บูชาคุณพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติ

วันวิสาขบูชาเราตั้งใจรักษาศีลทั้งวัน ตั้งใจให้ดี ถือเป็นการปฏิบัติบูชา แล้ววันนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงเรื่องโลกๆ เรื่องสนุกสนานเพลิดเพลินหลงโลก จิตใจเราจะได้มีความสุขในความสงบ ก็เป็นการปฏิบัติบูชา ถ้าสูงกว่านั้นก็คือแยกรูปแยกนาม ถัดจากนั้นก็คือเห็นไตรลักษณ์ของรูปของนาม ที่เหลือจิตมันเป็นไปเองแล้ว เรื่องมรรคผลนิพพานอะไร การแยกรูปแยกนามไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ที่ผ่านมา ชาวพุทธไม่ค่อยได้ยินเรื่องเหล่านี้ ก็จะสอนกันอยู่ในแวดวงกรรมฐาน ส่วนใหญ่ไม่สอนฆราวาส ที่ผ่านมาครูบาอาจารย์สอนกันอยู่ในวงแคบๆ พอหมดครูบาอาจารย์ไป ธรรมะที่ประณีตที่จะสู้กิเลสได้ ก็ค่อยๆ เลือนลางไป หลวงพ่อเห็นว่าฆราวาสก็มีหลายกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นบัวใต้น้ำ ส่วนใหญ่นั่นล่ะ ปล่อยเขาไป

พวกเราส่วนหนึ่งที่จะเป็นบัวที่จะพ้นน้ำ ปริ่มๆ จะพ้นอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้ฟังธรรมที่ประณีต ที่จะขัดเกลากิเลสจริงจัง เราจะเสียชาติเกิด อุตส่าห์เกิดมาเจอพระพุทธศาสนาแล้ว จะเสียโอกาสอย่างร้ายแรงเลย คนส่วนใหญ่ถึงจะเจอพระพุทธศาสนา ก็ถือว่ายังไม่ได้เจอ เพราะไม่รู้เรื่องอะไรเลย แยกไม่ออกระหว่างคำสอนของพระพุทธเจ้า กับความเชื่อผีสางเทวดาอะไร ซึ่งมันเป็นความเชื่อเก่าแก่ ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้ามาในแผ่นดินนี้ มันปนกัน พวกเราเป็นบัวปริ่มๆ น้ำ มีโอกาสได้ฟังธรรมะภาคปฏิบัติที่ประณีต เราก็จะสามารถโผล่พ้นน้ำขึ้นมา เป็นดอกบัวที่บานได้ อยากพ้นน้ำเราก็ต้องมีการปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมเราก็ไม่ได้เอาเพื่อเข้าตัวเอง เราถือว่าเราปฏิบัติเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า เป็นการปฏิบัติบูชา ตั้งใจรักษาศีล 5 ให้ดี ศีล 5 ข้อสำคัญที่สุด เพราะศีล 227 มีมากมาย 150 ข้อเป็นเรื่องคล้ายๆ กฎระเบียบ ศีลส่วนใหญ่เป็นเรื่องระเบียบวินัย 75 ข้อเป็นเรื่องกิริยามารยาท ฉะนั้นศีลที่สำคัญจริงๆ ต้องรักษาให้ได้ สำหรับฆราวาสคือศีล 5 พระถือศีล 10 ไว้ อย่าให้ขาด ถือว่าเป็นการปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า แล้วก็หลีกเลี่ยงเรื่องวุ่นวายทางโลก ทางโลกมันวุ่นวายตลอดเวลา มาให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ ใจมันจะมีสมาธิ แล้วก็เป็นการปฏิบัติบูชา ทำสมาธิ

 

ทำกรรมฐานอันหนึ่งได้แล้ว
กรรมฐานอันอื่นจะได้มาเอง

การทำสมาธิไม่ใช่ว่า ต้องนั่งหายใจเข้าหายใจออก หรือเดินจงกรม การทำสมาธิก็คือ ไม่ปล่อยให้ใจเราฟุ้งซ่าน น้อมใจมาอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข มีความสบาย ใจพอมันอยู่ในอารมณ์อันเดียว มันก็ไม่วอกแวกไปไหน มันมีความสุข มันก็ไม่เที่ยวหาอารมณ์อื่น จิตใจมันก็สงบ จิตใจสงบแล้วก็พัฒนาขึ้นมา เป็นความรู้เนื้อรู้ตัว สงบ บางที ส่วนใหญ่ที่คนเขาภาวนากัน สงบแต่ว่าลืมตัวเอง เผลอๆ เพลินๆ สบาย ลืมเนื้อลืมตัว สมาธิแบบนั้นใช้ไม่ได้ มันเป็นมิจฉาสมาธิ

ฉะนั้นถ้าจิตเราสงบก็ให้รู้ว่าจิตสงบ ให้รู้ทันไป ตรงที่เรารู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น เช่น จิตสงบรู้ว่าสงบ จิตฟุ้งซ่านรู้ว่าฟุ้งซ่าน ตรงที่เรามีสติรู้ทันสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็น สมาธิชนิดตั้งมั่นจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ อยู่ๆ เราไปสั่งจิตให้ตั้งมั่น เป็นไปไม่ได้ เพราะจิตเป็นอนัตตา เราฝึกสติให้มาก คอยรู้สภาวธรรม

อย่างหลวงพ่อแต่ก่อนเป็นคนขี้โมโห หงุดหงิดง่าย ใจร้อน ทำอะไรช้าไม่ได้ ต้องรวดเร็ว ประเภทยอมหักไม่ยอมงอ นี่สำนวนกำลังภายใน ใจร้อน หลวงพ่อมาภาวนา หลวงปู่ให้ดูจิตดูใจตัวเอง หลวงพ่อก็เห็นจิตมัน เดี๋ยวมันก็โกรธ เดี๋ยวมันก็ไม่โกรธ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ ทั้งวันจิตมี 2 อย่างเท่านั้น นี้พอจิตโกรธขึ้นมา เรามีสติรู้ว่าจิตโกรธ จิตก็ไม่ถูกความโกรธครอบงำ จิตก็เป็นตัวของตัวเอง ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าความโกรธหายไป เป็นจิตไม่โกรธเกิดขึ้น เรามีสติรู้ว่าจิตตอนนี้ไม่โกรธ รู้สภาวะอโทสะเกิดขึ้น โทสะเกิดขึ้นเราก็รู้ อโทสะเกิดขึ้นเราก็รู้ อโทสะคือไม่มีโทสะ

การที่เราเห็นสภาวะอย่างที่กำลังมีกำลังเป็น จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นอัตโนมัติ ฉะนั้นเราดูตัวเอง สภาวะอะไรที่เกิดบ่อยๆ ในตัวเรา แล้วเราสามารถเห็นได้ เราก็ดูสภาวะอันนั้นบ่อยๆ ใช้สภาวะอันนั้นเป็นวิหารธรรม ส่วนสภาวะอื่นเป็นของแถม อย่างหลวงพ่อขี้โมโห หลวงพ่อก็เห็น ใช้โทสะกับอโทสะเป็นวิหารธรรม จิตมีโทสะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้ แล้วคราวนี้ต่อไปสภาวะอื่นๆ เกิดขึ้น สติมันก็รู้ได้เหมือนกัน เพราะว่ามันรู้วิธีที่จะรู้ ถ้ารู้สภาวะอันหนึ่งได้ ต่อไปสภาวะอันอื่นๆ ก็รู้ไม่ยาก เพราะฉะนั้นเวลาทำกรรมฐาน ทำอันหนึ่งได้แล้ว อันอื่นมันจะได้มาเอง โดยไม่ยากเกินไป

