อย่าเป็นตุ่มรั่ว

วันนี้แปลก นั่งในศาลาดูไม่ค่อยฟุ้ง ธรรมดาวันเสาร์จะดูฟุ้งๆ หรือฝนตกก็เลยสงบหน่อย ซึมๆ ไป มีปัญหาอยู่ข้อหนึ่งสำหรับนักปฏิบัติ ก็คือทำตั้งนานแล้ว ทำไมมันเจริญแล้วเสื่อมอยู่อย่างนั้น ไปทำความสงบมา สงบประเดี๋ยวประด๋าวก็ฟุ้งอีกแล้ว เมื่อไรบารมีจะเต็มสักที รู้สึกช้าจัง เราลองสำรวจตัวเอง เราเป็นประเภทตักน้ำใส่ตุ่มรั่วหรือเปล่าหรือถังรั่ว เติมน้ำลงไปเดี๋ยวก็รั่วออกไปเรื่อยๆ ไม่เต็มสักที เกือบทั้งหมดเป็นแบบนั้น ถึงเวลาก็มานั่งสมาธิ เดินจงกรม หมดเวลาแล้วก็ฟุ้งต่อ ทุกครั้งที่ใจเราฟุ้งซ่าน มันก็เสียพลังงาน ที่อุตส่าห์ทำไว้มันก็รั่วไปหมด ถึงเวลาก็มาทำอีก เหมือนน้ำรั่วไปแล้วก็มาเติมน้ำอีก เดี๋ยวเดียวก็รั่วอีกแล้ว

สิ่งที่จะทำให้เราไม่รั่วมาก อาจจะรั่วนิดหน่อยแต่ไม่รั่วเยอะ คือเรื่องการดำรงชีวิต รู้จักคำว่า “วิเวก” สำคัญ ต้องรู้จักวิเวกบ้าง วิเวกไม่ได้แปลว่าสงบ วิเวกคือการปลีกตัว ออกจากเครื่องพัวพันวุ่นวายทั้งหลาย นิสัยหลวงพ่อไม่ชอบยุ่งกับคนแต่ไหนแต่ไรแล้ว ถึงเวลาไปเรียนหนังสือก็เรียน หมดเวลาก็กลับบ้าน ถึงวัยทำงานก็ทำงาน หมดเวลาก็กลับบ้าน ไม่ไปเที่ยวเล่นเฮฮาอะไรกับใครเขาทั้งสิ้น งานสังคมก็ไปเท่าที่จำเป็น งานที่จำเป็นก็คืองานศพ งานอื่นไม่ไป เลี่ยงได้เลี่ยง ใครจะเลื่อนยศอะไรก็เลื่อนไปเถอะ เราไม่ได้เลื่อนด้วย ไม่ยุ่งด้วย ใครจะฉลองขึ้นบ้านใหม่ ก็ขึ้นไปเถอะ อีกหน่อยก็เก่า

คือใช้ชีวิตแบบมีกายวิเวก เราไม่ไปพัวพัน ไม่ไปวุ่นวายคลุกคลีอยู่กับใคร เวลาส่วนใหญ่คือเวลาที่เราเรียนรู้ตัวเอง บางครั้งเราจำเป็นต้องไปยุ่งกับโลก บางครั้งเราไม่สามารถปลีกตัวได้ เราก็ยังสร้างกายวิเวกไว้ได้ ทั้งๆ ที่เราอยู่ท่ามกลางคนจำนวนมาก คือเรามีสติรักษาจิตของเราไว้นั่นล่ะ มันวิเวกเอง ใครเขาวุ่นวายอย่างไร ใจเราก็สงบสันติอยู่ ทางร่างกาย ทางวาจา จำเป็นต้องยุ่งกับคนอื่น ต้องพูดกับคนอื่น แต่ใจเราสงบอยู่อย่างนั้น ไม่วุ่นวายด้วย พูดไปตามมารยาท พูดไปตามหน้าที่ ฉะนั้นเวลาภาวนากำลังของจิตมันเพิ่มเร็ว ตัวนี้กระทั่งพระบางทียังไม่เข้าใจเลย

 

ภาวนาตั้งแต่ตื่นจนหลับ

หลวงพ่อไปกราบครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ ยุคนั้นมีหลายองค์อยู่ อย่างหลวงตามหาบัวถือว่าเป็นรุ่นเล็ก ไม่ใช่รุ่นใหญ่ รุ่นโตกว่านั้นมีอีก รุ่นโตที่สุดคือหลวงปู่ดูลย์ เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของหลวงปู่มั่นเลย รุ่นกลางๆ ลงมาก็มีหลวงปู่ชอบ หลวงปู่หลุย หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่แหวน หลวงปู่แหวนจริงๆ อาวุโส เป็นรุ่นใหญ่ ท่านญัตติใหม่ก็เลย พรรษาท่านน้อย พระอุปัฏฐากเคยถามหลวงพ่อว่า “โยมเป็นฆราวาสแท้ๆ โยมปฏิบัติอย่างไร พระทำ 10 ปี ทำ 20 ปี ได้ไม่เท่าโยมทำปีเดียว” อันนี้บางทีครูบาอาจารย์บางองค์ ท่านก็พูดกับพระท่าน ลูกศิษย์ท่าน นี้ครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่ มีบางองค์ท่านบอกว่า “พวกเราเป็นพระ ภาวนาให้ได้อย่างโยม อย่างคุณโยมคนเมื่อกี้นี้”

