เวลาภาวนาอย่าใจร้อน

เวลาเรานั่งภาวนา รู้สึกตัวขึ้นมา แล้วคอยสังเกต ถนัดดูร่างกาย ก็สังเกตร่างกาย ร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็หายใจออก เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวก็ยืน เดิน นั่ง นอน เฝ้ารู้เฝ้าดูไป เห็นร่างกายเป็นของไม่เที่ยง ไม่ว่าร่างกายจะอยู่ในสภาพอันไหน ก็อยู่ได้ชั่วคราว ถูกบีบคั้นให้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างเราหายใจเข้า เราก็หายใจเข้าได้ชั่วคราว ความทุกข์ก็บีบคั้นให้เราต้องหายใจออก ถ้ามองอย่างนี้ได้ เราก็จะเห็นร่างกายนี้เป็นของถูกบีบคั้น เป็นทุกข์

หรือมองไปอีกอย่าง ร่างกายเป็นแค่วัตถุ มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ทั้งวันทั้งคืน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นแค่วัตถุ อย่างมีธาตุลมไหลเข้าทางจมูกเรา ธาตุลมก็ไหลออกไป มีธาตุน้ำ ธาตุดินไหลเข้ามาทางปาก แล้วก็ไหลออกไป เฝ้ารู้เฝ้าดู อย่างพอธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลมเข้าไปในร่างกาย มันทำงานได้ ก็เกิดพลังงาน เกิดความร้อน เห็นร่างกายเรานี้คายความร้อนออกมาตลอดเวลา เหมือนเตา เหมือนเตาถ่าน เตาแก๊สอะไรก็ได้ ข้างในมันร้อน ความร้อนมันระบาย ดูไปๆ ไม่มีเราที่ไหน มีแต่ธาตุ

เวลาเรานั่งภาวนา ถ้าจิตใจเราสงบ มีเรี่ยวมีแรงพอแล้ว เราก็เจริญปัญญา ดูกายได้ก็ดูกายไป ถ้าดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ร่างกายมันไม่หายไปไหน ดูง่าย ก็นั่งอยู่นี่ล่ะ คอยรู้สึกลงไปในร่างกาย แต่จิตมันว่องไว มันหนีเก่ง มันปรุงแต่งเก่ง สติ สมาธิเราไม่พอ มองจิตไม่ออก ก็ไปนั่งเพ่งจิต บอกว่าดูจิตๆ การดูจิต ถ้าใจเราสบายๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับจิตใจ จิตใจเดี๋ยวก็ปรุงดี เดี๋ยวก็ปรุงชั่ว เดี๋ยวก็ปรุงสุข เดี๋ยวก็ปรุงทุกข์ เดี๋ยวก็ไปดูรูป เดี๋ยวก็ไปฟังเสียง เดี๋ยวไปดมกลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัสทางกาย เดี๋ยวก็คิดนึกทางใจ ดูจิตดูใจก็ดูมันไปอย่างนี้ล่ะ

 

การภาวนามีลำดับของมัน

ทีแรกดูได้หยาบๆ จิตเราหยาบ มีกิเลสแรงๆ ถึงจะเห็น อย่างโกรธแรงๆ แล้วถึงจะรู้ โลภแรงๆ แล้วถึงจะรู้ เราหัดรู้หัดดูบ่อยๆ สติเราก็ว่องไวขึ้น ขัดใจเล็กๆ ก็มองเห็นแล้ว อย่างนี้ถือว่าเราก็พัฒนาขึ้น มีความสุขแผ่วๆ โชยขึ้นมาจากกลางอกอย่างนี้ เราก็เห็น เฝ้ารู้เฝ้าดูมันไป เสร็จแล้วจิตมันจะค่อยๆ วางของหยาบ มันทวนกระแสเข้ามาที่ตัวรู้มากขึ้นๆ ของหยาบๆ ในทางจิตนั้นคืออะไร สุขทุกข์มันของหยาบ ดีชั่วก็ยังเป็นของหยาบ การที่จิตวิ่งไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ยังหยาบอยู่ ของหยาบๆ มันก็ดูง่าย เบื้องต้นก็ดูหยาบๆ ไป ภาวนาจนจิตรวมลงที่จิตแล้ว เราก็จะเห็นความปรุงแต่งของจิต หรือเห็นสังขารของจิต ตัวจิตตสังขาร

ในขั้นละเอียดเราจะเห็นว่า มีความปรุงแต่งเกิดขึ้นได้ 3 แบบที่จิตเรานี้ อันหนึ่งปรุงดี อันหนึ่งปรุงชั่ว อันหนึ่งปรุงความว่างๆ หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ ถึงตรงนี้เราไม่ได้ไปดูโลภ โกรธ หลงอะไรแล้ว เพราะโลภ โกรธ หลงมันหยาบๆ มันละเอียดเข้าไป มันก็จะเห็นความปรุง เห็นสิ่งบางสิ่งเกิดขึ้น แล้วสิ่งนั้นทั้งหมดก็ดับไป เฝ้ารู้เฝ้าดูไป ถ้ามองให้ละเอียดขึ้น สิ่งบางสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น บางทีก็คือความปรุงดี บางทีก็คือความปรุงชั่ว ไม่ได้นับเป็นเรื่องๆ จะเห็นแค่ความปรุงแต่งเป็นขณะๆ ไป

