เป็นเราแล้ว กายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรา กายทั้งหมดก็ไม่ใช่เราแล้ว

 

กาย เวทนา จิต

บางคนต้องดูละเอียดเข้าไป ใจมันต้องดูอารมณ์ที่หยาบๆ ขึ้นไปอีก อย่างดูลมหายใจมันละเอียด ดูแล้วเคลิ้มง่าย เผลอง่าย สติจับไม่ทัน ลืมกายที่หายใจออก หายใจเข้า ก็ไปรู้ของหยาบขึ้น รู้กายยืน เดิน นั่ง นอน บางคนกายยืน เดิน นั่ง นอนก็ละเอียด เกินไปอีก ก็ดูของที่หยาบเข้าไป กายขยับมันเกิดบ่อยๆ กายขยับซ้าย ขยับขวาอะไรอย่างนี้ กายเคลื่อนไหว รู้สึก กายหยุดนิ่ง รู้สึก ถ้าเราเห็นว่ากายที่เคลื่อนไหวไม่ใช่ตัวเรา กายที่หยุดนิ่งไม่ใช่ตัวเรา กายทั้งหมดจะไม่เป็นตัวเรา เพราะทั้งวันกายมันก็มีอยู่ 2 อย่างเท่านั้น คือกายที่เคลื่อนไหวกับกายที่หยุดนิ่ง ที่เรียกว่ากายในกายเรียนอย่างนี้

เวทนาในเวทนาก็เหมือนกัน ไม่ใช่เวทนาลึกลับอะไรอันหนึ่ง เวทนาเปิดเผยอีกอันหนึ่ง ไม่ใช่ มันเป็นการสุ่มมาเรียน อย่างเราดูเวทนาในกาย เราก็จะเห็น เดี๋ยวสุขเวทนาก็เกิด เดี๋ยวทุกขเวทนาก็เกิด หรือเราดูเวทนาในใจ เราก็จะเห็นเดี๋ยวสุขก็เกิด เดี๋ยวทุกข์ก็เกิด เดี๋ยวเฉยๆ ก็เกิด หมุนอยู่แค่นี้ ดูอยู่แค่นี้ ถ้าดูอย่างนี้ต่อไปมันจะรู้เลยเวทนาทั้งหมดไม่ใช่ตัวเราหรอก

ดูจิตในจิต จิตนั้นมันวิจิตรพิสดาร มันมีจำนวนมากมาย มันมีถึง 89 ชนิด ปุถุชนมีไม่ถึง 89 ปุถุชนขาดมรรค 4 ผล 4 ไป เหลือ 81 นี้เราไม่ใช่ทุกคนจะมีจิต 81 อย่าง จิตบางอย่างเป็นจิตที่เกิดในรูปฌาน ในรูปภพ บางอย่างเกิดในอรูปภพ พวกเราที่เข้าฌานไม่เป็น มันไม่มีหรอก จิตอย่างนี้ มันก็เหลือจิตธรรมดานี่ จิตอยู่ในกามาวจร ร่อนเร่ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร่อนไปเรื่อยๆ ก็ยังมีจำนวนเยอะอยู่

เวลาเรียนนี้จะมาเรียนจิตทุกชนิด มันเรียนไม่ไหว มันเยอะเกินไป พระพุทธเจ้าท่านก็สอนจิตในจิตๆ เช่น ถ้าเราเป็นคนขี้โลภ เจออะไรก็ชอบไปหมด อยากได้หมด ทั้งวันเราดู 2 อย่างเอง จิตโลภกับจิตไม่โลภ จิตจะมีกี่ร้อยกี่พันดวง กี่หมื่นกี่แสนดวง ย่อลงมามันก็มี 2 อย่างเอง จิตที่โลภกับจิตไม่โลภ ถ้าคนไหน ขี้โกรธ เราก็ดูจิตที่โกรธกับจิตที่ไม่โกรธ ดู 2 อย่าง ฉะนั้นเวลาสุ่มตัวอย่างมาเรียนนี่ ถ้าเราเห็นจิตที่โลภไม่ใช่เรา จิตที่ไม่โลภก็ไม่ใช่เรานี่ ก็จะไม่มีจิตอะไรเป็นเราอีกแล้ว ถ้าเห็นจิตที่โกรธไม่ใช่เรา จิตที่ไม่โกรธไม่ใช่เรา ก็ไม่มีจิตตัวไหนเป็นเราอีกต่อไปแล้ว

ดูอย่างนี้เรียกว่าสุ่มตัวอย่างมาเรียน แล้วตัวอย่างนี้เราไม่ได้เลือกเอง พระพุทธเจ้าเลือกไว้ให้แล้ว อย่างท่านบอกว่า “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย เมื่อจิตมีราคะ ให้รู้ว่ามีราคะ เมื่อจิตไม่มีราคะ ให้รู้ว่าไม่มีราคะ” อันนี้สำหรับพวกขี้โลภ เรียนมัน 2 อย่างเอง ดูจิตไม่ใช่ดูหลายสิบชนิด วุ่นวาย มากมาย เกินเหตุ เกินจำเป็น ถ้าเรามีสติคอยระลึกไป อย่างเราขี้โลภ จิตมันโลภขึ้นมาเรารู้ จิตมันหายโลภ เรารู้ ตอนที่มันหายโลภมันอาจจะเป็นจิตโกรธก็ได้ เป็นจิตที่เป็นกุศลก็ได้ ตรงนั้นเราไม่ต้องแยกแยะ เรื่องมากเกินไป เอาง่ายๆ จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ ทั้งวันจิตมีอยู่ 2 ชนิดเท่านั้นเอง แทนที่จะต้องเรียนจิตมากมายก่ายกอง ก็เรียนอยู่ 2 ตัว จิตโลภ จิตไม่โลภ ถ้าเราขี้โมโห เราก็เรียน 2 ตัว จิตโกรธ จิตไม่โกรธ ตรงที่จิตไม่โกรธอาจจะเป็นจิตโลภก็ได้ เป็นจิตที่เป็นกุศลก็ได้ ไม่ต้องแยกแยะให้ละเอียดวุ่นวาย

