เรียนรู้ความจริงของขันธ์ 5

พรุ่งนี้หลวงพ่อไม่ได้อยู่วัด อย่างบางคนมา ไปเทศน์บ้านจิตสบาย ช่วงนี้ผู้ร้ายมันเยอะ มันปลอม มันใช้ AI ปลอมเสียง ปลอมรูป ถ้าได้ยินหลวงพ่อโทรศัพท์ไปหา ขอสตางค์ ด่าเลย ตัวปลอมแน่นอน จับหลักแม่นๆ ง่ายๆ หลวงพ่อไม่เคยขออะไรใคร ขอก็มีอันเดียวที่ขอ ขอให้เรียนแล้วก็ขยันภาวนา ขอแค่นั้นล่ะ ไม่เคยขอเงินใคร ข้าวของอะไร ไม่ขอ เพราะฉะนั้นถ้าใครอ้างหลวงพ่อไปขอ หรือได้ยินเสียงหลวงพ่อไปขอ อย่าไปเชื่อ ปลอมแน่นอน ไม่เห็นต้องขออะไรใคร ชีวิตพระมันเรียบง่ายอยู่แล้ว

ชีวิตพระมันเหมาะกับการภาวนามากกว่าฆราวาส แต่มันไม่ใช่ทุกคนจะได้บวช หลายคนมีภาระทางโลก บางคนต้องเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ บางคนมีปณิธานส่วนตัว อยากสร้างบารมี อยากอะไรต่ออะไร หรือบางคนเป็นฆราวาส ทำประโยชน์ได้มากกว่าเป็นพระ ฉะนั้นมันไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องบวช ธรรมะในขั้นต้นๆ จะเป็นพระหรือเป็นฆราวาส มันก็ยากพอๆ กัน แต่ในขั้นละเอียด อย่างขั้นจะขึ้นอนาคามีมรรค เป็นพระมันสะดวกกว่าฆราวาส เป็นฆราวาสเวลาอยากกินอะไร ก็ไปกินได้ หรือโทรฯ เรียกมีผ่านแอพฯผ่านอะไร มีให้กินทั้งวันทั้งคืน อยากได้อะไรก็ซื้อได้ อยากจะนอนให้สบายสักกี่โมงก็นอนได้

 

อยากได้ธรรมะต้องเข้มแข็ง
ฝึกตัวเองให้มีชีวิตที่เรียบง่าย

ฉะนั้นชีวิตฆราวาสมันปนเปื้อน มันย้อมด้วยกาม มันเปื้อนอยู่ในกาม ท่านเปรียบเหมือนไม้ ไม้สดแล้วก็แช่น้ำ บอกจุดไฟยาก ถ้าเราเป็นฆราวาส เราอยากภาวนา เราก็ทำตัวให้มันไม่เปียกน้ำ อย่าหมกมุ่นในเรื่องกาม กามไม่ใช่แค่เรื่องเซ็กซ์ สิ่งที่เรียกว่ากามก็คือความรักใคร่ผูกพัน พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทั้งหลาย ตัวนี้เป็นกามราคะ มีความผูกพันในกาม อย่างจิตที่หมกมุ่น เที่ยวแสวงหาแต่ความสุขในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ท่านก็เปรียบเทียบเหมือนเปียกน้ำ เหมือนไม้ที่เปียกน้ำ จุดไฟยาก คือคนที่มันเพลินอยู่กับโลก เพลินอยู่กับกาม เพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย จะให้มันเห็นทุกข์เห็นโทษของกาม ไม่ใช่ง่าย กามเป็นของที่เสพเท่าไรก็ไม่มีวันพอ ไม่มีวันอิ่ม ไม่มีวันเต็ม ฉะนั้นเราก็ต้องหัดฝึกตัวเอง ยับยั้งชั่งใจ

เป็นฆราวาสแค่อยากได้ธรรมะ ได้เป็นโสดาบัน สกทาคามี มันไม่ยากเกินไป แต่ต้องเข้มแข็ง อย่าเอาแต่เพลินกับการหาความสุขในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย ฝึกตัวเองให้มีชีวิตที่เรียบง่าย อยู่ง่ายกินง่าย หลวงพ่อตอนเป็นฆราวาส ไม่เรื่องมากหรอก มีอะไรก็กิน ที่นอนมีฟูกหนาๆ เหมือนที่ฆราวาสมี แต่หลวงพ่อมีไม้กระดานอยู่แผ่น เป็นประตู เป็นประตูไม้ ไม่ได้ใช้แล้ว ตอนสร้างบ้านซื้อมาเกิน เอาซ่อนไว้ใต้ผ้าปูที่นอน อยู่เหนือฟูกอีกที นอนจะพลิกซ้ายจะพลิกขวา รู้ตัวตลอด ถ้าพลิกซุ่มซ่าม เจ็บ ฝึกตัวเองสม่ำเสมอ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อะไร ไม่หาความสุขจากการนอน ความสุขจากการกินก็ไม่เรื่องมากหรอก ไปทำงานกินข้าวในโรงอาหาร มีอะไรก็กิน

พยายามฝึกตัวเองสู้กับกาม ความรักใคร่ผูกพันพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย ทุกวันมีวินัยในตัวเอง ภาวนา เวลาอยู่คนเดียว ว่างๆ อยู่คนเดียว ภาวนา ตอนไหนก็ตาม ไม่ต้องรอกลางคืน กลางวันมีเวลาก็ภาวนา กลางวันกินข้าวเสร็จแล้ว ก็ไม่ไปเที่ยวเล่นหรอก เดินไปวัด เมื่อก่อนอยู่ในทำเนียบรัฐบาล ทำงานอยู่ในทำเนียบ วัดใกล้ๆ ทำเนียบก็มีวัดโสมนัสราชวรวิหาร วัดเบญจมบพิตรฯ อยู่คนละฟากกัน วัดเบญจมบพิตรฯ อยู่ทางฝั่งทางเหนือ วัดโสมนัสฯ อยู่ฝั่งทางใต้ของทำเนียบ กินข้าวเสร็จไม่ไปนั่งเคลิ้มๆ หลับๆ กินข้าวแล้วก็เดินจงกรม แต่เดินจงกรมกลับไปกลับมา คนมันโห่เอา คนไม่ยอมรับ รับไม่ได้ หลวงพ่อก็เลยใช้วิธีเดินไปวัด อย่างมากเขาก็แซวว่า โอ๊ย เป็นตาเถรชอบไปไหว้พระตามวัด

