ภาวนาไปเรื่อยๆ รางวัลที่เราจะได้คือความสงบสุข อะไรก็ไม่มีคุณค่า ไม่มีความสุขเหมือนความสงบหรอก สงบข้างนอกมันก็เรื่องง่ายๆ อย่างสงบทางกายไม่ไปยุ่งกับใคร อยู่บ้านเงียบๆ อะไรอย่างนี้ ก็สงบได้ สงบวาจาก็ทำไม่อยาก อย่าพูดมาก พูดเท่าที่จำเป็น แต่สงบใจยากที่สุด เพราะใจมันเป็นของว่องไว หนีอุตลุดทั้งวันทั้งคืน เดี๋ยวก็จับอารมณ์ทางโน้น เดี๋ยวจับอารมณ์อันนี้ วุ่นวายไม่รู้จักจบจักสิ้น
ฉะนั้นการฝึกที่จะให้จิตใจเราเข้าถึงความสงบไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งยั่วยุจิตใจเรามีเยอะ เบื้องต้นก็พยายามลดสิ่งยั่วยุ ลดความใส่ใจในสิ่งยั่วยุทั้งหลาย เราอย่าไปใส่ใจสิ่งยั่วยุทั้งหลายแหล่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไร เรื่องโลกๆ มันไม่รู้จักจบจักสิ้นหรอก ยุ่งกับมันมากเท่าไร ใจก็ว้าวุ่น อย่างเราไปดูคนอื่น เห็นเขารวย เห็นเขาสบายอะไรอย่างนี้ มันเปรียบเทียบ เทียบเขาเทียบเราอะไรขึ้นมา ใจเราก็วุ่นวาย
สำรวมอินทรีย์
ฉะนั้นเบื้องต้นเราจะภาวนาให้จิตใจเราเข้าถึงความสงบสุข พยายามสำรวมอินทรีย์ไว้ สำรวมอินทรีย์ก็คือคอยระมัดระวัง มีสติ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์อะไรนี่ เรามีสติเอาไว้ เราไม่สำรวมอินทรีย์ จิตใจมันก็หิว อยากดูอันนั้น อยากฟังอันนี้ อยากได้กลิ่นอย่างนี้ อยากได้รสอย่างนี้ อยากได้สัมผัสอย่างนี้ ใจมันก็วุ่นวายขึ้นมา ถ้าเรายินดีพอใจในความสุขความสงบภายในของเรา ก็ยุ่งกับโลกข้างนอกเท่าที่จำเป็น
ยุ่งกับคนมากๆ ก็เรื่องมาก วุ่นวาย คนนั้นอย่างนั้น คนนี้อย่างนี้ เราไม่จำเป็นต้องคบคนเยอะๆ คบคนดีๆ ก็พอแล้ว มีกัลยาณมิตรสัก 1 – 2 คนอะไรนี่ ดีถมไปแล้ว คบคนเยอะๆ วุ่นวาย เดี๋ยวคนโน้นก็ชวนอย่างนั้น คนนี้ชวนอย่างนี้ ยุ่ง เลือกคบคน คนที่ชวนเราภาวนา ชวนเราหาความสุขความสงบในจิตใจอะไรอย่างนี้
อย่าไปหลงเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสเลย มันไม่ยั่งยืนหรอก เที่ยวดูรูป รูปมันก็ของไม่ยั่งยืน เสียงมันก็ของไม่ยั่งยืน กลิ่น รส สัมผัสอะไร ก็เป็นของไม่ยั่งยืนทั้งหมด ไปหลงกับมัน มันไม่มีที่สิ้นสุดเลย เดี๋ยวอยากดูรูป เดี๋ยวอยากฟังเสียง อยากดมกลิ่น อยากลิ้มรส อยากรู้สัมผัสทางกาย ความอยากมันก็จะหมุนอยู่ในใจเราตลอดเวลา
ฉะนั้นยุ่งกับคนอื่นเท่าที่จำเป็น ให้เวลาที่จะดูแลจิตใจของเราให้มากๆ เท่าที่จะทำได้ สำรวม เราไม่ยุ่งกับคนอื่น อินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กายก็ไม่ต้องทำงานมาก ถ้ามันต้องไปยุ่งกับคนอื่น เราก็สำรวมไว้ ก็คือตาเห็นรูป จิตใจเราสุขทุกข์ ดีชั่ว ยินดียินร้ายอะไรเกิดขึ้น ให้เรามีสติรู้ทันไว้ เวลาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ เราสังเกตที่จิตเรา พอกระทบแล้วเกิดสุข ให้รู้ เกิดทุกข์ ให้รู้ เกิดกุศล เกิดอกุศล ให้รู้ เกิดการดิ้นรนทำงาน ให้รู้ อย่างนี้มันจะกระทบแล้วก็ไม่กระเทือนมาก
ปกติมันกระทบแล้วมันชอบกระเทือน ห้ามมันไม่ได้หรอก ตาเห็นรูป ใจเราก็กระเทือน หูได้ยินเสียง ใจมันก็กระเทือน แต่ถ้าเราสำรวมอินทรีย์ เรามีสติคอยดูแลคุ้มครองจิตใจของเรา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบ แต่ใจมันกระเทือนน้อย มันไม่ค่อยกระเทือน มันก็จะมีความสงบในระดับหนึ่งเกิดขึ้น เป็นความสงบที่เราอาศัยสติทำให้เกิดขึ้น สติเป็นตัวรู้ทัน พอตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจเราไปคิดนึกอะไรอย่างนี้ มันเกิดความสั่นสะเทือนขึ้นมา
สะเทือนที่ไหน มันกระเทือนอยู่กลางอกนั่นล่ะ ไม่ได้กระเทือนที่อื่นหรอก กระเทือนขึ้นมา ใจเราก็สุข ทุกข์ ดี ชั่ว ยินดียินร้ายอะไร วุ่นวายปรุงแต่งต่อ เพราะฉะนั้นมีสติ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ มีสติสังเกตจิตใจเราไป เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความสั่นสะเทือนในจิตใจก็จะไม่มาก ถ้าเราไม่คอยสังเกตจิตใจ พอตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ ใจมันกระเทือนแรง ใจมันกระเทือน สั่น มันไม่มีความสุขหรอก ไม่มีความสงบ
