ก่อนอื่นหลวงพ่อขออนุโมทนาพวกเราหลายร้อยคน พวกเรา 300 กว่าคนช่วยกันดูแลรักษาวัด มาอยู่ที่นี่ก็ได้ทำประโยชน์เป็นระยะๆ ไป แสดงธรรมนั้นแสดงอยู่ทุกวันแล้ว วันธรรมดาเช้าๆ โยมก็มา สอนพระ สอนโยม หลวงพ่อทำทุกวัน วันเสาร์ วันอาทิตย์ ก็เยอะหน่อย มีไลฟ์ มีซูม ก็ทำหน้าที่ของเราไป หลวงพ่อก็ทำหน้าที่ของหลวงพ่อ พวกเราฆราวาสก็ทำหน้าที่ของฆราวาส ช่วยกันดูแลพระศาสนา ช่วยเกื้อกูลงานบางอย่าง พระทำเองไม่สะดวก เราช่วยกันทำ ช่วยกันดูแล ดีแล้ว
ตลอดเวลาที่ผ่านมา มันจะมี บางทีก็มีครูบาอาจารย์บางองค์ บางวัด ส่งลูกศิษย์มาให้หลวงพ่อแก้ให้ ภาวนาแล้วผิดมันแก้ยาก บางคนไม่ใช่จะแก้ง่ายๆ ภาวนาเพี้ยนๆ แบบผิดปกติมาเลย ครูบาอาจารย์เอาไม่ไหวก็ส่งต่อ หลวงพ่อก็อยากส่งต่อให้จิตแพทย์ พวกที่เราเรียนโดยตรงกับหลวงพ่อ ไม่ค่อยมี ไม่เคยเห็นที่ว่าภาวนาแล้วเพี้ยน ที่ภาวนาแล้วเพี้ยน เพราะมันภาวนาไม่ถูก เริ่มตั้งแต่วัตถุประสงค์ที่มาภาวนา ถ้าเราภาวนาโดยมุ่งลดละกิเลส อันนี้วัตถุประสงค์เราถูก เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ลดละกิเลสได้ เราก็จิตใจเราก็บริสุทธิ์มากขึ้นๆ ในที่สุดก็หลุดพ้นจากกองทุกข์
ฉะนั้นถ้าเราไม่อยากภาวนาผิด ไม่อยากภาวนาจนเพี้ยน เป็นโรคจิต เราต้องถูกมาตั้งแต่วัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายของการปฏิบัติเสียก่อน ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็น เพื่อจะเป็นอย่างนั้น เพื่อจะได้อย่างนี้ แต่ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ พ้นทุกข์ได้ก็ต้องลดละกิเลสได้ ตัวที่ทำให้จิตใจเราเป็นทุกข์ ก็คือตัวกิเลสนั่นเอง ถ้าตั้งเป้าผิด เช่น อยากมีฤทธิ์ อยากมีฤทธิ์อย่างโน้นอย่างนี้ อยากแตกฉานมากๆ มันไม่ใช่ทาง ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการ ทั้งพระ ทั้งโยม ก็ต้องรู้ว่าเราปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ มีตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว ปฏิบัติธรรมโดยไม่รู้วัตถุประสงค์ที่แท้จริง
พระพุทธเจ้าท่านก็มีคำเตือนออกมา อย่างมาบวชเป็นพระ ท่านบอกว่ามาบวชเป็นพระ ไม่ใช่เพื่อลาภสักการะ ไม่ใช่บวชเป็นอาชีพ มาบวชเป็นพระไม่ใช่เพื่อความมีชื่อเสียง อยากเด่น อยากดัง ไม่ใช่วัตถุประสงค์ มาบวชไม่ใช่เพื่อว่าจะมีฤทธิ์มีเดช มาบวชไม่ใช่เพื่อว่าจะถือศีลได้ดี ศีลต้องถืออยู่แล้ว ต้องรักษาอยู่แล้ว แต่มันไม่ใช่เป้าหมาย ไม่ใช่วัตถุประสงค์ มันเป็นเป้าหมายแรก ต้องมีศีล มาบวชก็ไม่ใช่เพื่อจะทำสมาธิ สมาธิมันก็จำเป็น เป็นเป้าหมายที่สอง แล้วท่านก็บอกมาบวชไม่ใช่เพื่อความมีปัญญา ปัญญามันก็เป็นของจำเป็น เป็นเป้าหมายที่สาม แต่ตัววัตถุประสงค์สุดท้ายจริงๆ ตัว Objective คือความพ้นทุกข์ จะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นมา เป็นเป้าหมาย เป็นหมุดหมาย เรียกว่าเป็น Goal ที่จะก้าวไปแต่ละจุดๆ
ต้องเห็นสภาวะถึงจะพัฒนาจิตใจได้
บางคนอยากภาวนาแต่ไม่รู้ภาวนาเพื่ออะไร มันก็เลอะเทอะไป อย่างบางคนไม่ทำสมาธิเลย คิดพิจารณาธรรมะทั้งวันทั้งคืน โดยจิตไม่เคยมีสมาธิ ไม่เคยได้หยุดพัก จิตจะฟุ้งซ่านในธรรมะ อย่างเมื่อวันจันทร์ วันอังคารอะไรนี้ มีผู้ชายคนหนึ่งมา บอกครูบาอาจารย์ส่งมาจากทางเหนือ หลวงพ่อไม่รู้จักสำนักท่านหรอก แต่ท่านบอกให้มาเรียนกับหลวงพ่อปราโมทย์ หลวงพ่อปราโมทย์เห็นก็ตะลึงเหมือนกันว่า โอ้ เป็นหนัก คือใจมันพลุ่งพล่าน มันอยากพูดธรรมะตลอดเวลา มันฟุ้งๆๆ ไป เบรกอย่างไรก็ไม่หยุด บอกฟังธรรมะ อ่านธรรมะทั้งวันทั้งคืนเลย ทุ่มเทชีวิตกับการศึกษาธรรมะ
