วัดใจตัวเอง

หลวงพ่อก็สอนกรรมฐานมานานแล้ว ตอนหลวงพ่อเรียนกับครูบาอาจารย์ เรียนไม่มาก จับหลักได้แล้ว ก็ทำเอาเอง ช่วยตัวเองให้มาก ใช้ความสังเกต ที่เราเป็นอยู่มันถูกไม่ถูก ที่เราทำอยู่มันถูกไม่ถูก ตอนแรกมันยังลูบๆ คลำๆ ที่ทำอยู่ถูกหรือเปล่าไม่รู้ ฟังครูบาอาจารย์มา เรามาทำดู เราไม่รู้ว่าที่ทำถูกไหม หลวงพ่อก็สังเกตผล ผลจากการกระทำว่าสิ่งที่มันเป็นขึ้นมามันถูกไหม ตัวนี้ดูง่ายหน่อย อย่างจิตใจเราเคยฟุ้งซ่านทั้งวันทั้งคืน ตอนนี้มันเริ่มสงบ เริ่มรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา อย่างนี้มันก็น่าจะถูก เราเคยทำผิดศีล เจอยุงก็ตบอะไรอย่างนี้ ทีนี้ไม่กล้าตบ สงสารมัน นี่เป็นผลที่เราภาวนา เราทำแล้ว รักษาศีลได้ดีขึ้น มีเมตตากรุณามากขึ้น สิ่งที่ทำมันน่าจะถูก ฝึกแล้วแต่เดิมจิตฟุ้งซ่านไปเรื่อย จิตก็เริ่มสงบมากขึ้นๆ จิตตั้งมั่นดีขึ้น

เมื่อก่อนจะสงบจะตั้งมั่นได้ ต้องอยู่ลำพังตัวคนเดียว ภาวนาของเราอยู่คนเดียว จิตสงบตั้งมั่น ปฏิบัติมาเรื่อยๆ อยู่ท่ามกลางความวุ่นวายของโลก จิตเราก็สงบได้ตั้งมั่นได้ เออ ผลที่เกิดอย่างนี้แสดงว่าสิ่งที่ทำอยู่น่าจะถูก เมื่อก่อนนี้ไม่สามารถเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นไตรลักษณ์ ได้แต่คิดว่ามันเป็นไตรลักษณ์ คิดเอา แต่ตอนนี้รู้สึกเอาว่ามันเป็นไตรลักษณ์ แล้วมันประณีตขึ้น ละเอียดขึ้น เออ มันน่าจะถูกวิธีปฏิบัติอย่างนี้ ฉะนั้นเวลาหลวงพ่อฟังครูบาอาจารย์มาแล้วลงมือปฏิบัติ มันมีลักษณะการลองผิดลองถูก แล้วประเมินผลจากผลที่มันเกิดขึ้นว่าอกุศลมันลดลงไหม กุศลมันเจริญขึ้นไหม หลวงพ่อวัดตัวเองอยู่เสมอ

จนกระทั่งช่วงหนึ่งไปกราบหลวงปู่ดูลย์ช่วงท้ายๆ ก็ไปเรียนท่าน ผมเห็นกิเลสตัวเอง อย่างถ้ากิเลส 4 ส่วน ผมสู้มันได้แล้ว 2 ส่วน อีกส่วนที่สาม ยังเอาชนะมันไม่ได้ มันผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะอยู่ หลวงปู่ท่านบอกว่าฉลาด รู้จักกิเลสตัวเอง ท่านไม่ได้ชมว่าฉลาดเพราะรู้เรื่องโน้นเรื่องนี้เยอะ เห็นผี เห็นเทวดา เห็นอดีต เห็นอนาคตอะไรอย่างนี้ ท่านไม่ได้ชม ไปเล่าให้ท่านฟังว่าเห็นกิเลส มีกิเลสตัวไหน มีอย่างไรเท่าไหร่อะไรอย่างนี้ ดูตัวเอง ท่านก็ชมว่าฉลาด รู้จักสังเกตจิตใจตัวเอง

 

วัดผลคือสังเกตจากกิเลสของเราเอง

ฉะนั้นหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อเป็นคนกรุงเทพฯ รับราชการ เวลาที่จะออกไปหาครูบาอาจารย์มันหายาก นานๆ จะได้ไปหาทีหนึ่ง ฉะนั้นที่เราภาวนาอยู่ทุกวันๆ ไม่หยุดเลย ก็ต้องวัดผลด้วยตัวของเราเอง วิธีวัดผลก็คือสังเกตจากกิเลสของเรานั่นล่ะ ที่ทำอยู่อกุศลที่เคยมี มันลดลงไหม กุศลที่ไม่เคยมี มีไหม กุศลที่มีแล้ว เสื่อมไปอีกหรือเปล่า หรือว่าพัฒนาขึ้นไปอีก วัดใจตัวเองสม่ำเสมอไป ดูแล้วรู้เลยว่า ตอนนี้ภาวนามีกิเลสเหลือกี่เปอร์เซ็นต์ ดูเปอร์เซ็นต์ได้เลย สังเกตจิตใจตัวเอง อย่าเข้าข้างตัวเองก็แล้วกัน เฝ้ารู้เฝ้าดูทุกวันๆ ไม่อ้างว่าอยู่ไกลครูบาอาจารย์ ตัวที่จะช่วยยืนยันว่าวิธีปฏิบัติของเราถูกต้องหรือเปล่า ดูจากผลของมัน

