จิตประภัสสร

การปฏิบัติคือการฝึกอบรมจิตใจของเรา อันหนึ่งก็ฝึกให้จิตสงบ ให้จิตตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว วิธีฝึกอันนี้เรียกว่าการทำสมถกรรมฐาน อีกอันหนึ่งคือฝึกให้จิตมีปัญญา ฉลาด รู้เท่าทันความเป็นจริงของความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม อันนี้เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐานนั้นฝึกจนจิตของเราตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ผ่องใส ประภัสสร ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน เรียนรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ขันธ์ 5 กายใจ จนปล่อยวางได้ด้วยปัญญา แล้วเข้าถึงความบริสุทธิ์

ฉะนั้นสมถกรรมฐาน สิ่งที่เราจะได้มาก็คือจิตที่ประภัสสร สว่าง ผ่องใส วิปัสสนากรรมฐาน สิ่งที่เราจะได้มาคือความบริสุทธิ์ ระหว่างประภัสสร ความผ่องใสกับความบริสุทธิ์ คนละอันกัน คนละระดับกัน เหมือนอย่างน้ำใสๆ อาจจะไม่บริสุทธิ์ แต่น้ำบริสุทธิ์ก็ใส นี้เราเบื้องต้นเราจะต้องมาฝึก ให้ได้จิตที่ประภัสสรเสียก่อน พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า โดยธรรมชาติธรรมดานั้น จิตมันประภัสสรอยู่แล้ว แต่มันเศร้าหมองมืดมัว เพราะกิเลสที่ผ่านเข้ามาเป็นคราวๆ กิเลสจะมาหรือกิเลสจะไม่มา เราสั่งไม่ได้ อาศัยกำลังของสติข่ม ทำสมาธิเพื่อข่มกิเลส

คนส่วนใหญ่ทำสมาธิไม่ถูกหลัก พอนั่งสมาธิก็พยายามบังคับจิต แทนที่จะข่มกิเลสก็ไปข่มจิตเสียแทน ไปบังคับจิตให้นิ่งๆ ให้อย่างโน้น ให้อย่างนี้ ทันทีที่เราเข้าไปแทรกแซงจิต ไปบังคับ ไปควบคุมจิต จิตประภัสสรก็ดับไปแล้ว ไม่ต้องทำอะไรมาก ตัวจิตนั้นมันประภัสสรอยู่แล้ว เราต่างหากไปหาเรื่องให้มันวุ่นวายขึ้นมา ด้วยกำลังของความอยาก อย่างอยากปฏิบัติ แค่อยากปฏิบัติ จิตประภัสสรก็หายไปแล้ว เพราะโลภะมันเกิด กิเลสมันจรมาแล้ว ฉะนั้นทำอย่างไร เราจะเข้าใจจิตประภัสสร แล้วก็ให้มันทรงตัวอยู่ได้ ไม่ได้อยู่ตามธรรมชาติแวบเดียว พอกิเลสใหม่มาก็กระเพื่อมต่อไป

 

ทำกรรมฐานเพื่อเป็นเครื่องสังเกตจิต ไม่ใช่เพื่อบังคับจิต

การที่เราจะให้จิตทรงตัวประภัสสร ผ่องใสอยู่อย่างนั้น ก็ต้องฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เมื่อเช้ามีพี่เขยหลวงพ่อมาเยี่ยม ให้นั่งสมาธิให้ดู บอกนั่งสมาธิทุกวัน ทำมานานแล้ว พอเริ่มนั่งก็เริ่มบังคับจิต น้อมจิตให้นิ่ง การที่เราเข้าไปแทรกแซงจิต อะไรอยู่เบื้องหลังการแทรกแซง โลภะอยู่เบื้องหลัง อยากดี อยากปฏิบัติ อยากดี พอโลภะเกิดจิตไม่ประภัสสรแล้ว เพราะกิเลสจรมา เพราะฉะนั้นเราจะฝึกให้จิตเราประภัสสร ผ่องใส ตั้งมั่นอยู่ อย่าไปบังคับจิต อย่าไปแทรกแซงจิต อย่าไปใช้งานจิต

ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็มีสติคอยรู้ทันจิตตนเองไป อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่ได้ไปบังคับจิตให้นิ่ง ไม่บังคับจิตให้สงบ ตรงที่เราบังคับนั้น เรายิ่งห่างไกลจิตประภัสสรออกไปทุกที ฉะนั้นเราอย่าไปแทรกแซง อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรือทำกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เหมือนกันหมด แล้วเรามีสติคอยรู้ทัน จิตเราหลงไปคิด ลืมอารมณ์กรรมฐาน เรารู้ทัน ความหลงก็จะดับ จิตก็ไม่ถูกโมหะลากเอาไปอยู่ในโลกของความคิด กิเลสมาไม่ได้แล้ว เพราะเรามีสติอยู่ กิเลสจรมาไม่ได้ จิตประภัสสรเองไม่ต้องทำให้มันประภัสสร เพราะธรรมชาติของมันประภัสสรอยู่แล้ว มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่ผ่านเข้ามาเป็นคราวๆ

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องสังเกตจิต ไม่ใช่เพื่อบังคับจิต เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรือเราจะดูพองยุบ จะเคลื่อนไหว จะอะไรก็ได้ กรรมฐานอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตไว้ จิตหลงไปคิด มันจะลืมอารมณ์กรรมฐานอันนั้น เช่น เราท่องพุทโธๆๆ อยู่ พอจิตหลงไปคิดมันก็ลืมพุทโธ มันก็ไปคิดเรื่องอื่นแทนพุทโธ หรือเราหายใจอยู่ เวลาจิตมันหลงไปคิด เราก็ลืม ร่างกายกำลังหายใจออก เราไม่รู้ ร่างกายหายใจเข้า เราไม่รู้ เพราะเราลืมมัน จิตมันหลงไปคิด