ที่จริงไหว้พระมันเป็นวัตถุประสงค์รอง เพราะไหว้พระอยู่ตรงไหนเราก็ไหว้ได้ แต่เจตนาก็คือเดินจงกรม การเดินจงกรมไม่จำเป็นต้องเดินกลับไปกลับมา ทุกก้าวที่เดินด้วยความรู้สึกตัว นั่นเรียกเดินจงกรมทั้งหมด ถ้าเดินกลับไปกลับมา แต่ลืมเนื้อลืมตัว หรือไม่ก็เคร่งเครียด บังคับกายบังคับใจ อันนั้นก็ไม่ได้เรียกว่าการปฏิบัติอะไร ฉะนั้นเวลาเดินไปวัด ทุกก้าวที่เดิน เดินรู้สึกตัวไป แต่ตอนข้ามถนน ก็ต้องรู้สึกโลกข้างนอก มองข้างขวา มองข้างซ้าย มองข้างขวา แล้วค่อยข้ามถนนไป ไม่อย่างนั้นรถทับตาย ขี้เกียจไปเป็นเทวดา

ดำรงชีวิตอย่างนี้ ตั้งแต่ตื่นนอนมีสติไปเรื่อยๆ ฉะนั้นมีสติได้ทั้งวัน ไปรอรถเมล์ก็มีสติ รอแล้วรถเมล์ไม่มา จิตใจกระวนกระวาย กลัวไปทำงานสาย รู้ว่ากระวนกระวาย ขึ้นรถไปได้ รถติดจะทันไม่ทัน ใจกระวนกระวาย รู้ว่ากระวนกระวาย อ่านจิตอ่านใจของเราไปเรื่อยๆ บางทีพอเราไม่ใจลอย ก็เห็นอะไรแปลกๆ บางทีเห็นตลก คนนั่งรถเมล์ เคยเห็น ผู้หญิงทาปากแดงแจ๋เลย แล้วก็ผมก็ยาว ลมมันพัด มันพัดผมใส่หน้าตัวเอง ปัดไปปัดมา แกมีหนวดสีแดงๆ เต็ม มีหนวดเต็มเลย ลิปสติกมันเปื้อน เห็นแล้วเราก็ขำ ขำได้ไหม ได้ แต่ขำแล้วรู้ว่าขำ คอยภาวนา

การปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่เรื่องต้องนั่งสมาธินานๆ ต้องเดินจงกรมนานๆ แต่มันอยู่ที่ความมีสติอย่างต่อเนื่อง มีสติรู้กายเนืองๆ มีสติรู้จิตใจเนืองๆ ตอนไหนอ่านจิตได้ก็อ่านจิตไป ตอนไหนดูจิตใจไม่ออกก็ดูกายไป ตอนไหนจิตใจมันเหน็ดเหนื่อย เวลาเราภาวนา มันใช้กำลังของจิตเยอะ จิตมันเหนื่อย เราก็พาจิตมันพัก ก็ทำสมถะ ทีแรก หัดทีแรกตั้งแต่เด็กๆ ทำสมาธิ ง่าย ครูบาอาจารย์สอนให้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่ได้คิดอะไรมาก ว่าจะหายใจไปทำไม หายใจไปไม่นานจิตก็รวมแล้ว แป๊บเดียว ต่อมาเริ่มจำได้ ตรงที่จิตจะรวม จิตมันจะเคลิ้มๆ ลงไปนิดหนึ่งก่อน เราปล่อย แล้วจิตก็รวมลงไป คราวนี้เริ่มเจ้าเล่ห์ นั่งสมาธิก็อยากให้จิตรวม อยากให้จิตสงบ

 

สมาธิไม่ได้แปลว่าสงบ
สมาธิจริงๆ แปลว่าความตั้งมั่น

กว่าจะจับหลักของการปฏิบัติได้ ก็ใช้เวลาอีกช่วงหนึ่ง การปฏิบัติ จะทำความสงบอย่าอยากสงบ ถ้าอยากสงบแล้วจะไม่สงบ เหมือนอยากนอนหลับ แล้วมันจะไม่หลับ ถ้านอนเล่นๆ แล้วมันหลับ ภาวนาไปสบายๆ ใช้ใจธรรมดาๆ นี้ ทำกรรมฐานไป สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ทำไปเรื่อยๆ มันสงบของมันเอง จิตใจของเรามันไม่มีกำลัง เพราะมันถูกใช้งานตลอดเวลา มันใช้ไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ใช้ไปคิดนึกทางใจ เวลาจะทำกรรมฐานก็ไปใช้จิตทำงานอีก บังคับกดข่มจิต จิตยิ่งเหน็ดเหนื่อยหนักเข้าไปอีก ฉะนั้นถ้าอยากทำสมถะให้จิตสงบ อย่าไปเค้นจิต อย่าไปบังคับจิต น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง รู้อารมณ์นั้นด้วยใจธรรมดาๆ

