ศีลและสมาธิเพื่อการเจริญปัญญา

เวลาเราฟังธรรม ให้จิตใจมันอยู่กับตัวเอง ย้อนกลับเข้ามาที่ตัวเอง ถ้าใจเรามาอยู่ที่หลวงพ่อ ธรรมะมันเข้าสมอง มันไม่เข้าใจ เรียนธรรมะ ทำใจสบายๆ เปิดใจ เราไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเครียด ใช้ใจที่ปกติมาเรียนธรรมะ

จิตใจของเราทุกคน โดยตัวมันเองมันสว่างมันผ่องใสอยู่แล้ว มันสบาย มันเศร้าหมอง เพราะกิเลสแทรกเข้ามา กิเลสผ่านเข้ามาทีไรใจเราก็ขุ่นมัว ใจเรามันเหมือนน้ำใสๆ น้ำใสๆ สบาย นิ่งๆ สว่าง สงบ แต่พอมีผัสสะมากระทบใจ มันเหมือนเราเอามือไปกวนน้ำในตุ่ม ตะกอนมันก็กระจายขึ้นมา น้ำก็เลยดูมอมๆ สกปรก ใจของเราก็คล้ายๆ น้ำในตุ่ม เวลาไม่มีอะไรมากระทบ เป็นธรรมชาติธรรมดาเดิมๆ ของมัน น้ำก็ใส ใจมันก็ใส ใจมันก็สว่าง สบาย พอมีผัสสะมากระทบ อนุสัยกิเลสที่มันซ่อนอยู่ก้นตุ่มน้ำหรือก้นจิตใจเราก็ทำงาน ใจเราก็ฟุ้งซ่าน วุ่นวาย สกปรกขึ้นมา

 

เจริญปัญญาโดยไม่มีสมาธิ ก็เป็นไปไม่ได้

ใจที่ฟุ้งซ่าน วุ่นวาย สกปรก เจริญปัญญาไม่ได้จริง พยายามเจริญปัญญากลายเป็นฟุ้งซ่าน เพราะจริงๆ แล้วการเจริญปัญญากับความฟุ้งซ่านคาบเส้นกันนิดเดียว หลวงพ่อพุธท่านเคยสอน ว่าการเจริญปัญญากับความฟุ้งซ่านมันคาบเส้นกันนิดเดียว ถ้าเราไม่มีสติไม่มีสมาธิกำกับจิตใจอยู่ เวลามันกระทบอารมณ์ มันไม่เจริญปัญญา มันจะฟุ้งซ่าน เวลากระทบอารมณ์แล้วเรามีสติอยู่ เรามีใจตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ มันจะเกิดปัญญา เพราะฉะนั้นจะฟุ้งซ่านหรือจะเกิดปัญญาก็มีการกระทบอารมณ์

อย่างเราหลายคนกระทบอารมณ์อย่างเดียวกัน บางคนเห็นหลวงพ่อ หลวงพ่อก็เป็นอารมณ์ เป็นอารมณ์หมายถึงเป็นสิ่งที่จิตพวกเรามาเห็นเข้ารู้เข้า พอจิตเรามาเห็นหลวงพ่อ บางคนเคยฝึกจิตใจให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ก็จะเกิดปัญญา เห็นหลวงพ่อก็เหมือนเห็นโลกธรรมดาว่างเปล่า ไม่มีอะไร แต่ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น ไม่มีสมาธิ พอเห็นหลวงพ่อก็คิดต่อเลย วันนี้หลวงพ่อจะเทศน์เรื่องอะไร เราจะฟังรู้เรื่องไหม จะสนุกไหม หรือว่าจะเคร่งเครียด

นี่กระทบ ตาเห็นหลวงพ่อ คนหนึ่งจิตเจริญปัญญาได้ เห็นไตรลักษณ์ เห็นหลวงพ่อไม่ใช่ตัวใช่ตนได้ เป็นแค่รูปที่มองเห็น ในขณะที่อีกคนหนึ่งเห็นหลวงพ่อมีตัวมีตนจริงๆ แล้วก็คิดต่อไป หลวงพ่อจะมาทำอะไร จะสอนอะไร ฉะนั้นผัสสะสิ่งเดียวกัน แต่ผลได้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน

เวลาที่เราจะเจริญปัญญา ขั้นแรก เราต้องฝึกจิตของเราให้ตั้งมั่นก่อน ถ้าจิตเราวอกแวกๆ ไม่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แต่มันเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง แล้วเราบอกว่าเราจะเจริญปัญญา เวลาตากระทบรูป เราก็คิดพิจารณารูป หูได้ยินเสียง ก็คิดพิจารณาเสียง อันนั้นคือความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านของจิต จิตมันทำงานไม่เลิก

เพราะฉะนั้นถ้าหากจิตเราตั้งมั่น ตาเห็นรูป มันก็จะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูป เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของตา หูได้ยินเสียงก็จะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของเสียง ความเป็นไตรลักษณ์ของหู ใจกระทบอารมณ์ก็เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของอารมณ์ แล้วก็ความเป็นไตรลักษณ์ของจิตใจ ถ้าจิตเราตั้งมั่น ปัญญามันถึงจะเกิดได้

ในอภิธรรมเขาจะสอนบอก สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา อันนี้เขาสอนถูกว่าเราต้องพัฒนาจิตใจเราให้มีสัมมาสมาธิขึ้นมาให้ได้ จิตที่มีสัมมาสมาธิ มันคือจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นจิตธรรมดา จิตธรรมดาที่สุด คำว่าจิตธรรมดาก็คือจิตปกติก่อนที่กิเลสมันจะเข้ามา พอกิเลสมันเข้ามา จิตมันก็ไม่ธรรมดา มันกลายเป็นจิตสุข จิตทุกข์ จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลงอะไรอย่างนั้นไป พอจิตไม่ธรรมดา จิตก็ไม่สามารถเห็นความเป็นธรรมดาของร่างกาย ไม่สามารถเห็นความเป็นธรรมดาของจิตใจได้