เรียนง่ายๆ พระพุทธเจ้ากลั่นกรองธรรมะออกมาจนง่ายๆ แล้ว ก็ภาวนาไปเรื่อย พอเข้าใจ รู้สึกง่าย ธรรมะไม่ได้ยากอะไรเลย มันแจ่มแจ้ง เวลาเข้าใจธรรมะจะรู้ มันแจ่มแจ้ง เป็นเรื่องง่าย พระพุทธเจ้าท่านเหมือนสำนวนบาลีบอก เหมือนท่านเปิดของที่คว่ำอยู่ ท่านจับมันหงายขึ้นมา เราก็เห็นว่าที่พอหงายขึ้นมาแล้วมีอะไรอยู่บ้าง เห็นได้ง่ายๆ ฉะนั้นธรรมะที่ท่านสอน ไม่ใช่ยาก ง่ายๆ

อย่างจิตโกรธ รู้ไหม รู้จักไหมจิตโกรธ พอเรารู้ว่าจิตโกรธ จิตโกรธก็ดับ เกิดจิตไม่โกรธขึ้นแทน ฝึกอย่างนี้ ต่อไปก็เห็น จิตโกรธก็ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับ บังคับไม่ได้ จิตไม่โกรธ เกิดแล้วก็ดับ บังคับไม่ได้เหมือนๆ กัน ในที่สุดก็รู้ว่าจิตทุกชนิดเกิดแล้วก็ดับ บังคับไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเราของเรา เรียกว่าเรียนแบบสุ่มตัวอย่าง หรือเรียนกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต

 

ธัมมานุปัสสนา

ธรรมในธรรมก็เหมือนกัน ธรรมะมีจำนวนมหาศาล สิ่งที่เรียกว่า ธรรมะมีมหาศาลเลย ธรรมที่เป็นโลกิยะก็มี เป็นโลกุตระก็มี ธรรมที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ที่ไม่ใช่กุศล อกุศลก็มี ธรรมที่เป็นรูปธรรมก็มี ธรรมที่เป็นนามธรรมก็มี เพราะฉะนั้น ธัมมานุปัสสนาไม่ใช่เล่น ซับซ้อนมากมายเลย

ท่านก็สอนยกตัวอย่างให้เราดูธรรมในธรรม อย่างเราดูกิเลส เราดูละเอียดลึกซึ้งลงไปถึงตัวนิวรณ์ ถ้าดูหยาบๆ โลภเกิด โกรธเกิดอะไรอย่างนี้ มันอยู่ในจิตตานุปัสสนา แต่ก่อนมันจะโลภจะโกรธ มันจะมีตัวนิวรณ์เข้ามาก่อน มันจะมาขวางกั้นคุณงามความดีในใจเรา มันจะมากระตุ้นความเลวในใจเราให้ทำงาน นิวรณ์มันมีหน้าที่ปิดกั้นความดี ปิดกั้นการลดละกิเลส ท่านสอนให้เราสังเกตลึกซึ้งลงไป นิวรณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร นิวรณ์ไม่เกิดขึ้นเพราะอะไร ดูลึกซึ้งลงไปอีก เรียนมันอยู่เรื่องนิวรณ์นี้ล่ะก็ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

ในฝ่ายกุศลท่านก็ยกตัวอย่างให้ดู อย่างเรียนเรื่องโพชฌงค์ 7 ก็รู้ว่าโพชฌงค์แต่ละองค์ๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร พัฒนาไปได้อย่างไร ไม่เจริญเพราะอะไรอย่างนี้ เรียนแล้วรู้เหตุรู้ผล ในธัมมานุปัสสนา จะเรียนจนรู้เหตุรู้ผลแล้วเข้าถึงเหตุถึงผล ไม่ใช่เข้าถึงสภาวะที่เกิดที่ดับเฉยๆ หรอก อย่างดูนิวรณ์ก็เห็นนิวรณ์มีเหตุอย่างนี้ กามฉันทะมีเหตุอย่างนี้ พยาบาทมีเหตุอย่างนี้ วิจิกิจฉามีเหตุอย่างนี้ อุทธัจจะ กุกกุจจะ ถีนมิทธะมีเหตุอย่างนี้ๆ ถ้ามีสิ่งนี้มันก็เกิด ธัมมานุปัสสนามันเลยเรียนลึกลงไปเกินสภาวะ เราเรียนลงไปจนถึงเรื่องเหตุกับผล

เหตุกับผลที่ลึกซึ้งที่สุดคือปฏิจจสมุปบาท เพราะฉะนั้นใน ธัมมานุปัสสนานี่ บรรพสุดท้ายหรือบทสุดท้ายที่สูงสุดเลย คือสัจจบรรพ เรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็เรื่องเหตุกับผล เพราะฉะนั้นถ้าเรายังเรียนตรงนี้ไม่ถึง เราก็ไม่ต้องตกใจ พระพุทธเจ้าท่านแจกแจงธรรมะไว้ มีตั้งแต่อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด อย่างหยาบก็ส่วนของรูป อย่างกลางก็ส่วนของนาม อย่างละเอียดก็ส่วนของธรรมะ ธรรมะก็คือเรื่องของเหตุกับผล โลกิยะเหตุก็มีโลกิยะผล โลกุตระเหตุก็มีโลกุตระผล มันลึกซึ้งลงไปอีกชั้นหนึ่ง

 

 

เรียนเท่าที่เราทำได้ เท่าที่เรามี เท่าที่เราเป็น แล้วสติ สมาธิเรายังไม่พอ ปัญญาเราไม่แก่กล้าพอ ไม่ต้องไปเรียนธัมมานุปัสสนาหรอก เรียนมากแล้วยิ่งฟุ้งซ่าน เรียนของที่เราทำได้ ดูกาย หรือดูเวทนา หรือดูจิตนี่ล่ะเป็นของง่าย

เวทนาก็ยังแยกได้ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเวทนาที่เนื่องด้วยกาย ส่วนหนึ่งเวทนาที่เกิดกับจิต กายและเวทนาทางกายนี่ เหมาะกับพวกตัณหาจริต จริตในการทำวิปัสสนากรรมฐานมี 2 จริต จริตในการทำสมถกรรมฐานมี 6 จริต แยกให้ออก เมื่อวานหลวงพ่อพูดถึงสมถะเยอะเลย อย่างจริตของสมถะ มี 6 จริต ราคจริต โทสจริต โมหจริต พุทธิจริต วิตกจริต สัทธาจริต มี 6 อย่าง อันนี้เอาเป็นไกด์ไลน์ (แนวทาง) ไปดูว่าควรจะทำสมถะด้วยกรรมฐานอะไร แต่เมื่อวานบอกแล้วว่าไม่แน่เสมอไปหรอก อันนี้เป็นแค่ไกด์ไลน์ ตอนลงมือทำจริงๆ ก็ต้องสังเกตเอาว่าทำอย่างไรแล้วจิตสงบ

 