พอเรารู้อารมณ์ด้วยใจธรรมดาๆ ไม่อยากสุข ไม่อยากสงบ ไม่อยากดี ไม่อยากให้มันฟุ้งซ่าน ไม่มีความอยากทั้งบวกและทางลบ ถ้าใจไม่มีความอยาก ใจก็ไม่มีความดิ้นรน ใจไม่ดิ้นรน ใจก็ได้พักผ่อนอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตก็ได้พักผ่อน ไม่ต้องทำงาน ที่จริงก็จิตยังทำงานอยู่ คือรู้อารมณ์ แต่รู้อารมณ์อันเดียวสบายๆ จิตก็จะมีกำลังขึ้นมา นี่เคล็ดลับของการทำสมาธิให้สงบ ภาวนาใช้เวลากว่าจะจับหลัก จับเคล็ดลับของการปฏิบัติได้ นี่เป็นโนว์ฮาวที่เอามาเล่าให้ฟัง บางคนบอกนั่งสมาธิตั้งหลายปี ไม่เคยสงบเลย มันไม่ถูกหลัก อยากสงบมันไม่สงบหรอก เพราะความอยากเกิดขึ้น จิตมันก็จะดิ้นรน จิตดิ้นรนแล้วมันจะสงบได้อย่างไร เพราะฉะนั้นภาวนา รู้อารมณ์กรรมฐานที่มีความสุข รู้ไปสบายๆ รู้ไปธรรมดาๆ จะสงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ทำไปไม่นานก็จะสงบ นี่เป็นเคล็ดลับ เคล็ดลับอันนี้ได้มาจากประสบการณ์ตรง

ฉะนั้นพวกเราลองทำดู รับรองไม่ผิดหรอก จิตที่มันสงบแล้วมันมีกำลัง แต่มันยังไม่สามารถเจริญปัญญาได้ มีแรงอย่างเดียว แต่ไม่รู้จักวิธีที่จะเอาแรงไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เหมือนบางคนไปฟิตร่างกาย เข้าฟิตเนส มีซิกซ์แพ็กมีกล้าม ผู้หญิงเดี๋ยวนี้ก็มีซิกซ์แพ็ก เขาก็เล่นกัน มีกล้ามแข็งแรง เสร็จแล้วก็ไม่ได้ทำอะไร ถึงเวลาก็ไปกินไปเที่ยวไปเล่น ถึงเวลาอีกก็มาเข้าฟิตเนสอีก เรียกว่าฝึกไว้ พวกอย่างนี้ฝึกให้ร่างกายแข็งแรง แต่ไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์อะไร เอาไว้อวดกันเฉยๆ เหมือนทำสมาธิสงบ ไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์ต่อ เอาไว้อวดกันเฉยๆ โอ๊ย ฉันนั่งสมาธิเก่ง เข้าฌานนั้นฌานนี้ได้ อันนั้นเรียกว่ายังไม่ได้ประโยชน์อะไรเท่าไรหรอก ได้สงบอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาจิตขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง จากจิตที่สงบมีเรี่ยวมีแรง ฝึกให้มันตั้งมั่น

ที่จริงคำว่าสมาธิไม่ได้แปลว่าสงบ สมาธิจริงๆ แปลว่าความตั้งมั่น ความตั้งมั่นของอะไร ของจิต จิตจะต้องตั้งมั่น ครูบาอาจารย์วัดป่าท่านสอน ท่านเรียกว่าจิตผู้รู้ จิตผู้รู้มีคุณสมบัติที่ดี เป็นจิตที่เป็นกุศล ลักษณะของจิตที่เป็นกุศล มีความเบา มีความนุ่มนวลอ่อนโยน คล่องแคล่วว่องไว ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน เวลารู้อารมณ์ก็รู้ซื่อๆ ไม่ใช่รู้แล้วก็เข้าไปดัดแปลงอารมณ์ อันนั้นยังไม่ใช่ตัวผู้รู้ แต่เป็นผู้หลง ผู้ยังทำกิจกรรมต่อ เราจะต้องฝึกจิตให้มันเป็นผู้รู้ให้ได้

หลายคนเรียนแล้วมักง่าย ก็พูดเอาง่ายๆ บอกว่าตามตำรา สมาธิเป็นองค์ธรรมที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้นสมาธิเป็นของไม่ต้องฝึก มีอยู่แล้ว ก็ไปเจริญปัญญา โดยที่ไม่ได้ฝึกจิตก่อน ถ้าไม่ต้องฝึกจิตก่อน แล้วก็เดินปัญญาได้ พระพุทธเจ้าไม่สอนหรอกเรื่องจิตตสิกขา เพราะฉะนั้นต้องฝึกจิต เรียนรู้จิตใจตัวเอง ทำอย่างไรจิตจะมีแรง จิตมีแรงคือจิตมันได้พัก ทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่น ตัวนี้สำคัญ จิตที่ตั้งมั่นนั้น มันเป็นจิตที่ถอนตัวเอง จากการเป็นนักแสดง ออกมาเป็นผู้ดู พอจิตมันตั้งมั่น วิธีฝึกมันมีหลายวิธี ฝึกไปทางฌานก็ได้ นี้พวกเราฝึกยาก เข้าฌานไม่เป็น เราก็อาศัยสติ อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป

อย่างจิตเราเผลอไปคิด เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเราเผลอไปคิด รู้ทันว่าจิตหลงไปคิด ไม่ต้องว่ามัน ไม่ต้องห้ามมัน บางคน เอ๊ะ ทำอย่างไรจิตจะไม่คิด มันคิดจะทำอีกแล้ว ถ้าคิดจะทำจิตก็ฟุ้งซ่านเลย ไม่ต้องทำอะไร จิตหลงไปคิด รู้ว่าจิตหลงไปคิด นี่จิตมันฟุ้งซ่าน หนีไปคิด รู้เฉยๆ ทันทีที่สติรู้ทันสภาวธรรมที่กำลังปรากฎ สมาธิที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นเอง เพราะฉะนั้นต้องเห็นสภาวะ สภาวะ เช่น ทำกรรมฐานไป หายใจเข้าพุทออกโธ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว

