มีปัญญารู้ทุกข์จะละกามได้

โลกเป็นอย่างนี้ หลวงพ่อบอกอยู่เสมอ โลกไม่เคยหยุดนิ่ง โลกไม่เป็นไปอย่างที่ใจเราปรารถนา หมดเรื่องนี้ก็มีเรื่องนั้น โลกไม่เคยสงบสุขแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ผู้มีปัญญาถึงคิดจะออกจากโลก คนในโลกเขาไม่มีทางเขาก็ต้องอยู่กับโลกต่อไป ไม่มีทางที่จะออกจากโลก ไม่รู้ทาง โลกไม่มีอะไรมีแต่ทุกข์ กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงตลอดเวลา เห็นไหมโควิดซาลงไปหน่อย ระบาดแล้วไม่รุนแรง ก็มีปัญหาเรื่องอื่นเข้ามาอีกแล้ว จ่อๆๆ เข้ามาตลอด อันหนึ่งปัญหาหนึ่งยังไม่ทันจะจบ ปัญหาใหม่มันก็มาแล้ว

แล้วในความเป็นจริงโลกเป็นอย่างนี้มาตลอด โลกเป็นอย่างนี้มาตลอดเวลา ทำไมมันเป็นอย่างนี้ เพราะกิเลสของคนมันมีอยู่ตลอด ก็เบียดเบียนกระทบกระทั่ง แย่งชิงผลประโยชน์ แย่งชิงอำนาจกัน ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ระดับโลก มันก็เรื่องอย่างเดียวกันทั้งนั้น เรื่องของกิเลสทั้งหมด เราจะไปห้ามคนอื่นไม่ให้มีกิเลส มันทำไม่ได้หรอก ฉะนั้นเราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ โดยที่เราทุกข์ให้น้อยๆ หน่อย ศาสนาพุทธจะตอบโจทย์เรา คือเราจะสามารถอยู่ในทุกๆ สถานการณ์ได้ โดยทุกข์น้อยๆ ไม่ถึงระดับไม่ทุกข์เลยหรอก ถึงระดับไม่ทุกข์เลย ภาวนากันหนักหน่อย ฆราวาสทำยาก ถ้าระดับทุกข์น้อยๆ ระดับเราภาวนาได้โสดาบัน สกทาคามี ทุกข์เราจะน้อยลงไปเยอะเลย อันนี้ฆราวาสพอจะสู้ไหว

ระดับอนาคามีฆราวาสยากมาก ฆราวาสอยู่กับกาม กามก็คือเพลิดเพลิน ความเพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในวัตถุธรรมทั้งหลาย มันชวนให้เราเพลิน ให้เราหลง ฉะนั้นการจะข้ามกาม พ้นจากอำนาจของกามได้ ก็ไม่ใช่ง่าย อย่างเรามีความใคร่ขึ้นมา เราก็เสพกามสนองความใคร่ไป เราไม่สามารถออกจากกามได้ กามนี้ยิ่งเราบริโภคมากเท่าไรเรายิ่งติด เมื่อก่อนมันมีทฤษฎี บางคนคิดว่าบริโภคกามให้เต็มที่ไปเลย แล้วจิตมันจะเบื่อ มีนะทฤษฎีอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจะมั่วสุมจะอะไรต่ออะไรให้เต็มเหนี่ยวไปเลย แล้วกะว่าวันหนึ่งจิตจะเบื่อกาม

พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องกาม บริโภคเท่าไรก็ไม่เบื่อหรอก มีแต่จะยิ่งติด เรื่องกาม เรื่องการนอนเรื่องอะไรพวกนี้มีอยู่ 2 – 3 เรื่อง เสพแล้วมันก็ติด เป็นของเสพติด เพราะฉะนั้นทฤษฎีที่บอกเสพกามให้หนัก อย่างดูหนัง ฟังเพลง หาความสุขให้เต็มที่แล้ววันหนึ่งจะเบื่อ ทฤษฎีนี้ใช้ไม่ได้ เพราะพอมันเบื่ออย่างนี้มันจะไปหาอย่างอื่น มันไม่เบื่อจริง มันไม่เหมือนวิธีของพระพุทธเจ้า แทนที่จะมัวตอบสนองกาม ท่านให้มาเรียนรู้ลงที่กายที่ใจนี้ ถ้าเราเห็นความจริงว่าร่างกายเราคือตัวทุกข์ จิตใจของเราคือตัวทุกข์ มันจะแสวงหากามไปเพื่ออะไร เพื่อสนองตัวทุกข์นี้หรือ

พอมันไม่ได้รักกายรักใจ ไม่ได้ยึดถือในกายในใจนี้แล้ว ความดิ้นรนที่จะแสวงหากาม ดิ้นรนที่จะแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่เพลิดเพลินพอใจ ก็จะไม่มี มันคล้ายๆ เราอยากได้เสื้อผ้าอย่างดี นุ่มๆ ดีมากๆ สวมใส่สบาย แพงแค่ไหนก็ยอมซื้อ คนในโลกเขามองอย่างนี้ หาเงินมากๆ ก็ไปซื้อเสื้อดีๆ ผ้าดีๆ มาใส่ จะได้นุ่มสบายตัว แต่ถ้าเราภาวนาเราจะรู้เลย กายนี้คือรังของโรค กายนี้คือตัวทุกข์ มันเหมือนเราเป็นแผล ร่างกายนี้เหมือนเรามีแผลอยู่ทั้งตัว เอาเสื้อผ้าอย่างดีมาสวมมาใส่ มันก็ไม่ได้มีความสุข มันก็ระคายเคืองอยู่ดี

