กับดักบนเส้นทางปฏิบัติ

พระเราวันนี้ดูดี ดูจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว มีเรี่ยวมีแรง การภาวนาขั้นแรกสุดเลย ต้องพัฒนาจิตก่อนให้จิตมีกำลังตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตรงที่จะให้จิตตั้งมั่นขึ้นมามันใช้เวลา เพราะปกติจิตของเราคุ้นเคยที่จะหลง บางองค์ใช้เวลาหลายเดือน เป็นปีเหมือนกัน วิธีฝึกจิตให้ตั้งมั่น ทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่งให้จิตมันมีเครื่องอยู่ อยู่กับพุทโธก็ได้ อยู่กับลมหายใจก็ได้ อยู่กับร่างกายที่เคลื่อนไหวไปมาก็ได้ แต่ว่าเราไม่ได้เอาจิตไปแนบเข้ากับอารมณ์กรรมฐาน เราทำกรรมฐาน ไปแล้วเราคอยรู้ทันจิตไป จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นเป็นผู้รู้ได้ วันนี้ต้องพูดช้าหน่อย หายใจไม่ออก

อย่างเราหายใจเข้าหายใจออกอะไรอย่างนี้ แล้วจิตเราหนีไป หนีไปคิดอย่างนี้ เรารู้ว่าจิตหนีไปคิด ถ้าหายใจไปแล้วจิตไหลไป อยู่ที่ลมหายใจ ให้เรารู้ทันว่าจิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ ค่อยฝึกไป ตรงที่เรารู้ทันจิตว่าจิตมันเคลื่อนไปหรือมันไปทำอะไร จิตจะตั้งมั่น ขึ้นโดยอัตโนมัติ นี่เป็นงานแรกของการทำกรรมฐาน ไม่นับถึงเรื่องการรักษาศีลอะไรอย่างนั้น นี้เรื่องของการฝึกจิต จริงๆ

จุดตั้งต้นก็ฝึกให้จิตมันตื่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ให้มันตั้งมั่นขึ้นมา วิธีการคือทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่งแล้วรู้ทันจิต อย่างเราเคลื่อนไหว เดินจงกรมอย่างนี้ ไม่ได้ไปดูร่างกายเดิน เดินจงกรมไปอย่างนั้น เดินเป็น background ให้จิตมีเครื่องอยู่ พอจิตมันหนีไปที่อื่น เราจะรู้ง่ายว่ามันหนีไปแล้ว ลืมการเดินไปแล้ว ตรงที่เรารู้ทันว่าจิตหนีไป จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นเอง แล้วเราก็ทำกรรมฐานเดิมต่อไป อย่างเช่น เดินต่อไป เดินไปเรื่อยๆ สบายๆ จิตไหลลงไปอยู่ที่เท้าอะไรอย่างนี้ก็รู้ทัน ตรงที่เรารู้ทันว่าจิตไหล ไปที่เท้าจิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาอีก ทุกครั้งที่เรารู้ทันการทำงานของจิต ความตั้งมั่นของจิตก็จะเกิดขึ้น

หรือบางคนดูท้องพองยุบ ถามว่าผิดไหม ไม่ผิดหรอก ต้องดูให้เป็น ถ้าดูท้องพองยุบแล้วจิตมันไหลไปแนบอยู่ที่ท้อง อันนั้นผิดแล้ว มันได้แค่สมถะ สมาธิชนิดสงบ แต่ถ้าเราดูท้องพองยุบอยู่จิตไหลไปที่ท้อง เรารู้ว่า จิตไหลไปที่ท้อง จิตจะตั้งมั่นขึ้นโดยอัตโนมัติ พอตั้งมั่นแล้ว ก็เห็นร่างกายมันพอง เห็นร่างกายมันยุบต่อไป ถ้าจิตไหลไปอีกก็รู้อีก บางทีก็ไหลไปที่ท้อง บางทีก็ไหลไปคิดเรื่องอื่น อย่างดูท้องพองยุบ แล้วจิตไหลไปคิดอย่างนี้ ก็รู้ว่าจิตไหลไปคิด จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา

วิธีที่จะฝึกให้จิตตั้งมั่น ก็ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิต ที่มันไม่ตั้งมั่น จิตที่มันเคลื่อนไปเคลื่อนมา อย่างหลวงพ่อถนัด ทำอานาปานสติ หายใจออก หายใจเข้าด้วยความรู้สึกตัว แล้วจิตมันหลงไปคิด รู้ทัน จิตมันก็ตั้งมั่น จิตมันไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ รู้ทัน จิตก็ตั้งมั่น พอลมหายใจละเอียด ลมหายใจระงับไปกลายเป็นแสงสว่าง จิตไหลเข้าไปในแสงสว่าง รู้ทัน จิตก็ตั้งมั่น

 

นิมิต

ตรงจิตไหลไปที่ลมหายใจยังไม่เท่าไร แต่ตรงที่จิตมันไหลเข้าไปที่แสง คล้ายๆ เราควบคุมแสงได้ กำหนดให้มันแผ่กว้างอย่างไรก็ได้ ให้มันย่อลงมาก็ได้ ย่อได้ ขยายได้ เป็นปฏิภาคนิมิตแล้ว ตรงนี้จิตมีอุปจารสมาธิ จุดจะพลาดก็พลาดกันตรงนี้ คือพวกนิมิต ทั้งหลายมันจะเกิดขึ้น ถ้าเข้าถึงอัปปนาแล้วนิมิตไม่มีแล้ว แต่ก่อนจะถึง อัปปนาสมาธิ จิตอยู่ในอุปจารสมาธิ นิมิตมันจะเกิด เพราะฉะนั้น ตัวนิมิตเป็นอุปสรรค เป็นศัตรูหลอกล่อ ให้จิตไม่เดินสมาธิไป ในทิศทางที่ถูกต้อง หลง

