หลวงพ่อไม่ได้มาทางนี้นาน หลายปีแล้ว เมื่อปี 2559 มีนัดจะมาเทศน์ที่กระบี่ ก่อนวันที่จะเทศน์ พอดีเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง พวกหมอเขาเอาไปอยู่โรงพยาบาลศิริราช เลยไม่ได้มาเทศน์ เลยติดหนี้ชาวกระบี่ไว้ ตอนนี้แข็งแรงขึ้นแล้ว มาใช้หนี้ ถือว่ามาใช้หนี้กัน มีที่หลายแห่งพยายามจะนิมนต์ ช่วงนี้หลวงพ่อไม่ได้รับแล้ว เราแก่แล้ว เดินทางลำบาก แต่ว่าปัญหามันน้อยหรอก พวกเราไม่ได้ขาดแคลนการศึกษาธรรมะ เดี๋ยวนี้สื่อมีอยู่เยอะแยะ เวลาหลวงพ่อเทศน์ก็มีไลฟ์สด ถ้าเราฟังเอา ดูยูทูป ดูเฟซบุ๊ก ก็ภาวนาเป็นก็เยอะ คนที่ภาวนาได้
พวกเรา อันนี้ไตเติ้ล แค่โหมโรง รอพวกเรานิดหนึ่ง ยังทยอยกันมาอยู่ เอ้า อยากถ่ายรูปก็ถ่ายเสีย เดี๋ยวตอนหลวงพ่อเทศน์แล้วก็ อย่าเพิ่งถ่าย ให้สนใจตัวธรรมะ มัวสนใจเรื่องรูป เรื่องเอาไปลง Instagram อะไรต่ออะไร ฟุ้งซ่าน ตกลงกันก่อนต่อไปนี้งดถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ งดเสีย ถวายช่วงเวลานี้ให้กับพระพุทธเจ้าไป ไม่เกินชั่วโมงหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาที่มีคุณค่า ในสังสารวัฏนั้นมันยาวไกล โอกาสที่เราจะได้เจอพระพุทธศาสนา หายากมาก
เมื่อ 91 กัป ก่อนมีพระพุทธเจ้าองค์เดียวชื่อพระวิปัสสี แล้วก็ว่างไม่มีพระพุทธเจ้ามา 60 กัป เมื่อ 31 กัปก่อนยังมี 2 องค์ชื่อพระสิขี กับพระเวสสภู แล้วก็เว้นมาอีก 30 กัปไม่มีพระพุทธเจ้า กัปของเรานี้ถือเป็นกัปที่ดี เรียกภัทรกัป เรามีพระพุทธเจ้าตั้ง 5 พระองค์ ตอนนี้อยู่ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 พระโคตมะ หรือพระอังคีรส ศาสนาของพระพุทธเจ้า อยู่ไม่นานก็อันตรธาน เพราะสู้กับกระแสของกิเลส ไม่ไหว คนที่มีบุญบารมีได้พบพระพุทธเจ้า หรือได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็ปฏิบัติธรรมกัน ก็พ้นๆ ไป
คนส่วนใหญ่นั้นบุญบารมีไม่ถึง ไม่สนใจ อย่างพวกเราดูคนในโลกมีตั้ง 7,000 – 8,000 ล้าน คนที่มีโอกาสฟังธรรมะจริงๆ มีสักเท่าไร ในเมืองไทยเองเราอย่านึกว่าคน 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นชาวพุทธ คน 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นชาวผี นับถือผี นับถือเทวดา ก็ไม่ได้เสียหายอะไรหรอก เพียงแต่ว่ามันเข้าใจศาสนาพุทธไม่ได้ ศาสนาพุทธสอนให้เราพึ่งตนเอง ช่วยตัวเอง ศาสนาที่นับถือสิ่งต่างๆ ก็หวังให้สิ่งอื่นมาช่วยเรา คนส่วนใหญ่มันนิสัยเหมือนเด็กไม่เลิก ตอนเด็กก็ให้พ่อแม่ช่วยเหลือประคบประหงม จนโตก็จะมาก็หวังให้เทวดาช่วยเหลือ เทวดาเองเขาก็มีความทุกข์ของเขา เขาก็มีปัญหาชีวิตของเขา
เคยมีเทวดาองค์หนึ่ง ท่านเป็นนักเล่นพิณ พระอินทร์อยากจะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่คล้ายๆ คนใหญ่คนโต จะไปหาใครสักคน ก็ต้องส่งลูกน้องไปนัดก่อน ก็ส่งเทวดาองค์หนึ่งมา พระพุทธเจ้าท่านนั่งสมาธิอยู่ เทวดานั้นก็มาดีดพิณ ร้องเพลงสรรเสริญพระพุทธเจ้า สรรเสริญพระพุทธเจ้าไปก็รำพึงรำพันไป ไปหลงรักลูกสาวเทวดาอีกองค์หนึ่ง แล้วพ่อตาไม่ชอบหน้า เทวดาก็มีความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านออกจากสมาธิมา เทวดาองค์นี้ก็รายงานว่า พระอินทร์จะมาเฝ้า ท่านก็อนุญาต พระอินทร์ได้ฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้ารอบนี้ ท่านได้ดิบได้ดี มีดวงตาเห็นธรรม ก็เลยให้รางวัลไปสู่ขอลูกสาว มาให้เทวดาองค์ที่เป็นผู้นำมาทูลพระพุทธเจ้า
เทวดาเขาก็ยังมีความทุกข์ ที่ใดมีรัก ที่นั้นก็มีความทุกข์ พวกเรายังหวังเอาเทวดา มาเป็นที่พึ่งที่อาศัยของเรา มันอาศัยไม่ได้ เทวดาก็อยู่ในฐานะเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ของเรา คือต่างคนต่างทุกข์ เราก็ช่วยกันประคับประคองกัน เดินไปในเส้นทางของพระพุทธเจ้า จากที่เคยทุกข์มาก ก็จะทุกข์น้อยลง เคยทุกข์นานก็จะทุกข์สั้นลง เมื่อเดินในเส้นทางของพระพุทธเจ้า ส่วนเส้นทางอื่นๆ นั้นมันทำให้สบายใจ อย่างเวลาเราทำอะไรไม่ดี เรามักไปสารภาพ เรียกสารภาพบาป บาปมันทำไปแล้ว การกระทำทั้งหลายมีผลทั้งสิ้น แต่การสารภาพบาป ไม่ได้ทำให้บาปมันหายไปจริงหรอก มันทำให้สบายใจ ถ้าสบายใจแล้วก็ตั้งใจว่าจะไม่ทำบาปอีก อันนี้อย่างนี้ถึงจะดี
ประตูเมือง 4 ทิศ
พวกเราชาวพุทธ เราต้องพึ่งตนเองให้ได้ อย่าหวังพึ่งคนอื่น อย่าหวังพึ่งสิ่งอื่น การพึ่งตนเองนั้น เราอาศัยฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้รู้เส้นทางปฏิบัติ มันมีหลักการปฏิบัติอันหนึ่งชื่อสติปัฏฐาน มีอยู่ในพระสูตรหลายพระสูตร เกี่ยวกับสติปัฏฐาน แต่สูตรหลักของสติปัฏฐาน ชื่อมหาสติปัฏฐานสูตร เป็นสูตรใหญ่ของสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “ถ้าตราบใดที่ยังมีผู้เจริญสติปัฏฐานอยู่ คนก็ยังเข้าใจธรรมได้อยู่” ขณะนี้หลักของสติปัฏฐานยังมีอยู่ มันอยู่ที่เราจะศึกษาไหม ถ้าเราศึกษา รู้วิธีการแล้ว เราลงมือปฏิบัติ โอกาสที่พวกเราจะบรรลุมรรคผลในชีวิตนี้ ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าเราไม่รู้เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน หวังยาก เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่า “สติปัฏฐานเป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียว เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น”
