วิธีจัดการกับความฟุ้งซ่าน

เวลาเราภาวนาแล้วจิตเราไม่สงบ เราพยายามจะให้สงบ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ มันยิ่งฟุ้งซ่าน ตรงที่อยากทำแล้วก็ดิ้นรนทำนั่นล่ะ มันทำให้ฟุ้งซ่านมากขึ้น แต่ถ้าเราตัดที่ต้นตอของมัน เรารู้ จิตฟุ้งซ่านเราไม่ชอบ รู้ว่าไม่ชอบ ความไม่ชอบดับ จิตเป็นกลาง พอจิตเป็นกลาง ความฟุ้งซ่านมันทนอยู่ไม่ได้ มันดับขาดสะบั้นทันทีเลย พอจิตมันเป็นกลางได้ มันตั้งมั่นอัตโนมัติอยู่แล้ว มันตั้งมั่น มันเป็นกลางขึ้นมา ก็เอื้อให้เกิดปัญญา ปัญญาทำหน้าที่ตัดสิ่งที่ไม่ดีออกไป

ฉะนั้นอาศัยสติรู้ทันลงไป จิตฟุ้งซ่าน รู้ทัน จิตยินร้ายต่อความฟุ้งซ่าน รู้ทัน แล้วจิตจะสงบเอง ตั้งมั่นเอง อันนี้คือการใช้ปัญญานำสมาธิ

ในเวลาทำงานที่ต้องเจอผู้คนหรือมีผัสสะมากระทบ ยังไหลไปคลุกกับอารมณ์บ่อยๆ

เวลาทำงานต้องยุ่งกับคน จิตมันก็ต้องออกนอก ต้องไปดูเขา ต้องไปคุยกับเขา ต้องคิด ตอนนั้นเป็นเวลาทำงาน เป็นเวลาทำมาหากิน ไม่ใช่เวลาปฏิบัติ เวลาที่เหลือจากการทำงานกับการนอนหลับนั่นล่ะเป็นเวลาปฏิบัติ พยายามหายใจไป พุทโธไปเรื่อยๆ จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ หายใจไป พุทโธไป ไม่ใช่เพื่อบังคับให้จิตนิ่ง ไม่บังคับหรอก หายใจไปแล้วจิตเป็นอย่างไร ก็รู้ว่าเป็นอย่างนั้นไปเรื่อย ต่อไปสติปัญญามันแก่กล้า มันก็จะรู้เลย ร่างกายที่หายใจอยู่ไม่ใช่ตัวเรา จิตใจที่เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้หลงอะไรอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มี ตัวเราไม่มี ก็ไม่มีที่ตั้งของความทุกข์แล้ว ความทุกข์มันก็อยู่ที่กายที่ใจ กายไม่ใช่เรา ใครทุกข์ กายมันทุกข์ ใจไม่ใช่เรา ใครมันทุกข์ ใจมันทุกข์ ไม่ใช่เรา

ภาวนารู้สภาวะ เห็นความคิดก็ยังแฝงด้วยกิเลส แต่ในใจนั้นมีความเฉยๆ กลับไม่ทุกข์

ผมภาวนาในรูปแบบด้วยการเดินจงกรม สวดมนต์เป็นประจำและนั่งสมาธิภาวนาเป็นบางครั้ง การเดินมีเวทนามากทำให้เดินได้น้อยลง การภาวนาระหว่างวันใช้ภาวนาพุทโธเป็นหลัก เห็นจิตหลงไปคิดบ่อยๆ บางครั้งเห็นความคิดลอยมาเอง แวบเดียว และในความคิดเหล่านั้นก็ยังแฝงด้วยกิเลส แต่ภาวะภายในใจนั้นมีความเฉยๆ กลับไม่ทุกข์ ไม่ทราบว่าที่ภาวนาอยู่มีข้อผิดพลาดประการใดครับ

 

หลวงพ่อ:

เวลาที่เรารู้สภาวะแล้วไม่ทุกข์นี่มีหลายแบบ อันหนึ่งจิตตั้งมั่นเป็นกลางจริงๆ เห็นทุกอย่างมาแล้วก็ไป ใจไม่ทุกข์ อีกอย่างหนึ่งคือใจมันซื่อบื้อ ใจมันเฉยๆ มันไปค้างอยู่ในอารมณ์เฉยๆ อย่าให้ค้างอยู่ในความเฉยๆ อย่างขณะนี้จิตมันนิ่งๆ อยู่ในความเฉยๆ รู้สึกไหม นี่ถ้าเราเห็น เราทำอย่างนี้ คนด่าเรา เราก็เฉยๆ เกิดอะไรขึ้น เราก็เฉยๆ เราไปทำจิตให้มันเฉยๆ อย่าไปบังคับจิตให้มันนิ่ง ให้จิตมันเคลื่อน ให้มันเป็นธรรมชาติจริงๆ

ฉะนั้นถ้าเราประคองจิตไว้อย่างนี้ มันเฉยๆ ตรงที่เราแต่งจิตขึ้นมาให้เฉยๆ ตรงนี้บางทีมันเกิดจากการหนีทุกข์ ชีวิตอาจจะทุกข์เยอะแล้วก็มาแต่งให้มันเฉยๆ อย่างนี้ รู้สึกว่ามันไม่ทุกข์ดี มันเฉยๆ มันไม่ทุกข์ สู้มัน ถอยออกมา พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้เราหนีทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ทุกข์ แต่ก็ไม่ใช่ตะบี้ตะบันรู้ บางช่วงเราเหนื่อยเกินไป เราก็พักผ่อน ไหว้พระสวดมนต์อะไรต่ออะไรไป นั่งสมาธิ เดินจงกรม เพื่อให้จิตผ่อนคลาย ไม่ใช่เพื่อหนีทุกข์ ฝึกไปอยู่เฉยๆ ทั้งวัน ถอยออกมา กลับมาอยู่กับโลกนี้ พอเราพักผ่อน สงบ พักผ่อนพอแล้ว เรากลับเข้ามารู้กายรู้ใจ แล้วก็เดินปัญญาต่อ อย่างนี้เราจะพ้นทุกข์ ไม่ใช่หนีทุกข์

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
25 กรกฎาคม 2564