พวกเราบางทีคิดเรื่องการปฏิบัติธรรม เราก็วาดภาพไปต่างๆ นานา วาดภาพว่าต้องนั่งสมาธิอย่างนั้นกำหนดจิตอย่างนี้ กำหนดลมหายใจเท่านั้นเท่านี้ ผ่านจุดนั้นจุดนี้ เดินจงกรม ต้องมีเท่านั้นจังหวะเท่านี้จังหวะ ส่วนใหญ่ก็คิดกันแบบนั้น เท่าที่เห็นมา
การปฏิบัติเป็นเรื่องการพัฒนาจิตโดยตรง
แท้จริงแล้วการปฏิบัติธรรมมันมีจุดเริ่มต้นที่จิต แล้วจุดสิ้นสุดก็อยู่ที่จิตอีกล่ะ ส่วนจะนั่งอย่างไร เดินอย่างไร กำหนดอย่างไร มันเป็นรูปแบบของการปฏิบัติ เราก็เลือกเอาที่เหมาะกับเราเอง อย่างเราทำกรรมฐานชนิดไหนแล้วสติเกิดบ่อย ก็เอาอันนั้นล่ะ หรือเวลาเราต้องการพักผ่อนให้จิตใจสงบ เราทำกรรมฐานแบบไหนแล้วมันสบายใจ เคล็ดลับของความสงบอยู่ที่สบายใจ ถ้าเราทำกรรมฐานที่เรามีความสุข จิตมันก็สงบง่าย
อย่างถ้าเราถนัดหายใจ ทำอานาปานสติ ทำแล้วสบายใจ หายใจไม่กี่ทีจิตก็สงบแล้ว แต่ถ้าลงมือทำแล้วจิตใจไม่มีความสุข ทำอย่างไรก็ไม่สงบ เพราะความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ แล้วสติก็เป็นตัวที่ทำให้จิตเราตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาจริงๆ ถ้าอยู่กับจิต อยู่กับอารมณ์ที่มีความสุข มันก็สงบสบาย มีเรี่ยวมีแรง แต่ถ้าเอาสติกำกับเข้าไปด้วย จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา
ทำไมหลวงพ่อพูดเมื่อกี้นี้ว่าการปฏิบัติมันเริ่มต้นที่จิตแล้วมันก็จบลงที่จิต เพราะการปฏิบัติมันเป็นเรื่องการพัฒนาจิตโดยตรงเลย การพัฒนาจิตนั้นก็มี 2 ระดับ เบื้องต้นก็พัฒนาจิตจากจิตที่ฟุ้งซ่าน เลอะเทอะ จับอารมณ์ได้ไม่ชัดเจน ให้จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา มีเรี่ยวมีแรง มีความสุข อีกขั้นหนึ่งก็คือพัฒนาให้จิตฉลาด โดยการพาจิตเข้าโรงเรียน โรงเรียนนี้ก็คือเรียนเรื่องกายเรื่องใจของตัวเอง ให้จิตเป็นนักเรียนไปดูกายดูใจ การปฏิบัติเราก็จะทิ้ง 2 ส่วนนี้ไม่ได้ อยู่ๆ จะไปเจริญปัญญาเลย จิตไม่มีคุณภาพที่จะเจริญปัญญา มันจะหลอกเอาๆ กิเลสมันหลอกเราได้
อย่างเราไม่มีสมาธิเลย ไปเจริญปัญญา เราจะรู้สึก แหม เรามีความรู้ มีความเข้าใจดี นั่นเราก็ไม่ยึด นี่ก็ไม่ยึด จริงๆ ยึดนั่นล่ะ แต่มองไม่ออก สมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นสมาธิที่ประกอบด้วยสติ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ถ้าเราไม่มีสัมมาสมาธิ อยู่ๆ ก็ไปคิดเรื่องรูปนามขันธ์ 5 เป็นไตรลักษณ์ คิดไปเรื่อยๆ คิดแล้วก็สบายใจ นึกว่ารู้ แต่พอกระทบอารมณ์ กิเลสมา สู้มันไม่ไหวหรอก ก็แพ้กิเลสไปอีก
เมื่อก่อนนานแล้ว หลายสิบปีแล้ว เซนเข้ามาสู่เมืองไทย หนังสือเกี่ยวกับเซนเข้ามาหลายเล่ม ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านก็แปลเรื่องสูตรของเว่ยหลาง คำสอนของฮวงโปอะไรนี่ มี 2 เรื่อง เว่ยหลาง ฮวงโป แล้วก็มีหนังสือแปลเกี่ยวกับเซนออกมาเยอะเลย นอกจาก 2 เรื่องนี้ ตอนออกมาหลวงพ่อก็อ่าน รู้สึก โห น่าตื่นเต้นมากเลย เราอ่านหนังสือเซนไป ใจเราโล่ง ว่าง สบาย มันรู้สึกแปลกๆ รู้สึกดีจังเลย แต่พอผ่านไปไม่กี่วัน กิเลสมันก็มาเหมือนเดิม ก็รู้ว่ามันต้องมีอะไรที่ผิดพลาดแล้ว ไม่ใช่ว่าผิดพลาดที่เซนไม่ดี น่าจะไปผิดพลาดที่ว่าเราเอาธรรมะเขามาไม่ครบ ไปตัดมาบางส่วน เฉพาะเรื่องการเจริญปัญญา
เซนจริงๆ มาจากคำว่าฌาน เขาทำสมาธิ แต่พวกเราไม่ได้เรียนว่าเซนเขาทำสมาธิ เราก็เอาแต่เรื่องปัญญาของเขามาใช้ ปัญญาพอไม่มีสมาธิหนุนหลังมันเป็นปัญญามหาโจร มันหลอกเรา อ่านหนังสือเซนแล้ว ใจจะโล่งว่าง นั่นก็สุญญตา นี่ก็สุญญตา นั่นไม่ยึด นี่ไม่ยึด สุดท้ายก็ยึดๆ ตรงนี้หลวงพ่อเห็นว่ามันต้องมีอะไรผิด คือเราคงได้ตำราของเขามาไม่ครบทุกอย่าง วันหนึ่งกราบหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่เทสก์ท่านพูดน่าฟัง ว่าเซน อันนี้ท่านพูดถึงเซนที่อยู่ในเมืองไทย เอาแต่ปัญญาไม่เอาสมาธิ มันล้างกิเลสไม่ได้จริงหรอก ท่านพูดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจะเจริญปัญญาเพื่อเอาชนะกิเลสเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ จิตจะทิ้งสมาธิไม่ได้
ทำอย่างไรเราจะพัฒนาจิตให้เกิดสมาธิ ตรงนี้มันก็เป็นงานจิต งานของจิต คือทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่น แล้วตัวจิตที่ตั้งมั่นจริงๆ มันมีความสุข มันมีความสงบอยู่ในตัวเองด้วย แต่จิตที่มีความสุขความสงบ อาจจะไม่ตั้งมั่นก็ได้ แต่จิตที่ตั้งมั่นมีความสุขมีความสงบประกอบอยู่เสมอ วิธีการที่จะฝึกตัวนี้ก็คือการเรียนรู้เรื่องจิตตัวเอง บทเรียนที่จะทำให้เราได้สมาธิที่ดีที่ถูกต้องถึงชื่อบทเรียนว่า อธิจิตตสิกขา เห็นไหมไม่ใช่บทเรียนสมาธิสิกขา แต่เป็นเรื่องอธิจิตตสิกขา เรียนเรื่องจิตแล้วเราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง
อธิจิตตสิกขา เรียนเรื่องจิตแล้วเราจะได้สมาธิที่ถูกต้อง
วิธีทำทำอย่างไร อันนี้พอมาถึงวิธีที่เป็นหลักการ หลักปฏิบัติ พวกเราต้องทำกรรมฐานอันใดอันหนึ่งๆ ย้ำว่าต้องทำ ถ้าไม่ทำอะไรเลย อยู่ๆ ไปเจริญปัญญาก็ฟุ้งซ่าน เหมือนล้างกิเลสได้ แต่ว่าประเดี๋ยวเดียวกิเลสกลับมาอีก เราต้องทำกรรมฐานสักอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้มันเด็ดเดี่ยวลงไป อย่างหลวงพ่อตั้งแต่เด็ก หลวงพ่อใช้อานาปานสติประกอบกับพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ฝึกอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก แล้วทีแรกหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่ได้รู้ว่าจะต้องรู้ทันจิตตัวเอง ต้องเรียนรู้จิตตัวเอง ยังไม่รู้ตัวนี้ ครูบาอาจารย์ให้หายใจไปก็หายใจ เป็นเด็กไม่คิดมาก อายุ 7 ขวบเอง ครูบาอาจารย์สอนหายใจเข้าพุท หายใจออกโธก็ทำ ทำโดยไม่หวังผลอะไร ไม่ได้คิดว่าทำแล้วต้องสงบ
พอไม่ได้คิดเรื่องว่าทำแล้วต้องสงบ ทำเล่นๆ ไปอย่างนั้น จิตสงบอย่างรวดเร็วเลย ที่จิตสงบได้เพราะจิตใจมีความสุข หายใจไปแล้วก็มีความสุข แล้วจิตมันก็เลยรวมลงไป สงบ จิตรวมทีแรก ยังไม่ใช่จิตที่ตั้งมั่น สงบเฉยๆ จิตทีแรกหายใจแล้วบริกรรมแล้วนับเลขด้วย หายใจเข้าพุท หายใจออกโธนับ 1 หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ นับ 2 ทำอย่างนี้แต่เริ่ม ทำไปทำมาจิตมันเริ่มสงบ การนับเป็นเครื่องพะรุงพะรัง จิตมันก็ทิ้ง การนับไป เหลือหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พอจิตมันสงบมากขึ้น พุทโธเป็นของพะรุงพะรัง เป็นความคิด จิตมันรู้สึกเป็นเครื่องพะรุงพะรัง จิตมันก็ทิ้งพุทโธไปอีก อยู่กับลมหายใจ พอจิตมันอยู่กับลมหายใจอันเดียว มีความสุข จิตมันก็สงบมากขึ้นๆ ลมหายใจละเอียด ละเอียดเหมือนลมหายใจหยุดไป แสงสว่างก็เกิดขึ้นๆ
จิตไม่ได้ไปสนใจลมแล้ว มันก็เลยเหมือนไม่มีลม จิตไปสนใจอยู่ที่แสงสว่าง มันแปลกดี จิตไปอยู่กับแสงก็มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่งเกิดขึ้น แต่ก่อนจะถึงจุดนี้ ก่อนที่มันจะมีปีติสุข มันสว่างขึ้นมา แล้วจิตมันพลาด มันไม่ได้มีสติดูแลจิตตัวเอง มันสงบขึ้นมาแล้วมันสว่างขึ้นมา จิตมันถลำเข้าไปในแสงสว่าง พอจิตมันถลำเข้าไปในแสงสว่าง ก็ออกรู้ออกเห็นอะไรก็ได้ที่จิตอยากรู้ เห็นเทวดา เห็นผี เห็นนรก เห็นสวรรค์อะไร ถ้ามันอยากรู้อะไรมันก็เห็นอันนั้นล่ะ มันออกไปรู้ได้ ได้ยินได้ ที่ว่าหูทิพย์ ตาทิพย์ อะไรต่ออะไร หรือจิตรู้อันโน้นรู้อันนี้ อันนั้นเป็นเรื่องของสมาธิ สมาธิที่เรายังไม่ได้ใส่ใจที่จิตของตัวเอง
หลวงพ่อเล่นอยู่ตรงนี้อยู่ช่วงหนึ่งแล้วก็เกิดเฉลียวใจ หลวงพ่อเป็นคนกลัวผี ถ้าเราทำสมาธิ เราเห็นสวรรค์ได้ เห็นเทวดาได้ เราก็เห็นผีได้ ถ้าเห็นผี จิตมันกลัว เพราะฉะนั้นต่อมาไม่เอาแล้ว มันจำได้ว่าจิตมันจะออกรู้ออกเห็น มันต้องสว่างขึ้นมาก่อน แล้วรู้เข้าไปในความสว่าง อยากรู้อยากเห็นอะไรมันก็รู้ รู้ทันตรงนี้ ทีนี้เราไม่อยากให้มันรู้ ไม่อยากให้มันเห็น หลวงพ่อก็ประคองจิตเอาไว้ ไม่ให้จิตเคลื่อนเข้าไปในแสงสว่าง เห็นไหมนี่เป็นเรื่องการเรียนเรื่องจิต ไม่ให้จิตเคลื่อนเข้าไปในแสง แสงเป็นแค่สิ่งที่ถูกรู้ถูกดู จิตเป็นผู้รู้ผู้ดูแสงอยู่
เสร็จแล้วจิตมันก็เกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความเป็นหนึ่งขึ้นมา จิตมันก็วางแสง ตัวรู้มันก็เกิดขึ้น ถ้าจิตยังติดอยู่ที่แสง ตัวผู้รู้ไม่เกิดหรอก เพราะความสนใจของจิตไปอยู่ที่แสง แสงมันเป็นอารมณ์ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้นถ้าเรายังเรียนไม่ถึงจิต เรายังไม่ได้สาระแก่นสารอะไรเลย ได้สงบก็สงบโง่ๆ สงบฟุ้งซ่าน สงบฟุ้งซ่านก็คือสงบแล้วก็เที่ยวฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ ยังไม่ได้ของดี
ถ้าเราจะทำความสงบ อย่าทิ้งจิต ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง อะไรก็ได้ที่เราถนัด อย่างหลวงพ่อถนัดอานาปานสติ ทีแรกทิ้งจิตไปอยู่ที่แสงสว่าง ต่อมาไม่เอาแล้ว ไม่ทิ้งจิต ไม่ปล่อยให้จิตไหลเข้าไปในแสงเพราะว่ากลัวผี มันก็เลยเดินเข้าร่องที่ถูก นี่เป็นบุญคุณของผี เป็นครูบาอาจารย์ที่ทำให้หลวงพ่อพัฒนาการทำสมาธิขึ้นมา อยู่ในร่องรอยที่ถูกต้องได้ พอเรานั่งสมาธิ พอสว่างขึ้นมา จิตจะเคลื่อนเข้าไปในแสง รู้ทัน พอรู้ทัน จิตก็ไม่เคลื่อน จิตก็ตั้งมั่น
