การภาวนามันจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่ายแล้วแต่บุคคล บางคนฟังแล้วฟังอีกก็ไม่เข้าใจ บางคนฟังครั้ง 2 ครั้งก็เข้าใจแล้ว แล้วแต่ต้นทุนที่แต่ละคนสะสมมามันไม่เท่ากัน แต่อย่างน้อยพื้นฐานของเราแต่ละคนก็ถือว่าเกิดมาได้ดี บางคนเกิดมาก็เป็นบ้า หรือตาบอด หูหนวก ทั้ง 2 อย่าง แบบนี้ลำบาก เรียนธรรมะไม่ได้ ไม่รู้จะเรียนอย่างไร ขนาดพวกเราสมประกอบ พร้อมที่จะเรียนธรรมะได้ มันก็อยู่ที่เราจะขวนขวายแค่ไหน บางคนก็อยากเรียนธรรมะ บางคนไม่ได้สนใจ บางคนตอนเด็กๆ ก็เริ่มตั้งคำถามกับชีวิตตัวเอง เด็กหลายคนถามตัวเองว่าเกิดมาทำไม ชีวิตคืออะไร เกิดมาทำไม บางคนก็ไม่ได้สงสัย
อย่างหลวงพ่อไม่ได้สงสัยว่าเกิดมาทำไม แต่ใจมันชอบภาวนา ชอบปฏิบัติ พอเจอท่านพ่อลีตั้งแต่ 7 ขวบ ก่อนนั้นก็ไหว้พระตามผู้ใหญ่ เจอท่านพ่อลีท่านสอนหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 1 2 3 ไป ชอบ ปีใหม่เวลาผู้ใหญ่เขาจะให้ของขวัญ จะเลือก จะเอาผ้าขนหนู ผ้าห่ม เอาสีเหลืองมาห่ม สวดมนต์ รู้สึกสบายใจ ว่างเมื่อไรก็ภาวนา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไปเรียนหนังสือ อยู่โรงเรียน ว่างก็ทำ บางคราวเล่นกีฬาเสร็จ ตอนเย็นคนอื่นเขาเริ่มกลับแล้ว เรายังไม่รีบกลับ นั่งภาวนาข้างสนามฟุตบอล หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไปเรื่อยๆ
จิตเป็นอนัตตา แต่ฝึกได้
ใจมันชอบที่จะปฏิบัติ ไม่ได้คิดว่าปฏิบัติจะได้อะไรขึ้นมาหรอก ตอนเด็กๆ ก็คิดเหมือนกัน ปฏิบัติแล้วเห็นโน่นเห็นนี่ สนุก แล้วต่อมาเห็นว่ามันไม่มีสาระ ก็เลยไม่เอาแล้ว ไม่ให้จิตไหลออกไปรู้อะไรข้างนอก แต่จิตมันก็ชอบรู้ ออกไป บางทีก็รู้โน่นรู้นี่ ดูผีสางนางไม้ แล้วแต่ใจมันจะไป ตอนนั้นไม่เข้าใจว่าทำไมมันไปดูโน่นนี่ ก็พยายามเพิ่มสติขึ้น รู้ตัวๆ ไว้ ไม่ให้ใจหนีไป แต่บทใจมันอยากหนี ห้ามมันไม่ได้ เคยเห็นฤทธิ์เห็นเดชของจิต ตอนนั้นยังไม่ได้เข้าใจธรรมะเลย ยังไม่เจอหลวงปู่ดูลย์
ประมาณปีเท่าไรก็ไม่รู้ จำไม่ได้ จิตมันเกิดอยากดูศพ เราไม่อยากดู หลวงพ่อเป็นคนกลัวผี พอลงนอน หัวถึงหมอนปุ๊บจิตวิ่งไปที่โกดังเก็บศพเลย เบรกไม่อยู่ ตอนนั้นเราหายใจใหญ่ รีบพยายามกระตุ้นความรู้สึกตัว หายใจไป หายใจให้แรงๆ พักหนึ่งจิตก็กลับมา พอผ่อนการบังคับจิต จิตพุ่งครั้งที่สอง พุ่งแรงกว่าเก่า ก็เบรกกลับมาได้แล้ว ครั้งที่สาม เบรกไม่อยู่แล้ว มันทะลุเข้าไปสำรวจศพโน้นศพนี้ ตอนหลังมาภาวนาถึงเข้าใจ จิตมันเป็นอนัตตา จิตมันไม่ใช่เรา เราไม่อยากดู แต่จิตอยากดู ห้ามมันไม่ได้หรอก
เหมือนอย่างถ้าพูดอย่างโลกๆ บางทีเราไม่อยากรักแล้ว คนนี้เราไม่อยากรักแล้ว แต่พอเจอหน้าก็อดรักไม่ได้ ทำร้ายเรา โกรธว่าต่อไปนี้ไม่คืนดีด้วยแล้ว พอเขามาง้อหน่อยเดียวก็คืนดีอีกแล้ว ระหว่างเราคิดกับจิตคิด มันไม่เหมือนกัน เราก็พูดด้วยเหตุผลว่าอย่างนี้ดี อย่างนี้ไม่ดี จิตไม่ได้สนใจ เราสั่งมันไม่ได้ มันจะอยาก มันจะยึด มันจะปรุงแต่งดิ้นรน มันจะทุกข์ หรือมันจะสุขอะไรนี่ สั่งมันไม่ได้สักเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นท่านถึงสอนว่าจิตนั้นมันเป็นอนัตตา จิตเป็นอนัตตา แต่จิตมีธรรมชาติพิเศษอย่างหนึ่งก็คือฝึกได้
จิตมันก็เหมือนเด็ก เรามีลูก ลูกก็เป็นอนัตตา เราบงการลูกให้เป็นไปอย่างใจเราทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นไปไม่ได้ เมื่อไม่กี่วันนี้ก็บอกคุณแม่คนหนึ่ง เอาลูกมาบวชเณรที่วัด แล้วก็วางแผนเลย สึกไปจะให้ลูกถือศีล 8 ตลอดชีวิต คือจะไม่ให้มีเมีย กำหนดทิศทางทุกสิ่งทุกอย่าง หลวงพ่อบอกว่ามันไม่ถูกหรอก ชีวิตเขา เราก็ไม่ควรจะเข้าไปบงการ เราแนะแนวได้ แต่ไม่ควรบงการ เขาจะไม่มีความสุข สิ่งที่เราว่าดี เขาอาจจะว่าไม่ดีก็ได้ สิ่งที่เราเห็นว่ามีความสุข เขาอาจจะเห็นว่าไม่มีความสุขก็ได้ เพราะอย่างลูกมันเป็นอนัตตา สั่งมันไม่ได้จริงหรอก ถ้ามันกลัวเรา เราสั่ง มันก็ฟังต่อหน้า เผลอเมื่อไรมันก็ไปตามทางของมัน จิตนี้ก็เหมือนกัน เราสั่งมันไม่ได้จริง ควบคุมไม่ได้
