การรู้สึกกายรู้สึกใจ 2 ขั้น

ปฏิบัติธรรม รู้สึกตัวไว้ ไม่ใช่นั่งเพ่ง เพ่งเอาๆ ไม่ใช่ความรู้สึกตัว มันคือความโลภ อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ อยากดี ก็ไปนั่งจ้องนั่งเพ่งเอา บางทีก็ไปดัดแปลงจิตใจตัวเอง ธรรมชาติของจิตมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราก็ไปเพ่งเอาไว้ให้มันนิ่งๆ ไม่ให้มันทำงาน

หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนว่า “คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงจะรู้ แต่ก็อาศัยคิด” ไม่ใช่ห้ามความคิด เวลาที่ความคิดมันเกิด สิ่งที่ตามหลังมามักจะเป็นกุศลกับอกุศลตามมา คิดเรื่องนี้ จิตเป็นกุศล คิดเรื่องนี้ จิตเป็นอกุศล อย่างเราคิดในทางร้ายกับคนอื่น โทสะมันก็ขึ้น คิดไปในทางดี รู้สึกเป็นมิตรกับเขา มีความเมตตากับเขา ความเมตตาก็เกิดขึ้น

 

อย่าแทรกแซงจิต

เราเห็นหมาถูกรถชน ใจเราสงสาร รู้สึกเหมือนทุกข์ ช่วยได้ก็ช่วย ตัวนั้นเป็นความกรุณา มันเกิดขึ้น พอช่วยไม่ได้จริงๆ มันถูกรถทับมากแล้ว จะตายแล้ว เราก็คิดไปว่า โห แย่จังเลย ไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ ใจเศร้าหมอง เศร้าหมองเป็นโทสะ คิดไปในอีกอย่างหนึ่ง สัตว์มันก็มีกรรมของมัน จิตก็เป็นอุเบกขา ก็เป็นบุญเป็นกุศลขึ้นมา

ฉะนั้นเราอย่าไปแทรกแซงจิต จิตมีหน้าที่คิดนึกปรุงแต่ง ให้เขาคิดนึกปรุงแต่งแต่เรารู้ทันเขา เราอย่าไปปรุงแต่งจิตเสียเอง ให้รู้ทันความปรุงแต่งของจิต จิตมันปรุงของมัน ให้รู้เฉยๆ เราอย่าไปปรุงแต่งจิต ร้อยละ 100 ของนักปฏิบัติคือนักปรุงแต่งจิต จิตมันจะคิด ไม่ให้คิด จิตมันจะปรุงชั่ว ห้ามปรุงอะไรอย่างนี้ การที่เราเข้าไปแทรกแซงจิตใจตัวเองเรื่อยๆ แทนที่เราจะเห็นว่าจิตเป็นอนัตตา พอแทรกแซงเก่งๆ มันเกิดความหลงผิดว่าจิตเป็นอัตตา

อย่างคนนั่งสมาธิ ฝึกจนชำนาญ มีวสี แล้วจิตสงบลงไป บางทีโลกธาตุดับ ไม่มีโลก ร่างกายก็ไม่มี โลกก็ไม่มี ความคิดก็ไม่มี เหลือแต่ความนิ่งๆ ว่างๆ สบายอยู่อย่างนั้น พอฝึกชำนาญ มันอยู่ตรงนี้ได้นานๆ ถ้าตายไปเป็นพรหม ก็อยู่อย่างนั้นเป็นกัปๆ เลย พวกนี้ก็จะเกิดมิจฉาทิฏฐิว่าจิตนี้เป็นอัตตา เป็นสิ่งที่เราบังคับได้ ฉะนั้นการที่ไปนั่งเพ่งให้จิตนิ่งสงบเงียบๆ นานๆ ต้องระมัดระวัง บางทีเกิดมิจฉาทิฏฐิขึ้นได้มากมาย

บางคนทำสมาธิได้ถึงฌานที่สี่ เป็นอุเบกขาแล้ว แล้วจิตดับลงไป ไม่รู้สึก เหลือแต่ร่างกาย นั่งตัวแข็งๆ อยู่ ไม่มีจิต อันนี้จิตมันเข้าฌานที่สี่ แล้วก็มันดับความรู้สึกลงไป เป็นพรหมลูกฟัก ในขณะนั้นมีแต่ร่างกาย ไม่มีจิต ด้วยอำนาจของกรรมทำให้จิตนั้นหายไปด้วยการเพ่งเอาไว้ พอจิตถอยออกมาจากพรหมลูกฟัก กลับมามีอะไรต่ออะไรขึ้นมา มีกาย มีความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา พวกนี้มันจะมีมิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้น มีความเห็นผิดเกิดขึ้น สิ่งทั้งหลายไม่มีเหตุหรอก อยู่ๆ มันก็ผุดขึ้นมาเอง อย่างร่างกายเราทีแรกไม่มี พอจิตเกิดขึ้นมา เกิดมีร่างกายขึ้นมา

ฉะนั้นการที่เราเข้าไปแทรกแซงจิตไม่ใช่เรื่องดีหรอก บางทีก็เข้าฌานได้ชำนิชำนาญ จนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือเลย ว่างหมดเลย แล้วพอเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา มันรู้สึกตัวเองก่อน แล้วความรู้สึกนี้แผ่ออกไป มันก็เห็นว่ามีโลก มีจักรวาล มันก็เลยเกิดมิจฉาทิฏฐิว่าตัวเองเป็นสยมภู เป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้นการฝึกจิตใจของเรา เรื่องสมาธิเรื่องสำคัญ ถ้าฝึกผิดแทนที่จะพ้นทุกข์ อาจจะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ

เคยได้ยินเรื่องพกาพรหมไหม พกาพรหม ที่มีรูปพระพุทธเจ้าเหนือพรหมอะไรนี่ อยู่ในบทพาหุงฯ มี พระพุทธเจ้าโปรดพกาพรหม พกาพรหมมีอหังการ คิดว่าตัวเองเกิดก่อนทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เกิดจากอำนาจของฌานนี่ล่ะ ก็เลยคิดว่าตัวเองนี่ใหญ่ที่สุด สูงสุด ประเสริฐที่สุด รู้มากที่สุด ทุกคนด้อยกว่า พระพุทธเจ้าท่านก็ไปทรมานพกาพรหมให้ละมิจฉาทิฏฐิได้

