วันนี้เป็นวันสำคัญของพวกเราชาวพุทธ วันที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ที่จริงเราก็ต้องระลึกถึงพระพุทธเจ้าทุกวัน ไม่เฉพาะวันวิสาขบูชา หลวงพ่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าวันหนึ่งๆ นับไม่ถูกเลยกี่ครั้ง ตอนหัดภาวนากับหลวงปู่ดูลย์ทีแรก วันๆ หนึ่งคิดถึงแต่หลวงปู่ดูลย์ เราอยู่ไกลท่าน ไม่ได้อยู่ในวัดเดียวกับท่าน เราอยู่บ้าน แต่ใจที่เราคิดถึงการปฏิบัติ มันคิดถึงครูบาอาจารย์ มีความรู้สึกเหมือนเราอยู่กับท่านทั้งวัน เวลาเราจะคิดอะไรไม่ดี เราก็จะรู้สึกอย่างนี้หลวงปู่ไม่ชอบ เวลาเราจะพูดไม่ดี หรือเราทำไม่ดี เรารู้อย่างนี้หลวงปู่จะตำหนิเอา ใจมันรู้สึกอย่างนี้อยู่ตลอด แค่จะขี้เกียจปฏิบัติ ก็รู้สึกเหมือนหลวงปู่มองอยู่ ก็เลยขี้เกียจไม่ได้
ภาวนามาเรื่อยๆ ตอนหลังใจมันคิดถึงพระพุทธเจ้า ใจมันคิดถึง หายใจเข้าคิดถึง หายใจออกคิดถึง หายใจเข้าก็พุทโธ พุทโธๆ ไปเรื่อย ไม่ได้พุทโธเป็นนกแก้วนกขุนทอง พุทโธแล้วระลึกถึงพระพุทธเจ้า หลวงพ่อเลยผูกพันกับครูบาอาจารย์ ผูกพันกับพระพุทธเจ้า ตอนบวชใหม่ๆ เวลาจะฉันข้าวก็พิจารณาอาหาร ไม่ใช่แค่ปัจจเวกขณะตามสูตรท่องๆ เอา พิจารณาอาหาร เรากินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ จะได้มีแรงปฏิบัติธรรม แล้วก็สอนตัวเอง กระหนาบตัวเองด้วย อาหารนี้คนเขาให้มา ไม่ใช่เพราะเขานับถือเรา แต่เพราะเขานับถือพระพุทธเจ้า เสนาสนะที่เราได้อยู่ได้อาศัยนี้ คนเขาสร้างขึ้นมา เพราะเขาเคารพพระพุทธเจ้า
ตรงที่เราคอยรู้ทันความคิดของตัวเอง คือตัวสัมมาสังกัปปะ
เรามีทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมา เพราะพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเราก็ต้องซื่อตรงกับพระพุทธเจ้า อะไรที่ท่านห้าม เราจะไม่ทำ อะไรที่ท่านให้ทำ เราจะต้องทำ สอนตัวเองตั้งแต่วันแรกที่บวช สอนอย่างนี้เลยทุกวันๆ คิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า เราก็ไม่กล้าทำชั่ว มันก็ทำความดีไปเรื่อย ต่อสู้กับกิเลสตัวเอง แล้วฝึกตัวเองไปเรื่อยๆ คอยมีสติรู้ทัน เวลามันจะคิดไม่ดี รู้ทัน ความคิดไม่ดีมันดับไป เวลาเราคิดดี มันก็รู้ทันว่านี่คิดดี ตรงที่เราคอยรู้ทันความคิดของตัวเอง มันคือตัวสัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ เวลาความคิดไปในกามวิตกเกิดขึ้น อันนี้ดำริไม่ชอบ สติรู้ทัน กามวิตกก็ดับ
เวลาพยาบาทวิตกเกิดขึ้น สติรู้ทัน พยาบาทวิตกก็ดับ เวลาวิหิงสาวิตกเกิดขึ้น คิดเบียดเบียนด้วยโมหะ เกิดขึ้นมาเรารู้ทันอีก ความคิดชั่วมันก็ดับ กระแสของความคิด มันก็เคลื่อนไป ในเส้นทางของความคิดที่จะออกจากโลก เรียกว่าเนกขัมมวิตก เป็นสิ่งตรงข้ามกับกามวิตก กามวิตก มันคิดแต่จะอยู่คลุกคลีอยู่กับโลก เพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทั้งหลาย พอเรามีสติรู้ทัน กามวิตกดับ มันก็เกิดเนกขัมมวิตกอัตโนมัติ ทันทีที่กิเลสมันดับไป กุศลมันก็เกิดในขณะนั้น มันเหมือนทันทีที่ความมืดหายไป ความสว่างก็มาแทนที่ หรือถ้าเวลากิเลสมันมา ความสว่างก็หายไป ความมืดก็มาแทนที่
ฉะนั้นเราคอยมีสติ สังเกตจิตใจของเรา ที่มันคิดมันคิดไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ หรือมันคิดด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ โลภะ โทสะ โมหะนั้นเป็นกิเลส อโลภะ อโทสะ อโมหะ มันเป็นกุศล 2 ข้างนี้ ช่วงไหนมีกุศล ช่วงนั้นก็ไม่มีกิเลส ช่วงไหนกิเลสมาครอบงำเรา กุศลก็หายไป หมุนเวียนกันไป เหมือนกลางวันกลางคืน หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป เราจะอยู่ในความมืดตลอดเวลาไม่ได้ ในโลกมีกลางคืน แล้วถึงเวลามันก็เป็นกลางวัน เราไม่ต้องทำอะไร แต่จิตเราอยู่กับกลางคืน อยู่กับความมืด อยู่กับกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก แล้วอยู่ๆ จะให้มันสว่างขึ้นมา มันไม่เป็นหรอก มันไม่เหมือนโลกมันหมุนรอบตัวเองไป