นิมิตมีทุกรูปแบบ เป็นรูปก็มี อย่างเรานั่งหายใจอยู่ จิตสว่างออกมา ความสว่างแผ่ไปถึงไหนก็เห็นไปถึงนั่น ผีสางอะไรมาก็เห็น อันนี้นิมิตที่เป็นรูป ผีจริงหรือผีปลอมไม่มีนัยยะอะไร มันคือสิ่งที่จิตไปรู้เข้าเท่านั้นเอง จิตสร้างขึ้นเองก็ได้ ฉะนั้นบรรดานิมิตทั้งหลายมันเห็นได้สำหรับผู้ปฏิบัติ แต่มันจริงหรือไม่จริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่าไปหลงกับมัน นิมิตเป็นเสียงก็มี นั่งอยู่แล้วได้ยินเสียง บางทีเสียงมาถามเรา มาอนุโมทนาสาธุ อนุโมทนาอะไรอย่างนี้ มันก็เป็นนิมิตเสียง เป็นนิมิตกลิ่นก็มี บางทีนั่งอยู่หอมดอกไม้ตลบเลย บางทีก็เหม็น ได้กลิ่นศพกลิ่นอะไรขึ้นมา แล้วก็มโนต่อ หอมๆ นี่เทวดามา กูเก่ง เทวดามาไหว้กู ไปนั่นเลย หรือนิมิตเหม็น โอ้ ผีมาแล้ว ผีมาตาโบ๋ กลัว สมาธิแตกอะไรอย่างนี้ นี่นิมิตมันหลอกลวงเราอย่างนี้

นิมิตเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น นิมิตเป็นรสก็มี อย่างเราฉันอาหารอยู่ ถ้าจิตเราสงบมีสมาธิพอประมาณบางทีข้าวเปล่าก็อร่อย หอมหวาน อร่อยอะไรอย่างนี้ พิเศษ เราก็มโน นี่เทวดาคงเอาอาหารทิพย์มาหยอดให้ ถูกนิมิตหลอกอีกแล้ว กิเลสก็ฟูขึ้นมา นิมิตเป็นสัมผัสทางร่างกายก็มี เหมือนคนมานวดขาให้อะไรอย่างนี้ก็มี หรือตรงนี้บางคนบอกผีหักคอ มันเป็นนิมิต โอ้ นั่งภาวนาอยู่ ผีมาบีบคอแล้ว ลืมตามาดูไม่เห็นมีอะไรเลย นี่จิตมันหลอก นิมิตเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีหมดเลย เป็นธรรมารมณ์ก็มี อยู่ๆ ก็มีความรู้สึกแปลกปลอมแทรกเข้ามา เราก็คิดว่า อุ๊ย ใครมันส่งอะไรมา จริงๆ จิตมันสร้างขึ้นมาก็ได้ นิมิตนี่มันมีทั้ง ของจริงของปลอม เพราะฉะนั้นอย่าเอามาเป็นเรื่องสาระสำคัญ ไม่ใช่เรื่อง สำคัญ สิ่งที่สำคัญคือจิต ไม่ใช่คือนิมิต

เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ถ้าจิตมันไม่เข้าสมาธิไปถึงอุปจารอะไร ก็ยังไม่มีนิมิตหรอก พยายามรู้สึกๆ ไป ถ้านิมิตเกิดก็อย่าไปตกอกตกใจ มันก็แค่สิ่งที่ถูกรู้ นิมิตเกิดทำอย่างไร นิมิตเกิดย้อนมารู้จิตตัวเองว่า จิตไหลไปอยู่ที่นิมิต ใช้หลักข้อนี้เลย คือรู้ทันจิต นั่งสมาธิอยู่ จิตไหลออกไปแล้วไปเห็นผีอย่างนี้ ไม่ต้องสนใจว่าผีจริงหรือผีปลอม ให้รู้ทันว่าตอนนี้จิตส่งออกไปดูผีแล้ว ส่งออกไปข้างนอกแล้ว ทันทีที่รู้ว่าจิตไหลออกไป จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นโดยอัตโนมัติ

 

จับหลักตัวนี้ให้แม่นๆ
คือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คอยรู้เท่าทันจิตตนเอง
มันไหลไปทำอะไรที่ไหนเมื่อไร คอยรู้ไว้
แล้วจิตจะตั้งมั่นขึ้นโดยอัตโนมัติ

 

เราจะฝึกจิต ตัวแรกเลยฝึกจิตให้ตั้งมั่นขึ้นมาให้ได้ก่อน ฝึกทุกวันๆ ผ่านวัน ผ่านเดือน ผ่านปีไป จิตจะค่อยๆ มีกำลังเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่ามันก็ยังเป็นของเสื่อมได้ เพราะมันเป็นโลกิยธรรมอยู่ สมาธิที่เราฝึก มันยังไม่ใช่โลกุตตระ มันยังเป็นโลกิยะ ยังเสื่อมอยู่ เสื่อมก็ไม่ต้องตกใจ วันนี้จิตที่เคยสงบมันกลับฟุ้งซ่าน ไม่ต้องตกใจ ทำความสงบกลับเข้ามาใหม่ หมายถึงย้อนกลับเข้ามารู้เท่าทันจิตใหม่ ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น จิตไม่ชอบนี่รู้ว่าจิตไม่ชอบ ทันทีที่รู้ทันจิตใจตัวเอง ความไม่ชอบก็ดับ จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้อีกแล้ว จับหลักตัวนี้ให้แม่นๆ คือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คอยรู้เท่าทันจิตตนเอง มันไหลไปทำอะไรที่ไหนเมื่อไร คอยรู้ไว้ แล้วจิตจะตั้งมั่นขึ้นโดยอัตโนมัติ

คราวนี้พอจิตตั้งมั่นแล้ว งานต่อไปของเราของการปฏิบัติ ขั้นที่หนึ่ง ฝึกให้จิตตั้งมั่น ตรงนี้อาจจะใช้เวลาเยอะ ขั้นต่อไปก็คือแยกขันธ์ให้ได้ ตรงที่เราฝึกจิตให้ตั้งมั่นเป็นเรื่องของการทำสมาธิ แล้วเราจะก้าวขึ้นสู่ การเจริญปัญญา เราต้องแยกขันธ์ให้ออก การแยกธาตุแยกขันธ์เป็นจุดตั้งต้น ของการเจริญปัญญา อย่างเรานั่งหายใจอยู่ หายใจเข้าพุทออกโธ อะไรที่เราเคยทำ พอจิตมันตั้งมั่นขึ้นมามันจะเห็นร่างกายที่นั่งอยู่ ร่างกายที่หายใจอยู่ ร่างกายที่เดินอยู่เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา เป็นผู้รู้ผู้ดู จิตกับอารมณ์จะแยกจากกัน