ฉะนั้นจุดสำคัญเลยที่เราจะรอดหรือไม่รอดในการปฏิบัติ อยู่ที่เราสามารถฝึกจิตของเราให้มีสมาธิที่ถูกต้องหรือเปล่า ถ้าจิตเราไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง การเจริญปัญญาทำไม่ได้จริง อย่างบางคน บางที่เขาสอนกันให้คิดพิจารณาร่างกายไปเรื่อยๆ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา คิดไปเรื่อยๆ แล้วสบายใจ แล้วบอกว่านี่เจริญปัญญา อันนั้นฟุ้งซ่านๆ

แต่ก่อนหลวงตามหาบัวท่านก็ตำหนิวิธีการปฏิบัติแบบนั้น เพราะมันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร แต่เวลาอยู่ๆ เราคิดพิจารณาไป แล้วใจมันก็สบาย มันจะโล่งๆ แปลกๆ หรือบางคนไปอ่านหนังสือเซน หนังสือเว่ยหลาง ฮวงโปอะไรพวกนี้ ถามว่าคำสอนของท่านเหล่านี้ดีไหม ดี แต่อ่านแล้วเพลิน ใจเราไม่ตื่นขึ้นมา ใจมันรู้สึกแปลกๆ จะมีความรู้สึกที่แปลกๆ เกิดขึ้น ดูดีมากเลย แต่ใจอย่างนั้นไม่ได้พร้อมที่จะเจริญปัญญาจริง

คนไทยก็คิดว่าเซนคือนั่งฟังอะไรแล้วก็ปิ๊ง เข้าใจธรรมะขึ้นมา อันนั้นไม่ได้เข้าใจเซนจริงๆ คำว่าเซนคือคำว่าฌาน เพราะฉะนั้นก่อนที่เขาจะมาเจริญปัญญา เขาทำฌานก่อน เขานั่งสมาธิ อย่างเราเคยดูหนังอิคคิวซังอะไรไหม ใครเคยดู เห็นไหมเขานั่งสมาธิ เขาไม่ใช่นั่งคิดฟุ้งๆ ไปเรื่อยๆ ของเราเรียนเซน เราก็เอาเซนมาบางส่วน คือเอาเรื่องการเจริญปัญญาเข้ามา แต่ทิ้งเรื่องสมาธิไป

มีครั้งหนึ่งหลวงปู่เทสก์ท่านเคยพูดเลยว่า เซนเขาก็ดีแต่เขาบรรลุมรรคผลไม่ได้หรอก เพราะเขาทิ้งสมาธิ อันนี้คือเซนในไทยๆ ที่ไปอ่านหนังสือเซนแล้วใจรู้สึกโล่ง ว่าง สว่าง มีปัญญา มันยังไม่ใช่ของจริง ฉะนั้นถ้าเราอยากดี อยากปลอดภัยจริงๆ ในการปฏิบัติ เราเดินตามแผนผังที่พระพุทธเจ้าวางไว้ให้เรา อย่ากระโดดข้ามขั้น ไม่ใช่ไม่มีศีล ก็โดดขึ้นไปทำสมาธิ ไม่มีศีลแล้วไปทำสมาธิได้ไหม ก็ได้ แต่มันก็จะเกเรแบบเทวทัต เทวทัตทำสมาธิได้แต่เทวทัตไม่มีศีล สุดท้ายเทวทัตก็ลงอเวจี เจริญปัญญาโดยไม่มีสมาธิ ก็เป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้นแบบเรียนที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา มีขั้นมีตอน มีลำดับที่ชัดเจน ก่อนเจริญปัญญานั้นต้องมาฝึกจิตให้ตั้งมั่นก่อน ก่อนที่จะลงมือฝึกจิตนั้น ต้องตั้งใจรักษาศีล 5 ให้ได้ก่อน หลวงพ่อยังสอนพระในวัดเลยว่าศีล 5 สำคัญ บางทีพวกพระก็ถือว่ามีศีล 227 ละเลยศีล 5 ไปไม่รอด ไปดูให้ดี ศีลในองค์มรรคมันคือศีล 5 ไม่ใช่ศีล 227 เพราะฉะนั้นตั้งใจรักษาศีล รักษาศีล 5 ให้เด็ดเดี่ยวลงไป

 

ศีลเป็นเครื่องขัดเกลากายวาจาให้สะอาดหมดจด

การรักษาศีลไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเราเป็นฆราวาส แค่รักษาศีล 5 ยังลำบากเลย หลวงพ่อก็เคยเจอปัญหา ตอนนั้นรับราชการอยู่ นั่งโต๊ะทำงานติดกับหัวหน้ากองแล้วโทรศัพท์มันอยู่ตรงกลาง ระหว่างโต๊ะหัวหน้ากองกับโต๊ะหลวงพ่อ หัวหน้ากองแกจะรีบทำงาน แกก็สั่งหลวงพ่อว่า ถ้าใครโทรศัพท์มาหาแก บอกว่าแกไม่อยู่ แกไปประชุม เราก็ โอ๊ย ตายแล้วหว่า อย่างนี้ศีลเราก็ขาดสิ เราพูดเท็จทั้งๆ ที่เราไม่ได้เจตนาเลย เราถูกบังคับ ถ้าเราไม่ทำตามที่เขาสั่ง เดี๋ยวก็เล่นงานเราอีก

ทำอย่างไรจะพยายามรักษาศีลให้ได้ มันต้องใช้สติ ใช้ปัญญา ใช้ความฉลาดรอบคอบของเรา ค่อยๆ ดูไป จะแก้ปัญหาอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนบอกว่า เป็นฆราวาสจะถือศีลให้สะอาดหมดจดเหมือนหอยสังข์ที่ขัดมาดีแล้ว หอยสังข์ที่ขัดดีแล้วสวยไหม ขาว สะอาด มันวาว ดูดี บอกว่าจะถือศีล ฆราวาสจะถือศีลให้สะอาดหมดจดเหมือนหอยสังข์ที่ขัดดีแล้วยาก เพราะฉะนั้นเราจะต้องถือด้วยสติ ด้วยปัญญา ถ้ามิฉะนั้นเราเครียดตายเลย ถ้าเราถือศีลแล้วเราเคร่งเครียด เราจะทำสมาธิไม่ได้ เพราะสมาธินั้น ถ้าเครียดนิดเดียวก็ทำไม่ได้แล้ว จิตจะไม่เป็นสมาธิทันทีเลย ถ้าจิตสบาย จิตเป็นปกติ จิตเป็นธรรมดา ทำสมาธิปุ๊บก็สงบทันทีเลย ตั้งมั่นทันทีเลย

