เมื่อไรเห็นทุกข์จะวางทุกข์

ดูดีนะ วันนี้แปลก ปกติพวกมาฟังธรรมวันเสาร์ มักจะฟุ้งซ่าน วันนี้ดูไม่ฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านก็คือใจมันหลงความปรุงแต่ง ทีแรกมันหลงอารมณ์ หรือสัมผัสอารมณ์แล้วใจมันก็ปรุงต่อ ค่อยๆ ภาวนา เรียนรู้ความปรุงแต่งไป วันหนึ่งพ้นจากความปรุงแต่ง ก็พ้นจากความทุกข์ มีงานศพ จะมีบทอยู่บทหนึ่ง “สังขารทั้งหลายสงบเสียได้เป็นสุข” “สังขาร” ก็คือตัวความปรุงแต่ง “สงบได้” พ้นจากสังขารเป็นวิสังขาร คือนิพพาน ลงท้าย “มีความสุข” เป็นสุข

“สังขารทั้งหลายสงบเสียได้เป็นสุข” ไม่ได้พูดกันเล่นๆ หรอก สังขารคือความปรุงแต่ง คือร่างกาย จิตใจคือขันธ์ 5 นี้ เป็นสังขารทั้งหมด บางทีก็แยกออกไปหลายมุม แยกเป็นขันธ์ 5 อายตนะ 6 อินทรีย์ 22 ที่จริงมันก็คือรูปกับนาม ตัวรูปตัวนามนี้ แยกแยะออกไปในมุมนั้นมุมนี้ แยกได้หลายแบบ ตัวรูปนาม ตัวความปรุงแต่ง เป็นของปรุงแต่ง วิธีที่เราจะพ้นจากความปรุงแต่ง ไม่ใช่พาจิตหนีจากความปรุงแต่ง เพราะตัวจิตที่พวกเรามี มันก็คือความปรุงแต่ง คือวิญญาณขันธ์ เป็นส่วนของความปรุงแต่งเหมือนกัน

 

“วันใดเห็นความจริงแล้ว ว่าความปรุงแต่งทั้งหลายคือตัวทุกข์ จิตก็หายโง่
จิตก็หมดความยึดถือในความปรุงแต่ง มันเห็นทุกข์แล้ว เห็นทุกข์ก็วาง”

 

ทำอย่างไรความปรุงแต่งจะสงบได้จริงๆ ก็เรียนรู้ความปรุงแต่งไป วันใดเห็นความจริงแล้ว ว่าความปรุงแต่งทั้งหลายคือตัวทุกข์ จิตมันก็หายโง่ มันก็หมดความยึดถือในความปรุงแต่ง มันเห็นทุกข์แล้ว เห็นทุกข์ก็วาง พอวางมันก็พ้นทุกข์ กระบวนการที่จิตมันจะดำเนินไปก็เป็นแบบนี้ เรียนรู้ความปรุงแต่งไป รู้แจ้งเห็นจริงว่าความปรุงแต่งทั้งหลายก็คือตัวทุกข์ จิตมันก็วางของมันเอง ที่เราวางความปรุงแต่ง รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายไม่ได้ เพราะเราไม่เห็นทุกข์ ก็คิดว่ามันดี

 

เห็นทุกข์เห็นโทษ จึงจะละได้

เมื่อก่อนหลวงพ่อ เมื่อปี 2525 ปลายๆ ปี ขึ้นไปกราบหลวงปู่เทสก์ครั้งแรกที่หินหมากเป้ง ไปกับน้องคนหนึ่ง ภาวนาเริ่มต้นมาด้วยกันเลย เขาก็ภาวนาเก่ง ภาวนาดี ไล่หลังหลวงพ่อมาติดๆ สุดท้ายชวนให้บวช ไม่บวช ยังไม่อยากบวช รู้สึกเป็นฆราวาสก็ภาวนาของเราของเขาต่อไปได้ หลวงพ่อไม่เอา อยู่กับโลกไม่เห็นมีอะไรเลย หลอกๆ กันไปวันๆ หนึ่ง พอเข้าไปกราบหลวงปู่เทสก์ด้วยกัน 2 คน กับพวกป้าๆ ทั้งหลายหลายคน ตอนนั้นไม่รู้จักหรอก เขาไปถามหลวงปู่เทสก์ว่า “หลวงปู่ครับ ผมอยากละกาม” อยากละกามแต่จิตยังอาลัยอาวรณ์อยู่ หลวงปู่อุทาน “อาลัยอาวรณ์มันก็ละไม่ได้สิ” แล้วท่านก็ขยายความให้ “ต้องเห็นโทษของกามถึงจะละกามได้”

เขามาเล่าให้หลวงปู่ดูลย์ฟัง หลวงพ่อก็นั่งอยู่ด้วย บอกหลวงปู่เทสก์บอกว่าต้องเห็นโทษ หลวงปู่ดูลย์ก็บอก “ถูกแล้ว แต่ที่จริงก็คือเห็นทุกข์นั่นล่ะ” ครูบาอาจารย์บางทีเรียกเห็นทุกข์เห็นโทษ หลวงปู่ดูลย์ท่านฟันเลยว่าต้องเห็นทุกข์ อย่างเราจะละกามได้ เราก็ต้องเห็นทุกข์ การที่กาม ความติดอกติดใจ ความเพลิดเพลินพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ที่เรายังติดอกติดใจอยู่ เพราะเราไม่เห็นทุกข์เห็นโทษของมัน ถ้าเราเห็นทุกข์เห็นโทษของมัน มันถึงจะละกามได้ ถ้าละกามได้ ได้อนาคามี เป็นพระอนาคามี

อย่างเป็นฆราวาส โอกาสที่จะเห็นโทษของกามแทบไม่มีเลย เพราะเวลาเกิดความต้องการดูรูป ต้องการฟังเสียง ต้องการดมกลิ่น ต้องการลิ้มรส ต้องการสัมผัสทางร่างกาย มันตอบสนอง ตอบสนอง อยากดูหนังก็ไปดูหนัง อยากฟังเพลงก็ไปฟังเพลง อยากเสพเมถุนกามก็เสพเมถุน ไม่เคยเห็นโทษ เมื่อไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นโทษ มันละไม่ได้ เพราะฉะนั้นพระบวชเข้ามา ท่านถึงบอกให้ถือพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์คือไม่ตอบสนอง พระจะมาเลือกอาหารอร่อยๆ อะไรอย่างนี้ ไม่ได้ บิณฑบาตมาได้อย่างไรก็ฉันอย่างนั้น อยากได้เสื้อผ้า จีวรสวยๆ เลือกไม่ได้ มีอย่างไรก็ต้องใช้อย่างนั้น ที่อยู่อาศัยพอบังแดดบังฝนได้ก็ดีแล้ว อยากอยู่ตึก ไม่มีโอกาสเลือก

