จุดตั้งต้นทั้งหมดมาจากสติ

มีสติต่อเนื่อง พยายามฝึกเข้า หัดรู้สภาวะไป อย่างเห็นร่างกายมันนั่ง ร่างกายมันเคลื่อนไหว คอยรู้สึก การที่เราคอยรู้สภาวะเรื่อยๆ อย่างเรารู้ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ต่อไปพอร่างกายเคลื่อนไหวนี่ สติจะเกิดเอง จะรู้สึกเองไม่ต้องตั้งใจ แต่ก่อนจะถึงจุดนั้นก็ต้องตั้งใจก่อน

ตอนหลวงพ่อภาวนากับหลวงปู่ดูลย์ ท่านบอกว่าหลวงพ่อช่วยตัวเองได้แล้ว หลวงพ่อก็ออกไปดูสำนักต่างๆ ที่มีชื่อเสียง ไปเจอวัดสนามใน ไปดูหลวงพ่อเทียน เห็นท่านสอนขยับ 14 จังหวะ หลวงพ่อก็เอาไปลองทำดู ไปนั่งอยู่ในวัดท่านล่ะ นั่งขยับๆ ไปเรื่อย ต่อมาฝึกอยู่ไม่กี่วัน เล่นอย่างของท่าน ไปนั่งขยับอยู่ในวัดท่าน 14 จังหวะ ขยับแล้วมันไม่ชิน หลวงพ่อเป็นพวกโทสจริต กรรมฐานอะไรที่ยุ่งยากมาก มีตั้ง 14 จังหวะ รำคาญ หลวงพ่อเลยเหลือ 2 จังหวะแค่นี้ กำแล้วแบ กำแล้วแบ แค่นี้เอง ฝึกแค่นี้

ทำเรื่อยๆ ตรงที่เราขยับอย่างนี้ให้มันเป็นสมถะก็ได้ เป็นวิปัสสนาก็ได้ อย่างเราขยับแล้วจิตมันสงบอยู่กับการขยับนี่ จิตรวมลงไปเลย นั่งอยู่ในวัดสนามในนั่นล่ะ จิตลงภวังค์ไป แล้วเห็นจิตมันขึ้นจากภวังค์ ขึ้นมา ทีแรกมันสว่างขึ้นมา สว่างขึ้นมากระทบนามธรรม กระทบความรู้สึก ตัวจิตก็ปรากฏขึ้น ที่จริงมันมีจิตตั้งแต่มันอยู่ในภวังค์แล้วล่ะ ก็มีจิตตลอด แต่มันไม่ปรากฏ พอมันขึ้นจากภวังค์ ความรู้สึกแรกก็คือมันสว่างขึ้นมา กระทบเข้ากับความรู้สึกนึกคิด จิตก็เกิดขึ้น และมันขยายความสว่างออกไปอีกช็อตหนึ่ง กระทบร่างกาย ร่างกายก็เกิดขึ้น นี่ล่ะหนอ นี่ล่ะวิญญาณหยั่งลง นามรูปก็เกิดขึ้น ปรากฏขึ้น แต่นี่ไม่ใช่เป้าหมายของการขยับ มันไปเห็นเข้าพอดีที่วัดสนามใน

นี่กลับมาบ้าน มาขยับๆ เรื่อยๆ แค่นี้ วันหนึ่งเห็นเพื่อนเก่าไม่เจอนานแล้ว เพื่อนสนิทมันเดินอยู่คนละฝั่งถนน พอเห็นเพื่อน ขาดสติเลย ดีใจ พอดีใจนี่ หลวงพ่อหันซ้าย หันขวาดู ไม่มีรถ ยังไม่มีสติ ตอนนั้นยังดีใจอยู่ มองซ้าย มองขวา พอก้าวเท้า เท้าเคลื่อนเท่านั้น สติเกิดเลย จากกำลังหลงๆ อยู่ ก็รู้สึกตัวขึ้นมา ทั่วพร้อม รู้สึกกายรู้สึกใจขึ้นมาได้ เลยรู้ ที่เราฝึก ขยับๆ ร่างกายนี่มันคือส่วนของกาย ต่อไปจิตมันจำสภาวะที่ร่างกายเคลื่อนไหวได้ เราฝึกขยับมือ พอเท้าขยับสติก็เกิด เพราะฉะนั้นเราหัด ภาวนา ทำกรรมฐานไปสักอย่างหนึ่ง ใช้กายก็ได้ ใช้เวทนาก็ได้ ใช้จิตที่เป็นกุศล อกุศลก็ได้ อันใดอันหนึ่ง ส่วนธรรมานุปัสสนานี่มันยากขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เบื้องต้นเอากาย เอาจิต แล้วก็เวทนาไปก่อน พอชำนิชำนาญในการปฏิบัติแล้วมันจะขึ้นธรรมานุปัสสนาของมันเอง