อย่างเราภาวนา เราคิดถึงการภาวนา จิตมันก็เริ่มปรุงแต่ง อันนี้หยาบหน่อย เรียนหยาบๆ ก่อน อย่างเราคิดถึงการปฏิบัติ จิตเราก็ปรุง ปรุงดี คอยควบคุมตัวเอง คอยบังคับตัวเอง คอยจ้อง คอยเพ่ง คอยสังเกต มีการกระทำเพื่อจะให้จิตสุข จิตสงบ จิตดี หรือมีความอยากแทรกอยู่ อยากให้เกิดปัญญา อยากรู้ อยากมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ความอยากอย่างนี้ มันก็ทำให้เกิดความปรุงฝ่ายดีขึ้นมา อยากปฏิบัติอะไรอย่างนี้ก็ปรุงดี พอปรุงดีมันก็เป็นคนดี มันก็จะมีคนขึ้นมา มีตัวเรา มีของเราขึ้นมา ถ้าไม่จงใจปฏิบัติ จิตมันเคยชินจะชั่ว มันก็ปรุงชั่ว

ปรุงชั่วแรกๆ ก็คือมันจะหลง มันจะลืมเนื้อลืมตัว แล้วก็แส่ส่าย ส่ายไปส่ายมา เที่ยวแสวงหาว่าจะหาอารมณ์อะไรมาดูดี ส่ายๆ ไป ถ้าหยาบๆ ก็วิ่งไปดูทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าละเอียดขึ้นมาก็แส่ส่ายอยู่ทางใจ มีกามธรรมเกิดขึ้นในใจ คอยรู้ไป มันก็มีแต่ความปรุงแต่ง ไม่มีอะไรหรอก จนวันหนึ่งจิตเราเข้าถึงธาตุรู้ เราเข้ามาถึงธาตุรู้ ไม่ใช่ผู้รู้ วางผู้รู้ลงไป เข้ามาที่ธาตุรู้ได้ ถ้ายังไม่วางผู้รู้ลงไป เราสังเกต ผู้รู้มันทำงาน มันมีความแส่ส่ายในตัวของมัน ยังไม่รู้เลยว่ามันแส่ส่ายเรื่องอะไร มันส่ายๆ ข้างใน ถ้ารู้ทัน จิตก็พลิกตัววางความปรุงแต่งไป จิตก็เข้าถึงสภาพธรรมที่ไม่ปรุงแต่ง

การภาวนามีลำดับของมัน เริ่มจากของหยาบๆ เวลาเราดูได้แต่ของหยาบ เราก็ดูหยาบๆ จนวันหนึ่งมันละเอียดขึ้นมา ละเอียดประณีต เห็น เรียนปฏิบัติอย่ารีบร้อน อย่าใจร้อน หลวงพ่อเห็นบางคนเที่ยวถาม จะทำลายผู้รู้ได้อย่างไร เธออย่าเพิ่งทำลายผู้รู้เลย เธอมีผู้รู้เสียก่อน เธอยังไม่มีผู้รู้เลย จะทำลายผู้รู้ มันเพ้อ การทำลายผู้รู้นั้น ศีล สมาธิ ปัญญา มันสมบูรณ์แล้ว มันทำลายของมันเอง ไม่มีใครทำลายผู้รู้ได้หรอก เมื่อศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์ แล้วมรรคมันทำลายของมันเอง ฉะนั้นเราอย่าไปคิดเรื่องทำลายผู้รู้ๆ เพ้อไป พระอนาคามียังทำลายผู้รู้ไม่ได้เลย เราเพิ่งหัดดูจิตดูใจ 1 – 2 วัน จะมาทำลายผู้รู้ มันก็คือการล่มเรือในขณะที่อยู่กลางทะเลนั่นล่ะ ฉะนั้นเราไม่เว่อๆ ไม่เกินชั้นเกินภูมิของเรา

 

อยากเป็นพระโสดาบัน เราก็มาเรียนรู้ธรรมะของพระโสดาบัน

ในขณะนี้พวกเราเป็นปุถุชน เราก็เรียนรู้ธรรมะที่จะทำให้ปุถุชนเป็นพระโสดาบัน เอาแค่นี้ก็พอแล้ว ธรรมะที่จะทำให้ปุถุชนเป็นพระโสดาบันได้ ถือศีล 5 ไว้ ขั้นแรกเลยต้องมีศีล ถ้าไม่มีศีล 5 เป็นไม่ได้หรอก จิตมันจะไหลไปทางบาปอกุศล ไปทำชั่ว ทำชั่วมันก็มีผลเป็นความทุกข์ ความวุ่นวาย ความไม่สงบสุข เราก็มาดู พระโสดาบันท่านเคารพในพระรัตนตรัยแน่นแฟ้น ไม่เคารพสิ่งอื่นมาเป็นที่พึ่งที่อาศัย ฝากเป็นฝากตาย เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นเรื่องงมงาย เราก็ละวางเสีย

คนส่วนใหญ่ไม่มีกำลังของสติปัญญาพอ ก็เที่ยวนับถืออะไรต่ออะไรมั่วซั่วไปหมด ไปขุดเจอไม้ตะเคียนก็นับถือไม้ตะเคียน เจอจอมปลวกก็นับถือจอมปลวก บางพวกเจอภูเขา เห็นภูเขาหิมาลัย นับถือภูเขา นับถือแม่น้ำ นับถือต้นไม้ นับถือผีสางเทวดาอะไรพวกนี้ หวังว่านับถือแล้วชีวิตจะพ้นจากความทุกข์ มันพ้นไม่ได้หรอก ต้องถึงพระรัตนตรัยจริงๆ เราถึงจะเริ่มห่างทุกข์ออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งจิตใจเรารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระรัตนตรัย อันนั้นล่ะเราพ้นทุกข์ได้จริง พ้นทุกข์ถาวร ถ้าจิตเรายังไม่รวมเข้ากับพระรัตนตรัย ยังไม่พ้นหรอก มันก็ยังอยู่กับโลก เป็นโลกที่ละเอียดหน่อย