ฉะนั้นถ้าเราเห็นกายนี้มีแต่ทุกข์แต่โทษ ความหลงใหลในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส มันก็จะลดลง ไม่รู้จะเสพไปทำไม เสพแล้วหวังว่าจะมีความสุข แต่เสพแล้วจริงๆ มันก็หนีความทุกข์ไม่พ้น เพราะฉะนั้นทางพ้นทุกข์ของพระพุทธเจ้า ไม่ได้สนองกิเลส ไม่ได้ว่าเสพกามเยอะๆ แล้วจะพ้น แล้วก็ไม่ใช่กดข่มบังคับตัวเอง อยากกินไม่กิน อยากนอนไม่นอน อยากสบายก็นอนบนตะปูมันเสียเลย แต่ท่านให้ใช้ปัญญา มีสติ มีปัญญา มีสมาธิคือภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วก็มีสติระลึกลงไปในร่างกาย พอสติระลึกลงในกายด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง มันจะเห็นความจริงของกาย กายนี้ไม่ใช่ของดี กายนี้เต็มไปด้วยทุกข์ กายนี้เต็มไปด้วยโทษ ไม่น่าปรารถนา เพราะฉะนั้นความหลงใหลในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย มันจะลดลงเอง เพราะมันรู้ตัวที่เสพรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรพวกนี้ ตัวมันเองนั่นล่ะทุกข์แสนทุกข์

เพราะฉะนั้นถ้าเรามีปัญญารู้ทุกข์ เราก็จะละกามทั้งหลายได้ ละความหลงโลกได้ ที่เราหลงโลกๆ พูดไปอย่างนั้นล่ะ ที่จริงแล้วหลงในกาม หลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่สัมผัสกายเรา เราหลงสิ่งเหล่านี้ เราก็เรียกหลงโลก เพราะฉะนั้นตัวกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย เป็นเครื่องมือของมารที่จะผูกเราไว้ในโลก ไม่ให้หลุดออกไปหรอก ยิ่งเราคิดว่าเสพกามเยอะๆ แล้วจะพ้น ก็คือเราตกอยู่ใต้อำนาจของมาร มารจะยิ่งผูกมัดเราไว้ด้วยกาม กามก็ไม่ใช่เรื่องเซ็กซ์อย่างเดียว เป็นเรื่องของการติดอกติดใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ก็คือโลกทั้งหลายนั่นล่ะ

 

ถ้าอยากพ้นจริงๆ เรียนรู้ลงที่กาย เรียนรู้ลงที่ใจไป

ฉะนั้นเรามาเรียนให้เห็นความจริง ความจริงในกาย ถ้ารู้แจ้งความจริงในกาย เราก็จะไม่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย ถ้าเรียนรู้ความจริงของใจ เห็นของจริงของจิตแล้ว จิตคือตัวทุกข์ เราก็จะไม่ติดในรูปโลก อรูปโลก ไม่ติดในฌานสมาบัติทั้งหลาย รูปฌาน อรูปฌาน รูปฌาน อรูปฌานมันก็เหมือนยาแก้ปวด เวลาจิตใจวุ่นวายก็ไปนั่งสมาธิให้จิตสงบ ก็รู้สึกมีความสุข พออำนาจยาแก้ปวดหมด คือออกจากฌานมามันก็ทุกข์เหมือนเดิม หรือบางทีทุกข์มากกว่าเดิม

อันนั้นเราจะพ้นจากการติด ในความสงบของจิตของใจ ความสุขทางใจ เราจะพ้นได้ถ้าเราเห็นความจริงว่าจิตนี้คือตัวทุกข์ เหมือนเราพ้นความติดอกติดใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส คือกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย หรือโลกทั้งหลาย เราพ้นได้เพราะเราเห็นความจริงแล้ว กายนี้คือตัวทุกข์ เราจะพ้นความติดอกติดใจในฌานสมาบัติทั้งหลาย ถ้าเราเห็นว่าจิตมันคือตัวทุกข์ เข้าฌานไป ผู้ไม่มีปัญญาก็เห็นว่ามีความสุข ผู้มีปัญญาก็ยังเห็นในนั้นก็ทุกข์

ถ้าเราเคยภาวนาชำนิชำนาญในการดูจิตตนเอง เวลาเข้าฌานแต่ละขั้นๆ ไป เราจะเห็นว่ามันมีแต่ภาระทั้งหมดเลย มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น ปีติที่เขาว่าดีก็คือทุกข์ ความสุขที่เขาว่าดีก็คือทุกข์ อุเบกขาที่เขาว่าดีมันก็คือทุกข์ เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเสียดแทงจิตใจทั้งนั้น เพราะฉะนั้นวิธีที่จะพ้นทุกข์ ถ้าอยากพ้นจากกามาวจร ความหลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส สัมผัส คือโลกที่พวกเราคุ้นเคย ถ้าเราเห็นความจริงของกายเมื่อไร เราจะพ้นได้ ถ้าเราเห็นความจริงว่าจิตใจนี้เป็นทุกข์ ตัวจิตเป็นตัวทุกข์ เราก็จะไม่ติดในโลกละเอียด โลกของพรหม โลกของฌานสมาบัติทั้งหลาย เพราะรู้เลยว่าเข้าไปมันก็เท่านั้น เหมือนกินยาแก้ปวด พอหมดฤทธิ์ยาก็ปวดเหมือนเดิม

ฉะนั้นเส้นทางของศาสนาพุทธ วิธีการของศาสนาพุทธ ไม่ได้เข้าไปเสพ ไม่ใช่เสพกามเยอะๆ แล้วจะพ้น ไม่พ้น เข้าฌานเยอะๆ แล้วจะเบื่อ ไม่ยึดถือฌาน ไม่มีทาง มันคือการเสพกามอย่างละเอียดนั่นเอง แล้วก็ไม่ใช่วิธีกดข่ม กดข่มทรมานกาย ทรมานใจ ศาสนาพุทธเราเป็นศาสนาของพุทธะ ผู้รู้ เพราะฉะนั้นเราต้องเดินไปด้วยสติ ด้วยปัญญา ถึงจะเป็นผู้รู้ ถ้าเราเดินด้วยความเป็นผู้หลง มันใช้อะไรไม่ได้ ก็หลงโลกไป ทั้งโลกหยาบคือกามาวจร โลกละเอียด รูปาวจร อรูปาวจร โลกของฌานสมาบัติทั้งหลาย มันก็คือโลกๆ หนึ่ง

