ธรรมะเรียนเท่าไรๆ ฟังเท่าไรๆ ก็ไม่ได้อะไรเท่าไรหรอก ได้นิดหน่อย สู้กิเลสไม่ได้ ธรรมะที่จะสู้กิเลสได้ต้องลงมือปฏิบัติ ก่อนจะปฏิบัติก็ต้องรู้วิธีปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา ท่านก็แค่ผู้สอนวิธีปฏิบัติให้เราเท่านั้นเอง ส่วนการปฏิบัติต้องทำเอง ถ้าทำถูก รู้วิธีแล้วก็ทำให้ถูก ทำให้ถูกแล้วก็ทำให้มาก
ธรรมะมีหลายระดับ ธรรมะเพื่อจะอยู่กับโลกอย่างมีความสุข พระพุทธเจ้าก็สอนเอาไว้ ธรรมะที่ต้องการเหนือโลก พ้นจากความทุกข์ ท่านก็สอนเอาไว้ เพราะฉะนั้นมีทั้งธรรมะที่ทำให้เราอยู่กับโลกอย่างมีความสุขกับธรรมะที่อยู่เหนือโลกแล้วพ้นทุกข์ รับได้แค่ไหน เอาตรงนั้นไว้ ฉะนั้นขั้นต่ำสุดต้องอยู่กับโลกให้ได้ อยู่กับโลกแบบมีความสุข
ถ้าใจเราเป็นบุญ เราก็มีความสุข ทำ พูดให้มันดีๆ ก็มีความสุข รู้จักทำมาหากินอะไรอย่างนี้ ก็มีความสุข รู้จักสร้างครอบครัวที่อบอุ่นก็มีความสุข ถ้าเป็นฆราวาสก็รู้จักแบ่งปัน แบ่งปันวัตถุสิ่งของส่วนเกินที่เรามีมากเกินไป เราก็แบ่งปัน การแบ่งปันก็ให้ความสุข คนให้มีความสุข คนอยากได้ไม่มีความสุข อย่างเราตอนนี้เข้าฤดูหนาว เรามีเสื้อผ้าเยอะ ไม่ได้ใช้อะไรอย่างนี้ แบ่งปันให้คนซึ่งเขาไม่มี ผู้ให้ก็มีความสุข ผู้รับก็มีความสุข เพราะเราให้สิ่งซึ่งเป็นประโยชน์กับเขาในทางโลก ธรรมะเพื่ออยู่กับโลกมีมากมาย ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ศึกษาแล้วเอาไปลงมือทำ อย่างเราเป็นผู้บริหาร ธรรมะของผู้บริหารก็มีตั้งเยอะแยะ ขั้นต่ำๆ พรหมวิหารต้องมี เป็นผู้ปกครองต้องความเมตตา มีความกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา อย่างบางคนเห็นลูกน้องเก่งกว่าไม่ได้ อิจฉาลูกน้อง แกล้งลูกน้อง อันนี้เรียกไม่มีมุทิตา จิตใจขี้อิจฉาไม่มีความสุข เรื่องของธรรมะโลกๆ มีมากมายก่ายกอง เรื่องการอยู่ในกลุ่ม การรวมกลุ่มกันอยู่ ทำอย่างไรอยู่ในกลุ่มจะมีความสุข มีเรื่องสังคหะๆ ลองไปดู Google เอาก็แล้วกัน
สิ่งที่ดึงดูดสัตว์ทั้งหลายไม่ให้ไปนิพพาน
ธรรมะเพื่ออยู่กับโลกนั้นมีมาก ธรรมะที่จะพ้นจากโลกมีไม่มาก ส่วนใหญ่ที่หลวงพ่อสอนก็จะเป็นธรรมะว่าทำอย่างไรเราจะพัฒนาตัวเองไปสู่ความเหนือโลก โลกมันคือตัวทุกข์ พ้นโลกไปก็คือพ้นทุกข์ คนส่วนใหญ่เขาไม่อยากพ้นโลก เขาติดใจอยู่ในโลก ฉะนั้นสิ่งที่ดึงดูดสัตว์ทั้งหลายไม่ให้ไปนิพพาน ตัวสำคัญที่สุดเลยคือกามนั่นล่ะ ความรักใคร่พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสอะไรพวกนี้ ในความสนุกสนานเพลิดเพลิน อันนั้นเป็นน้ำตาลที่เคลือบยาพิษเอาไว้
อย่างเราอยากมีความสุขอยู่ในโลก ดิ้นรนแทบเป็นแทบตายเลย สุดท้ายความจริงมันก็ปรากฏ ทุกอย่างมันว่างเปล่า สุดท้ายเรามีอะไร สุดท้ายเราก็เสียอันนั้นไป กระทั่งเรามีชีวิตร่างกาย สุดท้ายเราก็ต้องสูญเสียมันไป ตอนที่ดิ้นรนได้มา เราก็รู้สึกดี มีความสุข มีผลประโยชน์ มีความสุข มีชื่อเสียง เกียรติยศ มีความสุข มีคนยกย่อง มีความสุข สบายกายสบายใจก็มีความสุข มันหลอกเราให้เราติดอกติดใจอยู่กับโลก