ฉะนั้นเราก็ต้องใช้สติปัญญาเอาอยู่กับโลก หลวงพ่อก็ใช้วิธีนี้ว่าพอคนโทรเข้ามาบอกขอคุยกับหัวหน้ากอง หลวงพ่อก็ยกโทรศัพท์ให้ห่างหน่อย หัวหน้ากองบอกว่าไม่อยู่ครับ ไม่ได้โกหก เพียงแต่อันแรกพูดเบาหน่อย ตอนเป็นข้าราชการผู้น้อย บางทีผู้ใหญ่ชวนไปกินเหล้า ไม่กินกับเขาก็คล้ายๆ คนละพวกกัน หรือตอนเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนกัน รุ่นพี่ชอบชวนไปกินเหล้า เขาชวนไป หลวงพ่อก็ไป แต่หลวงพ่อถือศีล หลวงพ่อก็บอกเขา หลวงพ่อกินเหล้าไม่ได้หรอก กินแล้วแพ้ เขาก็คิดว่าเรากินเหล้าแล้วเกิดเป็นผื่นคันอะไรอย่างนั้น เปล่า เรากลัวแพ้กิเลส บอกกินเหล้าแล้วแพ้ ไม่กินหรอก ขอกินกับก็แล้วกัน

บางครั้งเลี่ยงไม่ได้ หลวงพ่อก็ไปอาสาชงเหล้าให้เขา เราเด็กที่สุด ใส่โซดาลงไป หยดโค้กลงไป 2-3 หยด เหมือนวิสกี้เปี๊ยบเลย เติมน้ำแข็งเสียหน่อย กลบเกลื่อนร่องรอย ใครชนแก้วกับเราก็แพ้เราหมด ฉะนั้นมันก็ลำบากเหมือนกัน เป็นฆราวาสจะถือศีลให้สะอาดหมดจด ลำบาก ลำบากมากๆ ก็ต้องอดทนเอา หาทางพลิกแพลงเอา อย่าให้ศีลของเราด่างพร้อยไป

ถ้าเราจะถือศีล ไม่ต้องไปขอใคร ไม่ต้องมามะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณะถายะ ไม่ต้อง การถือศีลที่ดีคือการตั้งใจ ตั้งใจว่าเราจะรักษาศีล 5 ข้อ ทุกวันตื่นนอนมาก็บอกกับตัวเองว่าเราจะรักษาศีล 5 ตลอดวันนี้ กลางวันจะไปกินข้าว ก็ตั้งใจวันนี้จะรักษาศีล 5 เกิดแม่ค้าทอนเงินผิด เราจะได้ไม่โกงเขา ตั้งใจ จนถึงก่อนนอนก็ตั้งใจรักษาศีล 5 เผื่อตายไปในขณะหลับ ใหลตายไปอะไรอย่างนี้ ยมบาลถามว่ามีความดีอะไรบ้าง บอกรักษาศีล 5 จนวันตาย ไม่ใช่เรื่องเล็ก มีสุขติเป็นที่ไป สีเลนะ สุคะติง ยันติ

เพราะฉะนั้นเราตั้งอกตั้งใจ ไม่ใช่ของธรรมดาเลยศีล 5 ข้อ ตั้งใจรักษาเอาไว้ ถ้าเรารักษาศีลของเราไว้ได้ดี เราจะไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา เราจะเหลือความชั่วทางใจ ซึ่งอันนี้ล่ะเราจะล้างมันด้วยสมาธิและปัญญา ศีลเป็นเครื่องขัดเกลากายวาจาเราให้สะอาดหมดจด ไม่ทำผิดทางกาย ทางวาจา สมาธิและปัญญาเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจให้สะอาดหมดจด แต่มันมี 2 ขั้นตอน

ขั้นสมาธิ คือการเตรียมจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญปัญญา ถ้าถามว่าสมาธิทำไปเพื่ออะไร จริงๆ แล้วมีหลายวัตถุประสงค์ เวลาจิตใจเราเหน็ดเหนื่อย จิตใจต้องการพักผ่อน เราก็ทำสมาธิเพื่อพักผ่อน ถ้าเราต้องการเจริญปัญญา เราก็ทำสมาธิเพื่อการเจริญปัญญา หลักของสมาธิ เพื่อการพักผ่อน อยู่แล้วมีความสุข คือการน้อมจิตไปอยู่กับอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง น้อมจิตไป ไม่ได้บังคับจิต

 

สมาธิอันแรก สงบ สบาย ทำให้สดชื่น มีเรี่ยวมีแรง

อย่างหลวงพ่อถ้ามารู้ลมหายใจ หายใจออก รู้สึก หายใจเข้า รู้สึก จิตใจหลวงพ่อชอบ จิตใจมีความสุข ฉะนั้นหายใจปุ๊บเดียว จิตไม่หนีไปที่อื่น เพราะจิตมันมีความสุขอยู่กับลมหายใจ จิตที่มันวิ่งพล่าน ฟุ้งซ่านไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะมันไม่มีความสุข มันเที่ยวแสวงหาอารมณ์ที่มีความสุข อย่างเราวิ่งพล่านไปดูคอนเสิร์ตอย่างนี้ วิ่งไปหาความทุกข์หรือเปล่า ไม่ใช่ อยากมีความสุข จะทำอะไรต่ออะไร จริงๆ แล้วก็อยากมีความสุขนั่นล่ะ