อย่างเราเล่นกสิณ สมมติเราเล่นกสิณ เราดูไฟ จนกระทั่งหลับตาก็เห็นไฟ ลืมตาก็เห็นไฟ แล้วจิตมันรวมลงไป เห็นเป็นไฟหายไป กลายเป็นดวงสว่างกลมๆ พอเราเล่นกสิณไฟสำเร็จ ได้ปฏิภาคนิมิต ย่อดวงนี้ให้ใหญ่ ให้ขยายให้ใหญ่ก็ได้ ย่อให้เล็กก็ได้ เวลาขยายใหญ่ มันเหมือนเราเป็นพระอาทิตย์ เป็นพระจันทร์ ส่องแสงไปไกลแสนไกล เวลาย่อลงมา จิตมันเหลือเท่าปลายเข็มเล็กนิดเดียว แต่แสงนั้นจะเข้มมากเลย

ถ้าเราเล่นอย่างนี้ได้ ต่อไปเราไปดูน้ำ เราได้กสิณไฟแล้วเราไปดูน้ำ ก็ได้กสิณน้ำไม่ยาก ได้กสิณลม กสิณดินอะไรก็ไม่ยาก ได้อันหนึ่งแล้วอันอื่นก็ง่าย การหัดดูสภาวะก็แบบเดียวกัน ถ้าเราเห็นสภาวะอันหนึ่งแล้ว ต่อไปสภาวะอันอื่น มันก็เห็นได้ง่าย อย่างหลวงพ่อพอเห็นสภาวะ จิตมีโทสะกับจิตไม่มีโทสะ ต่อไปพอจิตมีราคะก็เห็น เพราะราคะหรือโทสะมันก็เกิดมาที่เดียวกัน เกิดมาจากกลางอก หทยวัตถุ ผุดขึ้นมาจากตรงกลาง

ตรงนี้หทยรูป หทยวัตถุ ตำรารุ่นหลังๆ อธิบายว่าอยู่ที่หัวใจ ซึ่งนักปฏิบัติลงมือปฏิบัติจริง จะรู้เลยว่า นามธรรมหรือกิเลสทั้งหลาย ไม่ได้ผุดขึ้นที่หัวใจ ถึงเราใช้หัวใจเทียม มันก็ยังเกิดได้ ที่จริงมันผุดขึ้นมา จากสภาวะที่กลางๆ หทัยก็คือใจกลาง ไม่ใช่แปลว่าหัวใจ อย่างถ้าเราภาวนาแล้วเห็น ความโกรธมันผุดขึ้นจากกลางอกเรา ถ้ารู้ไม่ทัน มันรุนแรงแล้วครอบหัวเรา เราก็ตกอยู่ใต้อำนาจของมัน เราก็คิดไปด้วยความโกรธ พูดไปด้วยความโกรธ ทำไปด้วยความโกรธ

ถ้าเราเห็นตัวหนึ่งแล้ว ต่อไปราคะมันผุดขึ้นมา เราก็เห็น ราคะรุนแรงก็ครอบหัวเรา ก็ตกอยู่ใต้อำนาจราคะ คำพูด การกระทำทั้งหลาย ก็ตกอยู่ใต้ราคะ อย่างไปจีบผู้หญิง ตัวเองมีลูกมีเมียอยู่แล้ว ราคะมันมา ก็ไปจีบคนอื่นอีก พอเราเห็นสภาวะตัวหนึ่งได้แล้ว สภาวะตัวอื่นจะไม่ยาก มีสภาวะอยู่ตัวหนึ่ง ที่ครูบาอาจารย์หลายแห่งท่านสอน คือสภาวะหลง สภาวะหลงก็คือโมหะ ที่จริงโทสะดูง่ายที่สุด ราคะดูยากขึ้นหน่อยหนึ่ง โมหะดูยากที่สุด โมหะคือหลง

แต่ครูบาอาจารย์หลายองค์ หลายสาย สติปัญญาท่านดี ท่านก็สอนให้เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ บางองค์ก็ให้ขยับมือ บางท่านบอกให้ดูท้องพองท้องยุบ บางท่านให้รู้ลมหายใจ เคล็ดลับมันอยู่ที่ว่า เมื่อเราทำกรรมฐานแล้ว ให้คอยรู้ทันจิตที่หลงไป จากอารมณ์กรรมฐานนั้น เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ถึงจุดหนึ่งจิตก็หนีไปคิดเรื่องอื่น มันลืมการหายใจ มันลืมพุทโธ เราเคยหายใจ เราเคยพุทโธชำนาญ มันลืมไปประเดี๋ยวเดียว มันก็นึกได้ อ้าว นี่ลืมหายใจ ลืมพุทโธไปแล้ว ก็กลับมาหายใจ มาพุทโธใหม่ สักพักหนึ่งจิตก็หนีไปอีก หลงไปอีก หลงแล้วก็รู้ หลงแล้วก็รู้ไป ถ้าภาวนาแล้วเห็นหลงก็รู้ได้ ก็จะเก่งเลย เพราะว่าหลงดูยาก โมหะดูยากที่สุด แต่ถ้าทำตัวนี้ได้ ตัวอื่นจะง่ายไปหมดเลย

เพราะฉะนั้นอย่างที่ครูบาอาจารย์หลายสาย ท่านก็พูด ให้ทำกรรมฐานอันหนึ่ง แต่บางองค์ท่านพูดชัดเจน อย่างหลวงพ่อเทียนพูดชัดเจนเลย ทำกรรมฐานไม่ใช่เพื่อให้จิตมันนิ่งๆ ว่างๆ ขยับมือไป ให้มีสติ ปลุกสติ การปลุกสติก็คือ ถ้ามันไม่มีสติ มันหลงไป ให้มีสติรู้ทัน ให้รู้ทันว่าหลง จิตมันจะตื่นขึ้นมา คำสอนในสายหลวงพ่อเทียนใช้ได้ แต่ต้องทำให้เป็น เช่นเดียวกับคำสอนในสายอื่นๆ ใช้ได้ทั้งนั้นล่ะ ขอให้ทำให้เป็น

