สัมมาวายามะ

จะภาวนาเราสังเกตเข้าไปที่จิตใจของเราเองเลย จิตใจเราเป็นกุศลก็รู้ทัน จิตเป็นอกุศลก็รู้ทัน อันนี้เป็นการปฏิบัติแบบลัดสั้น ไม่อ้อมค้อม เพราะจริงๆ การปฏิบัติธรรมคือการฝึกจิต เราไม่ได้ฝึกเดินท่านั้นนั่งท่านี้ ขยับอย่างนั้นอย่างนี้ กรรมฐานเป็นงานของจิต ถ้าสมถกรรมฐานมันก็เป็นการฝึกจิตให้สงบ ให้ตั้งมั่น ให้มีพลัง วิปัสสนากรรมฐานฝึกอบรมให้จิตรู้ความจริง เห็นความจริงจนกระทั่งยอมรับความจริง ก็เป็นเรื่องการฝึกจิตทั้งนั้น จะฝึกจิตให้ตั้งมั่น หรือจะฝึกจิตให้ฉลาด

สิ่งที่เกิดร่วมกับจิตมี 3 กลุ่มใหญ่ๆ เรียกมีขันธ์ 3 ขันธ์ ขันธ์แปลว่ากอง แปลว่ากลุ่ม แปลว่าส่วน สิ่งที่เกิดร่วมกับจิตก็มีความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความจำได้กับความหมายรู้ จำได้กับหมายรู้ไม่เหมือนกัน เช่น เราจำได้อันนี้สีเขียวสีแดง ถนนเส้นนี้ปลายทางอยู่ที่ไหนอะไรอย่างนี้ จำได้ หมายรู้มี 2 อัน หมายรู้ถูกกับหมายรู้ผิด หมายรู้ถูกก็คือเห็นสภาวะทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นมุมที่จิตมันมองเข้าไปเห็นว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เรียกว่ามันหมายรู้ถูก หรือหมายรู้ว่ามันไม่สวยไม่งามจริงๆ

ฉะนั้นหมายรู้ถูกก็มี 4 อัน รู้ของซึ่งเป็นอสุภะว่าเป็นอสุภะ ของไม่เที่ยง รู้ว่าไม่เที่ยง ของเป็นทุกข์ รู้ว่าเป็นทุกข์ ของไม่ใช่ตัวตน รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ถ้าหมายรู้ผิดก็ตรงกันข้าม ปุถุชนทั้งหลายจะหมายรู้ผิด เป็นธรรมชาติเลย อย่างเวลาเรารู้สึกร่างกาย เรารู้สึกนี่ตัวเรา เวลาเกิดความสุข ความทุกข์ เราสุข เราทุกข์ มันไปหมายรู้ผิดๆ เข้า

ความจำได้ อันนี้ธรรมดา หมาแมวมันก็มี หมายรู้ หมาแมวมันก็หมายรู้ผิด พวกเราอาศัยได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า เราก็เลยหมายรู้ถูก หัดมองรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะรูปธรรม ดูให้เห็นมันไม่สวยไม่งามจริงหรอก มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้านามธรรมมันไม่มี ไม่สวยไม่งาม นามธรรมมันก็มีไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หัด ถ้ามองอย่างนี้ได้ จิตมันมองเอง เพราะอาศัยอำนาจสัญญาที่ถูกต้อง มันมองเห็น เวลาระลึกถึงร่างกาย มันขยับๆ รู้สึกนี่ไม่ใช่เรา เป็นรูปธรรม

อีกอันหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิต เรียกว่าสังขาร สังขารคือความปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่ว หรือดีก็ได้ ชั่วก็ได้ ความปรุงบางอย่างเกิดกับจิตที่ดีก็ได้ เกิดกับจิตที่ชั่วก็ได้ บางอย่างเกิดกับจิตที่เฉยๆ เป็นวิบากเฉยๆ 3 สิ่งนี้หรือ 3 ขันธ์อันนี้ เรียกเจตสิก คือเป็นสิ่งซึ่งเกิดร่วมกับจิต ความรู้สึกสุข ทุกข์เฉยๆ เรียกเวทนา ความจำได้ ความหมายรู้ เรียกว่าสัญญา ความปรุงดี ปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่ว เรียกว่าสังขาร จิตเป็นตัวรับรู้ ถ้าเราเจริญสัมมาวายามะ เราก็ตัดตรงเข้ามาที่สังขาร จิตมีราคะ รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ ก็รู้ว่าไม่มีราคะ จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะ รู้ว่าไม่มีโทสะ จิตหลง รู้ว่าหลง จิตรู้ รู้ว่ารู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้

 

รู้กิเลสด้วยจิตที่เป็นกลาง ไม่คล้อยตาม ไม่ต่อต้าน

ขอแนะนำพวกเราคนเมือง จิตใจของเราเปลี่ยนรวดเร็ว ดูจิตใจของตัวเอง จิตใจนี้เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็ไม่โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็ไม่หลง เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็หดหู่ หัดดูมันไปเรื่อยๆ คนไหนขี้โมโหก็เอาตัวโทสะเป็นตัวหลัก โทสะเกิดบ่อย เราเริ่มต้น เราก็เรียนจากตัวที่เกิดบ่อย อย่างหลวงพ่อเป็นพวกขี้โมโห ขี้โมโหมันโกรธบ่อย แค่อยู่ในห้องกับแสงสว่างพอดีๆ เปิดประตูห้องออกไป แสงแดดกระทบตานิดเดียวก็หงุดหงิดแล้ว ขี้โมโหเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้เฉยๆ แล้ว

