เดินให้ถูกทาง

เมื่อก่อนบรรยากาศบ้านเมือง ที่หลวงพ่อชอบมากเลย คือวันสำคัญทางศาสนา วันมาฆบูชา วิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาพวกนี้ มันจะมีบรรยากาศของความสงบ ร่มเย็น ไปดูที่ต่างประเทศจะไม่มี อย่างบ้านเมืองเขาประเทศที่เจริญแล้ว ดูเขาสะอาด สิ่งแวดล้อมดี ผู้คนมีระเบียบวินัย แต่มันไม่มีบรรยากาศของธรรมะ กระแสของความร่มเย็นอะไรอย่างนี้ ไม่มี ของเรายังดียังมีอยู่ แต่ช่วงหลังๆ มันก็ลดน้อยลง บรรยากาศมันยังสงบ ร่มเย็นอยู่ในวัด ข้างนอกคนไม่ได้สนใจอะไรแล้ว ยิ่งเป็นวันหยุดก็ยิ่งเอาเวลาไปเที่ยว ไปเล่น ไปกินเหล้า ไปอะไร

โลกมันเปลี่ยน เราห้ามมันไม่ได้ ยังจำเป็นต้องอยู่กับมันก็อยู่ไปก่อน แล้วตั้งใจเราจะไม่หลงโลก เราจะตามครูของเราไปให้ได้ คือตามพระพุทธเจ้าไปให้ได้ ตอนที่ท่านตรัสรู้ ท่านก็เข้าถึงพระนิพพานชนิดที่ 1 นิพพานมี 2 อย่าง นิพพานอันหนึ่ง เป็นนิพพานที่ยังมีขันธ์ 5 เหลืออยู่ เรียกสอุปทิเสสนิพพาน วันที่ตรัสรู้ ท่านเข้าถึงพระนิพพานชนิดที่ 1 แล้วท่านก็อยู่ไป 45 ปี แล้วถึงวาระธาตุขันธ์แตกดับ ท่านก็เข้าถึงนิพพานชนิดที่ 2 ชื่ออนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีเศษของขันธ์เหลืออยู่

 

“ปฏิบัติถูกทาง อยู่ในทางสายกลาง
แล้วเราก็ไม่ไปมีอุปสรรคกลางทาง
วันหนึ่งเราก็ต้องถึงพระนิพพานแน่นอน”

 

เราภาวนาเราก็จะเดินตามท่านไป ตั้งใจไว้ เราจะต้องไปถึงพระนิพพานให้ได้ ถ้าชาตินี้ยังไปไม่ได้ ก็ชาติต่อๆ ไปก็ต้องไปให้ได้ ขอเพียงแต่เริ่มต้นให้ดีเท่านั้น ถ้าเราเริ่มต้นได้ดี คือเริ่มต้นถูก รู้วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง แล้วเราขยันปฏิบัติ เรียกว่าเราเริ่มเดินในเส้นทางที่ดีแล้ว คือเส้นทางของทางสายกลาง อย่ามัวแต่หลงโลกอยู่ ถ้าจิตเราเดินเข้าสู่ทางสายกลาง จิตใจเราก็มีแนวโน้มที่จะไปถึงพระนิพพาน ทางสายกลางก็คืออย่าไปหลง พระพุทธเจ้าท่านสอนบอก “ไม่ติดฝั่งซ้าย ไม่ติดฝั่งขวา” คือไม่ติดธรรมะที่เป็นคู่ๆ สิ่งที่เป็นคู่ๆ อย่างกามสุขัลลิกานุโยค อันนี้เราตามใจกิเลส สิ่งที่เป็นคู่กับมันคืออัตตกิลมถานุโยค การบังคับกดข่มกายใจของเราให้ลำบาก ถ้าเราไม่ไปสุดโต่งอยู่ 2 ฝั่ง เท่ากับเราเริ่มเดินเข้าสู่ทางสายกลาง