 

เบื้องต้นฝึกรู้สภาวะตัวเด่นๆ ของเราก่อน แล้วต่อไปจะเห็นทุกตัว

หัดรู้สภาวะบ่อยๆ อย่างหลวงพ่อไปเรียนดูจิตกับหลวงปู่ดูลย์ ท่านบอกให้ดูจิต หลวงพ่อกลับไปจ้องจิต ไปเพ่งอยู่ที่ตัวจิต จับอยู่ที่ตัวผู้รู้ นิ่งเฉยอยู่อย่างนั้น สว่างไสว ไปส่งการบ้านหลวงปู่ บอกว่าดูจิตได้แล้ว ท่านบอกไอ้นั่นเป็นการแทรกแซงอาการของจิต จิตมีธรรมชาติคิด นึก ปรุง แต่ง แล้วไปทำจนมันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง เฉยๆ ท่านบอกทำผิดแล้ว ไปดูใหม่ ไอ้ที่ถูกเป็นอย่างไรท่านก็ไม่บอก ท่านบอกที่ทำมันผิด ไปรักษาจิตอยู่เฉยๆ

เพราะฉะนั้นหลวงพ่อเลยพูดเต็มปาก อย่างลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์บางคนบอกว่า รักษาจิตเอาไว้ให้นิ่ง ให้ว่าง ไม่คิดไม่นึกไม่ปรุงไม่แต่ง รักษาไปเฉยๆ หลวงพ่อโดนหลวงปู่เฉ่งมาแล้ว มันไม่ใช่ทาง มันผิด อันนั้นเป็นสมถะ ก็เลยกลับมาดูใหม่ ดูเดี๋ยวจิตก็สุข เดี๋ยวจิตก็ทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง เดี๋ยววิ่งไปดู เดี๋ยววิ่งไปฟัง เดี๋ยววิ่งไปดมกลิ่น วิ่งไปลิ้มรส วิ่งไปรู้สัมผัสทางกาย วิ่งไปคิดทางใจ เห็นจิตมันทำงาน ไม่ได้ทำจิตให้นิ่ง

หลวงพ่อเป็นพวกโทสะจริต ขี้โมโห เพราะฉะนั้นตัวหงุดหงิดนี่ เกิดบ่อย ภาวนาไปแล้วมันเห็นตัวหงุดหงิดเกิดถี่ยิบเลย มีอะไรนิดๆ หน่อยๆ ใจมันก็หงุดหงิดไปหมด รถติดก็หงุดหงิด ร้อนก็หงุดหงิด ฝนตกก็หงุดหงิด แดดแรงๆ ก็หงุดหงิด นี่หัดเห็นสภาวะความหงุดหงิดในใจ ในที่สุดจิตมันจำสภาวะความหงุดหงิดได้ พอความหงุดหงิดผุดขึ้นมาเท่านั้น สติเกิดเอง ความหงุดหงิดดับ อัตโนมัติ นี่การฝึกให้เกิดสติ

เราคอยดูสภาวะไป สภาวะอะไรที่มีบ่อยๆ ก็เอาสภาวะอันนั้นล่ะ นี่เราขี้หงุดหงิด เราก็ดู เดี๋ยวก็หงุดหงิด เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็หงุดหงิด เดี๋ยวก็หาย ถ้าคนขี้โลภ ก็ไปดู เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็หาย โลภมันก็คือ อยากได้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยากดู อยากฟัง อยากดมกลิ่น อยากลิ้มรส อยากรู้สัมผัสทางกาย อยากปฏิบัติดีๆ อยากปฏิบัติต่อเนื่อง ตัวอยากทั้งหลายนั่นล่ะ คนไหนขี้โลภ ความอยากมันเกิดทั้งวันเลย เราก็เอาตัวโลภ ตัวอยากนี้ล่ะ เอามาทำกรรมฐาน อยากปุ๊บ รู้ปั๊บ อยากปุ๊บ รู้ปั๊บ ไปเรื่อยๆ ต่อไปความอยากใดๆ เกิดขึ้น สติจะเกิดเอง จะรู้ทันเอง

อย่างหลวงพ่อหัดดูตัวโกรธ เห็นตัวโกรธ เกิด ดับ เกิด ดับ ต่อไปสติมันเร็วแล้ว มันไม่ใช่แค่รู้ว่าความโกรธเกิดแล้วดับ ไม่ว่าสิ่งใดเกิดขึ้นในจิตใจ สติมันก็เห็นหมดเลยเพราะมันเห็นตัวอย่างมาแล้ว มันฝึกซ้อมการเห็นการเกิด ดับนี่ จากการดูตัวโกรธ ดังนั้นเบื้องต้นเอาตัวเด่นๆ ของเราก่อน แล้วต่อไปเห็นทุกตัว เห็นเองล่ะ ไม่ต้องตะเกียกตะกายไปเห็นหรอก