หรือบางทีจิตก็หลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน อย่างเราหายใจไปอย่างนี้ จิตก็ถลำลงไปจมอยู่กับลมหายใจ ทำไมจิตลงไปแช่อยู่กับลมหายใจแล้ว เพราะจิตฟุ้งซ่าน แล้วก็จิตลงไปแช่นานๆ ก็เซื่องซึมไป เพราะกิเลสนั่นล่ะ ฟุ้งซ่านก็อุทธัจจะ เซื่องซึมก็กุกกุจจะ กิเลสมา ฉะนั้นเราไม่มีทางที่จะเจอจิตประภัสสรหรอก กิเลสมันแพ้อะไร กิเลสมันแพ้สติ เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยสังเกตจิตตนเองไว้ อย่าตั้งใจสังเกตมาก ตั้งใจสังเกตมากก็คือโลภะอีกแล้ว รู้สึกไปตามธรรมดาๆ บอกแล้วว่าธรรมดาที่สุด ดีที่สุด ธรรมดาๆ

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานไป จิตเราลืมกรรมฐาน หลงไปอยู่ในโลกของความคิด ให้รู้ทัน อันนั้นจิตฟุ้งซ่าน จิตไปเพ่งไปจ้องแล้วก็เครียดขึ้นมา อันนั้นจิตมีโทสะ ลักษณะของจิตที่มีโทสะ ดูไม่ยากหรอก ถ้าเมื่อไรจิตไม่แช่มชื่น จิตไม่มีความสุข จิตเคร่งเครียด อันนั้นจิตมีโทสะ ไม่สบาย เวลาจิตใจมีความทุกข์ขึ้นมา อันนั้นจิตขณะนั้นมีโทสะแน่นอน ฉะนั้นอย่างเราทำกรรมฐานแล้วเราไปเพ่ง แล้วเราก็เครียดขึ้นมา ตรงนั้นเบื้องต้นมี โลภะ อยากปฏิบัติ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี พอไปบังคับจิตไม่สำเร็จ จิตก็เกิดโทสะ ราคะนั้นไม่ได้รับการตอบสนอง ราคะก็ดับไป จิตก็พลิกไปเป็นโทสะ

เวลาจิตหลงไปเป็นโมหะ ก็ไม่มีจิตประภัสสร เพราะกิเลสจรมาแล้วคือโมหะ เวลาเราอยากให้มันสงบ นี่ราคะจรมาแล้ว จิตก็ไม่ประภัสสร เวลาเราภาวนาแล้วเราเคร่งเครียดนั้น โทสะจรมาแล้ว จิตเราก็ไม่ประภัสสร ของที่มันดีอยู่แล้ว เราก็ไปทำให้มันเสีย ด้วยความเข้าใจผิดของเรา พยายามจะเข้าไปบังคับจิต พยายามจะเข้าไปแทรกแซงจิต เราทำกรรมฐาน เมื่อกี้พูดแล้ว เพื่อเป็นเครื่องสังเกตจิต ไม่ใช่เพื่อบังคับจิต ถ้าบังคับจิตนี่กิเลสมาทันที

เอาเป็นเครื่องสังเกตจิต เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิดเรารู้ทัน จิตที่หลงไปคิดคือจิตฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ห้ามไม่ได้ จิตจะไหลไปคิดห้ามไม่ได้ แต่ทันทีที่สติเกิด สติรู้ทันว่าจิตฟุ้งซ่านไหลไปคิด อกุศลจะดับทันที ความฟุ้งซ่านจะดับ จิตก็จะตั้งมั่น เด่นดวง ประภัสสรขึ้นมา หรือเรานั่งสมาธิ เราอยากสงบ จิตมันก็ฟุ้งซ่านไปด้วยอำนาจของความอยาก ก็นั่งคิดว่า เอ๊ะ ทำอย่างไรจิตจะสงบ ทำอย่างไรจิตจะสงบ พยายามทำอย่างโน้น พยายามทำอย่างนี้ นี่ก็กิเลส มีโลภะเกิดขึ้น อยากให้จิตดี เรามีสติรู้ทัน กิเลสมันแพ้สติ พอเรารู้ทันว่าจิตมันโลภ มันอยากสุข อยากสงบ อยากดี โลภะก็ดับ จิตก็ประภัสสรเพราะไม่มีกิเลสจรมา

ถ้านั่งสมาธิแล้วเคร่งเครียด อันนั้นมีโทสะ เรามีสติรู้ว่าจิตมีโทสะจรมาแล้ว ไม่ต้องไปหาทางแก้ เวลาจิตอึดอัดแล้วอยากให้หาย อันนั้นคือโทสะที่ซ้อนโทสะเข้าไปอีก เรียกว่าโทสะซ้ำซาก ฉะนั้นเวลาเรานั่งสมาธิแล้วมันอึดอัด ให้รู้ว่าอึดอัด ใจเราไม่ชอบรู้ว่าไม่ชอบ มันไม่เป็นกลาง รู้มัน รู้มันอย่างเป็นกลาง ไม่ต้องดิ้นรนแก้ไขหรอก จิตอึดอัดรู้ว่าอึดอัด อยากให้หายรู้ว่าอยาก รู้เข้าไป มีสภาวะอะไรสดๆ ร้อนๆ รู้เข้าไป ในที่สุดความอึดอัดนั้นก็หายไป โทสะดับไป จิตก็ประภัสสร เราอยากให้จิตประภัสสร ต้องระวังให้ดี เราไปทำในสิ่งซึ่งตรงข้ามหรือเปล่า

