ทำอย่างไรจะพ้นจากทุกข์

เมื่อวานที่วัดมีงานตักบาตร พวกเรามากันเยอะหลายร้อย ที่หลวงพ่อจัดให้มีตักบาตรแบบนี้ เพื่อว่าเราจะได้ไม่ลืม มันเป็นประเพณีชาวพุทธเรา ประเพณีดีๆ นานวันไป มันก็ค่อยๆ กร่อนไป บางทีมันก็เบี่ยงเบนไป ตักบาตรวันเทโวโรหณะ ก็ให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ท่านมีพระกรุณาธิคุณครอบทั้ง 3 โลกธาตุ ถ้ามาเป็นตัวอย่างสำหรับพระเรายุคนี้ก็คือ มีความเมตตากรุณาทั้งต่อคนฐานะดี จนคนที่ฐานะแย่เสมอกัน

 

บุญเป็นชื่อของความสุข

ฉะนั้นชาวพุทธเราใจกว้าง ไม่ได้มุ่งเฉพาะคนร่ำคนรวย คนยากคนจน สนใจมาเรียนธรรมะหลวงพ่อยังอนุโมทนากับเขา ทุกวันนี้เวลาออกไปข้างนอก นอกวัด ไปแวะเข้าห้องน้ำตามปั๊มบ้าง ไปแวะฉันข้าวตามปั๊มน้ำมันบ้าง เจอคนชาวบ้านๆ เข้ามาหาหลวงพ่อ มาส่งการบ้าน เราเห็นเราก็ปลื้มใจ ว่าธรรมะไปถึงคนรากหญ้า คนร่ำคนรวยหลวงพ่อไม่ได้สนใจเท่าไรหรอก เขาสบายของเขาอยู่แล้ว คนระดับล่างน่าสงสาร หาอยู่หากินไปวันหนึ่งๆ ไม่ใช่จะง่ายเลย แล้วถ้าเขาได้ธรรมะไป ชีวิตมันร่มเย็นเป็นสุข เห็นแล้วก็อนุโมทนากับเขา

พรุ่งนี้เป็นวันที่นี่ทอดกฐิน วิธีจำง่ายๆ เลยก็คือ ที่วัดนี้ใช้หลักว่าวันอาทิตย์แรกหลังจากออกพรรษา ฉะนั้นถ้าเกิดออกพรรษาวันเสาร์ วันรุ่งขึ้นก็ทอดกฐินเลย จำง่ายๆ ไม่ต้องคิดเยอะ ไม่ต้องถามปีนี้ทอดวันไหนชอบถาม จำหลักไว้ ทอดกฐินที่นี่ก็ไม่ได้เน้นเอาเงิน ตั้งแต่ตั้งวัดมาไม่เคยแจกซองกฐิน ซองผ้าป่าอะไรไม่เคยแจกเลย ให้คนมาทำบุญ รู้จักจารีตประเพณีในพระพุทธศาสนา คนจำนวนมากอินทรีย์ยังอ่อน เวลามาทำบุญ เราเห็นมีคนเยอะๆ ก็จะปลื้มใจ ก็จะมีความสุข

อย่างเมื่อวานคนมาใส่บาตรเยอะ สังเกตไหมแต่ละคนใจจะเบิกบาน คล้ายๆ กระแสของบุญมันแผ่ซ่านออกไปกว้างขวาง อยู่ในบรรยากาศอย่างนั้นแล้วมันมีความสุข บุญเป็นชื่อของความสุขอยู่แล้ว มาทอดกฐินที่นี่ก็ให้มีความสุขด้วย ไม่ต้องกลัวจะมาเก็บสตางค์ ไม่เคยเอาเลย อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ว่าอะไร เสมอภาคกัน

มีอีกงานหนึ่ง ทีแรกว่าจะยังไม่พูด บอกว่าอย่าเพิ่งไปประกาศเลย เดี๋ยวคนมาเยอะ หลวงพ่อว่าประกาศเสียเลยดีกว่า คนจะได้รู้ว่าควรมา หรือไม่ควรมา เดือนมกราคมนี้จะมีพิธีสวดถอดสีมา พิธีนี้ไม่เกี่ยวกับโยม ไม่ใช่การฝังลูกนิมิต ถ้าฝังลูกนิมิต อยากจะมาก็มาเถอะ ไม่ว่าอะไรหรอก แต่งานสวดถอนสีมานี้ ใช้พระหลายร้อย ลำพังพระก็เต็มวัดแล้ว ทั้งพื้นที่ต้องถวายอาหาร พระจะนั่งตรงไหน ห้องน้ำ ห้องส้วม ฉะนั้นเป็นวันที่ไม่สะดวกที่พวกเราจะมา

ถึงเรามาเราก็ไม่เจอหลวงพ่อ เพราะหลวงพ่อต้องไปรับพระ ท่านมาจากหลายทิศทาง แล้วก็ไม่มีการเทศน์ ไม่มีการเทศน์ ไม่เจอหลวงพ่อ ไม่มีอาหาร ทุกวันนี้พวกเรามา มีข้าวให้กิน หรือพวกเราเอาอาหารมา จัดถวายพระ วันนั้นก็ไม่ได้รับ รับไม่ไหว ทีมงานมาแกะถุงอาหารพวกเราไม่ไหว ต้องดูแลพระตั้งหลายร้อยองค์ ฉะนั้นถ้าได้ข่าวงานสวดถอนสีมา ก็อนุโมทนา อนุโมทนาเอา อยู่บ้านนั่นล่ะ หมดแล้วมังงานประชาสัมพันธ์ แปลกดีไหม ที่อื่นเขาประชาสัมพันธ์บอกให้มากันให้เยอะๆ ที่นี่บอกอย่ามาเลย ไม่ใช่งานของโยม งานของพระ เป็นเรื่องของพระ

ทอดกฐินที่หลายแห่งเขาก็ทำยอด ต้องได้ยอดเท่านั้นเท่านี้ เราไม่เอา วัดเราไม่เคยเรี่ยไร แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ไม่เคยขอเงิน อย่างโบสถ์ เราทำมาตั้ง 10 กว่าปี ค่อยๆ ทำไป ทำมาตั้ง 14 ปีแล้ว 13 – 14 ปี ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ ไม่เห็นต้องขอเงินใครเลย คนอยากทำบุญก็ทำเอง คนก็มาช่วยกัน ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ ตอนนี้ก็ถือว่าเสร็จไป 90 กว่าเปอร์เซนต์แล้ว เหลือภาพจิตรกรรมฝาผนังข้างในอีกด้านหนึ่ง เรียกด้านหุ้มกรอง ทางด้านหน้าพระประธาน เหลืออีกด้านหนึ่ง