เป็นฆราวาสมันมีโอกาส อยากเสพกามก็ไม่ได้ ห้าม ขืนไปเสพกามเข้า จับสึกเลย ที่จริงไม่ต้องสึก พวกเราเข้าใจผิดเยอะเลย พระปาราชิกไม่ต้องสึก ขาดจากความเป็นพระตั้งแต่ในขณะนั้นแล้ว เพียงแต่ให้สารภาพว่า ตอนนี้เป็นคฤหัสถ์แล้ว อันนั้นแค่สารภาพ แต่ว่าไม่ได้ทำให้ขาดจากความเป็นพระ ขาดจากความเป็นพระตั้งแต่อาบัติแล้ว ฉะนั้นเวลาพระ แค่อยากกินอาหารบางอย่างที่คุ้นเคย มันก็ทุกข์แล้ว มันไม่มี เคยเล่าให้พวกเราฟัง เมื่อก่อนหลวงพ่อไปเจอพระองค์หนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่าไปเจอที่หินหมากเป้ง หรือถ้ำผาปล่อง จำท่านไม่ได้แล้ว ท่านเป็นลูกคนรวย เป็นเศรษฐี อยู่ทางเชียงใหม่ มีศรัทธาก็มาบวช แล้วท่านชอบข้าวเหนียวถั่วดำ ชอบ มาบวชทีแรกก็ไม่รู้สึกอะไร พอหลายวันเข้าอยากฉันข้าวเหนียวถั่วดำ ไปบิณฑบาตไม่เคยได้เลย

แล้ววันหนึ่งไปเข้าแถว พระกรรมฐานบิณฑบาตเดินแถวไป เห็นมีโยมใส่ข้าวเหนียวถั่วดำ มีหลายถุง พอมาถึงท่านหมดแล้ว ไม่ได้ ก็เสียใจ วันหนึ่งท่านได้ ได้รับข้าวเหนียวถั่วดำมา นี้ธรรมเนียมของพระกรรมฐาน บิณฑบาตได้อาหารมา มาเทรวมกัน อย่างที่ทำที่วัดนี้ ถึงเราไปบิณฑบาตได้ของวิเศษมา ก็มานั่งเข้าแถวอย่างนี้ พระหัวแถวเขาก็หยิบก่อน ปรากฎว่าถุงสุดท้าย มาหมดใกล้ๆ ท่านนี้เอง ไม่ได้ฉันอยู่ดี บิณฑบาตมาได้ก็ยังไม่ได้ฉัน ท่านบอกวันนั้นเข้ากุฏิร้องไห้เลย สงสารตัวเองว่าทำไมเราต้องลำบากขนาดนี้ ข้าวเหนียวถั่วดำ สมัยนั้นบาทเดียว ลูกเศรษฐีแต่บาทเดียวนี้ยังหากินไม่ได้เลย หาฉันไม่ได้เลย ร้องไห้ เสร็จแล้วท่านก็ตั้งอกตั้งใจสู้ ภาวนา เล่าให้พวกเราฟังว่า จริงๆ การสู้กับกามไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย

อย่างฆราวาสตอบสนองกามไปเรื่อยๆ มันไม่เห็นทุกข์เห็นโทษหรอก มันรู้สึกดี อยากกินได้กิน อยากนอนได้นอน อยากเสพได้เสพ รู้สึกสบาย รู้สึกดี ก็เลยเรียกกันเสียเพราะเลยว่า “กามคุณ” พอมาบวชไม่เคยเห็นเลยกามคุณ เห็นแต่กามโทษ อยากกินไม่ได้กิน อยากนอนไม่ได้นอน อยากอะไรก็ไม่ค่อยจะได้เลย ลำบาก อยากมีจีวรสวยๆ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นที่พระพุทธเจ้า กำหนดกฎเกณฑ์ให้พระต้องปฏิบัติอย่างนี้ เพื่อให้เห็นทุกข์เห็นโทษ การประพฤติพรหมจรรย์ ก็เลยช่วยให้ละกามได้ง่าย เพราะเห็นโทษของกาม

อันนี้สอนเผื่อๆ พวกเราในวันหนึ่งข้างหน้า เราภาวนาไปได้โสดาบัน ได้สกทาคามีแล้ว ทำอย่างไรจะสูงกว่านั้น สูงกว่านั้นต้องเห็นทุกข์เห็นโทษของกาม การเห็นทุกข์เห็นโทษของกาม ก็ดูเวลาจิตมันเกิดความต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส มันจะเห็นว่าจิตมันทุกข์ นี้เห็นมุมหนึ่ง สำหรับคนที่ดูจิต เราจะพ้นกามด้วยวิธี จิตเห็นว่าจิตอยาก จิตยึด จิตทุกข์ จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ เห็นอย่างนี้ แต่ถ้าคนภาวนาทางกายมา ดูลงในกาย เห็นกายไม่ใช่ของดีของวิเศษ กายนี้มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เป็นแค่วัตถุธาตุ ไม่ใช่คน สัตว์ สิ่งของอะไร ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นแค่วัตถุสิ่งของอันหนึ่งเท่านั้นเอง เป็นอย่างนั้น แล้วจิตมันก็จะหมดความยึดถือในร่างกาย

ฉะนั้นเวลาเดิน การปฏิบัติมันมีหลายทาง แต่ทุกทางจะเริ่มมาทางกายหรือทางจิต ก็ไปสู่เป้าหมายอันเดียวกัน คือพ้นจากความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ยกตัวอย่างเรื่องกามให้ดู เพราะว่าสูงกว่านั้นเป็นเรื่องการปฏิบัติทางจิตล้วนๆ แล้ว สูงกว่าขั้นพระอนาคามี มันไปเรื่องของจิตหมดแล้วตอนนั้น จะเดินเบื้องต้นมาจากสายไหน ลงท้ายมันก็มาที่จิตหมด แต่ตอนที่เริ่มต้นไปจนถึงพระอนาคามี มันเดินได้ 2 ทาง สมัยก่อนครูบาอาจารย์ก็สอนกันเรื่องกาย มีแต่คำสอนเรื่องกายเต็มไปหมดเลย ทุกสำนักก็กายทั้งนั้น ดูลงไปเรื่อยๆ จะเห็นกายเป็นทุกข์เป็นโทษ เห็นกายมันเป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวดี

 

ปฏิบัติเพื่อจะเห็นทุกข์

บางสำนักก็ปฏิบัติแบบเข้มงวดดุดัน อย่างสายท่านโกเอนก้า เขาก็ดีไม่ใช่ไม่ดี เขาทำอานาปานสติก่อน พอจิตทรงสมาธิได้ฌานแล้ว มาดูเวทนา เวทนาที่เลือกดูคือเวทนาทางกาย เช่น นั่งนิ่งๆ ทีหนึ่งตลอดรุ่งเลย ทรมานให้หนักๆ แต่อันนี้ไม่ใช่อัตตกิลมถานุโยค อัตตกิลมถามนุโยคนั้น มันทรมานแล้วคิดว่าจะดี ทำด้วยความอยากดี แต่อันนี้ไม่ใช่ อันนี้ต้องการเห็นทุกข์ ต้องการเห็นความจริง ไม่ใช่ต้องการอยากดี ถ้ายอมทนทุกข์ทรมาน นั่งสมาธิมาก เดินจงกรมมาก เพราะอยากจะดี อันนั้นอัตตกิลมถานุโยค ทำตัวเองลำบากโดยไร้ประโยชน์ เพราะไม่มีทิศทางที่ถูกต้อง ไม่มีสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น ไม่มีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง

แต่ถ้าเขาดูเวทนาของกาย เพื่อให้เห็นความจริงของมัน ว่ามันไม่ดีเลย กายนี้มีแต่ทุกข์ มีแต่โทษ เห็นความจริงของมัน ต้องการเห็นความจริง ส่วนเห็นความจริงแล้วจิตจะวางอะไร มันเป็นเรื่องของจิต ฉะนั้นจะแตกต่างกัน ระหว่างนั่งสมาธินานๆ เดินจงกรมทั้งคืน เสร็จแล้วก็ภูมิใจว่ากูเก่ง กูดี กูเหนือคนอื่น อันนั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์ เขาดู เขาเห็นทุกข์เห็นโทษ กายนี้ไม่มีอะไรดีเลย มีแต่ทุกข์ สายวัดป่าท่านก็พุทโธพิจารณากาย บางทีก็อดนอนผ่อนอาหาร อดข้าวกันทีหนึ่งนานๆ หลายๆ วัน แต่อดข้าวมันทรมานอยู่ 3 – 4 วัน หลังจากนั้นมันจะเฉยๆ มันจะไม่หิวแล้ว อยู่ไปเรื่อยๆ บางทีครูบาอาจารย์ต้องเตือนให้ฉันข้าวบ้าง เดี๋ยวตาย

บางองค์ชอบนอนก็ไม่นอน นั่งมันอย่างนั้นล่ะ ทรมาน ถ้าทรมานแล้วคิดว่ากูเก่ง กูดี อันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค ถ้าอดนอนผ่อนอาหาร ก็ดูให้เห็นร่างกายนี้เป็นตัวทุกข์ เป็นตัวโทษ ไม่ได้หวังผลอย่างอื่นหรอก ดูความจริงของมันไปเรื่อย กิเลส ความหลงผิดว่าร่างกายเป็นของดีของวิเศษ มันเรื่องกิเลสหลอกเอาทั้งนั้น ถ้าเรามีสติมีปัญญาซักฟอกลงไป เรียนรู้ลงในร่างกายไปเรื่อยๆ กิเลสมันทนสติปัญญาเราไม่ได้ มันจะเห็นความจริง อย่างพวกเราเวลาทำสมาธิ นั่งไป หรือเดินจงกรม ดูร่างกายมันตัวสุขหรือมันตัวทุกข์ ดูแค่นี้ก็ยังได้ นั่งอยู่อย่างนี้ ร่างกายมันตัวสุขหรือมันตัวทุกข์

สังเกตไปเรื่อย ดูไปด้วยใจที่เป็นกลาง ทำไมต้องเป็นกลาง ต้องดูแบบคนวงนอก ดูแบบไม่มีส่วนได้เสีย ร่างกายที่นั่งอยู่นี้ มันสุขหรือมันทุกข์ ดูไป เวลาเดินก็ดูไป ร่างกายที่เดินมันสุขหรือมันทุกข์ เวลานอน ดูลงไปที่นอนอยู่นี้ ร่างกายมันสุขหรือมันทุกข์ ทำไมมันต้องนอน นอนเพราะร่างกายมันเมื่อย มันเหนื่อย มันง่วง ถ้านอนเพราะขี้เกียจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อันนั้นเพราะกิเลส แต่ถ้าร่างกายมันอิดโรย มันต้องการนอน เรานอนเพื่อแก้ทุกข์ ไม่ใช่นอนเพื่อหาความสุข นักปฏิบัติไม่ได้ปฏิบัติเพื่อเอาความสุข แต่ปฏิบัติเพื่อจะเห็นทุกข์ แต่ท่านก็ไม่ได้ให้ทุกข์เกินไป ทุกข์เกินไป จิตใจก็ระส่ำระสาย ท่านก็ให้ทุกข์พอดีๆ

บางทีทุกข์ทางกายเกิดขึ้นเยอะๆ ท่านก็ให้บำบัดเหมือนกัน หิวข้าวเยอะๆ ท่านก็ให้ฉันข้าว ให้กินข้าว ร้อนมากก็ไปอาบน้ำได้ อยู่ในที่ร่ม ท่านก็ไม่ได้เข้มงวด ให้ทรมานให้มันตายๆ ไปเลย บางลัทธิมีมาก่อนพุทธกาล ทรมานไปเรื่อยๆ แบบตายก็ตาย แล้วคิดว่านี่คือวิธีที่ไม่ยึดถือกาย มันยังยึดถือ แต่ว่ามันไม่รู้วิธีที่จะปล่อยวาง ก็คิดว่าทรมานมันมากๆ ทรมานได้ที่แล้ว จะไม่ยึดถือ มันก็ยึดถือล่ะ ถ้าไม่ยึดถือจะไปทรมานมันทำไม เราก็ดูลงไป ร่างกายนี้ที่นั่งอยู่ มันสุขหรือมันทุกข์ นั่งทีแรกสุขใช่ไหม นั่งไปเรื่อยๆ ใจเย็นๆ เดี๋ยวความจริงมันก็ประกาศออกมาให้เราเห็นเอง

