หลักสูตรการฝึกสติ

การปฏิบัติคือการเรียนรู้ตัวเอง เราอยากเรียนรู้ตัวเอง เราก็ต้องดูว่าจริงๆ เราเป็นอย่างไร สิ่งที่เรียกว่าตัวเราก็มีกายกับใจ แยกละเอียดออกไปก็เป็นขันธ์ 5 ถ้าจะเรียนให้เห็นความจริง เราอยากเห็นความจริงของร่างกาย เราก็อย่าไปแทรกแซง อย่าไปบังคับ อย่างเราเคยเดิน เดินตั้งแต่เด็ก หัดเดิน เวลาจะเดินจงกรมไม่ต้องเปลี่ยนท่าเดินก็ได้ นั่งเราก็นั่งมาได้ตั้งนาน ตั้งแต่เด็กๆ เวลาภาวนาก็ต้องนั่งไม่เหมือนปกติ คนเดินก็ต้องเดิน เดินไม่เหมือนปกติ

อย่างปกติเราก็เดินธรรมดาๆ อย่างนี้ พอจะเดินจงกรม โอ๋ เคร่งเครียด จะยกเท้า จะย่างเท้า จะอย่างโน้นจะอย่างนี้ เรื่องเยอะ นั่งสมาธิ นั่งหายใจ หายใจมาตั้งแต่เกิด ไม่เหนื่อย พอลงมือปฏิบัติมารู้ลมหายใจ เหนื่อยล่ะ เราไม่ได้รู้มันอย่างที่มันเป็นจริงๆ เราไปวาดภาพการปฏิบัติไว้เกินจริง การปฏิบัติธรรมคือการเรียนรู้ตัวเอง ไม่ใช่การฝึกอะไรแปลกๆ สิ่งที่เราต่างกับคนที่ไม่ปฏิบัติมีนิดเดียวเอง คนปฏิบัติเขาหายใจ เราก็หายใจ คนไม่ปฏิบัติกับเราก็หายใจเหมือนกัน เพียงแต่คนทั่วไปที่เขาไม่ได้ปฏิบัติ เขาไม่มีสติ เวลาเดินคนที่ไม่ได้ปฏิบัติกับเราที่ปฏิบัติก็เดินแบบเดียวกัน ความต่างอยู่ที่ว่าเขาไม่ได้มีสติในการเดิน แต่เรามีสติ จะทำอะไรต่ออะไร กินข้าว ก็กินท่าทางเหมือนกันนั่นล่ะ เอาอาหารใส่ปาก เคี้ยว กลืน เหมือนๆ กัน แต่คนไม่ได้ปฏิบัติ ไม่มีสติ ต่างกันตรงนี้เท่านั้นล่ะ

คนทั่วๆ ไปเวลากระทบอารมณ์ อารมณ์ถูกใจมีความสุข เรากระทบอารมณ์ถูกใจ ก็มีความสุขเหมือนกัน ต่างกันตรงที่เขากระทบอารมณ์ เขามีความสุข เขาไม่มีสติ เรากระทบอารมณ์ เรามีความสุข เรามีสติ กระทบอารมณ์ที่ไม่ดี คนทั่วไปเวลากระทบอารมณ์ไม่ดี ก็ไม่มีความสุข มีความทุกข์เกิดขึ้น เรากระทบอารมณ์ไม่ดี ก็มีความทุกข์เกิดขึ้น ความต่างอยู่ที่ว่าเขาไม่มีสติ แต่เรามีสติ คนทั่วไปเขาโกรธ เขาโกรธแล้วเขาไม่มีสติ ของเราโกรธ โกรธได้ไหม โกรธได้ ก็จิตมันจะโกรธ จิตมันเป็นอนัตตา ไม่ได้ฝึกให้มันไม่โกรธ แต่มันโกรธแล้วเรามีสติ เรารู้

ฉะนั้นจุดที่แตกหักระหว่างคนปฏิบัติกับคนไม่ปฏิบัติก็คือ มีสติหรือไม่มีสติ หลวงปู่มั่นท่านถึงสอนตรงเป้ามากเลย บอกว่ามีสติก็มีการปฏิบัติ ขาดสติก็คือขาดการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจับหลักตัวนี้ให้แม่นๆ ฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องพัฒนาขึ้นมาคือสติ ไม่ใช่พัฒนาว่าจะนั่งอย่างไร จะเดินอย่างไร จะกำหนดจิตอย่างไร ไปกำหนดมันทำไม จิตมันเป็นอย่างไร ก็รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตโลภโกรธหลงก็รู้ จิตเป็นกุศลก็รู้ ไม่เห็นต้องไปกำหนดอะไรเลย ต้องกำหนดไหมถึงจะโกรธ กำหนดแล้วไม่โกรธได้ไหม ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง

ฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องฝึกให้มากคือสติ หลักสูตรในการฝึกสติ พระพุทธเจ้าวางไว้แล้ว เรียกว่าสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเป็นวิธีฝึกให้เรามีสติในเบื้องต้น แล้วสติปัฏฐานเมื่อเรามีสติแล้ว เราปฏิบัติต่อไป เราจะเกิดปัญญา ฉะนั้นสติปัฏฐานมี 2 ระดับ เบื้องต้นทำให้เกิดสติ เบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา เมื่อจิตเกิดปัญญารู้ความจริงของกายของใจแจ่มแจ้งแล้ว วิมุตติมันจะเกิด มีกลุ่มสัมมาวิมุตติ