หลวงพ่อเข้าไปกราบ พอหลวงพ่อออกมาจากท่าน ท่านก็เรียกพระอุปัฏฐากเข้าไปบอก “พระทำให้ได้อย่างโยม” บางองค์ถึงขนาดถามว่า หลวงพ่อทำอย่างไร หลวงพ่อก็ตอบท่านตามตรงว่า หลวงพ่อปฏิบัติทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ยกเว้นเวลาทำงานที่ต้องคิด อันนั้นก็จำเป็นก็คิดไป ไม่ได้ปฏิบัติ เวลาที่เหลือตั้งแต่ตื่นนอน เวลาตื่นนอนจิตขึ้นจากภวังค์ ยังไม่มีร่างกาย หลวงพ่อรู้สึกแล้ว รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของจิตขึ้นจากภวังค์ ดูมาตั้งแต่เป็นโยม เสร็จแล้วความรู้สึกทางใจมันเกิดแล้ว จิตมันขยายความรับรู้ออกมากระทบร่างกาย มันจะรู้สึกร่างกายมันนอนอยู่ในท่าไหนอะไร รู้สึก จิตขึ้นจากภวังค์ รู้สึกจิตใจ แล้วก็มารู้สึกร่างกาย ก็ขยายออกไปรู้สึกโลกข้างนอก

ภาวนาตั้งแต่ตื่น หลังจากนั้นไม่ว่าทำอะไร หลวงพ่อมีสติ สติสำคัญมาก ขาดสติคือขาดการปฏิบัติ มีสติคือมีการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นหลวงพ่อมีสติไปเรื่อย หลวงพ่อถึงไปเรียนพระองค์นั้นท่านบอกว่า หลวงพ่อปฏิบัติทั้งวัน คือเรามีสตินั่นเอง พอตื่นขึ้นมาจิตก็เริ่มคิด วันนี้วันจันทร์ก็คิดว่าวันจันทร์ สัญญาจำได้แล้ววันจันทร์ ใจก็เบื่อ วันจันทร์เป็นวันขี้เกียจ วันอังคารก็ขี้เกียจมาก วันพุธก็เซ็งๆ วันพฤหัสเริ่มมีความสุข วันศุกร์กระดี๊กระด๊า แต่ละวันไม่เคยเหมือนกันเลย วันอาทิตย์ตอนบ่ายๆ เริ่มเซ็งแล้ว เริ่มเบื่อ มีสติคอยรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป ตั้งแต่ตื่น เวลาจะหลับก็นอนภาวนาไป หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แต่ถ้าไม่ชำนาญ มันจะไม่หลับ มันต้องมีทักษะ คือคลายสติออกระดับหนึ่ง มีสติแผ่วๆ ก็จะหลับ ถ้าสติเข้มแข็งอยู่ อยู่ทั้งคืนก็ไม่หลับ อันนี้ต้องฝึกเอา คอยมีเทคนิคเอา

อย่างเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วหลับไป ตอนที่ตื่นมันจะตื่นพร้อมกับหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ คล้ายๆ ไม่มีช่องโหว่ อันนี้แรกๆ ก็ยาก ค่อยๆ อดทน ค่อยๆ ฝึก เดี๋ยววันหนึ่งมันก็ทำได้ แล้วเวลานอน ถ้าเราไม่ได้ทรงสมาธิแล้วหลับไป นอนแบบจิตใจปกติ อย่างที่พวกเรานอนกัน จิตมันจะหลับลึก สลับกับหลับตื้น เป็นระยะๆ ตรงหลับลึกมันก็ลงภวังค์เงียบไปเลย หลับลึกอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วจะเคลื่อนขึ้นมาหลับตื้นๆ ยังไม่ตื่น ตรงนั้นล่ะที่จิตมันเริ่มคิด การคิดตอนนอนหลับเขาเรียกว่าฝัน จิตมันก็ทำงานขึ้นมา บางทีจิตมันฝันๆ อยู่ ฝันเรื่องน่ากลัว จิตตกใจ สติระลึกเลย เห็นความตกใจ ความตกใจขาดสะบั้นเลย บางทีฝันเห็นอะไรสวยงาม ราคะเกิดขึ้น สติระลึก ราคะก็ขาด แต่ถ้าตอนที่จิตลงภวังค์ลึกๆ ไม่มีการทำงานอะไร

ค่อยๆ ฝึก พอตื่นมาแล้ว สมมติต้องไปทำงาน รีบไปอาบน้ำ รีบไปเข้าส้วม เข้าห้องน้ำ ทำภารกิจ เข้าห้องน้ำ ถ้าหน้าหนาวจะอาบน้ำ คนโบราณรุ่นหลวงพ่อ ไม่ได้อาบน้ำร้อนน้ำอุ่นอะไรหรอก อาบน้ำในตุ่ม น้ำในตุ่มเย็นเจี๊ยบเลย ตอนกลางวันหน้าร้อนอาบแล้วสดชื่นมากเลย แต่ถ้าตอนเช้าตอนกลางคืนหน้าหนาว แค่เห็นใจสยองแล้ว ยังไม่ทันถูกน้ำ ใจกลัวแล้ว สติระลึกเลย เห็นใจมันกลัวน้ำ ไม่ได้เป็นโรคกลัวน้ำ มันกลัวหนาวนั่นล่ะ กระทั่งอาบน้ำก็ภาวนา เวลาหนาวจัดๆ อาบน้ำขันที่ 1 กับขันที่ 2 ขันที่ 3 ความรู้สึกไม่เท่ากันหรอก อาบไป 4 – 5 ขัน ใจเข้มแข็งขึ้นแล้ว ทีแรกค่อยๆ ล้างเท้าก่อน ล้างเท้า ล้างมือ ล้างหน้า ค่อยๆ ลูบขาลูบอะไร เอาน้ำลูบๆ อยู่ๆ เอาน้ำราดหัวเข้าไป เดี๋ยวช็อกไป เส้นเลือดในสมองแตกเอา

