คอยรู้สึกตัวไว้ อ่านใจตัวเองให้ออก ใจเราชอบหนีไปเที่ยว มันทิ้งร่างกายหนีไปที่อื่น หนีไปดูคนอื่น หนีไปฟังสิ่งอื่น หนีไปคิด ใจเป็นของดีของวิเศษประจำตัวเรา ถ้าดูแลรักษาให้ดี เราจะมีความสุข ใครๆ ก็อยากได้ความสุข แต่ก็รู้จักเฉพาะความสุขที่อยู่ข้างนอก ไปดูหนังแล้วมีความสุข ไปฟังเพลงแล้วมีความสุข ไปดูซีรีส์ ไปเม้ามอย เพลินไปวันหนึ่งๆ บอกว่านี่เป็นการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า หลวงพ่อมีญาติคนหนึ่ง ที่จริงเป็นญาติแม่ชี ตอนสาวๆ ชอบเที่ยวชอบเล่น ดึกดื่นไม่ค่อยนอน ฟังเพลงฟังอะไร เพลินไปทุกวันๆ บอกนี่เป็นกำไรชีวิตของเขา เป็นความสุขของเขา สุดท้ายความสุขอย่างนั้นมันว่างเปล่า มันไม่มีอะไร หลอกๆ
ความสุขของโลกๆ เขาเรียกกามสุข เหมือนยาเสพติดเท่านั้น เหมือนกัญชาอะไรอย่างนี้ กินเข้าไปแล้วก็อารมณ์ดีชั่วครั้งชั่วคราว หมดฤทธิ์กัญชาแล้วก็ไม่ปกติ คนโบราณเขาเห็นคนไหนสูบกัญชาเยอะๆ เขาเรียกพวกบ้ากัญชา เขาไม่ได้ยกย่อง พวกกระท่อมก็พวกบ้ากระท่อม ดูไม่ปกติ กามสุขมันก็เหมือนเราไปเสพของพวกนี้ สนุกสนานรื่นเริงชั่วครั้งชั่วคราว พอหมดฤทธิ์ยา ก็หงอย เซื่องซึม
ความสุขความสงบจากศีล
อยากได้ความสุขก็ต้องรู้ ความสุขที่สูงที่สุด ไม่มีอะไรเหมือนเลย คือความสงบของจิตใจพระพุทธเจ้าบอกว่า “สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี” นี่เป็นภาษาสมัยรัชกาลที่ 5 ถ้าพูดอย่างนี้ ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือความสงบให้ความสุขมากที่สุด ไม่มีอะไรเหมือน สงบ ทำอย่างไรจะสงบ คนส่วนหนึ่งก็คิดว่าความสงบต้องอยู่ที่สิ่งแวดล้อม บอกจะสงบได้อย่างไร บ้านอยู่ในเมือง มีเสียงอึกทึกทั้งวันเลย กลางวันก็เสียงรถวิ่งโครมคราม เสียงโฆษณา เสียงอะไร กลางคืนมีเสียงร้านคาราโอเกะอะไรนี่ เดี๋ยวนี้มาถึงแถววัดนี้แล้ว ตอนหลวงพ่อมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ กลางคืนเงียบกริบเลย เดี๋ยวนี้กลางคืนก็มีเสียงเพลง เสียงคนร้องคาราโอเกะอะไรต่ออะไร
ความสุข ถ้าคนไม่เข้าใจ ภาวนาไม่เป็น ก็คิดว่าเราจะสงบได้ ก็ต้องอยู่ในที่สงัดจริงๆ ไม่มีสิ่งกระทบ สถานที่ซึ่งสงัดจริงๆ ไม่มีสิ่งกระทบสิ่งเร้าอะไรพวกนี้ มันหาไม่ได้แล้วล่ะ ทุกหนทุกแห่งเต็มไปด้วยบ้านคน เต็มไปด้วยร้านค้าชุมชน ฉะนั้นเราอย่าไปหวังว่าเราจะสงบได้ ถ้าอยู่ในที่ที่สงัดจริงๆ เราต้องมาฝึกจิตฝึกใจตัวเอง ตัวนี้สำคัญกว่า ถ้าเราฝึกจิตของเราดี เราอยู่ตรงไหน ที่ตรงนั้นก็เป็นที่สงบ มีคำสอนอันหนึ่งบอก พระอรหันต์ท่านอยู่ตรงไหน ที่ตรงนั้นก็เป็นที่สัปปายะทั้งหมด เราฟังอย่างนี้ เราก็ฟังออกนอกอีก ถ้าอย่างนั้นเราต้องไปเที่ยวหาพระอรหันต์ แล้วไปอยู่กับพระอรหันต์ เราไปอยู่กับพระอรหันต์ ก็ไม่สงบหรอก
ตามวัดตามวาเมื่อก่อน วัดครูบาอาจารย์ โอ้โห คนเข้าไปเยอะแยะเลย บางทีก็มีพวกเขาเรียกอรหันต์ทัวร์ นั่งรถทัวร์กันไปตระเวนเข้าวัดนั้นออกวัดนี้ บอกไปทำบุญกับพระอรหันต์ ไม่เห็นมันจะสงบตรงไหนเลย ในวัดก็เจี๊ยวจ๊าวไปหมด คนเยอะแยะ ฉะนั้นที่บอกว่าพระอรหันต์อยู่ตรงไหน ที่ตรงนั้นสัปปายะ สัปปายะสำหรับท่าน คือท่านอยู่ตรงไหน จิตท่านก็สงบ เพราะจิตของท่านฝึกมาดีแล้ว ท่านก็มีความสุข ส่วนพวกกระทั่งพวกเข้าวัด เข้ามาแล้วก็วุ่นวายไม่เลิก มันก็ไม่สงบหรอก เข้าวัดแล้วบางทีกิเลสเยอะกว่าเก่าอีก ดูถูกคนที่ไม่ได้เข้าวัดว่าเป็นพวกไม่มีศีลธรรม สู้ฉันไม่ได้