พระโสดาบันท่านรู้อะไรอีก พระโสดาบันท่านรู้ว่าสิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา เราอยากเป็นพระโสดาบัน เราก็มาเรียนรู้ธรรมะของพระโสดาบัน หลายๆ ข้อนี้ เอาที่สำคัญเลย ถือศีลไว้ก่อน แล้วก็หัดภาวนาไป สังเกตเข้ามาให้ถึงจิตถึงใจเรา จริงหรือเปล่าที่สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ เฝ้ารู้ลงไปเรื่อยๆ ไม่ต้องคิดมากหรอก

อย่างเรานั่งภาวนา หายใจเข้าพุทหายใจออกโธอย่างนี้ แล้วเกิดอะไรแปลกปลอมขึ้นในจิตเรา เราก็ดูไป รู้สึกอยู่ ดูห่างๆ ดูเหมือนคนวงนอกไม่ถลำลงไปเพ่ง เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนเห็นเรือแล่นไปในแม่น้ำ เราไม่โดดลงไปในน้ำ ไม่ไปว่ายน้ำ เราอยู่บนบก ฉะนั้นเวลาเราภาวนา ทำกรรมฐานของเราอยู่ แล้วมีอะไรแปลกปลอมขึ้น เราดูเหมือนเราดูเรือในแม่น้ำ ทั้งๆ ที่เราอยู่บนบก เราไม่ลงน้ำ เราก็จะเห็นเรือมันมา แล้วเรือมันก็ไป เรือลำนี้อาจจะคือความสุขที่ผ่านเข้ามาในใจ เราก็เห็นเรือความสุขนี้ผ่านมาแล้วเรือความสุขก็ผ่านไป เห็นเรือความทุกข์ผ่านมาแล้วเรือความทุกข์ก็ผ่านไป เราเป็นแค่คนดู เป็นคนวงนอก ถ้าเราไปอยู่ในเรือด้วย เราไปอินกับความสุขความทุกข์อะไรนี่ ดูอะไรไม่รู้เรื่อง หรือบางทีเรือโกรธมา เรือโลภมา เราเฝ้าดู มันเห็นเรือแต่ละลำผ่านมาแล้วมันก็ผ่านไป เราอยู่บนบก เราเป็นคนดูอยู่ต่างหาก

เฝ้ารู้เฝ้าดู 7 วัน 7 เดือน 7 ปี อะไรก็ภาวนา ดูสิ่งซึ่งมันผ่านเข้ามาในจิตแล้วมันก็ดับไป ผ่านเข้ามาแล้วมันก็ดับไป ดูซ้ำๆๆ อยู่อย่างนี้ล่ะ ไม่ต้องดิ้นรนค้นคว้าอะไรมากให้ฟุ้งซ่านหรอก ถ้าอยากให้รอบรู้มากมาย ใจจะเริ่มฟุ้งซ่าน ไม่ต้องรู้มาก พระโสดาบันไม่ได้รู้อะไรเยอะเลย พระโสดาบันรู้แค่ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา มันก็เหมือนเรานั่งดูเรืออยู่ริมแม่น้ำ เรือลำไหนมาเดี๋ยวมันก็ไป

 

ภาวนาอย่ารีบร้อน อย่ากระโดด อย่าข้ามขั้น

ฉะนั้นเฝ้ารู้เฝ้าดูสบายๆ ชิลๆ ดูสบายไป อย่าไปดูแล้วก็เครียดอะไรอย่างนี้ ตัวนี้ทำไมมาบ่อยนัก ทำไมตัวนี้ดีๆ ตัวนี้ไม่มา มีแต่ตัวชั่วๆ มา ตัวทุกข์ๆ มาอะไรอย่างนี้ อันนี้ดูแบบไม่เป็นกลาง ดูแบบมีลุ้น อยากให้เรือลำนั้นมา ไม่อยากให้เรือลำนี้มา ทั้งๆ ที่เราไม่ใช่คนขับเรือ เรือมันจะมามันก็มา มันจะไปมันก็ไป เราสั่งมันไม่ได้ เราไม่ใช่เจ้าของเรือ สุข ทุกข์ ดี ชั่ว เหมือนเรือไหลผ่านเข้ามาในใจเรา มันไม่ใช่ของเรา มันไม่ใช่ความสุขของเรา ความทุกข์ของเรา ความดีความชั่วของเราที่เราจะสั่งได้ มันก็ไหลมาไหลไปๆ

เฝ้ารู้เฝ้าดูไป สบายๆ 7 วัน 7 เดือน 7 ปี บางคน 7 วัน หลวงพ่อเคยเห็น มีลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์องค์หนึ่ง แต่ไม่อยู่แล้ว องค์นี้ภาวนา แต่จะว่า 7 วันก็ไม่เชิงหรอก บวชได้ 7 วัน แต่ว่าก่อนบวชก็ภาวนา อยู่ทางกิ่งลำดวน อำเภอลำดวน ชาวบ้านๆ นี่ล่ะ มานั่งภาวนาในวัด วัดสาขาของหลวงปู่ ภาวนาเสร็จแล้วออกจากวัดมา จะกลับบ้านเดินออกมา จิตมันมีสมาธิมาก มองพื้นดินอยู่ สำรวมเดินระมัดระวัง ไม่เดินเอ้อระเหย มองโน่นมองนี่ ถึงเขายังไม่ได้เป็นพระ เขาก็สำรวม เพราะเขาภาวนา เดินเห็นพื้น จิตมันรวมปุ๊บลงไป มันมองทะลุแผ่นดินลงไป เปลือกโลกที่เราอาศัยอยู่บางนิดเดียว เทียบกับโลกทั้งโลก เปลือกโลกนี้บางกว่าไข่ไก่อีก บางกว่าเปลือกไข่ ก็รู้สึกว่าโลกนี้ไม่ปลอดภัย อันตรายมากเลย ข้างล่างเป็นของเหลวร้อนรุนแรง ใจก็รู้สึกว่าชีวิตเป็นของไม่แน่นอน พร้อมเสี่ยงที่จะตายได้เสมอ เขาภาวนา สติปัญญา เขาเกิดจากการภาวนา ไม่ได้คิดเอาหรอก มันเห็นจริงๆ พอกลับบ้านไป ใจก็สลดสังเวช รู้สึกชีวิตนี้เป็นของไม่แน่นอน ไม่นานก็ต้องตาย