พอเราเป็นคนขี้โมโห เราก็ดู เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ ดูอยู่แค่นี้ เบื้องต้นก็ดูตัวที่เกิดบ่อยที่สุด ของหลวงพ่อก็โกรธ ของพวกเราบางคนอาจจะโลภ เห็นอะไรก็อยากได้หมดเลย อยากโน้นอยากนี้ทั้งวัน เราก็ดูจิตที่มันโลภ ดูของที่เกิดบ่อยๆ เราจะได้เห็นบ่อยๆ ไม่ต้องไปดูของที่นานๆ จะเกิดทีหนึ่ง มันก็ไม่มีให้ดู อย่างซูสีไทเฮาโกรธเป็นแต่ไม่อาฆาต ซูสีไทเฮามีข้อดีโกรธแต่ไม่อาฆาต ถ้าหัดกรรมฐานกับหลวงพ่อ หลวงพ่อจะให้ดูโกรธ แต่ทำไมแกโกรธแล้วไม่อาฆาต เพราะคนที่แกโกรธตายหมดเลย แกเลยไม่ต้องอาฆาต มันตายแล้ว ของเรามีกิเลสตัวไหนเด่น ก็รู้ตัวนั้นก่อน พอรู้ได้ตัวหนึ่ง ต่อไปก็จะรู้ตัวอื่นๆ ได้

อย่างหลวงพ่อพอเห็นความโกรธ ต่อไปก็เห็นความโลภ ละเอียดขึ้นไปก็เห็นความหลง แล้วทันทีที่เราเห็นกิเลส เห็นด้วยใจที่ปกติ ใจที่ตั้งมั่น ไม่ต้องหาทางละมัน รู้มัน ไม่ใช่ละมัน ความโกรธเกิดขึ้นอยากหายโกรธ ยิ่งโกรธหนักเข้าไปอีก โกรธตัวเองว่าทำไมขี้โมโห ให้รู้เฉยๆ ไม่ต้องพยายามละมันหรอก รู้อย่างที่เป็น จิตมันโกรธก็รู้ว่าโกรธ จิตมันโลภ รู้ว่าโลภ จิตมันหลง รู้ว่าหลง ไม่ว่ามัน จิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน ไม่ต้องแก้มัน กล้าๆ หน่อย

ถ้าเรารู้สภาวะ รู้กิเลสด้วยจิตที่เป็นกลาง ไม่คล้อยตามแล้วก็ไม่ต่อต้านมัน มันดับทันทีกิเลส อย่างถ้าราคะเกิดแล้วเราคล้อยตามมัน อย่างใจมันคิดเรื่องผู้หญิงขึ้นมา เป็นพระ อย่างใจมันคิดเรื่องผู้หญิง เราคล้อยตาม เราคิดต่อเลย คิดขยายเรื่องราวออกไปมากมาย อย่างนี้เรียกว่าเราตามใจ คล้อยตามมัน ต่อต้านมัน ราคะเกิด โอ๊ย หาทางดับมัน ยิ่งหาทางดับมันยิ่งเคร่งเครียด เพราะฉะนั้นเวลากิเลสเกิด ถือหลักไว้เลย ไม่คล้อยตาม แล้วก็ไม่ต่อต้าน เหมือนเรือที่ทอดสมออยู่ในแม่น้ำ เรือทอดสมออยู่เฉยๆ อยู่ในทะเลก็ได้ น้ำก็ไหลตลอดวันตลอดคืนล่ะ เรือไม่ได้ไหลตามน้ำ แต่เรือก็ไม่ได้ขวางน้ำ ถ้าเรือขวางน้ำ เรือก็ล่ม เรือไหลตามน้ำ เรือก็หายไป

จิตนี้ก็เหมือนกัน เวลากิเลสเกิดขึ้น ไม่คล้อยตาม ไม่ต่อต้าน รู้มันอย่างที่มันมี อย่างที่มันเป็น รู้ด้วยจิตใจที่ธรรมดา รู้ด้วยจิตใจที่เป็นกลาง กิเลสจะดับโดยอัตโนมัติ เพราะเรามีทั้งสติที่ดี มีทั้งสมาธิที่ถูกต้อง ที่จริงถ้ามีสติถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องจะเกิดอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นเราพยายามสังเกตที่ใจของเราไว้ มันโกรธขึ้นมาก็รู้ มันหายโกรธก็รู้ มันโลภก็รู้ มันหายโลภก็รู้ มันหลงก็รู้ มันรู้เนื้อรู้ตัวก็รู้ หัดรู้เรื่อยๆ มันฟุ้งซ่านก็รู้ มันสงบก็รู้ ฟุ้งซ่านเป็นอกุศลแต่สงบไม่แน่ อกุศลบางอย่างมันก็เงียบๆ ฉะนั้นตัวสมาธิบางทีมันก็เกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศล บางทีก็เกิดร่วมกับจิตที่เป็นอกุศล สมาธิเลยเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้หรอก ตัวที่สู้กิเลสได้ก็ตัวสติ ตัวปัญญา แต่ปัญญาเกิดได้เพราะมีสมาธิที่ถูกต้องหนุนหลัง สมาธิที่ถูกต้องเกิดได้เพราะมีสติที่ถูกต้อง

เราหัด หัดสังเกตจิตใจตัวเองเรื่อยๆ ไป จิตมีกุศลหรือจิตมีอกุศล รู้ทันไป อย่างเราโกรธอยู่ จิตมันเป็นอกุศล เรามีสติรู้ทันความโกรธโดยไม่คล้อยตาม ไม่ต่อต้านมัน จิตเป็นกลางกับความโกรธ ความโกรธจะดับอัตโนมัติ เกิดเป็นจิตที่ไม่โกรธ เวลาโลภขึ้นมา เราก็มีสติรู้ทัน ความโลภก็ดับ จิตไม่คล้อยตาม ไม่ต่อต้าน ความโลภก็ดับ ตัวอื่น กิเลสอื่นก็แบบเดียวกัน ใช้หลักตัวเดียวกัน กิเลสตัวไหนเกิดก็รู้มัน แล้วอย่าไปคล้อยตาม อย่าไปต่อต้านมัน มันก็ดับของมันเองล่ะ เพราะมันก็ไม่เที่ยงเหมือนกันล่ะ