ถ้าพวกเราไม่ได้ทำอานาปานสติแบบนี้ จะใช้กรรมฐานอื่นก็ได้ กรรมฐานอะไรก็ได้ ขออย่างเดียว ให้รู้ทันจิตไว้ อย่างเราท่องพุทโธๆๆ ไป แล้วถ้าจิตมันจะไหลไปคิดอย่างนี้ มันส่งออกไปแล้วมันเคลื่อนออกไป ให้มีสติรู้ทัน อย่างเราพุทโธๆ จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตที่หนีไปคิดจะดับ จิตที่รู้จะเกิดขึ้นแทน หรือเราเดินจงกรมอยู่ เห็นร่างกายมันเดิน จิตเป็นคนรู้สึกอยู่ จิตมันหนีไปคิดแล้วรู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งร่างกายก็รู้ทัน ถ้าทำอานาปานสติก็ทำไปแต่ว่ารู้ทันจิต หายใจไป จิตหนีไปคิดก็รู้ทัน จิตถลำไปเพ่งลมหายใจก็รู้ทัน คอยรู้ทันจิต มีสติรู้ทันจิตตัวเองไว้ แล้วสิ่งที่เราได้ก็คือสมาธิที่ถูกต้อง
การที่เรามีสติคอยรู้เท่าทันจิตตนเองนั่นล่ะ เป็นบทเรียนของอธิจิตตสิกขา อธิจิตตสิกขาเรียนเรื่องจิต แล้วสิ่งที่ได้คือสมาธิที่ถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องประกอบด้วยสติ เพราะจิตมันตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดู ส่วนสมาธิอีกชนิดหนึ่ง ทำไปแล้วสงบสบาย อันนั้นทำให้จิตสดชื่น มีเรี่ยวมีแรง ทำได้ 2 อย่างก็ดี แต่ถ้าทำได้อย่างเดียว เอาจิตที่ตั้งมั่นดีที่สุด
สมาธิคือความตั้งมั่น
ฉะนั้นในตำราจะแปลสมาธิว่าความตั้งมั่น สมาธิไม่ได้แปลว่าสงบ พวกเราชอบแปลสมาธิผิด เอะอะก็สงบๆ สมาธิไม่ได้แปลว่าความสงบ สมาธิคือความตั้งมั่น ความตั้งมั่นคือการที่จิตไม่โคลงเคลง เดี๋ยวกระเด็นไปทางตา กระเด็นไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตก็วิ่งพล่านไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจตลอดเวลา แล้วจิตมันจะเอาแรงที่ไหนมา มันทำงานตลอดเวลา ไม่เคยได้พักเลย แล้วจิตใจก็ไม่ได้อยู่กับเนื้อกับตัว
เพราะฉะนั้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วถ้าจิตมันไหลไป ส่วนใหญ่ก็ไหลไปทางใจ ไหลไปคิด จิตไหลไปคิดให้รู้ทัน หรือจิตไหลลงไปเพ่งไปจ้องอารมณ์กรรมฐาน ให้รู้ทัน อย่างบางคนดูท้องพองยุบอยู่อย่างนี้ พอจิตไหลไปคิดให้รู้ทัน จิตไหลลงไปจ้องจมนิ่ง แช่อยู่ที่ท้อง ให้รู้ทัน แค่นี้เอง เพราะฉะนั้นมันไม่มีว่าสายไหนดีกว่าสายไหนหรอก ถ้าสายไหนทำไปแล้วมีสติรู้เท่าทันจิตได้ ก็ใช้ได้เหมือนกันหมดล่ะ ไม่ใช่ว่าพุทโธดีกว่าพองยุบอะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ ไม่ใช่ว่าบริกรรมพุทโธดีกว่าสัมมาอะระหัง นะ มะ พะ ทะ ไม่ใช่ สำคัญอยู่ที่ว่าเรารู้เท่าทันจิตตนเองหรือเปล่า
การปฏิบัติ จุดตั้งต้นเริ่มจากจิตของเรา หลวงปู่มั่นถึงบอกว่าได้จิตก็ได้ธรรมะ ไม่ได้จิตก็ไม่ได้ธรรมะหรอก เห็นจิตก็คือการปฏิบัติธรรม มองจิตใจตัวเองไม่เห็นก็ไม่ได้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้นอย่ามัวแต่หลงรูปแบบเกินไป จนลืมเนื้อหาแก่นสารสาระ แก่นสารสาระของการปฏิบัติก็คือจิตของเรานั่นเอง ทีแรกจะฝึกจิตให้ตั้งมั่น อาศัยสติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น เคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้ ทำกรรมฐานอะไรก็ได้ แต่มีสติรู้ทันจิตของตนเองไว้
อย่างหลวงพ่อทำอานาปานสติบวกพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ แล้วจิตจะหนีไปคิด รู้ทัน จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา จิตจะไหลเข้าไปในแสงสว่าง รู้ทัน ลมหายใจระงับ จะกลายเป็นแสง จิตจะไหลเข้าไปที่แสง รู้ทัน เห็นไหม อยู่ที่การรู้ทันจิตตัวเอง ทันทีที่เรามีสติรู้ทันจิตตนเองได้ จิตจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา จิตจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา คำว่าพุทธ พุทธะ พุทโธ ก็แปลว่า ผู้รู้ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พุทโธ พุทโธไม่ใช่เป็นแค่คำเรียกขาน นกแก้วนกขุนทองแบบนั้น พุทโธก็คือจิตนั่นเอง ถ้าเราไม่เรียนเข้ามาให้ถึงจิตถึงใจ ไม่มีวันเข้าใจศาสนาพุทธหรอก
ฉะนั้นเบื้องต้นก็เริ่มจากเรียนรู้จิตใจของตัวเอง ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตไหลไปแล้วรู้ๆ จะไหลไปคิดก็ได้ จะไหลไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานก็ได้ แล้วจิตมันจะตั้งมั่นโดยไม่ได้เจตนา มันตั้งของมันเอง หลวงพ่อก็ฝึกอานาปานสติ แล้วตอนหลังคอยรู้ทันจิตไม่ให้ถลำไปในแสงสว่าง
อยู่มาวันหนึ่ง ตอนนั้น ฝึก 7 ขวบ วันหนึ่งตอน 10 ขวบ ไฟไหม้ใกล้ๆ บ้าน ตกใจ พอตกใจก็จะวิ่งไปบอกผู้ใหญ่ จะไปบอกพ่อว่าไฟไหม้ข้างบ้าน ก้าวที่หนึ่ง ตกใจ ก้าวที่สอง ตกใจ ก้าวที่สาม สติเห็นความตกใจ มันเห็นความตกใจปุ๊บ ความตกใจขาดสะบั้นเลย จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานทันทีเลย ไม่มีความตกใจ ไม่มีความกลัวใดๆ เหลืออยู่ มีสติ มีปัญญา เดินไปบอกผู้ใหญ่ว่าไฟไหม้ข้างบ้าน แล้วคราวนี้เราเห็นคนอื่นตกใจ คนโน้นวิ่งไปทางโน้น คนนี้วิ่งไปทางนี้ ใจเราเป็นคนดู เราก็ยืนดูเฉยๆ ใจเราไม่ได้ตกใจด้วย จิตมันเป็นผู้รู้ขึ้นมา มันไม่ถูกอารมณ์ย้อม เป็นผู้รู้ผู้ดู