เมื่อเดินเข้าสู่ทางสายกลาง เราก็ระมัดระวัง สังเกตไปอะไรจะเป็นอุปสรรค ขัดขวางการเดินทางของเรา เราถูกมนุษย์จับไว้ไหม ถูกมนุษย์จับไว้ คือเราเป็นห่วงคนโน้น ห่วงคนนี้ พะรุงพะรัง ถ้ายังห่วงคนโน้น ห่วงคนนี้อยู่ ไปนิพพานไม่ไหว หรือถูกอมนุษย์จับไว้ อย่างเราภาวนาแล้ว เราก็ชอบเล่นอิทธิปาฏิหาริย์ ส่งจิตไปดูผี ดูเทวดา ดูพรหม วุ่นวายอยู่กับสิ่งเหล่านี้ เรียกว่าถูกอมนุษย์จับไว้ ภาวนาก็หวังจะได้ไปเป็นเทวดา หรือภาวนาหวังว่าจะได้ฌานสมาบัติ แล้วไปเกิดเป็นพรหม นี่พวกถูกอมนุษย์จับไว้ หรือเลี้ยงหมา เลี้ยงแมว ติดหมา ติดแมว นี่ก็ถูกอมนุษย์จับไว้เหมือนกัน

เราสำรวจตัวเองไป อะไรที่จะทำให้เราไปสู่พระนิพพานไม่ได้ เราเดินในทางสายกลางไหม ถ้าเดินอยู่ในทางสายกลางแล้ว เราไปติดไปข้องอะไรหรือเปล่า บางคนภาวนาแล้วก็เกยตื้น เกยตื้นคือไปติดอยู่ในสภาวะอันใดอันหนึ่ง ในภพอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไปค้างนิ่งๆ อยู่ อย่างเมื่อเช้าหลวงพ่อบอกว่าเหมือนจระเข้ ภาวนาแล้วก็ไปค้างเติ่งอยู่กลางอากาศ อย่างนั้นก็เกยตื้นอยู่ตรงนั้น พัฒนาต่อไม่ได้ หรือเราปฏิบัติ แล้วเราก็ไปไหนไม่รอด ติดอยู่ที่เดิม อย่างนี้เรียกว่าเราเกยตื้น

แต่ก่อนมีครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง หลวงพ่อเคยไปกราบ คือหลวงปู่คำพันธ์ โฆษปัญโญ อยู่วัดธาตุมหาชัย เป็นลูกศิษย์หลวงปู่เสาร์ ตอนนั้นหลวงพ่อชอบสมาธิ ทำสมาธิไปเรื่อยๆ รู้สึกสบาย เข้าไปกราบท่าน ท่านก็บอก “คนเราจะเดินทางไกล จะไปหาที่ร่มเย็นเป็นสุข อยู่จากที่ร้อนๆ ที่อัตคัดขาดแคลน เดินทางจะไปหาที่สงบสุข ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระหว่างเดินทาง ก็ไปเจอต้นไม้ใหญ่ร่มเย็น ก็เลยหยุดอยู่ที่นั่นเลย ไม่ไปไหนเลย” ฉะนั้นอย่างถ้าเราภาวนา เราได้คุณงามความดีอะไรขึ้นมา เช่น เรารู้จักฝึกให้จิตสงบ หรือเราบรรลุโสดาบัน แล้วเราก็ยินดีพอใจ ติดอยู่แค่นั้น ไม่ยอมเดินต่อ อันนี้มีไม่ใช่ไม่มี พอเป็นพระโสดาบันแล้ว ยังอยากเกิดอีกสัก 7 ชาติ เอาให้นานที่สุด คล้ายๆ ไหนๆ จะเกิดแล้ว ขอเกิดให้มันเยอะๆ เลย ยังติดอกติดใจอยู่ อันนี้ก็เนิ่นช้า

ฉะนั้นสำรวจตัวเอง เราไปเกยตื้นอยู่ที่ไหนหรือเปล่า เราเน่าในหรือเปล่า เน่าในก็คือเสียศีลของเราไหม ถ้าศีลเราเสีย เรียกว่าเน่าใน เหมือนต้นไม้ ท่อนไม้ ลอยในแม่น้ำจะไปสู่ทะเล แต่ว่ามันไปไม่ถึงทะเล มันเน่าเสียก่อน ผุพังไปเสียก่อน

นี้เราภาวนา บางคนก็เน่ากลางทาง ภาวนาแล้วก็เสียศีล ผิดศีล ผิดธรรมอะไรขึ้นมา อันนี้ก็ไปไม่รอดเหมือนกัน บางคนก็โดน ท่านบอกโดนเกลียวน้ำวน โดนดูดเอาไว้ ไปไหนไม่ได้ วนอยู่ตรงนั้น เกลียวน้ำวนก็คือกาม เราอยากนิพพาน แต่เราติดในความสุขความสบายทั้งหลาย ก็ติดอยู่อย่างนั้น ไปไม่รอด ไปไม่ถึงพระนิพพาน