วิมุตติเกิดจากปัญญา ปัญญาเกิดได้ อาศัยสมาธิอาศัยสติสร้างปัญญาขึ้นมา ปัญญาไม่ใช่เรื่องคิดเอา วิมุตติ ทำไมต้องมีสัมมาวิมุตติ เพราะมันมีมิจฉาวิมุตติ มิจฉาวิมุตติเยอะนะ ไม่ใช่ไม่มี อย่างพวกฤาษีนั่งเข้าฌาน เขาว่าเขาวิมุตติหลุดพ้นเหมือนกัน หลุดพ้นจากโลก แต่หมดกำลังของฌานก็วนเวียนลงมาอีก นั่นก็เป็นวิมุตติแบบของเขา หรือชาวพุทธเราเมืองไทยเรา วิมุตติก็วาดภาพเอาไว้พิลึก นิพพานแล้วก็เป็นโลกๆ หนึ่ง พระอรหันต์ไปนั่งเข้าแถวกันอยู่ ถ้ายังมีรูป ยังมีนาม ยังไม่พ้นทุกข์หรอก อันนั้นก็วิมุตติเหมือนกัน แต่ไม่ใช่วิมุตติแท้ๆ ของพุทธหรอก เป็นอุบายสอนให้คนทำดี ให้คนไม่ทำชั่ว

วิมุตติเกิดจากปัญญา ปัญญาเกิดจากเราเจริญสติปัฏฐานได้ดีแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่พวกเราควรจะสนใจให้มากคือสติปัฏฐาน ต้องรู้ ต้องเรียน อันนี้เป็นปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่สำคัญมากเลย เป็นวิธีการปฏิบัติที่ท่านประมวล รวบรวม ย่อลงมา เป็นหลักปฏิบัติที่พวกเราฟังแล้ว พอจะทำได้ ไม่ได้ยากเกินไป

 

วิธีที่จะให้เกิดสติ

ทำอย่างไรจะเกิดสติ ก่อนอื่นต้องรู้ก่อน สติคืออะไร สติไม่ใช่แปลว่าไม่ได้กินเหล้าแล้วก็มีสติ ไม่ใช่ คนไม่กินเหล้าก็ไม่มีสติหรอก ถ้ามีสติก็ไม่ใช่สัมมาสติ เป็นสติพื้นๆ สติธรรมดาของชาวโลก สัมมาสติเป็นสติอีกชนิดหนึ่ง พระพุทธเจ้าอธิบายสัมมาสติ นิยามเอาไว้ด้วยสติปัฏฐาน 4 ถ้าหลุดออกจากสติปัฏฐาน 4 ไม่ใช่สัมมาสติ ฉะนั้นเรื่องสติปัฏฐานนี่เป็นเรื่องใหญ่

วิธีที่จะให้เกิดสติ สติอันแรกเลยต้องรู้ก่อน สติเป็นตัวรู้ รู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกาย มีอะไรเกิดขึ้นในใจ เรียกว่ารู้ทันกาย เวทนา จิต ธรรม คือรู้สติปัฏฐาน 4 นั่นเอง ถึงจะเป็นสัมมาสติได้ สติเกิดจากอะไร สติเกิดจากการที่จิตเห็นสภาวธรรมเนืองๆ เห็นกายเนืองๆ เห็นเวทนาเนืองๆ เห็นจิตเนืองๆ เห็นสภาวธรรม ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งกุศล ทั้งอกุศล เนืองๆ เห็นบ่อยๆ การที่เราเห็นบ่อยๆ จิตมันจำสภาวะได้แม่น พอจิตจำสภาวะได้แม่นแล้ว พอสภาวะอันนั้นเกิด สติจะเกิดเอง สติที่จงใจทำให้เกิดยังไม่ใช่ของจริง สติต้องเกิดอัตโนมัติ สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น

เรามีหน้าที่อะไร มีหน้าที่เห็นสภาวธรรมเนืองๆ ในสติปัฏฐานท่านจะสอนบอกให้เราเห็นกายในกายเนืองๆ เห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ เห็นจิตในจิตเนืองๆ เห็นธรรมในธรรมเนืองๆ เนืองๆ ก็เห็นบ่อยๆ ไม่ใช่เห็นตลอดเวลา เนืองๆ นี่ไม่ใช่ว่าตลอดเวลา ห้ามคลาดสายตา ต้องเพ่งต้องจ้องอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ เนืองๆ คือเห็นบ่อยๆ ไม่ใช่ปีหนึ่งเห็นหนหนึ่ง เดือนหนึ่งเห็นหนหนึ่ง วันหนึ่งเห็นหนหนึ่ง ไม่ใช่ เห็นบ่อยๆ

เห็นอะไร เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม กายในกายเป็นอย่างไร ร่างกายเรานี่ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ ตั้งเยอะตั้งแยะ มีอวัยวะน้อยใหญ่มากมาย ในตำราก็พูดถึงอาการ 32 ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อะไรอย่างนี้ อยู่ในกาย แยกในเชิงของอภิธรรมก็มีธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม แยกตามพระสูตรก็มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แยกอย่างไรก็ได้ ถ้าเราจับสิ่งที่เรียกว่าตัวเรามาถอดออกเป็นชิ้นๆ แยกออกมาเป็นชิ้นๆ ความเป็นตัวตนมันจะหายไป