ตอนนี้ถ้าใครจะขึ้นไปนั่งภาวนา ที่ระเบียงโบสถ์ข้างบนก็ให้ขึ้นได้ แต่อย่าไปทำสกปรกก็แล้วกัน อย่าไปนอน มันมีม้ายาวๆ อย่าลงไปนอน น่าเกลียด ถ้าไปนั่งภาวนาไปอะไร ได้ ขึ้นไปได้ แต่ข้างในอย่าเพิ่งขึ้นไป เดี๋ยวรอให้จัดงานให้เสร็จก่อน ขึ้นไปแล้วเดี๋ยวบางคนมือบอน จับโน้นจับนี้อย่างพระพุทธรูปหรือฐานพระประธาน เป็นงานศิลปะทั้งนั้นเลย ชำรุดง่าย หรือผนัง ภาพจิตรกรรมฝาผนัง แพง หลายล้าน จ้างจิตรกรเก่งๆ มาทำ ฉะนั้นพวกเราไม่ต้องไปเติมอะไรลงไป ไม่ต้องไปเซ็นชื่อ ไม่ต้องวาดรูปหัวใจมีลูกศรปัก ไม่ต้อง ให้ดูเฉยๆ มือไม่ต้องจับ เดี๋ยวอยากจะทำ Street art ไปทำที่อื่นก็แล้วกัน

 

แก่นสารสาระของพระพุทธศาสนา

ธรรมะเรียนไป แล้วสิ่งที่เราจะได้คือความพ้นทุกข์ จุดสูงสุดอยู่ตรงนี้ ในโลกคนปรารถนาความพ้นทุกข์มีไม่มาก บางคนปรารถนาความสุข ความร่ำรวยมหาศาล เพราะฉะนั้นศาสนาพุทธแต่ไหนแต่ไรมา เป็นศาสนาของคนกลุ่มน้อย ไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ เป็นมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว อาจารย์สัญชัยปริพาชก ท่านเป็นอาจารย์ของอุปติสสะ โกลิตะ คือพระสารีบุตร พระโมคคัลลา เป็นอาจารย์ของพระสารีบุตร พระโมคคัลลา ตั้งแต่ยังไม่ได้เจอพระพุทธเจ้า

ตอนพระสารีบุตรมาพบพระอัสสชิ ท่านฟังธรรมไม่กี่ประโยค ก็ได้โสดาบัน แล้วก็เอาไปบอกพระมหาโมคคัลลานะ ก็บรรลุโสดาบัน แล้วก็เลยไปลาอาจารย์สัญชัย บอกจะลาออกจากสำนักแล้ว จะไปอยู่สำนักพระพุทธเจ้า ชวนอาจารย์สัญชัยไปด้วยกันเถอะ คำสอนของท่านมันไม่ได้ทำให้พ้นทุกข์จริง มันเป็นกลุ่มนักโต้วาที พวกปริพาชก คล้ายๆ พวกกรีก มีเยอะสมัยเพลโต โซเครติส อะไรพวกนี้ 3,000 กว่าปีก่อน พวกโต้วาที แสวงหาความรู้ด้วยการถกเถียง

พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะท่านมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ท่านพบว่าไม่มีประโยชน์อะไร เถียงกันไปเถียงกันมา ชนะก็สบายใจแพ้ก็เสียใจ ไม่เกิดประโยชน์ ก็ชวนอาจารย์ไปหาพระพุทธเจ้าด้วยกันเถอะ อาจารย์สัญชัยก็บ่ายเบี่ยงไม่ไป ก็เป็นอาจารย์ใหญ่อยู่แล้ว เรื่องอะไรต้องไปเรียนกับคนอื่น สำนักเขาก็สำนักใหญ่ พอพระโมคคัลลา พระสารีบุตรเซ้าซี้มาก ท่านก็เลยบอก สัญชัยก็เลยบอก ถามพระสารีบุตร ถามพระโมคคัลลา “ในโลกนี้คนโง่หรือคนฉลาดมีมากกว่ากัน” ทั้ง 2 ท่านก็ตอบตามความเป็นจริง “คนฉลาดมีน้อย คนโง่มีเยอะ”

อาจารย์สัญชัยก็บอก “ฉะนั้นเธอก็ไปเถอะ คนฉลาดจำนวนน้อยจะไปหาพระสมณโคดม คนโง่จำนวนมากจะมาหาเรา” มาหาไม่มาหาเปล่าหรอก ลาภสักการะมันก็ตามมานั่นล่ะ ยิ่งโง่มากก็ยิ่งจ่ายเยอะ มันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ศาสนาพุทธแท้ๆ เลยเป็นศาสนาของคนกลุ่มน้อย คนซึ่งหวังความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ในขณะที่คนอื่นเขาสอน ถ้าเชื่อเขาแล้วก็จะมีความสุขอยู่กับโลก เช่น ร่ำรวย สังเกตดูถ้าสำนักไหนจุดขายอยู่ที่ความร่ำรวย สำนักนั้นใหญ่ สำนักไหนเป็นเรื่องกรรมฐานล้วนๆ ไม่ค่อยมีคนเท่าไร คนจะน้อยกว่ากันเยอะ

ฉะนั้นเราต้องมาเรียน เพราะไหนๆ เราก็เจอศาสนาพุทธแล้ว อย่าไปหยุดอยู่แค่ความสุขทางโลกๆ ความสุขในโลกมันเป็นความสุขที่ฉาบฉวย มันสุขชั่วครั้งชั่วคราว แล้วมันซ่อนยาพิษอันร้ายแรงไว้ ยาพิษที่ร้ายแรงของมันก็คือ ทำให้เราติดโลก อยู่กับโลกมันให้ความสุขเราเล็กน้อย แต่เราตกเป็นทาสของความสุข เราไม่สามารถเข้าสู่คำว่าพ้นโลกได้ คำว่าพ้นโลก คำว่าโลกุตตระก็เหนือโลก มีโอกาสเราก็เรียนธรรมะที่เป็นเนื้อแท้ ส่วนใครเขาจะไปอย่างไร มันเป็นเรื่องปกติ

