มรรคผลในชีวิตนี้

วิธีละความเห็นผิดง่ายนิดเดียว เห็นให้ถูก ถ้าเราเห็นแต่ผิด ๆ มันก็เกิดความคิดผิด ๆ เกิดการเชื่อผิด ๆ มันผิดเป็นระดับ ๆ ไปเริ่มจากหมายรู้ผิดก่อน

อย่างคนในโลกนี้ หรือสัตว์ทั้งหลาย มันหมายรู้ผิด มันคิดว่า นี่คือตัวเรา นี่คือของเรา เพราะมันหมายรู้ผิด เวลาคิด มันก็คิดผิด ว่ามันมีเราขึ้นมา เพราะมันคิดผิด มันก็เกิดความเชื่อผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ คิดผิด ๆ เป็นทิฏฐิวิปลาส ว่ามีตัวตนจริง ๆ

พวกเราถือศีล 5 ก็พอแล้ว ศีล 5 ไว้ก่อน แล้วก็เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม อย่าเชื่ออะไรซึ่งไม่มีเหตุมีผล ชาวพุทธเราต้องมีเหตุมีผล
ถัดจากนั้น พยายามมาเรียนรู้ความจริง ตรงไหนบ้าง ที่เรารู้สึกว่ามันคือตัวของเรา ดูลงไปตรงนั้นเลย

 

คนในโลกมีแต่คนหลง หาคนรู้สึกตัวหายาก

วันหนึ่ง ๆ จิตหลงตลอดเวลา หลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดมกลิ่น หลงไปรู้รส หลงไปรู้สัมผัสที่ร่างกาย หลงไปคิดทางใจ หลงกันทั้งวัน คนที่จะมีสติ รู้สึกกาย รู้สึกใจ ในแต่ละวัน หายาก ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้พระอริยบุคคลไม่ค่อยจะมี เกิดขึ้นยาก แต่ถ้าพวกเรามีสติได้มากที่สุด รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ได้ทั้งวัน ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็รู้สึกตัว หายใจออก หายใจเข้า ก็รู้สึกตัว จะทำอะไร ก็รู้สึกตัว หรือรู้ทันความเคลื่อนไหวของร่างกาย ของจิตใจ ทำได้มาก ๆ โอกาสที่เราจะได้มรรคผลในชีวิตนี้ มันก็มี

แท้จริงแล้ว มันไม่ใช่เรื่องยากที่เกินกว่ามนุษย์ธรรมดาจะทำได้ เพราะธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนเรา เป็นธรรมะที่พอดี ๆ ที่มนุษย์ธรรมดาทำได้ ทีนี้คนส่วนใหญ่ไม่ยอมทำ

 

การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ

ประโยคแรกที่หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อ ท่านบอกว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ” นี่เป็นเรื่องจริง

เจอท่านครั้งแรกวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2525 ไปกราบท่านบอกว่า “ผมอยากปฏิบัติ” หลวงปู่นั่งหลับตาไปเกือบชั่วโมงหนึ่ง ลืมตาขึ้นมา ท่านก็บอกว่า “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้ให้อ่านจิตตนเอง”
ท่านสอนเท่านี้เอง

ตอนนั้นฟังท่าน ก็ยังลังเลสงสัย ว่าการปฏิบัติไม่ยาก แล้วทำไมหาพระอริยบุคคลยากเหลือเกิน มันขัดแย้งกัน แต่หลวงปู่ก็มาสรุปว่า มันยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ

เพราะอย่างนั้น ถ้าเราปฏิบัติจริง ๆ แล้ว ไม่ยากเลย ที่เราจะบรรลุมรรคผลในชีวิตนี้ มันจะยากอะไร เป็นพระโสดาบัน ไม่ใช่เป็นมนุษย์ประหลาด พระโสดาบันต่างกับพวกเรานิดเดียวเอง ตรงที่เข้าใจความเป็นจริงของร่างกายจิตใจของตัวเอง เข้าใจความเป็นจริงที่ว่าตัวเราไม่มี

มีแต่ร่างกาย รูปธรรม ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
มีนามธรรม คือความรู้สึกนึกคิด รู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์
ความรู้สึก ไม่สุขความรู้สึกไม่ทุกข์ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
ความจำได้หมายรู้ ก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
ความปรุงดีปรุงชั่ว อย่างโลภ โกรธ หลง ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย เป็นเรื่องธรรมดา
จิตที่เป็นคนรับรู้อารมณ์ ก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
ถ้าเมื่อไรเราเห็นความจริงตรงนี้ได้ เราก็เป็นพระโสดาบัน

เพราะฉะนั้น ถือศีล 5 ไว้ก่อน ไม่ต้องถือศีล 8 หรอก ศีล 5 ข้อรักษาให้ได้ นี่เป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของพระโสดาบัน
พระโสดาบันมีศีล 5 พระโสดาบันไม่งมงาย ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว

เพราะอย่างนั้น อะไรที่งมงายในชีวิตเรา ถอดถอนทิ้งไป อย่าไปเชื่อมัน เชื่อฤกษ์เชื่อยาม เชื่อดวง เฮงซวย มีเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย พระโสดาบันไม่เชื่อสิ่งเหล่านี้ พระโสดาบันเชื่อแต่เรื่องกรรม กับผลของกรรม เชื่อการกระทำของตัวเอง กรรมนั้นทำเอาเอง ไม่มีใครเข้ามาทำให้ พระโสดาบันละความเห็นผิด ว่ามีตัวมีตน ท่านละความเห็นผิดได้ เพราะท่านเห็นถูก

วิธีละความเห็นผิดง่ายนิดเดียว เห็นให้ถูก ถ้าเราเห็นแต่ผิด ๆ มันก็เกิดความคิดผิด ๆ เกิดการเชื่อผิด ๆ มันผิดเป็นระดับ ๆ ไปเริ่มจากหมายรู้ผิดก่อน

อย่างคนในโลกนี้ หรือสัตว์ทั้งหลาย มันหมายรู้ผิด มันคิดว่า นี่คือตัวเรา นี่คือของเรา เพราะมันหมายรู้ผิด เวลาคิด มันก็คิดผิด ว่ามันมีเราขึ้นมา เพราะมันคิดผิด มันก็เกิดความเชื่อผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ คิดผิด ๆ เป็นทิฏฐิวิปลาส ว่ามีตัวตนจริง ๆ

พวกเราถือศีล 5 ก็พอแล้ว ศีล 5 ไว้ก่อน แล้วก็เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม อย่าเชื่ออะไรซึ่งไม่มีเหตุมีผล ชาวพุทธเราต้องมีเหตุมีผล
ถัดจากนั้น พยายามมาเรียนรู้ความจริง ตรงไหนบ้าง ที่เรารู้สึกว่ามันคือตัวของเรา ดูลงไปตรงนั้นเลย

พระธรรมเทศนาหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ไฟล์ 620224 ซีดีแผ่นที่ 80