ฉะนั้นความสงบจริงๆ อย่าไปหาความสงบข้างนอก ให้ทวนเข้ามาหาความสงบภายในของเราเอง ถ้าเราฝึกดีแล้ว ฝึกจิตดีแล้ว อยู่ตรงไหน เราก็สงบได้ เวลาเราไปอยู่ในที่ที่คนพลุกพล่านวุ่นวาย เจี๊ยวจ๊าว หลวงพ่อตั้งแต่ตอนเป็นโยม ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ว่าชอบภาวนา ตอนเป็นโยมอย่างนี้ เข้าไปในที่ที่คนเยอะๆ เขาเอะอะเฮฮา เขาหลงอะไรนี่ ใจเรารู้สึกสงัด มันเงียบอยู่ข้างใน สงบอยู่ข้างใน ข้างนอกที่กำลังกระโดดโลดเต้นวุ่นวาย เหมือนภาพลวงตาที่กำลังเกิดขึ้นเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นใจเราก็สงบ มันเหมือนอยู่คนเดียวท่ามกลางความวุ่นวายได้ ความสุขอย่างนี้ ถ้าไม่เคยภาวนา ไม่เคยลิ้มรส จะไม่รู้ว่ามันเป็นความสุขที่อัศจรรย์มาก เป็นความสุขที่ไม่อาศัยคนอื่น ไม่อาศัยสิ่งอื่น ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อแม้
ถ้าเราอยากลิ้มรสความสุขอย่างนี้ เราก็ต้องมาหัดเดินในเส้นทางที่พระพุทธเจ้าพาเดิน ตั้งอกตั้งใจรักษาศีล ถ้าเรารักษาศีลได้มั่นคง ใจเราก็จะเริ่มสงบสงัดไประดับหนึ่ง เพราะใจที่ไม่มีศีล เราไปทำผิดศีล ใจเราจะยิ่งฟุ้งซ่าน อย่างเราโกรธใครสักคน จิตมันโกรธห้ามไม่ได้ เราก็ดูของเราไป แต่เราไม่ไปว่าเขา ไม่ไปทำร้ายเขา ใจที่โกรธ เราดูไปๆ เดี๋ยวมันก็หาย แต่ถ้าเราไปด่าเขา ไปทำร้ายเขา เราสร้างปัญหาต่อเนื่องระยะยาวอีกมากมายเลย อาจจะต้องไปขึ้นศาล ไปติดคุก หรือถ้าเขาไม่ฟ้องร้องอะไร เขาก็เกลียดเรา เวลาที่เราเข้าไปในสถานที่ที่มีแต่คนเกลียดเรา ใจเราจะไม่มีความสุข ถ้าเราเข้าไปในที่ที่มีแต่คนให้ความรักความเมตตาเรา ใจเราอบอุ่น ฉะนั้นโทษภัยของการผิดศีล ถึงจะไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดศีล มันก็ทำให้ใจของเราว้าวุ่น
อย่างพวกชอบวิจารณ์ทางโซเชียล เขียนวิจารณ์โน้นเขียนวิจารณ์นี้ มันเป็นการมุสาวาท มุสาวาทอย่างไร ก็เราเขียนความจริงว่ารัฐบาลนี้โกงอย่างนั้นโกงอย่างนี้ นักการเมืองคนนั้นเลวอย่างนั้นอย่างนี้ มันเรื่องจริงทั้งนั้น แล้วเป็นมุสาวาทอย่างไร มันเป็นมุสาวาทน้อยๆ คือเราเพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่าน เราไปเขียนด่าเขา เขามาอ่านไหม เขาก็ไม่ได้มาอ่าน เราเขียนเองอ่านเอง หรือคนซึ่งเป็นพวกเดียวกับเรามาอ่าน โอ้โห สะใจ ใจที่สงบอยู่ ไปอ่านเรื่องพวกนี้เข้าก็ฟุ้งซ่าน
หลวงพ่อสมัยเป็นฆราวาสทำงาน ต้องใช้ข่าวเยอะ ต้องอ่าน พอออกมาบวช หลีกเลี่ยงการอ่านข่าวเลย หลังๆ ก็จำเป็นต้องรู้สถานการณ์รู้อะไรบ้าง แต่อ่านแล้ว ใครจะโกงใครจะอะไร เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของพระ พระไม่เกี่ยว เราออกจากโลกแล้ว แล้วพระไปเล่นการเมือง วิจารณ์การเมือง ผ้าเหลืองร้อน ทำไมผ้าเหลืองร้อน ใจมันร้อน ไม่มีความสุข หรืออย่างพระชอบไปดูอะไรสวยๆ งามๆ นี่ก็ผ้าเหลืองร้อนเหมือนกัน จิตมันเกิดราคะ ก็ไม่มีความสุข ไม่ดูสิ่งที่ยั่วกิเลสได้ก็ดีที่สุด ไม่ฟังสิ่งที่ยั่วกิเลสได้ก็ดีที่สุด ไม่คิดถึงเรื่องที่ยั่วกิเลสได้ ยิ่งดีใหญ่เลย แล้วใจเราอย่างนี้เรียกว่าเรามีศีล มีความเป็นปกติในใจของเราเอง ใจเราเป็นปกติ ไม่แกว่งขึ้นแกว่งลง มีความสุขมีความสงบระดับหนึ่งแล้ว
มีความสุขความสงบมากขึ้นจากสมาธิ
ถ้าเราฝึกสมาธิ เราก็จะได้ความสุขความสงบมากขึ้นไปอีก สิ่งที่เรียกว่าสมาธิมันมี 3 ระดับ อันหนึ่งเรียกขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะ อันหนึ่งคืออุปจารสมาธิ สมาธิที่สูงขึ้นไปแต่ยังไม่ถึงฌาน อันที่สามเรียกอัปปนาสมาธิ สมาธิที่จิตสงบระงับแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว เป็นฌาน ทรงฌานขึ้นมา สมาธิทั้ง 3 อย่างมันให้ความสุขได้เสมอ
