ลงมือปฏิบัติเสียแต่วันนี้

วันนี้วันทอดกฐิน ที่วัดนี้เราตั้งกติกากันไว้ว่าออกพรรษาแล้วก็วันอาทิตย์แรกหลังออกพรรษาทอดกฐินเลย ไม่ได้ดูปฏิทินหรอกว่าเป็นวันที่เท่าไร ก็ดูเอาเอง จากวันออกพรรษา เป็นอาทิตย์แรกเลย ทำไมรีบทอดนัก จะได้หมดงานสักที งานทอดกฐินเป็นงานคนเยอะ วัดเราไม่ถนัดการทำกิจกรรม งานของเรามีอันเดียว งานเผยแพร่เป็นหลัก ส่วนงานบุญก็มีไม่มาก ก็มีกฐิน 1 ครั้ง แล้วตักบาตรเทโวครั้งหนึ่ง มีเท่านั้นล่ะ เวลาส่วนใหญ่ก็เอาไว้เผยแพร่ธรรมะ

 

ปฏิบัติธรรมเพื่อจะรู้ทุกข์

วันนี้ไหนๆ เราก็มาแล้ว ก็ต้องฟังธรรมะ มันของดีของวิเศษที่บรรพบุรุษอุตส่าห์รักษาสืบทอดมาจนถึงรุ่นเรา สมบัติอื่นๆ มันไม่ยั่งยืนอะไร ธรรมะก็ยังสามารถรักษาสืบทอดมาจนถึงวันนี้ได้ เราจะเห็นข่าวมีแต่เรื่องไม่ค่อยดี ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนากับพระกับอะไรอย่างนี้ พอเรื่องดีๆ มันไม่มีใครเอาไปทำข่าว มันขายไม่ออก เราก็ต้องแยกแยะให้ออกระหว่างธรรมะกับบุคคล อย่างคนที่มาบวชนั้นก็คือคนธรรมดาอย่างพวกเรานี่เอง ปุถุชนมาบวชก็เป็นพระสมมติ ก็ยังมีกิเลสอยู่ ทำอะไรผิดพลาด เป็นไปได้ทั้งนั้น

แต่การที่มีปัญหา พระมีปัญหาอะไรไม่ได้ทำให้ศาสนาเราเสียหาย เนื้อแท้ของธรรมะนั้นเป็นของยั่งยืน อย่าว่าแต่จะผ่านร้อยปีพันปี กระทั่งผ่านพระพุทธเจ้ามาหลายองค์ ธรรมะที่ท่านสอนก็อันเดียวกัน ท่านสอนอริยสัจนั่นล่ะ เป็นแม่บทของธรรมะ กี่พระพุทธเจ้าๆ ก็สอนแต่เรื่องนี้ล่ะ แล้วทุกคราวที่ท่านมาตรัสรู้ แต่ละองค์มาตรัสรู้ก็ช่วยคนไปได้กลุ่มหนึ่ง สัตว์จำนวนมากมันก็ยังตกค้างอยู่ พวกเราก็คือพวกตกค้างจนมาถึงศาสนาพระพุทธเจ้าองค์นี้

บางคนก็คิดแค่ว่าจะทำบุญ จะฟังเทศน์มหาชาติ จะทอดกฐินหลายๆ วัดอะไรอย่างนี้ แล้ววันหนึ่งจะได้ไปเจอพระศรีอริยเมตไตรย พระพุทธเจ้าองค์ถัดไป แล้วก็จะบรรลุธรรมอย่างง่ายดาย หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกไม่ฉลาดหรอก เพราะธรรมะที่พระศรีอาริย์สอนกับที่พระพุทธโคดมสอนก็อันเดียวกัน ถ้ายุคนี้เหลวไหลก็สะสมนิสัยเหลวไหลไปจนถึงยุคข้างหน้า ไปเจอพระศรีอาริย์มันก็เหลวไหลต่อไปอีก มันผ่านพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก ก็ไม่หายเหลวไหล

ถ้าเราไม่อยากเหลวไหล โอกาสที่จะเจอศาสนาพุทธจริงๆ หายากมาก วันเวลาที่มีพระพุทธศาสนาสั้นนิดเดียวเทียบกับเวลาที่ไม่มี เพราะฉะนั้นในขณะนี้ถือว่าเราเป็นพวกมีบุญพอสมควร รีบมาต่อยอดตัวเองศึกษาปฏิบัติธรรมให้มาก จะศึกษาปฏิบัติธรรมต้องรู้ก่อนว่าเราปฎิบัติไปเพื่ออะไร ปฏิบัติธรรมะเพื่อความดับสนิทแห่งทุกข์ เพื่อจะพ้นทุกข์ ไม่ใช่เพื่อความร่ำรวย อยากรวยก็ไปเรียนเรื่องลงทุนเรื่องอะไร ไปเลือกเรียนที่มันมาตรฐาน หรือเรียนเศรษฐศาสตร์เรียนอะไรก็ไปเรียนเอา หรือจะเรียนค้าขายเรียนอะไรก็ไปเรียนเอา อันนั้นเป็นวิชาทำมาหากินให้ร่ำรวย