ฉะนั้นเราคอยสำรวจตัวเอง อันแรกเลย เราพ้นจากความสุดโต่ง 2 ด้านหรือยัง ด้านตามใจกิเลส เผลอเพลินไปวันๆ หนึ่ง กับด้านที่บังคับเพ่งจ้องกาย บังคับเพ่งจ้องจิตใจอยู่ เราพ้นจาก 2 สิ่งนี้ไหม ถ้าพ้นจาก 2 สิ่งก็เรียกว่า เราเริ่มเดินเข้าสู่ทางสายกลาง เดินไปก็สำรวจไป มีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้น ที่จะทำให้เราไปไม่ถึงพระนิพพานเสียที สำรวจจุดบกพร่องต่างๆ เราถูกมนุษย์จับไว้ไหม หรือถูกอมนุษย์จับไว้ เราถูกเกลียวน้ำวนดูดเอาไว้ หรือเราไปเกยตื้นอย่างนี้ หรือเราเน่าใน สำรวจตัวเองไป

ถ้าเราปฏิบัติถูกทาง อยู่ในทางสายกลาง แล้วเราก็ไม่ไปมีอุปสรรคกลางทาง วันหนึ่งเราก็ต้องถึงพระนิพพานแน่นอน ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นสิ่งที่ขวางเรา ไม่ให้ไปพระนิพพาน ไม่ใช่ใครอื่น คือใจที่อ่อนแอของเราเอง ถ้าเราไม่รู้ทาง เราไปไม่ได้ ถ้ารู้ทางแล้วอ่อนแอก็ไม่ยอมไป ใช้ไม่ได้

 

อดทนพากเพียร ใส่ใจการปฏิบัติ

หลวงพ่อใส่ใจการปฏิบัติมาตั้งแต่เด็ก พ่อพาไปกราบท่านพ่อลี ท่านก็สอนอานาปานสติให้ นี้ท่านอายุน้อย อายุ 50 นิดๆ ท่านก็สิ้นแล้ว ยุคนั้นหาครูบาอาจารย์ที่มาอยู่ทางภาคกลางนี้ หายาก ไม่มี ก็เลยไม่ได้เรียนต่อ ทำได้แต่สมาธิ ไม่รู้ทาง อันนี้เรียกว่าไม่รู้ทาง แล้วมาเจอหลวงปู่ดูลย์ เรียกว่ารู้ทางแล้ว

ท่านสอน จิตเราเข้าสู่ทางสายกลาง มีทั้งสติ มีทั้งสมาธิ มีทั้งการเจริญปัญญาได้แล้ว หลวงพ่อก็อดทนพากเพียร พูดอยู่เรื่อยๆ หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่ง แต่หลวงพ่อเป็นคนที่อดทน เมื่อก่อนฝึกกระบี่ ฝึกดาบ ฝึกอยู่อย่างนั้น กระบวนท่าเดียว ท่าเบสิก ไม่ร่ายรำอะไรกับใครเขาหรอก ฝึกอยู่ท่าเดียว เบสิก ปรากฎว่าพวกรำเก่งๆ สู้เราไม่ไหว เพราะพื้นฐานเราแน่น อดทน ทำอะไรที่ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น ทำได้ อย่างพวกเราถ้าไม่อดทน ภาวนาไปแล้วก็เบื่อ เหมือนกันทุกวันเลย ไม่เห็นมีอะไรแปลกใหม่เลย ขี้เกียจแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไปไม่รอดหรอก

หลวงปู่ดูลย์สอนให้หลวงพ่อรู้จักเดินทางสายกลาง ไม่เผลอลืมจิตใจของตนเอง ไม่ไปเพ่งจ้องบังคับจิตใจของตัวเอง ไม่สุดโต่ง 2 ข้าง ถัดจากนั้นหลวงพ่อดูทุกวัน ไม่เคยเลิกเลย จิตเป็นสุขก็รู้ จิตเป็นทุกข์ก็รู้ จิตเป็นกุศลก็รู้ จิตโลภ โกรธ หลง ก็รู้ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ ก็รู้ จิตเป็นอย่างไรก็รู้ไปเรื่อย ถึงเวลาก็มาทำความสงบ หลวงพ่อนั่งสมาธิ กระทั่งถ้าขึ้นรถเมล์ บางทีโหนรถเมล์อยู่ ยืนอยู่ ไม่รู้จะทำอะไร ก็ทำสมาธิ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำไปเรื่อยๆ

บางทีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบ อย่างจมูกก็กระทบ ในรถเมล์มันมีกลิ่นของคน บางคนก็หอม บางคนก็เหม็น กระทบกลิ่นหอม จิตมันชอบรู้ว่าจิตชอบ กระทบกลิ่นเหม็น รู้ว่าไม่ชอบๆ การภาวนาไม่หยุดเลย อยู่ตรงไหนก็ปฏิบัติได้ ถึงเวลาสมควรทำสมถะก็ทำ ถึงเวลาที่จิตมีกำลังพอจะเดินปัญญา ก็เดินปัญญา ไม่เกยตื้น สำรวจตัวเองอยู่เสมอเลย มันดูตัวเองออก กระทั่งว่าถ้ากิเลสนี้แยกเป็น 4 ส่วน เราละได้แล้วหรือยัง สักส่วนหนึ่งไหม หรือ 2 ส่วน ส่วนที่ 3 ละได้หรือยังอะไรอย่างนี้ สำรวจเอา สามารถดูได้กระทั่งว่า ตอนนี้เราละกิเลสเด็ดขาดไปแล้วกี่เปอร์เซนต์ สังเกตจิตใจของเราได้ ไม่ยอมหยุดอยู่กับที่

บางคนที่ภาวนาด้วยกัน เขาหยุดอยู่กับที่ พอภาวนารู้สึกถึงจุดที่ปลอดภัยแล้ว คิดว่าทำบุญมาเยอะ ไม่ต้องรีบนิพพานดีกว่า แล้วจะเวียนว่ายตายเกิดอีก 7 ชาติ เพื่อจะได้เสวยกุศลผลบุญของตัวเองที่สะสมมาดี คนคิดอย่างนี้มีตลอด คนหนึ่งก็คือนางวิสาขา เคยได้ยินชื่อไหม นางวิสาขา เป็นพระโสดาบัน แกทำบุญเยอะ ตั้งความปรารถนาขอเกิด 7 ชาติ จะได้ไปเสวยบุญ อันนั้นบุญเขาเยอะจริง อย่างพวกเราบุญบ้าง บาปบ้าง กระพร่องกระแพร่ง สมมติว่าได้โสดาบันแล้ว ขอเกิดอีก 7 ชาติ นึกว่าจะเสวยบุญอย่างเดียว เปล่า บางทีก็เสวยบาปเข้าไปด้วย มันเลือกไม่ได้ว่าจะได้เสวยบุญ หรือเสวยบาป ฉะนั้นเราก็ไม่ประมาท พ้นทุกข์ได้ก็พ้นไปเลย ไม่ต้องมารอ

หลวงพ่อภาวนาอยู่กับหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ท่าน มีอยู่วันหนึ่ง ท่านนั่งเก้าอี้โยกของท่านอยู่ หลวงพ่อก็นั่งพับเพียบอยู่กับท่าน อยู่กับหลวงปู่ดูลย์ไม่ต้องพูด ถ้าพูดมากไม่ได้ธรรมะที่ดีหรอก ท่านไม่พูดด้วย ถ้าพูดเพ้อเจ้อในธรรมะก็ไม่พูดด้วย ก็นั่งเงียบๆ ภาวนาของเราไป แล้วท่านก็ก้มลงมาบอก “ทำให้จบเสียในชาตินี้นะ” ท่านสั่งอย่างนี้ หลวงพ่อ “ครับ ผมจะทำให้จบครับ” เพราะใจจริงๆ มันไม่คิดจะเนิ่นช้า ส่วนใหญ่คนที่ยอมเนิ่นช้า ไปสังเกตเอาเถอะ มันติดกาม ติดความสุข ความเจริญ ความเพลิดเพลิน มัวเมากับโลก ก็เลยติด ขอเวียนว่ายตายเกิดไปอีกช่วงหนึ่งก็ยังดี