ถ้าอยากพ้นจริงๆ เรียนรู้ลงที่กาย เรียนรู้ลงที่ใจไป ระหว่างกายกับใจ กายเป็นของหยาบ บางท่าน ท่านก็สอน ส่วนใหญ่ก็สอนบอกให้ดูกายก่อนดูจิตทีหลัง อันนั้นแล้วแต่จริตนิสัย จริตนิสัยบางคนดูกายแล้วจืด จืดชืด จิตไม่เอา จิตไม่สนใจ จิตมันรู้ลึกๆ กายมันเป็นของทิ้ง มันไม่สนใจ มันสนใจที่จะฝึกจิตฝึกใจตัวเอง พูดอย่างนี้ก็ดูเข้ามาที่จิตเลย ไม่จำเป็นว่าต้องเริ่มจากกาย แต่ไม่ว่าจะเริ่มจากการเดินปัญญาจากกาย หรือจะเริ่มเดินปัญญาด้วยการดูจิตใจ ทุกคนก่อนจะเจริญปัญญาต้องเรียนเรื่องจิตก่อน บทเรียนเรื่องจิตตัวนี้เรียกว่า จิตตสิกขา

บทเรียนในทางศาสนาพุทธมีอยู่ 3 บท ศีลสิกขา จิตตสิกขา และก็ปัญญาสิกขา ตัวปัญญาสิกขานั้นเราอาจจะไปเรียนรู้ความจริงของกาย ว่ากายนี้คือตัวทุกข์ หรือเรียนรู้ความจริงของเวทนา เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอะไรอย่างนี้ก็ได้ เรียนรู้ไปที่สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็ได้ เรียนรู้เข้ามาที่จิต เห็นจิตนี้เกิดดับอยู่ทางอายตนะทั้ง 6 เดี๋ยวเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของบังคับไม่ได้ จะเรียนอันไหนก่อนก็ได้ ในสติปัฏฐาน 4 จะเริ่มต้นจากอันไหนก่อนก็ได้ แล้วแต่จริตนิสัยของเรา

อย่างหลวงพ่อให้หลวงพ่อไปเริ่มจากกาย จิตหลวงพ่อไม่เอา ตั้งแต่ไหนแต่ไรเลย ตอนเด็กๆ นั่งสมาธิไปแล้วก็เคยได้ยินเขาพูดกันถึงพุทโธพิจารณากาย ดูกายลงมาไม่นานก็ระเบิดออกไป รู้สึกดูกายแล้วจืดชืดไม่มีชีวิตชีวาอะไร ไปเจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ให้หลวงพ่อดูจิตเลย ไม่ต้องมาดูกายแล้ว ดูเข้ามาที่จิตรู้สึกจิตใจ Alert ที่จะเรียนรู้ ตรงนี้เป็นขั้นเจริญปัญญา ส่วนขั้นก่อนเจริญปัญญา ต้องฝึกจิตให้มีสมาธิที่ถูกต้องเสียก่อน อันนั้นเรียกว่าจิตตสิกขา จะทำให้เราได้สมาธิที่ถูกต้อง

 

“พอมีศีลแล้วก็ฝึกจิตของเราให้ตั้งมั่น
ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว
จิตตั้งมั่นสำคัญ
ถ้าจิตไม่มีความตั้งมั่นเรียกไม่มีสัมมาสมาธิ
สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา
ไม่มีสัมมาสมาธิจะไม่เกิดปัญญา”

 

อย่างที่หลวงพ่อพร่ำสอนพวกเราเรื่อยๆ อย่าเผลอ อย่าเพ่ง เผลอให้รู้ เพ่งให้รู้ ในที่สุดจิตก็รู้ตื่นเบิกบานขึ้นมา ไม่เผลอ ไม่เพ่ง รู้เนื้อรู้ตัว จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว อันนั้นเป็นบทเรียนของจิตตสิกขา เราได้จิตใจที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องแล้ว ถัดจากนั้น ถนัดเห็นความจริงของกาย ก็ดูกายไป ถนัดเห็นความจริงของเวทนา ก็ดูเวทนาไป ถนัดเห็นความจริงของจิตตสังขาร ก็ดูจิตตสังขารไป ถนัดที่จะเห็นกระบวนการทำงานของจิตก็ดูมันไป ในกระบวนการทำงานของจิต มันจะอยู่ในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อย่างเราจะดู ไม่ใช่ดูแค่กิเลส จะดูเลยว่าอะไรทำให้กิเลสเกิดขึ้น อะไรทำให้กิเลสไม่เกิดขึ้น อะไรทำให้กุศลเกิดขึ้น อะไรทำให้กุศลไม่เกิดขึ้น มันเห็นลึกซึ้งลงไป หรือมันเห็นว่าอะไรทำให้ความทุกข์เกิดขึ้น อะไรทำให้ความทุกข์ไม่เกิดขึ้น อันนั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นอริยสัจ อันนั้นอยู่ในขั้นธัมมานุปัสสนา ต้องเรียนลงมาที่จิตที่ใจให้เชี่ยวชาญถึงจะเห็นได้

