พระพุทธเจ้าให้รู้ทุกข์

ปัญหาของการปฏิบัติคือความคิดว่าทำอย่างไรจะถูก ทำอย่างไรจะปฏิบัติถูก ทำอย่างไรจะปฏิบัติดี จะปฏิบัติอย่างไรให้บรรลุมรรคผลเร็วๆ ในใจพวกเราส่วนใหญ่เราก็คิดแต่เรื่องพวกนี้ เวลาจะปฏิบัติเราก็คิดทำอย่างไรจะถูก ทำอย่างไรจะดี ได้ผลเร็ว คิดวนเวียนแต่เรื่องพวกนี้ จะนั่งสมาธิดี หรือจะเดินจงกรมดี นั่งสมาธิจะกำหนดจิตไว้ที่ไหน จะปฏิบัติหายใจกระทบลมเข้าไปกระทบกี่จุด คิดแต่เรื่องพวกนี้ หรือจะขยับมือ อย่างสายหลวงพ่อเทียนขยับมือ ระหว่างพุทโธกับขยับมืออันไหนจะดี เดินจงกรมก็สงสัยอีก เดินอย่างไรถึงจะถูก จะกำหนดจิตอย่างไร เดินแต่ละก้าวควรจะกำหนดกี่จังหวะ

แล้วพอภาวนาทำไปอย่างที่เรานึกว่าใช่ ทำไปช่วงหนึ่งก็พบว่าไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้น ไม่มีอะไรดีขึ้นก็หาวิธีต่อไปอีก วิธีนี้ท่าจะไม่ถูก คงมีวิธีอื่นที่ถูกมากกว่านี้อีก อันนี้คล้ายๆ สำนวนไทย “พายเรืออยู่ในอ่าง” อ่างน้ำเราพายเรือมันก็วนอยู่อย่างนั้นล่ะ ซ้ำแล้วซ้ำอีก มัวแต่คิดว่าทำอย่างไรจะดี ทำอย่างไรจะถูก ทำอย่างไรจะได้ผลเร็ว เราลืมหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราทำอะไรส่งเดชอย่างนั้น สิ่งที่ท่านสอนสำหรับพวกเราบอก “ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ” ถ้าเราปฏิบัติแล้วเราลืมกฎข้อนี้ ปฏิบัติอย่างไรก็ไม่ถูกหรอก ให้เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน นั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืน ก็ไม่ถูกหรอก ถ้าเราทิ้งหลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุดเลย “ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ”

 

หลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุดคือ “ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ”

อะไรเรียกว่าทุกข์ กายนี้ใจนี้เรียกว่าทุกข์ เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่รู้กายรู้ใจตัวเอง ถ้าเราปฏิบัติไม่ได้สนใจที่จะรู้กายรู้ใจตัวเอง คิดแต่ว่าจะนั่งสมาธิอย่างไรให้ใจสงบ นั่งอย่างไรจิตจะสว่าง มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการรู้ทุกข์เลย สิ่งที่เรียกว่าทุกข์คือกายกับใจเรานี่ ทุกข์ไม่อยู่ที่กายมันก็อยู่ที่ใจ แล้วท่านก็ไม่ได้สอนให้เราหนีทุกข์ ไม่ได้สอนให้เราละทุกข์ แต่ท่านบอกให้เรารู้ทุกข์ อย่างถ้าเรารู้ทุกข์ รู้ลงที่กายของเรา ร่างกายนี้เกิดมาแล้วมันต้องแก่ มันต้องเจ็บ มันต้องตาย นี่คือความจริงของร่างกาย ถ้าเรารู้ทุกข์ก็คือเรารู้ความจริงแล้ว ร่างกายนี้ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย หนีไม่พ้นหรอก ให้นั่งสมาธิเก่งแค่ไหน ร่างกายก็ยังแก่ ยังเจ็บ ยังตาย จะเดินจงกรมเก่งแค่ไหน ร่างกายก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย จะเข้าฌานเก่ง ก็ยังต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