รู้ว่าจิตหนีไปคิด ไม่ใช่รู้ว่าจิตคิดเรื่องอะไร รู้ว่าจิตหลงไปคิดแล้ว กับการรู้ว่าจิตคิดอะไร คนละเรื่องกัน การรู้ว่าจิตคิดอะไร คนที่ไม่ได้ฝึกมันก็รู้ หมามันก็รู้ มันคิดไปแล้ว มันก็หลงอยู่ในโลกของความคิด ของเรารู้ทันว่าจิตคิด จิตที่คิดจะดับทันที เพราะจริงๆ ธรรมชาติของจิตเกิดดับตลอดเวลา พอจิตคิดดับ มีสติรู้ปุ๊บจิตคิดดับ จิตรู้ก็เกิดขึ้น จิตรู้กับจิตคิด มันเหมือนเหรียญอันเดียวกัน ด้านหัวกับด้านก้อย เอาเหรียญโยนไป ก็ลงไปที่พื้น มันไม่ออกหัว มันก็ออกก้อย ยกเว้นมันไปติดร่องกระดาน ไปตั้งเด่เอาไว้ โอกาสมันต่ำ ส่วนใหญ่คือไม่ออกหัวก็ออกก้อย ไม่รู้ก็หลง ก็แค่นั้นล่ะ

ถ้าเรารู้ทันจิตที่หลง จิตที่หลงมันจะดับ มันจะเกิดจิตที่รู้ขึ้นมา จิตที่รู้นั่นล่ะคือจิตที่ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา ทีแรกรู้ได้นิดเดียว แล้วก็หลงอีก หลงอีกรู้อีก หลงอีกรู้อีก ซ้ำๆๆ ไปเรื่อย มันจะสะสมความรู้สึกตัวขึ้นมา ในที่สุดจิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา ตัวนี้อาศัยการมีสติรู้ทันสภาวธรรมที่ละขณะ ทีละขณะ ในที่สุดจิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาได้ มันจะมีอาการคล้ายๆ กับตอนที่เราออกจากฌาน ทำสมาธิเข้าฌานไป ถึงฌานที่ 2 ได้จิตผู้รู้ ออกจากฌานมา กำลังของจิตผู้รู้นี้ยังทรงตัวอยู่ได้ จิตจะทรงตัวเป็นอุปจารสมาธิบ้าง เป็นขณิกสมาธิบ้าง ก็เป็นตัวผู้รู้ ถ้าอาศัยสติคอยรู้ทันสภาวธรรมที่กำลังปรากฎขึ้น ส่วนใหญ่ก็คือหลงนั่นล่ะ เกิดทั้งวัน

แต่ถามว่าจะรู้สภาวะตัวอื่นได้ไหม ได้ เหมือนกันหมด อย่างถ้าเราขี้โมโห ใจเราโกรธขึ้นมา เรารู้ ใจที่โกรธจะดับ จิตผู้รู้จะเกิดขึ้น มันจะเห็นความโกรธไม่ใช่จิตหรอก เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา จิตเป็นแค่คนรู้คนเห็น รู้อะไร รู้ว่าโกรธ รู้ว่าตอนนี้โกรธหายไป ตอนนี้มีความโกรธ ตอนนี้โกรธหายไป แต่ส่วนใหญ่เราไม่ได้โกรธทั้งวัน แต่เราหลงทั้งวัน ฉะนั้นครูบาอาจารย์ก็จะมาเน้นที่จิตหลง หลงมากที่สุดคือหลงคิด หลงคิด บางทีก็รู้เรื่องที่คิด บางทีเหม่อๆ หลงแต่ไม่รู้ว่าคิดอะไรอยู่ อันนี้หลงสุดขีดเลย ใจลอยๆ เหม่อไป ตายปุ๊บก็ไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะสัตว์เดรัจฉานเป็นภูมิของโมหะ นี้เราก็มาพยายามฝึกตัวเอง ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้มุ่งให้จิตสงบ อยู่ในอารมณ์กรรมฐานอันนั้น

ทำกรรมฐานอันหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิต พอจิตหลงไปคิดก็รู้ทัน จิตคิดก็ดับ จิตรู้ก็เกิด พอจิตรู้เกิดบ่อยๆ มันจะมีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา คล้ายๆ จิตที่ออกจากฌาน แต่จิตที่ออกจากฌานนั้น ตัวผู้รู้มันทรงตัวได้นาน แต่ว่านานแค่ไหนก็ไม่เกิน 7 วันก็เสื่อม เพราะมันเป็นของเสื่อม สมาธิมันเป็นของเสื่อม มันยังเป็นโลกียะอยู่ แต่การที่เรามีสติรู้สภาวะ แล้วก็เกิดสมาธิทีละขณะๆ มันอยู่ได้ไม่นาน อยู่ได้ 5 นาที 10 นาที หรือเก่งๆ ก็ชั่วโมง ครึ่งชั่วโมง เดี๋ยวก็หลงต่อ แต่ฝึกบ่อยๆ ตัวรู้นี้ มันจะค่อยมีกำลังเด่นดวงขึ้นมา

เมื่อตัวรู้มีกำลังตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว มันก็จะเห็นร่างกายที่หายใจอยู่ เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่จิต ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่จิต จิตเป็นผู้รู้ ความสุขความทุกข์ที่เกิดในร่างกาย เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่จิต ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ที่เกิดขึ้นในจิต เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่จิต กุศลทั้งหลายเป็นของถูกรู้ ไม่ใช่จิต อกุศล โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่จิต เห็นไหม มันมีคำว่าไม่ใช่จิต เพราะจิตไม่ใช่สิ่งที่ถูกรู้ จิตคือตัวที่ไปรู้อารมณ์ต่างๆ ไปรู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส รู้เรื่องราวที่คิดนึก จิตเป็นคนไปรู้ เราจะฝึกจนกระทั่งจิตมันถอนตัวจากเป็นผู้แสดง ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ถอนตัวขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตดวงนี้เป็นจิตที่ซื่อ เป็นจิตที่ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ ไม่หลงยินดีไม่หลงยินร้ายต่ออารมณ์ทั้งหลาย ดวงนี้เป็นจิตที่ประเสริฐมาก ในบรรดาจิตที่เป็นโลกิยะทั้งหลาย ตัวจิตผู้รู้นี้เป็นตัวพระเอกเลย เป็นตัวที่ประเสริฐที่สุด