ถ้ามีครูบาอาจารย์อยู่ด้วย ก็ง่ายหน่อย พอวิธีที่เราปฏิบัติผิด ท่านก็จวกเอา ท่านก็บอกให้ ครูบาอาจารย์บางองค์ ท่านก็บอกดีๆ บางองค์ท่านไม่บอก ท่านให้เราเรียนรู้เอง บางองค์ท่านดุเอา แต่หลวงพ่อไม่ค่อยถูกครูบาอาจารย์ดุ เพราะหลวงพ่อเป็นลูกศิษย์ที่ขยันพากเพียรมากเลย ทำงานทำการอยู่ทางโลก งานหนักมาก งานเครียดมาก แต่ไม่มีข้ออ้างว่าช่วงนี้งานมากเลยไม่ได้ภาวนา ช่วงนี้งานเครียดมาก ไม่ได้ภาวนา ไม่เคยอ้างอย่างนั้นเลย เพราะมันภาวนาได้ ถ้าใจมันจะรักที่จะภาวนา มันก็ทำได้ ถ้าใจมันไม่รักในการภาวนา ก็หาข้ออ้างมากมายที่จะไม่ภาวนา หลวงพ่อไม่ได้เป็นอย่างนั้น หลวงพ่อภาวนาของหลวงพ่อทุกวัน

แรกๆ มันก็ไม่รู้ว่าผิดหรือถูก ก็ดูจากผลที่มันพัฒนาขึ้นมาได้ เออ อย่างนี้ถูก หรือภาวนาไปแล้วมีผลที่แปลกๆ เช่น จิตโล่ง ว่าง สว่างไสวอยู่อย่างนั้นนาน กิเลสไม่โผล่มาให้ดูเลย จิตสว่างว่างมันไม่ใช่แล้วกระมัง ทำไมมันเที่ยง พระพุทธเจ้าบอกว่าจิตไม่เที่ยง ทำไมจิตเราเที่ยง ท่านว่ามันเป็นทุกข์ ไม่เห็นมันทุกข์เลย มีแต่ความสุข ท่านว่ามันบังคับไม่ได้ ทำไมมันบังคับได้ สังเกตเอา มันต้องผิดที่ใดที่หนึ่ง ผลที่ได้มันถึงต่างกับที่พระพุทธเจ้าสอน ใช้ความสังเกตเอา ค่อยๆ ดูตัวเองเอา หรือบางทีได้ยินครูบาอาจารย์สอน เราก็หาทางปฏิบัติ หลวงปู่ดูลย์บอกว่าอย่าส่งจิตออกนอก หลวงพ่อก็หาทางปฏิบัติ ไม่ส่งจิตออกนอก เราก็ส่งเข้าข้างใน ส่งเข้าไปดูภายใน ดูในจิตลึกๆๆ ลงไปเรื่อยๆ ก็ได้ หรือดูเข้าไปในร่างกาย เราไม่ส่งออกนอก เราส่งเข้าไปในกายในใจนี้

วันหนึ่งก็สงสัย กิเลสเราเห็นมันผุดขึ้นจากกลางอก ต้นตอมันอยู่ที่ไหน เห็นแล้วว่ามันผุดขึ้นมา หลวงพ่อก็ใจเย็นให้มันผุด รอกิเลสมันผุดขึ้นมา เราก็รู้มัน รู้แบบแตะๆ ถ้ารู้แบบคมกริบลงไป มันขาดสะบั้นเลย รู้แบบแตะเอาไว้ มันค่อยๆ หดตัวลงไป เข้าไปอยู่กลางอกเรา ดูลงไปอีก เหมือนมันหนี ลึกลงไปๆๆ หลวงพ่อก็ตามดูลงไปเรื่อยๆ ลึกแค่ไหนก็จะดู กะว่าถึงกิเลสมันหนีไปอยู่เมืองบาดาล ไปอยู่กับพญานาค เราก็ไม่กลัว เราจะตามดูให้ได้ พอมันลึกๆๆ ลงไป มันหายวับไปเลย อ้าว มันหายไปแล้ว หาไม่เจอแล้ว มันว่างอยู่ข้างใน ว่างๆ ว่างๆ หลวงพ่อก็ถอยจิตออกมาอยู่ข้างนอกนี่ แล้วเดี๋ยวกิเลสมันก็ผุดขึ้นมาอีก ก็ดูอีก มันก็หดเข้าไปอย่างนี้ ไล่ขึ้นไล่ลง คิดว่าอย่างนี้ท่าจะถูกล่ะกระมัง เพราะหลวงปู่บอกไม่ให้ส่งจิตออกนอก เราไม่ได้ส่งออกนอก เราส่งเข้าข้างใน

วันหนึ่งขึ้นไปเชียงใหม่ ขึ้นไปกราบหลวงปู่สิม หลวงปู่สิมท่านเห็นหน้าปุ๊บ เราไม่ต้องส่งการบ้านหรอก หลวงปู่สิม หลวงปู่ดูลย์ก็เหมือนกัน ไม่ต้องส่งการบ้านหรอก ไปนั่งเฉยๆ หลวงปู่สิม พอเห็นหน้าหลวงพ่อโผล่ขึ้นมาปากถ้ำ ยังไม่ทันบอกท่านเลยว่าเราส่งจิตเข้าไปดูกิเลสข้างใน หาต้นตอ ท่านบอก “ผู้รู้ๆ ออกมาอยู่ข้างนอกนี่ กิเลสไม่ได้อยู่ข้างใน” คราวนี้งง เอ หลวงปู่ดูลย์ไม่ให้ส่งออกนอก ทำไมหลวงปู่สิมบอกให้มาอยู่ข้างนอก เอาอย่างไรแน่ คำสอนของ 2 องค์ทำไมไม่เหมือนกัน หลวงพ่อก็เลยสังเกต คงจะเข้าลึกเกินไป ฉะนั้นเราอยู่กลางๆ ดีกว่า