เพราะฉะนั้นเราก็สำรวจตัวเอง เดินให้ถูกทางก่อน หลวงพ่อพูดง่ายๆ ทางสายกลาง ไม่เผลอ ไม่เพ่ง 2 ตัวนี้ เผลออยู่ก็คือกามสุขัลลิกานุโยค เพ่งอยู่คืออัตตกิลมถานุโยค ไม่เผลอ ไม่เพ่ง คือภาวะแห่งการรู้ รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้จิตอย่างที่จิตเป็น นี่เราเดินอยู่ในทางสายกลางแล้ว แล้วอย่าไปติดไปค้างอะไรอยู่กลางทาง ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติไป ถึงวันหนึ่งเราก็จะถึงพระนิพพาน เราจะรู้ว่าจิตเราเปลี่ยน ถึงยังไม่ได้โสดาบัน เราก็รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของจิตใจ อย่างเรารู้สึกได้ว่าโลกนี้อยู่ห่างออกไป พอภาวนาแล้ว เรารู้สึกโลกมันห่างออกไปแล้ว มันเห็นได้ หรือเราเห็นว่าเวลามีความทุกข์เกิดขึ้น มันทุกข์สั้นๆ แล้วก็ทุกข์ไม่แรงเท่าเก่า

เรามีพัฒนาการที่สังเกตตัวเองได้ ถ้าเราภาวนาถูก ความทุกข์มันก็สั้นลงๆ แล้วมันก็ไม่ค่อยจะรุนแรง มันเปลี่ยนให้เราเห็นได้ด้วยตัวเอง ที่ท่านบอกว่า “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ” วิญญูชนรู้เห็นด้วยตนเอง ท่านเห็นอย่างนี้ได้ ฉะนั้นพวกเราก็ภาวนา ไม่เผลอ ไม่เพ่งไป มีสติอยู่กับปัจจุบัน “มีสติอยู่กับปัจจุบัน” ก็คือร่างกายของเราในขณะนี้ มันหายใจอยู่ รู้สึก มันยืน เดิน นั่ง นอนอยู่ รู้สึก มันเคลื่อนไหว รู้สึก มันหยุดนิ่ง รู้สึก มีความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย รู้สึก ความสุข ความทุกข์ ที่มีอยู่ในกาย เกิดแล้วก็ดับไป รู้สึก มีความสุข มีความทุกข์ มีความเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ รู้สึก แล้วก็เห็นสุข ทุกข์ เฉยๆ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ รู้สึกไป

งานหลักของเราในการเจริญปัญญา คือคอยรู้สึกเอา รู้สึกกายอย่างที่กายเป็น รู้สึกจิตใจอย่างที่จิตใจเป็น จิตใจสุขก็รู้ จิตใจทุกข์ก็รู้ จิตใจเฉยๆ ก็รู้ จิตใจเป็นกุศลก็รู้ อย่างเราอยากปฏิบัติธรรม เราอยากฟังธรรม เราอยากทำบุญใส่บาตร อยากทำสาธารณประโยชน์ จิตใจมันเป็นกุศล เราก็รู้ทัน รู้ไม่ทันมีโทษไหม มี เคยเห็นพวกบ้าบุญไหม ทำบุญแล้วก็เมาบุญ มันเพลินอยู่กับการทำบุญ อันนี้เกยตื้น ไม่ได้เกยตื้นทางชั่วหรอก เกยตื้นอยู่กับการทำความดีนั่นล่ะ ก็เกยตื้น ไปไหนไม่รอดหรอก ขยันทำบุญ แต่ว่าไปไม่ถึงพระนิพพาน เราก็สังเกตเอา จิตเป็นกุศลก็รู้ เกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน จิตเป็นอกุศล เกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน

เฝ้ารู้เฝ้าดูไป จิตมีราคะขึ้นมาก็รู้ ราคะดับก็รู้ จิตมีโทสะก็รู้ โทสะดับก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตรู้สึกตัวก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ จิตทรงอุปจารสมาธิก็รู้ จิตถึงอัปปนาสมาธิก็รู้ จิตปล่อยวางจิตก็รู้ อันนี้ละเอียดขึ้นไป ถึงวันหนึ่งเราก็อาจจะเห็น เราภาวนา บางทีเราเห็นจิตมันวางจิตลงไป แต่ถ้ายังไม่สิ้นสุดเชื้อของอวิชชา วางจิตลงไปแป๊บเดียวก็หยิบขึ้นมาอีกแล้ว จิตมันหยิบฉวยจิตขึ้นมาได้อีก มันวางจิตลงไปเราก็รู้ มันหยิบฉวยขึ้นมาอีกเราก็รู้ ค่อยๆ สังเกตไป