จิตมันประภัสสรผ่องใสได้ เพราะไม่มีราคะ โทสะ โมหะ จรเข้ามา แต่เราปฏิบัติธรรมทีไร ราคะ โทสะ โมหะ มาเยอะแยะเลย แล้วยังคิดว่าดีอยู่อีก อันนั้นเข้าใจผิดแล้ว ทำอย่างไรก็ไม่ได้ดีหรอก ไม่สงบหรอก เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานไป เป็นเครื่องสังเกตจิตตัวเอง ไม่ได้ต้องการให้จิตดี ไม่ได้ต้องการให้จิตสุข ไม่ได้ต้องการให้จิตสงบ แต่สังเกตจิตไปสบายๆ รู้ไปสบายๆ เช่น พุทโธไป หายใจไป พองยุบไป อะไรก็ได้ เดินจงกรมไป จิตหนีไปรู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน พอรู้ทันกิเลสก็ดับ สติเป็นตัวรู้ทัน สติเกิดกิเลสก็ดับ พอกิเลสไม่มา จิตก็ประภัสสรของจิตเอง ไม่มีใครสั่งจิตให้ประภัสสร ธรรมชาติเดิมของมันประภัสสรอย่างนั้นเอง เป็นธรรมชาติ เหมือนไฟเป็นธรรมชาติที่ร้อน เหมือนดินเป็นธรรมชาติที่แข็ง มันเป็นธรรมชาติของมัน

 

จิตผู้รู้ประภัสสร ผ่องใสแต่ไม่บริสุทธิ์

ฉะนั้นเราทำกรรมฐาน แล้วก็สังเกตจิตใจของเราไปสบายๆ จิตหลงไปคิด รู้ จิตถลำไปเพ่ง รู้ ไม่ได้ทำกรรมฐานด้วยราคะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ เมื่อไรไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เมื่อนั้นจิตก็ประภัสสร สว่าง ผ่องใส สบาย มีความสุข จิตที่ประภัสสรมันจะมีเวทนา คือความรู้สึกได้ 2 อย่าง คือมีความสุขเรียกว่าโสมนัสเวทนา กับอุเบกขาเวทนา ไม่สุข ไม่ทุกข์ เฉยๆ ตัวจิตที่ประภัสสรนี้ เรียกภาษาที่ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านเรียก คือจิตผู้รู้ อย่างหลวงตามหาบัวท่านบอก ตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะคือจิตประภัสสร แต่เมื่อกี้หลวงพ่อบอกแล้ว จิตที่ประภัสสรผ่องใสเฉยๆ แต่ไม่บริสุทธิ์ คนละเรื่องกัน

ฉะนั้นจิตผู้รู้นี้ผ่องใสแต่ไม่บริสุทธิ์ ต้องมาฝึกวิปัสสนากรรมฐานต่อไป เพื่อชำระล้างจิตผู้รู้ตัวนี้ หรือจิตประภัสสรตัวนี้ ชำระล้างจนมันเข้าถึงความบริสุทธิ์ “บุคคลเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” ปัญญาก็คือการที่เราเห็นจิตใจของเรานี้ มันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตที่เป็นจิตประภัสสรนั้น เดี๋ยวก็เศร้าหมอง เวลากิเลสมาก็หมองไป จะห้ามกิเลสไม่ให้มา ก็ห้ามไม่ได้ กิเลสก็เป็นอนัตตา จิตก็เป็นอนัตตา เราก็จะเห็นว่าจิตเดี๋ยวก็ผ่องใส เดี๋ยวก็เศร้าหมอง เดี๋ยวก็ผ่องใส เดี๋ยวก็เศร้าหมอง เฝ้ารู้เฝ้าดูอย่างนี้ ต่อไปปัญญามันก็เกิด จิตประภัสสร หรือจิตที่ผ่องใส หรือจิตผู้รู้นั้น สั่งให้เกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วรักษาไว้ก็ไม่ได้ จะห้ามกิเลสไม่ให้จรมาก็ไม่ได้ กิเลสมาแล้วจะไล่มันก็ไม่ไป แต่พอมีสติรู้ทันเท่านั้นเอง กิเลสดับทันทีเลย จิตก็ประภัสสรทันทีเลย

เพราะฉะนั้นทำกรรมฐาน จนกระทั่งเราได้จิตที่ประภัสสร หรือจิตผู้รู้นั่นเอง ที่ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนท่านเรียกจิตผู้รู้ พอเราได้จิตที่เป็นผู้รู้แล้ว จิตมันจะสว่าง มันจะรู้สึกสว่าง ผ่องใส บางทีมันก็มีกิเลสชั้นละเอียดจรเข้ามา กิเลสหยาบๆ ราคะ โทสะอะไรไม่มาแล้ว มีจิตผู้รู้อยู่ ทรงสมาธิอยู่ พอสติไม่ทัน กิเลสละเอียดก็เข้ามา อย่างบางทีนั่งสมาธิอยู่ ก็เห็นภาพหลวงพ่อไปปรากฏต่อหน้าต่อตา แล้วก็บอกให้ทำอย่างนั้น บอกให้ทำอย่างนี้ อันนี้จิตมีสมาธิ แต่มันยังไม่สะอาด มันไม่บริสุทธิ์ กิเลสยังแทรกอยู่ เพราะฉะนั้นบางทีเกิดรู้เกิดเห็นอะไรขึ้นมา อย่าเชื่อ ถือหลักไว้เลย ไม่เชื่อไว้ก่อน ถ้าใช้หลักเชื่อไว้ก่อน เวลาทำสมาธิแล้วรู้โน้นรู้นี้แล้วเชื่อ ก็ไปไม่รอดหรอก เพี้ยนได้ง่ายๆ เลย

ฉะนั้นเราทำสมาธิ จิตเราสว่าง ผ่องใส แล้วทรงตัวอยู่ ถ้ามันเกิดนิมิตนานาชนิดขึ้นมา ก็แค่รู้แค่เห็น อย่าไปยินดีอย่าไปยินร้ายกับมัน บางคนจิตหลอนเยอะๆ เลย เห็นหลวงพ่อไปบอกอย่างโน้น บอกอย่างนี้ ไปสอนกรรมฐานอย่างโน้นอย่างนี้ บางคนก็หลวงพ่อไปหา แล้วนัดให้มาพบที่วัด แล้วก็มาตามนัด หลวงพ่อไม่อยู่วัด เพราะหลวงพ่อไม่ได้นัดด้วย อันนั้นจิตหลอน ทำสมาธิแล้วก็สติไม่ทัน ก็โดนกิเลสหลอกเอา มันหลอก เป็นความฟุ้งซ่านละเอียดๆ ไม่ใช่ฟุ้งซ่านหยาบๆ ก็เกิดนิมิตนานาชนิดขึ้นมา