ครูบาอาจารย์อีกองค์หนึ่งที่หลวงพ่อไปเรียนด้วยคือหลวงปู่เทสก์ ท่านบอก “ผู้ใดเข้าถึงความเป็นกลาง จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง” โห กลางนี่ท่าจะดี ไม่ออกนอก แล้วก็ไม่เข้าข้างในด้วย อยู่กลางๆ พยายามประคองจิตเอาไว้กลางๆ ฝึกไปเรื่อย เวลาจิตมันเคลื่อนไปหาอารมณ์ มองเห็นว่ามันเคลื่อนไปที่อารมณ์ อารมณ์ภายในนี้ล่ะ เคลื่อน พอจิตมันจะไปแตะที่ตัวอารมณ์ มันไปแตะ ทวนกระแสกลับเข้ามาหาตัวผู้รู้ พอมันจะมาแตะเข้าที่ตัวผู้รู้ เราไม่แตะ ทวนกลับเข้าไปหาตัวอารมณ์ เคลื่อนเข้าออกอยู่ตรงนี้ ระหว่างกลางมี 2 จุด หัวท้าย ตัวนี้คือจิต ตัวนี้คืออารมณ์ ตั้งอยู่ห่างกัน เราเคลื่อนอยู่ตรงกลาง พยายามฝึก ฝึกจิตให้มันเป็นกลาง เคลื่อนไปเคลื่อนมา จิตรวมพรึบลงไป ไม่มีอะไรเลย เหลือแต่สภาวะรู้อันเดียว ไม่ได้สำคัญมั่นหมายว่านี่เป็นผู้รู้ นี่เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ฝึกอยู่ตรงนี้พักใหญ่เลย ชำนิชำนาญ กำหนดจิตลงไป ไม่จับผู้รู้ ไม่จับสิ่งที่ถูกรู้ นี่ล่ะกลางๆ

อีกคราวหนึ่งขึ้นไปเชียงใหม่ ฝึกเล่นอยู่อย่างนี้ ก่อนจะขึ้นเชียงใหม่ รอบนี้ขึ้นไปหาหลวงปู่เทสก์ ไปเล่าให้ท่านฟังบอก ผมสงสัยว่ามันจะเป็นสมถะชนิดหนึ่ง มันยังไม่ใช่วิปัสสนาหรอก ถึงเราเข้าไปอยู่กับสภาวะที่ดูเหมือนๆ นิพพาน เหมือนๆ นิพพาน ไม่มีตัณหา ไม่มีความปรุงแต่ง ไม่มีรูป ไม่มีนาม ไม่มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ ไม่มีอะไร ว่าง สว่าง ไม่มีเวลา เวลาก็ไม่มี เวลามันเกิดจากการเข้าคู่กัน ต้องมี 2 อันเวลาถึงจะเกิด อันนี้ไม่มีการเข้าคู่ ไม่มีเวลา นี่ล่ะกระมังอกาลิโก เหนือกาลเวลา แต่เสร็จแล้ว มันก็ถึงจุดหนึ่ง จิตมันก็ถอนออกมา กลับมาอยู่กับโลกข้างนอกนี้ ดูลงไปกิเลสมันก็เหมือนเดิม มันไม่ใช่แล้ว มันไม่ใช่เส้นทางที่จะเดินสู่พระนิพพานแล้ว

 

“ถ้าเราภาวนาถูกต้อง อกุศลที่มีอยู่มันจะดับ อกุศลใหม่มันจะไม่เกิด หรือว่าเกิดได้เบาบางลง
กุศลที่ยังไม่มีก็เกิดมีขึ้น กุศลที่มีแล้วก็เจริญขึ้น พัฒนาเข้มแข็งมากขึ้น”

 

ขึ้นไปกราบหลวงปู่เทสก์บอกท่านว่า ผมทำแบบนี้ๆ ผมสงสัยว่าจะเป็นสมถะ เป็นสมาธิ ท่านบอก ใช่ มันเป็นสมาธิอย่างหนึ่ง แต่ว่ายุคนี้ไม่มีใครทำกันแล้ว ให้เรียนเอาไว้ ให้รู้เอาไว้ มันมีประโยชน์เหมือนกันล่ะ เรียนเอาไว้ มิฉะนั้นไม่มีใครรู้จักแล้วท่านบอก สมาธิชนิดนี้ ก็เลยเรียนท่านบอก ผมกลัวติด กลัวติดสมถะ ท่านบอก “ไม่ต้องกลัว ถ้าติดอาตมาจะแก้ให้เอง” ท่านว่าอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ท่านให้ทำ ก็ทำอยู่อย่างนั้น ฝึกอยู่อย่างนั้น ดับทุกอย่างลงไปหมดเลย เหลือแต่รู้อันเดียว ไม่มีกระทั่งเวลา ไม่มีความคิดนึกใดๆ ทั้งสิ้นเลย

วันนั้นขึ้นไปเชียงใหม่ จะไปหาอาจารย์ทองอินทร์ที่วัดสันติธรรม เข้าไปวัดท่านกลางคืนแล้ว กลางวันทำงาน ไปราชการ กลางคืนคนอื่นเขาไปกินเลี้ยง เราหนีไปเข้าวัด ไปหาอาจารย์ทองอินทร์ ไปถึงหน้าวัดท่าน มีพระมายืนอยู่องค์หนึ่ง พระหนุ่มๆ หน้าหนาวอย่างนี้หนาวมาก ไฟก็ไม่มีตอนนั้น วัดมืดตึ๊ดตื๋อเลย พระนี้ท่านก็บอก ตอนนี้อาจารย์บุญจันทร์มาจากถ้ำผาผึ้ง ท่านอาพาธ จะมาหาหมอ มาพักอยู่ที่วัดสันติธรรม ให้ไปหาอาจารย์บุญจันทร์หน่อย หลวงพ่อบอกหลวงพ่อไม่รู้จัก ไม่รู้จักอาจารย์บุญจันทร์ ไม่เคยได้ยินเลย ไม่รู้จัก บอกผมจะมาหาอาจารย์ทองอินทร์ อาจารย์ทองอินทร์อยู่ไหม อยู่ หลวงพ่อก็ไปหาอาจารย์ทองอินทร์ พูดเรื่องการภาวนากับท่าน

