เมื่อเช้าหลวงพ่อออกไปเดินข้างหน้า เห็นพวกเราดูดี แต่ละคนดูมีพัฒนาการ มีน้อยคนที่ว่ายังจับหลักไม่ได้ ยังจับหลักไม่ได้ก็ไม่แปลก ไปดูยูทูปที่หลวงพ่อเทศน์ ดูเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จับหลักได้ ไม่ยาก เวลาหลวงพ่อไปต่างจังหวัดไปอะไร ไปเห็นชาวบ้านเห็นคน บางทีก็เจอตามร้านอาหารเจอตามปั๊มน้ำมัน เห็นแล้วก็รู้แล้วว่าเขาดูยูทูปที่หลวงพ่อเทศน์ คือพอฟังธรรมะฟังสม่ำเสมอ แล้วก็เอามาปฏิบัติ คอยรู้สึกกาย คอยรู้สึกใจ เบื้องต้นก็ถือศีล 5 ไว้ แล้วก็รู้สึกตัวไว้ ไม่นานจิตจะตื่นขึ้นมา ก็จะตั้งมั่น ฝึกไปเรื่อยๆ พอจิตตั้งมั่นแล้ว ก็ฝึกของเราเรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวก็ล้มไปอีก ในที่สุดก็ตั้งขึ้นมาได้ ทรงตัวเด่นดวงอยู่ มีกำลัง เมื่อจิตมีกำลังเรียกว่ามีสมาธิที่ถูกต้องแล้วก็มากพอ ก็พร้อมจะเจริญปัญญา การเจริญปัญญาไม่ใช่การคิดนึกปรุงแต่งเอา แต่เป็นการเห็นสภาวธรรม
เบื้องต้นก็เห็นสภาวะ เห็นรูปธรรมเป็นของถูกรู้ถูกดูอยู่ แยกออกจากจิต จิตเป็นคนรู้คนดู รูปธรรมเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตตั้งมั่นอยู่ พอสติระลึกรู้นามธรรม เช่น ความสุขความทุกข์ กุศลอกุศล จะเห็นความสุขความทุกข์ก็อันหนึ่ง จิตก็เป็นอีกอันหนึ่ง กุศลอกุศลก็เป็นอย่างหนึ่ง จิตก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แยกออกจากกัน พอจิตเราตั้งมั่นก็ค่อยๆ ดูไป แยกขันธ์ไป แยกได้ง่าย ไม่ได้เจตนาจะแยก แค่รู้สึกเอาก็เห็นแล้วว่า กายกับจิตคนละอัน สุขทุกข์กับจิตคนละอัน ดีชั่วกับจิตคนละอัน ตรงนี้เป็นการเจริญปัญญาในขั้นต้น แล้วถัดจากนั้นก็จะขึ้นวิปัสสนาได้ ตรงที่สติเราเห็นสภาวะของรูปธรรมของนามธรรมมีจิตเป็นคนเห็น ขันธ์แยกได้ เป็นการเจริญปัญญาขั้นต้น แยกรูปแยกนาม
เดินวิปัสสนา คือเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม
แล้วต่อมาจะเห็น ถ้าจิตเราตั้งมั่นอยู่ สติระลึกรู้กาย จะรู้สึกร่างกายเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันรู้สึกไม่ใช่มันคิด ไม่ใช่คิดว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา แต่รู้สึกเลยว่าไม่ใช่ตัวเรา ถ้าจิตเราตั้งมั่นพอ สติระลึกรู้เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ เราก็จะเห็นว่าเวทนาเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเหมือนกัน ความสุขเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ความทุกข์ความเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเหมือนกัน ตรงที่เห็นว่าเกิดแล้วดับไป เรียกว่าเห็นอนิจจัง จะเกิดหรือจะดับเราสั่งไม่ได้ อันนั้นเรียกว่าเราเห็นอนัตตา
ตรงที่เราสามารถเห็นรูปธรรมร่างกายนี้เป็นไตรลักษณ์ เราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ตรงที่เราสามารถเห็นได้ว่าสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ตรงที่เห็นกุศลอกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น อย่างความโกรธเกิดขึ้น เราก็เห็นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนั้นเราก็ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ลำพังเห็นตัวสภาวธรรมก็เป็นปัญญาขั้นต้น ยังไม่ได้ขึ้นวิปัสสนา จะขึ้นวิปัสสนาต่อเมื่อเห็นความจริงของสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม เราจะเห็นได้จิตเราต้องมีกำลัง ที่หลวงพ่อจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรา สังเกตให้ดีเถอะ สิ่งที่หลวงพ่อสอนเป็นเรื่องของการฝึกจิตให้มีกำลังในเบื้องต้น จิตเรามีกำลังตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว ขั้นต่อไปก็คือเดินปัญญา