บางทีนั่งๆ ไป จิตสงบพอสมควร แต่มันไม่ละเอียดลึกซึ้งแนบแน่น ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ จิตก็เกิดนิมิต ระลึกชาติได้ สังเกตดูพวกนิมิตระลึกชาติ ล้วนแต่คนใหญ่คนโตทั้งนั้นเลย ทำไมไม่ระลึกว่าสมัยพระนเรศวร เราเกิดเป็นหมาขี้เรื้อนอะไรอย่างนี้ ไม่เห็นมีใครระลึกอย่างนี้เลย ล้วนแต่เกิดมาเป็นคนใหญ่คนโตทั้งนั้นเลย อันนั้นเพราะอะไร เพราะมันสนองกิเลส ฉะนั้นเวลานั่งสมาธิแล้วมันรู้มันเห็นอะไรขึ้นมา จับแขวนไว้เลย ไม่เชื่อ แขวนไว้ก่อน ตราบใดที่จิตยังมีกิเลสอยู่ นิมิตทั้งหลายอย่าไปเชื่อมัน มันพร้อมจะหลอกเรา แล้วเราก็พร้อมจะให้มันหลอก เต็มใจให้มันหลอก โดยเฉพาะถ้ามันหลอกเราแบบเท่ๆ ก็จะเชื่อทันทีเลย

มีบางคนอยู่ๆ ก็เอารถมาจะถวายหลวงพ่อ บอกหลวงพ่อส่งจิตไปบอกให้เอารถมาถวาย หลวงพ่อบอก เออ หลวงพ่อรับ แต่เอาคืนไปเลย รับให้เพื่อให้ได้บุญ แต่ว่าหลวงพ่อไม่เอาหรอก เพราะหลวงพ่อไม่เคยไปขอรถยนต์ใคร อย่าว่าแต่รถยนต์เลย เงินบาทหนึ่งยังไม่เคยขอใครเลย ไม่ใช่หน้าที่ พระขอได้เฉพาะคนที่ปวารณากับญาติ 2 อย่างเท่านั้น คนอื่นๆ ขอไม่ได้ ฉะนั้นอย่างเจอหน้าสาธุชนทั้งหลาย แล้วก็ขอโน่นขอนี่ อาบัติ ฉะนั้นพระอาบัติ เราก็อย่าไปสนับสนุนมาก พระขี้ขออะไรอย่างนี้ อาบัติ

เรามาพยายามฝึก ทุกวันทำอย่างที่หลวงพ่อบอก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไป ในที่สุดจิตมันจะประภัสสรขึ้นมาเอง เพราะไม่มีกิเลสจรมา ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ แล้วถึงจุดนี้ถ้าเกิดรู้เกิดเห็นอะไร มีนิมิตอะไรขึ้นมาก็อย่าไปเชื่อ นิมิตทั้งหลายเป็นของถูกรู้ถูกดูทั้งนั้น บางทีนิมิตว่าพระพุทธเจ้ามาหา พระพุทธเจ้ามาเทศน์ให้ฟังอย่างนั้น เทศน์ให้ฟังอย่างนี้ อันนั้นนิมิต นิมิตมันมี 2 อย่าง นิมิตที่จริงกับนิมิตที่ปลอม หลวงพ่อเคยเจอครูบาอาจารย์องค์หนึ่งชื่อหลวงพ่อกิม หลวงพ่อกิมเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ ชื่อกิมไม่ใช่ภาษาจีน ไม่ใช่แปลว่าทอง ท่านเป็นคนสุรินทร์ เป็นภาษาสุรินทร์ ไม่จัดว่าเป็นภาษาเขมรด้วย เป็นภาษาสุรินทร์

 

สังเกตของจริงไป อย่าหลงนิมิต
จริงหรือไม่จริง ยังพิสูจน์ไม่ได้ วางไว้ก่อน

หลวงพ่อกิมท่านบอกว่า ท่านนั่งสมาธิแล้ว ตอนที่มันแตกหักจากกิเลส ท่านก็เห็นพระพุทธเจ้าลอยมา แล้วพระพุทธเจ้าก็มาเทศน์ให้ฟัง หลวงพ่อก็หูกระดิกเลย ตอนนั้นยังเป็นโยม อุ๊ย ถามท่านว่าพระพุทธเจ้าเทศน์อะไร ท่านบอกนานๆ ท่านพูดคำหนึ่ง แต่คำเดียวของท่าน กระแสของธรรมะไหลเข้ามาสู่จิตใจนี้มหาศาลเลย ระบบบีบอัดข้อมูลส่งมาปุ๊บเดียวเท่านั้น แล้วก็กระจายข้อมูลออกมา กระจายธรรมะออกมาได้มากมาย องค์นี้เลยท่านแตกฉานเยอะแยะเลย ความรู้ท่าน บอกว่าเห็นนิมิตพระพุทธเจ้าอยู่ 7 วัน แสดงธรรมให้ท่านฟัง นานๆ พูดสักคำหนึ่ง แต่กระแสของธรรมะไหลเข้ามาสู่จิตมากมาย