แต่ความสุขในโลกมันไม่เคยเต็ม ความสุขจากการเห็นรูป รูปมันก็ไม่ยั่งยืน ความสุขจากการได้ยินเสียง เสียงมันก็ไม่ยั่งยืน ความสุขจากการได้กลิ่น ซื้อน้ำหอมราคาเป็นหมื่นๆ มาทา มีความสุขไม่นาน น้ำหอมมันก็ระเหยไป ไม่มีกลิ่น ของเหล่านี้ ความสุขที่อาศัยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรต่างๆ มันไม่ยั่งยืนหรอก มันอยู่ได้ชั่วคราว

เราก็มาหาความสุขที่สูงกว่านั้นโดยการฝึกจิตของเรานี่ล่ะ สังเกตตัวเอง ตรงนี้เราต้องสังเกตตัวเอง ไม่ใช่ดูคนอื่นว่าเขาใช้กรรมฐานอะไร ให้เราดูตัวเองว่าเราอยู่กับกรรมฐานอะไรแล้วจิตใจมีความสุข เราก็อยู่กับกรรมฐานอันนั้น แต่อารมณ์อันนั้นต้องเป็นอารมณ์ที่ดี อย่างบางคนนั่งหาตัวเลข ขัดต้นตะเคียนแล้วมีความสุขอะไรอย่างนี้ อย่างนั้นไม่มีสมาธิหรอก ออกนอกหมดเลย จิตมันไหลไปอยู่ที่ต้นตะเคียนหมด

ฉะนั้นเราดูตัวเอง เราทำกรรมฐานอะไรแล้วจิตใจเรามีความสุข เราก็ทำอันนั้น ความสุขมันเป็นเหยื่อล่อให้จิตใจเราไม่วิ่งพล่าน เที่ยวแสวงหาความสุขภายนอก เคล็ดลับของสมาธิมันอยู่ตรงนี้ บางคนนั่งสมาธิแล้วเครียดจะเป็นจะตาย ทำอย่างไรก็ไม่ได้สงบหรอก ทำอย่างไรก็ไม่เกิดสมาธิที่ดีหรอก ฉะนั้นเราต้องดูตัวเอง อย่างถ้าเราหายใจเข้าพุทออกโธแล้วจิตใจมีความสุข พอจิตใจมีความสุข จิตใจก็ไม่หิวอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันพอใจที่จะอยู่กับลมหายใจอันนี้ หรือเราถนัดเดินจงกรม เดินจงกรมแล้วมีความสุข เราก็เดินจงกรมเอา จิตใจมันมีความสุขในการเดินจงกรม มันก็ไม่ต้องไปหาความสุขในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์อื่นๆ

เพราะฉะนั้นเรามีเหยื่อล่อที่ดี อารมณ์กรรมฐานที่เหมาะกับตัวเราเอง จิตอยู่แล้วมีความสุข เราก็อยู่กับอารมณ์กรรมฐานอันนั้นล่ะ จิตก็จะไม่ฟุ้งซ่าน จิตจะสงบอย่างรวดเร็วเลย เพราะอะไร เพราะมันมีความสุขที่จะได้อยู่กับอารมณ์อันนี้แล้ว เปรียบเทียบก็คล้ายๆ เด็ก จิตเหมือนเด็ก เด็กมันอยากมีความสุข สนุกสนาน ก็วิ่งซนออกไปนอกบ้าน ผู้ใหญ่ก็กลัวรถทับ หรือกลัวมันไปตกน้ำตายอะไรอย่างนี้ ก็ต้องหาขนมมาล่อมัน มันชอบกินอะไรก็หาเอาไว้ในบ้าน มันก็ไม่ไปไหนไกลหรอก เดี๋ยวมันก็เวียนมากินขนมอีกล่ะ เดี๋ยวมันก็เวียนกลับมาอีกแล้ว จิตถ้ามันมีอารมณ์ที่มันชอบใจ มันก็จะเวียนอยู่กับอารมณ์อันนั้น เหมือนเด็กเวียนเข้าหาขนมไม่เลิกหรอก เดี๋ยวก็มาๆ กินนิดหนึ่งแล้วไปซนนิดหน่อย แล้วก็กลับมากินอีก เข้าๆ ออกๆ สักพักหนึ่งก็ขี้เกียจออกไปแล้ว อยู่ตรงนี้สบายดี

เพราะฉะนั้นหลักของการทำสมาธิให้สงบ ต้องรู้จักเลือกอารมณ์ อย่าตามคนอื่น ทางใครทางมัน อย่างเห็นหลวงพ่อทำอานาปานสติ พวกเราไม่ต้องทำอานาปานสติตามหลวงพ่อ ยกเว้นแต่จิตเราชอบการรู้ลมหายใจก็ทำ ทำเพราะว่าจิตเราชอบกรรมฐานอันนี้ ไม่ใช่ทำเพราะว่าหลวงพ่อทำ จับหลักให้ดี หรือเราไม่ทำตามเพื่อน อย่างเพื่อนเราไปดูท้องพองยุบ เขาดูแล้วเขาดี มันก็ดีของเขาแต่เราดูแล้วเราหงุดหงิดอย่างนี้ เราก็อย่าไปดู รู้จักเลือกอารมณ์กรรมฐานที่อยู่แล้วสบายใจ แล้วจิตเราจะสงบอย่างรวดเร็วเลย หายใจทีเดียว 2 ทีก็สงบๆ

