กรอบทั้งหมดของการปฏิบัติธรรม

อยากเรียนกรรมฐาน ต้องรู้หลักของการปฏิบัติ
การทำกรรมฐานไม่ใช่เรื่องการนั่งสมาธิ ไม่ใช่เรื่องการเดินจงกรมนานๆ ไม่ใช่เรื่องว่าจะต้องไปขยับมือทำจังหวะ หรือจะไปกำหนดท้องพองยุบ
สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่เปลือก เป็นรูปแบบของการปฏิบัติ
เนื้อในของมันคือการเจริญสติ
เนื้อในของการปฏิบัติ คือการมีสติ

เมืองไทยมันมีปูชนิดหนึ่ง เรียกปูเสฉวน มันไปอาศัยเปลือกหอยอยู่ แล้วเวลาตัวมันโตขึ้น มันก็ย้ายเปลือกเปลี่ยนไป
เรื่องการปฏิบัติ ทำแบบโน้น ทำแบบนี้ มันก็แค่เปลือกหอยเท่านั้นเอง
แต่เนื้อในที่เป็นตัวเนื้อแท้ คือการที่เราจะต้องมาฝึกความมีสติ

การมีสติไม่ใช่เรื่องยากอะไร คอยรู้สึกในร่างกาย คอยรู้สึกในจิตใจของตัวเอง
แค่รู้สึก ไม่ใช่บังคับ ไม่ได้เพ่งเอาไว้ แล้วก็ไม่ใช่คิด
ความช่างคิด ไปคิดว่าทำยังไงจะถูก ทำยังไงจะดี ถ้าทำไปด้วยความโลภ มันก็จะไปปรุงแต่จิตขึ้นมา อันนั้นมันจะไม่ได้หลักของการปฏิบัติ

 

เป้าหมายเพื่อให้ใจพ้นทุกข์

การปฏิบัติมีเป้าหมายมีวัตถุประสงค์จริงๆ เพื่อให้ใจพ้นทุกข์ ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่น
ใจมันมีความทุกข์ได้ เพราะมันรู้สึกว่าร่างกายนี้ จิตใจนี้ คือตัวเราของเรา
พอมันร่างกายเป็นตัว พอร่างกายแก่ มันก็เป็นเราแก่
ร่างกายเจ็บ มันก็เป็นเราเจ็บ
ร่างกายตาย มันก็เป็นเราตาย
เวลาจิตใจมีความสุข ก็ว่าเราสุข
จิตใจเป็นทุกข์ ก็ว่าเราทุกข์
เพราะความเห็นผิดว่ากายกับใจเป็นตัวเรานี้
เวลาเกิดอะไรขึ้นในกาย เกิดอะไรขึ้นในใจ จิตใจมันเลยมีความทุกข์ขึ้นมา
อย่างเวลามีความสุขเกิดขึ้นในใจเรา เราก็อยากให้มันอยู่นานๆ
แค่เราอยากขึ้นมา ใจก็ทุกข์แล้ว
ใจมีความอยากเมื่อไร ใจมันก็ทุกข์เมื่อนั้น
เราจะปฏิบัติจนมันสิ้นความอยาก
ความอยากทั้งหลาย ก็มีแค่อยากให้ร่างกาย ให้จิตใจ เป็นสุข
อยากให้ร่างกาย อยากให้จิตใจ ไม่ทุกข์ ความอยากมันก็มีแค่นั้น
อย่างเที่ยวดูหนังฟังเพลง เที่ยวกินเที่ยวเล่น เที่ยวทัศนาจร ก็หวังว่าจะมีความสุข
มีคู่ครอง ก็หวังว่าจะมีความสุข
มีลูก ก็หวังว่าจะมีความสุข
มีเงิน ก็หวังว่าจะมีความสุข