มันจะมีคำคู่หนึ่งเกิดขึ้น คือคำว่าจิตกับคำว่าอารมณ์ จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ อารมณ์คือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่จิตไปรู้เข้า รูปที่ตามองเห็นนี่ก็เป็นอารมณ์ เสียงทั้งหลายก็เป็นอารมณ์ กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือเรื่องราวที่คิดอะไรอย่างนี้ พวกนี้ก็เป็นอารมณ์ จิตคือคนที่ไปรู้อารมณ์ทั้งหลาย เราจะต้องพัฒนาจากจิตที่ตั้งมั่น ไม่ได้ตั้งอยู่เฉยๆ โง่ๆ อยู่แค่นั้น พอจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมาแล้วแยกขันธ์

ง่ายที่สุดเลยก็แยกกายกับจิตออกจากกัน อย่างขณะนี้ร่างกายนั่งอยู่ จิตเป็นคนรู้ ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ ไป ร่างกายเดิน จิตเป็นคนรู้ ร่างกายนอน จิตเป็นคนรู้ ต่อไปก็รู้ละเอียด ร่างกายขยับอย่างนี้ ขยับ จิตก็เป็นคนรู้ ร่างกายขยับ พยักหน้าอย่างนี้ เห็นไหมมันเป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ ฝึกอย่างนี้ เราจะแยกขันธ์ได้ แยกรูปแยกนามได้ ในตำราเขาจะเรียก นามรูปปริจเฉทญาณ มันจะแยกรูปแยกนามออกจากกันได้ อย่างรูปมัน เคลื่อนไหว นามคือจิตมันเป็นคนรู้ รูปมันเดิน จิตเป็นคนรู้ รูปมันนั่ง จิตเป็นคนรู้ รูปมันนอน จิตเป็นคนรู้ รูปเคลื่อนไหว จิตเป็นคนรู้ รูปหยุดนิ่ง จิตเป็นคนรู้

ฝึกเรื่อยๆ ไป เป็นการฝึกเจริญปัญญาขั้นที่หนึ่ง คือการแยกรูป แยกนามออกจากกัน พอเราแยกชำนิชำนาญแล้ว ต่อไปเราแยกได้ ละเอียดขึ้นอีก ทีแรกก็เห็นว่ารูปก็อยู่ส่วนหนึ่ง จิตก็อยู่ส่วนหนึ่ง นั่งไปนั่งมาเราเห็น ความปวดความเมื่อยมันเกิดขึ้นในร่างกาย ร่างกายทีแรก ไม่ปวดไม่เมื่อย ตอนนี้ความปวดความเมื่อยแทรกเข้ามา แสดงว่าความปวด ความเมื่อยกับร่างกายนี่คนละอันกัน คนละส่วนกัน ภาษาไทยบอก คนละส่วนกัน ภาษาบาลีคือคนละขันธ์กัน

 

การแยกขันธ์เป็นจุดตั้งต้นของการเจริญปัญญา

คำว่า ขันธ์ เราได้ยิน เราตกใจ อย่าไปกลัวมัน คำว่า ขันธ์ แปลว่า ส่วน มันแยกเป็นส่วนๆ นี้พอนั่งอยู่ ความปวดความเมื่อยเกิด เราเห็น เออ ทีแรกไม่ได้ปวดได้เมื่อย ร่างกายอยู่อย่างนี้ ความปวดความเมื่อย แทรกเข้ามา เพราะฉะนั้นความปวดความเมื่อยไม่ใช่ร่างกาย แล้วความปวด ความเมื่อยก็ไม่ใช่จิต จิตเป็นคนไปเห็นความปวดความเมื่อยเข้า จิตเป็นคนไปรู้ความปวดเมื่อย พอเห็นอย่างนี้ เราก็แยกได้ 3 ขันธ์แล้ว แยกกาย แยกรูป แยกเวทนา แยกจิต คือตัววิญญาณขันธ์ ก็แยกออกจากกันได้ เราก็ดูต่อไปอีก พอปวดเมื่อย ใจเริ่มกระวนกระวาย ความปวดเมื่อยกับความกระวนกระวายมันก็คนละอันกัน คนละส่วนกัน คนละขันธ์กัน ความกระวนกระวายของจิต มันอยู่ในสังขารขันธ์ เป็นความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต เราก็จะเห็นอีก เออ ร่างกายก็อันหนึ่ง ความปวดความเมื่อยก็อันหนึ่ง ความกระสับกระส่าย ทุรนทุรายของจิตใจ ก็เป็นอีกอันหนึ่ง จิตก็เป็นอีกอันหนึ่ง เป็นคนรู้ นี่เราแยกขันธ์ได้

การแยกขันธ์เป็นจุดตั้งต้นของการเจริญปัญญา ถ้าแยกขันธ์ไม่เป็น แยกรูปแยกนามไม่เป็น ไม่เรียกว่าการเจริญปัญญา อย่างเราเห็นร่างกาย เราทั้งร่างกายอยู่ๆ นั่งสมาธิอยู่ มันแตกสลายเน่าเปื่อยอะไรอย่างนี้ โดยที่ไม่ได้มีจิตเป็นผู้รู้เลย มันเป็นนิมิตเฉยๆ ขึ้นมา ไม่ใช่การเจริญปัญญา เจริญปัญญาก็ต้องแยกรูปแยกนาม แยกธาตุแยกขันธ์ให้ได้ก่อน ทีนี้จะแยกได้จิตต้องตั้งมั่น ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น จิตก็จะไหลไปรวมกับ ทุกสิ่งทุกอย่าง รู้ร่างกาย จิตก็ไหลไปอยู่ที่ร่างกาย เช่น ดูท้องพองยุบ จิตไหลไปอยู่ที่ท้อง รู้ลมหายใจ จิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ เดินจงกรมจิตไหลไปอยู่ที่เท้า ไม่มีการแยก มันไปรวมกันหมดเลย มันใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราถึงต้องฝึกให้จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดูก่อน

