ทำหน้าที่ไม่ครบ บรรลุไม่ได้

เรียนกรรมฐาน จิตใจเราต้องเด็ดเดี่ยว ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าเรา จะต้องปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ให้ได้ ไม่ได้ปฏิบัติเอาดีเอาเด่นอะไรหรอก ไม่ได้ปฏิบัติให้เฮงให้รวยอะไร แต่ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ เป็นงานหลักของเรา

ศาสนาพุทธก็เป็นศาสตร์อันหนึ่งที่ตอบโจทย์ว่า ความทุกข์เกิดจากอะไร ทำอย่างไรเราจะไม่ทุกข์ ตอบปัญหาอยู่เท่านี้ล่ะ ก็แบบเดียวกับศาสตร์อื่นๆ อย่างแพทย์ศาสตร์ก็ตอบโจทย์ว่า ทำอย่างไรจะรักษาคนเจ็บคนป่วยได้ ศาสตร์อื่นๆ ก็ตอบโจทย์ในวิชาของตัวเอง อย่างการทหารทำยังไงจะรบชนะ มีเป้าหมายของตัวเอง พระพุทธศาสนาก็มีเป้าหมายคือ ทำอย่างไรจะไม่ทุกข์

วิธีที่จะไม่ทุกข์ก็คือ ต้องรู้ว่าเหตุของทุกข์คืออะไร แล้วก็ละที่เหตุ ละที่ตัวทุกข์ไม่ได้ ตัวทุกข์เป็นตัวผล ต้องละเหตุ ละผลไม่ได้ ถ้ามีเหตุ ผลมันก็มี เหตุของตัวทุกข์ก็คือตัวอยาก ตัวตัณหา ถ้าพูดเต็มขบวนการเลยก็คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน อวิชชาคือความไม่รู้แจ้งอริยสัจ ตัณหาคือความทะยานอยากของจิตใจ อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่น 3 ตัวนี้อยู่ในกลุ่มของกิเลส เป็นตัวสมุทัย เราต้องละ

 

บางคนมักง่ายคิดว่าการปฏิบัติธรรมนี่ ทำสมถะทำวิปัสสนาไปเลย เป็นการเจริญสติเจริญปัญญา แล้ววันหนึ่งจะบรรลุมรรคผล บรรลุไม่ได้ มันทำงานไม่ครบหน้าที่ของเรา งานของเรามี 3 งาน อันหนึ่งละบาปทั้งปวง อันที่สองเจริญกุศลให้ถึงพร้อม อันที่สาม ฝึกจิตให้ผ่องแผ้ว

ถ้าคิดว่าทำวิปัสสนาไป แต่ศีลไม่ต้องรักษา ชั่วก็ทำได้ ดีก็ทำ ชั่วก็ทำ มันก็เหมือนตักน้ำใส่ตุ่มรั่วๆ ทำความดีก็เหมือนเอาน้ำมาใส่ตุ่มไว้ ทำความชั่วตุ่มก็รั่วแล้ว น้ำมันไม่เต็มตุ่มสักที ตักใส่ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวหมดแรง พอหมดแรงก็หยุดการตัก น้ำที่สะสมไว้ก็ไหลไปหมด ความดีเราทำไปเรื่อย ความชั่วก็ทำไปเรื่อย เหมือนตักน้ำใส่ตุ่มรั่วๆ ฉะนั้นความชั่วต้องละ ความดีต้องเจริญ ไม่ใช่เอะอะก็รู้กายรู้ใจอย่างเดียว

ถ้าเงื่อนไขเราไม่ครบ ไม่มีทางที่จะพ้นทุกข์ได้จริง เพราะตัวกิเลสทั้งหลายมันเป็นตัวเหตุของความทุกข์ ถ้าเราไม่ละมัน ทำเหตุของความทุกข์เรื่อยไป ผลคือความทุกข์ก็ต้องมีอยู่ตลอดเวลา

 

ในเบื้องต้น เราละความชั่ว 5 อย่าง ก็คือตัวศีล 5 นั่นเอง อย่านึกว่าเรื่องง่าย บางคนได้ยินว่าศีล 5 ดูถูกว่าง่าย ไม่สำคัญ สู้วิปัสสนาไม่ได้ การจะถือศีลไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เบื้องต้นต้องเจตนางดเว้นการทำบาปอกุศล 5 อย่าง ทางกาย ทางวาจาของเรา 5 เรื่อง อันแรก ไม่เบียดเบียนคนอื่นสัตว์อื่น ไม่เบียดเบียนชีวิตเบียดเบียนร่างกายของคนอื่นสัตว์อื่น

