ปัญญารวบยอด

ธรรมะไม่ยากเกินไปหรอก หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนหลวงพ่อ ท่านบอกการปฏิบัติไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ เริ่มต้นท่านสอนอย่างนี้เลย จริงๆ ก็คือมันไม่ยาก ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติแล้ว การปฏิบัติธรรมมันเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันแปลกกว่าการเรียนรู้ทางโลกที่เราเคยเรียนมา วิชาการทางโลกส่วนใหญ่ก็จะเรียนออกข้างนอก เรียนตั้งแต่ดวงดาวถึงใต้มหาสมุทร เรียนวิชาต่างๆ แต่ศาสนาพุทธไม่ได้เรียนออกไปข้างนอก ย้อนเข้ามาเรียนรู้ตัวเอง เราทุกคนเกิดมา เราถูกฝึกให้สนใจสิ่งภายนอก อย่างตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ เกิดใหม่ๆ ผู้ใหญ่เข้ามาเยี่ยม ญาติๆ มาเยี่ยม ชอบมาร้องจ๊ะเอ๋ๆ ดึงดูดความสนใจของเราออกมาข้างนอก

ฉะนั้นเราถูกฝึกให้ส่งจิตออกนอกมาแต่ไหนแต่ไร ยิ่งเรียนรู้เรื่องอื่นๆ นอกจากเรื่องกายใจของตัวเองแล้วยิ่งดี ก็ประสบความสำเร็จทางโลก วิธีเรียนก็อ่านเอาฟังเอาคิดพิจารณาเอา ซึ่งกลับข้างกันกับการเรียนธรรมะ เรียนทางโลกเราก็สนใจไปที่โลก เรียนธรรมะเราสนใจย้อนกลับมาที่ตัวเอง ที่กายที่ใจของตัวเอง เรียนทางโลกต้องอ่านต้องฟังต้องคิด แต่เรียนทางธรรมอ่านใจตัวเองอ่านกายตัวเอง ไม่คิดเอาด้วย รู้สึกเอา คอยรู้สึกเอา ไม่ใช่คิดเอา

 

เรียนรู้รูปรู้นาม รู้กายรู้ใจของตัวเอง

ทางโลกก็มีคนอื่นช่วยเราได้ มีอาจารย์สอนมีติวเตอร์มีอะไรต่ออะไร ในทางธรรมเราต้องเรียนรู้ด้วยตัวของเราเอง เรียนรู้กายเรียนรู้ใจ เราต้องพัฒนาเครื่องมือในการเรียนรู้ตัวเองขึ้นมาคือสติ คนในโลกไม่รู้จักสติ เมื่อก่อนนานแล้วเป็น 10 ปีแล้ว หลวงพ่อไปเทศน์ในกรุงเทพ ไปศาลาลุงชินไปอะไรอย่างนี้ ทีนี้เดินทางมาได้เร็วเลยไปแวะพักอยู่ที่ที่พักของมอเตอร์เวย์ ห้องเป็นกระจกมองเห็นคนเดินที่ถนน ชี้ให้พระอาจารย์อ๊าดู บอกอ๊าดูสิ ในโลกมีแต่คนหลง ในโลกไม่มีคนรู้สึกตัวเลย หลงออกไปข้างนอก เพราะเราถูกฝึกมาให้สนใจสิ่งภายนอก ไม่มีใครค่อยยอมเรียนรู้ตัวเอง อย่างวิพากษ์วิจารณ์ ก็วิจารณ์คนอื่น หาคนที่วิจารณ์ตัวเองได้ถ่องแท้หายาก มันฝืนธรรมชาติมากเลย เพราะฉะนั้นการที่เราจะมาเรียนธรรมะ เราวางความรู้ความเห็นความเข้าใจ วางวิธีการที่เราเคยเรียนวิชาทางโลก วางไว้ก่อน เรามาใช้วิธีการของพระพุทธเจ้า คือพัฒนาเครื่องมือที่เราจะเรียนรู้ตัวเอง

เครื่องมือที่จะเรียนรู้ตัวเองก็คือตัวสติ สติที่พระพุทธเจ้าสอนคือคำว่าสติปัฏฐาน ไม่ใช่สติธรรมดา สติปัฏฐานต่างกับสติธรรมดา สติธรรมดาก็รู้เรื่องอื่น แต่สติปัฏฐานนี่รู้รูปรู้นามรู้กายรู้ใจของตัวเอง แล้วท่านยืนยันเลย ตราบใดที่ยังมีผู้เจริญสติปัฏฐานอยู่ธรรมะก็ยังดำรงอยู่ คนที่จะรู้ธรรมะเข้าใจธรรมะอะไรก็จะยังมีอยู่ได้ แต่ถ้าขาดการเจริญสติปัฏฐานเสียอย่างเดียว โลกก็ว่างจากพระอริยะว่างจากพระอรหันต์แล้ว เพราะฉะนั้นการเรียนสติปัฏฐานเป็นเรื่องสำคัญของเราชาวพุทธ ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์ท่านไม่ค่อยสอนให้หรอก ท่านก็สอนให้ฆราวาสให้ทำทานให้รักษาศีลไป เพราะท่านมองว่าฆราวาสนี่เจริญสติเจริญปัญญาเพื่อถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นอะไรนี่ทำไม่ได้ ส่วนใหญ่ท่านก็คิดอย่างนั้น แต่หลวงพ่อไม่ได้คิดอย่างนั้น หลวงพ่อเคยอ่านพระไตรปิฎก ฆราวาสบรรลุพระอรหันต์ก็มี ไม่ใช่ไม่มี เพียงแต่มีน้อย ไม่ใช่ไม่มี ฆราวาสก็ทำได้ ผู้หญิงก็ทำได้ ผู้ชายก็ทำได้ ไม่มีการจำกัดอะไรทั้งสิ้นเลย

อย่างพระอานนท์ก็ถามพระพุทธเจ้าว่า ผู้หญิงสามารถบรรลุพระอรหันต์ได้ไหม ท่านบอกได้ ถ้าได้ก็ขอให้ได้บวชเถอะ พระอานนท์ก็เลยขอให้ผู้หญิงมาบวชเป็นภิกษุณี ยุคของเราไม่ใช่มีผู้หญิงผู้ชายเท่านั้น มีเพศที่ 3 – 4 อะไรขึ้นมาเยอะแยะ ถามว่าบรรลุธรรมได้ไหม ได้ ไม่ได้มีข้อขัดข้องที่จะบรรลุธรรม ถ้าเราไม่ได้ทำบาปทำกรรมอะไรแสนสาหัสมา ก็ยังไม่ได้ขัดขวาง จะเป็นเกย์ จะเป็นทอมดี้เป็นอะไรก็ภาวนาได้ ขอให้รู้หลักของการเจริญสติปัฏฐานไว้เท่านั้นล่ะ ฉะนั้นธรรมะของพระพุทธเจ้าเปิดกว้างให้คนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ได้ หลากหลายมาก ท่านไม่ได้จำกัด คนจนก็เรียนได้ คนรวยก็เรียนได้ คนฐานะสูงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินอะไรก็เรียนได้ ยาจกวณิพกขอทานอะไรก็เรียนได้ ไม่มีข้อจำกัดเลย