แต่อย่างเรามีลูก เราให้การศึกษากับลูกได้ ส่งให้เรียนหนังสือ ให้คำปรึกษา เวลาเขามีปัญหา พูดคุยกับเขาอะไรอย่างนี้ ส่วนขั้นสุดท้าย เขาจะดี เขาจะชั่ว เขาจะสุข หรือเขาจะทุกข์ เราสั่งไม่ได้ บงการไม่ได้ ลูกเป็นอนัตตา แต่เราให้การศึกษาได้ ฉันใดก็ฉันนั้น จิตเป็นอนัตตา แต่เราให้การศึกษาได้ จิตเป็นธรรมชาติที่เรียนรู้ได้ วิธีที่เราจะให้จิตเรียนรู้ความจริง ก็หาความจริงมาให้จิตดูซ้ำแล้วซ้ำอีก จิตที่ผ่านมาทำไมมันมีแต่ความหลงผิด เพราะมันไปเรียนรู้ตามยถากรรม ไม่มีครูใหญ่กำหนดหลักสูตรให้ คือไม่มีตามเส้นทางของพระพุทธเจ้า ของเรามีครูใหญ่ มีหลักสูตรที่พระพุทธเจ้าสอน เราเดินตามหลักสูตรนี้ เราก็สามารถฝึกจิตตัวเองได้
คนส่วนใหญ่ไม่สามารถฝึกจิตตัวเองได้ มีแต่ตามใจกิเลสไปวันหนึ่งๆ เท่านั้นเอง อยากดูหนังก็ดู อยากฟังเพลงก็ดู อยากกินก็เที่ยววิ่งหาจะกินโน่นจะกินนี่ เสื้อผ้ามีอยู่เยอะแยะแล้วก็อยากได้ชุดนั้นชุดนี้ เอาแบรนด์ด้วยมียี่ห้อ กระเป๋าเอาไว้ใส่ของ ลูกหนึ่งไม่กี่บาทก็ใช้ได้ ไม่ได้ ต้องใช้ลูกละแสนอะไรอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้มันไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ก็ตามใจกิเลสไปเรื่อยๆ
เราลองมาหัดเรียนในหลักสูตรของพระพุทธเจ้าดู หลักสูตรของพระพุทธเจ้า จุดสูงสุดของคำสอนของพระพุทธเจ้า พวกเราเป็นชาวพุทธ เราต้องรู้ ถ้าเกิดมีใครเขาถามว่าธรรมะสูงสุดในพระพุทธศาสนาคืออะไร ที่เป็นแก่นธรรมคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาคืออะไร เราก็ต้องรู้ สิ่งที่เป็นคำสอนที่เป็นแก่นจริงๆ ของศาสนาพุทธก็คือสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวง ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น คีย์เวิร์ดก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
คำว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวง มีทั้งรูปธรรม มีทั้งนามธรรม กระทั่งนิพพาน นิพพานก็เป็นธรรมอันหนึ่ง ธรรมก็มี 2 ส่วน ส่วนที่เป็นสังขตธรรม ธรรมที่ปรุงแต่ง กับส่วนที่เป็นอสังขตธรรม อสังขตธรรมคือไม่ปรุงแต่ง คือพระนิพพาน ชาวพุทธเราหิวนิพพาน แต่พอจะให้นิพพานจริงไม่เอา เพราะจริงๆ ใจไม่ได้อยากได้นิพพาน โดยความคิดอยากได้นิพพาน แต่จิตมันอยากได้กาม จิตมันอยากได้ความสุข ความสบาย ไปยึดถืออะไรพวกนี้ โดยเหตุโดยผลเราบอกเราอยากนิพพาน ทำบุญเพื่ออยากนิพพานอะไรอย่างนี้ นิพพานนั้นก็ไม่ได้เอาไว้ยึดถือ
นิพพานก็เป็นอนัตตา นิพพานก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรยึดถือ เพราะไม่ว่าเราจะยึดอะไร เราก็จะทุกข์เพราะสิ่งนั้นทันทีเลย ถ้ายึดนิพพาน เราก็จะทุกข์เพราะนิพพาน ตะเกียกตะกายหา พอไปเจอสภาวะอะไรอย่างหนึ่งดูดี เราก็คิดว่านี่คือนิพพาน เราก็พยายามประคอง พยายามรักษาเอาไว้ หวงแหน นิพพานก็ไม่ควรยึดถือ เพราะไม่ว่าเราจะยึดถืออะไร เราก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้นล่ะ ฉะนั้นนี่ล่ะคือแก่นธรรมคำสอน หัวใจของพระพุทธศาสนาจริงๆ คือธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรถือมั่น ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ถ้ายึดแล้วเป็นอะไร ยึดแล้วเป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดแล้วเป็นอย่างไร ไม่ยึดก็พ้นทุกข์
ทำไมมันเข้าไปยึด เพราะมันโง่ มันไม่เห็นความจริง ก็เที่ยวไปยึดถือ ความจริงคือไตรลักษณ์ ไม่เห็นหรอกว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ใจไม่ยอมรับ ใจเราก็พยายามต่อสู้กับความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างบางคนแก่แล้ว ไม่ยอม สมัยก่อนก็มีแค่ย้อมผม เดี๋ยวนี้ก็ผ่าตัด ทำอะไรต่ออะไรได้เยอะแยะ ฉีดโน่นฉีดนี่เข้าไป พยายามต่อสู้กับความแก่ ถามว่าสู้ไหวไหม สู้ไม่ไหวหรอก หน้าตึงแต่ถ้านั่งกับพื้น เวลาจะลุกเอามือยัน มันสู้ไม่ไหว สู้กับความเจ็บไข้ไหวไหม ก็สู้ไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องเจ็บ สุดท้ายก็ต้องตาย
ถ้าเราเห็นความจริง ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นของที่เรายืมวัตถุธาตุของโลกมาใช้ชั่วครั้งชั่วคราว วันหนึ่งก็ต้องคืนโลก บางคนคืนเร็ว เกิดมาไม่กี่ชั่วโมงก็ตายแล้ว บางคนก็อยู่ยาว อยู่ได้หลายปี คนชอบมาอวยพร อธิษฐานขอให้หลวงพ่ออยู่ 120 ปี บอกมาทุกข์แทนหลวงพ่อไหม มันทำไม่ได้ เราเป็นคนทุกข์เอง เราแก่ แก่เป็นทุกข์ คนแก่เป็นทุกข์ อย่างตอนเรายังหนุ่มยังสาว เราไม่รู้หรอก เราก็คิดว่าสนุกสนาน หาสิ่งโน้นหาสิ่งนี้มาสนองความต้องการตัวเองไป พอแก่เข้าจริงๆ แค่กินข้าวลง แค่นอนหลับ แค่ขับถ่ายได้ปกติ แค่นี้ก็ดีใจแล้ว ชีวิตมันไม่ได้มีความสุขจริง