จริตในการทำวิปัสสนา

วิปัสสนาก็มีจริต 2 อันที่เราจะมาใช้พิจารณาว่าเราจะใช้อารมณ์อะไร คือตัณหาจริตกับทิฏฐิจริต ฉะนั้นบางคนมาถามบอกว่า “หนูเป็นราคจริต หนูจะเจริญวิปัสสนาด้วย กรรมฐานอะไร” หนูยังถามผิดอยู่ ถามคนละเรื่องเลย ราคจริต โทสจริตนั้นเอาไว้ดูที่จะทำสมถะ ส่วนจริตในการทำวิปัสสนา มีแค่ 2 จริตเอง คือ ตัณหาจริตกับทิฏฐิจริต  ตัณหานี่พวกโลภมาก รักสุข รักสบาย รักสวย รักงาม ชอบในผลประโยชน์ พวกทิฏฐิจริตนี่พวกนี้ติดในความคิดความเห็น เจ้าลัทธิ เจ้าอุดมการณ์

ตัณหากับทิฏฐิ 2 ตัวนี้ล่ะที่ทำให้โลกวุ่นวาย มนุษย์ในโลก กัดกันแทบเป็นแทบตายก็เพราะตัณหากับทิฏฐิ ตัณหาก็คืออยากได้ผลประโยชน์ พออยากได้ผลประโยชน์ก็ต่อสู้แย่งชิงกัน ถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉานแย่งตัวเมียกันก็กัดกัน แย่งอาหารก็กัดกัน ถ้าเป็นมนุษย์มันก็ความต้องการซับซ้อนขึ้นไปอีก บางทีต้องการชื่อเสียง ต้องการอำนาจ แย่งชิงกันก็กัดกันเหมือนกัน ตัณหามีโทษขนาดนี้ ที่โลกวุ่นวายอยู่เพราะตัณหานี่ล่ะ

อีกตัวหนึ่งคือตัวทิฏฐิ ยึดถือในความคิดความเห็น เช่น ลัทธินี้ดี ลัทธินี้ไม่ดี อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี แล้วก็ทะเลาะกัน อย่างประชาธิปไตยดี เผด็จการไม่ดี ถ้าเรียนรัฐศาสตร์จะรู้ ประชาธิปไตยไม่เคยมีหรอกในโลกนี้ มันเผด็จการแบบไหนเท่านั้นเอง ไม่มีจริง เป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะเป็นผู้ปกครอง มันผิดธรรมชาติ แต่คนในโลกเขาก็ยังยึดถือความคิดความเห็นว่าลัทธินี้ดีกว่าลัทธินี้อะไรอย่างนี้ ที่จริงอันไหนจะดีหรือไม่ดี ดูที่ว่าอันไหนตอบสนองประโยชน์ของบ้านเมืองของคนส่วนใหญ่ อันนั้นล่ะดี อันนั้นล่ะเหมาะ ไม่ใช่ลัทธิไหนหรอก ลัทธิไหนตอบโจทย์ได้ก็ลัทธินั้นล่ะดี ลัทธิไหนไม่ตอบโจทย์ก็ไม่ดี

พอยึดถือในทิฏฐิ ในทฤษฎีนี้ดี ทิฏฐิ ลัทธินี้ดี ก็ทะเลาะกัน ในโลกคนเราทะเลาะกันด้วยตัณหากับทิฏฐิ ไม่มีมากกว่านี้หรอก การเจริญสติปัฏฐานนี้มันจะล้างตัวนี้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเรา เจริญสติปัฏฐานจริงๆ เรามาสังเกตตัวเองก่อน ระหว่างตัณหา กับทิฏฐินิสัยเราเป็นพวกไหน เราเป็นพวกรักสุข รักสบาย รักสวย รักงาม ชอบความประณีตสุนทรีย์ หรือเราเป็นพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น ยึดถือในความคิดความเห็น ชอบคิดแล้วก็ยึดในความคิด สังเกตตัวเองเอา

 

 

พอเราสังเกตตัวเองแล้ว ก็มีคำแนะนำ พวกตัณหาจริต มีคำแนะนำในตำราเขาบอกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันนี้เป็นเวทนาที่เนื่องด้วยกาย อันนี้เหมาะกับพวกตัณหาจริต เพราะคนเรามันรักร่างกาย มันก็เลยอยากโน่นอยากนี่ อยากได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสอะไรที่ดี เพราะมันรักมันหวงแหนร่างกาย ถ้ามาเรียนให้เห็นว่าร่างกายไม่ใช่ของดี ไม่ใช่ของสวยของงาม ร่างกายนี้เป็นของน่าเกลียด เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอเห็นอย่างนี้ ความรักความผูกพันในกายมันก็ลดลง มีสติ มีปัญญา สติตามระลึกรู้กายเนืองๆ ในที่สุดก็เห็นความจริงของกาย คือเกิดปัญญา กายนี้ไม่สุข ไม่สบาย ไม่สวย ไม่งามหรอก กายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ พอจิตเห็นอย่างนี้มันก็ค่อยๆ คลายออกๆ

อย่างเราภาวนาเบื้องต้น ขั้นพระโสดาบันมันจะเห็น กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา แต่ว่าความจริง การที่เห็นว่ากายไม่ใช่ตัวเรานี่ปุถุชนก็เห็นได้ เพราะกายนี้เป็นของหยาบ มันเห็นอยู่ทนโท่ เดี๋ยวคนโน้นตาย เดี๋ยวคนนี้ตาย แต่ว่าตรงที่ค่อยภาวนาไปเรื่อย ร่างกายหายใจ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ใครเป็นคนรู้ จิตเป็นคนรู้ เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยๆ ไป มันก็เห็นกายไม่ใช่ตัวเรา จิตนี้ที่เป็นคนรู้ ร่างกายก็ไม่ใช่ตัวเรา เดี๋ยวจิตก็รู้กาย เดี๋ยวจิตก็หนีไปคิดเรื่องอื่น วุ่นวาย บังคับไม่ได้