วิธีทรมานของท่าน เล่นซ่อนหากัน พระพุทธเจ้าท่านบอกให้พรหมไปซ่อนก่อนแล้วท่านจะหา แกไปซ่อนที่ไหน พระพุทธเจ้ารู้หมดเลย ถึงเวลาที่พระพุทธเจ้าซ่อน ไม่ได้ไปซ่อนไกล ซ่อนอยู่บนหัวพรหม พรหมทำไมไม่เห็นพระพุทธเจ้า เพราะเวลามอง มองนี่ๆๆ ไม่เคยมองตัวเอง ก็เลยไม่เห็นพระพุทธเจ้า อันนี้มันเป็นนิทาน แต่ว่ามันซ่อนธรรมะที่ลึกซึ้งไว้ ถ้าเราต้องการเห็นพระพุทธเจ้า ให้ดูที่ตัวเอง อย่าไปดูที่อื่น ย้อนมาดูอยู่ที่ตัวเองนี้แล้วเราจะพบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือตัวพุทธะ คือตัวจิตที่บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสนั่นเอง

เพราะฉะนั้นเวลาเราจะทำการปฏิบัติ เราจะปฏิบัติธรรม ไม่ใช่นั่งบังคับตัวเองให้เคร่งเครียด แต่รู้สึกตัวเองไว้ ร่างกายหายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึกไว้ ตรงรู้สึก มันเป็นคำพูดที่หลวงพ่อเลือกมาใช้ ถ้าบอกให้เพ่งกายเพ่งจิต ไม่ใช่รู้สึกหรอก การที่เรารู้สึกกาย รู้สึกจิต มันมี 2 สเต็ป อันหนึ่งรู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ ขณะนี้พวกเรามีร่างกาย รู้สึกไหม แต่เวลาเราใจลอย เราไม่รู้ มีร่างกายเราก็ไม่รู้ อันนั้นเรียกไม่รู้สึก

 

ขั้นแรก รู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจตัวเอง
ถัดจากนั้น ก็รู้ให้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ
ตรงนี้เราจะเห็นไตรลักษณ์ได้

 

ฉะนั้นอยากให้รู้สึกตัว ขั้นแรก รู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจตัวเอง ร่างกายมีอยู่ รู้สึก ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายมีอยู่ รู้สึก ถัดจากนั้นก็รู้ให้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ทีแรกเรารู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ ลึกลงอีกชั้นหนึ่ง รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ตรงนี้เราจะเห็นไตรลักษณ์ได้ ตรงที่เรารู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ รู้สึกอยู่เฉยๆ อันนั้นเป็นสมถะ เพ่งอยู่เฉยๆ รู้สึกร่างกายมีอยู่ ใจไม่หนีไปที่อื่น แต่เป็นการเพ่งแบบดีหน่อย ไม่ใช่เพ่งแบบหัวปักหัวปำ ทุ่มลงไป ดูท้องพองยุบ จิตไหลไปอยู่ที่ท้อง นี่เพ่งแบบตกบ่อตกน้ำไปแล้ว เราแค่รู้สึก เราไม่ไปเพ่ง รู้สึก

ขณะนี้รู้สึกได้ไหม ร่างกายมีอยู่ ร่างกายนั่งอยู่ รู้สึกไหม ต่อไปเราก็เห็นความเปลี่ยนแปลง รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของมัน ร่างกายนั่ง ไม่ได้นั่งเฉยๆ เดี๋ยวก็นั่งหายใจออก เดี๋ยวก็นั่งหายใจเข้า หายใจออกก็รู้สึก หายใจเข้าก็รู้สึก หัดรู้สึกบ้าง สติเป็นตัวรู้สึก เป็นตัวรู้ว่ามีอะไรปรากฏอยู่ รู้ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง มีรูปคือร่างกายอยู่ พอร่างกายเคลื่อนไหวก็รู้อีก รู้สึกถึงร่างกายกำลังเคลื่อนไหว นี่ล่ะเรียกว่าเรามีสติ

สติ หลวงพ่อไม่อยากไปแปลว่าความระลึกได้ ภาษามันมีปัญหา ระลึกได้กลายไปนั่งนึกเอา ระลึก ลืมไปแล้ว ระลึกได้อะไรอย่างนี้ อันนั้นมันสัญญา ความจำได้ขึ้นมา แค่รู้สึกๆ ไว้ รู้สึกไหมร่างกายมีอยู่ พยักหน้า รู้สึกไหมร่างกายเคลื่อนไหว ยากไหม ไม่เห็นยากตรงไหนเลย ของง่ายๆ เราไปทำเสียยุ่งยากไปหมดเลย

การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมดา เราไปทำเสียลึกลับซับซ้อนจนกระทั่งเราจับหลักไม่ได้เสียที อย่างไปนั่งภาวนา พุทโธๆ ไป ให้จิตนิ่งๆ ว่างๆ อย่างนี้ ตั้งนาน ฝึกไปจนกระทั่งจิตนิ่งๆ ได้สมาธินิ่งๆ สงบ พอสงบต้องมานั่งแก้ จิตไม่ยอมเดินปัญญา จิตไปนิ่งเฉย ซื่อบื้ออยู่อย่างนั้น ก็ต้องมานั่งแก้ ครูบาอาจารย์ต้องมาสอนพิจารณากายไว้ให้จิตมันทำงานบ้าง ไม่ใช่ให้มันสงบนิ่งเฉย

หลวงปู่มั่นบอกว่า “ทำความสงบมากเนิ่นช้า คิดพิจารณามากฟุ้งซ่าน” ทีนี้เราจะพิจารณา เราจะตามรู้ตามเห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เห็นไตรลักษณ์ได้ก็ต้องมีสมาธิหนุนหลัง ถ้าเดินปัญญารวดไปเลย จิตฟุ้งซ่าน จิตฟุ้งซ่านเป็นอกุศล ไม่มีหรอก ศีล สมาธิ ปัญญาอะไร มันฟุ้งซ่านไปแล้ว เป็นอกุศล ไม่มีสติตัวเดียว ศีล สมาธิ ปัญญาก็หายหมด