ก็อาศัยการทำกรรมฐานอย่างหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง เวลามันไหลไปไหลมา มันจะได้จิตตั้งมั่นขึ้นมา พอได้จิตตั้งมั่น เราก็พร้อมที่จะเจริญปัญญาแล้ว ทีนี้หลวงพ่อไม่มีครูบาอาจารย์ ตอนเด็กๆ พ่อพาไปหาท่านพ่อลี พอผ่านมาไม่กี่ปี ประมาณ 2506 กระมังท่านก็มรณภาพแล้ว ก็ไม่มีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่อยู่ภาคอีสาน เราเด็ก ผู้ใหญ่เขาไม่พาไป ก็ไม่มีปัญญาไป ก็เลยไม่รู้จะไปต่ออย่างไร ก็เลยได้แค่รักษาตัวจิตผู้รู้ไว้เฉยๆ
ก็พยายามอ่านพระไตรปิฎกอ่านอะไร ธรรมะมีตั้งเยอะตั้งแยะที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ เราจะเริ่มต้นอย่างไร เริ่มต้นไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร จนปี 2525 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปี 2525 มีโอกาสได้ไปกราบหลวงปู่ดูลย์ ไปกราบหลวงปู่บอก หลวงปู่ครับผมอยากปฏิบัติ หลวงปู่นั่งสมาธิเงียบไปนานเกือบชั่วโมง ประมาณ 40 นาที 45 นาที นั่งเงียบๆ เราก็นึกว่าหลวงปู่นั่งหลับ ที่แท้ท่านสอบประวัติว่าเราเคยภาวนาอะไรอย่างไร ท่านดูว่ากรรมฐานอะไรที่จะเหมาะกับหลวงพ่อ ท่านดู พอท่านลืมตา ท่านก็สอน “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” มันเข้ามาที่จิตเลย ไม่มาสอนหลวงพ่อทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ ไม่สอนเลย สอนตัดตรงเข้ามาให้อ่านจิตตนเองเลย เพราะเรื่องสมาธิ จิตก็เป็นผู้รู้อยู่แล้วล่ะ ท่านก็เลยให้อ่านจิตตนเอง พอหลวงพ่อได้ยินว่าอ่านจิตตนเองก็เลยไปเฝ้ารักษาจิตเอาไว้ รักษาจิตจนมันนิ่ง ไม่ให้คิดนึก ปรุงแต่ง ให้มันว่างๆ ไปทำจิตให้ว่างๆ แล้วก็คิดว่าดี ทำอย่างนี้อยู่ 3 เดือน
ขึ้นไปส่งการบ้านครั้งที่สอง ไปบอกหลวงปู่ บอกผมดูจิตเป็นแล้วล่ะ ดูได้ทั้งวันเลย มันว่างๆ ก่อนที่มันจะว่าง มันก็ดิ้นรนปรุงแต่งสารพัดเลย รู้ทันมันหมดเลย ก็กลับมาอยู่ในความว่างแล้ว หลวงปู่บอกว่า “ทำผิดแล้ว จิตมีหน้าที่คิดนึก ปรุงแต่ง ไปทำจนมันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ทำผิดแล้ว ไปทำใหม่” ท่านสอนอย่างนี้ ให้ไปทำใหม่ มานั่งนึก เอ๊ะ จิตเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง เราไปทำให้มันนิ่ง ไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง นี่ผิด ฉะนั้นต่อไปนี้เราจะเรียนรู้จิต ท่านบอกให้อ่านจิต เราจะอ่านจิตเหมือนอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ก็เลยอ่านจิตไปเรื่อยๆ จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้ จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตไม่หลงก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ ไม่เข้าไปแทรกแซงจิต
เรียนเข้ามาถึงตัวหัวหน้า รู้ทันจิตใจตัวเอง
อย่างพวกเราที่นั่งสมาธิแล้วนั่งไม่สำเร็จสักที เราผิดตั้งแต่ต้นเลย ส่วนใหญ่พอนั่งสมาธิ เริ่มต้นก็อยากสงบแล้ว อยากสงบมันเป็นกิเลส อยากสงบสติไม่เกิดหรอก เพราะว่าขณะนั้นกิเลสเกิด สติมันเกิดไม่ได้ กิเลสกับสติมันเกิดร่วมกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่างเรานั่งสมาธิ เมื่อไรจะสงบๆ นั่งกี่ปีก็ไม่สงบหรอก แต่ถ้าเราอ่านจิตตัวเองเป็น นั่งสมาธิ จิตอยากสงบ รู้ว่าอยากสงบ จิตพยายามบังคับตัวเองให้สงบ รู้ว่าจิตพยายามบังคับตัวเองให้สงบ รู้ทันจิต แล้วจิตมันสงบเอง จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา
คราวนี้เราก็รู้ทันจิตต่อไปอีก เราก็จะเห็นจิตทุกชนิดเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป จิตสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตดีเกิดแล้วก็ดับ จิตชั่วเกิดแล้วก็ดับ นี่คือการเจริญปัญญา ทีแรกทำสมาธิ อาศัยสติรู้ทันจิต ไม่ได้ไปบังคับจิต จิตไหลไป รู้ทัน จิตไหลไปคิด รู้ทัน จิตไหลไปเพ่ง รู้ทัน อาศัยสติรู้ทันจิตใจตัวเองที่มันไหลไปไหลมา ไม่ต้องบังคับมัน แล้วจิตจะสงบเอง แล้วจิตจะตั้งมั่นเอง
ในการเดินปัญญาก็ให้จิตมันทำงาน จิตมันเดี๋ยวก็ไปดูรูป พอมันไปเห็นรูป มันก็เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล เกิดอกุศลขึ้น พอจิตมันได้ยินเสียง มันก็เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล เกิดอกุศลขึ้น พอมันได้กลิ่น จิตก็เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศล พอลิ้มรส จิตก็เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล เกิดอกุศล พอมีสิ่งสัมผัสร่างกาย จิตก็เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล เกิดอกุศล พอจิตคิดนึก ปรุงแต่ง จิตก็เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศล เกิดอกุศล หลวงพ่อดูอย่างนี้เลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่จิต บางทีก็สุข บางทีก็ทุกข์ บางทีก็เฉยๆ บางทีก็เป็นกุศล บางทีก็โลภ บางทีก็โกรธ บางทีก็หลง บางทีฟุ้งซ่าน บางทีหดหู่ ตามรู้ตามเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ตามรู้ตามเห็นอยู่ 4 เดือน ไม่นานหรอก ถ้าจิตเราตั้งมั่นจริงๆ เป็นผู้รู้ผู้เห็นได้
