ในเวลาทำงานที่ต้องเจอผู้คนหรือมีผัสสะมากระทบ ยังไหลไปคลุกกับอารมณ์บ่อยๆ

เวลาทำงานต้องยุ่งกับคน จิตมันก็ต้องออกนอก ต้องไปดูเขา ต้องไปคุยกับเขา ต้องคิด ตอนนั้นเป็นเวลาทำงาน เป็นเวลาทำมาหากิน ไม่ใช่เวลาปฏิบัติ เวลาที่เหลือจากการทำงานกับการนอนหลับนั่นล่ะเป็นเวลาปฏิบัติ พยายามหายใจไป พุทโธไปเรื่อยๆ จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ หายใจไป พุทโธไป ไม่ใช่เพื่อบังคับให้จิตนิ่ง ไม่บังคับหรอก หายใจไปแล้วจิตเป็นอย่างไร ก็รู้ว่าเป็นอย่างนั้นไปเรื่อย ต่อไปสติปัญญามันแก่กล้า มันก็จะรู้เลย ร่างกายที่หายใจอยู่ไม่ใช่ตัวเรา จิตใจที่เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลงอะไรอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มี ตัวเราไม่มี ก็ไม่มีที่ตั้งของความทุกข์แล้ว ความทุกข์มันก็อยู่ที่กายที่ใจ กายไม่ใช่เรา ใครทุกข์ กายมันทุกข์ ใจไม่ใช่เรา ใครมันทุกข์ ใจมันทุกข์ ไม่ใช่เรา

ดูลมหายใจเข้า-ออก บ่อยครั้งจะติดสมถะ

คำถาม:

ส่งการบ้านครั้งแรก ปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่อมาประมาณ 3 ปี ภาวนาโดยการดูลมหายใจเข้า-ออก บ่อยครั้งจะติดสมถะ จึงเปลี่ยนมาดูร่างกาย ขอความเมตตาหลวงพ่อช่วยชี้แนะด้วยค่ะ

 

หลวงพ่อ:

ไม่ต้องแนะมากคนนี้ ที่ภาวนาอยู่ใช้ได้ ดีแล้วล่ะ จิตมันตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดู ระวังอันเดียวว่าจิตมันไม่เข้าฐาน เวลามันตั้งอยู่นี่ บางทีมันอยู่นอกฐาน ลองหายใจสิ ลองหายใจสบายๆ อย่าดึงจิต อย่าไปยุ่งกับจิต หายใจเฉยๆ รู้สึกไหม ตรงนี้กับตะกี้ไม่เหมือนกัน เมื่อกี้จิตมันยังอยู่ข้างนอก พอมันเข้ามาอยู่ตรงนี้เห็นไหมว่ามันทุกข์ มันจะเริ่มรู้ทุกข์ แต่ถ้าจิตไปอยู่ข้างนอกจะไม่เห็นทุกข์ ทำไมไม่เห็นทุกข์ ทุกข์ไม่ได้อยู่ตรงนี้ ทุกข์อยู่ที่กายที่ใจนี้

ฉะนั้นถ้าจิตเราตั้งมั่นจริงๆ จิตอยู่กับกายกับใจจริงๆ เราจะเห็นทุกข์ ถ้าไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม เห็นทุกข์ถึงจะเห็นธรรม แต่ที่ฝึกมานี่ใช้ได้แล้ว สมาธิของหนูนี่ดีแล้วล่ะ ฝึกมาได้ดีแล้ว ระมัดระวังอันเดียว เวลาจิตมันไม่เข้าฐาน ให้รู้ทันมัน อย่างตอนนี้จิตออกจากฐานแล้วรู้สึกไหม เวลาจิตออกจากฐานไม่ต้องทำอะไร หายใจไปสบายๆ เดี๋ยวมันเข้ามาเอง แต่ถ้าอยากจะให้มันเข้า มันจะแน่นไปหมดเลย ถ้าแน่น แสดงว่าผิดแล้ว แสดงว่าเราไปบังคับมันแล้ว นี่ตรงนี้บังคับแล้ว ไปหัดต่อ ที่ฝึกอยู่ใช้ได้ ดี

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
18 กรกฎาคม 2564