 

ธรรมแท้ผุดขึ้นกลางอก

อย่างมันจำได้ความโกรธมันผุดขึ้นจากกลางอก มันผุดขึ้นมา หรือความโลภ ตัณหา อะไรผุดขึ้นจากกลางอก เราก็รู้ รู้ รู้ไปเรื่อย ต่อไปไม่ว่าตัวอะไรผุดขึ้นมา มันรู้หมดเลย ตัวสุข ตัวทุกข์ ตัวดี ตัวชั่ว ผุดขึ้นมาจากกลางอกเรานี่เราก็รู้หมดเลย ตรงกลางอกนี่ เป็นที่ตั้ง ที่เกิด ของนามธรรมจำนวนมาก เรียกว่าหทัยรูป หทัยวัตถุ บางทีเรียกย่อๆ ว่าวัตถุ คือตัวหทัยรูป เป็นรูปอย่างหนึ่ง แต่ว่านามธรรมจำนวนมากผุดขึ้นจากตัวนี้เอง

ในตำราสอนกันว่า หทัยรูปเป็นน้ำเลี้ยงหัวใจ อยู่ในหัวใจ หลวงพ่อไปดูในหัวใจ ไม่เห็นหทัยรูป นี่ก็สงสัยว่าหทัยรูปมันคืออะไร ไปดูนิยามของมัน หทัยรูปมันเป็นที่เกิดของนามธรรมจำนวนมาก เพราะฉะนั้นนามธรรมมันผุดขึ้นตรงไหน ตรงนั้นล่ะหทัยรูป พบว่ามันไม่ได้อยู่ในหัวใจ หทัย ตัวนี้ไม่ได้แปลว่าหัวใจ แปลว่ากลาง

หลวงปู่เทสก์ท่านถึงสอนคำว่าใจ ใจก็กลาง อย่างเป้ายิงปืน ตรงกลางเขาเรียกใจกลาง สิ่งที่เรียกว่าใจคือตัวกลาง จุดกลางมือนี่ ท่านเรียกใจมือ ใจมือ ภาษาโบราณ ใจแปลว่ากลาง ตัวหทัยนี่

อาจารย์มหาบัว หลวงพ่อคุ้นจะเรียกท่านว่าอาจารย์มหาบัว คำว่าหลวงตามหาบัวมาทีหลัง รุ่นแรกๆ ไม่ไปเรียกท่านหลวงตาหรอก เรียกท่านอาจารย์มหาบัว ท่านก็สอนบอกธรรมแท้เกิดขึ้นกลางอก ไม่ได้บอกเกิดจากหัวใจ ถ้าทหัยรูปมันอยู่ในหัวใจ ถ้าผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เอาหัวใจของคนอื่นมาที่มีหทัยรูปต่างกัน อย่างนั้นนิสัยใจคอต้องเปลี่ยน นี่มันไม่เปลี่ยนหรอก คนละเรื่องกัน อาจารย์มหาบัวท่านบอก ธรรมแท้เกิดขึ้นกลางอก ลองดูสิ สุขเกิดขึ้น ก็ผุดขึ้นมาจากกลางอก นี่สุขทางใจ ถ้าสุขทางกายมันก็ไปเกิดทั่วๆ กาย ทุกข์ทางใจก็ผุดขึ้นกลางอก ความดี ความชั่ว ความโลภ ความโกรธ ความหลงอะไร มันก็ผุดขึ้นมา

ภาวนาไปเรื่อยๆ ในตำราเลยบอกว่าหทัยรูปเป็นที่เกิดของนามธรรมจำนวนมาก ไม่ใช่นามธรรมทั้งหมด อย่างเวทนาทางกาย ไม่ได้เกิดจากตรงนี้ อย่างมดกัด ยุงกัด แข้งขาคัน แขนคัน อะไรอย่างนี้ เวทนาเกิดที่กาย ตัวเวทนาเป็นนามธรรม แต่ว่าเวทนาส่วนน้อยจะเกิดที่อื่น ตัวนามธรรมส่วนใหญ่ มันจะเกิดที่ใจ ที่หทัยนี่เอง นี่อย่างเราหัด เห็นความโกรธเกิดแล้วรู้ เกิดแล้วรู้ ต่อไปตัวอะไรผุดขึ้นมาเราก็เห็นเอง มันจะเห็นไปหมด เพราะฉะนั้นธรรมแท้ เกิดขึ้นกลางอก