อย่างพอมาเจอ YouTube ที่หลวงพ่อเทศน์ ก็ฟังทั้งวันทั้งคืน ฟังแล้วก็พิจารณา พิจารณาของแกก็คือเอามาคิดนั่นล่ะ แล้วก็สับสนไปหมดเลย จิตอะไรเป็นดวงๆ ทำไมจิตไหลไปไหลมาอะไรนี่ คิดเอาทั้งหมดเลย ฟังแล้วคิดเอา ไม่ได้เห็นสภาวะ ยิ่งคิดก็ยิ่งสับสนวุ่นวาย หลวงพ่อถึงบอกแกว่า “ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการคิดเอา เรียนไม่ได้ด้วยการอ่าน ด้วยการฟัง” วิธีที่จะเรียนธรรมะได้อย่างแท้จริง ก็ด้วยการเห็นเท่านั้น ต้องเห็นสภาวะให้ได้ สิ่งที่เรียกว่าสภาวะก็มี 2 อัน คือรูปธรรมกับนามธรรม
ที่จริงสภาวธรรมยังมีอีกอย่างหนึ่งคือนิพพาน แต่พวกเราเป็นปุถุชน ไม่เห็น สิ่งที่พวกเราเห็นได้คือรูปธรรมกับนามธรรม ต้องเห็นเอา ไม่ใช่คิดเอา คิดว่าจิตมันเป็นอย่างนั้น จิตมันเป็นอย่างนี้ จิตทำงานอย่างนั้นอย่างนี้ บางคนก็เรียนตำรามามาก เรียนตำรับตำรา ตำราสอนไว้เยอะแยะ จิตมี 89 ดวง อย่างละเอียดแยกได้ 121 ดวง เจตสิกมี 52 ประกอบด้วยเวทนา 1 สัญญา 1 อีก 50 เป็นตัวสังขาร รูปมี 28 รูป โอ๊ย ท่องได้หมด เอาไปสอบก็สอบได้ แต่ถ้าไม่ได้เห็นสภาวะ ยังไม่ใช่การปฏิบัติจริง มันเป็นสุตตมยปัญญา หรือจินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการอ่าน การฟัง แล้วก็สำคัญมั่นหมายว่ารู้แล้วๆ
ธรรมะถ้าไม่เห็นสภาวะมันรู้ไม่ได้ ต้องเห็นสภาวะถึงจะพัฒนาจิตใจได้ เพราะฉะนั้นอ่านเท่าไร มันก็เป็นปัญญาของพระพุทธเจ้า เป็นปัญญาของพระสาวกรุ่นในพระไตรปิฎก หรือเป็นปัญญาของสาวกรุ่นหลังๆ ลงมา ยิ่งรุ่นท้ายๆ เท่าไร ยิ่งต้องฟังหูไว้หู เราไม่รู้ว่าคำสอนไหนถูก คำสอนไหนผิด บางทีเรียนตำราเยอะๆ ก็คิดอะไรต่ออะไรขึ้นมา ซับซ้อนมากขึ้นๆ เอาไว้เป็นอภิปรัชญาได้ เป็น Metaphysics เอาไว้ถกเถียงอะไรอย่างนี้ ก็ดี แต่ไม่ล้างกิเลสเพราะไม่ได้เห็นสภาวะ หรือจินตามยปัญญา คือการคิดเอาๆ คิดธรรมะก็ไม่ได้เห็นสภาวะ ก็ไม่ล้างกิเลสได้จริงหรอก อย่างมากการคิดพิจารณาธรรมะ สิ่งที่เราจะได้คือสมาธิ
เวลาจิตใจเราวุ่นวาย บางทีเรายกหัวข้อธรรมะขึ้นมาสักอันหนึ่ง มาคิดพิจารณาลงไป พอมันเข้าใจ จิตมันมีความสุขขึ้นมา มีความสงบ ได้สมาธิขึ้นมา แต่มันเป็นสมาธิธรรมดาๆ หลวงพ่อบอกแล้วว่า ถ้าจะทำให้เราเข้าใจธรรมะได้อย่างแท้จริง ก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้จริง พัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา ได้จริง ต้องเห็นสภาวะเอา สิ่งที่เรียกว่าสภาวะ มีรูปธรรมกับนามธรรม อันนี้ที่เราเห็นได้ สภาวะของนิพพานนั้นปุถุชนไม่เห็น เพราะฉะนั้นอย่างปุถุชนอย่ามาพยากรณ์ว่า องค์นี้หรือคนนี้ได้ธรรมะขั้นนั้นขั้นนี้ ฟังเล่นๆ สนุกๆ มันเป็นไปไม่ได้ ปุถุชนมาพยากรณ์พระอริยะ มันเป็นไปไม่ได้
เราต้องเห็น เราจะต้องหัดเห็นสภาวะให้ได้ สิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรมที่เราจะเห็นได้ ก็คือรูปธรรมกับนามธรรม สิ่งที่เรียกว่ารูปธรรมก็มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม จากดิน น้ำ ไฟ ลม ก็มาผสมผสาน มาปรุงมาแต่งเป็นรูปอีกนานาชนิด เช่น ดิน น้ำ ไฟ ลม มาปรุงกันก็เกิดเป็นผู้หญิง ดิน น้ำ ไฟ ลม มาปรุงกันเกิดเป็นผู้ชาย มีรูปผู้หญิง รูปผู้ชายเกิดขึ้น ดิน น้ำ ไฟ ลม มารวมกัน มาทำงานด้วยกัน ปรุงเป็นรูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน ตัวรูปแท้ๆ รูปจริงๆ เรียกว่ามหาภูตรูป ก็ดิน น้ำ ไฟ ลม นั้นล่ะเป็นรูปพื้นฐาน ส่วนรูปอื่นๆ นั้นก็พัฒนาขึ้นมาจากดิน น้ำ ไฟ ลม อีกทีหนึ่ง
ฉะนั้นการดูรูปธรรม ถ้าดู สมาธิเรามากพอ ดูเข้าไปให้เห็นดิน น้ำ ไฟ ลม ถ้าสมาธิไม่พอดูไม่ได้หรอก ก็ดูรูปข้างเคียงทั้งหลาย เช่น รูปหายใจออก รูปหายใจเข้า รูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน รูปคู้ รูปเหยียด รูปผู้หญิง รูปผู้ชาย ไม่ต้องดู รูปผู้หญิง รูปผู้ชาย ไม่ใช่อวัยวะในร่างกาย มันอยู่ที่ยีน มันดูไม่ได้ มันเป็นตัวกำหนดโครโมโซม ว่าเราจะเป็นผู้หญิงผู้ชาย นั่นล่ะตัวรูปผู้หญิง รูปผู้ชายที่แท้จริง อยู่ที่ตัวโครโมโซม ฉะนั้นถ้าสมาธิเราพอเราก็ดูเข้าไปถึงมหาภูตรูปได้ หรือดิน น้ำ ไฟ ลมได้