ถ้าทำไม่เป็นแล้ว ไม่ว่าเราจะเดินมาทางกรรมฐานอะไร สุดท้ายมันก็เข้าไปสู่ความสงบอันเดียวกัน แต่ถ้าเดินปัญญาได้ มันก็เห็นธรรมะอันเดียวกัน เข้าถึงมรรคผลอันเดียวกัน สัมผัสพระนิพพานอันเดียวกัน วิธีการก็หลากหลาย อย่างคำสอนที่ประณีตลึกซึ้ง ของครูบาอาจารย์รุ่นก่อนๆ บางทีมันเลือนไป อย่างที่หลวงพ่อบอก อ๋อ บางทีท่านไม่ค่อยสอน คนไหนภาวนามาถึงจุดที่ทำได้แล้ว ท่านก็จะสอน ถ้ายังเตาะแตะๆ อยู่ ท่านก็สอนให้ทำทานถือศีลอะไรอย่างนี้ คำสอนที่ดีๆ มันก็ลบเลือน

อย่างครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อไปเรียน สายวัดป่าเป็นส่วนใหญ่ หลวงพ่อไม่ได้เรียนเฉพาะสายวัดป่า สายอื่นหลวงพ่อก็เรียน เบื้องต้นศึกษาทางสายท่านอาจารย์พุทธทาส บวชครั้งแรกก็บวชกับหลวงพ่อปัญญา แล้วก็ทำอานาปานสติ ซึ่งหลวงพ่อเล่นมาแต่เด็ก อานาปานสติ แต่ว่ามันไม่เข้าใจ มันก็ได้แค่ความสงบ ตอนหลังพอภาวนาพอรู้เรื่องแล้ว ก็รู้

 

ทำกรรมฐานแล้วต้องคอยรู้ทันจิตตนเองไว้
แล้วจะทำกรรมฐานอะไรก็ได้ทั้งหมด

อย่างถ้าเราทำอานาปานสติ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ถ้าจิตมันหลงไป ลืมการรู้สึก ลืมการหายใจ เราก็มีสติรู้ว่า อ้าว หลงไปแล้ว ทันทีที่สติรู้ว่าจิตหลง จิตรู้ก็จะเกิดขึ้น แล้วก็เห็นร่างกายหายใจ จิตเป็นคนรู้ ไปดูหลวงพ่อเทียน ก่อนหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อก็เข้าสายวัดป่า ที่จริงเข้าสายวัดป่าตั้งแต่เล็ก แต่ว่าเรียนได้แค่ความสงบ วิชาที่เป็นสาระแก่นสารของครูบาอาจารย์ยังไม่ได้ ก็ได้แค่ทำอานาปานสติให้จิตสงบ แล้วก็ออกรู้โน่นรู้นี่ รู้จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ พิสูจน์ไม่ได้ อะไรที่พิสูจน์ไม่ได้ อย่าไปเชื่อมัน แขวนไว้ก่อน จริงหรือเปล่าไม่รู้ ไม่ต้องไปพิสูจน์ เสียเวลา เอาปัจจุบัน มีสติรู้กายรู้ใจลงปัจจุบันนี้สำคัญที่สุด

อย่างหลวงพ่อเข้าไปหาครูบาอาจารย์สายวัดป่าหลายองค์ ท่านสอนหลวงพ่อให้ดูจิตดูใจตัวเอง กระทั่งการพุทโธ ไม่ใช่พุทโธเพื่อจะพุทโธ ไม่ใช่พุทโธให้จิตสงบ ท่านสอนไปอีกระดับหนึ่ง ท่านสอนพุทโธให้รู้สึกตัว บางองค์ท่านพูดชัด อย่างหลวงปู่บุญจันทร์ ถ้ำผาผึ้ง ท่านพูดชัดเจนเลยว่า ให้บริกรรมไป “พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ” “พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ” เห็นไหมพุทโธแล้วมาที่ใจ ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านก็สอน พุทโธก็คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อะไรคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็จิตใจของเราที่มันมีความรู้เนื้อรู้ตัว มันตั้งมั่น มันก็เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

หลวงพ่อไปเรียนจากครูบาอาจารย์รุ่นก่อนๆ ท่านจะสอนคำว่า “ผู้รู้” ไปวัดไหนก็พูดแต่คำว่า “ผู้รู้” พุทโธ พุทโธคือจิต จิตคืออะไร จิตคือผู้รู้ หลังๆ ธรรมะมันกร่อนลง มันกลายเป็นว่าพุทโธเพื่อจะพุทโธไปเรื่อยๆ ให้จิตมันนิ่งๆ ถามว่าดีไหม ก็ดีเหมือนกัน แต่ดีแบบสมถะ นิ่งๆ ไป แต่ถ้าพุทโธใจรู้ พุทโธแล้วรู้ใจตัวเอง พุทโธเป็นสิ่งที่ใจไปรู้เข้า พุทโธแล้วคอยรู้เท่าทันใจตัวเองไว้ เราก็จะได้พุทโธตัวจริง ไม่ใช่คำพูดว่าพุทโธ พุทโธตัวจริงก็คือตัวจิตใจของเรานั่นเอง

หลวงปู่เทสก์ หลวงพ่อเข้าไปเรียนด้วย ท่านก็สอนสิ่งเหล่านี้ แต่ท่านบัญญัติศัพท์เฉพาะของท่านขึ้นมา ท่านบัญญัติคำว่า “จิต” กับคำว่า “ใจ” ท่านบอกจิตคือผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ใจคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ให้ปฏิบัติไป แล้วก็สุดท้ายจิตมันยกระดับขึ้นมาเป็นใจ คือเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตมันคิดนึกปรุงแต่ง ถ้าเรารู้เท่าทันความปรุงแต่ง จิตพ้นจากความปรุงแต่งก็เข้ามาเป็นใจ ก็จะสอน หลวงปู่ดูลย์ท่านก็สอนบอกว่า “คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็อาศัยคิด”

คำว่า “รู้” ก็คือตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะ จิตผู้รู้มันจะเกิดขึ้น ถ้าเราคิดอยู่ มันก็มีแต่จิตผู้คิด แต่ถ้าเรารู้ว่าจิตคิด จิตคิดจะดับ จิตผู้รู้จะเกิด เพราะฉะนั้นหลวงปู่ดูลย์ไม่ได้สอนว่าอย่าไปคิด ท่านไม่ได้สอนว่าอย่าคิด หลวงพ่อเคยทำผิด จะไปดูจิต รู้ว่าจิตเป็นคนรู้ ก็จะพยายามฝึกไม่ให้มันคิด หลวงปู่บอก “ทำผิดแล้ว จิตเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ไปทำจนมันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง อันนั้นใช้ไม่ได้ ให้ตามรู้ตามดูจิตใจตัวเองไป”

หลวงพ่อก็พบว่า ถ้าจิตมันหลงคิด จิตรู้ก็ไม่เกิด แต่ถ้าเรารู้ว่าจิตหลงคิด จิตรู้จะเกิดเพราะฉะนั้นท่านถึงบอกว่า “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิด” ประโยคที่ 3 คนเรียนรุ่นหลังๆ ก็กร่อนไปแล้ว ลืม พูดกันแค่ว่า “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้” จบแค่นี้ ธรรมะครูบาอาจารย์มันกร่อน ก็เลยพยายามที่จะไม่คิด พยายามไม่คิดก็คือปรุงแต่งอีกแบบหนึ่ง เรียกอเนญชาภิสังขาร ใช้ไม่ได้ ไปดัดแปลงธรรมชาติของจริงไป