เพราะฉะนั้นในขั้นของการเจริญปัญญา ถนัดรู้กายว่าเป็นไตรลักษณ์ก็รู้กาย ถนัดรู้เวทนาว่าเป็นไตรลักษณ์ก็รู้เวทนา ถนัดรู้จิตตสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว จิตที่ปรุงดี จิตที่ปรุงชั่ว ก็รู้มันไปว่าเป็นไตรลักษณ์ ลึกซึ้งเข้ามา ถนัดที่จะเห็นกระบวนการทำงานของจิตใจ ก็เรียนรู้เอา ตรงธัมมานุปัสสนานี้ เราจะเรียนรู้ถึงการทำงานของจิตใจเลย จิตจะปรุงนิวรณ์ทำอย่างไร จิตจะพ้นจากนิวรณ์เป็นอย่างไร เพราะอะไร ค่อยๆ ดูแล้วมันเห็น หรือจิตจะเจริญโพชฌงค์ได้อย่างไร โพชฌงค์ไม่เกิดเพราะอะไร เห็นธาตุ เห็นขันธ์ เห็นอายตนะ สิ่งเหล่านี้ถูกรู้ถูกดู จิตต้องตั้งมั่นจริงๆ ถึงเห็นจริง หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท กระบวนการที่จิตปรุงแต่งความทุกข์ขึ้นมา อันนั้นเราต้องเชี่ยวชาญ ภาวนามากๆ เดี๋ยววันหนึ่งถึงจะไปสู่จุดนี้ได้

สรุปก็คือ พวกเราต้องรักษาศีลเอาไว้ให้ดี ไม่ต้องรักษาเยอะเอาศีล 5 ข้อพอ ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น พอมีศีลแล้วก็ฝึกจิตของเราให้ตั้งมั่น ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว จิตตั้งมั่นสำคัญ ถ้าจิตไม่มีความตั้งมั่นเรียกไม่มีสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา ไม่มีสัมมาสมาธิจะไม่เกิดปัญญา การมีสัมมาสมาธิ สิ่งที่เป็นสัมมาสมาธิ มันก็คือตัวอัปปนาสมาธิ รองลงมาก็คืออุปจารสมาธิ รองลงมาก็คือขณิกสมาธิ พวกนี้ใช้ได้ทั้งหมด แล้วต้องฝึกมันถึงจะมี อย่างบางคนเข้าใจผิดเอามากๆ เลย นั่งสมาธิแล้วก็เคลิ้มๆ แล้วบอกว่าได้อุปจารสมาธิ ไม่ใช่ อุปจารสมาธิไม่ใช่เคลิบเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัว อัปปนาสมาธิก็ไม่ใช่นั่งแล้วเห็นโน่นเห็นนี่ อันนั้นไม่ใช่เลย คนละเรื่อง คนละโลกเลย มันคือภาวะที่จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว

 

เรียนรู้จิตตัวเองแล้วจะได้สมาธิที่ถูกต้อง

ฉะนั้นถ้าเราเข้าฌานไม่เป็น หลวงพ่อแนะนำว่า ให้เราฝึกให้จิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวไว้ วิธีฝึกถ้าทำในรูปแบบ ลองขยับร่างกายก็ได้ หรือเห็นร่างกายมันหายใจ เห็นร่างกายมันขยับ อย่างตอนเรานั่งอยู่เราเห็นร่างกายหายใจ หรือเห็นท้องมันพอง ท้องมันยุบ เราอย่าไปเพ่งที่ท้อง รู้สึกทั้งตัวนี้ล่ะ แล้วเห็นว่าบางส่วนมันพอง บางส่วนมันยุบไป จิตเป็นคนรู้คนดูอยู่ แล้วถ้าจิตมันหนีไปเราก็รู้ จิตมันถลำลงไปเพ่งร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเราก็รู้ ตรงที่เรารู้ทันว่าจิตมันหนีไป หรือจิตมันถลำลงไปเพ่ง ตรงนั้นสมาธิที่ดีมันจะเกิดขึ้น จิตจะตั้งมั่นขึ้นโดยอัตโนมัติ

ค่อยๆ ฝึก ทำในรูปแบบทุกวัน ฝึกไป หรือเดินจงกรม เห็นร่างกายเดินใจเป็นคนดู ดูไปเรื่อยๆ รู้สึกไปเรื่อยๆ เดินไปๆ ใจลอยจะไปคิดเรื่องอื่น รู้ว่าใจลอยแล้วก็กลับมาเดินต่อ เดินไปๆ จิตถลำลงไปเพ่งร่างกาย หรือไปเพ่งเท้า รู้ทันว่าจิตถลำลงไปเพ่ง พอเรารู้ทันจิตของตัวเอง จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา บทเรียนนี้ถึงชื่อจิตตสิกขา เรียนรู้จิตตัวเองแล้วจะได้สมาธิที่ถูกต้อง เรียนรู้จิตอย่างไรถึงจะได้สมาธิ ถ้าจิตหนีไปรู้ว่าจิตหนีไป ไหลไปคิดรู้ว่าไหลไปคิด ไหลไปเพ่งรู้ว่าไหลไปเพ่ง 2 ตัวนี้ตัวหลักๆ

สรุปแล้วก็คือ ถ้าเราทำกรรมฐานแล้วก็รู้ทันจิตที่ไหลไปไหลมา รวมทั้งไหลไปเพ่งด้วย เราจะได้จิตผู้รู้ คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องเกิดขึ้น เมื่อเรามีจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องแล้ว สติระลึกรู้กายชำนาญก็รู้กายไป กายก็จะสอนไตรลักษณ์ สติชำนาญที่จะรู้เวทนาความรู้สึกสุขทุกข์ก็รู้ไป เวทนาก็สอนไตรลักษณ์ ถนัดที่จะเห็นจิตโลภ โกรธ หลง หรือจิตไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง หัดรู้มันไป โลภก็รู้ ไม่โลภก็รู้ โกรธก็รู้ ไม่โกรธก็รู้ หลงก็รู้ ไม่หลงก็รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ หดหู่ก็รู้ รู้ไปเรื่อยๆ ต่อไปจะเห็นมันไม่เที่ยง แล้วมันก็บังคับไม่ได้ จิตจะรู้หรือจิตจะหลงก็ควบคุมไม่ได้ สั่งไม่ได้ ก็เห็นไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะดูกาย ดูเวทนา หรือดูจิต หรือเจริญธัมมานุปัสสนา ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของรูปของนามนั่นล่ะ เห็นสิ่งเดียวกัน ดูกายก็เห็นสิ่งเดียวกันกับดูจิตคือเห็นไตรลักษณ์ ถ้าดูกายแล้วเห็นกายอันนั้นเป็นสมถะ ถ้าดูจิตแล้วเห็นจิตอันนั้นเป็นสมถะ ถ้าดูกายแล้วเห็นไตรลักษณ์แสดงตัวอยู่ที่กาย อันนั้นเป็นวิปัสสนาเป็นการเจริญปัญญา ถ้าดูจิตแล้วเห็นจิตมันแสดงไตรลักษณ์อยู่ อันนั้นเป็นวิปัสสนา