การเดินทางในสังสารวัฏนั้นยาวไกล นับภพนับชาติไม่ถ้วน คนที่อินทรีย์อ่อน เขาก็แสวงหาความสุขไป แล้วเขาก็ติดใจเพลินๆ ไป ความสุขพวกนั้นแฝงยาพิษทั้งนั้น คือมันแฝงความผิดหวัง เสียใจไว้ทีหลัง อย่างแสวงหาชื่อเสียงเกียรติยศ ชื่อเสียงเกียรติยศ มันเป็นของประจำโลก มันเป็นสิ่งที่คู่กับคำยกย่องสรรเสริญ คำนินทา ฉะนั้นมีชื่อเสียงขึ้นมาก็เสียชื่อเสียงได้ บางคนบางยุคก็เสียชื่อเสียง อ้าว มาอีกยุคหนึ่งกลายเป็นมีชื่อเสียงอีกแล้ว

อย่างของเมืองจีนเมื่อก่อนมี บูเช็กเทียน บูเช็กเทียนแต่ก่อนถูกโจมตีเยอะ เป็นชาวพุทธ เป็นชาวพุทธ เป็นฮ่องเต้หญิง พวกที่เขาเชื่อลัทธิอย่างอื่น ไม่เอ่ยชื่อก็แล้วกัน เขาต่อต้าน อันแรกเลยผู้หญิงมาปกครอง ไม่ดี มีแต่งนิทานใส่ร้ายอะไรเยอะแยะเลย คนก็เชื่อตามๆ กัน ด่าบูเช็กเทียน พอมายุคนี้ อ้าว ยกย่องอีกแล้ว ว่าบูเช็กเทียนนี้เก่ง เป็นยอดหญิง ปฏิวัติสิทธิสตรีให้เสมอภาคกับบุรุษ ยกย่องเลย ดีไหม ดี แต่ดีของแต่ละยุคไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นเรื่องคำสรรเสริญ คำนินทา ไปหลงกับมันมาก ก็ไม่มีสาระอะไรหรอก ชมเขาก็ชมชั่วคราว ด่าเขาก็ด่าชั่วคราว จุดสำคัญคือเราทำดีก็แล้วกัน ส่วนคนอื่นจะมองอย่างไร ก็เรื่องของเขา ห้ามไม่ได้ คนพาลมันเห็นบัณฑิต มันก็ว่าบัณฑิตเลว มันเห็นคนพาลด้วยกัน มันก็ว่าดี เอาอะไรกับโลก หรือหวังหาความร่ำรวย มีเงินมีทองเยอะแยะ นักบวชบางสำนักเขาก็เน้น ทำบุญกับเขาแล้วรวย รวยจริง แต่สำนักเขารวย ชาวบ้านที่ไปทำมันก็เหมือนเดิม มันจะไปรวยได้อย่างไร มันไม่ได้ ไม่มีสติปัญญาทำมาหากินอะไร

ถ้าเราจะเรียนให้ได้แก่นสารสาระของพระพุทธศาสนา เราต้องรู้เป้าหมายที่ชัดเจนก่อน ศาสนาพุทธตอบโจทย์เรา ว่าทำอย่างไรจะไม่ทุกข์ ทำอย่างไรจะพ้นจากทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือโลกนั่นเอง สิ่งที่เรียกว่าโลก ก็คือรูปธรรมนามธรรมทั้งหลายนี่ล่ะ

 

ถ้ายังไม่เห็นทุกข์ ยังไม่ปล่อยวาง

ที่เราติดข้องอยู่กับโลก ก็เพราะเราติดอยู่ในรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ติดรูปธรรมส่วนใหญ่ มันก็จะเป็นติดในกาม อยากได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รสที่สัมผัส ได้สัมผัสที่น่าพึงพอใจ แล้วคนส่วนใหญ่มันก็ติดกาม คนที่จะพ้นจากกามมีน้อยอย่างยิ่งเลย

คนที่พ้นจากกามมี 2 จำพวก พวกหนึ่งคือพวกทรงฌาน อีกพวกหนึ่งคือพวกเกิดอนาคามีมรรคแล้ว พ้นจากกาม พวกทรงฌานทำไมพ้นจากกาม เพราะถ้าจิตเข้าถึงความสงบระดับฌานแล้ว จะรู้เลยว่ากามเป็นของร้อน มันเป็นความสุขที่เร่าร้อน เอาง่ายๆ อย่างเวลาพวกเราเกิดกามราคะแรงๆ ใจเราร่มเย็นไหม หรือใจกระสับกระส่ายเร่าร้อน เห็นไหมแค่เกิดกามราคะ ฉะนั้นกามมันเป็นความสุขที่ร้อนๆ มันเป็นไฟ อะไรที่เป็นเหยื่อของกามบ้าง ก็รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย เรียกว่ากามคุณอารมณ์ เป็นสิ่งที่สัตว์ทั้งหลายหิวโหย

กามคุณอารมณ์นี่ล่ะ คือเครื่องมือของมารที่จะขังเราไว้ในภพ ไม่ให้พ้นทุกข์ไปได้ ไม่ให้เข้าสู่โลกุตตระได้ คนส่วนใหญ่แสวงหากาม อย่างอยากรวยมากๆ จะได้ดูอะไรสวยๆ ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสอะไรดีๆ ก็แสวงหากาม ก็ไม่รู้จักความสุขที่เหนือจากกาม หรือถ้าเราภาวนา หรือจิตใจเราเข้าถึงความสุขความสงบ เราจะพบว่าความสงบนั้นให้ความสุขมากกว่ากาม พระพุทธเจ้าถึงสอนบอก “สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี”

ความสงบมันก็มีหลายระดับ ความสงบระดับฌาน อันนี้ก็มีความสุข เวลาจิตเราเข้าอัปปนาสมาธิได้ มันจะชุ่มชื่น มันจะฉ่ำ มันคล้ายๆ ทุกขุมขนเรามีแต่ความสุข เอิบอาบอยู่อย่างนั้น มีความสุข แล้วมันจะเห็นว่ากามเป็นของสกปรก กามเป็นของร้อน ไม่ใช่ของดี ฉะนั้นถ้าอยากเห็นโทษของกามจริง ต้องหลุดออกมาจากกามภพก่อน กามภูมิ กามาวจรภูมิ ถ้าหลุดออกมาได้ด้วยอำนาจของสมาธิ ด้วยอำนาจของฌาน ย้อนกลับไปดูจะเห็น กามนี้ไม่ใช่กามคุณหรอก แต่เป็นกามโทษ เป็นของร้อน ทำให้อะไรร้อน ทำให้ใจเราร้อน ใจเราไม่มีความร่มเย็นเป็นสุข