อาจารย์ทองอินทร์เป็นลูกศิษย์หลวงปู่สิม ภาวนาเก่งเหมือนกันองค์นี้ คุยกับท่านสักชั่วโมงหนึ่ง ออกจากกุฏิท่านมาก็ค่ำมากแล้วล่ะ สามทุ่มกว่าแล้วกระมัง พระองค์นั้นยังมายืนรออยู่หน้ากุฏิของอาจารย์ทองอินทร์ ตื๊อใหญ่เลย ไปหน่อยๆ ไปหาอาจารย์บุญจันทร์ ไป เกรงใจท่าน สงสาร มายืนรอเรา หนาวจะแย่อยู่แล้ว มายืนอยู่ นึกไม่ออกเลยพระอะไรวะ ตื๊อชิปเป๋งเลย ก็ขึ้นไปหา อาจารย์บุญจันทร์ท่านไม่สบาย ท่านก็ยังไม่เข้าห้องท่าน พักอยู่ที่ระเบียง กุฏิท่าน ท่านอยู่ชั้นสอง กุฏิเล็กๆ กุฏิไม้

ขึ้นไปถึง เจอท่านนอนอยู่บนตั่ง หน้าเตียงท่านมีตั่งไม้อยู่ นอนคลุมโปงอยู่ สั่นๆๆ อยู่ เราขึ้นไปปุ๊บ ท่านก็ลุกขึ้นนั่งเลย ชี้หน้าเลย “ไง ภาวนาอย่างไร ว่าไปสิ” ก็เล่าถวายท่านว่า ไม่จับทั้งผู้รู้ ไม่จับทั้งสิ่งถูกรู้ จิตเป็นกลางรวมลงไป ท่านตวาดเอา “เฮ้ย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก ไง จะภาวนาอย่างไรต่อไปนี้” หลวงพ่อฟังสำเนียงท่าน ฟังไม่ค่อยออก ก็เลยนึกว่าท่านก็ฟังสำเนียงเราไม่ออกเหมือนกัน คงไม่รู้ว่าเราพูดอะไร ไปเล่าให้ท่านฟังซ้ำอีกรอบ ท่านตวาดเอาอีก คราวนี้ดังกว่าเก่าอีก เฮ้ย ดังอย่างนี้เลย นิพพานอะไรมีเข้ามีออก จิตมันทิ้งเลยการฝึกอย่างนั้น มันรู้ว่าฝึกอย่างนี้ไม่ถูก เสียเวลา ใช้เวลานาน หลวงปู่เทสก์ ท่านจะให้เราฝึกเพื่อให้รู้จักไว้ เผื่อวันหน้าใครเขาถามจะได้ตอบได้ ได้มีอย่างน้อยก็มีคนตอบได้

เราก็เข้าใจตัวนี้แล้ว เราก็ไม่ต้องทำอย่างนี้ต่อ ฝึกอยู่ตรงนี้ต่อไป มันก็ไม่ถึงมรรคผลนิพพานตัวจริง เป็นนิพพานปลอม นิพพานเข้าๆ ออกๆ มันเป็นเรื่องของสมาธิ ครูบาอาจารย์บอก มานึกครูบาอาจารย์แต่ละองค์สอนเรา คล้ายๆ ตบซ้ายองค์ ตบขวาองค์ ทุบกลางกระบาลองค์ เหมือนลูกฟุตบอล ถูกตบไปตบมา หลวงปู่ดูลย์บอกอย่าส่งจิตออก หลวงปู่สิมบอกอย่าเข้าข้างใน อย่าส่งจิตเข้าข้างใน หลวงปู่เทสก์บอกฝึกให้มันเป็นกลางไว้ พอกลางแล้วมันไปอยู่กับสุญญตา อาจารย์บุญจันทร์ไม่ใช่นิพพาน คล้ายๆ ถูกต้อนตลอดเวลาเลย ทำอย่างนี้ก็ผิดๆๆ ที่ท่านต้อน

ก่อนจะเจอท่านหลวงพ่อก็เฉลียวใจอยู่ว่ามันไม่ถูก แต่ยังไม่แน่ใจ พอครูบาอาจารย์เชียร์ให้ ก็แน่ใจ ก็รู้ว่าวิธีปฏิบัติอย่างนี้ถูก วิธีอย่างนี้ไม่ถูก ที่ถูกที่ผิดมีตลอดสายของการปฏิบัติเลย ทำอย่างนี้ถูก ถึงอีกจุดหนึ่งตรงนี้ไม่ถูกแล้ว ใครจะมานั่งบอกเราทั้งปีทั้งชาติ ก็ใช้โยนิโสมนสิการ ใช้ความสังเกตเอา อย่างจิตไปอยู่ในความว่างๆ ไม่มีกระทั่งเวลา ไม่มีความคิด ไม่มีอะไรเลย ว่าง สว่าง บริสุทธิ์อยู่อย่างนั้น หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง ทีแรกนึกว่าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนเข้าถึงพระนิพพานได้ ต่อมาก็พบว่าไม่ใช่ มันคือสมถะ

 

วัดกิเลสเวลาที่จิตอยู่ในสภาวะปกติ

ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ เห็นไป รู้สิ่งที่ผิดไปเรื่อยๆ ทำไมรู้ว่าตรงนี้ผิด รู้ตั้งแต่ก่อนเจออาจารย์บุญจันทร์ ก่อนเจอหลวงปู่เทสก์ รู้ว่าตรงนี้ไม่ใช่ทางที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานหรอก เป็นเรื่องของสมถะกรรมฐาน ทำไมรู้ เพราะว่าเข้าตรงนี้แล้ว ตอนที่ออกมา อกุศลที่มีอยู่มันก็ไม่ได้ถูกละ อกุศลใหม่ก็ยังเกิดได้ กุศลที่เคยมี มันก็มีแล้วมันก็ดับ แล้วมันก็ไม่เจริญขึ้น สังเกตอยู่ที่กุศลที่อกุศลนั่นล่ะ ถ้าเราภาวนาถูกต้อง อกุศลที่มีอยู่มันจะดับ อกุศลใหม่มันจะไม่เกิด หรือว่าเกิดได้เบาบางลง กุศลที่ยังไม่มีก็เกิดมีขึ้น กุศลที่มีแล้วก็เจริญขึ้น พัฒนาเข้มแข็งมากขึ้น