เมื่อวันจันทร์ วันอังคาร จำไม่ได้แล้ว หลวงพ่อไปเยี่ยมแม่ สงกรานต์ก็เลยไปเยี่ยมแม่ แม่แท้ๆ ของหลวงพ่ออายุ 99 ปีแล้ว ถามว่ามีความสุขไหม ไม่มีความสุข นอนอยู่บนเตียง จะพลิกตัว จะทำอะไรก็เจ็บ เพราะเนื้อหนังอะไรนี่หายไปหมดแล้ว เหลือแต่กระดูก ผอมๆ ให้หาอาหารอย่างดีอย่างไร ให้โปรตีนให้อะไร ร่างกายมันก็ไม่ตอบสนอง จะลุกจะนั่ง จะทำอะไรลำบากทุกอย่างเลย นี่แก่เป็นทุกข์ มันทุกข์จริงๆ พวกเราก็ชอบอวยพรให้อายุยืนๆ อายุ 100 ปี ไปสังเกตให้ดี พอคนอายุเกือบจะเลข 9 เริ่มจะช่วยตัวเองไม่ไหวแล้ว ฉะนั้นอย่าอายุยืนเกินไปเลย ทรมาน
รูปธรรมไม่ควรยึดมั่น
ถ้าเราเห็นความจริงของชีวิต สุดท้ายมันก็หนีไม่พ้นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ถ้าใจมันยอมรับได้ ใจมันจะไม่หลงระเริงกับความเป็นหนุ่มเป็นสาวที่เรากำลังมีกำลังเป็นอยู่ พอใจมันไม่หลงมันไม่ยึดถือในร่างกาย มันก็ไม่ทุกข์เพราะร่างกาย ร่างกายจะแก่ เราก็รู้สึกว่าธรรมดา เกิดแล้วก็ต้องแก่ ร่างกายจะเจ็บ เราก็รู้สึกว่าธรรมดา เกิดแล้วต้องเจ็บ ร่างกายจะตาย ก็รู้สึกว่าธรรมดา เกิดแล้วต้องตาย ใจที่มันเห็นความจริง ยอมรับความจริงได้ มันยอมรับความจริงได้ เพราะเห็นความจริงบ่อยๆ
การเห็นความจริงเขาเรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน เห็นความจริงของร่างกาย เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่ชั่วคราว เป็นสมบัติของโลก สุดท้ายก็ต้องคืนให้โลกทั้งหมด เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นอย่างนี้ เราก็รู้เลย รูปธรรมทั้งหลาย กระทั่งรูปธรรมที่วิเศษที่สุดก็คือร่างกายเรานี้ ยังยึดเอาไว้ไม่ได้ มีความทุกข์ซ่อนอยู่เต็มไปหมดเลย เดี๋ยวหิว เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวปวดอึปวดฉี่ เดี๋ยวเจ็บไข้ เต็มไปหมดเลยในร่างกายนี้
พอเรามาสังเกต มาเรียนรู้ความจริง ตามรู้ตามดู ตามรู้สึกไป การเรียนรู้ร่างกาย ก็ไม่ใช่ไปนั่งคิดเอา แต่รู้สึกเอา อย่างเราจะอยากรู้ว่าร่างกายมันทุกข์ เป็นตัวทุกข์จริงไหม ลองนั่งนิ่งๆ อย่ากระดุกกระดิกสิ 10 นาทีก็ทุกข์แล้ว ปวดหลัง ปวดโน่นปวดไหล่ คันที่โน่น คันที่นี่ มันแสดงทุกข์ให้เราเห็นอยู่ตลอดเวลา ทุกข์มันเป็นธรรมะอันหนึ่งเหมือนกัน มันทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็เป็นอริยสัจ เป็นธรรมะ
ทุกข์นั้นได้แสดงตัวอยู่ตลอดเวลาในร่างกายของเรา ในจิตใจก็เหมือนกัน แสดงอยู่ตลอด แต่ตอนนี้พูดถึงกายก่อน ให้ดูตัวอย่าง มันดูง่ายหน่อย ในร่างกายเรา ความทุกข์แสดงตัวอยู่ตลอดเวลา แต่เราทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ลืมๆ มันไป อย่างเรานั่งอยู่นานๆ ก็เมื่อย เดินนานๆ ก็เมื่อยๆ ยืนนานๆ ก็เมื่อย นอนนานๆ ยังเมื่อยเลย เวลานอนเราก็จะต้องพลิกซ้ายพลิกขวาไปเรื่อย ถ้านอนแล้วพลิกไม่ได้ ไม่นานก็เป็นแผลกดทับ ติดเชื้อตายเลย นี่รูปวิเศษนักหนา แค่กระดิกตัวไม่ได้พักเดียวก็ตัวเน่าแล้ว ถ้าเราเรียนรู้ความจริง ระลึกรู้ร่างกายเรื่อยๆ อย่าลืมมัน
วิธีจะเรียนรู้ความจริงของร่างกายก็คืออย่าลืมร่างกาย แล้วก็ตามรู้ตามเห็นมันไป ในความเป็นจริงมันเป็นอย่างไร มันเที่ยงไหม ความไม่เที่ยงในร่างกายดูได้หลายระดับ อย่างหยาบที่สุดเราก็ดูว่าคนเราเกิดแล้วก็ตาย มีชีวิตแล้วก็ตายไป คนโน้นตายให้ดูคนนี้ตายให้ดู
ถ้าดูละเอียดขึ้นมา เราจะเห็นว่าช่วงชีวิตมันตายไปเรื่อยๆ อย่างพวกเราที่มานั่งอยู่ในห้องนี้ ช่วงชีวิตตอนเป็นเด็กตายไปแล้ว ก็มาอยู่ในช่วงชีวิตเป็นหนุ่มเป็นสาว บางคนช่วงชีวิตที่เป็นหนุ่มสาวตายแล้ว เริ่มแก่แล้ว ชีวิตเรา ไม่ใช่ว่าเกิดแล้วตายทีเดียว อันนั้นดูอย่างหยาบ
ดูอย่างกลาง เราก็จะเห็นแต่ละช่วงชีวิตผ่านมาแล้วก็ไปๆ เหนี่ยวรั้งเอาไว้ไม่ได้ เราอยากเป็นเด็กตลอดกาล เราเหนี่ยวรั้งไม่ได้ อยากเป็นวัยรุ่น เราเหนี่ยวรั้งไว้ไม่ได้ อยากเป็นหนุ่มเป็นสาว ก็เหนี่ยวรั้งไว้ไม่ได้ ไม่อยากแก่ก็ปฏิเสธไม่ได้ เราจะเห็นความไม่เที่ยงของร่างกายแต่ละช่วงวัย