เพราะฉะนั้นที่หลวงปู่ดูลย์สอน มันมี 3 ประโยค “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็อาศัยคิด” “แต่ก็อาศัยคิด” ก็คือ ให้จิตมันคิดไปตามธรรมชาตินั่นล่ะ แต่พอจิตมันคิดไป แล้วจิตเราหลงไปตามความคิดปุ๊บ เรามีสติรู้ รู้ว่าจิตคิด จิตคิดจะดับ จิตรู้จะเกิด แล้วเราก็ไม่รักษาจิตรู้ไว้ เดี๋ยวมันก็คิดใหม่ คิดใหม่ รู้ใหม่ จิตรู้ก็เกิดอีก ไม่ใช่ห้ามความคิด ถ้าห้ามความคิด จิตก็จะติดความปรุงแต่งชนิดที่ 3 เรียกอเนญชาภิสังขาร

ความปรุงแต่งมี 3 อย่าง ปุญญาภิสังขาร ปรุงบุญ ปรุงฝ่ายดี อปุญญาภิสังขาร ปรุงฝ่ายชั่ว อเนญชาภิสังขาร พยายามไม่ปรุง เพราะฉะนั้นถ้าเราพยายามไม่ให้จิตคิด ก็คือพยายามไม่ปรุง รากเหง้าของมันก็คืออวิชชา ฉะนั้นเราไม่ได้ห้าม จิตจะคิด แต่จิตคิดแล้วเรามีสติรู้ว่า อ้อ นี่หลงคิดแล้ว ถ้าเรารู้ว่าหลงคิด จิตหลงคิดจะดับ จิตรู้จะเกิด ฝึกบ่อยๆ

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติถ้าเรารู้หลักแล้ว มันไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป มันยากเพราะเราไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรมะภาคปฏิบัติจริงๆ มันเหมือนอย่างคนอยากนิพพาน ดิ้นรนแทบเป็นแทบตาย หาวิธีที่จะไปนิพพาน มันไม่มีทางหาได้หรอก คนที่จะหาเส้นทางไปนิพพานได้ มีอยู่ 2 จำพวกเท่านั้น คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับพระปัจเจกพุทธเจ้า ถ้าไม่ใช่บุคคล 2 จำพวกนี้ ไม่สามารถหาทางไปนิพพานได้ด้วยตัวเอง

เราก็จะเป็นกลุ่มที่เรียกว่าอนุพุทธะ อนุพุทธะก็คือ “อนุ” ไม่ใช่แปลว่าเล็กๆ อนุพุทธะคือผู้เดินตามพุทธะ “อนุ” ตามไป ตามพุทธะไป เพราะฉะนั้นเราเรียนกรรมฐาน ปฏิบัติบูชาทุกวัน เพราะเราลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ถือศีลเป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า ฝึกจิตใจไม่ให้วุ่นวายอยู่กับโลก เป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ฝึกจิตใจให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ขึ้นมา เป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ฝึกจิตให้เป็นผู้รู้ บอกแล้วว่าแต่ละสำนัก เขาก็มีของเขา จับเคล็ดได้แล้ว มันอันเดียวกันหมด

อย่างดูท้องพองยุบ ถ้าดูท้องพองยุบ แล้วจิตจมลงไปที่ท้อง มันคือการเพ่งอารมณ์ มันจะเป็นอารัมมณูปนิชฌานทันทีเลย ไม่ใช่จิตผู้รู้ ไม่มีจิตผู้รู้ มีแต่จิตผู้เพ่ง แต่ถ้าเราดูท้องพองยุบ แล้วจิตเราไหลไปที่ท้อง เรารู้ทัน จิตผู้รู้จะเกิด เพราะว่าจิตผู้รู้มันตรงข้ามกับจิตผู้หลง จิตที่ไหลไปที่ท้องก็คือหลงไปที่ท้อง หรือเราพุทโธๆ แล้วจิตไหลไปในความคิด ก็คือจิตผู้หลง เราขยับมือทำจังหวะอย่างหลวงพ่อเทียน แล้วจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น นั่นคือจิตผู้หลง

เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด ไม่ดีไม่เลวไปมากกว่ากันหรอก แต่ขอให้จับหลักให้ดีเท่านั้น ทำกรรมฐานแล้วต้องคอยรู้ทันจิตตนเองไว้ แล้วจะทำกรรมฐานอะไรก็ได้ทั้งหมด ใช้ได้ทั้งหมด เพราะว่ากรรมฐานทั้งหลาย มันเป็นแค่เหยื่อตกปลา เราจะเอาปลา ปลาคือจิต เหยื่อชนิดไหนก็ได้ ถ้าปลามันชอบ ถ้าเราเป็นปลาที่ชอบพุทโธ เราก็เอาเหยื่อคือพุทโธมาใช้ ถ้าจิตของเรามันชอบพุทโธ เป็นปลาที่ชอบพุทโธ

ถ้าจิตของเรามันชอบรู้ลมหายใจ เราก็เอาลมหายใจมาล่อ เป็นเหยื่อล่อปลา คือล่อจิตให้มาอยู่กับลม แล้วพอจิตไปอยู่ที่ลม เรามีสติรู้ทัน จิตก็เด้งขึ้นมา ดีดขึ้นมาเป็นผู้รู้ได้เหมือนกัน ถ้ามันไม่ดีดขึ้นมา มันจมอยู่กับลม ก็เป็นอารัมมณูปนิชฌาน เป็นสมาธิชนิดสงบเฉยๆ แล้วถ้ารู้ว่าจิตมันไหลไปอยู่ที่ลม ไหลไปอยู่ที่มือ ที่เท้า ที่ท้อง จิตมันก็จะดีดตัวขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

 

ปฏิบัติบูชาให้ยิ่งขึ้นไปอีกด้วยการเจริญปัญญา

พอเรามีจิตที่เป็นผู้รู้แล้ว เราก็ปฏิบัติบูชาให้ยิ่งขึ้นไปอีก ตรงที่จิตสงบก็ยังมีพอสมควร สมัยก่อน 40 ปีก่อน 50 ปีก่อน คนฝึกให้จิตสงบ มีนับจำนวนไม่ถูกเลย เยอะแยะเลย มายุคนี้คนจะให้จิตสงบก็น้อยลงๆ อย่าพูดถึงจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ตื่นเลย สมัยก่อนเรียนกับครูบาอาจารย์ ท่านพูดผู้รู้ๆ เราก็ฝึกทำกรรมฐานแล้วรู้ทันจิตตนเอง ในที่สุดก็ได้ผู้รู้ขึ้นมา พอได้ผู้รู้ขึ้นมา ก็เดินปัญญาต่อ