เพราะฉะนั้นทำสมาธิมากก็เนิ่นช้า เนิ่นช้าเป็นกัปๆ เลย อย่างจิตเราติดว่าง หลวงพ่อเคยติด เคยติดว่าง ตอนนั้นภาวนาแล้วรู้สึกครูบาอาจารย์บอกให้เดินทางสายกลาง แค่ไหนกลาง คิดมากแล้ว แค่ไหนกลาง หลวงพ่อเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันมีสิ่งที่เป็นคู่กัน คือจิตกับอารมณ์ อย่างไมโครโฟนนี่ ไมโครโฟนจะปรากฏขึ้นมาได้ ก็มีจิตเป็นคนไปรู้เข้า มีจิตก็ต้องมีอารมณ์ มีอารมณ์ก็ต้องมีจิต เอ๊ะ ทำให้อยู่กลางๆ ไม่จับทั้งจิต ไม่จับทั้งอารมณ์หรือเปล่า ก็กำหนดจิตลงไป ไม่จับทั้งจิต ไม่จับทั้งอารมณ์ รวมว่างลงไป ต่อไปเรื่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ ไม่ใช่ อันนี้เป็นสมาธิชนิดหนึ่ง

 

หัดปฏิบัติด้วยใจที่มีสติจริงๆ

อีกคราวหนึ่ง หลวงพ่อได้ยินหลวงปู่ดูลย์บอกอย่าส่งจิตออกนอก หลวงพ่อเลยส่งจิตเข้าข้างใน เห็นกิเลสมันผุดขึ้นมาจากกลางอก เราก็ดูต้นตอของมันมาจากไหน ต้นตอมันต้องอยู่ข้างในนี้ เพราะฉะนั้นเวลากิเลสผุดขึ้นมา ถ้าสติเราระลึกอย่างเข้มแข็ง มันจะขาดสะบั้นทันที มันดับ นี่หลวงพ่อแบบเลี้ยงๆ ถ้าชกมวย คล้ายๆ ชกเลี้ยงๆ ไว้ไม่ให้มันน็อค พอมันผุดขึ้นมา เราก็ดูเบาๆ มันก็หดลงไป เข้าไปข้างใน

พอเข้าไปข้างในเราอยากตามดู ตามดูมันไปเรื่อยๆ ว่าต้นตอของกิเลสมันเกิดตรงไหน ปรากฏว่าพอมันเข้าข้างในแล้วมันสลายตัวหายไป พอมันหายไป หลวงพ่อขึ้นมาใหม่ เดี๋ยวพอกิเลสผุดอีก ดูอีก มันก็ตามลงไป แล้วหาอย่างไรก็ไม่เจอ ตอนที่ตามมันไปลึกๆๆ ลงไป แล้วใจก็คิด ถ้าตามไปถึงเมืองบาดาลก็จะไป ไม่กลัวหรอก เจอพญานาคก็ไม่กลัว จะตามดูให้ได้เลย ว่าต้นตอของมันอยู่ที่ไหน

หลวงปู่ดูลย์บอกอย่าออกนอก เราก็หลงผิดเข้าข้างใน ไปเจอหลวงปู่สิม หลวงปู่สิมท่านมีเจโตปริยญาณที่แข็งแรงมากเลย อย่างหลวงปู่ดูลย์จะเก่งเรื่องอนาคตังสญาณชัดเจน อะไรจะเกิด อดีตเป็นอย่างไร อนาคตเป็นอย่างไร ท่านจะรู้ ส่วนหลวงปู่สิม เจโตปริยญาณแข็งแรงมากเลย เห็นหน้าหลวงพ่อไม่ทันพูดอะไรกับท่านสักคำ ท่านกวักมือเรียก “ผู้รู้ๆ ” ท่านเรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ ท่านไม่รู้จักชื่อ เรียกหลวงพ่อว่าผู้รู้ “ผู้รู้ๆ ออกมาอยู่ข้างนอกนี่ กิเลสไม่ได้อยู่ข้างใน” ท่านรู้ว่าเราเข้าไปหากิเลสข้างใน

คราวนี้นึกแล้ว ออกนอกก็ไม่ถูก เข้าข้างในก็ไม่ถูก อยู่กลางๆ กำหนดจิตไว้กลางๆ มันก็ไม่ถูกอีก กำหนดจิตไว้กลางๆ ก็คือจงใจทำ เมื่อไรจงใจ เมื่อนั้นไม่ใช่วิปัสสนาหรอก มันมีโลภเจตนาเจืออยู่ พอมีโลภเจตนาซ่อนเร้นอยู่ แล้วขณะที่เราปฏิบัติไปด้วยอำนาจของโลภเจตนา กำลังของโลภะยังดำรงอยู่ เพราะฉะนั้นตัวโลภเจตนาเป็นเจตนาทางใจ มันเป็นตัวให้จิตทำงานก็จริง มันเป็นตัวทำให้จิตทำงาน แต่ระหว่างที่จิตทำงานนั้น ตัวมันยังอยู่ด้วย โลภะนี้ยังอยู่ด้วย

เพราะฉะนั้นอย่างที่เรามีใจโลภ เราก็ลงมือปฏิบัติ กำหนดจิตลงไปแล้วก็เพ่งไว้อย่างนี้ ทำไมเราต้องเพ่ง เราอยากเห็นให้ชัดๆ เรากลัวจะขาดสติ อันนี้ทั้งราคะทั้งโทสะหมุนอุตลุดเลย อย่างใจฟุ้งซ่านไม่ชอบอย่างนี้ อันนี้โทสะ อยากให้สงบ อยากให้ดี นี่โลภะ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ แล้วลงมือปฏิบัติด้วยอำนาจของกิเลส ตลอดสายของการปฏิบัตินั้น กิเลสยังอยู่ เรียกว่ากิเลสเป็นสหชาตปัจจัยของกรรม สหชาตปัจจัยคือมันเกิดร่วมกัน อยู่ด้วยกัน