จะทำอะไรมันก็มีสติ มีปัญญา รู้ว่าควรจะทำอะไร ตัวนี้เรียกว่า “สัมปชัญญะ” แค่จะอาบน้ำก็มีสติ มีสัมปชัญญะกำกับ จะขับถ่าย การขับถ่ายแต่ละวัน ความรู้สึกยังไม่เหมือนกันเลย วันนี้ขับถ่ายสะดวก ใจสบาย วันนี้ขับถ่ายไม่สะดวก ไม่สบาย นี่คือการปฏิบัติ อยู่ในส้วมยังปฏิบัติได้เลย บางคนก็สอนกันว่า อยู่ในส้วมอย่าปฏิบัติ เดี๋ยวเทวดาติเตียน เทวดาไม่ติเตียนหรอก เรามีสติอยู่ เทวดารู้ เทวดาเห็น เทวดาอนุโมทนา ไม่มาติเตียนคนที่ทำความดีหรอก อย่างการขับถ่าย มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดาของร่างกาย เทวดาเขาไม่มีลำไส้แบบพวกเรา กินอาหารแล้วไม่ต้องขับถ่าย คล้ายๆ ปี่เซียะ รู้จักไหมปี่เซียะ กินอย่างเดียวไม่ต้องถ่าย พวกเทพเขาเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเขาไม่ติเตียนเราหรอก ว่าเราอุจจาระออกมาแล้วเหม็น สิ่งที่ทำให้เทวดาเหม็นมากๆ คือความทุศีล อันนี้เหม็นที่สุดเลย

สมัยพุทธกาลเทวดาเคยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็ไปเล่า พระพุทธเจ้าบอก “โอ๊ย มนุษย์เหม็นตั้ง 100 โยชน์” 100 โยชน์คือ 1,600 กิโลเมตร กลิ่นสาบของมนุษย์ไกล 1,600 กิโลเมตร หรือ 100 โยชน์ แต่ว่าถ้าคนไหนมีศีลมีธรรม เทวดาบอกหอม เทวดาไม่ได้เอาจมูกมาดมกลิ่นแบบที่พวกเราดม เขาดมกลิ่นทิพย์ อย่างคนทุศีลกลิ่นมันเหม็น คนมีศีลร่างกายอาจจะสกปรกแต่หอม กลิ่นทิพย์ออกจากจิตใจ มันหอม เราพยายามฝึก เข้าห้องน้ำเราก็มีสติไป ขับถ่ายแล้วก็ถ่ายไม่ออก กลุ้มใจ รู้ว่ากลุ้มใจ ขับถ่ายได้ ดีใจรู้ว่าดีใจ จะกินอาหารก็ปฏิบัติ จะขับถ่ายก็ปฏิบัติ จะอาบน้ำก็ปฏิบัติ อาบน้ำ น้ำแต่ละขัน ความรู้สึกเราไม่เท่ากันหรอก ขันแรกน่ากลัวที่สุด ขันสุดท้ายมีความสุข สดชื่นแล้ว จะเลิกแล้ว ยิ่งหน้าหนาว ขันสุดท้ายอาบแล้วมีความสุข พอเช็ดตัวแล้วอุ่นเลย เช็ดตัวแล้วรู้สึกอุ่น แหม มีความสุข

จิตใจมันเปลี่ยนตลอดเวลา จะขับถ่าย จะกินอาหาร จะนั่งรถเดินทาง จะลงเรือ เมื่อก่อนหลวงพ่ออยู่เมืองนนท์ฯ บางทีก็ขึ้นรถเมล์ บางทีก็ลงเรือด่วน เรือแน่นมากเลยยุคนั้น เดี๋ยวนี้ไม่รู้เป็นอย่างไร ถ้าล่มลงมาคงตายเยอะเลย เรือ เพราะมันออกมาไม่ได้ มันแน่น ลงเรือได้ก็มีความสุข แล้วสังเกต คนขึ้นรถกับคนลงเรือ ความรู้สึกไม่เหมือนกัน คนลงเรือ เราไม่ต้องดูจิตหรอก เราเห็นหน้าเห็นตาดูใสๆ ดูมีความสุข เพลินๆ แต่เผลอ พวกเผลอเพลิน แต่พวกนั่งรถพวกนี้เครียด เครียดๆ พวกลงเรือไปมักจะมีความสุข แล้วก็มีโมหะเพลินๆ พวกขึ้นรถก็มีโมหะ แล้วก็เครียด มีโทสะ

วัดตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปดูคนอื่น เราก็วัดใจตัวเอง อยู่กับคนตั้งเยอะตั้งแยะ แล้วก็มีสติรู้ใจตัวเองอยู่ มันก็คือเราอยู่คนเดียวแล้ว นั่นคือการปลีกวิเวก สำหรับคนที่ยังต้องสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนอื่น อันนี้หลวงพ่อฝึกของหลวงพ่อมาตั้งแต่เด็ก ไม่ยุ่งกับใคร ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ทุกวันนี้พอหลวงพ่อเสร็จธุระที่นี่แล้ว หลวงพ่อเข้ากุฏิแล้วก็ไม่ออกมาแล้ว อยู่คนเดียวในกุฏิ ถึงเวลาพระอาจารย์เข้าไป เข้าไปวันละหลายรอบอยู่ เป็นคนเดียวที่เข้าในกุฏิหลวงพ่อ ตอนบ่าย 3 โมง 4 โมง ก็มีพระองค์อื่นๆ เข้าไปช่วยกันเช็ดกุฏิด้านนอก ไปรดต้นไม้ ไปกวาดลานข้างนอก ฉะนั้นเวลาส่วนใหญ่หลวงพ่ออยู่ตามลำพัง ไม่ยุ่งกับใครหรอก