ฉะนั้นอย่างพระ หลวงพ่อก็บอกว่าตั้งเป้าให้ถูก เราภาวนา เรามาบวชเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าเรามาบวชแล้วเราตั้งเป้าผิด เราไม่ได้รู้ว่า เราจะต้องมุ่งไปสู่ความดับสนิทของทุกข์ แล้วก็สะเปะสะปะไป บางคนก็หาชื่อเสียง หาลาภสักการะ หาโน้นหานี้ หาศรัทธาญาติโยม เพราะว่าลืมว่ามาบวชเพื่ออะไร พระในนี้หลวงพ่อพร่ำสอนอยู่เสมอ เรามาบวชทั้งทีอย่าให้เปลืองผ้าเหลืองเปล่าๆ อย่าให้เปลืองข้าวสุกชาวบ้าน เรามาบวชเพื่อทำที่สุดของทุกข์ ทำได้ในชาตินี้เลยก็ดี ทำไม่ได้ก็สะสมเป็นอุปนิสัยไว้ ชาติต่อๆ ไปมันก็จะทำได้ง่ายขึ้นๆ

คนที่เขาบรรลุมรรคผล เขาไม่ได้ว่าทำชาติเดียวบรรลุหรอก มันสะสมมาแล้วทั้งนั้น บางท่านสะสมจนตัวเองตายเลย ภาวนาจนตัวตายในชาติก่อนๆ แล้วก็ไม่สำเร็จ พอมาชาติปัจจุบัน ภาวนา ได้ยินธรรมะนิดเดียวสำเร็จเลยก็มี อย่างพระพาหิยะ พระพาหิยะ สมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน พระพุทธกัสสปะ พระพาหิยะภาวนาจนตัวตายเลย ยอมตายถวายชีวิตเลย มาภาวนา แล้วก็ไม่ได้ธรรมะ มาเจอพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ บารมีท่านเต็มแล้ว พระพุทธเจ้าสอนนิดเดียวบรรลุพระอรหันต์

“ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแลเมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มี ถ้าท่านไม่มีในอดีต ไม่มีในอนาคต ไม่มีในปัจจุบัน ที่สุดแห่งทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น” ท่านฟังนิดเดียวบรรลุพระอรหันต์แล้ว หรืออย่างอุปติสสะ โกลิตะ ฟังนิดเดียว ฟังพระอัสสชิสอน “ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น และแสดงความดับไปแห่งธรรมนั้น พระตถาคตเจ้ามีปกติกล่าวอย่างนี้” ฟังเท่านี้ได้โสดาบัน พระอัสสชิท่านเก่ง ท่านถ่อมตัวว่า ท่านไม่ค่อยรู้อะไรเท่าไร เพิ่งบวช สิ่งที่ท่านพูด ครอบคลุมอริยสัจเอาไว้เยอะ

ธรรมใดเกิดแต่เหตุ ธรรมอะไรที่เกิดแต่เหตุ ทุกข์สิเกิดแต่เหตุ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ ธรรมที่เกิดจากเหตุเรียกว่าสังขตธรรม คือกองทุกข์ทั้งหมดเลย พระตถาคตเจ้าแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น ก็แสดงว่าตัณหาเป็นตัวสมุทัย แล้วพระพุทธเจ้าก็สอนวิธีละตัณหา ละสมุทัย ถ้าดับเหตุได้ ผลคือทุกข์มันก็ดับ สอนให้ดับที่เหตุ เห็นไหม เป็นเรื่องเหตุกับผลล้วนๆ เลยที่ท่านพูดกัน

ฉะนั้นท่านฟังนิดเดียว ท่านก็เข้าใจแล้วธรรมใดเกิดแต่เหตุ ถ้าเหตุดับ ธรรมนั้นก็ดับ ถ้ามีเหตุ อย่างไรธรรมอันนั้นก็เกิด ฉะนั้นสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุ แล้วคำว่าเหตุมี 6 อย่าง มีฝ่ายดี 3 อย่าง ฝ่ายชั่ว 3 อย่าง รวมแล้ว 6 ฝ่ายชั่วก็คือโลภะ โทสะ โมหะ ฝ่ายดีคืออโลภะ อโทสะ อโมหะ อโมหะคือปัญญา นี่คือเหตุฝ่ายดี ถ้าทำเหตุฝ่ายชั่ว ผลที่ได้ก็คือความชั่ว ความทุกข์ ทำเหตุฝ่ายดีก็จะเป็น ผลที่ได้ก็คือความดี แต่ถ้ารู้แจ้งเห็นจริง ละเหตุเสียได้ พ้นจากดี พ้นจากชั่ว อันนั้นล่ะพ้นจากทุกข์สิ้นเชิง

ธรรมะของจริงสั้นๆ นิดเดียวเอง แต่ครอบคลุมเนื้อหาสาระการปฏิบัติเอาไว้มากมาย ถ้าเราไปฟัง เราก็ได้ฟังแค่ว่าพระอัสสชิพูด อย่างมากก็จำเอาไว้ แต่พระโมคคัลลา พระสารีบุตร ท่านฟังปุ๊บ ท่านเข้าใจเลย สิ่งใดเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับ ธรรมนั้นก็ดับ ท่านเข้าใจอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมันไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวร มีแต่ของที่เกิด เพราะมีเหตุเกิด ในที่สุดท่านเข้าใจ มาบวชกับพระพุทธเจ้าภาวนาต่อก็รู้จักธรรมะที่พ้นจากเหตุ คือพระนิพพาน พ้นจากเหตุก็คือเป็นอสังขตะไปแล้ว ไม่มีเหตุให้เกิดแล้ว ไม่มีความปรุงแต่งอีกต่อไปแล้ว

เรายังไปไม่ถึงตรงนั้น เราก็รู้ไว้ก่อนว่า เราจะปฏิบัติอันแรกเพื่อความพ้นทุกข์ ข้อสอง ต้องการพ้นทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ วิธีที่จะดับเหตุทำอย่างไร รู้ทุกข์ให้แจ่มแจ้ง ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร สมุทัยก็เป็นอันถูกละอัตโนมัติ รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง คือรู้อะไร อันที่หนึ่ง รู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรมนามธรรม ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวเราของเรานี้ล่ะ อันที่สอง รู้ลึกซึ้งลงไป รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ที่ประกอบกันเป็นตัวเราของเรานี้ ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้ารู้แจ้งเห็นจริงตรงนี้ได้ เราจะพ้นจากทุกข์ คือหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรมนี้