ในสมัยพุทธกาลก็มี คนขอทานเป็นโรคเรื้อน อาหารการกินอะไรก็ไม่ค่อยจะมี ก็อยากทำบุญ จะใส่บาตรกับพระพุทธเจ้า ตอนที่ใส่บาตรนิ้วมือขาดพอดี เชื้อโรคกินนิ้วขาดตกลงไปในบาตรของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็รับอาหารนั้น แล้วพอเวลาฉันท่านก็หยิบเอาออกแล้วก็ฉัน คนนี้เขาก็เห็นว่าพระพุทธเจ้าไม่มีความรังเกียจคนยากคนจนเลย จิตมีปีติมีสมาธิเกิดขึ้นก็เข้าใจธรรมะได้ ฉะนั้นคนจนคนรวยอะไรนี่ถ้ารู้จักปฏิบัติแล้วก็เข้าถึงธรรมะได้ทั้งนั้นล่ะ

ฐานะการศึกษาสูงหรือคนไม่มีการศึกษาก็เรียนธรรมะได้ คนเรียนการศึกษาสูงก็คุ้นเคยกับการใช้วิธีการศึกษาทางโลก บางทีพอมาศึกษาธรรมะยากเสียอีก มีเคสที่หลวงพ่อเห็นมีเยอะเลยอย่างพวกหมอ พวกหมอญาติๆ หลวงพ่อมีเป็นหมอเยอะแยะเลย เขาบอกเลยเราเป็นหมอเราต้องคิด ฉะนั้นเวลามาปฏิบัติธรรม ให้รู้ รู้ไม่ได้ ชอบคิดเอา ชอบคิด แล้วเวลาจะดูกาย ชอบดูกายคนอื่นไม่ค่อยดูกายตัวเอง มันถูกฝึกมาอย่างนั้น ให้สนใจออกไปข้างนอก

ทีนี้พวกเราพยายามมาปรับวิธีการของเราให้ถูกต้องเสีย ต่อไปนี้เราจะเรียนรู้กายเรียนรู้ใจของตัวเอง ธรรมะไม่ได้อยู่ที่อื่น อย่าคิดว่าธรรมะอยู่ที่วัดหรือธรรมะอยู่ที่หลวงพ่อ จริงๆ แล้วธรรมะอยู่ที่ตัวเราเอง ในตัวเรามีธรรมะตั้งหลายอย่าง มีรูปธรรมไหม ในร่างกายเรานี้มีรูปธรรมใช่ไหม ร่างกายเราเป็นรูปธรรม รูปธรรมก็ประกอบด้วยธาตุต่างๆ ถ้าพูดแบบโบราณก็มีธาตุดินน้ำไฟลม พูดย่อๆ ถ้าแยกแยะแบบสมัยใหม่มีธาตุอะไรต่ออะไรเยอะแยะไปหมดเลย ที่จริงแล้วก็คือมันเป็นธาตุเป็นวัตถุ นี่รูปธรรม รูปธรรมอยู่ในตัวเรามีอยู่แล้ว นามธรรมทั้งหลายก็มีอยู่แล้วในตัวเรานี้ อย่างความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ในร่างกายมีอยู่ไหม ก็มีทุกคน ความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ความรู้สึกเฉยๆ ในจิตใจก็มีอยู่ทุกคนแล้ว ฉะนั้นนามธรรมทุกคนก็มีอยู่แล้ว รูปธรรมก็มีอยู่แล้ว นามธรรมมีหลายอย่าง

ตัวเวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ สัญญาคือความจำ จำได้กับหมายรู้ ความจำได้อย่างพวกเราก็รู้จัก ความจำ หมามันจำเก่งใช่ไหม หมามีความจำดีมีสัญญาดี คนเราก็มีความจำ บางทีก็จำได้เยอะ บางทีก็จำได้น้อย พออายุเยอะขึ้นสมองเสื่อม ความจำก็ลดลง หายไป บางทีก็จำอะไรไม่ได้หลงลืม ความจำของเราก็มีอยู่แล้ว แต่ว่ามันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน สัญญาไม่ได้มีแค่ความจำ มันมีความหมายรู้ หมายรู้ก็คือมุมมองของจิต เวลาที่เราไปเห็นสิ่งต่างๆ เราหมายรู้ถูกหรือหมายรู้ผิด คือมีมุมมองที่ถูกหรือมุมมองที่ผิด ส่วนใหญ่เราจะมีมุมมองที่ผิด เราเรียกหมายรู้ผิด เรียกสัญญาวิปลาส

อย่างเราหมายรู้ร่างกายเรา เราส่องกระจกแล้วรู้สึกสวยงามสะอาดสะอ้าน อันนี้ถือว่าหมายรู้ผิด อย่างบางคนหน้านวลๆ มันนวลเพราะแป้ง นวลเพราะทาสีโน้นสีนี้ลงไปให้ดูสวยดูงาม ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้สวยไม่ได้งาม ร่างกายเราเหมือนถุงหนังใบหนึ่ง มีรูรั่วใหญ่ๆ อยู่ 9 รู ไปนับเอาเอง รูรั่วเล็กๆ นับไม่ถ้วน ทั่วผิวหนังเรามีรูพรุนๆ อยู่ทั้งนั้นเลย ถ้าเอาแว่นขยายไปส่องรู้สึกน่าเกลียด ถ้าดูอย่างนี้ดูดี ดูดีมีน้ำมีนวล แล้วถุงหนังนี่มันห่อหุ้มสิ่งสกปรกไว้ภายใน สิ่งที่ออกมาจากถุงหนังใบนี้เรียกขี้ทั้งนั้นเลย ขี้หัวจนถึงขี้ตีน ขี้เล็บ เล็บมือเล็บเท้าก็ขี้ทั้งนั้นเลย ขี้ตาขี้มูกขี้หูขี้ฟัน สิ่งที่หลุดออกมาจากถุงหนังใบนี้เราเรียกขี้ทั้งนั้นล่ะ ยกเว้นอันเดียวปัสสาวะ เยี่ยวไม่ใช่ขี้ไม่เรียกอย่างนั้น แต่ว่าหอมไหม ไม่หอมหรอก ทิ้งไว้แล้วบูดก็เหม็นหนักเลย

ฉะนั้นสิ่งที่มันออกมาจากร่างกายเรา ไม่ใช่ของสวยของงามของดีของวิเศษหรอก สิ่งที่ทำให้เราเห็นว่าตัวเราสวยงามหรือคนอื่นสวยงาม ก็คือผมขนเล็บฟันหนังเท่านั้นเอง ถ้าผมไม่มีดูสวยไหม ผมเว้าๆ แหว่งๆ ผมร่วงเป็นกระจุกๆ เป็นนางงามจักรวาลแต่ผมร่วงเป็นกระจุกๆ ก็ไม่สวยแล้ว เล็บสกปรก หน้าตาดูดีแต่เล็บสกปรกก็ไม่สวยแล้ว ฟันสกปรก ผิวหนังไม่อาบน้ำเหม็นหึ่งขึ้นมา

ฉะนั้นสิ่งที่หลอกเราหลอกตาเราให้เห็นว่าร่างกายนี้สวยงามดี ก็คือผมขนเล็บฟันหนังนั่นเอง เป็นส่วนที่อยู่ข้างนอกที่มองเห็น แต่ที่อยู่ข้างใต้ลงไปไม่ถูก แหวกผมขนเล็บฟันหนังลงไป ไม่ถูกห่อหุ้มอยู่ มันไม่ดีไม่สวยไม่งามหรอก เป็นปฏิกูลเป็นอสุภะอยู่ เวลาเราเรียนรู้ตัวเองถ้าเราย้อนลึกลงมา เราก็จะมีการหมายรู้ถูก หมายรู้ให้ถูกร่างกายนี้เป็นของไม่สวยไม่งาม ทั้งร่างกายทั้งจิตใจนี่เป็นของไม่เที่ยง เราก็ชอบหมายรู้ว่าเที่ยง