เพราะฉะนั้นอย่างเราเดินจงกรม เราเดินจงกรมหรือเรานั่งสมาธิ เราก็คิดแต่ว่าเราจะต้องไม่ขาดสติเลย ต้องไม่เผลอเลย จิตต้องสงบอย่างนี้ พอนั่งสมาธิ ต้องให้สงบ มันมีความโลภเกิดขึ้นแล้ว ตลอดเวลาที่นั่ง ความโลภยังอยู่ สติจะไม่เกิดเลย สติไม่เกิดร่วมกับกิเลสหรอก หรือเวลาที่เราเดินจงกรม เราอยากได้มรรคผล เดินหามรุ่งหามค่ำ เราเคยได้ยินว่าบางคนเขาเดินจงกรมแล้วดี อย่างเขาเดินแล้วดี เราเอาบ้างดีกว่า เดินบ้าง เดินไปแล้วก็เมื่อไรจะได้ๆ อย่างนี้ นี่ใจมันโลภ ตลอดสายที่เดิน เหนื่อยเปล่า เพราะอะไร เรากำลังเดินสนองกิเลสอยู่ นั่งสมาธิก็นั่งสนองกิเลสอยู่

เพราะฉะนั้นต้องหัดปฏิบัติด้วยใจที่มันมีสติจริงๆ มีสติคือรู้เนื้อรู้ตัวไว้ รู้ตัวบอกแล้ว 2 สเต็ป ขั้นแรกเลย รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ ต่อไปก็รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของร่างกาย รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตใจ หัดรู้อย่างนี้เรื่อยๆ มันก็จะไปเข้าหลักของสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าสอน “ดูกร พระภิกษุทั้งหลาย ให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว”

ท่านไม่ได้สอนให้เพ่งลมหายใจ หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว ไม่ได้ให้เพ่ง หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว ใครเป็นคนหายใจออกยาว ใครเป็นคนหายใจเข้ายาว ร่างกายหายใจออกยาว ร่างกายหายใจเข้ายาว ฉะนั้นเรารู้สึกตัวธรรมดานี่เอง เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า อันนี้เรามีสติรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

หรือท่านสอนให้เรายืนอยู่ก็รู้ชัดว่ายืนอยู่ นั่งอยู่ก็รู้ชัดว่านั่งอยู่ เดินอยู่ก็รู้ชัดว่าเดินอยู่ นอนอยู่ก็รู้ชัดว่านอนอยู่ ไม่ได้ให้ทำอะไรมากมายเลย ให้รู้เท่านั้นล่ะ ขณะนี้นั่งอยู่รู้ไหม ถ้าใจลอยจะรู้ได้ไหม ถ้าใจลอย รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นสติกับใจลอยสุดขั้วกันเลย ใจลอยเมื่อไรคือหลง ขาดสติ ไม่มีความรู้เนื้อรู้ตัวเหลืออยู่แล้ว ฉะนั้นพยายามหัดรู้สึกตัวเอง รู้สึกเรื่อยๆ

 

จิตจะไปคิด เราห้ามไม่ได้
ให้มีเครื่องรู้ของจิต ให้มีเครื่องระลึกของสติ

วิธีที่จะรู้สึก บอกแล้วว่าเราห้ามจิตใจไม่ได้ เราบังคับจิตไม่ได้ จิตจะไปคิด เราห้ามไม่ได้ ในเมื่อเราห้ามไม่ได้ เราก็อย่าไปห้ามมัน แต่เราทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง ในตำราเรียกว่าให้เรามีวิหารธรรม วิหารธรรมคือเครื่องอยู่ของจิต หลวงพ่อพุธท่านสอนอยู่ทุกค รั้งที่เจอหน้าเลย ท่านบอกว่า “ให้มีเครื่องรู้ของจิต ให้มีเครื่องระลึกของสติ”

เอาอะไรเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ ท่านบอกก็เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด ร่างกายมันยืน มันเดิน มันนั่ง มันนอน มันกิน มันดื่ม มันทำ มันพูด ก็คอยรู้สึกไว้ รู้สึกถึงร่างกายที่มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง หรือว่าจิตมันคิด พอมันคิด มันก็เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่วขึ้นมาอะไรอย่างนี้ เราก็รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของใจ อย่างใจเรา เวลาเราคิดดี ใจเราก็เย็นสบาย พอเราคิดไม่ดี ใจเราก็ร้อนขึ้นมา มีกิเลสขึ้นมา

ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งของหลวงพ่อ องค์นี้ท่านก็อภิญญาเยอะ ฤทธิ์เยอะเลย หลวงพ่อเกษม หลวงพ่อเกษม เขมโก อยู่ที่ลำปาง ตอนนั้นไม่เคยเจอท่าน ได้ยินแต่กิตติศักดิ์ พอมีโอกาสไปสัมมนาที่ลำปาง ตกค่ำชวนเพื่อนๆ ไป ไปหาท่านที่สุสานไตรลักษณ์ ไปถึงมันมืดแล้ว แล้วไฟอะไรไม่ค่อยมี มืดๆ แล้วที่สำคัญคนเต็มวัด คนเต็มสำนัก เต็มสุสานเลย ผู้คนแน่นเอี๊ยดเลย วันนั้นเป็นวันพระๆ

หลวงพ่อไปแล้วเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไปถึงเราก็เด๋อด๋าๆ ไปนั่ง พอนั่งปุ๊บ สักพักหนึ่งลูกศิษย์ท่านก็มาบอก บอกวันนี้เป็นวันพระ หลวงพ่อตั้งสัจจะไว้ วันพระไม่รับแขก หลวงพ่อก็ครับ ท่านไม่รับก็ไม่รับ เลยบอกเขา เดี๋ยวผมขอนั่งพักก่อน เดี๋ยวหายเหนื่อยแล้วกลับ พอนั่งพักเราก็นึกถึงท่านๆ นึกไปนึกมา

สักพักใหญ่ๆ ลูกศิษย์ท่านก็มาหาอีก มาถามว่าเป็นใครมาจากไหนอะไรอย่างนี้ มาถามแล้วก็สงสัย อยู่ๆ ก็เดินมาถามเรา ก็บอกว่ามาราชการ มาประชุม บอกว่าหลวงพ่อให้เข้าไปหาท่าน ให้ไปที่กุฏิ ให้ไปคนเดียว คนอยู่ตรงนั้นหลายร้อย ไม่เอา เจาะจงให้มาเรียกหลวงพ่อไป แต่เขาก็บอกว่าท่านมีสัจจะ ท่านจะไม่รับแขก เพราะฉะนั้นท่านจะไม่ออกจากห้องท่าน ให้หลวงพ่อนั่งที่ระเบียง ระเบียงท่านก็เล็กนิดเดียว กุฏิท่านเล็กนิดเดียวล่ะ แล้วบอกท่านจะเปิดประตู อย่าเข้าไปในห้องท่าน แล้วท่านก็จะไม่ออกจากห้อง ถือว่าไม่ได้รับแขก ดูความเมตตากรุณาของท่าน