อย่างถ้าเราหัดมีสติรู้ทันใจของตัวเองเป็นขณะๆ ไป ขณะที่มีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมของตัวเองอยู่ ขณะนั้นมีสมาธิเกิดร่วมด้วยเสมอ ถ้าเรามีสัมมาสติเกิดขึ้นเมื่อไร สัมมาสมาธิจะเกิดร่วมด้วยเสมอ ถ้าสติเราระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมที่กำลังมีกำลังเป็นอยู่ สมาธิก็เกิดร่วม เป็นขณิกสมาธิ ถ้าเราหัดดูไปเรื่อยๆ เราจะพบสภาวะบางอย่าง อย่างใจเราหนีไปคิด เรารู้ ใจเราถลำไปเพ่ง เรารู้ หัดดูเรื่อยๆ เรื่อยๆ ไป ดูไปสบายๆ ถึงจุดหนึ่ง บางทีมันมีความสุขผุดขึ้นในใจเรา ผุดขึ้นมาเป็นระยะๆ ดูไปช่วงหนึ่งก็มีความสุขผุดขึ้นมา โชยขึ้นมา ใจก็ลิ้มรสความสุขของสมาธิ นี่ขนาดว่าไม่ได้เข้าฌาน ถ้าถึงระดับฌาน สุขมากกว่านั้น
ถ้าจิตเข้าถึงระดับฌาน ความสุขมันซาบซ่าน มันอิ่มเอิบ ทุกขุมขนเลย มันเหมือนเราไปอาบน้ำเย็นๆ อากาศร้อนอย่างนี้ เราได้ไปอาบน้ำเย็นๆ สบาย ชุ่มชื่นทุกขุมขนเลย นี่ความสุขจากการที่ได้สมาธิระดับเข้าฌาน ระดับอัปปนาสมาธิ ส่วนความสุขระดับขณิกสมาธิ คล้ายๆ อากาศร้อนๆ แล้วได้กินน้ำเย็นแก้วหนึ่งก็มีความสุข แต่มันเย็นได้เดี๋ยวเดียว ถ้าระดับฌาน เหมือนอากาศร้อน เราได้อาบน้ำเย็นๆ มันเย็นทั้งตัวเลย ตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า มันก็เป็นความสุขที่ประณีตมากขึ้นๆ
ทำไมทำสมาธิแล้วจิตใจมีความสุข เพราะหลักของสมาธิคือการน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง อารมณ์นั้นต้องไม่ยั่วกิเลส คือกระตุ้นให้จิตวุ่นวาย ถ้าเราอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข ใจก็ไม่วอกแวก ใจก็ได้พักผ่อน ได้สงบ ใจที่ไม่สงบเพราะมันวิ่งซ่านไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหน็ดเหนื่อย ถ้าเราน้อมจิตมาอยู่ในอารมณ์อันเดียว ใจไม่วิ่งพล่านไปทางโน้นทางนี้ ใจก็ได้พักผ่อน ใจมีความสุขมีความสงบ ถึงเราเป็นฆราวาสเราก็ควรจะให้มีสมาธิ ควรจะได้ลิ้มรสความสุขจากสมาธิบ้าง ถึงเวลาแบ่งเวลาไว้ ถึงเวลาไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม น้อมจิตให้อยู่ในอารมณ์อันเดียวที่เป็นกุศล
อย่างเรานึกถึงพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้านึกถึง ไม่รู้จัก นึกไม่ออก เราก็อาจจะนึกถึงพระพุทธรูปสวยๆ สักองค์หนึ่ง องค์ที่เราชอบ ความสวยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนชอบพระศิลปะอย่างนี้ บางคนชอบอย่างนี้ เราก็นึกถึงพระไปแล้วก็พุทโธๆๆ ไปเรื่อยๆ สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่าง ทำไปช่วงหนึ่ง อย่าไปบังคับจิต ถ้าจิตเราชอบพระพุทธรูปองค์นี้ เรานึกถึงแล้วเรามีความสุข นึกไปเรื่อยๆ ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ ถ้าใจเรามีความสุข อยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง เช่น มีพระพุทธรูปสวยงาม อย่างพระชินราช ท่านสวย เรานึกถึง ใจเราก็มีความสุข
พอใจเรามีความสุข ใจเราก็ไม่ต้องวิ่งพล่านไปหาความสุขที่อื่น เมื่อใจเราไม่วิ่งพล่านไปที่อื่น ใจอยู่ในอารมณ์อันเดียว สมาธิมันก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราหาอารมณ์ที่เรามีความสุขแล้วเราก็ไปอยู่ด้วย หรือบางทีอย่างหลวงพ่อสมัยก่อน ตอนเด็กๆ หลวงพ่อฝึกอานาปานสติ หายใจออก หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ทำแล้วมีความสุข จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว คือการหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่วอกแวกไปที่อื่น สมาธิก็เกิด จิตมีความสุข ถึงไม่ได้เข้าฌานอะไร จิตก็มีความสุข
เพราะฉะนั้นเราควรจะให้รางวัลกับชีวิต การดูหนังฟังเพลงแล้วบอกเป็นรางวัลของชีวิต มันไม่ใช่รางวัลที่ดีอะไรนักหนาหรอก ดูไป เดี๋ยวก็ลืมแล้ว เดี๋ยวก็ต้องไปหาอย่างอื่นดูต่อ วิ่งพล่านๆ ไปเรื่อยๆ เหนื่อย ไม่ใช่ไม่เหนื่อย ถ้าเรารู้จักน้อมจิตมาอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มันเป็นกุศล น้อมจิตไปอยู่ด้วย สงบก็ช่างไม่สงบก็ช่าง ทำไปเถอะ จิตมันจะมีความสุขขึ้นมาเอง มันสงบแล้วมันก็มีความสุข หรือนึกถึงพระธรรมๆ เราวาดภาพไม่ออก พระธรรมหน้าตาเป็นอย่างไร