นั่งนานๆ ก็ทุกข์ เดินนานๆ ก็ทุกข์ ยืนนานๆ ก็ทุกข์ นอนนานๆ ก็ทุกข์ นอนก็นอนพลิกซ้ายพลิกขวาไป เวลาหิวก็ทุกข์ เวลากระหายน้ำก็ทุกข์ ปวดอึก็ทุกข์ ปวดฉี่ก็ทุกข์ ดูลงไปเรื่อยๆ เวลาเจ็บไข้ก็ทุกข์ ร่างกายไม่ได้ทุกข์เฉพาะตอนเจ็บป่วย มันทุกข์อยู่สม่ำเสมอ ทุกข์อยู่ทั้งวัน นี้เราไม่เคยเห็น เพราะเวลาความทุกข์ทางร่างกายเกิด เรารีบบำบัดทันทีเลย นั่งนานแล้วเมื่อย เราก็ลุกขึ้นเดินอะไรอย่างนี้ ลุกขึ้นยืน เดินช็อปปิ้งนาน เมื่อยขาก็หาที่นั่ง ฉะนั้นเวลาความทุกข์เกิดขึ้น เรารีบบำบัดโดยไม่ทันจะเห็นทุกข์ ถ้าสูงขึ้นมาระดับว่ามีกามเกิดขึ้น แล้วก็รีบบำบัด ไม่เห็นทุกข์ของกาม ไม่เห็นโทษของกาม

 

อ่านกายอ่านใจของตัวเองไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นเวลาภาวนา เวลามันทุกข์ขึ้นมา แล้วจิตมันอยากเปลี่ยนอารมณ์ ให้รู้เสียก่อน อย่างเราดูหนังเรื่องนี้ หรือฟังเพลงๆ นี้ ฟังไปๆ ทีแรกชอบ ต่อมาเบื่อ อยากไปฟังเพลงอื่นแล้ว ก่อนจะไปฟังเพลงอื่น ให้รู้ทันเสียหน่อยหนึ่ง ว่าเบื่อตัวนี้แล้ว อยากได้อีกตัวหนึ่งแล้ว รู้เสียหน่อยหนึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่รู้เลย นั่งอยู่เมื่อย จะลุกขึ้น ขยับตัวอะไร ก็มองลงไปให้เห็นก่อนว่ามันทุกข์ แล้วค่อยขยับ แต่ไม่ต้องบรรยาย บางที่ก็สอนมากไปหน่อย ฟุ้งซ่าน นั่งอยู่พอมันทุกข์ พอรู้ว่ามันทุกข์ แทนที่จะรู้เฉยๆ ว่ากายกับทุกข์ทางกาย กายกับเวทนาทางกาย มันคนละอัน จิตเป็นคนรู้คนดู

แทนที่จะแยกธาตุแยกขันธ์ พอร่างกายมันทุกข์ก็คิดต่อเลย ร่างกายเป็นทุกข์หนอ ร่างกายเป็นทุกข์ อยากขยับ ต้องบรรยายเป็นช็อตๆๆ อยากขยับ ขยับแล้ว โอ๊ย ขณะนั้นฟุ้งซ่านทั้งนั้น จิตหลงอยู่ในโลกของความคิดแล้ว ไม่ได้เห็นสภาวะจริงแล้ว เอาความคิดเข้าไปเจือปนแล้ว เพราะฉะนั้นเรานั่งอยู่ มันเมื่อยรู้ว่าเมื่อย เมื่อยมันอยู่ที่ไหน อยู่ที่กาย ใจอยากขยับแล้ว ความอยากขยับของกายนี้ เป็นความปรุงแต่งทางจิตใจ ให้รู้ทัน แล้วจะขยับหรือไม่ขยับ ก็ดู มีเหตุผลก็ขยับ ไม่มีก็ไม่ขยับ สมควรขยับก็ขยับ สมควรจะไม่ขยับก็ไม่ขยับ

อยากกิน อยากกินก็ไม่ใช่รีบคว้าใส่ปาก อยากกินก็ดูลงไปหน่อยหนึ่ง ใครมันอยาก ใจมันอยาก ดูลงไป ให้รู้ทัน ใจมันอยาก ดูมันไปก่อน หายอยากแล้วค่อยกินก็ได้ ไม่มีใครมาแย่งหรอก เข้าแถวตักอาหาร ใจมันอยาก รู้ว่าอยาก เห็นถาดนี้ของชอบของเรา คนอยู่ข้างหน้าเรา มันจะตักไม่ตัก เห็นใจที่กระสับกระส่าย พอตักมาได้แล้วกิน กินคำแรกรู้สึกอย่างไร กินคำที่สองรู้สึกอย่างไร กินหลายๆ คำแล้วรู้สึกอย่างไร ความรู้สึกมันเปลี่ยนตลอดเวลา เราสามารถรวมการปฏิบัติเข้ากับชีวิตจริงๆ ได้ แค่จะขยับร่างกาย หรือจะกินข้าว เราก็อ่านกายอ่านใจของตัวเองไปเรื่อยๆ

หลวงพ่อปฏิบัติมาแบบนี้ ไม่มีฟลุก ไม่มีบังเอิญ ทุกอย่างอยู่ในใต้คำว่ากฎแห่งกรรมทั้งสิ้น ฉะนั้นเราเวลาร่างกายเคลื่อนไหว ต้องรู้สึกไว้ รู้สึก เวทนาเกิดขึ้นในกาย รู้สึก พอเวทนาเกิดขึ้นในกาย ความฟุ้งซ่าน ความปรุงแต่งคือสังขาร เกิดขึ้นในใจ รู้สึก พอสังขารเกิดขึ้นแล้ว จิตใจตกอยู่ใต้อำนาจสังขารหรือเปล่า รู้สึก รู้ไป ค่อยๆ สังเกตเอา ไม่ได้ยากเกินไปหรอก เบื้องต้นรู้สึกตัวไว้ นั่งอยู่ก็รู้สึก ร่างกายมันนั่ง ถ้าละเอียดขึ้น หายใจอยู่ รู้สึก ร่างกายมันหายใจ เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง รู้สึก เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว ร่างกายมันหยุดนิ่ง เห็นความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย รู้สึก