 

เราไม่ทำตัวเป็นตุ่มน้ำที่รั่ว

ชีวิตเราไม่ได้ยืนยาวอะไรนักหนา อยู่กับตัวเองให้มากหน่อย เรียนรู้ตัวเองให้มากหน่อย เวลาเราทำงานทำการ อย่างเราขายของ ถ้าเราเป็นเจ้าของร้าน คนมาในร้านน้อย ไม่สบายใจ ถ้าเราเป็นลูกจ้าง วันนี้คนน้อยหน่อย แหม สบายใจ คอยดูเอา ลูกค้าเยอะก็ดีใจ รู้ว่าดีใจ แต่เยอะไม่รู้จักจบ จนจะปิดร้านแล้วก็ยังมาเคาะ บอกว่าขออีก เติมอีกหน่อย ขอมากินข้าวต่อ ง่วงก็ง่วง เหนื่อยก็เหนื่อย เบื่อก็เบื่อ จำใจ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเสียลูกค้า นี่เราปฏิบัติได้ตลอดเลย

เมื่อวานหลวงพ่อไปตรวจร่างกาย ที่โรงพยาบาลแถวพัทยา เจอหมอคนหนึ่งเขาเป็นเจ้าของโรงพยาบาล เขาบอก โรงพยาบาลช่วงนี้ที่พัทยา มันเป็นโลว์ซีซัน คนน้อย ช่วงไฮซีซัน คนต่างประเทศเข้ามาเยอะเลย แล้วมาเข้าโรงพยาบาลนี้เยอะแยะเลย แกก็บอกว่า “โอ้ คนไข้น้อย แหม ไม่ค่อยสบายใจเท่าไร” ถ้าเราภาวนาเป็น เราจะรู้เลย มีสติอยู่ ความรู้สึกนึกคิดของเราเปลี่ยนแปลงทั้งวัน แต่ละคน ในสถานการณ์อันเดียวกัน คน 2 คนรู้สึกไม่เหมือนกัน อย่างเป็นข้าราชการกินเงินเดือน วันไหนไม่มีราษฎรมาติดต่อ แหม ดีใจ แต่ถ้าเราทำธุรกิจเอง วันไหนไม่มีลูกค้าเลย เซ็งมากเลย

อย่างหลวงพ่อทำราชการ เมื่อก่อนนี้ พอตกเย็นๆ งานลดลงแล้ว คนมาติดต่อก็ไม่มีแล้ว ฉะนั้นสัก 4 โมงเย็น จิตใจมันจะผ่อนคลายแล้ว ไม่ต้อง Alert ไปทำงาน ฉะนั้น 4 โมงเย็น จิตเริ่มมีพลังแล้ว มีทันที ยังไม่ทันไปนั่งสมาธิ เดินจงกรมเลย จิตสงบ จิตสุขขึ้นมาทันทีเลย เลิกงานก็กลับบ้าน อาบน้ำอาบท่า ถ้าวันไหนเหนื่อยนักก็พักผ่อน ซื้อหนังสือการ์ตูนมาอ่าน แต่ก่อนจะมีขายหัวเราะ เดี๋ยวนี้ไม่รู้ยังอยู่หรือเปล่า นานหลายสิบปีแล้ว นั่งดูหนังสือการ์ตูน หัวเราะขำๆ บางอันอ่านแล้วก็ไม่ขำ ไม่ขำก็ไม่ขำ ขำก็ขำ แล้วถึงเวลาเราก็ภาวนาของเรา มีหน้าที่อยู่กับโลกก็ต้องดูข่าว ดูข่าวเสร็จแล้ว ใครเขาจะดูละครหลังข่าว เรื่องของเขาแล้ว ถึงเวลาดูจิตใจตัวเองแล้ว ดำรงอย่างนี้ ดำรงชีวิตอย่างนี้ เวลานั่งสมาธินั่งปุ๊บก็สงบแล้ว นี่สงบแล้ว

พวกเราไม่ทำตัวเป็นตุ่มน้ำที่รั่ว การที่เรามีสติสม่ำเสมอตั้งแต่ตื่นจนหลับ ก็คือเราปฏิบัติตั้งแต่ตื่นจนหลับนั่นล่ะ การที่เรามีสติว่องไว เวลาจิตมันคิดชั่ว มันคิดชั่วแล้วมันก็จะผลักดันให้พูดชั่ว ผลักดันให้ทำชั่ว เรามีสติรู้ตั้งแต่จิตมันคิดชั่วแล้ว มันคิดไม่ดี ถ้าละเอียดกว่านั้น เราเห็นเบื้องหลังของมันก็คือโลภ โกรธ หลง อยู่เบื้องหลังความคิด ถ้าสติเราว่องไว เวลาจิตมันคิดไม่ดีปุ๊บ เราเห็นเลย จิตคิดชั่วแล้ว สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคือกิเลสตัวไหน มันจะเห็นเอง ถ้าเราเห็นอย่างนั้นจบตรงนั้นเลย ไม่พูดชั่ว ไม่ทำชั่ว แต่ถ้าตรงที่จิตคิดชั่ว ดูไม่ทัน มันก็จะเริ่มพูดชั่ว มันจะเริ่มทำชั่ว แล้วก็ผิดศีลข้อ 1 2 3 4 นั่นล่ะ ศีลข้อ 1 2 3 4 สำคัญ ส่วนศีลข้อ 5 นั้น มันเป็นการสนับสนุนความมีสติ ติดยา ติดเหล้าอะไร สติมันอ่อน ฟุ้งซ่าน มันภาวนาไม่ขึ้น