นึกว่าสิ่งที่พวกเราพยายามปฏิบัติ มันไม่ได้ถูกหลักของการรู้ทุกข์เท่าไร แต่มันจะอยู่ที่หนีทุกข์หรือพยายามละทุกข์ ถ้าเรารู้ทุกข์ อย่างเรารู้กายไปเรื่อยๆ จิตยอมรับความจริงได้ เห็นนานๆ ไป จิตก็ยอมรับความเข้าใจผิด ความโง่ของเรามันทนสติทนปัญญาเราไม่ได้หรอก มันมีสติรู้สึกในร่างกายเรื่อยๆ ไม่ต้องมาคิดหรอก จะนั่งอย่างไร จะหายใจอย่างไร จะเดินอย่างไร รู้ความจริงของมัน ร่างกายเรานี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา นั่งอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ หิวข้าวก็ทุกข์ กระหายน้ำก็ทุกข์ ปวดอึปวดฉี่ก็ทุกข์ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ทุกข์ ความจริงของร่างกายก็คือมันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

ถ้าจิตเรายอมรับตรงนี้ได้ ร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก ร่างกายเป็นก้อนทุกข์ ถ้าจิตเห็นตรงนี้ จิตยอมรับได้ ต่อไปร่างกายจะแก่ จิตก็รู้สึกธรรมดา ร่างกายจะเจ็บ จิตก็รู้สึกว่าธรรมดา ร่างกายจะตาย จิตก็รู้สึกว่านี่เป็นเรื่องธรรมดา ธรรมะไม่ใช่ของประหลาดอะไร ธรรมะน่ะลึกซึ้งแต่ไม่ลึกลับ เป็นเรื่องที่เปิดเผย ร่างกายเรามันทุกข์จริงไหม มันต้องแก่จริงไหม มันต้องเจ็บจริงไหม มันต้องตายจริงไหม มันคือความจริง ธรรมะคือความจริง

ถ้าจิตเรายอมรับความจริงได้ จิตเราจะไม่ทุกข์เพราะร่างกายอีกแล้ว ร่างกายแก่มันเรื่องของร่างกาย ร่างกายเจ็บมันเรื่องของร่างกาย ร่างกายตายมันก็เรื่องของร่างกาย หน้าที่เราก็แค่ดูแลร่างกายไปเต็มที่เท่าที่เราทำได้ แต่เมื่อดูแลเต็มที่แล้วรักษาไว้ไม่ได้ก็ยอมปล่อย อย่างเวลาเราไม่สบาย เราก็ไปหาหมอ พอหมอรักษาเต็มที่แล้ว ไม่รอด จะต้องตายแล้ว จิตใจไม่เศร้าโศก จิตใจยอมรับความจริง ร่างกายมันก็อยู่ได้ชั่วคราว นี่ธรรมะอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่จิตยอมรับความจริงได้แล้วมันไม่ทุกข์

ในจิตใจของเราก็เหมือนกัน จิตใจเรา เราเที่ยวแสวงหาความสุขตลอดเวลา วิ่งหนีความทุกข์ตลอดเวลา ที่เราอยาก บางคนอยากรวย อยากมีรูปร่างหน้าตาดี อยากประสบความสำเร็จอย่างโน้นอย่างนี้ จริงๆ ก็คิดว่าทำแล้วจะมีความสุขนั่นล่ะ คิดว่ารวยแล้วมีความสุข มีครอบครัวดีๆ แล้วจะมีความสุข มีฐานะชื่อเสียงเกียรติยศแล้วจะมีความสุข คนเราก็วิ่งแย่งชิงสิ่งเหล่านี้ แย่งชิงผลประโยชน์ แย่งชิงตำแหน่งหน้าที่ แย่งชิงชื่อเสียง ให้คนยอมรับนับถือ ให้คนยกย่อง แย่งชิงหาความสุขกัน สุดท้ายแล้วจริงๆ ก็คือ แย่งในลาภ ในผลประโยชน์ ในยศ ในคำยกย่องสรรเสริญ

อย่างบางคนลำบากอย่างไรก็ยอม หวังว่าจะได้มีชื่อเสียงอยู่ในประวัติศาสตร์ ตัวตายไปแล้วยังจะให้คนยกย่องต่ออีก นี่ความอยาก สิ่งเหล่านี้มันหลอกให้เราเหนื่อยเกินกว่าความจำเป็น เราอยากมีเงินเยอะๆ ถามว่าแล้วมีเงินหมื่นล้านหยวน ใช้หมดไหม ใช้ไม่หมด มีเงินเยอะๆ เราก็กินข้าวได้วันหนึ่ง ก็กินได้แค่นี้ล่ะ มีเสื้อผ้าห้าพันชุด ก็ใช้ได้ทีละชุด มีบ้านหลายหลัง ก็อยู่ได้หลังเดียว ครั้งละหลัง ความอยากของใจเรานะ อยากโน้นอยากนี้ไปเรื่อยๆ คิดว่าจะมีความสุข ที่แท้มันสร้างภาระให้เรามากมาย มันเหนื่อย เราเหนื่อยเกินความจำเป็นไปเพื่อหาความสุข