สมาธิเราไม่พอ กำลังไม่พอ เราก็ดูรูปข้างเคียง รูปที่มันเกิดจากดิน น้ำ ไฟ ลม เท่าที่เราจะดูได้ เช่นรูปหายใจออก รูปหายใจเข้า ในตำราเขาเรียนกัน เขาบอกถ้าดูรูปพวกนั้น ใช้ไม่ได้ อย่างดูรูป ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่วิปัสสนา เพราะไม่ใช่รูปแท้ รูปยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่รูปแท้ อันนั้นก็คิดเยอะไป ถ้าเราเห็นว่ารูปยืนไม่ใช่เรา รูปเดินไม่ใช่เรา รูปนั่งไม่ใช่เรา รูปนอนไม่ใช่เรา รูปคู้ รูปเหยียดไม่ใช่เรา รูปหายใจออกไม่ใช่เรา รูปหายใจเข้าไม่ใช่เรา เราเจริญสติปัฏฐานอยู่แล้ว เบื้องต้นก็มีสติ เบื้องปลายก็จะเกิดปัญญา พอปัญญาสมบูรณ์อย่างไรมรรคผลก็เกิด
พระพุทธเจ้ายังบอกว่า “ถ้ายังมีการเจริญสติปัฏฐานอยู่ ก็ยังจะมีพระอริยะเกิดขึ้นได้” ไม่จำเป็นหรอกกว่าจะต้องเหมือนตำรา ต้องดูรูปดิน น้ำ ไฟ ลม ล้วนๆ ซึ่งถ้าไม่ทรงฌาน กำลังจิตไม่พอ ไม่เห็นหรอก ธาตุที่ดูง่ายในดิน น้ำ ไฟ ลม คือธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ดูง่าย ธาตุน้ำดูยากกว่าอีก ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม สัมผัสด้วยร่างกาย ธาตุน้ำสัมผัสด้วยใจ เห็นไหมแค่พูดก็เวียนหัวจะตายแล้ว เพราะฉะนั้นดูของที่เราดูได้ ถ้าเราเห็นรูปที่หายใจออกไม่ใช่เรา รูปที่หายใจเข้าไม่ใช่เรา แค่นี้ก็พอแล้ว เพราะทั้งวันมันก็มีแต่รูปหายใจออก กับรูปหายใจเข้า ตำรับตำรารุ่นหลังนี้บอกว่าใช้ไม่ได้ ก็ช่างตำรา แต่พระไตรปิฎก พระสูตร สอนสติปัฏฐานว่าใช้ได้ เราจะเชื่อตำรารุ่นแรก หรือตำรารุ่นหลัง ก็แล้วแต่เรา
หลวงพ่อก็เคยทำ รูปจริงๆ นั้น อย่างเราทรงสมาธิขึ้นมา เราดูลงไปในกายนี้ ในร่างกายเราจะเห็นว่า แต่ละจุดมีความร้อนไม่เท่ากัน ลองสังเกตดูจริงไหม ฉะนั้นกระทั่งในร่างกายเรา ธาตุไฟก็ไม่สม่ำเสมอ ความร้อนมันเป็นธาตุไฟ ดูให้ง่ายขึ้นอีกนิดหนึ่ง มาพ่วงเข้ากับลมหายใจ สังเกตไหมลมที่เข้าไปในตัวเรานี้มันเย็น ลมที่ไหลออกจากตัวเรามันร้อน ฉะนั้นอาศัยลมนี้แสดงธาตุไฟให้ดู ตอนหายใจเข้าธาตุไฟมันน้อย ไฟมันอยู่ในตัวเรานี้เยอะ พอลมเข้าไป พอลมหายใจออกไป ลมมันร้อนขึ้น ดูอย่างนี้เหนื่อยตายชักเลย ทำได้ไหม ทำก็ได้ถ้าทรงสมาธิพอ
หรือเราเห็นรูปดิน รูปดินไม่ใช่ก้อนดิน รูปดินก็ไม่ใช่ก้อนดิน รูปดินก็คือความอ่อนความแข็ง เราลองยกมือขึ้นมา ยกมือขึ้นมา ชูเลย แล้วลองสัมผัสดู ลองสัมผัสดู สังเกตไหมแต่ละจุดความแข็งไม่เท่ากัน บางจุดก็นิ่มๆ อย่างตรงข้อมือนี้ก็แข็งหน่อย ตรงไหนแข็งเขาบอกธาตุดินเยอะ ตรงไหนอ่อนคือธาตุดินมันน้อย ความตึง ความไหว เป็นเรื่องของธาตุลม ลองหายใจเข้าไปเยอะๆ แล้วรู้สึกตึงไหม แน่นไหม แน่น จะไปนั่งดูพวกนี้สนุกเสียที่ไหน แล้วถ้าไม่ทรงสมาธิ มันทนดูไม่ไหว ฉะนั้นดูกายที่จะดูตัวรูปแท้ๆ ต้องทรงสมาธิ หรือจะดูเวทนาในกายก็ต้องทรงสมาธิ
ถ้าเราจะดูเวทนาในกาย เวทนาก็เป็นสภาวธรรมอีกชนิดหนึ่ง รูปก็เป็นสภาวะอีกชนิดหนึ่ง เวทนามี 2 ที่ เวทนาในกายกับเวทนาในใจ เวทนาในกาย ก่อนจะดูเวทนาในกาย เข้าฌานเสียก่อน แล้วก็ค่อยรู้สึกถอยจิตออกมานิดหนึ่ง แล้วรู้สึกลงในกาย เราก็จะเห็นความเจ็บความปวดในร่างกาย เดี๋ยวก็เจ็บตรงนั้น เดี๋ยวก็ปวดตรงนี้ ปวดขึ้นมาแล้วก็หายไป เดี๋ยวก็ปวดขึ้นมาอีก ดูเวทนาในกาย ถ้าสมาธิไม่พอดูไม่ไหว อยากดูเวทนาในกายให้ไปซ้อมตอนทำฟัน ตอนทำฟันดูเวทนาในกายได้ดี เดี๋ยวก็เจ็บ พอเจ็บขึ้นมาแล้วเกิดอะไรขึ้น จิตหวั่นไหว จิตหวั่นไหว จิตดิ้นรน จิตเกิดกิเลส เกิดตัณหา