แต่ศีลที่จำเป็นจริงๆ ก็คือข้อ 1 2 3 4 ในองค์มรรค สัมมาวาจามันคือศีลข้อ 4 สัมมากัมมันตะคือศีลข้อ 1 2 3 ส่วนกินเหล้าเมายานั้น มันไปบั่นทอนสัมมาสติ จริงๆ ไม่อยากพูด เดี๋ยวพวกเราจะเอาไปอ้างอิงตามใจกิเลส พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามกินเหล้า ไม่ได้ห้ามกินเหล้าทั้งหมด เป็นยา ทำได้ ถ้ามันไม่มีกลิ่น ไม่มีรสแบบเหล้า ผสมแอลกอฮอล์ ผสมยาอะไรอย่างนี้ ทำได้ หรือฆราวาสเขาทำอาหารใส่เหล้าเป๊กหนึ่ง ไม่มีกลิ่นเหล้า อย่างนั้นพระก็ยังฉันได้ เพราะอะไร ฉันแล้วไม่ขาดสติหรอก อย่างกินยา ยามีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เป็นตัวละลายยา ก็ฉันได้

เมื่อก่อนมันจะมียาชนิดหนึ่ง เขาเรียกยาธาตุ เดี๋ยวนี้ไม่รู้มีไหม ยาธาตุมันจะมีแอลกอฮอล์เยอะ พระโบราณฉันแต่ยาธาตุ บางองค์ไม่ใช่ทุกองค์ คนก็สงสัยทำไมท่านปวดท้องหรือ ฉันยาธาตุทุกวันจนหน้าแดงทั้งวันเลย ฉันวันละหลายขวด อย่างนี้มันผสมยาจริง แต่เจตนามันจะกินเหล้า อันนี้อาบัติ ดูที่เจตนา แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เด็ดขาด 1 2 3 4 อันนี้เป็นของสำคัญ ถ้าสัมมาวาจาไม่ดี การกระทำ ลงพูดชั่วได้สักอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านบอกเลย “คนเราลองพูดชั่วได้เสียอย่าง พูดเท็จได้เสียอย่าง ความชั่วอื่นก็ทำได้หมด” คือมีมิจฉาวาจาได้ มันก็มีมิจฉากัมมันตะ มันก็ทำชั่วได้หมด ก็มิจฉาอาชีวะก็มีแน่นอน ทำได้

ฉะนั้นเราพยายามพัฒนาสติของเราตั้งแต่ตื่นจนหลับ คอยเอาสตินี้ล่ะอ่านจิตอ่านใจตัวเองไป ศีลเราจะดี สมาธิเราจะพัฒนา มันจะไม่มีลักษณะของตุ่มรั่ว เรามีสติอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้ ถึงเวลานั่งสมาธิแป๊บเดียวก็สงบแล้ว ไม่ยาก แต่ถ้าฟุ้งซ่านทั้งวัน ไปนั่งสมาธิก็นั่งฟุ้งๆ แป๊บเดียวก็หลับ ทำไมมันหลับเก่ง จิตมันเหนื่อยเต็มทีแล้ว มันฟุ้งซ่านมาทั้งวันแล้ว มันต้องการพักแล้ว แต่ถ้าเรามีสติอยู่ทั้งวัน จิตมันไม่เหนื่อย ร่างกายอาจจะเหนื่อย พักผ่อนเสียหน่อยหนึ่งก็หาย แต่จิตมันไม่เหนื่อย สมมติร่างกายเราเหนื่อยมากจริงๆ ก็นอน นอนไปหายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป จิตใจกลับไปคิดเรื่องงาน คิดเรื่องคนอื่น วุ่นวายขึ้นมา มีสติรู้ทัน

 

ปัญหาก็แก้เท่าที่แก้ได้ แต่ใจเราเราต้องรักษา

ฉะนั้นการปฏิบัติ พยายามมีสติรู้ทันจิตใจตัวเองไป ศีลมันก็จะเกิดขึ้น สมาธิมันก็จะเกิดง่าย พอเรามีสติ เรามีศีล เรามีสมาธิแล้ว มันเกื้อกูลให้เกิดปัญญา อย่างบางคนฉลาดมาก แต่ไม่เอาเลย ไม่เอาศีล หลวงพ่อเคยเจอบอกว่า ให้รักษาศีล สอนลูกให้มีศีล บอกไม่เอา ถ้ามีศีลแล้วไม่ทันผู้ทันคน อยู่กับโลกร่ำรวยได้ วุ่นวายไม่มีศีล แต่ไม่เคยมีความสุขจริงเลย มันไม่มีความสงบในจิตใจ มันคอยระวัง คอยระแวง ตอนไปโกงเขาได้ก็ลำพอง โกงแล้วก็ต้องมาพิจารณา มีช่องโหว่ตรงไหนไหม ชีวิตมันไม่มีความสุข

หรืออย่างนักการเมือง นักการเมืองเกือบทั้งหมดผิดศีลอยู่ข้อหนึ่งที่เห็นๆ คือมุสา มุสา หลอกอย่างโน้น หลอกอย่างนี้ แค่เริ่มต้น “พี่น้องประชาชนที่รักทั้งหลาย” มันรักตอนจะหาเสียง เสร็จแล้วมันก็หายไปเลย ตอนมาหาเสียง มาไหว้ประชาชน ไหว้เรา หลังจากนั้นเรามีธุระไปหาเขา เราต้องไหว้เขาแล้ว เขาไหว้เรา 1 ที เราไหว้เขา 4 ปี จะทำโน่นจะทำนี่ จะให้นั่นจะให้นี่ มันก็มุสา พูด รู้อยู่ว่าทำไม่ได้จริง วันนี้ 24 มิถุนายน เปลี่ยนแปลงการปกครอง 90 กว่าปีแล้ว มาถึงจุดตรงนี้ก็ยังดี ดีตามสภาพ