เพราะฉะนั้นเวลาเราเจริญสติปัฏฐาน เรามีจิตเป็นคนดูไว้ เจริญกายานุปัสสนาก็มีจิตเป็นคนดูกาย เจริญเวทนานุปัสสนา ก็มีจิตเป็นคนดูเวทนา เจริญจิตตานุปัสสนาก็มีจิตเป็นคนดู จิตตานุปัสสนา คือตัวกุศล-อกุศลทั้งหลายที่หมุนเวียนไป จะเจริญธัมมานุปัสสนาก็มีจิตที่เป็นคนรู้เหตุรู้ผล นี่ต้องมีจิตอยู่ มีจิตที่เป็นคนรู้คนดู แล้วเวลาเราดูลงในกายแจ่มแจ้งขึ้นมา มันก็จะเห็นกายไม่ใช่เรา จิตที่เป็นคนรู้กายก็ไม่ใช่เรา เวลาดูลงในเวทนา มันก็จะเห็นเวทนาไม่ใช่เรา จิตที่เป็นคนรู้เวทนาก็ไม่ใช่เรา เวลารู้จิตตสังขาร กุศล อกุศล ก็เห็นกุศล-อกุศลไม่ใช่เรา จิตที่เป็นคนรู้กุศล-อกุศลก็ไม่ใช่เรา เจริญธัมมานุปัสสนาก็เห็นรูปธรรม นามธรรม กุศลธรรม อกุศลธรรม ล้วนแต่มีเหตุมีผลทั้งสิ้น เราสั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ จิตที่เป็นคนไปรู้มัน เราก็สั่งมันไม่ได้ บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้เหมือนกัน

 

เรียนจุดเดียว เวลารู้ รู้ทั้งหมด

เพราะฉะนั้นเวลารู้แจ้งแล้ว จะรู้ทั้งรูปทั้งนาม รู้ทั้งหมดล่ะ เรียนจุดเดียว เวลารู้ รู้ทั้งหมดเลย นี่ความอัศจรรย์ของธรรมะ เราเรียนแบบการวิจัย เวลาทำงานวิจัย จะสุ่มตัวอย่างมาเรียน พอเข้าใจผลการศึกษาแล้ว เราก็จะเข้าใจภาพรวมของสถานการณ์นั้น ของเหตุการณ์นั้น การเรียนสติปัฏฐานก็เหมือนกัน สุ่มตัวอย่างมาเรียน ที่เรียกกายในกาย เวทนาในเวทนาอะไรอย่างนี้ สุ่มตัวอย่างมาเรียน พอเข้าใจแล้ว เข้าใจทั้งหมด เรียนกายานุปัสสนาแท้ๆ เวลาเข้าใจก็จะเห็นกายก็ไม่ใช่เรา จิตก็ไม่ใช่เรา ตัวสำคัญคือจิตไม่ใช่เรานี่ล่ะ เวลาเรียนเวทนานุปัสสนาก็เห็นเวทนาไม่ใช่เรา จิตก็ไม่ใช่เรา ตรงที่จิตไม่ใช่เรานั้น สักกายทิฏฐิจะขาด เพราะตรงที่เห็นว่ากายไม่ใช่เรา อันนี้ปุถุชนก็เห็น คนนอกศาสนาพุทธก็เห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริงหรอก เดี๋ยวก็ตายแล้ว ตัวที่ทำให้ติดอยู่ ยึดถืออยู่ว่าตัวเรามีอยู่ก็คือตัวจิตนั่นล่ะ ฉะนั้นเรา เจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าบรรพใดหรือหมวดใด สุดท้ายมันก็คือเห็นจิตไม่ใช่เรา ถ้าเห็นว่าจิตไม่ใช่เรา ก็ได้โสดาบันแล้ว

ภาวนาต่อไป ถ้าพวกสายกายก็จะดูกายเป็นหลัก ก็จะเห็นเลยกายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ มีความทุกข์บีบคั้นอยู่เสมอ ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวใจก็ชอบกาย เดี๋ยวใจก็เบื่อหน่ายกายอะไรอย่างนี้ แต่ความรักใคร่ลุ่มหลงในกายมันลดลงแล้ว มันก็เป็นภูมิธรรมของพระสกิทาคามี พระสกิทาคามีที่ผ่านมาทางดูกายนี่เดี๋ยวก็รักกาย เดี๋ยวก็ไม่ชอบกาย เดี๋ยวก็รู้สึกกายไม่ดี เดี๋ยวก็ดีขึ้นมาอีกแล้ว จิตใจยังมีสติปัญญาไม่พอ ยังผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ ถ้าเดินสายกายต่อไป ดูไปเรื่อย กายนี้ไม่ใช่ของดีเลย กายนี้เป็นของเลวล้วนๆ เลย จิตปล่อยวางกายเลย อันนี้ได้พระอนาคามี นี่เส้นทางของพวกที่เขาเดินกายมา สุดท้ายก็ไปตะลุมบอนลงที่จิต

ถ้าดูมาทางสายจิต ก็จะเห็นสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปทั้งหมดทั้งสิ้น จิตมันประณีตเป็นลำดับๆ ไป มันก็ผ่าน กิเลสเป็นลำดับๆ ไป ทีแรกมันก็เห็นจิตไม่ใช่ตัวเรา พอจิตไม่ใช่ ตัวเรา ขันธ์ 5 ซึ่งเป็นผลผลิตของจิต มีจิตดวงเดียวนี่สร้างขันธ์ 5 ขึ้นมาได้หมด มันเห็นถึงขนาดนั้น พอจิตไม่เป็นเราแล้ว ขันธ์ 5 ก็ไม่เป็นเรา ขันธ์ 5 ไม่เป็นเรา โลกก็ไม่เป็นเราแล้ว มันเห็น มันตัดยอดเข้ามาที่จิตเลย แล้วภาวนาต่อไปสติปัญญา มันเฉียบแหลม สมาธิมันดีขึ้น จิตกระเพื่อมไหวนิดหนึ่งก็เห็นแล้ว กระเพื่อมวื้บขึ้นมาก็เห็นทุกข์แล้ว จิตมันก็หยุด ค่อยๆ คลายออกๆ สติ สมาธิ มันแข็งแรงขึ้น กิเลสมันก็อ่อนกำลังลง

พระสกิทาคามีละสังโยชน์ 3 ตัว ละสักกายทิฏฐิ คือความเห็น ผิดว่ามีตัวตน ละความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย ละความเห็น ว่าถือศีลอย่างนี้ บำเพ็ญตบะ บำเพ็ญพรตอย่างนี้ดีอะไรอย่างนี้ นี่พระโสดาบันละอย่างนี้ แล้วถ้าพอสติปัญญามันเข้มแข็งขึ้น กิเลสมันอ่อนกำลังลง พระสกิทาคามีก็เลยมีราคะ โทสะ โมหะเบาบางลง