เพราะฉะนั้นพวกเราชาวพุทธ ก็ควรจะใส่ใจ วันนี้หลวงพ่อจะพูดเรื่องสติปัฏฐานให้พวกเราฟัง สติปัฏฐานเป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าแสดงครั้งแรก ให้ชาวกุรุ ทุ่งกุรุ คือเมืองนิวเดลียุคนี้ สมัยนั้นยังไม่มี ก็เป็นเมืองเล็กๆ คนในทุ่งกุรุเป็นคนมีบุญวาสนา มีบารมีมาก ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านสอนธรรมะชั้นยอดให้ ปกติธรรมะชั้นสูงนี้ พระพุทธเจ้าจะสอนกับพระ แต่ชาวกุรุมีบุญบารมี ท่านสอนธรรมะชั้นสูงคือเรื่องสติปัฏฐาน ให้ชาวกุรุ
ดูประวัติครูบาอาจารย์สายวัดป่า ท่านก็พูดถึงชาวกุรุเหมือนกัน ท่านบอกหลวงปู่มั่นก็เคยเป็นเสนาบดีในกุรุเกษตร หลวงปู่มั่นท่านมีหลาน คือหลวงปู่เทสก์เป็นหลานของหลวงปู่มั่น พากันมาฟังธรรมเรื่องมหาสติปัฏฐาน แล้วก็ลงมือปฏิบัติตั้งแต่ยุคนั้น หลวงปู่มั่นท่านมีความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า บารมีท่านมาก แต่ฟังแล้วก็ท่านก็ยังไม่บรรลุมรรคผล เพราะคนที่หวังพุทธภูมิจะไม่บรรลุโสดาบัน ถ้าบรรลุโสดาบันแล้วไม่นานก็จะปรินิพพาน ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า หลวงปู่เทสก์ก็จะตามหลวงปู่มั่น ญาติผู้ใหญ่จะไปเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ตามไปเป็นสาวก ก็ตามกันมา ท่านพูดถึงกุรุเกษตรว่าเป็นสถานที่ ที่คนมีบุญวาสนา ไปเกิดในยุคนั้นมาก
พวกเราก็ถือว่ามีบุญวาสนา เราได้ฟังธรรมอันเดียวกับชาวกุรุ การเจริญสติปัฏฐาน เข้าเรื่องแล้ว การเจริญสติปัฏฐานเป็นการที่เรามีความเพียร คอยระลึกรู้กาย ระลึกรู้เวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ ระลึกรู้จิตที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศล ระลึกรู้สภาวธรรมที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง เป็นนามธรรมบ้าง แล้วก็สูงสุดเลย ก็คือเรียนรู้กระบวนการของจิต ที่สร้างความทุกข์ขึ้นมาแผดเผาตัวเอง อันนั้นก็คืออริยสัจ หรือปฏิจจสมุปบาท
ในสติปัฏฐานมีตั้ง 4 อย่าง เรียกว่ากาย เวทนา เวทนาคือสุขทุกข์ จิตก็คือ จิตที่เป็นกุศล อกุศล แล้วก็ธรรมะทั้งกุศล ทั้งอกุศล กว้างขวาง ฉะนั้นตัวธัมมานุปัสสนา เป็นธรรมะที่กว้างขวางที่สุด ละเอียด ประณีตลึกซึ้งที่สุด ที่ง่ายๆ นั้นก็คือกายานุปัสสนา การดูกาย กับจิตตานุปัสสนา ดูง่ายๆ ที่จริงเวทนานุปัสสนา ถ้าเรารู้จักวิธีการพลิกแพลงสักนิดหนึ่ง ก็ง่าย ทำไมสติปัฏฐานต้องมีทั้ง 4 ด้าน มีกาย เวทนา จิต ธรรม ตั้ง 4 อย่าง ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับคนๆ หนึ่งจะเริ่มต้นจากกายก็ได้ จากเวทนาก็ได้ จากจิตก็ได้ หรือถ้าบารมีสูงจริงๆ จะเริ่มที่ธัมมานุปัสสนาเลยก็ได้
สติปัฏฐาน 4 มันเหมือนประตูเมือง 4 ทิศ ไม่ว่าเราจะเข้าทางทิศไหน สุดท้ายมันก็เข้าเมืองได้ เพราะฉะนั้นสติปัฏฐาน 4 ไม่ใช่ว่าอันนั้นดีกว่าอันนี้ อันนี้ดีกว่าอันนั้น ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าแจกแจงเอาไว้ตั้ง 4 อย่าง เพราะว่าจริตนิสัย วาสนาบารมีของพวกเรามันไม่เท่ากัน บางคนเป็นพวกชอบความสุข ความสบาย เขาเรียกพวกตัณหาจริต จริตในการทำวิปัสสนามี 2 อัน มีตัณหาจริตกับทิฏฐิจริต ตัณหาจริต คือพวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม ทิฏฐิจริต คือพวกเจ้าความคิด เจ้าความเห็น
เราก็ดูตัวเอง เราเป็นพวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงามหรือเปล่า หรือเราเป็นพวกเจ้าความคิด เจ้าความเห็น มีอะไรก็มีความเห็นได้ทุกเรื่อง หมาจะเห่าก็ยังมีความเห็นได้ ตัวนี้เห่าเพราะ ตัวนี้เห่าไม่เพราะ ตัวนี้เห่าเหมาะสมกับเวลา ตัวนี้เห่าพร่ำเพรื่อ มีความคิดความเห็นได้ทุกเรื่อง คนมันมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ พวกหนึ่งรักสวยรักงาม รักสุขรักสบาย พวกหนึ่งไม่ค่อยสนใจทางร่างกาย สนใจ ยึดถือแต่ความคิดความเห็นของตัวเองเป็นหลัก
ในอดีตคนกลุ่มแรกเยอะ แต่ในปัจจุบันคนกลุ่มหลังเยอะ เราจะเห็นคนเจ้าความคิดเจ้าความเห็น มีเยอะแยะไปหมดเลย ลองไปดูเฟซบุ๊กดูอะไรพวกนี้ ใครเขาตั้งประเด็นอะไรขึ้นมา เข้าไประดมออกความเห็นกันวุ่นวายไปหมดเลย จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง นึกเอาเองบ้าง มีข้อมูลบ้าง ไม่มีบ้าง คนรุ่นเราเป็นพวกเจ้าความคิด เจ้าความเห็นเสียเยอะเลย แต่ก็มีพวกยังรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม ปกติเราแต่ละคน เราจะมีทิฏฐิที่ผสม ทั้งรักสุขรักสบาย รักสวยรักงามด้วย แล้วก็เจ้าความคิดเจ้าความเห็นด้วย เพียงแต่ด้านใดด้านหนึ่ง มันจะเด่นมากกว่ากัน
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
คนที่รักสุขรักสบาย พระพุทธเจ้าก็สอนสติปัฏฐาน ที่เหมาะกับคนรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กับเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายานุปัสสนา ถ้าเรามีสติระลึกรู้อยู่ในร่างกายเรื่อยๆ ไป เราจะรู้สึกร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก ร่างกายเป็นของสกปรก เป็นก้อนทุกข์ เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่ของน่าปลาบปลื้มใจ เพราะฉะนั้นการดูกาย เหมาะกับพวกตัณหาจริต พวกรักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม
อย่างเรารู้สึกร่างกายเรามันก็สบายดี โดยนิสัย โดยปกติทั่วๆ ไป ในวัยเด็กเรา ลองนึกดูตอนเราเด็กๆ อะไรๆ ก็สนุกไปหมดเลย ไปขุดดินขุดทรายเล่น ยังรู้สึกสนุกเลย วัยเด็กๆ วัยหนุ่มวัยสาว ทำอะไรก็รู้สึก แหมชีวิตนี้มีความสุข มีความหวัง พอมาถึงวัยกลางคน เรียนรู้โลกมากขึ้นแล้ว เราเริ่มรู้สึกแล้ว เออ ชีวิตนี้มันมีทั้งสุขทั้งทุกข์ เริ่มเห็นอย่างนี้ พออายุมากขึ้น แก่แล้ว มันจะรู้สึกเลย โลกนี้ไม่มีสาระแก่นสารเลย ทุกอย่างเหมือนฝันๆ ไป ทุกอย่างผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ความสุขมาแล้วก็ไป ทุกข์มาแล้วก็ไป ไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย พอแก่ขึ้นมาก็จะเห็นอย่างนี้ อันนี้ต้องมีวุฒิภาวะด้วย บางคนแก่แล้ว ยังทำตัวเป็นเด็ก สนุกทุกวันอะไรอย่างนี้ อันนั้นเรียกไม่สมวัย
คนที่รักสุขรักสบาย ท่านสอนให้มารู้สึกอยู่ที่ร่างกาย เพราะร่างกายนี้มันจะฟ้องให้เราเห็นเอง ร่างกายนี้ไม่สวยไม่งามจริง ร่างกายนี้ไม่สุขไม่สบายจริง ที่เราหลงรักร่างกายว่ามันสวยงาม มันสุขมันสบาย ถ้าเรามีสติรู้สึกร่างกายอยู่เรื่อยๆ เราจะเห็นความจริงของร่างกาย มันสวยมันงามจริงไหม ตื่นนอนขึ้นมา หน้าก็มันๆ ผมเผ้ายุ่งเหยิง ไม่ล้างหน้าได้ไหม ตัวหอมหรือตัวเหม็น ตื่นเช้าขึ้นมาก็ต้องไปขับถ่าย มีแต่เรื่องแก้ไขความสกปรกในร่างกาย ที่มันหมักหมมอยู่ทั้งนั้นเลย ทำไมเราต้องล้างหน้า เพราะหน้ามันสกปรก ทำไมต้องขับถ่าย เพราะความสกปรกมันอยู่เต็มท้องแล้ว ทำไมต้องอาบน้ำ เพราะมันเหม็น มันสกปรก
ถ้าเรามีสติระลึกอยู่ในร่างกาย อยู่เรื่อยๆ ดูร่างกายไปเรื่อยๆ จะเห็นร่างกายไม่ใช่ของวิเศษหรอก เป็นของสกปรกโสโครก แล้วร่างกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ คนทั่วไปถ้าไม่ได้เคยเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีสติระลึกรู้กายเนืองๆ จะมองไม่ออกว่าร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์ อย่างเด็กๆ มันไม่รู้สึกร่างกายเป็นทุกข์ นึกจะวิ่งมันก็วิ่งได้เลย หกล้มเจ็บประเดี๋ยวเดียว มันก็หายแล้ว เจ็บไข้นิดหน่อยเดี๋ยวก็หายแล้ว ไม่ค่อยรู้สึกว่ามันทุกข์เท่าไร มันก็เลยหลงโลก หลงว่าร่างกายนี้มันดี๊ดี มันของดีของวิเศษ นึกอยากจะวิ่งก็วิ่งได้ นึกอยากจะนอน ถึงที่นอนเอาหัวซุกเข้าไปก็หลับแล้ว
พอเราสังเกตลงในร่างกายเรื่อยๆ เราจะเห็นร่างกายนี้ มันมีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่เห็นเอง เวลาเรานั่งอยู่ สังเกตไหม นั่งเฉยๆ ไม่ได้ นั่งแล้วก็ต้องขยับไปขยับมา ต้องเคลื่อนไหว ทำไมเรานั่งแล้วต้องกระดุกกระดิก เพราะมันทุกข์ พวกเราลองนั่งนิ่งๆ ไม่กระดุกกระดิก แล้วเดี๋ยวความจริงมันจะสอนเรา ร่างกายนี้สุขหรือทุกข์ ลอง ลองนั่งนิ่งๆไม่กระดุกกระดิกดู รู้สึกไหมนั่งๆ อยู่ บางทีก็คันตรงนั้น คันตรงนี้ เวลาเรานั่งอยู่นานๆ มันทุกข์ มันก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ
อย่างพวกเรามานั่งอยู่ในห้องประชุมนี้ เราไม่สามารถเปลี่ยนอิริยาบถใหญ่ ไม่สามารถลุกขึ้นยืน ลุกขึ้นเดินได้ จะลงไปนอนก็ยิ่งน่าเกลียดใหญ่ เราก็ใช้อิริยาบถย่อยในการหนีทุกข์ อย่างเรานั่งตรงๆ มันเมื่อย ก็ขยับอย่างนี้ นั่งขยับไปขยับมา ทำไมมันต้องขยับ เพราะว่ามันจะหนีทุกข์ นั่งนานๆ ก็ทุกข์ ยืนนานๆ ก็ทุกข์ ทำไมยืนนานๆ แล้วต้องไปนั่ง เพื่อหนีทุกข์ นั่งนานๆ ก็ต้องลุกขึ้นยืน หรือลงไปนอนเพื่อหนีทุกข์ เพราะฉะนั้นในร่างกายเรา ที่เราต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อหนีทุกข์
ฉะนั้นสังเกตให้ดี ร่างกายนี้มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกๆ อิริยาบถ ยืนอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นั่งอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ เวลานอน นอนนิ่งๆ หลายๆ ชั่วโมงได้ไหม ไม่ได้ เป็นแผลกดทับ นอนนิ่ง 2 ชั่วโมงก็เริ่มเป็นแผลกดทับได้แล้ว นอนพลิกไปพลิกมา พลิกไปพลิกมา เพื่อหนีความทุกข์ หรือการหายใจของเรา ลองหายใจออก หายใจออกให้ยาวที่สุดเลย ทุกข์ไหม เอ้า หายใจเข้าไป รู้สึกไหมตอนหายใจเข้า มันแก้ทุกข์ของการหายใจออก พอหายใจเข้าไปเรื่อยๆ ก็ทุกข์อีกแล้ว ก็ต้องหายใจออก เพื่อแก้ทุกข์ของการหายใจเข้า
เอาไปลองปฏิบัติดู ยืน เดิน นั่ง นอนอยู่ หายใจอยู่ สังเกตให้ดีเถอะ มันทุกข์ มันไม่ใช่ของดี ร่างกายนี้ไม่มีอย่างอื่น มีแต่ทุกข์ อย่างเราหายใจออกไปเรื่อยๆ มันก็ทุกข์ เราก็หายใจเข้า ตอนที่หายใจเข้าใหม่ๆ เรารู้สึกมีความสุข พอหายใจเข้าไปเรื่อยๆ กลายเป็นทุกข์อีกแล้ว เพราะฉะนั้นความทุกข์นี้ บีบคั้นเราอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ทำให้เราต้องเปลี่ยนการหายใจตลอดเวลา ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ก็เหมือนกัน ไปหัดสังเกตดู ตื่นนอนมา คอยรู้สึกอยู่ในร่างกายของเรา ตื่นมาเมื่อยไหม นอนนานๆ บางทีก็เมื่อย บางคนพอตื่นปุ๊บต้องบิดขี้เกียจเลย เพราะว่ามันปวดมันเมื่อย มันทุกข์