เวลาความคิดที่ไม่ดีของเราเกิดขึ้น เพราะอำนาจของราคะ โทสะ โมหะ ให้เรารู้ทันไว้ ตัวนี้ตัวสำคัญมาก ถ้าเรารู้ทันตัวนี้ เราไม่ต้องห่วงองค์มรรคที่เหลือทั้งหมดเลย อีก 6 ตัวจะเกิด 6 หรือ 7 ตัว 6 ตัวจะเกิดเอง ฉะนั้นเราคอยรู้ทัน ใจเราคิดบวก หรือคิดไปด้วยความเป็นกุศล รู้ทัน คิดลบคือคิดด้วยอกุศล รู้ทันไป แล้วความคิดชั่วมันไม่เกิด ความคิดมันก็ออกมาทางดี อย่างพอจิตไม่หลงไปในกามวิตก จิตมันก็ดำริออกจากกาม เรียกเนกขัมมวิตก จิตมันไม่ไหลไปในทางพยาบาทวิตก มันก็เกิดอภัยบาท ไม่พยาบาท ไม่คิดร้ายกับผู้อื่น กับสัตว์อื่น มันมีวิหิงสาวิตก รู้ทันไป มันก็ดับ จิตก็เป็นกุศลขึ้นมา เป็นอวิหิงสาวิตก ไม่คิดเบียดเบียน ไม่เบียดเบียนกระทั่งตัวเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น มันเกิดอัตโนมัติ พอความคิดของเราถูกต้อง คำพูดของเรามันก็ถูกต้องเอง
คนมีมิจฉาวาจา ไม่มีสัมมาวาจา ก็เพราะมีมิจฉาสังกัปปะ มันคิดไม่ถูก เวลาพูดมันก็เลยพูดไปตามอำนาจของกิเลส อย่างใจเราเกลียดใครสักคน มีพยาบาทวิตก มันคิดถึงเขาด้วยความเกลียดชัง เราพูดกับเขา เราก็พูดด้วยความเกลียดชัง เราไปพูดถึงกับคนอื่นถึงเขา เราก็พูดด้วยความเกลียดชัง ไปใส่ร้ายเขา คำพูดที่ไม่ดีทั้งหลาย มันมาจากความคิดที่ไม่ดี ฉะนั้นความคิดเป็นสิ่งที่เราต้องคอยดูแลมันให้ดี มันคิดไปด้วยอำนาจของกิเลส ต้องรู้ทันมัน มันจะกลายเป็นคิดด้วยอำนาจของกุศลขึ้นมาแทนที่ คำพูดมันก็ดีเอง พอเรามีความคิดดี มีคำพูดดี ไม่ถูกกิเลสครอบงำ การกระทำมันก็ดี
พอเรามีสัมมาสังกัปปะบริบูรณ์ สัมมาวาจาก็บริบูรณ์ พอเรามีสัมมาวาจาเนืองๆ ทำให้มาก เกิดขึ้นมาก มันจะทำให้สัมมากัมมันตะ คือการกระทำของเราบริบูรณ์ขึ้นมา ถูกต้องขึ้นมา พอเรามีความคิดถูก มีคำพูดถูก มีการกระทำถูก การเลี้ยงชีวิตของเรามันก็จะถูก ไม่ไปลักไปขโมยใคร ไม่ไปเบียดเบียนใคร ไม่ไปฉ้อฉลหลอกลวงใคร ไม่ทำมาหากินแบบผิดศีลธรรม มันจะไม่อยากทำ นี้บางคนครอบครัว พ่อแม่อาชีพเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง แล้วเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้งอยู่ ถึงเวลาก็ขายให้เขาเอาไปฆ่า เลี้ยงสัตว์เพื่อเอาให้เขาเอาไปฆ่า มันก็เป็นมิจฉาวาณิชย์ ไม่ถูกต้อง หรือเลี้ยงชีพด้วยการขายยาเสพติด ด้วยการค้าอาวุธอะไรพวกนี้ มันเป็นอาชีพที่ไม่ถูกต้อง
สัมมาอาชีวะ
แต่อย่างเราเลี้ยงชีพ ด้วยการช่วยพ่อแม่เรา เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เราจะเลิกทันที มันยังทำไม่ได้ เราก็ต้องรู้จักฉลาด ทำอย่างไรโทษมันจะน้อย ต้องรู้จักอันนี้ อยู่ๆ ที่บ้านมีอาชีพเดียวคือเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา อยู่ๆ เราก็บอกพ่อบอกแม่เราว่า ต่อไปนี้ไม่ช่วยแล้ว ตกนรกไปคนเดียวเถอะ มันก็ไม่ถูก ให้รู้จักวางใจให้ถูก อย่างถ้าเราต้องช่วยพ่อแม่เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา ให้วางใจว่าเรากำลังอุปัฏฐากพ่อแม่อยู่ กำลังรับใช้พ่อแม่อยู่ ไม่ใช่ยินดีพอใจในอาชีพที่ก่อกรรมทำเข็ญ วางใจว่าเรารับใช้พ่อแม่เราอยู่ อกุศลที่เกิดขึ้นมันจะน้อย บาปอกุศลมันน้อย เพราะเราไม่ได้ ไม่คิดเรื่องจะเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เอาไปขายให้เขาฆ่า เราจะได้เงินเยอะๆ อะไรอย่างนี้ ไม่ได้สนใจตรงนี้
เมื่อก่อนในคัมภีร์ ในธรรมบท อรรถกถา ก็มีเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งเป็นพระโสดาบัน เป็นเมียนายพราน ตื่นเช้าขึ้นมาสามีจะออกไปล่าสัตว์ ผู้หญิงคนนี้ก็เตรียมธนู เตรียมหอกให้สามี คนเขาติเตียนว่านี่หรือลูกศิษย์พระพุทธเจ้า นี่หรือพระอริยบุคคล ทำไมส่งเสริมให้สามีทำบาป เที่ยวไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านก็เรียกมาถามว่า “เวลาส่งอาวุธให้สามีนี้คิดอย่างไร” บอกว่า “คิดว่าทำหน้าที่ของภรรยารับใช้สามี ไม่ได้คิดว่าส่งอาวุธให้สามีไปทำร้ายสัตว์” ใจคิดอยู่แค่นี้ คิดว่าเราทำหน้าที่ของเรา ส่วนการจะไปล่าสัตว์ฆ่าสัตว์อะไรนั้น มันเป็นกรรมของสามีไป ไม่เกี่ยว เพราะเขาไม่มีเจตนา เจตนาเขาแค่ทำหน้าที่ของเขา ก็ไม่มีกรรมอะไรนักหนา เรื่องอย่างนี้