 

เพียรละอกุศลที่กำลังมีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด
เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญ

ตรงที่เรามีกิเลส ขณะนั้นจิตเราเป็นอกุศล ตรงที่เรามีสติรู้ทัน ตรงนั้นจิตเราเป็นกุศล การที่เราคอยรู้ทันจิตมันถึงเป็นการเจริญสิ่งที่เรียกว่าสัมมาวายามะ เรียกว่าความเพียรชอบ ความเพียรชอบไม่ได้แปลว่านั่งสมาธินาน เดินจงกรมนาน ความเพียรชอบ ไปดูให้ดี นิยามของความเพียรชอบ เพียรละอกุศลที่กำลังมีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรเจริญกุศล เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิด เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญ มีงาน 4 ข้อ สิ่งที่เรียกว่าความเพียรชอบหรือสัมมาวายามะ

เราตัดตรงการปฏิบัติ เริ่มสตาร์ตตรงนี้เลยก็ได้ จากสัมมาวายามะ กิเลสเกิดเรารู้ทัน ในขณะที่กิเลสเกิดจิตเป็นอกุศล เรามีสติรู้ทัน อกุศลก็ดับ เพราะมีสติ ขณะนั้นกุศลได้เกิดขึ้นแล้วเพราะสติเกิดกับจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น สติไม่เกิดร่วมกับจิตอกุศล มันเกิดร่วมกับจิตที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นสติเป็นตัวรู้ทัน ถ้ามีกิเลสเกิดในใจเรารู้ทัน เรียกเรามีสติ อกุศลจะดับ แล้วขณะที่เรายังมีสติอยู่ อกุศลใหม่จะเกิดไม่ได้ แล้วขณะที่เรามีสติอยู่นั้น กุศลได้เกิดขึ้นแล้ว แล้วถ้าเรามีสติบ่อยๆ กุศลก็จะพัฒนาขึ้น กุศลจะเข้มแข็งขึ้น พัฒนาเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาที่แก่กล้ามากขึ้นๆ

เพราะฉะนั้นการที่เรามีสติคอยรู้เท่าทันจิตของเราเอง เป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ นั่นล่ะคือความเพียรชอบ ถ้าปฏิบัตินั่งสมาธิเยอะๆ แต่นั่งแล้วก็เคลิ้มๆ โมหะแทรกไม่เห็น อันนั้นไม่ได้มีความเพียรชอบ เรียกว่านั่งเรื่อยเปื่อย เดินจงกรมแล้วใจล่องลอยไปที่อื่น ฟุ้งซ่านแล้วไม่รู้ จิตเป็นอกุศลแล้วไม่รู้ อันนั้นเรียกว่าเดินทรมานตัวเอง เดินเรื่อยเปื่อยไป ไม่ได้เรื่อง

ฉะนั้นการปฏิบัติไม่ได้สำคัญว่านั่งแค่ไหน นั่งท่าไหน เดินท่าไหน เดินนานแค่ไหน ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญคือเรามีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเองหรือเปล่า ถ้าเรานั่งด้วยความมีสติ เรียกว่าเรามีความเพียรชอบ ขณะที่นั่งด้วยความมีสติ เช่น นั่งไปแล้วก็อยากเห็นผี อยากเห็นเทวดา อยากเห็นหวย อย่างนี้มีโลภะ นั่งไปแล้วก็ เอ๊ะ นั่งไปจะเห็นผีหรือเปล่า ใจกลัว ใจกังวล อันนั้นโทสะ นั่งแล้วเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัวไป นั่นเป็นโมหะ ถ้านั่งอย่างนั้น นั่งโต้รุ่งก็ไม่ถือว่าได้ปฏิบัติ

เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าการปฏิบัติ การเจริญสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบได้ มีสติคอยรู้ทันจิตตนเองไว้ปฏิบัติไปด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว จิตใจเราเป็นอย่างไร รู้ เป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ ตรงที่เรามีสติรู้นั่นล่ะ อกุศลจะดับ อกุศลใหม่จะไม่เกิดในขณะนั้น ในขณะที่เรามีสติรู้จิตใจตนเองอยู่ อันนั้นกุศลได้เกิดแล้ว ต่อไปก็รู้ได้ชำนาญขึ้น กุศลก็เกิดได้ถี่ๆ เกิดได้บ่อยๆ ขึ้น

ตัดตรงเข้ามาเรียนตรงนี้เลยก็ได้ ง่ายๆ หรอก ที่จริงทุกคนรู้ได้ว่าขณะนี้ จิตของเราโกรธ หรือจิตเราโลภ หรือเราหลง เราฟุ้งซ่าน หรือเราหดหู่ เรารู้ได้ทุกคน ปัญหามันคือเราละเลยที่จะรู้ หลวงปู่ดูลย์ท่านถึงสอนหลวงพ่อประโยคแรกเลย บอกว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” วิธีอ่านจิตตนเอง ส่วนหนึ่งยังมีวิธีอ่านจิตตนเองอย่างอื่นอีก อันนี้เป็นวิธีที่จะตัดตรงเข้าไปเลย ฉะนั้นดู จิตเป็นกุศลก็รู้ จิตเป็นอกุศลก็รู้ไป แล้วสัมมาวายามะเจริญ เรียกมีความเพียรชอบ