นี้เป็นวิธีดูเวทนาที่พระพุทธเจ้าสอนทีฆนขะ นายเล็บยาว ทีฆนขะฟังแล้ว เรื่องเวทนานี้ ทีฆนขะได้โสดาบัน พระสารีบุตรนั่งพัดพระพุทธเจ้าอยู่ นั่งฟังอยู่ด้วยได้พระอรหันต์ ฉะนั้นดูเวทนา แต่ไม่ได้หยุดอยู่ที่เวทนาของกาย พระพุทธเจ้าสอนอันนี้ลิงก์เข้ามาที่จิตด้วย เวทนาที่กายก็ส่งสัญญาณเข้ามาที่จิต เข้ามาดิ้นรนปรุงแต่งขึ้นที่จิต รู้ทันขึ้นมา ท่านรู้ท่านก็บรรลุพระอรหันต์ไป ฉะนั้นการดูเวทนาก็ยากเหมือนกัน ถ้ามีสมาธิมากพอก็ไม่ยาก
แต่เวทนาที่ดูง่าย เป็นสภาวธรรมที่ดูง่าย คือเวทนาทางใจ อย่างขณะนี้ใจเราสุข หรือใจเราทุกข์ หรือใจเราไม่สุขไม่ทุกข์ ทำแค่นี้ก็พอแล้ว แค่นี้บรรลุพระอรหันต์ได้ เพราะสติปัฏฐาน ทำอันใดอันหนึ่งก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ไม่จำเป็นต้องทำกาย เวทนา จิต ธรรม ให้ครบทุกอย่างหรอก ธรรมะของพระพุทธเจ้าอัศจรรย์มาก ที่มีธรรมะเยอะแยะ เพราะจริตนิสัยของคนมันแตกต่างกันมากมาย ธรรมะสำหรับคนๆ หนึ่งเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น ไม่มาก มีไม่มากหรอก
เห็นสภาวะที่เรามีจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเห็นทั้งหมด
ฉะนั้นอย่างถ้าเราดูรูปธรรมก็ได้ เช่น เห็นรูปหายใจออกไม่ใช่เรา รูปหายใจเข้าไม่ใช่เรา รูปยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรา รูปกินอาหาร รูปขับถ่าย ไม่ใช่เรา รู้สึกๆ อย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันก็จะพัฒนาจิตใจขึ้นมาได้ ก็จะเห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ ตรงที่มองว่ามันไม่ใช่ตัวเรา ก็เห็นอนัตตา หรือเห็นว่ามันเปลี่ยนตลอดเวลา รูปหายใจเข้าเกิดแล้วก็ดับ เกิดเป็นรูปหายใจออก รูปหายใจออกเกิดแล้วก็ดับ เป็นรูปหายใจเข้า อันนี้ก็ดูง่าย จะมาดูรูปดิน รูปไฟ รูปลมด้วยกายสัมผัส ไม่ใช่ง่าย
ยิ่งรูปน้ำ รูปน้ำรู้ด้วยจิตเท่านั้น รู้ด้วยใจ ไม่สามารถรู้ด้วยกาย น้ำไม่ใช่น้ำอย่างที่เราเห็น ไม่ใช่ Water น้ำตัวนี้คือแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุล ถ้าแรงดึงดูดมากมันก็รวมตัวเข้ามา แรงดึงดูดน้อยมันก็กระจายตัวออกไป ซึมซ่านแผ่กระจายออกไป ทำอย่างไรจะให้รู้ ทำอย่างไรจะเห็น ไม่รู้ไม่เห็นหรอก เอาของง่ายๆ ไว้ก่อน ของที่ทำง่าย พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว ไม่เสีย ไม่ผิด เห็นร่างกายหายใจออกไม่ใช่เรา เห็นร่างกายหายใจเข้าไม่ใช่เรา เห็นร่างกายยืน เดิน ไม่ใช่เรา เห็นร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด ไม่ใช่เรา อย่างนี้ได้
หรือดูเวทนา แนะนำให้ดูเวทนาทางใจ ใจนี้เดี๋ยวก็สุข ใจนี้เดี๋ยวก็ทุกข์ ใจนี้เดี๋ยวก็เฉยๆ ตามรู้อยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ไป ต่อไปปัญญามันก็เกิด มันจะเห็นไตรลักษณ์ เวทนาสุขเกิดขึ้นก็ไม่เที่ยง ทุกข์เกิดขึ้นก็ไม่เที่ยง ความเฉยๆ เกิดขึ้นก็ไม่เที่ยง ทุกข์ไม่ได้สั่งให้เกิดก็เกิดได้เอง สุขสั่งให้เกิดก็ไม่ยอมเกิด เฉยๆ จงใจอยากให้มันเฉย มันก็ไม่เฉย ตรงที่ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ เรียกว่าเห็นอนัตตา เพราะฉะนั้นอย่างเราดูเวทนาทางใจ เราก็เห็นอนิจจังก็ได้ เห็นอนัตตาก็ได้ ง่ายๆ
หรือเราจะดูสังขาร ดูสังขารคือความปรุงดีปรุงชั่วในใจเรา ความปรุงดีปรุงชั่ว บอกแล้ว ตำราบอกมีตั้ง 50 อย่าง เรามีไม่ถึงหรอก บางอย่างมันเป็นเรื่องของคนทรงฌาน เราดูสิ่งที่เรามีจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านก็เลือกสรรมาให้ดูแล้ว เวลาเราจะดูสังขาร เราดูอะไรบ้าง พระพุทธเจ้าท่านเลือกมาให้ อยู่ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราดูจิตมีโทสะรู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะรู้ว่าไม่มีโทสะ จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะรู้ว่าไม่มีราคะ จิตหลงรู้ว่าจิตหลง จิตไม่หลงรู้ว่าจิตไม่หลง จิตฟุ้งซ่านรู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่รู้ว่าจิตหดหู่