อันนี้มันเกิดจากอะไร อันนี้หลวงพ่อพุธท่านอธิบายดี บางทีจิตของเราภาวนา มันสมควรแก่ธรรมะอันนี้ขึ้นมา อย่างสมมติเรา จิตเราเข้าถึงธรรมะระดับที่ 1 สมมติ หรือระดับที่ 2 ระดับที่ 3 ระดับที่ 4 พอจิตเราเข้าถึงธรรมะอันนั้นออกมา ตัวธรรมะจริงๆ ไม่มีคำพูด แต่จิตก็สร้างนิมิตเป็นพระพุทธเจ้าบ้าง เป็นครูบาอาจารย์บ้าง ออกมาเพื่อแปลธรรมะออกมาเป็นคำพูด เพื่ออะไร เพื่อการสื่อสาร ฉะนั้นธรรมะจริงๆ ไม่มีคำพูด คำพูดนี้เป็นสมมติบัญญัติ เป็นเพื่อการสื่อสารเท่านั้นเอง

ฉะนั้นพอจิตมันเข้าใจธรรมะอันนั้นแล้ว แต่มันไม่มีคำพูด มันก็ถ่ายทอดออกมา การถ่ายทอดธรรมะของจิตนั้น บางครั้งก็จะสร้างนิมิตเป็นผู้ถ่ายทอด สร้างภาพพระพุทธเจ้ามาถ่ายทอด สร้างภาพครูบาอาจารย์มาถ่ายทอดธรรมะให้ ที่จริงคือจิตของเรานั่นล่ะสร้างขึ้นมา พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ไม่มีรูป ไม่มีนาม ทำไมเกิดรูปเกิดนามได้ อันนั้นคือนิมิต นิมิตอันนั้นดีไหม ดี จิตที่สะอาดเข้าถึงธรรมเป็นระดับๆ ไป สมควรแก่ธรรมะระดับไหน ก็เกิดนิมิตมาแสดงธรรมระดับนั้นให้ฟัง คืออันนี้ก็ฟังได้เป็นภาษาคนแล้ว ถ้าจะเอาไว้พูดต่อก็พูดง่ายแล้ว ถ้าหากจิตไม่แสดงขึ้นมา จิตมันเข้าใจธรรมะ แต่ไม่มีภาษาพูด มันถ่ายทอดยาก

ครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง จิตท่านบริสุทธิ์หมดจด แต่จิตของท่านอยู่กับสุญญตา ไม่ถ่ายทอดอะไรเลย เงียบ ท่านใช้คำว่า “ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง” เพราะฉะนั้นจะให้ท่านเทศน์ให้คนฟัง ท่านเทศน์ไม่ออก ไม่รู้จะพูดภาษามนุษย์อย่างไร องค์นั้นก็คือหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ ภูมิจิตภูมิธรรมของท่านมหาศาล ความรู้ของท่านมหาศาลจริงๆ แตกฉานมาก แต่การถ่ายทอดจะให้เป็นคำพูด ท่านถ่ายทอดลำบาก ท่านเลย พอดีอุปัชฌาย์หลวงพ่อเป็นหลานหลวงปู่ เจ้าคุณโพธิ์ฯ เอาหนังสือคำสอนของฮวงโปไปให้ท่านอ่าน พอท่านอ่านหนังสือของฮวงโป โอ๊ย มันตรงกับที่ท่านภาวนา ตรงกับที่ท่านรู้ท่านเห็น ท่านก็เลยยืมศัพท์บัญญัติของฮวงโปมา เวลาท่านจะสอนธรรมะ ท่านก็จะอาศัยศัพท์บัญญัติของฮวงโปมาสอน ไม่ได้ลอกเลียน แค่อาศัยถ้อยคำ ส่วนธรรมะนั้นก็เข้าใจด้วยตนเอง

บางคนนั่งสมาธิอย่างไรจิตก็ไม่สงบ นึกถึงพระพุทธเจ้า แต่นึกยากเพราะเราไม่เคยเห็น บางทีนึกถึงครูบาอาจารย์ ก็จะเกิดนิมิต จิตมันเชื่อมต่อกับครูบาอาจารย์ พอเราระลึกถึง จิตก็เชื่อมต่อกับครูบาอาจารย์ จิตเป็นสมาธิขึ้นอัตโนมัติเลย ไม่ต้องเสียเวลานั่ง เป็นวิธีซิกแซ็กเล็กน้อย ง่ายๆ อย่างหลวงพ่อตั้งแต่เป็นโยม บางทีเจอหลวงปู่ดูลย์แล้ว เรียนธรรมะกับท่าน นึกถึงท่านทุกวันเลย นึกถึงท่านทั้งวัน มีเวลาเมื่อไรก็นึกถึง ทุกครั้งที่นึกถึงจิตก็จะตื่นตัว ทรงสมาธิขึ้นอัตโนมัติเลย ไม่ต้องนั่งเข้าฌานอะไรเลย จิตมันทรงตัวขึ้นอัตโนมัติเลย หรือบางคนเข้าใกล้หลวงพ่อ จิตมันก็ทรงสมาธิขึ้นอัตโนมัติ จิตมันตื่นตัวขึ้นมา นี่เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์ เป็นเรื่องธรรมดาๆ

เพราะฉะนั้นเราพยายามมาฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง ทำกรรมฐานเพื่อเป็นเครื่องสังเกตจิต เพื่อเป็นเครื่องรู้ทันจิต หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิด รู้ทัน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตถลำไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน เรียนรู้ทันจิตไป ทันทีที่รู้ทันจิต จิตก็ไม่ไหลไปด้วยกำลังของโมหะ ถ้าจิตไม่มีโมหะ ราคะก็เกิดไม่ได้ โทสะก็เกิดไม่ได้ โมหะเป็นตัวพ่อตัวแม่ เป็นปู่ย่าตายายของกิเลส ถ้าโมหะก็เหมือนตัวปู่ตัวย่า ราคะก็เหมือนตัวพ่อตัวแม่ โทสะเหมือนตัวลูก มันไล่กันมา ฉะนั้นตัวที่ร้ายกาจที่สุด คือปรมาจารย์ของกิเลส ตัวโมหะ ตัวนี้สู้ยากที่สุด มันไร้ร่องรอย เนียน อย่างจิตที่ประภัสสรนั้น มีโมหะ มีโมหะชั้นละเอียดแทรกอยู่ โมหะชั้นละเอียดคืออวิชชา ที่จริงจิตที่ประภัสสรนั้น ยังมีอาสวกิเลส 4 อย่างย้อมอยู่ แทรกซึมอยู่ โดยเจ้าของไม่เห็น ไม่ใช่ตัวใดตัวหนึ่ง ไม่เฉพาะอวิชชาหรอก