เมื่อก่อนหลวงพ่อไปดูคนอื่นเขาภาวนาสำนักโน้นสำนักนี้ ขยันเดินขยันนั่งกัน ดูแล้วมันไม่ใช่ มันไม่รู้เท่าทันกิเลสตัวเอง นั่งแล้วก็ไม่เห็นกิเลสตัวเอง เดินก็ไม่รู้ทันกิเลสตัวเอง มันก็มีแต่ท่านั่งท่าเดินเท่านั้นเอง มันยังไม่ใช่สัมมาวายามะ ไม่ได้ทำให้กิเลสลดลงเลย ยิ่งภาวนายิ่งกิเลสแรง สังเกตดู พวกเข้าวัดกิเลสแรง ไม่ใช่เบาๆ เพราะมันไม่มีสัมมาวายามะที่แท้จริง ส่วนใหญ่ที่เขานั่งสมาธิ โห ดูดี พอออกจากสมาธิร้ายมากเลย

เมื่อก่อนก็มีที่แห่งหนึ่ง มีพวกคุณหญิงคุณนายไปปฏิบัติเยอะเลย ไปแล้วก็มีคนใช้ไปด้วย ขนตู้เย็นไปด้วย ขนของไปเหมือนย้ายบ้าน แล้วเวลาจะกลับก็ขนกลับ ตัวแกดูสุภาพ นุ่มนวล ใจดี จะเดินผ่านหมา ค่อยๆ เดิน ไม่ก้าวข้าม เราเห็นแล้วก็ อืม ดูดี กระทั่งหมายังไม่เดินข้ามหัวมันเลย เพราะหมามันอาจจะเป็นพระโพธิสัตว์ก็ได้ คิดอย่างนี้ว่าแกคงดีจริงๆ พอเจอคนใช้แก คนใช้นินทานาย หูย ดีอย่างนั้นลับหลังเราก็ร้ายที่สุด ด่าทั้งวันเลย หงุดหงิด โมโหร้าย นี่พวกติดสมาธิๆ พอจิตเคลื่อนออกจากสมาธิอารมณ์มันร้าย อารมณ์มันรุนแรงมากกว่าคนปกติ

 

สัมมาวายามะเมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์
สัมมาสติเมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์

เพราะฉะนั้นเวลาทำสมาธิก็ให้มันเป็นสัมมาวายามะ ทำไปอย่างรู้เนื้อรู้ตัว มีสติ ไม่ถูกกิเลสครอบงำ แล้วการที่เรามีความเพียรชอบ เพียรลดละอกุศลที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญ สิ่งเหล่านี้มันเกื้อกูลต่อการฝึกสติของเรา เกื้อกูลสติปัฏฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเรื่องของจิตที่เป็นกุศลอกุศลโดยตรงเลย เพราะฉะนั้นการที่เรามีสัมมาวายามะ มีสติคอยอ่านจิตตัวเองไปเรื่อยๆ เป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ อันนั้นก็คือการเจริญสัมมาสติหรือสติปัฏฐานนั่นเอง

เห็นไหมว่ามันรวบการปฏิบัติเข้ามาอยู่ในจุดเดียวกันแล้ว มรรคมีองค์ 8 ภาวนาเป็น มันรวบเข้ามาหากันหมดเลย การที่เรามีความเพียรชอบ มีสติรู้ทันจิตตนเองไป กุศลเกิดก็รู้ อกุศลเกิดก็รู้ มีความเพียรชอบ การที่เราคอยรู้จิตเป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ สติของเราจะไวขึ้นๆ อย่างหัดทีแรกต้องโกรธตั้งนานแล้วโกรธอย่างแรงๆ ถึงจะรู้ ต่อไปหงุดหงิดเล็กๆ ก็เห็นแล้ว นี่สติเราไวขึ้น หรือแต่เดิมโลภนาน โลภตั้งนานถึงจะรู้ ต่อมาใจอยากอะไรขึ้นนิดหนึ่งก็รู้แล้ว มันอยาก ละเอียด มันไม่ใช่ว่าอยากถูกหวย อยากรวย อยากมีเมียสวย อยากมีสามีหล่ออะไร อยากมีเงินเยอะๆ อยากมีตำแหน่งใหญ่ๆ อยากอย่างนั้นดูง่าย

พอเราหัดดู เราอยากได้ผู้หญิงสวยๆ รู้ทัน อยากมีหมาสวยสักตัวหนึ่ง เห็นคนอื่นเขามี รู้ทัน ต่อไปความอยากละเอียดๆ เกิดขึ้น เรารู้เลย มันไหวขึ้นกลางอกเรา ไหว อยากดูรูป หรือเรานั่งสมาธิอยู่ เราได้ยินเสียงอะไรแว่วๆ มันเกิดอยากฟังเสียง มันอยากฟังเสียง เสียงอะไร พอสงสัยปุ๊บ อยากฟังเลยว่ามันคืออะไร คราวนี้ลืมกรรมฐานแล้ว มันไปจดจ่ออยู่ที่เสียงแล้ว

พออยากมันละเอียดขึ้น มันกลายเป็นอยากเห็นรูป อยากได้ยินเสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้สิ่งสัมผัสกาย อยากได้อารมณ์ทางใจที่สนุกสนานเพลิดเพลิน มันเป็นตัณหา 6 ตัว คือตัณหาในรูป รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา ตัณหาทางทวารทั้ง 6 อยากเบื้องต้น ก่อนที่เราจะเห็นอยาก ตัวนี้ซึ่งมันละเอียด เราก็ดูอยากหยาบๆ เท่าที่เราดูได้ อยากได้กระเป๋าแบรนด์เนม รู้ทัน เงินก็ไม่ค่อยจะมี อยากได้ พอเงินไม่มี อยากได้ทำอย่างไร อยากถูกหวย อยากต่อไปเรื่อยๆ ให้มีสติรู้ไว้ จิตมีโลภะ จิตมีราคะ มีสติรู้ทัน ถ้ารู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง มันดับขาดสะบั้นทันทีเลย สติมันมีอยู่ก็ขาดสะบั้นลงไปเลย