สิ่งที่เรียกว่าธรรมแท้ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง กุศลธรรม ก็เกิดขึ้นกลางอก อกุศลธรรมนี่ก็เป็นธรรมแท้ โลภ โกรธ หลงก็เป็นธรรมแท้ มรรค ผล ก็เกิดขึ้นกลางอก เวลาอริยมรรคเกิดนี่มันแหวกออกจากกลางอก อริยผลก็เกิดขึ้นตรงนี้ ส่วนนิพพานไม่เกิด นิพพานไม่ได้มาเกิดกลางอก นิพพานไม่มีเกิด นิพพานมีอยู่แล้ว จิตเราไม่มีคุณภาพ จิตเรามีตัณหามันก็ไม่เห็นนิพพาน

เมื่อไรรู้เท่าทันตัณหาเชี่ยวชาญจริง ตัณหาดับลงไป มันจะเจอสภาวะของนิพพาน นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา นี่เราหัดดูสภาวะไปเรื่อยๆ สภาวะทางกายก็ได้ ดูสภาวะในใจไม่ออกก็ดูสภาวะในใจมันผุดขึ้นมาจากกลางอก แต่อย่าไปจ้องอยู่ที่กลางอก ถ้าไปนั่งรอดู จ้องลงไปที่กลางอก มันจะไม่มีอะไรผุดเลย มันจะเฉยๆ เพราะฉะนั้น เราอย่าไปเพ่ง อย่าไปจ้อง

 

หลักของการดูจิต

หลักของการดูจิตก็คือ ก่อนดูอย่าอยากดู ถ้าอยากดูมันจะไปจ้อง ไปรอดู ให้มันเกิดขึ้นเองแล้วค่อยมีสติรู้ อย่างให้มันเกิดสุขขึ้นมาแล้วค่อยรู้ ให้มันเกิดทุกข์ขึ้นมาแล้วค่อยรู้ เกิดกุศลแล้วค่อยรู้ โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นแล้วค่อยรู้ ตามรู้ไป นามธรรมให้ตามรู้ มันเกิดขึ้นก่อน แล้วก็สติระลึกรู้ ไม่เหมือนรูปธรรม รูปธรรมอย่างนี้กำลังเคลื่อนไหว รู้ได้เลยว่ากำลังเคลื่อนไหว กำลังนั่ง กำลังเดิน กำลังหายใจ แต่นามธรรมจะเป็น โลภแล้ว โกรธแล้ว อ้อ โกรธละ ไปดูอย่างนี้ แต่ไม่ใช่เมื่อวานโกรธ วันนี้รู้ อันนั้นใช่ไม่ได้หรอก ต้องตามแบบกระชั้นชิดติดๆ กันไปเลย เกาะหลังไปเลย เรียกว่าสันตติ ต่อเนื่องไปเป็นปัจจุบันสันตติ คือ ต่อเนื่องกับปัจจุบันจริงๆ

ปัจจุบันมี 2 อันคือ ปัจจุบันขณะ กับปัจจุบันสันตติ ปัจจุบันขณะนี่ ขณะนี้กำลังเคลื่อนไหว ดูรูปธรรมขณะนี้เป็นปัจจุบันขณะเลย แต่ดูจิตนี่ อย่างความโกรธนี่ ในขณะที่ความโกรธเกิด สติไม่มีหรอก เพราะสติไม่เกิดพร้อมกิเลส แต่ว่าเราจะดูจิตดูใจมันจะเป็นปัจจุบันสันตติต่อเนื่องกับปัจจุบัน ก็ทำวิปัสสนาได้ ไม่ใช่ต้องปัจจุบันขณะ ไม่มีใครดูจิตเป็นปัจจุบันขณะได้ ถึงพระอรหันต์ยุคโบราณ ท่านก็ทำไม่ได้ ไม่มีใครทำได้หรอก เพราะในขณะที่มีกิเลส มันไม่มีสติที่จะไปคอยรู้ทัน แต่มันจะตามรู้อย่างกระชั้นชิด

พอความโกรธผุดขึ้นจากกลางอกปุ๊บ สติรู้เลยว่าความโกรธผุดขึ้นมา แล้วมันก็ดับให้ดู มันดับ เกิด ดับ เกิด ดับ เกิด ดับ ไปตรงนี้เจริญวิปัสสนาอยู่ ถ้าดูรูปก็เห็น รูปนี้กำลังนั่ง รูปนี้กำลังหายใจ รูปที่กำลังนั่งไม่ใช่ตัวเรา รูปที่กำลังหายใจไม่ใช่ตัวเรา รูปที่ยืน ที่เดิน ที่นอนอะไรนี้ ไม่ใช่ตัวเรา อย่างขณะนี้นั่งอยู่ นั่งอยู่ รู้ลงไป รู้สึกสบายๆ อย่าไปเพ่งรูป