แต่ศาสนาพุทธตอบโจทย์เราข้อเดียวที่สำคัญ ก็คือทำอย่างไรเราจะไม่ทุกข์ แล้วถ้ายังต้องทุกข์อยู่ ทำอย่างไรจะทุกข์น้อยๆ วิธีที่จะไม่ทุกข์เลยก็ต้องภาวนาจนเห็นความจริงของคำว่าทุกข์ ความทุกข์อยู่ที่ไหน ความทุกข์อยู่ที่ร่างกาย ความทุกข์อยู่ที่จิตใจ ความทุกข์ไม่ได้อยู่ตามต้นไม้ ตามภูเขา ตามแม่น้ำลำธาร ความทุกข์มันอยู่ที่กายกับใจของเรานี่ล่ะ

คนส่วนใหญ่เกลียดทุกข์ กลัวทุกข์ หนีทุกข์ พยายามไม่คิดเรื่องทุกข์ พยายามคิดแต่เรื่องสนุกสนานหลอกตัวเองไปวันหนึ่งๆ หาอะไรทำให้เพลินๆ ไป หลอกตัวเอง วันหนึ่งเราจะต้องเจอความทุกข์ที่รออยู่ ความทุกข์ของความแก่ ของความเจ็บ ของความตาย ของความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ของการที่ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ความทุกข์ที่เกิดจากการไม่สมหวังทั้งหลาย ความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน ความไม่สบายทางร่างกายทางจิตใจ ความคับแค้นใจอะไรพวกนี้ สิ่งเหล่านี้รอเราอยู่ทั้งสิ้น

ถึงจะหนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น เมื่อหนีไม่พ้นก็ต้องหันมาเผชิญหน้ากับมัน หนีไม่ได้ก็ต้องสู้มัน สู้ก็ต้องสู้แบบสู้ตายเลย อยากเอาชนะกิเลสแต่ว่ากลัวกิเลสหนังถลอก ไม่ได้เรื่อง มันต้องห้าวหาญ ต้องเด็ดเดี่ยวเข้มแข็งที่จะต่อสู้กับกิเลส พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าทุกข์ให้เรารู้ ฉะนั้นหน้าที่เราที่เราจะปฏิบัติธรรมนี่เพื่อจะรู้ทุกข์ ถ้าเราเห็นความจริงว่าร่างกายนี้คือตัวทุกข์ จิตก็จะหมดความยึดถือในร่างกาย เมื่อจิตหมดความยึดถือในร่างกาย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในร่างกาย จิตจะไม่ทุกข์

 

เห็นความจริงว่าร่างกายเป็นก้อนทุกข์
จิตจะหมดความยึดถือในร่างกาย

อย่างถ้าเราภาวนา เราเห็นความจริง ร่างกายนี้มันเป็นก้อนทุกข์ ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไรหรอก มันมีความทุกข์บีบคั้นอยู่เสมอ นั่งอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ ยืนอยู่ก็ทุกข์ หายใจเข้า หายใจออกก็เพื่อหนีทุกข์ไปเรื่อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถก็เพื่อหนีทุกข์ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วความทุกข์มันตามขยี้เราอยู่ตลอดเวลาในร่างกายนี้ เรามาเรียนรู้ความจริง ร่างกายที่เดิมเราว่าเป็นของดีของวิเศษของเรา เมื่อไรเราเห็นความจริงว่าร่างกายนี้เป็นก้อนทุกข์ จิตมันถึงจะหมดความยึดถือในร่างกาย

การที่จะเห็นร่างกายเป็นก้อนทุกข์ บางท่านเห็นว่ามันไม่เที่ยง บางท่านเห็นว่ามันถูกบีบคั้น บางท่านเห็นว่ามันไม่อยู่ในอำนาจบังคับ คือเห็นร่างกายในมุมของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นเอง ถ้าเห็นความจริงอย่างนี้ได้ ก็จะหมดความอยากหมดความยึดถือ ต่อไปร่างกายจะแก่ เราก็จะเห็นความจริง ที่แก่นั้นมันเป็นวัตถุ ร่างกายมันเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ เรายืมธาตุมาใช้ ธาตุนั้นเป็นสมบัติของโลก เพราะฉะนั้นร่างกายนี้เป็นของโลก เรายืมมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว วันหนึ่งเราก็ต้องคืนเจ้าของ มันก็ต้องแก่ มันก็ต้องเจ็บ มันก็ต้องตาย