เพราะฉะนั้นเบื้องต้น ยุ่งกับคนอื่นเท่าที่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องยุ่ง มันก็ยุ่งด้วยตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส หรือใจเราคิดถึงเขาอย่างนี้ ให้มีสติคุ้มครองจิตใจไว้ กระทบแล้วไม่กระเทือน อย่างอันที่หลวงพ่อบอกว่ายุ่งกับคนอื่นเท่าที่จำเป็น คือลดการกระทบ แต่ถ้ามันจำเป็นต้องกระทบ ลดการกระเทือนด้วยการมีสติรู้ทันจิตใจของเราเอง ใจเราจะค่อยๆ มีความสุข มีความสงบมากเป็นลำดับๆ ไป อันนี้เราสงบด้วยสติ
ทีแรกเราสงบด้วยพฤติกรรมของเรา ไม่ยุ่งกับคนอื่น จำเป็นต้องยุ่ง เราก็มีสติเอาไว้ ความสงบอีกอันหนึ่งก็คือความสงบของสมาธิ ความสงบของสมาธิทั้งสงบทั้งสุขล่ะ คนในโลกมันรู้จักแต่ความสุขจากการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย คนส่วนใหญ่มันรู้อยู่แค่นี้ แล้วใจมันก็กระเพื่อมหวั่นไหว กระทบอารมณ์ที่ดีก็มีความสุข กระทบอารมณ์ไม่ถูกใจก็มีความทุกข์ขึ้นมา ได้แค่นั้น มันมีวิธีที่เราจะหาความสงบสุขให้แก่จิตใจอย่างอื่นอีก ไม่ใช่แค่การหลีกเลี่ยงการกระทบ มีสติทำให้ไม่กระเทือนเยอะ ก็มีการฝึกสมาธิทำให้มันนิ่ง มันยิ่งกว่าเรื่องการกระเทือนอีก ฝึกสมาธิจิตมันนิ่ง
ศิลปะของการทำสมถะ
วิธีที่เราจะฝึกสมาธิชอบแบบไหน กรรมฐานอะไร ถ้ารู้หลักแล้วก็ใช้ได้เหมือนกันหมด แล้วแต่ความถนัด ไม่ใช่หายใจดีกว่าพุทโธ หรือหายใจเข้าพุทออกโธดีกว่าพองยุบอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ จริตนิสัยเราถนัดอะไร เอาอันนั้นล่ะมาเป็นเครื่องรู้เครื่องอยู่ของจิต เรียกว่าเรามีวิหารธรรม มีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ เครื่องอยู่ที่ดีที่จะทำให้จิตสงบต้องเป็นเครื่องอยู่ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข ถ้าอยู่แล้วมีความทุกข์ จิตใจมันยิ่งดิ้นหนักเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นอย่างหลายคนภาวนา มาถึงก็นั่งหายใจเฮือกๆๆ แทนที่จะสงบ จิตใจยิ่งฟุ้งซ่านมากกว่าเก่าอีก
เพราะฉะนั้นศิลปะของการทำสมถะคือรู้จักเลือกอารมณ์ ดูตัวเองอยู่กับอารมณ์ชนิดไหนแล้วมีความสุข เราก็เอาอารมณ์อันนั้นล่ะ อย่างหลวงพ่อ ถ้าอยู่กับลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธ จิตใจมีความสุข ของเราอาจจะไม่มีความสุขก็ได้ หายใจแล้วอึดอัด เราก็ไปดูตัวเราเอง หลวงพ่อสอนทีละคนไม่ไหว เรียนที่หนึ่งเป็นพัน เรียน ไม่รู้จะสอนอย่างไร ก็สอนหลักให้ ไปสังเกตตัวเองเอา
สังเกตเอาว่าเราอยู่กับอารมณ์อะไรแล้วมีความสุข สังเกตตัวเอง อยู่กับพุทโธหรืออยู่กับลมหายใจแล้วมีความสุขก็เอาพุทโธ หายใจอะไรก็เอา อยู่กับพองยุบแล้วมีความสุขก็เอา เดินจงกรมแล้วมีความสุขก็เอา นั่งขยับไม้ขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียนแล้วมีความสุขก็เอา คิดพิจารณาร่างกายเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ แล้วมีความสุขก็เอา คิดพิจารณาว่าชีวิตเรานี้ใกล้ความตายเข้าไปเรื่อยๆ พิจารณาความตายไปเรื่อยๆ ดูรอบข้างเรา คนโน้นก็ตาย คนนี้ก็ตาย คนที่เรารู้จักตายไปเยอะแยะแล้ว เราเองวันหนึ่งข้างหน้า เราก็ต้องตาย พิจารณาอย่างนี้ บางคนพิจารณาอย่างนี้ใจก็มีความสุข สงบ
มีความสุขอยู่ในอารมณ์อันเดียวนั่นล่ะ มันเป็นเคล็ดลับที่จะทำให้ใจเราสงบอย่างรวดเร็วด้วยสมาธิ เพราะความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ ฉะนั้นเราต้องดูตัวเอง ไม่เอาอย่างคนอื่น อย่างเห็นว่าหลวงพ่อหายใจเข้าพุท หายใจออกโธแล้วมีความสุข เราจะต้องทำอย่างหลวงพ่อ ไม่จำเป็นเลย ทางใครทางมัน ทางใครก็ของคนนั้นล่ะ เส้นทางเฉพาะตัว สังเกตเอา อยู่กับอะไรแล้วมีความสุข บางคนดูท้องพองยุบก็มีความสุข บางคนขยับไม้ขยับมือมีความสุข บางคนทำงานบ้านมีความสุข หรือบางคนนั่งถักไหมพรมแล้วจิตใจมีความสุข ใช้ทำสมาธิได้ทั้งหมดเลย อะไรก็ได้ ขออย่างเดียวว่าอย่าไปสงบ ไปมีความสุขอยู่ในอารมณ์ที่เป็นอกุศล หรือยั่วให้เกิดอกุศล อันนั้นจะไม่สงบ