เพราะฉะนั้นการที่เราเจริญสัมมาวายามะ มันจะทำให้สัมมาสติของเราดีขึ้นอัตโนมัติ พระพุทธเจ้าท่านสอนบอกว่า สัมมาวายามะเมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ แล้วสัมมาสติเมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ เห็นไหมสัมมาสมาธิมันมาจากสัมมาสติ สัมมาสมาธิมันไม่ใช่แค่นั่งสมาธิแล้วเห็นโน่นเห็นนี่ นั่นมันมิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิต้องประกอบด้วยสติเสมอ ถ้าไม่มีสติ ไม่มีสัมมาสมาธิ ท่านถึงสอนบอกสัมมาสติเมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ ฉะนั้นอย่างการที่เรามีความเพียรชอบ คอยรู้เท่าทันจิตใจตนเอง เป็นกุศลก็รู้ เป็นอกุศลก็รู้ เรื่อยๆ มันทำให้สติของเราเร็วขึ้น แล้วทุกครั้งที่เรารู้สภาวะถูกต้องตามที่มันเป็น สัมมาสมาธิจะเกิดร่วมด้วยเสมอ

อย่างเวลาใจเราลอยไป พอใจลอยไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ เกิดสติรู้ทันว่าตอนนี้ใจลอย ความใจลอยเป็นอกุศล เป็นโมหะชื่ออุทธัจจะ พอเรามีสติ อุทธัจจะดับทันที ความใจลอยดับทันทีที่เรารู้ทันว่าใจลอย ตรงนั้นล่ะเรียกว่าเกิดสัมมาวายามะเรียบร้อย แล้วก็มีสัมมาสติ เราระลึกโดยไม่ได้จงใจระลึก แต่การที่เรามีความเพียรชอบ คอยอ่านจิตอ่านใจของตนเอง ต่อไปสติมันจะเกิดขึ้นเอง สติที่เป็นสัมมาสติ มันจะเกิดขึ้นเอง เราไม่ได้เจตนาให้เกิด

อย่างพอมันใจลอยไป เราเคยรู้ทันสภาวะของความใจลอย พอใจลอย จิตมันจำสภาวะที่ใจลอยได้ สติเกิดอัตโนมัติ หรือเราขี้โมโหอย่างนี้ เห็นบ่อยๆ ความโมโหเกิดเรารู้ ความโกรธเกิดเรารู้ รู้บ่อยๆ มีความเพียรชอบ จิตมันก็จำสภาวะของความโกรธได้แม่น พอความโกรธผุดปุ๊บ สติเกิดปั๊บเลย เพราะฉะนั้นการที่จิตจำสภาวะได้แม่น เพราะจิตเห็นสภาวะเนืองๆ ทำให้จำสภาวะได้แม่น การที่จิตจำสภาวะได้แม่นเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ แล้วทันทีที่สติที่ถูกต้องเกิด คือสัมมาสติเกิด สัมมาสมาธิก็เกิดร่วมด้วยเสมอ

พวกที่เรียนปริยัติเขาบอกว่าสติไม่ต้องใส่คำว่าสัมมา เพราะสติสัมมาตลอดดีตลอด แต่ในพระไตรปิฎกมีคำว่าสัมมาสติ จะมาตัดทิ้งตามใจชอบไม่ได้ แต่เขาแยกไม่ออก ถ้าสติเฉยๆ มันเกิดกับจิตที่มันเป็นกุศล เรียกสาธารณกุศล ไม่ใช่บำเพ็ญประโยชน์ หมายถึงกุศลทั่วๆ ไป อย่างอยากทำบุญ อยากใส่บาตร อยากฟังธรรม อันนี้ล่ะมีสติแล้ว จิตไม่หลงไปในมิจฉาทิฏฐิชั่วหยาบ รู้จักทำบุญ รู้จักฟังเทศน์ ฟังธรรม แต่ถามว่ารู้อย่างนั้นแล้วมันจะบรรลุมรรคผลไหม ไม่บรรลุหรอก เพราะฉะนั้นสติแค่นั้นไม่พอหรอก

พระพุทธเจ้าอธิบาย สัมมาสติด้วยสติปัฏฐาน 4 ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย สติปัฏฐาน 4 เป็นสติที่รู้กายรู้ใจของตัวเอง แต่ที่หลวงพ่อตัดมาสอนวันนี้คือสติที่รู้ใจตัวเอง การปฏิบัตินั้นจะเริ่มจากรู้กายก็ได้ รู้เวทนาก็ได้ รู้จิตใจตัวเองก็ได้ แต่คนยุคเรา พวกคิดมาก กรรมฐานที่เหมาะกับพวกเจ้าความคิด เจ้าความเห็น คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

 

สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา

หัดดูไป จิตเป็นกุศลก็รู้เอา อกุศลก็รู้ ตรงนั้นนอกจากจะได้สัมมาวายามะ มีความเพียรชอบอยู่แล้ว สติเราก็จะเร็วขึ้นๆ นั่นเป็นสติปัฏฐาน เพราะเป็นสติรู้กายรู้ใจ แล้วทันทีที่สัมมาสติเกิดสัมมาสมาธิจะเกิดร่วมด้วย จะเกิดตามมาทันทีเลย อย่างทันทีที่เรารู้ว่าจิตหลงไปคิด จิตหลงไปคิดจะดับ จิตที่รู้เนื้อรู้ตัวจะเกิดขึ้นแทน สัมมาสมาธิเป็นความรู้เนื้อรู้ตัวของจิต จิตอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่หลงไม่ลืม ไม่ไหลไปที่อื่น