ดูอยู่แค่นี้ 8 อย่าง 8 ข้อ ก็คือจิตมีราคะ 1 ไม่มีราคะอีก 1 จิตมีโทสะกับจิตไม่มีโทสะ 2 คู่ได้ 4 แล้ว จิตมีโมหะคือหลง กับจิตไม่หลงไม่มีโมหะ ได้ 6 แล้ว จิตฟุ้งซ่านกับจิตหดหู่เป็น 7 8 ดูมัน 8 อย่างนี้ แค่นี้ ไม่ต้องดู 52 อย่างอะไรให้มันวุ่นวายหรอก 50 อย่างไม่ต้องไปดูขนาดนั้น ดูมันเท่าที่เรามีนี้ล่ะ แล้วที่พระพุทธเจ้ายกมาให้เราดูนี้ สำหรับคนไม่ได้ฌาน มันก็มีแค่นี้ มี 8 อย่างที่ท่านสอนให้ดู ถัดจากนั้นเป็นเรื่องของคนทรงฌานแล้ว จิตได้อุปจาระ หรือจิตไม่ได้อุปจาระ แค่นี้เราก็ไม่รู้แล้ว มันเป็นอย่างไร จิตได้อัปปนา หรือจิตไม่ได้อัปปนา จิตเดินปัญญาในสมาธิ หรือไม่เดินปัญญา จิตหลุดพ้นหรือไม่หลุดพ้น เราไปไม่ถึง เพราะฉะนั้นเราดูสิ่งที่เรามีจริงๆ คือจิตที่มันมีกิเลสนั่นล่ะ ดูมันเข้าไป
ความโกรธก็เป็นสภาวะอันหนึ่ง ความโลภก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ความหลงก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ฟุ้งซ่านก็เป็นสภาวธรรม หดหู่ก็เป็นสภาวธรรม เรียกถีนมิทธะ จิตใจเซื่องซึมหดหู่ นี้เป็นสภาวะ บอกแล้วว่าอยากภาวนาต้องเห็นสภาวะ แล้วสภาวะนั้นมีมากมาย ไม่จำเป็นต้องเห็นทั้งหมด เห็นสภาวะที่เรามีจริงๆ อย่างเราขี้โมโห เราก็เห็นสภาวะโกรธเกิดขึ้น แล้วสภาวะโกรธก็ดับไป ไม่ต้องไปดับมัน ความโกรธเกิดขึ้นไม่ต้องไปหาทางดับมัน ความเศร้าโศกเกิดขึ้น มันก็เป็นโทสะเหมือนกัน เศร้าโศก โศกะ ก็ไม่ต้องไปหาทางทำอย่างไรจะหายเศร้า ไม่ต้อง
พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้แก้ไข ท่านบอกให้รู้อย่างที่มันเป็น ความเศร้าโศกเกิดขึ้น โทสะเกิดขึ้นให้รู้ทันว่ามันกำลังเศร้าโศกอยู่ มันกำลังมีโทสะอยู่ ความอิจฉาก็อยู่ในกลุ่มของโทสะ เวลาใจเราอิจฉาไม่ต้องไปนั่งมองว่า ทำอย่างไรจะหายๆ ดูสภาวะเข้าไป ความอิจฉากำลังเกิดขึ้นนั่นคือตัวสภาวธรรม แล้วก็จะเห็น เห็นเฉยๆ สุดท้ายสภาวธรรมทุกตัว มันจะสอนไตรลักษณ์เรา รูปธรรมก็สอนไตรลักษณ์ นามธรรมก็สอนไตรลักษณ์ ที่เราต้องการเรียน คือเห็นไตรลักษณ์เท่านั้นล่ะ
สภาวธรรมอีกอย่างหนึ่ง มีอย่างเดียวที่ไม่มีไตรลักษณ์คือนิพพาน นิพพานมีลักษณะอันเดียวคืออนัตตา ไม่มีเจ้าของ นิพพานเที่ยง นิพพานเป็นบรมสุข ฉะนั้นนิพพานไม่ได้มีไตรลักษณ์ สิ่งที่มีไตรลักษณ์คือรูปธรรมนามธรรม เรียนรูปธรรมนามธรรมนี้ล่ะ คือสิ่งที่เรามีจริงๆ ถ้าเรียนรูปก็เรียนรูปที่เราเห็นได้ รูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน รูปหายใจออก รูปหายใจเข้า ดูไปเรื่อย แล้วก็รู้สึกลงไป รูปนี้ไม่ใช่เรา รู้สึกไปเรื่อยๆ ดูเวทนานี้ก็เป็นสภาวธรรมที่เป็นนามธรรม
เวทนา แนะนำให้ดูเวทนาทางใจ เดี๋ยวใจเราสุข เดี๋ยวใจเราทุกข์ เดี๋ยวใจเราเฉยๆ สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ เฉยๆ ก็รู้ แล้วต่อไปก็จะเห็นสุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง เฉยๆ ก็ไม่เที่ยง นี้เห็นไตรลักษณ์แล้ว สุขก็ควบคุมไม่ได้ ทุกข์ก็ควบคุมไม่ได้ เฉยๆ ก็ควบคุมไม่ได้ นี้เห็นอนัตตา เราเห็นไตรลักษณ์ได้ เราขึ้นวิปัสสนาที่แท้จริงแล้ว หรือดูสังขาร ไม่ต้องดู 50 ตัว ดูตัวที่เรามีจริงๆ พวกเรามีโลภ โกรธ หลง เราก็ดูโลภ โกรธ หลง แล้วมันโลภอยู่พักหนึ่งก็เห็นโลภมันดับ ก็เป็นจิตไม่โลภ โกรธมันอยู่พักหนึ่ง โกรธมันก็ดับ มันก็เป็นจิตไม่โกรธ หลงอยู่พักหนึ่ง พอมีสติรู้ทันก็เป็นจิตไม่หลง ตรงจิตไม่หลงนี้ต้องฝึก