หรือมีพระองค์หนึ่งชื่อพระจักขุบาล พระจักขุปาละ จริงๆ ไม่ใช่ชื่อท่านหรอก คงเป็นฉายาท่าน พระองค์นี้ท่านตั้งใจจะไม่นอนตลอด 3 เดือน จะไม่นอน ถือเนสัชชิกตลอดพรรษา พออยู่ในพรรษาไม่นาน ท่านเป็นโรคตา ตาเจ็บ ลูกศิษย์ลูกหาก็หาหมอมารักษา หมอตรวจดูอาการแล้วต้องหยอดยา ไม่ยากหรอกโรคนี้ ต้องหยอดยา แต่ต้องนอนหยอด มานั่งหยอดไม่ได้หรอก ต้องนอนหยอดแล้วก็หลับตาไป นอนเยอะๆ หน่อย ท่านไม่ยอม ท่านบอกว่า ท่านตั้งสัจจะไว้แล้ว ว่าจะไม่นอนตลอดไตรมาส แต่ท่านก็ไม่ได้บอกหมอ
หมอให้ยาไว้ ท่านก็หยอด นั่งหยอด มันก็ไม่หาย อีกช่วงหนึ่งหมอมาตรวจ พบว่าอาการหนักขึ้น หมอถามว่ารักษาอย่างไร ท่านก็เล่าให้ฟังว่า ท่านไม่ได้นอนหรอก ไม่ได้หลับตาด้วย ตื่นอยู่ตลอด หมอบอกว่า “ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปก็ตาบอด เพราะฉะนั้นต่อไปนี้อย่ามาบอกคนอื่น ว่าผมมารักษาให้ท่าน เสียชื่อหมอ” หมอบอกเลิกรักษาแล้ว ไม่เอาแล้ว คนไข้ดื้อ พอหมอไปแล้วท่านก็พิจารณาว่า ตอนนี้หมอเขาทิ้งเราแล้ว ถึงเวลาเราต้องช่วยตัวเราเองแล้ว ระหว่างตาเนื้อของเราจะแตกจะดับ กับธรรมจักษุ ตาของจิตที่เห็นธรรม เราจะเลือกธรรมจักษุ ตาบอดก็ช่าง สุดท้ายก็ตาบอดจริงๆ
ขณะที่ตาบอดลงไปนั้น ท่านบรรลุพระอรหันต์ในขณะนั้นเลย เพราะจิตใจนั้นเด็ดเดี่ยว เข้มแข็งมาก ตาบอดก็บอด พอท่านตาบอดแล้ว ต่อมาท่านก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปอยู่ในสำนักของพระพุทธเจ้า ทุกวันก็เดินจงกรม ไปเหยียบสัตว์ เหยียบแมลง เหยียบหอยทาก ท่านมองไม่เห็น พวกพระขี้อิจฉา ขี้ฟ้อง ก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า บอก “ภิกษุนี้สมัยตาดีๆ คงไม่ภาวนา ตอนนี้ตาบอดแล้วทำมาเป็นขยันภาวนา ไปเดินเหยียบสัตว์ตายเรื่อยๆ เลย อาบัติ” พระพุทธเจ้าก็เรียกท่านมาถามว่า “ท่านเจตนาเหยียบไหม” ท่านไม่ได้เจตนา ท่านไม่รู้ ไม่มีเจตนา มันก็ไม่มีกรรม
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะทำมาหากิน รู้จักวางใจให้ถูก อย่าเจตนาทำอาชีพที่ผิดศีลผิดธรรม จำเป็นต้องทำ ก็รู้จักวางใจให้ดี เราจะต้องใช้สติ ใช้ปัญญา ในการดำรงชีวิต พอเรามีความคิดถูก มีคำพูดถูก มีการกระทำถูก มีการเลี้ยงชีวิตถูก สิ่งเหล่านี้จะเกื้อหนุนให้เกิดสัมมาวายามะ คือความเพียรชอบ ท่านถึงสอนบอกว่า ถ้ามีสัมมาๆ อะไรที่กล่าวมาแล้ว ทำให้มาก เจริญให้มาก ก็จะทำให้สัมมาวายามะบริบูรณ์ขึ้นมา
สัมมาวายามะ
สัมมาวายามะคือความเพียรชอบ ได้แก่เพียรละอกุศลที่กำลังมีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญขึ้น อันนี้เรียกว่ามีความเพียรชอบ นั่งสมาธิทั้งคืน เดินจงกรมทั้งคืน ยังไม่เรียกว่าทำความเพียรชอบ
อย่างถ้านั่งสมาธิ แล้วใจก็ว้าวุ่น ทุกข์ทรมาน ร่างกายมันปวด มันเมื่อย ใจก็หงุดหงิดๆ แต่ทนเอา พอสว่างลุกขึ้นมาเดินได้แล้ว มันเกิดกิเลส โอ้ “กูเก่ง” อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ไม่เรียกว่ามีความเพียรชอบ หลวงปู่มั่นท่านสอนดี บอกว่า “ถ้ามีสติก็มีความเพียร ถ้าขาดสติก็ขาดความเพียร” การที่เราคอยรู้ทันความคิด คำพูด การกระทำ การเลี้ยงชีวิตของเราเอง ไม่ทำไปด้วยอำนาจของกิเลส แต่ทำไปด้วยอำนาจของกุศล ถ้าเราคอยรู้อย่างนี้มากๆ สัมมาวายามะจะเจริญขึ้นอัตโนมัติ อย่างเราไม่พูดชั่ว ไม่คิดชั่ว ไม่พูดชั่ว ไม่ทำชั่ว ไม่หากินชั่วๆ ใจเราก็ไม่เอากิเลส เวลากิเลสเกิดขึ้นในใจ อยากจะ มันผลักให้คิดชั่ว เรารู้ทัน ไม่คิด อกุศลใหม่ก็เกิดไม่ได้
ถ้ามันคิดชั่วไปช่วงหนึ่ง แล้วเกิดรู้ทัน อกุศลที่มีอยู่คือความคิดชั่วมันก็ดับ แล้วขณะที่เรารู้เท่าทันความคิดของตัวเองอยู่นั้น เรียกว่าเรามีสติ ตรงนั้นกุศลได้เกิดขึ้นแล้ว แล้วเราก็หัดรู้ รู้ทันจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ คิดไม่ดีก็รู้ คิดดีก็รู้ ตรงที่รู้ๆ นั้น ก็จะรู้ได้ว่องไวขึ้น กุศลมันก็เจริญขึ้น แต่เดิมนานๆ สติเกิดทีหนึ่ง พอเราหัดรู้บ่อยๆ สติมันก็เร็วขึ้นๆ นี่ล่ะเรียกว่าสัมมาวายามะ การที่เราคอยรู้ทันจิตตัวเอง มันจะคิดชั่วเรารู้ มันก็กลายเป็นคิดดี อกุศลเป็นอันถูกละ กุศลเป็นอันเจริญ เวลามันจะพูดชั่ว มันก็มาจากความคิดชั่วนั่นล่ะ พอเรารู้ทันมันก็ไม่พูดชั่ว อกุศลมันก็ไม่เกิด กุศลมันก็เกิด นั่นล่ะคือความเพียรชอบ