เราก็ดูไป ร่างกายนี้มีแต่ภาระที่ต้องดูแลรักษา พามันไปอาบน้ำ พามันไปขับถ่าย พามันไปกินข้าว มีแต่ภาระมากมาย นี่ล่ะเรียกว่าการเจริญสติปัฏฐาน โดยใช้กายเป็นเครื่องอยู่ เป็นวิหารธรรม พอเรารู้สึกอยู่ในร่างกายเนืองๆ รู้สึกอยู่บ่อยๆ เราจะเห็นว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่ของดีของวิเศษเลย เป็นของสกปรกโสโครก อะไรที่ออกมาจากร่างกายเรานี้ เป็นของสกปรกหมดเลย สิ่งที่ทำให้ร่างกายเราดูดี ก็คือเปลือกนอกของร่างกาย คือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อันนี้เป็นสิ่งที่เรามองปุ๊บ เราจะเห็นเวลาเรามองคน เราเห็นหน้าเขา เห็นอะไรบ้าง เห็นผม เห็นขน เห็นเวลาเขายิ้ม เห็นฟัน เห็นหนังหน้าเขา
จริงๆ สิ่งที่ทำให้ดูดี มันแค่เปลือกที่มาหลอกๆ เรา เหมือนมันห่อของขวัญ ข้างในมีหนูตายอยู่ตัวหนึ่ง แต่ใส่กล่องสวยๆ ถ้าดูผิวเผิน ดูสวยดูงาม ถ้าเราสังเกตให้ดี ร่างกายนี้มันสวยที่เปลือก อย่างเส้นผมเราว่าสวยใช่ไหม ลองไม่สระผม ไม่ได้ต่างกับขนหมาขนแมว เหม็น เหม็นสาบ แล้วถ้าผมเราร่วงเป็นหย่อมๆ เป็นนางงามจักรวาล แต่ผมร่วงเป็นหย่อมๆ สวยไหม ไม่สวย ความสวยสลายไปแล้ว หรือเป็นสาวงามแล้วเป็นขี้เรื้อน ตัวด่างๆ ดำๆ ไม่สวยแล้ว ความสวยนี้บอบบางมาก อยู่ที่ผิวที่เปลือกนี่เอง บางคนยิ้มสวยฟันหลอไปซี่หนึ่ง ยิ้มไม่สวยแล้ว
เวลาเรามีสติระลึกรู้ลงในกาย เราจะรู้เลย มันดูสวยเพราะว่ามีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มาหลอกเรา เวลาเราหนังถลอกไป ไม่เห็นสวยตรงไหนเลย เห็นแต่ความน่าเกลียด พอเรามีสติรู้สึกอยู่ในกาย เราจะรู้ ความสวยความงามไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่ของยั่งยืน ความทุกข์ต่างหากเป็นของจริง ความทุกข์ต่างหากเป็นของยั่งยืน เพราะเรานั่งอยู่ เราก็เห็น นั่งนานๆ ก็ทุกข์ ยืนนานๆ ก็ทุกข์ เดินนานๆ ก็ทุกข์ นอนนานๆ ก็ทุกข์ หายใจออกนานๆ ก็ทุกข์ หายใจเข้านานๆ ก็ทุกข์ ไม่มีอาหารจะกินก็ทุกข์แล้ว กินอาหารแล้วก็ทุกข์อีก อึดอัด กินเยอะเกิน กินแล้วไม่ขับถ่ายก็ทุกข์ ขับถ่ายแล้วก็ไม่ได้กิน ถ่ายอย่างเดียวเลย ก็ทุกข์อีกแล้ว
ลองมีสติระลึกรู้กาย พวกที่รักกายมากๆ กายเราดี กายเราสวย ลองมาดูกายบ่อยๆ จะรู้เลยมันไม่ใช่ของดี ความรักใคร่ยึดถือในร่างกาย มันก็จะลดลง นี้คือการเจริญสติปัฏฐาน คอยระลึกรู้ลงไปเรื่อย เราก็จะเห็นความจริงของร่างกาย พวกที่รักสุขรักสบาย รักสวยรักงาม รักสวยรักงาม มาดูกายจะเห็นไม่สวยไม่งาม รักสุขรักสบาย ลองหัดดูเวทนา เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ อยู่ในกายในใจของเรา สุขทุกข์มันอยู่ในร่างกาย
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เราค่อยๆ รู้สึกไป อย่างวันไหนเรารู้สึก แหม มีความสุขจังเลย พอนั่งไปๆ เราก็เห็น ร่างกายมันทุกข์ แล้วก็เห็นความทุกข์ในร่างกายนี้ แต่เดิมไม่มี นั่งใหม่ๆ ไม่ทุกข์ พอนั่งไปนานๆ ความทุกข์เข้ามาแทรก เข้ามาในร่างกาย ความทุกข์ไม่ใช่ร่างกาย ความทุกข์ไม่ใช่จิตใจ เป็นสิ่งที่แทรกเข้ามาในร่างกาย ความทุกข์ในร่างกายนี้ เราจะดูให้แจ่มแจ้งได้ ควรจะทรงฌาน ถ้าเราไม่ได้ทำฌานเสียก่อน แล้วเรามาดูเวทนาทางกาย สติจะแตกเพราะมันทุกข์มาก มันทุกข์มากจริงๆ อย่างเรานั่งอยู่แล้วเราไม่กระดุกกระดิก หรือเราคันแล้วเราไม่เกา อันนั้นมันมีเวทนา โอ๊ย จิตใจมันระส่ำระสายไปหมดเลย
เวลาเราไปทำฟัน หมอฟันมาทำอะไรยุ่งอยู่ในปากเรา หวาดเสียว เจ็บด้วย กลัวด้วย จิตใจก็มีทุกขเวทนาทางใจ ร่างกายก็มีทุกขเวทนาทางร่างกาย มันเจ็บ จิตใจก็ระส่ำระสาย ฉะนั้นการดูเวทนาจะทำได้ดี สำหรับคนที่ทรงฌานจริงๆ เวลา อย่างเราไปทำฟัน หมอมายุ่งกับปากเรา คนทั่วไปก็คือปากเราเจ็บ แต่ถ้าทำสมาธิได้ ทำจิตมีสมาธิ อ้าปากเขาทำไป จิตเราไปอยู่ในโลกภายใน มีความสุข มีความสงบอยู่ภายในได้ ทั้งๆ ที่ร่างกายเจ็บปวด แต่ถ้าเราไม่ได้ทรงฌาน เวลาไปทำฟัน เจ็บ คือกูเจ็บ มันเจ็บจริงๆ ทุรนทุราย ร่างกายก็เจ็บ จิตใจก็กลัว
ฉะนั้นเรื่องของเวทนาทางกาย ถ้าสมาธิเราไม่พอ เราดูไม่ไหว เดี๋ยวก็คลุ้มคลั่ง สติแตก แต่ถ้าเราชอบดูเวทนา หลวงพ่อแนะนำให้เราดูเวทนาทางใจ เวทนาทางใจไม่ต้องทรงฌานก็ดูได้ เป็นเรื่องง่ายๆ เราก็แค่รู้สึก ขณะนี้จิตใจของเราสุขหรือทุกข์ ขณะนี้จิตใจเราเฉยๆ ไหม หรือมันสุข หรือมันทุกข์ หรือมันเฉยๆ สังเกตเอา เราตอบตัวเองได้ไหม ว่าขณะนี้เราสุข หรือเราทุกข์ ยากไหมที่จะรู้ว่า ตัวเรากำลังสุข ยากไหมที่จะรู้ว่า ตัวเองกำลังทุกข์ ไม่เห็นยากตรงไหนเลย สบายใจ มีความสุขขึ้นมา ก็รู้ กลุ้มใจ จิตใจไม่มีความสุข ก็รู้
ฉะนั้นถ้าจะหัดดูเวทนา สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ของคนยุคนี้ ไม่ได้ฌาน ของพวกเรายุคนี้เป็นยุค เขาเรียกสมาธิสั้น แค่จะอ่านข่าว อ่านได้แต่หัวข้อข่าว แล้วผ่าน ไปดูหัวข้อข่าวอันอื่นแล้ว สมาธิสั้นมาก ยิ่งเล่นอินเทอร์เน็ต สมาธิยิ่งสั้นมากเลย เพราะฉะนั้นพวกเราพวกสมาธิสั้น ยอมรับความจริงเสีย เราจะมาดูเวทนาทางกายนี้ ยาก จิตใจมันจะเตลิดเปิดเปิง ให้เราสังเกตเวทนาทางใจของเรา อย่างเราเห็นดอกไม้สวยๆ งามๆ อย่างสถานที่นี้สวยงาม ต้นหมากรากไม้สวยงาม มีสระน้ำใหญ่ๆ มีบัว มีภูเขา ตรงนี้เป็นสถานที่ ถ้าพูดไป เป็นสถานที่ๆ งดงาม
พอเรามาอยู่ในสถานที่งดงามอย่างนี้แล้ว ใจเรามีความสุข เรารู้ว่าใจเรามีความสุข นี่ล่ะคือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราออกจากที่ตรงนี้ไป เข้าไปในเมือง มีแต่ความวุ่นวาย สถานที่ท่องเที่ยวบางที่ คนจะเหยียบกันตาย สระมรกตอะไรต่ออะไร คนแน่นคลั่กเลย คนลงไปจนกระทั่งไม่เห็นเลย มันมรกตตรงไหน เห็นแต่คน ไม่เห็นน้ำ เข้าไปแล้ววุ่นวาย ดูแล้วไม่มีความสุข เรามีสติรู้แล้วว่า ใจเราไม่มีความสุข เรามาอยู่ในที่สงบ สบาย วิเวก ใจเรามีความสุข เรารู้ว่ามีความสุข
