(๑)
ถ้าเรามองภาพรวมของการปฏิบัติ
เราปฏิบัติธรรม เพื่ออบรมจิตใจให้เห็นความจริงของรูปนามกายใจ
เพราะถ้าจิตใจเห็นความจริงของรูปนามกายใจได้
จิตใจจะคลายความยึดถือในกายในใจนี้ออก
เมื่อจิตใจไม่ยึดถือกาย ไม่ยึดถือใจ
ความทุกข์ทางใจจะเกิดขึ้นไม่ได้
ตัวอย่าง ถ้าจิตใจไม่ยึดถือร่างกาย
พอร่างกายเราแก่ จิตใจจะไม่ทุกข์
แต่ถ้ายึดถือ พอแก่ลง จะกลายเป็นเราแก่ จะทุกข์
เวลาร่างกายเจ็บไข้
ถ้าเราไม่ได้ยึดถือ จิตใจมันจะไม่รู้สึกว่าเราไม่สบาย
จะเห็นแค่ว่าร่างกายมันไม่สบาย ไม่ใช่เราไม่สบาย
ใจมันจะไม่ทุกข์ มันทุกข์แต่ร่างกาย
เวลาจะตาย ก็จะเห็นว่าร่างกายมันตาย ไม่ใช่เราตาย
มันถอนความเป็นเราออกไป
และถอนความทุกข์ออกไปจากใจ
(๒)
ถ้าใจมันเห็นความจริง
ว่าสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราชอบใจ ก็อยู่กับเราชั่วคราว
สิ่งที่เราไม่ชอบใจ ก็อยู่กับเราชั่วคราว
ไม่มีหรอก ความทุกข์ถาวร
ที่เรารู้สึกว่าทุกข์เยอะๆ เพราะเราอยากให้มันหมดไปเร็วๆ
ลองนึกดู ในชีวิตเรานี้ เราผ่านความทุกข์มาเท่าไหร่แล้ว
เยอะแยะเลย รู้สึกไหม
พอมันผ่านไป เราก็รู้สึกว่าเราลืมมันไป ไม่คิดถึงมัน
แต่เวลาความสุขผ่านไปนะ เราชอบคิดถึงมัน
ความทุกข์ผ่านไป เราทำเป็นลืม
ถ้าเราหัดดูจริงๆ
ความทุกข์ก็เป็นของชั่วคราว มันสอนเรามาตลอด
ว่าความทุกข์อยู่ชั่วคราว แล้วก็ผ่านไป
แต่เราไม่ยอมเรียนรู้ตรงนี้
เราไม่อยากเรียนรู้ทุกข์ เราก็จะเกลียดมัน
เวลาความทุกข์เกิดขึ้น เราก็จะรู้สึกว่านาน ไม่มีวันจบวันสิ้นเลย
ทั้งๆ ที่ความจริงนั้นสอนเราตลอด ความทุกข์ก็อยู่ชั่วคราว
แต่เรามักจะรู้สึกว่า ความทุกข์ยาวเหลือเกิน ไม่รู้จักจบจักสิ้น
แต่ความสุข เราคิดถึงมันบ่อย
เราก็รู้สึกว่า ความสุขสั้นจังเลย หายไปแล้ว
ถ้าเราภาวนา เราก็จะเข้าใจความจริง
ความสุขก็ของชั่วคราว
ความทุกข์ก็ของชั่วคราว
ฉะนั้น เวลาความสุขเกิดขึ้น จิตใจไม่หลงยินดี
ความสุขหายไป จิตใจก็ไม่เศร้าหมอง
ไม่อยากได้ ให้กลับมาเร็วๆ
เวลาความทุกข์เกิดขึ้น จิตใจก็ไม่เศร้าหมอง
เพราะรู้ว่ามันของชั่วคราว
ความทุกข์หายไปแล้ว ก็ไม่กังวลว่าความทุกข์จะมาอีก
เพราะรู้ว่าความทุกข์เป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดา
ไปได้ ก็มาได้ ทุกอย่างเกิดดับ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ถ้าใจรู้ความจริงของกาย ใจรู้ความจริงของใจ
เราจะไม่ทุกข์เพราะกาย ไม่ทุกข์เพราะใจ
ถ้าเราไม่ทุกข์เพราะกาย ไม่ทุกข์เพราะใจ
เราจะไม่ทุกข์เพราะอะไรในโลกนี้อีกแล้ว
(๓)
ถ้ารู้ความจริง ว่าทุกอย่างในชีวิตเรา
ทั้งทางรูปธรรม นามธรรม ทั้งทางกาย ทางใจ
เป็นของชั่วครั้งชั่วคราว จะไม่ทุกข์
อะไรเกิดขึ้นก็ไม่ทุกข์
จะแก่ก็ไม่ทุกข์ จะเจ็บก็ไม่ทุกข์ จะตายก็ไม่ทุกข์
จะพลัดพรากจากสิ่งที่รัก จากคนที่รัก ก็ไม่ทุกข์
จะประสบพบเจอกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ กับคนที่ไม่ชอบใจ ก็ไม่ทุกข์
ชีวิตมันมีความเต็มอิ่มอยู่ในตัวเอง
ความสุขของเรา ไม่ได้อิงอาศัยคนอื่น
ไม่ได้อิงอาศัยสิ่งอื่น
ไม่ได้อิงอาศัยกระทั่งร่างกายนี้
แต่สามารถมีความสุขได้