ถ้าเป็นภาษาปริยัติ ตัวจิตผู้รู้นี้เรียกมหากุศลจิต ญาณสัมปยุต อสังขาริกัง เป็นมหากุศลจิต เป็นจิตที่เป็นกุศล มีลักษณะเบา อ่อนโยน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน ซื่อตรงในการรู้อารมณ์ ซื่อตรง ตัวนี้ก็สำคัญ ถ้าไม่ซื่อ รู้แล้วไม่ซื่อ ไม่ใช่จิตผู้รู้ เป็นจิตผู้หลง เป็นจิตผู้แสดง ฉะนั้นเราต้องพัฒนา อย่างเราเกิดจิตผู้รู้ แล้วเราจะเห็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลายเป็นของถูกรู้ จิตเป็นผู้รู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ คือสิ่งที่กระทบกาย รู้ธรรมารมณ์ทั้งหลาย จิตเป็นคนรู้

พอจิตเราแยกออกมาได้ จากสิ่งที่ถูกรู้ มันจะเห็นว่าร่างกายก็ส่วนหนึ่ง จิตก็ส่วนหนึ่ง เวทนาคือสุขทุกข์ก็ส่วนหนึ่ง จิตก็ส่วนหนึ่ง ความปรุงดีปรุงชั่วก็ส่วนหนึ่ง จิตก็อีกส่วนหนึ่ง ตรงนี้เรียกว่าเราแยกรูปแยกนามได้แล้ว แยกธาตุแยกขันธ์ได้แล้ว ภาษาปริยัติเขาเรียกว่าได้นามรูปปริจเฉทณาณ เรามีปัญญาสามารถแยกรูปนามได้ รูปมันนั่งอยู่ จิตมันเป็นคนเห็น รูปหายใจออก จิตเป็นคนเห็น

ถ้าละเอียดขึ้นไป ก็สามารถแยกนามธรรมออกไปได้อีก นามธรรมมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจิตคือเป็นตัวรู้ อีกส่วนหนึ่งเป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต คือเวทนา สุขทุกข์ทั้งหลาย ความจำได้หมายรู้ สัญญา ความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่ว นี้ตัวสังขาร มันแยกออกไป เมื่อเราแยกขันธ์ออกไปได้ โดยจิตเป็นคนเห็นขันธ์ แยกขันธ์ออกแล้ว ปัญญามันถึงจะเกิด มันจะเห็นความจริงของขันธ์ อย่างเรานั่งอยู่นี้ ถ้าจิตเราเป็นผู้รู้ มีกำลังตั้งมั่นขึ้นมา เราจะเห็นว่าร่างกายที่นั่งอยู่นี้ ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นก้อนธาตุ เป็นวัตถุ เป็นสมบัติของโลก ความรู้สึกสุขทุกข์มันก็ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นแค่ของที่ถูกรู้ มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ กุศลอกุศลทั้งหลายก็เป็นของถูกรู้ ควบคุมไม่ได้ สั่งไม่ได้ เกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น จิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดแล้วก็ดับ ทุกอย่างดูไปเรื่อย ในที่สุดจิตมันสรุปได้ สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ มันรู้ขันธ์ประณีตลึกซึ้งเข้ามาเป็นลำดับๆ

 

พระพุทธเจ้าแยกขันธ์ 5 ไว้
ตามลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าแยกขันธ์ 5 ไว้ ไม่ได้แยกส่งเดช มันแยกตามลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติเลย ถ้ากำลังเรายังไม่พอ ดูกาย ใครเป็นคนดูกาย จิตเป็นคนดูกาย ถ้าดูกายแล้ว พอมันประณีตขึ้นไป มันเห็นอะไร มันเห็นเวทนาในกาย เห็นไหม เดี๋ยวก็ปวดตรงนั้น เดี๋ยวก็คันตรงนี้ เดี๋ยวก็เจ็บตรงนั้น เดี๋ยวเมื่อยตรงนี้ มันเห็นเวทนาที่เกิดขึ้นในกาย มันเห็นกายไม่ใช่เรา เวทนาที่เกิดขึ้นมานี้ก็ไม่ใช่เรา มันของถูกรู้ถูกดู แล้วเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป บังคับไม่ได้

ละเอียดขึ้นไปอีกก็จะเห็นเวทนาทางใจ พอร่างกายเรามีความสุข ใจเราก็พลอยมีความสุขไปด้วย อันนั้นเป็นเวทนาทางใจแล้ว เขยิบเข้ามาใกล้จิตมากขึ้นแล้ว ร่างกายเป็นของห่างจิตมากที่สุด แต่จิตอาศัยอยู่ในกาย เราดูไป ในที่สุดมันเขยิบขึ้นจากการเห็นกาย มาเห็นเวทนาของกาย เขยิบขึ้นมาอีก ใกล้จิตเข้ามาอีก ก็เห็นเวทนาของจิต เขยิบขึ้นมาอีก เราจะเห็นสังขาร เวลาจิตใจเรามีความสุข เราเกิดความเพลิดเพลินพอใจ ยินดี เกิดราคะ อันนี้คือสังขาร