จริงๆ แล้วสิ่งที่ต้องการในชีวิต คือความสุข
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความสุขมันสั้นนิดเดียว
แค่อยากจะมีความสุข เราก็ทุกข์แล้ว
ยังไม่ทันจะผิดหวัง ก็ทุกข์แล้ว
เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากพ้นทุกข์จริงๆ
จะมาเที่ยวหาความสุข เราไม่สามารถพ้นทุกข์ได้
เพราะแค่อยากมีความสุข ก็ทุกข์แล้ว
ดิ้นรนได้ความสุขมา ก็เหน็ดเหนื่อย
ความสุขอยู่กับเราประเดี๋ยวเดียว ก็หายไป

จริงๆ เราอยากพ้นทุกข์ แต่คนทั่วไปก็ดิ้นรนหาความสุข
ยิ่งดิ้น ยิ่งทุกข์มากขึ้น
พระพุทธเจ้าก็เลยสอนให้เรารู้ ว่าความทุกข์มันมีเหตุ
ความทุกข์ในใจเรา มีเหตุให้เกิด คือความอยาก
ใจมีความอยากเมื่อไร ใจมีความทุกข์เมื่อนั้น
อันนี้ลองไปดูความจริงในใจเรา ดูว่าทุกครั้งที่อยาก มันทุกข์จริงไหม ไปดูเอา
เวลาใจอยากขึ้นมา ก็รู้เอาๆ ไป จะเห็นเลย อยากทีไรก็ทุกข์ทุกที
ทีนี้พอเราเห็นว่าความอยากทำให้เกิดความทุกข์ เราก็อยากอีก อยากจะไม่อยาก
อยากไม่อยาก ก็ยิ่งทุกข์อีก เพราะคือยังอยากนั่นแหละ

 

ต้นตอของความอยาก คือความไม่รู้ความจริงของกายของใจ

พระพุทธเจ้าเลยไม่ได้สอนให้เราแก้ที่ว่า ทำยังไงไม่เกิดตัวอยาก – ไม่ได้สอนแค่นี้
พยายามบังคับจิตไม่ให้อยาก ทำไม่ได้ ไม่มีใครบังคับจิตได้
ท่านเลยสอนให้ทำลายต้นตอของความอยาก
ทีแรกเรามีความทุกข์ ท่านก็สอนให้เรารู้ว่าต้นตอของความทุกข์อยู่ที่ไหน
ต้นตอของความทุกข์ อยู่ที่ความอยาก
แล้วก็ท่านสอนต่อไปอีก ต้นตอของความอยาก คือความไม่รู้ความจริงของกายของใจ
เพราะความอยากทั้งหลาย ไปดูเถอะ ก็คืออยากให้ร่างกายให้จิตใจเป็นสุข อยากให้ร่างกายให้จิตใจไม่ทุกข์
มันก็อยากอยู่แค่กายกับใจ
อยากเป็นประธานาธิบดี ก็รู้สึกว่าเป็นแล้วดี เท่ ยิ่งใหญ่
สนองกิเลสถึงมีความสุข อยากอะไร ก็ทุกข์หมดเลย
เพราะฉะนั้น เราอย่าไปแก้ความอยากด้วยความอยาก ไม่ได้
อย่างเรามีความอยากเกิดขึ้น เรารู้ว่าความอยากทำให้เกิดความทุกข์
เราก็อยากที่จะไม่อยาก
อยากที่ไม่อยาก ก็คืออยาก
อยากจะไม่อยาก เรียกว่าวิภวตัณหา อยากไม่มี อยากไม่เป็น

ทีนี้เราจะต้องทำลายต้นตอของความอยาก คือความไม่รู้ความจริงของกายของใจ
ถ้าเรารู้ความจริงของกายของใจ ว่ากายนี้คือตัวทุกข์ ใจนี้คือตัวทุกข์ ความอยากมันจะไม่เกิดขึ้นอีก
การรู้ความจริงของกายของใจ เรียกว่า “วิชชา”
การไม่รู้ความจริงของกายของใจ เรียกว่า “อวิชชา”
เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำลายอวิชชาได้ ตัณหา คือความอยาก จะไม่เกิดขึ้นอีก
เมื่อตัณหาไม่มี ความทุกข์ในใจก็จะไม่มี