พอไปถึง ท่านก็เปิดประตู แล้วท่านก็เทศน์ให้ฟังเลย “ก. เอ๋ย ก. ไก่ ข. ไข่ อยู่ในเล้า ฃ. ฃวดของเรา ค. ควายเข้านา” ฟังแล้วตกใจ ตายแล้ว ก็บอกท่านในใจ หลวงพ่อ หลวงพ่อเทศน์แบบนี้ ให้ผมฟังไม่เป็นไร แต่อย่าไปเทศน์ให้คนต่างชาติต่างศาสนาฟัง เขาจะดูถูกพระพุทธศาสนา สอนท่านเสียอีก ท่านก็ยิ้มไปยิ้มมา ท่านก็ ก. ไก่ถึง ฮ. นกฮูกอะไรของท่านไป ท่องกลอนบทนั้นบทนี้ จนใจของหลวงพ่อร้อนไปหมดเลย โอ๊ย กลุ้มใจ ท่านสอนอะไร ไม่เห็นเกี่ยวกับกรรมฐานเลย

พอท่านซัดเราจนจิตใจเราเละหมดแล้ว ท่านพูดตบท้าย “คิดดีก็ใจเย็น คิดไม่เป็นจะเย็นสบาย” โอ้โห ธรรมะอยู่ตรงนี้ต่างหาก ท่านหลอกล่อเราเสียปั่นป่วนไปหมดเลย แล้วก็เห็นเราคิดไม่ดี เราคิดวิตก เราคิดกังวล คิดอย่างโน้นอย่างนี้ใจไม่มีความสุขเลย ถ้าเราคิดทางดี ใจก็ร่มเย็นเป็นสุข คิดดีก็ใจเย็น ถ้าคิดดี ใจจะเป็นบุญเป็นกุศล คิดไม่เป็นจะเย็นสบาย ประโยคนี้คือหมัดเด็ดที่ท่านสอน

คิดไม่เป็น ไม่ใช่ไม่คิด พวกเราคิดเป็นไหม พวกเราคิดเป็น คิดทีไรเป็นกูทุกทีเลย ถ้าคิดไม่เป็น คือคิดแล้วไม่เป็นกู นั่นล่ะเรียกคิดไม่เป็น จะเย็นสบาย เย็นสบายตัวนี้คือความดับสนิท คือพระนิพพาน ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู นี่ดูวิธีลีลาการสอนของท่าน ฉะนั้นพวกเรา ความคิดห้ามไม่ได้ ความคิดห้ามไม่ได้ แต่พอมันคิดอย่างนี้เกิดขึ้น ความสุขเกิดขึ้นในใจเรา ให้รู้ทัน มีสติรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิต

เมื่อกี้จิตเฉยๆ พอคิดเรื่องนี้แล้วมีความสุข เมื่อกี้จิตเฉยๆ คิดเรื่องนี้แล้วมีความทุกข์ เมื่อกี้จิตเฉยๆ คิดเรื่องนี้แล้วโลภ เมื่อกี้จิตเฉยๆ คิดเรื่องนี้แล้วโกรธอย่างนี้ เมื่อกี้จิตรู้เนื้อรู้ตัวอยู่เฉยๆ อ้าว เผลอแวบเดียว ขาดสติไปแล้ว ลืมเนื้อลืมตัว หลงไปแล้ว เฝ้าดูไปอย่างนี้ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของมัน เราไม่ได้ไปห้ามความเปลี่ยนแปลง แต่เรารู้ทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อันนั้นเรียกว่าเราเจริญสติอยู่ แล้วตรงที่เราเห็นความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ต่อไปปัญญามันจะเกิด ถ้าจิตเรามีสติที่ถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องจะเกิดอัตโนมัติ

อย่างเวลาเราใจลอย ใจลอยคือใจหนีไปคิด ทันทีที่สติระลึกได้ว่าตอนนี้หลงคิด จิตที่หลงคิดจะดับ จิตรู้จะเกิด จิตที่รู้นั่นล่ะคือจิตที่ตั้งมั่น คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้อง พอจิตมันตั้งมั่นแล้วต่อไป จิตมันไปทำงานอะไร มันคล้ายๆ เราคลีนใจของเราจนมันผ่องใสดีแล้ว ต่อไปอะไรแทรกเข้ามานิดเดียวมันจะเห็น ความโลภแทรกเข้ามา ความโกรธ ความหลงอะไรแทรกเข้ามา มันจะเห็นว่าแต่เดิมจิตใจว่างๆ ไม่มีอะไร เดี๋ยวก็โลภมา มาแล้วก็ไป โกรธมา โกรธก็ไป หลงมา หลงก็ไป

หัดรู้หัดดูไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายจะสุขหรือทุกข์ จะดีหรือชั่ว จิตเราจะสุข จิตจะทุกข์ จิตจะดี หรือจิตจะชั่ว ห้ามไม่ได้ เลือกไม่ได้ มันเป็นแค่ปรากฏการณ์ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายไหลผ่านมา แล้วจิตก็ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วขึ้นมา แล้วพอมันปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วขึ้นมาแล้ว เราไม่มีสติรู้ทันความปรุงแต่ง จิตเราก็ถูกความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่วครอบงำ

 

“ตรงที่ว่าเราต้องทำสมาธิก่อน เพื่ออะไร เพื่อเคลียร์จิตของเราให้มันไม่มีสิ่งเจือปนเสียก่อน
แล้วถัดจากนั้นอะไรเจือปนเล็กๆ น้อยๆ เข้ามามันก็จะเห็น”

 