ถ้าวัดด้วยวิธีนี้แล้ว มันจะชี้ได้เลยว่าที่ปฏิบัติอยู่ถูกหรือผิด วัดได้ด้วยตัวเอง สังเกตใจตัวเอง อย่าเข้าข้างตัวเอง วัดจริงๆ แล้วเวลาวัดใจ มีหลักสำคัญอันหนึ่งที่หลวงพ่อผ่านมาด้วยตัวเอง เวลาเราจะวัดกิเลสตัวเอง ต้องวัดในสภาวะที่จิตอยู่ในสภาวะปกติ อย่าไปทรงสมาธิอยู่ ไปทรงสมาธิอยู่ แล้วจะให้วัด มีอะไรให้วัด ไม่มีอะไรให้วัดเลย ต้องเป็นจิตที่ปกติ

พวกเราบางคนภาวนา จิตรวมลงไป แล้วจิตถอนออกมา จิตค้างอารมณ์ของสมาธิออกมา ค้างออกมาอย่างนี้ แล้วบอกว่าไม่เห็นกิเลสเลย ไม่มีกิเลสหรอก จิตมันทรงสมาธิอยู่อย่างนั้น กิเลสอะไรมันจะโผล่มาให้ดู คิดว่าเป็นกุศลหรือ ไม่เป็น กำลังติดสภาวะแล้วมองไม่เห็น อันนี้ตัวโมหะ มองสภาวะที่กำลังมีกำลังเป็นไม่ออก คือตัวโมหะ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะวัดจิตใจตนเอง เราภาวนาไป แล้วเราจะวัดใจตัวเอง ต้องวัดตอนที่จิตใจเป็นปกติ ไม่ได้จงใจปฏิบัติอยู่ ถ้าจงใจปฏิบัติ กำหนดไปเรื่อยแล้วไปวัด จะไปวัดอะไร มันไม่มีอะไรให้วัด มันก็นิ่งๆ ว่างๆ ไป

เวลาที่ดีในการที่จะวัดตัวเองคือตอนที่ตื่นนอน หลวงพ่อเคยพูดอยู่เรื่อยๆ ว่า เวลาที่ตื่นนอนเป็นนาทีทองของการปฏิบัติ บางครั้งจิตเราเข้าไปติดสภาวะอันใดอันหนึ่งอยู่ แล้วเราไม่รู้ เราไม่เห็น แต่เรารู้สึกว่ามันติด แต่มันติดอย่างไร จิตไปเดินท่าไหน ไปทำท่าไหน ปฏิบัติท่าไหนมาอยู่ตรงนี้ ดูอย่างไรก็ดูไม่ออก คือตอนที่มันตื่นเต็มตัว มันปรุงแต่งไปเรียบร้อยแล้ว มันสร้างภพชนิดนี้ขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว ไปดูมันมาอย่างไร ดูอย่างไร ดูไม่ออก ให้ดูตอนตื่นนอน

ตอนตื่นนอน จิตเรายังไม่มีมารยา ไม่ได้ตั้งตัวเป็นนักปฏิบัติ มันเป็นจิตที่ธรรมดา จิตที่ธรรมดานั้นล่ะ มันจะฟ้องเราเองว่า ตัวจริงของเรามีกิเลสอยู่แค่ไหน หรือมีกุศลอยู่แค่ไหน ถ้าจิตที่ไปติดสมาธิว่างๆ อยู่ ดูอย่างไรก็ไม่เห็นหรอก ตอนเราตื่นนอน หลวงพ่อสังเกตตัวเองตอนนั้น พอตื่นนอน ใจก็เป็นธรรมชาติมากเลย เสร็จแล้วคิดถึงวันนี้เราจะภาวนาอย่างไรดี พอคิดเรื่องภาวนา จิตจะปรุงแต่งทันทีเลย เช่น เคลื่อนเข้าไปอยู่ในช่องว่าง ไปอยู่ในความว่าง หรือเคลื่อนไปเพ่งอะไรขึ้นมา ทำงานทันทีเลย เช่น มันเคลื่อนไปอยู่ในความว่างอย่างนี้ เราก็ เฮ้ย มันมาอย่างนี้เอง

จิตมันส่งออกเข้าไปอยู่ในความว่าง ถ้าจิตมันหลุดเข้าไปอยู่ในความว่างเรียบร้อยแล้ว คือหลุดเข้าไปอยู่ในภพอันใดอันหนึ่งเรียบร้อยแล้ว แล้วจะไปดูว่ามันมาตรงนี้ได้อย่างไร มันดูไม่ทันเสียแล้ว มันเข้าภพนี้ไปแล้ว เราต้องดูตั้งแต่ก่อนที่มันจะเข้า ตอนที่มันยังไม่ได้เข้า ก็ตอนที่เราตื่นนี่ล่ะ อย่างหลับอยู่แล้วตอนตื่น ตื่นทีแรก จิตมันเป็นปกติของเราเลย แต่พอเราคิดเรื่องการปฏิบัติ จิตมันจะปรุงแต่ง มันสร้างภพอันหนึ่งขึ้นมาแล้วก็เข้าไปอยู่ในนั้น