ความสุขความทุกข์ที่เกิดในร่างกาย ไม่ใช่ร่างกาย เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย มาแล้วก็ไปๆ พอเกิดความสุขความทุกข์ในร่างกาย ก็เกิดความปรุงแต่งของใจ เกิดสังขาร ชอบอันนี้ เกลียดอันนี้ อยากได้อันนี้ อยากพ้นจากอันนี้ พวกนี้ตระกูลอยู่ในขันธ์ สังขารขันธ์ทั้งหมด เรียนรู้ลงไป ดูไปอีกสังขารขันธ์ก็ถูกรู้ถูกดู สังขารขันธ์อย่างความโกรธ ไม่ใช่จิตอีกแล้ว จิตเป็นคนไปรู้ไปดู จิตเป็นอีกขันธ์หนึ่ง เป็นวิญญาณขันธ์ เริ่มดูไปตั้งแต่กายก็ได้ แต่หลวงพ่อไม่ได้เริ่มจากกาย หลวงปู่ดูลย์ตัดเส้นทางปฏิบัติของหลวงพ่อเข้าที่จิตเลย

ถ้าเข้าที่กาย เราก็ดู กายก็อันหนึ่ง เวทนาทางกายก็อันหนึ่ง พอเวทนาทางกายเกิด มันหมายรู้ว่า โอ๊ย ร่างกายเรา ร่างกายนี้มันตัวเราของเรา มันหมายรู้ผิด มันก็เกิดความรักใคร่หวงแหน นี่เป็นสังขารแล้ว นั่งนานมันทุกข์ เดี๋ยวเป็นอัมพาตไป สังขารมันเริ่มปรุงแล้ว เริ่มสอนแล้ว เปลี่ยนอิริยาบถเสียเถอะ ถ้าภาวนาก็จะเห็น เออ ร่างกายก็อันหนึ่ง ความปวดเมื่อย หรือความสุขในร่างกายก็อันหนึ่ง การที่จิตไปหมายรู้ว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราของเรา เป็นการหมายรู้ผิด เป็นสัญญาที่ผิด พออันนี้มันคือตัวเรา ก็ตัวเรากำลังเจ็บ จิตใจก็ทุรนทุราย ความทุรนทุรายเป็นสังขารขันธ์ มองลงไปอีก ความทุรนทุรายก็เป็นของถูกรู้ ไม่ใช่จิต

เรากระจายขันธ์ 5 ออกมาได้หมดเลย พอเข้ามาถึงจิตเราก็จะเห็น ทุกสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ดูอย่างนี้ก็ได้ ลีลาอาการที่เจริญปัญญา แต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก อันนี้หลวงพ่อพูดแบบเต็ม เต็มสูตรเลย กระจายขันธ์ 5 เต็มๆ เลย แต่ตอนที่หลวงพ่อภาวนา ไม่ได้ทำอย่างนั้น หลวงปู่ดูลย์สอนให้ตัดเข้ามาที่จิตเลย หลวงพ่อก็เลยไม่ได้ไปดูเวทนาทางกาย มันพาสก้าวกระโดด มาเห็นเวทนาทางใจเลย ก็เห็นจิตเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็เฉยๆ พอจิตสุข มันรู้สึกว่าจิตนี้เป็นตัวเรา ก็เป็นเราสุขขึ้นมา มันก็อยากให้ความสุขอยู่นานๆ พอความสุขหายไปก็เสียดาย อยากให้ความสุขกลับมา ตรงนี้เป็นอาการปรุงของสังขารขันธ์

พอภาวนาไปเรื่อยๆ มันก็จะเห็น เวทนาก็ไม่ใช่จิต สัญญาที่ไปหมายรู้ มันก็หมายรู้เอามั่วๆ เอาเอง มันก็ไม่ใช่จิตหรอก ตัวสังขาร ตัวชอบ ตัวไม่ชอบ ตัวดี ตัวชั่วทั้งหลาย ก็เป็นของถูกรู้ไม่ใช่จิตหรอก ในที่สุดมันก็พาสเข้ามา ตัดเข้ามาถึงตัวจิตเลย ใช้เวลานิดเดียว ทำไมทำตรงนี้ได้ สมาธิหลวงพ่อดี เพราะสมาธิเรามีกำลังพอ สมาธิ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา พอสัมมาสมาธิดี จิตมันตั้งมั่นเด่นดวงอยู่เป็นปกติ ตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ ไม่ได้หลงเอ๋อๆ ไปทั้งวัน ไม่เป็นหรอก เผลอก็เผลอแวบหนึ่ง เดี๋ยวก็รู้สึกแล้ว เพราะฉะนั้นจิตมันมีกำลัง หลวงพ่อก็ดูความเปลี่ยนแปลงของจิตไปเลย แล้วก็จะเห็นความสุขทุกข์ การหมายรู้ต่างๆ หมายรู้ผิดๆ อะไรอย่างนี้ พอเราดูความจริงเข้าไปเรื่อยๆ ต่อไปมันก็หมายรู้ถูก

 

รู้ทุกข์เมื่อไร ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น

อย่างทีแรกเรารู้สึกว่า เวลามีความสุขทางใจเกิดขึ้น เรารู้สึกว่าเราสุข พอภาวนาดีๆ เราเห็น เอ๊ะ ความสุขกับจิตมันคนละอันกัน มันไม่ใช่เราสุขแล้ว จิตมันเป็นแค่คนรู้ ไม่เห็นมันสุขตรงไหนเลย ความสุขอันนั้นเป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่จิตหรอก ปัญญามันค่อยรู้ทัน พอรู้ทันอย่างนี้มันก็เห็น สุขกับทุกข์เสมอกัน ดีกับชั่วเสมอกัน นี่สายดูจิต สายดูกายบอกไปแล้ว สายดูจิต ตรงที่จะผ่านพระอนาคามี มันเห็นจิตอยาก จิตยึด จิตทุกข์ จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ พอภาวนาไปเรื่อย ดูอยู่ที่จิต สายกายก็เหมือนกัน ตอนสุดท้ายมันก็เข้ามาที่จิตนี่ล่ะ ก็จะเห็นจิตมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา เป็นอนัตตา