อย่างเราเล่นหุ้น เล่นเหรียญอะไรต่ออะไร ยุคนี้หลวงพ่อไม่รู้จัก คริปโตอะไรอย่างนี้ แล้ววันๆ เฝ้าแต่เรื่องพวกนี้ บอกอยู่ในอารมณ์อันเดียว ไปดูหุ้นขึ้นดูหุ้นลง ไม่ดูเรื่องอื่นเลย ไม่สงบหรอก เพราะมันยั่วกิเลสเกินไป พอหุ้นขึ้นก็ดีใจ หุ้นตกก็เสียใจ จิตก็ยิ่งแกว่งหนักกว่าเก่าอีก หรือบอกชอบเล่นไพ่ ไปนั่งเล่นไพ่ทั้งวันเลย ชวนคนมาเล่นด้วยอะไรอย่างนี้ หรือนั่งเล่นเกมส์ เดี๋ยวนี้มีเกมส์เยอะแยะในมือถือ เล่นได้ทั้งวัน ไม่หมดหรอก แล้วบอกจิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว คืออยู่กับเกมส์
ตอนที่เล่นเกมส์ จิตกระเพื่อม แกว่งขึ้นแกว่งลงตลอดเวลา มันยั่วกิเลส อย่างนี้ใช้ทำกรรมฐานไม่ได้ เราต้องรู้จักเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ ต้องมีความสุข แล้วก็ไม่ยั่วกิเลสที่ยังไม่เกิดให้เกิด ไม่ยั่วกิเลสที่เกิดแล้วให้รุนแรง ไม่ทำกุศลที่มีอยู่ให้เสื่อม อย่างเล่นเผลอเพลินไปเรื่อยๆ ขาดสติ กุศลที่เคยมีก็ไม่มี อย่างนี้เราไม่เอา เพราะฉะนั้นเราไปสังเกตตัวเอง เราอยู่กับอะไรแล้วมีความสุข แล้วอารมณ์นั้นต้องไม่ยั่วกิเลส
รู้จักเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข
แล้วอารมณ์นั้นต้องไม่ยั่วให้กิเลสแรงขึ้น
อย่างบางคนพิจารณาร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนังแล้วมีความสุข ก็พิจารณาร่างกายไป มันไม่ยั่วกิเลส หรือคิดถึงพระพุทธเจ้าแล้วมีความสุข หรือคิดธรรมะ บางทีการคิดพิจารณาหัวข้อธรรมอันใดอันหนึ่ง หยิบยกขึ้นมาพิจารณา จิตใจก็อิ่มเอิบเบิกบาน มีความสุขได้ เราสังเกตตัวเอง บางคนทำอะไรไม่เป็น นั่งสวดมนต์ สวดมนต์ก็คือจิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว คือการสวดมนต์ การสวดมนต์ไม่ยั่วให้เกิดกิเลสหรอก เราสวดมนต์ไปเรื่อยๆ แล้วถ้าใจเรามีความสุขที่จะสวดมนต์ จิตจะสงบ เพราะฉะนั้นเคล็ดลับที่จะทำให้จิตเราสงบอย่างรวดเร็วเลย ก็คือรู้จักเลือกอารมณ์ที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วอารมณ์นั้นต้องไม่ยั่วให้กิเลสแรงขึ้น ทางใครทางมัน
ลองไปดูในเรื่องกรรมฐาน 40 ข้อ ในกรรมฐาน 40 ข้อ มีเรื่องของสมาธิทั้งนั้นเลย เรื่องสมถะทั้งหมดเลย 40 ข้อ อย่างบางคนชอบดูไฟ นั่งดู จุดเทียนขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง นั่งดูไฟ มีความสุข ใจก็สงบอยู่กับไฟ ไม่ฟุ้งซ่านไปที่อื่น นี่กสิณ หรือนั่งสบายๆ อยู่ใต้ต้นไม้ นั่งดูลมพัดใบไม้ไหว ใบไม้พลิกไปพลิกมา อย่างนั่งดูต้นโพธิ์ ดี ไปนั่งดูต้นโพธิ์ ต้นโพธิ์โตๆ ต้นใหญ่ๆ ใบเยอะๆ อย่างนี้ เวลาลมพัดใบมันจะพลิ้ว พลิกไปพลิกมา สวย แล้วดู ถ้าใจเราชอบมันจะมีความสงบเกิดขึ้นทันที เพราะมีความสุข ใบโพธิ์นี่สวยมากเวลาอยู่ในธรรมชาติ นั่งดู
ตรงที่เราเห็นใบโพธิ์มันพลิ้วไหวอะไรนี่ ทำไมมันพลิ้ว ทำไมมันไหว เพราะลมมันพัด นี่วิธีดูกสิณลม เพราะเราดูตัวลมมองไม่เห็น เราดูผลงานของลม ลมมันทำให้ใบไม้ไหวอะไรอย่างนี้ นั่งดูเห็นใบไม้ไหว ความไหวเกิดจากธาตุลม ธาตุดินก็ยังแข็ง มีความแข็ง ถ้าธาตุดินน้อย มันก็อ่อน ดิน น้ำ น้ำเป็นธาตุที่ซึมซ่าน ดึงดูด น้ำมีแรงดึงดูด อย่างที่ผิวน้ำก็มีแรงดึงดูด มีแรงตึงผิวอะไรอย่างนี้ นี่ลักษณะของธาตุน้ำ คือดึงดูด แผ่ซ่านด้วย ดึงดูดด้วย ธาตุลมมันมีลักษณะตึงไหว อย่างลมพัด ใบไม้ก็ไหวอะไรอย่างนี้ ในตัวเราลมเยอะๆ ท้องก็ตึงอะไรอย่างนี้ นี่ก็ธาตุลม ธาตุไฟเป็นความร้อน ความร้อน ความเย็น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวอะไรพวกนี้