ถ้าหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรม ก็คือหลุดจากโลกแล้ว สิ่งที่เรียกว่าโลกก็คือรูปนามนั่นล่ะ พอเราเห็นความจริง รูปนี้คือตัวทุกข์ จิตมันก็หมดความยึดถือรูป ต่อมาจิตมันเห็นความเป็นจริง ว่านามธรรมทั้งหลาย รวมทั้งตัวจิตเองคือตัวทุกข์ จิตมันก็ปล่อยวาง ไม่ยึดถือนามธรรมทั้งหลาย ถ้ายังไม่เห็นทุกข์ มันยังไม่ปล่อยวางหรอก เพราะฉะนั้นการเห็นทุกข์ถึงเป็นเรื่องใหญ่ของการปฏิบัติ เห็นทุกข์อันแรก คือเห็นกายเห็นใจของตัวเองดีที่สุด ที่จริงดูคนอื่นก็ได้ แต่ดูยาก เดี๋ยวหลงง่าย เพราะใจมันไปข้างนอก

 

สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นของจิต

ข้อแรกก็คือรู้ รู้สึกถึงร่างกาย รู้สึกถึงจิตใจของตัวเอง ข้อสอง เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของร่างกายจิตใจ การที่เราจะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของร่างกายจิตใจได้ อาศัยเครื่องมือสำคัญ 2 ตัว ตัวที่หนึ่ง คือสติ เป็นตัวรู้เท่าทันความมีอยู่ของกายของใจ แล้วเห็นความเปลี่ยนแปลงของมันไป ตัวที่สองคือสัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นของจิต ขาดสัมมาสมาธิ ปัญญาจะไม่เกิดหรอก ปัญญาก็มีแต่ปัญญาโลกๆ แต่ปัญญาในทางธรรม อาศัยสัมมาสมาธิเท่านั้น สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้

แต่พูดถึงสัมมาสมาธิ ก็เป็นองค์ธรรมที่แสนจะอาภัพ พวกหนึ่งก็บอกไม่ต้องเรียนหรอก สมาธิเกิดร่วมกับจิตทุกดวง ลืมไปว่าสมาธิมีหลายแบบ มิจฉาสมาธิก็มี สัมมาสมาธิก็มี สัมมาสมาธิยังมีอีก 2 อย่าง สมาธิที่จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว กับสมาธิที่จิตตั้งมั่นเห็นความเป็นไตรลักษณ์ ของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย สมาธิก็ยังมีตั้งหลายอย่าง แล้วไม่เรียน ไม่เรียนเรื่องสมาธิ หรือบทจะเรียนเรื่องสมาธิ ก็เรียนผิดหลัก

เรียนเรื่องสมาธิ ก็ไปนั่งสมาธิเคลิ้มไปเคลิ้มมา หรือไม่ก็เคร่งเครียด อันนั้นเรียนสมาธิผิดหลัก การจะเรียนสมาธิให้ถูกหลักต้องรู้ บทเรียนที่จะทำให้เราได้สมาธิที่ถูกต้องชื่อจิตตสิกขา ทิ้งการเรียนเรื่องจิตตัวเองเมื่อไร จะไม่ได้สมาธิที่ถูกต้อง เคยได้ยินคำว่าไตรสิกขาไหม ไตรสิกขาคือสิ่งที่พวกเราชาวพุทธต้องเรียน ถ้าอยากข้ามวัฏฏะได้ อธิสีลสิกขา ทำอย่างไรศีลอันยิ่งใหญ่ของเราจะเกิดขึ้น อธิจิตตสิกขา ทำอย่างไรจิตอันยิ่งจะเกิดขึ้น อธิปัญญาสิกขา ทำอย่างไรปัญญาอันยิ่งจะเกิดขึ้น

อธิสีลสิกขา เบื้องต้นก็คือตั้งใจรักษาศีล ตั้งใจงดเว้นบาปอกุศล 5 ข้อนั้นไว้ก่อน แล้วต่อมามีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเองบ่อยๆ มันจะเกิดศีลอัตโนมัติขึ้นมา กิเลสเกิดปุ๊บรู้ปั๊บ ไม่ทำผิดศีล ศีลอัตโนมัติจะเกิด อธิจิตตสิกขา เรียนเรื่องจิตตนเอง ทำกรรมฐานอะไรที่เราถนัดสักอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำเพื่อความสงบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ ตอนไหนจิตเราฟุ้งซ่าน เราก็น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว

อารมณ์กรรมฐานที่มีความสุข น้อมไป อย่าไปบังคับมัน ถ้าบังคับแล้วไม่สงบ หรือแค่อย่างสมมติเราหายใจ เราหายใจออก หายใจเข้า เรารู้ถึงลมที่ไหลอยู่ที่ปลายจมูก ลมไหลเข้า ลมไหลออก รู้ไปสบายๆ จิตเราไปสงบอยู่ที่ปลายจมูก ไม่วอกแวกไปที่อื่น เราจะได้สมาธิชนิดสงบ ผลดีของมันคือทำให้จิตมีกำลัง ที่นี้ถ้าเราจะทำให้เกิดสมาธิที่ตั้งมั่น เอาไว้เดินปัญญา จะทำอย่างไร ก็ทำกรรมฐานอย่างเดิม แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับลมที่ปลายจมูก เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับจิตใจตนเอง

เรารู้ลมที่ปลายจมูก แล้วถ้าจิตเราไหลไปอยู่ที่ลม ให้มีสติรู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันว่า จิตเราไหลไปอยู่ที่ปลายจมูก ไหลไปอยู่ที่ลม จิตจะดีดตัวผางตื่นขึ้นมาทันทีเลย ตั้งมั่นขึ้นอัตโนมัติเลย เพราะเรารู้ทันจิตตัวเองแล้ว หรือเราหายใจไป พุทโธด้วยก็ได้ หายใจไปอย่างนี้ รู้ลม พอจิตเราหลงไปคิดเรื่องอื่น เรารู้ทันจิตว่าหลงไปคิดเรื่องอื่น เห็นไหม เคล็ดลับอยู่ที่รู้ทันจิตตัวเอง ถึงเรียกจิตตสิกขา อันหนึ่งก็คือฝึกจิตให้สงบ อันหนึ่งก็ฝึกจิตให้ตั้งมั่น บทเรียนจิตตสิกขาจะทำให้เราได้สิ่งเหล่านี้

ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้ว การเจริญปัญญาถึงจะเป็นไปได้ พอจิตตั้งมั่น จิตมันจะถอนตัวออกจากอารมณ์ที่มันรู้ มากลายเป็นผู้รู้ผู้เห็นไป ครูบาอาจารย์ที่หลวงพ่อเรียนด้วยสมัยก่อน ครูบาอาจารย์วัดป่ารุ่นเก่า ท่านจะพูดคำว่าจิตผู้รู้ บางคนไปหัวเราะท่านว่า จิตมันก็เป็นผู้รู้ทุกตัวล่ะ เพราะจิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แต่นี้เป็นนิยามที่ท่านตั้ง จิตผู้รู้ตรงข้ามกับจิตผู้หลง จิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เมื่อก่อนเข้าไปหาครูบาอาจารย์ พูดแต่เรื่องจิตผู้รู้กัน ฉะนั้นเรามีจิตผู้รู้ขึ้นมา ทันทีที่จิตเราเป็นผู้รู้ แล้วสติ เห็นไหม อาศัยสมาธิคือจิตที่ตั้งมั่น

ถ้าเรามีสัมมาสมาธิ มีจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมาได้แล้ว สติระลึกรู้ร่างกายที่กำลังนั่งอยู่ ปัญญาจะเกิดทันที อย่างพวกเราฟังหลวงพ่อเทศน์ พวกเราจะเกิดสมาธิ เพราะหลวงพ่อไม่ได้ท่องอะไรมาเทศน์ หลวงพ่อเทศน์ธรรมะสดๆ ร้อนๆ เพราะฉะนั้นเวลาเราฟัง เราจะเกิดสมาธิขึ้นอัตโนมัติ พอจิตเรามีสมาธิอย่างนี้ ลอง สติลองระลึกรู้ร่างกาย เราจะเห็นว่าร่างกายกับจิตเป็นคนละอันกัน เห็นไหม ร่างกายเป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ร่างกาย สิ่งที่ถูกรู้เรียกว่าอารมณ์ ตัวที่เป็นผู้รู้เรียกว่าจิต มีจิตกับอารมณ์

แต่เดิมจิตกับอารมณ์ของเรารวมกันอยู่ แต่พอจิตเรามีสัมมาสมาธิตั้งมั่นขึ้นมา จิตกับอารมณ์มันจะแยกกัน มันจะเห็นร่างกายมันนั่งอยู่ จิตเป็นคนเห็น ร่างกายหายใจอยู่ จิตเป็นคนเห็น ร่างกายเคลื่อนไหว จิตเป็นคนเห็น มันจะแยกกันออกมา แล้วต่อไปถ้าปัญญามันเกิด มันจะเห็นเลยร่างกายที่หายใจอยู่ ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอนอยู่ ร่างกายที่เคลื่อนไหว ที่หยุดนิ่งอยู่ เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้าเท่านั้นเอง ตรงนี้เป็นปัญญาระดับขึ้นวิปัสสนาแล้ว เห็นไตรลักษณ์แล้ว เห็นความไม่ใช่ตัวตนแล้ว

ถ้าลำพังเห็นว่ากายก็อันหนึ่งจิตก็อันหนึ่ง นี้เป็นปัญญาขั้นต้นยังไม่ถึงขั้นวิปัสสนา แต่ถ้าปัญญามันเกิดแล้ว มันหยั่งลงไป เห็น ร่างกายนี้มันของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก อย่างนี้มันขึ้นวิปัสสนาแล้ว ถ้าจิตเราเดินวิปัสสนาได้ เส้นทางนี้ไม่ยาวอีกต่อไปแล้ว เส้นทางนี้ไม่ยาวแล้ว แล้วก็ไม่ยากแล้ว ความยากที่สุดของนักปฏิบัติก็คือ ทำอย่างไรเราจะเกิดจิตที่ตั้งมั่น ยากที่สุดเลย เพราะจิตของเราไม่เคยตั้งมั่น จิตของเรามีแต่หลงไป ไหลไปตลอดเวลา

เพราะฉะนั้นต้องฝึก ต้องฝึก ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ถ้าวันไหนจิตไม่มีแรง จิตฟุ้งซ่าน ก็ให้จิตไปพักอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ให้มันพักผ่อน วันไหนจิตมีกำลังพอ ก็อย่ามัวแต่พักผ่อน ให้รู้ทันจิตไป ตอนนี้จิตลงไปเกิดปีติ รู้ว่ามีปีติ จิตมีความสุขรู้ว่ามีความสุข จิตสงบรู้ว่าสงบ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น จิตฟุ้งซ่านแล้ว รู้ว่าฟุ้งซ่าน เมื่อไรที่เราเห็นสภาวธรรม ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแล้วก็ เมื่อนั้นจิตผู้รู้จะเกิดขึ้น

 

กิริยามีแต่คำว่ารู้
ไม่มีคำว่าละ ไม่มีคำว่าเพ่ง ไม่มีคำว่าลืม

เมื่อเช้าหลวงพ่อเล่าให้ทีม ทีมงานของหลวงพ่อ แล้วก็พวกทิดพวกอะไร มาส่งการบ้านช่วงเช้า ก่อนที่จะเจอพวกเรา หลวงพ่อก็เล่าให้เขาฟัง ว่าหลวงพ่อได้ตัวจิตผู้รู้ตั้งแต่ 10 ขวบ หลวงพ่อทำอานาปานสติ ตามแนวที่ท่านพ่อลีท่านสอน หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 หายใจเข้าพุท ออกโธนับ 2 ทำไปแล้วจิตสงบ จิตสว่าง สบาย บางทีก็ออกรู้โน่นรู้นี่ไป จนวันหนึ่งตอนสัก 10 ขวบ บ้านเป็นตึกแถว หลวงพ่อก็ไปเล่นกับเด็ก เด็กหลายๆ บ้านมาเล่นอยู่ด้วยกัน มาเล่นลูกหินกัน ตัวไล่ๆ กัน เท่าๆ กัน เล่นๆ อยู่แล้วก็มองไป ที่ตึกแถวถัดไป 4 – 5 ห้อง ไฟไหม้