ฉะนั้นสัมมาสมาธิไม่ได้เกิดจากการนั่งสมาธินาน เดินจงกรมนาน แต่เกิดจากการมีสติ มีสติไว้ ที่จริงมีสติเห็นร่างกายเคลื่อนไหวแล้วจิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตถลำไปเพ่งกาย รู้ทัน มันก็เกิดสัมมาสมาธิเหมือนกัน หรือเห็นเวทนาทางกายเกิดขึ้น จิตตั้งมั่นเป็นคนดู ก็เกิดสัมมาสมาธิได้เหมือนกัน ฉะนั้นในสติปัฏฐาน 4 ถ้าทำด้วยความมีสติถูกต้องจะเกิดสัมมาสมาธิทั้งนั้นล่ะ เมื่อไรมีสัมมาสติ เมื่อนั้นก็มีสัมมาสมาธิอัตโนมัติ

เพราะฉะนั้นเรามีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองบ่อยๆ ถี่ๆ จิตของเราก็จะตั้งมั่นขึ้นมา อย่างพวกเราที่หัดอ่านใจตัวเอง จิตเป็นกุศล รู้ จิตเป็นอกุศล รู้ ต่อไปรู้ได้เร็วขึ้นๆ สติดีขึ้น แล้วทุกครั้งที่รู้ มันจะได้สมาธิขึ้นมาหน่อยหนึ่งๆ แล้วสมาธินั้นมันก็สะสม ในที่สุดจิตมันก็มีกำลัง ตั้งมั่น เด่นดวงขึ้นมา อย่างพวกเราที่ภาวนาจำนวนมาก ไม่ใช่มีคน 2 คนหรอก หัดดูสภาวะไปเรื่อย หัดดูจิตดูใจตัวเองไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตมันก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา มีแรง มีสัมมาสมาธิแล้ว จิตตั้งมั่น

สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา พอจิตเราตั้งมั่น พอสติระลึกรู้กายด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ก็จะเห็นความจริงของกาย คือความเป็นไตรลักษณ์ ถ้าจิตเราตั้งมั่น สติระลึกรู้เวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์ทางกาย สุข ทุกข์ เฉยๆ ทางใจ จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ตั้งขึ้นมาอัตโนมัติ สติระลึกรู้ ปัญญามันจะเกิด มันจะระลึก เห็นเลยเวทนาก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ แล้วจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้กุศลอกุศลที่เกิด อกุศลมันจะดับ กุศลมันจะเกิดอัตโนมัติ แล้วมันจะเกิดปัญญา ปัญญาเห็นว่ากุศลก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ อกุศลก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ปัญญาก็คือการเห็นไตรลักษณ์ ถ้าวิชชาเห็นอริยสัจ ถ้าปัญญาเห็นไตรลักษณ์ไป

พอเราดู เรามีจิตตั้งมั่น สติระลึกรู้กายก็เห็นไตรลักษณ์ สติระลึกรู้เวทนาก็เห็นไตรลักษณ์ สติระลึกรู้กุศลอกุศลก็เห็นไตรลักษณ์ แล้วเวลาปฏิบัติจริง สติจะรู้กาย หรือรู้เวทนา หรือรู้จิต เลือกไม่ได้หรอก สติก็เป็นอนัตตา จงใจจงรู้แต่กาย ทำไม่ได้ ทำไม่ได้จริง ฉะนั้นเราสั่งสติให้เกิดก็ไม่ได้ ต้องทำเหตุ คือดูสภาวะบ่อยๆ เราสั่งให้จิตมีสมาธิก็ไม่ได้ ต้องทำเหตุ คือมีสติที่ถูกต้องบ่อยๆ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าสัมมาสติเมื่อเจริญให้มาก ทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์

พอมีสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นแล้ว จะทำให้สัมมาญาณะบริบูรณ์ จะเกิดวิปัสสนาญาณนั่นล่ะ ก็จะเห็นไตรลักษณ์ สติระลึกรู้กายก็เห็นไตรลักษณ์ สติระลึกรู้เวทนาก็เห็นไตรลักษณ์ สติระลึกรู้จิต ที่เป็นกุศลอกุศล ก็เห็นไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นจะดูอะไรก็เห็นอันเดียวกัน คือเห็นไตรลักษณ์ ดูเข้ามาจนเห็นไตรลักษณ์ให้ได้ แล้วต่อไปตรงที่เราเห็นไตรลักษณ์ มันเป็นสัมมาญาณะแล้ว เมื่อทำให้มาก สัมมาญาณะ ทำให้มากเจริญให้มาก จะเกิดสัมมาวิมุตติ เกิดอริยมรรคอริยผลขึ้น ตรงนั้นเราไม่ต้องหวังผล เราทำต้นทางนี้ให้ดี มีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ กุศลเกิดก็รู้ อกุศลเกิดก็รู้ไป ไม่ต้องคาดหวังอะไรหรอก แล้วมันจะรู้ได้เร็วขึ้นๆ เพราะสติเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ มีความเพียรชอบ ทำให้มากเจริญให้มากก็จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์

ฉะนั้นคอยดูจิตดูใจตัวเองที่เป็นกุศลที่เป็นอกุศลไว้ให้มากๆ สติก็จะดี สมาธิก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา แล้วต่อไปพอสมาธิเกิดแล้ว จะเห็นไตรลักษณ์ ลำพังสติไม่มีสมาธิหนุนหลังอยู่ ไม่มีสัมมาสมาธิหนุนหลัง ยังไม่เห็นไตรลักษณ์ สติระลึกกาย เห็นอะไร เห็นกาย สติระลึกรู้เวทนา เห็นอะไร ก็เห็นเวทนา สติระลึกรู้กุศลอกุศล เห็นอะไร เห็นกุศล อกุศล แต่ถ้าจิตมีสัมมาสมาธิตั้งมั่น มันจะเห็นเลยว่ากายที่สติระลึกรู้ ไม่ใช่เรา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา เวทนาที่สติระลึกรู้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา กุศลอกุศลที่จิตระลึกรู้ คือสังขารทั้งหลายไม่ใช่เราๆ ค่อยดูไป พอปัญญามันแก่รอบแล้วต่อไปวิมุตติมันก็เกิดเอง