แล้วก็ให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ไปแล้วเห็นความเปลี่ยนแปลงของจิตไป นี่คือการเจริญปัญญา ไม่ได้เหน็ดเหนื่อยอะไรเลย เป็นแค่คนเห็น สุดท้ายเราก็เห็นจิตโลภเกิดแล้วดับ จิตโกรธเกิดแล้วดับ จิตหลงเกิดแล้วดับ จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ นี่เห็นซ้ำๆๆ ไป เห็นอย่างนี้อยู่ 4 เดือน ถึงวันหนึ่งจิตมันก็รู้รวบยอด เกิดความรู้รวบยอดขึ้นมา ความรู้รวบยอดไม่ใช่รู้ว่าจิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับแล้ว ไม่ใช่รู้ว่าจิตเป็นกุศลเกิดแล้วดับ จิตอกุศลเกิดแล้วดับ ไม่ใช่รู้อย่างนั้น มันรู้รวบยอดว่าจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น จะเป็นจิตสุข หรือจิตทุกข์ หรือจิตไม่สุขไม่ทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จะเป็นจิตที่เป็นกุศล หรืออกุศลเกิดแล้วก็ดับ
พอเราเห็นว่าจิตทุกชนิดเกิดแล้วดับทั้งสิ้น คราวนี้ความรู้ความเข้าใจมันจะกว้างขวางออกไป มันจะรู้ว่าจิตนี้จะไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก มันเป็นของที่เกิดๆ ดับๆ เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์เท่านั้นเอง เกิดดับไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ของเรา ร่างกายนี้ก็เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้าความรู้สึกสุขทุกข์ก็เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ความจำได้หมายรู้ก็เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า กุศลอกุศลทั้งหลายก็เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ตัวที่เป็นหัวโจก เป็นหัวหน้าในสภาวธรรมทั้งปวงก็คือตัวจิตนั่นเอง จิตนั้นเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานในธรรมะทั้งปวง
ฉะนั้นเรียน เรียนเข้ามาถึงตัวหัวหน้า รู้ทันจิตใจตัวเอง ส่วนร่างกาย รูป เวทนา สัญญา สังขารอะไรนี่มันดูง่ายว่าไม่ใช่เรา ปุถุชนก็สามารถดูได้ว่าร่างกายไม่ใช่เรา ปุถุชนเห็นได้ แค่รู้สึกลงในร่างกายเรื่อยๆ จะเห็นร่างกายไม่ใช่เราหรอก เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุอันหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ผู้ที่จะเห็นได้ว่าจิตไม่ใช่เรา มีแต่สาวกของพระพุทธเจ้า เดินตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ฝึกจิตให้มันตั้งมั่นขึ้นมา แล้วพาจิตตั้งมั่นให้เรียนรู้ความจริง
จะเริ่มเรียนจากกายก็ได้ เวทนาก็ได้ จะเรียนตัดเข้ามาที่จิตเลยก็ได้ หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อรวบยอด คือตัดเข้ามาที่จิตเลย ไม่อ้อมไปทางกาย หลวงพ่อก็เห็นจิตทุกอย่างเกิดดับ พอจิตทุกอย่างเกิดดับ ทุกสิ่งที่จิตไปรู้เข้ามันก็เกิดดับไปด้วย รูปนี้ก็เป็นของถูกรู้ เมื่อผู้รู้มันเกิดดับได้ รูปมันก็เกิดดับด้วย เวทนา สัญญา สังขาร ก็เกิดดับ โลกธาตุข้างนอกก็เกิดดับ พอเห็นจิตมันเกิดดับเสียดวงเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นของที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปทั้งสิ้นเลย ยกเว้นเรื่องที่คิดๆ เอา เรื่องที่มโนเอา อันนั้นไม่มีสภาวธรรม ไม่เกิด ไม่ดับกับใครเขาหรอก แต่ถ้าเป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม ล้วนแต่เกิดดับทิ้งสิ้น
จะเรียนมาตั้งแต่รูปก่อนก็ได้ เรียนให้เนิ่นช้าหน่อย เรียนรูป เห็นรูปเกิดดับ ไม่ใช่ตัวเรา เห็นเวทนาเกิดดับ ไม่ใช่ตัวเรา เห็นสัญญา สังขารเกิดดับไม่ใช่ตัวเรา จะเรียนอย่างนี้ก่อนก็ได้ แต่ถ้าจะตัดตรงเลยก็คือดูเข้ามาให้เห็นจิตเองก็ไม่ใช่เรา ถ้าจิตไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา โลกทั้งโลกไม่ใช่เราเลย นี่คือการเรียนที่ลัดสั้นที่สุดแล้ว ตัดตรงเข้ามาที่จิตเลย ฉะนั้นถ้าเราเรียนยังไม่ถึงจิต เราก็ยังไม่ถึงธรรม
ถ้าเราเรียนยังไม่ถึงจิต เราก็ยังไม่ถึงธรรม
อย่างถ้าดูในอนัตตลักขณสูตร พระพุทธเจ้าถามพระปัญจวัคคีย์ “ภิกษุทั้งหลาย รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า” “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์พระเจ้าข้า” “สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นควรเห็นว่าเป็นตัวเราไหม” “ไม่ควร” เป็นอนัตตา นี่ไล่รูป ปัญจวัคคีย์ก็ไล่ได้ ไล่เวทนาลงเป็นไตรลักษณ์ ไล่สัญญาลงเป็นไตรลักษณ์ ไล่สังขารลงเป็นไตรลักษณ์ พอไล่วิญญาณ คือจิตลงเป็นไตรลักษณ์ได้ พระปัญจวัคคีย์บรรลุพระอรหันต์เลย นี่จุดสิ้นสุดของการปฏิบัติ ก็ลงมาที่เห็นว่าตัวจิตเองนั่นล่ะไม่ควรค่าแก่การยึดถือ