ฉะนั้นตัวจิตประภัสสรหรือตัวจิตผู้รู้นั้น มีอาสวกิเลส 4 ตัวย้อมอยู่ ผลักดัน ตัวที่หนึ่ง กามาสวะ มันเป็นความคุ้นเคย ความติดอกติดใจที่จะเพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทั้งหลาย อย่างพวกเราเห็นไหม ระหว่างที่ๆ สวยที่งาม กับที่ๆ สกปรก เราก็อยากไปที่สวยที่งาม ที่ๆ สวยงามกับที่ๆ ไม่สวยไม่งาม ไม่เท่าเทียมกัน เราชอบอันหนึ่ง เกลียดอันหนึ่งอยู่ เมื่อมีการชอบอันหนึ่ง มีการเกลียดอันหนึ่ง จิตก็เกิดความดิ้นรน ชอบอันไหนก็อยากได้มา เรียกว่ากามตัณหา ได้มาแล้วก็อยากรักษาไว้ เรียกว่าภวตัณหา ไปเจอของที่ไม่ชอบก็เกิดปฏิกิริยาผลักดัน เรียกว่าวิภวตัณหา มันเกิดกระบวนการของมันอย่างนี้เอง

ฉะนั้นเราภาวนา ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ สังเกตของจริงไป อย่าหลงนิมิต ความรู้ความเห็นใดๆ ที่เกิดจากสมาธิ รู้แล้ววาง จริงหรือไม่จริง ยังพิสูจน์ไม่ได้ วางไว้ก่อน อย่าเชื่อ เชื่อง่ายก็งมงาย แต่มันมีธรรมชาติพิลึกอยู่อันหนึ่ง คนทั้งหลายที่บอกเชื่ออันโน้น เชื่ออันนี้ คนนี้เขาบอกแล้วเราเชื่อ คนนี้เขาบอกแล้วเราไม่เชื่อ เพราะอะไร เพราะเราอยากเชื่ออันนี้อยู่แล้ว เราก็จะเชื่อ อันนี้เราไม่อยากจะเชื่อ เขาบอกเราก็ไม่เชื่อ ฉะนั้นตัวที่ทำให้เชื่อไม่เชื่อ กิเลสเราอีกล่ะ มันน้อมใจเชื่ออยู่แล้ว หรือมันปฏิเสธไว้ก่อนแล้ว ไม่เชื่อไว้ก่อน ให้คอยรู้ทัน

 

จิตของเราสร้างภพอยู่ตลอดเวลา
จิตที่พ้นจากภพ คือจิตพระอรหันต์

สิ่งที่ย้อมใจตัวที่หนึ่งคือกาม เพราะฉะนั้นเราจะติดใจในกาม ห้ามไม่ได้หรอก ระหว่างของอร่อยกับของไม่อร่อย ไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างรูปที่สวยกับรูปที่ไม่สวย ไม่เท่าเทียมกัน พอไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้น ตัณหามันก็เกิดแล้ว ก็อยากได้ที่ดี อยากปฏิเสธสิ่งที่ไม่ดี จิตใจก็เกิดความดิ้นรน แล้วจิตใจก็เกิดความทุกข์ สิ่งที่ย้อมจิตตัวที่สองคือภพ ภพนี้ ถ้าเราภาวนาเข้าใจธรรมะเบื้องต้นแล้ว ถึงจะเห็นง่าย จิตของเราสร้างภพอยู่ตลอดเวลา จิตที่พ้นจากภพ มันคือจิตพระอรหันต์ หรือเป็นโลกุตตรจิต ขณะที่ได้โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ขณะนั้นจิตพ้นจากภพ เข้าถึงโลกุตตรธรรม

ถ้าจิตยังไม่ถึงโลกุตตระ จิตก็ยังอยู่ในภพอยู่ สังเกตดูจิตมันจะสร้างภพขึ้นมาตลอดเวลา อย่างเราเจอคนที่เกลียด จิตมันก็วางฟอร์มแบบหนึ่ง เราเจอคนที่รัก เจอสาวงามเราอยากจีบ เห็นไหม มันก็สร้างภพอีกแบบหนึ่ง แหม ทำหน้าให้หล่อ เก๊กหน้าให้หล่อ ทำเสียงให้หล่อ มันสร้างภพขึ้นมาอีกแล้ว เวลาเราเจอศัตรู มันก็สร้างภพของความเคียดแค้น สังเกตให้ดี จิตมันสร้างอยู่ตลอดเวลา แต่ตัวนี้พูดยาก ต้องเห็นเอง ถ้าได้ธรรมะมาแล้วจะเข้าใจง่าย ถ้ายังไม่เคยได้ธรรมะมันก็ยากนิดหนึ่ง ตรงที่จิตมันสร้างภพนี้ สิ่งที่จะทำลายได้คืออรหัตตมรรค อรหัตตมรรคนี้ที่ทำลายภพได้เด็ดขาด ส่วนโสดาบัน สกทาคามี อนาคามีนั้น ทำลายภพได้ชั่วคราว เดี๋ยวจิตก็สร้างภพขึ้นมาใหม่