อีกวันหนึ่งก็ไปภาวนาที่วัดเดิมนั่นล่ะ ภาวนาแล้วก็เดินออกมา คราวนี้จิตมันไม่มองรูปธรรม วันแรกมันเห็นรูปธรรม เห็นโลก เห็นเปลือกโลก เห็นอะไร เห็นลาวาอยู่ข้างใน วันนี้จิตมันมองเข้าไปเห็นนามธรรม มองปุ๊บลงไป เห็นสัตว์ในนรก เห็นนรก คนรู้จักหลายคนเลย ตอนมีชีวิตอยู่เขาทำตัวไหม ทำผ้าไหม เมืองสุรินทร์มีชื่อเสียง เรื่องผ้าไหม ผ้าไหมเขาดีมากๆ เลย เห็นพวกนี้กำลังถูกต้มอยู่ ในหม้อใหญ่ๆ ในกระทะใหญ่ๆ ก็เลยรู้สึกชีวิตมันไม่ได้จบลงที่ตาย ชีวิตนี้หลังความตายก็ยังมีอีก อินทรีย์เขาแก่กล้าอย่างนี้ ออกมาบวช

มาบวชอยู่คืนวันที่ 7 จิตมันเข้าถึงความว่าง วางสภาวะทั้งหลายลงไปตามลำดับๆ เข้ามาถึงว่าง พอสว่างก็ไปถามหลวงตาซอม หลวงตาซอมท่านภาวนาเก่ง ว่าจิตผมเป็นอย่างไร หลวงตาซอมท่านบอกจิตมันเข้าถึงนิโรธ องค์นี้ท่านฟังแล้วท่านก็ไม่แล้วใจ เข้าถึงนิโรธ ฟังแล้วไม่รู้เรื่อง ฉันข้าวแล้วก็เดินตัดทุ่ง มาถามหลวงปู่ดูลย์ ไปเล่าให้ท่านบอก “ตอนนี้จิตผมถึงนิโรธ” หลวงปู่ดูลย์ท่านตวาดเอา “เฮ้ย นิร่งนิโรธอะไร” ถูกท่านตวาดทีเดียว จิตคลายความยึดถือความว่างๆ ลงไป จิตก็เข้าใจธรรมะที่มันพ้นจากความเกิดความตายขึ้นมาครั้งแรก ครั้งที่หนึ่ง ภาวนา เขาสะสม เขาบวชได้ 7 วันเองคนนี้ บางคนก็ภาวนากับหลวงปู่ 7 เดือน บางคนก็ 7 ปีอะไรอย่างนี้ บางคน 16 ปี

 

“ภาวนาลุกลี้ลุกลนอยากจะได้ผลเร็วๆ จะไม่ได้อะไร
ความอยากมันทำให้จิตปรุงแต่ง จิตก็ดิ้นรน
ความปรุงแต่งของจิตคือภพ
มรรค ผล นิพพานมันพ้นจากภพไป”

 

ภาวนา ค่อยๆ เข้าใจไป ทำให้ถูก ไม่ใช่ทำแบบลุกลี้ลุกลน ภาวนาลุกลี้ลุกลนอยากจะได้ผลเร็วๆ มันจะไม่ได้อะไร ความอยากมันทำให้จิตปรุงแต่ง จิตก็ดิ้นรน ความปรุงแต่งของจิตคือภพ มรรค ผล นิพพานมันพ้นจากภพไป เราก็เอาแต่ปรุงแต่ง อยากดีๆ อยากดีจิตก็เลยสร้างภพของคนดี เป็นคนดี เป็นนักปฏิบัติที่ดีอะไรอย่างนี้ มันจอมปลอมทั้งหมดล่ะ ให้รู้ทันเลย อันนี้จิตเราปรุงแต่งความเป็นนักปฏิบัติแล้ว เรารู้ทันเข้าไป จิตเราปรุงดี เราก็รู้ ปรุงชั่วเรื่องง่าย ขนาดปรุงดียังรู้ทัน ยังไม่ติด ปรุงชั่วของกระจอกงอกง่อย อย่างจิตมันปรุงชั่ว สิ่งที่ตามมาทันทีคือความเร่าร้อนหยาบๆ ของจิต ถ้าจิตปรุงดี สิ่งที่ตามมาคือภาระของจิต มันไม่ได้เดือดร้อนรุนแรงแบบที่ปรุงชั่วหรอก แต่มันเป็นภาระ มันเป็นทุกข์

ฉะนั้นเวลาเราภาวนา อย่ารีบร้อน อย่ากระโดด อย่าข้ามขั้น ค่อยๆ ภาวนา ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ขั้นแรกเลย ถือศีล 5 ไว้ก่อน อันที่สอง ทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง แล้วถ้าอ่านจิตอ่านใจได้ ทำกรรมฐานไปแล้วพอจิตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ทำงานขึ้นมา ให้มีสติรู้ทันไป ไม่ต้องลุ้นว่ามันจะต้องดีอย่างนั้น ต้องวิเศษอย่างนี้ จะต้องอย่างนั้นจะต้องอย่างนี้ ห้ามอย่างนั้น ห้ามอย่างนี้ ในการภาวนาในขั้นของวิปัสสนากรรมฐาน ไม่มีคำว่าต้อง ไม่มีคำว่าห้าม มีแต่ว่าขณะนี้มันเป็นอย่างไร เฝ้ารู้เฝ้าดูเป็นขณะๆๆ ไป