ถ้าจิตมันเห็นความจริงตรงนี้ เวลามันแก่ มันจะรู้เลยว่าร่างกายมันแก่ ไม่ใช่เราแก่ วัตถุมันเสื่อมแล้ว มันอยู่มานาน มันผุพัง ร่างกายมันเจ็บ ร่างกายมันตาย ก็คล้ายๆ เครื่องจักรตัวหนึ่งใช้งานมานาน เครื่องจักรมันทำมาจากอะไร มันทำมาจากเหล็กจากแร่ธาตุของโลกนี่ล่ะ เอามาใช้งานใหม่ๆ ก็ใช้คล่อง ใช้ไปนานๆ ก็ชักจะชำรุดทรุดโทรม ก็ต้องซ่อม วันใดที่ซ่อมไม่ไหวก็ต้องทิ้งมันไป

ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน เรายืมวัตถุดิบมาจากโลก คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เรายืมมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว ทีแรกก็เหมือนเครื่องจักรใหม่ๆ ตอนเด็กๆ ตอนหนุ่มตอนสาวเหมือนเครื่องจักรยังใหม่คล่องแคล่วว่องไว แข็งแรง ทำงานได้ดี อยากเดินก็เดินตรงๆ ได้ อยากนอนแล้วลุกพรวดพลาดขึ้นมาก็ทำได้ ต่อมาเครื่องจักรมันใช้มานาน มันเริ่มเก่า พอมันเก่าใช่ไหม มันจะไม่คล่องตัวอย่างแต่ก่อน

เมื่อก่อนกดปุ่มสตาร์ตทีเดียวเครื่องก็ทำงาน เดี๋ยวนี้กดบางทีตั้งหลายทีกว่าจะทำงาน อย่างเรานอนอยู่ พอเราแก่ ตอนหนุ่มๆ สาวๆ เราลุกปุ๊บปั๊บขึ้นมาได้เลย พอแก่เราทำไม่ได้แล้ว ลุกขึ้นมาพรวดพราดขึ้นมา หัวหมุนไปเลย ดีไม่ดีล้มไปเลย นี่เครื่องมันเริ่มเตือนให้เรารู้แล้วว่ามันเริ่มชำรุดแล้ว มันเก่าแล้ว

พระพุทธเจ้าท่านก็เคยบอก บอกกับพระอานนท์ บอกกับลูกศิษย์ ช่วงที่ท่านใกล้จะปรินิพพาน ท่านบอกร่างกายของท่านเหมือนเกวียน เกวียนเก่าๆ ของเรายุคนี้พูดถึงเกวียน นึกไม่ออก เราก็นึกถึงรถยนต์ ก็คำเปรียบเทียบแบบเดียวกันนั่นล่ะ ท่านบอกตอนนี้ท่านอายุมากแล้ว เหมือนเกวียนที่เก่ามากแล้ว ซ่อมแล้วซ่อมอีก ต่อไปมันก็อยู่ไม่ได้ มันก็ต้องผุพังไป อย่างพวกเราเวลาเราเจ็บป่วย เรากำลังซ่อมเครื่องยนต์ คือร่างกายของเรานี้ เวลาป่วยขึ้นมาเริ่มมีปัญหา มันก็ต้องรักษาพยาบาล ก็คือการซ่อมเครื่องยนต์อันนี้ ซ่อมไปๆ ถึงจุดหนึ่งซ่อมไม่ไหวแล้ว มันก็พังแตกสลายไป

ถ้าเราภาวนา เราเห็นความจริงของร่างกาย พิจารณาลงไปเรื่อยๆ แล้วดูลงไปเรื่อยๆ พิจารณาลงไป ร่างกายนี้มีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา พิจารณาทุกวันๆ ไป แล้วเราก็มีสติระลึกรู้ร่างกายไปด้วย เราก็จะเห็นร่างกายนี้เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง หายใจเข้าแล้วก็หายใจออก หายใจออกแล้วก็หายใจเข้า กินอาหารเข้าไปแล้วก็ขับถ่าย ดื่มน้ำเข้าไปแล้วก็ต้องขับถ่าย มีแต่ความไม่เที่ยง ความเป็นเด็กก็ไม่เที่ยง ความเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ไม่เที่ยง เป็นกลางๆ คนก็ไม่เที่ยง แก่แล้วก็ไม่เที่ยงๆ เดี๋ยวก็ตาย