รูป เวทนา สัญญา สังขาร ตัวสัญญาแขวนไว้ก่อน เข้าใจยาก อธิบายกันยาว ไล่มาอย่างนี้ เห็นไหมร่างกายส่วนหนึ่ง ความสุขทุกข์ในร่างกายส่วนหนึ่ง ความสุขทุกข์ ความเฉยๆ ในจิตใจเป็นอีกส่วนหนึ่ง นี่เข้าใกล้จิตมากขึ้นๆ พอมีเวทนาเข้ามาที่ใจแล้ว ก็เกิดปรุงดีขึ้นมา ปรุงชั่วขึ้นมา เช่น มีความสุขทางจิตใจเกิดขึ้น ถ้าจะปรุงชั่วก็เกิดราคะ มีความทุกข์ทางจิตใจเกิดขึ้น ถ้าจะปรุงชั่วก็เกิดโทสะ

หรืออารมณ์ไม่ชัดเจน เวทนาไม่ชัดเจน ว่าสุขหรือทุกข์ เราก็ปรุงโมหะ หลงๆ เผลอๆ เพลินๆ ไป ใจลอยไป อันนี้มันปรุง ปรุงดีได้ไหม ได้ อย่างเรามีความสุขขึ้นมา เราก็จะมีปัญญาเห็น เออ เราอยู่ของเราสงบๆ นี่มีความสุข ความสงบนำความสุขมาให้ จิตที่สงบมีความสุข เรามีปัญญาเราก็เห็น หรือจิตใจเรามีสัญญา ระลึกถึง ระลึกถึงพระพุทธเจ้าขึ้นมา จิตเราก็เกิดเป็นกุศล ปรุงกุศล ปรุงสังขารที่เป็นกุศล

ตัวที่ทำให้สังขารมันปรุง ก็คือสัญญากับเวทนานั่นล่ะ มีความสุขเกิดขึ้น ก็มักจะปรุงราคะ มีความทุกข์เกิดขึ้น มักจะปรุงโทสะ อันนี้ทางใจ เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ มักจะหลงเผลอๆ เพลินๆ บางทีสัญญามันไปหมายรู้ โอ้ เรามีความสุขขึ้นมา เพราะเราเดินตามรอยที่พระพุทธเจ้าสอน เรามีทาน มีศีล มีภาวนา จิตใจเราก็มีความสุขมากขึ้นๆ จิตใจเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้า ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จิตมันก็ปรุงกุศลขึ้นมา มันจะปรุงอย่างนี้

ตัวที่ทำให้จิตปรุงแต่งกุศล อกุศล เฉยๆ ขึ้นมา ก็คือตัวสัญญากับตัวเวทนานั่นล่ะ ฉะนั้นบางทีสัญญากับเวทนา เลยมีชื่อเรียกว่าเป็นจิตตสังขาร เป็นเครื่องปรุงแต่งจิต ทำให้จิตเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง บางทีก็เฉยๆ ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล เห็นไหม มันเขยิบใกล้จิตเข้ามาเรื่อยๆ แล้ว นี้พอจิตเป็นกุศล จิตเป็นอกุศล จิตเราตั้งมั่น เราก็จะเห็นกุศลทั้งหลายก็ถูกรู้ กุศลทั้งหลายไม่ใช่จิตหรอก ศรัทธา วิริยะ สติ ปัญญา เป็นกุศลทั้งหมด แต่ไม่ใช่จิตหรอก เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า หรืออกุศล โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย ก็ไม่ใช่จิตหรอก เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า

ทั้งความปรุงแต่งฝ่ายที่เป็นกุศล ความปรุงแต่งที่เป็นฝ่ายอกุศล ล้วนแต่ไม่เที่ยง เกิดแล้วดับทั้งสิ้น แล้วก็ล้วนแต่บังคับไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เวลาสภาวะใดๆ เกิดขึ้น สภาวะนั้นก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป อย่างจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้น ก็อยู่ได้ชั่วคราว ก็ถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป อาจจะเป็นจิตเฉยๆ หรือกลายเป็นจิตกุศลดวงใหม่ อีกเรื่องหนึ่งก็ได้ เรื่องเดิมก็ได้ หรือจะพลิกไปเป็นอกุศลเลยก็ได้

เราเฝ้ารู้เฝ้าเห็น ก็จะรู้เลย กุศลอกุศลยังไม่ใช่จิตหรอก เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างบางทีใจเราเป็นกุศล อยากฟังธรรม ฟังไปๆ เบื่อ ขี้เกียจ กุศลเปลี่ยนเป็นอกุศลแล้ว กลายเป็นขี้เกียจไปแล้ว จากที่มีฉันทะขวนขวายจะฟังธรรม ฟังไปๆ ขี้เกียจแล้ว กุศลสลายไป กลายเป็นอกุศลแล้ว เราจะใส่บาตร ตั้งใจว่าเจอพระองค์ไหนเราก็จะใส่ ปรากฏว่าไปเจอพระซึ่งท่าทางไม่เรียบร้อยเลย ดูกระโดกกระเดก ดูไม่เรียบร้อย ไม่งดงาม ใส่ไปก็ลังเลพระจริงหรือพระปลอม กุศลของเราหล่นแล้ว ตกหายแล้ว

คือถ้าเราตั้งใจจะทำทาน ทำก็ทำให้ขาด ไม่ใช่ทำแล้วยังเป็นของเราอยู่ ถ้าเราตั้งใจจะใส่บาตร เราก็ตั้งใจให้ดีว่า เราจะทำทานต่อสาวกของพระพุทธเจ้า เพื่อสืบอายุของพระศาสนา ตั้งใจให้อย่างนี้ไว้ แล้วบุญกุศลที่เกิดขึ้นขอถวายเป็นพุทธบูชา ตั้งใจอย่างนี้ โอ๊ย ตั้งใจอย่างนี้ ถึงจะไปใส่กับพระปลอมเข้า พระปาราชิกเราไม่รู้ว่าคนไหนปาราชิกไหม คนไหนสังฆาทิเสสหรือเปล่า เราไม่รู้ แต่เราวางใจของเราถูก จิตเราเป็นกุศล เราได้บุญเต็มๆ เลย เกิดไปเจอพระอรหันต์ที่ท่าทางไม่เรียบร้อย ใส่แล้วก็ใช่ไม่ใช่ ใช่ไม่ใช่ บุญหล่นหาย