ในความสุขทั้งหลายมันแฝงความทุกข์เอาไว้ตลอดเวลา เรามีอะไร เราก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้นล่ะ เราสูญเสียอิสรภาพเพราะสิ่งนั้น อย่างเรารักสาวสักคน เราก็ต้องสูญเสียอิสรภาพบางส่วนไป รักหนุ่มสักคน เราก็สูญเสียอิสรภาพบางส่วนไป ต้องไปเอาอกเอาใจเขาอะไรอย่างนี้ มีบ้าน เราก็ต้องดูแล ภาระมาก ตั้งแต่พื้นยันหลังคามีภาระเยอะแยะ มีรถยนต์ก็มีภาระเยอะแยะ เรามีบ้าน เรานึกว่ามีความสุขแต่ว่าเราพ่วงภาระเข้ามา มีรถยนต์ มีความสุข มันก็พ่วงภาระเข้ามา มีครอบครัว รู้สึกว่ามีความสุข มันก็มีภาระขึ้นมามากมาย ทำงานแทบเป็นแทบตาย มีลูกคนหนึ่งก็เลี้ยงกันแทบตายแล้ว ใช้เงินตั้งเท่าไร มหาศาลเลยกว่ามันจะพึ่งตัวเองได้ เหนื่อย ชีวิตเหน็ดเหนื่อยมาก
คนซึ่งมองเห็นว่าโลกมันเป็นน้ำตาลเคลือบยาพิษ เอาไว้ให้เราก็อยากพ้นไปจากโลก พระพุทธเจ้าท่านก็เลยสอนธรรมะที่พ้นโลกไว้ เวลาสอนคนทั่วๆ ไปที่ยังไม่ได้ลิ้มรสธรรมะเลย ท่านก็จะสอนให้ทำความดีไว้ ให้ทำทาน ให้ถือศีลอะไรอย่างนี้ ให้ทำไว้แล้วก็จะได้มีความสุข คล้ายๆ ขึ้นสวรรค์ พอคนไหนมีปัญญาแก่กล้ามากขึ้น อินทรีย์แก่กล้ามากขึ้น ท่านก็ให้เห็นโทษของสวรรค์ โทษของกามนั่นล่ะ
สวรรค์คืออะไร สวรรค์ก็กามนั่นล่ะ ท่านสอนให้เห็นโทษของกาม โทษของสวรรค์มันไม่ยั่งยืน ท่านสอนเนกขัมมะ สอนการออกจากกาม เรื่องอะไรเราจะต้องเป็นทาสมาตั้งแต่เกิด แล้วจะต้องเป็นทาสไปจนวันตาย มารมันเอากามคุณอารมณ์ เอารูป เอาเสียง เอากลิ่น เอารส สัมผัสที่ถูกอกถูกใจมาล่อเราไว้ แล้วทำให้เราตกเป็นทาสของมัน แล้วเราก็ถูกมันหลอกใช้งาน มันใช้งานเราทั้งวันทั้งคืน แต่เราไม่เคยเห็น เวลาใจเราเกิดความอยากนานาชนิดขึ้น มันสั่งเราตลอด ให้ไปดูหนัง ให้ไปฟังเพลง ให้ไปดูซีรีย์ ให้ไปดูโน่นดูนี่ ให้ไปฟังโน่นฟังนี่ ให้ไปกินโน่นกินนี่ มันสั่งเราตลอดวัน ให้แย่งชิง ให้อย่างโน้นอย่างนี้ เราไม่เคยเห็นเลยว่าเรากำลังเป็นทาสอยู่
พระพุทธเจ้าท่านก็ชี้ให้เราดูโทษของสวรรค์ มันไม่ได้ดีจริง การออกจากอำนาจของกามคืออย่าไปติดอกติดใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสมากนัก เบื้องต้นไม่ถึงขนาดพ้นมันหรอก คนที่พ้นได้ก็คือพระอนาคามี ของเรายังไม่ได้ถึงขนาดนั้น เราเอาแค่ว่าเราอย่าไปหลงกับมันมาก ไม่ใช่ทุ่มเทชีวิตจิตใจ เวลาทั้งหมดไปเพื่อการแย่งชิง เพื่อการรักษารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งหลาย จะได้มีเวลาเหลือสำหรับการพัฒนาจิตใจตัวเองให้มันสูงขึ้นบ้าง ท่านก็จะสอนธรรมะอันนี้ กระบวนการสอนแบบนี้เรียกว่าอนุปุพพิกถา สอนเรื่องทาน เรื่องสวรรค์ เรื่องโทษของสวรรค์ เรื่องโทษของกาม เรื่องเนกขัมมะ
“เป็นฆราวาสก็สามารถออกจากกามได้
คือพยายามลดละความหิวโหยในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส สัมผัสเสียบ้าง
จะได้มีเวลาเหลือสำหรับการพัฒนาจิตใจ”
เนกขัมมะ การออกจากกามไม่ใช่การออกบวช แยกกันให้ออก การออกบวชบางทีก็ไม่ได้ออกจากกาม อย่างถ้าบวชแล้วก็ยังติดใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสอยู่ มันก็เรียกว่ามันยังไม่ได้ออกจากกาม เป็นฆราวาสก็สามารถออกจากกามได้ คือพยายามลดละความหิวโหยในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส สัมผัสเสียบ้าง จะได้มีเวลาเหลือสำหรับการพัฒนาจิตใจ