พอจิตตั้งมั่นแล้วเราก็แยกขันธ์ต่อไป นี้การแยกขันธ์ ต่อไปเรา ก็จะเริ่มเห็น ขันธ์แต่ละขันธ์มันมีแต่ความไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทีแรกอาจจะเจือการคิด ตรงที่เจือการคิดก็เป็นการเจริญปัญญาอีกระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เป็นวิปัสสนา อย่างเราคิดพิจารณาร่างกาย รูปนี้ไม่สวยไม่งามอะไรอย่างนี้ เป็นสมถะแท้ๆ เลย รูปนี้เป็นปฏิกูลอสุภะ อันนี้คือการทำสมถะ แล้วรูปนี้ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวยืน เดี๋ยวเดิน เดี๋ยวนั่ง เดี๋ยวนอน คิดพิจารณาไป อันนี้ดูว่า เป็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง แต่มันยังไม่ใช่วิปัสสนา มันยังเจือการคิดอยู่ มันยังเจือปัญญาจากการคิดอยู่ บางคนก็ผ่านตรงนี้อย่างรวดเร็ว บางคนก็ต้องอาศัยตรงนี้เป็นทางผ่านที่จะขึ้นสู่วิปัสสนา เห็นจิตมันตั้งมั่น รู้ตัวอยู่เฉยๆ ไม่ยอมเดินปัญญาอย่างนี้ ต้องช่วยมันคิดพิจารณา

พอแยกขันธ์ได้แล้วก็ดูไป ร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ช่วยคิดไป หรือเราเห็นเวทนานี้ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สังขารทั้งหลาย ความปรุงดี ความปรุงชั่วทั้งหลายก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตรงนี้ช่วยมันคิด บางคนไม่ต้องผ่านตรงนี้นาน ไม่ต้องช่วยเลย มันเห็นจริงๆ ตรงที่เห็นสภาวะอย่างแท้จริงว่ารูปธรรมอันนี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นามธรรมอันนี้ เช่น เวทนาหรือสังขารนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อันนั้นจิตขึ้นสู่วิปัสสนากรรมฐานแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะต้องเห็นเอา วิปัสสนา ปัสสนะแปลว่าการเห็น ไม่ใช่การคิด ไม่ใช่วิตก ไม่ใช่การตรึก วิปัสสนาคือการเห็นจริง เห็นแจ้ง เห็นจริง เห็นแจ้งก็คือเห็นว่ารูป ร่างกายนี้ เวทนา สุข ทุกข์ทั้งหลาย สังขารที่ปรุงดี ปรุงชั่วทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้ถึงจะเรียกว่าทำวิปัสสนา เห็นเอา ไม่ใช่คิดเอา ถ้าคิดเอายังเป็นปัญญาขั้นต้น เบื้องต้น ยังไม่ขึ้นสู่วิปัสสนากรรมฐาน

ฉะนั้นเราค่อยๆ ฝึกไป แต่ทีแรกอยู่ๆ จะขึ้นวิปัสสนาเลย บางคนอินทรีย์เก่าก่อนที่เคยสะสมมาไม่พอ ปัญญินทรีย์ไม่พอ มันไม่ยอม เดินปัญญา ไม่ยอมทำวิปัสสนา เราช่วยมันด้วยการคิดพิจารณาลงไปก่อน พอจิตมันเคยมองร่างกาย มองเวทนา สุข ทุกข์ มองสังขาร ดี ชั่วว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้ว ต่อไปมันจะเห็นได้เอง โดยไม่ต้องเจตนา ตรงเห็นโดยไม่เจตนานี้ล่ะจิตขึ้นวิปัสสนาจริงๆ แล้ว จะเห็นร่างกายนี้ ร่างกายที่หายใจออกนี่เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เกิดเป็นร่างกายหายใจเข้า ร่างกายที่หายใจเข้าเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป กลายเป็นร่างกาย ที่หายใจออก มันจะเห็น มันเห็นด้วยตัวของตัวเอง เห็นโดยไม่ได้คิดเลย หรือร่างกายที่มันยืน เดิน นั่ง นอน เราเห็นมันยืน เดิน นั่ง นอน มันของถูกรู้ถูกดู มันเป็นแค่วัตถุ ร่างกายนี้เป็นแค่ก้อนธาตุ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา อย่างนี้เรียกเห็นอนัตตา

เฝ้ารู้เฝ้าดูไป เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน 3 บรรพแรก เรื่องอานาปานสติ อันที่สอง อิริยาบถ อันที่สาม สัมปชัญญะ 3 ตัวนี้ ถ้าดูให้ดี อานาปนสติ การที่เห็นร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้านี่ ตัวที่ดูง่ายคือตัวอนิจจัง เพราะมันเปลี่ยนตลอดเวลา เดี๋ยวก็หายใจออกปุ๊บ เดี๋ยวหายใจเข้าอีกแล้ว แต่อย่างเราดูรูปยืน เดิน นั่ง นอน กว่าจะเปลี่ยน อิริยาบถมันนาน บางทีนั่งได้เป็น 1 – 2 ชั่วโมง มันถึงจะเปลี่ยนอิริยาบถ แต่ตัวที่ดูง่าย ถ้าเรานั่งนิ่งๆ อยู่ตัวทุกข์ดูง่าย อย่างลมหายใจ เราเห็นมัน เปลี่ยนตลอดเวลา เราดูอนิจจังง่าย

แต่อิริยาบถ 4 ดูตัวทุกข์ง่าย แต่ถ้าก้าวไปถึงสัมปชัญญบรรพ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ขยับซ้ายขยับขวา รู้สึก เหลียวซ้ายแลขวา รู้สึก ก้าวไป รู้สึก ถอยหลัง รู้สึกอะไรนี่ การที่รู้สึกถึงร่างกายที่ขยับเขยื้อน เคลื่อนไหว หรือร่างกายที่หยุดนิ่งเรื่อยๆ ตัวที่เห็นง่ายคืออนัตตา เราจะเห็น ได้ง่ายๆ เลย ตัวนี้ที่ขยับไปขยับมาเป็นแค่วัตถุ เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง เท่านั้นเอง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขาหรอก

ถ้าจิตมันรู้จักมอง มันจะเริ่มเห็นไตรลักษณ์ ตรงที่มันเห็นไตรลักษณ์โดยเราไม่ได้เจตนา ไม่ได้คิดนำ ไม่ได้อะไร ตรงนั้นไม่ได้มีเจือความคิด ตรงนั้นเราขึ้นวิปัสสนาแล้ว เราเห็นว่า รูปอันนี้ไม่เที่ยง เช่น รูปหายใจออก รูปหายใจเข้านี้เราไม่เที่ยง รูปยืน เดิน นั่ง นอน ทำไมต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนอิริยาบถเพราะถูกความทุกข์บีบคั้น นั่งนานๆ เมื่อย มันก็ต้องลุกขึ้นยืน ยืนนานเมื่อย มันก็ต้องลุกขึ้นเดิน ต้องเดินต่อไป ยืน เดิน นั่งนานๆ มันเมื่อย ก็ลงนอน เพราะฉะนั้นอิริยาบถ มันจะสะท้อนเลย เกิดอิริยาบถมากมาย เพราะมันจำเป็น เพราะร่างกายมันถูก ความทุกข์บีบคั้นอยู่ ฉะนั้นในอิริยาบถตัวที่ดูได้เด่นชัด คือตัวทุกข์ๆ ทุกขตา ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา

แต่ถ้าเราดูทั้งตัวอย่างนี้ สติเราดี สมาธิเราพอ ขยับอะไรนี่ เรารู้ตัวหมดเลย เราจะเห็น เอ๊ะ นี่ไม่ใช่คนหรอก ที่ยกมือนี่ไม่ใช่คนหรอก นี่ก็ไม่ใช่มือเรา มันเป็นวัตถุที่เคลื่อนไหวไปมาเท่านั้นเอง มันเห็นอนัตตาง่าย หรือถ้าเราดูเวทนา เราก็จะเห็นเวทนาเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เห็นต่อหน้าต่อตา ความสุขในร่างกายเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ความทุกข์ในร่างกายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ความสุขในจิตใจเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ความทุกข์ในจิตใจ หรือความเฉยๆ ในจิตใจเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ตรงที่เราเห็นมันเกิดดับๆๆ ไปนี่เรียกว่าเราเริ่มวิปัสสนาแล้ว เป็นวิปัสสนา

การดำเนินวิปัสสนาขั้นที่หนึ่ง เรามีปัญญาเรียกว่าอุทยัพพยญาณ เห็นความเกิดดับของรูปของนาม เราฝึกเรื่อยๆ ไป บางทีก็เห็น ถ้าเราดูจิตดูใจก็เห็นเดี๋ยวจิตโกรธ เดี๋ยวจิตไม่โกรธ นี่จิตมันโกรธเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เกิดเป็นจิตไม่โกรธ จิตไม่โกรธเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป กลายเป็นจิตโกรธอีกแล้ว หรือเป็นจิตโลภอีกแล้ว เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ตรงนี้เราก็จะเห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันไม่เที่ยง จิตใจนี้สะท้อน ความไม่เที่ยงได้เร็วยิ่งกว่าลมหายใจอีก เพราะจิตใจนี้ เปลี่ยนตลอดเวลา เปลี่ยนรวดเร็วมากเลย เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ อะไรอย่างนี้ วุ่นวายอย่างนี้ทั้งวัน ตรงที่เราเห็นมันเกิดดับ เปลี่ยนแปลงนั่นล่ะเรียกว่าเราเจริญวิปัสสนาแล้ว

 

โอภาส

แต่การเจริญวิปัสสนาเราต้องเข้าใจอย่างหนึ่ง จิตที่เราชาร์จพลังไว้ จนกระทั่งตั้งมั่นเป็นผู้รู้ พอเราเอามันไปเจริญปัญญา มันเหมือนเรา ใช้พลังงานออกไป หัดใหม่ๆ พลังงานของจิตจะลดลงอย่าง รวดเร็วเลยโดยเราไม่รู้ตัว อย่างจิตทีแรกก็ตั้งมั่น พอดูเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในรูปในนามนี่ แป๊บเดียวมันไหลเข้าไปตรงที่ถูกรู้แล้ว มันไหลเข้าไป ที่ร่างกายที่หายใจอยู่อะไรอย่างนี้ หรือดูไปๆ กลายเป็นพลิกไปทำนิมิตเกิดขึ้น เห็นร่างกายแตกสลายไป จิตหลงไปอยู่ในว่างอะไร สารพัดจะหลอกเรา ยิ่งถ้าพวกดูจิตๆ บางทีเราเห็นจิตมีโทสะผุดขึ้นมา พอเราไปดูจิต ที่มีโทสะมันเคลื่อนแล้วเราไม่ได้ตั้งมั่นพอที่จะเห็นว่าจิตเคลื่อน จิตเคลื่อนไป พร้อมกับโทสะ เคลื่อนออกไป แล้วโทสะดับปุ๊บ เราไม่รู้ว่าจิตไม่ถึงฐานแล้ว จิตไปอยู่ข้างนอกแล้ว พอโทสะดับปุ๊บ จิตก็สว่าง ว่าง โล่งขึ้นมา ตัวนี้เรียกว่า โอภาส เป็นวิปัสสนูปกิเลส

วิปัสสนูปกิเลสมี 10 ตัว ถ้าเราเริ่มทำวิปัสสนากำลังของ สมาธิมันหมดแล้วเราไม่รู้ทัน วิปัสสนูปกิเลสจะต้องเกิดขึ้น เมื่อกี้บอกแล้ว นิมิตเป็นเครื่องหลอกล่อทำลายให้สมาธิเราไม่พัฒนา วิปัสสนูปกิเลส เป็นตัวหลอกล่อทำให้การเจริญวิปัสสนานั้นไม่พัฒนาต่อไป คือศัตรู นิมิตเป็นศัตรูของสมาธิที่ประณีต วิปัสสนูปกิเลสเป็นศัตรูของ การทำวิปัสสนาที่ละเอียดประณีตมากขึ้น ขวางอยู่อย่างนั้น พอจิตเราไป ติดในแสงสว่าง ว่างอะไรอย่างนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรดี ปกติไม่รู้ ถ้าไม่รู้ทำไปนานๆ จิตสบาย จิตว่าง จิตสบายอยู่เป็นปีเลยก็ได้