รู้ความจริงลงไป ความรักใคร่หวงแหนผูกพันในร่างกายก็จะลดลงๆ แล้วตอนที่จะแตกหักหมดความยึดถือในร่างกาย มันจะรู้แจ้งแทงตลอด ร่างกายนี้ไม่มีอะไรเลยนอกจากทุกข์ อย่างเราเห็นร่างกายเราไม่เห็นจะทุกข์ตรงไหนเลย อันนี้ยังหนุ่มยังสาวรู้สึกอย่างนั้น อายุเยอะขึ้นหน่อย เราก็จะเห็นมันทุกข์บ้างสุขบ้าง เห็นไหมบางวันก็แข็งแรง เราก็ว่ามันสุข บางวันไม่สบายเราก็ว่ามันทุกข์

แต่ถ้าเราภาวนา เราจะเห็นร่างกายนี้มันทุกข์อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็เพื่อหนีทุกข์จากการหายใจออก หายใจออกก็เพื่อหนีทุกข์จากการหายใจเข้า ร่างกายนี้เป็นทุกข์อยู่ทุกๆ อิริยาบถ นั่งตลอดเวลาได้ไหม ก็ไม่ได้ มันทุกข์ ก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะฉะนั้นการที่เราเปลี่ยนอิริยาบถไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่นแต่เพื่อหนีทุกข์ ส่วนใหญ่ก็เพื่อหนีทุกข์ ยกเว้นแต่เรามีงานต้องไปทำ ใช้ร่างกายทำงาน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่ได้ทำอะไร อยู่เฉยๆ อย่างนี้ เราก็ทุกข์ เราก็ต้องขยับตัว มันปวด มันเมื่อย มันเจ็บ ฉะนั้นถ้าเรามีสติอยู่กับร่างกาย เราเห็นร่างกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ ลงทุกๆ ลมหายใจเข้าออกแล้วมันจะไปเหลืออะไร

ภาวนาไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก เบื้องต้นปัญญามันจะเกิดเห็นร่างกายจิตใจไม่ใช่เรา ไม่มีตัวเรา อันนี้เป็นภูมิจิตภูมิธรรมขั้นต้น เป็นพระอริยบุคคลขั้นต้น พอภาวนาไปเรื่อยๆ มันจะเห็นว่าร่างกายนี้คือตัวทุกข์ มีบางท่านภาวนา แล้วก็เห็นร่างกายนี้สั่งไม่ได้ เวลาเหนื่อยมากๆ บางทีลงไปนอน แล้วลุกไม่ได้ มันเหนื่อยมากๆ ร่างกายนี้ เราสั่งมันไม่ได้ มันเป็นอะไรอนัตตาไปแล้ว ร่างกาย

พอเห็นความจริงอย่างนี้ว่าร่างกายมันยึดถือไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ยึดอะไรไม่ได้ สั่งอะไรไม่ได้จริง จิตมันสลัดร่างกายทิ้ง มันสลัด มันขาดออกจากกัน ระหว่างจิตกับกาย มันไม่ยึดถือร่างกายแล้ว มันรู้ว่านี่ก้อนทุกข์ ก็ถ้ามันเป็นก้อนทุกข์ จะไปยึดมันทำไม ที่เรายึดถือกายเพราะเรารู้สึกมันเป็นก้อนสุข ก้อนดี ก้อนวิเศษของเรา เราเจริญสติเจริญปัญญาจนเห็นความจริง ร่างกายเป็นก้อนทุกข์ จิตมันก็สลัดคืนกายให้โลก ไม่ต้องรอให้เจ้าของมาทวง คนส่วนใหญ่ก็ต้องรอเจ้าของมาทวง คืออยู่ไปจนกระทั่งอยู่ไม่ไหว ธรรมชาติมันก็ทวงเอาร่างกายนี้คืนไป ดินสู่ดิน น้ำสู่น้ำ ลมสู่ลม ไฟสู่ไฟ

ส่วนพวกภาวนาปฏิบัติเจริญสติเจริญปัญญา เรารู้ความจริงแล้ว ร่างกายนี้ที่เราคิดว่าของดี ไม่ใช่ของดีเลย มันคือก้อนทุกข์ เมื่อรู้ว่ามันเป็นก้อนทุกข์ จิตมันจะสลัดคืน คืนไปไหน คืนให้โลกไป คืนตั้งแต่ยังไม่ต้องตายเพราะฉะนั้นต่อไปพอร่างกายมันแก่ มันจะไม่ใช่ว่าเราแก่ ร่างกายเจ็บ ร่างกายตาย ไม่ใช่เราเจ็บเราตาย เราเห็นอย่างนี้ต่อไปอะไรเกิดขึ้นในร่างกาย จิตใจจะไม่ทุกข์ด้วย