ฉะนั้นอย่างเราเรียนกายในกาย เราเรียนกายในบางแง่บางมุม ไม่ต้องเรียนกายทั้งหมดหรอก อันนั้นกายวิภาค ให้หมอเขาเรียน เราไม่ต้องเรียน แค่เรียนพวกนั้น หมอปี 1ก็เป็นโรคจิตไปเยอะแล้ว มันหนักนะ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอะไรที่ยุ่งยากขนาดนั้น ท่านสอนให้เรารู้กายบางอย่างเท่าที่เรารู้ได้ อย่างถ้าเราเห็นว่าร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา นี่กายในกายอย่างหนึ่ง คือรู้ลมหายใจ รู้กายหายใจ ไม่ใช่รู้ลมหายใจ ร่างกายหายใจออกรู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก อย่างนี้เรียกว่ากายในกาย คือเรียนรู้กายที่หายใจ ไม่ต้องเรียนอย่างอื่น เรียนรู้กายที่หายใจอย่างเดียวนี่ล่ะ ถ้าเราเห็นกายที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา กายที่หายใจออกไม่ใช่เรา กายทั้งหมดก็ไม่ใช่เราแล้ว เพราะทั้งวันก็มีแต่กายหายใจเข้าหายใจออกนี่ล่ะ

หรือกายในกายอีกอย่างหนึ่งที่ท่านสอน เรื่องอิริยาบถ 4 ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นอิริยาบถหลัก ทั้งวันเราไม่ยืน ก็เดิน ก็นั่ง ก็นอนอย่างนี้ สลับกันไป อย่างขณะนี้อิริยาบถของเราคือนั่ง คนทั่วไปนั่งแล้วไม่รู้ตัวว่านั่งอยู่ ของเราก็ฝึกให้มีสติรู้ว่า ตอนนี้ร่างกายกำลังนั่ง ตอนนี้ร่างกายกำลังยืน ตอนนี้ร่างกายกำลังเดิน ตอนนี้ร่างกายกำลังนอน รู้อย่างนี้ เรียกว่าตามรู้ตามเห็นกายในกายในแง่มุมของอิริยาบถ 4 นี่กายในกายใช่ไหม เราไม่ต้องเรียนกายทั้งตัว ไม่ใช่กายวิภาค เราเรียนกายที่หายใจออกหายใจเข้า เป็นตัวที่พระพุทธเจ้ายกมาให้ ถ้าเราเห็นว่ากายหายใจออกไม่ใช่เรา กายหายใจเข้าไม่ใช่เรา กายทั้งหมดไม่ใช่เรา ถ้าเราเห็นว่ากายที่ยืน ที่เดิน ที่นั่ง ที่นอน แต่ละอย่างไม่ใช่เรา กายทั้งหมดล่ะก็ไม่ใช่เรา จะเกิดความรู้รวบยอดขึ้นมาว่า กายทั้งหมดไม่ใช่เรา เราเรียนกายในบางแง่บางมุม แล้วเราก็จะเข้าใจกายทั้งหมด

หรือเรารู้กายที่เคลื่อนไหว กายที่หยุดนิ่ง บางทีเรารู้สึกจะยืนเดินนั่งนอน มันยืนเดินนั่งนอนไม่มาก นั่งก็นั่งนานๆ นอนก็นอนนานๆ บางทีหลายๆ ชั่วโมง มันหยาบไป ดูให้มันละเอียดขึ้น ก็ดูร่างกายที่เคลื่อนไหว ร่างกายที่หยุดนิ่ง เห็นไหมเราเคลื่อนไหวอยู่แทบตลอดเวลา แล้วก็หยุดนิ่ง นิดเดียวก็เคลื่อนอีกแล้ว ร่างกายเคลื่อนไหว เรามีสติรู้ทันว่า ร่างกายกำลังเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง เรารู้ว่าร่างกายหยุดนิ่ง นี่คือการพัฒนาให้เกิดสติ ฉะนั้นเราก็ต้องมาฝึกทำสติปัฏฐานกายในกาย รู้กายบางอย่าง

เวทนาในเวทนาก็เหมือนกัน เราไม่ต้องรู้เวทนาทุกชนิด เวทนาคือความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ ความรู้สึกสุขบางอย่างเกิดเพราะมีกามคุณอารมณ์มาล่อ บางอย่างไม่ได้อาศัยกามคุณอารมณ์ อย่างความสุขของฌานสมาบัติ เขาเรียกความสุขที่ไม่มีอามิส เราไม่ต้องเรียนละเอียดถึงขนาดนั้นหรอก เราเรียนง่ายๆ ขณะนี้สังเกตดูในร่างกายเรานี้ มันมีจุดที่มีความทุกข์เกิดขึ้น รู้สึกไหม มันจะมีตรงนั้นคัน ตรงนี้ปวด ตรงนี้เมื่อย สังเกตในร่างกายดู ร่างกายมีความทุกข์แทรกเข้ามา เดี๋ยวตรงนั้น เดี๋ยวตรงนี้อะไรอย่างนี้ เราจะเห็น

อย่างร่างกายมันคัน เรารู้ว่ามันคัน แต่เดิมไม่คัน ตอนนี้คัน ร่างกายแสดงความไม่เที่ยงให้ดูแล้วนะ เราก็คัน แล้วทำอย่างไร ก็เกา เกา เกาแล้วหายคัน คนทั่วไปเวลาคันเขาทำอย่างไร เขาก็เกา ของเรานักปฏิบัติ คันแล้วทำอย่างไร คันแล้วนั่งเฉยๆ เหรอ โง่เกินไปแล้ว คันก็เกา แต่เรารู้ ความคันมันเกิดขึ้นมา แทรกเข้ามาในกาย เป็นทุกขเวทนาในกาย เรามีความเคลื่อนไหว เพื่ออะไร เพื่อบำบัดทุกข์ในร่างกาย

ร่างกายนั้นอยู่นิ่งๆ ทุกข์นะ ทุกข์จนตายเลย อย่างคนเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวไม่ได้ นอนนิ่งๆ ไม่นานก็เป็นแผลกดทับติดเชื้อตาย เพราะฉะนั้นร่างกายนี่มันเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่ออะไร เพื่อหนีความทุกข์ ตรงนี้เป็นขั้นปัญญาแล้ว ทีแรกเรารู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย ร่างกายหายใจออกรู้ ร่างกายหายใจเข้ารู้ อันนี้เราจะได้สติ พอร่างกายเคลื่อนไหว เรารู้ เราได้สติ