ถ้านึกถึงพระสงฆ์ เราก็ยังโมเม นึกถึงองค์นั้นองค์นี้ พระสงฆ์ ไม่ได้จำแนกว่าองค์นั้นองค์นี้ พระพุทธเจ้าก็คือพระพุทธเจ้า ไม่ได้จำแนกว่าคือพระพุทธรูปองค์นั้นองค์นี้ เพียงแต่เราอาศัยสัญลักษณ์อะไรที่เราคุ้นเคย เราเข้าไปอยู่ด้วย อย่างคิดถึงพระพุทธเจ้า คิดไม่เป็นก็คิดถึงพระพุทธรูปที่เราชอบ คิดถึงพระสงฆ์ เราไม่รู้จักพระสงฆ์จริง พระสงฆ์จริงๆ ก็คือพระอริยบุคคล 8 จำพวก คือโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล นี่ 1 คู่ สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล นี่คู่ที่สอง อนาคามิมรรค อนาคามิผล นี่คู่ที่สาม อรหัตตมรรค อรหัตตผล นี่คู่ที่สี่ เราไม่ได้มีภูมิจิตภูมิธรรมที่จะรู้ว่าพระอริยะอยู่ตรงไหน พระอริยะไม่ได้อยู่ที่ตัวคน ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหนังหรอก อยู่ที่ความบริสุทธิ์ของจิตซึ่งดูยาก เราก็โมเมเอา นึกถึงองค์นี้ แล้วก็นึกว่าเป็นพระอรหันต์ นึกถึงแล้วมีความสุข ใจไม่วอกแวกไปที่อื่น ก็คล้ายๆ นึกถึงพระพุทธรูปสักองค์หนึ่งล่ะ
หรืออย่างพระธรรม เมื่อก่อนหลวงพ่อเคยสงสัย เอ๊ะ จะพิจารณาพระธรรม จะอยู่กับพระธรรมจะอยู่อย่างไรดี หลวงพ่อก็ใช้วิธีนึกถึงหัวข้อธรรมะอันใดอันหนึ่งขึ้นมา แล้วพิจารณาธรรมะหัวข้อนั้น ทำใจสบาย ค่อยๆ พิจารณาไปๆ จิตไม่ได้วอกแวกไปที่อื่น จิตก็สงบ พิจารณาไปเรื่อยๆ เกิดความรู้ถูกความเข้าใจถูก โอ๊ย เกิดความสงบ เกิดความสุขที่มหาศาลเลย การที่เราจะทำความสงบของจิต เลือกอารมณ์ที่เราทำได้ อารมณ์อันเดียวที่เราไปอยู่ด้วยแล้วมีความสุข แล้วใจเราเป็นบุญเป็นกุศล นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างนี้ ใจเราเป็นบุญเป็นกุศล
เราไปงานศพ ไม่ใช่ไปนั่งคุยกัน ทุกวันนี้เห็นตามวัดต่างๆ งานศพเหมือนงานชุมนุมศิษย์เก่าหรืองานสังสรรค์ งานรวมญาติ คุยกันจ้อกแจ้กๆ พระมีหน้าที่สวดก็สวดไป โยมมีหน้าที่เม้ามอย คุยกันจ้อกแจ้กๆ ก็คุยไป พอพระสวดจบหนึ่งก็สาธุทีหนึ่ง ยกมือไหว้ แล้วก็คุยกันต่อ ไร้สาระที่สุดเลย ทำไมไม่ฉวยโอกาสทำสมาธิให้เกิดขึ้น ก็พิจารณาไป คนที่นอนอยู่ในโลงกำลังสอนธรรมะเรา ก่อนที่เขาจะอยู่ในโลง เขาก็เดินออกมาอย่างพวกเรานี้ ยืน เดิน นั่ง นอน ทำโน้นทำนี้แบบเดียวกับพวกเรานี่ล่ะ ที่เราทำอยู่ตอนนี้ แล้วตอนนี้เขาไปอยู่ในโลงแล้ว เห็นพรรคพวกมาอยากจะทักทายด้วย เพื่อนก็ไม่ได้ยิน
มีคนเขาไปงานศพรุ่นพี่ที่รู้จักคนหนึ่ง ตาคนนั้นเขาเป็นอะไร ไวรัสบีหรือเป็นมะเร็งตับตาย รุ่นแรกๆ เขาเอาศพไปไว้ที่วัด พอมีคนไปเยี่ยม ดีใจๆ โดยเฉพาะรู้ว่าคนนี้ภาวนา คนนี้มองเห็นผี พวกเห็นผีมีเยอะแยะเลย ส่วนพวกเห็นกิเลสตัวเองมีน้อยกว่าพวกเห็นผีอีก ทีนี้มีคนเห็นผีเข้าไป โอ๊ย ดีใจ กระโดดเข้ามา จะเข้ามากอด ดีใจ เพราะว่าคุยกับใครก็ไม่รู้เรื่องเลย เจอคนที่จะพูดกันได้ ตาคนนั้นแกก็ตกใจ ผีกระโดดเข้ามา โดดเข้ามาเอาเท้ายันโครม โห ผีงอนตุ๊บป่องๆ เลย กลับขึ้นไปในโลง พยายามจะนอนลงไปให้กายทิพย์นี้มันซ้อนกับกายเนื้อ พยายามจะนอน เผื่อจะลุกขึ้นมาได้ ดูสิ ไม่ยอมตาย ยังรักยังหวงแหนร่างกายนี้ อันนี้คือภูมิของเปรต เป็นภูมิของเปรต