คนในโลกมีแต่จิตหลงๆๆๆๆ ไม่เคยมีจิตไม่หลง ยกเว้นตอนหลับไป ตกภวังค์ไป หรือตรงที่เป็นวิบาก เช่น ตามองเห็น ขณะนั้นไม่มีใครหลงหรอก แต่พอตาเห็นรูปแล้วมันคิดต่อ มันมาหลงกันตรงนี้ สติก็เกิดตรงนี้ กิเลสมันก็เกิดตรงนี้ เกิดที่เดียวกัน เกิดที่จิตนี้ล่ะ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ จิตมีราคะรู้ว่ามีราคะ แล้วก็เห็นราคะดับไป เฉยๆ จะดับไม่ดับ ดูเฉยๆ อย่าไปยุ่งกับมัน ดูซื่อๆ รู้ซื่อๆ เรียกอุชุกตา รู้ซื่อๆ ไม่ต้องชั้นเชิงมาก ไม่ต้องพยายามดับ
เราดูสภาวธรรมไปทุกๆ ตัว ตัวไหนปรากฏขึ้นมาเราก็รู้ตัวนั้น โลภเกิดขึ้นเราก็รู้ โลภหายไปเราก็รู้ โกรธเกิดขึ้นเราก็รู้ โกรธหายไปเราก็รู้ สุขเกิดขึ้นก็รู้ สุขหายไปเราก็รู้ ทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ ทุกข์หายไปก็รู้ หัดดูไปอย่างนี้ ไม่ต้องคิดเยอะหรอก หัดดูสภาวะให้มากๆ ดูเนืองๆ พระพุทธเจ้าบอกให้ดูเนืองๆ สติปัฏฐาน 4 ท่านบอกให้รู้เนืองๆ ไป ไม่ใช่รู้ทีเดียวแล้วเลิก ตรงรู้เนืองๆ พวกเราทนไม่ค่อยได้ รู้นิดๆ หน่อยๆ แล้วหลงไปคิดยาวๆ ไม่รู้เนืองๆ แล้ว แต่ว่าคิดเนืองๆ ท่านบอกให้รู้ รู้เนืองๆ บอกว่า “กาเย กายานุปัสสี วิหะระติ ให้มีกายในกายเป็นวิหารธรรมอยู่เนืองๆ”
ดูไปเรื่อยๆ “อาตาปี มีความเพียรแผดเผากิเลส” “สัมปะชาโน มีความรู้เนื้อรู้ตัว มีสติรู้เท่าทันสภาวะทั้งหลายที่กำลังมีกำลังเป็น“ เสร็จแล้วมันจะค่อยๆ มาถึงจุดที่เรียกว่า “อะภิชฌาโทมะนัสสัง ถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้” “วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง ถอดถอนความยินดียินร้ายในโลก” อะไรที่เรียกว่า “โลก” รูปนามนั่นล่ะเรียกว่า “โลก” พอเราเห็นไตรลักษณ์ของรูป ใจมันก็ถอดถอนความยินดียินร้ายในรูป พอเราเห็นไตรลักษณ์ของนามธรรมเรื่อยๆ ไป มันถอดถอนความยินดียินร้ายของนามธรรม
เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐาน เราดูสภาวะทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ตัวไหนถนัดก็ดูตัวนั้นก่อน ตัวไหนเด่นดูตัวนั้นก่อน พอดูไปเรื่อยๆ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ มีสติรู้สภาวะทั้งหลายอย่างที่มันมี อย่างที่มันเป็นไป มันก็จะเริ่มเห็นสภาวะทั้งหลาย ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ พอเห็นซ้ำๆๆ สุขก็ไตรลักษณ์ ทุกข์ก็ไตรลักษณ์ สุขกับทุกข์มันก็เสมอกัน มันก็ไม่ได้ยินดีกับความสุข มันก็ไม่ยินร้ายกับความทุกข์ กุศลมันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ อกุศลมันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
ทางแยก 3 ทาง เมื่อจิตเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา
พอจิตมันมีปัญญาอย่างนี้ ทำวิปัสสนามามากๆ แล้วมันเข้าใจ สุขกับทุกข์มันเท่าเทียมกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ กุศลอกุศลทั้งหลาย เท่าเทียมกับด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตก็จะเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา ตรงนี้ที่มัน “ถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้” “โลก” คือรูปธรรมนามธรรม จิตมันจะเป็นกลาง เมื่อจิตมันเข้าถึงความเป็นกลางแล้ว อะไรจะเกิดต่อไป ถ้ามันเป็นกลางด้วยปัญญา มันมี choice มีทางแยก 3 ทาง ทางที่หนึ่ง กำลังของศีล สมาธิ ยังไม่พอ มันเสื่อม ก็มาทำใหม่ เดี๋ยวมันก็กลับไปสู่ความเป็นกลางใหม่ แล้วถ้าเสื่อมอีกก็ทำกลับเข้าไปอีก