ปัญญามี 2 ระดับ ปัญญาเบื้องต้นแยกรูปแยกนามไป แล้วปัญญาชั้นสูงเป็นวิปัสสนา เดินวิปัสสนาคือเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ที่จริงมีปัญญาอีกชนิดหนึ่งคือโลกุตตรปัญญา เห็นอริยสัจนะ ตัวโลกุตตรปัญญา ถ้าตัววิปัสสนาปัญญาก็จะเห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ถ้า ถึงโลกุตตระจะเห็นอริยสัจ ปัญญารู้อริยสัจ
การรู้อริยสัจนั้นก็คือรู้ทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือรูปนาม ทีแรกเวลาเกิดอริยมรรคต้นๆ โลกุตตรปัญญายังไม่แก่กล้า ก็มีหลายระดับโลกุตตรปัญญา เบื้องต้นจะเห็นว่ารูปธรรมนามธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เห็น ไม่ใช่คิด เบื้องปลายก็ลึกลงไปอีก รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายที่ว่าไม่ใช่ตัวเรานั้น มันเป็นตัวทุกข์ รูปนี้คือทุกข์ นามธรรมนี้คือทุกข์ ตรงที่เห็นแจ้งว่ารูปเป็นตัวทุกข์ เราจะได้ธรรมะขั้นกลางคือได้พระอนาคามี เป็นปัญญาขั้นกลางเห็นว่ารูปเป็นตัวทุกข์
ตรงที่เห็นว่ารูปไม่เที่ยง เห็นมาตั้งแต่เป็นโสดาบันแล้ว รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ว่ามันไม่แจ้งหรอกว่ามันทุกข์จริงๆ เห็นทุกข์จริงๆ ตัวกายนี่ทุกข์จริงๆ จิตก็ปล่อยวางกาย ก็ปล่อยวาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ปล่อยวาง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความยินดีความยินร้ายใน รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ไม่มี อันนั้นเป็นภูมิจิตภูมิธรรมของพระอนาคามี แล้วภาวนาต่อไปการปฏิบัติจะบีบวงเข้ามาที่จิต
ถ้าสังเกตให้ดีเราเริ่มต้นมาจากจิต แล้วลงท้ายมาลงที่จิต เริ่มต้นเราฝึกให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูให้ได้ ด้วยบทเรียนชื่อจิตตสิกขา จิตทรงได้สมาธิที่ถูกต้อง แล้วก็เดินปัญญาไปตามลำดับๆ ปัญญาขั้นต้นก็เห็นว่าตัวเราไม่มีหรอก มีแต่รูปธรรมนามธรรม แต่ตัวเราไม่มี พอปัญญาขั้นกลางระดับพระอนาคามีก็จะเห็นว่าสิ่งที่มี คือตัวรูปธรรมที่ว่ามีๆ มีแต่ไม่ใช่เรานั่นนะ ที่จริงแล้วเป็นตัวอะไร มันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นตัวทุกข์ อันนี้เป็นปัญญาระดับกลาง จิตก็วาง พอเห็นทุกข์ก็ละสมุทัย ละความอยาก ละความยึดถือ จิตก็ปล่อยวางรูปวางกาย การปฏิบัติจะบีบวงเข้ามาที่จิต แต่เดิมในขั้นแรก เราเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา ในขั้นสุดท้ายจะมาเห็นจิตที่ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่เรา มันเป็นอะไร มันเป็นตัวทุกข์ พอเห็นแจ้งว่าจิตเป็นตัวทุกข์ จิตก็ปล่อยวางจิตได้
การมองเห็นจิตเป็นตัวทุกข์ มองได้ 3 นัยยะ 3 แบบ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง เกิดแล้วดับ จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ อย่าไปคิดว่าจิตเป็นอมตะ จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ ไม่เที่ยง จิตทุกชนิดที่เกิดขึ้นมาถูกบีบคั้นให้ดับไปเรียกว่าทุกขตา ทุกขัง จิตทุกชนิดจะเกิดขึ้นตั้งอยู่หรือดับไป เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ตามที่เราสั่ง อันนั้นเป็นอนัตตตา เป็นอนัตตา เห็นมุมใดมุมหนึ่ง จิตก็ปล่อยวางจิตได้
ตรงที่เห็นจิตเป็นอนิจจัง แล้วบรรลุพระอรหันต์ขึ้นมาเรียกว่าอนิมิตตวิโมกข์ ไม่มีเครื่องหมาย เพราะทุกอย่างเกิดแล้วดับ ถ้าเห็นว่าจิตเป็นทุกข์แล้วปล่อยวางจิตได้เป็นอัปปณิหิตวิโมกข์ ถ้าเห็นจิตเป็นอนัตตาแล้วปล่อยวางได้เรียกว่าสุญญตวิโมกข์ ปล่อยแล้วก็เหมือนกันหมด ลีลา อาการ มุมมอง ที่รู้เข้าใจ จนกระทั่งเห็นว่าตัวจิตเป็นตัวทุกข์ บางท่านเห็นว่าทุกข์เพราะไม่เที่ยง บางท่านเห็นว่าจิตเป็นทุกข์เพราะถูกบีบคั้น บางท่านเห็นว่าเป็นทุกข์เพราะว่าเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ก็ปล่อยวาง เหมือนๆ กัน วางแล้วก็เหมือนกัน เข้าสู่สภาวะอันเดียวกัน