คำสอนของพระพุทธเจ้าเต็มไปด้วยเหตุด้วยผล
มีเหตุ ก็คือมีอวิชชา ไม่รู้ความจริงของกายของใจ ก็เกิดตัณหา
ตัณหาเป็นผลของอวิชชา ตัณหาก็กลายเป็นเหตุของความทุกข์ ทำให้เกิดความทุกข์
ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องเหตุกับผลล้วนๆ เลย
การที่จะทำลายผล ทำลายที่ตัวผลไม่ได้ ต้องทำลายที่ตัวเหตุ
อย่างจะทำลายความทุกข์ ตราบใดที่ตัณหายังอยู่ ความทุกข์ก็ยังอยู่
ตราบใดที่อวิชชายังอยู่ ตัณหาก็ยังอยู่
อวิชชาคืออะไร อวิชชา คือ การไม่รู้ความจริง 4 ประการ
คือ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัย ไม่รู้นิโรธ ไม่รู้มรรค ก็คือการไม่รู้อริยสัจ 4
เพราะฉะนั้น อริยสัจ 4 จึงเป็นธรรมะที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา
ถ้าเราไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ 4 เรายังเวียนว่ายตายเกิดไม่เลิก
อวิชชามันยังมี ตัณหามันก็เกิด การสร้างภพ สร้างชาติ สร้างทุกข์ ก็ยังไม่จบ
เพราะฉะนั้น อริยสัจ 4 มีตั้ง 4 ข้อ คือ ตัวทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เวลาปฏิบัติจะทำยังไง ให้รู้ทุกข์

หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้

สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ไม่ใช่ความทุกข์ทรมานทั้งหลาย
คำว่าทุกข์ในอริยสัจ ก็คือกายกับใจเรานี้เอง คือรูปธรรม-นามธรรมนี้ เรียกว่าตัวทุกข์
หน้าที่ต่อทุกข์ คือการรู้
รู้ลงที่กาย รู้ลงที่ใจ รู้บ่อยๆ จนเห็นความจริง ว่ากายนี้คือตัวทุกข์
จิตก็หมดความยึดถือกาย
จิตก็จะหมดความอยากเกี่ยวกับกาย
มีสติ มีปัญญา เรียนรู้ลงไปที่จิตใจ-นามธรรม
เห็นความจริงของนามธรรมว่า มันคือตัวทุกข์
ความรู้สึกทั้งหลาย ก็เป็นตัวทุกข์
จิตใจที่เป็นตัวรับรู้ ก็เป็นตัวทุกข์
พอเราเห็นความจริงของนามธรรม ว่าเป็นตัวทุกข์
จิตก็ไม่ยึดถือนามธรรม ไม่ยึดถือกระทั่งจิต
เมื่อเราไม่ยึดถือกาย ไม่ยึดถือจิต
เรียกว่าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง แล้วมันก็จะไม่ยึดถือ