ถ้าดูสายจิต ดูต่อไปอีก มันจะเห็นเลย จิตอยาก จิตยึด จิตทุกข์ จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ มันเห็นตรงนี้ จิตมันก็หมดความอยากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ที่มายั่วให้จิตวิ่งออกไป จิตมันพึงพอใจที่จะตั้งมั่น มีความสุขอยู่ในตัวของตัวเอง ไม่แสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะภายนอก ฉะนั้นพอจิตมันไม่ยินดีในรูป มันก็ไม่ยินร้ายในรูปด้วย เพราะมันไม่สนใจแล้ว มันวางทิ้งไปแล้ว

ฉะนั้นเป็นพระอนาคามีละกามราคะและปฏิฆะได้ นี่ลีลาการปฏิบัติ จากสายกาย สายจิต ลีลาไม่เหมือนกัน แต่ในขั้นสุดท้ายมันก็จะลงมาแตกหักลงมา นักปฏิบัติส่วนใหญ่ก็ชอบคิดว่าต้องแตกหักด้วยการดูจิต จริงๆ แล้วบางท่านดูกาย ตลอดสายเลย อยู่กับกายแล้วแตกหักเลย อย่างท่านพระอานนท์นี่ พระไตรปิฎกบอกเลย พระอานนท์ยังราตรีสุดท้าย สุดท้ายคือก่อนวันสังคายนา พระอานนท์ยังราตรีสุดท้ายให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติเป็นส่วนมาก กายคตาสติตัวนี้คือกายานุปัสสนา ฉะนั้นท่านเจริญกายานุปัสสนาเป็นส่วนมาก แล้วส่วนน้อยทำอะไร ส่วนน้อยจิตก็รวมเป็นสมาธิ ไม่มีหรอกเจริญวิปัสสนารวดไป จิตมันต้องพลิกมาเป็นสมาธิเป็นระยะๆ

 

เจริญกายานุปัสสนาก็พ้นโลกได้ เจริญเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนาก็พ้นโลกได้ทั้งสิ้น

 

ฉะนั้นบางท่าน ท่านดูกาย หลวงพ่ออ่านครูบาอาจารย์ รุ่นหลังๆ นี้ก็มี ท่านดูกายแล้วแตกหักลงเพราะกายก็มี ไม่ใช่ไม่มี บางท่านก็แตกหักด้วยเวทนา อย่างพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร ท่านแตกหักลงด้วยเวทนา อย่างพระอนุรุทธะ พระอนุรุทธะท่านแตกหักลงด้วยจิตตานุปัสสนา อย่างธัมมานุปัสสนานี่ พระพุทธเจ้าแตกหักลงด้วยธัมมานุปัสสนา ในสัจจบรรพ ท่านเห็นปฏิจจสมุปบาท คือเหตุผลที่ทำให้เกิดความทุกข์ เหตุผลที่ทำให้ทุกข์ดับ

เพราะฉะนั้นสติปัฏฐาน 4 ถ้าเราฝึกไป เบื้องต้นทำให้เกิดสติ เบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา แล้วสติปัฏฐาน 4 นี่ไม่ว่าหมวดใดสามารถทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ถ้าเราไปอ่าน พระไตรปิฎกจริงๆ อ่านพระสูตรจริงๆ อย่างมหาสติปัฏฐานสูตร ลงท้ายแต่ละบรรพแต่ละบท จะลงท้ายเหมือนกันหมดเลยว่า ท่านถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้ ถ้าถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้ มันก็พ้นโลกเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเจริญกายานุปัสสนาก็พ้นโลกได้ เจริญเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนาก็พ้นโลกได้ทั้งสิ้น

 

 

เมื่อวานหลวงพ่อบอกแล้ว ครูบาอาจารย์องค์ไหนท่าน ผ่านทางไหนท่านก็จะบอกทางนั้น ส่วนใหญ่รุ่นหลังๆ ที่เราได้ยิน ได้ฟังนี่ ท่านมาแตกหักด้วยการดูจิต ส่วนมากท่านก็เลยบอกว่า ต้องแตกหักด้วยการดูจิตอะไรอย่างนี้ แต่ในตำราไม่ได้ว่าอย่างนั้น ในข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่เราต้องเข้าใจ ไม่ใช่ท่านสอนผิด ท่านสอนถูกตามประสบการณ์ อย่าได้ละเมิดล่วงเกินครูบาอาจารย์เด็ดขาดเลย เราภาวนาไม่ขึ้นหรอก

เราเรียนเราฟัง เราเป็นเถรวาท เถรวาทคือเป็นมติของพระเถระที่ร่วมการสังคายนาว่าเรายึดถือพระไตรปิฎก พระธรรมวินัยเป็นหลัก เราจะไม่แก้ไข ไม่ดัดแปลง แต่ถ้าเราฟังอาจารย์แล้วเราเชื่อแต่อาจารย์ของเรา อันนั้นคืออาจริยวาท ออกนอกแนวของเถรวาทแล้ว พวกเราอยู่ในกลุ่มเถรวาท เราซื่อตรงต่อพระธรรมวินัย พระธรรมวินัยนั้นแสดงอยู่ในพระไตรปิฎกซึ่งพระอรหันต์ 500 องค์ท่านสังคายนาขึ้นมา เราต้องดูตัวนี้เป็นหลัก ครูบาอาจารย์สอนต่างจากพระไตรปิฎกอย่างนี้ เพราะท่านรู้บางส่วน สาวกรุ่นพวกเรา ไม่มีองค์ไหนรู้ทั่วถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าหรอก มันเป็นไปไม่ได้ สาวกรุ่นพุทธกาลยังรู้ไม่ทั่วถึงเลย เพราะสาวกนั้นไม่ได้มีปัญญาอย่างพระพุทธเจ้า ไม่ได้มีปัญญาขนาดสัพพัญญูอย่างนั้น

อย่างหลวงพ่อเคยเล่าให้ฟัง อย่างมีพระกลุ่มหนึ่ง พระควัมปติกับเพื่อนๆ ของท่านเป็นพระอรหันต์ พระควัมปติอยู่ในกลุ่มของพระยสะ พระยสะมีเพื่อนหลายสิบองค์ บรรลุพระอรหันต์กันหมดเลย พอบรรลุพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันทั้งหมด ท่านก็แยกย้าย พระพุทธเจ้าส่งแยกย้ายกันไปท่านก็แยกย้ายประกาศธรรมะ บางทีก็ไปเจอกัน ไปอยู่ด้วยกันเป็นช่วงๆ เดี๋ยวก็แยกกัน เดี๋ยวก็ไปเจอกัน เป็นกลุ่มย่อยๆ