เรื่องของธาตุใช้ทำกสิณก็ได้ ดูเจริญปัญญาต่อจากตัวธาตุ ก็เดินได้ แต่ตอนนี้หลวงพ่อพูดถึงตัวกสิณอยู่ เป็นเรื่องของสมาธิ จะพลิกไปสู่ปัญญาก็ทำได้ กรรมฐานถ้าเนื่องด้วยกาย เนื่องด้วยใจตัวเองล่ะก็ สามารถพลิกไปทำวิปัสสนาได้เลย แต่ถ้าเป็นสมถกรรมฐานที่ไม่ได้เนื่องด้วยกายด้วยใจ พลิกไปทำวิปัสสนาไม่ได้ อย่างเราเห็นลมพัดใบไม้ไหวอย่างนี้ รู้เลยลมก็ไม่คงที่ ดูอย่างนี้ก็ได้ นี่ของข้างนอก จะดูลมข้างในก็เห็นลมผ่านจมูกเรา เดี๋ยวก็ไหลเข้า เดี๋ยวก็ไหลออก ไม่คงที่ อย่างเรานั่งสมาธิ เราจะดูกสิณลม เราไม่จำเป็นต้องไปนั่งหาใบไม้ หาใบโพธิ์อะไรมาดู ดูอยู่ที่ปลายจมูกตัวเองนั่นล่ะ เดี๋ยวลมก็ไหลเข้า เดี๋ยวลมก็ไหลออก รู้อยู่ที่ลม สุดท้ายมันกลายเป็นแสง
กสิณทั้งหลาย สุดท้ายมันจะกลายเป็นแสงเหมือนกันหมดทั้ง 10 ชนิด ทำไปแล้วก็เป็นแสงขึ้นมา เพราะฉะนั้นอย่างกสิณ ถ้าเราฝึกได้สักอย่างหนึ่ง อีก 9 อย่างที่เหลือไม่ยากที่จะฝึกแล้ว เพราะมันจะไปลงที่เดียวกัน คือไปลงที่แสง เป็นแสงสว่างขึ้นมา อันนี้สำหรับพวกชอบเล่นมากๆ เราทำไม่ได้ เราก็ไม่ต้องกลุ้มใจ สวดมนต์ไปเรื่อยๆ ก็ยังดี คิดถึงความตายไปเรื่อยๆ ก็ดี คิดถึงร่างกายตัวเองเป็นปฏิกูลอสุภะก็ยังดี คิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า คิดถึงพระธรรม คิดถึงพระสงฆ์ก็ยังดี ใช้ได้ อย่างเราคิดถึงครูบาอาจารย์ จิตใจเรามีความสุขมีความสงบ
อย่างหลวงพ่อแต่ก่อนเป็นโยม บางทีก็วุ่นวายใจ พอวุ่นวายใจขึ้นมา จะไปนั่งสมาธิให้สงบก็ยังลำบาก หลวงพ่อก็นึกถึงครูบาอาจารย์ นึกถึงหลวงปู่ดูลย์ นึกถึงหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่สิมอะไรอย่างนี้ พอนึกถึงใจเราก็มีความสุขขึ้นมา ครูบาอาจารย์เรามีความสุข มีความสงบ มีความเบิกบาน ท่านแจ่มใส อายุตั้ง 90 อะไรอย่างนี้ ยังสดใส ไม่เหมือนคนในโลก มอมแมม พอเราคิดถึงครูบาอาจารย์ ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ใจเราก็มีความสุขขึ้นมาแล้ว ทันทีที่ใจมีความสุข สมาธิมันก็เกิดขึ้นทันทีเลย
รู้อารมณ์นั้นด้วยจิตใจธรรมดาๆ
เพราะฉะนั้นเรื่องของการทำสมถะ ถ้ารู้จักเลือกอารมณ์ที่เหมาะกับตัวเอง มันไม่ยากหรอก เราก็เลือกอารมณ์ที่อยู่แล้วมีความสุข อารมณ์นั้นต้องไม่ยั่วกิเลส แล้วก็มีเคล็ดลับอีกตัวหนึ่งในการทำสมาธิ คือเรารู้อารมณ์นั้นด้วยจิตใจธรรมดาๆ ตัวนี้สำคัญเหมือนกัน เลือกอารมณ์ได้ เช่น เรารู้ว่าหายใจเข้าพุท หายใจออกโธนี้เหมาะกับเรา อยู่แล้วมีความสุข พอเริ่มหายใจก็นั่งจ้องเลย เมื่อไรจะสงบๆ จิตอยากได้ความสงบ แต่จิตมันเกิดฟุ้งซ่าน ไม่ยอมสงบเสียที ก็โมโหมันอีกแล้ว เกลียดความฟุ้งซ่าน รักความสงบ ภาวนาไปตั้งนาน ไม่สงบหรอก เพราะใจเราผิดธรรมชาติธรรมดาเสียแล้ว ใจเราเต็มไปด้วยความอยากก็เร่าร้อนขึ้นมา ความอยากทำให้จิตใจเร่าร้อน
เพราะฉะนั้นพอจิตใจเร่าร้อน จิตใจไม่มีความสุข ถึงจะเลือกอารมณ์ที่ถูกแล้ว แต่ตอนที่เราไปรู้อารมณ์อันนั้น เรารู้แบบไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นความสุขก็ไม่เกิด มีแต่ความเครียดเกิดขึ้นแทน อย่างเรานั่งหายใจไป คิดแต่ว่าเมื่อไรจะสงบๆ รับรองไม่สงบ แต่บางคนมี ถ้าคิดเมื่อไรจะสงบๆ นั่ง ทู่ซี้นั่งไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งมันเหนื่อย มันเหนื่อยจนหมดอยากแล้ว พอหมดอยากปุ๊บจิตรวมปั๊บเลย สงบเลย ฉะนั้นตรงที่จิตจะรวม จิตจะสงบได้ จิตต้องสบาย จิตเคร่งเครียด จิตมีความอยากเร้าอยู่ตลอดอย่างนั้น จิตไม่มีวันสงบหรอก เพราะเวลามีสิ่งเร้า มีความอยากเกิดขึ้น เร้าอยู่ในใจ จิตใจมันจะดิ้น เพราะฉะนั้นมันจะไม่สงบ
ฉะนั้นเราก็ต้องรู้จักเทคนิค เทคนิคจะทำสมถะก็คือรู้จักเลือกอารมณ์ที่อยู่แล้วมีความสุข อารมณ์นั้น ต้องไม่ยั่วกิเลส แล้วเวลาที่รู้อารมณ์ รู้ไปธรรมดาๆ รู้ด้วยใจธรรมดา รู้อย่างธรรมดาๆ เห็นร่างกายมันหายใจไปสบายๆ ไม่ต้องแกล้งทำสบายอีก บางคนบอกได้ยินหลวงพ่อบอก รู้สบายๆ ก็ แหม แต่งจิตเสียให้หวานๆ อะไรอย่างนี้ ทำ อย่างนั้นก็ใช้ไม่ได้ ใช้ใจธรรมดา รู้ไปอย่างธรรมดาๆ แล้วมันจะสงบก็เรื่องของมัน มันจะฟุ้งซ่านก็เรื่องของมัน วางใจแบบนี้เลย