ฉะนั้นเวลาเราจะเจริญวิปัสสนา เราก็ต้องมีจิตตั้งมั่น จะดูกายก็ต้องมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นคนดู เห็นกายทำงานไปจิตเป็นคนดู จะดูเวทนาก็ต้องมีจิตที่ตั้งมั่น จิตตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้เวทนา จิตก็ตั้งมั่นเป็นคนรู้คนดู ก็จะเห็นความจริงของเวทนา จะดูจิตตสังขาร จิตปรุงดีปรุงชั่ว จิตตั้งมั่นมันก็จะเห็นความปรุงดีปรุงชั่ว เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ แสดงไตรลักษณ์ มันก็เป็นวิปัสสนา เห็นการทำงานของจิต จิตมันทำงานต่างๆ เช่นทำงานทางอายตนะ ทำงานอย่างโน้นอย่างนี้ หรือจิตมันปรุงความทุกข์ขึ้นมา พอเราเห็นอย่างนี้ก็ต้องมีจิตที่ตั้งมั่น ถ้าจิตมันหลงๆ อยู่มันไม่เห็นหรอก

ฉะนั้นตัวจิตที่ตั้งมั่นสำคัญที่สุดเลย ในการที่จะเจริญปัญญา ตำราอภิธรรมถึงบอกว่า “สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา” ปัญญามีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด อันนี้ตำรามีแต่คนเรียนตำราไม่เคยรู้จักสัมมาสมาธิหรอก คิดว่าจิตทุกดวงมีสมาธิอยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้นหมามันก็มีปัญญา ตัวตะกวดมันก็มีปัญญาฉะนั้นสมาธิมันเกิดร่วมกับจิตทุกดวง แต่ไม่ใช่สมาธิทั้งหมดเป็นสัมมาสมาธิ ฉะนั้นถ้าแยกตัวนี้ไม่ออก ไม่เรียนเรื่องสมาธิ ไม่เรียนจิตใจตัวเองให้ดีก็จะไม่รู้จักสมาธิ

ฉะนั้นเราสังเกตจิตใจตัวเอง ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง เบื้องต้นทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตไหลไปคิดรู้ทัน จิตถลำลงไปเพ่งรู้ทัน รู้บ่อยๆ แล้วจิตมันจะตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวโดยอัตโนมัติ เราจะได้จิตที่มีสมาธิแล้ว พอเรามีจิตที่มีสมาธิ สติถนัดจะระลึกรู้กายก็รู้ไป ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย มันก็จะเห็นไตรลักษณ์ สติถนัดรู้เวทนาก็รู้ไปแล้วจะเห็นไตรลักษณ์ ถนัดรู้จิตก็รู้ไปแล้วมันก็เห็นไตรลักษณ์ ถนัดเจริญธัมมานุปัสสนา เห็นกระบวนการทำงาน ของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย มันก็เห็นไตรลักษณ์อีก ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขา ก็เห็นสิ่งเดียวกัน เห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ

ฉะนั้นถนัดอันไหน ในขั้นเจริญปัญญาถนัดอันไหนเอาอันนั้น แล้วรู้ได้อย่างไรว่าถนัด สติระลึกรู้อะไรบ่อยรู้อันนั้นล่ะ อย่างหลวงพ่อพื้นเดิมเป็นคนขี้โมโห เดี๋ยวก็โกรธๆๆ หลวงปู่ดูลย์เลยบอกให้ดูจิตเอา เราก็จะเห็นจิตเดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หายโกรธ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ ทั้งวันมีอยู่แค่นี้ เดี๋ยวจิตก็โกรธ เดี๋ยวจิตก็ไม่โกรธ ทีแรกมันก็โกรธ ต่อไปมันไวขึ้น เดี๋ยวจิตก็หงุดหงิด เดี๋ยวจิตก็ไม่หงุดหงิด ไม่ถึงกับโกรธแรงๆ แล้วแค่หงุดหงิด หรือจิตรำคาญเล็กๆ นี่ก็โทสะเหมือนกัน มันค่อยละเอียดๆๆ ขึ้น ก็ดูอยู่แค่นั้น สุดท้ายมันก็เห็นจิตมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก มันโกรธมันก็โกรธได้เอง มันไม่โกรธมันก็ไม่โกรธของมันได้เอง

 