เขาเปิดเป็นอู่ซ่อมรถ ซ่อมได้ทีละคัน เอารถเข้าไปคันเดียว ก็เต็มห้องแถวนั้นแล้ว ทำท่าไหนไม่รู้ไฟไหม้ คนในร้านซ่อมรถก็วิ่งออกมา บางคนก็คว้าถังดับเพลิงไปดับ หลวงพ่อเห็นไฟไหม้ หลวงพ่อตกใจ พอตกใจก็ด้วยความงก ก็คว้าลูกหินของเราออกมา แล้วก็วิ่ง ก้าวที่หนึ่ง ตกใจ ก้าวที่สอง ตกใจ พอถึงก้าวที่สามเท่านั้น สติมันย้อนกลับ แทนที่มันจะดูว่าไฟไหม้ มันย้อนกลับมาเห็นว่า จิตกำลังตกใจ ทันทีที่เห็นสภาวะตกใจ ความตกใจขาดสะบั้นทันทีเลย เพราะความตกใจตัวนี้เป็นโทสะ สติระลึกรู้ปั๊บ โทสะดับทันทีเลย แล้วสิ่งที่ตามมา ก็คือจิตที่ตั้งมั่นขึ้นมา

ตอนนั้นยังเด็ก เฮ้ย จิตเราแปลกๆ จิตเราทำไมไม่เหมือนทุกวันเลย แล้วคราวนี้ไม่ตกใจ เดินไปบอกผู้ใหญ่ แล้วคราวนี้ก็ยืนดู เห็นคนอื่นตกใจ วิ่งไปวิ่งมา ไปช่วยกันดับไฟ จิตเราเป็นแค่คนดู ไม่ตกใจ ตอนนั้นถ้ามีครูบาอาจารย์อยู่ด้วย ก็คงพ้นทุกข์พ้นร้อนไปนานแล้ว แต่พอไม่มีครูบาอาจารย์ หลวงพ่อไม่รู้ว่าตรงนี้มันสำคัญแค่ไหน มันเกิดแล้วมันก็ดับ แล้วต่อมามันก็เกิดบ่อยๆ แต่ไม่รู้วิธีที่จะเอาไปใช้ คือยังไม่รู้หลักของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่รู้วิธีทำอธิปัญญาสิกขา

เราได้ตัวจิตที่ตั้งมั่นแล้ว แข็งแรง ไม่รู้ว่าต้องให้สติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรม พอจิตตั้งมั่นแล้วก็ทรงตัวอยู่อย่างนั้น รักษาอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นตัวจิตผู้รู้ของหลวงพ่อจะแข็งแรงมาก เพราะว่ามันสะสมมานานตัวนี้ ครูบาอาจารย์อย่างหลวงปู่สิม ท่านไม่รู้จักชื่อหลวงพ่อ ท่านตั้งฉายาให้หลวงพ่อ เจอหน้าหลวงพ่อท่านเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ คนก็นึกว่าเรารู้หวย ไม่ได้รู้หวย เรารู้ตัว จิตใจเรารู้เนื้อรู้ตัวอยู่ แล้วตอนนั้นอินโนเซนต์มากเลย ก็คิดว่าคนอื่นจิตเหมือนกันอย่างนี้หมดเลย

ต่อมามาภาวนา ถึงจะมาค่อยๆ สังเกตจิตใจคนอื่น เออ ในโลกนี้ไม่มีคนรู้สึกตัว ในโลกนี้มันมีแต่คนหลง คนที่รู้สึกตัวได้มีน้อยเต็มทีเลย ต้องฝึกกันจริงจัง ถึงจะได้เป็นผู้รู้สึกตัวได้ ฉะนั้นเวลามาบวช หลวงพ่อ หลวงพ่อพุธสั่งให้สอน ครูบาอาจารย์บอกให้ไปเผยแพร่ เพราะว่าการสอนเรื่องจิตเรื่องใจ ไม่มีใครเขาสอนกันยุคนั้น ท่านบอกให้หลวงพ่อไปสอน ไม่อย่างนั้นคนซึ่งควรจะได้ประโยชน์ ก็จะไม่ได้ประโยชน์ หลวงพ่อถึงต้องออกมาสอน ไม่ใช่อยู่ๆ เสร่อออกมาสอนตามใจชอบ อยากสอนแล้วออกมาสอน

นักปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ไม่สั่ง ไม่ออกมาทำออกมาสอน สิ่งที่สอนอันแรกเลย ไม่เผลอ ไม่เพ่ง แรกๆ หลายคนเขาได้ยิน เขาหัวเราะ สอนกรรมฐานอะไรมีคำว่าไม่เผลอกับไม่เพ่ง ทำไมไม่ให้หายใจเข้าออกอะไร พุทโธอะไรไป ทำไมไม่ทำอย่างนั้น สอนผ่าเหล่าผ่ากอ ก็เราเห็นคนที่ทำกรรมฐาน แล้วทำไปไม่สำเร็จ เพราะมันไปนั่งเพ่งเอาไว้ เพ่งจนเครียด บางคนเพ่งจนบ้า เยอะแยะที่ทำกรรมฐานแล้วบ้า มันเครียดจัด เพ่งมากไป

สิ่งที่นักปฏิบัติผิดคือชอบไปเพ่ง สิ่งที่เป็นหลักของคนที่ไม่ได้ปฏิบัติคือเผลอ เผลอทั้งวันเลย ส่วนทางสายกลางไม่สุดโต่ง 2 ข้าง เผลอนี่ย่อหย่อนไปเป็นกามสุขัลลิกานุโยค เพ่งก็บังคับกายบังคับใจ เป็นอัตตกิลมถานุโยค ทางสายกลางคือรู้ ทางสายกลางคือคำว่ารู้ ไปดูในสติปัฏฐาน มีคำว่ารู้ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว หายใจออกสั้น รู้ว่าหายใจออกสั้น หายใจเข้าสั้น รู้ว่าหายใจเข้าสั้น ลมหายใจระงับก็รู้”

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อยืนอยู่ รู้ชัดว่ายืนอยู่ เมื่อเดินอยู่ ก็รู้ชัดว่าเดินอยู่ เมื่อนั่งอยู่ นอนอยู่ ก็รู้ว่านั่งอยู่ รู้ว่านอนอยู่” เห็นไหม กิริยาคือคำว่ารู้ “ภิกษุทั้งหลาย มีความสุขก็รู้ว่ามีความสุข มีความทุกข์ ก็รู้ว่ามีความทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็รู้ว่าไม่สุขไม่ทุกข์” ก็คือคำว่ารู้ “ภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะ ให้รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้ว่าไม่มีราคะ” เห็นไหม กิริยาคือรู้ “ภิกษุทั้งหลาย จิตมีโทสะ ให้รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะ รู้ว่าไม่มีโทสะ” “ภิกษุทั้งหลาย จิตมีโมหะ รู้ว่ามีโมหะ จิตไม่มีโมหะ รู้ว่าไม่มีโมหะ” “ภิกษุทั้งหลาย จิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ รู้ว่าหดหู่”