จุดที่สอง ก็คือบางคนมาถึงจุดที่จิตเป็นกลางต่อความปรุงแต่งแล้ว จิตมันปรารถนาพุทธภูมิอยู่ มันจะไม่เข้าอริยมรรค จะไม่เกิดอริยมรรค จิตมันจะน้อมไปในทางเกิดมหากรุณา อยากให้คนอื่นเขาได้รู้ ได้เห็นธรรมะอันวิเศษนี้ด้วย สงสารสัตว์โลก เพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เราจะหนีเอาตัวรอดไปคนเดียว สงสารเขา อยากช่วยเขา จิตมันมีกรุณา อยากช่วยให้สัตว์ทั้งหลายพ้นทุกข์ ตามที่เราเห็นร่องรอย เห็นทาง ตรงนี้ก็จะไปเดินในเส้นทางของพระโพธิสัตว์ ถ้าเจอพระพุทธเจ้าแล้วบารมีเต็มแล้ว เต็มนี้ขนาดที่ว่าสามารถบรรลุพระอรหันต์ได้ในตอนนั้นเลย แต่ว่าจิตเกิดมหากรุณาขึ้น เบรกตัวเองไม่บรรลุมรรคผล ก็ไปเป็นพระโพธิสัตว์ ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า
พูดถึงโพธิสัตว์ เราจะได้ยินเยอะ คนนั้นก็โพธิสัตว์ คนนี้ก็โพธิสัตว์ บางทีก็มโนเอา หลวงพ่อเจอเยอะเลยโพธิสัตว์ บางทีภาวนาไม่เป็น ภาวนาไม่เป็นแล้วอายเพื่อน เพื่อนถามว่าทำไมไม่เจริญเสียที บอกปรารถนาพุทธภูมิเลยไม่ได้ภาวนา เข้าใจผิดแล้ว คนปรารถนาพุทธภูมิต้องขยันภาวนา ถ้าไม่ภาวนาแล้วจะเอาสติ สมาธิ ปัญญาอะไรไปสอนคนอื่นเขาได้ แต่ละองค์ๆ ท่านทำมาเต็มเหนี่ยวแล้วทั้งนั้น แล้วท่านเกิดกรุณาก็เลยชะลอตัวเองไว้ ช่วยเหลือสัตว์อื่นก่อน นี้เป็นเส้นทางหนึ่ง
อีกเส้นทางหนึ่งก็คือ เมื่อจิตเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ถ้าอินทรีย์ของเราแก่กล้าพอ ศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์พอ จิตไม่ได้มีความผูกพันถึงพุทธภูมิ ก็จะมีโอกาสเกิดมรรคเกิดผลขึ้น เพราะฉะนั้นตรงที่จิตเข้าถึงความเป็นกลาง ก็เลยมีทางแยกเป็น 3 แยก ช่องที่ 1 ถอยกลับทางเดิม มาตั้งต้นใหม่แล้ววิ่งใหม่ ช่องหนึ่งอ้อมไปเรื่อยๆ คือเส้นทางพุทธภูมิ อ้อมจักรวาลไป เส้นหนึ่งตัดตรงเข้าไปสู่ความพ้นทุกข์ ทั้งหมดนี้มันมาจากการเห็นสภาวะทั้งสิ้น
สติเป็นตัวเห็นสภาวะ ว่ามีสภาวะอะไรกำลังมีอยู่เป็นอยู่ จิตมีความตั้งมั่นคือสมาธิ เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเกิดปัญญา ส่วนปัญญานั้นคือความเข้าใจความเป็นจริง ของสภาวธรรมทั้งหลายว่าเป็นไตรลักษณ์ ถ้ามีปัญญา จิตก็จะเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ไม่มีเส้นทางที่ 2 เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นมากกว่านี้แล้ว ในขณะที่เราเจริญสติปัฏฐานไป เบื้องต้นเราได้สติ เบื้องปลายได้ปัญญา พอเรามีปัญญาจิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางกับโลก ความเป็นกลางต่อรูปธรรมนามธรรม เรียก “วิเนยยะ โลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง” แล้วถัดจากนั้นกำลังเราพอ ก็จะเกิดอริยมรรคขึ้นมา
ไม่มีใครทำอริยมรรคให้เกิดได้ อริยมรรคเกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์แล้ว ไม่มีใครทำให้จิตบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ จิตบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา สติไม่ได้ทำให้จิตบริสุทธิ์ สมาธิไม่ได้ทำให้จิตบริสุทธิ์ สติทำให้จิตขยันหมั่นเพียรทำงานว่องไว สมาธิทำให้จิตมีเรี่ยวมีแรง ตัวที่ไว้ล้างกิเลสคือตัวปัญญา ที่เทศน์ให้ฟังวันนี้ก็คือ พวกเราต้องหัดรู้สภาวะให้ได้ แล้วสภาวะที่เราต้องหัดรู้ คือสภาวะที่เรารู้ได้ เราเห็นได้ อะไรที่เราไม่รู้ไม่เห็น ไม่ต้องหรอก
อย่างสภาวะของอากิจจัญญายตนะ แค่ชื่อมันก็จะตายแล้ว เราไม่เห็นหรอก เพราะเราไม่เคยมี เราไม่เคยเห็น หรือเนวสัญญานาสัญญายตนะ เราไม่เคยมี ไม่เคยเห็น ไม่ต้องไปดู เพราะมันไม่มีให้ดู ดูของที่มี มีอะไร มีโลภ มีโกรธ มีหลง ดูมันไป มีสุข มีทุกข์ ดูมันเข้าไป มีร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า มีร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน นั้นล่ะ ดูมันเข้าไป ดูของที่มี จะใช้อะไรเป็นฐานก่อนก็ได้ ใช้กายเป็นฐานก็ได้ ใช้เวทนา คือดูสุขทุกข์ก็ได้ หรือใช้จิตที่เป็นกุศล อกุศล เป็นฐานก็ได้