ถ้าสติปัญญาเราเข้มแข็งขึ้น เราดูได้ละเอียดขึ้น แต่ละขณะร่างกายเราก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ หายใจออกเที่ยงไหม การหายใจออกไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ต้องหายใจเข้า หายใจเข้าเที่ยงไหม ก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ต้องหายใจออก ยืนเที่ยงไหม ก็ไม่เที่ยง ยืนนานๆ ก็เมื่อย ต้องนั่ง หรือยืนอยู่แล้วก็ต้องเดินไปโน่นไปนี่ เดินนานๆ ก็เมื่อย ลงมานั่ง กลับบ้านเหนื่อยเต็มทีแล้ว กลับมาอาบน้ำอาบท่า นอน ร่างกายเราแต่ละขณะๆ เต็มไปด้วยความทุกข์ มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา มีความแปรปรวน ไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา
อย่างเราดูกาย เราดูได้ 3 ระดับ หยาบที่สุดก็คือเกิดมาแล้วต้องตาย 1 ชาติดูเห็นเกิดดับได้ 1 ครั้ง ดูละเอียดขึ้นก็เห็นว่าแต่ละช่วงชีวิตแต่ละช่วงวัยผ่านมาแล้วก็ผ่านไป จบไปแล้ว เอาคืนไม่ได้แล้ว ดูอย่างละเอียด เราก็ดูเลย แต่ละขณะๆ ขณะที่หายใจออกก็ไม่เที่ยง ขณะหายใจเข้าก็ไม่เที่ยง ขณะยืน เดิน นั่ง นอนอะไรก็ไม่เที่ยง เฝ้ารู้เฝ้าเห็นไป เห็นความจริงของมันไป
พอเราเห็นความจริงของร่างกายมากเข้าๆ ความยึดถือในร่างกายจะหมดไป ความรักใคร่หวงแหนในร่างกายจะหมดไป ไปรักมันทำไม ประคบประหงม ดูแลมันอย่างดี ตื่นเช้าขึ้นมา พามันไปอาบน้ำขัดสีฉวีวรรณ พามันไปขับถ่ายให้ท้องสบาย หาของกินแพงๆ มาให้มันกิน เลี้ยงดูอย่างดี สุดท้ายมันก็แก่ สุดท้ายมันก็เจ็บ สุดท้ายมันก็ตาย สุดท้ายมันก็หนีเราไป เพราะฉะนั้นร่างกายเราเลี้ยงไม่เชื่องๆ ดูแลดีอย่างไรถึงวันหนึ่งก็ทรยศเรา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราไม่ยึดกาย ต่อไปเราจะไม่ทุกข์เพราะกายอีกแล้ว
นามธรรมทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
ในทางจิตใจล่ะ ที่บอกธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ก็มีรูปธรรม นามธรรม กับนิพพาน รูปธรรมพูดไปแล้ว นามธรรมทั้งหลาย สังเกตดูความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ความรับรู้ทั้งหลายที่เกิดขึ้น มันอยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับทั้งสิ้น ความสุขเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับ ความทุกข์เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับ กุศลอกุศลเกิดขึ้นแล้วก็ดับ จิตที่วิ่งไปทางทวารทั้ง 6 ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิ่งไปที่ไหนแล้วก็ดับ มีแต่เกิดแล้วก็ดับ มีแต่ความไม่เที่ยง ไม่คงทน
อย่างคนในโลกแสวงหาความสุข เกลียดชังความทุกข์ วิ่งหนีความทุกข์ตลอดเวลา แล้วก็แสวงหาความสุขไปเรื่อยๆ ตอนเราเด็กๆ พวกเราเป็นหรือเปล่าไม่รู้ แต่หลวงพ่อเป็น ตอนหลวงพ่อเด็กๆ หลวงพ่อรู้สึก เราเป็นเด็ก เราไม่มีอิสระเลย อยากจะซื้ออะไรก็ต้องขอเงินผู้ใหญ่ เขาให้บ้างไม่ให้บ้างอะไรอย่างนี้ อยากทำอะไรก็ทำไม่ได้ อยากไปปีนต้นไม้หลังบ้านเล่น ก็ไม่ได้ ห้าม อยากว่ายน้ำในคลองหลังบ้าน ไม่ได้ ห้าม รู้สึก โอ๊ย เป็นเด็กลำบากจังเลย ถูกบังคับมาก ก็คิดว่าเดี๋ยวเราโตขึ้น เราคงมีความสุข
พอโตจากวัยเด็กเล็กๆ ถึงวัยเรียนหนังสือ ก็เรียน ตั้งอกตั้งใจเรียน เรียนบางทีก็เหนื่อย นึกในใจ เรียนจบได้ปริญญาที่พอใจแล้ว คงจะมีความสุข พอเรียนจบทำงาน หัวปักหัวปำอยู่กับการทำงาน ก็คิดเวลาได้พักร้อน ลาพักผ่อนได้ จะมีความสุข มีความสุขแป๊บเดียว อ้าว หมดเวลาอีกแล้ว ต้องมาทำงานต่อ ก็นึกในใจ แหม ถ้ารีไทร์แล้วจะมีความสุข รุ่นหลวงพ่อเป็นรุ่นที่รีไทร์แล้ว รีไทร์มา 10 กว่าปีแล้ว ตอนนี้ก็เป็นตาแก่ยายแก่กัน เป็นปู่เป็นตา เป็นย่าเป็นยายกัน รุ่นหลวงพ่อ ไม่เห็นมันจะมีความสุขตรงไหนเลย ความสุขเป็นสิ่งที่ตามหามาตั้งแต่เด็ก จนแก่แล้วยังไม่เจอเลย มันคิดแต่ว่าความสุขมันรออยู่ข้างหน้า ต้องวิ่งไปให้ถึง ทุกวันตั้งแต่เด็กๆ ก็คิด พ้นวัยเด็กทารกไปแล้วคงจะมีความสุข พ้นวัยเรียนแล้วจะมีความสุข พ้นวัยทำงานแล้วจะมีความสุข ไม่เห็นมีความสุขสักทีหนึ่ง