พระพุทธเจ้าสอนบอกว่าไม่มีใครทำจิตให้บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ จิตบรรลุมรรค ผล นิพพานได้เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาแก่รอบ ศีล สมาธิ ปัญญาแก่รอบต้องอาศัยการเจริญมรรคมีองค์ 8 นั่นล่ะแต่พวกเราจะปฏิบัติทางดูจิต เราก็ตัดเข้ามาตรงสัมมาวายามะนี่เลย คอยรู้ทันกิเลสตัวเองไว้ เป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้น

 

อ่านจิตตนเองไว้ให้ดี แล้วองค์มรรคทั้งหลายทั้งปวงนั้นมาเอง

ถ้าเราคอยรู้ทันกิเลสตัวเองอยู่เรื่อยๆ องค์มรรคก่อนหน้านี้มาเอง มีอยู่แล้ว มันจะคิดชั่ว เราเห็นเลย โห มันคิดชั่วเพราะว่าอำนาจของกิเลสบงการ มันก็ไม่คิดชั่ว มันก็คิดดี ก็เป็นสัมมาสังกัปปะ เวลามันจะด่าคน ก็เห็น อุ๊ย ใจมันโกรธ มันจะด่าเขาแล้ว หรือมันจะไปจีบสาว พูดโกหก เวลาผู้หญิงจีบผู้ชาย ผู้ชายจีบผู้หญิง มีความจริงสัก 5 เปอร์เซ็นต์ได้กระมัง นอกนั้นโกหกๆ แต่ก็ชอบเชื่อ มันเชื่อเพราะว่ามันอยากเชื่ออยู่แล้ว

ตรงที่เรามีสติรู้ จะพูด พูดเพราะกิเลสหนุนหลังอยู่ อ่านกิเลสออกตัวเดียว จะคิดชั่วก็รู้ทัน จะพูดชั่วก็รู้ทัน จะทำชั่วก็รู้ทัน จะทำมาหากินชั่วๆ ก็รู้ทัน เรื่องทำมาหากินก็เรื่องใหญ่ พอเราคิดดี มีความเห็นถูก รู้ผิดชอบชั่วดี อันนั้นตัวสัมมาทิฏฐิ มีความคิดถูก สัมมาสังกัปปะ คำพูดถูก สัมมาวาจา การกระทำถูก เรียกสัมมากัมมันตะ เราก็จะต้องรู้แล้วว่า อาชีพของเราควรจะทำอะไร อาชีพไหนที่จะเกื้อกูลให้เกิดสัมมาวายามะ อาชีพไหนไม่เกื้อกูลต่อสัมมาวายามะ คืออาชีพไหนทำแล้วกิเลสแรงขึ้น อาชีพไหนทำแล้วกิเลสไม่เกิด หรือกุศลมันเกิดเยอะ สังเกตเอา

ถ้าเรามีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเอง มันรู้เอง ฉะนั้นสัมมาอาชีวะ มันจะค่อยๆ สะอาดหมดจดขึ้น อย่างบางคนบอกมีสัมมาอาชีวะ ไปช่วยงานอยู่ในวัด ช่วยทำครัว ช่วยนับเงิน ช่วยอะไร แล้วมองไม่เห็น กิเลสเกิด อยู่ในโรงครัวก็ใหญ่ๆ แต่ละหลายวัด หลวงตามหาบัวท่านเคยด่าออกไมโครโฟน เรื่องในโรงครัวของท่าน ท่านบอกผีเปรตมันไปสิงอยู่ในโรงครัวเยอะแยะเลย นี่ไปด้วยหวังว่าจะได้ทำอะไรที่ดีๆ เลี้ยงชีพถูกต้อง ไปช่วยงานวัด ขอข้าววัดกินไปวันๆ ดูบริสุทธิ์หมดจด แต่สุดท้ายอันนี้ของกู อันนี้พวกกู อันนี้เพราะว่าไม่มีสัมมาวายามะ

ถ้ามีสัมมาวายามะ การทำมาหากินของเรา เราก็จะรู้ผิดชอบชั่วดี จะค่อยๆ ปรับไปให้มันสะอาดให้มันหมดจดขึ้น ถ้ายังต้องทำงานซึ่งมันไม่สะอาดหมดจดเสียทีเดียวอะไร ก็ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ แก้ไป ไม่ถึงขนาดว่าเลิกทำงาน เลิกทำงานแล้วจะเอาอะไรกิน จะเอาอะไรเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ จะเอาอะไรเลี้ยงครอบครัว บางทีก็ต้องทำ แต่ทำโดยรู้ว่านี่ยังมีข้อบกพร่องอยู่ มีโอกาสเมื่อไรเราจะพัฒนาไปสู่อาชีพที่หมดจดมากกว่านี้ อย่างถ้าเรามีสติอ่านจิตอ่านใจตัวเอง เราจะไม่ทำอาชีพบางอย่าง อย่างอาชีพทวงหนี้นอกระบบ เราทำไม่ได้ เราสงสาร อย่างหลวงพ่อให้ไปทวงหนี้ในระบบก็ทวงไม่ได้ มันสงสาร เห็นแล้วสงสาร ทำไม่ได้ ที่ทำได้เพราะอะไร ต้องหัดไปสังเกตเอา

พอเรารู้ว่าไปทวงหนี้นอกระบบ อกุศลที่ยังไม่มีก็มี กลายเป็นใจโหดร้ายทารุณ ทีแรกก็ไม่เต็มใจชกหน้าเขา ต่อไปชกชำนิชำนาญ เจอหน้าก็ชกเลย ยังไม่ทันทวงเลย ชกไว้ก่อนแล้วทวงทีหลัง ทวงง่ายดี ความชั่วพอทำแล้วมันยิ่งเมามัน ยิ่งชั่วมากขึ้นๆ อย่างนี้มันจะเป็นมิจฉาอาชีวะ เราก็รู้งานอาชีพนี้ไม่ดี สู้ไปขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารดีกว่า สะอาดหมดจดกว่า อาจจะได้เงินยากหน่อย เหนื่อย ตากแดดตากฝนอะไรอย่างนี้ แต่สะอาด สะอาดหมดจดกว่า