เวลาเรามีกิเลส คิดพยาบาทก็อยากทำร้ายคนอื่น อยากทำร้ายสัตว์อื่น ก็จะไปเกิดการกระทำที่ไม่ดี เรียกมิจฉากัมมันตะ ก็คือละเมิดศีลข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 นั่นล่ะเป็นมิจฉากัมมันตะ พอเรามีสติรู้ทันว่า เอ๊ะ นี่กำลังจะไปชกเขาแล้ว ด้วยอำนาจของกิเลส กิเลสก็ดับ กุศลก็เกิดขึ้นแทน ฉะนั้นการที่เราคอยมีสติ รู้เท่าทันจิตใจตัวเองอยู่เนืองๆ อกุศลเกิดก็รู้ กุศลเกิดก็รู้ มันไม่เพียงแต่ทำให้สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะดี แต่มันเป็นตัวอาการโดยตรงเลย ผลักดันให้สัมมาวายามะนั้นบริบูรณ์ขึ้นมา
เราไม่คิดชั่ว ไม่พูดชั่ว ไม่ทำชั่ว ไม่หากินชั่วๆ กำลังของความชั่วมันก็อ่อนลง เพราะสติเราเข้มแข็งขึ้น กุศลมันก็เจริญขึ้น เรียกว่าเรามีความเพียรชอบ เราอาจจะไม่ได้เดินจงกรมในทางจงกรม เราอาจจะไปเดินช็อปปิงในศูนย์การค้า เพราะจำเป็นจะต้องไปซื้อของ พอเดินไปแล้วตาเห็นของที่สวยงาม โลภะเกิดอยากได้ อยากได้เสื้อตัวนี้แล้ว หรืออยากได้กระเป๋าอันนี้ อยากได้รองเท้าอันนี้ แสนแพง ราคาเป็นแสนเป็นล้านอะไรอย่างนี้ สติเราว่องไว เรารู้ว่านี้กิเลสเกิดแล้ว กิเลสมันก็ดับ กุศลคือความฉลาด มันก็เกิดขึ้นกับจิตใจตัวเอง ขนาดเดินช็อปปิง ก็ทำสัมมาวายามะให้เกิดขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องเดินอยู่ในทางจงกรมเสมอไปหรอก ทุกก้าวที่เดินด้วยสตินั่นล่ะ เรามีความเพียรชอบ เรานั่งรถเมล์อยู่ ถ้าเรามีสติอยู่ ก็เรียกว่าเรากำลังทำความเพียรอยู่
หลวงพ่อสมัยก่อนรับราชการใหม่ๆ เป็นข้าราชการเงินเดือนน้อย ซี 3 เงินเดือนน้อย ที่บ้านก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เช้าๆ ขึ้นรถเมล์ไปทำงาน ไปยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ ก็ทำความเพียรอยู่ เห็นคนที่ป้ายรถเมล์เยอะแยะเลย โอ้ จะต้องแย่งกันขึ้นรถเมล์ ใจเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายนี่เป็นโทสะ มีสติรู้ โทสะก็ดับ จิตก็เป็นกลาง ขึ้นได้ก็ขึ้น ขึ้นไม่ได้ก็แล้วไป เดี๋ยวก็รอคันหลัง เห็นรถเมล์มาว่างๆ ดีใจรู้ว่าดีใจ รถเมล์ไม่ยอมจอด รถว่างๆ มันก็มักจะไม่จอด มันถึงว่าง มันไม่จอดแล้วโทสะขึ้น เปลี่ยนจากดีใจมาเป็นโทสะ โมโห มันไม่ยอมจอด พอขึ้นได้ก็ดีใจ
อ่านจิตอ่านใจตัวเองอยู่ตลอดเวลาเลย แค่จะขึ้นรถเมล์ก็ปฏิบัติแล้ว ปฏิบัติมาตั้งหลายนาทีแล้ว ไม่ใช่รอทั้งวันไม่ปฏิบัติ ไม่มีสติเลย ไปรอค่ำๆ จะไปนั่งสมาธิ เดินจงกรม ก็วันหนึ่งฟุ้งซ่านมาตลอดวันแล้ว ตกค่ำจะไปนั่งสมาธิ เดินจงกรมจิตมันจะยอมลงหรือ มันก็ไม่ลงหรอก แต่หลวงพ่อปฏิบัติมันอยู่ตลอดเวลานี้ล่ะ ถ้าเมื่อไรขี้เกียจปฏิบัติ ก็จะเห็นหน้าหลวงปู่ดูลย์ลอยมามองอยู่ กลัว กลัวอะไร กลัวอายท่าน ท่านไม่มาทุบมาตีเรา แต่เราละอายแก่ใจ เรามีครูบาอาจารย์ชั้นเลิศ แต่เราเหลวไหล รู้สึกน่าอาย
ฉะนั้นแค่รอรถเมล์ ขึ้นรถเมล์ หลวงพ่อก็ปฏิบัติ อ่านจิตอ่านใจตัวเองไปเรื่อยๆ บางทีมันก็พูดชั่ว เพียงแต่ไม่ได้ให้คนอื่นเขาได้ยิน เช่น รถเมล์คันนี้มันควรจะจอด แล้วมันไม่จอด เราก็พูดชั่วด้วยใจ พูดอยู่ในใจ “ไอ้ฉิบหาย พ่อมึงตายรึไง จะรีบไปไหน” อะไรอย่างนี้ คนอื่นไม่ได้ยิน แต่คนที่ได้ยินคือเรา ตัวเอง ตอนหลังค่อยฉลาดขึ้น นี่มันด่าให้ตัวเองฟัง มันได้อะไรขึ้นมา มันโง่ ทำจิตตัวเองให้เศร้าหมอง แรกๆ หลวงพ่อก็ล้มลุกคลุกคลาน ไม่ใช่ว่าวิเศษมาจากไหนหรอก บางทีก็แพ้โดนกิเลสหลอกเอา แต่ไม่ยอมแพ้ตลอดกาล วันนี้ยังแพ้อยู่ ต่อไปต้องสู้ให้ชนะให้ได้ ใจคิดอย่างนี้ตลอด ไม่ได้วิเศษวิโสมากว่าพวกเราหรอก
ปฏิบัติตั้งแต่ตื่นจนหลับ
หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่ง หลวงพ่อบอกมาตลอด หลวงพ่ออดทนต่อคำสอนของครูบาอาจารย์เท่านั้นเอง ครูบาอาจารย์ให้ทำอะไรก็ทำ ไม่ดื้อกับครูบาอาจารย์ ไม่ใช่คนเก่ง แต่ครูบาอาจารย์ของหลวงพ่อเก่งๆ สุดยอดทั้งนั้นเลยแต่ละองค์ มีเป็นสิบๆ องค์เลย ที่เคยเข้าไปศึกษากับท่าน แต่ละองค์ลวดลายแพรวพราวน่าดูมากเลย เรื่องฤทธิ์ เรื่องอภิญญาอะไร เรื่องปกติ ไม่น่าตื่นเต้น เรื่องที่ท่านสอนให้เราลดละกิเลสได้ อันนี้น่าตื่นเต้นจริงๆ ฉะนั้นหลวงพ่อจะไม่ไปหา ครูบาอาจารย์ที่เน้นเรื่องอิทธิฤทธิ์ ไม่เอาเลย จะหาแต่ครูบาอาจารย์ที่สอนกรรมฐานจริงๆ แล้วส่วนตัวท่านมีฤทธิ์ มันเรื่องของท่าน ไม่เกี่ยวกับเรา
ฝึกตัวเอง จะกินข้าวหลวงพ่อก็ปฏิบัติ พวกเราเวลากินข้าว แล้วก็เมาท์มอยเพลิดเพลินไป คุยกันเจี๊ยวจ๊าว กินอะไรยังไม่รู้เลย รสชาติอร่อยหรือไม่อร่อยยังไม่รู้เลย เวลากินอาหารแล้วคุยเพลินๆ รู้รสไหม ไม่รู้หรอก หลวงพ่อกินข้าวเปล่ายังอร่อยเลย เพราะเรามีสติ ข้าวมันมีความหวาน มันก็มีรสของมัน ฉะนั้นจะกินข้าว ไปซื้อข้าว อยู่ที่ทำงาน ลงไปที่โรงอาหาร มีร้านอาหารอยู่สัก 10 ร้าน มันขายเหมือนกันทุกวัน เจ้าไหนขายอะไร มันก็ขายอยู่อย่างนั้น บางทีเราก็เบื่อ อยู่มาหลายปีแล้ว
ฉะนั้นนึกในใจ นี่มิจฉาวาจาเกิดแล้ว โอ๊ย ไม่รู้จักสร้างสรรเลย ขายซ้ำซากอยู่อย่างนี้ คงเจริญยาก วาจาไม่ดีเกิดขึ้นในใจแล้ว ไม่ได้พูดออกมาให้ผิดศีล อันนี้ไม่ได้ผิดศีล แต่มันเป็นกิเลสในใจของเรามันพูด เราก็รู้ทันเอา ฉะนั้นแค่จะกินข้าว หลวงพ่อก็ปฏิบัติ เจอของที่ชอบใจแล้วยินดี รู้ทัน เจอของไม่ชอบใจแล้วยินร้าย รู้ทัน คอยรู้ไปเรื่อยๆ ตาเห็นรูป จิตใจเราเป็นอย่างไร รู้ทัน หูได้ยินเสียง จิตใจเราเป็นอย่างไร รู้ทัน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด แล้วเกิดความรู้สึกนึกคิดต่างๆ อะไรขึ้นมาในจิตใจ มีสติรู้ทัน
ฉะนั้นหลวงพ่อปฏิบัติมาก คือปฏิบัติตั้งแต่ตื่นจนหลับ ยกเว้นเวลาทำงานที่ต้องคิด นอกนั้นคือเวลาปฏิบัติ มีครั้งหนึ่งเข้าไปกราบครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่องค์หนึ่ง ท่านมีชื่อเสียงมาก พระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนเสด็จหลายรอบเลยองค์นี้ หลวงพ่อไปส่งการบ้าน เวลาจะไปส่งการบ้านกับหลวงปู่องค์นี้ พระอุปัฏฐากท่านจำหลวงพ่อได้ ท่านจะให้หลวงพ่อไปนั่งรอข้างๆ ก่อน ให้หลบอยู่ด้านหลังท่านอีกที แล้วให้โยมแต่ละกลุ่มๆ เอ้า เชิญกลุ่มนี้มากราบหลวงปู่ เอ้า เชิญออกไปได้คนนี้มา เวียนๆๆ อย่างนี้
พอโยมออกไปหมด ท่านปิดประตูเลย ปิดประตูกุฏิ แล้วหลวงพ่อก็ส่งการบ้านกับหลวงปู่ พอส่งการบ้าน หลวงปู่รับญาติโยมเยอะแยะ ท่านก็เฉยๆ ยิ้มไปยิ้มมา แต่ตอนหลวงพ่อไปส่งการบ้านกับท่าน ท่านจะกระตือรือร้นขึ้นมา จิตใจท่านแอ็คทิฟคึกคักเลย พอส่งการบ้านไปแล้วเราบอก เราหมดข้อสงสัยแล้ว ที่เราปฏิบัติมารอบนี้ ท่านบอก “อ้าว จบแล้วหรือ” รู้สึก แหม ทำไมน้อยจัง พอออกจากท่านมา ตกเย็นไปเจอพระอุปัฏฐาก พระอุปัฏฐากก็ถามบอก “โยม โยมภาวนาได้อย่างไร” ภาวนาปีหนึ่ง ปีหนึ่งจะไปหาหลวงปู่องค์นี้ทีหนึ่ง บอก “โยมภาวนาปีหนึ่ง เหมือนพระภาวนา 10 ปี 20 ปี ยังไม่ได้อย่างนี้” บอก “ผมภาวนาทั้งวัน”
ท่านก็งงๆ ภาวนาทั้งวัน ไม่ทำอะไรหรือ แต่ก็ไม่ได้อธิบายอะไรให้ท่านฟัง ก็ตอบไปตามความจริง ก็ภาวนาทั้งวัน ภาวนาทั้งวัน ก็ทำอย่างที่หลวงพ่อสอนเรานี้ล่ะ มีสติคอยอ่านจิตอ่านใจตัวเองไว้ มันก็ไม่คิดชั่ว มันก็ไม่พูดชั่ว มันก็ไม่ทำชั่ว มันก็ไม่หากินชั่วๆ เหมือนข้าราชการแล้วไปคอร์รัปชั่น หากินชั่ว แล้วก็เพียรลดละกิเลส เพียรเจริญกุศลของเราไปเรื่อยๆ ฝึกตัวเองอย่างนี้ สติมันก็แหลมคมขึ้น
การที่เราคอยรู้เท่าทันกิเลสในใจเรานั้น ก็คือการฝึกสตินั่นเอง ฉะนั้นสัมมาวายามะ เมื่อเจริญให้มาก ก็ทำให้สัมมาสติบริบูรณ์ แล้วทันทีที่สัมมาสติเกิด สัมมาสมาธิก็เกิดควบมาด้วย อัตโนมัติ ฉะนั้นสัมมาสติ เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก ก็ทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ พอเรามีสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิแล้ว การเจริญปัญญาก็จะเกิดขึ้น เราจะมีสัมมาญาณะ เกิดวิปัสสนา การทำวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้น สุดท้ายมีสัมมาวิมุตติ เกิดอริยมรรค เกิดอริยผลขึ้น
“การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ
อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง”
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้ยาก มันยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเองไป จิตเราคิดชั่ว รู้ทัน พอเรารู้ทันมันก็ไม่คิดชั่ว มันก็ไปคิดดีแทน คอยรู้ทันอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไปสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ ก็บริบูรณ์ขึ้นมา แล้วต่อไปสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติก็จะบริบูรณ์ขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องยาก “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อประโยคแรกเลย ประโยคที่สอง “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” ตั้งแต่หลวงปู่สั่ง หลวงพ่ออ่านจิตตนเองตลอดเวลา ยกเว้นเวลาทำงานที่ต้องคิด กับเวลานอนหลับ เวลาที่เหลือจะอ่านจิตตัวเอง
บางทีก็ดูหนัง ดูละคร จริงๆ ไม่ชอบดูหรอก แต่คนที่บ้านเขาดู เราก็ต้องดูด้วย จะเดินหนีไปที่ไหนได้ บ้านไม่ได้ใหญ่โต ดูหนัง ดูละคร แล้วก็ย้อนมาดูจิตดูใจของเรา มันถึงบทตลก เราขำรู้ว่าขำ ไม่ต้องแกล้งทำเป็นไม่ขำ ถึงบทนางเอกถูกรังแก แหม เกลียดนางอิจฉามากเลย หนังไทยยุคนี้ไม่รู้เป็นอย่างไร แต่หนังไทย หนังทีวี ยุคที่หลวงพ่อยังไม่บวช พล็อตเรื่องเหมือนกันทุกเรื่องเลย นางเอกโง่ทุกคนเลย โดนเขาแกล้งตลอดทุกคนเหมือนกันหมดเลย แค่เปลี่ยนชื่อเท่านั้นเอง นางอิจฉาก็ร้ายเหลือเกิน หรือผู้ร้ายก็ร้ายเหลือเกิน เหมือนกันทุกเรื่อง พระเอกก็เก่งเหลือเกิน ถ้าผู้ร้ายยิง ยิงเฉียดๆ ไม่เคยโดน ถากๆ พระเอกเหมือนกันหมด
เราก็ดูใจของเรา ดูหนังแล้วใจเรากระเพื่อมขึ้น กระเพื่อมลง จริงๆ แล้วไม่ชอบ ไม่ชอบดู รู้สึก จิตของเราธรรมดามันก็แกว่งอยู่แล้ว มาดูหนังมันทำให้มันแกว่งแรงขึ้น เรื่องอะไร ทำความสกปรกให้เกิดขึ้นในจิตเราให้มากขึ้น ฉะนั้นใจไม่อยากดูอย่างอื่นหรอก อยากดูจิตดูใจตัวเองอย่างเดียว แต่มันจำเป็นต้องดู อย่างพ่อแม่เราดู เราก็ต้องดู จะหนีไปไหน บ้านมันก็ไม่ได้ใหญ่โต ถึงหลบเข้าห้อง มันก็ยังได้ยินเสียง ใจมันก็เกลียด แต่ว่าก็ต้องดู เห็นใจแกว่งไปแกว่งมา บางทีนั่งดูละคร นั่งก็หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ลืมตาดูไป เขาหัวเราะก็หัวเราะไป ทำอย่างนั้น แต่ใจมันเฉยๆ เป็นอุเบกขา
วิธีปฏิบัติที่เรียบง่าย ลัดสั้นที่สุด
ฝึกตัวเอง ฝึกไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราจะรู้เลย พระพุทธเจ้าตัวจริงเป็นอย่างไร พระธรรมตัวจริงเป็นอย่างไร พระสงฆ์ตัวจริงเป็นอย่างไร พระสงฆ์ที่ใส่เสื้อผ้าจีวรอย่างหลวงพ่อ เรียกสมมติสงฆ์ พระสงฆ์จริงๆ นั้นก็คือ จิตที่มันลดละความชั่วได้ ก็เป็นพระสงฆ์ตัวจริงไป ถึงเราจะนุ่งกระโปรง นุ่งกางเกง นุ่งกระโปรง เราก็เป็นพระสงฆ์ได้ ถ้าใจเราลดละกิเลสได้ แต่ถ้าแต่งชุดอย่างหลวงพ่อแล้วกิเลสรุนแรง มันก็คือฆราวาส แต่สมมติว่าเป็นพระเท่านั้นเอง ฉะนั้นเราจะได้ยินข่าวพระเด่น พระดัง พระหล่อ เกิดเรื่องเสียหายมากมาย เราก็บอกพระไม่ดีๆ พวกนั้นไม่ใช่พระ พวกนั้นลูกชาวบ้านธรรมดา แค่มาแต่งเครื่องแบบพระเท่านั้นเอง
ถ้าเราภาวนา เรารู้ว่าพระจริงๆ เป็นอย่างไร แล้วเราจะไม่เกิดความสับสน เกิดความท้อถอยว่าศาสนาเสียหาย มันไม่ใช่เรื่องของศาสนาเสียหาย มันเรื่องลูกชาวบ้านที่มาแต่งชุดพระ แล้วทำความเสียหายแค่นั้นเอง ฉะนั้นเราพยายามฝึกตัวเองให้ดี ฝึกให้จิตใจเราเข้าถึงธรรมะ พอจิตใจเราเข้าถึงธรรมะ จิตของเรานั่นล่ะเป็นพระสงฆ์ ตอนที่เข้าถึงธรรมะขั้นที่ 1 เรารู้แล้วว่าพระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมมีจริง พระสงฆ์มีจริง ฉะนั้นเราจะมีศรัทธาแน่นแฟ้นขึ้นมา พระโสดาบันมีศรัทธาแน่น แฟ้นในพระรัตนตรัย ไม่ได้ศรัทธาสิ่งอื่น