เราคอยวัดใจของตัวเองไป ใจเรามีความสุขเราก็รู้ ใจเรามีความทุกข์เราก็รู้ ใจเราเฉยๆ เราก็รู้ มี 3 อันเท่านั้น สุข ทุกข์ เฉยๆ นี่คือเวทนา คือเวทนาที่เกิดขึ้นในจิตใจเรา มี 3 อย่าง ซึ่งทุกคนสามารถรู้ได้ หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเองบ้าง” ให้อ่านจิตตนเอง จิตเราสุขเราก็รู้ จิตเราทุกข์เราก็รู้ จิตเราไม่สุขไม่ทุกข์ เฉยๆ อยู่เราก็รู้ เป็นกรรมฐานที่แสนจะง่าย ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย กำลังมีความสุขก็รู้ ทุกข์อยู่ก็รู้ เฉยๆ ก็รู้ไป หัดรู้อย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องยากลำบากอะไร
รู้แล้วเราจะเห็นอะไร เราจะเห็นว่าความสุขก็ไม่เที่ยง ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง เฉยๆ เองก็ไม่เที่ยง ใจเราเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็เฉยๆ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปทั้งวันเลย เวลาเรากระทบอารมณ์ที่พอใจ เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส หรือคิดนึกในเรื่องราวที่พออกพอใจ ใจเราก็มีความสุขขึ้นมา แต่ความสุขนั้นอยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป ลองสังเกตใจของเรา ในชีวิตเราที่ผ่านมา เราผ่านความสุขมาเท่าไรแล้ว เห็นไหมว่าความสุขทั้งหลายในชีวิตเรานั้น มาแล้วก็ไปทั้งสิ้นเลย
อย่างตอนยังหนุ่มยังสาว เราอยากจีบสาวสักคนหนึ่ง ยังหาสาวที่ถูกใจไม่ได้เลย ใจก็ไม่มีความสุข พอไปเจอสาวคนนี้ ถูกอกถูกใจแล้ว มีความสุขขึ้นมาแล้ว อยากไปจีบเขา ไม่รู้เขาจะโอเคกับเราไหม ชอบเขา อาจจะชอบเขาข้างเดียว ใจมีความทุกข์อีกแล้ว ทีแรกเห็นผู้หญิงสวย มีความสุข เอ้า อยากได้ เขาจะโอเคกับเราไหม ทุกข์อีกแล้ว เราค่อยสังเกตลงไปในใจเรา สุขมันก็สั้นๆ ทุกข์มันก็ชั่วคราว สุขมันก็ชั่วคราว อย่างเวลาถูกหวย ถูกลอตเตอรี่ เปียแชร์ได้ แหม มีความสุข สุขมันก็อยู่ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็หายไป
ในชีวิตเรานี้ ความสุขมีแต่ของชั่วคราว ผ่านมาแล้วผ่านไป ความทุกข์ก็ชั่วคราว อย่างยกตัวอย่างว่าไปจีบสาวนั้น สาวตกลงยอมมาอยู่บ้านเรา พอมาอยู่นานๆ หลายๆ ปี เบื่อ เบื่อแล้วเมื่อไรจะไปเสียที แอบไปนินทาว่า โอ๊ย เมียเรานี้แก่ง่าย ตายยาก พูดมาก กินจุ ดุอย่างกับหมา อะไรอย่างนี้ หมามันก็อยู่กับหมานั่นล่ะ ลืมดูตัวเองไป ผู้หญิงเขาก็รู้สึกว่าทำไมตัวเองเซ่อ มาเลือกผู้ชายพรรค์นี้ ความสุขที่เคยมีเคยได้ พออยู่นานๆ มันก็จืด ทำไมมันจืด เพราะมันไม่เที่ยง
ถ้าเรามีสติปัฏฐาน ทำสติปัฏฐานเราค่อยๆ เห็น ความสุขเกิดขึ้น มันอยู่ได้ชั่วคราว มันก็หายไป ความทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้น มันอยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป ความเฉยๆ ทั้งหลายเกิดขึ้น มันอยู่ชั่วคราวแล้วมันก็หายไป พอเราเห็นซ้ำๆๆ ไปเรื่อยๆ ต่อไปปัญญามันเกิด มันจะรู้ว่าความสุขก็เป็นของชั่วคราว ไม่เที่ยง บังคับเอาไว้ก็ไม่ได้ สั่งให้อยู่นานๆ ก็ไม่ได้ สั่งให้ความสุขเกิดขึ้นก็ไม่ได้ ความทุกข์ห้ามมันว่าอย่าเกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วไล่มันก็ไม่ไป ตรงที่มันไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เรียกว่า “อนัตตา” ตรงที่มันมาแล้วมันก็ไปเรียกว่า “อนิจจัง” มันไม่เที่ยง
“เมื่อไรเรารู้สึกว่า สิ่งที่มาปรากฏต่อหน้าต่อตาเรานี้
ทั้งกายทั้งใจ เป็นเรื่องธรรมดา
ใจเราจะเข้าสู่ความเป็นกลาง”
พอเรามีสติรู้เวทนาที่เกิดในใจเราเรื่อยๆ เราจะรู้เลย สุขก็ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ ทุกข์ก็ไม่เที่ยง บังคับไม่ได้ พอรู้ความจริงตรงนี้ ความหิวในความสุข ความเกลียดชังในความทุกข์ ก็จะเริ่มลดลง ทุกวันนี้ที่เราดิ้นพล่านๆ กัน เราดิ้นหาความสุข ไปนึกดูให้ดี บางคนก็ดิ้นอยากทำงานได้เงินเยอะๆ คิดว่ามีเงินเยอะแล้วจะมีความสุข ที่ต้องการไม่ใช่เงิน ที่ต้องการคือความสุข แต่บางทีไม่ฉลาด ก็หาเงินจนกระทั่งไม่ได้มีความสุขเลยทั้งชีวิต หลวงพ่อเจอเยอะ หลายคนทุ่มเททำงานตลอดเวลาเลย เก็บเงินไว้ กะว่าตอนแก่จะมีความสุข พอแก่แล้วไม่ได้มีความสุข เงินทองที่มีเอาไปให้หมอหมดเลย ตัวเองไม่ได้ใช้เงิน มีความทุกข์ ไม่ได้มีความสุขจริง
ฉะนั้นสิ่งที่คนเราปรารถนาคือความสุข แต่ความสุขมันเป็นของไม่ยั่งยืน ถ้าเราทำใจตรงนี้ไม่ได้ เวลาความสุขมันหายไป เราจะกลุ้มใจ เวลาความสุขมันยังไม่มา เราก็จะกลุ้มใจ เฝ้าเพ้อฝันรอคอย เวลาความทุกข์มา เราก็เกลียดชังมัน เมื่อไรมันจะจบเสียที ทำไมมันยาวนานนัก ที่จริงความทุกข์ก็ไม่เที่ยง พวกเราลองนึกถึงในอดีตที่ผ่านมา ที่เราเคยมีความทุกข์ ทุกคนต้องเคยทุกข์มาแล้ว เห็นไหม จึงจุดหนึ่งมันก็ผ่านไป ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง
ถ้าจิตมันยอมรับตรงนี้ได้ สุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง สุขกับทุกข์ มันมาแล้วมันก็ไป ความหิวโหยในความสุข ความเกลียดชังในความทุกข์ มันก็จะค่อยๆ ลดลง ใจมันก็จะเข้าสู่ความเป็นกลาง เวลามีความสุขเกิดขึ้น มันก็ไม่หลงระเริง เวลามีความทุกข์เกิดขึ้น มันก็ไม่ตีโพยตีพาย ไม่เศร้าหมอง มันก็รู้ว่าทุกอย่างมันมาจากเหตุ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุมันก็ดับ อย่างเราเห็นดอกไม้สวยๆ อย่างนี้ เรามีความสุข มีเหตุคือได้เห็นดอกไม้สวย แต่ดอกไม้มันก็เหี่ยว ความสุขอันนั้นก็หายไป ความสุขทั้งหลายเกิดแล้วดับ ความทุกข์ทั้งหลายเกิดแล้วก็ดับ
ถ้าเราภาวนาสม่ำเสมอ เจริญสติปัฏฐานด้วยการดูเวทนา ความสุขความทุกข์ในจิตใจของเรา เราจะรู้ไม่มีสาระเท่าไรหรอก ดิ้นรนหาแทบตาย แล้วก็ว่างเปล่า สุดท้ายสุขก็หายไป ทุกข์ก็ไม่ยั่งยืน ไม่มีอะไรที่บังคับได้ นี่เรียกว่าการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทำไปแล้วชีวิตเราเข้าสู่ความเป็นกลางได้ สงบร่มเย็นได้ ดูกายก็เหมือนกัน สุดท้ายจิตใจเราก็เข้าสู่ความเป็นกลาง เราเคยหลงยินดีกับร่างกาย หรือเราเคยเบื่อหน่ายร่างกายที่เจ็บป่วย เราก็เห็น ร่างกายนั้นมันก็เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง ร่างกายนี้มีธรรมชาติที่เป็นทุกข์ ร่างกายนี้บังคับไม่ได้ เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ เป็นสมบัติของโลก
ถ้าเราเจริญสติปัฏฐานด้วยการดูกาย เราก็จะเห็นกายในมุมของไตรลักษณ์ เราก็จะไม่ค่อยหลงระเริงในกาย เวลาร่างกายเราแข็งแรง เราก็ไม่ได้คิดว่า มันจะต้องแข็งแรงตลอดกาล เวลาร่างกายของเราแก่เฒ่า เศร้าหมองลงไป เราก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเมื่อไรเรารู้สึกว่า สิ่งที่มาปรากฏต่อหน้าต่อตาเรานี้ ทั้งกายทั้งใจ เป็นเรื่องธรรมดา ใจเราจะเข้าสู่ความเป็นกลาง สุขมาแล้วก็ไป ทุกข์มาแล้วก็ไป นี่คือเรื่องธรรมดา เกิดแล้วก็แก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตาย นี่เรื่องธรรมดา คำว่า “ธรรมดาๆ” นั้น ก็คือคำว่า “ธรรมะ” นั่นล่ะ คือความเป็นธรรมะ ธรรมะมันเป็นอย่างนี้ คือเป็นของทั้งหลายที่เกิดขึ้นมา ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ถ้าเราดูความจริง จนจิตมันยอมรับความจริงได้ ก็เรียกว่าจิตมันมีดวงตาเห็นธรรม มันเข้าใจธรรมะ ร่างกายนี้เป็นธรรมดา ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย จิตใจเรานี้ก็เป็นธรรมดา ที่สุขบ้าง ทุกข์บ้าง หัดดูแล้วมันจะเข้าใจกับคำว่า “ธรรมดา” พอมันยอมรับว่าธรรมดาของกายเป็นอย่างนี้ แล้วมีอะไรเกิดขึ้นในกาย มันจะไม่ทุกข์อีกแล้ว ถ้ามันยอมรับได้ ถึงความเป็นธรรมดาของเวทนาทั้งหลาย มีเวทนาใดๆ เกิดขึ้น หรือเวทนาใดหายไป ใจก็เป็นกลาง ก็ไม่ทุกข์
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
สติปัฏฐานอันที่สาม เรียกว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นการดูจิตที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง จิตที่เป็นอกุศลก็มีจิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตหลงก็ เช่น จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ ห่อเหี่ยว จิตตระกูลหลง เวลาเราจะทำจิตตานุปัสสนา ในสติปัฏฐานอันที่ 3 ทำอย่างไร อันแรกดูตัวเองก่อน นิสัยเราขี้โลภ หรือขี้โกรธ หรือขี้หลง ดูตัวเองก่อน สมมติว่าเราเป็นคนขี้โกรธ หลวงพ่อตั้งแต่หนุ่มๆ มา เป็นคนใจร้อน อยู่ในตระกูลโทสะ ขี้โกรธ อะไรนิดหนึ่งก็ขัดใจ อย่างนัดคนไว้แล้วเขาผิดนัด ก็โกรธ อะไรนิดหนึ่งก็โกรธ อยู่ในห้องเย็นๆ มืดๆ เปิดประตูห้องออกไป แสงแดดกระทบตานิดเดียว ก็ยังหงุดหงิดเลย นี้พวกขี้โกรธ
บางคนขี้โลภ เห็นอะไรก็อยากได้หมดเลย เห็นต้นไม้อยากได้ต้นไม้ เห็นรถยนต์อยากได้รถยนต์ เห็นเสื้ออยากได้เสื้อ อยากไปหมด เห็นเมียชาวบ้านก็อยากได้ พวกนี้ขี้โลภ พวกขี้หลง ก็พวกฟุ้งซ่านบ้าง พวกใจลอยบ้าง วันๆ เผลอๆ เพลินๆ ทั้งวัน นั่นพวกขี้หลง เรามาสังเกตตัวเองก่อน เราเป็นพวกขี้โกรธ พวกขี้โลภ หรือพวกขี้หลง พวกฟุ้งซ่าน เวลาหลงก็คือฟุ้งซ่าน ดูตัวเองว่าเราเป็นแบบไหน แบบไหนเกิดบ่อย ไม่ว่าแบบไหนเกิดบ่อย สมมติว่า อย่างหลวงพ่อโทสะเกิดบ่อย หงุดหงิดเก่ง หลวงพ่อก็ใช้หลักของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลายจิตมีโทสะ ให้รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะ ให้รู้ว่าไม่มีโทสะ”
ฟังตรงนี้ให้ดี “ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ ให้รู้ว่าไม่มีราคะ” “ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะ ให้รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะ ให้รู้ว่าไม่มีโทสะ” “ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ ให้รู้ว่าหดหู่” สังเกตให้ดี กิริยามีอยู่คำเดียว คือคำว่า “รู้” จิตมีโทสะ “รู้“ ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะ “รู้” ว่าไม่มีโทสะ จิตมีราคะ “รู้” ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ “รู้” ว่าไม่มีราคะ จิตฟุ้งซ่าน “รู้” ว่าฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ “รู้” ว่าหดหู่ เห็นไหมกิริยามีอยู่คำเดียว คือคำว่า “รู้” แต่ความจริงก็คือ ในสติปัฏฐานทั้งหมด มันมีกิริยาอยู่แต่คำเดียวนี่ล่ะ คือคำว่า “รู้” หรือคำว่า “เห็น”