 

พัฒนาสติปัฏฐานขึ้นสู่ปัญญา

ต่อไปเราจะพัฒนาสติปัฏฐานขึ้นสู่ปัญญา เราจะเห็นเลยร่างกายนี่เรียกว่ามันมีความทุกข์บีบคั้นอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวกระหายน้ำ เดี๋ยวปวดอึ เดี๋ยวปวดฉี่ ดูลงไป เดี๋ยวก็ปวด เดี๋ยวก็เมื่อย เดี๋ยวก็คัน เดี๋ยวก็เจ็บโน้นเจ็บนี้ มีสติอยู่ในกาย แล้วก็จะเห็นกายนี้ไม่ใช่ของดี กายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลาเลย พอเห็นความจริงของกาย ก็เบื่อหน่ายคลายความยึดถือ เข้าโร้ดแม็ปอันนี้ เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น เพราะหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว นี่เส้นทางเห็นไหม

เริ่มจากสติ มีสติรู้กายอย่างที่กายเป็น กายหายใจออก กำลังเป็นอย่างนี้ มันหายใจออกเรารู้ มันหายใจเข้าเรารู้ มันยืนเรารู้ มันเดินเรารู้ มันนั่งมันนอนเรารู้ มันเคลื่อนไหวมันหยุดนิ่งเรารู้ นี่รู้เรื่อยๆๆๆๆ บ่อยๆ ต่อไปไม่ได้เจตนาจะรู้ แล้วมันรู้ได้เอง

หลวงพ่อเคยนะปกติตั้งแต่เริ่มภาวนานี่ ตั้งแต่เจอหลวงปู่ดูลย์มา หลวงพ่อดูจิต หลวงพ่อใช้จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นสติปัฏฐานอีกหมวดหนึ่งเลย ส่วนใหญ่ก็จะเริ่มมาจากกายดูง่ายๆ จิตมันปราณีตละเอียดซับซ้อน ถ้ากำลังของสติของเราไม่ไวพอ มองจิตไม่ออกน่ะ เพราะฉะนั้นหลวงพ่อหรือครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่จะสอนดูกายก่อน มันง่ายๆ จิตมันหนีเที่ยวเก่ง เห็นไหม แวบแล้ว หนีไปแล้ว แต่กายมันหนีไปไหนไม่ได้ ไปไหนมันก็ไปกับเรานี่ล่ะ แต่จิตไม่ไปกับเรานะ หนีไปอเมริกาก็ได้ หนีไปโลกพระอังคารอะไรก็ได้ จิตมันหนีเก่ง

ฉะนั้นถ้าสติเราไม่ไวพอ เดินจิตตานุปัสสนาจะยาก แต่ถ้าสติเราดี เดินจิตตานุปัสสนาไป เป็นทางที่ลัดสั้นเลย เพราะเข้ามาที่จิตเลย กุศลเกิดที่จิต อกุศลเกิดที่จิต มรรคผลเกิดที่จิต ถ้าเราตัดเข้ามาที่จิต สั้นนิดเดียวเลย คล้ายๆ เป็นทางด่วน ขึ้นทางด่วน แต่ถ้าไม่มีกำลังจะขึ้นทางด่วน ไม่มีสตางค์อย่างนี้ ต้องไปทางธรรมดา ติดขัดเป็นระยะๆ ไป ลำบากหน่อย จะดูกายก็จะเหน็ดเหนื่อยหน่อย ต้องอดทน แล้วก็อย่ารังเกียจการดูกาย รู้สึกกาย รู้สึกกายไปเรื่อย กายหายใจออกรู้สึก กายหายใจเข้ารู้สึก

ส่วนหลวงพ่อ สมาธิหลวงพ่อฝึกมาตั้งแต่เด็กแล้ว ทำสมาธิได้ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ จิตรวมได้ตัวผู้รู้ตั้งแต่ 10 ขวบแล้ว เพราะฉะนั้นหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนหลวงพ่อดูจิตไป เห็นความเปลี่ยนแปลงของจิต เคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ นี่อย่างนี้เรียกจิตในจิต จิตในจิต เช่น หลวงพ่อเป็นคนขี้โมโห หลวงพ่อก็ดูจิต เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ จิตมีตั้ง 70 – 80 ชนิด นับละเอียดได้ตั้ง 121 ชนิด เราไม่ต้องเรียนทั้งหมด เราสุ่มตัวอย่างมาเรียน อย่างถ้าเราขี้โมโห เราก็เห็นจิตโกรธกับจิตไม่โกรธคู่เดียว

เมื่อวานซืนมีหนุ่มคนหนึ่งมาเรียน เด็กนี้แต่เดิมคล้ายๆ มีปัญหาเรื่องสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง แล้วก็ภาวนาไม่เป็น อดทนฟังหลวงพ่อ เมื่อวานซืนมาส่งการบ้าน โอ้ ใสปิ๊งมาเลย เขาบอกเขาภาวนาอย่างอื่นไม่เป็น เขาเห็นนิดเดียว จิตรู้กับจิตหลง มีจิตรู้แล้วก็จิตหลง มีจิตรู้แล้วก็จิตหลง เห็นอยู่แค่นี้ บอกเห็นแค่นี้ก็พอ นี่คือจิตในจิตล่ะ จิตรู้ตัวอยู่ก็รู้ จิตไม่รู้ตัวก็รู้ นี่คือจิตในจิต เรียนบางอย่าง เรียนจิตบางอย่าง แล้วจะรู้จิตทั้งหมด เหมือนที่เรียนกายบางอย่าง แล้วจะรู้กายทั้งหมด