ตรงที่จิตเห็นจิตเป็นทุกข์ ทุกขตา ตัวนี้ถ้าเราไม่ทรงฌาน เราไม่เห็นหรอก เพราะจิตอย่างพวกเราวอกแวกๆ แล้วจิตเกิดดับรวดเร็วมาก เกิดขึ้นมา เราไม่เห็นว่ามันถูกบีบคั้นให้แตกสลายลงไป แต่ถ้าจิตทรงฌาน จิตก็เกิดถี่ยิบเหมือนกับจิตปกตินี่ล่ะ แต่เกิดในลักษณะซ้ำๆ กัน อย่างจิตในปฐมฌานมีวิตก วิจาร มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง แล้วพอดวงนี้ดับไปดวงใหม่เกิดขึ้นมาก็เป็นลักษณะเดิมอีก ดวงถัดๆ ไปก็เกิดมาในลักษณะเดิมนี้ล่ะ
ฉะนั้นเวลาจิตทรงฌานจะเกิดฌานจิตแต่ละชั้น เกิด ซ้ำๆๆๆ จำนวนมาก อย่างของเราจิตวอกแวก เดี๋ยวเป็นจิตทางตา เป็นทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เดี๋ยวดี เดี๋ยวชั่ว เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ สารพัดจิตเลย เพราะฉะนั้นจิตแต่ละดวงสั้นนิดเดียวอยู่แล้วล่ะ เราไม่สามารถเห็นว่ามันถูกบีบคั้นได้ แต่คนซึ่งทรงฌานมีฌานจิตจะเกิดจิตลักษณะเดิมนี่ซ้ำๆๆ จำนวนมหาศาลนับไม่ถ้วน
ฉะนั้นเวลาจิตทรงอยู่อย่างนั้นนานๆ ปัญญาแทงทะลุลงไป โอ้ย จิตดวงนี้ ที่จริงไม่ใช่ดวงนี้ จิตกลุ่มนี้กำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลายไป อย่างจิตในปฐมฌานเกิดเป็นแสนๆ ดวง เป็นล้านๆ ดวง รวมๆ กันอยู่เป็นจิตชนิดเดียวกัน กำลังถูกบีบคั้นให้แตกสลาย นี่เห็นทุกขตา เห็นความเป็นทุกข์ของจิต หรือเราภาวนาจิตมีแต่ความสุข จิตผู้รู้มีความสุข บางทีมีความสุข อย่างหยาบก็คือมีความรู้สึกสุขเขาเรียกว่าโสมนัส บางทีมีความสุขอย่างละเอียดเป็นอุเบกขา นี่มีความสุข แล้วอยู่ๆ ภาวนาไปตรงสติสมาธิปัญญาเราเพียงพอแก่รอบแล้ว อยู่ๆ จิตผู้รู้ที่มีความสุขพลิกตัวทีเดียว กลายเป็นบรมทุกข์ ไม่ใช่บรมสุขอีกต่อไปแล้ว
คนที่จะมีลีลาอาการอย่างนี้เป็นพวกที่ได้ฌาน ถ้าเราไม่ได้ฌานจะไม่เห็นอันนี้ จะไปเห็นอนิจจัง จิตเกิดดับ ตัวผู้รู้เองก็เกิดดับ หรือเห็นอนัตตา พวกที่ปัญญาแก่กล้าก็จะเห็นอนัตตา พวกมีความเพียรมีศรัทธามีอะไรพวกนี้ก็จะเห็นอนิจจังง่าย แต่คนที่จะเห็นจิตเป็นทุกข์ เป็นทุกขตา ต้องเป็นคนทรงฌาน ไม่อย่างนั้นไม่เห็นหรอก ดูไม่ทัน ลีลาอาการแตกต่างกัน เริ่มต้นให้มีจิตตั้งมั่นให้ได้ก่อน รู้เนื้อรู้ตัวไป พอเราผ่านด่านที่สำคัญที่สุดนี้ได้ ที่เหลือไม่ค่อยยากแล้ว มันยากตรงบทที่ 1 นั่นล่ะ บทที่ 1 ไม่ผ่าน ไปขึ้นบทที่ 2 ที่ 3 ไปไม่รอด
อย่างตอนหลวงพ่อภาวนาพอเข้าใจหลักแล้ว หลวงปู่ดูลย์รับรองว่าช่วยตัวเองได้ หลวงพ่อออกไปดูการปฏิบัติแนวทางนั้นแนวทางนี้ เที่ยวตระเวนดูไปเรื่อยๆ ก็พบว่าบางที่เขาบอกเจริญวิปัสสนา แต่จิตไม่ได้มีคุณภาพ จิตไม่มีกำลัง ไม่ได้ตั้งมั่น ไม่มีสัมมาสมาธิที่เพียงพอ ก็ได้แต่คิดเรื่องวิปัสสนา ไม่ใช่การเดินวิปัสสนาจริง
หรือบางคนบางที่เขาไม่เอาสมาธิเลย คิดอย่างเดียวเลย ร่างกายนี้ไม่สวยไม่งามไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา คิดๆๆ ไป แล้วสบายใจเลย ใจโล่งขึ้นมา แล้วบอกว่านี่ได้ดีแล้ว ได้มรรคได้ผลอะไรยังไม่ได้ล้างกิเลสเลย ได้แต่คิดๆ เอา ความคิดถ้าไม่มีสติไม่มีสมาธิกำกับคือความฟุ้งซ่าน ถ้าเราคิดโดยมีสติมีสมาธิกำกับอยู่ถึงจะเกิดปัญญา เพราะฉะนั้นเราถึงต้องฝึก ฝึกให้เกิดสติ ฝึกให้เกิดสมาธิ 2 ตัวนี้เป็นเครื่องมือสำคัญ การฝึกให้เกิดสติ ฝึกให้เกิดสมาธิ
วิธีฝึกให้เกิดสติ ฝึกให้เกิดสมาธิ
วิธีฝึกให้เกิดสติ หัดรู้รูปธรรมหรือนามธรรมหรือสภาวธรรมอันใดอันหนึ่งก่อนในเบื้องต้น รู้บ่อยๆ รู้เนืองๆ อย่างหลวงพ่อ หลวงปู่ให้ดูจิต หลวงพ่อก็ดูจิต สิ่งที่เกิดกับจิตหลวงพ่อบ่อยที่สุดคือโทสะ หงุดหงิดรำคาญ เกิดบ่อยเพราะหลวงพ่อเป็นพวกโทสจริต หลวงพ่อก็เห็นโทสะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป กระทบอารมณ์ครั้งใหม่เกิดโทสะอีกแล้ว เห็นมันเกิดดับๆๆ ไปเรื่อย การที่เราคอยระลึกรู้สภาวธรรมอันใดอันหนึ่งที่เกิดบ่อยๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน ต่อไปจิตจำสภาวะอันนั้นได้ อย่างหลวงพ่อเห็นสภาวะความโกรธนี่ ผุดขึ้นมาจากกลางอก ร้อนขึ้นมาเลย ถ้าโกรธนิดหน่อยก็อยู่ที่หน้าอก โกรธมากขึ้นก็ขึ้นมาอยู่ที่หน้า โกรธมากทะลุหัวออกไปเลย ความโกรธพุ่งทะลุขึ้นไปเลย