อย่างความโกรธครอบงำจิต จะเกิดอะไรขึ้น จิตก็ทำผิดศีล เช่น ไปต่อยเขา ไปด่าเขา ไปตบเขา ไปทำลายทรัพย์สินของเขา นี่มันเป็นกระบวนการ แต่ถ้าเรามีสติ เราเห็นเลย จิตเมื่อกี้ไม่มีกิเลส จิตตรงนี้มีโทสะขึ้นมา เราจะเห็นความต่าง เพราะฉะนั้นตรงที่ว่าเราต้องทำสมาธิก่อน เพื่ออะไร เพื่อเคลียร์จิตของเราให้มันไม่มีสิ่งเจือปนเสียก่อน แล้วถัดจากนั้นอะไรเจือปนเล็กๆ น้อยๆ เข้ามามันก็จะเห็น

วิธีที่จะไม่มีสิ่งเจือปนคืออย่าไปปรุงแต่งมัน สิ่งที่เจือปนนั้น มันปรุงขึ้นมา บางทีมันกระทบมาจากตา หู จมูก ลิ้น กายกระทบอารมณ์มาจากข้างนอก แล้วจิตมันก็ปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่วขึ้นมา พอสุข ทุกข์ ดี ชั่วปรุงขึ้นมาแล้ว ถ้าเรามีสติรู้ทัน จบตรงนั้นเลย ถ้ารู้ไม่ทันมันจะครอบงำจิต มันจะเกิดตัณหา มันจะบงการให้เราทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้

อย่างเราเห็นผู้หญิงสวย ราคะมันเกิด มันชอบ ราคะเกิดแล้วเราไม่รู้ทัน ราคะก็บงการจิตของเราให้เดินตามจีบเขา ให้ไปขอไลน์เขา ขอเบอร์เขา ขอแลกเฟซบุ๊ค แลกไลน์อะไรนี่ เห็นไหมเกิดพฤติกรรมแล้ว เกิดทางกาย ทางวาจา แล้วทางวาจามักจะโกหก มีเมียแล้วก็บอกไม่มี มีแฟนแล้วก็ยังไม่มี มีผัวแล้วก็ยังไม่มี เพราะอะไร เพราะกิเลสมันครอบงำจิต

เพราะฉะนั้นเราหัดรู้ความเปลี่ยนแปลง รู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจ มันหมดทั้ง 2 อัน ทั้งกายทั้งใจ ขั้นแรกเรารู้ถึงความมีอยู่ของร่างกาย อย่างร่างกายเรามีอยู่ รู้สึก ต่อไปก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ร่างกายนี้เดี๋ยวหายใจออก เดี๋ยวหายใจเข้า เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ ในร่างกายมีสุขมีทุกข์ เห็นความเปลี่ยนแปลงของมัน แล้วปัญญาจะเกิด มันจะเห็นเลยว่าร่างกายมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

เวลาเรามีสติ รู้สึกจิตใจ ทีแรกก็รู้ถึงความมีอยู่ของจิตใจ ต่อไปมีอะไรแปลกปลอม ปรุงแต่งขึ้นมา ก็รู้ทัน มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ก็มีสติรู้ทัน แล้วปัญญามันจะเกิด ต่อไปมันจะรู้ว่ากายนี้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตใจเราก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์

 

ทางสายกลางทำขึ้นมาไม่ได้
วิธีที่จะได้ทางสายกลางคือรู้สึกไว้

ฉะนั้นถ้าเราไม่มีความรู้สึกตัว ไม่รู้สึกกาย ไม่รู้สึกใจ ไม่มีวันที่จะบรรลุมรรคผลเลย ไปนั่งสมาธิให้ตาย ก็ตายอยู่อย่างนั้นล่ะ ไปเดินจงกรมให้แข้งขาหัก ก็ขาหักอยู่อย่างนั้นล่ะ ถ้าไม่มีความรู้สึกตัว นั่งสมาธิอยู่ มันก็เป็นมิจฉาสมาธิ เดินจงกรมมันก็เป็นการปฏิบัติที่เป็นมิจฉา เดินแล้วเกิดอะไรขึ้น เดินแล้วบังคับตัวเอง จะต้องเดินเท่านั้นชั่วโมงเท่านี้ชั่วโมง แล้วในขณะที่เดินจิตใจไม่เคยรู้เนื้อรู้ตัวเลย ร่างกายเคลื่อนไหวก็ไม่รู้ จิตใจเคลื่อนไหวก็ไม่รู้ มีแต่ข่มใจ ข่มไว้ๆ จะต้องเดินให้ครบตามกำหนด จิตไม่มีความสุข

ตรงนั้นล่ะ เคยได้ยินไหมคำนี้ อัตตกิลมถานุโยค เดินจงกรมชั่วโมงหนึ่ง ไม่มีสติ นั่นคืออัตตกิลมถานุโยค เดินจงกรม 5 นาทีไม่มีสติ นั่นคืออัตตกิลมถานุโยค แล้วถ้าเดินจงกรมแล้วใจลอย นี่กามสุขัลลิกานุโยค นั่งสมาธิอยู่แล้วไม่มีสติ แล้วทนนั่งไปเรื่อยๆ ปวดอย่างไรก็นั่ง อันนั้นคืออัตตกิลมถานุโยค นั่งสมาธิแล้วก็ใจลอยเพลินๆ ไป นั่นกามสุขัลลิกานุโยค มันสุดโต่งไป 2 ฝั่ง มันไม่ใช่ทางสายกลางเลย

เพราะฉะนั้น ถ้าเราฝึกสติของเราให้ดี รู้สึกไปทุกก้าวที่เราเดิน เรารู้สึก ร่างกายมันเคลื่อนไหว ร่างกายมันเดิน รู้สึก นั่นล่ะเราเดินอยู่ในทางสายกลางแล้ว แต่ถ้าเราไม่รู้สึก เราก็เดินไปตะบี้ตะบันเดิน นั่นทรมานตัวเอง สุดโต่งไปข้างบังคับตัวเอง ถ้าเดินแล้วใจลอย สุดโต่งไปข้างหลง ตามใจกิเลส เรียก กามสุขัลลิกานุโยค ฉะนั้นเราจะต้องเดินเข้าสู่ทางสายกลางให้ได้

ทางสายกลางทำขึ้นมาไม่ได้ วิธีที่จะได้ทางสายกลางคือรู้สึกไว้ รู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ตรงที่เรารู้สึกโดยไม่ได้ไปบังคับมัน รู้สึกโดยไม่หลงเพลินละเลยมัน นั่นล่ะคือทางสายกลาง ฉะนั้นความรู้สึกตัวเป็นจุดสำคัญมาก