อย่างคนส่วนใหญ่จะคิดว่าจิตเที่ยง คิดว่าในตัวเรามีเราอยู่คนหนึ่ง จิตดวงนี้กับจิตเมื่อชาติก่อนมันก็คนเดิม จิตดวงนี้กับจิตเมื่อตอนเด็กๆ ก็คนเดิม จิตดวงนี้กับจิตตอนแก่ๆ ก็คนเดิม จิตตอนนี้กับจิตชาติหน้าก็จิตดวงเดิมไปเกิดอีก ไปเห็นของไม่เที่ยง ไปเห็นว่ามันเที่ยง อันนี้เขาเรียกสัญญาวิปลาส

สัญญาวิปลาสมี 4 อย่าง คือเห็นของไม่สวยไม่งามว่าสวยว่างาม เห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง เห็นของเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นของเป็นอนัตตาไม่ใช่เราว่าเป็นตัวเรา นี่ความวิปลาสของการหมายรู้ของสัญญาที่ผิด ถ้าเราหัดภาวนาเราก็จะเห็นเลยว่า รูปจริงๆ ไม่สวยไม่งาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เวทนานั้นไม่มีสวยไม่สวยหรอก เวทนานั้นไม่เที่ยง ความสุขความทุกข์เที่ยงไหม ไม่เที่ยง ความสุขความทุกข์เวลาเกิดขึ้นแล้ว ก็ล้วนแต่ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย นั่นคือทุกขตาทุกขัง เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ดับไป เป็นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เพราะเราสั่ง สั่งไม่ได้ นั่นเรียกว่าอนัตตา

เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วอย่างถ้าเราดูกายเราจะเห็น ถ้าหมายรู้ถูกเราก็จะเห็นมันเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอมาดูนามธรรมก็จะเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของมัน ทีนี่ถ้าเราสามารถหมายรู้ถูก เวลาตาหูจมูกลิ้นกายใจเราเห็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ทั้งหลาย แล้วเราหมายรู้ที่ถูกไปเรื่อยๆ ต่อไปปัญญาจะเกิด เรามีสติระลึกรู้ลงในร่างกาย มีสัญญาเข้าไปหมายรู้กายในมุมของความไม่สวยงาม ในมุมของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หมายรู้ไปด้วยจิตที่ตั้งมั่นมีสมาธิ จิตถอนตัวออกมาเป็นแค่คนรู้คนดู สติระลึกร่างกาย สัญญาเข้าไปหมายรู้ความไม่สวยงาม ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของกาย ต่อไปปัญญาก็จะเกิด

ปัญญานี่ไม่ใช่เกิดจากการคิดเอา แต่เกิดจากการที่เราเจริญสติได้ถูกต้อง เราจะเจริญสติได้ถูกต้อง จิตเราต้องตั้งมั่น ต้องมีสมาธิที่ถูกต้อง ไม่ใช่สงบ ตั้งมั่นท่ามกลางความวุ่นวายก็ได้ โลกกำลังวุ่นวาย แต่จิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เห็นโลกวุ่นวายอย่างนั้นก็ได้ ดูหนังดูละครอยู่ในตัวละครวุ่นวาย แต่จิตเราตั้งมั่นเป็นคนรู้คนดูอยู่ นี่จิตตั้งมั่นมันสามารถตั้งมั่นอยู่ได้ในทุกๆ สถานการณ์ในทุกปรากฏการณ์ ถ้าเราฝึกของเราดี จิตเราจะตั้งมั่นเด่นดวงอยู่ในทุกๆ ปรากฏการณ์ได้

อันนี้หลวงพ่อสอนมาเยอะแล้ววิธีฝึก ทำกรรมฐานอันหนึ่งจิตเผลอแล้วรู้จิตเพ่งแล้วรู้นี่ล่ะ แล้วต่อไปจิตจะตั้งมั่น พอเรามีจิตตั้งมั่นเราก็คอยระลึกรู้กายระลึกรู้ใจของตัวเอง อันนี้เรียกเรามีสติ ร่างกายหายใจออกรู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก นี่เรียกว่าเรามีสติ ร่างกายยืนเดินนั่งนอนเรารู้สึกเรียกว่าเรามีสติ พยายามพัฒนาสติ ร่างกายเคลื่อนไหวร่างกายหยุดนิ่ง สติเป็นคนรู้ จิตตั้งมั่นอยู่ สติจะไปทำหน้าที่รู้

 

ฝึกให้จิตตั้งมั่นแล้วเดินปัญญา หมายรู้ไตรลักษณ์

มันมีองค์ธรรมที่ช่วยกันทำงานคือสติ สมาธิ ตรงที่จะเกิดปัญญา มันมีสัญญาเข้าไปหมายรู้ถูกด้วย บางคนไปสอนกันว่าสัญญากับปัญญาเป็นศัตรูกัน ตรงข้ามกัน พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น พระสารีบุตรก็เคยพูดเลย พระสารีบุตรบอกว่าเวลาเราทำสมาบัติ ทำสมาธิ ถ้ายังเป็นสัญญาสมาบัตินี่คือสมาบัติ สมาธิ ฌานที่ยังมีสัญญาอยู่สามารถเดินวิปัสสนาได้ แล้วถ้าไม่มีสัญญา ไม่หมายรู้อะไร พอสัญญาไม่ทำงาน สังขารก็ไม่ปรุงต่อ ก็เฉยๆ ว่างๆ ไปอย่างนั้นเอง ไม่เห็นไตรลักษณ์หรอก

เพราะฉะนั้นเราอย่าไปทำจิตให้นิ่งๆ ว่างๆ เราพยายามฝึกจิตให้ตั้งมั่น แต่ไม่ใช่ให้มันนิ่งว่างๆ ตั้งมั่น ทำกรรมฐานไป จิตหลงแล้วรู้ หลงแล้วรู้ไป จิตจะตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นก็เขยิบเข้าไปเดินปัญญา มีสติรู้สึกร่างกาย แล้วจิตเราตั้งมั่นอยู่ เราจะเห็นว่ากายกับจิตเป็นคนละอันกัน อันนี้เป็นปัญญาเบื้องต้น สามารถแยกรูปแยกนามได้ กายกับจิตคนละอันกัน สุข ทุกข์ กับจิตก็คนละอันกัน ดีชั่วกับจิตก็คนละอันกัน เฝ้ารู้เฝ้าดู

ตัวที่คอยรู้ทันถึงความมีอยู่ของกายของใจคือตัวสติ เป็นตัวรู้ทันว่าอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็น ไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่คิดนึกปรุงแต่งแทรกแซงอะไรทั้งสิ้นเลย สติระลึกรู้กายก็รู้กายอย่างที่กายเป็น สติระลึกรู้จิตก็รู้จิตอย่างที่จิตเป็น จิตไม่เข้าไปแทรกแซง จิตตั้งมั่นเป็นแค่คนดู แล้วก็ถ้าเคยฝึกวิปัสสนามา หรือถ้าไม่เคยฝึกได้ยินหลวงพ่อพูดอย่างนี้ว่ามันต้องมีการหมายรู้ให้ถูกด้วย คนไหนเคยฝึกวิปัสสนามาตั้งแต่ชาติก่อนๆ จิตจะหมายรู้อัตโนมัติ เวลาอย่างมันเห็นร่างกายเคลื่อนไหว ไม่ได้เจตนาจะหมายรู้มันเกิดหมายรู้ขึ้นมา เฮ้ย ไอ้นี้มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ตัวเรา ใครเคยเป็นไหม ขยับๆ เฮ้ย ตัวนี้มันไม่ใช่เรา อันนี้มันเคยฝึกมาแต่ชาติก่อนๆ