เพราะฉะนั้นบางทีกุศลก็พลิกเป็นอกุศลได้ง่ายๆ ให้เราคอยรู้ทันไว้ หรือบางทีเราเห็นเด็กๆ ไปวิ่งเล่นข้างถนน เราเกิดความกรุณากลัวมันถูกรถทับ มันลำบาก เราก็ไปห้ามมัน มันไม่ฟัง มันยังหนีไปเล่นข้างถนนอีก เราก็โมโห กรุณาของเรากลายเป็นโทสะแล้ว หรือเรามีความเมตตากับลูกของเรา ลูกของเราเมตตาง่ายหรือเมตตายาก ตอบได้ไหม ใครว่าเมตตาง่าย ลูกของเรา เมตตายาก เพราะราคะมันจะเข้ามาแทนที่ มันกลายเป็นลูกกู มันไม่ใช่เมตตาอยากให้เขามีความสุข อยากให้มีความเจริญ มันไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้นหรอก มันต่อท้ายด้วย เพราะว่านี่มันเป็นลูกกู มีความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของขึ้นมา หรือเราเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เป็นบุญใหญ่ ก็อย่าเผลอไป นี่พ่อกู ห้ามแก่ ห้ามเจ็บ ห้ามตาย นี่แม่กู ถ้าลองเป็นกูขึ้นมา กิเลสมันแทรกแล้ว เพราะฉะนั้นเมตตาก็ต้องมีสติ มีปัญญา อ่านใจตัวเองให้ออก

บางทีมันพลิกเป็นอกุศลได้ กรุณาก็พลิกเป็นอกุศลได้ มุทิตาก็พลิกเป็นอกุศลได้ กระทั่งอุเบกขา ถ้าไม่มีสติปัญญาจริง บางทีมันเป็นอกุศล เป็นความเฉยเมยเย็นชา เฉยเมยเย็นชาไม่ใช่กุศล มันเป็น ไม่ได้เรื่องเลย เห็นคนตกน้ำ ช่วยได้ก็ไม่ช่วย กรรมของสัตว์ อย่างนี้ คิดอย่างนี้ จิตเป็นอกุศลอย่างไร จิตมีมิจฉาทิฏฐิ ตีความกฎแห่งกรรมเพี้ยน เขามีกรรม เขาตกน้ำ นั่นกรรมเก่าของเขา ทำไมเราไม่ทำกรรมใหม่ที่ดีไปช่วยเขา ถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราก็ตีความธรรมะไม่เพี้ยน ไปเห็นใครลำบากก็ช่างมึง กรรมของมึง อันนี้ใจไม้ไส้ระกำ ไม่ใช่ ไม่ได้เป็นกุศลจริงหรอก

เราค่อยๆ ภาวนา ค่อยแยก ทีแรกทำจิตให้สงบ จิตจะมีแรง จำเคล็ดลับได้ไหม ใช้ใจปกตินี่ล่ะ อยู่ในอารมณ์อันเดียว สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง เดี๋ยวเดียวก็สงบ พอสงบแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง ถ้าอยากให้สงบ ก็น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์ เห็นไหม ตัวหลักคืออารมณ์ ถ้าอยากให้จิตตั้งมั่น รู้ทันจิต เรียกว่าเป็นจิตตสิกขาตัวจริง ทำกรรมฐานไปแล้วจิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตไปเพ่ง รู้ทัน จิตจะตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นแล้วก็อย่าให้มันตั้งเฉยๆ เดี๋ยวก็เสื่อม ก็ใช้ประโยชน์ เอามาเจริญปัญญา

 

จิตตั้งมั่นแล้วเดินปัญญา

การเจริญปัญญานั้น เริ่มต้นด้วยการแยกธาตุแยกขันธ์ แยกรูปแยกนาม พอจิตเราตั้งมั่น เราก็เห็น ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอด เวทนาในกาย นี่เข้าใกล้จิตมากขึ้นแล้ว ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา เขยิบขึ้นมาทางเวทนาในใจ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอีก สัญญา ความจำได้หมายรู้ ตัวนี้ดูยากนิดหนึ่ง เมื่อกี้เลยข้ามไป แต่ว่ามันก็เป็นตัวหนึ่ง ที่ไปปรุงให้จิตดีจิตชั่วขึ้นมา เราเว้นไว้ก่อนเดี๋ยวค่อยเรียนทีหลังก็แล้วกัน

แล้วก็มา พอมีเวทนา แล้วผลักดันให้เกิดสังขาร ที่จริงสัญญาก็ผลักดันให้เกิดสังขาร อย่างเราคิดถึงพระพุทธเจ้า สังขารฝ่ายกุศลมันก็เกิด เราคิดถึงนักการเมืองขี้ฉ้อตอแหล โกงบ้านโกงเมือง โทสะเราก็เกิด เกิดปรุงแต่งขึ้นมา อย่างเราคิดถึงสมเด็จพระเทพฯ ใจเรามีความสุข เวลาคิดถึงคนดี จิตเรามีความสุข อันนี้เป็นเทวตานุสติ เป็นเทวตานุสติ คิดถึงคนดี คิดถึงความดีของผู้อื่น อันนี้เป็นเรื่องดี คิดไว้ ดีกว่าไปคิดถึงเรื่องชั่วของคนอื่น จิตจะเศร้าหมอง