“รู้” “เห็น” ก็ตัวเดียวกัน สไตล์เดียวกัน อย่างท่านบอก “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว” เห็นไหม กิริยาคือ “รู้” หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว กิริยาคือ “รู้” “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อยืนอยู่ ให้รู้ชัดว่ายืนอยู่ เมื่อนั่งอยู่ ให้รู้ชัดว่านั่งอยู่” กิริยาก็คือ “รู้” พอมาดูจิต จิตมีโทสะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้ ฉะนั้นจับหลักตัวนี้ให้แม่น ตัวนี้เป็นหัวใจของการปฏิบัติเลย เราไม่ได้ทำอย่างอื่น เรารู้ เพราะฉะนั้นอย่างเวลาจิตมีความทุกข์เกิดขึ้น ให้ “รู้” ไม่ใช่ให้ “ละ” ให้รู้ จิตมีกิเลสเกิดขึ้นให้ “รู้” ไม่ใช่ให้ “ละ”
เพราะฉะนั้นอย่างโทสะเกิดขึ้น ไม่ต้องละ ให้มีสติรู้ว่าโทสะกำลังมีอยู่ ทันทีที่สติเกิด โทสะจะดับอัตโนมัติ มันดับเอง เป็นอัตโนมัติเลย เพราะฉะนั้นเราสังเกตไปเรื่อยๆ จิตเรามีกิเลสอะไรเป็นตัวหลัก เราใช้ตัวนั้นเป็นพื้นฐานไว้ แล้วตัวอื่นเราก็จะเห็นตามได้ อย่างหลวงพ่อจิตมีโทสะเป็นพื้น หลวงพ่อก็ดูจิต เดี๋ยวก็มีโทสะ เดี๋ยวก็ไม่มีโทสะ ต่อมาพอจิตมีราคะ มันก็เห็นเอง พอจิตมันฟุ้งซ่าน มันก็เห็นเอง เพราะฉะนั้นเบื้องต้นเอาสักตัวหนึ่ง เอาตัวที่มันเกิดบ่อยๆ คนไหนขี้โลภ หรือคนไหนขี้อิจฉา เจออะไรก็อิจฉาๆ อิจฉานี้ก็ตระกูลโทสะ
พวกเรามีไหม คนไหนเป็นคนขี้อิจฉา ดูตัวเองออกไหม ลองยกมือให้หลวงพ่อดู คนไหนขี้อิจฉา เออ เก่งๆ ดี คนไหนขี้โลภ ยกมือ เออ แล้วข้างหลังไม่มีกิเลสเลย คนไหนฟุ้งซ่าน ยกมือ เออ คราวนี้ยอมยกแล้ว เมื่อกี้ไม่ยอมยก ยากไหมที่จะรู้ว่า เราเป็นคนขี้โกรธ ขี้โลภ ขี้หลง ไม่ยากอะไร เรารู้ได้อยู่แล้ว มันเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมะมันเรื่องธรรมดาเท่านั้นเอง เพียงแต่เราหัดไปดูมันบ่อยๆ จนเรายอมรับความเป็นธรรมดาของมัน ธรรมดาของกายก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ธรรมดาของความสุขความทุกข์ ก็คือเกิดแล้วก็ต้องดับไป ธรรมดาของความดีความชั่ว ก็คือเกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน ดูให้เห็นว่ามันธรรมดา
หัดดูบ่อยๆ ก็จะเห็น เออ จิตโกรธเกิดขึ้นแล้วก็ดับ จิตโลภเกิดแล้วก็ดับ จิตหลงเกิดขึ้นแล้วดับ ทีแรกก็เอาอันที่เราถนัดก่อน แล้วต่อไปมันก็จะเห็นอันอื่นได้ด้วย เห็นได้ทุกตัว นี้เรียกว่าการเจริญจิตตานุปัสสนา เราเห็นจิตใจของตัวเองไป มีกิเลสเราก็รู้ กิเลสหายไปเราก็รู้ หัดรู้ไปเรื่อยๆ ฝึกอย่างนี้ ส่วนธัมมานุปัสสนานั้นยาก เอาไว้ทีหลัง แต่หลวงพ่อบอกก่อนว่า ถ้าพวกเราเจริญกายานุปัสสนา หรือเวทนานุปัสสนา หรือจิตตานุปัสสนา สุดท้ายทุกคน มันจะไปลงที่ธัมมานุปัสสนาโดยอัตโนมัติ
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ธัมมานุปัสสนาขั้นสูงสุด คือการเห็นปฏิจจสมุปบาท คือเห็นอริยสัจ 4 นั่นเอง พระพุทธเจ้าเจริญสติปัฏฐานไหม เจริญ เพราะพระพุทธเจ้าท่านบอกไว้แล้วว่า “สติปัฏฐานเป็นทางสายเอก ทางสายเดียว เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น” เพราะฉะนั้นท่านก็เดินสติปัฏฐาน แต่บุญบารมีท่านสูงกว่าพวกเรามาก ของเราก็ดูกาย ดูเวทนา ดูจิตไป ของท่านเบื้องต้นท่านทำอานาปานสติให้จิตสงบ แล้วก็ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่สมาธิสงบเซื่องซึม หรือสมาธิสงบแล้วเห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ
พระพุทธเจ้าทำสมาธิแล้ว จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว เข้าฌานที่ 4 มีอุเบกขา แล้วเสร็จแล้วท่านก็โน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ คือท่านไปดู ก็ไปดู ไปเห็น ว่าอะไรมีอยู่ ความทุกข์มันถึงมีอยู่ เพราะความเกิดมันมีอยู่ ความทุกข์ก็มีอยู่ ท่านดูๆๆ ไป จนสุดท้ายอวิชชามีอยู่ ความปรุงแต่งของจิตก็มีอยู่ พอจิตมันปรุงแต่ง ก็คือจิตมันสร้างภพ สร้างชาติ สุดท้ายมันก็มีผล คือความทุกข์เกิดขึ้น ท่านก็รู้แจ้งเห็นจริงตลอดสาย เหตุของทุกข์ก็คืออวิชชา ตัณหา อุปาทาน เหตุของความดับทุกข์ ก็คือการดับอวิชชา ตัณหา อุปาทาน
ระดับพระพุทธเจ้า ท่านเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ไม่เจริญ ตรงที่ท่านดูปฏิจจสมุปบาท ไล่ขึ้นไล่ลง ทวนไปทวนมา นั่นล่ะท่านเจริญสติปัฏฐานอยู่ แล้วท่านบรรลุพระอรหันต์ บารมีระดับท่าน ท่านก็ต้องเอาของสูงสุด ยากสุด คือการเจริญเรียก “บรรพ” “สัจจบรรพ” ดูอริยสัจ อยู่ในธัมมานุปัสสนา แต่พวกเราไม่ต้องตกใจ ถ้าเราดูกายไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเราก็จะเข้าไปเห็นอริยสัจ เราดูเวทนาเรื่อยๆ วันหนึ่งเราก็เห็นอริยสัจ เราดูจิตไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็เห็นอริยสัจ แต่เวลาดูกาย ดูไปๆ เรารู้ไหมกายนี้คือตัวทุกข์ กายไม่ใช่ตัวดี กายคือทุกข์
การที่เห็นกายคือตัวทุกข์ เราเห็นทุกขสัจแล้ว เริ่มเข้าเห็นอริยสัจแล้ว แล้วพอเรารู้ความจริงแจ่มแจ้งแล้ว กายนี้ก็ทุกข์ จิตนี้ก็ทุกข์ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป พอเห็นอย่างนี้แล้ว จิตมันก็หมดความอยากที่จะพ้นทุกข์ หมดความอยากที่จะบรรลุมรรคผล หมดความอยากทุกสิ่งทุกอย่าง อยากให้กายให้ใจเป็นสุขอะไรอย่างนี้ ไม่มี อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์ ไม่มี อยากบรรลุมรรคผล ไม่มี จิตที่พ้นความอยาก นั่นล่ะเรียกว่ามันละสมุทัยได้