หลวงพ่อเคยเจอคนแก่คนหนึ่ง ไม่ใช่ใครอื่น เตี่ยหลวงพ่อเอง เขาเป็น ไตวาย ต้องให้ล้างไตล้างอะไรอย่างนี้ ฟอกไต ทรมาน แล้วช่วงสุดท้าย ฟอกอย่างไรก็ยังไม่ดีขึ้นแล้ว ทรมานมาก นอนอยู่ที่โรงพยาบาล เตียงคนไข้มันมีเหล็กอยู่ข้างๆ มือจับเหล็กเขย่าเลย เมื่อไรจะตายสักทีโว้ย นี่คิดว่าอะไร คิดว่าตายแล้วจะมีความสุข คิดมาตั้งแต่เด็ก ความสุขมันอยู่ข้างหน้าตลอดเลย จนแก่แล้วจนเจ็บหนักแล้ว คิดว่าตายแล้วจะมีความสุข
ฉะนั้นความสุขที่ชาวโลกวิ่งหามันเหมือนภาพลวงตา หลอกให้เราวิ่งไปตลอดชีวิต พอวิ่งไปถึงปลายทางก็พบว่าไม่มีอะไร ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเหลืออยู่ ถ้าเราสังเกตชีวิตของเรา เราก็จะเห็นเลย ทุกช่วงเวลาที่ผ่านมาเราตามหาความสุข แต่ไม่เจอ บางครั้งก็รู้สึกว่าเจอความสุขแล้ว แต่ความสุขมันอยู่กับเราสั้นนิดเดียว อยู่แป๊บเดียว อย่างตอนวัยรุ่นมีความสุข แหม ร่างกายก็แข็งแรง เล่นกีฬา แข็งแรง
เกิดไปรักสาวเข้าสักคน ชอบ ไปชอบผู้หญิง มีความสุขหรือยัง ความสุขอันนี้เป็นความสุขประหลาดๆ ความสุขแบบแสบๆ ต้องลุ้นว่าจะจีบเขาได้ไม่ได้ ต้องลุ้น พอจีบมาได้แล้ว ดีใจ ดีใจพักเดียว เมื่อไรจะได้แต่งงานสักที ไปโน่นอีกต่อล่ะ พอแต่งแล้ว เราต้องมาช่วยกันสร้างครอบครัว เดี๋ยวต่อไปมีลูก ช่วยกันทำมาหากิน เราลืมความสุขที่เราวิ่งหาว่าได้ผู้หญิงคนนี้มาหรือได้ผู้ชายคนนี้มาจะมีความสุข กลายไปวิ่งพล่านที่จะทำมาหากิน ความสุขจากการที่ได้แฟนมา จากการได้แต่งงานมา มันหายไปไหนก็ไม่รู้ แต่ละวันก็นั่งหน้าดำคร่ำเครียดทำมาหากินกัน
ความสุข มันเหมือนอะไรอย่างหนึ่งที่อยู่ข้างหน้า ความสุขเหมือนเหยื่อที่ล่อให้ปลามากินเบ็ด แล้วปลามันก็ชอบกินเบ็ดด้วย ถ้าถูกความสุขมาล่อโดดฮุบเลย เพราะฉะนั้นตัวที่เรากระโดดฮุบบ่อยๆ อยากได้ฮุบมากเลยด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ คือเรื่องของกาม ความสุข ความสนุกสนาน ในชีวิตอะไรอย่างนี้ เป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าไปติด
อุปาทาน 4
คนในโลกจะติดในสิ่งเหล่านี้ เรียกอุปาทาน มี 4 อัน อันหนึ่งเรียกกามุปาทาน ติดในความสุขความสบาย อยากได้ อีกอันหนึ่งเรียกทิฏฐุปาทาน ติดในความคิดความเห็น ในลัทธิ ในอุดมการณ์ อย่างกามุปาทาน อยากได้วัตถุสิ่งของมากมาย ก็ไปแย่งชิงคนอื่นเขา ระหว่างประเทศก็ไปทำสงคราม แย่งแผ่นดินกัน แย่งผู้คนกัน สมัยโบราณ แย่งผู้คน เดี๋ยวนี้แย่งทรัพยากร เพราะว่ากาม
พวกหนึ่งก็ฆ่ากันตายด้วยอุดมการณ์ เพราะยึดอุดมการณ์ยึดความคิดความเห็น อย่างหยาบๆ ที่ไม่รุนแรงมาก อย่างเรายึดความเห็นของเรา ใครเห็นต่างกับเรา เราโมโห เมื่อก่อนหลวงพ่อมีหัวหน้าคนหนึ่งทำงานด้วยกัน เขาชอบถามความเห็นบอก พี่ขอถามความเห็นเธอหน่อยสิ เรารู้ในใจ เขาไม่ได้ถามความเห็น เขาต้องการความเห็นด้วย เขาไม่ได้ถามความเห็น เพราเขายึดว่าความเห็นของเขาสมบูรณ์แล้ว ฉะนั้นคนเราทะเลาะกันเพราะว่ากาม คือผลประโยชน์มันขัดแย้งกัน ยึดในกามมากเท่าไรก็ยิ่งกระทบกระทั่งคนอื่นได้ง่าย
ยึดในทิฏฐิ คือความคิดความเห็น ยึดในลัทธิในอุดมการณ์ คิดดูสิ อย่างวัยรุ่นเด็กๆ ของเราตอนนี้เห็นไหม ยึดลัทธิอุดมการณ์ที่ผู้ใหญ่เขาสอนครอบมาให้ ยอมติดคุกติดตารางอะไรกัน ชีวิตยับเยินไปหมดเลย ไม่มีความสุข ยอม ยอมตายเพื่ออุดมการณ์ ถามว่าอุดมการณ์มันมีจริงไหม บอกเป็นประชาธิปไตย จะเสมอภาคจะเสรีภาพอะไรต่ออะไร หลวงพ่อเกิดในช่วงที่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา 20 ปี นี่จะ 100 ปีแล้ว เปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วจากการที่เรียนรู้ไปทั้งหลายทั้งในประเทศนอกประเทศ ประชาธิปไตยไม่เคยมีจริงหรอก มันก็คือการปกครองของคนส่วนน้อยเท่านั้นเอง
อย่างของเราเห็นไหม นักการเมืองมาไหว้เราก็ตอนวันเลือกตั้ง เลือกเสร็จแล้วเราก็ต้องไหว้มันอีก 4 ปี เราก็ไม่ได้เป็นใหญ่อะไร เขาก็ทำอย่างที่เขาอยากจะทำ ฉะนั้นมันอุดมการณ์ สู้กัน หรืออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ อุดมการณ์ประชาธิปไตยต้องฆ่ากัน คนไทยก็ฆ่ากันตายไปเยอะแล้ว เพราะว่ายึดในเรื่องอุดมการณ์ในความเห็น ในบ้าน เด็กกับพ่อแม่นิยมคนละพรรค ก็ยังทะเลาะกันเลย เพราะยึดในความเห็นของตัวเอง