อันนี้เห็นตั้งแต่ขั้นต้นแล้ว แต่ตอนที่จะแตกหัก มันเห็นจิตคือตัวทุกข์ แต่ว่าทุกข์ในมุมไหน บางท่านเห็นว่ามันทุกข์เพราะมันไม่เที่ยง มันมีแล้วมันก็ไม่มี บางท่านเห็นว่ามันทุกข์ เพราะมันถูกบีบคั้น คนที่จะเห็นทุกข์ว่าเป็นความบีบคั้นตัวนี้ ส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้ทรงฌาน ผู้ทรงฌานนั้นจิตมันจะมีความสุข มันสุขอยู่ได้เป็นปี สุขอยู่ได้นานๆ แล้วถ้าเจริญวิปัสสนาเรื่อย ดูความจริงของมันเรื่อยๆ แยกสุขกับจิตออกไป แยกความยินดีพอใจกับจิตออกไปเรื่อย ค่อยดู คอยดูไป ก็จะเห็นตัวจิตเอง ไม่มีอะไรที่ว่ามันเป็นตัวสุขเลย ตัวจิตนั่นล่ะตัวทุกข์

คนที่เห็นตรงนี้ ก็ผ่านการเห็นขันธ์ 5 ตัวอื่นๆ มาแล้ว เคยเห็นกายเป็นทุกข์มาแล้ว เคยเห็นเวทนาเป็นทุกข์มาแล้ว เห็นสัญญาเป็นทุกข์มาแล้ว เห็นสังขารเป็นทุกข์มาแล้ว ตอนนี้เห็นจิตเป็นทุกข์ แล้วพบว่าทุกข์ที่เคยผ่านมานี่ เล็กน้อยมากเลย ตรงที่จะเห็นว่าตัวจิตเป็นทุกข์ มันทุกข์จนไม่มีอะไรเหมือนเลย อย่างทางร่างกายบอกทุกข์มากๆ สมัยโบราณ ทุกข์ที่สุดเลยของร่างกาย คือทุกข์ตอนออกลูก เดี๋ยวนี้ไม่ทุกข์ บางทีหลับไปตื่นขึ้นมา ลูกออกไปแล้ว ถ้าสมัยโบราณ ความทุกข์ที่สุดทางกาย คือทุกข์จากการมีลูก ออกลูก

แต่พอเราภาวนาจิตสงบ สบาย มันมีสุข แล้ววันหนึ่งสติปัญญาแก่รอบ มันเห็นเลย ตัวจิตนั้นล่ะคือตัวทุกข์ มันบอกไม่ถูก มันทุกข์ขนาดไหน ทุกข์เหมือนภูเขาลูกใหญ่ๆ บดขยี้ลงมา ไม่ได้ทับแต่บด มันทุกข์ขนาดนั้น เหมือนจิตจะระเบิดเลย จะรู้ไม่มีอะไร พอจิตมันเห็นทุกข์เห็นโทษ มันก็วาง มันเห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีหรอก เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา มีแค่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่ของดีหรอก จิตมันวาง จิตมันวางเพราะมันเห็นทุกข์เห็นโทษ วางกายเพราะเห็นทุกข์เห็นโทษของกาย หรือดูกาม เห็นทุกข์เห็นโทษของกามก็วางกาม มีกามขึ้นมาได้ก็เพราะยึดกาย มีกามก็เพราะยึดกาย ถ้าไม่ยึดกาย กามราคะอันนี้ก็ไม่เกิด

ค่อยภาวนา ทำไปเรื่อยๆ เห็น เมื่อไรเห็นทุกข์มันก็จะวางทุกข์ ถ้าเห็นว่ากามนำความทุกข์มาให้ มันก็วางกาม เห็นกายคือตัวทุกข์ มันก็วางกาย วางกามมันก็วางกายนั่นล่ะ แล้วสุดท้ายมันก็เข้ามาที่จิต วางจิตได้มันก็ที่สุดของการปฏิบัติ มันก็อยู่ตรงนั้นล่ะ แต่วางจิตได้ก็คือเห็นจิตนั้นคือตัวทุกข์ ฉะนั้นไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นธรรมหรอก ฉะนั้นที่น้องหลวงพ่อไปถาม เป็นคล้ายๆ น้องร่วมสาบาน แบบกวนอู เตียวหุยอะไรอย่างนี้ สาบานเป็นพี่น้องกันในทางธรรมะ เป็นกัลยาณมิตร ออกแสวงหาธรรมะ ออกแสวงหาครูบาอาจารย์ด้วยกัน ตอนที่เขาไปถามหลวงปู่เทสก์ว่า เขาอยากละกาม แต่ยังอาลัยอาวรณ์อยู่ จะทำอย่างไร ท่านบอก “ละไม่ได้ ถ้าอาลัยอาวรณ์อยู่ ละไม่ได้ ต้องเห็นทุกข์เห็นโทษถึงจะละได้”

การเห็นทุกข์เห็นโทษแล้วปล่อยวางได้ ไม่เฉพาะกามหรอก ไม่ว่าอะไรก็ตามเถอะ ถ้าเราเห็นทุกข์เห็นโทษ ของการที่เราเข้าไปยึดไปถือสิ่งนั้นแล้ว มันวาง มันถึงจะวาง เพราะฉะนั้นถ้าเห็นทุกข์ พอรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่เราเห็นทุกข์แล้ว ไม่เกิดขึ้น อย่างเราเห็นว่ากายเป็นทุกข์อย่างแท้จริง ความอยากให้กายเป็นสุข ไม่เกิดขึ้น ความอยากให้กายไม่ทุกข์ ไม่เกิดขึ้น มันรู้ว่าไร้เดียงสา อยากให้กายมีความสุข มันมีไปได้อย่างไร เพราะมันคือตัวทุกข์ ดูไปเรื่อย อยากให้กายไม่ทุกข์ อันนี้ก็ไร้เดียงสา อยากให้กายสุขก็ไร้เดียงสา อยากให้กายไม่ทุกข์ก็ไร้เดียงสา เพราะจริงๆ มันคือตัวทุกข์