ถ้าเรายังไม่เห็นความจริงของกาย เราก็ยึดกาย
ไม่เห็นความจริงของจิต เราก็ยึดจิต
อย่างพวกเราจะรู้สึกว่า ร่างกายนี้เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง
เราก็จะดิ้นรนให้ร่างกายมีความสุข ดิ้นรนให้ร่างกายไม่ทุกข์
แต่ถ้าเราเห็นความจริงว่าร่างกายนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
เวลาทุกข์น้อย คนไม่มีปัญญา ก็เห็นว่าเป็นความสุข
เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นความจริงกาย แล้วเฝ้ารู้ไปเรื่อยๆ ว่าจริงๆ กายนี้มันสุขหรือมันทุกข์
คอยดูมันไปเรื่อยๆ ถึงวันที่มันจะเห็นความจริง ว่ากายนี้คือตัวทุกข์ มันจะหมดความยึดถือกาย
ต่อไปเวลาแก่ กายมันแก่ ไม่ใช่เราแก่ เราไม่ทุกข์เพราะความแก่
เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายเป็นคนเจ็บไข้ ร่างกายมันตัวทุกข์ เป็นเรื่องธรรมดา ใจเราไม่ทุกข์ด้วย
เวลาจะตาย ร่างกายมันจะตาย ใจเราจะไม่ทุกข์ เพราะร่างกายมันคือตัวทุกข์ มันต้องตาย มันต้องแตกสลาย
เรายอมรับความจริงตัวนี้ มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
เราหมดความยึดถือในร่างกาย เราจะไม่ทุกข์เพราะร่างกาย

เรามาเฝ้ารู้ความรู้สึกในใจเรา เราจะเห็น
ความรู้สึกทุกชนิด ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว เกิดแล้วดับทั้งสิ้น
ความสุข เกิดแล้วก็ดับ
ความทุกข์ เกิดแล้วดับ
ความดี เกิดแล้วดับ
โลภ โกรธ หลง เกิดแล้วดับ
เฝ้ารู้อย่างนี้ ก็จะเห็นความจริงของมัน คือ สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ดับ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวร
จะดิ้นรนหาความสุข ความสุขอยู่ชั่วคราวก็ดับ
เพราะฉะนั้น ความสุขไม่ใช่คำตอบที่จะพ้นจากความทุกข์ เพราะความสุขเองก็เกิดแล้วก็ดับ
แต่ความทุกข์มันเป็นของจริง
ถ้าใจยอมรับความจริงได้ ใจก็จะไม่อยาก

อย่างพวกเรา เห็นร่างกายเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง
เราเห็นจิตใจของตัวเองเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง
ถ้าเราเฝ้ารู้ลงไป จิตใจเองก็เต็มไปด้วยความทุกข์
มีความสุขขึ้นมา เดี๋ยวเดียวก็หายไป
มีความโลภขึ้นมา ความโกรธขึ้นมา ความหลงขึ้นมา
ทุกครั้งที่เกิดกิเลส จิตใจก็ถูกทิ่มแทง ถูกเสียดแทง ถูกทำร้าย
เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป จิตใจนี้ไม่ใช่สุขบ้างทุกข์บ้างหรอก
จิตใจก็เหมือนร่างกาย ก็คือทุกข์มากกับทุกข์น้อย
เวลาจิตใจทุกข์น้อย เราก็รู้สึกมีความสุข
มันทุกข์แรงขึ้น เราก็ยอมรับว่าทุกข์
แต่ถ้าสติปัญญาเราแก่กล้า เฝ้ารู้จิตใจต่อเนื่องไป
เรารู้ความจริงเลย จิตใจนี้คือตัวทุกข์ล้วนๆ แต่มีทุกข์มากกับทุกข์น้อยเท่านั้นเอง
จิตมันจะหมดความยึดถือในตัวจิต
เมื่อหมดความยึดถือจิต ความหิวโหยต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น ตัวตัณหาจะไม่เกิดขึ้น
ตัวตัณหาเป็นความหิวของจิต
อย่างเราอยากมีความสุข เราก็ไปเที่ยวดูหนังฟังเพลง หาของอร่อยกิน
เรารู้เลย ความสุขเป็นของไร้สาระ เดี๋ยวเดียวก็หายไป
ใจยอมรับความจริงตรงนี้ได้ ใจไม่ยึดถือใจ ใจจะเข้าถึงความสุขอีกชนิดหนึ่ง
ตรงที่ใจไม่ยึดถือใจแล้ว เรียกว่าเราเข้าถึงพุทธภาวะแล้ว
เข้าถึงพุทธภาวะ คนจีนจะรู้จักคำนี้
ไปเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ ถืงจะถึงพุทธภาวะจริง
ถึงพุทธภาวะได้ เพราะว่าไม่โง่อีกต่อไปแล้ว