ยุคนี้กระทั่งผู้รู้ก็แทบไม่มี ทำกรรมฐานมีแต่ผู้หลงไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว นิ่งๆ สบายๆ ไปติดอยู่ในความสุขความสบาย มันก็เลยก้าวหน้าขึ้นเดินปัญญาไม่ได้จริง จะเดินปัญญาได้ จิตต้องตั้งมั่นเป็นผู้รู้ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วก็สติระลึกรู้รูปธรรม ด้วยจิตที่ตั้งมั่นอยู่ ปัญญาก็จะเกิด จะเห็นรูปธรรมไม่ใช่เรา อย่างพวกเราฟังหลวงพ่อเทศน์ จิตของเรามันจะเป็นผู้รู้ง่าย เข้าใกล้หลวงพ่อ เพราะไม่กล้าหลง ถ้าหลงแล้วโดนหลวงพ่อเฉ่งเอา

ฉะนั้นเวลาอยู่ใกล้หลวงพ่อ จิตมันจะรู้ มันจะ Alert ตื่นตัว มันรู้ง่าย พอจิตของเราตื่นตัวอย่างนี้แล้ว ระลึกลงในร่างกายสิ อย่าให้จิตไหลลงไปในกาย แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย ลองดูสิ ระลึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย แค่ระลึก ไม่ใช่เพ่ง ถ้าเพ่งมันเอาเป็นเอาตาย ระลึกมันก็แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย เห็นไหมร่างกายเราเคลื่อนไหว เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวขยับซ้าย ขยับขวา เดี๋ยวขยับมือ ขยับหัว

รู้สึกไปเรื่อยๆ ใจเราเป็นแค่คนรู้ ไม่นานหรอก เราจะเห็นว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ที่จิตไปรู้เข้า เห็นไหม การเจริญปัญญาแยกรูปนาม ไม่ใช่เรื่องยาก ขอให้จิตตั้งมั่นจริงๆ เถอะ การแยกรูปแยกนามนี้เรื่องชิลๆ เลย ง่ายๆ เลย ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น จะแยกรูปแยกนามเหนื่อยแทบตายเลย พยายามจะดึงจิตออกจากร่างกาย ไปเตลิดเปิดเปิง หลงทางไปเลย

รู้สึกตัว เออ รู้สึกอย่างนี้ล่ะ เห็นไหม ร่างกายมันนั่งอยู่ เห็นไหม ร่างกายหายใจอยู่ เห็นไหม ร่างกายเป็นของถูกรู้ เห็นไหม ร่างกายกับจิตเป็นคนละอันกัน เห็นไหม ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา มันจะเห็นว่าเป็นคนละอันก่อน แล้วมันจะเห็นว่าไม่ใช่เรา คอยรู้สึกอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไปเราก็จะเริ่มล้างความเห็นผิด ว่าร่างกายเป็นตัวเราได้

แล้วด้วยวิธีเดียวกัน คือเรามีจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว ระลึกรู้เวทนา ความรู้สึก นั่งนานๆ ก็ทุกข์ในร่างกาย ร่างกายมันปวดมันเมื่อย มันปวดมันเมื่อยอย่าเพิ่งขยับ รู้สึกก่อน มีความทุกข์แทรกเข้ามาในร่างกาย ความทุกข์ไม่ใช่ร่างกาย ความทุกข์ก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่จิต ความทุกข์ไม่ใช่ตัวเรา พอดูชำนาญก็ดูต่อไปอีก ความปรุงดีปรุงชั่ว จิตเราเป็นกุศล จิตเป็นอกุศล จิตมีโลภะ จิตไม่มีโลภะ จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ จิตหลง จิตรู้

หัดดูเรื่อยๆ แล้วเราจะเห็นว่าโลภะ โทสะ โมหะ เป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ โลภะ โทสะ โมหะไม่ใช่จิต แล้วก็ไม่ใช่เรา พอเดินปัญญาไปช่วงหนึ่ง จิตจะฟุ้งซ่าน กลับมาทำความรู้สึกตัวใหม่ ทำกรรมฐาน ทำไปสบายๆ สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง จิตไหลไปเราก็รู้ จิตไหลไปเราก็รู้ ไหลไปคิดก็รู้ ลืมกรรมฐาน ไหลไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานก็รู้ ทำไปเรื่อยๆ สบายๆ แล้วจิตผู้รู้มันจะเกิดขึ้นมาอีก

พอจิตผู้รู้เกิดขึ้นมา เราก็มาเดินปัญญาต่อ สติระลึกลงในกาย เห็นกายไม่ใช่จิต เห็นกายไม่ใช่เรา สติระลึกรู้เวทนาในร่างกาย เห็นเวทนาในร่างกายไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เรา สติระลึกรู้ความรู้สึกสุขทุกข์ เฉยๆ ทางใจ ก็เห็นว่าความรู้สึกทางใจ เป็นคนละอันกับร่างกาย แล้วก็ไม่ใช่จิต เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า สุขทุกข์ทางใจ ไม่ใช่จิต แล้วก็ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลที่เกิดขึ้นในใจ เราก็รู้ไป เราก็เห็นกุศลอกุศลไม่ใช่จิต มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า แล้วมันก็ไม่ใช่เรา

สมมติว่าดูมาถึงตรงนี้ จิตไม่มีแรง จิตไม่มีแรงกลับมาทำความสงบ ลืมการเจริญปัญญาไป ทำความสงบ จะใช้กรรมฐานอะไรก็ได้ ให้จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตจะมีกำลังขึ้นมา พอจิตมีกำลังก็อัปเกรดจิต รู้ทันจิตที่หลงไปไหลไป จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาอีก แล้วก็เดินปัญญาต่อ ถึงจุดหนึ่งเราจะเห็นว่า ตัวรูปคือร่างกาย เวทนาคือตัวสังขาร ความปรุงดีชั่ว ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เรา ตัวความจำได้ ความหมายรู้ เห็นไหมตัวความจำได้ บางทีก็จำได้ บางทีก็จำไม่ได้ เป็นของที่บังคับไม่ได้ ความจำได้ก็เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่เราอีก

พอภาวนาซ้ำแล้วซ้ำอีก ภาวนาไปเรื่อย เราจะเห็นว่าตัวจิตเอง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด ผู้รู้ก็ไม่เที่ยง ผู้คิดก็ไม่เที่ยง ผู้รู้นั้นถ้าไม่เจือด้วยสัญญาวิปลาส ไม่เจือด้วยจิตวิปลาส เอาอย่างนี้ ไม่เจือด้วยการหมายรู้ผิดๆ ว่าเป็นเรา ไม่เจือด้วยความคิดผิดๆ ว่าเป็นเรา อันนี้เรียกจิตวิปลาส มันก็จะไม่เกิดความเห็นผิด ว่าจิตเป็นเรา

ตัวผู้รู้เองก็เกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้ไปดูรูป เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้ไปฟังเสียง เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้ไปดมกลิ่น เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไปลิ้มรส เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไปรู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลงทางใจ หลงไปคิดเป็นส่วนใหญ่ เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลงเพ่งอารมณ์กรรมฐาน