ถ้าไปเพ่งร่างกายก็ใช้ไม่ได้ แค่รู้สึก เอาแค่รู้สึกเท่านั้นเอง แค่ระลึกรู้ ระลึกรู้ไม่ได้แปลว่าเพ่ง จ้อง สติเป็นแค่ตัวระลึกรู้ ไม่ได้แปลว่าเพ่งจ้อง เพ่งจ้องนี่มันเป็นแค่การระลึกรู้ที่เจือด้วยความโลภ อยากรู้ชัดๆ อยากรู้ต่อเนื่อง อยากรู้ไม่ให้คลาดสายตา มีคำว่าอยาก นี่เราค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดูของเราไปทุกวันๆ เก็บแต้มไปเรื่อยๆ ยิ่งดูได้บ่อย สติเราก็เกิดเร็ว นานๆ ดูที สติไม่ค่อยเกิด

อย่างเมื่อก่อนหลวงพ่ออยู่ที่สวนโพธิ์ บวชใหม่ๆ ก็มีพวกเด็กๆ เข้าไปเรียน พวกนี้เคยเห็นหลวงพ่อตั้งแต่เป็นโยม คล้ายๆ เดินกระทบไหล่กันมา บอกอะไรไม่เชื่อหรอก กูเก่งมาทั้งนั้น หลวงพ่อบอกว่า ให้ดูจิตไปเลย มันบอก ดูไม่ได้ จะต้องพุทโธก่อน บอกยังไงก็ไม่ฟัง ที่จริงจิตมันมีคุณภาพที่จะดูการทำงานของจิตใจ ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจได้แล้ว ก็ยืนกรานว่าจะต้องไปพุทโธก่อน ก็ตามใจ บอกหลวงพ่อว่า ถ้าเอาดีไม่ได้จะไม่มาให้หลวงพ่อเห็นอีกเลย นี่ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้วยังไม่เห็นเลย

มีคนหนึ่งหลวงพ่อบอกให้ดูจิตตัวเอง เขาก็บอกว่าเขาทำกรรมฐานอย่างอื่นได้ไหม ถามว่าจะทำอะไร เขาบอก ถ้าฟ้าร้อง เขาจะรู้สึกตัว เราฟังแล้วก็ถอดใจ สอนให้มันดูจิตใจตัวเองนี่ ซึ่งมันมีความเกิด ดับ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่เอา หรือหายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก นี่มันเกิดตลอดเวลา ไม่เอา จะไปเอาฟ้าร้องแล้วรู้สึก ปีหนึ่งมันร้องกี่ครั้ง เพราะฉะนั้นชาตินี้เธอไม่มีวันเกิดสติเลย ถ้าเอาฟ้าร้องมาทำกรรมฐาน

แต่ถ้าเอาฟ้าร้องฟ้าผ่ามาประกอบการดูจิตได้ อย่างเราดูจิตของเราไปเรื่อย จิตกำลังสบายอยู่ ฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมา จิตสะดุ้ง ตกใจ เราเห็นจิตมันตกใจอะไรอย่างนี้ได้ แต่ไปนั่งรอจะฟังเสียงฟ้าร้อง เมื่อไหร่มันจะร้อง ถ้ายุคนี้อาจจะง่ายหน่อย คอยอัดเสียงฟ้าร้องไว้ เปิดมันทั้งวันเลย ซึ่งก็เหลวไหล

แต่ก่อนมีบางคนไปทำนาฬิกาพิเศษ มันปลุกทุก 2 นาที ปลุกแล้วบอก ดี ทำให้สติเกิดทุก 2 นาที พอนาฬิการ้องก็ รู้สึกตัว แล้วก็เผลอไป 2 นาที นาฬิการ้องใหม่ก็รู้สึกอีก สุดท้ายนาฬิการ้องแล้วไม่ได้ยิน เสียงอะไรที่ได้ยินซ้ำซาก มันจะไม่ได้ยิน คราวนี้เลยสบายเลย หลงเพลินได้ยาวเลย เสียงนาฬิการ้องก็ไม่ได้ยิน มันเหมือนบ้านเราอยู่ริมถนน ได้ยินเสียงรถวิ่งโครมครามทั้งคืน เราก็นอนหลับได้สบาย เราไม่ได้ยินเลย พอไปอยู่ในป่า เงียบสงัดเท่านั้นล่ะ เสียงแมลง เสียงอะไร สนั่นหวั่นไหว

หลวงพ่อเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดกรุงเทพฯ โตกรุงเทพฯ พออายุเยอะขึ้นมาแล้ว ก็ไปอยู่เมืองนนท์ อยู่เมืองนนท์ช่วงแรกๆ ก็เป็นสวนทั้งนั้นเลย กลางคืนนี่เสียงแมลง เสียงกบ เขียด อะไร ร้องเจื้อยแจ้ว ค้างคาวบิน นกแขวก นกแสก นกเค้า อะไรก็บิน เราก็รู้สึก เออ ในสวนอย่างนี้มันก็มีชีวิตชีวาของมันตอนกลางคืน ไปอยู่แรกๆ นี่ ได้ยินชัดเจนเลย เสียงอะไรแกรกกรากก็ได้ยิน เพราะเราเคยอยู่แต่ในกรุงเทพ ได้ยินแต่เสียงรถยนต์ ได้ยินเสียงแปลกปลอมแล้ว สติเกิดเร็วเลย อยู่ไปนานๆ ไม่ได้ยินแล้ว ไม่ค่อยได้ยินแล้ว