หลวงพ่อตอนทำสมถะ ตอนเด็กๆ เรียนกับท่านพ่อลี หลวงพ่อใช้อานาปานสติ ใช้ลมหายใจเป็นฐานของการทำอานาปานสติ ใช้ตัวลมหายใจ แล้วตอนมาเดินปัญญา หลวงพ่อเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อใช้เวทนานุปัสสนาทางใจ จิตตานุปัสสนา แล้วก็ธัมมานุปัสสนา ควบกันอยู่อย่างนี้ ใช้ 3 อันนี้ บางทีก็เห็นเวทนาทางใจ บางทีก็เห็นสังขารในใจ บางทีก็เห็นสภาวธรรม สิ่งนี้มีเพราะสิ่งนี้ สิ่งนี้ไม่มีเพราะสิ่งนี้ไม่มี ก็เห็น
ค่อยๆ ดูไป แล้วใช้จิตเป็นวิหารธรรม สิ่งที่เกิดกับจิตนั้นก็เวทนาเกิดร่วมกับจิต สัญญาเกิดร่วมกับจิต สังขารเกิดร่วมกับจิต แล้วก็จิตก็ทำงานทางอายตนะ ตรงที่เห็นจิตทำงานทางอายตนะ มันขึ้นสู่ธัมมานุปัสสนาแล้ว เราดูสิ่งที่เราดูได้ อันไหนเราทำไม่ได้ อย่าไปทำ ทำที่ทำได้
พวกเราถือศีล 5 ไว้ ถ้าเราไม่อยากพลาด ถือศีล 5 ไว้ให้ดี แล้วก็พัฒนาสติของเรา วิธีพัฒนาสติมันก็อยู่ในสติปัฏฐานนั่นล่ะ แต่ฟังชื่อสติปัฏฐานแล้วมันน่ากลัว เอาง่ายๆ เลยก็คือ ให้เรามีเครื่องอยู่ ทุกวันทำในรูปแบบไว้ ให้จิตมันมีเครื่องอยู่ หลวงพ่อพุธท่านบอก “ให้มีเครื่องรู้ของจิต ให้มีเครื่องระลึกของสติ” เราจะอยู่กับพุทโธก็ได้ อยู่กับลมหายใจก็ได้ อยู่กับท้อง ร่างกายที่พอง ร่างกายที่ยุบก็ได้
แต่อย่างจะอยู่กับลมหายใจ ขอแนะนำให้อยู่กับร่างกายที่หายใจ อย่าอยู่กับตัวลมหายใจตรงๆ ให้รู้สึกลงไปทั้งตัวนี้กำลังหายใจอยู่ เวลาเดิน ไม่ต้องไปรู้สึกอยู่ที่เท้า เวลาเดินก็รู้สึกทั้งตัว ว่าตัวนี้กำลังเดิน เวลานั่งรู้สึกทั้งตัวว่า ตัวนี้กำลังนั่ง เดินอยู่ก็รู้ชัดว่าเดินอยู่ ท่านไม่ได้บอกว่า เดินอยู่ให้รู้เท้า เวลาตีความธรรมะ พอตีความผิดมันก็ไปไกล กลายเป็นเพ่งไปหมด ฉะนั้นเราหายใจออกรู้สึกตัว คู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว ตัวไหนหายใจ ร่างกายหายใจออก รู้ ร่างกายหายใจเข้าก็รู้ เวลาร่างกายยืนก็รู้ว่าร่างกายมันยืน ร่างกายมันเดิน รู้ว่าร่างกายมันเดิน
ท่านบอกว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดินอยู่ก็รู้ชัดว่าเดินอยู่” ท่านไม่ได้บอกให้รู้เท้า นั่งอยู่ก็รู้ชัดว่านั่งอยู่ ท่านไม่ได้ให้รู้ที่ก้นสัมผัสกับไม้ ไม่ใช่ ท่านให้รู้สึกตัวทั่วพร้อม ฉะนั้นเราพยายามรู้สึกตัวทั่วพร้อมไว้ ค่อยๆ รู้สึกๆ ไป แล้วก็ทำกรรมฐานของเราไป แล้วเคล็ดลับมันอยู่ตรงที่ว่า เมื่อทำกรรมฐานแล้วจิตเคลื่อนไปจากอารมณ์กรรมฐาน ให้รู้ทัน เมื่อทำกรรมฐานอยู่ จิตถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ให้รู้ทัน
สิ่งที่ผิดใหญ่ๆ มี 2 อันเท่านั้น ทำกรรมฐานอยู่แล้วจิตหลงไปจากอารมณ์กรรมฐาน ส่วนใหญ่หลงไปคิด หรือจิตไปเพ่ง เห็นร่างกายหายใจก็ถลำลงไปเพ่งลมหายใจ คอยรู้ทัน ไม่ต้องห้ามหรอก ไม่ต้องห้าม ทำไปเรื่อยๆ แล้วจิตจะทรงกำลังมากขึ้นๆ แล้วต่อไปมันก็จะเห็นไตรลักษณ์ได้เอง ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าจิตถูกแล้ว การเดินปัญญาไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว จิตที่ถูกมีเครื่องมือ 2 ตัว ตัวที่หนึ่งคือสติ สติเกิดจากการเราที่หัดรู้สภาวะบ่อยๆ เช่นจิตหลงแล้วรู้ จิตเพ่งแล้วรู้ สติก็จะเกิด พอหลงปุ๊บรู้ปั๊บเลย เพ่งปุ๊บรู้ปั๊บ
ส่วนสมาธิคือความตั้งมั่น มันตั้งขึ้นเอง พอสติรู้สภาวะ เช่น จิตหลงไปคิดรู้ทันปั๊บ สมาธิเกิดเอง แต่เกิดนิดเดียว ฉะนั้นหลงแล้วรู้ๆ บ่อยๆ สมาธิก็จะค่อยๆ แข็งแรงขึ้น พอสมาธิเราแข็งแรง จิตมันจะเหมือนมีกำลัพอจิตมันมีกำลังพอแล้ว ก็เดินปัญญาได้ ดูรูปแสดงไตรลักษณ์ ดูนามแสดงไตรลักษณ์ ดูตัวไหนก่อน ตัวไหนเด่นดูตัวนั้น
วัดสวนสันติธรรม
12 พฤศจิกายน 2565