ต้องฝึกเพื่อให้ได้สัมมาสมาธิจริงๆ

เพราะฉะนั้นถนัดรู้อะไร สติระลึกอะไรได้บ่อยๆ เอาอันนั้นล่ะ ระลึกรู้กายได้ก็เอากาย ระลึกรู้เวทนาได้ก็เอาเวทนา ระลึกรู้จิตได้ก็เอาจิตนั่นล่ะมาเป็นฐาน พอรู้บ่อยๆๆๆ ก็เห็นไตรลักษณ์ นี่คือเส้นทาง แต่ก่อนที่จะไปเห็นไตรลักษณ์ได้ จิตใจต้องอยู่กับเนื้อกับตัว ต้องตั้งมั่นก่อน ฉะนั้นต้องฝึก ไม่ใช่มักง่ายบอก โอ๊ย องค์ธรรมของสติก็คือเอกัคคตาเจตสิก ท่องกันใหญ่ เอกัคคตาเจตสิกนั้นไม่ต้องฝึก เพราะว่ามีในจิตทุกดวง จิตทุกดวง จะต้องมีเอกัคคตาเจตสิก ฉะนั้นไม่ต้องฝึกสมาธิหรอก ไม่รู้หรือสมาธิมีทั้งมิจฉาสมาธิ ทั้งสัมมาสมาธิ

ฉะนั้นต้องฝึกเพื่อให้ได้สัมมาสมาธิจริงๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเองไป ไม่ใช่บังคับจิตให้สงบ ไม่ใช่ทำกรรมฐานหายใจเข้าพุทออกโธ แล้วไปบังคับให้จิตสงบ ไม่ใช่ แต่ทำกรรมฐานแล้วรู้ทันจิต เช่นหายใจเข้าพุทหายใจออกโธ จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นรู้ทัน หายใจเข้าพุทหายใจออกโธ จิตถลำลงไปเพ่งลมหายใจรู้ทัน รู้ทันจิตไว้ ในที่สุดจิตจะกลายเป็นผู้รู้ขึ้นมา พอจิตมันเป็นผู้รู้มันจะมีความรู้สึก เหมือนเราตื่นขึ้นมาอย่างแท้จริง วันแรกนาทีแรกที่ตื่นขึ้นมา มันรู้สึกอัศจรรย์ อัศจรรย์มากๆ เลย รู้สึกว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด

หลวงพ่อตื่นขึ้นมาทีแรกตอน 10 ขวบ ตอนนั้นบ้านเป็นตึกแถว ไปเล่นลูกหินอยู่กับเพื่อนๆ ตัวเท่าๆ กัน เพื่อนหลายคนหลายบ้าน เล่นลูกหินอยู่บนฟุตบาทข้างถนน ถนนสมัยหลวงพ่อเป็นเด็ก อยู่ในกรุงเทพฯ แท้ๆ เลย กลางเมืองเลยไม่มีรถหรอก นานๆ จะมีสามล้อ สามล้อถีบวิ่งมาสักคันหนึ่ง ฉะนั้นเด็กๆ เล่นสบายเลยไม่ต้องกลัวรถชน นั่งเล่นลูกหินอยู่ เห็นไฟไหม้ตึกแถวข้างๆ กันสัก 4-5 ห้องห่างออกไป ในบ้านนั้นเขาทำเป็นที่ซ่อมรถยนต์ ซ่อมมอเตอร์ไซด์ ซ่อมรถยนต์ แล้วไฟไหม้ขึ้นมา พอไฟไหม้ขึ้นมาเราเห็นควันพุ่งๆ เห็นคนวิ่งออกมาเราก็ตกใจ พอตกใจด้วยความงกรีบคว้าลูกหินไว้ก่อน แล้วก็วิ่งเลยวิ่งด้วยจิตที่ตกใจ จะไปบอกพ่อว่าไฟไหม้ข้างบ้านแล้ว ก้าวที่หนึ่งตกใจ ก้าวที่สองตกใจ ก้าวที่สามมันเหมือนเปิดสวิทช์ขึ้นเลย สว่างพรึบขึ้นมาเลย จิตผู้รู้มันเกิดขึ้นอัตโนมัติ มันเด่นดวงขึ้นมาทันทีเลย เพราะอะไร เพราะเวลาก้าวที่หนึ่งที่ตกใจ มันเห็นความตกใจ ก้าวที่สองเห็นความตกใจ ก้าวที่สามสว่างพรึบเลย ความตกใจขาดสะบั้นไปเลย จิตเป็นผู้รู้ขึ้นมา

แต่ตอนนั้นเราไม่ได้อยู่กับครูบาอาจารย์ ไม่รู้ว่าตัวนี้สำคัญอย่างไร ก็แค่รู้สึกว่ามันแปลกๆ ความตกใจหายไปแล้ว เดินไปบอกพ่อ คราวนี้ก็ดูผู้ใหญ่ตกใจ เห็นเขาตกใจวิ่งไปวิ่งมากัน พวกหนึ่งก็วิ่งไปช่วยดับไฟ บางคนก็ไปขนของ ดูคนแตกตื่น เราไม่ได้แตกตื่นเราเป็นคนดู นี่ตัวรู้มันเกิด เกิดครั้งแรกตอน 10 ขวบ แล้วทีหลังมานั่งสมาธิก็เจอตัวนี้ เจอตัวนี้บ่อยๆ จนกระทั่งไม่รู้ ตอนนั้นสังเกตคนอื่นไม่เป็น จิตนั้นก็เป็นผู้รู้ เราก็คิดว่าจิตคนอื่นเขาเหมือนกันอย่างนี้ แล้วเราก็เหมือนคนอื่น จิตมันคิดอย่างนี้ ก็คิดเหมือนๆ กันหมด ก็คิดว่าคนอื่นเขาก็เป็นจิตอย่างนี้ พอภาวนามานานๆ ภาวนาเป็นแล้วถึงรู้ว่า ในโลกไม่มีคนรู้หรอก ไม่มีผู้รู้มีแต่ผู้หลง มีแต่ผู้หลงเท่านั้น ร้อยละร้อยเดินไปเดินมาเห็นมีแต่คนหลง ที่จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่ไม่ค่อยมีหรอก น้อยเต็มทีถ้าไม่ฝึกจริงๆ ไม่มีทาง ฝึกนี้มันรวมทั้งฝึกแต่ชาติก่อนๆ ด้วย ของพวกนี้ไม่สูญหาย