ธรรมะมี 2 ระดับ ธรรมะในเบื้องต้น เราจะล้างความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ล้างความเห็นผิดว่าจิตเป็นตัวเรา ในขั้นสูงเราจะล้างความยึดถือในขันธ์ 5 ล้างความยึดถือในจิต ระหว่างล้างความเห็นผิด อันนี้เป็นภูมิธรรมของพระโสดาบัน ล้างความยึดถือในจิตได้ อันนั้นภูมิธรรมพระอรหันต์
เพราะฉะนั้นเวลาภาวนา เริ่มต้นอยู่ที่การฝึกจิตฝึกใจให้มันสงบ ให้มันตั้งมั่น ถัดจากนั้นก็พาจิตเรียนรู้ความจริงไป จิตสุขก็ไม่เที่ยง จิตทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตกุศลก็ไม่เที่ยง จิตอกุศลก็ไม่เที่ยง ตามรู้ตามดูไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปก็จะรู้เลยว่า โอ๊ย จิตมันไม่ใช่เราหรอก เราบังคับมันไม่ได้ เราสั่งมันไม่ได้ รู้แล้วว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา
ถ้าจิตไม่เป็นเรา ขันธ์ 5 ไม่เป็นเรา โลกทั้งโลกก็ไม่เป็นเรา จิตเป็นเราตัวเดียว ขันธ์ 5 ก็เป็นเรา พอจิตเป็นเรา นี่คือร่างกายเรา นี่บ้านเรา นี่ครอบครัวเรา นี่ทรัพย์สินของเรา นี่ประเทศของเรา นี่โลกของเรา นี่จักรวาลของเรา มันกลายเป็นของเราไปหมดเลย แต่ถ้าเราภาวนา เห็นจิตไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นทั้งโลก ทั้งจักรวาล ทั้งขันธ์ 5 เป็นแค่ของถูกรู้ถูกดู มันไม่ใช่เราหรอก
ตรงที่เห็นว่ามันไม่ใช่เรา แต่ความยึดถือยังอยู่ มันคนละแบบกัน การที่เห็นว่าขันธ์ 5 เป็นเรา จิตเป็นเรา เป็นความเห็นผิดๆ ละความเห็นผิดตัวนี้ได้ ก็เป็นพระโสดาบัน เรียกละสักกายทิฏฐิได้ ละความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน แต่ทั้งๆ ที่เรารู้เราละความเห็นผิดแล้ว กายนี้ไม่ใช่เรา จิตนี้ไม่ใช่เรา แต่ความรักใคร่หวงแหนยังดำรงอยู่ คนละขั้นกัน เห็นแล้วไม่ใช่เราแต่หวงไหม หวง
มันคล้ายๆ บ้าน เราไปซื้อบ้านไว้หลังหนึ่ง นี่บ้านเรา แล้ววันหนึ่งสติปัญญาเราแก่กล้าขึ้น บ้านนี้เราอาศัยชั่วคราวหรอก อีกหน่อยก็เป็นของลูกหลานเรา หรือเป็นของคนอื่น คนอื่นมาอยู่ ไม่ใช่ของเรา แต่ว่ารู้แล้วบ้านไม่ใช่ของเราที่แท้จริง เราอยู่ได้แค่ชั่วคราว เดี๋ยวเราก็ต้องไปจากบ้านนี้แล้ว จากเป็นหรือจากตายเท่านั้น แล้วของนี้ก็จะเป็นของคนอื่นต่อไป ไม่ใช่ของเรา แต่ความรักในบ้านนี้ ความหวงแหนในบ้านนี้ยังดำรงอยู่ ก็ตอนนี้มันยังเป็นของเราอยู่ เราก็ยังเอาไว้ก่อน ยังหวงอยู่
ฉะนั้นระหว่างความเห็นผิดกับความยึดถือเป็นคนละระดับกัน พระอรหันต์ละความยึดถือจิตได้ พระอนาคามีละความยึดถือกายได้ พระโสดาบัน พระสกิทาคามียังละความยึดถือไม่ได้ แต่ว่าละความเห็นผิดได้ โสดาบันละความเห็นผิดได้ พระสกิทาคามีก็เก่งขึ้น สติว่องไวขึ้น กิเลสเกิดปุ๊บ รู้ปั๊บ กิเลสก็อ่อนกำลังลง ทำงานได้ไม่เต็มที่ แต่ว่าก็ยังยึดถือ ทำไมต้องดิ้นรนปฏิบัติ เอาว่าพระอนาคามีเลยแล้วกัน ทำไมพระอนาคามียังดิ้นรนปฏิบัติอยู่ ก็เพราะยังยึดถือจิตอยู่ๆ อยากให้จิตนี้บรรลุพระนิพพาน นี่คือยึดถือ แต่ว่ามันดูยากมากเลย ต้องค่อยภาวนาเรื่อยๆ
สัญชาตญาณแห่งความยึดถือ เราก็คิดล่วงหน้าไป ถ้าบรรลุพระนิพพานแล้วร่างกายแตกดับไป จิตจะไปอยู่ที่ไหน เห็นไหม มันยังยึดจิตอยู่ไม่เลิกเลย ยังกลัวว่านิพพานแล้ว จิตจะไปอยู่ตรงไหน จิตจะแปรสภาพเป็นอย่างโน้นหรือเปล่า จิตจะแปลสภาพเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ความคิดทั้งหลายมันเกิดมาจากความยึดถือหวงแหนจิต ถ้ามันปล่อยวางจิตจริง มันไม่คิดหรอก
สมัยพุทธกาลก็มีพระองค์หนึ่ง ท่านก็ภาวนา แล้วท่านก็บอกว่าท่านรู้แล้วว่าพระอรหันต์นิพพานแล้วไปที่ไหน นิพพานแล้วเป็นอย่างไร เพื่อนพระด้วยกันก็พระอรหันต์ แต่ว่าองค์นี้ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ท่านภาวนาแล้วท่านรู้สึก ท่านรู้แล้วว่าพระอรหันต์นิพพานแล้วไปไหน เพื่อนพระด้วยกันรู้ว่าองค์นี้เข้าใจผิดแล้ว เป็นมิจฉาทิฏฐิแล้ว ก็เลยพยายามบอกว่าที่ท่านเข้าใจไม่ถูก แต่พระองค์นี้ไม่ยอม ผมเข้าใจถูก จะมาพูดอย่างไรก็ไม่ยอม พวกพระด้วยกันก็เลยไปรายงานพระสารีบุตร นิมนต์พระสารีบุตรมาช่วยแก้กรรมฐานพระองค์นี้หน่อย พระองค์นี้ท่านบอกนิพพานแล้วจิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
พระสารีบุตรก็มาสอน บอกว่ารูปเที่ยงไม่เที่ยง คือบทเดียวกันนั่นล่ะกับที่พระพุทธเจ้าสอนปัญจวัคคีย์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอท่านพิจารณาไปเรื่อย แล้วจิตของท่านเห็น รูปก็เป็นอนัตตา มันว่าง รูปนี้มันว่างจากความเป็นตัวตน บุคคล สัตว์ เรา เขา เวทนามันก็ว่างจากความเป็นตัวตน บุคคล สัตว์ เรา เขา สัญญา สังขารก็ว่างจากความเป็นตัวตน บุคคล สัตว์ เรา เขา พระสารีบุตรสอนมาถึงวิญญาณ คือจิต องค์นี้สามารถมองลงไปเห็นได้ จิตเองก็ว่างจากความเป็นตัวตน บุคคล สัตว์ เรา เขา