หลวงพ่อเคยทำแล้วพลาด จิตว่างนั่นล่ะพวกดูจิตๆ ระวังไว้ให้ดี พลาดไปอยู่ในความว่างโดยไม่ทันระวังตัว ไม่ทันรู้ตัว แต่หลวงพ่อ เป็นคนช่างสังเกต หลวงพ่อก็ดูตรงนี้มัน พระพุทธเจ้าว่าจิตไม่เที่ยง ทำไมตัวนี้ดูเที่ยง กี่วันๆ ก็สบายอยู่อย่างนี้ โล่งอยู่อย่างนี้ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องมันเป็นทุกข์ ตรงนี้ไม่เห็นมันทุกข์เลย มันสุขจะตายไป กิเลสอะไรก็ไม่เห็นมีเลย พระพุทธเจ้าว่ามันเป็นอนัตตา ทำไมเราบังคับได้ เราอยู่ตรงนี้นานเท่าไรก็อยู่ได้อะไรอย่างนี้ เพราะมันเป็นเรื่องของสมาธิ โอภาสตัวนี้ พอเฉลียวใจว่ามันไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอน ก็รู้แล้วว่าต้องมีอะไรผิด แต่ดูไม่ออกว่ามันผิดอย่างไร

พอดีไปเจอหลวงตามหาบัว ไม่ใช่ไปเจอหรอก คือไปกราบท่านนั่นล่ะ สมัยโน้นบ้านตาดคนยังน้อย ท่านฉันข้าวอยู่บนศาลาเล็กๆ ขึ้นไปกราบได้ ไม่มีใครกีดกันหวงห้ามอะไร ก็ไปถามท่านบอก “พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิตอยู่ แต่ทำไมผม เห็นว่ามันไม่พัฒนาเลย” ไปบอกท่านอย่างนี้ ท่านมองหน้าปั๊บ แล้วท่านก็ตอบเลยบอกว่า “ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรานะ ตรงนี้สำคัญนะ เราผ่านมาด้วยตัวเราเอง อะไรๆ ก็สู้บริกรรมไม่ได้” ท่านบอกอย่างนี้ หลวงพ่อก็กราบท่าน ถอยออกมานั่งพุทโธๆ นี้หลวงพ่อไม่ถนัดพุทโธเฉยๆ ต้องมีลมหายใจด้วย พอพุทโธเฉยๆ แล้วอึดอัด

หลวงพ่อก็นึกว่า เอ ทำไมท่านให้เรากลับมาบริกรรม แสดงว่า สมาธิเราไม่พอ หลวงพ่อก็เลยใช้สมาธิที่เราถนัดหายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับหนึ่งอย่างนี้ หายใจเข้าพุทออกโธนับสอง นับอยู่ไม่นาน หายใจเข้าออก 28 ครั้งได้ จิตรวม พอจิตรวม รู้เลยว่า 1 ปีที่ผ่านมานี่ จิตไม่เข้าฐาน สมาธิไม่พอ พอจิตรวมเข้าฐานเท่านั้น วิปัสสนูที่มีอยู่ ดับทันทีเลย เพราะฉะนั้นวิปัสสนูปกิเลสมันเกิดจากการเจริญวิปัสสนา โดยที่สมาธิไม่พอ สมาธิมันตก บางทีฝึกมาตั้งนานจนจิตตั้งมั่น ไปเดินวิปัสสนาเข้าแป๊บเดียว สมาธิตก เพราะการเดินวิปัสสนา จิตใช้พลังมหาศาลเลย มันใช้พลังงานเยอะ เหมือนเราชาร์จแบต มือถือไว้อย่างนี้ เวลาเราเดินวิปัสสนามันก็เหมือนเราดูรูป ฟังเสียงอะไรอย่างนี้พร้อมๆ กัน ดูหนังฟังเพลงอะไรอย่างนี้ แบตก็หมด อย่างรวดเร็ว แล้วทำอย่างไรดีแบตหมด แบตหมดก็ชาร์จแบต กลับมาทำความตั้งมั่นของจิตขึ้นมาใหม่ กลับมาทำกรรมฐานเดิมของเรา แล้วรู้ทันเวลาจิตมันเคลื่อนไปเคลื่อนมาใหม่

พอจิตมันตั้งมั่นขึ้นมา คราวนี้กำลังมันพอ มันจะก้าวหน้าต่อไปเรื่อย มันก็จะเห็นสภาวะรูปธรรม นามธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตเป็นแค่คนรู้คนดู ไม่อิน ไม่หลงใหลเข้าไปวุ่นวายด้วย สักว่ารู้ว่าเห็นไปเรื่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ สักพักหนึ่ง ถึงช่วงหนึ่งจิตมันจะรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ สุขเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับ ทุกข์เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับ กุศล อกุศลเกิดแล้วมันก็ดับ จิตสงบเกิดแล้วก็ดับ จิตฟุ้งซ่านเกิดแล้วก็ดับ ไม่เห็นมีอะไรเลยที่จะเที่ยงแท้ถาวร เอาเป็นที่พึ่ง ที่อาศัยไม่ได้เลย ใจมันรู้สึกไม่มีที่พึ่งที่อาศัยเลย ที่ภาวนาอยู่นี่ ดูไปที่ไหน โอ๊ย มีแต่ของที่แตกสลาย เฝ้ารู้เฝ้าดู จิตมันจะผ่านแบบนี้

 