หลวงพ่อปฏิบัติมาก็ทำอย่างนั้น หลวงพ่อกว่าจะบวชได้ อายุตั้ง 48 ต้องเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่อยู่ เราลูกคนเดียว ก็เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ทิ้งมาเราก็รู้สึก guilty รู้สึกผิดถ้าจะทิ้งมา เอาตัวรอด ก็ภาวนาแต่ยุ่งกับโลกน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตื่นเช้ามาก็ภาวนาแล้ว หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จะอาบน้ำ จะขับถ่าย จะกินข้าวอะไรนี่ ภาวนาตลอด จะขึ้นรถไปทำงานก็ภาวนา ไม่วอกแวกๆ ก็ตั้งอกตั้งใจทำงานไป กลางวันกินข้าว เราก็ภาวนา เดินจงกรมบ้างอะไรบ้าง แต่ไม่ได้เดินให้คนเห็น ใช้วิธีเดินไปวัดใกล้ๆ ที่ทำงาน ไปถึงก็ไปไหว้พระ ไม่ได้เข้าไปในโบสถ์หรอก ไม่มีเวลา ก็ไหว้พระอยู่หน้าโบสถ์นั่นล่ะ แล้วก็เดินกลับมา นี่ก็คือปฏิบัติ
ตกเย็นคนเขาชวนกันไปกินเหล้า ไปเที่ยว ไปอะไร ไม่ไป รู้สึกเสียเวลา หลีกเลี่ยงได้ หลีกเลี่ยงตลอดเวลา รับราชการ บางครั้งไปสัมมนา ไปอะไร กลางค่ำกลางคืนเขาเข้าบาร์ เขากินเหล้าอะไรกัน หลวงพ่อหนีตลอด หนีได้หนีทันทีเลย อย่างจะไปอยู่จังหวัดไหน ไปประชุมที่จังหวัดไหน จะไปสืบมาก่อน ที่นั่นจะมีครูบาอาจารย์ที่อยู่ใกล้ๆ ไหม ไกลๆ ต่างจังหวัด ต่างอำเภอออกไป ไปไม่ได้ มีเวลาไม่มาก ไปสืบมาก่อน
พอมีเวลาปุ๊บ ตกเย็น ตกค่ำ คนอื่นเขากินเหล้า เราก็วิ่งแจ้นไปวัดเลย ไปกราบครูบาอาจารย์ ได้อะไรดีๆ มาตั้งหลายอย่าง ใจที่มันไม่ได้อยากจะอยู่กับโลก มันไม่ได้หลงโลก ไม่ไปเที่ยวไหนหรอก ไปก็ไปวัดอย่างเดียวเลย ใจอย่างนี้มันภาวนาง่าย ถ้าวันๆ หนึ่ง คิดแต่เรื่องสนุกสนาน มันจะไปภาวนาได้อย่างไร ใจมันฟุ้งซ่าน
พอเรารู้จักว่าโลกไม่ได้มีอะไรดีนักหนาหรอก มีแต่ภาระ เราอยากพ้นไป เราก็มาศึกษาว่าทำอย่างไรเราจะพ้นได้ ศึกษาไปเรื่อยๆ พบว่าการปฏิบัติมันก็มีการฝึกกาย ฝึกวาจา ฝึกจิตใจ เราฝึกกาย ฝึกวาจาของเราด้วยศีล รักษาศีลไว้ ไม่ทำชั่ว ไม่ทำบาปอกุศลตามใจกิเลสด้วยการทำชั่วทางกาย ทางวาจา ส่วนทางจิตใจก็ต้องภาวนา ภาวนาก็มี 2 อัน สมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา
เคล็ดลับการทำสมาธิ
การทำสมถะ ทำสมาธิ ถ้าไม่รู้หลักยากมากเลย หลวงพ่อเรียนตั้งแต่ 7 ขวบ ทีแรกยังไม่ได้หลักหรอก แต่อาศัยว่าเป็นเด็ก เด็กมันไม่ได้คิดมาก ท่านพ่อลีท่านบอกให้หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุทออกโธ นับ 2 ท่านสอนอย่างนี้ เราก็ทำเลย มันไม่คิดมากหรอกว่าทำแล้วมันจะได้อะไรขึ้นมา ไม่นานจิตใจมันก็สงบ จิตใจมีความสุข มีความสงบอยู่กับตัวเอง น่าจะตัวนี้ด้วยที่ทำให้หลวงพ่อไม่อยากไปยุ่งกับโลกข้างนอก เพราะเรามีความสุขอยู่ในโลกภายในของเราแล้ว โลกข้างนอกมีแต่ความวุ่นวาย คนนั้นอย่างนั้นคนนี้อย่างนี้ มีแต่เรื่องเวียนหัวทั้งนั้นเลย มันไม่เหมือนเรามาอยู่กับลมหายใจ อยู่กับพุทโธของเรา