ทีนี้ถ้าเราหัดมาภาวนา มาเรียนรู้กายรู้ใจ ดูจิตใจของเรา ความสุขที่เกิดขึ้นในใจเราเป็นของชั่วคราว มีไหมความสุขที่ถาวรในใจ มีอยู่ คือนิพพาน แต่เราไม่เคยเห็น เราเที่ยวแสวงหาอยู่ในโลกนี้ อยากได้ความสุข ดิ้นรนทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ไม่ทำอย่างนั้นไม่ทำอย่างนี้ อยากได้ความสุข แต่ถ้าเราตามรู้จิตใจของตัวเองบ่อยๆ เราจะรู้ว่าความสุขที่เกิดขึ้นในใจเรา มันเป็นแค่ของชั่วคราวเท่านั้น

อย่างเรารักผู้หญิงสักคน เราอยากไปจีบเขา เราคิดว่าถ้าได้เขามาเป็นแฟนแล้วจะมีความสุข ได้มาเป็นแฟนแล้วถ้าได้แต่งงานกับเขา แล้วจะมีความสุข พอแต่งแล้วสักพักเดียวก็เฉยๆ แล้ว ไม่ได้มีความสุขจริง ความสุขก็หายไป แล้วหวังอย่างอื่นต่อไปอีก ถ้ามีลูกจะมีความสุข มีผู้สืบตระกูล คนจีนอยากได้ลูกชาย คิดว่ามีลูกชายแล้วจะมีความสุข พอได้ลูกชายมาก็ดีใจ ถัดจากนั้นสิ่งที่ตามมาคือภาระเยอะแยะไปหมดเลย แล้วลูกเราอาจจะไม่ดีอย่างที่เราหวังก็ได้ เราสั่ง กำหนดไม่ได้ว่า ลูกเราจะต้องเรียนเก่ง ลูกเราจะต้องฉลาด ลูกเราต้องเป็นคนดี ลูกเราต้องดูแลพ่อแม่ สั่งอะไรไม่ได้สักอย่าง เราก็อยู่กับความฝันลมๆ แล้งๆ แสวงหาความสุขไปวันๆ หนึ่ง ฝันถึงความสุข ถ้าเรามีสิ่งนี้ เราได้สิ่งนี้ เราจะมีความสุข ถ้าเราพ้นจากสิ่งนี้ไป เราจะมีความสุข

อย่างบางคนแต่งงานนานๆ ทะเลาะกันทุกวัน เคยมีความสุขอยู่ด้วยกัน ก็ไม่มีแล้ว ก็คิดว่าถ้าหย่ากันได้จะมีความสุข เห็นไหมมันจะมีแต่ว่า ถ้าได้อย่างนี้จะสุข ถ้าได้อย่างนี้จะสุข แล้วมันไม่เคยมีหรอกในโลก เพราะใจของเราเปลี่ยนไปตลอดเวลา ถ้าเรามาเฝ้ารู้อยู่ที่จิตใจเรา จะรู้แล้วความสุขที่คนในโลกหิวโหยเป็นของชั่วคราวเท่านั้น ไม่มีความสุขที่ถาวร

หรือเราเกลียดชังความทุกข์ เวลาเราเจอคนที่เราไม่ชอบ ใจเรามีความทุกข์ มันเกลียด เราสั่งให้หายเกลียดได้ไหม ก็สั่งไม่ได้ เจอคนนี้ทีไรก็เกลียดทุกที โกรธทุกที อารมณ์เสียทุกที มันสั่งไม่ได้ ทีนี้ถ้าเราหัดภาวนาเรื่อยๆ เราก็จะเห็นความโกรธความเกลียดหรือความไม่สบายใจ มันก็เป็นของชั่วคราว เช่นเดียวกับความสุขความสบายนั่นล่ะ ก็เป็นของชั่วคราว ลองนึกดูในชีวิตของเราผ่านความทุกข์มาตั้งเท่าไรแล้ว แต่สังเกตให้ดีความทุกข์ทุกอย่างก็เป็นของชั่วคราว มาได้มันก็ไปได้