เฝ้ารู้เห็นอาการของความโกรธ ต่อไปพอจิตโกรธ จิตจำสภาวะของความโกรธได้แล้ว ความโกรธยังมีลักษณะเป็นไฟร้อนแรง ทำลายล้างผลาญ มีลักษณะที่จะผลักทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าให้กระเด็นออกไปให้หมด ไม่พอใจสภาวะหรืออารมณ์ที่มีที่เป็นอยู่ นี่ลักษณะของความโกรธ ทำลายล้างผลาญ ทีนี้พอเราเห็นความโกรธผุดขึ้นเป็นระยะๆๆ เห็นบ่อยๆ จิตจำความโกรธได้ ความโกรธเป็นอย่างนี้เอง พอความโกรธผุดขึ้นมา สติจะเกิดเอง สติเป็นตัวรู้ทัน พอความโกรธผุดปุ๊บรู้ปั๊บ ผุดปุ๊บรู้ปั๊บ ฝึกไปเรื่อยๆ พอทีแรกได้สภาวะอันหนึ่ง รู้สภาวะอันนั้นได้แม่นยำแล้ว แล้วก็สติเกิด ต่อไปการรู้สภาวะอื่นแล้วเกิดสติก็ไม่ยากแล้ว
พอหลวงพ่อเห็นความโกรธเกิดเรารู้เรียกมีสติ ต่อมาเห็นความโลภเกิด ความรักเกิด ความใคร่เกิด ก็เกิดลักษณะเดียวกัน ผุดขึ้นมาจากกลางอกเรานี่ล่ะ เหมือนๆ กันล่ะกิเลสแต่ละตัว ผุดขึ้นมาแล้วก็ทำงาน เพียงแต่แค่ทำงานแตกต่างกัน ถ้าเป็นโทสะผุดขึ้นมามีหน้าที่ผลักอารมณ์ออกไป ถ้าเป็นราคะผุดขึ้นมาก็จะดึงอารมณ์เข้ามา ถ้าเป็นโมหะก็จับอารมณ์ได้ไม่ชัดเจน แต่ว่าอาการที่เกิดขึ้นก็เหมือนกันล่ะ ผุดขึ้นมา พอเราเคยเห็นโทสะผุด ต่อไปราคะผุดเราก็เห็น โมหะผุดเราก็เห็น ความสุขผุดขึ้นเราก็เห็น ความทุกข์ผุดขึ้นเราก็เห็น สุดท้ายก็คือเห็นสภาวะได้ทั้งหมดล่ะ สภาวะใดๆ เกิดขึ้นก็รู้ได้ทั้งหมด
อันนี้เรียกว่าเราได้สติ ต้องฝึก อยู่ๆ ไม่เกิดหรอก ของฟรีไม่มี ของฟลุกไม่มี บังเอิญไม่มี ต้องฝึก ทีนี้บางคนฝึกง่ายเพราะเขาเคยฝึกมาแต่ชาติก่อนๆ เคยหัดเจริญสติ เพราะฉะนั้นในสติปัฏฐานเราจะมีคำอยู่คำหนึ่ง คือคำว่าเนืองๆ เห็นกายในกายเนืองๆ เห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ เห็นจิตในจิตเนืองๆ เห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อย่างกายในกายเนืองๆ ก็เช่นเห็นกายหายใจออกบ่อยๆ เห็นกายหายใจเข้าบ่อยๆ เห็นกายยืนเดินนั่งนอนบ่อยๆ เห็นกายเคลื่อนไหวบ่อยๆ เห็นกายหยุดนิ่งบ่อยๆ
เห็นบ่อยๆ อย่างนี้แล้วสติจะเกิด หรือเห็นเวทนาบ่อยๆ ความสุขเกิดรู้ ความทุกข์เกิดก็รู้ แล้วสติจะเร็วขึ้นๆ ทีแรกสุขตั้งนานยังไม่รู้ เพลินๆ ไป ค่อยๆ ฝึกไป ต่อไปพอมีความสุขผุดขึ้นนิดเดียวก็เห็นแล้ว มีความทุกข์ผุดขึ้นนิดเดียวก็เห็นแล้ว อันนี้สติเราว่องไวขึ้น
หรืออย่างหลวงพ่อเจริญจิตตานุปัสสนา หลวงพ่อไม่ได้เริ่มจากกายและเวทนา หลวงปู่ดูลย์ให้หลวงพ่อเข้ามาที่จิตเลย หลวงพ่อก็เห็นจิต จิตมีโทสะเกิดขึ้นก็รู้ โทสะดับไปก็รู้ ดูบ่อยๆ ต่อไปราคะเกิดก็รู้ โมหะเกิดก็รู้ สภาวะสังขารความปรุงแต่งใดๆ เกิดขึ้นที่จิต ตั้งอยู่ที่จิต ดับไปที่จิต ก็เห็นโดยที่ไม่ได้เจตนาจะเห็น ตรงนั้นเรียกว่าเราได้สติแล้ว สติก็เลยเกิดจากการที่เราเห็นสภาวะเนืองๆ
คำว่าเนืองๆ ฟังให้ดี ไม่ใช่ตลอดเวลา เนืองๆ แปลว่าบ่อยๆ ถ้าเห็นตลอดเวลาทำได้อย่างเดียวคือเพ่ง นั่งจ้องไม่ให้คลาดสายตา ไม่ใช่คำว่าเนืองๆ เนืองๆ เห็นบ่อยๆ เห็นถี่ๆ จนกระทั่งจิตจำสภาวะอันนั้นได้ พอสภาวะอันนั้นเกิดขึ้น สติก็จะเกิดขึ้น ต่อไปพออันหนึ่งจำได้แม่นแล้ว ต่อไปพออันอื่นเกิดก็จะรู้ได้เร็ว
คล้ายๆ กับเรื่องกสิณ เบื้องต้นเราฝึกกสิณใน 10 ข้อ อันใดอันหนึ่งเอาที่เราถนัด พอเราได้อันหนึ่งแล้ว ได้ปฏิภาคนิมิตเป็นดวงสว่างแล้ว คราวนี้ไม่ว่าจะไปฝึกกสิณชนิดไหน ก็จะได้ปฏิภาคนิมิตเร็ว ยากอันแรกเท่านั้นล่ะ สติก็เหมือนกัน ยากอันแรกนั่นล่ะ ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ความเปลี่ยนแปลงของรูปธรรมนามธรรมอันนั้นเนืองๆ เกิดขึ้นแล้วรู้ เกิดขึ้นแล้วรู้ไป ตั้งอยู่ก็รู้ ดับไปก็รู้