วันหนึ่งพระอรหันต์กลุ่มพระควัมปตินี่ ท่านไปบิณฑบาตเสร็จแล้ว ฉันเสร็จแล้ว ท่านก็นั่งสนทนาธรรมกัน ทำไมไม่ไปปฏิบัติธรรม มานั่งสนทนา เพราะท่านปฏิบัติจบแล้ว ท่านมาสนทนาธรรมเพื่อความร่าเริงใจ ก็มีองค์หนึ่งท่านบอกว่า “ผมภาวนา ผมพิจารณาเห็นแล้วว่า ถ้ารู้ทุกข์ก็เป็นอันละสมุทัย แจ้งนิโรธ เกิดอริยมรรค” พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านบอก “ใช่ๆ” ทุกองค์เห็นตรงกันหมดเลยว่าถ้ารู้ทุกข์เมื่อไหร่ ก็ละสมุทัย แจ้งนิโรธ มรรคก็เจริญขึ้นในขณะนั้นเลย

พระสาวกเห็นตรงกันหมดเลย เห็นได้แค่นี้ ถามว่าผิดไหม ไม่ผิด แต่พระควัมปติท่านบอกท่านได้ยินพระพุทธเจ้าสอนว่า “ถ้ารู้ทุกข์ก็เป็นอันละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรค ถ้าละสมุทัยก็เป็นอันว่ารู้ทุกข์ แจ้งนิโรธ เจริญมรรค ถ้าแจ้งนิโรธ ก็เป็นอันว่ารู้ทุกข์ ละสมุทัย เจริญมรรค ถ้าเกิดอริยมรรค ก็แสดงว่ารู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธในขณะนั้น” มันเหมือนมี โต๊ะเล็กๆ ตัวหนึ่งมี 4 มุม เราขยับมุมหนึ่ง มันเลื่อนหมดทั้ง 4 มุมเลย เพราะฉะนั้นเห็นไหมว่าภูมิปัญญาของสาวก ขนาดสาวกครั้งพุทธกาล ปฏิสัมภิทา ท่านยังไม่ได้รู้ทั่วถึงเท่าที่พระพุทธเจ้าสอนเลย

ฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงพวกรุ่นเรา สาวกรุ่นหลังๆ นี้หรอก ท่านก็รู้เป็นส่วนๆ ถามว่ารู้ผิดไหม ไม่ผิดหรอก ครูบาอาจารย์ที่ท่านภาวนาดี ท่านก็รู้ถูกเข้าใจถูก แต่มันถูกเป็นด้านๆ อย่าไปปรามาสท่าน ภาวนาไม่ขึ้นเลย เห็นอย่างชัดเจนเลยถ้าปรามาสครูบาอาจารย์ที่ท่านภาวนาดี ภาวนาไม่ได้หรอก ภาวนาให้ตายก็ภาวนาไม่ขึ้นหรอก พูดอย่างนี้คนไม่เคยภาวนามันไม่รู้สึกหรอก อย่างพระมาอยู่กับหลวงพ่อ ถ้าอาบัติอะไรนี่ ภาวนาไม่ขึ้นแล้ว แค่อาบัติ ไม่ต้องว่าทำอะไรร้ายแรงหรอก อาบัติยังไม่ถึงปาราชิกด้วยซ้ำไป จิตเศร้าหมองทันทีเลย ภาวนาไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราภาวนาเราจะรู้เลยว่าธรรมวินัยสำคัญมากเลย

 

พวกเราก็มาหัด ทุกวันๆ ค่อยหัดเจริญสติไป ทำสติปัฏฐานนั่นล่ะ มีกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ฝึกไปเรื่อยๆ ต่อไปมันก็เข้าไปธรรมในธรรมอัตโนมัติ คือเข้าไปรู้เหตุรู้ผล ทำสติปัฏฐานแรกๆ สติเราจะแหลมคม ว่องไวมากขึ้นๆ อย่างจิตเราโกรธ เรารู้ จิตไม่โกรธ เรารู้ ดูมันทุกวัน ดูมันทั้งวัน เดี๋ยวจิตก็หงุดหงิด เดี๋ยวจิตก็ไม่หงุดหงิด อันนี้สำหรับพวกขี้โกรธ ต่อไปสติมันจะเร็ว จิตหงุดหงิดนิดเดียว สติมันเกิดรู้ทัน โอ๊ย หงุดหงิดแล้ว พอรู้ทันปุ๊บ ความหงุดหงิดก็ดับ โอ้ จิตไม่หงุดหงิดอีกแล้ว สติก็รู้อีก รู้บ่อยๆ สติจะเร็วขึ้นๆๆ จนกลายเป็นสติอัตโนมัติ สติอัตโนมัติเกิด เป็นสติสัมโพชฌงค์ อัตโนมัติไปหมดแล้ว ตัวนี้ ค่อยๆ ฝึก

พอเรามีสติแล้ว จิตเราตั้งมั่น มีสติถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิด อย่างจิตเราฟุ้งซ่าน จิตเราหนีไปคิด เรามีสติรู้ทัน จิตคิดดับ จิตรู้ก็เกิด เรามีจิตโกรธเกิดขึ้น สติรู้ทัน จิตโกรธดับ จิตรู้คือจิตที่ไม่โกรธก็เกิด เพราะฉะนั้นจิตมันจะเกิดอย่างนี้สลับๆ ไป สุดท้ายมันก็แจ่มแจ้งขึ้นมา จิตไม่ใช่เรา กาย เวทนา จิตอะไรอย่างนี้ ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเรา ปัญญามันเกิด ฉะนั้นสติปัฏฐานนี่เบื้องต้น ฝึกไปเรื่อยๆ ทำให้สติไวขึ้น พอมีสติแล้วจิตตั้งมั่นด้วย มันก็จะเกิดปัญญา สติระลึกรู้กาย จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ ก็จะเห็นว่ากายไม่ใช่เรา สติระลึกรู้เวทนา จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ ก็จะเห็นเวทนาไม่ใช่เรา สติระลึกรู้กุศล อกุศลจิตตั้งมั่นอยู่ ก็จะเห็นกุศล อกุศลไม่ใช่เรา สุดท้ายมันจะเห็น ขันธ์ทั้งหลายไม่เป็นเราหรอก ปัญญามันเกิด