เห็นไหมว่า ถ้าเราเห็นตัวทุกข์ทีเดียว มันตอบโจทย์หมดแล้ว รู้ทุกข์เมื่อไร ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น รู้ทุกข์ของกาย ก็ละสมุทัยที่เกี่ยวเนื่องกับกาย ก็เรื่องของกามกับปฏิฆะนั่นล่ะ เวลาเรารู้สึกรักกาย มันก็คือรักตา หู จมูก รักกาย คิดว่ามันนำความสุขมาให้ เพราะมันได้สัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดี พอสติปัญญาแก่กล้าขึ้น มันมีตา มันก็ไม่ได้เห็นแต่ของดี บางทีก็เห็นของไม่ดี มีหูบางทีก็ได้ยินแต่ของไม่ดี ของดีไม่ค่อยจะได้ยิน มีจมูกบางทีก็ไม่ได้กลิ่นที่ดี ได้กลิ่นแต่ของเหม็น บางคนมีบุญ คนอื่นเขาเหม็น ไม่ได้กลิ่นเลย นี่เป็นเรื่องของบุญ

มีตัวอย่างคุณแม่ เมื่อก่อนปลูกต้นไม้ไว้ต้นหนึ่ง ชื่อต้นจำปาเทศ มีบทกวีบอก “จำปาเทศวิเศษกลิ่น” โห ฟังแล้วเพราะมากเลย แหม กลิ่นมันต้องวิเศษมากเลย ก็เอามาปลูกไว้ข้างกุฏิ พอมันออกดอกกลิ่นเหมือนอะไร เหมือนอึ อ๋อ วิเศษกลิ่นนี้หมายถึง กลิ่นพิเศษที่หมาชอบ ตีความผิด จำปาเทศวิเศษกลิ่น เหม็นไปไกลเลย คนอื่นเหม็น คุณแม่ไม่เคยได้กลิ่นเลย แต่ถ้าหอมๆ แล้วได้กลิ่น อันนี้อยู่ที่วิบาก เห็นไหม มีวิบาก อกุศลวิบากให้ผล ก็ได้กลิ่นไม่ดี ได้เห็นรูปไม่ดี เสียงไม่ดี รสไม่ดี แล้วถ้ามีกุศลวิบากให้ผล ก็เห็นรูปที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ได้รสที่ดี รสที่ดีก็กินอะไรก็อร่อยหมดเลย ใครเป็นบ้าง กินอะไรก็อร่อย กินได้ทุกอย่าง บางคน โอ๊ย นี่ก็กินไม่ได้ นี่ก็กินไม่ได้ ชีวิตลำเค็ญเหลือเกิน อกุศลเยอะ

 

เห็นทุกข์เมื่อไร จิตวางเมื่อนั้น

เพราะฉะนั้นเราเฝ้าเรียนรู้ลงไป เราจะรู้เลยว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นของคู่กัน อายตนะภายใน อายตนะภายนอก ในฝ่ายรูปธรรม ล้วนแต่ตกอยู่ในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ของดีของวิเศษ ถ้ารู้อย่างนี้ถึงจะวาง แต่ถ้าปฏิบัติทางจิตมันก็จะเห็น จิตมีความอยากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส จิตก็จะทุกข์ จิตสิ้นความอยากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส จิตก็ไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าใครพูดธรรมะให้เราฟังบอก เขาเห็นแล้วจิตอยาก จิตยึด จิตทุกข์ จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ ฟังปุ๊บรู้เลยว่าภูมิจิต ภูมิธรรมระดับไหน พวกเราฟังรู้ไหม

จิตอยาก จิตยึด จิตทุกข์ จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ ก็ยังเห็นว่าจิตมี 2 ชนิด จิตที่ทุกข์ กับจิตที่ไม่ทุกข์ อันนี้เรียกว่ายังไม่รู้ทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์ก็คือจิตมีแต่ทุกข์ เพียงแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เหมือนกับกายมีแต่ทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อยเท่านั้นเอง อันนั้นถึงจะเรียกว่ารู้ทุกข์ ถ้ารู้ทุกข์แล้วจะเกิดอะไรขึ้น มันก็วาง มันก็วางของมันเอง เห็นทุกข์เห็นโทษแล้วมันก็วาง ไม่ต้องไปสั่งจิตให้วาง พวกเราก็ชอบพูดพล่อยๆ พูด จะเรียกพล่อยๆ ก็ไม่เชิง บางทีก็พูดด้วยความหวังดี แต่ว่าไม่ค่อยฉลาด

อย่างเจอคนอกหัก ก็ไปบอกเขา ไปปลอบเขา ไปปลอบเขาก็รู้สึกกรุณา อยากให้เขาพ้นทุกข์ ไปปลอบเขา ปล่อยวางเสียเถอะ พูดง่าย แล้วใครมันปล่อยได้ ก็บอกปล่อยวางเสียเถอะ แล้ววางได้ปุ๊บ บรรลุพระอรหันต์เลย วางได้ มันวางไม่ได้เพราะอะไร มันไม่เห็นทุกข์เห็นโทษ อย่างอกหักแล้วใจเศร้าหมอง ทุกข์ทรมาน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ทำไมมันเป็นอยู่นาน เพราะมันคิดถึง อตีตารมณ์อดีต อารมณ์ในอดีต คิดถึงความรัก ความสุข ความอะไรในอดีตที่ผ่านมา แต่ถ้ามันเห็นว่าทุกข์ นี่เรากำลังจมอยู่ในกองทุกข์ จิตมันดีดตัวออกเองเลย เพราะฉะนั้นเห็นทุกข์เมื่อไร จิตวางเมื่อนั้น ไม่ว่าเรื่องอะไร กระทั่งเรื่องอกหัก เห็นอกหักนี้มันทุกข์นี่หว่า จิตมันก็เลิก ไม่ทุกข์แล้ว

จิตเที่ยวหิวในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส คือหิวในกามคุณอารมณ์ เห็นเลยจิตหิวทีไรก็ทุกข์ทุกที มันก็เลิกหิว หิวทำไมให้ทุกข์ ถ้าเห็นความจริงไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่ง มันจะทวนกระแสเข้ามาถึงจิตเอง จิตนั้นล่ะตัวทุกข์ ไม่มีตัวดีตัววิเศษอะไรหรอก แต่เดิมเราคิดว่าจิตมี 2 ทางเลือก ดีกับชั่ว สุขกับทุกข์ จิตมีสุขมีทุกข์ เรามี 2 ทางเลือก เราก็เที่ยวแสวงหาว่า ทำอย่างไรจิตจะมีความสุข วิธีแสวงหาของคนทั่วไป ก็คือหากามคุณอารมณ์ที่น่าเพลิดเพลินพอใจ อย่างนี้มีความสุข

