กัลยาณมิตร

(๑)

อยู่กับโลกต้องรู้จักเลือกคบคน
ถ้าเราไม่รู้จักเลือกคบคน เราจะไม่เจริญทั้งทางโลกและทางธรรม
อย่างการอยู่ในโลกต้องทำมาหากิน
คนจะทำมาหากินแล้วรวยขึ้นมาได้ มีอยู่ข้อหนึ่ง คือ กัลยาณมิตร
ต้องคบกัลยาณมิตร คบคนบางคนแล้วหายนะ
เพราะอย่างนั้น ต้องรู้จักเลือก

ในทางธรรมะก็เหมือนกัน
เราก็ต้องรู้จักเลือก ไม่ใช่รวมกลุ่มกันใหญ่ๆ
เราไม่ใช่ฝูงปลาว่ายตามกันไป เราไม่ใช่ฝูงนกบินตามกันไป
เราเป็นคนมีสติมีปัญญาอยู่
เราต้องรู้ว่าเราคบกับใครแล้วกุศลเจริญ อกุศลลดลง เราก็คบกับคนชนิดนั้น
ถ้าเราคบคนไหนอกุศลเกิดขึ้น กุศลหายไป เราก็ไม่เอา
พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เราคบคนทุกคนเท่าๆ กัน
ท่านให้เราคบบัณฑิต ไม่ให้คบคนพาล
มันเสียหายทั้งทางโลกและทางธรรม

แต่มันเป็นคนละเรื่องกับความเมตตา
เราภาวนาไป ความเมตตากรุณามีให้ทุกคน
แต่การจะคบ ไม่คบทุกคน
บางคนเมตตากรุณาแล้วมีโทษมาก
ใจเราเมตตา แต่เราไม่ยุ่งกับเขา
เพราะฉะนั้น การรู้จักเลือกคบคน เลือกคบกัลยาณมิตร
เป็นทางเดินที่ดี เป็นเบื้องต้นของอริยมรรค
พระพุทธเจ้าท่านสอนบอกว่า
“แสงเงินแสงทองตอนเช้าๆ เป็นเครื่องหมายแรกว่าพระอาทิตย์กำลังจะขึ้น
กัลยาณมิตร ก็เป็นเครื่องหมายแรกของอริยมรรค”
เป็นสัญญาณ ภาษาโบราณบอกว่าเป็นเครื่องหมายแรก
ที่จริงเป็นสัญญาณบอกให้เรารู้ ว่าอริยมรรคจะเกิดขึ้น
เราเดินอยู่ในเส้นทางที่มีกัลยาณมิตร
เพราะฉะนั้น ในโลกก็ต้องรู้จักเลือกคบ

(๒)

กัลยาณมิตรที่ดีที่สุดคือพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร
ทีนี้ท่านนิพพานไปแล้ว ใครจะเป็นกัลยาณมิตรของเรา
เราจะมาเลือกเอาเองว่าคนนั้นเป็นกัลยาณมิตร คนนี้เป็นกัลยาณมิตร เลือกยาก
เราไม่มีภูมิปัญญาที่จะเลือก
ก็พวกกัลยาณมิตรใช่ไหมชวนกันทำบุญอะไรวุ่นวาย

เมื่อพระพุทธเจ้าท่านจะปรินิพพาน
ท่านมอบหมายให้ว่าธรรมวินัยให้เป็นศาสดาของท่าน
ท่านเป็นกัลยาณมิตรของเรา
เพราะอย่างนั้น ธรรมวินัยจะมาแทนที่กัลยาณมิตร
เรียนหลักธรรมะให้รู้เรื่อง ใช้ความสังเกตตัวเองให้มาก พึ่งคนอื่นให้น้อย โอกาสพลาดมันก็จะน้อยลง
อย่างมาเรียนกับหลวงพ่อ มาเรียนเพื่อให้รู้หลักของการปฏิบัติ

สังเกตไหมหลวงพ่อไม่ค่อยชวนพวกเราไปทำอะไร
กิจกรรมอะไรไม่ค่อยมีหรอก
มีปลายปีเมื่อก่อนนั้นหลวงพ่อไปปล่อยวัว ปล่อยควาย หลวงพ่อก็ทำ
ไปทำบุญโรงพยาบาลอะไรอย่างนี้ หลวงพ่อก็ทำของหลวงพ่อไปเรื่อยๆ
ทีนี้พวกเราบางคนก็อยากไปด้วย
ปลายปีก็เลยให้ครั้งหนึ่งไปด้วยกัน
หลวงพ่อไม่สบายหลวงพ่อก็เลิก
ไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่อะไร เป็นเรื่องเราทำปกติอยู่แล้ว

สิ่งที่หลวงพ่อพยายามสอนพวกเรา คือธรรมะ หลักของธรรมะ
วินัยของฆราวาส เราก็ถือศีลให้ดี
ถ้าพระ ก็ต้องมีพระวินัยอื่นๆ อีกร้อยกว่าข้อ
ศีล ๒๒๗ มันมีแต่ชื่อ พระวินัยบางข้อมันไม่มีแล้ว
อย่างวินัยเรื่องพระจะปฏิบัติกับภิกษุณียังไงอะไรอย่างนี้
ไม่มีภิกษุณีจะให้ปฏิบัติแล้ว
หรือเรื่องเครื่องปูนั่งอย่างหนึ่งเรียก สันถัต
หล่อมาจากไขมัน อะไรอย่างนี้ ซึ่งเมืองไทยไม่มีใช้
แต่เรายังท่องปาฏิโมกข์ท่องอะไรยังมีอยู่
แต่ว่าในความเป็นจริงไม่ได้มีแล้ว