อย่างหลวงพ่อไปเห็นหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเทียนท่านขยับมือ แล้วท่านรู้สึกตัว ท่านพูดไปขยับไป อย่างที่หลวงพ่อทำนี่ พูดไปขยับไป ไม่หลง ของเรามองไปดูพวกที่หัดใหม่ๆ ลูกศิษย์ท่านเป็นฆราวาส ตอนนั้นที่เห็นท่านสอนฆราวาส พวกหนึ่งก็นั่งคิด ท่านี้แล้วต่อไปจะท่าไหน คิดแล้ว ท่านี้แล้วต่อไปจะท่านี้ ท่านี้ๆๆๆ พวกหนึ่งนั่งคิด พวกหนึ่งขยับเก่ง ฝึกมาหลายปี คล่อง ขยับสวยเป๊ะๆๆ เลย แต่จิตหนีไปที่อื่น ร่างกายเคลื่อนไหว มันเคลื่อนไหวด้วยไขสันหลัง ไม่ได้มีสติกำกับ อย่างนี้ใช้ไม่ได้ อีกพวกหนึ่งขยับ ใจหนีไปเลย ลืมร่างกายไปเลย อีกพวกหนึ่งขยับ แล้วเพ่งร่างกาย มือเคลื่อนอย่างนี้รู้สึก เอาจริงเอาจัง ทำกรรมฐานเอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตาย มันบังคับตัวเอง ไม่มีทางได้ผลอะไรหรอก เพราะจิตมันเครียด

หลวงพ่อลองไปเห็นหลวงพ่อเทียนท่านขยับ ท่านขยับแล้วมีสติ ใช้ได้ หลวงพ่อดูจิตแล้วมีสติ แล้วทำไมพอเกิดสติแล้ว เป็นสภาวะอันเดียวกัน จะดูมาทางกาย เวทนา จิต ธรรม เหมือนกับเดินมาจาก 4 ทิศทาง แต่พอเข้าใจแล้ว เข้าใจอันเดียวกัน เหมือนประตูเมือง 4 ทิศ เข้าประตูไหนก็ได้ กาย เวทนา จิต ธรรม นี่ล่ะ หลวงพ่อลองเล่นดูบ้าง หลวงพ่อเทียนท่านขยับ เราลองขยับบ้าง เล่นๆ อยู่แป๊บเดียว วันหนึ่งขาดสติ เห็นเพื่อนไม่เจอนานแล้วคนนี้ หลายปีตั้งแต่เรียนมัธยมจบ ไม่เจอกันเลย ดีใจ ขาดสติ ดีใจไม่รู้ว่าดีใจ ขนาดว่าฝึกดูจิตมาเยอะแล้ว ดีใจไม่รู้ว่าดีใจ ก้าวเท้าไป จะไปคุยกับเพื่อน ก้าวเท้า พอเท้าเคลื่อนเท่านั้น สติเกิดเลย ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ฝึกรู้เท้าที่เคลื่อน ฝึกรู้มือที่เคลื่อน แต่พอเท้ามันเคลื่อนมันรู้ด้วย รู้ได้

เพราะฉะนั้นเวลาเราทำกรรมฐานไม่ต้องทำอะไรเยอะหรอก เอาอะไรให้มันจริงจังไปสักอย่างหนึ่ง ทำกรรมฐานจะเห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า เห็นร่างกายยืนเดินนั่งนอน เห็นร่างกายคู้ร่างกายเหยียดอะไรก็แล้วแต่จะดู เอาเป็นตัวหลักไว้สักตัวหนึ่ง ตัวอื่นเป็นตัวรองตัวเสริม แก้เบื่อบางครั้งบางคราว อย่างหลวงพ่อดูจิต ถ้าดูจิตตานุปัสสนาแท้ๆ จะดูจิตที่เป็นกุศลอกุศล จิตโลภ จิตมีราคะ รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้ว่าไม่มีราคะ จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะ รู้ว่าไม่มีโทสะ จิตหลงฟุ้งซ่าน รู้ จิตหดหู่ รู้ อะไรอย่างนี้

แต่หลวงพ่อเวลาดูจิต หลวงพ่อข้ามช็อตไป ไปเห็นเวทนาด้วย แต่ไม่ใช่ดูเวทนาในกาย ไปดูเวทนาที่จิต เออ จิตตอนนี้มีความสุข รู้ว่ามีความสุข นี่เรียกเรามีสติ จิตตอนนี้มีความทุกข์ รู้ว่ามีความทุกข์ จิตตอนนี้กังวล กังวลนะ เป็นจิตตานุปัสสนาแล้ว ตรงที่เห็นจิตสุขจิตทุกข์นี่อยู่ในเวทนานุปัสสนา เวลาภาวนาจริงๆ มันคร่อมได้เหมือนกัน แต่ว่าต้องทำให้เป็น อย่างเราดูจิตดูใจเรา ถ้าง่ายๆ เลย ถ้าจะดูจิต ขณะนี้จิตสุขหรือจิตทุกข์ หรือจิตไม่สุขไม่ทุกข์ มี 3 ช้อยส์เอง มีตัวเลือกให้ 3 ตัว หนึ่งตัวนี้ถูกแน่นอน เพราะเวลาเกิด ถ้าจิตสุขในขณะนั้น จิตไม่ทุกข์ จิตไม่เฉย ในขณะที่จิตทุกข์ จิตไม่สุข จิตไม่เฉย ในขณะที่จิตเฉย จิตไม่สุข จิตไม่ทุกข์ มันมีช้อยส์ 3 ช้อยส์ ก ข ค