พอหลวงพ่อภาวนามา ก็เห็นสิ่งเหล่านี้ที่เล่าให้พวกเราฟัง เรียกว่าเราอยู่กับปัจจุบันธรรม ก็คือกายที่เป็นจริงๆ ของเราตอนนี้ จิตใจที่เป็นจริงๆ ของเราตอนนี้ คอยรู้ไปเรื่อยๆ อย่างมี ยังไม่บวชตอนนั้น เห็นจิตมันวาง จิตมันปล่อยวางจิตลงไป แล้วมันก็หยิบขึ้นมาอีก เคยจะไปถามครูบาอาจารย์ ทำอย่างไรวางแล้วจะวางเลย ไม่หยิบอีก ปรากฎว่าวันนั้นได้ข่าวหลวงปู่สุวัจน์ ท่านมาอยู่ที่สวนทิพย์ แถววัดกู้ ที่ปากเกร็ด พอดีจิตมันวางจิต ก็เลยรีบจะไปหาท่าน จะไปถามท่าน จะเอาไปให้ท่านดู จิตที่เราวางแล้ว ทำอย่างไรมันจะวางตลอด

พอขับรถออกจากบ้านเท่านั้น จิตก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาใหม่ ทำอย่างไรๆ ก็ไม่วาง พยายามทุกวิถีทาง ตลอดการขับรถ จนกระทั่งเข้าไปใกล้ ขับรถเข้าไปใกล้ที่พักของท่านแล้ว ก็รู้สึกเราทำไม่ได้ จิตนี้มันเป็นอนัตตา เราบังคับมันให้วางก็ไม่ได้ พอมองว่าจิตมันเป็นอนัตตาปุ๊บ มันวางปั๊บเลย พอมันวางก็ดีใจ เดี๋ยวจะไปให้ท่านดูแล้ว เข้าไปถึงก็ไปนั่งรออยู่พักหนึ่ง เขาก็เข็นท่านออกมา ท่านเป็นอัมพาตนั่งรถเข็น พอท่านออกมาเรากราบเสร็จ ท่านก็ยิ้มไปยิ้มมา

แล้วท่านก็พูดบอก “เวลาเราปฏิบัติ บางทีจิตมันก็ปล่อยวางจิต พอปล่อยวางจิตแล้ว มันก็ยังหยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก เราทำอย่างไรๆ มันก็ไม่ยอมวาง แต่พอเราเห็นไตรลักษณ์ จิตมันก็เป็นไตรลักษณ์ มันก็วาง” พูดเสร็จแล้วท่านก็หันมามองหน้าหลวงพ่อ เรายังไม่ได้พูดสักคำเลย นี่ครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อเรียนด้วย ไม่ต้องพูด เสียเวลา ท่านมองปุ๊บ ท่านก็รู้ไส้รู้พุงของเราแล้ว เราก็ โอ้ ก็ต้องดูให้เห็นไตรลักษณ์นี่ล่ะ

 

เห็นทุกข์เห็นโทษ ก็จะวาง

ฉะนั้นเราค่อยๆ สังเกต กระทั่งจิตมีราคะก็รู้ จิตไม่มีราคะก็รู้ จิตมีโทสะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตรู้สึกตัวก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ จิตเป็นสมาธินิดหน่อยก็รู้ จิตเป็นสมาธิลึกซึ้งก็รู้ จิตปล่อยวางจิตก็รู้ จิตหยิบฉวยจิตก็รู้ หัดรู้ไปเรื่อยๆ รู้อย่างที่มันเป็น ถึงวันหนึ่งสติปัญญาเราก็แก่กล้า เราก็เห็นความจริง กายนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ กายนี้เป็นทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง เพราะมันถูกบีบคั้น เพราะมันบังคับไม่ได้ จิตมันเป็นทุกข์ เพราะมันไม่เที่ยง เพราะมันถูกบีบคั้น เพราะมันบังคับไม่ได้