พระพุทธเจ้าท่านเคยแสดงไว้อยู่ในพระไตรปิฎก อังคุตตรนิกาย หลวงพ่อจำไม่ได้แล้ว อ่านมานานมากแล้ว หลายสิบปีแล้ว ท่านบอกท่านไม่เห็นธรรมะอันใดจะสำคัญเท่าความรู้สึกตัวในการที่เราจะฝึกตัวเองจนพ้นจากอาสวกิเลสได้ ไม่มีอะไรสำคัญเท่าความรู้สึกตัว ส่วนใหญ่ไม่เคยมีใครพูดถึงความรู้สึกตัว มีแต่ว่าพอไปเรียนกรรมฐาน ให้นั่งไป หายใจไป พุทโธไป ไม่พูดเรื่องความรู้สึกตัว เดินจงกรมไป ไม่พูดเรื่องความรู้สึกตัว

มีพระมาเล่าให้หลวงพ่อฟัง องค์นี้ท่านตั้งใจปฏิบัติดี มีลูกมีเมีย ลาออกจากครอบครัวมา มาปฏิบัติอยู่กับครูบาอาจารย์ ผู้ใหญ่ทางอีสาน บอกว่าพรรษาแรก ท่านบอกให้พุทโธไว้ องค์นี้ครูบาอาจารย์สั่งให้พุทโธ พุทโธจริงๆ ไม่เคยเลิกเลย พุทโธๆ พุทโธๆ ตลอดเลย ผ่านไป 1 ปี ตอนเช้าไปบิณฑบาตเดินสวนกับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ตะโกนบอก เรียกชื่อท่าน บอกรู้สึกตัวไว้ ทำไมต้องมาบอกให้รู้สึกตัว ที่พุทโธไม่ใช่รู้สึกตัว พุทโธมุ่งไปให้จิตสงบนิ่งๆ เฉยๆ ผ่านมาตั้งปีหนึ่ง แล้วท่านบอกให้รู้สึก หลวงพ่อย่นเวลาให้พวกเราปีหนึ่งแล้ว รู้สึกตัวไว้

ยากไปไหม วันนี้รู้สึกเทศน์ง่าย เอาใจตลาด หลังๆ คนบอกว่าหลวงพ่อเทศน์ยากขึ้นๆ เทศน์ถึงมหาสุญญตาถึงอะไร บอกก็ต้องมีเหมือนกันล่ะ เทศน์ทิ้งไว้ให้ฟัง วันหนึ่งข้างหน้าก็จะรู้เรื่อง วันนี้ยังไม่รู้เรื่อง ไม่เป็นไร แต่ก่อนจะไปเห็นมหาสุญญตา วันนี้ต้องรู้สึกตัว รู้สึกไหม ตัวอะไรมันพยักหน้า ตัวนี้มันบอกไหมว่าเป็นหน้า มันไม่บอก ตัวนี้มันส่ายหัวด็อกแด็กๆ เวลาเราคุยกับใคร เราเห็นด้วยกับเขา พยักหน้า เราไม่รู้ว่าร่างกายเคลื่อนไหว พยักหน้าไปอย่างนั้นล่ะ เราคอยรู้สึกที่ร่างกาย คอยรู้สึกที่จิตใจของตัวเองไว้

การรู้สึกกายรู้สึกใจเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญของการปฏิบัติธรรม มรรคผล นิพพานอะไรก็ตามหลังอันนี้มา พอเรารู้สึกกายรู้สึกใจได้ รู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ตรงที่เรารู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ จิตไม่หลงไปที่อื่น ไม่วอกแวก นั่นคือสมถกรรมฐาน สมถกรรมฐานก็ต้องมีสติ ถ้าไม่มีสติก็ไปเป็นมิจฉาสมาธิ นั่งแล้วก็เคลิ้ม น้ำลายยืดยังไม่รู้เลย

ฉะนั้นสติในเบื้องต้นจะทำให้เราได้สมาธิที่ถูกต้อง ร่างกายนั่งอยู่ รู้สึก ร่างกายมีอยู่ รู้สึกไป รู้สึก จิตใจเรามีอยู่ รู้สึกไป แล้วถัดจากนั้นเราจะรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของจิต พอเราเห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง เราจะดูไปเรื่อยๆ ด้วยจิตใจที่เป็นกลาง จิตใจที่ตั้งมั่นเป็นกลางเป็นผลจากการที่ทำสมถะ

เพราะฉะนั้นทีแรกเรารู้สึกๆ อย่างบางคนทำสมาธิอะไรก็ไม่สำเร็จเลย หลวงพ่อบอก รู้สึกร่างกายไว้ เอาร่างกายไว้เลย ไม่ต้องเอาอันอื่นหรอก ร่างกายหายใจ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด รู้สึกไปเรื่อยๆ ต่อไปสมาธิมันเกิด พอสมาธิเกิด มันจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของกายของจิตได้ มันเห็นไตรลักษณ์ได้ ถ้าจิตไม่มีกำลัง ไม่มีสมาธิวอกแวกๆ อยู่ เดินปัญญาไม่ได้ มันฟุ้งซ่าน

เพราะฉะนั้นการที่หลวงพ่อบอกให้มีสติคือคอยรู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ อันนี้สมถะ รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของกายของใจ อันนี้คือวิปัสสนา ทำสมถะก็ต้องมีสติ ทำวิปัสสนาก็ต้องมีสติถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติ หลวงปู่มั่นสอนชัดเจน “มีสติคือมีการปฏิบัติ ขาดสติคือขาดการปฏิบัติ” ไม่ได้ปฏิบัติแล้ว เดินจงกรมแล้วก็เครียด ไม่ได้ปฏิบัติ อันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค เพราะฉะนั้นรู้สึกตัวให้เป็นแล้วการปฏิบัติธรรมจะไม่ยากเท่าที่คิดหรอก มันง่ายมาก