หลวงพ่อทำมาแต่เด็ก มันก็เลยน่าจะเป็นปัจจัยหลักตัวหนึ่งที่ทำให้ไม่เอาโลก ไม่หลงโลกข้างนอก เขาสนุกเฮฮาอะไร ไม่เอา เห็นไม่มีสาระตลอดเลย ใจมันก็อยากภาวนา แต่ว่ามันทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้วิธีปฏิบัติ รู้แต่วิธีทำสมาธิ ฉะนั้นทำแต่สมถะจนมาเจอหลวงปู่ดูลย์ เจอหลวงปู่ดูลย์แล้วท่านสอนให้ดูจิตตัวเอง ดูจิตทีแรกก็ยังดูผิด ไปดูแล้วเป็นสมถะอีก เพราะมันเคยชินที่จะทำสมถะ พอทำสมถะมานานๆ หลวงพ่อจับหลักของการทำสมถะได้ มันไม่ยากหรอก
อย่างพวกเราภาวนาแล้วบอกไม่เคยสงบๆ เราไม่รู้หลัก ไม่รู้เคล็ดลับ มันมีเคล็ดลับง่ายๆ เลย อันแรกรู้จักเลือกอารมณ์กรรมฐานที่เราอยู่ด้วยแล้วเรามีความสุข อารมณ์นั้นต้องไม่เป็นอารมณ์ที่ยั่วให้กิเลสเกิด อย่างหลวงพ่อรู้ตัวว่าหายใจเข้าพุท หายใจออกโธแล้วมีความสุข พอเราอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง จิตมันก็ไม่เที่ยววอกแวกไปที่อื่น
การที่จิตของเราวิ่งพล่านไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางใจหนีไปคิดโน้นคิดนี้ ในความเป็นจริงแล้วมันวิ่งพล่านๆ เพื่อหาความสุข มันวิ่งพล่านๆ เพื่อหนีความทุกข์ แต่ถ้าเรารู้จักเลือกอารมณ์กรรมฐานที่จิตใจเราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข มาให้จิตมันอยู่ จิตมันมีความสุขอยู่แล้ว มันก็จะไม่หนีไปเที่ยว มันก็จะสงบอย่างรวดเร็วเลย อันนี้คือเคล็ดลับ ฉะนั้นถ้าเราอยากทำสมาธิให้จิตสงบ อันแรกเลยต้องสำรวจตัวเองว่าเราอยู่กับกรรมฐานชนิดไหนแล้วจิตใจมีความสุข ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ มันเป็นหลักอย่างนี้เลย
พอเราอยู่กับอารมณ์ที่มีความสุข จิตก็ไม่หิวโหย จะต้องไปดิ้นรน ไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย หรือไปคิดอะไรเพลินๆ เพื่อจะหาความสุข เพราะเราสุขอยู่แล้ว แล้วมันก็ไม่ต้องดิ้นรนหนีความทุกข์ เพราะตอนนั้นมันสุขอยู่แล้ว เคล็ดลับของมันมีเท่านี้เอง พอเราฝึกชำนิชำนาญ เรานึกอยากจะเข้าที่พักของเรา เราก็พักได้ทันทีเลย แวบเดียวเราก็เข้าสมาธิไปแล้ว
ถ้าไม่รู้วิธีก็จะไปนั่งบังคับตัวเอง เช่น (หายใจแรงๆ) หายใจเมื่อไรจะสงบๆ ไม่สงบหรอก เพราะไม่มีความสุข เวลาให้ทำกรรมฐานรู้สึกคอขาดบาดตาย ทุรนทุราย นั่งไม่เป็น เดินไม่เป็น เครียดไปหมด นั่งจนคอเคล็ดหลังเคล็ด เดินจนกระทั่งเกร็ง ตะคริวกินอะไรอย่างนี้ จะไปมีความสุขที่ไหน สังเกตง่ายๆ อย่างเราไปเดินจงกรม เราตั้งใจเดินสักชั่วโมงหนึ่ง แข้งขาจะหัก ทีเดินชอปปิงเช้ายันเย็นไม่เห็นเป็นไรเลย เพราะอะไร เพราะมันมีความสุขที่เดินดูโน่นดูนี่ อันนั้นก็เป็นสมาธิเหมือนกัน อย่างจะไปเดินชอปปิ้ง แต่มันเป็นสมาธิออกนอก
ถ้าอยากเป็นสมาธิที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว เราก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุข ก็อยู่ตรงนั้นล่ะ ไม่ได้บังคับจิต จิตมันพอใจที่จะอยู่ตรงนี้เอง เพราะมันมีความสุข หลวงพ่อเคยเปรียบเทียบให้ฟัง จิตมันเหมือนเด็ก มันก็เที่ยวซนไปเรื่อยๆ เด็กยุคก่อนซน วิ่งออกไปนอกบ้าน ยุคนี้เด็กมันซนทางอินเทอร์เน็ต เหมือนไม่ซน มันซึมๆ อยู่กับที่ เล่นมากๆ ไม่ดี สมองเสื่อม โง่ อยู่กับโลกไม่เป็น