รู้ความจริงแล้ว กายนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
รู้ความจริงแล้วว่า จิตนื้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ก็หมดความยึดถือกาย หมดความยึดถือใจ
พอหมดความยึดถือกายยึดถือใจ
อะไรจะเกิดขึ้นกับกาย อะไรจะเกิดขึ้นกับใจ จิตใจจะไม่หวั่นไหวอีกต่อไปแล้ว
จิตใจจะสงบสุข มีสันติ ไม่กระเพื่อมขึ้น ไม่กระเพื่อมลง
นี่คือกรอบทั้งหมดของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา

 

เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ

เราปฏิบัติธรรมเพื่อเราจะพ้นทุกข์
เราจะพ้นทุกข์ได้ เราต้องทำลายเหตุของทุกข์
เหตุของทุกข์ คือความอยาก
ความอยากเกิดจากอะไร ความอยากเกิดจากการไม่รู้ความจริงของกายของใจ
ไม่รู้ความจริงว่ากายนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
เราไปเห็นความไม่จริง ว่ากายนี้เป็นทุกข์บ้างสุขบ้าง
มันก็เกิดความอยาก อยากได้ความสุข อยากหนีความทุกข์
เราไม่เห็นความจริงของจิตใจ ว่าเป็นทุกข์ล้วนๆ เพียงแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
เราไปเห็นว่าจิตใจเราทุกข์กับสุข มีทุกข์มีสุข แล้วก็ดิ้นรนหนีความทุกข์ ดิ้นรนหาความสุข
ความอยากมันก็เกิดขึ้น อยากสุข อยากไม่ทุกข์ขึ้นมา
ความอยากทั้งหลายก็เกิดจากการไม่รู้ความจริงของกายของใจ
เพราะฉะนั้น เรามีสติ คอยเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ
ดูลงไปว่าจริงๆ กายเป็นยังไง
ดูลงไปว่าจริงๆ จิตใจเป็นยังไง
อย่าเข้าไปแทรกแซง อย่าเข้าไปบังคับกายบังคับใจ
อย่าไปปรุงแต่งกาย อย่าไปปรุงแต่งใจ
แต่ดูว่าจริงๆ มันเป็นยังไง

ทีนี้นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อย ปรุงแต่งกายปรุงแต่งใจไปหมดเลย
บางทีก็ไปติดรูปแบบของการปฏิบัติ คิดว่าต้องไปขยับจังหวะอะไร
ถึงไม่ทำจังหวะนะ ร่างกายขยับเนี่ย มันก็รู้เลย สติรู้เลย ร่างกายเคลื่อนไหว
ปัญญาแทงตลอดลงไปเลย ตัวที่เคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก เป็นตัวทุกข์
ถ้าอย่างนี้ถึงจะภาวนาเป็น