ถ้าเราไม่ได้มีหูทิพย์ตาทิพย์ เราก็ดูเอา คนนี้เมื่อก่อนมีชีวิตก็กระโดดโลดเต้น เดี๋ยวก็หัวเราะ เดี๋ยวก็ร้องไห้ เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ พอถึงตรงนี้ทุกอย่างที่เคยครอบครองกระทั่งร่างกายตัวเอง ก็ถูกเอาไปใส่โลงไว้แล้ว ใส่กล่องไว้ ทุกวันนี้ไม่ต้องฉีดยา ไปใส่ตู้เย็นไว้ ที่วัดมีตู้แช่เนื้อได้ แต่ว่าคงไม่เอาไปใส่ผีไว้หรอก ใส่ไว้ เสียดายร่างกายนี้ ไม่อยากให้มันเปลี่ยนแปลง คนที่เป็นๆ อยู่ไม่อยากให้เปลี่ยนแปลง คนที่ตายก็ไม่อยากให้ตาย อันนี้สำหรับคนซึ่งไม่ได้ภาวนา ก็คิดอย่างนั้น
แต่คนที่ภาวนาก็จะเห็น เออ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นเรื่องธรรมดา ทุกชีวิตที่เกิดมามีจุดตั้งต้นจากความเกิด มีจุดสิ้นสุดลงที่ความตาย แต่ตายแล้วก็ไม่ได้สิ้นสุดหรอก พอตายแล้วมันก็คือเริ่มต้นชีวิตใหม่ขึ้นมาอีก เพียงแต่เปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิไป แล้วแต่เวรแต่กรรมจะชักพาไป วนเวียนไป ชีวิตนี้เป็นของไม่แน่นอน ชีวิตนี้ไม่ยั่งยืน ความตายเป็นของแน่นอน ไม่มีใครหนีพ้น พอเราไปงานศพ เราไปพิจารณาอย่างนี้ ใจมันรู้สึกหายซ่า มันสงบรวมลงมา สงบ บางทีก็เกิดความรู้สึกสลดสังเวช บางทีก็เกิดความสุข เห็นซากศพ เห็นคนตาย พิจารณาลงไปเป็นธรรมะ จิตก็เบิกบานขึ้นมา
ในตำรามีอยู่ บอกว่าซากศพคือดอกไม้ของพระอริยเจ้า ฉะนั้นพระอริยะ เวลาเห็นศพจะไม่ได้เสียอกเสียใจอะไร แต่จะเบิกบาน มันเป็นเรื่องประหลาด มันจะเบิกบาน เออ คนนี้แสดงธรรมะให้ดู ไม่ได้เบิกบานที่เขาตาย แต่เบิกบานที่ได้เห็นธรรมะ ได้เห็นพยานของธรรมะ จิตใจมันก็มีความสุข มีความสงบ มีความอิ่มเอิบขึ้นมา ไม่ร้องห่มร้องไห้หรอก มีแต่ความเบิกบาน สมาธิก็เกิด แค่ไปงานศพ เรียกว่ามีมรณสติ
เพราะฉะนั้นการที่เราน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่เราชอบ แล้วก็เป็นอารมณ์ที่เป็นกุศล จิตใจเราจะได้สมาธิขึ้นมา มีความสุข มีความสงบ เห็นไหมถือศีลก็มีความสุข มีความสงบ มีสมาธิเราได้ความสงบ มีความสุข ถือศีลเราก็มีความสงบ สงบกาย สงบวาจา ทำสมาธิ สงบใจ สงบกาย สงบวาจาก็มีความสุขระดับหนึ่ง ทำสมาธิ สงบเข้าถึงใจ มีความสุขไปอีกระดับหนึ่ง ถ้าเราเจริญปัญญา เราจะพบความสุขที่มหาศาลยิ่งกว่านั้นอีก
ความสุขที่มหาศาลจากปัญญา
เวลาเราเจริญปัญญา คือเราดูความเป็นจริงของรูปนาม กายใจ เราเห็นรูปที่ยืน ที่เดิน ที่นั่ง ที่นอนอยู่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป เห็นรูปที่หายใจออก รูปที่หายใจเข้า เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เฝ้ารู้เฝ้าดูไป เห็นร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เรา เป็นวัตถุธาตุ เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง เห็นร่างกายที่หายใจออก หายใจเข้า ไม่ใช่เรา เหมือนถุงลม ดูดลมเข้าไปแล้วก็ปล่อยลมออกไป เห็นร่างกายมันเป็นแค่วัตถุอย่างนี้ เราเดินปัญญาเรื่อยๆ ไป ดูไป
หรือเราเห็นความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นในร่างกาย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เห็นความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ ความสุขในใจเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ความทุกข์ในใจเกิดแล้วก็ดับ ความเฉยๆ ในจิตใจเกิดแล้วก็ดับ เฝ้ารู้เฝ้าดูไปเรื่อย เห็นแต่เกิดดับๆ หรือเราเห็นจิตใจของเราที่เป็นกุศลบ้างอกุศลบ้าง จิตใจที่เป็นกุศลก็เกิดดับ จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง ก็อยู่ชั่วคราว เกิดแล้วก็ดับ ตามรู้ตามดูไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นความดี ความชั่ว ความสุข ความทุกข์อะไร เป็นของชั่วคราวทั้งหมดเลย ร่างกายก็ไม่ใช่ตัวเรา ตัวจิตเองก็เกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้เพ่ง เดี๋ยวก็เป็นจิตที่วิ่งไปดูรูป เป็นจิตที่ฟังเสียง เป็นจิตที่ดมกลิ่น เป็นจิตที่ลิ้มรส เป็นจิตที่รู้สัมผัสทางกาย เป็นจิตที่คิดนึกปรุงแต่งทางใจ จิตแต่ละชนิดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น