ฉะนั้นในโลกมันไม่เป็นไปอย่างที่เราอยาก มันเป็นอย่างที่มันต้องเป็นนั่นล่ะ ฉะนั้นเราพัฒนาสติรักษาจิตของเราไว้ให้ดี เวลาปัญหาชีวิต หรือปัญหาบ้านเมือง ปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็ตาม เรามีสติ เรามีสมาธิ จิตใจเราเที่ยงธรรม เราก็จะมองปัญหาทั้งหลาย ตรงตามความเป็นจริง พอเราเห็นปัญหาทั้งหลาย ถูกต้องตามความเป็นจริง เรารู้มันมีปัญหา ปัญหานี้เกิดจากอะไร ถ้าจะแก้ก็แก้ที่เหตุของปัญหา บางทียังแก้ไม่ได้ก็แขวนไว้ก่อน ปัญหาเรื่องหนึ่งในสถานการณ์หนึ่ง อาจจะมีปัญหาตั้งหลายเรื่อง พอเรามีสติ เรามีสมาธิ เราก็จะรู้ว่าอันไหนแก้ได้ อันไหนยังแก้ไม่ได้ อันไหนแก้ได้ก็แก้เสียก่อน อันไหนยังแก้ไม่ได้แขวนเอาไว้ก่อน มีโอกาสก็ไปแก้มัน

เราก็จะมีปัญญาอีก เราจะรู้ อะไรเป็นปัญหาสำคัญ ปัญหาหลัก อะไรเป็นปัญหาจิ๊บจ๊อย เล็กๆ น้อยๆ ถ้าเลือกได้ ถ้าทำได้ แก้ปัญหาหลักเสียก่อน แล้วปัญหารองเล็กน้อยเอาไว้ทีหลัง ค่อยๆ พัฒนา มีสติดูแลจิตใจของเรา สุดท้ายมันก็จะมีปัญญาสามารถดำรงชีวิต แบบที่เข้าใจโลก เข้าใจโลกเข้าใจปัญหานั่นล่ะ โลกมันมีแต่ปัญหา มีแต่ความวุ่นวาย เราก็จะเข้าใจมัน มันเป็นอย่างนี้ล่ะ มันไม่ได้เป็นอย่างที่เราอยาก สิ่งที่เราจะได้มาคือเราไม่ทุกข์ ปัญหาบางทีแก้ไม่ได้ แต่ความทุกข์นี้ขจัดออกจากใจเราได้ คนละอันกัน ระหว่างปัญหากับความทุกข์ อย่างเราไม่สบายเป็นปัญหา ก็ให้หมอรักษาไป เราก็ร่วมมือกับหมอ บอกให้ฉันยาก็ฉันไป บอกให้งดอันนั้นก็งดไป เท่าที่ทำได้ แต่พระทำไม่ได้หรอก อย่างหมอมาสั่งบอกว่า “อย่าฉันอันนั้น อย่าฉันอันนี้ ให้ไปบอกโยม ทำอาหารอย่าให้รสจัด อย่าให้เค็ม อย่าให้เผ็ด” อะไรอย่างนี้ พระเลือกไม่ได้ เลือกไม่ได้ก็หันมาบอก ฉะนั้นฉันข้าวเยอะหน่อย หมอบอกอีกแล้ว ฉันข้าวเยอะไม่ได้ เดี๋ยวน้ำตาลเยอะอีก รวมแล้วไม่รู้จะทำอะไร เพราะว่าเป็นปัญหา

ปัญหาเราก็แก้เท่าที่แก้ได้ แต่ใจเราเราต้องรักษา ร่างกายเรามีคนอื่นช่วยได้ แต่ใจเรานั้นต้องช่วยตัวเอง ไม่มีใครเขาช่วยเราได้หรอก วิธีที่จะช่วยตัวเอง คือพัฒนาสติขึ้นมา ดูแลรักษาจิตตัวเอง ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ทำเท่าที่ทำได้ให้มากที่สุด อย่างขณะฟังหลวงพ่อเทศน์นี้ จิตใจเราสุข หรือจิตใจเราทุกข์ จิตใจเราสงบ หรือจิตใจเราฟุ้งซ่าน เราก็แค่ตามรู้ตามดูไป การดูจิตดูใจต้องเข้าใจหลัก เราจะตามรู้ อย่าไปดักรู้ อย่าไปรอดูว่าต่อไปนี้จิตจะเป็นอย่างไร ทำอย่างนั้นจะไม่ได้เรื่องเลย ทำผิดเลย การดูจิตดูใจให้ตามรู้เอา จิตมีความสุขก็รู้ว่ามีความสุข จิตมีความทุกข์ก็รู้ว่ามีความทุกข์ จิตมีความโลภรู้ว่ามีความโลภ จิตไม่โลภรู้ว่าไม่โลภ จิตมีความโกรธเกิดขึ้น รู้ว่าจิตมีความโกรธ จิตหายโกรธรู้ว่าจิตหายโกรธ

 

 