เรียนกับหลวงพ่อ อดทนนิดนึง หลวงพ่อสอนไม่เหมือนคนอื่นหรอก
ที่อื่น ส่วนใหญ่ก็จะสอนรูปแบบ นั่งอย่างนี้ เดินอย่างนี้ หายใจอย่างนี้ ขยับมืออย่างนี้ ขยับเท้าอย่างนี้
ไอ้นั่นเป็นเปลือก แก่นแท้คือเรื่องของธรรมะที่หลวงพ่อสอนนี้แหละ
เราปฏิบัติเพื่ออะไร? ต้องรู้ เพื่อพ้นทุกข์
จะพ้นทุกข์ได้ ต้องรู้ว่าทุกข์เกิดจากตัณหา
ตัณหามันก็คือ อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์
ตัณหาเกิดได้เพราะไม่เห็นความจริง ว่ากายนี้คือตัวทุกข์
มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่ทุกข์กับสุข
ไม่เห็นความจริงว่าจิตใจเป็นตัวทุกข์ มีทุกข์มากกับทุกข์น้อย
เราไปเห็นว่าจิตใจเป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขบ้าง
พอเห็นว่ามีสุขกับทุกข์ มันจะดิ้นรนหาความสุข ดิ้นรนหนีความทุกข์ ตัณหามันก็เกิด
เพราะฉะนั้น เรียนรู้กาย เรียนรู้ใจ นั่นคือคำตอบ
พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนว่าสติปัฏฐาน 4 เป็นทางสายเดียวเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น
สติปัฏฐาน 4 ไปดูเถอะ ก็คือรู้กายรู้ใจ
รู้ให้เป็น อย่าไปแทรกแซง อย่าบังคับกายบังคับใจ
พอเราบังคับ กายกับใจจะผิดธรรมชาติ
เวลาเราปฏิบัติ เหมือนเราจะจับกระต่ายสักตัวหนึ่ง กระต่ายอยู่ในรู
เราถือไม้ไปเฝ้าอยู่ปากรู กระต่ายมันจะโง่ออกมาไหม ไม่ออกมาหรอก
เหมือนเราจะดูกิเลสในใจเรามันทำงาน
เราไปนั่งจ้องอยู่ที่จิต กิเลสไม่โผล่ขึ้นมาให้เราดูหรอก ไม่มีอะไรผุดขึ้นมา มีแต่เฉยๆ
ไปจ้องรูกระต่าย กระต่ายก็ไม่ขึ้นมาหรอก ก็เหลือแต่รูว่างๆ นิ่งๆ นะ
อย่าไปจ้องมัน ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เผลอๆ ไว้ เดี๋ยวกระต่ายมันก็ขึ้นมา ตีหัวมัน

เวลากิเลส เหมือนกัน
เราทำใจสบายๆ เดี๋ยวกิเลสก็โผล่ขึ้นมา
กิเลสโผล่ขึ้นมา เราก็รู้ เราก็เห็น เอ้อ โลภเกิดแล้วก็ดับ หลงเกิดแล้วก็ดับ ฟุ้งซ่าน สงบ เกิดแล้วก็ดับ
มีแต่ของเกิดแล้วดับ เฝ้ารู้ลงไปเรื่อยๆ ดูความจริงของจิตใจไป แค่นี้
นี่คือกรอบทั้งหมดของการปฏิบัติ ที่เราจะต้องฝึกกัน ก็คือการฝึกเห็นความจริงของกายของใจ เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน
ทีนี้การทำวิปัสสนาจะทำได้ดี ต้องมีพลังของสมาธิ จิตต้องตั้งมั่น ตัวนี้คือการฝึกสมาธิ
เพราะฉะนั้น การฝึกสมาธิก็เพื่อจะได้ไปเจริญปัญญา
ไปดูยูทูปที่หลวงพ่อสอนไว้เยอะแยะ แล้วอดทน เฝ้าเรียนรู้สักช่วงหนึ่ง
มาฟังหลวงพ่อครั้งแรกๆ งงทุกรายแหละ เก่งมาจากไหนก็งง
เพราะหลวงพ่อไม่ได้สอนว่านั่งยังไง เดินยังไง หายใจยังไง
หลวงพ่อสอนหลักของการปฏิบัติจริงๆ ฟังแล้วมันไม่เคยฟัง มันก็งง
ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก เดี๋ยวก็เข้าใจ
พอเข้าใจแล้ว การปฏิบัติจะสั้นนิดเดียวเลย
คนอื่นเขายังงมทำความสงบอยู่ เราหลุดพ้นไปแล้ว
เสียเวลา ทำผิดๆ ก็เสียเวลา

 

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม
27 พฤศจิกายน 2562 ไฟล์ 621127 ซีดีแผ่นที่ 85