ที่เราภาวนากันแทบเป็นแทบตาย
ก็เพื่อพาจิตให้เรียนรู้ความจริงของรูปนามกายใจ
ถ้ารู้ความจริงของรูปนามกายใจ แล้วเราจะไม่ทุกข์
อะไรเกิดขึ้นในกายก็ไม่ทุกข์
อะไรเกิดขึ้นในใจก็ไม่ทุกข์
สิ่งใดเกิดขึ้นกับโลกข้างนอก แล้วเราเดือดร้อนขึ้นมา
เพราะมันมากระทบถึงกายถึงใจ
ตัวอย่าง สมมติว่าตอนนี้น้ำท่วมที่เพชรบุรี
เราไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเพชรบุรีเลย เราก็ไม่ทุกข์ด้วย
แต่ถ้าบ้านพ่อ บ้านแม่ของเราอยู่เพชรบุรี มีของเราขึ้นมาแล้ว ก็ทุกข์
มีตัวเรา มีของเรา ก็ทุกข์ขึ้นมา
ถ้าเห็นความจริงว่า ทุกอย่างในโลกไม่ใช่ของเราหรอก
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันก็ไม่ทุกข์
คล้ายๆ มันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
จิตจะยอมรับความจริงตรงนี้ได้
ต้องพาจิตให้ดูความจริงบ่อยๆ
จิตมันไม่อยากยอมรับความจริงหรอก
(๔)
ถ้าใจมันรู้ความจริง ว่าร่างกายนี้ของชั่วคราว
จิตใจความรู้สึก สุขทุกข์ ดีชั่วทั้งหลาย ก็ของชั่วคราว
ใจก็จะไม่ดิ้นรนหวงแหน ใจมีความสุข
ฉะนั้น เมื่อไรรู้ความจริง
จิตจะเบื่อหน่ายกาย เบื่อหน่ายใจ
เพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย
เบื่อหน่ายรูปนามนี้เอง
เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ
ไม่ยึดถืออะไร ไม่ยึดถือรูปนามนี้
พอไม่ยึดถือรูปนามแล้วก็หลุดพ้น
ความหลุดพ้นก็คือ ไม่ยึดถือรูปนาม ไม่ยึดถือกาย ไม่ยึดถือใจ
พอหลุดพ้นแล้ว จิตก็รู้ว่าหลุดพ้น
มันเป็นอิสระในตัวของตัวเองขึ้นมา
มันมีความเต็ม มีความอิ่มอยู่ในตัวเอง
(๕)
กรรมฐานที่เราฝึก
ฝึกเพือให้เราเห็นความจริงของร่างกาย จิตใจนี้
สิ่งที่เราจะเรียนกันมีเท่านี้เอง
กรรมฐาน ไม่ใช่มีแค่ว่าจะฝึกให้จิตสงบ ให้จิตมีความสุข ให้จิตดี
อันนั้นตื้นเกินไป
ไม่ได้ฝึกเพื่อเอาดี เอาสุข เอาสงบ
แต่ฝึกเพื่อให้เห็นความจริงของรูปนาม กายใจ
ถ้าเราเห็นความจริงของรูปนาม กายใจ เราจะไม่ทุกข์
เห็นความจริงของกาย ก็จะไม่ทุกข์เพราะกาย
เห็นความจริงของใจ ก็จะไม่ทุกข์เพราะใจ
(๖)
เราเรียนกรรมฐาน เพื่อจะเอาความจริง
“สจฺ จํ เว อมตา วาจา” ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
ฉะนั้น ความจริงนี้ไม่เสื่อม
ความจริงที่ว่าเราต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย กี่ยุคกี่สมัยก็ไม่เสื่อม
ความจริงไม่หายไป ใครๆ เกิดมาก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย
นี่เป็นสัจจะเป็นความจริง
เราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
เราต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รัก
เราต้องผิดหวัง
เป็นเรื่องธรรมดา เป็นความจริงของชีวิต
ถ้าเวลาเจอสิ่งที่ไม่รัก เราก็ต้องทุกข์
พลัดพรากจากสิ่งที่รัก เราก็ทุกข์
หวังปรารถนาแล้วไม่สมหวัง ก็ทุกข์
นี่คือเรื่องธรรมดา
ฝึกไป เพื่อให้เห็นความจริง
ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ความจริงเป็นอมตะ เป็นความจริงแท้
วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๑ ไฟล์ 610825A ซีดีแผ่นที่ ๗๘