ไม่ใช่เห็นแค่นั้น รู้เลยว่าสิ่งที่มีอยู่นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรมีอยู่ นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับไป อะไรคือตัวทุกข์ ก็รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ล่ะ คือตัวทุกข์ พอจิตรู้แจ้งแทงตลอดในกองทุกข์อย่างนี้ จิตท่านปล่อยวางขันธ์ 5 ได้ ปล่อยวางจิตได้ คราวนี้ท่านบรรลุพระอรหันต์ตัวจริงแล้ว
เพื่อนๆ ก็มาถามท่าน ไง พระอรหันต์ถ้ามีคนถามท่านว่าพระอรหันต์นิพพานแล้วไปไหน ท่านจะตอบว่าอย่างไร องค์นี้ท่านตอบน่ารัก ท่านตอบว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดขึ้นแล้วดับไป จบ ไม่มีคำพูดต่อแล้วๆ คือถ้าเราภาวนาจนเราเห็นขันธ์ 5 นี่มันว่างไปแล้ว มันว่าง มันไม่ใช่ว่างเปล่า มันว่างจากความปรุงแต่ง ว่างจากความยึดถือ ว่างจากความเป็นตัวเป็นตน เราก็จะสัมผัสความว่างของพระนิพพาน ทันทีที่เราเห็นขันธ์ 5 นี้ว่าง เราก็คือเห็นพระนิพพานเรียบร้อยแล้ว
แต่คนส่วนใหญ่ที่ภาวนา หลวงปู่ดูลย์บอกว่าส่วนใหญ่เป็นผีใหญ่ คือเป็นพรหม ไม่ถึงนิพพานจริง เพราะยังหมายรู้ตัวจิตอยู่ ไปหมายรู้ว่านิพพานแล้วจิตไปอยู่ที่ไหน หมายรู้ไปตรงนี้ นิพพานแล้วจิตจะเป็นอย่างนั้นไหม นิพพานแล้ว จิตจะเป็นอย่างนี้ไหม จิตมันก็เลยไม่ว่างจริง มันก็ยังปรุงแต่งอยู่ แต่พอเมื่อใดเราสามารถเห็นได้ กระทั่งวิญญาณก็ว่าง พอเห็นขันธ์ 5 ว่าง วิญญาณว่าง ไม่มีอะไรต่อแล้ว มันจบลงตรงนั้น มันไม่มีคำพูดต่อแล้วว่านิพพานแล้วจะไปไหน นิพพานแล้วเป็นอย่างไร มันก็เป็นอย่างที่มันเป็นนั่นล่ะ นิพพานมันก็เป็นนิพพานอยู่อย่างนั้นล่ะ มันว่าง เป็นสุญญตา แล้วไม่ใช่ว่างน่าเกลียด เป็นว่างแล้วมีความสุขอันมหาศาล
เวลาจิตเราเห็นขันธ์ 5 ว่างไปแล้ว จิตมันจะเห็นนิพพานด้วย มันจะว่าง ทุกสิ่งทุกอย่างก็ว่างหมด แล้วจิตจะเต็มไปด้วยบรมสุข มีความสุข โดยที่ไม่มีการกำหนดจิตเข้าออกอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องกำหนดจิตเข้านิพพาน ไม่ต้องกำหนดจิตออกจากนิพพาน นิพพานที่ยังมีเข้ามีออกไม่ใช่ของจริง เป็นนิพพานพรหม เข้าๆ ออกๆ ได้ กำหนดจิตอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าตราบใดที่ยังมีการที่จะต้องรักษาจิต ยังต้องกำหนดจิตให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อจะเห็นนิพพาน อันนั้นยังไม่จบหรอก ยังไม่ใช่ที่สุดของทุกข์หรอก ที่สุดของทุกข์จริงๆ ที่สุดของการปฏิบัติ จริงๆ คือตรงที่เราเห็นจิตเองก็ว่าง เพราะฉะนั้นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติเริ่มมาจากจิตแล้วก็จบลงที่จิต มันเข้าถึงความว่าง แต่อย่าไปคิดเองเองว่าง ว่างมันไม่เหมือนที่เราคิดหรอก ว่างที่พวกเราคิดเป็นว่างที่คู่กับวุ่น ว่างกับวุ่นวาย ยังเป็นสิ่งที่เข้าคู่กันอยู่
ส่วนว่างอันนี้ที่แท้จริง สุญญตานี้ เป็นว่างที่ไม่มีคู่ ไม่มีอะไรเข้าคู่กับมัน มันว่างในตัวของมันเอง ถ้าเราจงใจทำจิตให้ว่าง สูงสุดมันก็คืออรูปฌานชนิดหนึ่ง เรียกอากิญจัญญายตนะ ไม่ยึดจิต ไม่ยึดอารมณ์ ปล่อยจิตปล่อยอารมณ์ทิ้งไปเลย จงใจปล่อย เข้าๆ ออกๆ ได้ พอออกจากอากิญจัญญายตนะมา มันก็ไปหยิบฉวยรูปนามขึ้นมาอีก พอจะเข้านิพพาน กำหนดจิตเข้าอากิญจัญญายตนะ ไม่ยึดถือ ไม่หมายรู้ ทั้งอารมณ์ทั้งจิต ว่างแล้วบอกว่านี่นิพพาน อันนี้นิพพานพรหม ส่วนใหญ่ผู้ปฏิบัติมาตายอยู่ที่ตรงนี้ ตายที่อยู่ที่พรหมโลกนี้เอง
ดูกายก็เพื่อจะได้มาเห็นจิต ดูจิตแล้วก็ได้ธรรมะ
เพราะฉะนั้นค่อยภาวนา อย่าทิ้งจิตตัวเอง เรียนรู้จิตตัวเอง เรียนรู้จิตของเราแต่เบื้องต้น เราจะมีศีลอัตโนมัติ เพราะว่ากิเลสใดๆ เกิดขึ้นที่จิตเรารู้ทัน กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ศีลอัตโนมัติจะเกิด เรียนรู้จิตตัวเอง รู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา จิตก็หยุดการไหล ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา เราก็ได้สมาธิที่ถูกต้อง เห็นไหมเรื่องของจิตทั้งนั้นเลย แล้วในขั้นเจริญปัญญา จะเริ่มจากกาย เวทนา อะไรก็ตาม สุดท้ายมันก็ลงมาที่จิตจนได้
อย่างหลวงพ่อ หลวงปู่ดูลย์ตัดให้ที่จิตเลย ไม่เริ่มจากกายหรอก เข้ามาดูจิต ดูไปเรื่อยๆ มันก็ไม่เห็นมีตัวตนอะไรที่ไหน ดูไปๆ มีแต่ตัวทุกข์ ไม่มีตัวตน มันตัดเข้าที่จิตเลย ความรู้ความเข้าใจมันก็อยู่ที่จิต เพราะฉะนั้นได้จิตก็จะได้ธรรมะ เสียจิตไป ไม่ดูแลจิตตัวเอง ก็จะไม่ได้ธรรมะ จิตนั่นล่ะเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าของธรรมะทั้งหลายทั้งปวง เรียนรู้เข้ามาให้ถึงจิตถึงใจตัวเอง จะได้ไม่เนิ่นช้า