สิ่งที่ยึดอีกอันหนึ่งก็คือยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล จะตัดสินทุกอย่าง ด้วยตัวเองทั้งหมดเลย เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง มองทุกอย่างด้วยสายตาของตัวเอง เรียกอัตตวาทุปาทาน เอาอัตตาตัวตนนั่นล่ะเป็นสำคัญ ใครๆ มันก็เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล อย่างเมื่อก่อน บางศาสนาเขาประกาศเลย โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล พระอาทิตย์ พระจันทร์ โคจรรอบโลก ดาวต่างๆ โคจรรอบโลก ใครไม่เห็นด้วยจับไปฆ่าเลย เวลาเข้าไปยึดไปถือ ค่อยๆ สังเกต เอาตัวเองเป็นตัวตั้งหรือเปล่า หรือบางประเทศเขามีความรู้สึกว่าประเทศเขาเป็นศูนย์กลางของโลก อย่างเมืองจีนสมัยโบราณ ฮ่องเต้เป็นศูนย์กลางของโลก ฝรั่งมา ศูนย์กลางของโลกพังเลย เพราะว่าตามโลกไม่ทัน
เราชอบเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ตัวนี้สังเกตให้ดี อยู่ในทางโลก ถ้าเอะอะอะไรก็มองทุกอย่างด้วยสายตาของตัวเอง เราจะไม่เข้าใจคนอื่น อย่างบางทีเราไม่พอใจใครบางคน ไม่ชอบใจ ทำไมเขาคิดอย่างนี้ ทำไมเขาทำอย่างนี้ มีคำที่ดีอยู่คำ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองไปมองทำไมเขาทำอย่างนี้ ถ้าเราเป็นเขาเราก็ทำอย่างเขาล่ะ ถ้าเราอยู่ในเงื่อนไขเดียวกับเขา เราก็ทำอย่างเขา พอเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ได้เอาใจเราเป็นตัวตั้ง มันก็เกิดความเข้าใจ ความขัดแย้งมันก็ลดลง ในบ้านก็ต้องเหมือนกัน หัดดูแลคนในบ้านเรา อย่าเอาแต่ใจตัวเองเป็นตัวตั้ง
บางบ้านคุณพ่อหรือเตี่ย เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง ทุกคนต้องเชื่อฟัง บางบ้านแม่เป็นใหญ่ บางบ้านก็มีตลกๆ มีแม่ทัพคนหนึ่ง ตอนหลวงพ่อเรียนจบใหม่ๆ ไปทำงานอยู่ กอ.รมน. พักหนึ่ง อยู่กับทหาร พวกทหารเขาเล่าให้ฟัง ท่านแม่ทัพคนนี้ เวลาเดินเข้าไปในกองพล ทหารเกร็งทั้งตัวเลย แล้วแกก็เล่ากูไม่เคยกลัวใครเลย แต่ตอนกลับบ้าน เมียมองหน้า กูสั่นเลย เพราะเมียเขาเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล สามีไม่กล้าหือเลย หือแล้วก็ไม่ได้นอนแล้ว ถูกบ่นตลอดเวลา หลวงพ่อบอกความลับของผู้ชายให้อย่างหนึ่ง ผู้หญิงฟังไว้ให้ดี แต่ใช้ได้กับบางที่บางคน ใช้กับทุกคนไม่ได้ ผู้ชายจำนวนมากเลยที่เขารักเรา เขาจะแพ้การขี้บ่น รำพึงรำพัน อย่าไปด่าเขา
เมื่อก่อนรู้จักผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เมียจะเอาอะไร ตามใจหมดเลย บอกไม่ตามใจไม่ได้ เธอจะรำพันไปเรื่อยๆ เลย โธ่ๆๆ อะไรอย่างนี้ทั้งวันทั้งคืน อยากจะได้อะไรเอาไปเลย ทนไม่ไหว เขาไม่เห็นใจว่าสามีกว่าจะหางาน กว่าจะทำงานหาเงินมาได้อย่างลำบาก อยากได้แหวนเพชรอีกแล้ว เดี๋ยวก็อยากได้ตุ้มหูเพชรอะไรอย่างนี้ ถ้าไม่ให้ก็รำพึงรำพันคร่ำครวญไปเรื่อยๆ จนสามีทนไม่ไหว เอาตัวเองเป็นตัวตั้งแล้ว ไม่เห็นว่าคนอื่นลำบากอย่างไร อย่างนี้ก็ไม่ดี
อีกพวกหนึ่งที่เราจะยึดถือ อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเรายึดถือมาก ก็คือระเบียบแบบแผน จารีตประเพณีอะไรที่เราเคยชิน เรายึดถือแบบแผนการดำรงชีวิตที่เคยชิน ทำอย่างนี้ดี ทำอย่างอื่นไม่ดี อันนี้ส่วนใหญ่คนแก่เป็น เคยทำอย่างไร อย่างนี้ดี อย่างอื่นไม่ดีแล้ว เด็กทำอะไรไม่ถูกใจสักอย่างหนึ่ง รู้สึกไม่ถูก นี่คือสิ่งที่เรายึด
ถ้าพูดทางพระสำหรับคนที่ภาวนาที่จะไปมรรคผลนิพพาน จะมีอุปาทาน 4 ข้อ กามุปาทาน ความยึดในกาม ทิฏฐุปาทาน ความยึดในมิจฉาทิฏฐิ อัตตวาทุปาทาน ความยึดในวาทะ ในความเห็น ในความเชื่อ ว่าตัวตนมีอยู่จริงๆ อีกอันหนึ่งคือสีลัพพตุปาทาน ยึดในข้อประพฤติข้อปฏิบัติ ต้องทำอย่างนี้ ถึงจะดี อย่างอื่นไม่ดี อันนี้สำหรับคนที่จะไปนิพพาน เขาเลยต้องพิจารณาอันนั้น
ต่อยอดบุญให้เป็นกุศล เป็นศีล สมาธิ ปัญญา
ส่วนพวกเราก็ Apply ตรงนี้มาใช้ในชีวิตจริงๆ เราก็อย่าไปยึดถือแสวงหาแต่ความสุขมากเกินไป จริงๆ ชีวิตไม่ได้มีความสุขนักหรอก ความสุขมันหลอกให้เราวิ่งพล่านไป เดี๋ยวมันก็หนีเราไป หลอกให้เราวิ่งไปหาความสุขตัวใหม่ ก็อย่าไปหลงกับมันมากนัก ความทุกข์ เราก็อย่าไปเกลียดมันมากนัก เพราะความจริง ความทุกข์ก็ไม่เที่ยงเหมือนกันล่ะ อย่างเวลามีปัญหาใหญ่ๆ บางเรื่อง ถ้าปัญหานั้นหนักมากเลย แล้วเราไม่มีทางออก เวลาชีวิตเราเจอปัญหาไม่มีทางออก ทำอย่างไรดี ไปฆ่าตัวตายหรือ บางคนก็เลือกไปฆ่าตัวตาย วิธีที่หลวงพ่อใช้เวลาที่มีปัญหาหนักจริงๆ แล้วยังหาทางออกไม่ได้ สงบสยบเคลื่อนไหวไว้ เพราะปัญหาทั้งหลายมันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน ไม่ต้องทำอะไรหรอก มันก็คลี่คลายตัวของมันเองได้ เราอย่าเพิ่งไปกลุ้มใจมากก็แล้วกัน
ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ เรียนรู้ไป แล้วชีวิตเราจะค่อยสบาย ความสุขก็ไม่ใช่ของที่ควรหลงใหล ความทุกข์ก็ไม่ใช่ของที่ควรเกลียดชัง เพราะความจริงของมันก็คือมันล้วนแต่ไม่เที่ยงทั้งนั้น หลอกให้เราวิ่งเท่าๆ กันล่ะ เราวิ่งตะกายหาความสุข กับวิ่งหนีความทุกข์ มันก็ต้องวิ่งเหมือนกันล่ะ ก็เหนื่อยเหมือนกันล่ะ ฉะนั้นถ้าเราเห็นความสุขทั้งหลายเป็นของชั่วคราว ความทุกข์ทั้งหลายเป็นของชั่วคราว เวลาเราทำวิปัสสนากรรมฐาน เราก็สังเกตใจเรา เดี๋ยวก็สุข อยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย ทุกข์อยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย ดูเรื่อยๆ ไป สุดท้ายจิตมันก็รู้ความจริง สุขก็ของชั่วคราว ทุกข์ก็ของชั่วคราว ไม่เห็นจะต้องวิ่งไปหาความสุขอะไรมากมายเกินเหตุเลย ไม่เห็นจะต้องเกลียดต้องกลัวความทุกข์เลย
อย่างกลัวความแก่ กลัวมันทำไม หนีมันพ้นไหม หนีไม่พ้น กลัวความเจ็บไข้ หนีมันพ้นไหม ก็หนีไม่ได้ กลัวความตาย หนีมันได้ไหม ก็หนีมันไม่ได้ ไหนๆ ก็หนีมันไม่ได้ อยู่กับมันอย่างมีความสุขไปสิ อยู่กับมันไปด้วยความเป็นกลางกับมัน ฉะนั้นเวลาความทุกข์เกิดขึ้น สังเกตที่ใจเรา ใจเราไม่เป็นกลาง ให้รู้ทันไป พอใจเราเป็นกลาง ความทุกข์มันมาได้มันก็ไปได้ มันก็ผ่านมาผ่านไป เช่นเดียวกับความสุขนั่นล่ะ
กุศลอกุศลก็เหมือนกัน แต่อันนี้พูดยาก เพราะกุศลอกุศลมันเหมือนกันในแง่ของความเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน แต่ผลของมันไม่เหมือนกัน ทำบุญทำกุศล สิ่งที่เราได้ ถ้าเป็นบุญ เราก็ได้ความสุข ทำบุญแล้วเราได้ความสุข ถ้าทำกุศล เราได้ปัญญา เราได้ความพ้นทุกข์ เพราะเราพ้นทุกข์ได้ด้วยปัญญา ถ้าเราค่อยๆ ภาวนา เราก็จะเห็น กุศลหรือบุญมันก็ไม่เที่ยง ทำบุญมา มันให้ผลเป็นความสุข ไม่นานความสุขก็หายไปอีกแล้ว ทำกุศลประเดี๋ยวเดียวแพ้กิเลสเสียอีกแล้ว เพราะกุศลเรายังไม่ถึงพร้อม ก็ต้องฝึกอีก ตราบใดที่ยังสู้กิเลสไม่ได้ เลิกการปฏิบัติไม่ได้ ต้องสู้อีก
เมื่อไม่กี่วันนี้ มีทีมงานของหลวงพ่อ ทีมจีน เผยแพร่ภาษาจีน เขาก็รวมพลคนใจบุญหลายคน พวกผู้ช่วยสอนหลายคน ไปเปิดคอร์สที่มาเลเซีย มีคนเข้าคอร์ส สอนเป็นภาษาจีน ภาษาจีนเป็นภาษากลางของโลก คนหลายประเทศมาเรียน 300 กว่าคนมาเรียน สอน เหนื่อย แต่พวกที่ไปกิจกรรมอันนี้ กลับมาหน้าใสปิ๊งเลย อิ่มบุญมาทั้งนั้นเลย บอกมีความสุขจังเลย บอก เออ มีความสุขก็ดีแล้ว ทำบุญมามันก็มีความสุขล่ะ บุญเป็นชื่อของความสุข แต่อย่าหยุดอยู่แค่นี้ ต้องเป็นกุศลด้วย ต้องฉลาดที่จะเดินต่อไปข้างหน้า ทำบุญแล้วผลบุญให้เกิดมาสวย เกิดมารวย เกิดมาสบาย แล้วไม่ต่อยอด ต่อไปบุญก็หมด มันก็หมดแล้วก็ตกต่ำลงมาอีก ถ้าต่อยอดให้ขึ้นกุศลไป ให้มันเป็นศีล ให้มันเป็นสมาธิ ให้มันเป็นปัญญาขึ้นมาให้ได้ แล้วต่อไปวิมุตติก็จะเกิดขึ้น
เรามีศีลเพื่อข่มใจ ไม่ยอมแพ้กิเลส ถ้าเราเข้มแข็งขึ้น เรามีสมาธิเพื่อข่มกิเลส ไม่ให้มีอำนาจเหนือใจ ไม่เหมือนกัน ศีลข่มใจไม่ให้ยอมแพ้กิเลส สมาธิข่มกิเลสไม่ให้มีอำนาจเหนือใจ ปัญญาเรียนรู้ความจริงของสรรพสิ่ง ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรมล้วนแต่ไม่ควรยึดถือทั้งสิ้น ความทุกข์ก็ไม่ควรยึดถือ ความสุขก็ไม่ควรยึดถือ กุศลอกุศลเองก็เกิดแล้วดับเหมือนกัน ทุกอย่างมีแต่เกิดแล้วดับ จิตที่ที่คนทั่วไปจะรู้สึกมันคือศูนย์กลางของจักรวาล คือจิตเรานี้ล่ะ มันก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เช่นเดียวกับสภาวธรรมอันอื่นๆ
นิพพานก็เป็นของที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
พอภาวนาไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ จิตเห็นความจริงของกายของใจ หมดความยึดถือกาย หมดความยึดถือจิตใจ จิตก็พ้นปล่อยวางกาย ปล่อยวางใจ จิตเข้าถึงความสุขความสงบที่แท้จริง จิตที่พ้นจากขันธ์ จิตก็เข้าถึงธรรม เข้าถึงพระนิพพาน นี่คือธรรมะอันที่สาม อันที่หนึ่ง รูปธรรมไม่ควรยึดมั่น เพราะไม่ใช่ของดีของวิเศษ อันที่สอง นามธรรมทั้งหลายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะไม่ใช่ของดีของวิเศษ อันที่สามคือพระนิพพาน เมื่อจิตเราหมดความยึดมั่นถือมั่นในรูปในนาม หมดตัณหา หมดความอยาก นิพพานปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาเรา
คนที่ยึดนิพพานก็พยายามไปสร้างนิพพาน มีลักษณะอย่างนี้ เป็นโลกๆ หนึ่ง มีพระพุทธเจ้านั่งอยู่ตรงนี้ พระอรหันต์นั่งอยู่ตรงนี้อะไรอย่างนี้ อันนั้นสำหรับคนซึ่งติดความที่จะต้องมีอะไรเอาไว้ยึดสักอย่างหนึ่ง อันนั้นเป็นนิพพานพรหม ยังไม่ใช่นิพพานของพุทธที่แท้จริง สิ่งที่เป็นนิพพานของพุทธที่แท้จริงคือสันติ คือความสงบ นิพพานมีลักษณะอะไร นิพพานมีสันติลักษณะ ลักษณะสงบ จิตอย่างนี้ จิตมีลักษณะอย่างไร จิตมีลักษณะเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ สภาวธรรมแต่ละตัวๆ มีลักษณะเฉพาะ นิพพานมีลักษณะเฉพาะ คือเป็นสันติ เป็นความสงบ สงบจากอะไร สงบจากกิเลสตัณหา สงบจากความยึดมั่นถือมั่น สงบจากความดิ้นรนปรุงแต่งของจิต สงบจากความยึดถือทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยึดกระทั่งนิพพาน
ถ้าเรายังยึดนิพพานอยู่ เรายังไม่นิพพานหรอก ฉะนั้นธรรมะทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม หรือนิพพาน ก็เป็นของที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นนิพพานเอง ขืนลองไปยึดเข้าสิ เป็นนิพพานปลอมเลย ยังไม่ได้สัมผัสพระนิพพานจริง นิพพานไม่ได้มีเอาไว้ยึด นิพพานไม่มีเจ้าของ จิตที่มันพ้นความปรุงแต่งไปแล้ว มันมีความสุขมีความสงบอยู่ในตัวเอง ตรงนั้นล่ะมันสัมผัสพระนิพพานอยู่
อย่าวาดภาพนิพพานให้มันพิสดาร นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหาอุปาทาน สิ้นภพ สิ้นชาติ สิ้นทุกข์ ค่อยๆ หัด อย่างผู้ช่วยสอนบางคน หลวงพ่อสอนให้ดูเวลาจิตมันเข้าไปติดภพ บางคนก็สอนให้เห็นอาสวะที่เข้ามาย้อมจิต พออาสวะเข้ามาย้อมจิตปุ๊บ จิตจะหมดความสามารถที่จะเห็นอริยสัจแล้ว ธรรมะมันมีหลายระดับ หลายขั้นหลายตอน ไม่ต้องรีบหรอก ค่อยๆ เรียนไป ของเราก็เรียน คอยรู้สึกกายรู้สึกใจ เรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของใจไป ที่เหลือมันจะค่อยพัฒนาขึ้นมาเองล่ะ
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ พอสมควรแล้ว ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรถือมั่น นี่คือหัวใจ ถ้าใครเขาถามว่าอะไรเป็นแก่นคำสอนของพระพุทธศาสนา ต้องตอบได้ชาวพุทธ
ขอให้ทุกคนขยันภาวนา ถ้าเราขยันภาวนา สังเกตตัวเองไป ภาวนาแต่ละวันๆ เราทำถูกแล้ว กิเลสมันจะอ่อนแรงลง ทุกข์มันจะสั้นลง ทุกข์มันจะน้อยลง โลกมันจะค่อยๆ ห่างออกไป ค่อยๆ ดูตัวเอง ถึงจุดหนึ่งจิตมันก็พ้นโลก
คำว่าพ้นโลกก็คือคำว่าโลกุตตระ โลกุตตระแปลว่าเหนือโลก ถ้าจิตมันเห็นความจริงของโลกแล้ว มันก็คลายตัวออก มันค่อยๆ ห่างโลกออกไป อย่างเราหัดใหม่ๆ หัดรู้สึก ดูจิตดูใจ เราจะรู้สึกโลกมันเริ่มห่างออกไป แต่ว่าเดี๋ยวมันก็กลับมารวมกันอีก เพราะมันยังไม่เด็ดขาด ถ้าเกิดอริยมรรค ครั้งที่สาม โลกหลุดออกไปเลย โลกอยู่ส่วนโลก จิตอยู่ส่วนจิต เพราะจิตจะไม่อยู่ในโลก อย่างที่พวกเราอยู่ โลกที่เราอยู่เขาเรียกว่ากามาวจรภูมิ อย่างถ้าเป็นพระอนาคามี จิตพ้นจากกามาวจรแล้ว จิตจะไม่เกาะโลกอย่างที่พวกเราเป็น
เราค่อยๆ ภาวนา หัดรู้เนื้อรู้ตัว จิตเราจะถอนตัวออกจากโลกทีละน้อยๆ ค่อยๆ ดูไป ช่วงที่เกิดอริยมรรคก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพ ทุกวันที่เราดูมันจะมีการสะสมเชิงปริมาณ สะสมความรู้ถูกความเข้าใจถูกไปทีละน้อยๆๆ ตอนที่เกิดอริยมรรคก็จะเกิดการก้าวกระโดด เปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพของจิตใจ จิตใจเราจะเปลี่ยนคุณภาพไปเลย ฉะนั้นตอนนี้เราไปสั่งจิตให้ก้าวกระโดดไม่ได้ เราคอยภาวนาของเราทุกวันๆ สะสมเชิงปริมาณ แล้ววันหนึ่งจะก้าวกระโดดไปสู่คุณภาพใหม่
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
21 เมษายน 2567