ผู้มีสติปัญญามากขึ้น ก็รู้ว่าการแสวงหาอารมณ์คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสภายนอกนั้น ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่เร่าร้อน กระเพื่อมหวั่นไหว ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น สิ่งอื่นตลอด เขาเลยมาพัฒนามาหาความสุขทางจิตใจ ทำฌานสมาบัติทั้งหลายนั้นมีความสุข จนถึงพระอนาคามี ขึ้นไปอยู่พรหมโลกแล้ว ก็ยังรู้สึกจิตมีความสุข มันก็เลยปล่อยวางไม่ได้ จนวันใดเห็นจิตนั้นล่ะคือตัวทุกข์ เมื่อจิตเป็นตัวทุกข์ตัวเดียว ไม่ว่าจิตจะอยู่ในกามาวจรภูมิอย่างพวกเรา อยู่ในโลกธรรมดาที่บริโภคกาม หรือจิตอยู่ในรูปภูมิ อยู่ในอรูปภูมิ เป็นอรูปพรหม มันยังมีจิตก็ยังมีทุกข์อยู่

เมื่อหมดความยึดถือจิต มันไม่มีที่ไปเกิดอีกแล้ว มันไม่มีที่ให้เกิดอีก เพราะเกิดทีไรก็มีทุกข์ทุกที พระพุทธเจ้าท่านก็สอน “ความเกิด เกิดขึ้นครั้งใด ก็เป็นทุกข์ทุกที” มีทุกข์ร่ำไป ท่านว่าอย่างนี้ ภาษาโบราณ ถ้าเห็นทุกข์มันก็วาง เห็นทุกข์ของกายก็วางกาย เห็นทุกข์ของจิตก็วางจิต นี่คือเส้นทาง สอนเอาไว้ให้ ฟังไว้ เดี๋ยววันหนึ่งพิสูจน์ดู ว่าที่หลวงพ่อพูดนี้จริงหรือไม่จริง ไม่ต้องเชื่อ ถ้าเชื่อคือโง่ ถ้าปฏิเสธก็โง่ยิ่งกว่าอีก นั่นโคตรโง่ คือยังไม่ได้ทดลอง ยังไม่ได้พิสูจน์ แล้วบอกไม่เชื่อ ลองดู

หลวงพ่อไม่ได้บอกให้เชื่อ หลวงพ่อชวนให้พิสูจน์ดูว่าจริงหรือเปล่า พิสูจน์ง่ายๆ ง่ายที่สุดเลย เวลาใจเราเกิดความอยากขึ้น ไม่ว่าอยากดีหรืออยากชั่ว สุขหรือทุกข์ สังเกตตัวนี้เลย ตัดตรงเข้ามาเล่นตัวนี้เลย เวลาใจเราอยาก มีความอยากเกิดขึ้น ในขณะนั้นสุขหรือทุกข์ ดูตรงนี้เลย นี่โตแล้วเรียนลัด วันนี้สอนแบบติวเตอร์หน้ารามฯ แบบเฉลยข้อสอบ ต้องไปทำเอา ไม่ทำไม่รู้เรื่องหรอก ถ้าทำแล้วจะรู้เลย ที่หลวงพ่อบอกนี้ บอกซื่อๆ บอกตรงๆ ไม่ได้ปิดบัง บอกแบบตรงไปตรงมา อยู่ที่เราจะทำหรือเปล่า

ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมะเรียก “เอหิปัสสิโก” พึงกล่าวกับผู้อื่นว่ามาลองดูเถิด ไม่ใช่มาเชื่อ มาลองดู แน่จริงก็ลองดู อยากเป็นนายกฯ สุขหรือทุกข์ อยากเป็นรัฐมนตรี สุขหรือทุกข์ อยากรวยสุขหรือทุกข์ อยากมีเมียสวยๆ สุขหรือทุกข์ อยากเลิกกับเมีย สุขหรือทุกข์ ดูเข้าไปเลย อยากกิน อยากนอน อยากโน้นอยากนี้ ดูไป ทุกครั้งที่ความอยากเกิดขึ้น ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที ไปดูเอา แล้วต่อไปจะรู้เลย มีอยากก็มีทุกข์ หมดอยากก็หมดทุกข์ มันไปเห็นอย่างนี้ แล้วต่อไปค่อยเรียนสเต็ปสุดท้าย มีจิตก็มีทุกข์ ตอบโจทย์อยู่ตัวเดียวเลย สุดท้ายจิตก็ปล่อยวางจิต

เมื่อจิตปล่อยวางจิตแล้ว มันเข้าไปถึงธาตุชนิดหนึ่ง มันเป็นธาตุชนิดหนึ่ง มันไม่ใช่จิตแบบที่เป็นขันธ์ 5 อีกต่อไปแล้ว หลวงปู่ดูลย์บอก “จิตก็ไม่ใช่จิต แต่ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่จิต” หมายถึงธาตุตัวนี้ ธาตุ ธ.ธง ไม่ใช่ทาส ท.ทหาร เป็นธาตุ เป็นธาตุที่บริสุทธิ์ เพราะว่าถูกซักฟอกด้วยปัญญาแก่รอบแล้ว สมเด็จญาณฯ ท่านเรียกวิญญาณธาตุ ตัวนี้ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์ วิญญาณขันธ์ก็คือวิญญาณ คือความรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่พวกเรามี ภาวนาจนเพิกถอน ความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงได้หมด หมดความยึดถือกระทั่งตัวจิต เราก็จะพบวิญญาณธาตุ เป็นธาตุรู้ ธาตุรู้นี้สัมผัส เป็นตัวทรงพระนิพพานไว้ สัมผัสพระนิพพาน

บางองค์ท่านก็เรียกจิต คือจิตตัวนี้ไม่ใช่จิตอย่างที่เรารู้จัก มันเป็นจิตที่พ้นขันธ์ ท่านบอกจิตนั้นล่ะทรงพระนิพพานอยู่ จิตนั้นล่ะทรงธรรม แล้วลึกลงไปอีกก็บอกว่า ธรรมะนั่นล่ะทรงธรรมอยู่ เพราะจิตนั้นล่ะคือตัวธรรม วิญญาณธาตุตัวนี้คือตัวธรรม ทรงธรรมคือพระนิพพานอยู่ วันนี้สอนให้หลายระดับ แต่เริ่มต้นไปดูความอยากเกิด ความทุกข์เกิดจริงหรือเปล่า ไปดูตัวนี้

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
2 กันยายน 2566