ทีนี่บางคนหมายรู้ไม่ได้ จิตไม่ยอมหมายรู้ เห็นมือมันก็มืออยู่อย่างนั้นล่ะ มันไม่หมายรู้ว่ามือนี้ไม่สวยไม่งาม ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา มันไม่ยอมหมาย ครูบาอาจารย์ท่านก็มีวิธีการช่วย มันไม่หมายรู้ก็ช่วยมันพิจารณาเข้าไปคิดเข้าไป เหมือนที่ครูบาอาจารย์วัดป่าท่านสอน พุทโธไปจิตนิ่งแล้วก็ไม่ยอมเดินปัญญา ก็ให้พิจารณากายลงไป เป็นการกระตุ้นให้จิตมันทำงาน ให้จิตมันหัดดูร่างกายนี้เป็นไตรลักษณ์ไป อันนี้เป็นการฝึกให้จิตหัดหมายรู้ไตรลักษณ์

เพราะฉะนั้นเราพยายามฝึกให้จิตเราตั้งมั่น แล้วพอร่างกายเคลื่อนไหว สติรู้ จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง สติรู้ ถ้ารู้อยู่เฉยๆ บางคนบอกว่าการปฏิบัติที่ดีคือรู้เฉยๆ รู้เฉยๆ มันก็เฉยๆ อยู่อย่างนั้นล่ะ กี่ภพกี่ชาติมันก็เฉยอยู่อย่างนั้นล่ะ มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันไม่เกิดปัญญาหรอก มันต้องมีการหมายรู้ถูกด้วย เพราะฉะนั้นอย่างเรานั่งอยู่อย่างนี้ พอจิตเราตั้งมั่นเราเห็นร่างกายนั่ง เห็นร่างกายนั่งอยู่เฉยๆ ไม่เกิดปัญญาอะไรขึ้นมาหรอก พัฒนาต่อไม่ได้

อย่างมากที่สุดก็เห็นกายอันหนึ่งจิตอันหนึ่ง เป็นปัญญาเบื้องต้นซึ่งยังไม่ถึงวิปัสสนาหรอก จะต้องรู้สึกลงไปอีกทีหนึ่ง รู้สึกลงไป ร่างกายนี้มันของถูกรู้ถูกดู เป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ มันไม่ใช่ตัวเราหรอก เป็นวัตถุธาตุที่เรายืมโลกมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว วันหนึ่งเราก็คืนโลก ทีแรกอาจจะช่วยคิดอย่างนี้ แต่ต่อไปมันจะเห็นเอง ตรงที่เห็นเองนั่นล่ะเรียกว่าสัญญามันทำงานได้แล้ว สัญญามันหมายรู้ถูกได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องช่วยมันแล้ว อันนั้นดี แต่ทีแรกก็อาจจะต้องช่วยมันหมายรู้หน่อย ช่วยมันคิดพิจารณาลงไป แต่ถ้าจิตมันเคยเดินปัญญามาแล้ว เคยทำวิปัสสนามาแล้ว ไม่ต้องคิดหรอก หลวงพ่อไม่ได้คิดเลย

หลวงพ่อตอนเด็กทำสมาธิ จิตตั้งมั่นเด่นดวงเป็นหนึ่งอยู่ ได้จิตตั้งมั่นตั้งแต่ยังไม่เจอครูบาอาจารย์ ที่ได้จิตตั้งมั่นเพราะทีแรกหัดทำสมาธิ หายใจเข้าพุทออกโธนับหนึ่ง หายใจเข้าพุทออกโธนับสอง พอจิตเริ่มสงบ การนับหายไป เหลือแต่หายใจเข้าพุทออกโธ พอสงบมากขึ้น คำบริกรรมพุทโธหายไป เหลือแต่หายใจ พอสงบมากขึ้น ลมหายใจหายไป กลายเป็นแสงสว่างขึ้นมา สว่างอย่างนี้ สว่างขึ้นมาแล้วก็ภาวนาไม่เป็น หลวงพ่อไปจ้องอยู่ในแสงสว่าง คราวนี้มันก็ออกรู้ออกเห็นอะไร อยากเห็นเทวดาก็เห็น อยากเห็นสวรรค์อะไรก็เห็น

ทีนี้พอเห็นเทวดาได้ ตอนนั้นเด็กก็นึก ถ้าเกิดเห็นเทวดาได้วันหนึ่งก็ต้องเห็นผีได้ หลวงพ่อเป็นคนกลัวผี เพราะฉะนั้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเวลาที่แสงสว่างเกิดขึ้น หลวงพ่อจะไม่ตามไป จะไม่ตามแสงไป เหมือนฉายไฟแล้วส่งไปถึงไหน เราก็มองเห็นไปถึงนั่น จะไม่ทำอย่างนั้นอีกแล้ว เพราะกลัวไปเจอผีเข้า นี่คุณูปการของการกลัวผี ก็เลยพอมันสว่างเราก็หยุดอยู่กับความสว่าง ตรงที่จิตเราหยุดอยู่กับความสว่างนั้นเรียกว่ามีวิตก จิตอยู่กับความสว่างโดยไม่จงใจเรียกว่าวิจาร จิตก็มีปีติมีความสุขมีความเป็นหนึ่งขึ้นมา ต่อไปก็เห็นอีกแสงสว่างนี่เป็นภาระของจิต จิตก็วางแสงสว่างไปเข้ามาถึงตัวรู้ ในตำราเขาเรียกเอโกทิภาวะ เข้ามาถึงตัวผู้รู้

แล้วก็พอมาถึงตัวผู้รู้ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้สมาธิแล้วแต่ไม่รู้จะเดินต่ออย่างไร ผ่านมาตั้งหลายปีจนมาเจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์สอนให้ดูจิต หลวงพ่อก็เลยหัดดูจิต ทีแรกหัดดูจิต จิตอยู่ที่ไหน เราไม่รู้จักจิต จิตอยู่ที่ไหน จิตต้องอยู่ในกาย เพราะฉะนั้นต่อไปนี้การทำกรรมฐานของเราจะไม่เกินร่างกายออกไป จะรู้อยู่ในกายนี้ล่ะ แล้วดูสิจิตอยู่ตรงไหนในกาย อยู่ที่ผมหรือเปล่า กำหนดลงไป ผมก็หายไปเลย กำหนดหนังศีรษะก็หายๆ ดูหัว หัวขาด ดูหายไปหมดทั้งตัว ไม่เห็นมีจิตเลย

จิตอยู่ในร่างกายแต่ไม่อยู่ในส่วนใดของร่างกาย ได้ความรู้ตัวนี้ขึ้นมา หรือจิตอยู่ในเวทนา ทำจิตให้มีความสุขขึ้นมา แล้วดูลงไป ความสุขก็ดับ ไม่เห็นมีจิตผุดขึ้นมา หรือจิตอยู่ในความคิด สงสัยจิตอยู่ในความคิด หลวงพ่อจงใจคิด พุทโธสุสุทโธกะรุณามะหัณณะโว พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์มีพระกรุณาดั่งห้วงมหรรณพ คิดประโยคนี้ขึ้นมา เห็นกระแสความคิดไหลขึ้นมาจากความว่างกลางอก กระแสความคิดผุดขึ้นมาแล้วมันก็ดับไปในความว่าง เกิดจากว่างดับไปในว่าง ทันทีที่เห็นกระแสของความคิดแล้วมันดับสะบั้นลงไป ตัวรู้เกิดขึ้นทันที