ถ้าเราภาวนาไปเรื่อยๆ ละเอียดประณีตขึ้น เราก็จะเริ่มสังเกตเห็นร่างกายนี้พึ่งพาอะไรไม่ได้ แต่จิตนี้ถ้าเราฝึกดีแล้วมีความสุข อย่างจิตเราสงบ เข้าสมาธิได้อะไรได้ โอ๊ย มีแต่ความสุข เราก็คิดว่าจิตนี้เป็นของดีของวิเศษ เป็นที่พึ่งที่อาศัยที่แท้จริง ร่างกายเอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่จิตนี้เอาเป็นที่พึ่งได้ ยังภาวนาไม่พอ

 

สิ้นสุดจากความดิ้นรนปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง

ถ้าภาวนาพอ เราจะตามรู้จิตไป เราก็จะเห็นจิตนี้เป็นของไม่เที่ยง เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย จิตนี้ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เวลามีความสุขเห็นไหม ก็ถูกบีบคั้นให้ความสุขสลายไป เวลามันทุกข์ ไม่ต้องทำอะไรหรอก มันทุกข์ก็เฝ้ารู้เฝ้าดู มันก็สลายไปเหมือนกัน มันจะเป็นกุศลหรืออกุศล มันเกิดแล้วก็แตกสลายไปเหมือนๆ กันหมด เฝ้ารู้เฝ้าดู เห็นจิตนี้มันเป็นอนิจจัง หรือจิตบางทีก็เกิดที่ตา บางทีมันก็เกิดที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ เกิดที่ไหนก็ดับที่นั้น นี่เราเห็นความไม่เที่ยงของมัน

บางทีเราก็เห็นความเป็นอนัตตา จิตนี้จะสุขหรือจิตนี้จะทุกข์ เราเลือกไม่ได้ จิตนี้จะดีหรือจิตนี้จะชั่ว เราเลือกไม่ได้ จิตนี้ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ จิตจะเป็นผู้รู้หรือจะเป็นผู้หลง เราเลือกไม่ได้ จิตจะเป็นผู้รู้ หรือเป็นผู้ไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย หรือไปคิดนึกทางใจ เราก็เลือกไม่ได้ จิตมันทำงานของมันได้เอง อย่างนี้เรียกว่าเราเห็นอนัตตา ส่วนการที่จะเห็นจิตเป็นทุกข์ อันนี้จะต้องเป็นพวกที่ทรงสมาธิมากๆ เรียกพวกทรงฌาน

อย่างท่านที่พระอริยบุคคล พระอนาคามี บางองค์ท่านจะชำนิชำนาญในฌานสมาบัติ บางองค์ก็ได้ปฐมฌานเท่านั้น บางองค์เข้าฌานได้ลึก มีความสุข ก็คิดว่าเป็นที่พึ่งที่อาศัย แล้ววันหนึ่งก็พบความจริงว่าตัวจิตผู้รู้ที่เราอุตส่าห์สร้างมันขึ้นมา ฝึกมันขึ้นมาอย่างยากลำบาก อย่างที่หลวงพ่อสอนพวกเรา ฝึกให้มีจิตผู้รู้ แล้ววันหนึ่งเราจะต้องวางมันให้ได้ จิตผู้รู้เหมือนเรือ เราจะใช้เรือนี้ข้ามสังสารวัฏ มหาสมุทรนี้คือสังสารวัฏ เมื่อเรือนี้เข้าถึงฝั่งคือพระนิพพานแล้ว เราก็ขึ้นฝั่ง เรือนั้นเราก็ทิ้งไป ไม่ต้องไปเอามันไว้อีกต่อไป จิตผู้รู้เหมือนเรือที่จะใช้ข้ามห้วงมหรรณพ ข้ามฝั่งแห่งสังสารวัฏนี้

เรามีจิตผู้รู้แล้วทำอะไรได้ เอาไปเจริญปัญญา เราจะเห็นว่าร่างกายก็ถูกรู้ จิตเป็นผู้รู้ สุข ทุกข์ ดี ชั่วก็เป็นของถูกรู้ จิตเป็นผู้รู้ กุศลอกุศลอะไรก็เหมือนกันหมด เป็นของถูกรู้ พอเห็นอย่างนี้มันรู้เลยว่าร่างกาย สุข ทุกข์ ดี ชั่วอะไรมันเป็นของนอกๆ จิตมันเป็นคนรู้อยู่ ของพวกนอกๆ เป็นของแปรปรวน จิตผู้รู้ดูเหมือนเที่ยง ถ้าเราฝึกเรื่อยๆ เรารู้สึกจิตผู้รู้มันเที่ยง เพราะฉะนั้นอย่างพวกที่เขาเข้าฌานทรงฌาน ในศาสนาอื่นเขาก็มี พวกฤๅษีชีไพรเขาเข้าฌานได้ เขาเลยเกิดความเป็นมิจฉาทิฏฐิ เขารู้สึกจิตนี้เที่ยง จิตนี้เป็นที่พึ่งที่อาศัยได้อย่างแท้จริง แล้วจิตนี้มีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์ จิตนี้เป็นของบังคับได้ พวกที่เข้าฌานแต่ไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า หรือไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง บางทีพอเข้าสมาธิไปแล้วเกิดความหลงผิด ฝากชีวิตฝากเป็นฝากตายเอาไว้กับจิตผู้รู้