อย่างหลวงพ่อดูจิตเรียกจิตตานุปัสสนา ก็เห็นความปรุงดีปรุงชั่วผุดขึ้นมา ทีแรกดูจากโทสะนั่นล่ะ แล้วต่อมาก็กระจายความรอบรู้ออกไป เห็นความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง ก็เห็นเนืองๆ เห็นโทสะเนืองๆ พวกเราไม่จำเป็นต้องมาเห็นโทสะเนืองๆ แบบหลวงพ่อ ทางใครทางมัน อย่างบางคนไม่ค่อยมีโทสะ เขาทำบุญมาดี ได้แต่สิ่งที่ชอบอกชอบใจตลอดเวลา มีแต่ความสุข มีแต่ความเพลิดเพลิน แล้วถ้าเพลินไปเรื่อยๆ ก็อยู่แค่นั้นล่ะ เพลินไปวันหนึ่งๆ แต่ต่อมาก็มาฉลาดขึ้น เห็นความสุขนี้ก็ไม่ยั่งยืน เดี๋ยวก็สุขมาก เดี๋ยวก็สุขน้อย เดี๋ยวสุขก็หายไป ก็จะเห็นความสุขผุดขึ้นมา แล้วก็ดับ ผุดแล้วก็ดับ ต่อไปพอความสุขเล็กๆ ผุดขึ้นมา สติก็เกิดเองเลย เกิดอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้นเราจะต้องฝึก ทำสติปัฏฐานอันใดอันหนึ่งนั่นล่ะที่เราถนัด ถนัดกายแยกย่อยก็เป็นหมวดย่อยๆ อีก ถนัดอานาปานสติก็ทำอานาปานสติด้วยความมีสติเรื่อยๆ ไป หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึกไป ต่อไปพอขาดสติ อย่างเห็นผู้หญิงมา จิตมีราคะ ลมหายใจจะแรงขึ้น เราเคยรู้การหายใจจนชินแล้ว พอจังหวะการหายใจเปลี่ยนปุ๊บ สติเกิดเองเลย เฮ้ย เมื่อกี้เผลอไป เมื่อกี้ขาดสติ ตัวอื่นๆ ก็เหมือนกัน ถนัดดูเวทนา เรามีเวทนาตัวไหนมากก็เอาตัวนั้นเป็นหลัก แล้วต่อไปก็รู้ทุกตัว หรือถนัดดูจิตตานุปัสสนา ก็ใช้จิตตานุปัสสนา
เริ่มต้นถ้าเรามีโทสะเยอะ เราก็ใช้โทสะเป็นหลัก มีราคะเยอะ เราก็ใช้ราคะเป็นหลัก เราเป็นคนฟุ้งซ่าน เราก็ใช้ฟุ้งซ่านเป็นหลัก พอจิตฟุ้งซ่านแล้วรู้ จิตฟุ้งซ่านแล้วรู้ ทีแรกฟุ้งซ่านตั้งวันหนึ่งถึงจะรู้ ต่อมาชำนาญขึ้น ฟุ้งซ่าน 5 นาทีก็รู้ ฟุ้งซ่าน 1 นาทีก็รู้ ฟุ้งซ่านขณะเดียวก็รู้ ไหวพรึบ เฮ้ย นี้มันฟุ้งแล้ว ความฟุ้งก็ขาดสะบั้นไป
“สัมมาสติเมื่อเจริญให้มากเมื่อทำให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์
ฉะนั้นเราทำสัมมาสติ สัมมาสติก็คือทำสติปัฏฐานนั่นล่ะ“
ตรงที่เรามีสติ พัฒนาสติที่เป็นสัมมาสติ สัมมาสติเป็นสติที่ใช้ในการเจริญสติปัฏฐาน สติที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นเราทำสติปัฏฐานไป รู้รูปเนืองๆ รู้กายเนืองๆ รู้เวทนาเนืองๆ รู้จิตเนืองๆ เนืองๆ นะ ไม่ใช่ตลอดเวลา รู้บ่อยเท่าที่ดูได้ อย่าเพ่ง ถ้ารู้ตลอดต้องเพ่ง ใช้ไม่ได้หรอก ให้รู้เนืองๆ รู้บ่อยๆ แล้วต่อไปสติจะเกิดอัตโนมัติ แล้วสิ่งที่แถมมาก็คือสมาธิอัตโนมัติจะเกิดขึ้น เวลาเราเจริญสติปัฏฐาน จนเราได้สติอัตโนมัติที่เรียกว่าสัมมาสติ สัมมาสตินั้นเมื่อเราฝึกให้มากๆ จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์
เพราะอย่างเวลาจิตเราฟุ้งซ่าน สมมติว่าจิตเราฟุ้งซ่านชอบหนีคิดอย่างนี้ เราทำสติปัฏฐานด้วยการรู้ทันจิตที่ฟุ้งซ่านหรือจิตที่หนีคิด หนีคิดแล้วรู้ หนีคิดแล้วรู้ แต่ก็มีตัวช่วย เช่นเราอยู่กับพุทโธๆ อย่างนี้ ทิ้งพุทโธไปหนีคิดเรื่องอื่น เรารู้เรื่อยๆๆๆ ทันทีที่รู้ว่าจิตหนีคิด หรือทันทีที่รู้ว่า จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง ทันทีที่รู้ว่า จิตสุข จิตทุกข์ ทันทีที่รู้ว่า ร่างกายหายใจออกหายใจเข้า รู้นะไม่ใช่เพ่ง รู้รูป ยืน เดิน นั่ง นอน ในขณะนั้นล่ะสัมมาสมาธิจะเกิดร่วมด้วยอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ท่านจะสอน บอกให้เราคอยดูจิตหลงคิดแล้วรู้ หลงคิดแล้วรู้ ทำไมท่านมาเน้นที่จิตหลงคิด เพราะจิตหลงคิดเกิดบ่อยที่สุดเลย จิตหลงคิดเกิดถี่ยิบในวันๆ หนึ่ง นับจำนวนไม่ถ้วน บางคนอารมณ์ดีแล้วบอกว่าไปดูจิตโกรธสิ จิตโกรธแล้วรู้ วันๆ หนึ่งยังไม่โกรธเลย ฉะนั้นไม่เก่งหรอกอย่างนั้น มันต้องดูของที่เกิดบ่อยๆ