เพราะฉะนั้นอย่าไปเอาเสียงมาทำกรรมฐานเลย พอมันซ้ำซากก็ มันจะไม่ได้ยิน เอากาย เอาเวทนา เอาจิต เอาธรรมของเรานี่ล่ะ เสียงเป็นตัวรูปก็จริง แต่ไม่ใช่กายของเรา พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เอารูป ท่านสอนให้เอากายมาทำกรรมฐาน เสียงก็เป็นรูปอย่างหนึ่ง เป็นรูปเสียง กลิ่นก็เป็นรูปอย่างหนึ่ง เราไม่ต้องไปเอาของอย่างนั้น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อะไรพวกนี้ของภายนอก เราเอาของภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรามาทำกรรมฐาน เพราะมันอยู่กับเรา เฝ้ารู้เฝ้าดูสม่ำเสมอไป ต่อไปสติอัตโนมัติจะเกิด

แรกๆ ที่หัด วันหนึ่งบางทีสติเกิด 2- 3 ครั้ง แล้วเราฝึกไปเรื่อยๆ ต่อไปสติเกิดทุก 5 นาที สติเกิดทุกนาที เราฝึกให้ดีเถอะ ถึงจุดหนึ่ง สติเกิดทุกขณะ แต่อันนี้พวกเราทำไม่ได้ เป็นเรื่องของพระอรหันต์ เราทำไม่ได้ ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น โลภมากมันก็ไม่ได้ ไม่ต้องโลภ

เพราะฉะนั้นมีสติ ฝึกสติด้วยการหัดรู้สภาวะไป สภาวะอะไรก็ได้ ในกาย เวทนา จิต ธรรมนี่ ใช้ได้ทังนั้นล่ะ แต่ตัวธรรม ธรรมานุปัสสนายาก มันละเอียดลึกซึ้งไปอีกชั้นหนึ่ง ในธรรมานุปัสสนานั้นมีทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรม ทั้งส่วนที่เป็นนามธรรม มีทั้งส่วนที่เป็นกุศล ส่วนที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นมันหลากหลาย ดูลำบาก อย่างเราเป็นคนขี้โมโห เราเห็นจิตโกรธแล้วก็หายโกรธ จิตโกรธแล้วก็ไม่โกรธ จิตโกรธแล้วก็ไม่โกรธ นี่ แค่นี้เป็นจิตตานุปัสสนา จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะ รู้ว่าไม่มีโทสะ

แต่ถ้าจะให้ขึ้นไปถึงธรรมานุปัสสนา จะเห็นความขัดเคืองใจ พยาบาทผุดขึ้นมา พยาปาทะผุดขึ้นมาก็เห็น ก็รู้เลยว่าตัวโกรธนี่มันมีเหตุอีก สาวเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง มันลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง มันละเอียด ประณีตกว่ากันมาก อย่างนั้นดูลำบาก มันไปดูตัวนิวรณ์ ไม่ใช่ดูตัวกิเลส แล้วก็รู้ลึกลงไปอีก ว่านิวรณ์แต่ละตัวเกิดจากอะไร ใช่ไหม

เพราะฉะนั้นธรรมานุปัสสนาไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าอินทรีย์เรายังไม่แก่กล้า ไม่ต้องไปนึกถึง แต่วันหนึ่งมันจะเข้าไปถึง ไม่ว่าเราจะเดินมาทางกาย หรือทางเวทนา หรือทางจิต สุดท้ายเราจะเข้าไปธรรมานุปัสสนา อาจจะไม่ได้แจ่มแจ้งทั้งหมดหรอก แต่ไปแจ่มแจ้งในตัวอริยสัจ สัจจบรรพตัวสุดท้ายของธรรมานุปัสสนา ฉะนั้นพระอรหันต์ทุกองค์นี่รู้แจ้งอริยสัจ แต่ความแตกฉานรอบรู้ในเรื่องต่างๆ เรื่องอื่นๆ ไม่เท่ากัน ดังนั้นเราแค่เอาตัวรอดก็บุญแล้ว ไม่ต้องไปคิดถึงกรรมฐานอะไรที่ยากเกินไป