เด็กรุ่นหลวงพ่อต้องไปเล่นกับเพื่อน มันเรียนรู้การเข้าสังคมตั้งแต่เล็กๆ ออกไปสัมผัส ไปอะไร เพราะมันรู้สึกมีความสุข อยู่บ้านแล้วเบื่อๆ อะไรอย่างนี้ ผู้ใหญ่ฉลาดเขาก็จะหาอะไรมาหลอกล่อให้เด็กอยู่ในบ้าน ทำชิงช้าเอาไว้ให้มันเล่นบ้างอะไรบ้าง ก็อยู่ในบ้าน ไม่ไปไหน คือมันมีอารมณ์ที่ชอบใจ ก็ไม่หนีไปไหน จิตนี้ล่ะเหมือนเด็ก หาอารมณ์ที่มันชอบใจมาเป็นเหยื่อล่อมัน มันจะไม่ฟุ้งซ่าน มันจะสงบอย่างรวดเร็วเลย
พอเราฝึกนานๆ มันก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าวสีขึ้น วสีของสมาธิมี 4 อย่าง ชำนาญในการเข้าสมาธิ นึกจะเข้าเมื่อไรก็เข้าได้ ชำนาญในการทรงอยู่ บางคนชำนาญในการเข้าแล้วเข้าปุ๊บกระเด้งออกมาเลย จิตสะท้อนออกมาเลย อันนั้นไม่ชำนาญในการทรงอยู่ ชำนาญอันที่สาม อันนี้ยากที่สุดเลย ชำนาญในการเจริญปัญญาในสมาธิ อันนี้จะต้องเป็นพวกที่ชำนิชำนาญในการทำวิปัสสนา ในการพิจารณาอะไรมาแล้ว
อย่างถ้าเข้ารูปฌานก็อาจจะพิจารณารูปได้ ถ้าเข้าถึงอรูปฌาน ต้องพิจารณาจิตเพราะไม่มีรูปให้พิจารณา อันนี้ต้องฝึก ไม่ชำนาญพอ ไปเจริญปัญญาในฌานไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้หรอก ส่วนใหญ่พอทำความสงบพอสมควรแล้ว จิตถอนออกมาแล้วก็มาเดินปัญญาข้างนอก อันนั้นเรียกว่าปัญญานำสมาธิ แต่ถ้าเราชำนาญจริงๆ เราใช้สมาธิและปัญญาควบกัน ก็คือไปเจริญปัญญาอยู่ในสมาธิเลย แต่ส่วนใหญ่มันทำไม่ได้ ก็จะทำสมาธิก่อนแล้วออกมาอยู่ข้างนอก อีกทางหนึ่งก็ใช้ปัญญานำสมาธิ เป็นวิธีที่หลวงพ่อมาสอนพวกเราเป็นหลักนี่ล่ะ เพราะพวกเราเข้าฌานไม่เป็น ใช้ปัญญานำสมาธิเอา ไปได้ไม่ใช่ไปไม่ได้
เคล็ดลับการทำวิปัสสนา
ถ้าใครบอกไปไม่ได้ให้ไปดูพระสูตรอันหนึ่งชื่อยุคนัทธสูตร เป็นพระสูตรที่พระอานนท์ท่านแสดงเอาไว้ ท่านแสดงถึงการปฏิบัติ ท่านแสดงธรรมะไว้ 4 ข้อ ข้อหนึ่งคือเรื่องสมาธินำปัญญา ปัญญานำสมาธิ สมาธิและปัญญาควบกัน แล้วอันสุดท้ายเป็นหมวดชื่อธัมมุทธัจจะ ธัมมุทธัจจะจริงๆ ก็คือวิปัสสนูปกิเลสนั่นล่ะ พอเจริญปัญญาถูกต้องมา ไม่ว่าจะเจริญแบบไหนสุดท้ายก็จะมาลงที่ธัมมุทธัจจะ คือวิปัสสนูปกิเลส แล้วท่านก็สอนวิธีพ้นจากวิปัสสนูปกิเลส คือการทำจิตให้เข้าฐานนั่นล่ะ ก็หายจากวิปัสสนูปกิเลส
เพราะฉะนั้นมันมีอยู่เยอะแยะเลย ให้เราเลือกเท่าที่เราทำได้ หลักของสมถะ บอกแล้วอยู่กับอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง แล้วหลักของวิปัสสนามีไหมประโยคเดียว มี แต่ก่อนที่หลวงพ่อจะสรุปออกมาได้ประโยคเดียว หลวงพ่อก็ปฏิบัติมามากมาย อย่างสมถะกว่าหลวงพ่อจะสรุปได้ 20 ปี 22 ปีกว่าจะสรุปออกมาได้ว่าเคล็ดลับของมันอยู่ตรงไหน วิปัสสนาก็เหมือนกัน ใช้เวลาแต่ใช้เวลาไม่เยอะหรอก ก็สรุปออกมาได้แล้ว