อันที่สอง ไม่เบียดเบียนทรัพย์สินของเขา อันที่สาม ไม่เบียดเบียนคนที่เขารัก นี่เป็นสิ่งสำคัญของคนในโลก คือชีวิตร่างกายของตัวเอง ทรัพย์สินเงินทอง แล้วก็คนที่เรารักคนที่เขารัก ถ้าเราเบียดเบียนเขา เราสร้างศัตรู ความสงบสุขมันไม่มีหรอก ต้องคอยระวังคอยระแวงว่าจะมีผลที่ไม่ดีตามมา จิตใจที่คอยวอกแวกระวังระแวงภัย มันจะไปทำสมาธิทำอะไร มันทำไม่ได้จริงหรอก เพราะฉะนั้น ศีลไม่มี สมาธิก็เสื่อม ไม่มีสมาธิ ปัญญาก็ไม่เกิด ไม่มีปัญญา วิมุติก็ไม่เกิด

ธรรมะของพระพุทธเจ้าสมบูรณ์ด้วยเหตุด้วยผลทุกขั้นทุกตอน ศีลข้อ 4 คือเราไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยคำพูด ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 เบียดเบียนด้วยการกระทำ ข้อ 4 เราไม่เบียดเบียนด้วยคำพูด ข้อ 5 สำคัญที่สุด ที่ว่าไม่ให้กินเหล้าสิ่งเสพติดทั้งหลาย อันนั้นเบียดเบียนตัวเอง ฉะนั้น ไม่เบียดเบียนคนอื่นอย่างเดียวยังไม่พอ มาเบียดเบียนตัวเองก็ใช้ไม่ได้ ศีลข้อ 5 เรามุ่งไปให้มีสติสัมปชัญญะ ถ้าเราไปติดสิ่งเสพติดแล้ว สติสัมปชัญญะก็เสีย อย่างเมาเหล้าอย่างนี่ สติสัมปชัญญะก็เสีย เมายาไอซ์ยาอีอะไรนั้น สติสัมปชัญญะก็เสีย อย่างไม่รู้จักอายไม่มียางอาย ทำอะไรก็ได้ สมรสหมู่ก็ได้ มันเสียศีลข้ออื่นๆ เสียไปหมดเลย ผิดข้อ 5 ข้อเดียว ข้ออื่นก็โอกาสจะผิดพลาดสูง

พอเรารักษาศีล เบื้องต้นตั้งใจไว้ก่อนว่าเราจะไม่ทำบาปอกุศล 5 ข้อนี้ แล้วก็พยายามมีสติไป เวลาจิตมันมีกิเลสเกิดขึ้น จะอยากทำผิดศีล คนทำผิดศีลได้ก็เพราะกิเลสเท่านั้นล่ะ ไม่ใช่เพราะอย่างอื่นหรอก ฉะนั้น เวลากิเลสเกิดขึ้นในใจแล้วเราคอยรู้ทันไป พอรู้ทันแล้ว จิตก็ไม่ถูกกิเลสครอบงำ ไม่ทำผิดศีลหรอก ศีลอัตโนมัติมันจะมีขึ้นมา บางคนก็มักง่าย คิดว่าศีลมันต่อได้ ทำผิดศีลก็ไปขอศีลมาจากพระ หรือเป็นพระทำผิดศีลก็ปลงอาบัติ อันนี้มักง่าย มันทำให้จิตใจอ่อนแอลงเรื่อยๆ อ่อนแอแพ้กิเลสไปเรื่อยๆ ต้องฝึกตัวเองให้เข้มแข็งที่จะต่อสู้กิเลส ไม่ให้มันครอบงำจนเราผิดศีล

 

ศีล สมาธิ ปัญญา

สิ่งที่เป็นความดีก็คือตัวศีล ตัวสมาธิ ตัวปัญญานั่นล่ะ การที่เราตั้งใจรักษาศีลนั่นก็เป็นความดีของเรา ฝึกสมาธิคือฝึกจิตใจ สมาธิเป็นเรื่องการฝึกจิต ไม่ใช่เรื่องการนั่งสมาธิการเดินจงกรม อันนั้นเป็นรูปแบบของการทำสมาธิ จุดสำคัญก็คือการฝึกจิต มันมีสองอย่างเพราะสมาธิมีสองชนิด สมาธิชนิดสงบ เราฝึกจิตให้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว สมาธิชนิดตั้งมั่น เราฝึกจิตให้ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน การฝึกจิตให้สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวนั้น เรียกว่าอารัมมณูปนิชฌาน