อย่างบางคนชอบปฏิจจสมุปบาทมากเลย อ่านก็อ่านปฏิจจสมุปปบาท เรียนก็เรียนปฏิจจสมุปบาท พอมาภาวนาก็จะดูแต่ปฏิจจสมุปบาท เอาอะไรไปดู สติก็ไม่มี สมาธิก็ไม่พอ มันดูไม่ได้จริง มันได้แต่คิดเรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็คิดเพ้อๆ ไป คิดแล้วก็มีความสุข เผลอๆ เพลินๆ ไป ไม่ใช่ธรรมะตัวจริง ปฏิจจสมุปบาทคิดเอาไม่ได้ วิปัสสนาคิดเอาไม่ได้ แต่ถ้าจะเรียนเพื่อไปสอบอะไรอย่างนี้ นั่นน่ะท่องเอา จำเอา คิดเอา

 

คิดเอาไม่ได้ ต้องดูสภาวะจริงๆ

แต่ถ้าจะภาวนาเพื่อความพ้นทุกข์นี่คิดเอาไม่ได้ ต้องดูสภาวะจริงๆ แล้วเวลาที่เราภาวนา ถ้าเราดูปฏิจจสมุปบาทนี่มันจะเห็นปฏิจจสมุปบาทท่อนท้ายก่อน ท่อนที่ดูง่ายก็ตั้งแต่มีอายตนะ ขึ้นมา มีอายตนะ แล้วก็มีผัสสะ มีผัสสะ มีเวทนา มีเวทนาก็มีตัณหา มีตัณหาก็มีอุปาทาน มีอุปาทานก็มีภพ มีภพก็มีชาติ มีชาติก็มีทุกข์ จะเห็นช่วงนี้ก่อน ส่วนตรงอวิชชา เป็นปัจจัยของสังขาร สังขารเป็นปัจจัยของวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยของนามรูป ตัวนี้ละเอียด ดูยาก

ตอนหลวงพ่อยังเป็นโยม หลวงพ่อหัดดูไปเรื่อย มันไม่ได้เจตนาดู แต่มันเห็น ค่อยๆ เห็นมันทวนๆๆ เข้าไป แล้วเราเห็นจิตซึ่งมันมีตัวอวิชชาอยู่ แล้วตัวนี้ล่ะ ปรุง ทำให้เกิดความปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง พยายามจะไม่ปรุงบ้าง ปรุงดีเรียกว่าปุญญาภิสังขาร ปรุงชั่วเรียกว่าอปุญญาภิสังขาร พยายามจะไม่ปรุง ไม่กระทบสังขารเรียกว่าอเนญชาภิสังขาร

นี่หลวงพ่อเห็นมันผุดขึ้นมาจากจิตนี่เอง สังขารทั้ง 3 ตัวนี้ พอสังขารนี้ผุดขึ้นมา แสงสว่างก็เกิดขึ้น แสงนั้นมันกระทบเข้ากับรูป รูปก็ปรากฏ กระทบนาม นามก็ปรากฏ มันก็ต้องกระทบนามก่อน คือแสงแห่งความรู้สึก แสงแห่งความรับรู้

ตรงที่วิญญาณเป็นปัจจัยของนามรูปนี่ หลวงพ่อไปเห็นตรงที่วัดสนามใน มันผุดขึ้นมา ตรงที่มันผุดขึ้นมา มันเป็นแสง มันไม่มีรูปลักษณ์อะไร เป็นแสง แล้วมันจับเข้าที่รูปกับจับเข้าที่นาม รูปนามก็ปรากฏ ให้นึกถึงพรหมชนิดหนึ่ง เรียกอาภัสราพรหม อาภัสราพรหมนี่เป็นแสง อาภัสราพรหมนี่เวลาที่สิ้นกัปป์ สัตว์ทั้งหลายสูญไปหมดเลย ขึ้นไปเป็นพรหม มันอัตโนมัติ กรรมส่งไป แล้วเวลาจะลงมาเกิดเป็นสัตว์ต่อไป แสงนั้นมันกระทบเข้ากับดิน ตำราจะชอบบอกว่าอาภัสราพรหมมากินง้วนดิน มากินดินที่อร่อยๆ แล้วก็เลยติดใจ ก็เลยติดในวัตถุ ก็เลยกลายเป็นสัตว์มีรูปอย่างนี้ขึ้นมา อาภัสราพรหมเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่เคยเห็นตัวแสงมันกระทบเข้ากับรูปแล้วรูปก็ปรากฏขึ้นมา จับรูปขึ้นมาได้

นี่ไปรายงานหลวงปู่เทสก์ว่า ผมเห็นจิตต้นกำเนิดแล้ว แต่ยังทำลายมันไม่ได้ ตัวนี้ที่หลวงปู่เทสก์ท่านแช่มชื่นใจ ลูกศิษย์เรียนกรรมฐานแล้วไปถามกรรมฐานท่าน ผมเห็นจิตที่เป็นต้นกำเนิดแล้ว ผมจะทำยังไงต่อ ท่านบอกให้เรียนรู้มันต่อไป ดูมันต่อไป แล้วพอสติปัญญาแก่กล้า มันก็วางของมันเอง ท่านก็บอกอย่างนี้