มันละสมุทัย คือละกิเลสตัณหาได้ เพราะมันรู้ทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็เป็นอันละสมุทัย ถ้าละสมุทัยได้ ก็แจ้งนิโรธ การถึงนิโรธในขณะนั้นเลย คือเห็นพระนิพพาน แล้วขณะนั้นอริยมรรคเกิดขึ้น การรู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญอริยมรรค เกิดขึ้นในขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง การที่จะแตกหักในวัฏฏะนี้ มันจะเกิดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง หลวงพ่อเคยถามหลวงปู่ดูลย์ ดูในพระไตรปิฎกเราก็รู้ว่ามี 4 ครั้ง ลองถามหลวงปู่ดูลย์ดู ว่ามันต้องเกิดกี่ครั้ง ท่านก็บอกว่า 4 ครั้ง 4 ครั้งคือขั้นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ขั้นพระอรหันต์ เกิดมรรคผลทั้งหมด 4 ครั้ง
วิธีปฏิบัติก็เหมือนกัน “มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ประโยคนี้ก็คือหัวใจของการทำสติปัฏฐาน มีสติรู้กายรู้ใจ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นแล้วก็เป็นกลาง ถ้าเป็นกลาง จิตจะหมดความปรุงแต่ง ถ้าไม่เป็นกลาง จิตจะปรุงแต่งต่อ ความพ้นทุกข์มันก็จะอยู่ตรงนี้
วันนี้เท่านี้นะ หลวงพ่อขออนุโมทนากับทางรีสอร์ท ใจเจ้าของเขา ใจเป็นบุญเป็นกุศล ให้พวกเราใช้สถานที่ฟรี ถ้าในกรุงเทพฯ บางที่ค่าเช่าเป็นล้านเลย จนหลวงพ่อบอกมูลนิธิสื่อธรรมฯ บอกอย่าไปเอาเลย ไปเทศน์ที่นั่น 2 – 3 ที ก็มูลนิธิฯ ล้มละลายแล้ว ไปเทศน์ที่ถูกๆ กว่านั้นก็ได้ แต่ที่นี่เขาให้ฟรี ก็อนุโมทนากับที่นี่ อันนี้คือทาน ให้สถานที่ ค่าใช้จ่ายก็เยอะ เปิดแอร์ เปิดไฟ ห้องน้ำ ค่าใช้จ่ายทั้งนั้น ทำความสะอาด นี่ก็เป็นการทำทาน เกื้อกูลให้พวกเราได้ฟังธรรมะ ก็เป็นทานที่สำคัญ แล้วทีมงาน หลวงพ่อก็อนุโมทนา ทีมพวกนี้มาช่วยกันทำงาน หลวงพ่อถามว่ามีเงินหรือเปล่า ไม่มีเดี๋ยวให้ เขาก็บอกไม่เอา เขาทำด้วยใจจริงๆ ทีมงานหลวงพ่อส่วนใหญ่ ไม่มีผลประโยชน์ตอบแทน ทำด้วยอุดมการณ์ร่วมกัน ว่าทำอย่างไรจะสามารถรักษาสืบทอดคำสอนของพระพุทธเจ้าเอาไว้ให้ได้
พวกเราก็เห็นแล้วว่า ทุกวันนี้ศาสนาเราง่อนแง่นเต็มที คนรุ่นใหม่จำนวนมาก เขาบอก เขาไม่เอาศาสนาแล้ว เพราะไม่รู้ว่ามีประโยชน์อะไร มีแต่ว่าทำพิธีกรรม เรี่ยไร เขารู้สึกไม่มีประโยชน์ อันนั้นก็เป็นการด่วนตัดสิน เขายังไม่ได้ศึกษาว่า ศาสนาพุทธจริงๆ เป็นอย่างไร ถ้าเขาได้ศึกษาจริงๆ แบบพวกเรา เขาจะรู้ว่าศาสนาพุทธมีคุณค่าขนาดไหน แล้วพอเราเข้าใจขึ้นมา เรารู้ว่าศาสนาพุทธมีคุณค่า ใจเราเกิดความเมตตากรุณา เราอยากเผื่อแผ่คุณงามความดี ความรู้อันนี้ออกไป เพื่อคนอื่นจะได้ทุกข์น้อยลงบ้าง จะได้มีความสงบสุขมากขึ้น
พอมีอุดมการณ์ร่วมกันอย่างนี้ ก็เลยมาช่วยกันทำงาน ไม่ได้เรียกร้องผลประโยชน์อะไร พวกเรามาฟังก็ฟรี เพราะหลวงพ่อไม่เคยเก็บสตางค์ ฟังก็ฟังฟรี ขออย่างเดียว ฟังแล้วเอาไปปฏิบัติ เพื่ออะไร เพื่อชีวิตของเราจะดีขึ้น นี้อันที่หนึ่งเลย เราจะทุกข์น้อยลง เราจะสงบสุขมากขึ้น ท่ามกลางโลกที่วุ่นวายรุนแรงมากขึ้น นี้ข้อแรกที่เราได้แล้ว คือตัวเราเองได้ ต่อไปก็คือพอเราเข้าใจแล้ว เราก็เผื่อแผ่ความร่มเย็นนี้ ให้คนอื่นเขามีโอกาสสัมผัสบ้าง ก็ช่วยๆ กันไป
นี่คืองานที่พระพุทธเจ้ามอบหมายให้พวกเราชาวพุทธ ท่านบอก “ให้เธอทั้งหลาย ให้ทำประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท” ไม่ประมาทก็คือ รีบทำเสียตั้งแต่วันนี้ อย่ารอจนใกล้ตาย แล้วถึงจะเริ่มปฏิบัติ ฉะนั้นต้องไม่ประมาท ทำประโยชน์ของเราเอง เราศึกษา เราปฏิบัติ พอเรารู้ เราเข้าใจ เราก็เผื่อแผ่ของดี ของวิเศษนี้ ออกไปให้คนอื่นเขาบ้าง คนไหนเขาอยากรับ ให้เขาไป คนไหนเขาไม่เอา ยังไม่ถึงเวลาของเขา อย่าไปโกรธเขา
บางคนยังไม่ถึงเวลาของเขาที่จะรับธรรมะ เขายังต้องทุกข์ไปก่อน เราก็มองเขา เออ น่าสงสาร มองด้วยความเมตตากรุณา มีแต่คนในโลก มันก็มีแต่ทุกข์ ทุกคนก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์กัน คนไหนเราสงเคราะห์ได้ เราก็ให้ธรรมะเขา คนไหนยังไม่ได้ก็อย่าไปโต้แย้งกับเขา ให้เขาโมโห ยิ่งเขาโมโห เขายิ่งทำบาปมากขึ้น อาจจะด่าไปถึงพระพุทธเจ้าก็ได้
หน้าที่ของเราชาวพุทธ ทุกคนในที่นี้มีหน้าที่ 2 ข้อนี้ ข้อแรกทำคุณประโยชน์ให้เกิดกับตัวเอง ปฏิบัติไป ข้อสอง ถ้ารู้แล้ว เข้าใจแล้ว เห็นประโยชน์แล้ว ก็เผื่อแผ่ให้คนอื่น คนรอบๆ ตัวเราก่อนก็ได้ คนในบ้านเรา ในครอบครัวเรา เพื่อนๆ เรา ค่อยๆ ขยายออกไป หลวงพ่อก็ทำมาแบบนั้น เบื้องต้นก็ภาวนาอยู่กับหลวงปู่ดูลย์ แล้วก็ลงมากราบหลวงพ่อพุธด้วย ภาวนามาได้สัก 2 ปี หลวงพ่อพุธท่านก็สั่งบอกว่า “ให้คุณไปเผยแพร่” ครูบาอาจารย์สั่ง ไม่ใช่หลวงพ่ออยู่ๆ ก็เที่ยวมาไล่เผยแพร่
ท่านบอกว่า “คนจริตนิสัยแบบคุณ ต่อไปจะมีมาก” คือคนเมือง ไม่ใช่คนที่จะเชื่ออะไรง่ายๆ แล้ว “คนจริตนิสัยอย่างคุณ จะมีมาก ถ้าได้ฟังธรรมะอันนี้แล้ว ชีวิตเขาจะได้ทุกข์น้อยลง” ฉะนั้นที่หลวงพ่อทำมาทุกวันนี้ ก็อยู่ในหลัก 2 ตัวนี้ ทำประโยชน์ของตัวเองด้วย ด้วยการปฏิบัติ ทำประโยชน์ของผู้อื่น ผู้ใดสมควรได้ฟัง ได้ยิน ก็ได้ให้เขาได้มีโอกาสเท่านั้นล่ะ พวกเราก็รับงานอันนี้ทำไปด้วย นั้นคืองานของชาวพุทธทุกๆ คน ขออนุโมทนาพวกเราทุกคนด้วย ที่มาตั้งใจฟังธรรมะ ขอให้มีความสุข มีความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม
วันสวนสันติธรรม
18 มีนาคม 2566