แต่ถ้าเราภาวนามากๆ กระทั่งคนที่เขาทรงสมาธิมากๆ ทรงฌานมากๆ แต่อาศัยว่าเคยได้ยินได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้ามาแล้ว จิตมันเคยเจริญวิปัสสนามาชำนิชำนาญแล้ว วันหนึ่งจิตเข้าสมาธิ ทรงตัวอยู่กับจิตผู้รู้ ดูไปมีแต่ความสุข จู่ๆ เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์แก่รอบแล้ว จิตมันไหวตัวทีหนึ่งมันพลิกตัวทีเดียว จากจิตผู้รู้ที่เป็นบรมสุขมันกลายเป็นตัวบรมทุกข์ แล้วเราจะพบว่าไม่มีอะไรทุกข์เท่าตัวจิตเลย ร่างกายที่ว่าทุกข์ มันก็ธรรมดา มันทุกข์ชั่วคราว พอมันแตกสลายไปแต่จิตนี้มันเหมือนอมตะ เหมือนมันไม่รู้จักเป็นไม่รู้จักตายอะไร คงที่อยู่อย่างนั้น

ภาวนาไปเรื่อยแล้วเห็น มันไม่ใช่ของวิเศษเลย บางท่านเห็นว่ามันไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็เกิดเป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลง หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เที่ยง ท่านที่ทรงฌาน จิตที่กำลังมีความสุข มีความอิ่มเอิบด้วยกำลังของฌาน อยู่ๆ มันไหวตัวทีหนึ่ง มันพลิกกลับ จากจิตที่เป็นบรมสุขมันกลายเป็นจิตที่เป็นบรมทุกข์ พอมีสติหยั่งลงไป ปกติเวลามีความทุกข์เกิดขึ้นทางจิตใจ สติหยั่งรู้ปุ๊บขาดสะบั้นทันทีเลย แต่คราวนี้ไม่ขาดๆ มีแต่ทุกข์มากขึ้นๆๆ ถึงจุดหนึ่งมันเหมือนโลกถล่มเปรี้ยงลงไปเลย จิตผู้รู้นี่ถล่มทลายลงไป จิตก็เกิดการปล่อยวางจิตขึ้นมา

อันนี้เป็นลีลาของคนซึ่งเขาทำสมาธิมากๆ ถ้าพวกเราไม่ได้ทำสมาธิมากๆ เวลาที่จะปล่อยวางจิต บางทีก็เห็นอนิจจัง บางทีก็เห็นอนัตตา แล้วแต่คน พวกที่ปัญญามากเขาก็จะเห็นอนัตตา เห็นไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย ควบคุมอะไรไม่ได้ โยนทิ้งไปเลย คราวนี้เราก็จะเข้าถึงความเป็นอิสระที่แท้จริง เข้าถึงสภาวะที่พ้นจากความเสียดแทงทั้งหลายทั้งปวง เป็นสภาวะที่ไม่มีกิเลส ไม่มีความปรุงแต่ง ที่สำคัญคือไม่มีความปรุงแต่ง

ลำพังไม่มีกิเลสหยาบๆ เข้าฌานก็ไม่มีแล้ว แต่ถ้าความปรุงแต่ง อย่างไรก็มี เข้าฌานก็คือความปรุงแต่งอย่างหนึ่ง แต่ตรงที่จิตมันรู้แจ้งแทงตลอด กระทั่งตัวจิตก็เป็นผู้ทุกข์ มันเป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวดี แล้วมันสลัดคืนจิตออกไปแล้ว มันจะรู้เลยว่าสภาวะที่พ้นความปรุงแต่งมันเป็นอย่างไร เรียกว่าวิสังขาร นิพพานคือตัววิสังขาร แล้วเป็นสภาวะที่จิตหมดความอยาก หมดความหิวโหย เรียกว่าวิราคะ ใช้ศัพท์ได้หลายตัวเพื่อจะอธิบายนิพพานตัวเดียวนี้ล่ะ