มีอันหนึ่งที่ถูก แล้วอันที่ถูกคืออันไหน อันที่กำลังมีกำลังเป็น อย่างขณะนี้เรารู้ได้ไหม จิตเราสุข หรือจิตเราทุกข์ หรือจิตเราเฉยๆ รู้ได้ไหม ยากไหม ไม่เห็นจะยากอะไรเลย รู้สึกไหมบางวันตื่นนอนมามีความสุขสดชื่นสบายใจ บางวันอีกวันตื่นมาใจเครียดเลย ใจมีแต่ความทุกข์ไม่สบายใจ ไม่เห็นจะรู้ยากอะไรเลย ทีแรกอาจจะรู้เป็นวันๆ ต่อมารู้ละเอียดในหนึ่งวัน เช้า สาย บ่าย เย็น ใจเรายังไม่เหมือนกันเลย เช้ามีความสุข สายๆ มีความทุกข์อะไรอย่างนี้ กลางคืนหลับไปแล้ว ใจเฉยๆ แค่ดูเวทนา 3 อย่างนี้ ก็ทำมรรคผลให้แจ้งได้ เหมือนเด็กที่หลวงพ่อบอกนั่นล่ะ ดู 2 อันเอง ดูจิตรู้กับจิตหลง ดู 2 อันเอง แค่นี้ก็จะทำมรรคผลให้แจ้งได้

เพราะฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติ ถนัดกายรู้กาย ถนัดเวทนาก็รู้เวทนา ถนัดรู้จิตก็รู้จิตเอา ส่วนธัมมานุปัสสนานั้นค่อนข้างยาก เราเริ่มต้นเอาของง่ายๆ ก่อน กายเวทนาจิตนี่ของง่ายๆ สุดท้ายมันจะไปลงธัมมานุปัสสนาเอง ธัมมานุปัสสนามันจะรู้ รู้อะไร รู้ธรรมะ ธรรมะมีทั้งกุศลมีทั้งอกุศล ในธัมมานุปัสสนาจะมีตั้งแต่นิวรณ์ นิวรณ์เป็นกิเลสเป็นอกุศล แล้วทางกุศลก็พัฒนา ไม่ใช่กุศลธรรมดา มันอยู่ในโพชฌงค์ 7 กุศลที่มุ่งไปสู่การพ้นทุกข์แล้ว มันสูงกว่ากันขั้นหนึ่ง

แต่ว่าไม่ต้องกังวล รู้กายไป รู้เวทนา รู้จิตของเราไปเท่าที่เรารู้ได้ ทีแรกก็หัดรู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปถ้าเราหัดดูกายบ่อยๆ พอร่างกายขยับ สติเกิด รู้ว่าร่างกายเคลื่อนไหว ถ้าจิตเราตั้งมั่นจริงๆ พอร่างกายเคลื่อนไหวปุ๊บ สติรู้ทันว่าร่างกายเคลื่อนไหว จะเห็นว่าจิตเป็นคนรู้ว่าร่างกายเคลื่อนไหว กายกับจิตนั้นคนละอันกัน นี่คือขั้นของการเจริญปัญญา เราจะเห็นเลยกายไม่ใช่เรา ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตที่ไปรู้กายก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่คือวิปัสสนา วิปัสสนาไม่ใช่เห็นกาย วิปัสสนาไม่ใช่เห็นเวทนา ไม่ใช่เห็นจิต วิปัสสนาเห็นไตรลักษณ์

 

ตรงที่เห็นไตรลักษณ์คือการเจริญปัญญา

ถ้าเห็นไตรลักษณ์ของกายก็เป็นวิปัสสนา เห็นไตรลักษณ์ของเวทนาก็เป็นวิปัสสนา เห็นไตรลักษณ์ของจิตก็เป็นวิปัสสนา เห็นไตรลักษณ์ก็คือเห็นตามความเป็นจริง พอเห็นตามความจริงก็จะเบื่อหน่าย คลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น เวลาเรารู้กาย เราไม่ได้รู้แต่กาย กายเคลื่อนไหวใครเป็นคนรู้กาย จิตเป็นคนรู้กาย เห็นไหมมีจิตเป็นคนรู้ เวลาเรารู้เวทนา เราไม่ได้รู้แต่เวทนา มันมีจิตเป็นคนรู้เวทนา เห็นไหมมันมีจิตแทรกอยู่ในทุกที่เลย เวลาเรารู้จิตที่เป็นกุศลอกุศล กุศลอกุศลไม่ใช่จิต จิตเป็นคนรู้ว่ามีกุศลอกุศล จะมีจิตอยู่ด้วยตลอดเวลา

การปฏิบัติถ้าไม่มีจิต จิตตัวนี้ครูบาอาจารย์เรียกว่าจิตผู้รู้ ถ้าไม่มีจิตที่เป็นผู้รู้ มีแต่จิตผู้หลง ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ไม่สามารถเจริญปัญญาได้จริง ไม่สามารถเห็นกายอย่างที่กายเป็น ไม่สามารถเห็นจิตอย่างที่จิตเป็นได้ เพราะมันหลง ฉะนั้นเราหัดรู้สภาวะไป อย่างร่างกายหายใจออกรู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก ถ้าเรารู้สึกได้จริง จิตเราจะเกิดสัมมาสมาธิขึ้นด้วย สัมมาสติเมื่อเราทำให้มากเจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์