พอจิตใจเราสงบ จิตใจจะเริ่มมีแรง ก็มีกำลังมากขึ้นๆๆ ไม่วอกแวก พอจิตใจมีแรง มันจะเหมือนเราตื่นขึ้นมา แล้วประเดี๋ยวเราก็จะเห็น จิตมันไม่ได้ตื่นเฉยๆ ประเดี๋ยวมันก็ฝัน ความฝันของจิตตอนที่ตื่นก็คือความคิด ความคิดของจิตตอนที่หลับก็คือความฝัน ฉะนั้นความคิดกับความฝัน มันลักษณะอันเดียวกัน คือเป็นความปรุงของจิตเกิดขึ้นมา คนส่วนใหญ่รู้จักการฝัน แต่ไม่เคยรู้จักว่าเรากำลังฝันอยู่ทั้งๆ ที่ลืมตาตื่น อย่างขณะนี้พวกเราหลายคนกำลังฝันอยู่ ฝันก็คือหลงไปอยู่ในโลกของความคิด เมื่อไรเราหลงไปอยู่ในโลกของความคิด เรามีร่างกายเราก็ลืมร่างกาย มีจิตใจเราก็ลืมจิตใจ เรียกว่าเราลืมตัวเอง เพราะฉะนั้นเราพยายามปลุกตัวเองให้ตื่นๆ ปลุกใจให้ตื่น อยู่ในโลกของความเป็นจริงให้ได้ ไม่ใช่อยู่แต่ในโลกของความคิดความฝัน

อย่างวิธีที่เราจะหลุดออกจากความฝัน นอนหลับอยู่แล้วฝันร้ายอย่างนี้ ถ้าเราเกิดรู้ทันว่าตอนนี้กำลังฝันอยู่ จิตมันเลิกฝันเลย หรือตอนนี้ถ้าเรารู้ตัวว่าเรากำลังหลงอยู่ในโลกของความคิด รู้ปุ๊บ จิตหลุดออกจากโลกของความคิดเลย ฉะนั้นเราจะใช้วิธีเอาสติไปรู้ทัน เวลาจิตมันหลงไปในโลกของความคิดความฝัน คอยรู้ไว้ วันหนึ่งๆ เราคิดร้อยเรื่อง พันเรื่อง หมื่นเรื่อง แสนเรื่อง ฟุ้งซ่านตลอดเวลา คนทั่วไปมันก็เป็นแบบนั้นล่ะ แล้วก็จะมาบ่นว่าเข้าวัดมาตั้งนาน ปฏิบัติธรรมตั้งนาน ไม่เห็นได้ดีเลย เพราะจิตใจมันไม่มีสมาธิ จิตใจมันกำลังเคลิ้ม มันกำลังฝัน มันกำลังลืมเนื้อลืมตัวอยู่

 

สมาธิอันที่สอง ปลุกตัวเองให้ตื่นด้วยสติ

อันนี้เป็นสมาธิอีกระดับหนึ่งแล้ว สมาธิอันแรก สงบ สบาย ทำให้สดชื่น มีเรี่ยวมีแรง วิธีคือน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง สมาธิอันที่สอง ปลุกตัวเองให้ตื่นด้วยสติ ฉะนั้นเราทำกรรมฐานอันเดิมนั่นล่ะ แต่ไม่ได้ทำเพื่อมุ่งให้จิตมีความสุขความสงบอะไรอีกต่อไปแล้ว เราทำกรรมฐานแล้วก็คอยรู้ทันจิตตัวเองไว้

อย่างถ้าเป็นหลวงพ่อ หลวงพ่อทำกรรมฐานให้จิตสงบก็หายใจเข้าพุทออกโธอย่างนี้ จิตสงบ เพราะจิตชอบ ถ้าหลวงพ่อจะอัพเกรดสมาธิของหลวงพ่อขึ้นมาให้จิตมันเป็นผู้รู้ ไม่ใช่ผู้สงบ ให้เป็นผู้สงบด้วยรู้ด้วย หลวงพ่อก็ใช้วิธีสังเกตเอา เช่น เราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ สักพักหนึ่งจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ทันว่าจิตหลงไปแล้ว จิตหนีไปคิดก็คือจิตมันแอบไปฝัน จิตมันฝันก็เพราะจิตมันหลับไปแล้วล่ะ มันฝัน มันไม่ตื่น ไม่ใช่ผู้รู้ ผู้ตื่น

เราเคยได้ยินคำว่าพุทโธๆ ไหม พุทโธแปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรมะ ใจของเราส่วนใหญ่ไม่ใช่พุทโธ มันเป็นผู้หลับผู้ฝัน ฝันกลางวัน ฝันกลางวันนั่นล่ะคือการขาดสติ วิธีที่จะทำให้เราตื่นขึ้นในกลางวัน ก็ทำกรรมฐานอันเดิมที่เคยทำเพื่อความสงบก็ได้ แต่ว่าทำแล้วต้องคอยรู้ทันจิต

แต่เดิมเรารู้ รู้อะไรที่จะสงบ รู้อารมณ์ที่มีความสุข แต่พอจะอัพเกรดสมาธิขึ้นมาเพื่อเดินปัญญา เรามาใส่ใจที่จิตใจของเรา ไม่ใช่ที่อารมณ์ แต่ใส่ใจที่จิตใจของเรา ทำกรรมฐานไป จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตถลำไปเพ่งลมหายใจ รู้ทันอะไรอย่างนี้ หลวงพ่อก็ฝึกอย่างนี้ หรือพวกเราถ้าถนัดดูท้องพองยุบ ก็ดูท้องพองยุบไป จิตจมลงไปที่ท้องรู้ทัน จิตหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ทัน หัดรู้ทันจิตที่มันหลง

จิตหลงก็คือจิตที่มันหลับฝันไปแล้ว มันเพ้อฝัน มันหลงไปแล้ว ทันทีที่เรารู้สึก จิตที่หลงไปจะดับ จิตที่รู้จะเกิด พอจิตเราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นขึ้นมาได้ คราวนี้เราพร้อมที่จะเจริญปัญญา ถ้าจิตเราไม่เป็นผู้รู้ผู้ตื่น ยังไม่พร้อมจะเจริญปัญญา เราพิจารณาธรรมะอะไรขึ้นมา มันกลายเป็นความฟุ้งซ่านไปหมด เพราะจิตไม่มีสมาธิกำกับ สมาธิอันนี้คือสมาธิชนิดที่สองที่จิตตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