ความรู้สึกทั้งหลายมันเกิดขึ้นก่อน เรามีสติตามระลึกไป มันไม่เหมือนการดูกาย ดูกายเราดูเดี๋ยวนี้ กำลังนั่ง กำลังนอน กำลังหายใจออก กำลังหายใจเข้า มีคำว่า “กำลัง” คือเดี๋ยวนี้ แต่ถ้าดูนามธรรม สุขแล้ว ทุกข์แล้ว ดีแล้ว โลภ โกรธ หลงแล้ว หัดดูไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะเห็น ถึงจุดหนึ่งเราก็จะเห็น ความรู้สึกทั้งหลายทั้งปวง ผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ของจิต ถ้าเราไม่มีสติ ความรู้สึกทั้งหลายทั้งปวงก็ครอบงำจิต เช่น ความสุขเกิดขึ้น เราไม่มีสติคุ้มครองรักษาจิต จิตก็โดนความสุขครอบงำ มันก็เพลิน เผลอเพลินมีความสุขไป ก็เป็นราคะชนิดหนึ่ง หรือโทสะเกิดขึ้น ถ้าเรามีสติ เราก็รู้ว่าโทสะเกิด โทสะจะดับ จิตใจเราก็เป็นอิสระอยู่ ไม่ถูกกิเลสครอบงำ

แต่ถ้าโทสะเกิดเราไม่เห็น โทสะก็ครอบงำจิต พอโทสะครอบงำจิต คราวนี้จิตก็ทำไปตามอำนาจโทสะแล้ว เริ่มตั้งแต่คิดชั่ว แล้วก็มาพูดชั่ว แล้วก็มาทำชั่ว หากินชั่วๆ แล้วก็ขาดการปฏิบัติธรรม ขาดสัมมาวายามะ ขณะนั้นขาดสติ ขณะนั้นจิตไม่มีสมาธิ องค์มรรคนี้ถล่มทลายหายไปหมดเลย ไม่เหลือเลย แต่ถ้าเรามีสติรักษาจิตเพียงอันเดียวนี้ล่ะ องค์มรรคทั้งหมดมาหมดเลย ตรงที่เราได้ยินว่า “ให้มีสติรักษาจิตไว้” นั่นเป็นสัมมาทิฏฐิ คือเรามีทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ มีสติรักษาจิตไป กิเลสอะไรเกิดขึ้น รู้ทัน พอรู้ทันมันก็ไม่คิดชั่ว ถ้ารู้ไม่ทันมันก็คิดชั่ว

ถ้ามันคิดชั่ว คือมันถูกกิเลสครอบงำจิตใจไปแล้ว แล้วมันจะอยากพูดชั่ว พอเรามีสติรู้มันก็ไม่พูดชั่ว ถ้าไม่มีสติรู้ มันก็พูดชั่ว มันพูดชั่ว มันคิดชั่ว มันพูดชั่วแล้ว ถ้าเรามีสติรู้ โอ๊ย นี่มันชั่วนี่ กิเลสก็จะดับไป จิตใจก็สบายผ่องแผ้วขึ้นมา ถ้ายังไม่รู้ทัน มันพูดชั่วก็ยังไม่รู้ คิดชั่วก็ไม่รู้ คราวนี้มันก็ทำชั่วทุกอย่าง ทำได้หมด ขณะนั้นก็ไม่มีสัมมาวายามะ คือไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่มีสัมมาสติ คือสติที่ระลึกรู้รูปนามกายใจ ไม่มีสมาธิคือความตั้งมั่นของจิตใจ จิตใจที่ไม่มีสมาธิมันจะป้อแป้ อ่อนแรง กระสับกระส่าย บางทีก็ไม่มีความสุข บางทีก็หมดเรี่ยวหมดแรง หล่นแป้กลงไปนอนนิ่งๆ ซึมๆ เซื่องๆ ไป อันนั้นจิตมันไม่มีกำลัง

ฉะนั้นการที่เรามีสติรักษาจิตเรื่อยๆ นอกจากศีลแล้ว สมาธิเกิดง่าย ไปทำในรูปแบบหายใจ 2 – 3 ที สมาธิก็ตั้งมั่นมีกำลังขึ้นมาแล้ว เรื่องจิตมีกำลังสำคัญมาก มันคือจุดอ่อนที่ร้ายแรงของฆราวาส อันนี้ไม่นับถึงฆราวาสที่ไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยมีสัมมาสติ พอเราเคยฟังธรรม เรารู้วิธีเจริญสติแล้ว แต่เราไม่ค่อยทำ วันๆ เราก็ปล่อยใจฟุ้ง คลุกคลีกับโลก คลุกคลีกับคนอื่น คลุกคลีด้วยการเจอตัว หรือคลุกคลีทางอินเทอร์เน็ต นั่นคือคลุกคลีทั้งหมด คลุกคลีในอินเทอร์เน็ต ตัวร้ายเลย หมดเวลาวันหนึ่งๆ ใจก็ฟุ้งๆๆ ไปเรื่อย กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงทั้งวัน แล้วบอกตอนเย็นมานั่งสมาธิ ทำไมหนูทำแล้วมันไม่ค่อยสงบ หรือทำไมผมทำทีไรหลับทุกทีอะไรอย่างนี้ ก็มันกลางวันมันไม่ทำเลย มันฟุ้งซ่านตลอด มันจะไปเอาแรงที่ไหนไปปฏิบัติ ถึงตอนนั้นจิตมันต้องการสลบแล้ว ไม่ใช่สงบ ไม่ได้อยากได้สมาธิแล้ว มันอยากหลับให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป

เพราะฉะนั้นเราต้องพยายาม มีสติคุ้มครองรักษาจิตไว้ ในทางร่างกายเรา ถ้าเราปลีกวิเวกได้ เช่น เราไม่ต้องไปจำเป็นต้องยุ่งกับคนอื่น เราก็อย่าไปยุ่ง อย่างในวัดหลวงพ่อจะกำชับพระ ว่าอย่าไปยุ่ง หมดเวลาฉันข้าวแล้วแยกย้ายไปปฏิบัติ ต่างคนต่างอยู่ ถึงเวลาบ่ายๆ มาทำข้อวัตร กวาดวัด ไปรดต้นไม้อะไร มันหน้าที่ของพระ เป็นข้อวัตรที่ต้องทำ ดูแลวัด ดูแลเสนาสนะ ต้องทำ หมดหน้าที่แล้ว ทำงานเสร็จหมดแล้ว งานส่วนกลางเสร็จ ทำวัตรสวดมนต์ เสร็จธุระแยกย้าย อย่าตะเกียกตะกายไปเยี่ยมองค์โน้นที่กุฏินั้น องค์นี้กุฏินั้น

ที่นี่มีระเบียบ กลางคืนห้ามพระไปที่กุฏิพระอื่น ถ้าหลวงพ่อไม่รู้ก็แล้วไป ถ้าหลวงพ่อรู้ หลวงพ่อเอาเรื่อง มันอันตราย นอกจากตัวเองจะภาวนาไม่ได้ ฟุ้งซ่าน คือยุคนี้เราก็ต้องยอมรับความจริง คนเป็นเกย์เยอะ พระที่เป็นเกย์ก็เยอะ ที่มีปัญหาวุ่นวายอะไรขึ้นมา เพราะไม่รักษาระเบียบแบบแผนที่ดี ถ้าเราแยกกันอยู่ โอกาสพลาดอาบัติร้ายแรง มันไม่มีหรอก ฉะนั้นศีลเรารักษาให้ดี ทั้งพระ ทั้งโยม อย่างพระยุ่งกับคนทั้งวัน พระเล่นอินเทอร์เน็ต ที่นี่มีระเบียบ ไม่ให้พระเล่นอินเทอร์เน็ต พอเล่นแล้วก็หายนะแน่นอน ในสิ่งที่ครูบาอาจารย์ห้ามๆ เอาไปทำ อย่าละเมิด ไม่ได้ห้ามส่งเดช บ้าอำนาจ กำหนดเงื่อนไขโน้น เงื่อนไขนี้ แต่ทำไปเพื่อคุ้มครองพวกเรา ซึ่งอินทรีย์มันยังอ่อนอยู่ มันจะได้ไม่พลาด

ของโยมก็เหมือนกัน รักษาศีลไว้ให้ดี แล้วก็วิเวกบ้าง อย่าวุ่นวายมาก เล่นอินเทอร์เน็ต คลุกคลี บอกตัวไม่เจอกัน แต่มันเจอกันทางอินเทอร์เน็ต ถ้าทำอย่างที่หลวงพ่อว่าได้ หลวงพ่อบอกนี้ ถ้าเราทำได้ ไม่นานจิตเราจะมีพลัง พอจิตเรามีพลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว เราจะเห็นเลย กายกับจิตคนละส่วน รูปนามแยก ความสุขความทุกข์กับจิตก็คนละส่วน ความดีความชั่วกับจิตก็คนละส่วน แล้วจิตมันตั้งมั่นอยู่นี้ พอจิตมันขยับเขยื้อนเราก็จะเห็น มันตั้งมั่นอยู่ดีๆ อ้าว เดี๋ยวเคลื่อนไปทางตา เดี๋ยวรู้ทันก็ตั้งมั่น เดี๋ยวเคลื่อนไปทางหู รู้ทันก็ตั้งมั่น สุดท้ายมันก็เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปทั้งสิ้น กระทั่งจิตเองก็เกิดดับๆ เดี๋ยวเกิดทางใจ เป็นกุศล เดี๋ยวเกิดทางใจ เป็นอกุศล เดี๋ยวเกิดทางใจ เป็นสุข เดี๋ยวเกิดทางใจ เป็นทุกข์ เดี๋ยวเกิดทางใจเฉยๆ เดี๋ยวเกิดทางตา เดี๋ยวเกิดทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อันนี้ถ้าไปตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตจะเฉยๆ จิตที่ไม่เฉย มาเกิดจิตทางใจ

ค่อยๆ ฝึก จิตจะมีพลัง มีพลังแล้วก็จะแยกขันธ์ได้ พอแยกขันธ์ได้มันก็จะเห็น ขันธ์ทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นสุขและทุกข์ก็เสมอกัน ดีและชั่วก็เสมอกัน เกิดสุขหรือเกิดดี จิตก็ไม่หลงระเริง เกิดทุกข์หรือจิตมีกิเลส จิตก็ไม่เศร้าหมอง มันเห็นเป็นแค่สิ่งแปลกปลอม ที่ผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ แล้วก็ผ่านไป จิตก็มีพลัง ห่างไกลความปรุงแต่งออกไปเรี่อยๆ ถ้าเรายังหลงยินดี หลงยินร้าย ในสุข ในทุกข์ ในดี ในชั่วอยู่ ก็ยังปรุงแต่งไม่เลิก เช่น มีความสุขเกิดขึ้น ก็พยายามรักษาความสุข ความสุขหายไปแล้ว ก็พยายามแสวงหา กิเลสเกิดขึ้นก็พยายามทำลาย กิเลสดับไปก็พยายามป้องกันไม่ให้เกิดอีก มีกิจกรรมที่จะต้องทำมากมาย อันนั้นล่ะจิตปรุงแต่ง ฉะนั้นให้มีสติรักษาจิตไปเรื่อยๆ แล้วทุกอย่างดีเอง

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 มิถุนายน 2566