นิพพิทา

บางทีก็เกิดเบื่อมากเลย เบื่อทุกสิ่งทุกอย่าง ตรงเบื่อเรียกว่ามีนิพพิทา ตรงที่มันเห็นว่า โอ๊ย ไม่มีสาระแก่นสารเลย มีแต่ทุกข์มีแต่โทษ เขาเรียกอาทีนวญาณ แต่ละคนจะผ่าน แล้วใจมันก็เริ่มอยากจะหนีไปให้พ้น ร่างกายนี้น่าเบื่อหน่าย จิตใจนี้น่าเบื่อหน่าย มีแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อไรจะพ้นไปสักที ใจมันอยากพ้นไป แต่จะพ้นไปได้อย่างไร มันพ้นไม่ได้ ไปไหนมันก็เอาร่างกายไปด้วย หนีมาอยู่ในวัด มันก็เอาร่างกายซึ่งเป็นสิ่งซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตามาด้วย ไปอยู่ที่ไหนมันก็เอาจิตใจไปด้วย เพราะฉะนั้นมันไม่มีที่จะหนี เราเห็นทุกข์เห็นโทษ เห็นความน่าเบื่อหน่าย อยากหนี แต่หนีไม่ได้ จะหนีอะไร จะหนีจากกาย จะหนีจากใจ มันหนีได้ที่ไหน พอหนีไม่ได้ เราพยายามดูต่อไป อดทนเอา

ตรงนี้หลายคนก็ผ่านไม่ไหว เห็นมันเบื่อเลยเลิกปฏิบัติไปเลย เห็นแต่ทุกข์เห็นแต่โทษ ทำไมชีวิตไม่รื่นเริงเหมือนชาวบ้านเขาบ้าง ได้เฮฮาปาร์ตี้ ไปกินเลี้ยง กินโต๊ะแชร์ เข้าผับเข้าบาร์ อุ๊ย ดูมีความสุข พอเราภาวนาเราต้องอดทนนะตอนนี้ จิตมันจะท้อถอยแล้ว มันเห็นว่า หนีกลับไปอยู่กับโลกไม่เห็นจะทุกข์เท่านี้เลย อยู่กับโลกยังไม่เคย ทุกข์ขนาดนี้เลย มาภาวนาทำไมมีแต่ทุกข์ขนาดนี้ ใจมันเบื่อหน่ายท้อแท้ ต้องอดทน รู้ทันลงไป กลับไปอยู่กับโลก ก็ไปอยู่กับความสกปรก โสมมเหมือนเดิมนั่นล่ะ แล้วชีวิตมันมีอะไรดีขึ้น คนในโลกน่าสงสารจะแย่แล้ว หาสาระแก่นสารไม่ได้เลย เราคอยรู้ๆ ไป อดทนไว้ อย่าถอย มันเป็นทางผ่าน มันเป็นด่าน เป็นกับดักอันใหญ่ที่จะดักเราไม่ให้ก้าวต่อไป ให้เราท้อแท้ ถอดใจเสีย

เราไม่ถอดใจ สู้ ดูไปๆ กลับไปอยู่กับโลกแล้วมันได้อะไร โลกก็มีแต่ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน เพราะปัญหามัน ไม่ได้อยู่ที่ว่าอยู่ในวัดหรืออยู่ที่ในโลกธรรมดา ปัญหามันอยู่ที่กายนี้ มันทุกข์ต่างหาก ปัญหามันอยู่ที่จิตใจเป็นทุกข์ต่างหาก ไม่ว่าหนีไปอยู่ที่ไหน มันก็ทุกข์ทั้งนั้น พอมันเห็นตรงนี้ จิตมันจะค่อยๆ เป็นกลาง แล้วมันก็จะดู สภาวะเกิดดับๆๆ ต่อไปเรื่อยๆ แต่คราวนี้ดูแบบไม่มีความหวังอะไรแล้ว ไม่ลุ้นแล้วว่าเมื่อไรจะพ้นจากความทุกข์ในร่างกาย เมื่อไรจะพ้นจาก ความทุกข์ในจิตใจ เพราะมันแจ่มแจ้งแล้ว มันไม่พ้นหรอก กายนี้อย่างไรก็ทุกข์ ใจนี้อย่างไรก็ทุกข์ ก็ฝึกๆๆ อดทนนะ ฝึกไป

 

ทุกหนทุกแห่งมันมีแต่คำว่า ไตรลักษณ์ๆ
พอเห็นอย่างนี้ ใจก็เข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา
สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ทุกสิ่งทุกอย่างเสมอกัน

 

ถึงจุดหนึ่งจิตมันเป็นกลาง ตรงที่จิตเป็นกลางนี่มันเป็นจุดแตกหักแล้ว จุดสำคัญแล้ว จิตมันเป็นกลางเพราะปัญญา ปัญญามันเห็นความจริงแล้วว่า ร่างกาย เวทนา หรือสังขาร หรือกระทั่งตัวจิตใจเองไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างเสมอกันหมด สุขกับทุกข์ก็เสมอกัน ด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ดีกับชั่วก็เสมอกันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ ร่างกายนี้ก็เป็นแค่สมบัติของโลก อยู่ชั่วคราว มันก็เป็นไตรลักษณ์อีก

เฝ้าดูๆ ทุกหนทุกแห่งมันมีแต่คำว่า ไตรลักษณ์ๆ พอเห็นอย่างนี้ ใจก็เข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ทุกสิ่งทุกอย่างเสมอกัน มันก็จะไม่ได้อยากได้อย่างนี้เกลียดอย่างนี้ ตรงนี้เราได้ญาณ วิปัสสนาญาณที่สูงมาก ตัวนี้สำคัญชื่อ สังขารุเปกขาญาณ ญาณแปลว่า ปัญญา ปัญญาที่เป็นอุเบกขาต่อความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ร่างกายก็เป็น ความปรุงแต่ง เวทนาก็ความปรุงแต่ง สังขารในจิตตสังขารปรุงดีปรุงชั่ว อะไรมันก็เป็นของปรุงแต่ง ตัวจิตเองก็เป็นของปรุงแต่ง เกิดดับๆ เหมือนกัน ตัวผู้รู้เดี๋ยวก็กลายเป็นตัวผู้คิดอะไรอย่างนี้ มันเห็นทุกอย่างเสมอกันไปหมด ใจก็หมดความดิ้นรน แต่ถ้าเรายังไม่เห็นตรงนี้ ใจยังดิ้นไม่เลิก