อย่างที่หลวงพ่อเอามาสอนพวกเราไม่ได้มั่ว หลวงพ่อบอกว่าเวลาให้เราทำกรรมฐานเสียอย่างหนึ่ง พอจิตหลงไปคิด ให้รู้ว่าจิตหลงไปคิด แค่นี้พอแล้ว ทันทีที่รู้ว่าจิตคิด จิตคิดมันดับ จิตรู้มันเกิด พอได้จิตรู้ตัวนี้มา เฮ้ย ตัวนี้ได้มาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่ไม่รู้จะเอาไว้ทำอะไร ทำมาทีแรกนั่งสมาธิมาได้ตัวรู้ขึ้นมา แล้วพอมาหัดแยกขันธ์ไป ดูไปเรื่อยๆ มันก็มาได้ตัวรู้เหมือนกันตัวเดียวกันล่ะ เลยคิดว่าต้องเฝ้าอยู่ที่ตัวรู้ เฝ้าไว้ไม่ให้คลาดสายตา แล้วก็ไปบอกหลวงปู่ดูลย์ จิตมันวิจิตรพิสดาร แต่ตอนนี้ผมสามารถรู้เท่าทันความปรุงทั้งหลาย ไม่เอาแล้ว เข้ามาหยุดอยู่ที่ตัวรู้อันเดียว หลวงปู่บอกทำผิดแล้ว จิตมีหน้าที่คิดนึกปรุงแต่ง ไปทำเสียจิตไม่คิดไม่นึกไม่ปรุงไม่แต่ง ว่างๆ อยู่เฉยๆ ไปติดว่าง ไปทำใหม่ ทำผิดแล้ว ไปทำใหม่

ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนโหดมาก ไม่บอกเราผิดอย่างไร ไม่บอกเราว่าจะแก้อย่างไร พูดอยู่อย่างเดียว ไปทำเอา ถ้าเราไม่ทำเราก็ทำไม่ได้อยู่อย่างนั้นล่ะ แต่ถ้าเราอดทน อดทนต่อคำสั่งสอน ท่านให้ทำหลวงพ่อก็ไปทำ ท่านบอกว่าเราไปทำจิตนิ่งๆ นี่ผิด ทำไมมันผิด ก็เราดูจิตอยู่ ก็เลยนึกได้ท่านบอกว่าจิตมีหน้าที่คิดนึกปรุงแต่ง เราไปดูเสียมันไม่คิดนึกปรุงแต่ง อันนี้คือการแทรกแซงจิต

ต่อไปนี้จิตเป็นอย่างไรจะรู้ว่าเป็นอย่างนั้น เหมือนดูละครเลยๆ ตัวละครในเวทีที่เรียกว่าจิตเรา มีทั้งพระเอกมีทั้งผู้ร้ายมีนางเอกมีตัวอิจฉา มีบทสุขบททุกข์ เดี๋ยวบทหัวเราะบทร้องไห้บทเฉยๆ บทเบื่อบทเซ็งบทโลภโกรธหลง มันเหมือนละครเลย แต่เราไม่ต้องไปดูละครที่ไหน ดูอยู่ที่ใจเรานี้ มันมีละครแสดงอยู่ มีตัวละครตั้งเยอะแยะ ตัวละครตั้งหลายสิบตัวแสดงอยู่ที่ใจเรานี้ ทั้งตัวดีตัวชั่วตัวสุขตัวทุกข์ตัวเฉย ตัวไม่ดีตัวไม่ชั่ว สารพัดที่จะแสดงขึ้นมา แต่ตัวละครทุกตัวที่แสดงขึ้นมาในใจเรามีลักษณะร่วมกัน

ตัวสุขเกิดขึ้นอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ตัวทุกข์เกิดขึ้นอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ตัวอิจฉาเกิดขึ้นอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ตัวกังวลเกิดขึ้นอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ เห็นไหม เราเฝ้าดูใจของเราเหมือนเราดูละคร เราเห็นตัวละครแสดงบทบาทออกมา แล้วทุกตัวเมื่อแสดงบทบาทไปช่วงหนึ่ง ทุกตัวก็ต้องหายไปเข้าโรงไป ตรงนั้นล่ะ หลวงพ่อก็หัดดูไปเรื่อยๆ เห็นมันเกิดดับเกิดดับ สุขเกิดจิตที่สุขเกิด แล้วจิตที่สุขก็ดับไปพร้อมกับความสุข จิตที่ทุกข์เกิด แล้วจิตที่ทุกข์ก็ดับไปพร้อมกับความทุกข์ เกิดดับไปด้วยกันระหว่างจิตสุขกับทุกข์กับดีกับชั่ว เกิดดับด้วยกัน เกิดด้วยกัน ดับด้วยกัน ทำงานร่วมกัน

 

คิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็อาศัยคิด

พอเรารู้ๆๆ ลงไป ถึงจุดหนึ่งมันปิ๊งขึ้นมาเลย ปัญญามันเกิด เห็นไหมปัญญาเวลาเกิด เกิดชั่วขณะจิตเดียวล่ะ ไม่ใช่มานั่งบรรยายให้เราฟังเป็นฉากๆ อย่างหลวงพ่อจะมาพูดให้เราฟัง อันนี้เป็นการคิด จิตมันถ่ายทอดออกมา แล้วก็แปลเป็นคำพูดออกมาให้พวกเราฟัง แต่ตอนที่ปัญญาเกิดนั้นไม่มีคำพูด ถ้าพูดได้ก็ นี่จิตดี นี่จิตชั่ว นี่จิตสุข นี่จิตทุกข์ ปัญญาไม่เกิดหรอก ยังคิดอยู่ ตรงที่ปัญญาเกิดจริงๆ ไม่คิดหรอก

หลวงปู่ถึงบอกคิดเท่าไรก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่ก็อาศัยคิด อาศัยคิดก็คือปล่อยให้จิตเราทำงานไป แล้วเรามีสติตามดูละครนี้ไป แล้วเราก็จะเห็น เราไม่เคยคิด แต่จิตมันคิด ระหว่างเราคิดกับจิตคิดไม่เหมือนกัน ถ้าเราคิดแล้วก็คิดเป็นเรื่องเป็นราวไม่รู้จักจบ คิดทั้งวันทั้งคืน เดี๋ยวเรื่องโน้นเรื่องนี้ ถ้าจิตเกิดคิดขึ้นมาแล้วเราเป็นคนรู้ ความคิดนั้นจะขาดสะบั้นทันทีเลย แล้วเราจะเห็นสภาวะสุขเกิดดับ เกิดแล้วดับ ทุกข์เกิดแล้วดับ ดีเกิดแล้วดับ ชั่วเกิดแล้วดับ รูปหายใจออกเกิดแล้วดับ รูปหายใจเข้าเกิดแล้วดับ รูปยืนเกิดแล้วดับ รูปนั่งรูปนอนรูปอะไรก็ตามเกิดแล้วก็ดับ เห็นซ้ำๆๆ สุดท้ายจิตมันจะสรุป มันปิ๊งขึ้นมาเลยนะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดดับเป็นธรรมดา