ถัดจากนั้นไปอีก 8 ข้อของจิตตานุปัสสนา เป็นเรื่องของคนเล่นสมาธิ เล่นฌาน ของเราได้แค่ 4 คู่แรกนี้ เห็นไหมว่ากิริยามีแต่คำว่ารู้ ไม่มีคำว่าละ ไม่มีคำว่าเพ่ง ไม่มีคำว่าลืม หายใจออกก็ลืม ภิกษุทั้งหลายหายใจออกก็ลืมๆ ไป ไม่ได้สอน ภิกษุทั้งหลาย หายใจออก หายใจเข้าเอาเป็นเอาตาย จ้องเอาๆ ไม่ได้สอนอย่างนั้น แล้วตรงนี้ที่ทำให้คนทั้งหลายมันพัฒนาไม่ได้ ออกไปสู่โลกุตตระไม่ได้ สมาธิมันไม่มี สมาธิที่มีมันเป็นมิจฉาสมาธิ

ฉะนั้นตัวที่แตกหักจริงๆ ยากที่สุดเลย กว่าจะปลุกคนที่หลับให้ตื่น มันหลับมานับภพนับชาติไม่ถ้วน กว่าจะปลุกให้มันตื่นได้คนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะฉะนั้นเรามีโอกาส เรารู้แล้ววิธีจะทำ ปลุกตัวเองให้ตื่น ทำกรรมฐานไว้อย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไว้ รู้สภาวะที่มันเกิดขึ้นกับจิตใจตัวเอง รู้กิริยาอาการของจิตใจตัวเอง รู้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจิตมันจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เรียกว่าเรามีอธิจิตตสิกขา

เรียนเรื่องจิตแล้ว คราวนี้เราก็เดินปัญญา ถ้าจิตเราถูกต้อง การเจริญปัญญาจะสั้นนิดเดียวเลย ถ้าจิตไม่ถูกต้อง เจริญปัญญาอย่างไรก็ไม่ได้ผลหรอก แต่ถ้าจิตถูกต้อง คือจิตตั้งมั่นเป็นกลาง มีสติระลึกรู้รูปธรรม ก็จะเห็นไตรลักษณ์ มีสติระลึกรู้นามธรรม ก็เห็นไตรลักษณ์ มีสติระลึกรู้จิตก็เห็นไตรลักษณ์ ใช้เวลาไม่นานหรอก ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ธรรมะที่เนิ่นช้า เพราะฉะนั้นอดทนนิดหนึ่ง ตั้งใจเรียนรู้จิตใจตนเองให้มากๆ หน่อย ขับรถอยู่คนปาดหน้า ก็อย่ามัวแต่ดูไอ้คนโน้น ให้ดูจิตว่ากำลังโกรธ

เห็นผู้หญิงสวยก็อย่ามัวแต่ดู ตอนนี้เขามาประกวดนางงามอะไรกันในเมืองไทย อย่ามัวแต่ดูเรื่องพวกนี้ ใจเราเห็นผู้หญิงแล้วใจเราชอบ รู้ว่าชอบ บางคนเห็นผู้หญิงแล้วไม่ชอบ นางชะนี ไม่สวย สู้เราไม่ได้ อิจฉารู้ว่าอิจฉา นักปฏิบัติต้องอย่างนี้ อ่านจิตตนเองไว้ แล้วธรรมะจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

 

 

นี่พวกเราสงสัย ทำไมหลวงพ่อชอบชวนไปดูหมูเด้ง ไม่ใช่อะไรหรอก ตอนช่วงโควิด หลวงพ่อกับพระอาจารย์ ตอนนั้นพอเขาเปิดใหม่ๆ เข้าไปดู โห สวนสัตว์น่าสงสาร มันอดอยากขาดแคลนไปหมดเลย หมูเด้งเป็นตัวนางกวักสำคัญ ยังไม่มีใครทำนางกวักรูปหมูเด้ง หรือแขนมันสั้น กวักได้น้อย ตอนนี้มันเป็นตัวนางกวัก ทำให้เขามีรายได้ สัตว์อื่นมันได้พลอยอาศัย มันได้อยู่ดีกินดีมากขึ้น ที่บอกพวกเราไปดูหมูเด้งก็เพราะเรื่องนี้

หลวงพ่อยังไม่ได้ไปดูเลย กลัว กลัวแถวยาว จะเป็นลมเสียก่อนเจอหมูเด้ง ใจของเราสงสารสัตว์ สัตว์ลำบาก แล้วสัตว์มันไม่มีทางเลือก มันอยู่ในที่จำกัด แต่อยู่ในธรรมชาติคนเขาก็ฆ่าหมด มาอยู่ในสวนสัตว์ก็ปลอดภัย แต่บางช่วงบางเวลาก็ขาดแคลน อดอยาก น่าสงสาร ไปหากินก็ไม่ได้ น่าสงสาร แล้วคนไทยไม่ชอบไปที่ที่ทำให้เกิดความรู้ ไปสวนสัตว์ได้ความรู้ ไม่ชอบ ที่อาภัพสุดขีดเลย พิพิธภัณฑ์ หัดไปดูเสียบ้าง เงินจะได้เข้าพิพิธภัณฑ์

เมืองนอก หลวงพ่อไป หลวงพ่อบางทีไปเทศน์ต่างประเทศ บางทีก็ไปดู พิพิธภัณฑ์เขา ต้องเข้าแถวดู คล้ายๆ เราเข้าแถวดูหมูเด้ง ทำไมชอบดู หมูเด้งมันไม่ต้องคิด เราไม่ชอบคิดเยอะ คนไทยกลัวเปลืองสมอง สมองมีเอาไว้คิดหวย ว่างวดนี้จะออกอะไร เพราะฉะนั้นอะไรที่ประเทืองปัญญา ทำนะ ทำบ้าง แล้วมันเกิดประโยชน์ทั้งทางตรงต่อตัวเรา ทั้งทางอ้อม พอแล้ว อย่าลืมหมูเด้ง ไปดูเสีย

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
19 ตุลาคม 2567