ถ้าเราวางใจธรรมดา รู้อารมณ์กรรมฐานไปอย่างธรรมดาๆ แป๊บเดียว สงบเลย ทำให้ดู สงบ ปุ๊บ มันก็สงบเลย ถ้าเรารู้ด้วยใจธรรมดาจริงๆ นี่คือเคล็ดลับของการทำสมถะ ปกติก็ไม่มีใครเขาสอนกันหรอกเพราะมันยาก ส่วนใหญ่เขาบอกให้ไปทำเอา ไปพุทโธเอาอะไรอย่างนี้ ไปหายใจเอา ไปดูท้องพองยุบเอาอะไรอย่างนี้ ทำไปแล้วจิตใจก็กระวนกระวายเร่าร้อนอะไรอย่างนี้ มันไม่ได้หลัก ไม่ได้เคล็ดลับ ฉะนั้นสิ่งที่หลวงพ่อสอนวันนี้มันก็คือเคล็ดลับ เคล็ดลับที่เราจะทำสมาธิให้จิตสงบอย่างรวดเร็ว
ฝึกทีแรกสงบหรือไม่สงบก็เรื่องของมัน ทำไปเรื่อยๆ พอทำไปชำนิชำนาญ มันรู้ มันรู้อยู่แล้วว่าเราจะรู้อารมณ์อะไรถึงจะเหมาะกับตัวเราเอง มันรู้ว่าต้องใช้ใจธรรมดาๆ ไปรู้อารมณ์กรรมฐานของเรา ตอนที่รู้ สงบหรือจะฟุ้งซ่านอะไร เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของเรา เรารู้ไปสบายๆ ถ้ารู้เคล็ดลับเหล่านี้ การทำสมาธิก็จะง่ายขึ้นๆๆ ต่อไปพอเรานึกถึงอยากจะทำความสงบเพื่อพักผ่อนจิตใจ เราสามารถสงบได้ในเวลาอันสั้น จิตจะสงบแล้วก็ตั้งมั่นเด่นดวงเลย อันนี้ตั้งมั่นต้องฝึกอีกอย่างหนึ่ง คือรู้ทันตรงที่ไม่ตั้งมั่น จะได้สมาธิที่ทั้งสงบทั้งตั้งมั่นขึ้นมา
อันนี้พูดเรื่องสงบก่อน ตั้งมั่นพูดอยู่ทุกวันอยู่แล้ว ตอนที่เราทำกรรมฐานของเราอยู่ พอจิตของเราไหลไป หนีไปที่อื่น ให้เรารู้ทัน อันนี้เราจะได้จิตตั้งมั่น แล้วเราก็รู้อารมณ์กรรมฐานของเราไป รู้ไปธรรมดาๆ มันก็จะสงบแล้วก็ตั้งมั่นด้วย มันตั้งมั่นด้วยการที่เรามีสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น คือจิตที่ไหลไปไหลมา ทำกรรมฐานของเราไปแล้วจิตหนีแล้วเรารู้ จิตหนีแล้วเรารู้ ฝึกอย่างนั้นไปเรื่อยๆ จะได้ทั้งความสงบได้ทั้งความตั้งมั่นขึ้นมา
เวลาจิตมันมีความสุขมีความสงบในสมาธิ มีความสุขมากยิ่งกว่าการดูหนังฟังเพลง ยิ่งกว่าการกินของอร่อย ความสุขพวกนั้นเรียกว่ากามสุข ความสุขจากการเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสอะไรพวกนี้ มันก็สุข มันสุขอย่างโลกๆ มันอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ความสุขของสมาธิ ถ้าเราฝึกจนมันมีความชำนิชำนาญ เรียกมีวสี จิตใจเราตอนนี้เหนื่อย ทำงานเหนื่อย ทำงานเครียด ชีวิตมีปัญหาหนักอะไรอย่างนี้ คิดอะไรไม่ออกแล้ว ทำความสงบเข้ามา จิตจะมีที่พักผ่อน คือหลุมหลบภัยประจำตัวของเราที่สร้างขึ้นด้วยตัวเอง
โลกว้าวุ่น เดือดร้อน รำคาญ ไม่มีความสุข ไม่มีความสงบเลย เราก็เข้าหลุมหลบภัยของเรา มาอยู่กับกรรมฐานของเรา เลือกอารมณ์ที่เราถนัด อยู่แล้วมีความสุข อารมณ์ที่ไม่ยั่วกิเลส เราก็รู้อารมณ์นั้นด้วยใจปกติ อย่ารู้ด้วยความอยาก มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน รู้มันไปเรื่อยๆ ทีแรกก็นานกว่าจะสงบ ต่อไปพอจิตมันชำนิชำนาญขึ้นมา มันคิดถึงการทำความสงบ มันสงบทันทีเลย เรียกว่าเราได้วสีในการเข้าสมาธิแล้ว
วสีในการทำสมาธิ
วสีในการทำสมาธิมีหลายอย่าง ชำนาญในการเข้า ชำนาญในการทรงอยู่ ชำนาญในการเจริญปัญญาในสมาธิ ชำนาญในการออกจากสมาธิ เรานึกว่าออกจากสมาธิไม่สำคัญ อย่างไรมันก็ออก มันก็คล้ายๆ คนขับเครื่องบิน รู้สึกตอนเอาเรือบินขึ้นไปบนท้องฟ้ายาก ตอนลงอย่างไรก็ลง ลงวันยังค่ำ น้ำมันหมดก็ลง เครื่องเสียก็ลง ขับไม่ดีก็ลงอะไรอย่างนี้ เรื่องสมาธิก็เหมือนกัน บางคนก็คิดว่า แหม มันยากตอนเข้า ตอนออกอย่างไรมันก็ออก แต่มันจะออกแบบเรือบินโหม่งโลก หรือจะออกมาอย่างดีๆ ก็ต้องฝึกเหมือนกัน