จำได้หรือยัง ทำอย่างไร สมาธิสงบทำอย่างไร น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุขอย่างต่อเนื่อง ไม่บังคับจิต แค่น้อมจิตไปสบายๆ ตัวสำคัญคืออารมณ์ที่มีความสุข แล้วถ้าเราจะอัพเกรดสมาธิขึ้นมา เปลี่ยนจากอารมณ์ ความสนใจในตัวอารมณ์มาเป็นสนใจที่จิตใจตนเอง เราทำกรรมฐานเหมือนเดิมนั่นล่ะ เช่น เดินจงกรม ดูท้องพองยุบ ขยับมือ รู้ลมหายใจอะไรก็ได้อย่างที่เคยทำ แต่เปลี่ยนมุมมองมาคอยรู้ทันจิต ไม่ใช่จมอยู่กับอารมณ์ เพราะฉะนั้นจิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตถลำไปเพ่งอารมณ์ รู้ทัน จิตของเราก็จะตื่นขึ้นทันทีเลยในฉับพลัน

ฉะนั้นครูบาอาจารย์จำนวนมาก ท่านจะสอนเรื่องหลงแล้วรู้ๆ อย่างหลวงพ่อเทียนสอนให้ขยับมือ ขยับไปๆ จิตหลงก็ให้รู้ทัน หลงไปไหน ก็หลงไปคิดเรื่องอื่น หลงไปคิดเรื่องมือ หรือหลงไปเพ่งมือ ดูท้องพองยุบก็เหมือนกัน หลงไปคิดเรื่องอื่น หลงไปคิดเรื่องท้อง คิดนี่พองหนอ นี่ยุบหนอ นี่คิด หรือหลงไปเพ่งท้อง รู้ทันอาการที่จิตหลง มีสติรู้ทันจิตที่หลง จิตที่หลงจะดับอัตโนมัติ แล้วจิตที่รู้จะเกิดขึ้นอัตโนมัติ แรกๆ นั้นนานๆ จิตรู้จะเกิดทีหนึ่ง แต่ฝึกไปเรื่อยๆ จิตรู้ก็จะเกิดถี่ขึ้นๆ

หลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดูลย์วันแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ ปี 2525 ไปเรียนกับท่านครั้งแรก ท่านสอนให้ดูจิต หลวงพ่อก็ดูมา นั่งรถไฟกลับมาจนมาถึงกรุงเทพฯ จิตมันก็หลุดขึ้นมา 1 ขณะ เป็นผู้รู้ผู้ตื่น ขึ้นชั่วขณะ แล้วมันก็จมลงในอารมณ์อีก ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่แยกออกมาจากอารมณ์ มันจมคลุกอยู่กับอารมณ์ อีก 7 วันหลุดขึ้นมาอีก คราวนี้หลุดขึ้นมาระดับนาทีแล้ว ไม่ใช่แวบเดียวจมลงไปอีก ฝึกไปอีก 5 วัน หลุดอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้หลุดหลายนาทีอะไรอย่างนี้

ฝึกไปๆ จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงเข้ามาเลย พอตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว โอ ตัวนี้คือตัวเก่าที่เราเคยทำได้ตั้งแต่เด็กแล้วเราลืมมันไปแล้ว หลวงพ่อทำสมาธิจนกระทั่งมันได้จิตผู้รู้ การจะได้จิตผู้รู้เลยรู้ว่ามี 2 วิธี ไม่ได้กางตำราพูดหรอก แต่เท่าที่เห็นด้วยตัวเองมา ตอนเด็กหลวงพ่อทำสมาธิอย่างท่านพ่อลีนั่นล่ะ จนกระทั่งจิตมันเป็นผู้รู้ขึ้นมา มันตั้งมั่นเด่นดวง ทรงตัวอยู่ได้หลายวัน แล้วต่อมาไม่รู้คุณค่า ไม่รู้ประโยชน์ เพราะว่าไม่มีครูบาอาจารย์ สอนการเจริญปัญญาให้ ก็ทำแต่สมาธิ จิตก็ตั้งมั่นอยู่อย่างนั้น

พอมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนหลวงพ่อให้เดินปัญญาด้วยการดูจิตเลย หลวงพ่อก็งงๆๆ ดูจิตมันดูอย่างไร ดูไปๆ หัดดูไปเรื่อย รู้ทันจิตไปเรื่อย ในที่สุดจิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา พอตั้งมั่นขึ้นมา เฮ้ย มันอันเดียวกันล่ะ เพราะฉะนั้นการนั่งสมาธิจนได้จิตผู้รู้ จิตผู้รู้อันนั้นก็มีลักษณะเดียวกับจิตผู้รู้ที่เกิดจากการมีสติรู้ว่าจิตมันหลงไป จิตมันหลงแล้วรู้ๆ ไปเรื่อยๆ ในที่สุดจะได้จิตผู้รู้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าจิตผู้รู้ด้วยวิธีนี้จะไม่แข็งแรง อยู่ได้ไม่นาน อย่างมากก็ 10 นาที 20 นาทีอะไรอย่างนี้ จะไม่เหมือนจิตผู้รู้ที่ผ่านสมาธิมา อันนั้นอยู่ได้ 7 วัน

แต่ว่าเราเอาที่เราทำได้ ทุกวันนี้ให้เราไปนั่งสมาธิจริงจังทำยาก สิ่งรบกวนมันมาก แค่มือถือก็กวนเราจะแย่แล้ว ใจมันจะวอกแวกๆ เพราะฉะนั้นเราทำง่ายๆ ทำกรรมฐานไปสักอย่างหนึ่ง แล้วจิตหลงไปคิด รู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน ฝึกเรื่อยๆ ไป ไม่ต้องถามว่าฝึกวันละเท่าไร มีเวลาเมื่อไร ทำเมื่อนั้นไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตเราจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา มีกำลัง

 