ตอนหลวงพ่อหัดภาวนาแรกๆ หลวงพ่อรู้สึกว่าจิตมันวิ่งไป มันวิ่งไปดูรูป พอเรารู้ทันมันก็วิ่งกลับมา เดี๋ยวมันก็วิ่งไปฟังเสียง พอเรารู้ทัน มันก็กลับมาเป็นผู้รู้ เราเห็นจิตนั้นเหมือนแมงมุม เดี๋ยววิ่งไปข้างซ้าย เดี๋ยววิ่งไปข้างขวา วิ่งแล้วกลับมาอยู่ที่ศูนย์กลาง บางคนเลยบอกให้อยู่ที่ศูนย์กลางนี้ล่ะดี อันนั้นเป็นสมถะเท่านั้นล่ะ แล้วความจริงค่อยภาวนาเรื่อยๆ เสร็จแล้วหลวงพ่อก็เห็นว่าจิตมันเกิดดับ เดี๋ยวมันก็ไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เห็นอย่างนี้ จิตไม่ได้คงที่
วันหนึ่งก็เลยหาเรื่องถามหลวงปู่ หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ครับ จิตมันอยู่ที่ไหน เราคิดว่าจิตมันอยู่กลางหน้าอก เพราะมันไปแล้วมันก็กลับมา มันไปแล้วก็กลับมา ไม่ว่าไปที่ไหน เดี๋ยวมันก็กลับมาที่นี่ เลยคิดว่าจิตมันอยู่ที่หน้าอกนี้ เราจะต้องคอยดูที่หน้าอก บางคนก็ดูเหนือสะดือ 2 นิ้ว แล้วแต่จะตั้ง หลวงปู่บอกว่าจิตไม่มีที่ตั้ง จิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น นี่ญาณทัสสนะของหลวงปู่ ท่านไม่ได้เป็นมหาเปรียญอะไรหรอก ไม่ได้เรียนอะไรมากมาย ท่านภาวนาเอา แล้วท่านพบว่าจิตเกิดที่ไหน จิตก็ดับที่นั่น เราก็ โอ้โห สาธุ เราจะไม่ต้องมานั่งเฝ้าตัวนี้แล้ว แต่เราเห็นจิตมันดับ เราเห็นจิตมันเป็นผู้รู้ จิตผู้รู้ดับ เกิดจิตที่ไปดู จิตที่ไปดูดับ เกิดจิตผู้รู้ จิตผู้รู้ดับ เกิดจิตที่ไปฟัง
เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นผู้รู้ จิตที่เป็นผู้คิด จิตที่ไปดูรูป ไปฟังเสียง ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกายเป็นคนละดวงกัน จิตไปเกิดที่ตา ไปรู้รูปแล้วก็ดับลงที่ตา จิตไปฟังเสียงทางหู เกิดที่หู แล้วก็ดับลงที่หู จิตไม่ได้มีดวงเดียว แต่เกิดดับสลับสับเปลี่ยนไปทางทวารทั้ง 6 ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หลวงปู่เลยบอก จิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่นล่ะ ถ้าเรายังภาวนาแล้วเราเห็นว่าจิตมีดวงเดียว เดี๋ยววิ่งไปทางตาแล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปทางหู แล้ววิ่งกลับมา อันนี้เรียกว่าสันตติยังไม่ขาด เราเห็นว่าจิตเป็นอมตะ จิตมีดวงเดียวเป็นอมตะ แต่ว่าร่อนเร่ไปเรื่อยๆ ตายแล้วก็จิตดวงเดิมข้ามภพข้ามชาติไป อันนี้มิจฉาทิฏฐิ
ถ้าเราภาวนาจริงๆ สติเราว่องไว สมาธิเรามากพอ เราก็จะมีปัญญาเห็น จิตเกิดทางตา ก็ดับที่ตานั่นล่ะ จิตเกิดที่หูก็ดับที่หู จิตเกิดตรงไหนก็ดับตรงนั้นล่ะ จิตไม่ได้มีดวงเดียว วิ่งไปวิ่งมา ไม่เหมือนแมงมุมวิ่งไปซ้าย วิ่งไปขวาแล้วก็กลับมาอยู่ตรงกลาง เพราะฉะนั้นไม่ต้องรักษาจิต มีหน้าที่รู้แค่ว่าจิตไปที่ตา รู้ทัน จิตไปทางหูรู้ทัน ถ้าไปทางตาแล้วรู้ไม่ทัน ก็จะเกิดความยินดียินร้าย เกิดกุศลอกุศลอะไรตามมา เกิดสุขเกิดทุกข์ทางใจตามมา ไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ถ้าเรารู้ไม่ทัน เราก็จะเกิดความชอบ ความไม่ชอบ ยินดียินร้าย เกิดกุศล เกิดอกุศลอะไรขึ้นมา จิตอยู่ในโลกของความคิด ก็เกิดสุขเกิดทุกข์ เกิดดีเกิดชั่วอะไรขึ้นมา แล้วหลงไปเรื่อยๆ