ฉะนั้นเวลาเราฝึกกรรมฐาน เกิดความรู้ความเข้าใจอะไรเกิดขึ้นกับจิต พอเราตายสมองเราถูกเผาไปหมดแล้ว จิตนี้มันยังทรงความรู้อันนี้ไว้ เวลามีอะไรมากระทบ ความรู้เก่าจะขึ้นมาง่าย ฉะนั้นต้องแยกกัน ความรู้ที่เกิดจากการอ่าน การฟัง การคิดอะไรพวกนี้ มันเข้าไปที่สมอง ความรู้ที่เกิดจากการเห็น การเข้าไปประจักษ์ เข้าไปรู้แจ้งรู้จริง อันนี้มันฝังเข้ามาที่จิต คนละอันกัน สมองนี่ไม่ทันแก่มันก็เสื่อมหมดแล้ว จำโน้นจำนี้ไม่ได้ อย่างคนเรียนตำราท่องตำราได้เยอะๆ อายุเยอะขึ้นก็จำไม่ได้เหมือนกัน เหลือนิดเดียวที่จำได้ ส่วนใหญ่จำแต่เรื่องเก่าๆ ได้นิดหน่อย แต่ส่วนที่ฝังลงไปที่จิตเรา มันจำข้ามภพข้ามชาติ ไม่อย่างนั้นเขาจะระลึกชาติกันได้อย่างไร ที่ระลึกชาติได้ก็เพราะว่าความจำเก่ามันยังฝังอยู่ ถ้าความจำเก่ามันไม่มีมันก็ระลึกไม่ได้

 

“เบสิกของการฝึกกรรมฐานก็คือทำในรูปแบบ
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตนเองไป
คือการฝึกจิตตสิกขานั่นล่ะ สำคัญ”

 

ฉะนั้นพวกเราภาวนาเรื่อยๆ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเอง คือทำจิตตสิกขาให้มันมากๆ ให้มันแน่นๆ ให้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่อึดอัด แน่นๆ หมายถึงให้มันหนักแน่น หมายถึงไม่คลอนแคลนง่ายๆ การฝึก Basic เบสิกสำคัญที่สุดเลย อย่างหลวงพ่อฝึกกรรมฐาน หลวงพ่อฝึกจนจิตเป็นผู้รู้อัตโนมัติ ไม่ได้เจตนา อย่างมากตอนเป็นโยม จิตไหลแวบหนึ่งก็รู้สึกแล้ว แวบหนึ่งก็รู้สึกแล้ว ที่จะแวบชั่วโมงนี่ไม่มีหรอก อันนั้นเพราะเราฝึกเรื่อยๆ จิตมันก็ตั้งมั่น เบสิกสำคัญ เบสิกของการฝึกกรรมฐานก็คือทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตนเองไป คือการฝึกจิตตสิกขานั่นล่ะ สำคัญ

เมื่อก่อนอยู่จุฬาฯ ปีหนึ่ง หลวงพ่อไปหัดฟันดาบ เรียนฟันดาบ เพื่อนๆ เขาฝึกกันหลายท่า หลวงพ่อฝึกท่าเบสิก มันมีท่าที่เรียกว่าท่าเบสิก ท่าจับดาบจะตั้งดาบเฉยๆ นี่ล่ะ ฝึกอยู่อย่างนั้น ฝึกอยู่ท่าเดียว ไม่ร่ายรำกับใครเขา ฝึกอยู่อย่างนั้น เวลาแข่งกับเขา เขารำเราตีหัวเขาโป๊กเลย ไม่เห็นต้องยุ่งอะไรเลย ง่ายมาก ทันทีที่เธอเคลื่อนไหว เธอเปิดจุดอ่อนทันที เคลื่อนไหวเมื่อไรมีจุดอ่อนทันทีแล้ว แล้วก็ซัดตรงนั้นเลย หลักเหมือนกัน เบสิกสำคัญ อันนั้นเทียบมาจากการฟันดาบ เฉยๆ นี่ล่ะพอศัตรูเคลื่อนไหว ศัตรูจะเปิดช่องโหว่ทันที

เราฝึกกรรมฐานเหมือนกัน ทำกรรมฐานไปพอจิตมันหลงนี่ศัตรูมาแล้ว ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นแล้วเรารู้ทันปุ๊บ มันขาดสะบั้นไปเลย จิตมันตั้งมั่นขึ้นเองอัตโนมัติเลย จิตมันทรงตัวอยู่อย่างนั้น ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้วเราก็ค่อยเจริญปัญญา ถนัดดูกายก็ดูกาย ถนัดเวทนาก็ดูเวทนา ถนัดดูจิตก็ดูจิตไป สุดท้ายทุกคนจะไปลงที่ธัมมานุปัสสนา ไปลงที่เดียวกัน จะไปเห็นอริยสัจเหมือนๆ กัน ครูบาอาจารย์หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกหลวงพ่อ ว่านักปฏิบัติส่วนใหญ่ที่ว่าดีๆ ส่วนใหญ่เป็นแค่ผีใหญ่ ไปติดสมาธิอยู่โดยไม่รู้ตัว รักษาจิตเอาไว้ตลอดเวลาเลย ทรงฌานอยู่ตลอดเวลาเลย รักษาไว้ รักษาไว้อย่างนี้แล้วบอกว่าไม่มีกิเลสเลย ตัวนี้คือภพอันหนึ่ง

 