มันจะรู้เองว่าอะไรควรอะไรไม่ควร จะคิดเรื่องนี้ควรหรือไม่ควร จะพูดอย่างนี้ควรหรือไม่ควร จะทำอันนี้ควรหรือไม่ควร จะหากินอย่างนี้ควรหรือไม่ควร มันรู้เอง ขอให้เราอ่านจิตอ่านใจตัวเองให้ออกเถอะ เพราะฉะนั้นมีความเพียรชอบ อ่านจิตตนเองไว้ให้ดี แล้วองค์มรรคทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันมาเอง มันอัตโนมัติไปหมด

ฉะนั้นหลวงปู่ดูลย์รวมทั้งครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆ พูดเหมือนกันหมด การดูจิตเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุด ถ้าไปทำสมาธิ จิตนิ่ง ถอยออกจากสมาธิก็ยังค้างความนิ่งอยู่ ต้องแก้อีกแล้ว นั่งสมาธิให้จิตนิ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ฝึกกันเป็นปีๆ เอ้า นิ่งแล้วต้องมาแก้อีกแล้ว จะให้มันพอดี หูย ยืดเยื้อ นาน แล้วไปออกจากสมาธิ ต้องดูกาย ดูจิตไม่ได้ เพราะจิตมันว่างๆ มันสว่าง มันนิ่ง มันสบาย ไม่มีอะไรให้ดู เฉยๆ พอมาดูกาย พิจารณาลงไปเรื่อยๆ นานๆ จิตก็เคลื่อนไหว เริ่มทำงานได้ เริ่มเดินปัญญาได้ ค่อยทำสติปัฏฐานได้ทีหลัง

ถ้าเราตัดตรงเข้ามาอ่านจิตตนเองเลย เราก็จะลัดสั้น มีทั้งความเพียรชอบ มีทั้งสติชอบ มีทั้งสมาธิชอบ มีทั้งการเจริญปัญญาชอบ แล้วสุดท้ายมรรคผลมันจะไปไหน หลวงปู่ดูลย์ท่านถึงสอนหลวงพ่อว่าการปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง อ่านจิตตนเองไม่ยาก จิตโลภก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตหลงก็รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ หดหู่ก็รู้ อ่านไปเรื่อยๆ อย่างที่มันมีมันเป็นนั่นล่ะ ไม่ได้นั่งแก้ ไม่ได้เกลียดมัน ก็ไม่ตามใจมัน ไม่คล้อยตาม ไม่ต่อต้านกิเลส ดูไปสบายๆ ไม่นานหรอก

บางคนก็นานเหมือนกัน มันขึ้นกับองค์ประกอบหลายอย่าง คนที่เขาบรรลุเร็วมีองค์ประกอบ 2 อย่างด้วยกัน เขามีปุพเพกตปุญญตา เขาเคยสะสมของเขามาดีแล้ว แล้วเขาขาดอีกนิดหน่อย เขามาต่อยอดอย่างถูกต้อง แป๊บเดียวเขาก็บรรลุมรรคผลแล้ว บางคนต้นทุนน้อยก็ต้องอดทนพากเพียรสะสมของเราไป ไม่ไปอิจฉาคนที่เขาต้นทุนเยอะ ฉะนั้นภาวนา คนที่ต้นทุนเยอะเขาก็บรรลุเร็ว คนที่ต้นทุนน้อยก็บรรลุช้า ยุติธรรม เป็นกฎแห่งกรรม แล้วคนที่กิเลสแรงต้องปฏิบัติแบบควบคุมเข้มงวดหน่อย คนที่กิเลสเบาๆ เรียกสุขาปฏิปทา สบายๆ ดูไปธรรมดาๆ สู้กิเลสได้

เพราะฉะนั้นพวกเรา เราไม่รู้อดีตเราสะสมมาแค่ไหน แต่หลวงพ่อบอกให้อย่าง ลงมาฟังหลวงพ่อได้ สะสมมาไม่น้อยหรอก ในโลกมีคนตั้งเท่าไร คนที่มีโอกาสฟังธรรมมีเท่าไร ฉะนั้นเราเป็นประเภทครีมแล้ว สิ่งที่ขาดคือการต่อยอดขึ้นไปอีก ทำไมต้องต่อยอด ที่ทำมันยังไม่พอ ยังไม่เต็ม ถ้าเต็มมันคงไม่มานั่งอยู่ตรงนี้หรอก ยังไม่พอ มันยังไม่เต็ม ก็ต่อยอดเอา เพราะฉะนั้นทำไป อ่านจิตอ่านใจตัวเองไป

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ วันนี้ยากไหม ไม่ยาก วันนี้พยายามเอาใจตลาด เทศน์ให้ง่ายๆๆๆ ง่ายเปล่าก็ไม่รู้ บางคนบอก โอ้ ครูบาอาจารย์เทศน์เอาแต่ใจ เมื่อก่อนมีองค์หนึ่งชื่อหลวงพ่อคืน หลวงพ่อคืนเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์ ท่านก็เคยนึก หลวงปู่ดูลย์พูดธรรมะ นึก หลวงปู่พูดง่าย พูดเอาแต่ได้ ใครจะไปทำได้ ก่อนจะง่ายมันก็ยากทุกคน อย่าท้อใจ เรียนไป อ่านใจตัวเองไป เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแล้วล่ะ

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
3 กันยายน 2566