เราจะหาอารมณ์กรรมฐานที่เราทำกรรมฐานอย่างนั้นแล้วมีความสุข เราก็ทำกรรมฐานที่มีความสุขนั่นล่ะ อย่างเราพุทโธแล้วมีความสุข เราก็พุทโธ เราหายใจแล้วมีความสุข เราก็หายใจ เดินจงกรมแล้วมีความสุข ก็เดินจงกรมเอา ดูร่างกายมันเดินไปอะไรอย่างนี้ จิตใจก็สบาย บางคนก็ชอบนั่ง ก็นั่งเอา สิ่งเหล่านี้เป็นแค่รูปแบบ จุดสำคัญอยู่ที่จิต สงบหรือไม่สงบอยู่ที่จิต

มันมีเคล็ดลับที่จะฝึกจิตให้สงบอย่างรวดเร็ว คือสังเกตตัวเองว่าจิตใจของเรานี่อยู่กับอารมณ์กรรมฐานชนิดไหนแล้วมันมีความสุข อย่างบางคนทำสมาธิอานาปานสติอะไรก็ทำไม่เป็นหรอก แต่ชอบสวดมนต์ สวดมนต์แล้วมีความสุข วันๆ ก็ชอบสวดมนต์แล้วไม่ฟุ้งซ่านเรื่องอื่น สวดมนต์ไปเรื่อยๆ อันนี้จิตใจมันก็สงบได้ บางคนสวดมนต์ก็ขี้เกียจ แต่ว่าเคารพรักพระพุทธเจ้า เคารพรักครูบาอาจารย์ วันหนึ่งคิดถึงพระพุทธเจ้าบ่อยๆ คิดถึงครูบาอาจารย์บ่อยๆ

อย่างหลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ เคารพรักท่านมาก วันหนึ่งๆ คิดถึงท่านนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ใช่คิดวันละครั้งตอนสวดมนต์ก่อนนอน แต่คิดอยู่ตลอดวัน คิดถึงท่านอยู่เรื่อยๆ รู้เลยว่าถ้าเราทำอย่างนี้ท่านจะตำหนิ รู้ว่าถ้าเราทำอย่างนี้ท่านจะชมเชย จะทำอะไรเหมือนอยู่ในสายตาของท่าน เหมือนมีท่านคอยมองเราตลอดเวลา จิตใจมันมีความสุขมีความอบอุ่น ไม่มีความรู้สึกว่าเราเป็นลูกกำพร้าเลย มันมีความรู้สึกว่าเราเป็นลูกมีพ่อมีแม่ อยู่ใต้ร่มเงาของพ่อของแม่ มีความสุขมีความสงบได้รับความคุ้มครอง คุ้มครองจากอะไร คุ้มครองจากความชั่ว อย่างที่หลวงพ่อทำ

หลวงพ่อเมื่อก่อนใช้อานาปานสติ นี่พอมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ใจมันผูกพันกับหลวงปู่ดูลย์ คิดถึงท่านทั้งวัน เดี๋ยวก็คิด เดี๋ยวก็คิด เดี๋ยวก็คิด เวลาคิดถึงท่าน ถ้าเรามันมีกิเลสขึ้นมา จะรู้เลยว่าอย่างนี้ท่านตำหนิ มีกุศล ท่านจะบอกว่าดีแล้ว ให้ไปทำอีก การที่นึกถึงท่านกลายเป็นการดูจิตของตัวเองไปด้วย ไม่ใช่นึกถึงเพลินๆ แต่นึกถึงแล้ว จิตใจเรามีกิเลสเรารู้ จิตใจเราเป็นกุศลเรารู้ นี่ที่หลวงพ่อฝึกมาเป็นอย่างนี้

แต่ว่ากรรมฐานชนิดอนุสติ พุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ จะได้สมาธิที่ตื้นๆ บางครั้งเราก็ต้องการสมาธิที่ลึกกว่านั้น ก็ทำกรรมฐานที่ลึกกว่านั้น อย่างทำอานาปานสติ หรือการพิจารณาร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก อะไรอย่างนี้ ก็ได้สมาธิที่สูงขึ้นไป อานาปานสติถึงรูปฌานได้ หรือเราเจริญเมตตา เราเป็นคนขี้โมโห เราเจริญเมตตาเรื่อยๆ ใจเคล้าเคลียอยู่กับเมตตา มีความสุข เข้าได้ถึงอรูปฌาน