ถ้าจิตมันรู้แจ้งเห็นจริง มันก็วางของมันเอง วางครั้งที่หนึ่ง อริยมรรคทำลายอาสวกิเลสที่ห่อหุ้มอยู่ มันแตกทำลายออกไปชั่วแป๊บเดียวก็กลับมาปิดใหม่ เหมือนในบ่อน้ำมีเศษใบไม้ มีอะไรปลิวเต็มสระอยู่อย่างนั้น เราหาก้อนหินใหญ่ๆ หรือไม้ท่อนใหญ่ ทุ่มโครมลงไป สิ่งสกปรกมันก็แหวกตัวออกไป เห็นน้ำใสๆ แป๊บเดียวมันก็กลับมาปิดอีกแล้ว อาสวะนี้ก็เหมือนกัน ครั้งที่หนึ่ง แหวกออกได้ครั้งที่หนึ่งก็เข้ามาปิด ครั้งที่สองก็เข้ามาปิด ครั้งที่สามก็เข้ามาปิดอีก จนถึงครั้งที่สี่ มันถึงจะแตกสลายไปจริงๆ เข้ามาไม่ได้แล้ว จิตเข้าถึงธรรม จิตกับธรรมเป็นอันเดียวกันไป เรารู้จักพระรัตนตรัยแล้ว เรามีที่พึ่งอันเกษมแล้วอย่างแท้จริงเลย

ถ้ายังไม่ได้อย่างนั้น เราก็เฝ้ารู้เฝ้าดูไป รักษาศีลไว้ เฝ้ารู้เฝ้าดูทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา ล้วนแต่ผ่านไปทั้งสิ้น ถ้าดูจิตดูใจเราก็เห็น ความรู้สึกทุกชนิดผ่านเข้ามาแล้วผ่านไปทั้งสิ้น สภาวะทั้งหลายในจิต กระทั่งจิตเป็นผู้รู้ก็ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป จิตเป็นผู้ไปดูรูป ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไปฟังเสียง ไปลิ้มรส ไปดมกลิ่นอะไรอย่างนี้ ก็เหมือนกันหมดล่ะ เห็นทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไปๆ ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนถาวรหรอก

 

อุบายกระตุ้นให้จิตเดินปัญญา

ถ้าดูตรงนี้ไม่เห็นก็ทำกรรมฐานไว้สักอย่างหนึ่ง พอจิตมีเรี่ยวมีแรง รู้สึกลงในกาย ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของกาย ถ้าจิตตั้งมั่นมีสมาธิ รู้ลงในกายแล้วก็ไม่เห็นอะไร เห็นแต่กาย อันนี้จิตมันไม่ยอมเดินปัญญา จิตมันติดความสงบ อันนี้ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนอุบาย แก้จิตติดความเฉยๆ ก็คือให้คิดพิจารณาลงไปเลย จิตไม่ยอมทำงาน ก็ให้มันคิดพิจารณาลงไป ร่างกายนี้เป็นของไม่สวย ไม่งาม เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะอะไรอย่างนี้ คิดอย่างนี้ก่อนก็ได้ คิดอย่างนี้ถ้าเป็นพระปลอดภัยที่สุด

เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านจะสอนพระ อย่างพระพุทธเจ้าอย่างนี้สอน ท่านก็สอนให้เห็น 4 ลักษณะ มีสัญญาหมายรู้ ความเป็นอสุภะ หมายรู้ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตรงหมายรู้อสุภะได้สมาธิเท่านั้นล่ะ จิตสงบจากกาม พอจิตสบายสงบจากกามเด็ดขาดแล้ว ก็ดูธาตุดูขันธ์มันแสดงไตรลักษณ์ ถ้ามันไม่ยอมแสดงไตรลักษณ์อีก คิดพิจารณาร่างกายลงไปเลย ร่างกายนี้มันของไม่เที่ยง เริ่มต้นดูตัวเองไม่ออก จิตมันชอบดูข้างนอก ดูข้างนอกก็เอาคนที่เราเคยรู้จักใช่ไหม เคยมีชีวิตอยู่ ตอนนี้ตายไปหมดแล้ว ไม่มีอะไรเหลือแล้ว ชีวิตมีแต่ความไม่เที่ยง ร่างกายนี้ควบคุมธาตุทั้ง 4 ควบคุมกันอยู่ด้วยกำลังของกรรม หล่อเลี้ยงเอาไว้ ถึงจุดหนึ่งธาตุทั้ง 4 นี้ก็จะแตกสลายออก ดินส่วนดิน น้ำส่วนน้ำ ลมส่วนลม ไฟส่วนไฟไป

เวลาธาตุมันแตก ถ้ามองในเชิงของพระสูตร ธาตุลมมันจะระงับไปก่อน จากนั้นธาตุไฟมันก็จะดับ แล้วธาตุน้ำมันก็จะไหลออกไป เหลือแต่ธาตุดินอยู่ ถ้าพูดในเชิงอภิธรรม เอาไปภาวนาไม่ถูกหรอก เห็นธาตุ เส้นผมเส้นเดียวก็มีธาตุ 4 แล้ว อันนั้นเกินความจำเป็น เอาแค่นัยยะของพระสูตร ในร่างกายเรานี้ ธาตุทั้ง 4 ธาตุดิน เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก นี่ส่วนของธาตุดิน ธาตุน้ำ เช่น น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำมูก น้ำลาย เสลดอะไรพวกนี้ มันธาตุน้ำ ธาตุลมก็มีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมที่เคลื่อนไหวอยู่ในท้องอะไรอย่างนี้