บางคนออกไม่เป็น จิตรวมลงไปแล้ว ดึงพรวดออกมา ปวดหัวเลย ปวดหัวไปเลย ไม่สบาย เพราะฉะนั้นเวลาเรานั่งสมาธิก็อย่าไปดึงมันออกมา มันสงบอยู่กี่ชั่วโมง ก็ให้มันสงบไป ถึงเวลามันก็ค่อยๆ ถอนๆๆ ขึ้นมา แต่ถ้าจำเป็น มีความจำเป็น เช่น เรานั่งสมาธิอยู่แล้วก็ครูบาอาจารย์เรียก เรียกไปพบด่วน จำเป็น หรืออยู่บ้านเรานั่งสมาธิในห้องพระเราอยู่ ภรรยาเรียก อันนี้ด่วนยิ่งกว่าอาจารย์เรียกอีก มันเข้าขั้นกบฏเลย มันจำเป็นจะต้องออกจากสมาธิ ค่อยๆ ถอนจิตออกมา
วิธีถอนจิตออกจากสมาธิก็คือกำหนดอารมณ์ที่หยาบขึ้น อย่างตอนเราอยู่ในสมาธิ มันเหมือนจะไม่หายใจ เราก็เริ่มหายใจให้แรงขึ้น คล้ายๆ ปลุกตัวเองให้ค่อยๆ ตื่น อย่างเวลาเราหลับลึกๆ ตื่นพรวดขึ้นมาปวดหัว จิตอยู่ในสมาธิจะให้มันออก ค่อยๆ หายใจให้แรงขึ้นๆ อย่าฝืน ไม่ใช่จำเป็นต้องลืมตาพรวดพราด ค่อยๆ ถอนๆๆ ขึ้นมา ก็ต้องฝึกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเรื่องของสมาธิต้องให้ชำนาญจนได้วสี 4 ข้อ นึกจะเข้าเมื่อไรก็เข้าได้ นึกจะทรงอยู่นานสักเท่าไรก็ทรงได้ นึกจะเจริญปัญญาอยู่ในสมาธิก็ทำได้ นึกจะออกจากสมาธิก็ทำได้ ถึงจะมีวสีจริง เก่งสมาธิจริง
ในศาสนาพุทธเรา ยกเว้นพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านที่ชำนาญในการเข้าออกสมาธิที่สุดเลยก็คือพระโมคคัลลานะ ท่านถึงมีฤทธิ์เยอะ ท่านสามารถกำหนดจิตเข้าสมาธิปุ๊บ ถอยออกมาอธิษฐานให้เกิดฤทธิ์ กำหนดจิตลงไปอีกก็เกิดฤทธิ์ขึ้น ถอยจิตออกมาอยู่ในภาวะปกติ กำหนดลงไปอธิษฐาน ฤทธิ์ แล้วก็ออกมา แล้วก็ถอนจิตขึ้น ท่านทำได้เร็วยิ่งกว่าฟ้าแลบอีก ฟ้าแลบมันยังแปลบๆๆๆ นาน ท่านทำได้ในแวบเดียว
เคยสวดพาหุงฯ ไหม พาหุงฯ มีอยู่บทหนึ่ง พญานาคเขาท้าสาวก พญานาคเขาจะอ้าปาก บอกให้สาวก ถ้าแน่จริงให้เข้ามาในปาก แล้วพญานาคก็จะงับ งูงับมันไวไหม งูงับมันไว เข้าไปแล้ว ออกจากสมาธิ แล้วกลับเข้าสมาธิ แล้วออกมาก่อนที่งูจะงับ นี่พระโมคคัลลานะทำได้ องค์อื่นพระพุทธเจ้าไม่ให้เล่นเลย ไม่ให้ทำ เพราะนาคตัวนี้ฤทธิ์เยอะ พระโมคคัลลานะท่านฤทธิ์เยอะกว่านาค ท่านบอกนาคระดับนี้สัก 100 ตัว ยังสู้ท่านไม่ได้เลย ของเราเจองูตัวเดียว เราก็จอดแล้ว สู้มันไม่ได้ นี่เรื่องของสมาธิ
เมื่อกี้ติดอยู่ประเด็นหนึ่งคือการเจริญปัญญาในสมาธิ พวกเราไม่ค่อยได้เรียนเท่าไร เพราะว่าพวกเราไม่ค่อยจะมีสมาธิเท่าไรหรอก อันนั้นสำหรับคนที่ได้อัปปนาสมาธิ จิตเข้าอยู่ในฌาน แล้วก็ใช้องค์ฌานนั้นล่ะเป็นอารมณ์ รู้องค์ฌาน เห็นความเปลี่ยนแปลงขององค์ฌานไป อย่างเห็นจิตมีปีติ เห็นปีติเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ปีติดับไป ความสุขมันก็เด่นขึ้น เห็นความสุขเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ความสุขก็ดับไป ความเป็นหนึ่ง เป็นอุเบกขาอะไรก็เกิดขึ้น จิตเข้าออกๆ ในระดับฌานต่างๆ อันนี้รูปแบบหนึ่ง
อีกแบบหนึ่งการทำปัญญาในสมาธิ ก็คือเข้าสมาธิไป พอสงบพักผ่อนพอสมควร จิตมีกำลังแล้ว ถอนจิตออกมาอยู่ในอุปจารสมาธิ ถอนจิตขึ้นมาระดับนึงแล้วก็ทรงไว้อย่างนี้ แล้วก็เห็นความเกิดดับภายใน เดี๋ยวสภาวะบางอย่างผุดขึ้นมาแล้วก็ดับ สภาวะบางอย่างผุดขึ้นมาแล้วก็ดับ อย่างนี้มันเดินปัญญาอยู่ในสมาธิ ในอัปปนาสมาธิเราไปดูที่องค์ฌาน ในอุปจารสมาธิเราจะเห็นสภาวะที่จิตมันปรุงขึ้นมา เกิดดับๆๆ ก็เล่นอย่างนี้ก็ได้
ถ้าทำไม่ได้ก็อยู่ภาวนาข้างนอกนี่ล่ะ เข้าฌานไม่ได้ก็ทำขณิกสมาธิ วิธีทำก็คือฝึกอย่างที่บอกนั่นล่ะ ทำ เลือกอารมณ์ที่อยู่แล้วมีความสุข อารมณ์ไม่ยั่วกิเลส รู้อารมณ์นั้นไปสบายๆ แล้วรู้ทันจิตตัวเองๆ หายใจอยู่ดีๆ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ลืมพุทโธอะไรอย่างนี้ รู้ทันจิตก็ตั้งมั่น มีสมาธิขึ้นมา อยู่ได้ชั่วคราวไหลอีกแล้ว ไหลอีกรู้อีกๆ แล้วมันก็จะเกิดปัญญาขึ้น จิตตรงนั้นทรงขณิกสมาธิอยู่