ถ้าเราจะทำวิปัสสนาเคล็ดลับมีอันเดียวล่ะ ให้เรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คำว่าด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เป็นคำอยู่ในวงเล็บก็ได้ หลักจริงๆ ก็คือมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง อันนี้หลักของวิปัสสนา แต่หลวงพ่อพบอันหนึ่งว่าเราจะสามารถรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้ ต้องมีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ตรงนี้เป็นเคล็ดลับ ตรงที่ว่า ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ใครๆ ก็รู้ สำนักไหนก็รู้ทั้งนั้น แต่เคล็ดลับที่หลวงพ่อค้นพบก็คือเราจะมีจิตที่ตั้งมั่น ต้องมีจิตที่ตั้งมั่นและก็เป็นกลาง เราถึงจะมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้
ตรงนี้มันก็จะไปตรงกับตำราบอกว่าสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ฉะนั้นเราต้องมีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่มีสัมมาสมาธินั่นล่ะ เราถึงจะเจริญปัญญาได้จริง ที่จ้ำจี้จ้ำไชพวกเราหนักหนาสาหัส ส่วนใหญ่เรื่องนี้ล่ะ เพราะว่าอยู่ๆ เราจะไปเจริญวิปัสสนาจะมีสติรู้กายรู้ใจอะไรอย่างนี้ มันไม่เห็นความจริง แต่มันจะคิดเรื่องความจริง มันไม่เห็นแต่มันคิดเอา เห็นกายก็คิดว่ากายเป็นไตรลักษณ์ เห็นจิตก็คิดว่าจิตเป็นไตรลักษณ์ มันไม่ได้เห็นความจริง แต่มันคิดเอา มันจะเห็นความจริงได้เมื่อจิตมีพลังมากพอ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็น ถ้ามีแต่จิตเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง มันก็ไม่เห็นสิ เพราะฉะนั้นเราถึงต้องพัฒนาจิตที่เป็นผู้รู้ผู้เห็นขึ้นมาก่อน ตัวนี้ตัวสำคัญ นี่เคล็ดลับเลยล่ะ ที่ทำให้ทำวิปัสสนาแล้วประสบความสำเร็จง่าย ถ้าไม่มีไม่มีทางเลย ถ้าไม่มีจิตที่เป็นผู้รู้ตัวนี้
ที่สอนเรามากมายก็เพื่อพัฒนาจิต อันหนึ่งให้มีความสงบเพื่อจะได้มีกำลัง อันที่สองพัฒนาสมาธิขึ้นมาเพื่อให้จิตมันตั้งมั่น พอจิตมันตั้งมั่นมันจะตั้งตัวเด่นดวงขึ้นมา แล้วมันจะเริ่มเห็น มันจะเริ่มเดินปัญญาได้ พอจิตมันตั้งมั่นขึ้นจริงๆ แล้ว มันจะรู้สึกเวลาสติระลึกลงในร่างกาย มันจะรู้สึกทันทีเลยร่างกายไม่ใช่เราหรอก ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู เห็นไหม เห็นไตรลักษณ์แล้ว ไม่ได้คิดเลย มันรู้สึกเลย ถ้าคิดเอาใช้ไม่ได้ รู้สึกเอาถึงจะใช้ได้
ต้องมีจิตที่ตั้งมั่นและก็เป็นกลาง
เราถึงจะมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้
พอจิตเราตั้งมั่น เป็นกลาง ทีแรกตั้งมั่นแล้วก็ยังไม่เป็นกลางหรอก ต้องฝึกอีกนานเหมือนกัน กว่ามันจะเป็นกลางได้ มันตั้งมั่นขึ้นมาแล้วมันก็เห็นสภาวะ เช่น มันเห็นว่าความสุขเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ความทุกข์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป มันมีความตั้งมั่น มันก็จะเห็น หรือมันเห็นร่างกายหายใจออก จิตใจเป็นคนรู้ ร่างกายหายใจเข้า จิตใจเป็นคนรู้ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน จิตเป็นคนรู้ นี่กายกับใจมันแยกออกจากกัน การแยกขันธ์ แยกรูป แยกนามได้ นั่นล่ะคือการเจริญปัญญาขั้นต่ำสุด ขั้นเบสิก เรียกว่านามรูปปริจเฉทญาณ มีปัญญาแยกรูปนามได้ ปัญญาเกิดจากอะไร บอกแล้วเกิดจากสมาธิที่ถูกต้อง ไม่ใช่เกิดจากสมาธิเฉยๆ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ฉะนั้นเราต้องมีสัมมาสมาธิ จิตที่ตั้งมั่นนั่นล่ะคือจิตที่มีสัมมาสมาธิ