ดูลงไป เฝ้ารู้เฝ้าดู ดูอย่างนี้ ดูแบบนัยยะของพระสูตร ธาตุไฟก็เห็นเราหายใจเข้า อากาศเย็นๆ เข้าไป ไปกระทบร่างกายภายใน พอหายใจออกมาความร้อนโชยออกมาแล้ว ร่างกายนี้เหมือนเตาแผ่ความร้อนออกมาได้เรื่อยๆ เวลาจะตาย ใกล้จะตาย ธาตุไฟก็ตกลงๆ ลมก็แผ่วลง ธาตุไฟก็อ่อนลง มันจะเริ่มเย็นที่ปลายเท้าขึ้นมา ก็ลามๆๆ ขึ้นมา เราเฝ้ารู้เฝ้าดูจะเห็น ก็แค่ธาตุเท่านั้น ร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูไป ทีแรกอาจจะคิดนำไปก่อน ต่อไปจิตมันเคยมองร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว มันจะมองของมันเอง ตรงที่มันมองของมันเองนั่นล่ะ จิตเจริญวิปัสสนาจริงๆ แล้ว แต่ตรงที่เรายังคิดอยู่ ยังไม่ถึงวิปัสสนาจริง เป็นแค่กระตุ้นให้จิตเจริญปัญญาเท่านั้นเอง

คนไหนดูจิตดูใจได้ เราเห็นจิตใจมันทำงานได้ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวเรือลำนี้มา เดี๋ยวเรือลำนี้ไป ไหลไป ไหลมา เราก็ดูไป ดูจิตดูใจไปช่วงหนึ่ง จิตหมดแรง อย่างเราไปนั่งอยู่ริมแม่น้ำ นั่งดูเรือที่ผ่านไปผ่านมา นั่งตั้งแต่เช้ายันค่ำ ยันดึก ยันสว่างอีกอะไรนี่ ดูอย่างนั้น มันดูไม่ไหว มันเหนื่อย ไม่อยากดูแล้ว จิตนี้ก็เหมือนกัน เราดูจิตๆ ถึงจุดหนึ่ง มันก็ไม่ยอมดูแล้ว มันเหนื่อย จิตมันเหนื่อย จิตมันก็เบื่อ มันไม่อยากดู เพราะฉะนั้นเวลาเราดูสภาวะที่เกิดขึ้นในจิตในใจ ดูไปถึงจุดหนึ่ง ก็กลับมาทำสมาธิ กลับมาทำสมถะ ให้จิตได้พักผ่อน เหมือนเราไปนั่งอยู่ริมแม่น้ำ ดูอะไรต่ออะไรไหลมาไหลไปอย่างนี้ ดู พอเมื่อยแล้ว เราก็เข้าบ้าน กินข้าว อาบน้ำ นอน มีเรี่ยวมีแรงแล้วออกไปดูใหม่ การภาวนาก็ต้องแบบนั้นล่ะ ต้องรู้จักพัก ไม่พักเลย ภาวนาไม่ได้จริงหรอก

 

การเจริญปัญญาก็ต้องพัก จิตถึงจะมีกำลัง

ค่อยๆ ดู แล้ววันหนึ่งมันก็จะแจ้งขึ้นมาเป็นลำดับๆ มันแจ่มแจ้งครั้งแรก เราจะเห็นว่า สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ เพราะฉะนั้นขั้นต้น แค่ดูให้เห็นว่าสิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ แค่นี้ก็พอแล้ว สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นดับ ก็คือมันไม่เที่ยง แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวเรา ตอนที่มันยังไม่ดับ มันก็ถูกบีบคั้นให้ดับ ตรงที่มันเกิดแล้วมันดับ เรียกอนิจจัง ตรงที่มันยังไม่ดับ แต่มันถูกบีบคั้นให้ดับ เรียกว่าทุกขัง ตรงที่มันเกิดหรือมันดับ เราบังคับมันไม่ได้ เรียกว่าอนัตตา เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อยๆ ทั้งกายทั้งใจก็แสดงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้นล่ะ

อย่างพอดู ทำสมาธิขึ้นมาแล้วจิตนิ่งๆ หลวงพ่อบอกอุบายให้แล้ว พิจารณาร่างกายลงไป บางคนถนัดดูจิต พอจิตมันไปติดนิ่ง ให้รู้ทันลงไป กลับมาทำความสงบ ให้จิตเข้าฐาน เคยใช้กรรมฐานอะไรก็ใช้อันนั้นล่ะ พอจิตถึงฐานแล้วก็ค่อยดูสภาวะต่อ เห็นสภาวะไป ความยากมันอยู่ตรงนี้ ความยากมันอยู่ตรงที่ว่าจิตที่ไม่เคยเจริญปัญญา มันจะชอบแต่สมถะ แต่เมื่อไหร่ที่มันเคยเจริญปัญญาแล้ว มันจะเมาในการเจริญปัญญา มันจะไม่ยอมทำสมถะ

ถ้ามันไม่ยอมทำสมถะ อันนั้นต้องบังคับมัน น้อมจิตมาคิดพิจารณากาย พิจารณาจิตลงไป เป็นการกระตุ้นให้มันเจริญปัญญา ถ้ามันเจริญปัญญาแล้วมันไม่ยอมพักเลย ตะบี้ตะบันเจริญปัญญาไป ทั้งเหนื่อย ทั้งล้า ทั้งเครียด คล้ายๆ เบิ่งตาดูแม่น้ำ ดูมันทั้งวันทั้งคืน ล้าเต็มที มันไม่ยอมพัก ไม่ยอมพักก็ต้องบังคับมันพัก ตรงนี้ทำยากนิดหนึ่ง อย่างใจมันเคยเจริญปัญญาแล้ว จะให้มันหยุด ให้มันกลับมาทำสมาธิอะไรอย่างนี้ มันไม่ค่อยยอม ต้องใจเด็ดเดี่ยว บอกมันเลยว่าตอนนี้ไม่ใช่เวลาเจริญปัญญา เจริญไปก็ไม่ได้อะไรแล้ว ได้แต่ความฟุ้งซ่าน ได้แต่ความหลงผิด มันเกิดแต่วิปัสสนูปกิเลส บังคับมัน กลับมาหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป แวบเดียวมันจะไปเจริญปัญญาอีกแล้ว ช่างมัน ทิ้งมันไป กลับมาหายใจเข้าพุทหายใจออกโธใหม่ มาทำกรรมฐานของเราใหม่ พอมันจะหนีไปเจริญปัญญา รู้ทันมันแล้วก็กลับมาอยู่กับกรรมฐานอีก ฝึกอย่างนี้