ฉะนั้นที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราคอยรู้กายคอยรู้ใจ เพื่อให้เห็นความจริงของกาย ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเราที่แท้จริง สั่งไม่ได้ ถ้าจิตยอมรับความจริงตรงนี้ได้ อะไรจะเกิดขึ้นในร่างกาย จิตก็ไม่ทุกข์ ถ้าเราเรียนรู้จิตใจของตัวเอง เราจะเห็นเลย ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในจิตใจเรา เป็นของชั่วคราวทั้งหมด ความสุขที่ผ่านเข้ามาก็ชั่วคราว ความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาก็ชั่วคราว ความยินดีพอใจความไม่พอใจก็เป็นของชั่วคราว เราเหนื่อยแทบตาย ดิ้นรนแทบตาย อยากได้ของชั่วคราวที่ดีๆ แล้วมันก็ไม่อยู่กับเราจริง ถ้าเราภาวนา เราเห็นความจริงในใจของเราเรื่อยๆ เราถูกหลอกให้ดิ้นรนแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุขต่างๆ ซึ่งมันเป็นของที่ไม่ยั่งยืนอะไร ได้มาก็รักษาไว้ไม่ได้ อยู่ชั่วคราวเท่านั้นเอง

 

แก่นของการปฏิบัติก็คือการรู้กายรู้ใจของตัวเอง

ฉะนั้นการเรียนธรรมะ ไม่ใช่เรื่องของการนั่งสมาธิ การเดินจงกรม การกำหนดจิตอย่างนั้นอย่างนี้ กำหนดกายอย่างนั้นอย่างนี้ การเรียนธรรมะที่แท้จริงคือเรียนให้เห็นความจริงของร่างกาย เรียนให้เห็นความจริงของจิตใจ ถ้าเราเห็นความจริงของร่างกายแล้ว เราจะหมดความยึดถือในกาย ไม่ใช่ของดีของวิเศษ เพราะฉะนั้นต่อไปอะไรจะเกิดขึ้นในร่างกาย เราจะไม่ทุกข์ ถ้าเราเรียนรู้ความจริงของจิตใจว่า ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ของจิตใจ เป็นแค่ของชั่วคราว จิตใจก็จะหมดความหิวโหย ความดิ้นรนทุรนทุราย จิตใจก็ไม่ทุกข์ จิตใจมีความทุกข์ขึ้นมาก็เพราะมันอยากอย่างโน้นอยากอย่างนี้

ฉะนั้นที่ว่าให้รู้ทุกข์ ให้ละสมุทัย ตัวสมุทัยก็คือตัวตัณหาหรือตัวความอยากนั่นล่ะ ถ้าเราคอยรู้ความจริงของกาย เราก็จะหมดความอยากโง่ๆ ความอยากโง่ๆ เกี่ยวกับกายก็คือ อยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย ความอยากโง่ๆ ในใจก็คือ อยากให้มีความสุขตลอดกาล อยากให้ไม่มีความทุกข์เลย ถ้าเราเรียนรู้กายเรียนรู้ใจ เข้าใจความจริงแล้วนี่ ความอยากมันจะหมดไป

อย่างเราอยากจะมีความสุขตลอดกาล ในชีวิตเราผ่านความสุขมาเท่าไรแล้ว มันมาแล้วมันก็ไปหมดล่ะ เห็นไหม นี่คือความจริงของมัน มันไม่เที่ยง ความทุกข์ที่เราเกลียดชัง เราห้ามมันได้ไหม มันจะมาเราก็ห้ามมันไม่ได้ นี่คือความจริงของมัน ถ้าจิตเรายอมรับความจริงได้ ไม่ว่าความสุขหรือความทุกข์จะเกิดขึ้น จิตก็ไม่หลง ความสุขมาจิตก็ไม่ประมาท รู้ว่ามันเป็นของชั่วคราว ถ้ามันจะหมดไป ก็ไม่เสียดงเสียดายมัน ความทุกข์จะผ่านเข้ามาเราก็ไม่เสียอกเสียใจ รู้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มาได้เดี๋ยวมันก็ไปเองล่ะ ไม่ต้องทำอะไรมันก็ไปได้