หลวงพ่อเคยถามหลวงปู่ดูลย์ ตอนนั้นหลวงพ่อดูจิตเป็นแล้ว แล้วก็หลวงปู่บอกว่าช่วยตัวเองได้แล้ว ถึงอย่างไรก็พ้นทุกข์ได้ด้วยตัวเองแล้ว หลวงพ่อก็ออกไปดูนักปฏิบัติคนอื่น ดูเขาทำอย่างไรกันหนอ สำนักนี้อานาอานสติ อันนี้ก็ร่างกาย สายโกเอ็นก้าก็กาย เริ่มจากทำสมาธิ ทำอานาปานสติ นี่ก็กาย แล้วก็มาดูเวทนาในกาย พองยุบก็กาย สายหลวงพ่อเทียนขยับมือก็กาย เอ๊ะ ไปที่ไหนๆ มีแต่กายทั้งนั้นเลย ไม่เห็นมีใครพูดเรื่องจิตเลย
เลยกลับมาถามหลวงปู่ กระมิดกระเมี้ยนถาม “หลวงปู่ครับ ผมไปดูมาที่ไหนๆ เขาก็สอนแต่เรื่องกาย ไม่มีใครสอนตัดเข้ามาที่จิตเหมือนหลวงปู่เลย ผมจะต้องไปดูกายบ้างไหม” หลวงปู่ท่านมองหลวงพ่อแบบสลดสังเวชในความโง่ของลูกศิษย์ หลวงพ่อไม่ใช่ลูกศิษย์ที่เก่ง หลวงพ่อเป็นลูกศิษย์ที่อดทนต่อคำสอนของครูบาอาจารย์ ขยันดู เพราะเราไม่ได้เก่ง เราก็ขยันเรียนขยันรู้ ดูเอา หลวงปู่บอกว่าที่เขาดูกายก็เพื่อจะให้เห็นจิตตัวเอง เขายังดูจิตไม่ถึงแล้วเขาดูกายไปก่อน ดูกายก็เพื่อจะได้มาเห็นจิต ดูจิตแล้วก็ได้ธรรมะ
อันนี้ก็ตรงกับที่หลวงปู่สุวัจน์ท่านเล่าให้ฟังว่าท่านไปเรียนกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็สอนอย่างนี้ ดูจิตได้ให้ดูจิต ดูจิตไม่ได้ให้ดูกาย ดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายไม่ได้ ให้ทำสมถะ อันนี้หลวงปู่สุวัจน์ท่านเล่าให้ฟัง
หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกว่า เมื่อเข้ามาถึงจิตแล้ว จะเอาอะไรกับกาย กายเป็นของทิ้ง ท่านพูดอย่างนี้ ที่คนอื่นเขาดูกายเพื่อวันหนึ่งเขาจะได้เห็นจิต ท่านสอนอย่างนี้ เออ เราก็เลยรู้ โอ้ การดูจิตมันเป็นการตัดลัดสั้นเข้าเป้าเลย เพราะว่าจะเกิดหรือไม่เกิด มันก็อยู่ที่จิตนี่ล่ะ จะทุกข์หรือจะสุข จะดีหรือจะชั่ว จะบรรลุมรรคผลหรือเปล่าก็อยู่ที่จิตนี่ล่ะ ไม่อยู่ที่อื่นหรอก ฉะนั้นถ้าเราเรียนรู้ เริ่มต้นก็เรียนตั้งแต่จิตแล้วก็เฝ้าเรียนรู้จิตของตนเองไป จนถึงจุดสุดท้าย ก็เรียนรู้จิตอีก แจ่มแจ้งลงไป จิตนี้เกิดแล้วดับทั้งสิ้น จิตนี้ว่าง จิตนี้มันเกิดดับทั้งสิ้น มันว่างเปล่า มันไม่มีอะไร จิตจะสัมผัสพระนิพพานอัตโนมัติเลย มีความสุข มีความสงบ มีความเบิกบาน ผุดขึ้นมา เต็มอิ่ม ไม่ต้องเข้าฌาน ความสุขนั้นเกิดได้ ความสุข ถ้าจิตฝึกดี อยู่ตรงไหนก็มีความสุขได้
หลวงพ่อไปเห็นครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ตอนนั้นท่านป่วยหนัก หลวงปู่หา ใครได้ยินบ้างไหม ใครเคยได้ยินชื่อไหม หลวงปู่หา คนเรียกหลวงปู่ไดโนเสาร์ ตอนนั้นท่านป่วยอยู่วิชัยยุทธ อุปัชฌาย์หลวงพ่อก็มาป่วยอยู่วิชัยยุทธ หลวงพ่อไปเยี่ยมอุปัชฌาย์เลยเข้าไปกราบหลวงปู่หาด้วย ก็พูดกับท่านไม่กี่คำหรอก เราก็นั่งสมาธิของเราไป ท่านก็นอน ท่านนอนๆ ไป จิตท่านเบิกบานขึ้นมา ไม่ได้ทำอะไรๆ เลย จิตที่มันไม่ปรุงแต่งอะไรมันมีความสุข มีความสุขมีความสงบอยู่ในตัวเอง
ทุกวันนี้ก็ยังมีคนทำได้ แต่ว่าร่อยหรอเต็มทีแล้ว ครูบาอาจารย์สิ้นไปๆ เรื่อยๆ ปีนี้ก็สิ้นไปหลายองค์ หลวงปู่แสงก็สิ้นไปแล้ว หลวงพ่อไม่เคยเจอท่านหรอก แต่ว่าเห็นรูปท่าน แล้วเห็นธรรมะท่าน รู้ว่าธรรมะท่านดี สิ้นครูบาอาจารย์ไปเยอะแล้ว พวกเราอย่าขี้เกียจ รีบเรียนรู้จิตตัวเองให้ดี จิตไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ เดี๋ยวมันสงบเอง จิตไม่ตั้งมั่นรู้ว่าไม่ตั้งมั่น เดี๋ยวมันก็ตั้งมั่นเอง แล้วก็ดูจิตมัน เกิดดับไปเรื่อยๆ จิตสุข จิตทุกข์ จิตดี จิตชั่ว ล้วนแต่เกิดแล้วดับ ดูไปเรื่อยๆ แล้วจิตมันจะเข้าสู่กระแสธรรมะ บางคนก็เร็ว บางคนก็ช้า แล้วแต่บุญบารมีของเก่าที่สะสมมา
เราไม่ต้องหวังว่ามันต้องเร็ว ถ้าต้นทุนของเรายังน้อย ก็ต้องใช้เวลา แต่ว่าถ้าต้นทุนน้อย แล้วขี้เกียจก็คือน้อยตลอดไปทุกภพทุกชาติ ถ้าต้นทุนน้อยก็ขยันภาวนาเรื่อยๆ ถ้าต้นทุนมันเยอะ ถ้าบารมีพอแล้วก็ได้มรรคผลในชีวิตนี้ล่ะ หรืออาจจะถึงนิพพานในชีวิตนี้ล่ะ ถ้ายังไม่พอก็ไปต่อชาติหน้า สะสมเอาไป
วันนี้หลวงพ่อพูดด้วยเท่านี้ ขอให้พวกเราขยันภาวนา ตั้งอกตั้งใจไว้ เวลาของเราใกล้จะหมดลงทุกทีแล้ว เหลือเวลาสั้นลงๆ แล้ว อะไรที่ไม่มีสาระทิ้งมันไปได้เลย กล้าหาญ หยิบได้ก็ขว้างทิ้งเลย ไม่ต้องอาลัยอาวรณ์จะวางตอนไหนดี ตอนไหนที่เราจะวางได้ดีที่สุดคือตอนนี้ล่ะ เอาอะไรกับโลก โลกไม่มีอะไร โลกมันหลอกใช้เราเฉยๆ สุดท้ายทุกอย่างมันก็ว่างเปล่า เพราะฉะนั้นเข้มแข็งไว้ ธรรมะนี้เป็นธรรมะของคนเข้มแข็ง คนต่อสู้เอาตัวเองให้รอด ไม่ใช่พึ่งคนอื่น ไม่มีใครช่วยเราได้หรอก ขออวยพรให้ทุกคนขยันภาวนา
วัดสวนสันติธรรม
21 มกราคม 2567