หลวงพ่อใช้ความสังเกตเอาอย่างนี้ สังเกตตัวเองเรื่อยๆ เราก็รู้ อ๋อ มันผิดเพราะอย่างนี้เอง มันผิดตรงนี้เอง ผิดตรงที่จิตมันเคลื่อนไปปรุงแต่ง แล้วเคลื่อนไป ไปสร้างภพนิ่งๆ ว่างๆ อยู่ แล้วเราไม่รู้ทันว่ามันมาได้อย่างไร มาอยู่ตรงนี้ ค้างอยู่ตรงนี้นานๆ อาศัยการสังเกตเอา สังเกตตัวเอง เวลาที่สังเกตง่ายที่สุดคือเวลาที่ไม่ได้คิดเรื่องปฏิบัติ ถ้าคิดเรื่องปฏิบัติ เราจะไปปรุงภพของนักปฏิบัติเรียบร้อยแล้ว ทำเป็นนิ่งๆ

 

จากผลทวนเข้าไปหาเหตุ

ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เรียนไป เรียนจากสิ่งที่ผิด เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนา เราไม่รู้หรอกว่าที่เราปฏิบัติมันถูกหรือผิด เราวัดที่ผลของมัน จากผลเราจะทวนเข้าไปหาเหตุได้ ผลมันถูก มันก็ต้องมาจากเหตุที่ถูก ผลที่ผิด มันก็ต้องมาจากเหตุที่ผิด เรียนไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะรู้ ถึงจุดหนึ่ง อ๋อ การปฏิบัติที่ผิดมันเป็นอย่างนี้ การปฏิบัติที่ถูกมันเป็นอย่างนี้ หลวงพ่อถึงสรุปได้ว่าวิธีทำสมาธิที่ถูกมีหลักอย่างไร เพราะหลวงพ่อเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดมากมายมหาศาล โน่นก็ผิดนี่ก็ผิด จนกระทั่งจับหลักได้

ถ้าเราต้องการให้จิตสงบ ให้เราน้อมจิตๆ เจตนาเข้าไปก่อน น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง พอไปอยู่ตรงนี้ เราสังเกตดู ถ้าอยากให้สงบ จะไม่สงบ ตรงนี้ต้องไม่อยาก แค่น้อมจิตไปอยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเราที่เราอยู่แล้วมีความสุข สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง ถ้าวางใจได้อย่างนี้ สงบทันทีเลย ฉะนั้นอย่างให้หลวงพ่อทำความสงบ หลวงพ่อทำได้ปุ๊บเลย เพราะเราจับหลักได้แล้ว แต่ก่อนจะจับหลักได้ ต่อสู้สาหัส

อย่างตั้งแต่เด็ก หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พุทโธหายไป เหลือแต่ลม ภาวนาไปเรื่อยลมหาย เหลือแต่แสง ภาวนาไปเรื่อย คราวนี้เที่ยวรู้เที่ยวเห็นอะไรเลอะเทอะเปรอะเปื้อน จิตมันหลอนนานาชนิดได้ รู้ไปเรื่อย ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย จิตออกไปเที่ยวสวรรค์ แล้วอยู่สวรรค์กับเขาได้ไหม ก็อยู่ไม่ได้ เห็นของกินของเทวดา กินกับเขาได้ไหม ก็กินไม่ได้ เหมือนเราไปดูหนัง หนังมันแสดงอย่างโน้นอย่างนี้ เราไม่ได้มีอะไรกับเขาเลย เริ่มเห็นว่ามันไม่มีสาระแก่นสารแล้ว เรียนรู้อย่างนี้ไม่ถูก

ภาวนาแล้วจิตส่งออกนอกตามแสงสว่างไป เที่ยวรู้เที่ยวเห็นอะไรออกนอกไป รู้อดีต รู้อนาคต รู้เทวดา รู้ผี รู้อะไรอย่างนี้ มันรู้ได้จริงๆ แต่สิ่งที่ถูกรู้อาจจะไม่จริงก็ได้ จิตมันหลอก กิเลสมันหลอกเรา อย่างภาวนา บางคนก็อยากเห็นพระจุฬามณี ที่โน้นก็อยากดูพระจุฬามณี ทางนี้ก็อยากดูพระจุฬามณี พระจุฬามณีแต่ละวัดทำไมมันไม่เหมือนกันสักองค์หนึ่ง เจดีย์นั้นวัดนี้ก็จุฬามณีแบบนี้ๆ ถ้ามันเป็นความจริง มันจะต้องเหมือนกันใช่ไหม จิตมันหลอนอย่างนี้

เวลาฝึกสมาธิแล้ว จิตมันไหลออกไป พอเรารู้ โอ๊ย อย่างนี้มันไม่ถูก พอรู้ว่าอันไหนมันไม่ถูก มันก็รู้จักสิ่งที่ถูกขึ้นมาเลย เมื่อไหร่ไม่ผิด เมื่อนั้นก็ถูกล่ะ ไปนั่งเพ่งไว้จนเครียด ก็ไม่ถูก เครียดอยู่ ทรมานกายทรมานใจ ไม่เห็นมีอะไรขึ้นมา ดีไม่ดี กิเลสเพิ่มอีก อย่างไปนั่งเพ่ง เครียดๆ อยู่ คนอื่นไม่ดีเลย กูดีกว่าเขา กูเพ่งเก่ง กูมีสมาธิ กูเป็นคนดี เลยเลวกว่าคนอื่นเขา ไม่เห็นกิเลส กูเก่งๆ ขึ้นมาแล้ว

 

มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง

หลวงพ่อก็ใช้วิธีค่อยๆ สังเกต สรุปได้ วิธีทำสมาธิ ทำสมถะ น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง แต่อย่าอยากสงบ มันสงบเอง ถ้าอยากสงบจะไม่สงบ แล้วถ้าจะให้จิตตั้งมั่นล่ะ ทำอย่างไร ทำได้หลายแบบ บอกแล้วฝึกมาเยอะ หลายแบบ ทำสมาธิก็ได้ เป็นอีกแบบหนึ่ง แบบที่พวกเราพอจะทำได้ก็คืออาศัยสติรู้ทันจิตที่มันเคลื่อนไปเคลื่อนมา จิตไหลไปคิดแล้วรู้ คือถ้าหลงแล้วรู้ มันก็รู้นั่นล่ะ มันก็ไม่หลงก็แค่นั้นล่ะ