บทเรียนที่สามของพระพุทธเจ้า

คราวนี้เราถึงบทเรียนที่สามของพระพุทธเจ้าแล้ว บทเรียนที่หนึ่ง พัฒนาศีลขึ้นมา ทำไมต้องมีศีล เพราะว่าเวลาที่เราทำสมาธิแล้วเราไม่มีศีล เราจะเป็นคนชั่วที่น่ากลัว เพราะเรามีกำลังของจิตมากแล้วเราไม่มีศีล เราจะทำร้ายคนอื่นได้ หรือถ้าเราไม่มีศีลแล้วเราเจริญปัญญา อันตรายมาก เวลาเจริญปัญญา เราไม่ได้บังคับกดข่มจิตใจ เราปล่อยให้จิตมันทำงาน แล้วเรามีสติตามรู้ตามเห็นไป จิตบางทีมันก็ถูกกิเลสผลักดัน เวลาเจริญปัญญา ไม่ใช่จิตมีแต่กุศล จิตมีราคะก็มี จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ มีหมดเลย เพียงแต่พระพุทธเจ้าท่านให้มีสติ จิตมีราคะ รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะ รู้ว่าไม่มีราคะ จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีโทสะ รู้ว่าไม่มีโทสะ จิตมีโมหะ คือจิตหลง รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะ คือจิตรู้ ก็รู้ว่าจิตไม่มีโมหะ จิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ รู้ว่าจิตหดหู่ เห็นไหมมันไม่มีการบังคับจิต มีแต่การรู้

ในช่วงแรกของการเจริญปัญญากิเลสของเรายังแรง บางทีอย่างโทสะเกิด เราบอกตามตำราบอกว่าจิตมีโทสะให้รู้ว่ามีโทสะ มันรู้ไม่ทัน มันโกรธแล้ว มันจะไปชกหน้าเขาแล้ว ฉะนั้นมือขยับแล้ว เราเคยรักษาศีลอยู่ ไม่ทำชั่วทางกาย ทางวาจา หรือปากขยับจะด่าเขาแล้ว สติมันทัน เรามีศีล การที่เราทำวิปัสสนา เราจะไม่กดเราจะไม่ข่มจิตตัวเอง เราถึงจำเป็นต้องมีศีล ถ้าเราไม่มีศีล บางครั้งเราพลาด เพราะว่ากิเลสมันครอบงำเรา แต่ถ้าเราฝึกดีแล้ว กิเลสอ่อนแรงแล้ว ศีลเป็นเรื่องปกติเลย ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากอีกต่อไปแล้ว

ถ้าสติเราดี เราจะมีศีล 1 ไม่ใช่ศีล 5 เหลือศีลข้อเดียว มีศีล 1 คือความเป็นปกติของจิต ปกติของจิต คือรู้ ตื่น เบิกบาน ศีลข้อหนึ่ง ข้อเดียว ไม่ใช่ข้อหนึ่ง ทีแรกก็ถือศีล 5 ไปก่อน พอเราพัฒนาจิตเรื่อยๆ ไป ต่อไปสติ สมาธิ เราดี ศีลเหลือข้อเดียว เขาเรียกว่าอินทรียสังวรศีล

อย่างเวลาตาเราเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจคิดนึกขึ้นมาอย่างนี้ จิตมันปรุงสุข ปรุงทุกข์ ปรุงดี ปรุงชั่ว เรามีสติรู้ทัน จิตใจเราเป็นปกติ ไม่ถูกกิเลสครอบงำ นั่นล่ะเรามีศีล ตาเห็นรูปกิเลสเกิด รู้ไม่ทัน เราก็จะทำชั่ว มันคิดชั่วแล้ว เหลือแต่พูดชั่วกับทำชั่ว พอจะพูดชั่ว พอจะทำชั่ว เราตั้งใจรักษาศีลอยู่ตลอด มันเตือนตัวเอง เฮ้ย ไม่ทำ ทำไม่ได้ แต่ใจยังชั่วอยู่

เราค่อยฝึกทุกวันๆ ไป มีจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วก็เรียนรู้ความจริงของกาย ของใจ ของรูปนาม เมื่อเช้ายังคุยอยู่เลยว่าจริงๆ แล้ว นิพพานๆ อะไรไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นตัณหา นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นความปรุงแต่ง แล้วความปรุงแต่งนั้น ไม่ว่าปรุงดีหรือปรุงชั่ว หรือปรุงว่างๆ ก็คือความปรุงแต่ง รากเหง้าคืออวิชชา จะทำลายความปรุงแต่งได้ก็ต้อง ทำลายอวิชชาได้ จะทำลายอวิชชาได้ ก็ต้องเกิดวิชชาขึ้นมาแทนที่

วิชชาคือความรู้ถูกเข้าใจถูกในขันธ์ 5 นี้ เห็นความจริง กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ ถ้าเมื่อไรเรามีวิชชา เรารู้ความจริงแล้วว่ากายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ เรียกว่าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ก็ละความอยาก ละสมุทัยได้ พอละความอยากได้ ความปรุงแต่งดิ้นรนของจิตก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อความปรุงแต่งของจิตไม่เกิดขึ้น จิตก็จะไม่หยั่งลงไปสร้างภพสร้างชาติ ที่จิตยังหยั่งลงสร้างภพสร้างชาติ เพราะว่ามันยังปรุงแต่งอยู่ ที่มันยังปรุงแต่งอยู่เพราะว่าปัญญามันยังไม่แก่รอบพอ ยังเห็นทุกข์ไม่พอ ถ้าเห็นกายเห็นใจเป็นทุกข์ สังขารก็ดับ สังขารดับ วิญญาณก็ดับ วิญญาณก็ไม่หยั่งลงพาเวียนว่ายตายเกิดต่อไป

 

 