ทำไมใช้คำว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่จริงก็คือ Everything ที่เกิด ทุกสิ่งที่เกิด ทำไมไม่บอกว่าสุขเกิดแล้วดับทุกข์เกิดแล้วดับ เพราะปัญญาตัวนี้เป็นปัญญารวบยอด รวบยอดว่าทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับทั้งสิ้น มันรวบยอดระดับนี้ มันถึงจะเข้าใจแจ่มแจ้งเลย กายเรานี้พอเราเข้าใจแจ่มแจ้ง ก็แค่วัตถุยืมโลกมาใช้ชั่วคราว ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกดีชั่วอะไรก็ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา จิตเองก็เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา เราสั่งจิตไม่ได้ สั่งจิตให้ดีตลอดก็ไม่ได้ ห้ามจิตชั่วก็ไม่ได้ สั่งให้จิตสุขก็ไม่ได้ ห้ามจิตทุกข์ก็ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง หรือจิตจะไปดูรูป เราไม่ได้จงใจ จิตมันไปดูเอง

อย่างเรานั่งรถอยู่ เราไม่ได้เจตนาจะเห็นหมาถูกรถทับอย่างนี้ ตาไปมองเห็นเข้า จิตไปรับรู้เข้า เราห้ามไม่ได้ หรือหูจะได้ยินเสียง ห้ามได้ไหม เวลาอุดหูแล้วได้ยินเสียงได้ไหม ลองอุดหูสิ ได้ยินเสียงไหม มันก็มีเสียงใช่ไหม เรียกเสียงของความเงียบ ดังวิ้งๆๆๆ นี่มันก็มีเสียง ถ้าเรามีจิตไปใส่ใจที่จะฟังเสียง เสียงมันก็เกิดให้เรารู้ ถ้าจิตสนใจที่จะดูรูป รูปก็ปรากฏให้เรารู้ อย่างถ้าเรานั่งอยู่แต่เราใจลอย คนเดินผ่านเราก็ไม่รู้ หมามาเราก็ไม่รู้ ฉะนั้นค่อยๆ เรียน ค่อยๆ สังเกตไปเรื่อยๆ พยายามพัฒนาเครื่องมือ 2 ตัวสำคัญ สติกับสมาธิ

การพัฒนาสมาธิต้องทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง จิตไหลไปคิดรู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานรู้ทัน ฝึกเรื่อยๆ แล้วสมาธิจะเกิด อันนี้หลวงพ่อไม่ได้สอนมาทางฌาน แต่สอนในแบบที่คนยุคนี้ทำได้ คนยุคนี้ทำฌานยาก ใจมันวอกแวกสมาธิสั้น ไม่เหมือนยุคหลวงพ่อตอนเด็กๆ บ้านเมืองสงบบ้านเมืองเงียบ มีคนสัก 20 ล้านมั้ง นิดเดียว ทั้งประเทศมีป่าไม้ตั้ง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวนี้เหลือไม่กี่เปอร์เซ็นต์ไม่ถึง 10 ละมั้ง มันมีแต่วุ่นวายๆ ฉะนั้นเราจะมานั่งเข้าฌานอะไรอย่างนี้ ยากมาก เราก็ทำสมาธิที่เราทำได้คือขณิกสมาธิ

ทำกรรมฐานไปแล้วจิตไหลไปคิด เรารู้ จิตถลำไปเพ่ง เรารู้ เป็นขณะๆ เป็นช็อตๆๆ ไป เราทำบ่อยๆ จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาได้เหมือนกัน แต่ไม่คงทนเท่าจิตที่ผ่านฌาน จิตที่ผ่านฌานจะตั้งมั่นอยู่ได้หลายวัน แต่ก็ไม่เกิน 7 วัน แต่จิตที่เราทำขึ้นมา มันตั้งได้เดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็หลุดไปอีกแล้ว เดี๋ยวก็หลงไปคิด คิดแล้วรู้ก็ตั้ง รู้แล้วก็คิดอีกแล้ว สลับไปๆ แต่เดิมหลงยาวคิดนานแล้วค่อยรู้ แล้วเกิดสมาธิแวบหนึ่ง แล้วก็หลงยาวๆ แล้วก็รู้อีกแวบหนึ่ง

พอเราฝึกเรื่อยๆ ต่อไปจะหลงสั้นลงเรื่อยๆ พอหลงแวบรู้สึก แวบรู้สึก แวบรู้สึก พอมันถี่ๆๆ มันเหมือนเรามีสมาธิทรงตัวอยู่ได้นาน จิตตั้งมั่นมีกำลังขึ้นมาแล้ว พอจิตเรามีกำลังเราก็เดินปัญญาต่อ อาศัยสติระลึกรู้อะไรเด่นชัดขึ้นมาในขณะนั้น ในกายในใจตัวไหนเด่นชัดสติก็ระลึกตัวนั้น เราเจตนาไม่ได้ เพราะสติเองก็เป็นอนัตตา เราเจตนาจะรู้ร่างกายหายใจ แวบเดียวหนีไปคิดแล้ว เราก็รู้ทันว่าจิตหนีไปคิด เห็นไหม อันนี้มันหนีไปจากกายแล้ว แต่ถ้าเราฝึกนะ พยายามฝึกไป จะใช้กายใช้เวทนาใช้จิตอะไรก็ตาม ฝึกบ่อยๆ เดี๋ยวมันชิน มันก็อยู่ได้ ถ้าตอนแรกๆ เดี๋ยวว่อกแว่ก เดี๋ยวรู้กาย เดี๋ยวรู้เวทนา เดี๋ยวรู้เรื่องที่คิดอะไรอย่างนี้ มันจะมั่ว

แต่ว่าพอเราฝึก พอสมาธิเราดีขึ้น เวลาเราระลึกรู้กาย เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า มันรู้ได้ยาวขึ้น ไม่หนีว็อบแว็บๆ ไปหรอก พอจะหนีปุ๊บรู้ปั๊บก็กลับมาเห็นร่างกายหายใจได้อีก นี่สติระลึกรู้แล้ว ร่างกายหายใจออกก็รู้ ร่างกายหายใจเข้าก็รู้ ต่อไปมันก็สรุปนะ ร่างกายไม่ใช่เราหรอก ตรงนั้นปัญญารวบยอดมันเกิด ถ้าร่างกายที่หายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายที่หายใจเข้า มันจะไปเหลือร่างกายอะไร ก็ไม่มีแล้วร่างกาย ทั้งวันก็มีแต่ร่างกายหายใจออกหายใจเข้า ถ้าร่างกายหายใจออกไม่ใช่เรา ร่างกายหายใจเข้าไม่ใช่เรา ร่างกายทั้งหมดก็ไม่ใช่เรา

นี่วิธีเรียนสติปัฏฐาน เราเรียนธรรมะบางอย่างสภาวะบางอย่าง พอเข้าใจแล้วเข้าใจภาพรวม หรือเราดูสุขทุกข์ ดูกุศลอกุศลก็ได้ อย่างหลวงพ่อเป็นพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น เป็นพวกโทสะ เป็นพวกรวดเร็วรุนแรง จิตนี่ทำงานว่องไว หลวงปู่ดูลย์ท่านเห็นว่าหลวงพ่อเจ้าความคิดเจ้าความเห็น เป็นพวกทิฏฐิจริต ท่านให้ดูจิตเลย เวลาเราคิดเรื่องนี้สุข คิดเรื่องนี้ทุกข์ คิดเรื่องนี้เกิดกุศล คิดเรื่องนี้เกิดอกุศล เราเห็นจิตทำงานไปแล้วก็ปรุงสุขทุกข์ดีชั่วขึ้นมา แล้วถ้าเราขาดสติสุขทุกข์ดีชั่วก็กลับมาครอบงำจิต จิตไปปรุงสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา แล้วสิ่งเหล่านี้ก็กลับมาปรุงแต่งจิตได้อีก