ฉะนั้น อารมณ์กรรมฐานแต่ละอย่างนี่ ให้สมาธิที่ไม่เท่ากันหรอก อย่างการนึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระธรรม นึกถึงครูบาอาจารย์ เราจะได้สมาธิเป็นขณะๆ ไป อย่างมากก็จิตรวมลงไปเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้อุปจาระ แต่ถ้ามุ่งมั่น อย่างบริกรรมพุทโธ พุทโธ อันนั้นยังไม่ใช่ตัวพุทธานุสติ บริกรรมพุทโธ พุทโธ เป็นการบริกรรม การบริกรรมไม่ให้จิตหนีไปที่อื่น จิตก็สงบลงมา พุทธานุสตินี่จะคิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า ธรรมานุสติก็คิดถึงคุณของพระธรรม สังฆานุสติคิดถึงคุณของพระสงฆ์ มรณานุสติคิดถึงความตาย จาคานุสติคิดถึงทานที่เราทำแล้วด้วยดี การคิดจะได้สมาธิสั้นๆ แต่ก็ใช้ได้ พออาศัยปฏิบัติไป

เราต้องดูตัวเองว่าเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานชนิดไหนแล้วจิตใจมันมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์อันนั้น จิตมันเหมือนเด็ก ถ้ามันมีอารมณ์มีของที่มันถูกใจมาล่อมัน มันก็ไม่ซนออกไปที่อื่น ก็อยู่ในอารมณ์ในสิ่งที่มันชอบ อย่างเด็กมันชอบเล่นเกมส์ พอมันเล่นเกมส์ มันก็ไม่หนีไปซนที่อื่น อยู่แต่ในบ้านนั่งเล่นเกมส์ นี่หลักของการทำสมาธิชนิดสงบ ง่ายๆ ไปดูตัวเอง

 

อย่าเลือกกรรมฐานตามคนอื่น

อย่าเลือกกรรมฐานตามคนอื่น อย่างพวกเราได้ยินว่าหลวงพ่อทำสมถะด้วยอานาปานสติ ก็จะทำอานาปานสติ ส่วนใหญ่มันทำไม่ได้ อานาปานสติไม่ใช่ของง่าย มันเป็นกรรมฐานพื้นที่สุดเลย เป็นกรรมฐานแม่บท อานาปานสติมันกว้างขวางมาก อย่างละเอียดนี่ครอบคลุมการทำสติปัฏฐานทั้งกาย ทั้งเวทนา ทั้งจิต ทั้งธรรม ใช้ทำสมถะอย่างเดียวก็ได้ ใช้ทำวิปัสสนาด้วยก็ได้ ทำอานาปานสติแล้วถอนออกมาเจริญปัญญา ดูกายดูอะไรอย่างนี้ก็ได้ ทำอานาปานสติแล้วไปเจริญปัญญาในฌานก็ได้ ทำอานาปานสติแล้วก็พลิกไปเป็นอภิญญาก็ได้ มันกว้างขวางมาก ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรอก ไม่ใช่เอะอะก็หายใจๆ แล้วนึกว่าจะสงบ หายใจไปเรื่อยๆ ก็ไม่แน่ว่าจะสงบ สงบก็ไม่แตกฉาน สงบเฉยไปงั้น ซื่อบื้อไปเฉยๆ ฉะนั้นไม่จำเป็นว่าเราจะต้องใช้กรรมฐานระดับอานาปานสติ

อาจารย์สายอภิธรรมบางท่าน ท่านพูดเลยว่า “อานาปานสติเป็นกรรมฐานของพระมหาบุรุษ” คำว่าพระมหาบุรุษคือพระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะเป็นมหาบุรุษ ท่านใช้อานาปานสติทำสมถะ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้ด้วยอานาปานสติ บางคนก็ชุ่ย คิดว่าท่านทำอานาปานสติแล้วบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทำอานาปานสติให้จิตตั้งมั่น ทรงอยู่ในฌานที่ 4 อานาปานสติสูงสุดไปที่ฌานที่ 4 พอจิตท่านทรงอยู่ในฌานที่ 4 แล้ว ท่านโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ท่านเจริญปัญญาด้วยการเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านดูลงไปที่อริยสัจ 4 หรือตัวปฏิจจสมุปบาท เพราะฉะนั้น ท่านตรัสรู้ด้วยการรู้แจ้งอริยสัจ 4 ท่านไม่ได้ตรัสรู้ด้วยอานาปานสติ อานาปานสติท่านทำมาได้ตั้งแต่ชาติก่อนๆ แล้ว