มันเป็นสภาวะที่ว่าง ว่างจากความปรุงแต่ง ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายทั้งปวง อันนั้นเป็นสภาวะที่เต็มไปด้วยความสุข มีความสุขมีความอิ่มเอิบ ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังว่าตอนที่ท่านวางจิตลงไป จิตท่านก็เบิกบานอย่างมหาศาล น้ำหูน้ำตาร่วงเลย มันมีความสุข ความสุขอันนี้ไม่มีอะไรเหมือน เป็นความสุขจากการที่คล้ายๆ เราทำสงครามมายืดเยื้อยาวนานตลอดชีวิต วันนี้เผด็จศึกได้แล้ว มันมีความสุข มันหมดงาน หมดภาระ หมดหน้าที่ หมดเรื่องที่จะต้องทำต่อไป

เพราะฉะนั้นธรรมะของพระพุทธเจ้ามีที่สิ้นสุด สิ้นสุดตรงนี้ก็สิ้นสุดจากความทุกข์ สิ้นสุดจากความดิ้นรนปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง เป็นบรมสุขไม่มีอะไรเหมือน ในขณะที่ความสุขอย่างโลกๆ เป็นของไม่ยั่งยืน อยู่ชั่วคราวแล้วก็แตกสลาย ความสุขอย่างโลกๆ เป็นเหยื่อของมารที่จะเอามาเกี่ยวตกพวกเรา เราก็เป็นปลาที่ไม่ฉลาด มารเอาเหยื่อมาล่อ คือกามคุณทั้งหลายมาล่อเรา เราก็ติดแล้ว พวกที่ภาวนาสูงขึ้นไประดับพรหมโลก พ้นอํานาจมารไหม ก็ยังไม่พ้น มารเอาสุขที่ละเอียดขึ้นไป คือสุขของฌานสมาบัติ สุขของรูปฌานอรูปฌานมาเป็นเหยื่อล่อให้ติดอยู่อีก

ฉะนั้นเวลาภาวนา เรียนรู้ทุกข์ไป เมื่อไรเห็นร่างกายเป็นทุกข์ จิตก็ปล่อยวางกาย เมื่อไรสามารถเห็นได้ว่าจิตคือทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น ทุกข์เพราะบังคับไม่ได้ จิตสลัดคืนจิตได้ จิตก็ไม่ทุกข์อีกแล้ว นั่นล่ะที่สุดของทุกข์อยู่ตรงนี้ ที่เล่าให้ฟังเป็นเส้นทางที่เราจะต้องพยายามไปให้ถึง ชาตินี้ไปถึงได้ก็ขออนุโมทนา ชาตินี้ยังไปไม่ถึง แต่ตั้งอกตั้งใจภาวนาไปเรื่อย รักษาศีล 5 ให้ดี ทุกวันไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์เกิดความเปลี่ยนแปลงในร่างกายในจิตใจ มีสติคอยรู้ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเราก็จะรู้แจ้งแทงตลอดได้

ชาตินี้ไม่ได้ ชาติต่อไปก็ง่าย ไม่เหมือนพวกที่หลวงปู่ดูลย์ท่านว่า เหลวไหลชาตินี้ ไม่ยอมภาวนา หวังว่าไปพบพระศรีอาริย์แล้วจะบรรลุ ท่านบอกไม่บรรลุหรอก มันเพาะนิสัยที่ไม่ดี นิสัยขี้เกียจขี้คร้าน ติดสุขติดสบายตั้งแต่ชาตินี้ กว่าจะถึงพระศรีอาริย์นิสัยชั่วๆ นี้หนักยิ่งกว่าเก่าอีก ยิ่งภาวนายากกว่าเก่าอีก เพราะฉะนั้นลงมือเสียแต่วันนี้ ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาที่จะยั่งยืนหรอก เป็นศาสนาของคนส่วนน้อย เป็นศาสนาของปัญญาชน ถ้าไม่มีสติไม่มีปัญญา ไม่มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ไปไม่รอดหรอก เราก็จะไปติดเหยื่อของมาร มาหลอกมาล่อเราตลอดเวลา เอาความสุขมาหลอกเรา ฉะนั้นภาวนา ถ้ามุ่งไปที่ความสุขจะตกเป็นเหยื่อของมาร แต่ภาวนาแล้วเห็นทุกข์นั่นล่ะจะพ้นจากอำนาจของมาร

 

 

วันนี้เทศน์ให้ฟังครึ่งชั่วโมงพอดีๆ เลย ก็ตั้งใจจะเทศน์ครึ่งชั่วโมง ต่อไปก็จะต้องเตรียมทอดกฐิน ทอดกฐินที่นี่ไม่มีอะไร จริงๆ ก็แค่พวกเราเอาผ้ามาถวายพระเท่านั้นเอง ไม่ได้เรียกร้องทรัพย์สินเงินทองอะไรหรอก เอาผ้ามาถวายพระเป็นธรรมเนียม รักษาข้อวัตรอันนี้ไว้ รักษาจารีตประเพณีอันนี้ไว้เท่านั้นเอง