ที่ว่าเห็นทุกข์ๆ นั่นล่ะ ก็คือเห็นความจริงของกายของใจว่าเป็นไตรลักษณ์ มันเห็นอย่างนี้ จิตมันก็จะปล่อยวางของมันเอง เรียกว่ามันเห็นทุกข์เห็นโทษ มันก็จะวาง อย่างเห็นทุกข์เห็นโทษของกาม ก็วางกามได้ เห็นทุกข์เห็นโทษของกาย ก็วางกายได้ เห็นทุกข์เห็นโทษของจิต ก็วางจิตได้ นี่เส้นทางที่เราจะต้องเดินกัน แล้ววันหนึ่งเราจะได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ภาวนาไปเรื่อยๆ จนจิตเราปล่อยวางจิต แล้วไม่หยิบฉวยขึ้นมาอีก เราก็จะระลึกถึงพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้ามีอะไร พระพุทธเจ้ามีปัญญาธิคุณ เราไม่มี พระพุทธเจ้ามีกรุณาธิคุณ เราไม่มี พระพุทธเจ้ามีบริสุทธิคุณ เรามี มีเหมือนพระพุทธเจ้า พอรู้สึกเจอจุดร่วมกับพระพุทธเจ้าได้ จิตกับพระพุทธเจ้าจะรวมเข้าเป็นอันเดียวกัน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียว ค่อยๆ ฝึกไป พอพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมเป็นอันเดียวกันนั้น คราวนี้มันจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง มองลงในกายเห็นความว่าง ขยายความรับรู้ออกจากกาย ไปสู่โลกข้างนอก มันก็ว่าง จิตเองมันก็ว่าง โลกนี้ไม่มีอะไร มีแต่ว่าง ตั้งแต่จิตนี้จนถึงจักรวาลทั้งหลาย ก็มีแต่ว่างเสมอกันหมด

พอเห็นอย่างนี้ มันจะมีธรรมธาตุ มันเป็นคนรู้ มันรู้ ธรรมธาตุนั้นมันก็ว่าง เราไม่ได้ไปหยิบฉวยหมายเอาขึ้นมา ถ้าหมายขึ้นมา มันก็กลายเป็นจิตผู้รู้ ไม่ใช่ธรรมธาตุ ไม่ใช่วิญญาณธาตุ ค่อยฝึก แล้ววันหนึ่งเราจะเห็นโลกนี้ว่าง มันคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนโมฆราช โมฆราชถามพระพุทธเจ้าว่า “บุคคลเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงมองไม่เห็น” พระพุทธเจ้าบอกว่า “บุคคลเห็นโลกเป็นความว่าง มัจจุราชจะมองไม่เห็น” ถ้าเราภาวนาจนเราเข้าถึงว่างแล้ว มัจจุราชมันเห็นอะไร มันเห็นแค่ขันธ์ สิ่งที่พ้นขันธ์ไปนั้น มัจจุราชไม่เห็น ตรงนั้นล่ะที่เราพ้นจากอำนาจของมัจจุราช ของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้

สิ่งที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือตัวขันธ์ สิ่งที่พ้นจากขันธ์นั้นไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ธรรมะอย่างนี้มีอยู่ ยังมีอยู่ เราก็ปฏิบัติไป วันนี้ยังไม่รู้ไม่เป็นไร ฝึกเรื่อยๆ ไป วันหนึ่งก็รู้ หลวงปู่ดูลย์ท่านก็เคยสอนหลวงพ่อไว้ “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้ พบจิตให้ทำลายจิต จึงจะถึงความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” กว่าหลวงพ่อจะเข้าใจเรื่องการทำลายผู้รู้ ใช้เวลาตั้ง 20 กว่าปี ตอนนั้นหลวงพ่อพุธท่านก็บอกว่า “ทำลายผู้รู้ ไม่ต้องไปทำลายมัน ถ้าสติปัญญาแก่รอบแล้ว มันทำลายเอง” ท่านบอก “จิตผู้รู้เหมือนฟองไข่ เมื่อลูกไก่เติบโตเต็มที่ มันจะเจาะทำลายเปลือกออกมาเอง”