ค่อยภาวนาต่อไปๆ สติปัญญาแหลมคมขึ้นเป็นลำดับๆ จะรู้ชัดแจ้งแทงตลอด ความจริงของรูปธรรมทั้งหลาย จิตหมดความยึดถือในรูปคือตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จิตปล่อยวางได้ จิตก็เข้าถึงธรรมะระดับกลางได้พระอนาคามี ขั้นสุดท้ายมันแตกหักกันลงที่จิต จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นอรหัตตมรรค รู้แล้วจิตนั่นล่ะคือตัวทุกข์ ไม่มีตัวไหนทุกข์เท่าตัวจิต มันจะเห็นอย่างนั้น ก็วาง ปล่อยวางจิตได้ พอปล่อยวางจิตได้ คราวนี้เราจะเข้าถึงธรรมะอีกชนิดหนึ่ง เราจะรู้จักการที่จิตของเรากับพระพุทธเจ้า รวมเป็นอันเดียวกันได้ เราไม่สงสัยอีกต่อไป พระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหน
แต่เดิมเชื่อแล้ว ตั้งแต่ได้โสดาบัน เราเชื่อมั่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจริง แต่ยังแยกกันเป็นส่วนๆ ตอนที่ภาวนาจนแตกหักแล้ว พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมเป็นอันเดียวกัน แล้วเวลามองลงมาที่ธาตุที่ขันธ์ มองลงมาที่โลกข้างนอก จะเห็นแต่ความว่าง เห็นแต่สุญญตา ย้อนที่จิตที่ใจ มันก็ว่าง มีแต่ว่างไม่มีอย่างอื่น ตั้งแต่จิตยันจักรวาลภายนอก ก็เสมอกันหมด เป็นความว่าง เป็นสุญญตาอันเดียวกัน แล้วมันก็สัมผัสธรรมะที่พ้นจากโลก พ้นจากสงสาร พ้นจากขันธ์ คือนิพพาน ไม่มีการส่งจิตเข้านิพพาน ถ้ายังส่งจิตเข้านิพพาน มันก็มีเอาจิตออกจากนิพพาน นิพพานอย่างนั้นมีเกิดมีดับอีก ไม่ใช่ของแท้หรอก
นิพพานไม่มีรูป ไม่มีมีนาม ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน ไม่มีพระอาทิตย์ ไม่มีพระจันทร์ ไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศธาตุ ไม่มี ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้นเราค่อยฝึกของเรา เริ่มต้นหัดรู้ทันความคิดของตัวเองไว้ ที่คิดอยู่นี้เพราะอะไร เพราะราคะ โทสะ โมหะ หรือเปล่า หัดรู้อย่างนี้บ่อยๆ แล้วผลพวงที่ตามมา ก็คือทั้งกระบวนการนี้จะตามมาเอง จนกระทั่งรู้แจ้งแทงตลอดในพระนิพพาน อาศัยจุดตั้งต้นอ่านจิตตัวเองให้ออกนั่นล่ะ จิตมันคิดชั่ว มันยังไม่ทันพูด มันคิดชั่วก่อน ยังไม่ทันทำชั่ว เพราะมันคิดชั่วก่อน พอรู้ทันตั้งแต่ต้นตอ ตรงที่มันคิดชั่วนั้น มันคิดด้วยราคะ โทสะ โมหะ รู้ทันไป รู้ทันอย่างนี้แล้วองค์มรรคทั้งหลายจะเจริญขึ้น
นี้เป็นวิธีปฏิบัติที่เรียบง่าย ลัดสั้นที่สุดแล้ว ปกติก็ไม่ค่อยมีใครเขาสอนกันหรอก เขาจะสอนรูปแบบของการปฏิบัติ ให้นั่งสมาธิอย่างนี้ เดินจงกรมอย่างนี้ ส่วนหลวงพ่อจะเน้นลงมา ที่แก่นกลางของการปฏิบัติ คือจิตของเรานั่นเอง ได้จิตก็ได้ธรรมะ ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะ ครูบาอาจารย์ตั้งแต่หลวงปู่มั่นสอนอย่างนี้ทุกองค์ ที่หลวงพ่อเข้าไปเรียนด้วย ฉะนั้นถ้าเราตัดตรงเข้าที่จิตได้เลย ก็คอยรู้เท่าทันไป จิตมันคิดอันนี้ด้วยโลภ โกรธ หลงอะไร รู้ทันไปเรื่อยๆ แล้วที่เหลือมันเจริญขึ้นเอง แล้วถ้าตัวนี้ดูไม่ได้ ก็ค่อยไปทำในเส้นทางที่อ้อมหน่อย จะนั่งหายใจเข้าพุทออกโธอะไรก็ทำไป ก็คอยรู้ทัน พอจิตรวมสงบแล้วมาพิจารณากาย ผ่านกายแล้วก็เข้ามาถึงจิต เดินเป็นสเต็ปๆ ไป อย่างนั้นก็ได้
ถ้าตัดตรงเข้าทิ่จิตไม่ได้เลย ก็ผ่านกระบวนการตัวอื่นมา ที่สอนให้วันนี้ มันเป็นกระบวนการที่ลัดสั้นสุดๆ แล้ว ตัดเข้าที่จิตเลย จิตคิดเพราะอะไร ก็รู้ทันไป ทำไม่ได้ก็ทำความสงบก่อน สงบแล้วก็มาดูกายไป จากกายเขยิบขึ้นดูเวทนา จากเวทนาเขยิบขึ้นมาดูจิตตสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว ถัดจากนั้นก็ขึ้นมาสู่ธัมมานุปัสสนา เห็นสภาวธรรม รูปธรรมนามธรรม มันทำงานไป ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา กุศล อกุศล ก็เกิดดับ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา สิ่งทั้งหลายมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ อันนั้นคือจุดสุดยอดกรรมฐาน