สมัยพุทธกาล ผ้าหายาก ฉะนั้นกว่าพระจะได้ผ้ามา มาเย็บมาย้อมอะไรนี่ พระพุทธเจ้าก็บอกให้พระช่วยกันทำ เดี๋ยวนี้ผ้าหาง่าย วันหนึ่งวัดบางแห่ง บางแห่งก็รวมที่นี่ด้วย วันหนึ่งก็ได้ผ้ามาเยอะแยะเลย ได้บาตร ได้จีวรอะไร เราก็ส่งไป ไม่เอาไปขาย ส่งไปแจกตามวัดที่เขาไม่มี ก็เป็นบุญของพวกเรา ฉะนั้นทานที่พวกเรามาทำที่นี่ ไม่ได้สูญเปล่า ไม่ได้เสียประโยชน์ ไม่ได้ตกไปสู่ธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น เอาไปแจกต่อทั้งหมด รวมทั้งข้าวของอะไรต่ออะไร

ไหนๆ วันนี้เป็นวันทอดกฐินทั้งที เดี๋ยวตอนที่เสร็จพิธีในโบสถ์ หลวงพ่อจะให้เปิดโบสถ์ ให้พวกเราเข้าไปไหว้พระ แต่พวกเราเยอะ โบสถ์เล็กนิดเดียว เพราะฉะนั้นขอให้เราใช้ระบบเดียวกับหมูเด้ง คือเข้าไปแล้วก็รีบออกเลย เข้าข้างหน้า เข้าประตูซ้ายด้านหน้า แล้วก็เดินไปก็ออกประตูขวาข้างหน้า ไม่ต้องเข้าไปวนข้างใน ข้างในยังไม่ค่อยเรียบร้อย เดี๋ยวชำรุดเสียหายไป รอให้ทำพิธีทางสงฆ์ให้เสร็จก่อน

เราไปดู อยากดูก็ไปดู จะถ่ายรูปก็ไม่ห้าม บางคนบอกวัดนี้ห้ามถ่ายรูป ไม่ใช่ อันนั้นเข้าใจผิดแล้ว หลวงพ่อไม่ให้ถ่ายรูปตอนหลวงพ่อเทศน์เท่านั้นล่ะ เวลาอื่นอยากถ่ายก็ถ่าย อย่าไปถ่ายตามห้องน้ำก็แล้วกัน มันทุเรศไป ฉะนั้นจะไปดูในโบสถ์หรือจะถ่ายรูป ไม่ว่าอะไร แต่อย่าช้า คนข้างหลังยังรออยู่อีกเยอะ เข้าไปแล้วจะรู้เลย โบสถ์ข้างในเล็กนิดเดียว หลวงพ่อสร้างไว้สำหรับ พระทำสังฆกรรม 30 องค์เท่านั้น ไม่ได้ทำไว้เยอะหรอก มันใหญ่ขึ้นมาเพราะมันมีระเบียงมีอะไร มันเลยดูโต ระเบียงก็จะได้เอาไว้ให้พวกเราไปนั่งสมาธิไปอะไร เดินจงกรมเดินข้างล่าง ข้างบนแคบ ขึ้นไปนั่งสมาธิได้ มี เก้าอี้ให้นั่ง เชิญ เตรียมจัดสถานที่

เสร็จแล้วง่ายไหม ไม่เห็นมีอะไรเลย ทำให้ยากก็ได้ ทำให้ง่ายก็ได้ หลวงพ่ออนุโมทนาทุกคน เราก็ช่วยกันรักษาธรรมะเอาไว้ แต่ธรรมะเหมือนแก่นไม้ ไม่มีเปลือกมันก็อยู่ไม่ได้ ต้นไม้ จารีตประเพณีในทางพระพุทธศาสนาเหมือนเปลือกไม้ห่อหุ้มแก่นเอาไว้ ถ้าไม่มีเปลือก ต้นไม้ก็ตาย เพราะคนส่วนใหญ่นั้นมันเข้าถึงแก่นไม่ได้ ต้องใช้เวลา คนส่วนใหญ่ก็มองได้แต่ข้างนอก เห็นแต่รูปแบบกิจกรรมอะไร ถ้าเขาทำ เขาเห็นแล้วจิตของเขาเป็นกุศล ก็ถือว่าก็ได้กำไรแล้ว

ที่นี่เป็นกฐินสามัคคี ถือว่าทุกคนเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ได้บุญด้วยกัน ต่อไปพระท่านจะอนุโมทนาให้ ใครจะกรวดน้ำก็กรวด ไม่กรวดก็ไม่ต้อง

(พระให้พร)

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
20 ตุลาคม 2567