เราจะเห็นตัวผู้รู้เองก็ยังตกอยู่ใต้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน เช่นเดียวกับรูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย จิตที่เกิดดับทางทวารทั้ง 6 ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าวิญญาณ วิญญาณก็คือจิตนั่นเอง แต่มันออกไปรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ เราจะเห็นว่าจิตผู้รู้ เป็นจิตที่เกิดทางใจ เป็นมโนวิญญาณ อยู่ในใจ แล้วเดี๋ยวจิตทางใจนี้ก็ดับ ไปเกิดจิตที่ดูรูป จิตที่ดูรูปเกิดแล้วก็ดับ มาเป็นจิตผู้รู้อีก แล้วก็เดี๋ยวเป็นจิตผู้ไปฟังเสียง แล้วก็มาเป็นผู้รู้อีก

ตรงที่มันกลับมาเป็นผู้รู้ คือเราต้องฝึกจนชำนาญแล้ว คนทั่วไปไม่มีหรอก มีแต่หลงไปดู พอไม่หลงไปดู ก็หลงไปฟัง ไม่มีจิตผู้รู้มาคั่น เพราะฉะนั้นมันจะมีจิตแต่ผู้หลงๆ หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หลงตลอดเวลา เพราะจิตมันหลงอยู่ จิตมีโมหะอยู่ ปัญญาเกิดไม่ได้ โมหะก็คือตัวไม่มีปัญญา

 

การปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า

ถ้าเราเดินตามเส้นทางนี้ นี่คือทางที่พระพุทธเจ้าสอนเรา แต่เราอย่าเดินเพื่อหาอะไรเข้าตัว เดินไปด้วยความเคารพ ศรัทธาแน่นแฟ้นในพระพุทธเจ้า เรารักษาศีลเป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า ทำสมาธิให้จิตสงบ ไม่วุ่นวายอยู่กับกามคุณอารมณ์ในโลกก็เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ฝึกจิตให้ตั้งมั่นก็เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า แยกรูปแยกนาม แยกธาตุแยกขันธ์ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ถ้าเจริญปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย กระทั่งตัวจิตผู้รู้ ถือว่าเราปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า

การปฏิบัติบูชานั้น มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ ยิ่งกว่าอามิสบูชา การบูชามี 2 อย่าง อามิสบูชา อย่างเราหาดอกไม้ธูปเทียน มาไหว้พระ ถามว่าดีไหม ดี ใส่บาตรให้พระฉันเป็นอามิสบูชา หรือปฏิบัติบูชา ก็แล้วแต่ปัญญาของเรา ถ้าปัญญาเราไม่มาก มันก็เป็นแค่อามิสบูชา เอาของมาถวายพระ ถ้าเรามีปัญญามาก เราก็เห็นว่าที่เราทำนี้ เพื่อลดละกิเลสตัวเอง นี่เราปฏิบัติบูชา

เพราะฉะนั้นการทำสิ่งเดียวกันของคน 2 คน คนหนึ่งทำไปด้วยโมหะ คนหนึ่งทำไปด้วยปัญญา บุญอย่างเดียวกันที่ทำ บุญของคนมีปัญญานั้น ยิ่งใหญ่กว่ามาก เพราะบุญของคนที่ไม่มีปัญญา มันจะส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดไปในสุคติ มีความสุข แต่การที่เราทำบุญด้วยสติ ด้วยปัญญา ทำเพื่อลดละกิเลส ทำเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ไม่ได้ทำเพื่อหวังผลเอาเข้าตัวเอง อันนี้เราปฏิบัติบูชา คือเราขัดเกลาตัวเอง ทำสิ่งเดียวกัน ใส่บาตร 1 ทัพพีเท่ากัน บุญของคน 2 คนนี้แตกต่างมหาศาลเลย คนหนึ่งเวียนว่ายตายเกิด ไปในภพภูมิที่ดีมีความสุข คนหนึ่งจะข้ามโลก ข้ามวัฏสงสาร

เพราะฉะนั้นเราทำอะไร ที่ประกอบด้วยสติปัญญา บุญใดประกอบด้วยสติปัญญา บุญนั้นเป็นบุญใหญ่ บุญใดไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นบุญเล็กน้อย เพราะฉะนั้นทำบุญก็ทำให้มันเป็น ไม่ได้ทำเพื่อจะใหญ่ เพื่อจะเป็นหนึ่ง เพื่อจะเหนือคนอื่น อย่างนี้ยังเข้าใจศาสนาพุทธไม่มาก เราทำทุกสิ่งเพื่อลดละอัตตาตัวตน เพื่อจะเดินตามพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าเสียสละทุกอย่าง กว่าจะได้มาเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อก่อนหลวงพ่อสงสัย พระพุทธเจ้าทำไมสร้างบารมีอะไรมามากมายเลย แล้วไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าสักที จนชาติสุดท้ายมาเป็นพระเวสสันดร พระเวสสันดรไม่เห็นทำอะไรเท่าไรเลย ทำแต่บริจาคทาน แล้วทำไมการบริจาคทานของท่าน ทำให้บารมีท่านเต็ม เพราะท่านบริจาคทานเป็น เราบริจาคเพื่อจะเอา อย่างน้อยก็เอาใบอนุโมทนา เอาไปติดข้างฝา ดูแล้วสบายใจ ก็ดีเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่ดี แต่ท่านไม่ได้ทำอย่างนั้น ท่านทำเพื่อเสียสละออกจริงๆ

ท่านตั้งใจเลย ใครขอชีวิตท่าน ขอร่างกายท่าน ขอหัวใจท่าน ขอดวงตาท่าน ท่านจะให้ทันทีเลย นี่ใจถึงขนาดนั้น แต่มันยังไม่มีใครมาขอ มีคนมาขอช้างคู่บ้านคู่เมือง เป็นของสำคัญประจำเมือง ถ้าให้ไปแล้วต้องเกิดเรื่องแน่เลย ท่านก็กล้าให้ ท่านก็ให้ไป แล้วถูกเนรเทศ เนรเทศแล้วนั่งรถไป นั่งรถม้าไป คนมาขอรถขอม้าก็ให้ไปอีก ก็ลงเดิน ในที่สุดก็มีตาชูชกมาขอลูก ขอลูกก็ให้ ตรงนี้คนรุ่นเราจะไม่เข้าใจแล้ว ให้ได้อย่างไร เด็กมันก็มีชีวิตของมันเอง หรือขอเมียก็ให้ ลูกเมียก็เป็นคน ทำไมไปให้

เราอย่าเอาไม้บรรทัดของคนยุคนี้ ไปวัดไม้บรรทัดของคนยุคก่อน คนยุคก่อนลูกเมียคือทรัพย์สมบัติ คือทรัพย์สมบัติ เราอย่าไปตีความเอามาตรฐานยุคนี้ไปวัด ถามว่าพระเวสสันดรรักลูกรักเมียไหม รัก ไม่ใช่ไม่รัก แต่ท่านกล้าเสียสละ เพื่ออะไร อยากแสวงหาโมกษะ อยากแสวงหาพระนิพพาน เพื่อจะมาช่วยคนนับจำนวนไม่ถ้วน ไม่เฉพาะลูกเมียท่าน คนอื่นท่านก็ช่วย ใจของท่านขนาดนั้น ท่านกล้าสละสิ่งที่ตัวเองรัก ไม่ได้เอาเพื่อจะเอาผลประโยชน์อะไร แค่อยากได้ธรรมะ เพื่อจะมาช่วยเหลือสัตว์โลก ใจขนาดนี้ ใจที่ยอมตายเพื่อธรรมะ มันเป็นใจที่ใหญ่มหาศาล