ฉะนั้นเวลามันเมาในการเจริญปัญญา ก็ต้องกลับมาพักให้ได้ จิตถึงจะมีกำลัง มันไม่มาก็พยายามบังคับมันเคี่ยวเข็ญมันนี่ล่ะ ให้อยู่กับกรรมฐานของเรา แต่ไม่ได้บังคับจิตให้เครียด แค่บังคับจิตไม่ให้มันซนเตลิดเปิดเปิงไป คิดแต่จะเจริญปัญญา แล้วก็ให้มาอยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเราให้มันสบายๆ มาพักผ่อน ตอนนี้ไม่ใช่เวลาดูเรือในแม่น้ำแล้ว เป็นเวลาจะนอนแล้ว ให้มันมาพัก ให้มันมีเรี่ยวมีแรงขึ้นมาใหม่

 

“ทำความสงบไปแล้วมันไม่ยอมเดินปัญญา ก็มีอุบายกระตุ้น
คิดพิจารณาไตรลักษณ์ของกายของใจไป
ถ้ามันเจริญปัญญาแล้วมันไม่ยอมทำความสงบเลย จิตอ่อนล้าแล้ว
กลับมาอยู่ความสงบของเรา กลับมาอยู่กับกรรมฐานของเรา”

 

การภาวนามันจะมีศิลปะที่เราต้องสังเกต ตอนนี้ควรทำความสงบก็ทำ สงบพอสมควรแล้ว จะเจริญปัญญาก็เจริญปัญญา จะเจริญปัญญาด้วยการดูกายหรือดูจิต ก็ดูตัวเอง ดูอะไรได้ก็เอาอันนั้นล่ะ ถ้าดูจิตได้ก็ดี สั้นที่สุด ดูไม่ได้ก็ดูกายไปก่อน จะดูจิตก็ดูให้เป็น ไม่ใช่นั่งเพ่งจิตซื่อบื้ออะไรอย่างนั้น อันนั้นดูไม่เป็นหรอก อันนั้นเพ่ง ไม่ใช่ดู ถ้าดูก็เหมือนดูเรือผ่านในแม่น้ำ เรือมาเรือไปใช่ไหม เราไม่ได้ยุ่งด้วยเลย แต่ถ้าเพ่ง คล้ายๆ จ้องไม่ให้คลาดสายตาเลย บังคับเรือให้หยุดนิ่งอยู่กับที่ จ้อง ไม่ดีหรอก

ฉะนั้นเราก็ดูตัวเอง ทำความสงบไปแล้วมันไม่ยอมเดินปัญญา ก็มีอุบายกระตุ้น คิดพิจารณาไตรลักษณ์ของกายของใจไป ถ้ามันเจริญปัญญาแล้วมันไม่ยอมทำความสงบเลย จิตอ่อนล้าแล้ว กลับมาอยู่ความสงบของเรา กลับมาอยู่กับกรรมฐานของเราเลย แล้วจิตมันจะวกไปเจริญปัญญาอีก ช่างมัน โยนมันทิ้งไปเลย กลับมาอยู่กับกรรมฐานของเราใหม่ ไม่นานจิตมันก็เชื่อง มันก็กลับมาตรงนี้ได้

หลวงพ่อเห็นธรรมชาติ เวลาที่เราภาวนา จริงๆ ในตำราคงไม่มีหรอก แต่ว่าที่ภาวนาแล้วก็เห็นอยู่ เวลาเราทำสมาธิ จิตมันสงบ มันสุข มันสบาย เราไม่อยากเปลี่ยนแปลง มันจะติดอกติดใจในความสงบตรงนั้น แต่วันใดที่เราเจริญปัญญาได้ มันจะสนุก มันจะห้าวหาญ คึกคัก มันจะไม่ยอมพักเลย มันก็เว่อไปอีกข้างหนึ่ง เจริญปัญญาแล้วไม่พักเลย ในที่สุดก็กลายเป็นความฟุ้งซ่าน แล้วถ้าจิตมันทนไม่ไหว จิตมันจะพักของมันเอง โอกาสเกิดวิปัสสนูปกิเลสก็สูงเลยตรงนี้ ที่จิตมันไปพัก พักมั่วซั่วโดยเราไม่รู้ทัน

เพราะฉะนั้นขณะนี้ควรทำความสงบก็ทำ ขณะนี้ควรเจริญปัญญาก็ทำ ฝึกของเราไปเรื่อยๆ รู้จักศิลปะ ถ้ามันติดในความสงบ ก็คิดพิจารณาลงไป ความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจ ถนัดกายเอากาย ถนัดใจเอาใจ ถ้ามันเห็นไตรลักษณ์ ทีแรกมันพิจารณา มันคิด แล้วต่อไปมันเห็นเอง มันไม่ต้องคิด ก็เห็นไตรลักษณ์ของกาย เห็นไตรลักษณ์ของใจ พอเห็นมากเข้าๆ ใจเริ่มหมดแรง ใจจะเริ่มฟุ้ง หมดแรงแล้ว อย่าไปฝืนดู ให้กลับมาทำความสงบ