ตอนเย็นหลวงพ่อก็ไปเดินเล่นในวัด ไปเจอพระอุปัฏฐากของหลวงปู่เทสก์ องค์นี้เจอกันบ่อย ไปทีไรก็เจอท่านดูแลหลวงปู่อยู่ หลวงพ่อก็บอกกับท่านว่า ผมเรียนกรรมฐาน พอสิ้นหลวงปู่ดูลย์แล้วนี่ เรียนกรรมฐานกับครูบาอาจารย์องค์ไหน มันไม่ถึงใจเหมือนที่เรียนกับหลวงปู่เทสก์ เพราะท่านเชี่ยวชาญเรื่องจิตเรื่องใจจริงๆ ท่านสอนแต่จิต เรื่องจิตเรื่องใจนี่สอนมากเลย บอกว่าหาครูบาอาจารย์ที่ตอบปัญหาเรื่องจิตเรื่องใจนี้ได้ถึงอกถึงใจ หายากจริงๆ มีหลวงปู่นี่ล่ะ หลวงปู่เทสก์นี่ล่ะ

ท่านก็เลยบอกว่าตอนหลวงพ่อลา ออกจากหลวงปู่เทสก์ ออกมาข้างนอก หลวงปู่ก็บอกท่านว่าคนที่ถามกรรมฐานได้อย่างหลวงพ่อมีไม่มาก ถ้าท่านมีลูกศิษย์อย่างหลวงพ่อเยอะๆ ท่านจะอายุถึงร้อยเลย ท่านจะมีธรรมปีติ ท่านก็ขำว่าลูกศิษย์ก็ชมอาจารย์ อาจารย์ก็ชมลูกศิษย์ เราบอกว่าท่านตอบเก่งไม่มีใครเหมือนเลย ท่านก็ว่าเราถามเก่ง

 

จุดตั้งต้นทั้งหมดมาจากสติ

นี่ค่อยๆ หัด ค่อยๆ หัดภาวนา จุดตั้งต้นทั้งหมดมันมาจากสติ พอมีสติถูกต้องแล้ว ศีลจะเกิด สมาธิจะเกิด ปัญญาจะเกิด ขาดสติตัวเดียว ขาดศีล ขาดสมาธิ ขาดปัญญา ดังนั้นเราพยายามมาฝึกสติของตัวเองให้มันเกิดบ่อยๆ ด้วยการทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง อย่างนั่งอยู่ก็คอยรู้สึกตัว ไม่ใช่นั่งแล้วก็ใจลอยเลื่อนเปื้อนไป ยืน เดิน นั่ง นอน คอยรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ หรือจะดูนามธรรม สุข ทุกข์ ดี ชั่ว อะไรผุดขึ้นมา คอยรู้สึกไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปสติอัตโนมัติจะเกิด พอร่างกายขยับ สติก็จะเกิด พอนามธรรมใดๆ ผุดขึ้นมา สติก็จะเกิด พอจิตผู้รู้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ทำงานไปเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง เป็นผู้ดู ผู้ฟัง ผู้ดมกลิ่น ผู้ลิ้มรส ผู้รู้สัมผัสทางกาย ผู้คิดนึกทางใจ สติก็จะเกิดเอง

ฝึกไปจนกระทั่งสติอัตโนมัติเกิด พอสติอัตโนมัติเกิด ศีล สมาธิ ปัญญานี่สมบูรณ์เองล่ะ แล้วถึงจุดนั้นเราอยากเร่งความเพียร เราก็เร่งไม่ได้ ไม่มีทางเร่งความเพียรมากกว่านั้นแล้ว ที่เหลือนี่มันอยู่ที่บุญบารมีของเราสะสมมาพอไหม อินทรีย์เราแก่กล้าพอไหม

ไม่มีใครทำมรรคผลให้เกิดได้ พระพุทธเจ้าบอก ไม่มีใครทำมรรคผลให้เกิดได้ มรรคผลเกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญาจะสมบูรณ์ได้ ต้องมีสติ ต้องมีสติ เพราะฉะนั้นฝึกสติให้มาก บทเรียนในการฝึกสติท่านเรียกว่าสติปัฏฐาน เบื้องต้นสติปัฏฐาน ฝึกไปเพื่อให้เกิดสติ เบื้องปลายทำให้เกิดปัญญา ฉะนั้นตราบใดที่ยังมีผู้เจริญสติอยู่ โลกจะไม่ว่างจากพระอริยบุคคล พยายามฝึกเข้า

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
7 มิถุนายน 2563