ค่อยๆ สังเกตไป แล้วจะเห็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร เป็นของถูกรู้ถูกดู แล้วถัดจากนั้นมันเข้ามาที่จิต เราจะเห็นว่าจิตที่เป็นผู้รู้ เกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นผู้คิด ผู้หลง เกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นผู้รู้ เกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นผู้เห็นรูป เกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นผู้รู้ เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ได้ฟังเสียง ไปรู้เสียง เกิดแล้วก็ดับ จิตผู้รู้เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ได้กลิ่น เกิดแล้วก็ดับ จิตผู้รู้เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปรู้รส เกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นผู้รู้เกิดแล้วก็ดับ จิตที่ไปรู้สัมผัสทางกาย เกิดแล้วก็ดับ แล้วคราวนี้เราก็จะเห็น จิตที่รับรู้ธรรมารมณ์ทั้งหลายทางใจ เกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน เราจะเห็นว่า เดี๋ยวก็จิตก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็จิตก็เป็นผู้หลง สลับกันไปอย่างนี้

เมื่อวานมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งมาส่งการบ้าน น่าฟังดี เด็กนี้เมื่อก่อนไม่รู้เรื่องเลย ก็อดทนฟังหลวงพ่อ มาส่งการบ้านเป็นระยะๆ หลายๆ เดือนมาทีหนึ่ง บอก โอ้ เดี๋ยวนี้ภาวนาดีขึ้นเยอะเลย เขาบอกเขาเห็นอย่างเดียว เขาทำกรรมฐานข้อเดียว เขาเห็นว่าจิตนี้มี 2 อย่าง จิตรู้กับจิตหลง ดูอย่างอื่นไม่เป็นเลย เห็นแค่จิตรู้กับจิตหลง บอก โอ๊ย ภาวนาได้เด็ดขาดดีจริงๆ นี่มันเข้ามาถึงตัววิญญาณแล้ว วิญญาณก็คือตัวจิตนั่นล่ะ

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เข้ามาถึงตัววิญญาณ ถึงตัวจิตแล้ว บอกว่าจิตมันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง ส่วนจะหลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็คือตัวหลงนั่นล่ะ บอกภาวนาไม่เห็นอย่างอื่น เห็นอยู่แค่นี้ รู้กับหลง บอก เออ แค่นี้ก็พอแล้ว กรรมฐานสำหรับคนๆ หนึ่ง ไม่มากหรอก กรรมฐานสำหรับคนๆ หนึ่ง หัวข้อเดียวก็บรรลุมรรคผลได้แล้ว

ฉะนั้นเราฟังแล้ว เราก็ไปลงมือทำ ถ้าเดินอย่างที่หลวงพ่อบอกนี่ เดินครบทุกขั้นทุกตอน ตามลำดับมาเลย ทำสมถะให้จิตมีกำลัง ทำสมถะให้จิตตั้งมั่น แล้วเจริญปัญญาเห็นความจริงของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณคือจิตนั้นล่ะ มันเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดูไปเรื่อยๆ ต่อไปก็พบว่า ไม่มีเราตรงไหนเลย รูปไม่ใช่เรา เวทนา สัญญา สังขาร ไม่ใช่เรา จิตก็ไม่ใช่เรา ตรงนั้นล่ะเราจะได้ธรรมะแล้ว ได้โสดาบันแล้ว

วันนี้เทศน์ตามลำดับขั้นตอน ครบทั้งหลักสูตรเลย แต่บางคนเรียนข้ามขั้นได้ อย่างหลวงพ่อไม่ได้เริ่มจากรูป หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อตัดเข้าที่จิตเลย แล้วหลวงพ่อดูจิตที่จิต หลวงพ่อเห็นเวทนาทางใจ เห็นสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วทางใจ แล้วเห็นจิตเป็นผู้รู้ เป็นผู้หลง ตัดเข้ามาตรงนี้เลย ก็ย่นย่อหน่อย ถ้าดูเข้ามาตรงนี้ไม่ได้ ก็ดูร่างกายถูกรู้ ไม่ใช่เรา ดูไป เวทนาทางกายถูกรู้ ไม่ใช่เรา ไล่ไปอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็เจอจิตจนได้

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ เมื่อเช้ายังนึกว่าจะเทศน์เรื่องอะไร นึกไม่ออกหรอก หลวงพ่อเทศน์ไม่มีสคริปต์ เจอหน้าพวกเราแล้วถึงจะเทศน์ได้ ถ้าไม่เจอพวกเราก็มีบางที กลางคืนบางทีจิตมันก็เทศน์ เทศน์แล้วเราก็ฟังเอง มันก็เทศน์ไป แต่ตอนเช้าจะจำมาสอนพวกเรา ไม่มีเหลือเลย มันไม่ใช่ธรรมะที่เหมาะกับเรา ธรรมะก็หายไป ธรรมะไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลาในใจ ใจบางครั้งก็มีธรรมะ บางครั้งใจก็วาง ไม่เอาธุระ จิตใจเราเป็นของบังคับไม่ได้หรอก

ฉะนั้นบางที บางคนถามกรรมฐาน โอ๊ย จิตแสดงธรรมได้เยอะแยะ บางคนไม่ได้ถาม จิตก็แสดงธรรม บางคนถาม จิตหนีไปเลยไม่ยอมแสดงธรรมก็มี อย่างหลวงพ่อไปกราบครูบาอาจารย์ จะไปถามอะไรท่าน จิตท่านจะแสดงธรรมคึกคักเข้มแข็งขึ้นมา เป็นอย่างนั้นทุกองค์ เพราะเราภาวนา ถ้าเราไม่ได้ภาวนาแล้วมาถามเล่นๆ ถามไป จิตไม่มีคำตอบให้ ไม่ใช่ว่าหวงวิชา แต่จิตมันไม่ถ่ายทอดออกมา ไม่รู้หรอก ฉะนั้นถ้าไม่ภาวนาอย่ามาถามหลวงพ่อเลย ถ้าถามเพื่อให้รู้หลักของการปฏิบัติแล้วก็ถามได้ แต่ถามแล้วต้องลงมือปฏิบัติถึงจะมาถามต่อ แล้วก็มีธรรมะที่สูงขึ้นไปให้ ไม่อย่างนั้นไม่มีอะไรให้หรอก แค่บอกว่าไปทำเอา

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
17 กุมภาพันธ์ 2567