อย่างจิตที่เกิดบ่อยๆ สำหรับปุถุชนทั้งหลายก็คือจิตหลง แล้วหลงที่เกิดมากที่สุดคือหลงคิด หลงก็มีหลายหลง หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดม หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย หลงไปเพ่งอารมณ์ทางใจ แล้วก็หลงคิดทางใจ หลงคิดเกิดบ่อย นั่งฟังหลวงพ่อนี้ยังหลงคิดไปเยอะเลย บางคนหนีไปอเมริกาแล้ว ใจหนีไปหนีมา ถ้าจิตหลงคิดเรารู้ จิตหลงคิดเรารู้ เราเจริญจิตตานุปัสสนาอยู่ โดยดูจิตหลงคิด ซึ่งเป็นจิตที่เกิดบ่อยที่สุด ต่อไปพอจิตหลงคิดปุ๊บรู้ปั๊บ จิตหลงคิดดับ จิตตั้งมั่นเกิด จิตที่ตั้งมั่นก็คือจิตที่มีทั้งสติมีทั้งสมาธิที่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้นสัมมาสมาธิก็ไม่ได้เกิดจากการบังคับจิตให้สงบ ไม่ได้เกิดจากการน้อมจิตให้สงบ ไม่จำเป็นหรอก แต่ถ้าชำนาญจริงๆ กำหนดปุ๊บก็สงบเลย แล้วก็ตั้งมั่นด้วย แต่ส่วนใหญ่ที่ไปนั่งสมาธิกันได้มิจฉาสมาธิ สมาธิชนิดที่น้อมจิตให้เคลิ้ม ทำจิตให้เครียด ทำจิตให้แข็งๆ มีแต่คำว่าทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ ไม่สามารถรู้จิตอย่างที่จิตเป็นหรอก
อันนี้หลวงพ่อเคยไปเดินดู เห็นคนเขานั่งสมาธิอยู่เป็นร้อยคน ดูปั๊บๆๆ ไม่เห็นมีใครมีสมาธิ มีแต่ไม่เผลอ นั่งอยู่ก็เผลอ คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ถ้าไม่เผลอก็เพ่ง มีอยู่ 2 อย่างเอง ไม่เผลอก็เพ่ง ทั้งๆ ที่นั่งสมาธิอยู่เดินจงกรมอยู่ เดินจงกรมก็เผลอกับเพ่ง ฉะนั้นไม่เข้าใจหลัก ถ้าเข้าใจหลัก จิตตั้งมั่นมีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมเนืองๆ ไป สติเกิด ทันทีสติที่แท้จริงเกิด สัมมาสมาธิก็จะเกิดอัตโนมัติ นี่เป็นวิธีทำสัมมาสมาธิสำหรับคนซึ่งเข้าฌานไม่เป็น
ยุคของเรานี้เป็นยุคสมาธิสั้น ไม่ใช่ยุคของคนทรงฌาน เมื่อร้อยปีก่อนสมัยหลวงปู่มั่น ลูกศิษย์ลูกหาท่านยุคโน้น วิถีชีวิตเป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนพวกเราตอนนี้ ท่านก็ทำไร่ทำนา ปลูกผัก ปลูกอะไรต่ออะไรกิน เลี้ยงสัตว์ไว้กิน ไปตกปลา ไปหาของป่า ไม่ต้องมีเรื่องคิดเยอะ เวลาว่างๆ อย่างไปนั่งตกปลา สมมติ ท่านคงไม่นิยมตกหรอก เพราะบารมีท่านเยอะแล้ว ไม่อยากฆ่าสัตว์ แต่บางท่านก็ทำ จำเป็นต้องเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงลูกเลี้ยงภรรยา ระหว่างตกปลาแทนที่จะนั่งลุ้นเมื่อไรปลาจะมา ท่านก็หายใจเข้าพุทหายใจออกโธไป ก็ทำสมาธิได้
หรือทำนา ปีหนึ่งทำนาไม่กี่เดือนหรอก เวลาที่เหลือก็ว่าง ช่วงฤดูแล้งรอให้ฝนตก ช่วงนั้นว่างหลายเดือน ว่างๆ คนทั่วไปก็ไปกัดปลาตีไก่ ไปเที่ยวเล่นกินเหล้าเมายา คนมีบุญบารมีท่านก็มาภาวนา มีเวลาทำสมาธิเยอะ ฉะนั้นเรื่องที่ท่านได้ฌานกันเป็นเรื่องปกติ ไม่ยากนักหรอก ท่านมาบวชแล้วก็ออกธุดงค์ มีป่ามีเขา ทุกวันนี้เข้าไปในป่า ป่าก็ไม่ค่อยมี ส่วนป่าที่มีก็ล้วนแต่เป็นเขตรักษาพันธุ์ เป็นป่าแบบอนุรักษ์ ป่าอย่างโน้นป่าอย่างนี้ มีคนเฝ้า ก็มีคนเข้าไปเที่ยว จะเข้าไปในป่าหาความวิเวก เปล่า คนเต็มป่าเลย ทำไม่ได้แล้ว ไม่มีที่ที่เหมาะ
เพราะฉะนั้นเราอยู่ในยุคที่บ้านเมืองวุ่นวาย งานการที่เราทำ ส่วนใหญ่ก็เป็นงานที่ต้องคิดเอาๆ ไม่มีเวลายาวๆ หลายๆ เดือนมานั่งสมาธิอย่างนั้น เราก็ใช้วิธีที่เราทำได้จริง คืออาศัยสติทำให้เกิดสมาธิ สัมมาสติเมื่อทำให้มากจะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ นี่คือหลักตัวนี้ ไม่ใช่หลวงพ่อคิดเอง อันนี้พระพุทธเจ้าสอน ว่าสัมมาสติเมื่อเจริญให้มากเมื่อทำให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ ฉะนั้นเราทำสัมมาสติ สัมมาสติก็คือทำสติปัฏฐานนั่นล่ะ
เห็นเนืองๆ