ถ้าเราทำอานาปานสติได้ เราก็ทำ อย่างท่านพุทธทาส ท่านสอนอานาปานสติ 16 ขั้น อันนี้เอามาจากอานาปานสติสูตร คนทั่วไปแค่ขั้นที่ 4 ก็ไม่ผ่านแล้ว ขั้นที่ 4 ลมหายใจระงับ ลมหายใจระงับไม่ได้แปลว่าไม่หายใจ ลมหายใจระงับหมายถึงว่า จิตนี่วางการรู้ลมหายใจไปใช้ปฏิภาคนิมิต คือแสงสว่างที่เกิดขึ้นเป็นอารมณ์กรรมฐานแทนตัวลมหายใจ จิตก็จะดิ่งเข้าไปสู่ความสงบที่ปราณีตลึกเข้าไปอีก พอถึงตอนนั้น มันไม่มีลม ถ้าดูจิตเป็น ก็ต่อเข้าอรูปไปได้ นี่แค่ลมหายใจระงับ ส่วนใหญ่เราก็ทำไม่ได้แล้ว พอเราหายใจช้าลง เราก็ตกใจกลัวจะตาย ใครเคยเป็นไหม หายใจไป พอมันหยุดหายใจชั่วคราว ตกใจรีบหายใจใหญ่ คล้ายๆ ตะกายหาอากาศ กลัวจะตายไป จริงไม่มีใครทำอานาปานสติแล้วตายสักคนเดียว ไม่มีหรอก ถึงจะกลั้นลมหายใจ บอกว่าฆ่าตัวตายด้วยการกลั้นลมหายใจ ไม่ตายหรอก พอกลั้นลมหายใจไปพอมันสลบไป ร่างกายก็หายใจต่อ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัวทำกรรมฐานแล้วไม่หายใจตาย ไม่มีหรอก ถ้าจะทำอานาปานสติ ก็ไม่ต้องกลัว เด็ดเดี่ยวลงไป มันไม่ตายหรอก

ทำไม่ได้ก็ทำอย่างอื่น บริกรรมไปก็ได้ พุทโธไป สัมมาอรหังไป นะมะพะทะไป พุทธังสรณังคัจฉามิ ก็ได้ หรือจะบริกรรมอย่างอื่นก็ได้ ใช้บริกรรมเอาก็ง่ายดี ไม่มีนิมิตอะไรหรอก ปลอดภัยหน่อย อย่างพุทโธ พุทโธ ไป ก็ปลอดภัยดี บริกรรมไปเรื่อยๆ ถ้าใจชอบ อย่างใจชอบพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ใจมีความสุข จิตมันก็สงบไม่หนีไปที่อื่น นี่หลักของการทำสมาธิชนิดสงบ

ส่วนการทำสมาธิชนิดตั้งมั่น หลวงพ่อสอนไว้เยอะแล้ว ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง กรรมฐานเดิมที่เคยทำนั่นล่ะ แต่ปรับนิดหนึ่ง แทนที่จะน้อมจิตไปอยู่ที่อารมณ์กรรมฐาน ก็ทำกรรมฐานเป็น background ให้จิตรู้เท่านั้นเอง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง อย่างเคยพุทโธ ก็พุทโธไป เคยหายใจ ก็หายใจไป แต่ไม่ได้น้อมจิตไปอยู่ที่พุทโธ ไม่ได้น้อมจิตไปอยู่กับลม ให้อยู่ในอารมณ์อันเดียว อันนั้นจะได้สมาธิสงบ เราพุทโธไป หายใจไป แล้วก็คอยรู้ทันจิตไป จิตฟุ้งซ่านหนีไปหาอารมณ์อื่น เราก็รู้ทันว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตไหลลงไปอยู่ที่อารมณ์กรรมฐาน อย่างเรารู้ลมหายใจแล้ว จิตไหลไปอยู่ในท้อง ไหลไปจับที่ลม รู้ทันว่าจิตไหลไปอยู่ที่ลม เราทำกรรมฐานอันเดิมที่เราเคยทำ แต่ปรับวิธีมอง อย่างเคยพุทโธ พุทโธ แล้วให้จิตสงบอยู่กับพุทโธ ก็เปลี่ยนใหม่ พุทโธ พุทโธ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน จิตจมลงไปอยู่กับพุทโธ รู้ทัน เปลี่ยนมาจากการรู้อารมณ์ มาเป็นรู้จิต เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่นขึ้นมา

 

จิตผู้รู้

เมื่อก่อนที่หลวงพ่อเรียนจากครูบาอาจารย์ เข้าไปหาท่านกี่องค์ๆ ท่านสอนแต่เรื่องจิตผู้รู้ ท่านไม่มาสอนหลวงพ่อหรอก ว่าหายใจเข้าพุทหายใจออกโธไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเข้าใจเอง ไม่พูดเลย เสียเวลา ท่านตัดตรงสอนหลวงพ่อเข้ามาที่ตัวผู้รู้เลย จะพุทโธแล้วจิตไหล เรารู้ หายใจจิตไหล เรารู้ มันก็ไหลได้สองอย่าง อันหนึ่งไหลสะเปะสะปะไปที่อื่น อีกอันคือไหลไปจมอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ตรงที่เรารู้ทันว่าจิตไหลนั่น ได้ผู้รู้ขึ้นมา อันนี้หลวงพ่อไปคลำมาจากคำสอนของครูบาอาจารย์ ท่านก็พูดแค่ว่า “มันต้องมีจิตเป็นผู้รู้นะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตผู้รู้เป็นจิตประภัสสร สว่างแต่ไม่บริสุทธิ์” ท่านมักจะสอนอย่างนี้ แต่ต้องอาศัยมัน มีจิตผู้รู้ ท่านไม่บอกวิธีทำ หลวงพ่อก็มาคลำเอาเอง ที่จริงมันได้มาตั้งแต่ตอนเป็นโยมแล้ว