อย่างหลวงพ่อ หลวงพ่อดูจิต มีสติรู้จิตไปเรื่อย จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตดีก็รู้ จิตชั่วก็รู้ เวลาจิตหลงไป เรามีสติรู้ปุ๊บ สัมมาสมาธิเกิดเลย จิตตั้งมั่น เวลาจิตมีความสุข เรามีสติรู้ สัมมาสมาธิก็เกิด จิตก็ตั้งมั่น เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไรสติรู้สภาวธรรมได้ สัมมาสมาธิจะเกิดร่วมด้วยเสมอ ฉะนั้นเมื่อไรมีสัมมาสติ เมื่อนั้นจะมีสัมมาสมาธิขึ้นมาอัตโนมัติเลย ส่วนที่นั่งอะไรอย่างนี้เป็นการฝึกพักผ่อนจิตใจ แต่สมาธิจริงๆ ไม่จำเป็นต้องนั่งหรอก ต้องฝึกให้ได้ในทุกๆ ขณะของจิต ค่อยฝึกไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานเบื้องต้นจะทำให้เรามีสติที่ถูกต้อง สติที่ถูกต้องจะมีของแถมคือสมาธิที่ถูกต้อง จิตเราจะเป็นผู้รู้ ทีนี้พอจิตเราเป็นผู้รู้ได้ สติระลึกรู้กาย ก็จะเห็นความจริงของร่างกาย ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วจิตที่เป็นคนไปรู้กาย ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าสติระลึก จิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่ สติระลึกรู้เวทนา ก็จะเห็นเวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นจิตที่ไปรู้เวทนาว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าเราดูจิตตานุปัสสนา จะเห็นจิตเป็นกุศลจิตเป็นอกุศลเกิด เราจะเห็นเลยกุศลและอกุศลเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตที่เป็นคนรู้ว่ากำลังมีกุศล กำลังมีอกุศลนี่ ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เพราะฉะนั้นเราทิ้งจิตไม่ได้ ถ้าเราจะทำสติปัฏฐานแล้วรู้กายอย่างเดียว จิตหายไปไหนไม่รู้ ฉะนั้นทำอะไรไม่ได้หรอก เข้าใจผิดอย่างร้ายแรงเลย อย่างไรก็ต้องมีจิต ไม่ได้จิตไม่ได้ธรรมะ ได้จิตถึงจะได้ธรรมะ เพราะจิตเป็นผู้รู้ผู้ดู ต้องฝึก ผู้รู้ผู้ดูตัวนี้เกิดจากสติที่ถูกต้อง เกิดจากสัมมาสติ สัมมาสติคือสติที่ระลึกรู้กายระลึกรู้จิตใจของเรา แต่ว่าตัวที่ครูบาอาจารย์ชอบสอนคือจิตหลงคิด ถ้าจะหัดดูจิต หัดสังเกตจิต จิตหลงคิดเกิดบ่อยเกิดทั้งวัน

ฉะนั้นเราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตหลงไปคิดแล้วรู้ จิตหลงไปคิดแล้วรู้ ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วต่อไปพอจิตหลงคิดปุ๊บ สติเกิดเอง แล้วทันทีที่สติเกิดรู้ว่าจิตหลงคิด จิตหลงคิดจะดับ เพราะจิตที่หลงคิดเป็นอกุศล ทันทีที่สติเกิด อกุศลดับเอง ไม่ต้องไปดับมัน ทันทีที่ความฟุ้งซ่านดับ ความตั้งมั่นก็เกิด มันไม่หลง มันก็รู้ล่ะ มันเป็นเหรียญอันเดียวกัน ด้านหัวด้านก้อย ถ้าไม่ออกหัวมันก็ออกก้อย ก็แค่นั่นล่ะ คือถ้าไม่หลงมันก็รู้นั่นล่ะ ไม่ต้องทำรู้ให้เกิดขึ้น แต่ให้มีสติรู้ทันที่มันหลงนั่นล่ะ แล้วรู้มันจะเกิดขึ้น พอเรามีรู้แล้ว คราวนี้สติระลึกรู้กายก็จะเห็นไตรลักษณ์ของกาย เห็นไตรลักษณ์ของจิต สติระลึกรู้เวทนาก็เห็นไตรลักษณ์ของเวทนา เห็นไตรลักษณ์ของจิต สติระลึกรู้กุศลอกุศลก็จะเห็นไตรลักษณ์ของกุศลอกุศล แล้วก็เห็นไตรลักษณ์ของจิตที่ไปรู้กุศลอกุศลด้วย ตรงที่ไปเห็นไตรลักษณ์นี่คือการเจริญปัญญา

ในที่สุดถึงจุดหนึ่ง จิตเกิดความรู้รวบยอดขึ้นมา ว่าสภาวะทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรมล้วนแต่เกิดแล้วดับทั้งสิ้น ร่างกายที่หายใจออกเกิดแล้วดับไหม หายใจออกตลอดกาลได้ไหม ตาย ใช่ไหม ความทุกข์บีบคั้น ก็ต้องหายใจเข้า หายใจเข้าตลอดกาลก็ไม่ได้ ต้องหายใจออกเพราะถูกความทุกข์บีบคั้น นั่งตลอดไปได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะถูกความทุกข์บีบคั้น อย่างเรามีสติรู้อยู่ในกาย เราจะเห็นมีแต่ทุกข์ ไม่มีอะไรหรอก มีแต่แค่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เห็นอย่างนี้แล้วปัญญามันเกิด จะเห็นความจริง ร่างกายเป็นตัวทุกข์ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ถ้าเห็นอนัตตาจะมองในมุมของธาตุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก ธาตุดินไม่ใช่คน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ถ้ามองในมุมของอนัตตา ถ้ามองจากธาตุจะง่าย ถ้ามองร่างกายอย่างที่พวกเรารู้ๆ มองในมุมของทุกข์ ง่าย นั่งก็ทุกข์ นอนก็ทุกข์ นอนใครว่าไม่ทุกข์ไหม ถ้านอนไม่ทุกข์ก็นอนไม่ต้องพลิกตัว ทำไมต้องนอนพลิกไปพลิกมาก็มันทุกข์ มันพลิกเพื่อหนีทุกข์ มันหายใจออกเพื่อหนีทุกข์ของการหายใจเข้า หายใจเข้าเพื่อหนีทุกข์ของการหายใจออก ทำไมต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะนั่งนานๆ มันทุกข์ ก็ต้องลุกขึ้นเดิน ลุกขึ้นยืนอะไรอย่างนี้ ที่มันเปลี่ยนเพื่อมันหนีทุกข์