พอจิตมันตั้งมั่น สติระลึกรู้กาย มันจะรู้สึกทันทีกายไม่ใช่เราหรอก สติระลึกรู้เวทนา มันจะเห็นทันทีเลย เวทนาก็ไม่ใช่เรา เป็นของเกิดดับ สติระลึกรู้สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว โลภ โกรธ หลงอะไร ก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เราหรอก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา บังคับอะไรมันไม่ได้ จิตมันเดินปัญญา มันเดินกันอย่างนี้ เดินด้วยการเห็นความจริง ไม่ใช่คิดเอา จะเห็นความจริงได้ จิตต้องตั้งมั่น
พอเห็นความสุข เห็นจริง ความสุขกับจิตคนละอันกัน แหม แต่มันยังชอบความสุขอยู่ มันยังอยากได้ความสุข ก็พยายามดิ้นรนจะให้ได้ความสุขมา เจอความทุกข์ก็ดิ้นรนจะหนีความทุกข์ อันนี้ยังไม่เป็นกลาง พอตั้งมั่นเราจะเห็นสภาวะได้แล้ว เห็นไตรลักษณ์ได้แล้วแต่ยังยอมรับไม่ได้ ใจมันไม่ยอมรับ ต้องเห็นซ้ำๆๆ ไปเรื่อย ในที่สุดปัญญามันแก่กล้าขึ้น มันก็จะเห็นเลย ความสุขมันก็ไม่ยั่งยืน แล้วมันก็บังคับไม่ได้ ความทุกข์ก็ไม่ยั่งยืน มันก็บังคับไม่ได้ กุศลหรืออกุศลก็ไม่ยั่งยืน บังคับไม่ได้ ร่างกายนี้ก็ไม่ยั่งยืน บังคับไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายอะไร ก็บังคับไม่ได้ ใจมันจะค่อยเข้าสู่ความเป็นกลาง มันเป็นกลางด้วยปัญญา มันไม่ได้เป็นกลางด้วยสติ ไม่ได้เป็นกลางด้วยสมาธิ แต่เป็นกลางด้วยปัญญา จิตที่เดินวิปัสสนาเต็มภูมิ มันจะเป็นกลางด้วยปัญญาขึ้นมา
ตรงที่มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นซ้ำไปเรื่อยๆ เห็นไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตจะเข้าสู่ความเป็นกลาง ในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่า “วิเนยยะ โลเก อภิชฌา โทมนัสสัง ถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้” คือผลของการที่เราเจริญสติปัฏฐานจนถึงขั้นวิปัสสนากรรมฐาน สุดท้ายมันจะถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกเสียได้ มันจะเห็นเลยความสุขในโลกที่แย่งชิงกัน หาสาระอะไรไม่ได้ เราเกลียดชังความทุกข์ เราก็หนีมันไม่ได้ ก็ต้องอยู่กับมันอย่างนั้นล่ะ แล้วใจก็เลยหมดความดิ้นรน ใจเข้าสู่ความเป็นกลาง ถอดถอนความยินดียินร้ายในโลก
อะไรที่เรียกว่าโลก รูปนามนั่นล่ะ รูปธรรมนามธรรมนั่นล่ะเรียกว่าโลก ขันธ์ 5 นั่นล่ะเรียกว่าโลก อายตนะ 6 นั่นล่ะเรียกว่าโลก ธาตุ 18 นั่นล่ะเรียกว่าโลก อินทรีย์ 22 ก็โลก มันก็ไม่มีอะไร ก็จะเห็นทุกอย่างเป็นแค่สภาวะ เป็นแค่สภาวะของรูปธรรมบ้าง ของนามธรรมบ้าง ที่ทำงานสืบเนื่องกันไป ตรงที่มันทำงานสืบเนื่องกันไป มันจะมีกระบวนการที่รูปนามมันทำงานสืบเนื่องกันไป คือปฏิจจสมุปบาท มันจะปรุงความทุกข์ขึ้นมา แล้วมันจะรู้ว่าถ้าอันนี้ดับ ทุกข์ถึงดับ ตัวนี้ดับๆๆ ดับๆๆ ลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดมันลงมาถึงอวิชชาดับ อวิชชาดับ ปฏิจจสมุปบาททั้งสาย วัฏฏะที่หมุนเวียน เวียนว่ายตายเกิด จะถล่มทลายลงตรงที่รู้แจ้งอริยสัจนั่นล่ะ จะรู้แจ้งอริยสัจได้ก็ต้องทำวิปัสสนา ทำสมถะไม่รู้อริยสัจหรอก ทำสมถะก็จะไปอยู่ในโลกที่มีความสุขมีความสงบ