ฉะนั้นเราพยายามฝึก วันหนึ่งเราก็จะเข้ามาสู่จุดที่ประณีตลึกซึ้งมากขึ้นๆ ตอนแรกนี้ตั้งใจรักษาศีล 5 ทุกวันแบ่งเวลาไว้เลย ทุกวันทำในรูปแบบ เช่น เราจะต้องนั่งสมาธิ เดินจงกรมวันละชั่วโมงหนึ่ง แล้วก็ระหว่างวันมีเวลาว่างนิดๆ หน่อยๆ 5 นาที 10 นาที เราก็ปฏิบัติเลย ไม่ต้องรอไปปฏิบัติรอบเดียวตอนดึกหรอก มีเวลาว่างเมื่อไรปฏิบัติเมื่อนั้น อย่างหลวงพ่อภาวนา นั่งรถเมล์ก็ภาวนา เออ ขึ้นรถเมล์ก็ดูกายดูใจไป ทำอะไรก็ดูกายดูใจไป ปฏิบัติอยู่อย่างนั้น มันหลอมรวมการปฏิบัติเข้ากับชีวิตจริงๆ ได้ ถ้าเราสามารถหลอมรวมการปฏิบัติเข้ากับชีวิตจริงได้ มรรค ผล นิพพานไม่ไกลหรอก แต่ถ้าเราไม่สามารถหลอมรวมการปฏิบัติเข้ากับชีวิตจริงได้ ยังอีกไกล

เพราะฉะนั้นพยายามฝึกให้จิตมันตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูไว้ แล้วดูกายมันทำงาน ดูใจมันทำงาน เบื้องต้นก็เห็นกายเห็นใจมันทำงาน เบื้องปลายลึกลงไปอีกก็เห็นกายนี้ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ จิตใจก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ก็เห็นอย่างนี้ไป เรียกว่าต่อไปพอเรารู้แจ้งแทงตลอด กายนี้คือตัวทุกข์ จิตนี้คือตัวทุกข์ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับไป อันนี้เรียกว่ารู้จริงในสังขารทั้งหลาย สังขารก็คือขันธ์ 5 นั่นล่ะ คือกายคือใจเรานั่นล่ะ พอเรารู้จริงในสังขารเรียกว่าเราล้างอวิชชาได้ อวิชชาคือความไม่รู้ทุกข์ ทีนี้เรารู้ทุกข์เสียแล้ว ขันธ์ 5 คือทุกข์ พออวิชชาดับ สังขารก็ดับ สังขารดับ วิญญาณก็ดับ ไม่มีตัวที่จะหยั่งลงไปสู่ความเกิดอีก

ค่อยๆ ฝึกแล้ววันหนึ่ง มันจะเข้ามาตรงนี้ วันนั้นบางคนอาจจะไม่นาน บางคนอาจจะต้องอายุเยอะๆ ใกล้จะตายแล้ว ทำได้ก็มี หรือบางคนก็ชาติต่อๆ ไป ทำได้ ในอีกไม่กี่ชาติข้างหน้า อยู่ที่เราฝึกตั้งแต่วันนี้ บางคนก็บรรลุมรรค ผล นิพพานตั้งแต่ยังแข็งแรงอยู่นี้เลย ตั้งแต่ยังอายุยังไม่มากก็มี บางคนไปบรรลุตอนใกล้จะตาย เรียกพระอรหันต์ชนิดชีวิตสมสีสี บางคนตายไปขณะนั้นได้แค่พระอนาคามี ก็ไปเกิดเป็นพรหมตั้งแต่ชั้นที่หนึ่งขึ้นไป เป็นพรหม ยกเว้นพรหมลูกฟักจะไม่ไปเกิด พรหมลูกฟักไม่ดี ไม่มีจิต

หรือถ้าไม่ได้พระอนาคามี ได้โสดาบัน ได้สกิทาคามี ก็อาจจะเกิดเป็นมนุษย์เป็นเทวดา อยู่ในภพภูมิที่เจริญ เรียกสุขติภูมิ สุขติแปลว่าภูมิซึ่งมันพัฒนาได้ ทุคติภูมิ พัฒนาตัวเองไม่ได้ พัฒนาจิตใจไม่ได้ ฉะนั้นการที่เรารักษาศีล 5 ทุกวันเราทำในรูปแบบ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวันไว้ มีเวลาเมื่อไรรู้สึกๆ ไปเรื่อยๆ ทั้งวัน แล้ววันหนึ่งจิตเราก็จะเข้าถึงมรรค ผล นิพพาน

มรรค ผล นิพพานไม่ใช่นิยายหลอกเด็ก มันเป็นของมีจริง วิธีที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพานก็มีจริง ถ้าบอกว่านิพพานดีอย่างโน้นดีอย่างนี้ แต่ไม่มีวิธีไป ก็ไร้สาระ พระพุทธเจ้าก็บอกนิพพานมี แล้วก็บอกวิธีไปถึงนิพพานด้วย ก็คือการเจริญมรรคมีองค์ 8 ย่อลงมาก็คือศีล สมาธิ ปัญญา บอกวิธีให้ ส่วนใครอยากตกต่ำ ท่านก็ชี้ให้ดูวิธีที่จิตใจเราจะตกต่ำจมอยู่ในกองทุกข์ จมอยู่ในอบาย ก็ทำเหตุชั่วไปสิ มีอวิชชา มีตัณหา มีอุปาทานไป ชีวิตเราก็รับรองตกต่ำแน่นอน

ฉะนั้นเราก็ต้องเลือกเอาเอง เราต้องการดีขึ้นหรือเลวลง ถ้าเราต้องการเลวลง เราก็ปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลสไปเรื่อยๆ สะสมความรู้ผิด ความเข้าใจผิดไป แล้วก็คิดผิด พูดผิด ทำผิดไป นั่นล่ะเราก็จะได้ทุคติเป็นที่ไปตามความปรารถนา แต่ถ้าเราพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา เราจะไปสุขติ สูงสุดเลยก็คือถึงพระนิพพาน

นี่อยู่ในเรื่องอริยสัจ 4 ทั้งหมดเลย ถ้าเรามีตัณหา อันนี้ตัณหาครอบคลุม อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ผลที่ได้คือทุกข์ ถ้าเรามีมรรคมีองค์ 8 เจริญมรรคมีองค์ 8 ย่อลงมาคือศีล สมาธิ ปัญญา ผลคือความพ้นทุกข์คือพระนิพพาน เราก็เลือกเอา หลวงพ่อไม่ว่าหรอก ใครอยากไปทางไหน ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน เราคงไม่เจอกันหรอก ถ้าเธอไปทางนั้น

 

หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
บ้านจิตสบาย
20 สิงหาคม 2566