ทุกอย่างผ่านมาผ่านไป ผ่านมาผ่านไป เรามีชีวิตอยู่เหมือนความฝันไปวันหนึ่งๆ ถ้าเราเห็นอย่างนี้ โลกนี้เหมือนความฝัน ฝันว่าสุข ฝันว่าทุกข์ พอตื่นนอนมาก็ว่างเปล่า ไม่มีอะไร ฉะนั้นเรา คล้ายๆ เราหลงอยู่ในโลกของความคิดความฝันตลอดเวลา ถ้าเมื่อไรเราตื่นขึ้นมา เราก็จะพบว่า ทุกอย่างว่างเปล่า ไม่ได้มีอะไรหรอก มีแต่ของที่เกิดแล้วก็ดับไปฉะนั้นต่อไปเวลาความสุขเกิดขึ้นเราก็ไม่หลงยินดี รู้ว่าไม่นานมันก็ไปแล้ว ความทุกข์เกิดขึ้นเราก็ไม่ยินร้าย ก็รู้ว่ามันมาได้ เดี๋ยวมันก็ไป ทุกอย่างไม่ยั่งยืนหรอก

กุศลเกิดขึ้นเราก็รู้ จิตใจที่เป็นกุศลมันก็ชั่วคราว ฉะนั้นเราจะไม่บ้าบุญ ไม่หิวบุญ หลายคนคิดว่าทำบุญเยอะๆ เอาเงินไปถวายพระเยอะๆ ได้บุญเยอะๆ แล้วชีวิตจะดี ชีวิตจะมีความสุขตลอดกาล จะบรรลุมรรคผลนิพพาน มรรคผลนิพพานไม่ได้บรรลุเพราะการบริจาคเงิน มรรคผลนิพพานบรรลุเพราะว่าเราสามารถเห็นความจริงของกายของใจได้ กายนี้เป็นก้อนทุกข์ จิตใจก็ไม่ใช่ของวิเศษอะไรหรอก ถ้าเราปล่อยวางได้ ตรงนั้นล่ะเราจะพ้นจากทุกข์ กายเป็นตัวทุกข์ เราปล่อยวางกาย ก็คือเราพ้นจากทุกข์ได้ จิตนี้เป็นตัวทุกข์ ไม่มีความยั่งยืนแน่นอน ถ้าเราไม่ยึดถือจิต เราก็ไม่ทุกข์เพราะจิตอีกต่อไป

ฉะนั้นคำสอนของพระพุทธเจ้าจะอยู่ในกฎของคำว่า ให้รู้ทุกข์ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น รู้ไปเรื่อยๆ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน คอยรู้สึกตัวไว้ ร่างกายที่ทำไมต้องยืน ต้องเดิน ต้องนั่ง ต้องนอน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องหายใจเข้า ต้องหายใจออก ทำไมมันต้องกินข้าว ทำไมมันต้องขับถ่าย ทำไมมันต้องดื่มน้ำ ทำไมต้องปัสสาวะ เพื่อหนีทุกข์ไปเรื่อยๆ เพราะในความเป็นจริงแล้ว มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา

จิตใจเที่ยวแสวงหาความสุข ก็เพราะว่าอยากหนีทุกข์ ความเป็นจริงก็คือจิตใจมันไม่เคยให้ความอิ่มความเต็มกับเราหรอก มันขาดมันบกพร่องอยู่ตลอดเวลา ความหิวในใจเราไม่รู้จักสิ้นสุด ที่มันหิว มันหิวอะไร มันอยากให้กายให้ใจเป็นสุข มันอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ ความอยากทั้งหลายที่เรามี มันก็ลงมาอยู่ รวมลงมาตรงที่อยากให้กายให้ใจมีความสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ แต่ถ้าเราเห็นความจริง กายนี้คือทุกข์ ใจนี้คือทุกข์ ไม่ใช่ของวิเศษหรอก เราอาศัยมันชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ยึดถือ เราก็จะไม่ทุกข์เพราะกายเพราะใจ แต่ถ้าเรายังไม่เห็นความจริงของกายของใจ เรายังยึดถืออยู่ มันจะเกิดความอยาก

ความอยากคือตัวสมุทัย ตัวตัณหา เราอยากอะไรบ้าง ก็อยากให้กายให้ใจมีความสุข อยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ อย่างอยากรวยก็เพื่ออะไร โอ้ ร่างกายเราจะได้สบาย จะได้ซื้อของมากินมาใช้ เห็นไหม สุดท้ายอยากรวยก็เพราะว่าอยากให้ร่างกายมีความสุข อยากให้ตัวเลขในบัญชีเยอะๆ แล้วสบายใจ นี่อยากให้จิตใจมีความสุข