เพราะฉะนั้นจิตมันจะสร้างภพตลอดเวลา จิตมันสร้างภพมันเป็นอย่างไร มันทำงาน มันคือจิตที่ทำงานนั่นล่ะ สังเกตไหม จิตหลงไปคิดก็สร้างภพ ภพหลง โกรธขึ้นมา จิตมันก็ปรุงความโกรธ ความโกรธมันก็เป็นแค่สิ่งที่จิตปรุงขึ้นมา เสร็จแล้วมันก็กลับมาปรุงแต่งจิต ตรงที่จิตเราไปทำงานขึ้นมานั่นล่ะ จิตสร้างภพ ตรงที่จิตมันทำงานคือจิตสร้างภพ แล้วภพนั้นก็มีทั้งภพดีและภพชั่ว โลภ โกรธ หลง เกิดในภพ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เกิดในภพ ฉะนั้นเราไม่ปฏิเสธภพ แต่จิตตอนนี้กำลังสร้างภพของสัตว์นรกอยู่ กำลังเร่าร้อนโมโหโทโสอยู่ รู้ทัน ภพอันนั้นจะดับ จิตอันนี้กำลังโลภอยู่ กำลังเป็นภพเปรต มีสติรู้ทัน ความเป็นเปรตก็ตายไป โลภะก็ดับ จิตมันเวียนมันสร้างภพไปเรื่อยๆ

ในตำราพูดถึงภพ 31 อัน ก็มีในกามาวจรมี 5 มีมนุษย์ เปรต อสุรกาย สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานต่ำสุด เพราะมีโมหะ สัตว์นรกมีโทสะ นี้ 5 อันนี้เรียกว่าพวกที่เราคุ้นเคย มีพวกชั้นต่ำลงมามี 5 สูงกว่าเราขึ้นไปก็มีพวกเทวดา 6 ชั้น 6 ภพ พวกพรหม พรหมมีรูปมี 16 ชนิด พรหมไม่มีรูปอีก 4 ชนิด ก็เป็น 20 พวกพรหมมี 20 ชนิด เป็นรูปพรหม 16 ชนิด เป็นอรูปพรหม 4 ชนิด รูปพรหมนี้ก็เป็นพรหมที่ได้ฌาน 1 2 3 1 2 3 นี้ มีประเภทชำนิชำนาญกับพวกไม่ค่อยชำนาญ มีดีกรี 3 อันแต่ละฌาน ฌานที่ 1 ก็มีพรหมได้ 3 จำพวก พวกอ่อนแอ พวกปานกลาง พวกเข้มแข็ง ฌานที่ 2 ก็เหมือนกัน ฌานที่ 3 ก็เหมือนกัน

ฌานที่ 4 มี 2 พวก พวกที่ได้ฌาน 4 กับพวกพรหมลูกฟัก พรหมลูกฟักมันดับจิตลงไปเลย เหลือแต่ร่างกายทื่อๆ อยู่ แล้วอีก 5 อันคือพรหมสุทธาวาส สุทธาวาสนี้เป็นพวกที่ได้ฌานที่ 4 แต่ว่ามีอินทรีย์แก่กล้า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แก่กล้า เป็นพระอนาคามี แล้วก็ชำนาญในฌานที่ 4 มีอินทรีย์ที่แก่กล้า ก็จะไปเป็นพรหมสุทธาวาส ถ้าเป็นอนาคามีที่ไม่ชำนาญในฌาน ทำไม่ถึงฌาน 4 หรืออาจจะได้ฌานต่ำสุด ฌาน 1 แล้วเป็นพรหมชั้นล่างสุดก็ได้ ทั้งๆ ที่เป็นอนาคามี นี่ภพภูมิอยู่ในพรหม 20 พวกเทพ 20 เป็นภพ เป็น 26 อบายภูมิอีก 4 มนุษย์ 1 รวมแล้วเท่าไรไปนับเอาเอง 32

จิตของเรานี่ล่ะสร้างภพอยู่ทั้งวัน ภพแบบที่เล่านั้นเป็นภพใหญ่ แต่เราสร้างภพย่อยๆ ตลอดเวลา เดี๋ยวเราก็เป็นเปรต อย่างเวลาเราโลภทีไร เราเป็นเปรต ในขณะนั้นเราสร้างภพเปรต บางทีเราก็สร้างภพขี้ขลาด ภพอสุรกาย ภพกลัว บางทีเราก็สร้างภพโลภ ก็ภพเปรต บางทีก็สร้างภพหลง นี่สัตว์เดรัจฉาน บางทีก็สร้างภพโกรธ ใจเร่าร้อนเศร้าหมอง สัตว์นรก บางทีก็มีศีลมีธรรมขึ้นมา ก็เป็นมนุษย์ จิตของเราเวียนอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ในจิตใจของเราแต่ละขณะๆ จิตคุ้นเคยที่จะสร้างภพ คือคุ้นเคยที่จะทำงาน จิตจะหยุดการสร้างภพตอนเป็นพระอรหันต์ ได้อรหัตตมรรคแล้ว ก็จะไม่สร้างภพต่อไปแล้ว ไม่มีที่ให้เกิดต่อไปแล้ว เพราะจิตจะไม่หยั่งลงไปที่ใดอีกแล้ว

ตัวกาม ตัวภพ ตัวทิฏฐิ ตัวทิฏฐินี้ก็ชอบย้อมจิตเรา มีเจ้าความคิดเจ้าความเห็น มีแต่ความเห็นผิดอย่างโน้น ความเห็นผิดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ บางทีเห็นถูกแล้วก็ยึดอย่างรุนแรงอีก ยึดอย่างรุนแรงก็เพราะเห็นไม่จริง ถ้าเห็นจริงจะไม่ยึด เพราะฉะนั้นถ้าเรายึดในความคิดความเห็น ต้องรู้ว่ายังไม่จริงหรอก ถ้ารู้แจ้งแทงตลอดจริง ไม่ยึดหรอก ฉะนั้นจิตเราจะยึดในความคิดความเห็น อันแรกยึดในกาม หรือเรายึดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อีกอันหนึ่งยึดในภพ อันหนึ่งก็ยึดในความคิดความเห็น