เราจะเห็นสิ่งนี้เกิดเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี ฉะนั้นเราเห็นสัจจะ เห็นความจริงแท้ ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นลอยๆ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ กรรมฐานมีมากมาย ถ้าตัดตรงเข้าที่จิตได้ก็เข้ามาเลย ถ้าไม่ได้ก็ไปดูเอา ถนัดดูกายก็ดูกาย ถนัดดูเวทนาก็ดูเวทนา ถนัดดูจิตที่เป็นกุศล อกุศล ก็ดูเอา หรือถนัด ถ้าลึกซึ้งลงมาเห็นกระบวนการที่จิตมันทำงาน ตรงนั้นจริงๆ คือธัมมานุปัสสนา ตรงที่เรารู้ทันจิตมันคิดอันนี้ด้วยพยาบาทวิตก ด้วยกามวิตก ด้วยวิหิงสาวิตก อันนี้มันประณีต อยู่ในระดับธัมมานุปัสสนาเลย ถ้าเข้าตรงนี้ได้ก็เข้าเลย เข้าไม่ได้ก็ไปกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนาไป
ฟังทีเดียวไม่เข้าใจหรอก หลวงพ่อฟังหลวงปู่ดูลย์ บางเรื่องใช้เวลา 7 เดือนถึงเข้าใจ บางเรื่องใช้เวลา 22 ปีถึงเข้าใจ ฉะนั้นไม่แปลกเราฟังปุ๊บเข้าใจปั๊บ มันระดับผู้มีบุญบารมีสูงแล้ว ยุคของเรายังไม่เคยเจอ ยังไม่เคยเห็น ก็ต้องอดทนฝึกตัวเองไป ก็ดีขึ้นๆ มรรคผลไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้ปฏิบัติ แต่เหลือวิสัย เป็นไปไม่ได้สำหรับคนซึ่งไม่ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติ มีสติคือมีการปฏิบัติ มีสติคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเองนั่นล่ะ มรรคผลไม่เหลือวิสัยหรอก ถ้าไม่รู้ตรงนี้ก็ยังไกลนิดหนึ่ง
ถึงหลวงพ่อบอกให้ดูจิตดูใจ แต่ทุกคนต้องจำไว้อย่างหนึ่ง ศีลต้องรักษา ทุกวันต้องทำในรูปแบบ ทำในรูปแบบ ทำในรูปแบบแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง อย่างทำแล้วจิตฟุ้งซ่านรู้ ทำแล้วจิตสงบ รู้ ทำแล้วจิตซื่อบื้อ แข็งๆ ทื่อๆ รู้ คอยรู้เท่าทันจิตตัวเอง ทำในรูปแบบแล้วรู้ทันจิตตนเอง แล้วจะเจริญเร็ว ถ้าทำในรูปแบบแล้วก็ไปเรื่อยๆ จิตติดความนิ่งความเฉย อันนั้นไม่ดี
เดือนนี้หลวงพ่อจะไม่ได้อยู่วัดหลายวัน เดี๋ยวอาทิตย์หน้าเสาร์ อาทิตย์ ก็จะต้องไปเทศน์ที่สุรินทร์ งานศพพระอุปัชฌาย์ ท่านมรณภาพมาเดือนกว่าแล้ว ทางสุรินทร์คนจัดงานเขาก็นิมนต์ ให้หลวงพ่อไปเทศน์ แต่คิวของหลวงพ่อมันยาว กว่าจะกำหนดไปเทศน์ได้เดือนกว่าๆ กว่าจะลงตัว ส่วนอาทิตย์ก่อนที่ผ่านมา เสาร์ อาทิตย์ ไม่ได้เปิด คนเราก็ไปเล่าลือกัน หลวงพ่อคงอาพาธหนักแล้ว บางคนถึงขนาด หลวงพ่อปลงอายุสังขารแล้ว แหม อยากด่า แต่ถ้าด่าเดี๋ยวมันไม่เป็นสัมมาวาจา ไม่เป็นอะไรหรอก หลวงพ่อขอพักบ้างเท่านั้นเอง เมื่อก่อนหลวงพ่อจะหลีกเร้น ช่วงแต่ละปีจะมี 2 ช่วงต้องหลบ อย่าว่าแต่หลวงพ่อเลย พระพุทธเจ้าท่านก็หลบ บางช่วงท่านก็พัก ท่านพักทีตั้ง 3 เดือนยังเคยเลย
ทำไมต้องพัก การแสดงธรรมะ ไม่ใช่นึกจะแสดงก็แสดงส่งเดชไปเมื่อไร ไม่ใช่อย่างนั้น มันใช้กำลังมาก ใช้ธาตุ ใช้ขันธ์ทำงาน ทำงานหนักเวลาแสดงธรรม คนไม่เคยแสดงธรรม ไม่รู้ นึกว่าเหมือนเล็กเชอร์ ท่องตำรามา ไม่ใช่ จิตมันใช้กำลังมาก ช่วงโควิดหลวงพ่อไม่ได้พักเลย 3 ปีมานี้ ก็เลยขอพักไปอาทิตย์หนึ่ง พวกเราก็ โอ้ คงเป็นโควิดไปแล้วหลวงพ่อ หรือปลงอายุสังขารแล้ว คิดมากไป
บางคนก็เตือนกัน เร่งภาวนาเข้านะ หลวงพ่อจะอยู่สอนได้นานเท่าไรก็ไม่รู้แล้ว รีบภาวนาเข้า เตือนคนอื่น แต่ตัวเองก็ยังไม่ได้ภาวนา ฉะนั้นไม่ได้เรื่องอันนั้น ฉะนั้นฝึกนะ ฝึกตัวเองเข้า หลวงพ่อไม่เคยหายไปไหน ตั้งแต่หลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่ออยู่กับหลวงปู่ดูลย์ทุกวัน ไม่เคยรู้สึกครูบาอาจารย์ไม่อยู่ ครูบาอาจารย์อยู่ไกลอะไรอย่างนั้น ไม่เป็น ธรรมะที่ท่านสอนเรา ก็เป็นตัวแทนท่าน ทำให้เรา ใจเราปฏิบัติ คลุกคลีอยู่กับธรรมะ มันก็เหมือนเราอยู่กับครูบาอาจารย์ เหมือนเราอยู่กับพระพุทธเจ้าตลอดเวลา ให้เรามีธรรมะเป็นที่พึ่งที่อาศัย อย่าเอาตัวบุคคลเป็นที่พึ่งที่อาศัย
วัดสวนสันติธรรม
3 มิถุนายน 2566 (ช่วงเช้า)