ตรงที่มันเห็นไตรลักษณ์ ตรงนั้นล่ะเรียกว่าการเจริญวิปัสสนา ก็เกิดปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนา เรียกว่า วิปัสสนาปัญญา วิปัสสนาปัญญาพอแก่กล้าขึ้น มันจะพัฒนาขึ้นไป สู่เป็นโลกุตตรปัญญา เป็นปัญญาในอริยมรรค มันจะค่อยๆ พัฒนา อาศัยการเจริญสติปัฏฐานนี่ล่ะ เบื้องต้นทำให้เกิดสติ เบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา แล้วสูงสุดก็จะทำให้เกิดวิมุตติ เกิดมรรค เกิดผล เกิดความปล่อยวาง หลุดพ้น

 

จิตตั้งมั่น

ฉะนั้นพวกเราต้องฝึก การที่จะเจริญสติปัฏฐานได้ อย่าลืม สมาธิขาดไม่ได้ ถ้าเราไม่มีสมาธิที่ถูกต้องแล้วเราไปเจริญสติปัฏฐาน จิตถลำลงไปเพ่งอารมณ์แน่นอน อย่างเราจะเจริญสติปัฏฐานด้วยการรู้รูปที่เคลื่อนไหวอย่างนี้ อย่างรู้ท้องพอง ท้องยุบ ไม่ใช่เขาผิด ดูผิดเอง มันถึงผิด ถ้าดูถูก มันไม่ผิดหรอก อย่างเราเห็นท้องพอง เห็นท้องยุบ จิตไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง มันจะไหลลงไปอยู่ที่ท้อง แล้วไม่รู้ว่าจิตไหล เพราะฉะนั้นจิตไม่ได้เป็นผู้รู้ผู้ดู จิตไม่ตั้งมั่น ที่ผิดมันผิดตรงนี้ ผิดตรงที่ไม่มีสมาธิ มีแต่สติลงไปจ้องลงไป สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิไม่มี แต่ถ้าอย่างเราเห็นท้องพอง ท้องยุบ สติระลึกรู้ ท้องพองก็รู้ ท้องยุบก็รู้ จิตตั้งมั่นมีสมาธิ มีสัมมาสมาธิตั้งมั่น มันจะเห็นเลยท้องที่พองที่ยุบนี่ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นี่ปัญญามันเกิด ฉะนั้นปัญญามันเกิดจากสัมมาสมาธิ คือสภาวะที่มีความตั้งมั่น เกิดขึ้นที่จิต

จิตที่ตั้งมั่นคือจิตที่มีสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิไม่ได้แปลว่า จิตตั้งมั่น สัมมาสมาธิแปลว่าความตั้งมั่นของจิต จิตที่มีสัมมาสมาธิ มันถึงจะเจริญปัญญาได้ มันตั้งมั่นเป็นคนดู สติระลึกรู้รูป ระลึกรู้กาย รู้เวทนา รู้กิเลสอะไรก็ตาม หรือรู้กุศลก็ตาม จิตมันเป็นคนดูอยู่ มันจะเห็นเลย ทุกอย่างนั้นไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นสภาวะ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไปทั้งสิ้น แล้วกระทั่งตัวจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ดูนี่เอง ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็ เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้ถลำลงไปเพ่ง

เพราะฉะนั้นกรรมฐานไม่ว่าสายไหนๆ ถ้ามีรูปมีนามแล้ว ก็ทำให้ถูกแล้วใช้ได้ ตรงที่ทำผิดคือสมาธิมันไม่มีหรือสมาธิมันไม่ถูกก็แค่นั้น ไม่ใช่ว่าหลวงพ่อติเตียนว่าสายนี้ถูกสายนี้ผิด ดูท้องพองยุบอย่างนี้ แล้วถ้าจิตมันจมลงไปอยู่ที่ท้อง มันก็ไปไหนไม่รอด มันเป็นสมถะ จิตมันลงไปแนบอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง หรือขยับมือสายหลวงพ่อเทียน ขยับมือๆ แล้วจิตมันไหลไปอยู่ในมือ กลายเป็นการเพ่งมือ เพ่งมือก็ได้สมถะ จิตมีอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง คือสมถะ แต่ถ้าขยับมือ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ มันจะเห็นเลย มือที่ขยับมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา จิตมันตั้งมั่นอยู่เป็นคนรู้สึก ฉะนั้นตัวที่ทำให้ เดินปัญญาได้จริงคือสภาวะที่จิตมันตั้งมั่น

อภิธรรมถึงสอนว่า สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ทำไมไม่พูดถึงสติ ถ้ามีสติอาจจะเกิดสมถะไม่เกิดปัญญาก็ได้ แต่ถ้ามีสัมมาสมาธิ สติระลึกรู้อะไร อันนั้นจะแสดงไตรลักษณ์อัตโนมัติเลย มันพลาดกันตรงนี้เอง บางคนก็คิดว่าอยู่ที่กระบวนท่า ต้องขยับอย่างนี้ 14 จังหวะ ทำผิดอย่างนี้ถือว่าผิดอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ๆ เรื่องกระบวนท่านี่ไม่ได้มีความสำคัญอะไรหนักหนาหรอก มันเป็นอุบายของการปฏิบัติ

หลวงพ่อเจอหลวงพ่อคำเขียน หลวงพ่อคำเขียนนี่เป็นพระที่คุยกันแล้วม่วนที่สุดเลย คุยกันรู้เรื่อง หลวงพ่อเจอท่าน ทีแรกท่านไม่สบาย อยู่โรงพยาบาลจุฬาฯ หลวงพ่อก็ไปเยี่ยมท่าน พอเจอหน้าหลวงพ่อปุ๊บ ท่านบอกว่า “ไปได้แล้วๆ” ไม่ใช่บอกให้ หลวงพ่อไปได้แล้วนะ พอเจอหน้าหลวงพ่อท่านบอก “ไปได้แล้วๆ” ท่านบอกพระศาสนาไปได้แล้ว แล้วตัวท่านไปได้แล้ว มีผู้สอนการเจริญสติแล้ว ท่านบอกอย่างนี้

 

จุดที่แตกหักในการที่จะเจริญปัญญา มันอยู่ตรงที่สมาธิมันถูกไหม สัมมาสมาธิถึงเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา

 