แล้วอาสวะอันที่สี่คืออวิชชาสวะ มันไม่รู้อริยสัจ มันไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ มันไม่รู้แจ้งอันนี้ มันก็เลยเกิดสมุทัย ไม่รู้ทุกข์ ว่ารูปนามทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ถ้าเหตุดับมันก็ดับ ไม่รู้ทุกข์ก็เลยเกิดสมุทัย ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็ละสมุทัยอัตโนมัติ ทันทีที่ละสมุทัยก็คือแจ้งนิโรธ คือแจ้งนิพพานอัตโนมัติ ในขณะนั้นอริยมรรคก็เกิดขึ้นอัตโนมัติ ตัวนี้ที่หลวงตาท่านบอกว่า “จิตผู้รู้ หรือจิตประภัสสร เป็นจิตอวิชชา” คือมันมีอาสวะอยู่ อาศัยอาสวะ อวิชชาสวะตัวเดียว อาสวะอื่นมันก็เกิดตามมาได้ ฉะนั้นท่านเลยเพ่งเล็งมาที่ตัวอวิชชา “อวิชชา” คือความไม่รู้อริยสัจ 4 ไม่รู้ความจริงของรูปธรรมนามธรรม ก็เลยเข้าไปยึดถือ

ถ้าเราเห็นความจริงของรูปธรรม เห็นความจริงของนามธรรม กายใจนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันก็ไม่ยึดถือ พอไม่ยึดถือรูปนาม จิตก็พ้นจากโลก สิ่งที่เรียกว่า “โลก” ก็คือรูปนามนั่นล่ะ ไม่ใช่อย่างอื่นหรอก บางทีท่านก็บอกว่า สิ่งที่เรียกว่า “โลก” คือหมู่สัตว์ อันนั้นสำหรับพูด สำหรับคนที่ยังมีสัตว์ มีบุคคลตัวตนเราเขาอยู่ โลกก็คือหมู่สัตว์ ในขั้นปรมัตถ์จริงๆ “สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา โดยสรุป อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 นั่นล่ะคือตัวทุกข์” สิ่งที่เรียกว่า “โลก” ก็คือตัวขันธ์ 5 โลกนี้คือขันธ์ 5 พอเราเข้าใจขันธ์ 5 มันก็วางขันธ์ 5 วางขันธ์ 5 คือวางโลก จิตก็เข้าสู่โลกุตตระ เหนือโลก

 

 

เส้นทางที่เราจะต้องเดินกันต่อไป ฉะนั้นอันแรกฝึกให้จิตประภัสสร ให้จิตตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ด้วยการทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งเป็นเครื่องสังเกตจิต สังเกตได้ทันว่าจิตหนีไป รู้ทัน จิตถลำไปเพ่ง รู้ทัน อย่าบังคับให้จิตนิ่ง อันนั้นทำด้วยกิเลส แล้วพอจิตเราตั้งมั่นก็เจริญปัญญา เรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจไป ร่างกายเป็นของถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา สุขทุกข์เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา ดีชั่วเป็นของถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา จิตเองเดี๋ยวก็เป็นจิตประภัสสร เดี๋ยวก็เป็นจิตคิด เดี๋ยวก็เป็นจิตเพ่ง เดี๋ยวก็เป็นจิตหลงไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวก็เป็นจิตที่หลงอยู่ในภพอย่างโน้นอย่างนี้ รู้ทันอย่างนี้จะเห็นจิตเองก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ฉะนั้นเราก็จะเห็นทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งจิต ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งหมดเลย นั่นคือการเจริญปัญญา การทำวิปัสสนากรรมฐาน พอเห็นแล้วรู้ตามความเป็นจริง ก็เบื่อหน่ายคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น หลุดพ้นจากความยึดถือในรูปนาม ก็คือหลุดจากโลกนั่นเอง เมื่อหลุดจากโลกก็เรียกว่าอยู่เหนือโลก คำว่า “โลกุตตระ” แปลว่า “เหนือโลก” พ้นจากโลกแล้ว โลกมากระทบกระเทือนไม่ถึง ไม่ถึงจิตใจดวงนี้แล้ว แต่อาสวะจะคอยดึงเราไว้ สังโยชน์จะดึงเราไว้ในโลก อาสวะจะหลอกให้เราสร้างภพสร้างชาติไปเรื่อยๆ สังโยชน์ก็ดึงให้เราติดอยู่ในภพในชาติ ไปไหนไม่รอด ภาวนาก็ถูกนิวรณ์ขวาง ขี้เกียจขี้คร้านอะไรอย่างนี้ นิวรณ์เป็นตัวขวางคุณงามความดี ลึกลงไปคืออนุสัย กิเลสที่ซ่อนอยู่ในสันดาน ไม่แสดงตัว แต่มันจะแสดงขึ้นมาเป็นนิวรณ์ เป็นอาสวะ เป็นสังโยชน์อะไรขึ้นมา ตัวอนุสัยมองไม่เห็นหรอก แต่ว่าอริยมรรคจะเป็นตัวทำลายมัน

เอ้า วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ พอสมควร ว่าจะเทศน์ง่ายๆ ทีไร มันยากทุกที ใครว่ายากยกมือให้หลวงพ่อดูหน่อย ซื่อตรงหน่อย ยกมือเลย ใครว่ายากยกมือๆ ใครว่าง่าย ยกมือ พวกที่เหลือเป็นมัชฌิมา ยากๆ ก็ฟังไว้ก่อน ธรรมะบางอย่าง หลวงปู่ดูลย์ท่านพูดให้หลวงพ่อฟัง หลวงพ่อใช้เวลาย่อยอยู่ 20 ปี ธรรมะบางอย่างใช้เวลา 21 – 22 ปีในการย่อยธรรมะ ฉะนั้นพวกเราไปทำ ทำกรรมฐาน ถือศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ ไปทำกรรมฐานแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ ตัวนี้เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เราก้าวกระโดด พอเราได้จิตของเรา เราจะก้าวกระโดดในการปฏิบัติ ทำสมถะก็ไม่ยากหรอก ทำวิปัสสนาก็ทำได้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
22 เมษายน 2566