ตั้งแต่เด็ก ตอนเป็นโยมนี่ ภาวนาไปเรื่อยนะ ทีแรกก็ลมหายใจระงับกลายเป็นแสง เราตามแสงไปเที่ยวที่อื่น ออกไปเห็นโน่นเห็นนี่ เป็นนิมิตหลอกๆ ต่อมากลัวว่าออกไปแล้วไปเจอผี หลวงพ่อเป็นคนกลัวผี ตอนเด็กๆ เพราะฉะนั้น เวลาทำอานาปานสติแล้ว เราจำได้ จิตมันจะเคลิ้มๆ ตรงนี้แล้ว มันจะสว่าง แล้วมันหนีออกไป พอมันสว่างขึ้นมา รักษาสติไว้ตลอดสายเลย ไม่ให้เคลิ้ม สุดท้ายร่างกายหายไป โลกนี้หายไป เหลือแต่จิตดวงเดียว พอกลับมามีร่างกาย จิตถอนออกจากสมาธิ มีร่างกาย มันเห็นเลยร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ โลกทั้งโลกเป็นของถูกรู้ ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว เป็นของถูกรู้ ทันทีที่เกิดของถูกรู้ มันก็จะเกิดจิตผู้รู้ขึ้นมา เพราะจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้เกิดด้วยกัน เกิดร่วมกัน

อย่างเราพยายามฝึกให้ได้จิตผู้รู้ ง่ายๆ อย่างขณะนี้ เรานั่งอยู่ เรารู้ ลองรู้สึกไป ถ้าเราไม่ได้ไปทำผ่านสมาธิเต็มรูปแบบ ทำแบบทางลัด เอาง่ายๆ เลย อย่างขณะนี้ นั่งอยู่ หายใจอยู่ รู้สึกไหม ร่างกายมันนั่ง ร่างกายมันหายใจ ถ้ารู้สึกว่าร่างกายที่นั่งอยู่เป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายที่หายใจอยู่ถูกรู้ถูกดู ตัวรู้มันจะเกิดขึ้นเอง เพราะใครเป็นคนรู้ว่าร่างกายนั่ง จิตนั่นล่ะเป็นคนรู้ว่าร่างกายนั่ง ใครเป็นคนหายใจ ใครรู้ว่าร่างกายหายใจ ใครเป็นคนหายใจ ก็คือร่างกายหายใจ ใครรู้ว่าร่างกายหายใจ จิตเป็นคนรู้ว่าร่างกายหายใจ มันมีกายกับจิตแยกออกจากกัน

ถ้าเราสามารถแยกจิตกับสิ่งที่ถูกรู้ออกจากกันได้ เราจะเกิดผู้รู้ขึ้น อย่างถ้าจิตหลงไปแล้วเรารู้ทัน สภาวะหลงมันดับ สภาวะรู้มันเกิด ร่างกายมันนั่งอยู่ เราเห็นร่างกายมันนั่ง มันของถูกรู้ อย่างนี้ตัวรู้ก็เกิดเหมือนกัน ตัวรู้เป็นแบบเดียวกันกับที่ทำสมาธิมา อย่างขณะนี้นั่งอยู่ คอยรู้สึกไปร่างกายมันนั่ง หายใจอยู่ รู้สึกร่างกายหายใจ สมมติคัน เกาๆ นี่เห็นร่างกายมันเกา ร่างกายขยับๆ ใจเราเป็นคนรู้ ฝึกอย่างนี้ก็ได้ ไปเดินจงกรม เห็นร่างกายมันเดิน ใจเป็นคนรู้ ฝึกอย่างนี้มันก็ได้ตัวรู้เหมือนกัน แต่ตัวรู้นี้จะไม่เข้มแข็งเหมือนตัวรู้ที่ไปผ่านสมาธิละเอียด ตัวรู้ที่ผ่านสมาธิมานี่ทรงตัวอยู่ได้ บางทีทรงอยู่ได้ 7 วัน ตอนหลับก็หลับไป ไม่เกี่ยว พอตื่นขึ้นมา มันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาใหม่เลย ตัวรู้ แต่อยู่ได้ไม่เกิน 7 วัน ก็เสื่อม ก็ต้องไปทำสมาธิใหม่ แต่ถ้าเรารู้นี่ร่างกายขยับ เรารู้ รู้นี่ ก็ได้ตัวรู้ทีละขณะ ทีละขณะไป ก็ใช้ได้ แค่นี้ก็ใช้ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปเข้าฌานให้ได้ตัวรู้หรอก