อย่างจิตปรุงความสุขขึ้นมา มีความสุขขึ้นมา แล้วเราก็ติดใจในความสุขนี้ ความสุขมาปรุงแต่งจิตแล้ว จิตตกเป็นทาสของความสุข อย่างนั่งสมาธิแล้วมีความสุข เพลิน คราวนี้ไม่ทำอะไรแล้ว จะเอาสุขอย่างเดียวแล้ว อันนี้เราถูกความปรุงแต่งคือความสุขครอบงำ เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนา อย่าให้สภาวะอะไรมาครอบงำจิตใจเรา ค่อยๆ ดู ค่อยๆ รู้ไป ความสุขกับจิตคนละอันกัน ความทุกข์กับจิตก็คนละอันกัน ถ้าเห็นว่าเป็นคนละอันมันไม่ครอบหรอก ถ้าเห็นว่าความสุขกับจิตอันเดียวกันมันก็ครอบเราเรียบร้อยไปแล้ว

ค่อยๆ ฝึก วันหนึ่งเราก็จะแจ้งขึ้นมา ตรงที่แจ่มแจ้งขึ้นมา เรามีสติรู้กายด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง มีสติรู้เวทนาด้วยจิตตั้งมั่นเป็นกลาง มีสติรู้สังขาร ความดี ความชั่วด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง มีสติระลึกรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิต ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เรามีสมาธิได้จิตตั้งมั่นเป็นกลาง แล้วสติระลึกรู้ลงไปในรูปธรรมนามธรรมใดๆ ก็ตาม มันจะเห็นไตรลักษณ์ จะเห็นไตรลักษณ์อัตโนมัติ แต่ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น เรามีสติ มันจะไปเพ่ง เช่นเรารู้ลมหายใจ จิตจะไหลไปอยู่ที่ลมแล้วนิ่งๆ อยู่อย่างนั้น เราไปดูท้องพองยุบ จิตไหลไปอยู่ที่ท้อง แล้วก็นิ่งๆ อยู่อย่างนั้น แล้วบอกว่าเดินปัญญาเดินวิปัสสนา ไม่ได้ทำหรอกๆ ไม่ได้เห็นไตรลักษณ์จริง มันนิ่งสงบเฉยๆ

เพราะฉะนั้นจิตเราต้องตั้งมั่น สติระลึกรู้อะไรจิตไม่จมลงไปที่นั่น จิตเป็นคนดูอยู่ห่างๆ มันเห็นเลยทุกอย่างมาแล้วก็ไป ทุกอย่างมาแล้วก็ไป มันจะเห็นอย่างนั้น ในที่สุดจิตก็มีปัญญารวบยอด สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับเป็นธรรมดา ตรงที่สติระลึกรู้กาย อย่าระลึกเฉยๆ ระลึกแล้วมีการหมายรู้ไตรลักษณ์ให้ได้ ระลึกรู้เวทนาก็หมายรู้ไตรลักษณ์ให้ได้ ระลึกรู้จิตก็ต้องหมายรู้ไตรลักษณ์ให้ได้ ไม่ใช่ระลึกรู้กายแล้วก็รู้กายแล้วจบลงที่กาย ระลึกรู้เวทนาก็รู้แต่เวทนาแล้วจบที่เวทนา อันนั้นไม่ไปต่อหรอก กลายเป็นเพ่ง เพ่งกายเพ่งเวทนา

แต่ถ้าจิตเราตั้งมั่นจริงๆ สติรู้กายที่เคลื่อนไหว แล้วถ้าเคยหมายรู้มาแล้ว มันจะรู้ทันทีนี่มันไม่ใช่เรา แต่ถ้ามันไม่เคยช่วยหมายนิดหนึ่ง เออนะ มือนี้เคลื่อนไหวกระดุกกระดิกเหมือนตัวที่ยืนข้างถนน เห็นไหม ที่มันโบกมืออย่างนี้ เราก็เห็น ตัวนั้นมันไม่เคยคิดนะว่ามือมัน แต่เราคิด ใครโง่กว่ากันก็ไม่รู้ ไอ้ตัวนั้นมันก็แหยกๆ ไปทั้งวัน ถ้าเราสติระลึกรู้ จิตเราตั้งมั่น เราหมายรู้ลงไป มันรู้สึกแวบขึ้นมาเลยนะ มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่เรา ฉะนั้นองค์ธรรมที่จะทำให้เราพัฒนา มีทั้งสมาธิทั้งสติทั้งสัญญาช่วยกันทำงาน แล้วสุดท้ายปัญญาจะเกิด

 

โยนิโสมนสิการ

เอาไปทำนะ หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังก็อุตส่าห์เอาไปทำเข้า เหมือนที่หลวงพ่อไปเรียนจากครูบาอาจารย์ ท่านสอนแล้วหลวงพ่อก็อุตส่าห์ไปทำ พากเพียรทำ ล้มลุกคลุกคลาน ทำผิดบ้างถูกบ้างไม่เป็นไร อดทนปฏิบัติไปแล้วเรียนรู้ไป ที่ทำอย่างนี้ทำไมจิตมีแต่ความสุข พอจิตมีแต่ความสุข มันผิดตรงไหน คิดอย่างนี้นะ ทำไมพุทธเจ้าว่าไม่เที่ยง จิตเราเที่ยง จิตเรามีแต่ความสุข ผิดตรงไหนนะ ค่อยๆ สังเกตเอา การที่เราคอยสังเกตตัวเองว่า สภาวะที่มีที่เป็นสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าไหม อันนั้นคือโยนิโสมนสิการ

โยนิโสมนสิการสำคัญมากโดยเฉพาะในยุคนี้ กัลยาณมิตรก็สำคัญคู่กับโยนิโสมนสิการ แต่ยุคนี้เราไม่รู้ว่าใครเป็นกัลยาณมิตร เห็นไหมพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยกย่องกัน ปาราชิกไปตั้งเท่าไรแล้ว สาธุองค์นี้ผ่องใสเป็นพระอรหันต์ หันไปไหนแล้วก็ไม่รู้ เราไม่รู้หรอกว่าใครเป็นกัลยาณมิตร เพราะฉะนั้นโยนิโสมนสิการสำคัญมาก อย่างมงายอย่าโง่ อย่าโง่ ฉะนั้นพยายามดูลงไปเลย สิ่งที่เราปฏิบัติอยู่นี่ ผลที่เกิดขึ้นนี่ มันสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าไหม

หลวงพ่อเคยทำผิด จิตสว่างว่างอยู่ข้างนอก มีแต่ความสุข นานๆ ไป รู้สึกทำไมเที่ยง ทำไมมีแต่ความสุข ทำไมบังคับได้ ทำได้ อยากอยู่ตรงนั้นนานแค่ไหนก็ได้ มันผิด ผิดตรงไหนหนอ พยายามดู ผิดตรงไหนนะ ตอนนั้นดูไม่ออก พอดีเจอหลวงตามหาบัว ก็ไปกราบท่าน เข้าไป พ่อแม่ครูอาจารย์สอนให้ผมดูจิต ผมก็ดูจิตอยู่ แต่ทำไมมันไม่พัฒนาเลย หลวงตาท่านหันขวับเลย ที่ว่าดูจิตนั้นดูไม่ถึงจิตแล้ว ต้องเชื่อเรานะ ตรงนี้สำคัญ เราผ่านมาด้วยตัวเราเองเลย อะไรๆ สู่บริกรรมไม่ได้