แต่ถ้าสติเราเร็ว เราก็เห็นจิตเกิดดับๆๆ ตลอดเวลา ตรงนี้เรียกว่าสันตติคือความสืบเนื่องมันขาด สันตติเป็นภาพลวงตา ทำให้เราเห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง จิตนี้เป็นของไม่เที่ยง แต่มันเกิดดับต่อเนื่องกันรวดเร็ว เราก็เลยคิดว่ามันเที่ยง มันคล้ายๆ ฟิล์มหนังสมัยโบราณที่เป็นฟิล์มยาวๆ แต่ละฟิล์มเป็นรูปหนึ่งๆๆ แต่ละรูปไม่เคลื่อนไหว แล้วพอเราเลื่อนฟิล์มเร็วๆ ก็เป็นตัวละครที่กระดุกกระดิกเคลื่อนไหวได้ เราเลยคิดว่าตัวนี้มันเที่ยง ถ้าเราไปดูที่ฟิล์ม เราจะรู้เลย ตัวนี้มันกระดิกไม่ได้หรอก เป็นรูปๆ หนึ่ง อีกอันหนึ่งต่างกับเดิมนิดหนึ่ง อีกฟิล์มหนึ่ง อีกภาพหนึ่งก็ต่างกับเดิมอีกนิดหนึ่ง ที่จริงแล้วมันคนละรูปกัน
จิตก็เหมือนจิตคนละดวง แต่มันถี่ยิบต่อกัน มันก็เลยเกิดภาพลวงตาว่าจิตมีอันเดียวแล้วกระดุกกระดิกได้ เหมือนตัวละครในหนังเคลื่อนไหวได้ ทั้งๆ ที่ความจริงมันไม่ได้เคลื่อนไหวไปไหน มันเกิดตรงนี้แล้วมันก็ดับตรงนี้นั่นล่ะ เพียงแต่ว่ามันมีรูปที่สืบเนื่องกันเยอะแยะ คำว่าสืบเนื่องนั่นล่ะคือคำว่าสันตติ ฉะนั้นตราบใดที่สันตติไม่ขาด ยังไม่มีวิปัสสนาจริง ไม่เห็นเกิดดับ แต่เห็นว่ามันเที่ยง ค่อยๆ หัดดู
พอเราภาวนา เกิดปัญญาเข้าใจอะไรอย่างหนึ่งขึ้นมา จิตจะมีความสุข ความสุขอันนี้ไม่เหมือนความสุขของสมาธิ ไม่เหมือนความสุขของการรักษาศีล ความสุขของปัญญามันอิ่มเอิบ มันอิ่มอกอิ่มใจ มันไม่ได้เสพติดหรอก แต่มันอิ่ม อิ่มใจ แต่ก็อยู่ได้ไม่กี่วันก็ดับ เราก็ภาวนาของเราไป มีศีล มีสมาธิ มีปัญญาไป
ความสุขที่เหนือกว่านั้นคือความสุขของวิมุตติ โดยเฉพาะความสุขของพระนิพพาน อันนี้พูดไปพวกเราก็ยังไม่เห็น ค่อยทำศีล สมาธิ ปัญญาของเราให้แก่รอบไป แล้ววันหนึ่งเราจะเห็น สัมผัสความสุขของพระนิพพานได้ ตรงนี้ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า “นิพพานัง ปะระมัง สุขัง” พระนิพพานเป็นบรมสุข สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี แล้วสิ่งที่เรียกว่าสงบคือพระนิพพาน พระนิพพานคือสุดยอดของความสงบ ค่อยภาวนา
นิพพานมันมีความสุขอย่างไร มันหลุดออกจากโลก พ้นจากโลก โลกมันก็อยู่อย่างนี้ แต่ใจที่มันสัมผัสพระนิพพาน มันมองทะลุโลกไป มันเห็นแต่ความว่างเปล่า เห็นสัตว์ทั้งหลาย เห็นต้นไม้ทั้งหลาย ก็ไม่ได้นิยามว่านี่คน นี่สัตว์ นี่ต้นไม้ นี่ผู้หญิง นี่ผู้ชาย ก็เห็นแค่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตามเหตุตามปัจจัยของมันเท่านั้นเอง ในขณะที่จิตนั้นว่าง จิตว่าง สว่าง ว่าง มีความสุขที่ไม่มีอะไรเหมือน เป็นความสุขของพระนิพพาน
ขอให้เลิกเป็นหมาขี้เรื้อนสักที
เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการมีชีวิตที่มีความสุข อย่าทำตัวเหมือนหมาขี้เรื้อน หมาขี้เรื้อนอยู่ตรงนี้ก็คัน ต้องวิ่งไปอยู่ที่อื่น แล้วก็ประเดี๋ยวก็คันอีกก็วิ่งอีก การที่เราต้องวิ่งพล่านๆ เที่ยวหาความสุขจากโลกภายนอก มันคือกิริยาอาการแบบเดียวกับหมาขี้เรื้อนนั่นล่ะ แต่เราก็ไม่ได้ว่าเขา เพราะคนในโลกไม่มีโอกาสได้ฟังธรรม ไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติธรรม ไม่มีโอกาสได้สัมผัสพระธรรม เขายังจำเป็นต้องวิ่งพล่านไป เพราะคิดว่านั่นดีที่สุดสำหรับเขาแล้ว เราก็อย่าว่าเขา เพราะเมื่อก่อนเราก็เป็นแบบนั้นล่ะ พวกเราสะสมบุญบารมี เราได้ฟังธรรม เราได้ลงมือปฏิบัติธรรม เราได้เข้าใจธรรมะ ชีวิตเราก็เข้าถึงสันติสุขที่แท้จริงมากขึ้นๆ
อันนี้เราไม่ว่าเขา เราก็ดูเขาด้วยความเห็นใจ เมื่อก่อนเราก็เหมือนเขาล่ะ โง่ บ้า เซ่อเหมือนๆ กัน ไม่ได้ดีไม่เลวกว่าเขาหรอก เพียงแต่ว่ารักดี มีความขวนขวายที่จะศึกษาเรียนรู้ธรรมะ จิตใจเราก็เข้าถึงความสุขความสงบมากขึ้นๆ มองคนอื่นมองสัตว์อื่น มันคือเพื่อนร่วมทุกข์ด้วยกันมา แต่ขณะนี้เราหนีจากเพื่อนทั้งหลายแล้วล่ะ เพื่อนยังไม่พ้น เราก็ได้ตั้งความปรารถนาดีไป หวังว่าวันหนึ่งเพื่อนจะได้พ้นทุกข์ พ้นจากการดำเนินกิริยาอาการแบบหมาขี้เรื้อน มันวิ่งไปคันไปไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นใจเราจะไม่เป็นศัตรูกับใคร