ธรรมวินัย จะเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า จะมาใช้แทนกัลยาณมิตร
กัลยาณมิตรนั้น เราแยกยาก ว่าใครเป็นหรือไม่เป็น
ถ้าภาวนาถูกหลักถูกเกณฑ์ เข้าใจธรรมะเป็นลำดับๆไป มันก็พอมองออก
แต่ถ้าไม่สนใจ ไม่เฉลียวใจ ก็ไม่ไปมองคนอื่น ก็มองไม่ออก
ฉะนั้นเราเรียนธรรมะ แล้วก็พยายามพึ่งตัวเองให้มากที่สุด
ในยุคที่เราไม่สามารถชี้ขาดได้ว่าใครคือกัลยาณมิตร
จะให้ใครชี้ให้ เชื่อได้ยังไงว่าชี้ถูก
เมื่อก่อนมีพระพุทธเจ้าท่านชี้ได้
พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระอานนท์อย่างนี้ เป็นกัลยาณมิตร ท่านชี้ได้
อย่างเทวทัต ท่านก็ชี้ว่าเป็นปาปมิตร มิตรที่พาบาป พาไปทำบาป

(๓)

ทางที่ดีที่สุด ศึกษาหลักให้แม่น
หลักที่หลวงพ่อบอก รู้จักขันธ์ ๕ อายตนะ ๖
รู้จักไตรลักษณ์ รู้จักสติปัฏฐาน
สติปัฏฐานเป็นวิธีการปฏิบัติ
ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ธาตุ ๑๘
พวกนี้เป็นตัวรูปนาม ที่เราจะเรียนรู้ความเป็นไตรลักษณ์ได้
รู้อริยสัจ รู้หลักของอริยสัจ ว่าทุกข์ให้รู้
อะไรเรียกว่าทุกข์ ขันธ์ ๕ เรียกว่าทุกข์
หน้าที่ต่อทุกข์คือรู้
อะไรเรียกว่าสมุทัย ตัณหาคือความอยาก คือตัวสมุทัย
หน้าที่ต่อสมุทัยคือการละ
อะไรคือนิโรธ นิโรธคือตัวนิพพาน
หน้าที่ต่อนิโรธคือทำให้แจ้ง ไม่ได้ทำให้เกิด แต่ทำให้แจ้ง
แล้วก็ มรรค คือทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์
มรรค เรามีหน้าที่เจริญให้เกิดมากๆ

รู้หลักของอริยสัจเบื้องต้นอย่างนี้ แล้วลงมือปฏิบัติ
เบื้องต้นฝึกให้มีสติ เบื้องปลายฝึกให้มีปัญญา
ทีนี้ก่อนจะเกิดปัญญาได้ จิตต้องมีสมาธิที่ถูกต้อง
ก็ต้องเรียนเรื่องสมาธิด้วย อย่างที่หลวงพ่อพากเพียรสอน
สมาธิอย่างไหนเป็นสัมมาสมาธิ อย่างไหนเป็นมิจฉาสมาธิ
ถ้าไม่ประกอบด้วยสติ เป็นมิจฉาสมาธิ
ถ้ายังมีสติอยู่ เป็นสัมมาสมาธิได้
แล้วสมาธิที่ถูกต้อง ยังแยกได้ ๒ ส่วน
ส่วนหนึ่ง เอาไว้พักผ่อน เอาไว้ทำความสงบ
เอาไว้ชาร์จพลัง เพิ่มพลังของจิต
อีกส่วนหนึ่ง เอาไว้ใช้เจริญปัญญา
สมาธิ ๒ อย่างนี้ไม่เหมือนกัน
เมื่อก่อน มีครูบาอาจารย์องค์หนึ่งที่สอนเรื่องนี้ คือ หลวงปู่เทสก์
หลวงปู่เทสก์ท่านสอนสมาธิ ๒ อย่าง
อันหนึ่ง คือท่านเรียกว่าสมาธิ คือสมาธิที่ใช้ทำวิปัสสนา
อันหนึ่ง ท่านเรียกว่าฌาน คือสมาธิที่เอาไว้พักผ่อน
แต่ถ้าภาษาที่ถูกปริยัติเลย
สมาธิที่เอาไว้ทำวิปัสสนาเรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน
ภาษาที่ถูกสมาธิพักผ่อนเรียกว่า อารัมณูปนิชฌาน

หลวงปู่เทสก์ท่านไม่ได้เรียนปริยัติ ท่านก็บัญญัติศัพท์ขึ้นมาสมาธิ ๒ ชนิด
หลวงพ่อเรียนจากท่านมา เอามาแจกแจงให้พวกเราฟัง
หลวงพ่อเห็นว่าสำคัญอยู่
สมาธิผิด มันเดินวิปัสสนาไม่ได้
กระทั่งสัมมาสมาธิ ชนิดที่สงบเฉยๆ ก็ไม่เดินวิปัสสนา
แต่ถ้าเป็นสมาธิที่จิตตั้งมั่น แล้วมีสติระลึกรู้รูปนาม จิตถึงจะเดินวิปัสสนาได้

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่หลวงพ่อสอนอยู่เรื่อยๆ
ถือศีลห้าไว้ก่อน ไปฟังซีดี แล้วทุกวันปฏิบัติในรูปแบบ

 

พระธรรมเทศนา หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม
วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๐ ไฟล์ 600910A ซีดีแผ่นที่ ๗๒