ถ้าเราภาวนาเป็น เราจะรู้เลยว่าอะไรๆ มันเป็นกรรมฐานได้สารพัดเลย มันพลิกแพลงไปได้สารพัดเลย มันคล้ายๆ เราฝึกวิทยายุทธ์แบบหนังจีน พอชำนาญถึงขีดสุด วิทยายุทธ์ถึงจุดสุดยอด กระบี่อยู่ที่ใจแล้ว ไม่มีกระบวนท่า ไม่ต้องฝึกกระบวนท่า อะไรๆ มันก็เป็นกรรมฐานหมด อันไหนอะไรๆ ก็เป็นกระบี่หมด เราฝึกพยายามสะสมของเราไปเรื่อยๆ หายใจอยู่ก็รู้ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็รู้ รู้ไป สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ก็รู้ สุขทุกข์เกิดขึ้นเราก็เห็น ความสุขความทุกข์ก็ของถูกรู้ ความดีความชั่วก็ของถูกรู้ ใครเป็นคนรู้ จิตเป็นคนรู้

ขอให้มีจิตเป็นคนรู้เท่านั้นล่ะ มันแยกขันธ์ได้ ตรงที่แยกขันธ์ได้เป็นจุดตั้งต้นของการเจริญปัญญา ในตำราเขาจะเรียกว่า “นามรูปปริจเฉทญาณ” มีปัญญาแยกรูปนามได้ รูปมันนั่ง นามคือจิตเป็นคนดู รูปมันเดิน นามคือจิตเป็นคนดู ก็หัดแยกไป หัดแยกอย่างนี้ก็ได้ นี่พอแยกได้ชำนาญแล้ว จะเห็นในโลกนี้เต็มไปด้วยผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ถ้าพูดภาษาปริยัติ ก็คือมีจิตกับอารมณ์ จิตกับอารมณ์ต้องอยู่ด้วยกันตลอด มีจิตต้องมีอารมณ์ มีอารมณ์ต้องมีจิต เพราะอารมณ์นั้นปรากฏขึ้นมาให้รับรู้ได้ด้วยจิต ถ้าไม่มีจิต ไม่มีอารมณ์ นี่ถ้าอารมณ์นั้นเป็นรูปธรรมนามธรรม การที่เรารู้อารมณ์ที่เป็นรูปธรรมนามธรรมไปแล้วจิตตั้งมั่นขึ้นมาเป็นขณะๆ นี่ มันเดินวิปัสสนาได้ ไม่ใช่เรื่องยากอะไรหรอก

 

บางคนก็บอกว่า “หลวงพ่อ วันก่อนสอนเรื่องโลกธรรม หลวงพ่อสอนง่ายไป ตื้นไป อยากให้สอนกรรมฐานลึกๆ” สอนมาตั้งนานแล้ว ทำได้หรือเปล่า ทำจริงหรือเปล่า อยากเรียนธรรมะลึกๆ แต่ไม่ค่อยปฏิบัติ มันไม่ได้เรื่องหรอก เหมือนหลวงพ่อ ตอนสอนทีแรก หลวงพ่อสอนเข้ามาที่จิตเลย สอนดูจิตดูใจเลย ครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่บางองค์ท่านก็ท้วงหลวงพ่อ “เฮ้ย! ปราโมทย์สอนลึกไป สอนฆราวาส สอนทำทานถือศีลแค่นี้ มันก็ทำไม่ได้แล้ว ไม่ต้องมาสอนเรื่องสมาธิเรื่องปัญญาอะไรหรอก” นี่หลวงพ่อมองว่า ทำไมหลวงพ่อตอนเป็นโยม ครูบาอาจารย์ก็สอนหลวงพ่อมีสมาธิจนได้จิตผู้รู้ แล้วก็เจริญปัญญา ดูความเกิดดับของอารมณ์กรรมฐาน ทำไมหลวงพ่อไปเรียนกับครูบาอาจารย์แล้วท่านสอน