เมื่อก่อนหลวงพ่อสอนใหม่ๆ หลวงพ่อพูดเรื่อย ง่าย ง่ายๆ เพราะหลวงพ่อรู้สึกว่ามันง่าย ตอนหลังมาดู ทำไมพวกเรามันทำไม่ค่อยได้ คนที่ทำแล้วสำเร็จ เข้าใจธรรมะอะไรขึ้นมา มีไม่มาก มีหลักสิบ คนปฏิบัติทั่วๆ ไป มีหลักหมื่นหลักแสนอะไรอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะว่าพวกที่ทำแล้วไม่สำเร็จเสียที มันไม่รู้สึกตัว มันหลงลูกเดียว แล้วเพ่งลูกเดียว จิตเผลอไป ก็หลง อีกพวกหนึ่งก็นั่งเพ่งเอาๆ

ฉะนั้นหลวงพ่อฟันธงตรงจุดนี้เลยตั้งแต่หลวงพ่อบวช ก่อนบวช หลวงพ่อจะสอนลูกศิษย์ ไม่เผลอไม่เพ่ง ตราบใดที่ยังเผลอ ตราบใดที่ยังเพ่ง นั่นไม่ใช่ทางสายกลาง ยังไม่ได้รู้สึกตัว ฉะนั้นเราก็ต้องอย่าเผลอ อย่าเพ่ง คอยรู้สึกไป รู้สึก รู้สึกยากไหมว่าร่างกายมีอยู่ รู้สึกยากไหม ร่างกายเคลื่อนไหว ดูจิตไม่ได้ ดูกายไป ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย จิตมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเร็ว ซับซ้อน ลึกลับ ดูไม่ออก ดูกาย ดูกายเป็นพระอรหันต์ก็มี ดูกายไป

พระอานนท์ ในพระไตรปิฎกบอกไว้ชัดเลยว่า “พระอานนท์ยังราตรีสุดท้าย” นี่ภาษาโบราณ “พระอานนท์ยังราตรีสุดท้าย ให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติเป็นส่วนมาก” กายคตาสติคือมีสติระลึกอยู่ในร่างกายนี้ คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั่นล่ะ คำว่ากายคตาสติ ตัวนี้คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่กายคตาสติแยกผม ขน เล็บ ฟัน หนังเฉยๆ อันนั้นทำแล้วจะได้สมถะ แต่ที่พระอานนท์ทำ ตอนใกล้เช้ามืด บรรลุพระอรหันต์ ท่านเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ฉะนั้นไม่จำเป็นว่าต้องดูจิต แต่เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ก็ต้องมีจิตเป็นผู้ดู ฉะนั้นท่านมีสมาธิ จิตท่านตั้งมั่นแล้วก็เห็นร่างกายหายใจ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เห็นร่างกายคู้ ร่างกายเหยียดอะไร เห็นไปจนมันอัตโนมัติ แต่ตั้งแต่หัวค่ำยันใกล้สว่าง อรหัตตมรรคไม่เกิด ทำไมไม่เกิด เพราะท่านลุ้น มีลุ้น เมื่อไรจะได้ๆ พระพุทธเจ้าบอกเราจะต้องได้ ทำไมยังไม่ได้เสียที พรุ่งนี้ก็จะต้องไปร่วมสังคายนา ยังขาดคุณสมบัติ ยังไม่ใช่พระอรหันต์

ผู้เข้าร่วมสังคายนา จริงๆ มันก็คือสัมมนานั่นล่ะ คล้ายๆ กัน ต้องเป็นพระอรหันต์ แต่ท่านไม่เป็น ใจท่านก็พยายามๆ ปฏิบัติ เจริญกายานุปัสสนาด้วยความพยายามที่จะบรรลุพระอรหันต์ พอใกล้สว่าง ท่านรู้สึกเหนื่อยเต็มทีแล้ว ท่านอายุเยอะแล้ว ท่านก็เหนื่อยแล้ว งีบสักหน่อยดีกว่า พักเสียหน่อย เพราะว่าเดี๋ยวเช้าขึ้นมาก็ต้องไปสังคายนา ท่านก็เลยเอนตัวลงนอน ในตำราบอกว่า เท้าไม่ทันพ้นจากพื้น ศีรษะไม่ทันถึงหมอน ท่านก็บรรลุพระอรหันต์

ตรงนั้นเราอย่านึกว่าท่านไม่ได้ปฏิบัติ การปฏิบัติของท่าน ณ จุดนั้น มันเป็นอัตโนมัติไปหมดแล้ว ไม่ได้เจตนาจะรู้ร่างกายที่เคลื่อนไหว แต่รู้ ไม่ได้เจตนาให้จิตตั้งมั่น แต่จิตตั้งมั่น คือฝึกมาเต็มเหนี่ยวแล้วล่ะ แต่ตัวที่หายไปตรงนั้นคือตัวโลภเจตนา ตัวโลภเจตนาที่อยากจะบรรลุ พอไม่มีโลภเจตนา คราวนี้สติ สมาธิ ปัญญา มันทำงานได้เต็มที่ ท่านก็บรรลุพระอรหันต์

หลวงพ่ออ่านพระไตรปิฎกตรงนี้ หลวงพ่อก็ไปลองดู พระอานนท์ทำอีท่าไหน ทีแรกหลวงพ่อนอนกับพื้น ปูเสื่ออยู่ ทำอย่างไรเท้าไม่ทันพ้นจากพื้น ศีรษะไม่ทันถึงหมอน ท่าไหน ทำไม่ถูก ทำไปทำมา อ๋อ ท่านนอนบนเตียง ท่านนอนบนเตียงแคบๆ เวลาเรานอนบนเตียง รู้สึกไหม ตัวเราเอนอย่างนี้ เท้าพ้นจากพื้นแต่หัวไม่ถึงหมอน เท้าพ้นจากพื้น แต่หัวไม่ถึงหมอน ถ้าเรานอนที่พื้น เท้าพ้นจากพื้นใช่ไหม คงกระดกเลย

ทำไมท่านบรรลุ เพราะท่านไม่มีโลภเจตนา ตรงนั้นสติ สมาธิ ปัญญาของท่านอัตโนมัติหมดแล้ว เรายังไม่อัตโนมัติ เราฝึกไปๆ รู้สึกตัวไว้ รู้สึกถึงความมีอยู่ของกายของใจ รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจ ทำอย่างนี้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
บ้านจิตสบาย
21 พฤษภาคม 2566