รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง

ขันธ์ 5 คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อลงมาก็คือ รูปธรรมกับนามธรรม ที่รวมกันขึ้นมาเป็นตัวเรา
ตัวนี้คือตัวทุกข์ แต่พวกเราไม่เคยเห็นว่าตัวนี้เป็นตัวทุกข์
เราเห็นว่าร่างกายนี้ทุกข์บ้าง สุขบ้าง เราไม่ได้เห็นว่าร่างกายคือทุกข์
ทุกข์มาก กับทุกข์น้อย เราไม่เห็น แต่เห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง
เราไม่เห็นว่าจิตใจคือตัวทุกข์ แต่เราเห็นว่าจิตใจนี้ทุกข์บ้าง สุขบ้าง
มันถึงเวียนว่ายตายเกิดไม่เลิก อวิชชายังอยู่ เรียกว่าไม่รู้ทุกข์

เมื่อภาวนาไปถึงจุดหนึ่ง จะเข้าใจ หัวโจก คือตัวจิตผู้รู้ จิตต้นกำเนิดนี้เอง
เราภาวนาจนวางๆๆ ตัวอื่นมา จนเข้ามาที่จิตผู้รู้นี้
มันวางรูป ตอนที่ได้พระอนาคามี นามธรรมอื่นๆ มันก็วาง ไม่สนใจ มันสนใจแต่จะถนอมรักษาตัวจิต จะให้บริสุทธิ์หลุดพ้น
แล้ววันใดที่ปัญญาแก่กล้า เห็นว่าตัวจิตผู้รู้ตัวนี้คือตัวทุกข์ มันจะวางตัวจิตผู้รู้ลง
ตอนที่วางกาย ก็เพราะเห็นว่ากายคือตัวทุกข์
ตอนที่วางจิต ก็เพราะเห็นว่าจิตคือตัวทุกข์
ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะบังคับไม่ได้
พอเห็นความจริงอย่างนี้แล้ว เรียกว่ามีวิชชา
ทำลายอวิชชา คือ ความเห็นผิดว่าจิตนี้เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ที่จริงคือทุกข์
มันจะไปลงประโยคที่พระพุทธเจ้าบอก
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป

พอเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง จิตก็ไม่ยึดถือในตัวจิต ไม่ยึดตัวจิตผู้รู้ ก็ไม่ยึดอะไรในโลกแล้ว
จิตผู้รู้เป็นศูนย์กลางของชีวิตจิตใจ
ชีวิตจิตใจของเราก็เป็นศูนย์กลางของจักรวาล
เวลาเราดูจักรวาล ก็ดูไปจากตัวเรานี้เอง
จุดที่เป็นแกนกลางของชีวิตจริงๆ คือตัวจิตผู้รู้นี้เอง
หมดความยึดถือตัวนี้ ก็คือปล่อยขันธ์ 5 ขันธ์ 5 เป็นผลผลิตของจิต
จิตที่เลิศที่สุด คือจิตผู้รู้
จิตที่มีกิเลสลึกซึ้งที่สุด คือจิตผู้รู้
เป็นจิตที่ดีเลิศที่สุดด้วย เลวเลิศที่สุดด้วย อยู่ในตัวเอง

ก่อนที่เราจะมาถึงตรงนี้ เราต้องภาวนาให้มีจิตผู้รู้ก่อน แล้วค่อยมาเรียนรู้มัน
จิตของเราเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง มันไม่ใช่จิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
วิธีที่จะสร้างให้เกิดจิตผู้รู้ขึ้นมา ก็คือ มีสติรู้ทัน จิตผู้หลง
จิตผู้หลงไปคิด ไปนึก ไปปรุง ไปแต่ง
ทันทีที่จิตหลงไปคิด มีสติรู้ทัน จิตผู้รู้จะเกิดขึ้นเอง จิตผู้หลงจะดับไปเอง
ฝึกบ่อยๆ หลงปุ๊บ รู้ปั๊บไปเรื่อย สุดท้าย สมาธิมันก็จะเด่นดวงขึ้นมา
จิตจะเด่นดวงขึ้นมา มีสมาธิสมบูรณ์
สมาธิสมบูรณ์ ไม่ได้แปลว่าจิตไม่เคลื่อน
สมาธิสมบูรณ์มันเปลี่ยนสภาพจิตจากผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง มาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มาเป็นคนดู
ดูอะไร ดูความเกิดดับของจิต
มันจะเห็นว่าจิตผู้รู้เกิด แล้วก็ดับ
จิตผู้คิดนึกปรุงแต่ง เกิดแล้วก็ดับ
จิตที่ไปเพ่ง คือจิตปรุงแต่ง แต่ปรุงแต่งฝ่ายดี
จิตที่หลงไปนั้น เป็นปรุงแต่งฝ่ายชั่ว เป็นจิตปรุงแต่งเหมือนกัน
จิตผู้รู้ อยู่เหนือจากจิตปรุงแต่งพวกนั้น เป็นผู้รู้ ผู้ดู
เห็นว่าจิตผู้รู้ไม่เที่ยง จิตที่ไหลไปปรุงเเต่ง ก็ไม่เที่ยง
ดูไปเรื่อยๆ สุดท้ายปัญญาจะเกิด จะรู้ว่าจิตทุกอย่าง กระทั่งจิตผู้รู้ก็เอาเป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ เป็นของที่เกิดดับเหมือนๆ กัน
จิตก็จะปล่อยวางจิต

รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง :: หลวงพ่อปราโมทย์ 7 ก.ค. 2562 ไฟล์ 620707B ซีดี 82