คนทั่วไปก็เปลี่ยน แต่ไม่มีสติ ไม่อย่างนั้นไม่เห็นหรอกว่าร่างกายเป็นทุกข์ ของเรา เรามีสติอยู่กับกายอย่างนี้ เราเห็นร่างกายมีความทุกข์บีบคั้น พอเห็นแล้วก็เปลี่ยนแปลงอิริยาบถไป ก็แก้ทุกข์เป็นคราวๆ ไป ไม่ต้องนั่งทนๆ ไป แต่บางคนเขาก็ใช้วิธีทนเอา อันนั้นพวกทุกขาปฏิปทา พวกเราถ้าไม่ได้ฌาน ทนไม่ค่อยได้หรอก เดี๋ยวก็สติแตก เอาเท่าที่ทำได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เข้มตลอด ธรรมะแบบที่อะลุ่มอล่วยให้คนที่อินทรีย์อ่อนทำ คนที่ไม่ได้ฌานทำก็มี แล้วก็ได้ผลอันเดียวกัน ได้วิมุตติหลุดพ้นเหมือนกันหมด คล้ายๆ กินอาหาร บางคนกินอาหารไทย บางคนกินอาหารญี่ปุ่น กินอาหารฝรั่ง แล้วลงท้ายเหมือนกันมันอิ่ม

 

 

ฉะนั้นสติปัฏฐานนะทำไปเถอะ ถนัดกายเอากาย ถนัดเวทนาเอาเวทนา ถนัดจิตเอาจิต แต่ว่าต้องมีจิตเป็นคนรู้ สติระลึกรู้กาย มีจิตเป็นคนรู้ จะเห็นกายตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตที่เป็นคนรู้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ นี่ตัวอย่างนะ รู้เวทนาก็จะเห็นเวทนาตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตที่รู้เวทนาก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จะรู้สังขารก็เห็นกุศลอกุศลทั้งหลายตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตที่ไปรู้กุศลอกุศลก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

ความดีเที่ยงไหม ไม่เที่ยง อย่างวิริยะเกิดขึ้น เดี๋ยวก็ขี้เกียจแล้ว ขี้เกียจนี่ถาวรไหม พวกขี้เกียจไม่อยากทำอะไร อยากนอนนิ่งๆ พอหิวข้าวก็ต้องลุกใช่ไหม ปวดอึปวดฉี่ก็ต้องลุกใช่ไหม มันทนอยู่ไม่ได้หรอก กระทั่งความขี้เกียจ โอ้ย หนีเลย ขี้เกียจกะจะนอนตื่นตอนเที่ยง เกิดปวดอึขึ้นมา ก็ต้องลุกแล้ว ความขี้เกียจในขณะนั้นหายไป กลายเป็นความกระวีกระวาดจะรีบไปเข้าห้องน้ำ กระทั่งอกุศลมันก็ไม่เที่ยง

บางคนอกหัก ใครเคยอกหัก ยกมือให้ดูหน่อยสิ มีน้อยจังเลย ทำไมทำบุญมาดีหรืออย่างไร หรืออกหัก หรือว่ารักไม่เป็น อย่างอกหัก โอ๊ย ทุกข์จะเป็นจะตาย ที่วัดมีพระองค์หนึ่ง ท่านอกหักประมาณ 22 ครั้ง ครั้งแรกนะทุกข์ปางตายเลย ครั้งหลังๆ นี่ทุกข์ 3 วัน นี่เห็นไหมความทุกข์ก็ไม่เที่ยง บางอย่างเรารู้สึกทุกข์จะเป็นจะตาย คนที่เรารักพลัดพรากไปอะไรอย่างนี้ ทุกข์ โอ๊ยชีวิตนี้ต้องเศร้าหมองตลอด ไม่จริงหรอก เดี๋ยวก็หาย อย่างบางคนลูกตาย ลูกตายเครียดจัดเลย ร้องห่มร้องไห้ เศร้าเป็นปีเลย อยู่ไปหลายๆ ปี เฉยๆ แล้ว ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง สุขก็ไม่เที่ยง กุศลก็ไม่เที่ยง อกุศลก็ไม่เที่ยง สิ่งที่จริงแท้ก็คือไตรลักษณ์ ส่วนสุขทุกข์ดีชั่วอะไร ยังไม่ใช่ของแท้หรอก เป็นของที่เกิดดับเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

เราฝึกเบื้องต้นทำสติปัฏฐานอันใดอันหนึ่ง มีสติรู้กายในกาย รู้เวทนาในเวทนา รู้จิตในจิตอะไรก็ทำไป แล้วสิ่งที่เราจะได้ เบื้องต้นจะได้สติ พอได้สติที่ถูกต้อง สัมมาสมาธิก็จะเกิดร่วมด้วย พอทำบ่อยๆ สัมมาสมาธิแข็งแรง จิตจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มันจะตั้งมั่นขึ้นมา คราวนี้สติระลึกรู้อะไร ระลึกรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต จะเห็นไตรลักษณ์เลย ไม่ต้องคิดเลย จะเห็นเองเลย

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
บ้านจิตสบาย
18 กุมภาพันธ์ 2567