วิญญูชนจะรู้ได้ด้วยตัวเอง

เราจะค่อยๆ เรียน ค่อยเข้าใจๆๆ ไป คนที่พ้นจากภพจริงๆ มีไม่มากหรอก ไม่ใช่มีขึ้นบัญชีทีหนึ่งได้ตั้งหลายสิบคน ไม่ใช่ แล้วเราภาวนา เราไม่ต้องไปนั่งถามคนอื่นหรอก ว่าเราได้ธรรมะขั้นนั้นขั้นนี้หรือเปล่า ฟังหลักให้แม่นๆ แล้วไปดูตัวเอง มันจะเข้าใจตัวเอง อย่างสมมติเราภาวนาแล้วก็สว่างขึ้นมา เราก็คิดว่า เอ๊ะ นี่ได้โสดาบันหรือเปล่า นี่สกทาคามี อนาคามี หรือว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว อย่ามัวเสียเวลาสงสัย ทำใจสบายๆ ดูของเราไป เดี๋ยวกิเลสที่มันมีอยู่มันก็โผล่ให้ดูเอง

ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้ว จะไม่มีสักกายทิฏฐิอีกแล้ว ถ้ายังเกิดความรู้สึกว่าตัวเรามีอยู่ มันก็ไม่ใช่ ไม่เห็นต้องถามใครเลย รู้ตัวเองไป ถ้าเห็นว่า โอ๊ย ยังหลงตั้งยาวๆ โกรธแรงๆ หลงแรงๆ มันก็ไม่ใช่พระสกทาคามี ถ้าจิตยังติดอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หลงเพลินอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หรือเกลียดชังรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มันก็ไม่ใช่พระอนาคามี แล้วจิตยังติดอยู่ในฌานสมาบัติ กำหนดจิตให้นิ่งอยู่ในฌานตลอดวันตลอดคืน มันก็ไม่ใช่พระอรหันต์ ใช้การสังเกตกิเลส

การจะประเมินมรรคผลดูที่กิเลสตัวเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นพยากรณ์ เขาพยากรณ์ถูกก็มี พยากรณ์ผิดก็มี เชื่อไม่ได้หรอก ให้ดูตัวเอง กิเลสอะไรละแล้ว กิเลสอะไรที่ละแล้วนั้น ละเด็ดขาดหรือละชั่วคราว ถ้าละชั่วคราวละด้วยฌานสมาบัติ ถ้าละด้วยมรรคมันจะละถาวร กิเลสอะไรยังไม่ละ ยังเหลือตัวไหนอยู่ รู้ตัวเอง เรียนรู้ตัวเองเข้าไปมันก็จะตอบโจทย์ตัวเองได้ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “วิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง” วิญญูชนจะรู้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องถามคนอื่นหรอก เชื่อได้อย่างไรว่าเขาตอบถูก ดูกิเลสตัวเองนั่นล่ะไม่หลอกลวง แต่ต้องสังเกตดีๆ เช่นจิตไปติดในสมาธิทั้งวันทั้งคืน แล้วบอกไม่มีกิเลส ไม่ใช่ ทำไมจะต้องเอาจิตมาอยู่ตรงนี้ ทำไมจะต้องประคองจิตอยู่กับฌานสมาบัตินี้ ก็เพราะติดนั่นเอง เพราะยังรักจิตอยู่ ถึงจิตจะต้องอยู่ตรงนี้ ใช้ความสังเกตเอา

ฉะนั้นเบื้องต้นสรุป เบื้องต้นถือศีล 5 ไว้ ข้อที่สองทุกวันทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไป ไม่ใช่ทำเพื่อสงบ แต่ทำแล้วคอยรู้ทันจิตไปเรื่อย เช่น หายใจเข้าพุทออกโธ จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ ไม่ต้องพยายามทำให้สงบ ถ้ารู้เฉยๆ ไม่ดิ้นรน สงบเอง สงบอย่างง่ายดายเลย แต่ดิ้นอยากสงบๆๆ จะไม่สงบ เหมือนเจริญปัญญาก็อยากจะรู้ อยากจะรู้จะไม่รู้ จะฟุ้งซ่าน หรือภาวนาไปแล้วอยากได้มรรคได้ผล จะไม่ได้ เพราะความดีทั้งหลายไม่ได้มาด้วยความอยากหรอก มันได้มาด้วยการพ้นอยาก

ฉะนั้นเราจะทำความสงบ เราก็แค่ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหนีไปฟุ้งซ่านก็รู้ แล้วจิตจะสงบตั้งมั่นขึ้นมาเอง แล้วจะดูกายก็ดูมันไป ดูกายมันทำงานไม่ได้เข้าไปแทรกแซงกาย จะดูเวทนาก็ดูเวทนามันทำงาน ไม่แทรกแซงเวทนา จะดูจิตก็อย่าไปแทรกแซงจิต ดูทุกอย่าง อย่างที่มันเป็น รู้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันจะเข้าใจ เข้าใจก็มีหลายระดับ เข้าใจด้วยปัญญา หรือเข้าใจด้วยมรรค เป็นปัญญาในอริยมรรค อันนี้เราไม่ต้องสงสัยหรอก ทำไปเยอะๆ ทำเหตุให้มากแล้วผลมันมีเอง

ฝึกจิตให้มันตั้งมั่น แล้วก็เรียนรู้ความจริงของกายของใจไป เรียนรู้มากพอปัญญามันก็เกิด มรรคผลมันก็เกิดตามหลังมา ค่อยฝึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งก็จะเข้าใจ พอภาวนาไปเกิดอะไรแปลกๆ อย่าเพิ่งตื่นเต้นว่าเป็นมรรคผลหรือเปล่า ไม่ต้องถามคนโน้นคนนี้ วิญญูชนต้องดูด้วยตัวเอง สังเกตกิเลสที่หลวงพ่อบอก กิเลสอะไรละแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ละ ดูอย่างนี้เดี๋ยวก็รู้ว่าตัวเองได้ชั้นไหนๆ แล้วรู้ไปเรื่อยๆ ไม่ได้ยากเย็นอะไรหรอกอดทนทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็เป็นเอง วันนี้เทศน์ตั้งแต่ต้นจนจบเลย ตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่เรื่องถือศีล จนถึงปัจจเวกขณะ ย้อนมาประเมินผลตัวเองได้

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 กรกฎาคม 2565