ฉะนั้นพยายามตั้งอกตั้งใจเรียนให้รู้หลักแล้วลงมือทำ จะทำอะไรบ้าง ฝึกกายวาจาให้เรียบร้อยด้วยการรักษาศีล ฝึกจิตใจ มีบทเรียน 2 บท บทเรียนของการฝึกสมาธิกับบทเรียนของการเจริญปัญญา บทเรียนของการทำสมาธิเพื่อความสงบ รู้จักเลือกอารมณ์ที่มีความสุข แล้วอารมณ์นั้นไม่ทำให้กิเลสรุนแรงขึ้นมา เราอยู่กับอารมณ์นั้นไปเรื่อยๆ ไม่ต้องคิดถึงความสุข ไม่ต้องคิดถึงความสงบ มันสุขเอง มันสงบเอง ยิ่งอยากสงบ ยิ่งไม่สงบ ภาวนาแทบตาย ไม่ยอมสงบ เพราะว่ามันอยากสงบ
ถ้าจะฝึกสมาธิให้จิตตั้งมั่นทำอย่างไร อาศัยสติรู้ทันจิตตัวเองไป อย่างเรานั่งสมาธิ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตไหลไปเพ่งลมหายใจ รู้ทัน รู้ทันจิตใจตัวเอง เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่นขึ้นมา พอเรามีสมาธิตั้งมั่น เราก็เดินปัญญาได้ ก็จะไปแยกรูปนามได้ เห็นรูปแต่ละรูป เห็นนามแต่ละนามแสดงไตรลักษณ์ได้ ในที่สุดก็เป็นกลาง ตรงที่เป็นกลาง จิตก็หมดความดิ้นรน เรียกว่ามีสังขารุเปกขาญาณ มีญาณคือมีปัญญาที่เป็นอุเบกขาต่อความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง จิตก็หมดความดิ้นรน พอจิตไม่มีความหิวโหย ไม่มีความดิ้นรน จิตก็พ้นโลก พ้นตรงนี้ล่ะ พ้นตรงที่จิตมันเลิกหิวล่ะ ตรงที่มันหิวคือมันมีตัณหา มีความอยาก
หลักของการปฏิบัติ วันนี้เล่าให้ฟังเป็นภาพรวมทั้งหมดเลย ไปรีรันฟังแล้วฟังอีกหลายๆ รอบให้เข้าใจแล้วลงมือทำ แล้วมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง รู้ไปเรื่อยๆ จิตหมดแรง กลับมาทำสมถะ ทำความสงบเข้ามา พอสงบแล้วซื่อบื้ออยู่เฉยๆ กระตุ้นมันให้มันตั้งมั่นมาทำงาน ไม่ใช่สงบเฉยๆ กระตุ้นมันโดยการสังเกตความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตเอาเรียกว่าจิตตสิกขา เราก็จะได้จิตที่ตั้งมั่น
จิตตั้งมั่นแล้ว แยกรูปนามเห็นกายกับจิตมันคนละอันกัน แยกนามต่อไปอีก แยกรูปต่อไปอีกก็ได้ รูปหายใจออกก็อันหนึ่ง รูปหายใจเข้าก็อันหนึ่ง รูปยืนก็อันหนึ่ง รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอนก็เป็นคนละอันๆ ไป แยก ส่วนนามเราก็แยกได้ เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์มันก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง นี่แยกๆๆ ออกไป
ต่อไปจะเห็นสภาวธรรมทั้งปวงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา ถ้าเข้าใจตรงนี้ด้วยใจจริงๆ คือพระโสดาบัน ฉะนั้นเราจะเข้าใจได้ก็ต้องพาจิตให้มันเห็นของจริงซ้ำๆๆ ลงไป แล้วพอดูๆ แล้วหมดกำลัง กลับมาทำสมาธิ กลับมาทำสมถะใหม่ ชาร์จพลังใหม่ คล้ายๆ แบตหมดแล้ว มาชาร์จแบต ถ้าจิตมีกำลังก็อย่าเฉยๆ อยู่ อย่าสงบโง่ๆ อยู่ ดูกายดูใจมันทำงานต่อไป อันนี้คือทั้งหมดของการปฏิบัติ
วัดสวนสันติธรรม
13 พฤศจิกายน 2565