เรื่องของสมาธิ ถ้าชำนาญ ก็ชำนาญในการเข้า ในการทรงอยู่ ในการเจริญปัญญาในสมาธิ ในการออกจากสมาธิ ออกพรวดพราดมาปวดหัวเลย ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ จิตมีความสุข มีความสุขเยอะเลย มันมีความสุขอีกชนิดหนึ่ง ความสุขจากปัญญา อย่างเราภาวนาไป แล้วจิตมันเกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูกอะไรบางอย่างขึ้นมา มันจะมีความสุขประกอบกับปัญญาขึ้นมาด้วย อย่างบางทีเราไปงานศพ ไปฟังพระเขาสวด พระสวด พระรู้เรื่องหรือเปล่าก็ไม่รู้ ส่วนคนฟังไม่รู้เรื่องอยู่แล้วล่ะ พระสวดเราฟังไป แหม สบายๆ เคลิ้มๆ สบายๆ ลืมตาขึ้นมา มองไปที่โลงศพ โอ พ่อแม่เราตายเสียแล้ว ชีวิตนี้ไม่ยั่งยืนหนอ มันเกิดรู้ปิ๊งขึ้นมาตรงนี้ จิตมันเบิกบานเลย มันมีความสุขขึ้นมาได้เลย
หรือเวลาเราเห็นคนที่เรารักจะตาย แทนที่เราจะร้องไห้ฟูมฟาย เราก็ภาวนาของเราไป พอเขาตายปุ๊บ บางทีเราเห็นเลย จิตมันมีความสุขขึ้นมา มันมีปัญญา มันเห็นจริงว่าคนเราเกิดแล้วก็ตาย จิตก็จะเบิกบานขึ้นมา อันนี้หลวงพ่อก็เคยเห็นด้วยตัวเอง ตอนเตี่ยหลวงพ่อจะตาย เราก็ไปนั่งดูอยู่ใกล้ๆ ตอนนั้นหลวงพ่อยังไม่ได้บวชหรอก ตอนแกจะตาย เราก็นั่งดูไป โอ มันทุกข์ ตายปั๊บลงไป จิตเบิกบานขึ้นมาทันทีเลย ไม่ได้เบิกบานว่าเตี่ยตายแล้วได้มรดก ไม่มีมรดกอะไรเท่าไรหรอก แต่ว่ามันเบิกบานเพราะว่ามันเห็นธรรมะ เออ ชีวิตนี้มันไม่ยั่งยืน ลมหายใจสุดท้ายขาดไปแล้ว ความตายจะมาถึงเมื่อไรไม่มีใครรู้ เมื่อเช้าเขายังไม่รู้ เตี่ยยังไม่รู้เลยว่าลมหายใจจะหมดตอนนั้นตอนนี้ จิตมันเห็นความจริงขึ้นมา มันเบิกบานขึ้นเฉยเลย แทนที่จะเศร้าโศก
เพราะฉะนั้นเวลาจิตมันมีปัญญาเกิดขึ้น มันมีความสุขผุดขึ้นมาได้ด้วย ตอนที่จิตเกิดปัญญามันจะมีเวทนา 2 อย่าง อันหนึ่งมีความสุข อันหนึ่งเป็นอุเบกขา บางทีใจก็เป็นอุเบกขา บางทีใจก็มีความสุขขึ้นมา มีความสุขอีกอันหนึ่งคือความสุขในอริยมรรคๆ เวลาจิตมันตัด ตรงนั้นจิตก็จะเป็นอุเบกขาหรือมีความสุข มี 2 ชนิด บางคนเป็นอุเบกขา บางคนเป็นจิตที่มีความสุขประกอบด้วย ประกอบกับจิตที่เกิดอริยมรรค ถัดจากจิตที่เกิดอริยมรรคก็เกิดจิตที่เกิดอริยผล จิตที่เกิดอริยผล บางท่านมีความสุข บางท่านก็เป็นอุเบกขา อุเบกขานั้นล่ะเป็นความสุขที่ประณีต เพราะตัวความสุขยังเป็นความหวือหวาอยู่ ตัวอุเบกขามันประณีต สงบ จิตก็มีความสุขเป็นลำดับๆ ไป นี่ความสุขจากการปฏิบัติ
อยู่กับโลกเหมือนอยู่ท่ามกลางฝูงงู
พอเราภาวนาไปเรื่อยๆ จิตเราก็หลงโลกน้อยลง เมื่อจิตหลงโลกน้อยลง มาชวนให้เราไปยุ่งกับโลก จิตมันไม่อยากไปยุ่ง อย่างพระมาอยู่กับหลวงพ่อ อยู่กันนานๆ บางทีมีธุระต้องกลับบ้าน ญาติทางบ้านตาย หรือผู้ใหญ่ตายอะไรอย่างนี้ ต้องไป ไม่ไปก็น่าเกลียด ไปที่บ้าน นึกว่ากลับบ้านแล้วจะมีความสุขเหมือนที่เคยมี ไปถึงบ้านเท่านั้น อยากกลับวัดทันทีเลย เห็นโลกนี้มีแต่ความวุ่นวาย ที่นี่ไม่ใช่ที่ของเรา มันจะรู้สึกอย่างนี้เลย ที่ตรงนี้ไม่ใช่ที่ของเราแล้ว ไม่ใช่ที่ที่เหมาะกับเรา
อย่างตอนหลวงพ่อเป็นฆราวาส หลวงพ่อไม่ชอบไปศูนย์การค้า ยิ่งศูนย์การค้าที่วัยรุ่นเยอะ ไปแล้วเวียนหัว มันรู้สึกแปลกแยก ที่นี่ไม่ใช่ที่สำหรับเรา ที่สำหรับเราก็คือที่สงบที่สงัด อยู่ลำพังดีที่สุด สบายที่สุด พอใจมันคุ้นเคยกับความสงบ ใจมันจะคลายออกจากโลก มันจะเห็นว่าโลกไม่ได้ของดีของวิเศษเลย โลกมีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความทุกข์ หาสาระหาแก่นสารอะไรไม่ได้
อย่างเราเห็นเพื่อนฝูงเรานั่งกินเหล้าเฮฮา เมื่อก่อนเราก็กินเหล้าเฮฮาเหมือนเขาล่ะ พอเรามาปฏิบัตินานเข้าๆ เราไปเห็น เห็นเขากินเหล้ากัน เรารู้สึกไม่ได้มีสาระอะไรสักนิดเลย บางทีเห็นเหมือนซากศพกินเหล้าอยู่ ใจมันรู้ว่าคนเหล่านี้ไม่นานก็ตายแล้วล่ะ ก็ยังหลง ไม่รู้จักว่าตัวเองจะต้องตาย เมื่อไรยังไม่รู้เลย บางคนก็ตายเร็ว บางคนก็ตายช้า มันหลงโลกอยู่อย่างนั้น เพราะมันไม่เคยรู้เลยว่ามันจะต้องตาย ตายเมื่อไรก็ไม่แน่ นึกว่าจะอยู่นาน อาจจะไม่นานก็ได้