ถ้าเราภาวนา ครูบาอาจารย์เคยเล่า ว่านิพพานอยู่ฟากตาย เวลาภาวนาจนจะแตกหัก ข้ามภพ ข้ามวัฏสงสาร ตรงนั้นมันทุกข์ที่สุดเลย ทุกข์ถึงขนาดว่า ถ้าภาวนาต่อไปนี้ตายแน่นอนเลย ถ้าเราไม่เคยฝึกจิต ไม่เคยฝึกถึงขั้นปรมัตถบารมี ยอมสละชีวิตเลย เราก็จะกลัว แล้วจะถอย เจ้าชายสิทธัตถะ เห็นไหม ตอนจะบรรลุแล้ว พญามารมาเล่นงาน ถ้าท่านกลัวตายนิดเดียว ท่านก็ถอยจิตออกมา แล้วก็ตกเป็นลูกน้องของมารต่อไป แต่ท่านเคยฝึกเสียสละทุกอย่างกระทั่งชีวิต ยอมได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วท่านถึงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณได้

ค่อยภาวนาถึงได้เข้าใจ ทานบารมีไม่ใช่เรื่องเล่นๆ กล้าถึงขนาดชีวิต ให้ชีวิตเป็นทาน ไม่ธรรมดา อย่างถ้าเราภาวนา ถึงจุดหนึ่งมันจะเห็นทุกข์ ถ้าดูกาย มันก็เหมือนทุกข์จะตายแล้ว ดูจิตก็เหมือนทุกข์ จิตจะแตกจะระเบิด จะตายแล้ว ถ้าเราแค่กลัวตายนิดเดียว จิตจะถอนเลย ไม่เดินปัญญาต่อแล้ว แล้วก็ตกเป็นทาสของมารต่อไป

ก่อนที่เราจะถึงจุดนี้ได้ เราก็ต้องสะสมของเรา ค่อยๆ สะสม ลดละความเห็นแก่ตัวเป็นลำดับๆ ไป ทีแรกมันก็ยังเห็นแก่ตัวบ้าง ก็รู้เท่าทันตัวเองไป แต่ก็ไม่ใช่จะไม่เห็นแก่ตัว ใครขออะไรให้หมด หลวงพ่อจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะหลวงพ่อไม่ใช่พระเวสสันดร เราเป็นแค่สาวกปลายแถว อย่างพวกเราทำบุญมา หลวงพ่อจะเอาไป ส่วนใหญ่ ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้ ก็จะไปให้โรงพยาบาล ปีนี้ ส่วนใหญ่ปีนี้ไปให้ศิริราช ก็หลายล้านอยู่ ที่อื่นก็ทำอยู่เรื่อยๆ

แต่หลวงพ่อจะไม่ทำทานแบบให้คนนั้นคนนี้โดยตรง พอเราไปช่วยคนนี้ปุ๊บ เขาก็หวังให้เราช่วยอีกแล้ว ถ้าเราไม่มีแรงจะช่วยเมื่อไร ก็โกรธเราแล้ว หลวงพ่อจะไม่ยุ่ง ให้ก็ให้มูลนิธิฯ ให้อะไรอย่างนั้นไป แล้วไม่ค่อยทำกับวัด เพราะหลวงปู่ดูลย์ท่านเคยสอนไว้ พระไม่มีหน้าที่สร้างวัด พระมีหน้าที่ไปภาวนา แล้วโยมเขาเห็นคุณค่า เขาเห็นประโยชน์ เขามาขอสร้างเอง

เราไม่ต้องเป็นตัวตั้งตัวตีเรี่ยไรสร้างวัดเลย ไม่ใช่หน้าที่ๆ อันนี้คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นหน้าที่ แต่หลวงพ่อเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนอย่างนั้น เวลามีญาติโยมศรัทธา อยากถวายที่ดิน เขามาหาหลวงปู่ จะขอให้หลวงปู่ ตรงนี้จะยกให้เป็นวัด ขอพระลูกศิษย์หลวงปู่ไปอยู่ พระลูกศิษย์ก็จะเกี่ยงกัน ไม่ได้อยากเป็นสมภาร

ยุคนี้พอบวชปุ๊บก็อยากเป็นสมภารเลย เยอะเลย ยุคนั้นไม่มีใครยอม อยากภาวนาเงียบๆ ไม่อยากเป็นสมภาร หลวงปู่ต้องสั่ง เอ้า ไปอยู่ องค์นี้ไปที่นี้ ก็จะโอดครวญ “ผมจะไปอย่างไร ผมไม่รู้จะสร้างวัดอย่างไร ผมไม่รู้จะทำอย่างไร ทำอะไรไม่เป็น ได้แต่ภาวนา” หลวงปู่บอก “ก็ไปภาวนาล่ะ ไม่ต้องทำอย่างอื่นหรอก ภาวนาให้ดี ญาติโยมเขาสร้างวัดเอง เราไม่ต้องทำ” แต่เดิมครูบาอาจารย์ท่านสอนมาอย่างนี้ ฉะนั้นจะไม่แข่งกันสร้างวัด

เพราะฉะนั้นอย่างถ้าพระออกมาเรี่ยไรอะไร หลวงพ่อก็ไม่ว่าท่านหรอก ท่านก็ดีอย่างของท่าน แต่เราไม่ชอบ เราไม่อยากทำ หลวงพ่อเลยไปทำกับโรงพยาบาล กับอะไรอย่างนี้มากกว่า กับมูลนิธิฯ แต่ไม่ใช่ว่าเขาไม่ดี เขาก็ดีอย่างของเขา สร้างวัดเอาไว้ แล้วก็ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป ถ้าเราทำแล้วไม่เอาเข้าตัว บุญมันใหญ่ ถ้าทำด้วยความโลภ เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง บุญมันเล็ก กระทั่งในสิ่งเดียวกัน ทำแบบเดียวกัน บุญยังไม่เท่ากัน อย่างที่บอก ตักบาตรยังไม่เท่ากัน

 

บุญที่เจือกิเลสไม่สะอาดหมดจด

หรือบางคน ฆราวาสบางคน อยากทำบุญ แล้วก็ไปบอกบุญคนอื่นด้วย ไปเรี่ยไร ไปอะไรต่ออะไร 2 คนเรี่ยไร บุญไม่เหมือนกัน คนหนึ่งเรี่ยไรเพราะว่าอยากได้เงินเยอะๆ หรืออยากได้พรรคพวกเยอะๆ มาช่วยกัน สนุกมากเลย แห่กันไปเยอะๆ ไปทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สนุกดี พรรคพวกเยอะ นี่บุญเล็กน้อย ทำไปเพื่อเอาเข้าตัว หาพรรคพวก