หลวงพ่อก็ เอ้า ท่านบอกอย่างนี้เราเข้าใจแล้ว ท่านบอกอย่างนี้ว่าเราดูไม่ถึงจิต แสดงว่าจิตอยู่ข้างนอก แล้ววิธีแก้จิตที่อยู่ข้างนอกก็ทำสมาธิเข้ามา หลวงพ่อก็มาพุทโธๆๆ มันเป็นกรรมฐานที่ไม่ถนัดไม่ชอบ พุทโธแล้วรำคาญ หลวงพ่อชอบหายใจ หลวงพ่อก็เลยนั่งอยู่หลังท่านนั่นล่ะ ห่าง 2-3 เมตรเอง ก็หายใจเข้าพุทหายใจออกโธที่เราถนัด หายใจอยู่ไม่กี่ทีจิตรวม จิตรวมนี่รู้เลยว่าเราทำผิดตรงไหน ที่ผ่านมาจิตไม่เข้าฐาน จิตไปว่างอยู่ข้างนอก นานๆ ที่ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ช่วยแก้ให้ ส่วนใหญ่ก็จะช่วยตัวเองได้ด้วยโยนิโสมนสิการนี่ล่ะ

ฉะนั้นอยากให้พวกเราสังเกต สังเกตดีนะ สังเกตเป็นของดี สังเกตตัวเอง อย่าเข้าข้างตัวเอง สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นมา สอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าไหม อย่างเราปฏิบัติอยู่ เรารู้ทุกข์หรือเราอยากละทุกข์ เรารู้ทุกข์ละความอยากหรือเราอยากละทุกข์ ส่วนใหญ่ก็คืออยากละทุกข์ทั้งนั้นล่ะ ไม่มีใครอยากรู้ทุกข์หรอก มันกลับหัวกลับหางกับคำสอนของพระพุทธเจ้า มันเลยไม่เจริญ ถ้าเราสังเกตตัวเองได้ มันจะไม่ติดขัดอะไรมากหรอก การปฏิบัติจะราบรื่น อะไรๆ สู้โยนิโสมนสิการไม่ได้ หัดสังเกตเอา แต่ไม่ใช่สังเกตแล้วคิดเอาเอง

คนรุ่นนี้ถูกสอนให้คิดเอาเอง เอาตัวเองเป็นใหญ่ เห็นไหม กูจะเอาอย่างนี้ ใครจะว่ายังไง พ่อแม่ไม่สำคัญแล้ว กูจะเอาอย่างนี้ เสร็จแล้วก็ขอสตางค์ มันใหญ่ไม่ตลอด ถ้าฝรั่งนะ หลวงพ่อไปมาหลายประเทศแล้ว ว่างๆ ก็ไปดูๆ เขา ฝรั่งอายุ 18 ออกจากบ้าน ไปทำมาหากินเลี้ยงตัวเอง อยากเรียนหนังสือส่งตัวเองเรียน ของเราอายุ 80 ยังให้พ่อเลี้ยงเลยบางที อยากเป็นฝรั่งก็เป็นให้ครบวงจร ช่วยตัวเองสิ จริงๆ แล้ววัฒนธรรมของเราเป็นซอฟต์พาวเวอร์

ที่สำคัญฝรั่งเองชอบวัฒนธรรมอย่างของเรา ความสุภาพความอ่อนโยนความมีน้ำใจ คนชาติอื่นเขาไม่ค่อยมี ตรงนี้เป็นสิ่งที่ดีของเรา ความกตัญญูความเผื่อแผ่ความอะไรอย่างนี้คือซอฟต์พาวเวอร์ทางวัฒนธรรม ใครเขาเข้ามาเขาติดอกติดใจ เดี๋ยวเขาก็มาอีก เขาก็เอาเงินมา เราก็หากินได้ ถ้าเรามีซอฟต์พาวเวอร์ที่ดีแล้วเราทำลาย วันหนึ่งเราก็ต้องไปอ้างอีก นี่ของเราอยู่ในกำแพง ไปอ้าง ไม่มีอะไรเหลือแล้ว

เพราะฉะนั้นมีอะไรที่ดีๆ ศาสนาพุทธก็เป็นของดีของเรา ของดีของเรารักษาไว้ สถาบันครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า ตา ยาย ให้ความอบอุ่นช่วยเหลือ อย่างช่วงที่เศรษฐกิจเราพังเป็นช่วงๆ ก็มีนะ ช่วงโควิดนี่ล่ะล่าสุด ตกงานกันเป็นแถวแล้วทำอย่างไร กลับบ้าน ทำไมกลับบ้านได้ ยังมีบ้านให้กลับ ยังมีครอบครัวอยู่ นี่คือความสำคัญของสถาบันครอบครัวเรา สถาบันต่างๆ มีประโยชน์ ถ้าเราไปทำลายทิ้งหมด วันหนึ่งเราจะเป็นคนไร้ราก ว้าเหว่

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ไปปฏิบัติเอานะ โลกนี้ไม่แน่นอน ชีวิตนี้ไม่แน่นอน อะไรเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ลูกศิษย์หลวงพ่อปุ๊บปั๊บตายไปเยอะแล้ว ไปตรวจร่างกายเป็นมะเร็งขั้นสุดท้ายแล้วก็มี รักษาได้บ้าง รักษาไม่ได้บ้าง บางคนก็รักษาหาย บางคนก็ไม่หาย ยิ่งถ้าใจฝ่อตายเร็วเลย ไม่ได้ตายเพราะมะเร็ง แต่ตายเพราะตกใจ กินข้าวไม่ได้แล้ว ยังไม่ทันให้คีโมเลย กินข้าวไม่ลงแล้วเพราะใจ

ชีวิตเป็นของไม่แน่นอน ความตายเป็นของแน่นอน ฉะนั้นเราพยายาม ก่อนที่เราจะตายพยายามสร้างสิ่งที่เป็นคุณงามความดีให้กับตัวเองไว้ ทำประโยชน์ของตัวเอง ทำทานรักษาศีลเจริญปัญญาไปภาวนาไป นั่นคือการทำประโยชน์ของเราเอง

พระพุทธเจ้าสอนให้เราทำประโยชน์ตนเองประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท อย่างบางทีเราก็ไปช่วยงานสังคมสงเคราะห์ช่วยงานเผยแพร่ช่วยอะไรพวกนี้ ถ้าช่วยแล้วลดละกิเลสได้ อันนั้นดีมากเลย ถ้าทำแล้วกิเลสเพิ่ม ไม่ดี เราพยายามพัฒนาตัวเองให้กิเลสเบาบางลงเรื่อยๆ ชีวิตจะร่มเย็นเป็นสุขท่ามกลางความวุ่นวาย เวลาหลวงพ่อเห็นโลกวุ่นวายเห็นอะไรรู้ไหม เห็นว่าง โลกนั้นว่างมีแต่ความเคลื่อนไหวตามเหตุตามปัจจัยของมัน แต่มันว่าง ในความเป็นจริงมันว่าง อย่าไปจริงจังกับมันมาก ตั้งอกตั้งใจภาวนาของเราไป

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
บ้านจิตสบาย
18 มิถุนายน 2566