ฉะนั้นอาศัยสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น มันไหลไปแล้ว มันไม่ตั้งมั่น มันจะเกิดการตั้งมั่นอัตโนมัติ ไม่ได้เจตนาให้ตั้งมั่น มันตั้งได้เอง เรียนมาจากสิ่งที่ผิด แล้วก็สรุปออกมาอย่างนี้ พอถึงขั้นเจริญปัญญา หลวงพ่อก็ภาวนานานาชนิดเลย ทดลองไปเรื่อย สุดท้ายก็สรุปได้ ถ้าเราจะเจริญปัญญา ทำอย่างไร ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง จะรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้มีเงื่อนไข ต้องรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เพราะฉะนั้นต้องมีสติรู้กายรู้ใจ มีอะไร มีสติ มีสติไปทำอะไร ไปรู้ ไม่ใช่ไปเพ่ง ไม่ใช่ไปคิด

ฉะนั้นมีสติไปรู้เท่านั้นเอง ระลึกรู้ มีอะไรเกิดขึ้นในกาย รู้ มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจรู้ มีสติรู้ รู้อะไร รู้กาย รู้ใจ ไปรู้อะไรอย่างอื่น รู้อยู่ที่กายที่ใจนี้ ตามความเป็นจริง หมายถึงว่ากายเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ใจเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่ใช่ว่าต้องสงบ ต้องสุข ต้องดี ไม่มีคำว่าต้อง ไม่มีคำว่าห้าม มันเป็นอย่างไร ก็รู้ว่าเป็นอย่างนั้น คำว่าต้อง คำว่าห้าม ไม่เอามาใช้ในการทำวิปัสสนา แต่เอาไปใช้ในการทำสมาธิ ทำสมถะได้

ค่อยๆ เรียน ความจริงคืออะไร มีสติรู้กายรู้ใจ มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง กายเป็นอย่างไร กายเป็นไตรลักษณ์ ใจเป็นอย่างไร ใจเป็นไตรลักษณ์ นั่นล่ะคือความจริง กายเป็นปฏิกูลอสุภะ ไม่ใช่ความจริง เป็นความจริงโดยสมมติ อย่างหมาเน่าสักตัวหนึ่งอย่างนี้ เราบอกว่าเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ แมลงวันบอก หอมชื่นใจ ชอบมากเลย กินแล้วก็ไข่ไว้ด้วย ให้ลูกของตัวเองอยู่ตรงนี้ จะได้กินมันต่ออะไรอย่างนี้ ฉะนั้นปฏิกูลอสุภะไม่มีสภาวธรรมรองรับจริง บางคนก็ว่าเป็นปฏิกูล บางคนว่าไม่ปฏิกูล

อย่างคนไทยว่าทุเรียนหอมใช่ไหม ทุเรียนหอม คนที่ไม่ชอบทุเรียน ฝรั่งที่ไม่ชอบทุเรียน บอกเหม็นเหลือเกิน ผลไม้ชนิดนี้ ชีสบางอย่าง มีเชื้อรามีอะไร ฝรั่งว่าหอม เราเห็นแล้วอ้วกจะแตก เห็นไหม เป็นปฏิกูลอสุภะของเรา มันเป็นสุภะของเขา ฉะนั้นเรื่องปฏิกูลอสุภะไม่ใช่ของจริง แล้วแต่ความพอใจ อย่างปลาร้า คนชอบปลาร้าได้กลิ่นแล้วน้ำลายไหล อีกคนหนึ่งเกลียดปลาร้า ได้กลิ่นแล้วจะอ้วก ฉะนั้นอันไหนเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ ไม่มีจริง

คราวหนึ่งหลวงพ่อไปวัดป่าสาลวัน ที่จริงไปทุกเดือน ไปหาหลวงพ่อพุธ ท่านอยู่โคราช ใกล้ ทุกเดือนก็ต้องไปหาท่านทีหนึ่ง เดินเข้าไปทางหลังวัด เดินเข้าไป โอ้โห เต็มไปด้วยทุ่นระเบิด เต็มไปหมดเลย ขี้หมาทั้งนั้นเลย สงสัยหมาทั้งตำบลมาใช้ตรงนี้เป็นส้วมสาธารณะของมัน ตรงนี้กองๆ ไม่รู้จะเอาขาเอาเท้าวางไว้ตรงไหน ต้องระวังมากเลย ก็เดินๆๆ ไป ไปเจอกองหนึ่ง ยังเละๆ อยู่ หมาคงเพิ่งอึไว้ มีหนอนอยู่ด้วยดึบๆ ดึบๆ อย่างนี้ เห็นแล้วสะอิดสะเอียน แทบอ้วกเลย กำลังสะอิดสะเอียน

จิตมันแสดงปาฏิหาริย์ให้ดูเลย จิตมันพุ่งเข้าไปใส่กองขี้หมานั้น คล้ายๆ อยู่ๆ เราหล่นตูมลงไปในกองขี้หมา ทีแรกมันก็กองแค่นี้ พอจิตมันเคลื่อนเข้าไป กองมันใหญ่ คล้ายๆ เราจมลงไปได้เลย จิตมันเคลื่อนเข้าไปใส่ขี้หมา พอลงไปปุ๊บมันแยกเลย น้ำส่วนน้ำ ลมส่วนลม ไฟส่วนไฟ ดิน เหลือแต่ดิน นี่อำนาจของจิต ดูลงไปปุ๊บ ขี้หมาเปียกๆ เราเห็นเป็นขี้หมาแห้งๆ เลย แห้งสนิทเลย จิตเลยเห็น โอ้ ที่จริงแล้วคือธาตุ มันก็คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ธาตุนี้มันเป็นของจริง มีจริง ปฏิกูลอสุภะไม่มีจริง จิตมันสอนตรงนี้ขึ้นมา ก็แสดงให้ดูเลย