ถ้าจิตไม่ยอมทำความสงบ มันจะเจริญปัญญาอย่างเดียว ต้องรู้จักเทคนิค มีวิธี ทำกรรมฐานอยู่กับเครื่องอยู่ของเรา จิตหนีไปแล้ว ไม่ว่ามัน อยากหนีไปเจริญปัญญาไม่ว่ามัน แต่ไม่ตามมันไป กลับมาอยู่กับกรรมฐานของเราอีก ทำไปเรื่อยๆ จิตก็จะได้พักบ้าง เจริญปัญญาบ้าง จิตมันก็เหมือนคน ทำงานแล้วมันก็ต้องพักผ่อน พักผ่อนมาก ไม่ยอมทำงาน ก็ไม่ได้เรื่องอะไร อดตาย ไม่เจริญก้าวหน้า ทำงานไม่รู้จักพักผ่อนก็ตายเร็ว ทนไม่ไหว เครียด การฝึกจิตมันก็เหมือนการทำงานเหมือนกัน ต้องรู้จัก ตอนไหนควรจะพักก็พัก ตอนไหนควรเจริญปัญญาก็เจริญ ควรพักแล้วมันไม่พัก ก็หาอุบายให้มันพัก ควรเจริญปัญญาแล้วไม่เจริญก็มีอุบายกระตุ้นให้มันเจริญ

 

 

ค่อยๆ ฝึกตัวเอง ถึงวันหนึ่งเราก็จะเข้าใจธรรมะเป็นลำดับๆ ไป พระโสดาบันไม่ได้รู้อะไรมากมายหรอก พระโสดาบันรู้แค่ว่า สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ พระโสดาบันรู้ว่า ไม่มีที่พึ่งอื่นนอกจากพระรัตนตรัยที่จะช่วยให้เราเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ พระโสดาบันมีหิริโอตัปปะอย่างรุนแรงไม่กล้าทำผิดศีล ไม่ใช่บังคับตัวเองไม่ให้ผิดศีลแล้วบอกเป็นพระโสดาบัน ไม่ใช่หรอก

ถัดจากนั้นก็ภาวนาต่อไป จิตมีกำลังรวมครั้งที่สอง ตัดครั้งที่สอง ตรงที่จิตมันตัด หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกว่าจิตยิ้ม หลวงปู่มั่นท่านเรียกจิตรวมใหญ่ ภาษาครูบาอาจารย์แต่ละองค์ไม่เหมือนกันหรอก หลวงปู่มั่นเรียกจิตรวมใหญ่ จิตรวมใหญ่ก็คือจิตในขณะที่บรรลุมรรคผล จิตยิ้มมันก็เกิดขึ้นตอนบรรลุมรรคผล ครูบาอาจารย์ท่านไม่รู้จะใช้ศัพท์อะไร ท่านก็บัญญัติศัพท์ขึ้นมา เราลูกศิษย์ครูบาอาจารย์องค์นี้ ไปฟังอีกองค์ ฟังไม่รู้เรื่อง ทำไมท่านสอนไม่เหมือนกัน ที่จริงท่านก็สอนเหมือนกันล่ะ ถ้าท่านภาวนาถูกเหมือนกัน ท่านก็สอนเหมือนกันล่ะ ภาษาท่านอาจจะไม่เหมือนกัน ก็ต้องเข้าใจเรื่องของภาษา บางทีถ้าไม่ได้เรียนปริยัติภาษามันก็ไม่ตรงหรอก

จิตรวมใหญ่ครั้งที่หนึ่งก็เป็นพระโสดาบัน เห็นสิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ดับ ภาวนาต่อไปเรื่อยๆ สติ สมาธิ ปัญญา มันแก่กล้าขึ้น มันรวมครั้งที่สอง จิตมันห่างโลกออกไปเยอะเลย ห่างโลกก็คือจิตมันเข้าไปคลุกกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปคลุกกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะลดลงไปเยอะเลย จิตมันห่างโลกออกไป ห่างรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลายออกไปเยอะเลย แล้วมันไปติดใจธรรมารมณ์ที่ละเอียด ติดใจในความสุขความสงบของสมาธิ ของอะไรอย่างนี้ แต่จิตมันจะไกลโลกออกไป

พอจิตมันรวมครั้งที่สาม จิตมันหลุดโลก หลุดโลกไม่ได้แปลว่าบ้า หลุดโลก คือมันไม่เข้าไปจับในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอีกต่อไปแล้ว มันเห็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่เห็นมีอะไรเลย มันก็คือทุกข์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอายตนะภายนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นอายตนะภายใน ไม่ได้มีสิ่งอื่น มีแต่ทุกข์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็เป็นตัวรูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นตัวรูป จิตก็พ้นจากการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ พอมันไม่ติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย กามและปฏิฆะมันจะไม่เกิด จะไปยินดียินร้ายอะไร กับรูป เสียง กลิ่น รส ใจมันไม่เอาแล้ว เหมือนอย่างเราตัดใจขาดแล้ว

สมมติเราเคยรักผู้หญิงคนนี้มากเลย เขาไปคุยกับคนอื่น เราทนไม่ได้ ทุรนทุราย แต่พอได้อนาคามี มันจะรู้สึกเปลี่ยนไป มันจะเหมือนกับว่าเขากับเราขาดจากกันแล้วไม่เกี่ยวข้องกันแล้ว เขาจะไปยุ่งอะไรกับใครอย่างนี้ ไม่เกี่ยวกับเราแล้ว ใจมันจะเป็นอย่างนั้น ใจมันจะพ้นจากโลกไป เพราะฉะนั้นถ้ายังกระทบโลกอยู่ มันก็มีกาม มีปฏิฆะคือพอใจ ไม่พอใจในสิ่งที่มากระทบ แล้วถัดจากนั้นมันถึงจะทำลายผู้รู้ อย่ารีบใจร้อนไปทำลายผู้รู้ คนถามก็ไม่ได้รู้เรื่อง คนตอบก็ไม่ได้รู้เรื่องพอๆ กันก็มั่วๆ กันไป แย่ เดี๋ยวธรรมะเละเทะหมด ค่อยภาวนา.

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
2 มกราคม 2565