อีกคนหนึ่งบอกบุญเหมือนกัน แต่ว่าตั้งใจว่า เออ เขารู้ ถ้าเขาอยากทำบุญ เขาจะได้โอกาสทำบุญ ไม่ได้อยากได้เงินเขา เขาจะทำไม่ทำ แค่บอกให้เขารู้ บุญมันสูงกว่ากัน ไม่ได้ทำเพื่อจะเอา ไม่ได้อยากได้เงินเขา อย่างพวกที่มาแจกซอง ถามจริงๆ เถอะ อยากให้คนเขารู้ว่ามีการทำบุญนี้ หรือว่าอยากได้เงินในซอง ลองวัดใจดีๆ ส่วนใหญ่ก็อยากได้เงิน เพราะฉะนั้นบุญที่ได้ มันเจือกิเลส เจือบาป ไม่สะอาด ไม่หมดจด ยิ่งถ้าพระลงมือเรี่ยไรเอง ยิ่งไปกันใหญ่เลย ไม่ใช่หน้าที่ จะสร้างโน่นสร้างนี่

ที่นี่ญาติโยมมาขอสร้างอะไรเรื่อยๆ หลวงพ่อไม่เอา แค่นี้ก็พอแล้ว ขอถวายที่ดิน บอกไม่เอา ไม่มีปัญญาดูแล บางคน โอ๊ย ตั้งใจจะถวายให้ได้ ขอถวาย หลวงพ่อไม่รู้จะทำอย่างไร คนเขาจะทำบุญ เราจะไปขวางเขา มันก็ไม่ถูก แต่หลวงพ่อก็บอกเขาว่า ยังไม่ต้องถวายหรอก ไปทำพินัยกรรมยกให้วัดก็แล้วกัน ไม่ต้องมาถวายหลวงพ่อ หลายคนก็ไปทำพินัยกรรม ถ้าตายแล้วจะยกที่ให้วัด ยกบ้านให้วัด

ทำไมต้องอย่างนั้น หลวงพ่อก็บอกเขาตรงๆ ว่า วันนี้ศรัทธา วันข้างหน้าอาจจะไม่ศรัทธา แล้วเสียใจไม่ควรจะยกให้เลย ถ้าทำบุญแล้วเขาจิตใจเศร้าหมองภายหลัง มันเป็นบุญที่เล็กน้อยมากเลย เป็นบุญที่กระพร่องกระแพร่ง ถ้าตายไปแล้วเราเกิดด้วยบุญชนิดนี้ เราจะเป็นคนพิการ นี่ไม่ได้รู้เองหรอก ตำราเขาว่า เพราะฉะนั้นหลวงพ่อก็เลยบอกว่า ไปทำพินัยกรรม

พินัยกรรมมันมีข้อดีอย่างหนึ่ง จะยกเลิกเมื่อไรก็ได้ ไม่หวงว่าเธอจะต้องเอามาให้วัดนี้ หรือเธอต้องให้หลวงพ่อ ส่วนใหญ่จะมาให้หลวงพ่อ หลวงพ่อไม่เอา บอกเอาไป ถ้าอยากได้จริงๆ ก็ทำพินัยกรรมยกให้วัดไป แล้วมันก็จะเป็นภาระของสมภารรุ่นต่อไป หลวงพ่อไม่เกี่ยว วัดมีสมบัติ ยุ่งนะ มีที่ดิน มีอะไร ยุ่ง ไม่ใช่ไม่ยุ่ง จะเอาไปทำอะไร เอาไปให้เขาเช่า เขาเช่าไปนานๆ เขาไม่ยอมออก วุ่นวาย ฟ้องร้องกันวุ่นวาย

เพราะฉะนั้นจริงๆ ไม่อยากได้สมบัติอะไรเลย ทางที่ดี สิ่งที่หลวงพ่ออยากได้ ก็พวกเราภาวนา ภาวนาไว้ คนจะเอารถมาให้ก็มี บอกไม่เอา มีใช้อยู่แล้ว เพราะรถที่ใช้ทุกวันนี้ ก็ไม่ใช่รถหลวงพ่อ รถของโยม รถชื่อของคุณแม่ชี แล้วโยมซื้อ ไม่ใช่หลวงพ่อซื้อหรอก คนขับรถก็ไม่มี ขอยืมคนขับรถคนอื่นเขามา จริงๆ แล้วอะไรที่มันง่ายๆ เรียบง่าย Small is beautiful หัดรู้จักใช้ชีวิตง่ายๆ

บางคนใช้ชีวิตยากไป จริงจังกับทุกเรื่องก็ไม่ดี เคร่งเครียดทุกเรื่อง ไม่ดีหรอก ชีวิตของตัวเองลำบาก แล้วใจมันจะไม่สบาย แล้วทำชีวิตให้มันเบาๆ ให้มันโปร่ง ให้มันเบา ง่ายๆ ทำตัวให้ง่ายๆ อยู่ง่าย กินง่าย ทำอะไรให้มันง่ายๆ ไว้ สบาย ถ้าทุกอย่างต้องเป๊ะ เหนื่อยนะ ต้องเป๊ะ พระในนี้มี บางองค์หลวงพ่อก็ฝึกอยู่ เดี๋ยวนี้ท่านก็ดีขึ้นแล้ว เดิมท่านต้องเป๊ะๆๆ บอก เฮ้ย ง่ายๆ หน่อย Easy Easy พอสบาย ใจก็โล่งขึ้น มันภาวนาง่าย เครียดๆ มันภาวนาไม่ไหว

สรุปก็คือ วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา พวกเราจะต้องมาบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติ การเวียนเทียน มีดอกไม้ธูปเทียนอะไรนี้ พวกนี้เป็นอามิสบูชา แต่ถ้าเวียนเทียนแล้ว เราก็ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นปฏิบัติบูชา เอาดอกไม้ธูปเทียนมากราบ มาไหว้ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า อันนี้ก็ได้ปฏิบัติบูชาด้วย ไม่ใช่มีแต่อามิส

ปฏิบัติบูชานะ ทำไปเพื่อลดละกิเลสของเรา บูชาพระพุทธเจ้า หายใจออก คิดถึงพระพุทธเจ้า หายใจเข้า คิดถึงพระพุทธเจ้า ยืน เดิน นั่ง นอน คิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงคุณของท่าน ท่านมีมหากรุณา ท่านมีบริสุทธิ์ ท่านมีปัญญา ท่านมีบริสุทธิ์

ก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านมีมหากรุณา อยากช่วยสัตว์โลก แล้วท่านก็มีปัญญาตรัสรู้ด้วยตัวเอง ท่านก็เข้าถึงความบริสุทธิ์ด้วยตัวท่านเอง คุณของท่านคร่าวๆ นึกถึงบ่อยๆ แล้วใจเราจะมีกำลัง ได้สมถะ ถ้าใจเรามีสมถะอย่างนี้ นึกถึงพระพุทธเจ้า เกิดรถเราพลิกคว่ำไปวันนี้ เกิดตายวันนี้ ไปสุคติแน่นอน ถ้าใจเรานึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่ ความตายมาถึงเมื่อไรก็ไม่รู้ นั่งเครื่องบินอยู่ดีๆ เครื่องบินยังร่วงลงมา ฉะนั้นเราไม่รู้หรอก

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
22 พฤษภาคม 2567 (ช่วงเช้า)