อย่างหลวงพ่อก็หัดเริ่มต้นโดยการดูจิต จิตโกรธแล้วรู้ โกรธแล้วรู้ สติเกิด พอโกรธปุ๊บรู้ปั๊บ ความโกรธดับ จิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมาแล้ว แต่ตั้งสั้นๆ เป็นขณิกสมาธิ แต่พอหลงอีกรู้อีก หรือโกรธอีกรู้อีก ถี่ๆ รู้ไปเรื่อยๆ สมาธิก็ค่อยๆ ถี่ขึ้นๆ แต่เดิมนานๆ มีสมาธิเกิดขึ้นชั่วขณะ พอเราฝึกสติถี่ยิบขึ้นมา สมาธิก็เกิดถี่ยิบขึ้นมา อาการที่สมาธิถี่ยิบขึ้นมา ก็อาการเดียวกับจิตที่ผ่านฌานที่ถูกต้องมา ฌานมีที่ถูกกับที่ผิด มีรายละเอียดเยอะแยะเลย ส่วนใหญ่ที่ทำนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ ที่ถูกเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ลักษณะของจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องจากการทำฌาน กับจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องจากการที่มีสติรู้สภาวะ เหมือนกัน เป็นตัวเดียวกันเลย
เพียงแต่ว่าถ้าผ่านฌานมา จิตที่ทรงสมาธิตัวนี้จะแข็งแรง จะเกิดได้ยาว เกิดซ้ำๆๆ ได้ยาวหลายวัน แต่ถ้าใช้วิธีของเรานี่เป็นพวกแบตเตอรีคุณภาพต่ำ สมาธิของเราก็อยู่ไม่นานเดี๋ยวก็เสื่อมอีก ฉะนั้นเราเจริญสติปัฏฐานให้เนืองๆ ไว้ แล้วทุกวันเวลามีเวลาเมื่อไร ไม่จำเป็นต้องก่อนนอนหรอก ก่อนนอนบางทีก็หมดแรงแล้ว ฟุ้งซ่านทั้งวัน มีเวลาตอนไหนเราก็พัฒนาสมาธิของเราตอนนั้น
อย่างหลวงพ่อทำงานอยู่สภาความมั่นคง งานเครียด งานหนัก งานเครียด ยุ่งกับข้อมูล ยุ่งกับคนมากมาย ยุ่งกับหน่วยข่าว ยุ่งโน้นยุ่งนี้ เยอะแยะไปหมด เวลาทำงานหัวหมุนติ้วๆๆ เลย ต้องคิดมาก คอมพิวเตอร์ยุคนั้นก็ยังไม่มี ข้อมูลต้องจำเอา เพื่อจะมาวิเคราะห์ เรียงร้อยข้อมูลขึ้นมาให้เป็นระบบระเบียบ ใช้กำลัง ใช้กำลังมาก แล้วหัวหมุนติ้วๆ เลย หลวงพ่อใช้วิธีเบรก พอมีจังหวะเช่นเราคิดงานตรงนี้เสร็จแล้ว เบรกตัวเอง สักชั่วโมงเบรกตัวเองเดินไปห้องน้ำ
ตอนที่เดินลุกขึ้นมารู้สึกร่างกาย ตรงนี้ดูจิตไม่ได้แล้วหัวหมุนติ้วๆ เห็นร่างกายขยับ เวลาจะลุกหลวงพ่อเห็นมันขยับมือก่อนทุกทีเลย เพราะเก้าอี้เป็น Armchair อย่างนี้ ขยับ พอขยับมือแล้ว ตัวถึงจะลุกขึ้นมา แล้วค่อยเดิน เห็นร่างกายเคลื่อนมา ลุกขึ้นมา เห็นร่างกายเดิน เห็นร่างกายไปยืนฉี่ พอฉี่เสร็จ สบายใจแล้ว เพราะว่ารู้สึกกายมาช่วงหนึ่ง จิตเริ่มมีกำลังแล้ว ก็เห็นจิตได้ ตอนเดินกลับมานี่ กลับมาที่โต๊ะทำงาน ดูจิตกลับมาได้แล้ว
กินข้าวกลางวันเสร็จ หลวงพ่อก็ไม่เมาท์มอยเสียเวลา กินข้าวกลางวันเสร็จ หลวงพ่อก็ไปเดินไปวัดใกล้ๆ ที่ทำงาน ตอนนั้นทำงานอยู่ในทำเนียบรัฐบาล มีวัด 2 วัดที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน คือวัดโสมนัสราชวรวิหารข้ามคลองผดุงฯ มา อีกอันก็วัดเบญจมบพิตรตัดผ่าน ก.พ. ไป 2 วัดนี้ระยะทางพอดีๆ กินข้าวเสร็จเราก็เดินไปที่วัด ไปถึงวัดก็ไปไหว้พระ ไม่ได้เข้าโบสถ์หรอก ไม่มีเวลา ยกมือไหว้หน้าโบสถ์แล้วก็กลับ คนเขาถามว่าไปทำอะไร เดินทุกวัน ถ้าหลวงพ่อบอกว่าหลวงพ่อเดินจงกรม มันว่าเราบ้า เพราะในโลกนี้เต็มไปด้วยคนบ้า เราไม่บ้าด้วยมันว่าเราบ้า หลวงพ่อบอกหลวงพ่อเดินไปไหว้พระ เขาก็แค่ขำๆ เออ ไอ้นี่ ชอบไหว้พระ จะเป็นตาเถรหรืออย่างไร ถ้าบอกว่าเดินจงกรม เรื่องเยอะ ไม่พูดหรอก นี่เดินไป มีเวลาว่าง 20 – 30 นาที เดินไปเดินกลับ นี่คือการฝึกเจริญสติ แล้วสติถูกต้องสมาธิก็เกิดขึ้น ตอนเย็นตอนค่ำมีเวลาเราก็ทำในรูปแบบ ก็ทำสมาธิที่ต่อเนื่องยาวนานมากกว่าตอนกลางวัน
ค่อยๆ ฝึก มีเวลา 5 นาที 10 นาที อย่าทิ้ง เจริญสติเข้าไปเลย ถ้าเจริญสติไม่ได้จริงๆ ท่องพุทโธๆ ไปก็ยังดี ดีกว่าปล่อยให้จิตฟุ้งซ่าน คิดโน้นคิดนี่ จิตที่คิดมากจะหมดกำลัง จะไม่มีแรงหรอก ฉะนั้นกลางวันฟุ้งๆๆ ทั้งวัน ทีแรกก็ฟุ้งเรื่องงาน หมดจากเรื่องงานก็ฟุ้งเรื่องอื่น คุยกับเพื่อน คุยเรื่องโน้น แฟชั่น ดาราละคร เรื่องโน้นเรื่องนี้ไปเรื่อย หรือจะไปเที่ยวไหน ฟุ้งๆ ตกค่ำจะมานั่งสมาธิ แล้วจะมาบ่นนั่งทีไรก็หลับทุกที ไม่หลับได้อย่างไร กลางวันจิตเหนื่อยเต็มทีแล้ว