ท่านเห็นหน้าหลวงพ่อปุ๊บท่านก็บอกแล้ว แล้วท่านก็เล่า บอกว่า 14 จังหวะอะไรนี่มันมาทีหลัง มันเป็นอุบาย ยุคที่ท่านเรียนกับหลวงพ่อเทียนยุคแรกๆ ไม่มีหรอก 14 จังหวะ สิ่งที่หลวงพ่อเทียนสอนคือสติต่างหาก จะเคลื่อนไหวอะไรนี่ก็รู้สึกไป คนอินทรีย์อ่อนลง หลวงพ่อเทียนท่านก็ไปคิดจังหวะขึ้นมา มันทำตัวนี้อย่างน้อยมันได้สมถะ แต่ถ้าจิตมันตั้งมั่นแล้วมีสติระลึกรู้ ก็ได้ปัญญา เพราะฉะนั้นกรรมฐานอะไรก็ได้ เหมือนกันหมด ถ้ามีรูปธรรม มีนามธรรม ก็เดินวิปัสสนาได้ทั้งนั้น ขอให้มีจิตที่ตั้งมั่น แล้วก็มีสติระลึกรู้ ไม่สติไปเพ่ง ถ้าสติเพ่ง ไม่ตั้งมั่นแล้ว จิตมันจะเคลื่อนลงไปจมอยู่ในสิ่งที่เพ่ง จุดที่แตกหักในการที่จะเจริญปัญญา มันอยู่ตรงที่สมาธิมันถูกไหม สัมมาสมาธิถึงเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา

สัมมาสมาธิเป็นองค์ธรรมที่อาภัพมากเลย ไม่มีใครเรียน การเรียนให้เกิดสัมมาสมาธิบทเรียนมันคือจิตตสิกขา ไตรสิกขาที่ พระพุทธเจ้าสอนมีศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ศีลสิกขาเรียนแล้วเราจะมีศีล จิตตสิกขาเรียนแล้วจะได้สมาธิที่ถูกต้อง ปัญญาสิกขาเมื่อมีสมาธิที่ถูกต้องแล้ว ก็ไปเรียนรู้ความจริงของรูปของนาม จิตตั้งมั่นขึ้นมาเป็นคนรู้คนดูแล้ว สติระลึกรู้รูปก็เห็นความจริงของรูป เห็นความจริงของจิตที่เป็นคนดูรูป สติระลึกรู้เวทนาก็เห็นความจริงของเวทนา เห็นความจริงของจิตที่เป็นผู้ไปรู้เวทนา เวลาเห็นมันเห็นอย่างนี้ มันเห็นแจ้งทะลุไปหมด

 

สรุปก็คือพวกเราต้องไปฝึกสติปัฏฐานให้เยอะๆ มีสติที่ว่องไว แล้วก็สังเกตไปเรื่อย ถ้าเรามีสติรู้สภาวธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงจริงๆ สัมมาสมาธิจะเกิดอัตโนมัติ อย่างครูบาอาจารย์ชอบสอน จิตหนีไปคิดให้รู้ๆ ตรงที่จิตหนีไปคิดนี่คือจิตที่มีอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ทันทีที่รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านจะดับ จิตตั้งมั่นจะเกิด จิตตั้งมั่นเกิดคือจิตที่มีสมาธิมันเกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้นจิตผู้รู้ มันเกิดขึ้นอัตโนมัติ ในความเป็นจริงไม่เฉพาะการเห็นจิตคิดหรอก ถ้าเห็นสภาวธรรมใดๆ ถูกต้องตามความเป็นจริงจริงๆ ล่ะก็ จิตรู้มันก็เกิดทั้งนั้น

อย่างเราโกรธขึ้นมา เรารู้ว่าโกรธปุ๊บ ความโกรธดับ จิตรู้จะเกิดอัตโนมัติ นี่ตัวรู้มันจะเกิด อันนี้ตัวรู้จะเกิดเป็นขณะๆ สมาธิที่เกิดนี่เป็นขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น มีสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ชนิดที่จิตจมแช่ เป็นมิจฉาไป หรือเป็นสมถะไป ชนิดจิตตั้งมั่นมีได้ตั้งแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มีได้ทั้ง 3 ระดับ แต่ส่วนใหญ่ถ้าเรารู้ จิตเคลื่อนแล้วรู้ จิตทำอย่างโน้นอย่างนี้ จิตเกิดอันโน้นอันนี้แล้วรู้ จะได้ขณิกสมาธิ

ขณิกสมาธิเป็นสมาธิสำคัญ พระอรหันต์ส่วนใหญ่ตั้งแต่ครั้ง พุทธกาลท่านเจริญวิปัสสนาโดยใช้ขณิกสมาธินี่ล่ะ ท่านไม่ใช่ผู้ทรงฌาน ไม่ได้ชำนิชำนาญในฌาน มีอภิญญาอะไร อย่าไปวาดภาพผิดปกติอย่างนั้น พระอรหันต์ส่วนมาก 64 เปอร์เซ็นต์ในสมัยพุทธกาล เป็นสุกขวิปัสสกะ ไม่ได้มีอภิญญา ไม่ได้มีฤทธิ์มีเดช ไม่ได้ชำนิชำนาญในฌานอะไรหรอก คนอย่างพวกเรานี้ล่ะ 64 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่หลวงพ่อพูดเองอันนี้ พระพุทธเจ้าท่านพูดไว้ พระอรหันต์ 500 องค์นี่ท่านบอก 60 องค์ได้วิชชา 3 60 องค์ได้อภิญญา 6 60 องค์เป็นอุภโตภาควิมุตติ แล้วที่เหลือก็เป็นพระสุกขวิปัสสกะ 64 เปอร์เซ็นต์

ฉะนั้นอย่าดูถูกขณิกสมาธิ หัดเจริญสติแล้วรู้ทันไปเรื่อย โดยเฉพาะรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป จิตที่เคลื่อนปุ๊บรู้ปั๊บ จิตจะตั้งมั่น เร็วที่สุดเลย รู้อันนี้พอจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว สติระลึกรู้ตรงที่ไหน ที่นั่นจะแสดงไตรลักษณ์ ไปลองดูที่หลวงพ่อบอกนี่จริงหรือไม่จริง หลวงพ่อพูดแบบมั่นใจ พูดแบบมั่นใจไม่ลังเลสงสัย แต่หลวงพ่อ ไม่ได้สามารถบอกพวกเราให้เชื่อได้ แล้วพวกเราไม่ควรจะเชื่อด้วย ถ้าเชื่อก็โง่แล้วล่ะ เราจะเชื่อได้ต่อเมื่อเราเห็นด้วยตัวเองแล้ว

เพราะฉะนั้นเราไปเจริญสติปัฏฐานไว้ เบื้องต้นมีสติ เบื้องปลายมีปัญญา สุดท้ายมีวิมุตติ ดูสิว่าจะจริงหรือไม่จริง.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
20 มิถุนายน 2564