ฉะนั้นเราไปสังเกตให้ดี ความอยากของเรามันเนื่องด้วยความรักกายรักใจ ความรักแบบไม่ฉลาด ไม่รู้ความจริงของร่างกายของจิตใจ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าถึงสอนบอกให้เรารู้ทุกข์ รู้เรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่ง เราจะละสมุทัย ละความอยากได้ เราจะไม่อยาก หมดความอยากว่าร่างกายจะต้องเป็นอมตะ ต้องหนุ่มสาวตลอดกาล ต้องแข็งแรงตลอดกาล นี่มันเป็นความอยากที่ไร้เดียงสา พอเราเข้าใจความจริง เดินปัญญามากๆ รู้ความจริงของร่างกายแล้ว ความอยากที่ไร้เดียงสาเกี่ยวกับร่างกายก็ไม่มี ถ้าเราเรียนรู้ความจริงของจิตใจมากๆ ความอยากที่ไร้เดียงสาในจิตใจก็ไม่มี อย่างอยากให้จิตใจมีความสุขตลอดกาล แล้วก็เที่ยวคิดเอาว่าทำอย่างนี้แล้วจะดี ทำอย่างนี้แล้วจะสุข ดิ้นไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต ก็ไม่เจอหรอกความสุข เมื่อไรเรารู้ทุกข์ได้ กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ เราจะละสมุทัยได้ คือละความอยาก

ที่พวกเราภาวนากันจะเป็นจะตาย ทำอย่างไรจะถูก ทำอย่างไรจะถูก ไปดูเลย สิ่งที่อยู่เบื้องหลังก็คือความอยาก อยากพ้นทุกข์ อยากมีแต่ความสุข คิดทุกวันทำอย่างไรจะถูก ทำอย่างไรจะดี คิดอยู่อย่างนั้นล่ะ นั่งแบบไหนจะถูก นั่งแบบไหนจะดี กำหนดจิตอย่างไรจะถูก กำหนดจิตอย่างไหนจะดี เรามัวแต่ไปสนใจในเปลือกของการปฏิบัติ แก่นของการปฏิบัติก็คือการรู้กายรู้ใจของตัวเอง รู้สึกไป ดูความจริงของมันไป ไม่ใช่ดูให้มันหายทุกข์ แต่ดูจนกระทั่งจิตมันยอมรับความจริง กายนี้เป็นก้อนทุกข์ จิตนี้ไม่สมอยากหรอก เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความสุขก็ไม่ยั่งยืน ความทุกข์ก็ไม่ยั่งยืน กุศลอกุศลก็ไม่ยั่งยืน จิตก็เลยไม่ยึดถืออะไร จิตก็ไม่ยึดถือจิต นั่นล่ะจิตถึงจะพ้นทุกข์

เพราะฉะนั้นมันจะไม่มีปัญหาหรอกว่า นั่งสมาธิจะกำหนดจิตแบบไหนถึงจะถูก เดินจงกรมท่าไหนถึงจะถูก ถ้านั่งสมาธิแล้วลืมกายลืมใจ ก็เรียกไม่รู้ทุกข์ ไม่ถูกหรอก เดินจงกรมก็บังคับกายบังคับใจ ไม่ได้รู้ทุกข์ แต่ไปพยายามบังคับกายบังคับใจ ไม่ได้รู้กายอย่างที่กายเป็น ไม่รู้ใจอย่างที่ใจเป็น ก็ไม่ถูกหรอก เพราะฉะนั้นพอทำอย่างนี้ ครูบาอาจารย์บอกไม่ถูก ก็ไปทำอีกอย่างหนึ่ง มาส่งการบ้านอีก มันก็ไม่ถูกอีก เพราะมันมัวแต่ทำโน้นทำนี้ มันละเลยการรู้กายรู้ใจของตัวเอง

จับหลักให้แม่นแล้วการปฏิบัติจะไม่ยาก แล้วเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองในเวลาไม่นานหรอก เคยทุกข์มากก็จะทุกข์น้อยลง เคยทุกข์นานๆ ก็จะทุกข์สั้นลง แล้วฝึกให้ดี ต่อไปไม่ทุกข์ ความทุกข์อยู่แต่ในร่างกาย แต่ในจิตใจเราจะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
19 กุมภาพันธ์ 2567