แต่อย่างหลวงพ่อนั่งไม่หลับ ทำไมไม่หลับ เพราะกลางวันชาร์จตัวเองเป็นระยะๆ มีเวลา 5 นาทีก็ชาร์จ 10 นาทีก็ชาร์จ เพราะฉะนั้นจิตถึงมีกำลังเยอะ เอามาเจริญปัญญา ดูรูปดูนามแสดงไตรลักษณ์ เห็นเองล่ะ ไม่ได้คิดเอาหรอก เพราะฉะนั้นพวกเราไปทำเอา พัฒนาสติสมาธิขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการเจริญปัญญา สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น จิตจำสภาวะได้แม่นเพราะเห็นรูปธรรมเห็นนามธรรมอันนั้นบ่อยๆ เห็นเนืองๆ แล้วถ้าเห็นถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องก็จะแถมมาด้วย มีสติมีสมาธิ ทำบ่อยๆ จิตจะมีกำลังตั้งมั่นขึ้นมา พอจิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้วถึงขั้นเดินปัญญา ถ้าตั้งแล้วตั้งอยู่อย่างนั้น ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เหมือนชาร์จแบตเต็มแล้วก็ไม่ได้ใช้อะไร ไม่ได้เรื่อง เสียเวลา
พอจิตตั้งมั่นแล้วเดินปัญญา ปัญญาเบื้องต้นเห็นกายกับใจคนละอัน เห็นสุขทุกข์กับจิตใจคนละอัน เห็นกุศลอกุศลกับจิตใจก็คนละอันกัน แล้วต่อไปก็เกิดวิปัสสนาปัญญา เห็นร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นเวทนา เห็นสังขาร เห็นจิต ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พอเห็นมากเข้าๆ ถึงจุดหนึ่งก็ปล่อยวาง ปัญญาก็เกิดเป็นขั้นๆ ไป ขั้นสุดท้ายก็ตะลุยลงมาที่จิต วัฏสงสารหมุนอยู่กลางจิตนี่ล่ะ แล้วถล่มลงที่จิตนี่ล่ะ เกิดขึ้นที่จิตแล้วดับลงที่จิตนั่นล่ะ
ไปฝึกเอานะ เบื้องต้นรักษาศีล 5 ทุกวันทำในรูปแบบ เวลาอยู่ว่างๆ กลางวัน มีสติไว้ รู้สึกกายรู้สึกใจไป รู้บ่อยๆ รู้เนืองๆ แล้วดีเอง
เมื่อเช้าออกไปหลวงพ่อก็เห็นทีมแม่ครัวของเราคนหนึ่ง โอ๊ย จิตตั้งมั่นเด่นดวงสวยงาม ทีมงานที่ช่วยงานหลวงพ่อแต่ละคนจิตเขามีกำลัง เห็นพัฒนาการ พวกทีมไลฟ์ทีมอะไรก็ดูดีขึ้น ทำไมพวกนี้ดีขึ้น ใจเคล้าเคลียผูกพันอยู่กับกุศล ใจก็ค่อยมีบุญบารมี มีกำลังเด่นดวงขึ้นมา ไม่ใช่ไปเค้นให้เกิด เค้นไม่ได้ จิตมีกำลังแล้วก็เดินปัญญาไป อินทรีย์เราแก่กล้าพอก็เกิดมรรคเกิดผล
มรรคผลขั้นแรกจะเห็นความจริง ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา กายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา ไม่มีตัวเราในกายนี้ ไม่มีตัวเราในจิตใจนี้ ไม่มีตัวเราที่ไหนเลย อันนี้เป็นปัญญาขั้นต้นของพระโสดาบัน ต่อไปพอสติสมาธิปัญญาแก่กล้ามากขึ้น ได้ธรรมะขั้นที่ 2 กิเลสจะอ่อนตัวลง เบาบาง เพราะสติเร็ว สมาธิแรง ปัญญาแก่กล้า กิเลสไหวตัวขึ้นมาปุ๊บขาดสะบั้น กิเลสอ่อนแรงลงไป เหลือกิเลสไม่มาก นี่เป็นปัญญาขั้นต้น ก็ยังเห็นอยู่แต่ว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา เราไม่มี
เกิดอริยมรรคครั้งที่ 3 จะรู้แจ้งแทงตลอด กายนี้นอกจากไม่ใช่เรามาตั้งแต่เห็นแต่แรกแล้ว กายนี้ยังเป็นตัวทุกข์ จิตก็ปล่อยวางกาย เป็นภูมิจิตภูมิธรรมของพระอนาคามี แล้วขั้นสุดท้ายมาแตกหักลงที่จิต จิตปล่อยวางจิต เพราะเห็นว่าจิตไม่เที่ยง จิตเป็นทุกข์ จิตเป็นอนัตตา จิตปล่อยวางจิตได้ ที่สุดแห่งทุกข์ก็อยู่ตรงนั่นล่ะ คือไม่มีอะไรให้ยึดถือเกาะเกี่ยวอีกต่อไป
เราจะไปถึงจุดนี้ในอีกวันหนึ่งข้างหน้า ตั้งใจไว้ เบื้องต้นทำอะไร ถือศีล 5 ทำในรูปแบบ เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวันไว้ ถ้าทำอย่างนี้ได้ มรรคผลก็ไม่ไกลเกินไป
รู้สึกไหม ตอนที่เริ่มฟังหลวงพ่อ สงบ ตอนที่หลวงพ่อบอกว่าเลิกแล้วนี่ ฟุ้งซ่าน รู้สึกไหม ส่วนใหญ่เตรียมแล้ว เตรียมจะไปยุ่งกับโลก เพราะฉะนั้นพยายามหลอมรวมการปฏิบัติเข้ากับชีวิตจริงให้ได้ จะทำอะไร จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิดอะไร มีสติ ตาเห็นรูป จิตใจเราเป็นอย่างไร มีสติรู้ทัน หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด จิตใจของเราเป็นอย่างไร มีสติรู้ทัน
ฝึกให้ได้ในชีวิตประจำวัน พยายามหลอมรวมการปฏิบัติเข้ากับชีวิตประจำวันให้ได้ ถ้าเก่งเฉพาะในห้องกรรมฐาน ยังสู้กิเลสไม่ไหวหรอก ฉะนั้นต้องฝึกนะ ต้องฝึก
วัดสวนสันติธรรม
25 มิถุนายน 2566