เราพัฒนาจิตของเรา จากจิตผู้หลงมา ให้มีจิตผู้รู้อยู่ แล้วก็เห็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งจิตผู้รู้เราก็จะทำลายตัวเองออกมา จิตมันมีเปลือกห่อหุ้มอยู่ คืออาสวกิเลส อริยมรรคก็จะทำลายอาสวกิเลสออกไป จิตก็จะเข้าถึงความเป็นธรรมธาตุ เป็นอิสระ ค่อยๆ ฝึก เบื้องต้นก็รู้สึกตัว เดินอยู่ในทางสายกลาง ไม่เผลอไม่เพ่ง ถ้าเผลอก็รู้ทัน ถ้าเพ่งก็รู้ทัน ไม่ต้องนั่งแก้ เผลอรู้ว่าเผลอ เพ่งอยู่รู้ว่าเพ่ง ไม่ต้องหาทางแก้ให้หายเพ่ง

หาทางทำอะไร มากกว่าการรู้ตามความเป็นจริง อันนั้นไม่ใช่ทางสายกลาง เพราะทางสายกลางคือการรู้ตามความเป็นจริง ถ้าเกินจากนั้นไม่ใช่ทางสายกลาง ถ้าพยายามจะปฏิบัติ พยายามแก้จิต พยายามรักษาจิต อันนั้นคืออัตตกิลมถานุโยค ถ้าหลงลืมจิตนั้นคือกามสุขัลลิกานุโยค ฉะนั้นเราเดินไปในเส้นทางที่ถูกต้อง แล้วไม่ไปติดสิ่งต่างๆ ที่เล่าให้ฟังเมื่อกี้นี้ แล้ววันหนึ่งเราก็จะถึงพระนิพพาน มันมีความสุขที่ไม่มีอะไรเสมอเหมือน

วันนี้เทศน์ให้ฟังพอสมควร อันนี้เป็นครีมเลย ถึงจะสั้นๆ แต่มันเป็นสาระแก่นสาร ที่พวกเราจะได้เอาไว้ใช้หลายสิบปี บางทีต้องใช้ไปถึงชาติหน้าเลย บางคน

 

 

เราเวียนเทียน ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เวลาระลึกถึงพระพุทธเจ้า รอบแรกเราคิดถึงพระปัญญาธิคุณ

พระมหากรุณาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ ก็นึกถึงคุณ 3 ประการของพระพุทธเจ้า แล้วตั้งใจไว้ ทุกก้าวที่เราเดิน ขอให้เราใกล้พระพุทธเจ้าเข้าไปเรื่อย ๆ เราไม่ได้เดินสะเปะสะปะ เราเดินไปหาพระพุทธเจ้า อดทนทำไปเถอะ แล้ววันหนึ่ง เราก็จะได้ดี ถ้าเราไม่อดทน เราไม่ทำ เราก็แพ้กิเลส จมความทุกข์ไม่รู้จักจบจักสิ้น เรามาฟังธรรม มาเวียนเทียน เราก็ได้บุญ

ต่อไปเราก็ทำกิจกรรมของชาวพุทธอีกอันหนึ่ง คือการแผ่ส่วนบุญ ให้พวกเราคิดถึงบุญกุศลของเรา แล้วก็แผ่ส่วนบุญไป ให้สัตว์ทั้งหลายไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ หรืออยากเจาะจงอุทิศให้ใครคนใดคนหนึ่งก็นึกเอา จิตมันเป็นเครื่องมือสื่อสารอยู่แล้ว ถ้าจิตเรามีบุญ แล้วก็จิตเรามีสมาธิ อย่างเราเดินจงกรมเราได้สมาธิ เราฟังธรรมเราได้สมาธิ จิตมันก็มีพลัง ก็สามารถส่งความปรารถนาดี ส่งกระแสของบุญออกไปยังเป้าหมายได้ จะเป็นญาติพี่น้อง พ่อแม่ หรืออย่างหลวงพ่อแผ่ส่วนบุญ หลวงพ่อแผ่ให้สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ ก็แล้วแต่เรา

อนุโมทนากับทุกคน ได้มาร่วมกันสร้างคุณงามความดี ขออนุโมทนาด้วย ขอกุศลผลบุญเกื้อกูลพวกเรา ให้มีความสุขความเจริญทั้งทางโลก ทางธรรม

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
3 มิถุนายน 2566 (ช่วงบ่าย)