หลวงพ่อพุธท่านบอกหลวงพ่อเลยว่า ท่านเป็นคนสั่งให้หลวงพ่อเผยแพร่ หลวงพ่อพุธนี่เป็นครูบาอาจารย์องค์ที่สามของหลวงพ่อ องค์แรกคือท่านพ่อลี หลวงพ่อเรียนอานาปานสติ องค์ที่สองคือหลวงปู่ดูลย์ องค์ที่สามนี่หลวงพ่อพุธ ไปกราบหลวงพ่อพุธวันเดียวกับที่ไปกราบหลวงปู่ดูลย์ครั้งแรก วันเดียวกันเลย 6 กุมภาพันธ์ 2525 ออกจากหลวงปู่ดูลย์แล้วมาแวะโคราช เข้าไปหาหลวงพ่อพุธ หลวงพ่อพุธสอนการเจริญสติในชีวิตประจำวัน แต่ละองค์ท่านสอนแตกต่างกัน แล้วก็ไปเก็บเกี่ยวธรรมะจากท่านมา ค่อยๆ ฝึกตัวเองไป ฝึกตัวเองทุกวันๆ ไม่ละเลย ฝึกไปเรื่อยๆ ศีล สมาธิ ปัญญามันก็ค่อยๆ แก่กล้า

นี่ครูบาอาจารย์สอนหลวงพ่อมา อย่าง “ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด มีสติรู้” หลวงพ่อพุธสอนอย่างนี้ ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วมันถูกรู้ มันก็คือมีจิตที่เป็นผู้รู้นั่นล่ะ ท่านสอนเราให้มีจิตผู้รู้ด้วยภาษาที่ต่างๆ กัน หลวงปู่ดูลย์บอก “คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็อาศัยคิด” อาศัยคิดคือ จิตมันคิด เรามีสติรู้ทัน จิตคิดดับ จิตรู้เกิด หลวงพ่อพุธบอก “ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ให้มีสติตามรู้ไป” ถ้ายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด อันนี้ร่างกายเป็นคนทำ คิด ใจเป็นคนทำ แล้วมีสติรู้ ก็เห็นร่างกายถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ ใจมันคิด จิตเป็นคนรู้ ก็ได้จิตผู้รู้ขึ้นมา พอได้จิตเป็นผู้รู้แล้วนี่ ภาวนาไม่ใช่เรื่องยากแล้ว

ปัญหาใหญ่คือพวกเราไม่มีจิตผู้รู้ เรามีแต่จิตผู้หลงกับจิตผู้เพ่ง จิตผู้หลงเอาไปทำอะไรได้ ก็ทำกิเลสนั่นล่ะ ทำอกุศลนั่นล่ะ จิตผู้เพ่งก็ทำดีได้ แต่ว่าไม่เกิดปัญญา จิตผู้เพ่งเป็นการเข้าไปแทรกแซงอารมณ์ ไปแทรกแซงจิต อย่างเรารู้ลมหายใจ เราเพ่งอยู่ที่อารมณ์จนลมดับ เห็นแสงก็เพ่งแสงไป ไปวุ่นวาย หรือบางทีก็เพ่งจิต นิ่งเฉยรู้ตัวเฉยๆ อยู่ อย่างนั้นไม่เกิดปัญญา ถ้ามีผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้แยกออกจากกันแล้ว ก็จะเห็นสิ่งที่ถูกรู้มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง จิตเป็นคนรู้ แล้วต่อไป ปัญญาแก่กล้าขึ้น เราก็จะเห็นว่าจิตผู้รู้เองก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้ดู เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้ฟัง เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ดมกลิ่น เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้รู้รส เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ตั้งมั่นขึ้นมา เดี๋ยวก็เป็นจิตที่รู้กาย ไหลลงไปรู้กาย รู้ความรู้สึกทางกาย เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตหลงไปคิด เฝ้ารู้เฝ้าดูเห็นจิตเกิดดับ จิตรู้ก็เกิดดับ

 

ที่สอนให้วันนี้ เอาไปทำนะ เอาไปทำ ความชั่วต้องละ ความดีต้องเจริญ ความชั่วละก็ด้วยการมีสตินั่นล่ะ อย่าไปตามใจกิเลส แล้วก็เจริญศีล สมาธิ ปัญญาของเราไป สุดท้ายมรรคผลมันก็เกิด เจริญปัญญาทำวิปัสสนาแต่ไม่มีสมาธิไม่ใช่วิปัสสนาจริง มันฟุ้งซ่าน เจริญปัญญาแต่ไม่มีศีล ไม่ใช่ อันนั้นเป็นอุบายของมาร มันหลอกให้เราทำชั่ว กิเลสหลอกให้เราทำชั่ว มารมันก็สอนเรา อย่างนี้ทำได้ หาวิธีเลี่ยงศีล อย่างนั้นไม่สะอาด ภาวนาไม่ขึ้น ได้แค่ไหนก็แค่นั้น หรือเสื่อมลงเรื่อยๆ

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
6 มิถุนายน 2563