ใจมันจะร่มเย็นเป็นสุข มีศีลโดยไม่ได้รักษา มีสมาธิโดยไม่ต้องทำ มีความรู้ถูกความเข้าใจถูกคือปัญญาแก่รอบแล้ว ทุกอย่างว่างเปล่า ทุกอย่างว่าง ไม่มีอะไร ถ้าใจไม่ยึด มันไม่มีอะไร ถ้าใจยึดมันก็มีขึ้นมา ฉะนั้นสุดยอดคำสอนของพระพุทธเจ้าคือไม่ยึดถือ เราปฏิบัติจนเราไม่ยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งในโลก ไม่ยึดถือกระทั่งกาย ไม่ยึดถือกระทั่งจิตใจตนเอง เมื่อไม่ยึดถือก็วาง พอวางแล้วใจเราก็เข้าสู่สันติสุขที่แท้จริง สงบสุข ว่าง สว่าง สะอาด
สิ่งเหล่านี้ไม่มีที่อื่น มีอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นเรานึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงบุญคุณของท่าน ธรรมะที่อัศจรรย์อย่างนี้ท่านค้นพบมาได้ น่าอัศจรรย์จริงๆ ปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นไม่ใช่พวกเราเก่ง เราตามพระพุทธเจ้าไป พระพุทธเจ้าท่านเก่ง เราไม่ได้เก่งอะไร เราก็หมาขี้เรื้อนเก่าตัวหนึ่งเหมือนกัน
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ขอให้เลิกเป็นหมาขี้เรื้อนสักที ใครยังรักเป็นหมาขี้เรื้อน ก็ต้องเป็นหมาขี้เรื้อนต่อไปนั่นล่ะ นี่ล่ะเสรีภาพ อยากเป็นหมาขี้เรื้อนก็ได้เป็น อยากพ้นทุกข์ พ้นโลก พ้นสงสาร ก็เป็นเสรีภาพที่เราจะฝึกตัวเอง แล้วนี่ล่ะคือเสมอภาค ยุติธรรม เสมอภาคไม่ใช่ว่าคนดีกับคนชั่ว ได้รับผลที่เท่ากัน ไม่ใช่ เสมอภาคก็คือได้รับผลตามเหตุที่ทำอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าคนนี้เจริญปัญญาได้อย่างนี้ อีกคนหนึ่งก็เจริญปัญญาได้อย่างเดียวกัน ก็สามารถเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นอันเดียวกัน เสมอภาคกันตรงนี้
ในโลกไม่มีเสรีภาพจริงหรอก ในโลกไม่มีเสมอภาคจริง ในโลกไม่มีภราดรภาพ ความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องไม่มีจริงหรอก มีแต่คำขวัญ แต่ถ้าใจเราพ้นทุกข์พ้นกิเลสแล้วนั่นล่ะ เรามีเสรีภาพที่แท้จริง เรารู้ถึงความเสมอภาคตามกฎแห่งกรรมอย่างแท้จริง มีภราดรภาพ ทุกอย่างเสมอกัน เหมือนพี่เหมือนน้องกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ไม่เฉพาะพวกเราด้วยกัน กระทั่งกับพระพุทธเจ้า จิตที่บริสุทธิ์ของสาวกกับจิตที่บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้ายังเสมอเป็นอันเดียวกันเลย นี่เท่าเทียมกัน เหมือนพี่เหมือนน้องกัน ฉะนั้นในโลกไม่มีจริง มีแต่คำขวัญที่นักการเมืองเอามาหลอกให้เราวิ่งพล่านๆ ไปเท่านั้นเอง ถ้าอยากได้สิ่งเหล่านี้ ก็ภาวนาเอาแล้ววันหนึ่งจะเจอของจริง
ช่วงนี้หลวงพ่อรู้สึกเหนื่อยๆ มีภารกิจต่อเนื่องยาวนานเป็นเดือนเลย ไม่ได้หยุดสักวันหนึ่ง กิจกรรมเยอะ เมื่อวันพฤหัสบดี ไปโรงพยาบาลเท้าบวม ไปตรวจ ตรวจแล้วก็เอาถุงเท้ามาใส่ก็ดีขึ้นแล้ว เมื่อเช้าหมอมาดูหมอบอก อ้อ อาการอย่างนี้เป็นอาการปกติของคนแก่ เพียงแต่แก่แล้วมันชำรุดง่าย
คิดถึงพระพุทธเจ้า ท่านเคยบอกพระอานนท์ บอกว่าร่างกายท่านตอนนี้เหมือนเกวียนที่เก่า ซ่อมแล้วซ่อมอีก ซ่อมจนไม่รู้จะซ่อมอย่างไรแล้ว ร่างกายเราตอนหนุ่มตอนสาว มันเหมือนเกวียนใหม่ๆ เหมือนรถยนต์ใหม่ๆ เพิ่งซื้อมา แข็งแรง วิ่งไปหลายๆ ปี เห็นไหม เดี๋ยวโน้นพังเดี๋ยวนี้พังไปเรื่อยๆ มันเป็นธรรมดา ธรรมะ ธรรมดา ใจเรายอมรับได้ เรามีความแก่เป็นธรรมดา เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา เรามีความตายเป็นธรรมดา เรามีความพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก จากคนที่เรารักเป็นธรรมดา นี่คือธรรมดาของโลก หัดพิจารณาบ่อยๆ ใจจะได้ไม่หลงโลก
วัดสวนสันติธรรม
14 เมษายน 2567