ทุกอย่างมันเสมอกันแล้วใจมันก็หยุดการดิ้นรน พอหยุดการดิ้นรนแล้ว จิตมันจะรวม พอจิตมันไม่ดิ้นรนวุ่นวายแล้ว ไม่มีนิวรณ์แล้ว จิตเข้าสมาธิ ของมันเอง แล้วอริยมรรคอริยผลก็จะเกิดขึ้น นี่คือเส้นทางเดิน

 

 

ฉะนั้นตอนที่ เราทำสมถะตัวที่ต้องระวังคือเรื่องนิมิต อย่าไปหลงเชื่อสิ่งที่รู้ที่เห็นอะไรนี่ ตอนนั่งสมาธิอยู่ รู้เห็นอะไร อย่าไปสนใจมัน กระทั่งระลึกชาติอะไร ก็อย่าไปเชื่อมัน นั้นเป็นนิมิตทางใจ เป็นธรรมารมณ์ เพราะฉะนั้นนิมิตอย่าไปเชื่อมัน บางคนก็เชื่อนิมิต ระลึกชาติไป

หลวงพ่อเคยได้ยินคนที่ระลึกชาติว่าเป็นพระนเรศวรนี่มีเป็นโหลเลย รู้สึก เอ๊ะ ทำไมพระนเรศวรเยอะนัก เพราะว่าอ่านประวัติศาสตร์ก็รู้จัก แต่ชื่อพระนเรศวรใช่ไหม ม้าของพระนเรศวรชื่ออะไรรู้หรือเปล่า ไม่รู้ เราไม่ได้เกิดไปเป็นตัวนี้แน่เลย เราไม่รู้จักชื่อมัน พระนเรศวรมาเกิดนี่ เยอะแยะไปหมดเลย จริงๆ ลึกๆ ลงไปมันเป็นความอยากใหญ่ เป็นกิเลส คนใหญ่คนโตทั้งนั้นเวลาระลึกชาติไป กิเลสมันหลอก สมมติว่ามันเป็นจริง เป็นพระนเรศวรมาเกิดจริง แล้วมันมีนัยยะอะไร ชาตินี้ไม่ได้เป็นพระนเรศวร หลงอะไรกับอดีต เพราะฉะนั้นอย่างนิมิตหลอก พวกนี้หลอนมาหมดเลย อย่าไปเชื่อมัน อะไรที่ผิดจากเหตุจากผลที่พิสูจน์ได้แขวนมันไว้ ไม่ต้องยอมรับ ไม่ต้องปฏิเสธ เฉยๆ ฟังแล้วเฉยๆ อย่างใครเขาจะเป็นอะไรมาเกิด ก็เรื่องของเขา เราเป็นตัวอะไรมาเกิด เรายังไม่รู้เลย ไม่สนใจ พวกนิมิตนี่มันหลอก

ตัววิปัสสนูมันจะมาหลอกตอนเราทำวิปัสสนา วิปัสสนูมีเยอะ บางทีก็มี ลูกศิษย์หลวงพ่อมันชอบเขียนธรรมะ ชอบพูด ชอบสอน ชอบอะไรอย่างนี้ ติดวิปัสสนู สมาธิไม่พอแล้ว ถ้าเพิ่มสมาธิขึ้นจะหายฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านในธรรม ฟุ้งซ่านในการสั่งสอน ฟุ้งซ่านอะไรอย่างนี้ พวกนี้ยังไม่ได้ถึงธรรมะ มันจะเกิดวิปัสสนูตัวอย่างนี้ พอได้ธรรมะแล้วก็ยังมีโอกาส อย่างเป็น พระโสดาบันจะขึ้นสกทาคามีก็เจอวิปัสสนูได้อีก พระสกทาคามีจะภาวนาขึ้น พระอนาคามีก็เจอวิปัสสนูได้อีก พระอนาคามีจะภาวนาไปเป็น พระอรหันต์ก็มีวิปัสสนูอีก มันดักอยู่ตลอดเส้นทางเลย ฉะนั้นสังเกตอย่าง บางทีใจ แหม มันคันยิบยับ มันอยากเทศน์ ตัวนี้เป็นเยอะ อยากสอน อยากเทศน์ อยากอธิบายโน้นนี้ไปเรื่อยๆ ทั้งทางโลกทางธรรม อะไรนี่ไปดูให้ดีเถอะ สิ่งเหล่านี้มันก่อกวนทำให้การเจริญปัญญานั้น ทำไม่ได้จริง ใจมันจะฟุ้งๆๆ ไปเรื่อยๆ บางทีเข้าใจผิดว่าฟุ้งๆ มากๆ นี่เป็นอะไร ปฏิสัมภิทาๆ คือความรู้เยอะอะไรอย่างนี้ จริงๆ วิปัสสนู

ปฏิสัมภิทา ถ้าเต็มภูมิต้องเป็นพระอรหันต์ ส่วนรองๆ ลงมา มันก็แค่แตกฉาน มากกว่าคนอื่นอะไรอย่างนี้ อย่างโสดาบันด้วยกัน บางองค์แตกฉานมาก ก็เป็นปฏิสัมภิทาน้อยๆ พระอนาคามีบางองค์ ก็แตกฉานมาก บางองค์ก็แตกฉานน้อย แต่มันก็แตกฉานในภูมิจิต ภูมิธรรมระดับนั้น ฉะนั้นสุดขีดจริงๆ ก็ต้องจบกิจแล้ว อย่างนั้นไม่มี ข้อสงสัยในพระพุทธศาสนา มิฉะนั้นยังสงสัยอยู่ ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ เจอกันบางทีท่านก็ทักทายกัน “ไง สิ้นสงสัยแล้วรึ” อะไรอย่างนี้ ทักทายกัน สิ้นสงสัย มิฉะนั้นถึงจะรู้มากแค่ไหนก็ยังมีสิ่งที่สงสัยอยู่ มันก็จะเป็นอย่างนั้น พวกนี้เรื่องของวิปัสสนู มันจะทำให้ใจเราฟุ้งซ่าน

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
2 พฤษภาคม 2564