ฉะนั้นเวลาเรียนกรรมฐาน จิตหลวงพ่อมันโลดโผน บางทีมีฉายสไลด์ให้ดูเลย เหมือนถ่ายคลิปให้ดูเลย ไม่ใช่คิดๆ เอา พอเห็นอย่างนี้ จิตราบเป็นหน้ากลอง เดินสบายๆ ไป ก็มีสติไม่เหยียบขี้หมาหรอก เดินไป ไปกราบหลวงพ่อพุธ ท่านเห็นหน้าหลวงพ่อ “ไง นักปฏิบัติ” ท่านเรียกหลวงพ่อว่านักปฏิบัติ “ได้อะไรดีมาวันนี้” เล่าให้ท่าน ไปเห็นขี้หมาที่วัดท่านนี้ล่ะ แล้วจิตมันเข้าไปแยกขี้หมา ลงเป็นธาตุ ท่านก็ “ถูกแล้วๆ มันก็มีแต่ธาตุเท่านั้นล่ะ”

 

รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง

เพราะฉะนั้นที่ว่ารู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ถ้ารู้กายก็รู้ลงเป็นธาตุไป นั่นความจริงของกายมันเป็นแค่วัตถุธาตุ เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา รู้จิตรู้ใจก็เห็นว่า แค่ความรู้สึกนึกคิดเท่านั้นเอง กับความรับรู้ ความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์ นึกก็คือความจำได้หมายรู้ คิดก็คือความปรุงดีปรุงชั่ว คือเวทนา สัญญา สังขาร ส่วนตัวความรับรู้ก็คือตัวจิต เราเรียกว่าเราแยกขันธ์ออกไปได้ รูปขันธ์แยกออกเป็นละเอียดก็เป็นธาตุ 4 นามขันธ์แยกออกไปก็เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกออกไป แต่ละอันๆ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาทั้งหมดเลย ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา

ค่อยๆ จับหลักได้ มีสติรู้กายใจตามความเป็นจริง คือมันเป็นแค่เป็นธาตุเป็นขันธ์ แล้วก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นคือความจริง เราจะเห็นตรงนี้ได้ จิตต้องตั้งมั่นและเป็นกลาง ฉะนั้นที่หลวงพ่อบอกว่าให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ที่จริงตัวนี้คือหลักของการทำวิปัสสนากรรมฐาน แต่หลวงพ่อย้ำ ขยายวงเล็บไว้ ต้องรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง ถ้าไม่มีจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง รู้ตามความเป็นจริงไม่ได้ มันจะรู้แล้วไม่จริง

อาศัยการปฏิบัติ ผิดถูก ค่อยๆ ลอง ค่อยๆ เรียนไป ในที่สุดมันก็จับหลักได้ พอเราจับหลักได้ คราวนี้หันซ้ายหันขวาจะทำสมถะใช้อะไรก็ได้ กรรมฐานอะไรก็ใช้ทำสมถะได้หมดเลย ทำอันหนึ่งให้ได้ก่อนแล้ว แล้วมันได้ทั้งหมด เหมือนอย่างถ้าทำกสิณได้อันหนึ่ง ก็จะได้กสิณทั้ง 10 อัน กรรมฐานทำให้มันเชี่ยวชาญสักกองหนึ่ง ก็จะได้ 40 กองนั่นล่ะ วิปัสสนา ชำนิชำนาญในกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม อันใดอันหนึ่ง กายก็ไม่ได้รู้กายทั้งหมด รู้กายบางอย่างก็พอแล้ว เช่น กายหายใจออก กายหายใจเข้า รู้อย่างนี้ ก็รู้ทั้งหมดล่ะ กายยืน เดิน นั่ง นอน รู้แค่นี้ ก็รู้ทั้งหมด สุข ทุกข์ เฉยๆ เกิดขึ้น รู้เท่านี้ก็คือรู้ทั้งหมด พอจับหลักได้ คราวนี้จะทำอะไรให้มันเป็นวิปัสสนามันก็เป็น จะทำให้มันเป็นสมถะ มันก็เป็น พอรู้หลักแล้ว

มันคล้ายๆ เคล็ดลับของวิทยายุทธสายจีน สายญี่ปุ่น เมื่อฝึกถึงจุดสุดยอดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างใช้เป็นอาวุธได้หมดเลย ถ้าเราฝึกจนถึงจุดที่เราเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว อะไรก็ได้ ดูอะไรก็ได้ ดูให้มันเป็นสมถะก็ได้ ให้มันเป็นวิปัสสนาก็ได้ แต่จะเป็นวิปัสสนาต้องเป็นรูปธรรมนามธรรม ส่วนสมถะไม่เลือกเลย อะไรก็ได้หมดเลย ส่วนวิปัสสนาต้องรู้รูปรู้นาม แต่จะรู้รูปชนิดไหน นามชนิดไหน อะไรก็ได้ เลยจะรู้สึกง่าย ไม่เห็นยากเลย ก่อนจะรู้สึกง่ายมันยากแสนสาหัสมาแล้ว

ฉะนั้นเราฟังที่หลวงพ่อสอนวันนี้แล้วจับหลัก แล้วก็พยายามช่วยตัวเองให้ได้ เรียนรู้สิ่งที่ผิดนั่นล่ะ ตรงไหนผิด อะไรที่ทำแล้ว อกุศลที่ยังไม่มี มีขึ้นมา อกุศลที่มีแล้วเจริญขึ้น อะไรที่ทำแล้ว กุศลที่ยังไม่เกิด เกิด อะไรที่กุศลเกิดแล้วก็เกิดบ่อยขึ้น ชำนิชำนาญขึ้น ก็จะบอกเรา ตรงไหนถูกตรงไหนผิด ฝึกไปเรื่อย ในที่สุดมันก็จับหลักได้ คราวนี้ง่ายแล้ว.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
28 พฤศจิกายน 2564