พอเราภาวนาเราจะเห็นโลกนี้น่าเบื่อ โลกนี้น่ารังเกียจ โลกนี้สกปรก ใจมันคลายออกจากโลก มันจะยิ่งมีความเด็ดเดี่ยว มีความมุ่งมั่นในการภาวนามากขึ้น แล้วเวลาเราต้องสัมผัสกับโลก สติ สมาธิ มันจะทำงานจี๋ขึ้นมาเลย เพราะมันเหมือนเราเดินเข้าไปในฝูงงูพิษ ถ้าเราภาวนาถึงจุดหนึ่งเราจะรู้ โลกนี้เหมือนงูพิษจริงๆ เลย รูปก็เป็นงูพิษ เสียงก็เป็นงูพิษ มันทำให้จิตเราเสียหายได้ทั้งหมด พอเราภาวนา พอจะอยู่กับโลก เหมือนอยู่ในหมู่งูพิษล้อมตัวเราไว้ทั้งหมดเลย มันจะโดนฉกกัดเมื่อไรก็ได้ จิตมันจะ Alert มีสติ มีสมาธิ คอยระมัดระวังอยู่ อินทรียสังวรเกิดขึ้น ศีลอัตโนมัติของเราเกิดขึ้น จิตเราก็ตั้งมั่นอัตโนมัติขึ้นมา มันจะสำรวม มันจะระวัง
พอฝึกมันจะเห็นผล อยู่กับโลกไม่ได้ โลกร้อนเป็นฟืนเป็นไฟเลย มันไร้สาระหาแก่นสารอะไรไม่ได้ จำเป็นต้องอยู่กับมันก็อยู่กับมัน แต่อยู่กับมันเหมือนอยู่ท่ามกลางฝูงงู โลกนี้มีแต่ทุกข์ โลกนี้ไม่มีอะไรหรอก เผลอไปยึดไปถือเข้านิดเดียวก็ทุกข์แล้ว นี่ใจก็จะยิ่งน้อมๆๆ มาหาการปฏิบัติมากขึ้นๆ ช่วงแรกๆ ต้องฝืนใจ ต้องน้อมใจ ต้องชักชวนให้จิตใจปฏิบัติ แต่เมื่อเราปฏิบัติไปถึงช่วงหนึ่ง ไม่ต้องชักชวนแล้ว จิตใจมันเอือมระอาต่อโลกข้างนอก มันอยากปฏิบัติของมันเอง ตรงนี้อัตราเร่งของความก้าวหน้าในการปฏิบัติมันก็จะมากขึ้นๆ ยิ่งภาวนายิ่งไปเร็วขึ้นเรื่อยๆ เร็ว อันนี้ไม่ว่าพระหรือโยมก็ทำได้ ขอให้ตั้งใจเถอะ
ตอนหลวงพ่อเป็นโยมก็ไปกราบครูบาอาจารย์ ส่งการบ้านท่าน ส่งการบ้านเสร็จออกมาจากครูบาอาจารย์ พระที่ท่านอยู่ท่านได้ยิน มาถาม โยมทำได้อย่างไร ทำได้เร็วเหลือเกิน ที่โยมทำปีหนึ่ง พระทำ 10 ปี 20 ปี บางทีไม่ได้อย่างที่โยมทำ หลวงพ่อก็บอกท่านซื่อๆ ผมทำทั้งวัน เพราะเราเห็นแล้วโลกนี้เหมือนงูพิษจริงๆ อยู่กับมัน จำเป็นต้องอยู่ก็ต้องอยู่ไป แต่อยู่ด้วยความไม่ประมาท มีสติคุ้มครองจิตใจของเราอยู่เสมอ จิตใจมันก็จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดรวดเร็วเลย
ที่พวกเราภาวนาแล้วไม่ค่อยได้ผล เพราะอะไร เพราะชอบยุ่งกับโลกข้างนอก วุ่นวายโดยที่ไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นมันก็จำเป็นล่ะ ถ้าไม่จำเป็นก็อย่ายุ่ง ไม่เจอ ไม่ได้คบคนที่ดีกว่าหรือเสมอกับเรา อยู่ตัวคนเดียวดีที่สุด อันนี้หลวงพ่อไม่ได้พูดเอง พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ เราจะอยู่ลำพัง มีกรรมฐานของเราเป็นเพื่อนคู่ชีวิต อย่างหลวงพ่อตั้งแต่เป็นโยม หลวงพ่อมีลมหายใจเป็นเพื่อน ไม่เคยเหงา ตอนวัยรุ่นเหงาเหมือนกัน ยังภาวนาไม่ค่อยเป็น พอภาวนาเป็น ไม่มีคำว่าเหงา ไม่มีคำว่าเบื่อ ไม่มีอะไรเลย มันอยู่อย่างมีความสุข มีความสงบ ในที่ต่างๆ เหมือนกันไปหมด ใจมันสงบ มันมีความสุข
ความสุขอะไรก็ไม่เสมอเท่าความสงบ ความสงบก็มีหลายระดับ สงบด้วยสติ สงบด้วยสมาธิ สงบด้วยปัญญา สงบด้วยมรรคด้วยผล สงบของพระนิพพาน สูงสุดคือสงบด้วยพระนิพพาน อันนี้ยังไม่เล่า เพราะว่าหมดเวลาแล้ว วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ให้พวกเรารู้จักหาความสุขความสงบให้กับชีวิตบ้าง อย่าดิ้นเร่าๆ เหมือนหมาถูกน้ำร้อนตลอดเวลา หรือเหมือนไส้เดือนโดนขี้เถ้า เด็กยุคนี้ไม่รู้จักไส้เดือนโดนขี้เถ้าแล้ว หาไส้เดือนยังไม่ค่อยเห็นเลย ขี้เถ้านี่ไม่มีแล้ว แต่ละบ้านใช้เตาแก๊ส สมัยโบราณใช้เตาฟืนเตาถ่าน มีขี้เถ้า ถ้าไส้เดือนมาถูก โอ มันเจ็บปวดทรมาน ดิ้นเร่าๆ เลย ใจเรานี้ก็เหมือนกัน โดนกิเลสแผดเผาดิ้นเร่าๆ เร่าๆ เลย บอกเหมือนหมาถูกน้ำร้อนยังพอเห็นภาพ ถ้ายุคนี้เหมือนหมาถูกรถชน เอ๋งๆๆ ไป ได้สบายเลย
ฉะนั้นพยายามฝึกตัวเองให้มันได้ลิ้มรสชาติของความสุขความสงบจากการปฏิบัติบ้าง พอได้ลิ้มรสครั้งหนึ่งแล้ว ใจมันจะขยันภาวนา มันจะเริ่มคลายออกจากโลก เพราะมันรู้แล้วว่าเส้นทางของพระพุทธเจ้าเป็นเส้นทางของความสงบ เป็นเส้นทางของบรมสุข
วัดสวนสันติธรรม
24 กรกฎาคม 2565